#echo banner="" ประวัติ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล โดย พระราชวรคุณ (สมศักดิ์ ปณฺฑิโต)

พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์

ต้นฉบับโดย พระราชวรคุณ (สมศักดิ์ ปณฺฑิโต)

เรียบเรียงโดย รศ. ดร. ปฐม - รศ.ภัทรา นิคมานนท์

ครงการหนังสือบูรพาจารย์อีสานใต้ เล่ม ๑

หน้าที่         

 

๘๑. ถามปัญหาได้ทุกเมื่อ

หลวงปู่เคยเล่าว่า ความหนักอกหนักใจ ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ของนักปฏิบัติคือ การขาดกัลยาณมิตร ที่มีความสามารถแนะนำแนวทาง และวิธีแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติให้ได้ตลอดสาย

บางทีแม้มีกัลยาณมิตร คือมีครูบาอาจารย์ที่สามารถ แต่ท่านก็บังเอิญอยู่ไกลบ้าง โอกาสไม่อำนวยบ้าง ทำให้ไม่อาจแก้ไขแนวทางปฏิบัติไต้ทันท่วงที ทำให้เกิดความเนิ่นช้าไปโดยใช่เหตุ

ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ บางครั้งทำให้หลงวกวนไปไกล จนกระทั่งหลงผิดไปก็มี บางกรณี ถ้ามีผู้ชี้แนะให้ทันการ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ทั้งแก่เพื่อนนักปฏิบัติ และทั้งแก่กิจการพระศาสนาเอง

ด้วยเหตุที่หลวงปู่เล็งเห็นอย่างนี้ ท่านจึงมักย้ำอยู่เสมอว่า ผู้ใดมีปัญหาหรือข้อสงสัย แม้เล็กน้อย ในทางปฏิบัติ ขออย่าได้รอลังเล หรือว่าเกรงอกเกรงใจอะไร ขอให้ไปพบ เพื่อไต่ถามท่านได้ตลอดเวลา

แม้ว่าเมื่อไปแล้วพบว่า หลวงปู่เข้าที่ไปเสียแล้ว ก็ขอให้เรียกได้ทันที อย่าได้ต้องพลาดโอกาส ให้สูญเสียประโยชน์ใหญ่ เพราะเหตุความเกรงใจเพียงเล็กน้อยเลย

ตัวอย่างในเรื่องนี้ เมื่อครั้งที่หลวงปู่นอนรับการรักษาพยาบาล อยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ขณะที่กำลังนอนใส่ท่อออกซิเจนช่วยหายใจอยู่ ได้มีผู้เข้ากราบเรียนถามธรรมะท่าน หลังเที่ยงคืนไปแล้ว หลวงปู่ไม่สามารถลุกนั่งได้ แต่ท่านก็เมตตาตอบให้ จนผู้ถามพอใจ และเมื่อเขากราบลากลับไปแล้ว ท่านยังชมเขาว่า “รู้จักธรรมะใช้ได้”

หลวงปู่ได้พูดถึงตัวท่านว่า ตัวท่านนั้นเป็นเพียงนักปฏิบัติเฒ่าชรา ที่ผ่านประสบการณ์มานานปี พอจะสามารถเป็นกัลยาณมิตรได้บ้าง อย่าได้ลำบากใจว่า ต้องมามีท่านเป็นครูบาอาจารย์ และตนเองต้องมาเป็นศิษย์ ขอให้ถือท่านเป็นเพื่อนผู้ร่วมศึกษาหาแนวทางรอด

หลวงปู่เองก็ไม่เคยถือใครว่าเป็นศิษย์ หรือถือตัวท่านเป็นอาจารย์ของผู้ใด นี่เป็นปฏิปทาของหลวงปู่ ที่มีต่อเพื่อนสหธรรมิกทุกหมู่เหล่า ปรากฏอยู่อย่างนี้เสมอมา จนตลอดชีวิตของท่าน ท่านก็ไม่เคยอ้าง หรือวางตนในฐานะครูบาอาจารย์เลย

ทั้งนี้ก็มียกเว้นบ้างสำหรับศิษย์ใกล้ชิดจริงๆ ซึ่งท่านถือเป็นเสมือนลูกหลาน หรือผู้คุ้นเคย เวลาอธิบายชี้แจงปัญหาธรรม หลวงปู่มักจะพูดว่า

“ผมเข้าใจว่าอย่างนี้นะ เท่าที่ผมเคยปฏิบัติมาผม แก้ไขอย่างนี้ ผมทำอย่างนี้ คุณลองนำไปประกอบพิจารณาดู อาจจะได้ข้อคิดว่าควรปฏิบัติของตนอย่างไร"

หรือบางทีท่านก็ว่า

“ท่านอาจารย์ใหญ่เคยบอกว่าอย่างนี้ ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เคยประสบ แล้วท่านแก้อย่างนี้”

หรือว่า

“ท่านอาจารย์ใหญ่เคยแนะไว้อย่างนี้ ผมก็พบมาและแก้ไขตัวเอง แต่ของคุณจะเป็นอย่างไร ลองเอาไปเทียบเคียงดู เพราะธรรมของใครก็ของมัน ธรรมของพระพุทธเจ้าก็ของพระพุทธเจ้า ของท่านอาจารย์ใหญ่ก็ของท่านอาจารย์ใหญ่ ของผมก็ของผม และธรรมของคุณก็ของคุณ แม้มีเป้าหมายเดียวกัน แต่ก็ไม่เหมือนกัน ทางใครทางมัน”

ลูกศิษย์ลูกหาเคยถามว่า

“ได้ยินมาว่าท่านอาจารย์ใหญ่ (ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต) ท่านแนะแนวทางแก่ผู้สงสัยได้อย่างชัดเจน เหมือนประสบด้วยตนเอง ซึ่งบางครั้งผู้สงสัยไต่ถามเอง ยังบอกเล่าไม่ค่อยจะถูกด้วยซ้ำ เป็นความจริงไหม?"

พอได้ยินนาม “ท่านอาจารย์ใหญ่” เท่านั้น หลวงปู่ก็รวบเนื้อรวบตัวอย่างเรียบร้อย แล้วจึงตอบด้วยเสียงอันเปี่ยมไปด้วยคารวะนอบน้อมว่า

"ท่านอาจารย์ใหญ่ ท่านมีญาณใหญ่หลวง หาผู้ใดเทียบมิได้ ท่านย่อมแนะนำบุคคลได้อย่างถูกต้อง ไม่มีผิดพลาดเลย"

ตามปกติในด้านการคณะสงฆ์ก็ดีในด้านอื่นๆ ก็ดีหลวงปู่จะตอบสนองปฏิบัติตนไปตามสมควรอย่างธรรมดา แต่สำหรับวิธีการปฏิบัติ หรือยิ่งเมื่อมีผู้มาสนทนาไต่ถามปัญหา จะสังเกตเห็นว่า หลวงปู่จะมีท่าทางคึกคักเข้มแข็งกว่าธรรมดา สามารถอยู่สนทนากับนักปฏิบัติได้ดึกๆ ดื่นๆ ถึงตีสองตีสาม หรือบางคืนถึงสว่างคาตาก็มี

ที่น่าประหลาดก็คือ บางครั้งหลวงปู่ไม่ได้เป็นผู้พูด หรือผู้อธิบายอะไร แต่ผู้อื่นเป็นผู้คุยให้ท่านฟัง ท่านก็ฟังด้วยความเอาใจใส่ สนใจอย่างจริงจัง และด้วยท่าทางที่มีความสุขอย่างยิ่ง เมื่อได้ฟังว่า ผู้นั้นประสบปัญหาในทางปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านก็จะซักว่า แก้ไขอย่างไร เมื่อทราบว่าเขาแก้ไขแล้วเป็นอย่างนี้ แล้วต่อมาเป็นอย่างนี้ ท่านก็จะชื่นชมยินดี ชมเชยว่ามีปัญญาแยบคายจริงๆ แล้วเล่าเทียบเคียงว่า เมื่อท่านเจอปัญหาแบบนี้ ท่านแก้อย่างนั้น และท่านพระอาจารย์ใหญ่เคยสอนไว้ว่าอย่างนั้นๆ ดูเป็นที่สนุกสนานบันเทิงในการสนทนาธรรมกันตลอดทั้งคืน ด้วยอาการอย่างนี้

๘๒ การถามปัญหาที่น่าพิศวง

หลวงปู่เป็นผู้ที่มีความยินดีต่อการได้อธิบายปัญหาในแนวทางปฏิบัติธรรม รวมทั้งยอมรับและชอบฟังแนวทางปฏิบัติของผู้อื่นเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร เด็กหรือผู้ใหญ่ ฆราวาสหรือบรรพชิต ท่านให้ความสนใจและพอใจ ทั้งนั้น

ถ้ามีผู้สนใจ และตั้งใจปฏิบัติแล้วปรากฏผล เช่นมีนิมิตเกิดขึ้น หรือมีลักษณะอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เกิดสงสัยว่าควรปฏิบัติต่อไปอย่างไร แล้วนำมาไต่ถาม เพื่อให้ท่านชี้แนะแนวทาง อย่างนี้หลวงปู่จะคึกคักเข้มแข็งเป็นพิเศษ และจะให้คำแนะนำได้ตลอดสาย โดยลักษณะการร่วมปรึกษาหารือ และศึกษาเทียบเคียงดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

หลวงปู่มีปฏิภาณไหวพริบที่เฉียบคม อธิบายได้รวบรัดจำกัดความทั้งแน่นอนและตรงจุด และก้าวหน้าไปตลอดเป็นลำดับ ไม่ขาดสาย ไม่ทำให้ผู้สนใจไต่ถามผิดหวังเลย ต่างก็ได้รับความพอใจและความอบอุ่นซึ้งใจโดยทั่วกัน

มีหลายท่านที่เคยศึกษาและปฏิบัติในสำนักต่างๆ มาก่อน บางท่านก็มีความภาคภูมิใจในวิหารธรรมของตน พอใจว่าตนถึงที่สุดแล้วก็มี เมื่อหลวงปู่ชี้แนะเพียงคำสองคำ ท่านเหล่านั้นก็พอใจ เข้าใจ เกิดความปลอดโปร่งโล่งใจ และออกปากว่าเบาใจและหายข้อสงสัยแล้ว

บางท่านเข้าใจตนเองผิดก็มี เช่นตัวเองติดอยู่ที่ “อสัญญีภพ” อันเป็นจุดบอดอยู่ที่ “โคตรภูญาณ” ซึ่งเป็นจุดรวมระหว่าง โลกียภูมิ และ โลกุตรภูมิ ติดแนบแน่นอยู่ที่ตรงนั้น โดยไม่รู้ไม่เข้าใจอะไรเลย กลับสำคัญว่า ตนไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะจิตไม่เกาะเกี่ยวอะไร เกิดอวิชชาแห่งความไม่ยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา เมื่ออยู่ตามปกติก็หงอยเหงาเซาซึม เพราะจิตขาดความคล่องตัว ขาดปัญญา ยิ่งนานวันเข้า ความงมโง่ก็ยิ่งเพิ่มพูน แต่ตนเองไม่รู้ตัว ต้องมีคนช่วย

ครั้นหลวงปู่แนะนำ พอฟังได้ความเข้าใจก็สะดุ้งสะท้านขึ้น ค่อยรู้สึกตัว ในหลายกรณี หลวงปู่จะพูดจี้จุดแรงๆ หรือไม่ก็เป็นคำที่เข้าไปจี้ใจ กระแทกจุดจนกระทั่งจิตเคลื่อนออกจากอสัญญีภพนั้นๆ ได้

หลวงปู่บอกว่า

เขาปฏิบัติมาได้ถึงขั้นนี้ ก็นับว่ามีความสามารถไม่น้อย เพียงแต่กำลังสติอ่อนไปหน่อย ไม่เหมาะสมกลมกลืนกัน ปัญญาแก้ไม่ทัน เลยตกอสัญญีภพไปอย่างน่าเวทนา พอชี้แนะคำสองคำ ให้เขารู้เรื่องเข้าใจ ต่อไปเขาก็แก้ไขได้เอง เมื่อเขาปรับปรุงให้กำลังแก่ธรรมทั้งมวลผสมผสานสอดคล้องกลมกลืนกันได้ อริยมรรคสมังคี ก็ย่อมเป็นไปเองตามกฎแห่งธรรมดา

บรรดาท่านทั้งหลาย ทั้งที่มีภูมิการปฏิบัติสูง ทั้งที่กำลังดำเนินไปอยู่และที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติ ที่มาสนทนาธรรม ไต่ถามปัญหากับหลวงปู่นั้น ต่างก็มีหัวข้อธรรมและวิธีการไต่ถามแตกต่างกันไปโดยประการต่างๆ ซึ่งล้วนน่าสนใจทั้งสิ้น น่าเสียดายที่ผู้เขียนและผู้ใกล้ชิดอื่นๆ มิได้สำเหนียกถึงการจดบันทึกโดยละเอียดไว้ ไม่เช่นนั้น จะได้ตัวอย่างที่เป็นประโยชน์ใหญ่หลวง แก่การศึกษาและปฏิบัติต่อไป

ในบรรดาการถามปัญหานั้น มีการถามแบบแปลกๆ น่าพิศวงอยู่หลายท่าน ตัวอย่างเช่น

ท่านพระอาจารย์เฉลียว ถามหลวงปู่เพียงคำเดียวแล้วไม่ถามอะไรอีก

ผู้เขียน (พระราชวรคุณ) ก็พาซื่อ หวังจะให้ท่านได้ประโยชน์ที่อุตส่าห์แวะมา จึงกระตุ้นท่านว่า “ทำไมไม่ถามต่อ”

ท่านตอบว่า “หมดคำถาม พอใจในคำตอบของหลวงปู่แล้ว”

ที่แปลกประหลาดที่สุดที่ผู้เขียนทราบแน่ชัด เพราะเกิดขึ้นที่วัดบูรพารามนี่เอง มีพระภิกษุผู้สนใจในการปฏิบัติ และได้ดำเนินตามแนวทางที่หลวงปู่สั่งสอนมาพอสมควรแล้ว

วันหนึ่งขณะที่หลวงปู่นั่งพักผ่อนอยู่ใต้หอระฆัง ภิกษุผู้นั้นเดินผ่านมาทางผู้เขียน ผู้เขียนถามว่า

"ท่านจะไปไหน”

ภิกษุผู้นั้นตอบว่า

“มีปัญหาบางอย่างจะเรียนถามหลวงปู่”

ผู้เขียนก็ชี้บอกว่า หลวงปู่อยู่ที่หอระฆัง ท่านก็เดินไปหาหลวงปู่ และเข้าไปนั่งใกล้ด้วยอาการนอบน้อมอย่างดี ทั้งท่านผู้นั้น ทั้งหลวงปู่ต่างองค์ต่างนิ่งเฉยเป็นเวลานานพอสมควร สังเกตว่าไม่ได้พูดอะไรกันเลย ได้แต่มองหน้ากันเงียบเฉยอยู่ ครั้นแล้วท่านรู้นั้นก็กราบลาหลวงปู่ ลุกขึ้นยอบตัวเดินออกมาจากหอระฆัง ด้วยสีหน้าอิ่มเอิบยินดี

ผู้เขียนอดรนทนไม่ได้ เมื่อท่านผู้นั้นผ่านมาจึงถามว่า

“ไม่ได้ถามปัญหาหลวงปู่หรือ”

ท่านตอบว่า “ถามเรียบร้อยแล้ว”

"อ้อ! แล้วหลวงปู่ไม่ตอบหรือ”

“ตอบแล้ว” ท่านยิ้มอย่างยินดี ตอบว่า

“หลวงปู่ตอบอย่างกระจ่างแจ้งชัดเจนและไพเราะเพราะพริ้งที่สุด”

ผู้เขียนอดกลั้นอยู่ไม่ไหว ยอมปล่อยโง่ออกไปว่า

“เอ๊ะ! ก็ผมเห็นว่าท่านก็ได้พูดอะไรกันนี่นา”

ท่านผู้นั้นหยุดยิ้ม มองผู้เขียน แล้วพูดว่า

“การพูดไม่สามารถตอบปัญหาได้ทุกปัญหาหรอก” ว่าแล้วก็เดินจากไป

คำพูดนี้ยังจับใจผู้เขียนอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้

๘๓. ตอบคำถามเกี่ยวกับยักษ์

มีอยู่ครั้งหนึ่ง เรื่องที่เกิดขึ้นดูจะเกินภูมิธรรมความสามารถของผู้เขียน แต่เห็นว่าควรนำมากล่าวไว้ เพื่อเป็นข้อสังเกตสำหรับนักปฏิบัติทั้งหลาย จะได้นำไปเทียบเคียงศึกษาดู เพื่อประโยชน์แก่การกำหนดแนวทางปฏิบัติเฉพาะตนๆ ต่อไป หากขาดตกบกพร่องอย่างไร จะตำหนิกันก็ไม่ว่า เพราะยอมรับว่าโง่ไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว

ครั้งหนึ่ง หลวงปู่เสร็จจากศาสนกิจในพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวัง ก็กลับมาพำนักที่พระตำหนักทรงพรต วัดบวรนิเวศวิหาร ครั้นหลวงปู่สรงน้ำเสร็จ ก็เอนกายพักผ่อน ให้ภิกษุสามเณรบำเพ็ญอาจาริยวัตร ด้วยการนวดเฟ้นพัดวีต่างๆ

ครั้งนั้น พระราชาคณะรูปหนึ่ง ก็แวะเข้ามาเยี่ยม ขอโอกาสว่า ให้หลวงปู่ผู้เฒ่าเอนกายพักผ่อนตามสบาย เพราะประสงค์เพียงแวะมาคุยอย่างกันเอง ด้วยความคุ้นเคย

ในระหว่างการสนทนาด้วยเรื่องราวหลากหลายนั้น ท่านเจ้าคุณผู้นั้นเอ่ยขึ้นตอนหนึ่งว่า “เขาว่า คนที่สนใจเรียนคาถาอาคมอันศักดิ์สิทธิ์สมัยก่อนเป็นยักษ์"

หลวงปู่ลุกขึ้นนั่งทันที แล้วกล่าวว่า

“ผมมิได้สนใจในเรื่องเหล่านี้เลย ท่านเจ้าคุณ ท่านเจ้าคุณเองเคยศึกษาถึง ปัญจทวารวัชชนจิต ไหม ?

ปัญจทวารวัชชนจิตนี้ คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่กับทวารทั้ง ๕ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้นกาย เป็นกิริยาจิตที่ทำหน้าที่ประจำรูปกาย อาศัยอยู่ตามทวารทั้ง ๕ เป็นทางที่ติดต่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างจิต กับสิ่งภายนอก หรืออารมณ์ภายนอก เป็นกิริยาจิตอยู่อย่างนั้น เป็นอยู่อย่างนั้น ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ให้เป็นไปไม่ได้ แต่อาจเป็นพาหะให้เกิดทุกข์ได้ และที่น่าตื่นใจก็คือ ให้กิริยาจิตเหล่านี้ เป็นไปได้โดยประการที่ทุกข์จะเกิดขึ้นไม่ได้ ก็ได้

อันนี้แหละที่น่าสนใจ น่าสำเหนียกศึกษาที่สุด ว่าทำอย่างไร

เมื่อตาเห็นรูปแล้วรู้ว่าสวยงาม หรือน่ารังเกียจอย่างไร แล้วก็หยุดเพียงเท่านี้

เมื่อหูได้ยินเสียง รู้ว่าไพเราะ หรือน่ารำคาญอย่างไร แล้วก็หยุดเพียงเท่านี้

เมื่อลิ้นได้ลิ้มรส รู้ว่าอร่อยหรือไม่อร่อย เปรี้ยวหวานมันเค็มอย่างไร แล้วก็หยุดเพียงเท่านี้

เมื่อจมูกได้กลิ่นหอมหรือเหม็นอย่างไร แล้วก็หยุดเพียงเท่านี้

เมื่อกายสัมผัสโผฏฐัพพะ รู้ว่าอ่อนแข็งเป็นอย่างไร แล้วก็หยุดเพียงเท่านี้

ครั้นเมื่อศึกษาถึงขั้นนี้แล้ว ก็จะปรากฏเหตุอันน่าอัศจรรย์ที่เรียกว่า หัสสิตุปปาทะ คือกิริยาที่จิตยิ้มขึ้นมาเองโดยไม่มีต้นสายปลายเหตุ หาสาเหตุที่มาไม่ได้

อัน หัสสิตุปปาทะ หรือ กิริยาที่จิตยิ้มเองนี้ ย่อมไม่ปรากฏมีในสามัญชนโดยทั่วไป

ดังนั้นนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ควรกระทำไว้ในใจ ในอันที่จะสำเหนียกศึกษา ทำความกระจ่างแจ้งใน อเหตุกจิต อันนี้ เพื่อเป็นบรรทัดฐาน ในการปฏิบัติ

ต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า เมื่อปฏิบัติไปถึงลำดับนี้แล้ว จิตจะเกิดยิ้มขึ้นมาเอง ไม่มีการกระทำ ไม่มีการบังคับให้เกิดขึ้น ย่อมเป็นไปเองโดยไม่รู้ตัว

อนึ่ง เมื่อปฏิบัติดามหลัก จิตเห็นจิต อันมีการ หยุดคิดหยุดนึก เป็นลักษณะ ถ้าใช้ปัญญาอันยิ่ง สอดส่องสำรวจตรวจตราดูตามทวารทั้ง ๕ เหล่านี้ เพื่อจะหาวิธีป้องกันที่จิตจะแล่นไปหาเรื่องใส่ตัวในภายนอก ก็จะเห็นและเข้าใจได้ว่า เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่คนเราใช้ทวารทั้ง ๕ เหล่านั้น กระทำการอันสัมพันธ์กับภายนอก

เมื่อพิจารณาให้ถ้วนถี่ยิ่งขึ้นก็จะได้อธิบายอันแยบคาย ว่าในขณะที่เกิดสัมพันธภาพกับภายนอก จิตก็ควรจะกำหนดให้อยู่ในจิต เมื่อเห็นก็กำหนดให้รู้เท่าทันการเห็น แต่ไม่ถึงกับต้องรำพึงรำพันออกมาว่า เห็นแล้วนะ เห็นแล้วหนอ อะไรหนอ เพราะขณะจิตหนึ่งๆ นั้น มันไม่กินเวลาอะไร เมื่อรู้เท่าทันแล้วก็ไม่ต้องไปรำพึงรำพัน เป็นการปรุงแต่งเพิ่มเติมอีก

ในการกำหนดให้รู้ให้เท่าทันนั้น อย่าได้ถูกลวงด้วยสัญญาแห่งภาษาคนภาษาโลก ดังเช่นการรู้เท่าทันคนที่จะมาหลอกลวงเรา เป็นต้น

การรู้เท่าทันอารมณ์ ในภาษาธรรมนั้น หมายความว่า ความ "รู้" จะต้องทันกันกับการรับอารมณ์ของทวารทั้ง ๕ เช่น ในขณะที่ตาเห็นรูป จะต้องมีสติรู้อยู่อย่างเต็มที่ สมบูรณ์ มีความรู้ตัวพร้อมอยู่ตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องรู้อะไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกข์อันอาศัยปัจจัยคือ การเห็น เป็นต้นนั้น ย่อมไม่เกิดและเราก็จะสามารถมองอะไร ได้อย่างอิสรเสรี โดยที่รูปหรือสิ่งที่เรามองเห็น ไม่อาจมีอิทธิพลอันใดเหนือเราได้เลยแม้แต่น้อย

ปัญจทวารวัชชนจิต หรือกิริยาจิตที่แล่นอยู่ตามทวารทั้ง ๕ ย่อมสัมพันธ์กันกับมโนทวาร ในมโนทวารนั้นมี มโนทวารวัชชนจิต อันเป็นกิริยาจิตที่แฝงอยู่ มีหน้าที่คิดนึกต่างๆ สนองตอบอารมณ์ที่มากระทบไปตามธรรมดา

ดังนั้นในทางปฏิบัติ จะให้หยุดคิดหยุดนึกทุกกรณี ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ด้วยการอาศัยอุบายวิธีดังกล่าวนี้แหละ เมื่อจิตตรึกความนึกคิดอันใดออกมา ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ก็ทำความกำหนดรู้พร้อมให้เท่าทันกัน

เช่นเดียวกัน เมื่อมีความรู้พร้อมทันๆ กันกับการรับอารมณ์ ดังนี้แล้วปัญญาที่รู้เท่าเอาทัน ย่อมตัดวัฏจักรให้ขาดออกจากกัน ไม่อาจสืบเนื่องหมุนเวียนต่อไปได้

กล่าวคือ การก่อรูปก่อร่างต่อไปของจิต ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ และความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็มีอยู่เอง โดยไม่ต้องมีการลวงๆ ว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรเลย ความไม่ยึดมั่นนั้น ก็เป็นแต่เพียงชื่อที่เรานำมาใช้เรียกขานกันให้รู้เรื่อง เมื่อวัฏฏะมันขาดไปเท่านั้น

โดยนัยอย่างนี้ จึงน่าจะศึกษาให้เข้าใจ ในอันที่จะกำหนดรู้อย่างไร จึงจะถูกต้อง เมื่อจิตกระทบเข้ากับอารมณ์ภายนอกอย่างไร ก็ให้หยุดอยู่แค่นั้น อย่าไปทะเลาะวิวาทโต้แย้ง อย่าไปเอออวยเห็นดีเห็นงาม ให้จิตได้โอกาสก่อรูปก่อร่าง เป็นตุเป็นตะ เป็นเรื่องราวยืดยาวออกไป อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป อย่าไปใส่ใจอีกต่อไป พอกันเพียงรู้อารมณ์เท่านี้ หยุดกันเพียงเท่านี้”

     

๘๔. เรื่องจิตเรื่องอิทธิฤทธิ์

เรื่องต่อไปนี้ท่านเจ้าคุณ พระราชวรคุณ ได้เล่าให้ฟังเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๓๘ เป็นการถอดคำพูดจากการบันทึกเทป ดังนี้

"ถ้าจะพูดไปแล้วนะ อาจารย์ (หมายถึง อ.ปฐม-อ.ภัทรา นิคมานนท์) เรื่องของ จิต หรือ อิทธิฤทธิ์ นี้ อาตมาก็ไม่อยากจะใช้คำว่า อิทธิฤทธิ์ เพราะหลวงปู่ท่านไม่นิยม และก็ไม่ทำ ไม่แสร้งทำ ไม่อะไรด้วยทั้งนั้น ก็เลยไม่อยากใช้คำว่า เรื่องจิต เรื่องอิทธิฤทธิ์ แต่ จิต นี้ หลวงปู่ท่านก็พูดว่า “จิต”

แต่ถ้าพูดเกี่ยวกับหลวงปู่ ก็มีเรื่องแปลกๆ หรือเรื่องที่น่าอัศจรรย์เหมือนกัน ในข้อที่เราอยู่กับท่าน ท่านก็ไม่ได้ปฏิเสธ ท่านก็ไม่ได้ยกย่อง ท่านก็ไม่ได้พูดเพื่ออะไรมากมาย ในเรื่องเหล่านี้ แม้แต่เรื่องไสยศาสตร์ ก็พูดกันว่า ชาวสุรินทร์เห็นมีไสยศาสตร์กันมาก สามารถใช้คาถาอาคมอะไรต่างๆ เหล่านี้แม้มีคนถามท่าน ท่านก็ไม่ค่อยอธิบาย ท่านก็บอกเพียงว่า ท่านเองก็ไม่เคยเห็นเหมือนกัน อะไรทำนองนั้น

สำหรับเรื่อง “จิต” นั้นท่านพูด คือท่านพูดเรื่อง จิต ท่านไม่ค่อยใช้คำว่า อิทธิฤทธิ์ อะไรหรอก จะใช้ว่า “พลัง” โดยมากท่านจะพูดว่า

“พลังจิต นั้นมีอยู่ พลังจิตจะมีได้ ก็เกิดจากข้อเดียว คือพลังสมาธิ”

ถ้าผู้ใดสร้างสมาธิจิตไม่ได้ ท่านว่าพลังจิตนั้น(ก็)เกิดขึ้นไม่ได้ ถึงเกิดขึ้นก็เป็นพลังจิตที่เป็น มิจฉา หรือไม่มั่นคง เช่นว่า คนบางคน เขาใช้พลังจิตในทางที่ผิด หรือนำไปใช้ในทางรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย ก็อาจจะมีส่วนของพลังจิตเหมือนกัน

พลังจิตที่เกิดจากสมาธิที่ถูกต้องนั้นคือ เมื่อมีสมาธิเกิดขึ้น แล้วก็อาศัยพลังแห่งจิต เพราะสมาธินั้นเกิดจาก จิตรวม คือ จิตมันละอารมณ์ต่างๆ

เมื่อมันไปแบกเอาอารมณ์ต่างๆ ไว้มาก จิตมันก็ไม่มีกำลัง ไม่มีพลังอะไร ต่อเมื่อจิตสามารถตัดอารมณ์ต่างๆ ได้ก็เกิดสมาธิ ก็ใช้คำว่า “จิตเดียว” ที่ปราศจากอารมณ์มากเกินไป จิตก็จะเกิดมีพลังขึ้นมา

ถ้ามีพลังแล้ว-ตามที่หลวงปู่อธิบาย-ระหว่างที่จิตเราเกิดมีพลังสมาธินี่แหละ บุคคลจะเอาไปใช้ทางไหน ได้ผลในทางนั้น แต่เมื่อใช้ในทางที่เสียหาย มันก็ทำให้เสียหายได้ หรือใช้ไปในทางที่ให้ประโยชน์ ให้เกิดพลังปัญญา ก็ได้

หมายความว่า อย่างที่พูดในหลักวิชาการเรียนทางศาสนาว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ว่า ศีลทำให้เกิดการอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ฉะนั้น พลังจิตที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง หลังจากเกิดสมาธินั้น หมายถึงว่า จิตนั้นจะยกสภาวธรรมขึ้นมาไตร่ตรองให้เกิดวิปัสสนาญาณ เกิดปัญญา แล้วปัญญานั้นก็จะแจ่มแจ้งดีกว่าจิตที่ไม่เกิดสมาธิ หรือจิตที่ไม่มีสมาธิ

ฉะนั้นหลวงปู่จะใช้ว่า พลังจิตนั้นสามารถยกระดับภาวะ หรือป้องกันความทุกข์ยาก อันเนื่องจากการที่จิตส่งออกไปเพื่อรับอารมณ์ต่างๆ ได้

มีคนชอบถามหลวงปู่ เกี่ยวกับเรื่องอิทธิฤทธิ์บ้าง หรือจิตที่มีฤทธิ์ มีพลัง อย่างหนึ่งอย่างใดบ้าง นั้นก็เคยมี แต่เนื่องจากว่า หลวงปู่ท่านไม่สนใจในเรื่องสิ่งมหัศจรรย์ หรือสิ่งอัศจรรย์ในอิทธิฤทธิ์ต่างๆ เหล่านี้ ท่านจึงไม่นิยมพูดให้ใครฟัง

แต่หลวงปู่ก็ยอมรับว่า จิตนั้นย่อมเป็นจิตที่มีพลัง เมื่อจิตมีพลังแล้ว มันก็จะเป็นคุณประโยชน์ได้หลายอย่าง แต่ท่านก็จะขึ้นต้นว่า จิตจะมีพลังได้นั้นก็ต่อเมื่อได้สมาธิ เมื่อทำสมาธิได้ หรือเกิดสมาธิ จิตมีอารมณ์เดียว จิตจึงจะมีพลัง เมื่อจิตมีพลังแล้ว จะหันไปใช้ทางไหนก็ย่อมได้ แม้หันไปทางที่ผิดทางพระพุทธศาสนาก็ย่อมจะได้ อย่างเช่นฤๅษีชีไพร หรืออะไรๆ นั้น ล้วนแต่เป็นสมาธิซึ่งนับว่าเป็นมิจฉาสมาธิได้

ส่วนสัมมาสมาธินั้น หมายถึงจิตที่เป็นสมาธิตามลำดับ ตั้งแต่ขั้นต้น คือ ขณิกสมาธิ จนกระทั่งเข้าสู่ อัปปนาสมาธิ อะไรในกระแสนี้ แล้วจิตนั้นก็จะเป็นพลังส่องทางไปให้เกิดปัญญา

ในทางตรงข้าม ถ้าอาศัยพลังจิตไปในเรื่องอื่น เรื่องอิทธิฤทธิ์อะไรนั้นไม่ถูกต้อง หรือไม่ถูกพุทธประสงค์ทั้งหมด

แต่ถ้าใช้พลังจิตนั้น เพื่อเป็นเหตุให้ปัญญาผุดขึ้น เพื่อจะตัดกิเลส ปัญหาและความชั่วร้ายต่างๆ เพื่อยกระดับจิตของเราให้พ้นจากทุกข์ จึงจะเป็นพลังจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิ และเป็นทางที่ถูกต้อง หลวงปู่มักจะอธิบายในแนวทางนี้

ส่วนในทางที่ว่า เอาพลังจิตไปแสดงอิทธิฤทธิ์อย่างนั้นอย่างนี้ แล้วรู้สึกว่าหลวงปู่จะไม่ค่อยกล่าวถึง หลวงปู่จะระมัดระวังที่สุด ในเรื่องการปฏิบัติ ให้เป็นไปในทางที่ดีที่ถูกต้อง"

๘๕. หลวงปู่แสดงอิทธิฤทธิ์บ้างไหม?

จากคำถามที่ว่า "หลวงปู่เคยแสดงอิทธิฤทธิ์อะไรบ้างไหม?" ท่านเจ้าคุณพระราชวรคุณอธิบายดังต่อไปนี้

คือ...แม้แต่ความสนใจ ความในใจของท่าน ในเรื่องเหล่านี้ ท่านก็ไม่มีอยู่แล้ว ถามว่า ท่านเคยแสดงฤทธิ์ให้ปรากฏนั้น ท่านจะแสดงได้อย่างไร ท่านไม่แสดง ไม่ทำอย่างแน่นอน

แต่ว่า.. พูดก็พูดเถอะ เมื่อหลวงปู่มีอะไรๆ ที่เป็นความมหัศจรรย์อยู่ในตัวท่าน ก็มีสิ่งแปลกประหลาดมหัศจรรย์ออกมาให้เห็นบ้าง อาตมาไม่ถือว่าท่านแสดง แต่ในฐานะที่อยู่กับท่านมานาน อาตมาเห็นว่ามีสิ่งอัศจรรย์เกี่ยวกับหลวงปู่หลายอย่าง ขอย้ำว่า

“ไม่ใช่ฤทธิ์นะ แต่ว่ามันอัศจรรย์”

เท่าที่นึกราบทวนดูก็เห็นว่า มีอยู่หลายครั้ง อาตมาเคยนึกทบทวนอยู่ในใจ เท่าที่อาตมาเคยเห็นปรากฏ รู้สึกจะมี ๗ ครั้งด้วยกัน เราจะเรียกว่าฤทธิ์ หรืออะไรก็ไม่ทราบ?

เรื่องแรก เกี่ยวกับเรื่อง ความปลอดภัยของหลวงปู่

หลวงปู่นั้นคงจะมีภาวะอะไรที่ไม่ทำให้บาดเจ็บ ไม่ทำให้แขนขาหัก หรือ ไม่ทำให้ตายโดยอุบัติภัย อุบัติเหตุ อันนี้จะเป็นบุญหรือเป็นฤทธิ์อะไรก็สุดแท้แต่จะเรียก

เคยเห็นความคับขันในชีวิตของท่าน ไม่ว่าเกี่ยวกับเรื่องรถ ไม่ว่าใช่เรื่องเขาลอบปองร้าย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ก้อนหินกลิ้งมาจากบนภูเขาจะทับท่าน ในระหว่างที่หลวงปู่พาพระเณรไปพำนักทำงานพัฒนาเขาสวาย และฝึกอบรมกัมมัฏฐาน ให้แก่พระเณร มีก้อนหินใหญ่กลิ้งตรงมายังท่านพอดี แต่มันก็เบี่ยงหลบไป เมื่อมาใกล้ท่าน เหมือนจะมีอะไรผลักให้หลีกไปนิดหน่อย ให้ท่านพ้นภัยไป นี่เรื่องหนึ่งเท่าที่ปรากฏ

(โปรดดูในตอนที่ ๖๖ อุบัติเหตุที่เขาพนมสวาย)

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องแปลกคือ เรื่องเกี่ยวกับน้ำฝน จะว่าฤทธิ์หรือเปล่าก็ไม่ทราบ (โปรดดูรายละเอียดในตอนที่ ๓๔ เรื่องหลวงพ่อพระประธาน) เมื่อคราวหล่อพระพุทธรูปพระประธาน ในโบสถ์เสร็จแล้ว คณะกรรมการต้องการให้อัญเชิญท่านแห่รอบเมือง แต่หลวงปู่เห็นว่าไม่จำเป็น ปรากฏว่าเกิดฝนและลมพายุใหญ่ จนไม่สามารถเคลื่อนขบวนแห่ได้สำเร็จ

(เรื่องที่สาม และเรื่องอื่นๆ ได้นำเสนอในตอนต่อๆ ไป)

๘๖. หลวงปู่สามถูกทำร้าย

เรื่องที่สาม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดกับ หลวงปู่สาม อกิญฺจโน วัดป่าไตรวิเวก ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ ๑๓ กิโลเมตร

เรื่องนี้มีอยู่ว่า มีพระจากจังหวัดร้อยเอ็ดมาบวช และพำนักอยู่ที่วัดหลวงปู่สาม พระองค์นี้เป็นลูกคนที่มีฐานะดี เลื่อมใสในพระศาสนา จึงมาบวชในระหว่างเข้าพรรษา

พอมาถึงช่วงกลางพรรษา โรคเก่าก็กำเริบ คือพระองค์นี้เคยเป็นบ้าหรือโรคประสาทมาก่อนที่จะบวชเป็นพระ พระองค์นั้นมีการกระทำคล้ายคนบ้าอาละวาด กระโดดเข้าไปกอดปล้ำหลวงปู่สามอย่างแน่นเหนียว ปล้ำกอดหลวงปู่อยู่เป็นเวลานานร่วม ๑ ชั่วโมง ไม่มีใครสามารถจะแกะออกได้ หลวงปู่สามอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ตื่นตระหนกตกใจกันไปทั้งวัด

โดยปกติ ในตอนเช้ามืด หลวงปู่(ดูลย์) ท่านจะอยู่แต่ภายในกุฏิ ไม่เคยคิดที่จะออกเดินไปเยี่ยมคนนั้นคนนี้ หรือเดินไปดูอะไรนอกกุฏิ เป็นปฏิปทาอย่างหนึ่งที่ท่านไม่เคยคิดออกนอกเท่าไร ก็ไม่เคยคิดว่าจะไปเยี่ยมใคร

เช้าวันนั้น ไม่รู้เป็นอย่างไร ท่านให้เด็กไปเรียก ผู้ใหญ่สรศักดิ์ กองสุข ซึ่งบ้านอยู่ใกล้ๆ วัด ให้เอารถไปส่งหลวงปู่ที่วัดของหลวงปู่สาม พอท่านไปถึงเห็นพระองค์นั้นกำลังกอดปล้ำหลวงปู่สามอยู่ ใครไปช่วยก็ไม่ยอมปล่อย หลวงปู่เข้าไปถึงวัดพอดี มีคนร้องว่า

หลวงปู่ดูลย์มาแล้ว! หลวงปู่ดูลย์มาแล้ว!

พระองค์นั้นตกใจ ปล่อยหลวงปู่สาม แล้ววิ่งไปหลบซ่อนตัวสั่นอยู่ข้างๆ กุฏิ หลวงปู่สามก็สะบักสะบอมพอสมควร แต่ไม่ถึงกับอาพาธ ลูกศิษย์ถูกหาทุกคนอยู่ในอาการตกใจ

หลวงปู่เรียกพระองค์นั้นมาถามว่า ทำไม? เป็นอย่างไร?

ท่านไม่ได้ดุด่าว่า ทำไมจึงต้องไปทำอย่างนั้น ถามเพียงว่า ทำไม และเป็นอย่างไร?

พระองค์นั้นก็กราบเรียนหลวงปู่ว่า ขณะที่กำลังปฏิบัติสมาธิภาวนาอยู่นั้น ก็เกิดนิมิตเห็นเป็นสวรรค์วิมานต่างๆ จึงตั้งใจจะพาหลวงปู่สามเหาะขึ้นไปดูของสวยงามเหล่านั้น ไม่ได้มีความประสงค์จะทำร้ายท่านแต่ประการใด ทุกคนก็เข้าใจ และหลวงปู่ก็ช่วยแก้ไขเหตุการณ์นั้น โดยไม่ได้ตำหนิพระองค์นั้นแต่อย่างใด

ที่อาตมาเห็นว่าอัศจรรย์ก็เหตุว่า หลวงปู่ไม่เคยไปไหนในตอนเช้ามืด ทำไมท่านจึงรู้ว่ามีภัยพิบัติเกิดขึ้นกับหลวงปู่สาม ได้ถามหลวงปู่ว่า หลวงปู่รู้หรือว่าหลวงปู่สามจะเป็นอะไรจึงได้เดินทางไป

หลวงปู่ก็ไม่ได้ตอบรับ ท่านบอกเพียงว่า “คิดๆ ไป ก็อยากไปเยี่ยมเยียนดูบ้าง”

ท่านก็พูดแค่นี้พวกเราก็ไม่กล้าซักถามอะไรท่านมากนัก

๘๗. หลวงตาแปะมรณภาพ

ที่เล่ามาคือลักษณะที่ว่าอัศจรรย์ในแต่ละครั้งเท่าที่สังเกตเห็น

มีอยู่ครั้งหนึ่ง มีพระรุ่นราวคราวเดียวกันกับหลวงปู่ แต่บวชคนละนิกาย ท่านอยู่ที่อำเภอปราสาท แต่อยู่บ้านนอกเข้าไปอีก (อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางใต้ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร) ท่านเป็นพระรุ่นเก่าแก่ด้วยกัน พระองค์นั้นท่านมิได้สนใจเรื่องการปฏิบัติ ท่านถือแบบโบราณๆ เคยอยู่อย่างไร ทำอย่างไร เคยมีพิธีกรรมอย่างไร ก็อยู่ก็ทำอย่างนั้น แต่คนนับถือท่านมาก

ท่านชื่อ หลวงพ่อแปะ อยู่วัดบ้านตาเมาะ ตำบลไพล อำเภอปราสาท

วันนั้นหลวงปู่ออกมานั่งในกุฏิแต่เช้ามืด มีลูกศิษย์คนหนึ่งชื่อ นายจันครบ บุญประสิทธิ์ ก็เข้าไปรับใช้หลวงปู่ ท่านก็พูดขึ้นว่า

"ครบ เอ็งไม่ได้ไปบ้านหรือ? หลวงตาแปะตายแล้ว”

นายครบก็ว่า “ยังไม่ทราบครับ”

นายครบคนนี้ เป็นคนที่อยู่หมู่บ้านเดียวกัน และเป็นลูกหลานของหลวงตาแปะ

หลังจากนั้นอีก ๒-๓ ชั่วโมงก็มีคนมากราบเรียนให้หลวงปู่ทราบว่า หลวงตาแปะท่านถึงแก่มรณภาพแล้ว เมื่อตอนตี ๔ ของวันนั้นเอง

เรื่องนี้ก็นับว่าแปลก ได้เรียนถามหลวงปู่ว่า หลวงปู่ทราบได้อย่างไรว่าหลวงตาแปะตาย มีคนมาบอกก่อนหน้านี้ หรือใครมาบอกหลวงปู่หรือ

หลวงปู่ตอบว่า “รู้ไม่รู้ ก็ว่าไปยังงั้นๆ แหละ”

คือหลวงปู่ท่านไม่ค่อยต่อความยาวสาวความยืด ท่านจะรีบตัดบทไปเสีย เรื่องในลักษณะคล้ายๆ กันนี้มีอยู่เสมอๆ

๘๘. เรื่องเกี่ยวกับฝนตก

ทีนี้ก็ในเรื่องของฝนตกนี้ก็เหมือนกัน

ครั้งหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ คือระหว่างเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ หลวงปู่คิดอย่างไรก็ไม่ทราบ ท่านประสงค์จะไปพักผ่อนที่ป่า ก็เลยแนะนำชักชวนท่านว่าให้ไปพักผ่อนที่วัดของ พระอาจารย์สุวัจ สุวโจ คือวัดถ้ำศรีแก้ว อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ซึ่งอยู่บนเทือกเขาภูพาน

ก่อนหลวงปู่เดินทางไปประมาณ ๑๐ วัน ได้ให้พระไปส่งข่าวให้พระอาจารย์สุวัจทราบล่วงหน้า บอกว่า

“หลวงปู่จะมาพักผ่อนที่นี่ด้วยสัก ๑๐ วัน ท่านเห็นว่าอย่างไร"

ท่านพระอาจารย์สุวัจก็มีความยินดี ได้จัดแจงสถานที่ไว้รอต้อนรับหลวงปู่ พระที่ส่งไปแจ้งข่าว ก็กลับมากราบเรียนให้หลวงปู่ทราบ

ก่อนหลวงปู่เดินทางไม่กี่วัน พระอาจารย์สุวัจไม่ค่อยสบายใจ เห็นว่าหลวงปู่ยังไม่น่าจะเดินทางในช่วงนี้ เพราะเกิดไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในแถบนั้น ทั้งต้นไม้ใบหญ้าโดนเผาผลาญไปในวงกว้าง บริเวณนั้นเต็มไปด้วยควัน ร้อนก็ร้อนอบอ้าว ต้นไม้สูงๆ ก็ถูกไฟไหม้ขึ้นไปจนใบไม้ถูกไหม้หมด บรรยากาศไม่เป็นที่สบายเลย

พระอาจารย์สุวัจ เห็นว่าหลวงปู่ไม่น่าจะมาในช่วงนี้ น่าจะเลื่อนออกไปก่อน ท่านรู้สึกปริวิตกในเรื่องนี้ แต่ในช่วงนั้น ไม่มีใครจะเดินทางจากสกลนครมาสุรินทร์เพื่อส่งข่าว หลวงปู่จึงปล่อยเหตุการณ์ให้เลยตามเลย

ปรากฏว่า ก่อนหลวงปู่เดินทาง ๒-๓ วัน เกิดฝนตกในบริเวณนั้น ไฟป่าทั้งตามที่สูงและที่ต่ำก็ดับมอดหมด หลังจากฝนตกใหญ่แล้ว บรรยากาศแถวนั้นก็ดีขึ้น กลิ่นเถ้าถ่านและกลิ่นดินที่เผาสุกก็หอมกรุ่น เสียงจักจั่นเรไรก็เริ่มร้องระงม ช่วงที่หลวงปู่เดินทางไปถึงจึงเป็นช่วงที่บรรยากาศกำลังดี

พระอาจารย์สุวัจ จึงได้ปรารภอัศจรรย์กับเหตุการณ์ในครั้งนี้

“แต่เดิมนึกว่าเมื่อหลวงปู่มาแล้วจะไม่สบาย ก่อนหลวงปู่มาถึงแค่ ๒ วัน เกิดฝนตกอย่างหนัก ก็เลยทำให้หลวงปู่พักผ่อนสบาย ไม่ลำบาก”

หลวงปู่บอกว่า “เออ! มาอยู่นี้ภาวนาดี บรรยากาศดี”

พระอาจารย์สุวัจอยากนิมนต์ให้หลวงปู่อยู่ต่อ แต่ท่านพักเพียง ๑๐ วันก็เดินทางกลับ

ในขณะนั้นหลวงปู่อยู่ในวัยชราที่สุดแล้ว (ท่านมีอายุ ๙๐ ปี) ที่พวกอาตมาแปลกใจ และดีใจที่ว่า ท่านชราภาพแล้ว ก็ได้มีโอกาสไปพักผ่อนเปลี่ยนบรรยากาศตามอัธยาศัยครั้งหนึ่ง

เหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่ใช่หลวงปู่แสดงฤทธิ์เดช แต่อาตมาพูดในฐานะที่อยู่ใกล้ชิดท่าน ก็เห็นว่าเป็นเรื่องแปลก

๘๙. แขกยามวิกาล

เรื่องนี้ไม่อยากพูด และไม่เคยพูดเลย แต่เหตุการณ์ก็ผ่านมานานแล้วท่านเหล่านั้นก็ล่วงลับไปหมดแล้ว

ตอนนั้นอาตมาเพิ่งมาบวชเณร มาพำนักอยู่กับหลวงปู่

เรื่องเช่นนี้ไม่ว่าคนเรา แม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังต้องมีสิ่งที่เป็นอันตราย หรือว่ามีศัตรูปัจจามิตร ปองร้ายพระองค์ท่านไม่รู้เท่าไร เมื่อนึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ปกติธรรมดา อาตมาจึงกล้าพูดเรื่องนี้ให้อาจารย์ฟัง (หมายถึง อ.ปฐม และ อ.ภัทรา นิคมานนท์)

เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ ตอนนั้นหลวงปู่กำลังดัง กำลังเด่น ทั้งการก่อสร้าง ทั้งการที่มีผู้ศรัทธาเลื่อมใส คือช่วงที่หลวงปู่อยู่ในวัยกลางๆ โบสถ์อัศจรรย์ก็กำลังจะเสร็จ

ช่วงนั้นก็คงจะมีศัตรูหมู่ปัจจามิตรเช่นกัน คืนหนึ่งหลวงปู่นอนอยู่บนกุฏิ ซึ่งความจริงแล้วท่านไม่ค่อยจะนอน เพราะกลางคืนมักจะได้ยินกระแอมเสียงสดใสอยู่เรื่อยๆ ตามที่อาตมาเฝ้าสังเกตมา

คืนนั้นมีคนแอบไปทำร้ายหลวงปู่ พระที่นอนในห้องใกล้ๆ หลวงปู่ชื่อพระหมื่น กับพระสำลี พักอยู่ด้วยกัน สมัยนั้นมืดมาก ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ได้ยินเสียงคนพูดซุบซิบกันใต้ถุนกุฏิ ปรึกษากันว่า

“เอ! พวกเราได้ค่าจ้างเขามาสี่พันบาทเท่านั้น ให้เรามาฆ่าพระผู้เป็นครูบาอาจารย์ถึงขนาดนี้ เป็นบาปหนัก แล้วเราจะเลี้ยงชีวิตปลอดภัยหรือ”

พระทั้ง ๒ องค์ได้ยินคำพูดนั้นอย่างชัดเจน ตกอกตกใจมากจนตัวสั่น แล้วได้ยินเสียงหลวงปู่กระแอมขึ้น ทำให้คนที่ลอบอยู่ทางใต้กุฏิเดินไปด้านหน้าต่างห้องหลวงปู่ หลวงปู่กระแอมอีกครั้ง แล้วเปิดประตูห้องออกมาเรียกให้พระทั้ง ๒ องค์ออกไปคุยด้วย

พระทั้ง ๒ องค์ตัวสั่น เล่าบอกเหตุการณ์ด้วยเสียงสั่นเครือว่าได้ยินใครมาปรึกษากันว่าจะมาลอบฆ่าหลวงปู่

หลวงปู่ตอบว่า “เฮ้ย! จะไปเชื่ออะไร เขาอาจจะมีธุระอะไรก็ได้ อาจมีความจำเป็นมาหาใครก็ได้”

ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณตี ๒ นี้แหละ เป็นจังหวะนั้นพอดี ไม่ทราบว่าทำไมท่านต้องลุกขึ้นมา แล้วเรียกพระทั้ง ๒ไปถามอะไรบางอย่าง พระที่เล่าบอกเรื่องราวต่างๆ ท่านก็ว่า "พูดอะไรเรื่อยเปื่อย”

ในที่สุดพระเณรก็พากันไปดูใต้ถุนกุฏิ ก็มีรอยเท้าคนเดินไปมาตามทิศทางที่ได้ยินเสียง

พวกอาตมากับเณรชื่อแก่น กลัวเขาจะแอบยิงทะลุจากใต้ถุนกุฏิหลวงปู่ขึ้นมา เลยพากันเอาก้อนอิฐไปเรียงไว้ใต้เตียง หลวงปู่ท่านก็ไม่ว่าอะไร

หลังจากนั้นมา ประมาณหนึ่งปี คนนั้นก็มาสารภาพกับท่าน เล่าเรื่องราวให้ฟังจนหมดสิ้น หลวงปู่ก็ไม่ได้ว่าอะไร

ถ้าจะบอกชื่อก็ได้ เขาชื่อนาย...

(ท่านเรียกชื่อเป็นภาษาเขมร แต่ขอปิดไว้ เพราะอาจไปเกี่ยวข้องเป็นญาติมิตรของคนรุ่นหลัง ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีได้)

๙๐. เรื่องของหลวงตายุทธ

เรื่องนี้เป็นเรื่องของหลวงตายุทธ ท่านอยู่ที่ วัดจอมสุรินทร์ ห่างจากตัวเมืองออกไปทางเหนือประมาณ ๕-๖ กิโลเมตร เป็นวัดสาขาของวัดบูรพาราม

หลวงตายุทธท่านเป็นพระนักพัฒนา ได้ส่งพระเณรมาเรียนที่วิทยาลัยสงฆ์วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสำนักเรียนที่อื่นอีกหลายแห่ง ตอนนี้ท่านมรณภาพไปแล้วในช่วงใกล้ๆ กับหลวงปู่ เพราะท่านเป็นพระสูงอายุแล้ว

หลวงตายุทธมีกิจต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ บ่อย ในสมัยนั้นการเดินทางก็ยากลำบากพอสมควร

มีอยู่ครั้งหนึ่ง มีเถ้าแก่นักธุรกิจขับรถกระบะจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ หลวงตาจะพาสามเณร ๔ องค์ไปฝากเรียนที่กรุงเทพฯ จึงได้ขออาศัยนั่งรถไปด้วย เพราะช่วยให้ทุ่นรายจ่ายได้และสะดวกมาก

เจ้าของรถไม่ค่อยเต็มใจนัก เพราะเขาไม่ค่อยศรัทธาพระเท่าไรหรอก แต่เมื่อได้รับการขอร้องจากพระ เขาก็รับไปด้วยอย่างเสียไม่ได้

ตอนนั้นมีเณร ๒ องค์ยังไม่มีหนังสือสุทธิ จึงต้องแวะไปให้หลวงปู่เซ็นหนังสือเสียก่อน ให้เจ้าของรถจอดรอใกล้กุฏิ สามเณรก็นั่งรออยู่ในรถด้วย

หลวงตายุทธขึ้นไปกราบหลวงปู่บนกุฏิองค์เดียว ขึ้นไปถึงก็ไม่เห็นหลวงปู่ ออกมาดูนอกห้องก็ไม่เห็น กลับเข้าไปดูข้างในใหม่ก็ไม่เห็น เถ้าแก่เจ้าของรถก็เร่ง เพราะกลัวถึงกรุงเทพฯ ตอนมืดค่ำจะไม่สะดวก

หลวงตายุทธรู้สึกหัวเสีย พรวดพราดลงมาถามพระเณรแถวนั้นว่า หลวงปู่ไปไหน

พระเณรก็บอกว่า ท่านไม่ได้ไปไหน ท่านอยู่ในห้องนั่นแหละ

หลวงตายุทธกลับขึ้นไปอีก ก็ไม่เห็นหลวงปู่ ก็หัวเสียลงมาอีก ขอโทษเถ้าแก่เจ้าของรถ บอกว่า ไปด้วยยังไม่ได้หรอก ให้เณรลงจากรถ

ด้วยเถ้าแก่เขารีบจะไปอยู่แล้ว เขาจึงออกรถไปตัวคนเดียว ปล่อยหลวงตายุทธและพระเณรไว้ที่วัดบูรพาราม

ฝ่ายหลวงตายุทธก็เดินบ่น “หลวงปู่ไปไหนก็ไม่รู้ ผมมีธุระก็ไม่สำเร็จ”

แม่ชียศอยู่ใกล้ๆ แถวนั้นก็พูดกับหลวงตายุทธว่า

“หลวงตา พูดไปก็อย่าหาว่าฉันพูดสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ขอให้ท่านขึ้นไปอีก ขึ้นไปดูอีกทีซิ”

พอหลวงตายุทธขึ้นไป ก็เห็นหลวงปู่นั่งอยู่ในที่ท่านนั่งเป็นประจำ

“โอ หลวงปู่อยู่นี่เอง ทำไมผมขึ้นมาจึงไม่เห็น ขึ้นมาตั้ง ๒ ครั้ง!”

“เออ! คนตาวิปริต จะไปเห็นอะไร” หลวงปู่พูดเรียบๆ ตามประสาของท่า

หลวงตายุทธก็นั่งคุยแบบหัวเสียอยู่กับท่านนานพอสมควร แล้วก็ลากลับวัด

ฝ่ายเถ้าแก่ที่ขับรถเข้ากรุงเทพฯ นั้น เดินทางมาเลยอำเภอนางรองจังหวัดบุรีรัมย์ ก็ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ รถแหลกลาญหมด ตัวเองก็ถึงแก่กรรม ณ ที่นั้น

ก็ลือกันในครั้งนั้นว่า ถ้าหลวงตายุทธไปพบหลวงปู่อย่างง่ายๆ ในตอนนั้น ทั้งหลวงตายุทธรวมทั้งพระเณร ก็คงจะร่วมไปกับเถ้าแก่คนนั้นด้วย หลวงตายุทธเพิ่งจะโล่งใจบอกว่า

“ไม่เจอหลวงปู่ตอนนั้นก็ดีแล้ว”

๙๑. เหตุเกิดที่กำแพงแสน

อีกครั้งหนึ่ง ลูกศิษย์ได้นิมนต์หลวงปู่ไปที่กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ทางนั้นเขาเตรียมภาพถ่ายของหลวงปู่ ไว้รูปหนึ่งแล้ว เขาเตรียมไว้ปึกหนึ่ง ไว้สำหรับแจกญาติมิตรและบริวาร

คนที่นิมนต์ เขาเป็นเลขาสมาคมชาวไร่อ้อย อำเภอกำแพงแสน บอกชื่อก็ได้ ยังมีชีวิตอยู่ เขาชื่อ กำนันราชัย เดี๋ยวนี้ยังเป็นกำนันอยู่ที่กำแพงแสน ตำบลอะไรจำไม่ได้

ทางผู้นิมนต์ก็บ่นให้หลวงปู่ฟังว่า อ้อยปีนี้ถ้าจะแย่แล้ว ฝนไม่ตก อ้อยกำลังจะเฉาตาย เดือนเจ็ดเข้าไปแล้ว ใกล้จะถึงเดือนแปด จะเข้าพรรษาแล้ว ฝนไม่ตกเลย อ้อยจะเฉาตาย ผมก็เผอิญทำบุญ จึงมากราบนิมนต์หลวงปู่

ตอนนั้นดูเหมือนจะทำบุญเปิดปั้มน้ำมัน ของเสี่ยอะไรคนหนึ่งหรือเปล่า ชักจำไม่ได้ เขามานิมนต์หลวงปู่ อาตมาก็ตามไปด้วย พระรูปหนึ่งเป็นพระบวชใหม่ก็ไปด้วย

กลางคืนก่อนวันที่หลวงปู่ออกเดินทาง ฝนตกใหญ่เลย จนกระทั่งน้ำนองพอสมควร ขณะที่หลวงปู่ประกอบพิธีให้เขาแล้ว ฝนก็ยังตกปรอยๆ อยู่

ทางเจ้าภาพเอารูปถ่ายที่ว่าประมาณ ๑๐๐ ภาพเห็นจะได้ พร้อมทั้งเอาแป้งมาให้หลวงปู่เจิมให้ ท่านเจิมภาพบนสุดเพียงภาพเดียว แต่ปรากฏว่ารอยนิ้วมือของท่านทะลุลงไปถึงทุกภาพทั้งปึกนั้น (โปรดดูภาพประกอบ)

อันนี้ก็ไม่ใช่ทำอิทธิฤทธิ์ แต่อาตมาเห็นว่าแปลก กำนันคนนั้นก็ยังมีชีวิตอยู่ไปสอบถามเขาดูได้

๙๒. เรื่องแปลกเกี่ยวกับฝนตก

ช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตของหลวงปู่ ก็มีเรื่องแปลกอีกเรื่องหนึ่ง ที่เห็นว่าหลวงปู่คงมีอะไรที่เกี่ยวเรื่องน้ำฝน ซึ่งอาตมาสังเกตเห็นว่าเป็นเรื่องแปลก

ระยะนั้นเป็นเดือนมีนาคม ก็เป็นหน้าร้อน อากาศกำลังร้อน ในกรุงเทพฯ ปีนั้นร้อนมาก หลวงปู่อาพาธอยู่ที่ตึกจงกลนีวัฒนวงศ์ โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นตึกพิเศษ เป็นห้องพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาพระราชทานรับอาพาธหลวงปู่ไว้ในพระอุปถัมภ์ หลวงปู่มาพักอยู่ ๕๒ วัน

เมื่อ ในหลวงเสด็จเยี่ยมหลวงปู่ ทรงถามสารทุกข์สุขดิบหลวงปู่ พระองค์ได้สนทนากับผู้รักษาพยาบาลหลวงปู่ แล้วก็สนทนากับหลวงปู่ มีอยู่จังหวะหนึ่งพระองค์ทรงปรารภขึ้นว่า

“หลวงปู่ หน้านี้ร้อนเหลือเกิน เดือนมีนาปีนี้รู้สึกว่าจะร้อนกว่าทุกๆ ปี ไม่ทราบว่าเมื่อไหร่ฝนจะตกมา”

พระองค์ทรงปรารภกับหลวงปู่ดังนี้ เมื่อเสด็จกลับแล้ว ปรากฏว่า คืนนั้นฝนตก ฝนในกรุงเทพฯ หนักพอสมควรทีเดียว ปีนั้นเป็นปี ๒๕๒๖ เป็นปีที่หลวงปู่อาพาธ ปีนั้นแหละ

อันนี้ก็เห็นว่าแปลกเหมือนกัน ที่ว่า ทรงปรารภเสร็จ แล้วฝนก็ตกในระหว่างหน้าแล้ง-หน้าร้อน เป็นเหตุให้อากาศร้อนบรรเทาพอสมควร

๙๓. วิบากเกี่ยวกับฝนตก

เท่าที่ลองนึกราบทวนดู หลวงปู่ท่านคงจะมีวิบากอะไรที่เกี่ยวกับฝนตกกระมัง?

ในระหว่างท้ายสุดแห่งชีวิตของหลวงปู่ ทางคณะศิษย์กำหนดจัดงานในวันที่ ๒๙-๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖ เป็นการทำบุญวันเกิดครบแปดรอบของหลวงปู่ คือท่านมีอายุครบ ๙๖ ปี

สานุศิษย์เตรียมจัดงานฉลองวันเกิดหลวงปู่ให้ใหญ่เป็นกรณีพิเศษ เพราะนอกจากฉลองวันเกิดแล้ว ยังจะเป็นการฉลองการหายจากอาพาธของท่านอีกด้วย

สานุศิษย์ที่อยู่ทางกรุงเทพฯ เตรียมจัดขบวนใหญ่ เตรียมพร้อมเพื่อจะเดินทางไปร่วมงานแสดงมุทิตาจิต ถวายหลวงปู่ แต่ละจุด แต่ละกลุ่ม ในกรุงเทพฯ ที่อาตมาทราบ เห็นมีหลายจุดหลายคณะ แจ้งความประสงค์ล่วงหน้าว่า จุดนั้นจะไปตั้งโรงครัว จุดนั้นจะไปทอดผ้าป่า คณะโน้นจะไปทำการใหญ่ขนาดนั้นๆ

ช่วงนั้นจำไม่ได้ว่า ฝนตกตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ ครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ ดูเหมือนจะก่อนวันหลวงปู่มรณภาพสัก ๕ วันหรือ ๓ วันนี้แหละ

ขบวนที่จะไปร่วมงานหลวงปู่ทางกรุงเทพฯ ทั้งสานุศิษย์ และท่านที่สนิทสนม ท่านที่เคารพนับถือหลวงปู่ เดินทางไปร่วมงานไม่ได้ ต้องงดหมด เพราะละแวกบ้านของท่านเหล่านั้นน้ำท่วม ถนนกลายเป็นลำคลอง เป็นการท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่

ทางพระราชสำนัก ได้ข่าวหลวงปู่มรณภาพแล้ว จะมีการเดินทางไปร่วมสรงน้ำศพถวายท่านนั้น จึงขัดข้องทั้งหมด

ทางกรุงเทพฯ ไม่มีคณะไหนเดินทางไปได้เลย

ทำไมช่วงอื่นจึงไม่ตก ทำไมจะต้องไปตกวันนั้นด้วย นี่ก็คงไม่เกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ หรือฤทธานุภาพอะไรของหลวงปู่ เป็นแต่วิบากของน้ำฝนทำให้ชาวกรุงเทพฯ จำนวนมากไปร่วมงานไม่ได้ เพราะเมื่อไปแล้วอาจไม่ได้รับความสะดวกสบายกระมัง จึงไม่มีโอกาสได้ไป

แม้วันมรณภาพของหลวงปู่ ทางสุรินทร์ก็มีฝนตกเหมือนกัน แต่ไม่หนักเหมือนทางกรุงเทพฯ มีตกแบบปรอยๆ ตลอดคืน ขนาดพอเดินผ่านไปมาได้ ไม่ถึงกับเปียกเท่าไหร่ มีละอองฝนอยู่ จนกระทั่งถึงเวลาตีสี่กับสี่สิบกว่านาที (๐๔.๔๓ น.) เวลาที่หลวงปู่มรณภาพปล่อยสังขาร ฝนก็กำลังตกพรำๆ เย็นสบาย

ตกลงผู้ที่จะไปร่วมงานหลวงปู่ จะไปตั้งโรงครัว หรือถวายทาน จัดงานบุญต่างๆ เพื่อถวายกุศลแก่หลวงปู่ ต่างก็ไปไม่ได้ ท่านที่ตั้งใจไปสรงน้ำหลวงปู่ก็ไปไม่ได้ เพราะปีนั้นน้ำท่วมกรุงเทพฯ ประมาณเดือนครึ่ง ใช่ไหมอาจารย์?

นี่คือเรื่องน้ำฝน เกี่ยวกับน้ำฝน ไม่รู้หลวงปู่มีความผูกพันอะไรกับเรื่องนี้

๙๔ จัดงานใหญ่หน้าฝน

เรื่องฝนตกยังไม่หมด เมื่อตอนจัดงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ ท่านที่ไปร่วมงาน คงจะทราบดีว่า พวกอาตมภาพและสานุศิษย์ที่รับผิดชอบการจัดงานอยู่ทางโน้น ได้รับความทุกข์ ความวิตกกังวล หรือความเสียหายทางใจ ซึ่งอาจจะเสียหายในทางรูปธรรมมามากแล้ว ยังมาเสียหายในทางนามธรรม คือทางใจของคณะศิษยานุศิษย์ โดยเฉพาะผู้รับผิดชอบงานหนักๆ เช่นพวกอาตมาเป็นต้น

ครั้งนั้นฝนตกตลอดช่วงการจัดงาน

โดยปกติ การจัดงานศพหลวงปู่หลวงพ่อแต่ละองค์ที่เป็นงานใหญ่ๆ เมื่อตั้งศพที่ไหน ก็จะพระราชทานเพลิงศพในละแวกนั้น ไม่ห่างกันนัก แต่สำหรับการจัดงานครั้งนั้น พวกเราตั้งศพหลวงปู่ บำเพ็ญกุศลในพระบรมราชานุเคราะห์ ที่วัดบูรพาราม แต่เมรุพระราชทานเพลิงศพครั้งนั้น อยู่ห่างจากวัดบูรพาราม ไปจัดที่เขาพนมสวาย ซึ่งห่างออกไป ๒๒ กิโลเมตร ระยะทางไกลจัดเป็นอุปสรรคประการหนึ่ง

อุปสรรคประการที่สอง ธรรมดางานใหญ่งานโต ก็ควรจะเป็นหน้าหนาว หรือหน้าแล้ง แต่งานหลวงปู่นั้นเป็นหน้าฝน เป็นวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๘ อีกแค่ ๘ วันก็จะถึงวันเข้าพรรษา ช่วงนั้นฝนก็ตกด้วย

ในงานได้จัดปะรำพิธีตามดงตามป่า มีพระกัมมัฏฐานมาร่วมนับจำนวนพัน ญาติโยมจากทั่วสารทิศ หลั่งไหลมานับไม่ถ้วน แล้วฝนก็ตกตลอด ท่านที่ไปร่วมงานครั้งนั้น คงไม่ต้องอธิบาย ก็ทราบดีว่า มีความโกลาหลแค่ไหนเพียงไร ซึ่งก็โทษใครไม่ได้ ไม่ว่าทางโรงครัวทานและอะไรทั้งหลายแหล่ ทั้งท่านที่ไปและพระสงฆ์องค์เจ้า ส่วนมากคงไม่ค่อยอิ่มเท่าไหร่ ภัตตาหารไม่ค่อยทั่วถึง คือไม่มีปัญญาจัดให้ทั่วถึงได้ ต้องตั้งครัวทานทั้งที่วัดบูรพาราม และที่เขาพนมสวาย ซึ่งอยู่ห่างกัน ๒๒ กิโลเมตร คำนวณจำนวนคนไม่ถูก ยิ่งกว่านั้นฝนก็ตก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใกล้จะเสด็จ ฝนก็ยังพรำอยู่ คนก็กรำฝนได้ แต่พอพระองค์เสด็จไปถึงบริเวณงาน ด้วยพระพุทธานุภาพและพระอานุภาพ ฝนก็หยุดตก ฝนก็หาย ได้ประกอบพิธีอย่างเรียบร้อย

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับ ฝนก็เริ่มตกอีก

เมื่อถึงเวลาเผาจริง ฝนตกมาปรอยๆ และน้ำฝนก็หยดลงมาตรงโกศทอง ลงตรงนั้นพอดี ลงมาตอนไฟกำลังลุกไหม้

เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเขาว่า

“เอ ! แปลก ธรรมดาเมื่อเผาแล้วไฟจะลุกแรง ต้องเอาน้ำฉีดไว้ กันไม่ให้ไฟลุกแรง ใช้น้ำช่วยให้ไฟลุกสม่ำเสมอ ทำไมวันนี้ฝนรั่วลงมาตรงเตาพอดี ก็ไม่มากนัก เพียงแต่ช่วยให้ไฟลุกพอดีพองาม ไม่ลำบากที่จะควบคุมไฟ”

ฝนปรอยไปเรื่อย พวกเราก็อยู่ไปจนกระทั่งว่าประมาณ ๓ ทุ่ม ไฟไหม้หมดเรียบร้อยดีแล้วจึงกลับ

พอรุ่งเช้าจึงไปทำพิธีเก็บอัฐิ ฝนก็โปรยปรายลงมาอีกจนตลอดพิธี แต่งานทุกอย่างก็สำเร็จลุล่วงด้วยดี แม้งานจะลำบากหน่อย แต่ทุกคนก็ตั้งอกตั้งใจ และมีความอดทนเป็นอย่างดี ทั้งฝ่ายผู้จัดงานและฝ่ายผู้ไปร่วมงาน

ถือว่าเป็นการฝึกความอดทน ของเหล่าสานุศิษย์ได้เป็นอย่างดีอีกโอกาสหนึ่งกระึ่มัง!

   

๙๕. ฝนพันปี

เรื่องน้ำ ที่เกี่ยวกับเรื่องราวของหลวงปู่ยังไม่พอ

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ วันนั้นตรงกับวันที่ ๑๐ เดือนพฤษภาคม เป็นช่วงต้นฤดูฝน ยังไม่ถึงฤดูฝนหรอก เป็นปลายฤดูร้อน

วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๘ เป็นกำหนดงานใหญ่ เนื่องจากได้สร้างพิพิธภัณฑ์หลวงปู่แล้ว ได้กำหนดการบรรจุอัฐิธาตุหลวงปู่ และเปิดพิพิธภัณฑ์ด้วย

ได้กราบอาราธนาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศฯ (สมัยนั้นยังไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช) ไปเป็นองค์ประธาน ด้วยพระเมตตาของท่านแผ่ไพศาล เมื่อท่านเสด็จไป ชาวสุรินทร์ถวายการต้อนรับอย่างล้นหลาม

กลางคืนก่อนวันงาน ฝนตกหนักที่สุด จนปะรำพิธีต่างๆ ในบริเวณงานล้มระเนระนาดหมด ฝนตกหนัก และหนักทั่วประเทศ

โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ ฝนตกหนักมาก เป็นครั้งที่มหาจำลอง ศรีเมือง บอกว่าเป็น “ฝนพันปีี” คือตกหนักที่สุดในรอบ ๑,๐๐๐ ปี เห็นว่าอย่างนั้น

ถ้าหากไม่ใช่เป็นต้นฤดูฝน กรุงเทพฯ คงจะมีอาการหนัก คือถ้าเป็นฝนปลายฤดู เหมือนปี ๒๕๒๖ กรุงเทพฯ คงจะถูกน้ำท่วมหนักกว่านั้น ชาวกรุงเทพฯ ลองคิดดูเอาเอง

อาตมาอยู่บ้านนอก ได้แต่สดับตรับฟังข่าวเท่านั้น ในกรุงเทพฯ น้ำท่วมเพียงไม่กี่วัน ท่านพลตรีจำลอง ท่านได้ชื่อเสียง สามารถกำจัดฝน ๑,๐๐๐ ปีให้แห้งได้ภายในวันสองวัน แต่ถ้าหากเป็นช่วงปลายฤดู คิดว่าท่านจำลอง ๓๐ คน ก็คงจะเอาไม่อยู่ อันนี้เป็นเพียงการเปรียบเทียบเท่านั้น

นั่นคือเหตุการณ์ที่ว่า งานบรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่ครั้งนั้น ทำให้คนกรุงเทพฯไปร่วมงานไม่ได้อีกเหมือนกัน หลายคณะต่างก็งด ไปไม่ได้

อันนี้เป็นเรื่องของหลวงปู่ที่เกี่ยวเนื่องกับฝนตกเช่นกัน

ทั้งนี้หลังจากหลวงปู่มรณภาพแล้ว ก็จัดทำบุญหลวงปู่ในงานครบรอบต่อมาโดยลำดับ อันนี้ก็เจอฝนบ้าง ไม่เจอบ้าง

งานหลวงปู่ที่วัดมี ๒ ระดับ คือ วันครบรอบมรณภาพของท่าน วันที่ ๒๙-๓๐ ตุลาคมของทุกปี

และอีกวันหนึ่ง ที่อาตมาภาพจัดเป็นการภายใน จัดส่วนตัว คือวันที่ ๘ กรกฎาคม ซึ่งเป็น วันมลายขันธ์ หลวงปู่ คือวันเผาไหม้ให้ร่างหลวงปู่หมดไป งานนี้บอกญาติๆ และลูกศิษย์ไม่กี่คน เพียงนิมนต์พระกัมมัฏฐานมา ๓๒ รูป มารับบิณฑบาตที่บริเวณพิพิธภัณฑ์ ที่มณฑปอัฐิธาตุหลวงปู่ ถือเป็นงานย่อย

สำหรับงานที่ทำใหญ่ ทำเป็นทางการ คือวันที่ ๒๙-๓๐ ตุลาคม จัดประจำทุกปี ในงานนี้จัดทีไรเจอฝนทุกครั้งไป จนถึงปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน

๙๖. เดาใจหลวงปู่ไม่เคยถูก

เรื่องนี้ก็เกี่ยวกับเรื่องฝนตกอีก ที่พอนึกขึ้นมาได้

ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือว่า ไม่มีการเดาใจหลวงปู่ถูก เราอยู่กับท่าน บริหารงานกับท่าน บางอย่างก็ผิด บางอย่างก็พลาด ท่านก็เรียกไปเตือนไปว่า บางอย่างก็พลาดโดยการเผลอก็ได้ ที่สำคัญเมื่อมีการตั้งใจ โดยเดาใจหลวงปู่ไว้ก่อน ว่าท่านจะว่าอย่างไร จะทำอะไร คิดว่าเตรียมหาลู่ทางแก้ไขไว้ก่อน รับรองได้ว่า ไม่มีทางจะเป็นไปตามนั้น

สมมุติว่า มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น เราเป็นพระหนุ่ม พระเด็ก ก็มักจะต้องตกอกตกใจไว้ก่อน หลวงปู่ให้เณรไปเรียกมาหา มักจะเดาว่าหลวงปู่จะต้องว่าอย่างนั้นๆ แล้วเราจะอธิบายหรือแก้ตัวว่าอย่างนั้นๆ แต่ไม่เคยถูกสักที ท่านจะไม่พูดในเรื่องที่เราคิดเอาไว้

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่ทำให้อาตมาอึดอัดใจมาก วันนั้นอยู่ในเดือนสาม (เดือนกุมภาพันธ์) ซึ่งเดือนสามของภาคอีสานฝนจะไม่ตก เหตุการณ์เกิดขึ้นนานแล้ว ในสมัยที่หลวงปู่ไปพัฒนาสร้างโบสถ์ที่เขาพนมสวาย ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๖ -๒๔๙๗

สมัยนั้นการเดินทางโดยรถยนต์ไม่สะดวก ถนนมิตรภาพยังไม่มี การขนส่งทุกอย่างจากกรุงเทพฯ ต้องไปทางรถไฟ ไม่ว่าจะขนปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น ต้องไปทางรถไฟ ส่งมาลงที่สถานีสุรินทร์ แล้วขนต่อไปที่เขาพนมสวาย ระยะทาง ๒๒ กิโลเมตรจากตัวเมือง ก็ไม่มีรถ ต้องใช้เกวียนครั้งละ ๕-๖ เล่ม ได้อาศัยชาวบ้านบ้าง จ้างเขาบ้าง อะไรทำนองนั้น

เมื่อหลวงปู่ท่านไปค้างที่เขาสวายเป็นเวลาหลายๆ วัน อาตมาซึ่งยังเป็นพระหนุ่ม ยังมีพรรษาไม่เท่าไหร่ ทำหน้าที่ดูแลอะไรต่างๆ ทางวัดบูรพารามแทนท่าน ก็ช่วยตูแลเฝ้ากุฏิท่านตลอดมา ช่วยดูนั่นดูนี่ภายในวัดไป

มีอยู่วันหนึ่ง ปูนซีเมนต์ใส่ตู้รถไฟมาถึงสุรินทร์ ประมาณสัก ๕๐ ถุง หลวงปู่ท่านสั่งไว้ว่า วันนั้นปูนคงจะมาถึง ให้ไปดูที่สถานี เมื่อเห็น ให้พาเด็กเอาเกวียนไปบรรทุกมาไว้ที่วัด

อย่านึกว่าจะสบายเหมือนทุกวันนี้ ใช้เกวียน ๒ เล่ม พาพระ เณร เด็กวัด ไปช่วยกันขนปูนใส่เกวียน แล้วเข็นมาวางไว้ที่หน้าโบสถ์ แล้วอีก ๒ วัน หลวงปู่จะหาเกวียนจากเขาสวาย มารับเอาปูนไป ทำอย่างนั้นเรื่อยมา

ทีนี้วันนั้น พวกเราพากันไปขนปูนมาไว้หน้าโบสถ์ ก็วางไว้เรี่ยราดบนพื้น ไม่มีใครคิดว่าฝนจะตก จึงไม่ได้เอาเข้าร่ม เพราะพรุ่งนี้เช้าหลวงปู่ก็จะส่งเกวียนมาขนไปแล้ว จะได้ขนเอาง่ายๆ ยกง่ายๆ พวกเราต่างก็เมื่อยล้ากัน จึงปล่อยถุงปูนระเกะระกะแถวนั้น

ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นไปได้!

คืนนั้นประมาณตี ๒ ฝนตกหนัก เราก็ไม่ใช่ไม่รู้ตัว รู้ทั้งรู้ว่าทิ้งปูนไว้กลางฝน แล้วก็ลุกพรวดพราดมา จะไปเรียกหาใครทัน เรียกหาพระเณรได้ ๒ องค์ให้มาช่วยกัน ช่วยอย่างไร สังกะสีก็ไม่มี เต็นท์ก็ไม่มี หรือจะแบกเข้าไปเก็บไว้ ก็ไม่ไหว

มิใช่ว่าฝนตกปุ๊บตื่นปั๊บ ฝนตกมานานพอสมควรแล้วจึงตื่น ช่วงนั้นทั้งเหนื่อยและกำลังนอนหลับดี เลยน้ำฝนนองพื้น ปูนเสียหายหมด

เช้าวันรุ่งขึ้น เกวียนจากเขาสวายก็มาถึงพอดี เผอิญหลวงปู่ท่านก็มาด้วย ท่านมาพักผ่อน ปล่อยให้เกวียนเอาปูนไปก่อน

ทีนี้ปูนมันเสียหายหมด เราตกใจมาก อย่างไรเสียเราต้องโดนแน่

หลวงปู่ท่านก็พูดกับคนอื่นว่า “ไม่ดู ไม่แล” ท่านว่าอย่างนั้น

"ทำไมไม่ดูไม่แล ปล่อยให้น้ำท่วมปูนเสียหายหมด"

ท่านก็พูดเท่านั้นเอง เกวียนก็ต้องกลับไปเปล่า

ปูนมันแช่น้ำอยู่ ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ไม่ได้กองซ้อนกันไว้สูง แต่กองเรี่ยราดไว้แถวนั้น เราก็ยอมรับว่าผิดอย่างร้ายแรง เราก็ตกใจ คิดว่าคงเสร็จแน่เที่ยวนี้ วันนี้หลวงปู่คงจะดุด่าว่าเราอย่างใดอย่างหนึ่ง

หลวงปู่พักอยู่ที่กุฏิทั้งวัน เราก็ไม่กล้าไปให้ท่านเห็นหน้า ไม่กล้าไปหาท่าน

ประมาณทุ่มหนึ่ง หลวงปู่ให้เณรมาเรียกให้ไปหา!

“คงเสร็จแล้วเราคราวนี้!!!”

เราเตรียมข้อแก้ตัว เตรียมคำอธิบายว่า ไม่นึกว่าฝนเดือนนี้จะตก แล้วทุกคนก็เหนื่อยไม่มีใครไปช่วย เตรียมข้อแก้ตัวไว้แล้ว เหมือนกับเราเตรียมอึดอัดไว้ก่อนแล้ว

พอไปถึง หลวงปู่ท่านก็นั่งอยู่ คุยอยู่กับเณรตัวเล็กๆ องค์หนึ่ง สีหน้าท่านเป็นปกติไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

หลวงปู่พูดขึ้นว่า : -

“เออ! พากันไปสวดมนต์งานศพที่บ้านตากูกนะ ไป ๕ องค์ ไปได้ไหมพรุ่งนี้?”

“ครับผม”

ก็นั่งรอดูว่าท่านจะพูดว่าอะไรต่อไปอีก ไม่เห็นท่านว่าอะไร ก็เลยนั่งรออยู่สักพัก ถามท่านว่า

"มีอะไรอีกไหมครับ หลวงปู่”

ท่านว่า “เท่านี้แหละ ไม่มีอะไร!”

เราก็กราบท่าน กลับกุฏิที่พัก รู้สึกอึดอัดตลอดคืน ถ้าหลวงปู่จะดุจะด่าเราสักคำสองคำ ว่าไม่ดูไม่แล อะไรอย่างนี้คงจะดีกว่า

แต่ การที่ท่านไม่พูดไม่ว่าอะไร ทำให้เราอึดอัดใจไปตลอดคืน

นี่ หมายความว่า ถึงขนาดนี้แล้ว ยังเดาใจท่านไม่ถูก แล้วเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างอื่นละ ไม่มีใครเดาใจท่านถูกเลย สงสัยว่า เราคิดอย่างไร ท่านอาจจะรู้ใจเราก่อนก็เป็นได้ ใครจะรู้ใช่ไหม? ครั้งนั้นท่านจึงปล่อยให้เราอึดอัด หรือท่านไม่อยากจะว่าตามที่เราคิดเอาไว้ คือท่านไม่แสดง แล้วก็ไม่มีมารยาอะไร อย่างที่เคยกล่าวมาแล้ว

๙๗. มารยา กิเลสชนิดละเอียด

เคยกล่าวถึงตอนต้นแล้วว่า หลวงปู่ไม่มีมารยา คือ ท่านไม่ชอบแสดง อย่างที่เคยยกตัวอย่างว่า ถ้าเราขอถ่ายรูปท่าน ขอให้ท่านห่มผ้าให้เรียบร้อย แล้วขอให้ท่านนั่งถ่ายรูป ท่านจะไม่ทำ แต่จะขอถ่ายรูปท่านได้ ในจังหวะที่ท่านห่มเรียบร้อยแล้ว ลงโบสถ์ ลงบวชนาค หรือทำอะไรตามปกติ แล้วขอถ่ายรูปท่านในจังหวะนั้นๆ ได้ ท่านจะอนุญาตให้ตามประสงค์

แต่ถ้าขอให้ท่านลุกขึ้น หรือเตรียมท่าสำหรับถ่ายรูปโดยเฉพาะที่เรียกว่า “แอ๊คท่า” นั้น ท่านไม่ทำ

หมายความว่า หลวงปู่ท่านไม่ทำแบบ “แสดง” คือไม่มีการ “แอ๊คท่า” ที่เป็นการแสดง หรือการเสแสร้งเช่นนั้น ท่านไม่ทำ

มีปฏิปทาอย่างหนึ่งนะ อาจารย์ อยากจะเจริญพรให้ทราบ คือ หลวงปู่ท่านไม่มีมารยา อันนี้ถือเป็นกิเลสชนิดละเอียด สิ่งนี้ท่านละได้ สิ่งนี้มันเป็นสิ่งแปลก คือท่านไม่มีมารยา ไม่แอ๊คท่าแอ๊คทาง

เรื่องนี้จะเห็นว่าพระเถระบางท่าน หรือคนบางคน ถ้าไปนั่งในที่ชุมนมหรืออะไรก็ตาม จะเลือกท่านั่งให้ดูโก้  มีสง่า ดูภูมิฐาน ลูกศิษย์ลูกหาจะช่วยจัดให้ใช่ไหม?

หรืออย่างสมมุติว่า ถ้าเราจะนั่งสามล้อกับเด็ก อย่างอาตมาถนัดนั่งด้านขวาอย่างเดียว นั่งด้านซ้ายไม่ได้ เพราะไม่ถนัด บางองค์บางท่านก็เป็นเหมือนกัน

ส่วนหลวงปู่นั้นจะไม่มีทางซ้ายหรือทางขวา แล้วแต่จังหวะจะมาถึง

หรือสมมติภายหลังการสวดมนต์ โยมก็จัดเก้าอี้ถวายท่านเรียบร้อยแล้วนิมนต์ท่านนั่ง ขอนิมนต์ให้ท่านนั่งฉันบนเก้าอี้ บางองค์จะต้องเลือกว่า ต้องนั่งมุมโน้นมุมนี้ หันไปทางโน้นจึงจะดูสง่าดูดี อะไรทำนองนี้ สิ่งเหล่านี้หลวงปู่ท่านไม่มีเหลืออยู่เลย

แม้แต่การทักทายปราศรัย ด้วยการกล่าววาจาที่เป็นกิจจะลักษณะ ต้องแอ๊คท่า วางท่าหรือพูดโอ๋เอาใจ อะไรเหล่านี้ท่านไม่ทำ ท่านอยู่ท่านทำเป็นปกติ สังเกตได้ว่า ท่านไม่มีการแสดง หรือไม่แอ๊คท่า ไม่โชว์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนุ่งห่มที่ดีงาม ซึ่งอาจจะได้รับถวายผ้าพิเศษมา เจ้าภาพขอให้ห่มให้ลองทาบตัวเพื่อให้เจ้าของเขาดูหน่อย แม้แต่ทำเอง ท่านก็ไม่่เคยทำ ไม่เคยคิด

หลวงปู่จะใช้สิ่งของต่างๆ ที่ใช้ประจำ จนกว่าสิ่งนั้นจะใช้อีกต่อไปไม่ได้แล้ว จึงจะเปลี่ยนใหม่

๙๘. กระโถนธรรม

เรื่องนี้เป็นบันทึกของ คุณบำรุงศักดิ์ กองสุข เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่า หลวงปู่จะใช้สิ่งของที่มี ไปจนกว่า สิ่งนั้นจะใช้ไม่ได้ต่อไปอีกแล้ว

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ ผู้เขียน (คุณบำรุงศักดิ์ กองสุข) เป็นพระนวกะอยู่รับใช้หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ก่อนที่ผู้เขียนจะลาสิกขา ก็ตั้งใจดูแลความสะอาดห้องนอนห้องน้ำ ตกกลางคืน ถวายการนวดเท้าหลวงปู่ท่านนั่งเก้าอี้เอน

ขณะนวดผู้เขียนก็ปล่อยให้ใจจิตไปต่างๆ นานา ส่วนองค์ท่านก็หลับตา หลายเรื่อง หลายครั้ง ท่านจะลืมตาถามเรื่องที่ผู้เขียนกำลังคิดอยู่ในขณะนั้น

พระทุกรูปที่เข้าไปปฏิบัติรับใช้หลวงปู่ ทราบดีว่า หลวงปู่รู้วาระจิตคน แต่หลวงปู่ไม่ได้แสดงให้ใครๆ รู้ทั่วไป

การนวดของผู้เขียนใช้วิธีขยำๆ ไม่มีหลักการนวด องค์ท่านก็ปล่อยให้นวดไป ไม่แนะนำวิธีนวดแต่อย่างใด

การสรงน้ำ ๕ โมงเย็น ต้องผสมน้ำอุ่น บางทีก็ร้อนไปบ้าง ท่านเอามือจุ่มดู ท่านว่าพอดีทุกครั้ง ท่านสรงน้ำอุ่นทุกครั้ง วันละครั้งทำให้สุขภาพดี

ใกล้วันลาสิกขา ผู้เขียนเกิดวิตกว่า เรายังไม่ได้ทำหน้าที่อุปัชฌายวัตรให้สมบูรณ์แบบ เราได้แต่เทกระโถนปัสสาวะทุกเช้า ยังขาดเพียงเรื่องอุจจาระอย่างเดียวเท่านั้น

พอรุ่งขึ้นเช้า เหมือนเทพบันดาล เปิดฝากระโถนดู ไม่มีน้ำปัสสาวะ แต่เป็นก้อนอุจจาระนิดหนึ่งแทน

สมัยนั้นไม่มีฟองน้ำ ผู้เขียนใช้กาบมะพร้าวทำความสะอาดกระโถนและใช้ขี้เถ้าแทนสบู่

รู้สึกภาคภูมิใจมาก ทั้งนี้สืบเนื่องมาจาก ได้รับการอบรมจากหลวงปู่ฝั้น อาจาโร สอนให้รู้จักรับใช้ผู้มีพระคุณ เช่น บิดามารดา ครูบาอาจารย์

ความกตัญญูเป็นธรรมเบื้องต้นที่ผู้เขียนเข้าใจ ไม่ใช่หลับตาภาวนาแล้วไม่รู้อะไร แต่มิใช่ว่าจะรู้ไปหมด

ผู้เขียนเคยรังเกียจกระโถนของหลวงปู่อีกใบหนึ่ง คือกระโถนเคลือบสีลายดอก ซึ่งมีใช้กันทุกวัดในสมัยนั้น

ที่อัศจรรย์ไม่เหมือนใครเลยก็ตรงที่หลวงปู่ ใช้สีผึ้งหรือเทียนอุดรูรั่ว เวลาทำความสะอาดไม่สะดวก เกะกะสายตาเหลือเกิน

ผู้เขียนปรึกษากับ ท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์ (พระราชวรคุณ) ว่าขออนุญาตถวายกระโถนใบใหม่ให้หลวงปู่

ท่านพระครูบอกว่า หลวงปู่ท่านไม่ใช้หรอก ถวายใหม่หลวงปู่ก็จะเก็บใส่ตู้ เป็นของกลางสงฆ์

เวลาพระเถระระดับเจ้าคุณมาเยี่ยมเยือน หลวงปู่ก็ต้อนรับด้วยกระโถนใบนี้ บางทีเกิดรั่ว น้ำหมากท่านเจ้าคุณไหลลงใต้ถุน อย่างนี้ก็เคยมีมาแล้ว

กระโถนทะลุใบนี้อยู่กับหลวงปู่มากว่า ๔๕ ปีแล้ว

เมื่อสร้างพิพิธภัณฑ์หลวงปูดูลย์ ผู้เขียนถามถึงกระโถนใบนั้น ท่านพระครูนันทฯ ตอบว่า “ไม่รู้ว่ามีมือเลวไหนขโมยไปเสียแล้ว”

๙๙. อาพาธครั้งแรก

โดยปกติ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล จัดว่าเป็นผู้ที่มีสุขภาพอนามัยดีเยี่ยมคนหนึ่ง ตราบเท่าอายุเข้าปีที่ ๗๕ นอกจากเคยเป็นไข้ป่า เมื่อตอนออกธุดงค์ที่ป่าท่าคันโทแล้ว ก็ไม่่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรเบียดเบียนท่านเลย นอกจากไข้หวัดเล็กๆ น้อยๆ ในบางครั้งเท่านั้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่ง อาจเป็นผลเนื่องมาจากการดำรงศีลวัตร ด้วยสุปฏิบัติ อย่างเคร่งครัดก็เป็นได้ ทำให้ท่านมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดีสมบูรณ์อยู่เสมอ

เมื่อเปรียบเทียบกับญาติพี่น้องของท่าน จะเห็นว่าทุกคนเสียชีวิตก่อนอายุ ๗๐ ปี มีเพียงหลวงปู่องค์เดียวที่ยังดำรงขันธ์มาได้ยาวนาน เพิ่งป่วยเข้าโรงพยาบาลครั้งแรกเมื่อท่านอายุได้ ๗๕ ปี หลังจากมาพำนักที่วัดบูรพารามได้ ๓๐ ปีเศษ

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๘ หลวงปู่มีอาการอาพาธรุนแรงเป็นครั้งแรก หมอสันนิษฐานว่าเป็นโรคตับอักเสบ มีอาการปวดท้องรุนแรงเป็นครั้งคราว ฉันอาหารไม่ได้ ฉันทีไรเป็นต้องอาเจียนออกมา ภายหลังทำให้เป็นที่วิตกกันในหมู่สานุศิษย์

การอาพาธครั้งนี้ หลวงปู่ได้เข้าพักรักษาตัว ที่โรงพยาบาลสุรินทร์ เป็นเวลา ๙ วัน ก็หายเป็นปกติ

ในการเจ็บป่วยครั้งนี้ หลวงปู่ไม่ได้แสดงท่าทีปริวิตกให้เห็นแต่ประการใด สีหน้ายังคงสงบเฉยอยู่ตามปกติ เป็นคนไข้ที่ผู้เป็นพยาบาล ไม่ต้องทำอะไรพิเศษไปกว่าที่เคยทำในชีวิตประจำวัน นอกจากการถวายยาตามที่หมอสั่งเท่านั้น

ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงที่ถวายน้ำเกลือทางเส้นเลือดก็ดี ในช่วงเวลาที่อาการเจ็บปวดกำเริบก็ดี สีหน้าของท่านยังคงสงบเหมือนเดิม พระผู้เฝ้าพยาบาลเล่าว่าก็มีอยู่นิดเดียว คือตอนที่โรคเสียดแทงรุนแรง เกิดความเวทนากล้า กล้ามเนื้อบนใบหน้าของท่านจะกระตุกอยู่ ๒-๓ ครั้ง แล้วก็สงบลงตามเดิม นัยน์ตาท่านหลับนิ่ง ดูใบหน้าสงบเสงี่ยมงดงาม

มีอยู่ประการหนึ่ง ที่ทำให้ลูกศิษย์ลูกหา ผู้เฝ้าพยาบาลยินดีพอใจ ถึงกับต้องแย่งหน้าที่กัน คอยเฝ้าพยาบาลก็คือ เมื่อหลวงปู่อาพาธ ภารกิจอื่นๆ ของท่านก็เป็นอันต้องงด และการหลับตาพักผ่อนของหลวงปู่จะมีเพียง ๒ ระยะ คือ ตอนดึกที่ต้องพักผ่อนตามปกติ คืนละ ๒-๓ ชั่วโมง กับตอนที่เกิดเวทนาแรงกล้า เท่านั้น

ดังนั้น หลวงปู่จึงมีเวลาว่างพอที่จะพูดคุย และตอบปัญหาต่างๆ ที่มีผู้เรียนถามได้

ผู้เฝ้าพยาบาลจึงมีโอกาสได้ใกล้ชิดหลวงปู่ ได้ยินได้ฟังเรื่องราวดีๆ รวมทั้งเรื่องพิสดารที่หาฟังได้ยาก ก็มีโอกาสตอนนั้นแหละ

ผู้ที่มีโอกาสได้เฝ้าพยาบาลหลวงปู่ จึงถือเป็นวาสนาดี ที่ใครๆ ทำได้ยาก

๑๐๐. หลวงปู่หัวเราะก็มี

ในสายตาของศิษยานุศิษย์ และอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย เห็นว่าหลวงปู่มีความสงบเสงี่ยมเป็นปกติ งดงามตามควรแก่สมณวิสัยอยู่ตลอดเวลา ไม่แสดงอาการพลิกผันแปรปรวนไปตามเหตุการณ์ต่างๆ

เมื่อประสบอารมณ์ที่น่าพอใจ หลวงปู่ก็เพียงแต่ยิ้ม หรืออย่างมากก็หัวเราะน้อยๆ

แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง ช่วงที่หลวงปู่อยู่ระหว่างพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสุรินทร์ เนื่องจากอาพาธคราวนี้เอง ที่เคยเห็นหลวงปู่ท่านหัวเราะอย่างเต็มที่ และมีอาการสะกดกลั้นการหัวเราะนั้นเป็นระยะ เพื่อให้ตนเองหยุดหัวเราะ

นับเป็นการหัวเราะครั้งแรก ครั้งเดียว และครั้งสุดท้ายของหลวงปู่ เท่าที่ลูกศิษย์ลูกหาเคยได้พบเห็น!

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อหลวงปู่เข้ารับการรักษาพยาบาล ที่โรงพยาบาลสุรินทร์ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ ในครั้งนั้นแล้ว ข่าวคราวการเข้าโรงพยาบาลของหลวงปู่ก็แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว การเยี่ยมเยียนเป็นไปอย่างคึกคัก ทั้งญาติโยมพุทธบริษัททั่วไป ตลอดทั้งพระภิกษุสามเณร และคณาจารย์เจ้าสำนักต่างๆ ก็พากันมาเยี่ยมไข้หลวงปู่มิได้ขาด

ช่วงบ่ายวันหนึ่ง พระอาจารย์รูปหนึ่ง มากับโยมสองสามคน ครั้นกระทำสามีจิกรรม คือ กราบนมัสการหลวงปู่แล้ว ก็กรากเข้าไปชิดหลวงปู่ กรีดกรายฝ่ามือประคองต้นแขนหลวงปู่อย่างนุ่มนวล พลางพูดเสียงอ่อนเสียงหวานว่า

“หลวงพ่อ อย่าไปคิดอะไรมาก ปล่อยวาง ปล่อยวาง สังขารทั้งหลายมันไม่เที่ยงอย่างนี้แหละนะ หลวงพ่อนะ ปล่อยวาง ปล่อยวางนะ หลวงพ่อ”

แล้วพระอาจารย์องค์นั้นยิ้มอ่อนโยนน่าประทับใจ ทำเอาหลวงปู่เกิดความขบขันเป็นอย่างมาก

ท่านหัวเราะออกมาอย่างชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แล้วท่านก็พยายามสะกดกลั้นเป็นระยะๆ ครู่หนึ่งอาการหัวเราะก็หยุดลง วางสีหน้าเฉยเป็นปกติ แล้วเอ่ยวาจาขอบอกขอบใจ พระอาจารย์รูปนั้น และญาติโยมที่อุตส่าห์มาเยี่ยม และก็สนทนาธรรมดาอื่นๆ ต่อไปด้วยอาการราบเรียบตามปกติของหลวงปู่

๑๐๑. ตาบอดใส่แว่น

เมื่อหลวงปู่ออกจากโรงเยาบาลในครั้งนั้นแล้ว ท่านก็กลับมาพักฟื้นที่กุฏิของท่านดังเดิม

ค่ำวันหนึ่งหลวงปู่พักผ่อนเอนกายอยู่บนเก้าอี้ ศิษย์ผู้เฝ้าพยาบาลกำลังเช็ดตัวท่านด้วยน้ำอุ่น แล้วถวายการบีบนวดปรนนิบัติท่านตามปกติ

ญาติโยมที่มาภาวนาปฏิบัติธรรมที่ศาลาโรงธรรม ก็ขึ้นมากราบเยี่ยมนำน้ำปานะมาถวาย

หลังจากถามไถ่อาการป่วยไข้ของหลวงปู่ และสนทนาเรื่องราวต่างๆ พอสมควร อุบาสกท่านหนึ่งก็นมัสการถามท่าน ถึงวิธีการเริ่มต้นในการบำเพ็ญภาวนา

อุบาสก : “พวกกระผมถกเถียงกันไม่ตกลง บางคนบอกว่าก่อนที่จะนั่งสมาธิภาวนา ต้องกล่าวคำแสดงตนถึงพระรัตนตรัยก่อน แล้วก็รับศีล จึงจะสมาธิให้เกิดผลได้ บางคนบอกว่าไม่ต้อง สะดวกสบายตอนไหนก็นั่งกำหนดจิตได้เสมอ ขอฟังคำแนะนำจากหลวงปู่ครับ”

หลวงปู่ : “เราเคยบอกแล้วว่า ตราบใดที่มีลมหายใจก็ทำได้ และควรจะทำทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ต้องให้จิตอยู่ในจิต มีสติกำกับอยู่เสมอ

ในการนั่งสมาธินั้นจะเริ่มต้นยังไงก็ตามแต่จะพอใจ ใครจะแสดงตนถึงพระรัตนตรัย สมาทานศีลก่อนก็ทำไป เพราะถึงอย่างไร มันก็เป็นเพียงแว่นดำที่คนตาบอดสวมใส่ ไม่ได้ช่วยให้มองเห็นอะไร เพียงแต่ช่วยให้คนอื่นดูดีขึ้นบ้างเท่านั้น ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่รู้ไม่เห็น ว่าจะดูดีขึ้นได้อย่างไร”

๑๐๒. ต้องตายให้เป็น

ขอย้อนกลับไปกล่าวถึงเหตุการณ์ที่หลวงปู่อาพาธเข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง

หลวงปู่อยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัดสุรินทร์เป็นเวลา ๙ วันได้รับการดูแลเอาใจใส่จากนายแพทย์และพยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายของโรงพยาบาลเป็นอย่างดี จนกระทั่งหลวงปู่ทุเลาจากโรคร้ายและหายป่วยโดยสิ้นเชิง

ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ ขณะที่เตรียมตัวรอการจัดการตามระเบียบ ในการที่จะออกจากโรงพยาบาลอยู่นั้น ผู้เขียน (พระราชวรคุณ สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูนันทปัญญาภรณ์ ) แสดงความยินดีที่หลวงปู่หายป่วย จะได้อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร และเป็นแสงสว่างแก่นักปฏิบัติต่อไป

พร้อมทั้งปรารภถึงตนเองว่า “ถ้ากระผมเองเกิดป่วยหนักใกล้จะตาย คงจะทำใจไม่ได้อย่างหลวงปู่”

หลวงปู่กล่าวแนะนำว่า "ถึงคราวตาย ต้องตายให้เป็น ต้องตัดสินใจว่า ถึงยังไงก็จะตายแน่แล้ว ไปวิตกทุกข์ร้อนหวั่นกลัวก็ไม่มีประโยชน์ จากนั้นต้องสำรวมจิตใจให้สงบเป็นหนึ่ง แล้วก็หยุดเพ่ง ปล่อยวางทั้งหมด สุคติก็เป็นอันหวังได้แน่นอน ถ้ายังไม่ถึงที่สุดทุกข์ในตอนนั้น หากกำลังเพียงพอก็อาจหมดปัญหาได้เลย”

จากนั้นหลวงปู่ก็กลับจากโรงพยาบาล และสิ้นสุดเรื่องราวตอนอาพาธครั้งแรกเพียงเท่านี้

หลวงปู่ไปร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร

 ๑๐๓. ร่วมงานศพหลวงปู่ฝั้น

ครั้งเมื่อหลวงปู่มีอายุย่างเข้าปีที่ ๙๑ แล้ว ศิษยานุศิษย์ทั้งหลายมีความภาคภูมิใจ และปลาบปลื้มยินดีเป็นล้นพ้นที่เห็นหลวงปู่ยังมีสุขภาพแข็งแรงมีพลานามัยดี

ในระหว่างวันที่ ๑๙-๒๒ มกราคม ๒๕๒๑ นั้นเอง หลวงปู่ได้เดินทางไปร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพ ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโรที่วัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร และได้เข้าร่วมในพิธีสวดพระพุทธมนต์ ชักผ้ามหาบังสุกุลหน้าศพ และรับพระราชทานฉันภัตตาหารในพระราชพิธีสามหาบอีกด้วย ท่ามกลางพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีนับจำนวนเป็นพันๆ รูป และสาธุชนพุทธบริษัทจากทั่วทุกสารทิศนับเป็นจำนวนแสนๆ เป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย และของวงการพระพุทธศาสนาทีเดียว

ในงานนี้ หลวงปู่ได้มีโอกาสสนทนาวิสาสะกับพระเถระฝ่ายธุดงค์กัมมัฏฐานหลายองค์ เป็นต้นว่า ท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ท่านพระอาจารย์เทสก์ เทสฺรงฺสี และครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ อีกมากมายหลายรูป ทั้งที่รู้จักคุ้นเคยและไม่คุ้นเคย เป็นการย้อนถึงบรรยากาศเก่าๆ เมื่อครั้งยังหาญกล้าบุกป่าฝ่าดง เพื่อผจญจิตตน ฝึกฝนให้พ้นภัยในวัฏสงสาร

เป็นการสนทนาถึงอดีตแห่งการเดินธุดงค์ อันยังให้เกิดความอาจหาญร่าเริงในทางธรรมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับเหล่าภิกษุผู้อนุชนรุ่นหลังๆ ที่เงี่ยหูฟังอยู่ ก็ให้เกิดพลุ่งพล่านฮึกเหิม ในอันที่จะเจริญรอยตามบูรพคณาจารย์ทั้งหลายเหล่านั้น

เมื่อมีผู้ไต่ถามถึงพระอาจารย์ชื่อดังๆ เช่น หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่ขาว อนาลโย เป็นต้นหลวงปู่ตอบว่า

"เคยได้ยินชื่อมาแต่ต้นเหมือนกัน แต่ลำดับความจำไม่ได้ว่าเคยร่วมสนทนาหรือปฏิบัติธรรมร่วมกันในช่วงไหนบ้าง เพราะท่านอาจารย์เหล่านี้ แม้จะมีอายุไล่เลี่ยกับเราก็จริง แต่ก็เข้ามาเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นในรุ่นหลังๆ"

นอกจากนี้หลวงปู่ยังได้ปรารภถึงตัวท่านเองว่า

“การมาสกลนครครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว”

 

๑๐๔. ตอบพระราชปุจฉา

เหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้เป็นเกียรติประวัติของวัดบูรพารามจังหวัดสุรินทร์และของหลวงปู่ในที่นี้ก็คือ

เมื่อวันที่ ๑๘ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระราชโอรส พระราชธิดาสองพระองค์ พระราชสุนิสา และพระเจ้าหลานเธอรวม ๗ พระองค์ ได้เสด็จมาที่วัดในเวลา ๑๘.๔๐ - ๑๙.๓๐ น.

หลังจากตรัสถามถึงสุขภาพพลานามัยของหลวงปู่แล้ว ทรงอาราธนาให้หลวงปู่แสตงพระธรรมเทศนา และทรงอัดเทปไว้ด้วย

เมื่อหลวงปู่แสดงพระธรรมเทศนาย่อๆ ถวายจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสถามหลวงปู่ว่า

“หลวงปู่ การที่จะละกิเลสให้ได้นั้นควรจะละกิเลสอะไรก่อน”

หลวงปู่ถวายวิสัชนาว่า

“กิเลสทั้งหมดเกิดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งมองดูที่จิต อันไหนเกิดก่อนให้ละอันนั้นก่อน”

ครั้นทรงมีพระราชปุจฉาในธรรมข้ออื่นๆ พอสมควรแก่เวลาแล้ว ทรงถวายจตุปัจจัยแก่หลวงปู่ เมื่อจะเสด็จกลับทรงมีพระราชดำรัสคำสุดท้ายว่า

“ขออาราธนาหลวงปู่ ให้ดำรงขันธ์อยู่ให้นานต่อไปอีกเกินร้อยปี เพื่อเป็นที่เคารพนับถือของปวงชนทั่วไป หลวงปู่จะรับได้ไหม”

ทั้งๆ ที่พระราชดำรัสนี้เป็นสัมมาวจีกรรม ทรงประทานพรแก่หลวงปู่โดยพระราชอัธยาศัย หลวงปู่ก็ไม่กล้ารับ และไม่อาจฝืนสังขาร จึงถวายพระพรว่า

“อาตมาภาพรับไม่ได้หรอก แล้วแต่สังขารเขาจะเป็นไปของเขาเอง จะอยู่ได้นานอีกเท่าไรไม่ทราบ”

ต่อจากนั้นทุกพระองค์ก็เสด็จกลับ แต่ในการเสด็จพระราชดำเนินกลับนั้นทรงได้รับความลำบากพอสมควร เนื่องจากประชาชนได้ไปเฝ้าชื่นชมพระบารมีกันอย่างเนืองแน่น

๑๐๕. อาพาธหนักครั้งที่สอง

หลังจากที่หลวงปู่เคยเข้ารักษาอาพาธในโรงพยาบาลครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ หลังจากนั้นอีก ๑๘ ปี เมื่อท่านเจริญขันธ์มาจนถึง ๙๕ ปีท่านจึงมีอาการผิดปกติด้านสุขภาพอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๖ หลวงปู่เริ่มมีอาการปวดชา ตั้งแต่บั้นเอวลงไปถึงปลายเท้า เริ่มเป็นด้านซ้ายข้างเดียวก่อน ความจริงเคยเป็นเล็กน้อยมานานแล้ว เคยนวดถวายท่าน ก็สังเกตเห็นได้ว่า ชีพจรเดินเบามาก ต่อมาอาการอย่างนี้ลามมาที่ขาข้างขวา ท่านบอกว่ารู้สึกเหมือนจะปวดหนักปวดเบาอยู่ตลอดเวลา พาไปเข้าห้องน้ำก็ถ่ายไม่ออกทั้งหนักและเบา แถมยังมีอาการเดี๋ยวหนาวเดี๋ยวร้อนระคนกัน

จะให้คนไปตามหมอ ท่านก็ห้ามบอกว่า “ไม่จำเป็น” ความจริงท่านไม่เคยเรียกหาหมอ หรือใช้ให้ใครไปตามหมอ ตลอดจนไม่เคยบอกให้ใครพาไปโรงพยาบาล เท่าที่เคยมีหมอมารักษาพยาบาล หรือเคยเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลนั้นล้วนเป็นเรื่องของลูกศิษย์ลูกหาเป็นห่วงและขอร้องท่านทั้งสิ้น

ในคืนนั้น ถ้าไม่สังเกตให้ลึก จะไม่รู้เลยว่าท่านอาพาธอย่างรุนแรง ใบหน้าและผิวพรรณดูเป็นปกติ สงบเย็น ไม่มีความวิตกกังวล เหมือนท่านไม่ได้เป็นอะไรเลย

ผู้รักษาดูแลท่านอย่างใกล้ชิดมาตลอดจะรู้ดีว่า หลวงปู่มีอาการอ่อนเพลียมากในคืนนั้น และแสดงว่าอ่อนเพลียมากขึ้นทุกที จึงต้องตัดสินใจพาท่านไปเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสุรินทร์เมื่อเวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น.

ตั้งแต่ไปถึง จนถึง ๐๘.๓๐ น. ของเช้าวันที่ ๒๘ มกราคม หมอได้ให้น้ำเกลือและสวนปัสสาวะออก แต่อาการของหลวงปู่ยังไม่ดีขึ้น ถึงกระนั้นท่านก็รบเร้าขอให้พาออกจากโรงพยาบาล ไม่มีใครกล้าทัดทาน จึงต้องนำท่านกลับวัดเมื่อเวลา ๑๕.๔๐ น. วันเดียวกัน

เมื่อกลับถึงวัด คณะศิษย์ได้ปรึกษาหารือกันและตกลงจะนำหลวงปู่เข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรกจะไปรักษาที่โรงพยาบาลธนบุรี ตั้งใจจะออกเดินทางเช้าวันที่ ๒๙ มกราคม เวลา ๐๙.๐๐ น.

ตลอดคืนที่ผ่านมา สังเกตดูอาการป่วยของหลวงปู่หนักขึ้น ทั้งอากาศก็หนาวจัดอีกด้วย ตอนเช้าถวายอาหารท่าน ท่านก็ฉันได้เพียงเล็กน้อย

เมื่อใกล้จะถึงเวลาออกเดินทาง ท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์ (พระราชวรคุณ) กำลังยืนดูแลความเรียบร้อยอยู่นอกกุฏิหลวงปู่ มีพระภิกษุบางท่านเข้ามาคัดค้าน แสดงความไม่เห็นด้วยที่จะนำหลวงปู่เข้ากรุงเทพฯ โดยเหตุว่า

"หลวงปู่อ่อนเพลียมากแล้ว ไม่ควรนำท่านไป ขืนไปก็คงไม่ถึงกรุงเทพฯ แน่”

ท่านเจ้าคุณจึงพูดกับท่านเหล่านั้นว่า

“เท่าที่ท่านแสดงความเห็นมานี้ นับว่าเป็นการถูกต้องแล้ว ในฐานะที่เป็นศิษย์ ย่อมมีสิทธิ์เต็มที่ที่จะคัดค้านได้ แต่ผมเห็นว่า ถ้าไม่ไปก็มีทางเดียว คือหลวงปู่หมดลมแน่ แต่ถ้าไปยังมีสองทาง เพราะฉะนั้นต้องไป”

และก่อนออกเดินทางนั้นเอง คุณหมอทวีสิน ส่งข่าวให้ทราบว่า ได้ติดต่อประสานงานที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ให้แล้ว จึงขอให้เปลี่ยนจากโรงพยาบาลธนบุรี ไปเป็นโรงพยาบาลจุฬาฯ แทน

ตั้งแต่รถพยาบาลเคลื่อนออกจากวัด หลวงปู่นอนสงบนิ่งตลอด จนกระทั่งถึงอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เวลา ๑๑.๐๐ น. จึงหยุดรถเพื่อถวายเพลหลวงปู่ โดยไปจอดหน้าร้านอาหารแห่งหนึ่ง เจ้าของร้านตื่นเต้นดีใจมาก เพราะหลวงปู่เคยมาทำพิธีเปิดร้านให้ เป็นการแวะมาจอดโดยบังเอิญ เขาจัดแจงถวายอาหารเป็นอย่างดี แต่หลวงปู่ฉันข้าวต้มได้เพียงเล็กน้อย

ระยะทางจากสุรินทร์ถึงกรุงเทพฯ รถวิ่งตามปกติใช้เวลา ๖-๗ ชั่วโมง แต่วันนั้นขอไม่ให้วิ่งเร็ว เพราะเกรงหลวงปู่จะกระเทือน จึงใช้เวลาถึง ๙ ชั่วโมง ตลอดระยะการเดินทาง หลวงปู่นอนสงบเงียบ ไม่มีเหตุอะไรให้น่าวิตกตลอดการเดินทา

ถึงโรงพยาบาลจุฬาฯ เวลา ๑๗.๔๐ น. ต้องพาหลวงปู่เข้าศึกษาที่ตึกฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นวันเสาร์และนอกเวลาราชการ ในตอนนี้ลูกศิษย์ลูกหาต่างทุกข์กังวล ที่เห็นอาการของหลวงปู่หนักมาก แถมยังลำบากต้องเดินทางไกล และยังต้องรอเวลาให้หมอตรวจเป็นเวลานาน หมอสอบถามข้อมูลหลายอย่าง และฉายเอกซเรย์ด้วย เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้พาหลวงปู่เข้าพักที่ห้องพักพิเศษ ตึกวชิราวุธชั้น ๒ หมายเลขห้อง ๒๒

 

 

 

๑๐๖. ความโกลาหล

เพราะเหตุที่มาถึงโรงพยาบาลนอกเวลาราชการ หลวงปู่จึงต้องเข้าตึกคนไข้ฉุกเฉินเสียก่อน ไม่ใช่ห้องไอ.ซี.ยู. ตามที่บางท่านเข้าใจ

หลวงปู่เข้าพักได้ประมาณ ๒ ชั่วโมงกว่า คุณหมอจรัสกับคณะก็มาตรวจอาการ แล้วบอกว่า ต้องเอาหลวงปู่เข้าห้องเอกซเรย์อีก เพราะมีความจำเป็นมาก แม้จะเห็นว่าหลวงปู่อ่อนเพลียมากก็ต้องทำ

ตอนนั้นเวลา ๕ ทุ่มแล้ว หลวงปู่ท่านนอนสงบนิ่ง จนบางท่านคิดว่าท่านคงจะมรณภาพละทิ้งสังขารไปแล้ว ต้องใส่ท่อออกซิเจนช่วยหายใจนานนับ ๕ ชั่วโมง การทำงานของหมอจึงแล้วเสร็จ แต่การวินิจฉัยของหมอในคืนนั้นไม่ได้รับผลอะไรเลย

เมื่อยกหลวงปู่ขึ้นนอนบนแท่นฉายในห้องเอกซเรย์แล้ว เจ้าหน้าที่ก็ลงมือฉาย ๒ ชั่วโมงกว่าก็ยังไม่เสร็จ สงสัยว่าเครื่องฉายเสียหรือฟิล์มหมดอายุ เพราะปรากฏว่าฟิล์มที่ออกมาแต่ละแผ่น ดำสนิทมองไม่เห็นอะไรเลย

ท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์ (พระราชวรคุณ) บันทึกไว้ว่า ใช้ฟิล์มเอกซเรย์หลายแผ่น หนาเกือบครึ่งคืบ ก็ไม่ได้ผลเลย ทั้งจอภาพก็ไม่ปรากฏภาพให้เห็นได้ตลอด มีเห็นบ้างไม่เห็นบ้าง ต้องฉายแล้วฉายอีกตั้งหลายครั้ง หลวงปู่คงต้องอดทนอย่างมาก เห็นท่านนอนหลับตานิ่งไม่ไหวติงเลย

พยาบาลจะฉีดยา จะให้น้ำเกลือ ก็ทำไม่สะดวก บางครั้งก็แทงเข็มไม่เข้าบ้าง จนหมอบอกว่า ร่างกายของท่านไม่รับ ทางหมอเองก็ท้อใจและแปลกใจ

คุณหมอสตรีท่านหนึ่งออกมาถามคณะศิษย์ว่า “ทำไมถึงเป็นอย่างนี้” ต่างคนต่างก็ไม่ทราบและไม่มีใครกล้าตอบ

เมื่อมาคิดดูโดยลักษณะนี้ อาจเป็นว่าหลวงปู่คงจะเข้าสมาธิส่วนลึกและละเอียด เพื่อระงับทุกขเวทนา เพราะเวลา ๑๔ ชั่วโมงที่ผ่านมา ท่านหลับตาอยู่อย่างนั้นโดยไม่ไหวติงเลย ตลอดเวลาเข้าห้องฉุกเฉิน ตรวจร่างกาย ฉายเอกซเรย์ ตลอดจนเข้าห้องพัก แล้วกลับเข้าห้องเอกซเรย์อีก

ตลอดเวลา ๑๔ ชั่วโมงนั้น ท่านอาจไม่ได้รับรู้การกระทำของพวกเราเลยแม้แต่น้อยก็เป็นได้

เมื่อได้เห็นภาพหลวงปู่นอนสงบอยู่บนเตียงพยาบาล ได้รับการดูแลรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่ มีการให้ออกซิเจนช่วยหายใจ ให้น้ำเกลือ และให้อาหารทางสายยางเป็นที่เรียบร้อย พอวางใจได้แล้ว ความวิตกกังวล ความเคร่งเครียดกระวนกระวายที่มีอยู่ในหัวสมองของผู้เขียน (พระครูนันทปัญญาภรณ์) เป็นเวลานาน นับตั้งแต่ออกเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์มา ก็ได้บรรเทาเบาบางลงและรู้สึกโล่งใจ เกิดความมั่นใจว่าหลวงปู่จะต้องหายได้ในครั้งนี้อย่างแน่นอน

ครั้นเวลาตี ๓ ล่วงแล้ว หมอกลับไปหมดแล้ว หลวงปู่จึงลืมตาขึ้นพร้อมกับคำถามเป็นประโยคแรกว่า "หมอตรวจเสร็จแล้วหรือ”

ได้กราบเรียนท่านว่า “เสร็จแล้วครับ”

ท่านก็สั่งว่า “ให้กลับเดี๋ยวนี้”

หมายถึงให้พากลับวัด ต้องค่อยพูดอธิบายให้ท่านทราบว่าท่านยังกลับไม่ได้ ต้องอยู่พักรักษาที่โรงพยาบาลอีกหลายวัน พร้อมทั้งเล่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาให้ท่านทราบโดยตลอด ท่านก็ฟังเฉยโดยไม่ว่าอะไร

ในวันนั้นคณะศิษย์ได้กราบเรียนท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร (สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน) ให้ทรงทราบ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงเจริญพรไปยังสำนักพระราชวังต่อไป

๑๐๗. เหนือเอกซเรย์

ตรงนี้ขอแทรกเรื่องเบาสมองสักเล็กน้อย ข้อเขียนต่อไปนี้เป็นบันทึกของ คุณบำรุงศักดิ์ กองสุข ที่น่าสนใจไว้เป็นอุทาหรณ์ดังนี้

คุณจำนงค์ พันธุ์พงศ์ เล่าให้ผู้เขียนฟังถึงเมื่อครั้งหลวงปู่ดูลย์ อตุโล อาพาธหนัก พระครูนันทปัญญาภรณ์ (พระราชวรคุณ) เป็นผู้นำหลวงปู่เข้ากรุงเทพฯ ให้แพทย์ตรวจอาการ ณ โรงพยาบาลจุฬาฯ

เมื่อนำหลวงปู่เข้าห้องเอกซเรย์ พนักงานคนหนึ่งก็พูดกับคุณจำนงค์ว่า

“เออ! คนแก่ๆ แบบนี้เอกซเรย์ง่ายสบายมาก”

คุณจำนงค์นึกในใจว่า “ประเดี๋ยวก็รู้ เล่นพูดกับหลวงปู่แบบนี้!”

พอยกหลวงปู่ขึ้นเตียงเลื่อนไฟฟ้า เตียงไม่เลื่อนเข้าที่ เมื่อคุณจำนงค์ก้มกระซิบกราบขออนุญาตหลวงปู่ เตียงก็เลื่อนเข้าที่ได้

เจ้าหน้าที่ถ่ายเอกซเรย์อยู่นานถึง ๒ ชั่วโมง ขณะถ่ายก็ไม่มีภาพปรากฏบนจอทีวี หมดฟิล์มไปเป็นจำนวนมาก พอล้างออกฟิล์มทุกใบดำไปหมด

คุณหมอมากราบขออนุญาตกับหลวงปู่ คุณจำนงค์ปลุกหลวงปู่พอให้รู้สึกตัว แล้วกราบเรียนท่านว่า

“หลวงปู่ครับ อย่าเข้าสมาธิ เขาถ่ายเอกซเรย์ไม่ติด”

หลวงปู่ว่า “เออ! อย่างนั้นรึ"

หลังจากนั้น จึงมีภาพปรากฏบนจอทีวี และฟิล์มเอกซเรย์ก็ได้ภาพตามต้องการ

๑๐๘. ถูกตัวหลวงปู่ได้ไหม

รุ่งขึ้นวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๒๖ หลวงปู่มีอาการดีขึ้นพอที่จะประคองให้นั่งบ้าง นอนบ้าง หลวงปู่พูดเสียงชัดเจนดี

เกิดเหตุขัดข้องทางผู้รักษาพยาบาลนิดหน่อยเพราะล้วนแต่เป็นสุภาพสตรี เมื่อจะทำหน้าที่ มักจะถามท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์ (พระราชวรคุณ) ซึ่งเฝ้าไข้อยู่ ณ ที่นั้นว่า

"หนูถูกต้องหลวงปู่ได้ไหมคะ”

ท่านพระครูตอบ “ไม่ได้ เจริญพร"

“อ้าว! แล้วจะให้หนูทำอย่างไร"

“ไม่ทราบ เจริญพร"

ท่านพระครู บอกว่า อยากจะให้พวกเขาเข้าใจคำพูดของท่านเอาเอง เขาก็ไม่เข้าใจ งงอยู่อย่างนั้นเอง ท่านจึงต้องอธิบายว่า

“คุณเป็นผู้หญิง หลวงปู่และอาตมาเป็นพระสงฆ์ เมื่อคุณถามว่าถูกต้องตัวหลวงปู่ได้ไหม จะให้อาตมาตอบว่าได้ อย่างนี้ไม่สมควร ผิดสมณวินัย ใครมีหน้าที่อย่างไร พึงทำไปตามหน้าที่ของตน”

พวกเขาเข้าใจ และทำตามหน้าที่ของตนด้วยความระมัดระวัง และอ่อนน้อมน่าชมเชย ต่อมาจึงขอให้มีบุรุษพยาบาลจากตึกสงฆ์ มาทำหน้าที่แทนตลอดเวลาที่หลวงปู่อยู่ในโรงพยาบาล ปัญหาขัดข้องต่างๆ จึงหมดไปด้วยดี

๑๐๙. ผลการวินิจฉัยโรค

เช้าวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๒๖ คณะหมอได้เข้าตรวจร่างกายของหลวงปู่อีกครั้งหนึ่ง คุณหมอยกมือนมัสการขอพร และขออภัย แล้วก็ทำการตรวจ เหตุการณ์ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากวันก่อน ผลการตรวจทุกอย่างชัดเจนดี จากการถ่ายฟิล์มเอ็กซเรย์มา ๖ แผ่น เมื่อนำมาวินิจฉัย ปรากฏว่าหลวงปู่มีอาการหนักอยู่ ๓ อย่าง คือ เกี่ยวกับ กระดูก ปอด และสมอง ซึ่งจะต้องใช้เวลาอยู่รักษานานเป็นเดือนขึ้นไป และมีความหวังว่ามีทางรักษาหายได้ จึงปลงใจว่า แม้นานเท่าใดก็จะอยู่

ปัญหาที่มีในขณะนี้ก็เนื่องจากระเบียบของตึกแห่งนี้คือ ไม่ให้ผู้อยู่เฝ้าพยาบาลนอนในห้องเกิน ๒ คน ท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์จึงต้องไปค้างคืนที่วัดบวรนิเวศฯ

เมื่อเข้ากราบเรียนท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระญาณสังวร เพื่อกราบทูลให้ทราบถึงอาการของหลวงปู่ สมเด็จฯท่านแนะนำว่า ถ้ามีอะไรขัดข้องให้ติดต่อพระมหาวีระ ซึ่งเป็นเลขาฯ และอุปัฏฐากของท่านเจ้าคุณ พระญาณวโรดมของสมเด็จฯ

ท่านมหาวีระได้ติดต่อไปที่ คุณหญิงสมรักษ์ เพื่อให้หลวงปู่ได้ย้ายจากตึกวชิราวุธ มาพักที่ตึกจงกลนีวัฒนวงศ์ ณ ห้องพระราชทาน บนชั้นที่ ๓ ของตึก

จึงเป็นอันว่าหลวงปู่ได้ย้ายมาอยู่ห้องพระราชทาน ตึกจงกลณีวัฒนวงศ์ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ เวลาบ่ายสองโมงเศษ

นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่นี่มีความกว้างขวาง สะดวกที่จะให้ลูกศิษย์ลูกหา และผู้มีศรัทธาในหลวงปู่ได้เข้าเยี่ยมไข้ และเข้ากราบหลวงปู่ เนื่องจากในแต่ละวัน มีญาติโยมมาเยี่ยมหลวงปู่จำนวนมาก ห้องพักเดิมคับแคบ จึงรู้สึกหนักใจ และเกรงใจโรงพยาบาลเป็นอย่างมาก

๑๑๐. ห้องพระราชทาน

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานสงเคราะห์ รับหลวงปู่ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพระราชทานแพทย์หลวงมาทำการรักษาเป็นพิเศษ

สำหรับห้องพระราชทานนี้ ภายในแบ่งเป็น ๓ ห้อง ด้านซ้ายมือเป็นห้องผู้ป่วย ตอนกลางเป็นห้องโถงใหญ่สำหรับแขก หรือเป็นที่ประชุม ด้านขวามือเป็นห้องจัดเตรียมอาหาร มีเครื่องสุขภัณฑ์พร้อมมูล

ที่เรียกว่าห้องพระราชทานนั้น ก็เพราะทรงมีไว้เพื่อพระราชทานเพื่อความสะดวกแก่เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ หรือพระเถระชั้นผู้ใหญ่ หรือผู้อื่นใดตามพระราชอัธยาศัย

กำลังปลื้มปีติว่าหลวงปู่ได้อยู่ห้องพระราชทาน ในขณะเดียวกันความกังวลความหนักใจก็เกิดขึ้นมา ทั้งนี้เนื่องจากสำนึกตน ว่าเป็นผู้มีสติปัญญาน้อย มีความสามารถน้อย ไม่รู้ธรรมเนียมและระเบียบปฏิบัติของห้องพิเศษเช่นนี้

อีกประการหนึ่ง ไม่ทราบว่าตนเองจะสามารถรับผิดชอบในการดูแลรักษาพยาบาลหลวงปู่ รวมทั้งต้อนรับบุคคลที่จะมานมัสการเยี่ยมหลวงปู่อย่างมากมายได้หรือไม่ ตลอดถึงอาจต้องรับเสด็จด้วยนอกจากนี้ควรจะแนะนำลูกน้องของเรา ที่จะมาอยู่ช่วยอุปัฏฐากหลวงปู่ ให้ประพฤติและวางตัวอย่างไรจึงจะเหมาะสม

ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ต้องคิด ต้องเตรียมการไว้ จึงได้พยายามศึกษาและสอบถามเจ้าหน้าที่พยาบาล และผู้สันทัดกรณีคนอื่นๆ ตามสมควร

๑๑๑. อาการไข้ของหลวงปู่

ดังได้กล่าวแล้วว่าอาพาธของหลวงปู่ คือ กระดูกและปอดมีจุดดำ แล้วลามไปถึงสมอง

การรักษาจึงหนักไปในการบำรุง และ พักผ่อนให้มากที่สุด ทั้งยังต้องอาศัยเวลานานอีกด้วย

ลักษณะอาการของโรคดังกล่าว แสดงออกให้เห็นได้โดยอาการ ๓ อย่าง คือ เบื่ออาหาร อ่อนเพลียเป็นเวลานานๆ ปวดเมื่อยทั่วสรรพางค์กาย นอกจากนี้ก็มีอาการกระสับกระส่าย นอนหลับยาก

ส่วนตัวของหลวงปู่นั้น ท่านอาศัยสมาธิช่วยในการหลับและพักผ่อนสมอง

นระยะครึ่งเดือนแรก เกือบจะกล่าวได้ว่า อาการของท่านทรงๆ อยู่ไม่มีอะไรดีขึ้น

วันหนึ่ง เวลาเช้ามืด ประมาณ ๐๔.๐๐ น. หลวงปู่ให้พระมาเรียกผู้เขียน (พระราชวรคุณ) เข้าไปพบในห้อง ตกใจนึกว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับหลวงปู่

เมื่อเข้าใกล้แล้ว ท่านปรารภว่า

“เท่าที่มาอยู่นี่ก็หลายวันแล้ว ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นเลย การเจ็บป่วยก็ไม่เห็นทุเลา นอนก็หลับยาก หมอก็ไม่เห็นทำอะไรมากนัก มีแต่ให้ฉันมากๆ ให้นอนมากๆ เท่านั้นเอง”

ผู้เขียนเข้าใจความหมายของท่าน ว่าท่านต้องการจะกลับวัดแน่นอน แต่ที่ท่านพูดอย่างนั้น เป็นการพูดอย่างเกรงใจลูกศิษย์ลูกหา รู้สึกสงสารท่านอย่างสุดซึ้ง แต่ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอยู่เพื่อรักษาไปก่อน จนกว่าหมอจะมีคำสั่งให้กลับได้ ดังนี้ มีอะไรดีกว่าการหาคำพูดมาอธิบาย และขอร้องให้ท่านเข้าใจ

“หลวงปู่ครับ หมอที่นี่เขาเชี่ยวชาญการรักษาเฉพาะโรคแต่ละสาขา เช่น คุณหมอจรัสมาตรวจกระดูก คุณหมออังคณามาตรวจปอดและสมอง เป็นต้น แล้วเขาก็ประชุมกันทุกวัน เพื่อวินิจฉัยหาสมุฏฐานของโรค และวิธีการบำบัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชา ในการดูแลรักษาหลวงปู่ ขออาราธนานิมนต์หลวงปู่อยู่ต่อไปอีกสักหน่อยเถิด จะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน”

หลวงปู่ก็นิ่งเฉยไม่ว่าอะไร

เมื่อเวลาผ่านไป ๒ อาทิตย์กว่า อาการของหลวงปู่ค่อยๆ ดีขึ้น และสามารถปรับตัวให้ชินกับเครื่องปรับอากาศได้ ท่านก็ไม่ว่าอะไรอีก

 

๑๑๒. ผู้มาเยี่ยมนมัสการหลวงปู่

สิ่งที่เคยนึกกังวลใจไว้ล่วงหน้าก็ค่อยๆ ปรากฏเป็นจริงขึ้น กล่าวคือ พอข่าวแพร่สะพัดออกไปว่า หลวงปู่อาพาธอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ บรรดาสานุศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือ ก็ได้ทยอยกันมาเยี่ยมนมัสการมากขึ้นทุกที

รวมทั้งผู้ที่เคยพบเคยกราบไหว้มาก่อน และผู้ที่เคยได้ยินแต่ชื่อเสียง แต่ไม่เคยเป็นตัวหลวงปู่ ก็ถือโอกาสนี้เป็นสำคัญ ที่จะได้มากราบมารู้จักท่าน ฝ่ายทางโรงพยาบาลก็แนะนำว่า ขอให้ห้ามเยี่ยม ห้ามรบกวนเพราะต้องการให้หลวงปู่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่

ผู้เขียนยอมรับว่า ไม่มีปัญญาที่จะปฏิบัติตามระเบียบของโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัดได้ เพราะบังเอิญเป็นผู้ที่มีธาตุแห่งคนใจอ่อน เกรงใจเขา สงสารเขา เห็นใจเขา

เขาอุตส่าห์ข้ามบ้านข้ามเมืองมาไกล หิ้วข้าวของ ถือเครื่องสักการะ มาด้วยความศรัทธาเลื่อมใส ต้องการที่จะกราบไหว้หลวงปู่ เพื่อเป็นบุญเป็นกุศล นี่ประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง เห็นว่า หลวงปู่อาพาธด้วยโรคที่ไม่ใช่ไข้ ยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ทุกประการ หากว่าหลวงปู่เป็นที่ตั้งแห่งบุญกุศล อันผู้ที่ได้กราบไหว้จะพึงได้บุญได้กุศล ก็สมควรจะอำนวยความสะดวก

เพราะคิดอย่างนี้นี่เอง ชนทุกชั้นวรรณะที่ไปเยี่ยมนมัสการหลวงปู่จึงไม่มีผู้ใดผิดหวัง เมื่อไปถึงแล้วทุกคนย่อมมีโอกาส ได้กราบไหว้หลวงปู่อย่างใกล้ชิด ไม่มากก็น้อย ไม่เร็วก็ช้า บ้างก็ได้ถ่ายรูปร่วมกับหลวงปู่อีกด้วย

ทั้งนี้มิใช่จะบุ่มบ่าม หรือขาดกาลเทศะจนเกินไป ทุกอย่างก็ได้พิจารณาแล้วว่า ควรไม่ควรประการใดด้วย

สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ทรงประชวรหนักก่อนจะปรินิพพานท่านพระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก ได้ห้ามมาณพผู้หนึ่งซึ่งร้องขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในขณะนั้น แม้มาณพขอร้องถึง ๓ ครั้ง พระอานนท์ก็ไม่ยอมอย่างเด็ดขาด จนกระทั่งเสียงขอเสียงขัด ดังถึงพระพุทธองค์

พระองค์จึงตรัสว่า “อานนท์ อย่าห้ามมาณพนั้นเลย จงให้เข้ามาเถิด”

เมื่อได้เข้าเฝ้าและฟังพระธรรม มาณพก็บรรลุมรรคผล ขอบวชเป็นพระสาวกองค์สุดท้าย มีนามว่า “สุภัททะ”

เมื่อนำมาพิจารณาดูจะเห็นได้ว่า พระอานนท์ท่านทำตามหน้าที่ของท่านถูกต้องแล้ว ไม่มีความผิดพลาดอันใด

ส่วนการที่พระพุทธเจ้าทรงให้มาณพเข้าเฝ้า ก็เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงมีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ

บรรดาพระสาวกรุ่นหลัง ตลอดมาจนถึงพระเถรานุเถระ และครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่มีเมตตาธรรมสูง ย่อมเป็นที่เคารพสักการะของหมู่ชนมาก ท่านอุทิศชีวิตเพื่อกิจพระศาสนา ไม่เคยคำนึงถึงความชรา ความอาพาธของท่าน เมื่อเห็นว่าผู้ใดพึงจะได้ประโยชน์ จากการสักการะท่านแล้ว ท่านก็อำนวยประโยชน์นั้นให้แก่เขา

หลวงปู่ท่านมีเมตตาสูงอยู่แล้ว ไม่เคยบ่นหรือเอือมระอาในเรื่องเหล่านี้ ต้อนรับญาติโยมได้โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ

ดังนั้น อาศัยที่ผู้เขียนเคยทำหน้าที่นี้มานาน จึงไม่ค่อยลำบากใจอะไรนัก จะมีก็แต่ลำบากกาย เพราะบางวันต้องนั่งรับแขกตั้งแต่ ๔ โมงเช้า ตลอดจนถึง ๔ ทุ่มก็มี

ต้องต้อนรับแขกแบบประชาสัมพันธ์ ทั้งอธิบายธรรม ทั้งตอบคำถาม เพราะผู้ที่ไปนมัสการหลวงปู่ ส่วนมากเป็นผู้สนใจในธรรมปฏิบัติ บางทีก็ขอร้องให้หลวงปู่อธิบายข้อธรรมะ และแนะนำกัมมัฏฐานให้ก็มี

หน้าที่