#echo banner="" ประวัติ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล โดย พระราชวรคุณ (สมศักดิ์ ปณฺฑิโต)

พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์

ต้นฉบับโดย พระราชวรคุณ (สมศักดิ์ ปณฺฑิโต)

เรียบเรียงโดย รศ. ดร. ปฐม - รศ.ภัทรา นิคมานนท์

ครงการหนังสือบูรพาจารย์อีสานใต้ เล่ม ๑

หน้าที่         

 

๕๖. แบบฉบับการเดินธุดงค์

ตามธรรมเนียมถือปฏิบัติในการเดินธุดงค์กัมมัฏฐานนั้น เมื่อเดินไปเรื่อยๆ จนถึงหมู่บ้านหนึ่ง ในระยะเวลาบ่ายมากแล้ว ถ้าขืนเดินทางต่อไป จะต้องค่ำมืดกลางทางแน่ พระธุดงค์ก็จะกำหนดเอาหมู่บ้านที่มาถึงในเวลาบ่ายมากนั้น เป็นที่เที่ยวภิกขาจาีร หาอาหารในเช้าวันรุ่งขึ้น

ครั้นได้ระยะห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๕๐๐ ช่วงคันธนู หรือประมาณ ๑ กิโลเมตร ตามที่พระวินัยกำหนดแล้ว ก็จะแสวงหาร่มไม้ หรือสถานที่สมควร ปักกลด กำหนดเป็นที่พำนักภาวนาในคืนนั้น

พอรุ่งเช้า ก็จะย้อนเข้าในหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต ชาวบ้านที่รู้ข่าวตั้งแต่เมื่อวาน ก็นำอาหารมาใส่บาตรตามกำลังศรัทธา และกำลังความสามารถ

ครั้นกลับถึงที่พักปักกลด ก็ทำการพิจารณาฉันภัตตาหาร เสร็จแล้วจึงเดินทางต่อไป ยกเว้นแต่จะกำหนดสถานที่นั้นพักภาวนามากกว่า ๑ คืน ก็จะอยู่บำเพ็ญภาวนา ณ สถานที่แห่งนั้นต่อไป

ชาวบ้านที่สนใจ ก็อาจจะติดตามมาฟังพระธรรมเทศนา และแนวทางปฏิบัติในตอนค่ำบ้าง ในตอนเช้าหลังการบิณฑบาตบ้าง

เมื่อเป็นเช่นนั้น พระธุดงค์ก็จะถามชาวบ้านถึงเส้นทางที่จะเดินทางต่อไป เพื่อจะได้สามารถกำหนดเส้นทาง และกำหนดหมู่บ้าน อันเป็นที่สมควรแก่การเที่ยวภิกขาจารในวันต่อๆ ไปได้

เป็นการเดินธุดงค์ไปตามเส้นทางธรรมดาของพระธุดงค์แท้พระธุดงค์จริงตามแบบอย่างที่ พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต และบรรดาสานุศิษย์ได้ถือปฏิบัติกันมา

สำหรับการ ปักกลด นั้น ในทางปฏิบัติก็ต้องเอามุ้งกลดแขวนไว้กับเส้นเชือกที่ผูกตรึงกับต้นไม้ ไม่ใช่ปักไว้กับพื้นดิน เพราะการขุดดินหรือทำให้ดินเสียปรกติสภาพของมันไป เป็นการอาบัติโทษ อย่างหนึ่ง

ข้อปฏิบัติที่ถือเป็นธรรมเนียมประการต่อไป คือจะไปเที่ยวปักกลดในหมู่บ้าน ในสถานที่ราชการ ใกล้เส้นทางคมนาคม เช่น ริมถนน ริมทางรถไฟหรือที่มีคนพลุกพล่านผ่านไปมาอย่างนั้นไม่สมควร

สถานที่พำนักปักกลด ควรเป็นที่สงบวิเวก เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรเช่น ในป่าภูเขา ถ้ำ โคนไม้ เรือนร้าง หรือป่าช้า เป็นต้น

ถ้ามีพระ เณร หรือ ฆราวาสที่ร่วมเดินทางด้วย แต่ละคนก็แยกกันไปปักกลดห่างกันพอสมควร เพื่อไม่ให้การปฏิบัติภาวนา มีการรบกวนกัน ไม่ใช่ปักกลดอยู่เป็นกลุ่มใกล้ชิดติดกัน

อย่างไรก็ดี การเดินธุดงค์ตามแบบดังกล่าว ถือเป็นธรรมเนียมหรือแบบฉบับที่ครูบาอาจารย์สายกัมมัฏฐานอบรมสั่งสอน และพากันปฏิบัติสืบต่อกันมา

ในยุคหลังๆ ในสมัยปัจจุบัน จะเห็นการเดินธุดงค์ไปเป็นคณะใหญ่ๆ มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ญาติโยมทราบ และเชิญชวนมาร่วมทำบุญ ตลอดถึงการนั่งรถไฟ รถทัวร์ ไปธุดงค์ก็มี ที่ทันสมัยกว่านั้น ก็จัดธุดงค์เป็นคณะ ขึ้นเครื่องบินไปธุดงค์ที่ต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง โตเกียว ปารีส ออสเตรเลีย หรือ ดิสนีย์แลนด์ เป็นต้น จัดเป็นการประยุกต์ หรือวิวัฒนาการของการธุดงค์ไปตามยุคสมัย หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ

๕๗. หลงป่า - อดอาหาร

ในช่วงที่หลวงปู่ดูลย์ ยังไม่ได้พำนักประจำที่วัดบูรพารามนั้น ในระหว่างที่อยู่สุรินทร์ ท่านนิยมพาลูกศิษย์ลูกหา เดินธุดงค์ท่องเที่ยวไปในป่าดงดิบแถบชายแดนกัมพูชา ในบริเวณเขตต่อเนื่องกับจังหวัดสุรินทร์ และศรีสะเกษถือเป็นที่เหมาะแก่การหลีกเร้นจากหมู่คณะ ตามแบบอย่างของพระธุดงค์

ในป่าแถบนี้ มีผู้คนอาศัยอยู่น้อย จึงลำบากต่อการแสวงหาอาหารบิณฑบาต กว่าจะไปพบหย่อมบ้านแต่ละแห่ง แห่งละหลังสองหลัง ต้องใช้เวลาเดินทางเป็นวัน สองวัน หรือมากกว่านั้น

การอดอาหารของหลวงปู่และลูกศิษย์ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ บางครั้งต้องอดติดต่อกันหลายวันก็มี

แต่ ไม่เคยได้ยินหลวงปู่พูด หรือเล่าว่าได้อาศัยพวก อทิสสมานกาย หรือพวกที่รูปกายไม่ปรากฏ เช่น เทพเทวดา หรือภูตผีปีศาจต่างๆ เอาอาหารมาถวาย อะไรทำนองนี้

ท่านบอกแต่เพียงว่า

“ก็อดทนไปในระยะสองสามวัน ร่างกายยังไม่เดือดร้อน”

หรือไม่ก็พูดว่า

“ดื่มแต่น้ำก็สามารถอยู่ได้ เดินทางต่อไปได้” อย่างนี้เท่านั้น

ท่านหลวงตาซอม เล่าว่า ครั้งหนึ่ง ไปกับหลวงปู่ เกิดหลงทางในป่า อดอาหารเสียแทบแย่ ตกกลางคืนก็ต้องนอนค้างอ้างแรมกันกลางป่า ทั้งหิวทั้งกลัว

ส่วนหลวงปู่นั้น นอกจากท่าทางที่ดูอิดโรยเล็กน้อยแล้ว ท่านก็ยังเป็นปกติเฉยอยู่

พอรุ่งเช้า ในขณะที่เด็กชายซอมรู้สึกหมดอาลัยตายอยากแล้ว คิดว่าในวันนั้นจะต้องอดข้าวต่อไปอีกเป็นแน่ เพราะไม่มีวี่แววว่าจะมีผู้คนหรือหมู่บ้านแถบนั้นเลย ผลหมากรากไม้ ที่เด็กชายอย่างท่าน จะกินกันตายก็ไม่มี

ทันใดนั้นดูหลวงปู่มีท่าทางกระปรี้กระเปร่าบอกว่า “ไม่ต้องกลัวอดแล้วได้ข้าวกินแน่วันนี้”

เด็กชายซอมไม่เชื่อหูตัวเองว่าหลวงปู่จะพูดอย่างนั้นจริง จนหลวงปู่ต้องย้ำอีกที จึงค่อยรู้สึกว่ามีความหวังขึ้น ค่อยมีกำลังเดินตามหลวงปู่ต่อไป

หลวงปู่เดินนำลิ่ว บุกป่าดงออกไปอีกด้านหนึ่งอย่างไม่รั้งรอ เด็กชายซอมเร่งฝีเท้าติดตามหลวงปู่อย่างไม่ลดละ แต่รู้สึกว่ายิ่งบุกป่าไปนานเท่าไรก็ยังเป็นป่าทึบเหมือนเดิม จึงลงความเห็นให้กับตนเองว่า

“หลวงปู่คงจะพูดให้กำลังใจเพื่อจะได้มีแรงเดินนั่นเอง”

คิดดังนี้แล้ว ก็เป็นอันว่าแข้งขาไม่มีแรงเดิน แทบจะล้มพับลงไป แต่ก็ต้องพยายามแข็งใจลากขาตามหลวงปู่ไปแบบหมดอาลัยตายอยาก

หลังจากนั้นไม่นานนัก หลวงปู่ก็เดินนำลิ่วไปอย่างรวดเร็ว ก้าวพรวดพ้นดงทึบออกไปยืนนิ่งอยู่ เด็กชายซอมชักสงสัย รีบเร่งฝีเท้ากระโจนออกไปยืนข้างๆ หลวงปู่

แทบไม่น่าเชื่อสายตาตนเอง ภาพที่ปรากฏเบื้องหน้านั้น หลวงตาซอมเล่าว่า

"เป็นภาพกระท่อมน้อยมุงหญ้าเก่าคร่ำคร่า แต่มีความสวยงามสุดสง่ายิ่งกว่าปราสาทราชวังเสียอีก"

ครั้นได้ข้าวได้น้ำเป็นที่สำราญพอสมควรแล้ว จิตของเด็กชายซอมก็เริ่มถูกส่งออกนอกตามความเคยชิน สงสัยเสียจริงๆ ว่า หลวงปู่รู้ได้อย่างไรว่ามีบ้านอยู่ตรงนี้ จึงได้มั่นใจว่าวันนี้มีข้าวกินแน่ และนำลิ่วมาถูกทางเสียด้วย

เมื่อทนอัดอั้นอยู่ไม่ไหวจึงเรียนถามท่าน

หลวงปู่บอกว่า ท่านเดินป่ามามาก ก็มีประสบการณ์ รู้จักสังเกตสังกาและอนุมานเอาได้ ขอให้พยายามฝึกฝนต่อไป บ่มนิสัยตนเองให้รู้จักสังเกตมากขึ้นก็จะรู้ได้เอง

จึงเป็นอันว่า หลวงตาซอมได้คำตอบจากหลวงปู่มาเพียงเท่านี้

๕๘. หลวงปู่พูดถึงพระอาจารย์ใหญ่

ลูกศิษย์ลูกหาที่วัดบูรพารามเคยกราบเรียนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล เกี่ยวกับเรื่องราวของท่าน พระอาจารย์ใหญ่ คือ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งหลวงปู่ก็ได้เล่าให้ฟังในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่อาจแตกต่างจากที่เคยได้ยินได้ฟัง ได้อ่านพบในที่ต่างๆ ไปบ้าง เห็นว่าน่าจะมาบันทึกรวมไว้เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจด้วย

ครั้งนั้น ผู้เขียน (พระราชวรคุณ) ได้กราบเรียนถามหลวงปู่ว่า

“ได้อ่านประวัติ ท่านพระอาจารย์มั่น ที่มีผู้เขียนไว้อย่างพิสดาร มีสิ่งเร้นลับเหลือวิสัยและอภินิหารบางอย่างอยู่ในนั้นมากมาย หลวงปู่เคยอ่านบ้างไหม และมีความเห็นอย่างไร ?”

หลวงปู่ตอบว่า

“เคยอ่านเหมือนกันแต่ แต่เมื่อสมัยที่เราอยู่กับท่านนั้น ไม่เคยได้ยินท่านพูดสิ่งเหล่านี้ให้ฟังเลย แต่ถ้าจะพูดในแง่ธุดงค์แล้ว ท่านอาจารย์ใหญ่จะถือธุดงค์อย่างเคร่งครัดที่สุด ยืนยันได้เลยว่า ลูกศิษย์ของท่านทั้งหลายยังไม่มีผู้ใดถือได้เท่าเทียมกับท่านอาจารย์ใหญ่เลย แม้แต่องค์เดียว”

แล้วหลวงปู่ก็เล่าต่อไปว่า ท่านพระปรมาจารย์ หรือ ท่านอาจารย์ใหญ่ของหลวงปู่นั้น จะไม่ยอมใช้ ผ้าสบงจีวรสำเร็จรูป หรือ คหบดีจีวร ที่มีผู้ซื้อจากท้องตลาดมาถวายเลย นอกจากได้ผ้ามาเอง แล้วมาตัดเย็บย้อมเองทั้งหมดจึงใช้ และ ไม่เคยดำริหรือริเริ่มให้ใครคนใดคนหนึ่งสร้างวัดสร้างวาเลย มีแต่สัญจรไปเรื่อยๆ เมื่อเห็นว่าป่าตรงไหนเหมาะสมท่านก็อยู่ เริ่มด้วยการปักกลดแล้วทำที่สำหรับเดินจงกรม

ส่วนญาติโยมผู้มีศรัทธาเลื่อมใส เมื่อมาพบและมองเห็นความเหมาะสมสำคัญ ก็จะสร้างกุฏิน้อย สร้างศาลาชั่วคราวถวายท่าน นอกจากนั้น สถานที่นั้นก็กลายเป็นวัดป่าเจริญรุ่งเรืองต่อมา

ยิ่งกว่านั้น แม้แต่การรับกฐิน ท่านก็ไม่เคย สมัยต่อมานั้นไม่ทราบ และท่านไม่เคยถือเอาประโยชน์ทีได้รับอานิสงส์พรรษาตามพระพุทธบัญญัติ ที่ให้สิทธิพิเศษแก่ภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือนได้รับการยกเว้นบางอย่างในการปฏิบัติ

ท่านจะ ถือตามสิกขาบทโดยตลอดไม่เคยยกเว้น ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎของธุดงควัตรโดยสม่ำเสมอ

ด้านอาหารการฉันก็เช่นเดียวกัน ท่านถือการบิณฑบาตโปรดสัตว์เป็นประจำไม่เคยขาด แม้จะเจ็บไข้ได้ป่วย แต่พอเดินได้ท่านก็เดิน จนกระทั่งในที่สุดเมื่อเดินไปบิณฑบาตไม่ได้ ท่านก็ลุกขึ้นยืนแล้วอุ้มบาตร ศิษยานุศิษย์ที่กลับมาจากบิณฑบาต และญาติโยมก็มาใส่บาตรให้ท่าน แล้วท่านก็ จะขบฉันเฉพาะอาหารที่อยู่ในบาตรเท่านั้น

แม้เมื่อเวลาท่านชราภาพมากแล้ว เวลาท่านเจ็บไข้ หรือป่วยมากจนไม่อาจเดินออกนอกวัดได้ ก็ทราบว่า ท่านเป็นอยู่อย่างนี้ และยังฉันอาหารมื้อเดียวตลอด

แม้แต่หยูกยาคิลานเภสัชต่างๆ ที่ใช้ในยามเจ็บไข้ ท่านอาจารย์ใหญ่ก็ ไม่นิยมใช้ยาสำเร็จรูป แม้แต่ยาตำราหลวง หากแต่พยายามใช้สมุนไพรตัวยาต่างๆ มาทำเอง ผสมเองเป็นประจำ

แม้แต่การเข้าไปพักตามวัด ก็นิยมพักที่วัดป่า จำได้ว่า ไม่เคยเข้าไปอยู่ในวัดบ้านเลย แต่จะอยู่วัดที่เป็นป่าหรือชายป่า เมื่อไม่มีวัดเช่นนี้อยู่ ท่านจะหลีกเร้นอยู่ตามชายป่า แม้ว่าจะมีความจำเป็นเวลาเดินทาง ก็ยากนักที่จะเข้าไปอาศัยวัดวาในบ้าน

ครั้งหนึ่ง หลวงปู่ได้เล่าถึงคำสอนของท่านพระอาจารย์ใหญ่ เกี่ยวกับการขบฉันภัตตาหารไว้ว่า

"ท่านอาจารย์ใหญ่สั่งสอนไว้ว่า การฉันอาหารต้องฉันอย่างประหยัด มีสติสัมปชัญญะ เพื่อขัดเกลาจิตใจมิให้เกิดความโลภ

วิธีการฉันนั้น เมื่อรับข้าวสุกมากะว่าพออิ่มสำหรับตนแล้ว ให้แบ่งข้าวสุกที่ตนพออิ่มนั้น ออกเป็น ๔ ส่วน เอาออกเสียส่วนหนึ่ง แล้วจึงรับเอากับข้าวมาในปริมาณที่เท่ากับส่วนที่เอาออกไป กล่าวคือให้มีข้าว ๓ ส่วนกับข้าว ๑ ส่วน แล้วจึงลงมือฉัน ท่านอาจารย์ใหญ่เอง ก็จะฉันภัตตาหารในลักษณะเช่นนี้โดยตลอด

เมื่อมีผู้ใดตระเตรียมภัตตาหารในบาตรถวายท่าน ท่านอาจารย์ใหญ่จะแนะนำให้จัดแจงมาในลักษณะเช่นนี้ แล้วท่านจึงฉัน”

นี่คือปฏิปทาส่วนตัวของท่านอาจารย์ใหญ่ ท่านหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโตตามที่หลวงปู่เล่าให้ฟัง ซึ่งหลวงปู่จะพูดถึงแต่ในแง่ที่ท่านถือธุดงค์ ในแง่ที่ท่านเคร่งครัดอย่างไร เพื่อให้ผู้สนใจซักถามนั้น ได้ถือเป็นแบบแผนเยี่ยงอย่าง

ส่วนคุณธรรมด้านอื่นๆ นั้น หลวงปู่เคยกล่าวในแวดวงนักปฏิบัติว่า

“ท่านอาจารย์ใหญ่เป็นผู้ที่มีญาณใหญ่ ไม่มีใครเทียบเท่าได้”

ดังนี้เท่านั้น ส่วนคุณวิเศษ หรืออภิญญาใดๆ ที่มีในตัวพระอาจารย์ใหญ่มั่นนั้น หลวงปู่ไม่เคยพูดถึงเลย

     

๕๙. พูดถึงครูบาอาจารย์องค์อื่น ๆ

นอกจากพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต แล้ว เมื่อพูดถึงครูบาอาจารย์เพื่อนๆ ก็ทำนองเดียวกัน แม้ว่าในบางครั้ง จะมีพระอาจารย์องค์ใดองค์หนึ่งตอบคำถามของผู้สนใจใคร่รู้ว่า องค์โน้นมีคุณพิเศษอย่างนั้น องค์นั้นมีอานุภาพอย่างนี้หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งอยู่ในที่นั้นด้วย ก็จะตั้งใจรับฟัง

แต่เมื่อถึงคราวที่ท่านจะต้องพูดถึงครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ ท่านก็จะพูดถึงแต่ปฏิปทา จริยาวัตรอันน่าเลื่อมใสของครูบาอาจารย์องค์นั้นๆ ว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เท่านั้น

ครั้งหนึ่ง มีผู้ถามหลวงปู่ถึง พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ก็เล่าถึงปฏิปทาในทางธุดงค์กัมมัฏฐาน อันน่าศรัทธาเลื่อมใสของพระอาจารย์ฝั้น แล้วเน้นว่า

“ท่านอาจารย์ฝั้นนั้น มีพลังจิตสูงมาก น่าอัศจรรย์ในด้านการธุดงค์กัมมัฏฐาน หรือการปฏิบัติของท่าน ท่านเป็นนักต่อสู้ และเอาชีวิตเข้าแลกทีเดียว ต่อการปฏิบัติ ดังนั้นในระยะหลังจึงมีคนนับถือท่านมาก ผู้สนใจการปฏิบัติก็มาหาท่านมาก

เมื่อมีคนมาหาท่านมาก ท่านมีเมตตา ก็ต้องรับแขกมาก คนเหล่านั้นไม่รู้หรอกว่า ได้ทำความลำบากแก่ขันธ์ของท่านเพียงไร

ตัวเรานี้ถ้ามีแขกมาก หรือทำอะไรมากๆ อย่างท่านอาจารย์ฝั้นแล้วจะไม่มีอายุยืนนานถึงขนาดนี้ดอก

แต่ก็เป็นธรรมดาสำหรับนักปฏิบัติระดับนี้ ที่จะต้องเอื้อเฟื้อต่อสรรพสัตว์ เพราะตนเองก็ไม่ห่วงสังขารอะไรอยู่แล้ว”

ครั้งหนึ่ง หลวงปู่ได้พูดถึง หลวงปู่ขาว อนาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล จังหวัดอุดรธานีว่า

ท่านพอจะทราบประวัติบ้างเหมือนกัน คล้ายๆ ประวัติพระเถระในสมัยพุทธกาล

หลวงปู่ขาว นั้นมาบวชเมื่อมีอายุพอสมควรแล้ว และมีครอบครัวมาก่อนท่านมีอาชีพเดิมเป็นพ่อค้าขายวัวขายควาย

ครั้งหนึ่ง เดินทางต้อนวัวควายไปขายในที่ไกล จะเป็นเพราะมีความจำเป็น หรือมีอุปสรรคอันใดไม่ทราบ ท่านหายหน้าหายตาไปหลายเดือนทีเดียว

ทีนี้สมัยนั้น การส่งข่าวคราวมันไม่ได้รวดเร็วเหมือนสมัยนี้ และคนมีอาชีพอย่างนี้ เมื่อเกิดสูญหายไปไม่มีร่องรอย ในสมัยนั้น เขาสันนิษฐานไว้ประการเดียว

ดังนั้น ภรรยาของท่านทางบ้าน จึงคิดว่าท่านตายจากไปแล้ว ก็เลยมีสามีใหม่

เมื่อท่านกลับมาทราบเรื่องเข้า ก็เกิดความสลดสังเวชใจ จึงออกบวชและมุ่งปฏิบัติธุดงค์กัมมัฏฐาน จนกระทั่งเป็นพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง

สำหรับ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ นั้น หลวงปู่เคยกล่าวว่า หลวงปู่แหวนนี้เคยมีชื่อเสียงมาตั้งแต่ยังดำรงภิกษุภาวะ อยู่ในคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ครั้นเมื่อญัตติเป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกายแล้ว ก็เป็นพระอาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐานที่มีชื่อเสียงโด่งดังตลอดมา

ส่วน หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร แห่งวัดถ้ำผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลยและ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี แห่งสำนักวัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย นั้นหลวงปู่ก็เคยกล่าวยกย่องชมเชยไว้เป็นอันมากว่า ทั้งสองท่านนี้เป็นผู้มีปฏิปทาดีมาก ทั้งยังมีรูปร่างงดงามได้สัดส่วน กิริยามารยาทงดงามเหมาะเจาะ สุ้มเสียงมีกังวานไพเราะ ทั้งยังแตกฉานเชี่ยวชาญตลอดปริยัติ ปฏิบัติ จนถึงปฏิิเวธ ฉลาดในการแสดงพระธรรมเทศนา คือสมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบทุกอย่าง ที่ทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา เป็นกำลังใหญ่ในพระศาสนาด้านวิปัสสนาธุระเป็นอย่างยิ่ง และได้เคยร่วมเดินธุดงค์บ้างบางครั้งบางคราวในระยะหลัง จึงทราบประวัติและปฏิปทาของท่านดี

อนึ่งในช่วงสุดท้ายที่หลวงปู่อาพาธ นัยว่าหลวงปู่เทสก์ได้ส่งจดหมายฉบับหนึ่ง มาเยี่ยมเยียนถามไถ่สุขภาพอนามัยหลวงปู่ ไม่ทราบว่าหลวงปู่ได้รับหรือเปล่า ?

ในตอนหลัง พระอาจารย์ชัยชาญ ลูกศิษย์หลวงปู่เทสก์ได้มาเยี่ยมหลวงปู่ และบังเอิญมาถึงตอนที่หลวงปู่มรณภาพพอดี ได้ถามถึงจดหมายนั้นว่าหลวงปู่ได้รับหรือไม่

ปรากฏว่า สอบสวนซักถามเท่าไหร่ๆ ก็ไม่พบว่าผู้ใดได้รับ หรือได้เห็นจดหมายประวัติศาสตร์ฉบับนั้น เพราะอยากทราบเป็นอย่ายิ่งว่า ท่านเขียนถึงกันว่าอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นจดหมายที่เขียนถึงกันฉบับสุดท้ายด้วย

๖๐. ผู้ไม่มีโทษทางวาจา

ในพระสุตันตปิฎก มีพระสูตร ๆ หนึ่งว่าด้วยการพูด ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนพระสงฆ์สาวกว่า ควรจะพูดถ้อยคำที่ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ เป็นเรื่องจริง มีประโยชน์ ผู้ฟังพอใจ และ ถูกต้องเหมาะสมกับเวลาและสถานที่ จะขาดองค์หนึ่งองค์ใดไม่ได้

หมายความว่า ถ้าขาดองค์หนึ่งองค์ใด ก็ไม่ควรพูด เช่น เป็นเรื่องยกเมฆ แต่ก็มีประโยชน์ คนฟังชอบ ได้จังหวะเหมาะสม อย่างนี้ก็ไม่ควรพูด

เรื่องจริง มีประโยชน์ถูกกาลเทศะ แต่พูดแล้วคนฟังจะต้องโกรธ ก็ไม่ควรพูดอีกเหมือนกัน ดังนี้เป็นต้น

สำหรับหลวงปู่ดูลย์ของพวกเรานั้น รู้สึกว่า ท่านดำเนินปฏิปทาในเรื่องการพูดนี้ ได้ถูกต้องตามพระพุทโธวาทเป็นอย่างดี เพราะเท่าที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับท่านมานานปี มีความเห็นว่า

"ท่านเป็นผู้ไม่มีโทษทางวาจา"

ทั้งนี้ โดยปกติท่านเป็นคนพูดน้อย แต่คำพูดเหล่านั้นมักจะรวบรัดจำกัดความ หมดจดชัดเจน แต่ก็มีความหมายลึกซึ้ง ยิ่งคิดยิ่งมองเห็นความหมายมากขึ้นไปอีก

เป็นถ้อยคำที่ไม่ผิดพลาดจากความเป็นจริง ถูกกาลเทศะ ตรงต่อพระธรรมวินัย ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น ทั้งโดยเจตนาหรือไม่เจตนา พูดตามความจำเป็นตามเหตุการณ์

คำพูดแต่ละคำไม่มีมายาเจือปนแม้แต่น้อย ไม่พูดพร่ำเพรื่อเพ้อเจ้อเชิงเล่นหัวกับทั้งสานุศิษย์กับทั้งบุคคลอื่นทั่วไป ไม่พูดตลกคะนองหรือพูดเสียงดัง ไม่พูดเล่าถึงความฝัน ไม่พูดหรือปลอบโยนเอาอกเอาใจ หรือพูดเลียบเคียงหวังประโยชน์

เมื่อมีเหตุการณ์อะไรไม่สมควรที่ลูกศิษย์ประพฤติปฏิบัติ หลวงปู่จะพูดครั้งเดียวแล้วก็หยุดไม่พูดพร่ำเพรื่อ หรือเมื่อจำเป็นต้องปรามให้หยุดการกระทำนั้น ก็จะปรามครั้งเดียวไม่มีอะไรต่อ คือจะมีอะไรที่แรงออกมาคำหนึ่งแล้วท่านก็สงบระงับไปอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อมีอะไรที่น่าพอใจ น่าขัน ก็จะหัวเราะออกมาในวาระแรก แล้วต่อไปก็ยิ้มๆ และยิ้มที่สะอาดหมดจด เป็นปรกติจริงใจ

บุคลิกอีกอย่างหนึ่งที่มีประจำตัวหลวงปู่ก็คือ เมื่อเวลาสนทนากัน ท่านจะไม่มองหน้าใครตรงๆ จะมองเพียงครั้งแรกที่พบ จากนั้นก็จะทอดสายตาลงต่ำ นานๆ ครั้งจึงจะหันหรือเงยหน้าขึ้นมองบ้างเมื่อจำเป็น แม้แต่เมื่อพูดกับสมณะด้วยกัน เช่น หลวงปู่ขาว เป็นต้น ท่านก็ปฏิบัติเช่นนี้ ดังนั้น เรื่องการจดจำบุคคลของหลวงปู่ ท่านจึงจำไม่ค่อยเก่ง

สำหรับผู้ที่หลวงปู่จำได้ดีเป็นพิเศษ ส่วนมากเป็นบุคคลที่มาปฏิบัติธรรมด้วย หรือผู้ที่นั่งสมาธิภาวนามาแล้วได้ผลอย่างไร แล้วมากราบเรียนท่าน เพื่อท่านจะได้แนะนำแนวทางปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

ส่วนผู้ที่อุปัฏฐากด้วยปัจจัยสี่นั้น ท่านก็จำได้เป็นครั้งคราว แล้วแต่เหตุการณ์

ในเรื่องการประชาสัมพันธ์ ติดต่อขอร้อง ขอความช่วยเหลือ หรือขอความเห็นใจจากบุคคลอื่นๆ หรือส่วนราชการต่างๆ หลวงปู่ไม่เคยทำ ท่านทำไม่เป็นหรือไม่สนใจที่จะทำ

เช่น การจะเที่ยวขอร้อง ฝากให้ลูกศิษย์เข้าโรงเรียน หรือเข้าทำงาน หรือขอความร่วมมือจากหน่วยราชการ ให้ช่วยอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านไม่เคยมี ไม่มีแม้กระทั่งความใกล้ชิดสนิทสนมกับใคร หรือกับตระกูลใดเป็นพิเศษ

ในกิจนิมนต์นั้น หลวงปู่ก็จะสงเคราะห์รับไปตามความสะดวก ตามความเหมาะควร โดยไม่คำนึงถึงฐานะของเจ้าภาพ ไม่คำนึงถึงชั้นวรรณะหรือเห็นแก่หน้าใคร ไม่ขึ้นอยู่ที่คำแนะนำของใคร ท่านให้ความอนุเคราะห์เสมอภาคกันหมด

การชี้แจงแสดงธรรมะ หรือข้อปฏิบัตินั้น หลวงปู่ไม่นิยมออกตัวหรือการอารัมภบท เมื่อจะพูด ก็พูดชี้ไปตรงจุด ตรงความมุ่งหมายอันสูงสุดของการปฏิบัติธรรม พูดถึงจิต อธิบายวิธีทำให้จิตสงบ หรือการพ้นจากทุกข์โทษทางใจ นิพพาน ความว่าง จิตเดิม จิตหนึ่ง ท่านจะแสดงเฉพาะจุดเฉพาะแนวทางตามภูมิของผู้ปฏิบัติ หรือตามความสนใจของผู้เรียนถามท่านเท่านั้น บางทีก็พูดแบบถามคำตอบคำ

เคยมีนักปฏิบัติธรรมระดับสูงผู้หนึ่งยกย่องท่านว่า หลวงปู่แสดงธรรมด้วยการ ไม่พูด ได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง ดังนี้ก็มี

หลวงปู่ไม่เคยแสดงธรรมนอกเรื่องนอกราว ตลกคะนอง สาธกยกนิทานชาดกหรือเล่นสำนวนโวหาร

มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อหลวงปู่ไปกิจนิมนต์ และพระองค์อื่นแสดงพระธรรมเทศนา แล้วมีใครคนหนึ่ง วิจารณ์การแสดงธรรมให้ท่านฟัง และขอคำวิจารณ์จากท่าน หลวงปู่ก็สนองตามความต้องการ โดยไม่ขัดอัธยาศัยทันที ด้วยการวิจารณ์ว่า ท่านองค์นั้นก็แสดงธรรมไปตามความถนัด ตามความสามารถของท่านเอง”

การแนะนำศิษย์ในเรื่องการเทศน์การแสดงธรรมนั้น หลวงปู่ไม่โปรดเรื่องตลกคะนอง หรือเรื่องภายนอกมากเกินไป ท่านยอมรับการเทศน์ตลก มีมุกขำขันของพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารณ์ (สิริจนฺโท จันทร์) แห่งวัดบรมนิวาส สมัยก่อนซึ่งเป็นมุกขำขันที่มีสาระและ ประกอบด้วยธรรมะ

หลวงปู่แนะนำว่า

ในการแสดงพระธรรมเทศนานั้น ควรแสดงธรรมให้เป็นกระแส จากต่ำไปหาสูง จากง่ายไปหายาก

ท่านย้ำว่า

ถ้าต้องการจะให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ขัน ไม่ง่วง ก็แสดงให้เขาซาบซึ้งในเนื้อหาแห่งธรรม หรือเข้าใจสัจธรรมข้อใดข้อหนึ่ง มันก็ขันขึ้นมาเอง ความโง่งมหลงเซอะบรรดามีในโลกพอรู้สึกตัว “รู้” เท่านั้น มันก็น่าขันเสียทั้งนั้น ผู้ฟังก็จะขำขันในความเขลาของตนตื่นตัวตื่นใจขึ้นมาเอง

๖๑. ศึกษาจากตำรา หรือว่าปฏิบัติเอง ?

นหมู่ผู้สนใจศึกษาศาสนาจะมีข้อโต้แย้งกันเสมอระหว่างการศึกษาจากตำรา คือศึกษาด้านปริยัติ กับอีกฝ่ายหนึ่งเน้นการปฏิบัติและไม่เน้นการศึกษาจากตำรา ว่าแนวทางใดจะให้ผลดีกว่ากันหรือตรงกว่ากัน

สำหรับหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ท่านเสนอแนะให้ดำเนินทางสายกลาง นั่นคือถ้าเน้นเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แล้วละเลยอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นการสุดโต่งไป

หลวงปู่ท่านแนะนำลูกศิษย์ลูกหาที่มุ่งปฏิบัติธรรมว่า ให้อ่านตำรับตำราส่วนที่เป็นพระวินัย ให้เข้าใจ เพื่อที่จะปฏิบัติไม่ผิด แต่ในส่วนของพระธรรมนั้น ให้ตั้งใจปฏิบัติเอา

จากคำแนะนำนี้ แสดงว่าหลวงปู่ถือเรื่อง การปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระวินัยเป็นเรื่องสำคัญ และจะต้องมาก่อน รักษาให้เข้าใจ และปฏิบัติตนให้ถูกแล้วเรื่องคุณธรรมและปัญญา สามารถสร้างเสริมขึ้นได้ถ้าตั้งใจ

ยกตัวอย่างในกรณีของ หลวงตาแนน ไม่เคยเรียนหนังสือ ท่านมาบวชพระเมื่อวัยเลยกลางคนไปแล้ว ท่านเป็นพระที่มีความตั้งใจดี ว่าง่ายสอนง่ายขยันปฏิบัติกิจวัตร ไม่ขาดตกบกพร่อง เห็นพระรูปอื่นเขาออกธุดงค์ก็อยากไปด้วยจึงไปขออนุญาตหลวงปู่

เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว หลวงตาแนนก็ให้บังเกิดความวิตกกังวล ปรับทุกข์ขึ้นว่า

"กระผมไม่รู้หนังสือ ไม่รู้ภาษาพูด (ภาษาไทย) จะปฏิบัติกะเขาได้อย่างไร"

หลวงปู่จึงแนะนำด้วยเมตตาว่า

 “การปฏิบัติไม่ได้เกี่ยวกับอักขระพยัญชนะหรือคำพูดอะไรหรอก ที่รู้ว่าตนไม่รู้ก็ดีแล้ว สำหรับวิธีปฏิบัตินั้นในส่วนวินัยให้พยายามดูแบบเขา ดูแบบอย่างครูบาอาจารย์ผู้นำ อย่าทำให้ผิดแผกจากท่าน ในส่วนธรรมะนั้น ให้ดูที่จิตของตัวเองปฏิบัติที่จิต เมื่อเข้าใจจิตแล้ว อย่างอื่นก็เข้าใจได้เอง”

เนื่องจากหลวงปู่ได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ผู้ปฏิบัติมามากต่อมาก ท่านจึงให้ข้อสังเกตในการปฏิบัติธรรม ระหว่างผู้ที่เรียนน้อยกับผู้ที่เรียนมากมาก่อน ว่า

“ผู้ที่ยังไม่รู้หัวข้อธรรมะอะไรเลย เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจังมักจะได้ผลเร็ว เมื่อเขาปฏิบัติจนเข้าใจจิต หมดสงสัยเรื่องจิตแล้ว หันมาศึกษาตริตรองข้อธรรมะในภายหลัง จึงจะรู้แจ้งแทงตลอด แตกฉานน่าอัศจรรย์”

“ส่วนผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาก่อน แล้วจึงหันมาปฏิบัติต่อภายหลังจิตจะสงบเป็นสมาธิยากกว่า เพราะชอบใช้วิตกวิจารมาก เมื่อจิตวิตกวิจารมาก วิจิกิจฉาก็มาก จึงยากที่จะ ประสบผลสำเร็จ”

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตดังกล่าว หลวงปู่ย้ำว่า

“แต่ทั้งนี้ก็ไม่เสมอไปทีเดียว”

แล้วท่านให้ข้อแนะนำต่อไปอีกว่า

“ผู้ที่ศึกษาทางปริยัติจนแตกฉานมาก่อนแล้ว เมื่อหันมามุ่งปฏิบัติอย่างจริงจังจนถึงขั้นอธิจิต อธิปัญญาแล้ว ผลสำเร็จก็จะยิ่งวิเศษขึ้นไปอีก เพราะเป็นการเดินตามแนวทางปริยัติ ปฏิบัติ ย่อมแตกฉานทั้งอรรถะและพยัญชนะ ฉลาดในการชี้แจงแสดงธรรม”

หลวงปู่ได้ยกตัวอย่างพระเถระทั้งใน อดีต และ ปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนความคิดดังกล่าว ก็มี ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) แห่งวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ และ ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน แห่งสำนักวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานีเป็นต้น

ทั้งสององค์นี้ “ได้ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ อาจหาญชาญฉลาดในการแสดงธรรม เป็นประโยชน์ใหญ่หลวงแก่พระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง”

โดยสรุป หลวงปู่สนับสนุนทั้งตำรา คือ ปริยัติ และ ปฏิบัติ ต้องไปด้วยกันและท่านย้ำว่า

“ ผู้ใดหลงใหลในตำราและอาจารย์ ผู้นั้นไม่อาจพ้นทุกข์ได้ แต่ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ ต้องอาศัยตำราและอาจารย์เหมือนกัน”

๖๒ ปริยัติคู่กับปฏิบัติ

ในหัวข้อผ่านมาได้กล่าวถึงการสอนของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ว่าท่านไม่ทิ้งทั้งปริยัติและปฏิบัติ ต้องมีประกอบกัน

ในหัวข้อนี้ เป็นตัวอย่างการสอนของหลวงปู่ จากประสบการณ์ของ หลวงพ่อเพิ่ม กิตฺติวฒฺโน (พระมงคลวัฒนคุณ) แห่งวัดถ้ำไตรรัตน์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา (ภายหลังเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน ต่อจากหลวงพ่อพุธ ฐานิโย) ขอยกข้อความมาดังนี้

การศึกษาความรู้กับหลวงปู่ดูลย์ เมื่อครั้งที่ท่าน (หลวงพ่อเพิ่ม) ยังเป็นสามเณรน้อย ได้รับการชี้แนะอบรมพร่ำสอนจากหลวงปู่ดูลย์อย่างใกล้ชิด โดยท่านจะเน้นให้ศิษย์ของท่านมีความสำนึก ตรึกอยู่ในจิตเสมอ ถึงสภาวะความเป็นอยู่ในปัจจุบันว่า

บัดนี้เราได้บวชกายบวชใจ เข้ามาอยู่ในบวรพุทธศาสนา เป็นสมณะที่ชาวบ้านทั้งหลายให้ความเคารพบูชา ทั้งยังอุปัฏฐากอุปถัมภ์ค้ำจุนด้วยปัจจัยสี่ ควรที่จะกระทำตนให้สมกับที่เขาเคารพบูชา ถือประพฤติปฏิบัติดามศีลธรรม ตามพระวินัยอย่างเคร่งครัดไม่ฝ่าฝืนทั้งที่ลับและที่แจ้ง

พระเณรที่มาบวชกับท่านหลวงปู่ จึงให้ศึกษาทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติควบคู่กันไป

ด้านปริยัติ ท่านให้เรียนนักธรรม บาลีไวยากรณ์ให้เรียนรู้ถึงเรื่องศีล พระธรรม พระวินัยเพื่อจะได้จดจำนำไปประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ ซึ่งจะทำให้สามารถดำรงตนอยู่ได้อย่างเหมาะสม เยี่ยงผู้ถือบวช ที่ชาวบ้านศรัทธาเขากราบไหว้บูชา

ด้านปฏิบัติ ท่านเน้นหนักเป็นพิเศษให้พระเณรทุกรูปทุกองค์ปฏิบัติกัมมัฏฐาน เพราะการปฏิบัติพระธรรมกัมมัฏฐานนี้ จะเป็นการฝึกกายฝึกจิตให้ผู้ศึกษาธรรมได้รู้ได้เห็นของจริง โดยสภาพที่เป็นจริง อันเกิดจากการรู้การเห็นของตนเอง ไม่ใช่เกิดจากการอ่าน จดจำจากตำรับตำรา ซึ่งเป็นการรู้ด้วยสัญญาแห่งการจำได้หมายรู้ คือรู้ แต่ยังไม่เห็น ยังไม่แจ้งแทงตลอดอย่างแท้จริง

ข้อธรรมกัมมัฏฐานที่ หลวงปู่ดูลย์ ท่านให้พิจารณาอยู่เป็นเนืองนิตย์ก็คือหัวข้อกัมมัฏฐานที่ว่า สพฺเพ สงฺขารา สพฺพสญฺญา อนตฺตา

การพิจารณาตามหัวข้อธรรมกัมมัฏฐานดังกล่าวนี้ หากได้พิจารณาทบทวนอย่างสม่ำเสมอแล้ว ในเวลาต่อมาก็จะรู้แจ้งสว่างไสว เข้าใจได้ชัดว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ หาความจีรังยั่งยืนไม่ได้ มีการเกิดดับ-เกิดดับอยู่ตลอดเวลา

เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว จะทำให้เลิกละจากการยึดถือตัวตน บุคคล เราท่าน เพราะได้รู้ได้เห็นของจริงแล้วว่า สังขารที่เรารักหวงแหนนั้นไม่ช้าไม่นาน มันก็ต้องเสื่อมสูญ ดับไปตามสภาวะของมัน ไม่อาจที่จะฝ่าฝืนได้

เมื่อสังขารดับไปแล้ว ความเป็นตัวเป็นตนก็จะไม่มี เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดหายไป ความทุกข์จะเกิดได้อย่างไร

๖๓ ศีล สมาธิ ปัญญาแต่ละระดับ

เนื้อหาในหัวข้อนี้คัดลอกมาจากประวัติของ หลวงพ่อเพิ่ม กิตฺติวฒฺโน (พระมงคลวัฒนคุณ) เช่นเดียวกับตอนที่ผ่านมา ดังต่อไปนี้

คำสอนของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล อีกประการหนึ่ง ที่ท่านแนะนำพร่ำสอนต่อผู้มาขอแนวทางการปฏิบัติจากท่าน ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ดี ท่านจะให้ปฏิบัติโดยแนวทางแห่ง ศีล สมาธิปัญญา เหมือนกันหมด

หลวงพ่อเพิ่ม ท่านได้เล่าว่า สมัยที่ท่านยังเป็นสามเณร และอยู่กับหลวงปู่ดูลย์ที่วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ มีคนเคยมาถามหลวงปู่ถึงคำสั่งสอนดังกล่าวของท่านว่า

“สอนเด็ก

 ก็สอน ศีล สมาธิ ปัญญา

สอนหนุ่มสาว

 ก็สอน ศีล สมาธิ ปัญญา

สอนผู้เฒ่าผู้แก่

ก็ สอน ศีล สมาธิ ปัญญา

สอนพระเณร

ก็สอน ศีล สมาธิ ปัญญา

ศีล สมาธิ ปัญญา ในระดับต่างๆ กันนั้น เหมือนกัน หรือแตกต่างกันอย่างไร ?”

ขณะที่มีผู้ถามนั้น ตอนนั้นหลวงปู่ดูลย์กำลังปะชุนเย็บจีวรอยู่ เมื่อท่านฟังคำถามนั้นจบลง ท่านก็ยกเข็มให้ดู แล้วกล่าวว่า

“คุณลองดูว่าเข็มนี้แหลมไหม

ผู้ถามก็ตอบว่า “แหลมขอรับหลวงปู่”

หลวงปู่อธิบายว่า.:.-

“ความแหลมคมของสติปัญญาในระดับเด็ก ระดับผู้ใหญ่ ก็มีความแหลมคมไปคนละอย่าง แต่ในระดับความแหลมคมของสติปัญญาพระอรหันต์นั้น อยู่เหนือความแหลมคมทั้งหลายทั้งปวง

ความแหลมคมของเข็มนั้น เกิดจากคนเราทำขึ้น แต่สติปัญญาที่เกิดจากพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายนั้น เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ระดับโลกุตรธรรม ที่ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน มีความมั่นคง ไม่แปรเปลี่ยนอีกแล้ว

สำหรับสติปัญญาระดับปุถุชน ก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา เช่นกัน แต่เป็น ศีล สมาธิ ปัญญาที่จะต้องระมัดระวัง เพราะยังอยู่ในขั้นโลกียธรรม ยังคงมีความเปลี่ยนแปลงผันแปรได้เสมอ”

คำตอบของหลวงปู่ดูลย์ดังกล่าวนั้น ชี้ให้เห็นถึง ไหวพริบและปฏิภาณในการอธิบายข้อธรรมที่ลุ่มลึกได้อย่างฉับไว โดยสามารถยกสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราคิดไม่ถึง มาเป็นตัวอย่างประกอบ ชี้ให้เห็นปัญหาที่ไต่ถามได้อย่างแจ่มแจ้ง ซึ่งนับว่าเป็นการอธิบายข้อธรรมที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง

๖๔ ภาวนา กับ นิมิต

หลวงพ่อเพิ่มได้เล่าถึงประสบการณ์ในการปฏิบัติกัมมัฏฐาน สมัยเริ่มต้นเมื่อครั้งยังเป็นสามเณรว่า ตอนที่ฝึกกัมมัฏฐานใหม่ๆ นั้น ท่านยังไม่ประสีประสาอะไรเลย หลวงปู่ดูลย์ ได้แนะนำถึงวิธีการทำสมาธิ ว่าควรนั่งอย่างไร ยืน เดิน นอน ควรทำอย่างไร

ในชั้นต้น หลวงปู่ให้เริ่มที่การนั่ง เมื่อนั่งเข้าที่เข้าทางแล้ว ก็ให้หลับตาภาวนา “ พุทโธ” ไว้ อย่าส่งใจไปคิดถึงสิ่งอื่น ให้นึกถึงแต่ พุทโธ-พุทโธ เพียงอย่างเดียว ก็จดจำ นำไปปฏิบัติตามที่หลวงปู่สอน

ปกติของใจเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง มักจะคิดฟุ้งซ่านไปโน่นไปนี่เสมอ ในระยะเริ่มต้น คนที่ไม่เคยฝึกมาก่อน อยู่ๆ จะมาบังคับให้มันหยุดนิ่ง คิดอยู่แต่ พุทโธ ประการเดียว เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

สามเณรเพิ่มก็เช่นกัน เมื่อภาวนาไปตามที่หลวงปู่สอนได้ระยะหนึ่ง ก็เกิดความสงสัยขึ้น จึงถามหลวงปู่ว่า

“เมื่อหลับตาภาวนาแต่พุทโธ แล้วจะเห็นอะไรครับ หลวงปู่”

หลวงปู่บอก

“อย่าได้สงสัย อย่าได้ถามเลย ให้เร่งรีบภาวนาไปเถิด ให้ภาวนา พุทโธ ไปเรื่อยๆ แล้วมันจะรู้เอง เห็นเองแหละ”

มีอยู่คราวหนึ่งขณะที่ สามเณรเพิ่ม ภาวนาไปได้ระยะหนึ่ง จิตเริ่มสงบ ก็ปรากฏร่างพญางูยักษ์ดำมะเมื่อมขึ้นมาอยู่ตรงหน้า มันจ้องมองท่านด้วยความประสงค์ร้าย แผ่แม่เบี้ยส่งเสียงขู่ฟู่-ฟู่อยู่ไปมา

สามเณรเพิ่มซึ่งเพิ่งฝึกหัดภาวนาใหม่ๆ เกิดความหวาดกลัว ผวาลืมตาขึ้น ก็ไม่เห็นพญางูยักษ์ จึงรู้ได้ทันทีว่า สิ่งที่ตนเห็นนั้นเป็นการเห็นด้วยสมาธิจิต ที่เรียกว่า นิมิต นั่นเอง จึงได้หลับตาลงภาวนาต่อไป พอหลับตาลงเท่านั้นก็พลันเห็นงูยักษ์แผ่แม่เบี้ยส่งเสียงขู่ ทำท่าจะฉกอีก แม้จะหวาดกลัวน้อยลงกว่าครั้งแก แต่ก็กลัวมากพอที่จะต้องลืมตาขึ้นอีก

เมื่อนำเรื่องนี้ไปถามหลวงปู่ ได้รับคำอธิบายว่า

“อย่าส่งใจไปดู ไปรู้ ในสิ่งอื่น การภาวนา ท่านให้ดูใจของตนเองหรอก ท่านไม่ให้ดูสิ่งอื่น”

“การบำเพ็ญกัมมัฏฐานนี้ ไม่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเกิดขึ้น ไปรู้ไปเห็นอะไร เราอย่าไปดู ให้ดูแต่ใจ ให้ใจอยู่ที่พุทโธ

เมื่อกำลังภาวนาอยู่ หากมีความกลัวเกิดขึ้น ก็อย่าไปคิดในสิ่งที่น่ากลัวนั้น อย่าไปดูมัน ดูแต่จิตของเราเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แล้วความกลัวมันจะหายไปเอง”

หลวงปู่ได้ชี้แจงต่อไปว่า

สิ่งที่เราไปรู้ไปเห็นนั้น บางทีก็จริง บางทีก็ไม่จริง เหมือนกับว่า คนที่ภาวนาแล้ว ไปรู้ไปเห็นสิ่งต่างๆ เข้า การที่เขาเห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่เห็นนั้น มันไม่จริง เหมือนอย่างที่เราดูหนัง เห็นภาพในจอหนัง ก็เห็นภาพในจอจริงๆ แต่สิ่งที่เห็นนั้นไม่จริง เพราะความจริงนั้น ภาพมันไปจากฟิล์มต่างหาก

ฉะนั้น ผู้ภาวนาต้องดูที่ใจอย่างเดียว สิ่งอื่นนอกจากนั้นจะหายไปเอง ให้ใจมันอยู่ที่ใจนั้นแหละ อย่าไปส่งออกนอก

ใจนี้มันไม่ได้อยู่จำเพาะที่ว่า จะต้องอยู่ตรงนั้นตรงนี้ คำว่า “ใจอยู่กับใจ” นี้คือ คิดตรงไหน ใจก็อยู่ตรงนั้น และ คิดนึก ก็คือ ตัวจิตตัวใจ

หากจะเปรียบไปก็เหมือนเช่น รูปกับฟิล์ม จะว่ารูปเป็นฟิล์มก็ได้ จะว่าฟิล์มเป็นรูปก็ได้ ใจอยู่กับใจ จึงเปรียบเหมือนรูปกับฟิล์มนั่นแหละ

แต่โดยหลักปฏิบัติแล้ว ใจก็เป็นอย่างหนึ่ง สติก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่ที่จริงแล้วมันก็เป็นสิ่งเดียวกัน เหมือนหนึ่งว่า ไฟกับกระแสไฟ ความสว่างกับไฟก็อันหนึ่งอันเดียวกันนั่นแหละ แต่เรามาพูดให้เป็นคนละอย่าง

ใจอยู่กับใจ จึงหมายถึง ให้มีสติอยู่กำกับมันเอง ให้อยู่กับสติ

แต่สติสำหรับปุถุชน หรือ สติสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติ เป็นสติที่ยังไม่มั่นคง มันจึงมีลักษณะขาดช่วงเป็นตอนๆ ถ้าเราปฏิบัติจนสติมันต่อกันได้เร็ว จนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้เป็นแสงสว่างอย่างเดียวกัน

อย่างเช่น สัญญาณออด ซึ่งที่จริง มันไม่ได้มีเสียงยาวติดต่อกันเลย แต่เสียงออด-ออด-ออด ถี่มาก จนความถี่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราจึงได้ยินเสียงออดนั้นยาว

ในการปฏิบัติ ที่ว่า ปฏิบัติจิต ปฏิบัติใจ โดยให้ใจอยู่กับใจนี้ ก็คือให้มีสติกำกับใจ ให้เป็นสติถาวร ไม่ใช่เป็นสติคล้ายๆ หลอดไฟที่จวนจะขาด เดี๋ยวก็สว่างวาบ เดี๋ยวก็ดับ เดี๋ยวก็สว่าง แต่ให้มันสว่างติดต่อกันไปตลอดเวลา

เมื่อสติมันติดต่อกันไปอย่างนี้ ใจมันก็มีสติควบคุมอยู่ตลอดเวลา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อยู่กับตัวรู้ตลอดเวลา”

ตัวรู้ก็คือ สตินั่นเอง

หรือจะเรียกว่า “พุทโธ” ก็ได้ พุทโธที่ว่า รู้ ตื่น เบิกบาน ก็คือตัวสตินั่นแหละ

เมื่อมีสติ ความรู้สึกนึกคิดอะไรต่างๆ มันก็จะเป็นไปได้โดยอัตโนมัติของมันเอง เวลาดีใจก็จะไม่ดีใจจนเกินไป สามารถพิจารณารู้ได้โดยทันทีว่า สิ่งนี้คืออะไรเกิดขึ้น และเวลาเสียใจ มันก็ไม่เสียใจจนเกินไป เพราะว่าสติมันรู้อยู่แล้ว

คำชมก็เป็นคำชนิดหนึ่ง คำติก็เป็นคำชนิดหนึ่ง เมื่อจับสิ่งเหล่านี้มาถ่วงกันแล้ว จะเห็นว่ามันไม่แตกต่างกันจนเกินไป มันเป็นเพียงภาษาคำพูดเท่านั้นเอง ใจมันก็ไม่รับ

เมื่อใจมันไม่รับ ก็รู้ว่าใจมันไม่มีความกังวล ความวิตกกังวลในเรื่องต่างๆก็ไม่มี ความกระเพื่อมของจิตก็ไม่มี ก็เหลือแต่ความรู้อยู่ในใจ

สามเณรเพิ่มจดจำคำแนะนำสั่งสอนจากหลวงปู่ไปปฏิบัติต่อ ปรากฏว่าสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว ไม่ทำให้ท่านหวาดหวั่นใจอีกเลย

ทำให้ท่านสามารถโน้มน้าวใจสู่ความสงบ ค้นพบปัญญาที่จะนำสู่ความสุขสงบในสมาธิธรรมตั้งแต่บัดนั้นมา

๖๕. สามเณรขอลาสึก

ดังที่หลวงปู่อธิบายแต่ต้นว่า ศีลสมาธิ ปัญญา ของผู้ปฏิบัติทุกคนเหมือนกันหมดแต่ต่างระดับกัน มีความแหลมคมรอบรู้ธรรมไม่เหมือนกัน ในระดับของผู้บรรลุธรรมขั้นสูง เป็น โลกุตรธรรม ที่ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน มีความมั่นคงไม่แปรเปลี่ยนอีกแล้ว

แต่ศีล สมาธิ ปัญญา ของปุถุชน ซึ่งอยู่ในขอบข่ายของโลกียธรรม ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงผันแปรได้เสมอ

ดังเช่น สามเณรเพิ่ม แม้จะปฏิบัติภาวนามาร่วม ๓ ปี แต่ก็ยังไม่อาจยกระดับจิตระดับใจ ก้าวขึ้นสู่ภูมิธรรมขั้นโลกุตระได้ ความผันแปรในใจจึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา คือ ในช่วงของพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นปีที่ ๓ แห่งการบวชสามเณรเพิ่มวัย ๑๘ ปี เกิดมีความอยากจะสึกหาลาเพศ ไปใช้ชีวิตฆราวาสเต็มกำลัง

สามเณรเพิ่มเข้าไปกราบขอลาสึกจากหลวงปู่ถึง ๓ ครั้ง แต่ด้วยเหตุผลใดไม่ทราบ หลวงปู่ตอบปฏิเสธทุกครั้ง สามเณรเพิ่มเฝ้าเพียรพยายามหาลู่ทางขอสึกให้ได้

หลังจากจดๆ จ้องๆ มองหาโอกาสอยู่หลายวัน จนกระทั่งเห็นว่าโอกาสเหมาะ หลวงปู่พักผ่อนอยู่ในกุฏิองค์เดียว สามเณรเพิ่มจึงตั้งใจว่า วันนี้ล่ะ อย่างไรเสียต้องลาสึกให้ได้ จึงจัดหาดอกไม้ธูปเทียนใส่ฝาบาตร ค่อยย่องเข้าไปหาหลวงปู่ในกุฏิ

ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ ๑ ทุ่ม พอสามเณรโผล่หน้าเข้าไป หลวงปู่เหลือบมองมานิดหนึ่ง แต่ไม่พูดอะไร สามเณรค่อยคลานเข้าไปกราบหลวงปู่ แล้วพูดว่า

“หลวงปู่ครับ ขอให้ผมบีบนวดให้หลวงปู่นะครับ”

สามเณรเพิ่มไม่เข้าใจเหมือนกัน ว่าทำไมต้องพูดเช่นนั้น ทั้งๆ ที่เตรียมคำพูดมาอย่างดี และตัดสินใจอย่างเด็ดขาดแล้วก็ตาม

สามเณรบีบนวดหลวงปู่ตั้งแต่ ๑ ทุ่ม จนกระทั่งถึง ๖ ทุ่ม หลวงปู่ไม่เอ่ยปากพูดแม้แต่คำเดียว พอเลย  ๖ ทุ่มไปเล็กน้อย ท่านจึงเอ่ยปากว่า

“เอาละ ! แค่นี้พอแล้ว คงจะนวดเป็นที่พอใจแล้วนะ”

กล่าวจบ หลวงปู่ก็เงียบไปชั่วอึดใจ แล้วถามสามเณรว่า

“มาคืนนี้ เณรถ้าจะมาลาสึกอีกละสิ"

โดนคำถามจี้ใจเช่นนี้ สามเณรเพิ่มรู้สึกตกใจเล็กน้อย แต่แทนที่จะตอบรับหลวงปู่ตามที่ตั้งใจ กลับตอบไปว่า

"เปล่าครับหลวงปู่"

หลวงปู่ถามต่อ

"ถ้ายังงั้น คืนนี้เข้ามาทำไมล่ะ”

“กระผมจะมาลาหลวงปู่ไปอยู่วัดสุทธจินดา ครับ”

วัดสุทธจินดา อยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นวัดหนึ่งที่มีการสอนด้านปริยัติธรรม และหลวงปู่มักส่งพระภิกษุและสามเณรไปศึกษาที่วัดแห่งนี้

หลวงปู่ตอบว่า

“เป็นยังไงอยู่ที่นี่ไม่สบายใจหรืออย่างไร ไปอยู่วัดสุทธจินดากับอยู่ที่นี่ก็เหมือนกันนั่นแหละ เณรอย่าไปเลย”

สามเณรเพิ่มจึงกราบเรียนว่า

“ถ้าอย่างนั้นกระผมขอไปเรียนหนังสือที่วัดบรมนิวาส นะขอรับ”

“อ๋อ ! อยากไปอยู่เมืองหลวงละซี เอาเถอะ ถ้าเณรอยากไปจริงๆ ก็ไปอยู่วัดบวรฯ ซิ (หมายถึงวัดบวรนิเวศวิหาร) ที่นั่นเขามีการเรียนการสอนเหมือนกัน”

“ขอรับหลวงปู่”

สามเณรตอบรับคำ ทั้งๆ ที่ใจไม่เคยนึกอยากไปวัดบวรฯ เลย เพราะที่นั่นการเรียนการสอนเขาเข้มงวดมาก สวดมนต์ก็หลายบท ตั้ง ๙๕ สูตร เกรงว่าสติปัญญาของตนเองจะไปไม่ไหว แต่ภายหลังจากที่ไปอยู่แล้ว ท่านกล่าวว่า สิ่งที่ท่านเกรงกลัวกลับไม่มีปัญหาอะไรเลย ซ้ำยังได้รับเลือกให้เป็นเณรหัวหน้าซ้อมสวดมนต์อีกด้วย

สามเณรเพิ่มเดินทางเข้าวัดบวรนิเวศฯ ในปี ๒๔๙๘ โดยมี หลวงปู่โชติ คุณสมฺปนฺโน (พระเทพสุทธาจารย์) นำไปฝากตัวกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ ในสมัยนั้น

ในกรณีของสามเณรเพิ่ม เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงเมตตาในการให้การศึกษาแก่ลูกศิษย์

๖๖ อุบัติเหตุที่เขา่พนมสวาย

หัวข้อนี้ยังเป็นเรื่องราวของ สามเณรเพิ่มอยู่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์หนึ่งในประวัติของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล เห็นว่าน่าสนใจจึงคัดลอกมาไว้ ณ ที่นี้

ในสมัยที่ หลวงพ่อเพิ่ม กิตฺติวฒฺฑโน ยังเป็นสามเณรอยู่ ท่านกล่าวว่า หลังจากที่เรียนรู้พื้นฐานด้านศีลธรรมจรรยา อันเป็นข้อวัตรปฏิบัติที่เหมาะสมตามควรแล้ว หลวงปู่ดูลย์ ก็นำออกฝึกภาคสนามยังป่าเขาลำเนาถ้ำ ต่างถิ่น ต่างสถานที่ การที่ได้ติดตามหลวงปู่ไปยังที่ต่างๆ นั้น สามเณรเพิ่มได้เรียนรู้สิ่งต่าง ที่ไม่อาจหาได้ในวัดหลายประการ

ความวิเวกสงบสงัดของป่าเขาก็เป็นครูบาอาจารย์ประการหนึ่ง ที่สอนให้ผู้ปฏิบัติเกิดความกล้าหาญ มีจิตใจมั่นคง เชื่อมั่นในพระรัตนตรัยมากยิ่งขึ้น

ครั้งแรกที่หลวงปู่นำสามเณรออกสู่สนามของพระอริยะนั้น ได้พาไปฝึกปฏิบัติที่ เขาพนมสวาย ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์นั่นเอง และสถานที่แห่งนี้เอง ที่ถูกกำหนดให้เป็นสถานประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ในภายหลัง

ในสมัยนั้นเขาพนมสวายยังเป็นป่าดงรกชัฏอยู่ ห่างไกลบ้านเมือง และมีความสงัดเงียบจนวังเวง สามเณรทั้งหลายมีความหวาดกลัวโดยเฉพาะยามค่ำคืน เมื่อเข้ามุ้งเข้ากลดแล้ว จะมีความรู้สึกคลายใจเมื่อนึกถึงว่ามีหลวงปู่คอยปกป้องดูแลอยู่

ช่วงกลางวัน เมื่อว่างเว้นจากการปฏิบัติชั่วคราว บรรดาสามเณรก็ชักชวนกันไปวิ่งเล่นบนเขา ตามประสาเด็กที่ยังคึกคะนองชอบสนุกสนาน

องเล่นที่พอหาได้ก็มีพวกก้อนหินขนาดต่างๆ คณะสามเณรช่วยกันกลิ้งหินก้อนเล็กก้อนน้อยลงมา ทำให้เกิดความสนุกสนานเบิกบานใจของคณะสามเณร ตามประสาเด็กกลางป่ากลางเขาชาวดงดอย

ในขณะที่สามเณรเหล่านั้นกำลังเล่นกลิ้งก้อนหินอยู่อย่างเพลิดเพลินจนเกินขอบเขต ก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน จนเกือบจะก่อโศกนาฏกรรมขึ้นโดยไม่เจตนา

ปรากฏว่า ครั้งหนึ่งเมื่อสามเณรช่วยกันผลักหินก้อนใหญ่ให้กลิ้งลงไปปรากฏว่าก้อนหินพุ่งตรงลิ่วเข้าหาร่างของหลวงปู่ ที่ยืนอยู่ข้างล่างอย่างรวดเร็

สามเณรทั้งกลุ่มตะลึงลานด้วยความตกใจสุดประมาณ เพราะพวกตนรู้แก่ใจว่าความเร็วของก้อนหินที่พุ่งตัวลงไปนั้น หลวงปู่ผู้เป็นอาจารย์ที่อยู่ในวัยชรา จะต้องกระโดดหลบหลีกไม่ทันอย่างแน่นอน และครั้งนี้นับว่าพวกตนร่วมกันสร้างบาปกรรมขั้นมหันต์ขึ้นแล้ว

ขณะที่บรรดาสามเณรยืนตะลึงตัวแข็งอยู่เบื้องบนเขา ด้วยความรู้สึกที่ยากจะบรรยายอยู่นั้น ฝ่ายหลวงปู่ซึ่งกำลังจะถูกหินพุ่งเข้าชนกลับยืนนิ่งเฉยไม่มีอาการหวาดหวั่นสะทกสะท้านต่ออันตราย ที่จะเกิดขึ้นในเสี้ยววินาที

ดูอาการท่านสงบราบเรียบ ไร้อาการตื่นกลัว สายตาท่านเพ่งจับที่ก้อนหินดูประหนึ่งว่า ท่านพร้อมที่จะรับชะตากรรมที่ลูกศิษย์กำลังก่อขึ้น คล้ายกับว่าหากเป็นเวรกรรมที่ท่านเคยกระทำไว้ ท่านก็คงยินดีที่จะชดใช้กรรมด้วยความเต็มใจ

ชั่วเวลาที่ทุกคนกำลังตะลึงดังต้องมนต์สะกดอยู่นั้น เหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ก็อุบัติขึ้นให้ปรากฏแก่สายตาทุกคู่

เมื่อหินกลิ้งลงมาด้วยความเร็ว ใกล้ร่างหลวงปู่ประมาณ ๓ วาเศษ มันกลับเบนเบี่ยง เปลี่ยนทิศทางไปจากเดิมอย่างกะทันหัน ประดุจมีมือยักษ์ที่ทรงพลังมาปัดให้เฉออกนอกทิศทางเดิม พุ่งเลยร่างหลวงปู่ออกไปอีกทางหนึ่ง

บรรดาสามเณรจอมซนรู้สึกโล่งใจ เมื่อได้สติ ต่างก็วิ่งลงมายังพื้นล่าง ทรุดตัวหมอบกราบแทบเท้าของหลวงปู่ อย่างสำนึกในความผิด

หลวงปู่มองดูการกระทำของสามเณร แล้วกล่าวด้วยน้ำเสียงราบเรียบว่า

“พวกเณรได้บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ผู้ที่คนทั่วไปยกย่องว่าเป็นผู้มีศีลมีธรรม ควรที่จะหมั่นศึกษาพระธรรมวินัย ยึดมั่นในศีล มีความเพียรในการประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อที่จะสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นกับตน สมกับที่เขาเชื่อถือ

บัดนี้พวกเธอใช่เด็กน้อยลูกหลานชาวบ้าน ที่จะเที่ยววิ่งเล่นซนได้ตามอำเภอใจเหมือนแต่ก่อน แต่เธอเป็นบุตรศากยะ ในพระพุทธศาสนา ที่จะต้องปฏิบัติตามศีลตามธรรมอย่างเคร่งครัด ขอให้เธอมีความสำนึกเช่นนี้อยู่ทุกเมื่อ”

หลวงปู่กล่าวแล้วก็เดินจากไป เหมือนกับไม่มีเหตุวิกฤตอะไรเกิดขึ้น ก่อนหน้านั้นจิตใจของสามเณรทุกรูปต่างก็เกิดปณิธานขึ้นโดยฉับพลันว่า

“ตั้งแต่นี้ไป พวกตนจะไม่แสวงหาความสนุกสนานคึกคะนองเหมือนที่ทำมา แต่จะตั้งหน้าศึกษาศีล ปฏิบัติธรรม ให้สมกับความรักความเมตตาที่หลวงปู่ท่านสอนสั่งอย่างจริงจังเสียที”

 

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล กับ หลวงปู่ขาว อนาลโย

๖๗. ภูติ ผี วิญญาณ และเทวดา

โดยปกตินั้น เมื่อหลวงปู่จะพูดอะไร ก็มักจะพูดแต่สิ่งที่เป็นภายใน คือ เรื่องจิตเรื่องใจเป็นส่วนมาก แต่ก็มีบ้างนานๆ ครั้ง ที่พูดถึงสิ่งภายนอก เช่น เรื่องเกี่ยวกับภูตผีปีศาจ สัมภเวสี หรือโอปปาติกะ เป็นต้น แต่ไม่เคยได้ยินหลวงปู่พูดออกมาตรงๆว่า เคยพบ เคยเห็น หรือมีอะไรมาเบียดเบียน หรือมาเป็นมิตรสนับสนุนท่าน อย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่ก็มีเรื่องประหลาดอยู่เรื่องหนึ่ง

ครั้งนั้นหลวงปู่และคณะศิษย์เดินทางไปเยี่ยม พระอาจารย์สุวัจ สุวโจ ที่สำนักสงฆ์ถ้ำศรีแก้ว อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร

หลวงปู่พำนักอยู่ที่ศาลาต้อนรับ ตอนกลางคืนดึกสงัด ท่านนอนอยู่ แต่ยังไม่หลับ ยังอยู่ในภาวะตื่น มีสติสัมปชัญญะเต็มที่ ท่านได้เห็นร่างชาย ๒ คนยืนอยู่ที่ปลายเตียง ท่านผงกศีรษะขึ้น ถามว่าใคร ก็ไม่ได้รับคำตอบ ท่านจึงลุกขึ้นนั่งมอง ร่างทั้งสองนั้นก็หายวับไปในทันที

หลวงปู่รู้สึกแปลกใจ จึงเล่าเหตุการณ์ให้ลูกศิษย์ที่ติดตามฟัง ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น

ในช่วงท้ายๆ ของชีวิต ตอนที่หลวงปู่ไปพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ก็มีเหตุการณ์แปลกๆ คล้ายกับว่า ท่านกำลังพูดคุย หรือเทศน์ให้ใครฟัง ทำให้พระเณรที่อยู่พยาบาลเชื่อว่า ท่านมีกิริยาวาจากับใครอย่างใดอย่างหนึ่ง กลางดึกสงัด

เมื่อถามภายหลังว่า ทำไมหลวงปู่จึงสวดยถาให้พร ทำไมจึงกล่าวอรรถกถาธรรมข้อใดข้อหนึ่ง ในระหว่างนั้น จนผู้อยู่เฝ้าพยาบาลได้ยิน ก็ได้รับคำตอบ ที่ไม่อาจขจัดความพิศวงสงสัยได้ชัดเจน

แต่ก็ยืนยันกันได้ว่า ท่านแสดงกิริยาอย่างนั้น โดยที่สังเกตได้ชัดว่า สติสัมปชัญญะของท่าน ยังสมบูรณ์ดีทุกประการ

เรื่องทำนองเดียวกันนี้ คุณบำรุงศักดิ์ กองสุขได้เขียนบรรยายไว้ดังนี้

ผู้เขียน (หมายถึง คุณบำรุงศักดิ์) ได้ยินพระเณรวัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ เล่าสู่กันฟังว่า ในตอนดึกๆ มักจะได้ยินหลวงปู่ให้พร ทำคล้ายๆ ว่ามีแขกมาเยือนในยามวิกาล ผู้แอบสังเกตการณ์เหล่านั้น สรุปเอาเองว่า หลวงปู่พูดกับเทวดา

ผู้เขียนได้ฟังเป็นครั้งแรก คิดอกุศลว่า คงจะเป็นแผนของท่านพระครู (หมายถึงพระครูนันทปัญญาภรณ์ ภายหลังเลื่อนสมณศักดิ์ที่ พระโพธินันทมุนี และ พระราชวรคุณ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘) ออกอุบายเพื่อจะได้จำหน่ายเหรียญหลวงปู่กระมัง จึงได้ให้พระเณรปั้นเรื่องเป็นข่าวลือเช่นนี้

ผู้เขียนรู้จักหลวงปู่มา ก็ไม่เคยได้ยินว่า มีเรื่องลึกลับอะไรแบบนี้ รู้แต่ว่า หลวงปู่ท่านสอนไม่ให้งมงาย สอนเรื่องจิตภาวนาปัจจุบันทันสมัย

เมื่อหลวงปู่อาพาธ เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ลูกศิษย์ที่เฝ้าพยาบาลหลวงปู่ ก็ได้รู้เห็นทั่วกันว่า ในคืนวันนั้น เมื่อเวลาตี ๒ หลวงปู่ตื่นขึ้นกลางดึก บอกให้พระจุดเทียนต้อนรับเทวดาที่มาหา

พระครูเยื้อน (พระอาจารย์เยื้อน ขนฺติพโล สมณศักดิ์ที่พระพิศาลศาสนกิจ วัดเขาศาลาอตุลฐานจาโร อ.บัวเชด จ.สุรินทร์) บอกหลวงปู่ว่า เปิดไฟฟ้าแล้ว หลวงปู่ก็ไม่ว่าอะไร ตกลงไม่จุดเทียน หลวงปู่ก็สวดมนต์เจริญพระคาถานั่งสมาธิพักใหญ่ๆ จึงเอนตัวลงนอน

มีผู้ถามหลวงปู่เรื่องเทวดาในวันต่อมา หลวงปู่ก็ตอบว่า

“ไม่ใช่เรื่องของการปฏิบัติภาวนา”

วันต่อมา ผู้เขียน (คุณบำรุงศักดิ์) ได้โอกาสเหมาะลองถามหลวงปู่บ้างว่า

“เทวดาที่มาหาหลวงปู่ พวกเขาแต่งกายแบบลิเก หรือแบบไหนครับ”

ท่านชี้มาที่ผู้เขียนแล้วว่า

“แต่งกายแบบนี้แหละ”

ท่านว่า

“ที่อยู่ของพวกพรหมนั้น เขาอยู่ห่างไกลจากโลกมนุษย์มาก”

๖๘. ความเชื่อถือเรื่องอิทธิฤทธิ์

ในตอนต้น ได้เคยเขียนถึงเหตุการณ์ ที่หลวงปู่ผจญภัย โดยถูกควายป่าไล่ขวิดตอนออกธุดงค์ในแดนกัมพูชามาแล้ว

หลายครั้งที่มีผู้ถามหลวงปู่ว่า ตอนที่ท่านเดินธุดงค์ไปกัมพูชา แล้วมีควายป่ามาไล่ขวิดท่านอุตลุดไปหมด แต่ท่านไม่เป็นอันตรายนั้น หลวงปู่มีของดีหรือคาถาอาคมอะไรหรือเปล่า

หลวงปู่ตอบว่า

“ไม่มีอะไร มันขวิดไม่ถูกเอง ถูกแต่ตามซอกแขนซอกขาเท่านั้น ถ้าถูกเต็มที่ มันก็อันตรายเหมือนกัน”

ทั้งๆ ที่ท่านก็ตอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ คนก็มักไม่ค่อยเชื่อกัน พยายามพากเพียรรบเร้าขอวัตถุมงคล หรือของดีอะไรต่างๆ จากหลวงปู่อยู่เรื่อยๆ

ความจริงแล้ว สำหรับ หลวงปู่ ดูลย์ อตุโล นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า ความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ดี ในสิ่งเร้นลับเหลือวิสัยก็ดี ในเรื่องฤกษ์งามยามดีต่างๆ ไม่มีเอามาเป็นสาระในจิตใจ ท่านซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไป จากอาการที่ปรากฏทางร่างกาย ทางวาจาของท่านนั่นเอง

เมื่อมีผู้ใดจะดำเนินกิจกรรมอะไร มาถามความเห็นท่าน เรื่องฤกษ์งามยามดี หลวงปู่ก็จะบอกว่า วันไหนก็ได้ วันไหนพร้อม วันไหนสะดวกสบาย ใช้ได้หมด และก็นิ่งเฉย ไม่ค่อยจะพูดว่า วันนั้นดี วันนี้เหมาะ วันนั้นใช้ไม่ได้

หลวงปู่เคยพูดในหมู่สงฆ์ว่า

“ถ้ากายวาจา และจิตใจดี อำนาจความดีงามก็จะเกิดขึ้นเอง”

ในหนังสือ หลวงปู่ฝากไว้ ได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนกันยายน ๒๕๒๖ ซึ่งคณะแม่บ้านกระทรวงมหาดไทย ได้แวะไปกราบหลวงปู่ เมื่อเวลา ๑๘.๐๐ น. แล้วมีสุภาพสตรีท่านหนึ่ง ถือโอกาสพิเศษกราบเรียนหลวงปู่ว่า

“ดิฉันขอของดีจากหลวงปู่ด้วยเถอะเจ้าค่ะ...”

หลวงปู่เจริญพรว่า

“ของดีก็ต้องภาวนาเอาเองจึงจะได้ เมื่อภาวนาแล้วใจก็สงบ กาย วาจา ก็สงบ แล้วกายก็ดี วาจาใจก็ดี เราก็อยู่ดีมีสุขเท่านั้นเอง”

“ดิฉันมีภาระมาก ไม่มี่เวลาจะนั่งภาวนา งานราชการเดี๋ยวนี้รัดตัวมากเหลือเกิน มีเวลาที่ไหนมาภาวนาได้เจ้าคะ่”

สุภาพสตรีท่านนั้นชี้แจง

หลวงปู่อธิบายว่า

“ถ้ามีเวลาหายใจ ก็ต้องมีเวลาสำหรับภาวนา”

เรื่องการพรมน้ำมนต์ หรือเจิมรถ เจิมบ้าน ร้านค้าอะไรต่างๆ แต่ก่อนหลวงปู่ไม่ยินดีทำเลย มาในระยะหลังๆ เห็นว่าบุคคลมีหลายระดับ เพื่อเป็นการให้กำลังใจแก่เขา ให้เขาได้พ้นทุกข์เล็กๆน้อยๆ ท่านจึงปฏิบัติไปเพื่อโลกัตถจริยา เป็นการ อนุเคราะห์ อนุโลมตามความประสงค์ของทางโลกเท่านั้น

ครั้งหนึ่ง มีพระภิกษุสงฆ์นำรถของตนมาให้ท่านเจิม หลวงปู่ไม่ยอมทำและดุเอาว่า

“งมงาย”

บางครั้งมีคนชอบขอชานหมากท่านก็ว่า

“เอาไปทำไม ของสกปรก”

มีคนมาขอให้เป่าหัว ท่านก็ว่า

“เป่าทำไม เดี๋ยวน้ำลายเลอะ”

เรื่องวัตถุมงคล เช่นเหรียญต่างๆ เป็นต้น หลวงปู่ไม่นิยมยินดีที่จะทำหรือให้ทำเลย แต่ภายหลังท่านก็อนุโลมตามบ้าง เมื่อมีลูกศิษย์ลูกหาจัดทำขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ ท่านก็อนุโลมแผ่พลังจิตให้ตามสมควร เพื่อไม่ให้เป็นการขัดศรัทธา ต่อทายกทายิกา และลูกศิษย์ลูกหา ที่มีความปรารถนาเช่นนั้น.

๖๙. วัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์จริงหรือ

หลวงปู่เล่าว่า ครั้งหนึ่ง มีพวกสาธุชนปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง มาสนทนาธรรมด้วย และถามท่านว่า

“วัตถุมงคลมีความศักดิ์สิทธิ์จริงหรือ หลวงปู่จึงได้สร้างหรืออนุญาตให้สร้างเหรียญขึ้น ?”

หลวงปู่จึงวิสัชนาว่า

"พวกท่านทั้งหลาย แสดงความสนใจในการบำเพ็ญภาวนา ก็พากันบำเพ็ญภาวนาไป ไม่ต้องไปห่วงไปสนใจกับวัตถุมงคล อันเป็นของภายนอกนี้ แต่สำหรับผู้มีจิตใจเพลิดเพลินอยู่ ยังยินดีในการเกิดตายในวัฏสงสาร ยังไม่สามารถหันมาสู่การปฏิบัติธรรมได้ ให้อาศัยวัตถุภายนอก เช่น วัตถุมงคลเช่นนั้น เป็นที่พึ่งไปก่อน อย่าไปตำหนิติเตียนอะไรเลย

ครั้นเขาเหล่านั้นประสบเหตุเภทภัย มีอันตรายแก่ตน และเกิดแคล้วคลาดด้วยคุณแห่งพระรัตนตรัยก็ดี โดยบังเอิญก็ดี ก็จะเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้ในภายหลัง ซึ่งก็จะเป็นเหตุ ให้เจริญงอกงาม ในทางที่ถูกต้องได้เอง

สำหรับผู้ที่มีศรัทธามากแล้ว ชอบการบำเพ็ญภาวนาจิตใจในธรรมปฏิบัติอันยิ่งๆ ขึ้นไป"

ในเรื่องวัตถุมงคลนี้ หลวงปู่จะบอกตามสัจธรรมว่า ไม่มีอะไร เป็นเพียงช่วยด้านกำลังใจเท่านั้น

หลวงปู่มักกล่าวว่า

“เอาไปทำไม ของที่เป็นภาระต้องเอาใจใส่ดูแล ของที่ต้องทิ้งเสียในภายหลัง”

แล้วท่านก็สอนเป็นปริศนาธรรมว่า

"จงเอาสิ่งที่เอาได้ จงอย่าเอาสิ่งที่เอาไม่ได้"

ถ้ามองในแง่ของปุถุชนสามัญธรรมดาแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์แห่งคุณพระรัตนตรัย ย่อมมีปรากฏเป็นอัศจรรย์ได้ ดังเช่นพระพุทธานุภาพแห่งพระบรมศาสดา ที่ได้ทรงแสดงแก่เหล่าเดียรถีย์นอกศาสนา

ดังนั้น ความอัศจรรย์ของอานุภาพ แห่งคุณพระรัตนตรัยจะบังเกิดคุณประโยชน์อย่างไร ขอท่านทั้งหลาย พึงพิจารณาถือเอา ตามสมควรแก่ตน เทอญ

๗๐. ผู้เจริญด้วยยถาลาภสันโดษ

โดยเหตุที่หลวงปู่ถือธุดงควัตร ท่านจึงมีความยินดีในการบิณฑบาตเป็นวัตร และได้ประพฤติปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งมาในระยะหลังๆ เมื่อท่านชราภาพมากแล้ว ประกอบกับอาพาธ ขาข้างซ้ายเลือดลมเดินไม่สะดวก และบรรดาภิกษุสามเณร พยายามวิงวอนขอร้อง ขอให้หลวงปู่งดออกเดินบิณฑบาตนอกวัด ขอให้ท่านรับบิณฑบาตภายในวัดเท่านั้น โดยภิกษุสามเณรจะพากันใส่บาตรถวาย เมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้ว พร้อมทั้งญาติโยมที่มีโอกาสจะได้มาใส่บาตรท่านที่วัดในตอนเช้าด้วย ถ้าหลวงปู่ยังคงออกบิณฑบาตนอกวัดอยู่ และเกิดอาพาธระหว่างทาง เท่ากับว่าจะยิ่งทำให้ลูกศิษย์ลูกหา และญาติโยมเกิดความลำบากใจเป็นแน่แท้

หลวงปู่ได้แต่เพียงหัวเราะ และยอมอนุโลมตาม

ครั้นเมื่อภิกษุสามเณรและญาติโยมใส่บาตรให้ท่านแล้ว ท่านก็จะฉันภัตตาหารที่ได้รับจากบาตรนั้น โดยปรกติหลวงปู่ฉันแต่น้อย เป็นผู้เจริญด้วย ยถาลาภสันโดษ คือ ยินดีในของบริโภคตามมีตามได้

เมื่อรับการถวายมาอย่างไร ท่านก็ยินดีอย่างนั้น ไม่เดือดร้อนเรื่องการขบฉัน ไม่ฉันพลางดื่มน้ำพลาง เพราะจิตวิญญาณไม่เร่าร้อน ไม่่เคยตำหนิ หรือ ชมเชยอาหารที่สาธุชนถวาย ว่า “สิ่งนี้อร่อย-สิ่งนี้ไม่อร่อย” หรือ “เออ! วันนี้มีอาหารถูกปาก อย่างนั้นไม่ถูกโรคกัน” เหล่านี้เป็นต้น

อาหารจะจืดจะเค็มอย่างไร ท่านก็ไม่เคยเรียกหาอะไรเพิ่มเติม ประเคนอย่างไร ก็ฉันอย่างนั้น ทำให้ภิกษุสามเณรที่อุปัฏฐากท่าน ถึงกับละเลยเลินเล่อ เมื่อต้อนรับพระอาคันตุกะอยู่บ่อยๆ

ลูกศิษย์ลูกหาบางท่านมีนิสัยตรงข้าม จึงถูกหลวงปู่ดุเอาว่า

“แค่นี้ก็ทนไม่ได้ แล้วจะทำอะไรได้”

ในระหว่างการขบฉัน หลวงปู่มีความสำรวมระวัง ไม่บกพร่องในข้อวัตรปฏิบัติที่เคยได้รับอบรมมา ไม่นิยมพูดในขณะฉัน เมื่อมีผู้ถามไถ่ ท่านก็จะตอบเมื่อจำเป็น และเมื่อไม่มีคำข้าวอยู่ในปาก ไม่มีการชะเง้อทักทายโหวกเหวกกับญาติโยม

ปริมาณการฉันของท่านก็เป็นไปตามปกติธรรมดา มีน้อยก็ฉันเท่าที่มี มีมากก็ฉันพออิ่ม เท่าที่เคย

เมื่อเสร็จจากภัตกิจแล้ว หลวงปู่มักจะเดินจงกรม ทำตามพระวินัยและข้้อวัตร

ปัจจัยอื่นๆ นอกจากอาหาร ก็ทำนองเดียวกัน เมื่อมีลาภสักการะมาก ท่านไม่เคยสั่งสม คอยดูแลพระเณรที่ขาดแคลนตามวัดต่างๆ อยู่เสมอ ที่ไหนขาดก็แบ่งปันกันไปให้ทั่วถึง เมื่อถึงคราวมีน้อย ก็ว่ากันไปตามมีตามเกิด

หลวงปู่ไม่เคยปรารถนาอยากได้อะไร เช่น “ร้อนมาก ถ้ามีแอร์ก็จะดี” หรือว่า “แก่มากแล้ว ไปมาลำบาก มีรถยนต์นั่งติดแอร์เย็นๆ สักคันก็เหมาะ” ตามแบบอย่างที่เรียกกันขำๆ ทำนองประชดว่า “ยถาโลภะสันโดษ” หรือ “ยถาราคะสันโิิดษ” คือ ยินดีตามแต่ความโลภ หรือความทะยานอยากในกามสุข จะบงการให้เป็นไป อย่างนี้เป็นการไม่สมควร

แต่ในวิสัยสมณะ คือ การเจริญด้วยลาภะสันโดษ หมายถึง การยินดีในของบริโภคตามมีตามได้ มีน้อยก็ใช้น้อย ไม่มีก็ไม่ต้องใช้ มีมากก็ใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ดิ้นรนแสวงหา

๗๑. รสอาหารดีอยู่ที่ใจ

ท่าินเจ้าคุณพระราชวรคุณ (อดีตพระโพธินันทมุนี) เล่าให้ฟังว่า

ในอดีต ท่าน “มีความไม่ค่อยดีอยู่อย่างหนึ่ง” คือ ทั้งๆ ที่พยายามปฏิบัติดามคำสั่งสอนของหลวงปู่และครูบาอาจารย์ทั้งหลาย แต่ก็สังเกตตัวเองได้ว่า ถ้าวันไหนมีภัตตาหารเป็นปกติธรรมดา เช่นน้ำพริกผักต้ม หรือ อาหารพื้นบ้านทั่วๆ ไป ก็มีความสุขกายสบายใจเป็นธรรมดา ตามความเคยชิน แต่ถ้าวันไหนมีอาหารที่พิเศษพิสดารขึ้นกว่าปกติ ก็ชักจะรู้สึกสนุกสนานผิดธรรมดาไปหน่อย จนกระทั่งเกิดความรำคาญตัวเองขึ้นมา จึงต้องแก้ไขดัดนิสัยตัวเอง ด้วยการฉันเฉพาะอาหารผักเสียบ้าง ให้มันรู้สึกยากลำบากต่อการได้มายิ่งขึ้น ให้รสชาติอาหารเป็นธรรมดาๆ มากขึ้น

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เกิดความคิดขึ้นมาอย่างหนึ่งว่า พระเถระก็ดี อุบาสกอุบาสิกาก็ดี ที่เจริญด้วยการปฏิบัติธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป ชะรอยจะตัดความยินดีในรสอาหารเสียได้ จึงไม่ยินดียินร้ายในรสอาหารเสียเลย ไม่ว่าจะเป็นอาหารอะไร ล้วนพอใจทั้งสิ้น ที่จะได้รับ ไม่รู้สึกรังเกียจ ไม่รู้สึกอร่อยหรือไม่อร่อย ไม่่เรียกร้องการปรุงรสเพิ่มเติม นับว่าเป็นที่น่าชื่นชมควรคารวะยิ่งนัก

ครั้นคิดได้เช่นนี้แล้ว จึงเข้าไปหาหลวงปู่ และกราบเรียนท่านถึงความคิดของตน พร้อมทั้งขอทราบความคิดเห็นของท่าน

หลวงปู่บอกว่า

“เข้าใจถูกครึ่งหนึ่ง เข้าใจผิดครึ่งหนึ่ง แต่ก็เป็นการดีแล้วที่มาพบเพื่อพยายามทำความเข้าใจ”

แล้วหลวงปู่ก็อธิบายต่อไปว่า

“ที่เข้าใจถูกนั้น ก็คือ ท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว สามารถตัดความยินดีในรสอาหารได้จริง

ที่ว่าผิดนั้น ก็เพราะ ท่านมีความรู้สึกรับรู้ถึงรสอาหารได้เป็นอย่างดี ผิดคนธรรมดาสามัญ ทั้งนี้เนื่องจากขันธ์ธาตุของท่านบริสุทธิ์หมดจดแล้ว สะอาดแล้ว ด้วยการชำระล้างแห่งธรรมอันยิ่ง ประสาทรับรู้รสอันประกอบด้วยเส้นตั้งพัน ตามที่ปรากฏในพระธรรมบท ขุททกนิกาย ต่างก็ปฏิบัติหน้าที่รับรู้รสของตนได้อย่างอิสระเต็มที่เต็มทาง ตามความสามารถแห่งคุณสมบัติของตน จึงรู้รสชาติต่างๆ ได้อย่างชัดเจนละเอียดลออ ไม่ขาดไปแม้แต่รสเดียว และแต่ละรสมีรสชาติขนาดไหนก็รู้สึกได้ เสียแต่ว่าไม่มีคำพูดหรือภาษาที่บัญญัติไว้ให้พออธิบายได้เข้าใจเท่านั้นเอง ซึ่งด้วยภูมิธรรมของปุถุชนสามัญธรรมดา หากสามารถรับรู้รสชาติเห็นปานนั้นได้ น่าที่จะต้องเกิดคลั่งไคล้ไหลหลงอย่างแน่นอน ถ้าได้บริโภคอาหารที่สมบูรณ์ด้วยคุณค่าและรสชาติจริงๆ

ดังนั้นไม่ว่าอาหารนั้นจะได้รับการปรุงแต่งให้มีรสชาติมาก หรือรสชาติน้อยอย่างไร รสชาติบรรดาที่มีอยู่ในตัวอาหารนั้นๆ ท่านที่ปฏิบัติชอบแล้วก็สามารถรับรู้ได้จนครบถ้วนทุกรส แต่เมื่อรับรู้แล้วก็หมดกันเท่านั้น ไม่เกิดความยินดีพอใจสืบเนื่องต่อไป”

๗๒ พระอรหันต์ไม่รับรู้อะไรจริงหรือ

หวนคิดขึ้นมาได้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นสามเณร ๒ รูปเสร็จจากการศึกษาพระปริยัติธรรมแล้ว นั่งพักผ่อนอยู่ใต้ต้นไม้ที่หน้ากุฏิ ถกเถียงกันอยู่ถึงคุณแห่งพระอรหันต์ ที่ศึกษามาจากห้องเรียน

สามเณรใหญ่ชี้แจงว่า

“พระอรหันต์นั้นละกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอะไรทั้งนั้น หมดความยึดมั่นถือมั่นโดยสิ้นเชิง”

สามเณรน้อยเถียงทันที

“พระอรหันต์ของหลวงพี่ช่างน่าเวทนานัก เหมือนเสาต้นหนึ่ง ก้อนหินก้อนหนึ่ง จะเกิดน้ำท่วมไฟไหม้ก็ไม่รู้อะไรเลย คงจะต้องตายเสียเปล่า และยังเป็นบุคคลที่ไร้ประโยชน์สิ้นเชิง”

ขณะที่วิวาทะกำลังดำเนินไปอย่างผิดเป้าหมาย ก็มีเสียงกระแอมดังขึ้นจากในกุฏิ สามเณรทั้ง ๒ จึงสามัคคีกันหลบหนีไป

ครั้นข้อถกเถียงนี้ล่วงรู้ถึงหลวงปู่ ท่านก็บอกว่า

"แม้จะเป็นการถกเถียงเอาชนะกันแต่ก็เป็นการตั้งข้อสังเกตที่น่าพินิจพิจารณา”

แล้วหลวงปู่อธิบายว่า

“จิตเป็นสภาพรู้อารมณ์ ตราบใดที่มีจิต การรับรู้อารมณ์ก็ย่อมมีเป็นธรรมดา โดยไม่ต้องสงสัย ดังนั้นบุคคลธรรมดารับรู้อารมณ์อย่างไร พระอรหันต์ก็ย่อมจะต้องรับรู้อารมณ์อย่างนั้น และการรับรู้อารมณ์ของท่าน น่าที่จะเป็นไปด้วยดี ยิ่งเสียกว่าคนธรรมดาสามัญด้วยซ้ำ เพราะจิตของท่านไม่มีเมฆหมอก คือกิเลสปกคลุมอยู่ อันทำให้ความสามารถรับรู้อารมณ์ลดลง

ดังนั้นการกล่าวหาว่าพระอรหันต์ไม่รับรู้อะไร ไม่ยุ่งไม่เกี่ยวอะไรทั้งนั้น จึงไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน

ส่วนการที่ท่านหมดความยึดมั่นถือมั่นโดยสิ้นเชิง นั่นย่อมหมายความว่า แม้กระทั่งความไม่ยึดมั่นในสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ย่อมไม่มีแก่ท่าน

กล่าวคือ ท่านหมดทั้งความยึดมั่นถือมั่นและความไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีความพอใจในสิ่งใด ทั้งความรังเกียจในสิ่งใด ดังนี้จึงจะเรียกว่า “โดยสิ้นเชิง”

จิตของท่านจึงลอยเด่นเหนือความดึงดูดและผลักดันต่อสรรพสิ่งเป็นอิสระชั่วนิรันดร์”

หลวงปู่ได้ชี้แนวทางพิจารณาว่า

“อย่าพยายามทึกทักเอาเองตามความรู้สึกของตนว่า พระอริยบุคคลไม่ว่าในลำดับใด เป็นบุคคลที่มีอะไรผิดแปลกไปจากคนธรรมดาสามัญ ท่านก็มีอะไรทุกอย่างเหมือนๆ กับคนธรรมดาสามัญทั้งร่างกายและจิตใจ

หรือถ้าจะว่าให้ถูก ท่านเสียอีกเป็นธรรมดาสามัญ ปุถุชนต่างหากที่มีอะไรผิดธรรมดา วิปริตไปด้วยการปรุงของกิเลสตัณหาอันเป็นเหตุแห่งทุกข์

พระอรหันต์ท่านเป็นปกติธรรมดา พ้นจากการปรุงแต่ง จึงอยู่อย่างไม่มีทุกข์

พระอริยบุคคลที่รองๆ ลงมา ก็มีการดำรงอยู่อย่างมีทุกข์มากขึ้นตามลำดับ และกำลังดำเนินไปสู่การดำรงอยู่อย่างไม่มีทุกข์ต่อไป

ก็แล การดำรงอยู่อย่างไม่มีทุกข์นี้ ย่อมเป็นยอดปรารถนาของสัตว์โลกทั้งมวล

สรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่าที่วิ่งเต้นดิ้นรนอยู่ด้วยประการต่างๆ ทุกวันเวลา ก็ล้วนแล้วแต่เพื่อจุดประสงค์ ที่จะระงับดับทุกข์ของตนๆ อย่างเดียวเท่านั้น มิได้เป็นไปเพื่อประการอื่นใดเลยแม้แต่น้อย เมื่อหิวก็เสาะแสวงหาอาหารเมื่อเกิดโรคภัย ก็วิ่งหายารักษาโรค เป็นต้น”

๗๓. ทุกหมู่เหล่าล้วนแสวงหานิพพาน

ครั้งหนึ่ง หลวงปู่กล่าวว่า

“โดยนัยอันปรากฏอยู่ใน พระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร อันเป็นพระปฐมเทศนานั้น พระศาสดาแสดงไว้ชัดเจนว่า สัตว์ทุกหมู่เหล่า ล้วนแสวงหาพระนิพพาน คือความดับแห่งทุกข์ แต่เพราะความเขลา รู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงพยายามดับทุกข์ด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ความทุกข์จึงเกิดมีมาให้ดับอยู่ร่ำไป

วิธีอันโง่เขลาที่สรรพสัตว์ใช้ในการดับทุกข์ มี ๒ วิธี คือ กามสุขัลลิกานุโยค อธิบายง่ายๆ ว่า วิธีคล้อยตามความปรารถนา คือเมื่อปรารถนาสิ่งใด ก็ให้สมปรารถนาในสิ่งนั้น ความทุกข์ก็ระงับดับไป และ อัตตกิลมถานุโยค หมายถึง วิธีหักห้ามความปรารถนา คือ เมื่อเกิดปรารถนาสิ่งใด ก็แก้ไขหักห้ามตรงๆ บ้าง หันเหจิตใจไปสู่อารมณ์อื่นที่สุขุมประณีตกว่า เช่น มีการเล่นกีฬา เล่นต้นไม้ เป็นต้นบ้างในที่สุดความทุกข์นั้นก็ระงับดับไป

สรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่าล้วนแสวงหาพระนิพพานแก่ตนด้วยวิธีการอันโง่เขลาทั้ง ๒ วิธีมาเป็นเวลานาน ความทุกข์ก็ยังเกิดมีมาให้ดับอยู่ร่ำไป

จนพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นมาในโลกและทรงรู้แจ้ง จึงชี้แนวทางที่ถูกต้องให้ดำเนินตาม

ทรงชี้ให้เห็นว่า

ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ตัวความปรารถนานั้นนั่นเอง ถ้าสามารถทำความเข้าใจให้แจ้งชัด รู้ถึงเหตุปัจจัยการปรุงแต่งของมัน หรือรู้รากเหง้าของมัน ธำรงจิตเสียใหม่ให้ถูกต้อง ธำรงจิตให้อยู่โดยประการที่ความทุกข์ไม่อาจท่วมทับได้ โดยประการที่เหตุปัจจัยทั้งหลาย ไม่อาจปรุงแต่งจิตให้หลงโง่เขลาได้ ดังนี้แล้ว ก็เป็นอันว่า ได้บรรลุถึงวิธีการดำรงอยู่อย่างไม่มีทุกข์โดยสิ้นเชิง

เหลือภารกิจโดยธรรมดาอยู่อย่างเดียว คือการดูแลรักษาขันธ์นี้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุขัย เมื่อมันต้องการอาหารก็หาให้ เมื่อมีโรคภัยก็เยียวยารักษาไปดังนี้แล ”

จากโอวาทของหลวงปู่ข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นว่า สัตว์ทุกหมู่เหล่าต่างดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อหาทางระงับความทุกข์ ความกระวนกระวายทั้งทางกายและทางวิญญาณของตน

ทุกข์ทางกาย อันเป็นทุกข์ประจำนี้ก็บำบัดเสียด้วยการแสวงหาปัจจัย ๔ คือ อาหารเครื่องนุ่งห่มที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค

ส่วน ทุกข์ทางใจ อันเป็นความกระวนกระวายทางวิญญาณ ต่างก็บำบัดกันไปตามแต่จะเห็นชอบ ซึ่งพอสรุปได้เป็น ๒ วิธี คือ

กามสุขัลลิกานุโยค ระงับความกระวนกระวายทางวิญญาณ ด้วยการคล้อยตามความปรารถนา เมื่อเกิดความทะเยอทะยานอยากในอารมณ์

กับ

อัตตกิลมถานุโยค คือการหักห้ามจิตใจ ให้พ้นจากอำนาจความปรารถนาในอารมณ์ที่น่าปรารถนา ให้พ้นจากความไม่ปรารถนาในอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ด้วยอุบายวิธีต่างๆ เช่นหักห้ามจิตใจโดยตรง ไม่ยอมคล้อยตาม หรือด้วยการเตือนตัวเองว่า ไม่อาจสนองตอบได้ และหักห้ามจิตใจ ให้หันไปสู่อารมณ์อันเป็นตรงข้าม เช่น หันไปเล่นกีฬา เป็นต้น ตลอดจนถึงการทรมานกายด้วยประการต่างๆ ของพวกโยคีเป็นตัวอย่าง ก็เป็นการทำให้วิญญาณสงบลงได้เหมือนกัน

การระงับดับทุกข์ทั้ง ๒ วิธี สามารถบำบัดได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว บางอย่างกลับเพิ่มความทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นมาเสียอีก จึงมิใช่วิธีระงับดับทุกข์ที่ได้ผลอย่างแท้จริง เพราะต้นเหตุมันอยู่ที่ ความปรารถนาที่เกิดขึ้นที่จิตใจ ต้องแก้กันที่เหตุ ต้องดับกันที่เหตุ ทุกข์จึงจะระงับดับไปได้แน่นอน

วิธีแก้ ก็ด้วยการทรงจิตให้ถูกต้อง จะทำให้เห็นและเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างตามที่เป็นจริง แล้วจิตใจก็จะสมบูรณ์ด้วยปัญญา สามารถรู้เท่าทันเหตุปัจจัยทั้งหลาย ที่เคยปรุงแต่งให้หลงโง่เขลา ก็จะถูกขัดเกลาให้หมดไป บุคคลนั้นๆ ก็จะดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข ปราศจากความทุกข์ทางวิญญาณโดยสิ้นเชิง

เมื่อเราสามารถธำรงจิตได้ถูกต้อง เราย่อมดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางสรรพสิ่งได้อย่างสบาย สรรพสิ่งทั้งหลาย ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นปฏิปักษ์กัน ทำให้ทุกข์เกิดแก่เรา ก็จะกลับกลายมาเป็นมิตร มาเป็นเครื่องอำนวยประโยชน์สุขให้แก่เรา เพราะเหตุว่าแท้จริงนั้น สรรพสิ่งหาได้เป็นเหตุแห่งทุกข์ไม่ ความหลงผิดต่างหากที่เป็นตัวการ

เมื่อความหลงผิดถูกกำจัดสูญสิ้นไป เพราะการรู้เท่าทันทุกสิ่งทุกอย่างตามที่เป็นจริง การปรุงแต่งให้จิตหลงผิดซ้ำๆ ซ้อนๆ ก็สลายตัวลงอย่างราบคาบ สันติสุขถาวรย่อมดำรงอยู่ชั่วนิรันดร

ด้วยเหตุนี้ หลวงปู่ดูลย์ ท่านจึงชอบใจนักหนา กับคำกล่าวใน สูตรของเว่ยหล่าง ที่ว่า

“คนโง่ย่อมหลบหลีกปรากฏการณ์ แต่ไม่หลบหลีกความคิดปรุงแต่ง ส่วนคนฉลาดย่อมหลบหลีกความคิดปรุงแต่ง และไม่จำเป็นต้องหลบหลีกปรากฏการณ์”

๗๔. ผู้มีตนเป็นที่พึ่งตลอดกาล

ผลที่ได้รับจากการอยู่รับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่มานานปี มีอยู่อย่างหนึ่งซึ่งบอกไม่ถูก ว่าเป็นผลดีหรือไม่ดี คือเป็นคนที่ไม่ฉลาดและไม่พิถีพิถัน ในการเอาอกเอาใจผู้อื่น ทั้งนี้ก็เพราะเหตุที่ หลวงปู่เป็นคนที่สุดแสนจะปรนนิบัติง่าย

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ไม่ยินดีให้ผู้อื่นต้องเสียเวลามาปรนนิบัติท่านจนเกินจำเป็น ท่านจะยินยอมให้พอสมควรแก่การณ์ ที่ศิษย์ได้นับว่าบำเพ็ญอุปัชฌายวัตร อาจาริยวัตร เรียบร้อยตามพระวินัยเท่านั้น เสร็จแล้วท่านก็รีบไล่ให้ไปดูตำรับตำรา หรือไปทำสมาธิภาวนากันต่อไป

กิจที่ยังมีเหลือให้ทำอยู่อีก ท่านก็จะช่วยตัวเอง บางครั้งแม้จะมีพระเณรคอยรับใช้อยู่ ท่านก็ยังทำเอง เช่นเดินไปหยิบของ เดินไปเปิดปิดไฟ หรือรินน้ำใส่แก้ว เป็นต้น และท่านทำด้วยความคล่องแคล่วรวดเร็วมาก จนผู้คอยปฏิบัติอาจาริยวัตรขยับตัวไม่ทันเลยทีเดียว แม้การนุ่งห่มสบงจีวร แต่งเครื่องบริขาร ท่านก็มักจะทำเองโดยไม่ยอมให้ใครช่วย

เมื่อมาลองพิจารณาดูแล้วก็พอจะสรุปเหตุผลได้ดังนี้

ประการแรก หลวงปู่ท่านเป็นคนไม่มีมายา ไม่มีการวางมาดนั่งอย่างนั้น ยืนอย่างนี้ พูดอย่างนี้ เดินอย่างนี้ อะไรทำำนองที่ทึกทักเอาด้วยตนเอง ว่าทำให้เกิดความภูมิฐานน่าเลื่อมใส น่านับถือ น่ายำเกรง หรือมีบุญญาธิการ

เวลาจะพูดก็ไม่มีการทำสุ้มเสียงให้ห้าวกระหึ่มผิดปรกติให้น่าเกรงขามทำตนให้เป็นคนที่ใครๆ เอาใจยากๆ หน่อยไม่เช่นนั้นจะดูเป็นคนธรรมดาสามัญไป

หลวงปู่จะทำอะไรก็ทำโดยกิริยา พูดโดยกิริยา ไม่ทำให้ใครลำบากโดยใช่เหตุ ไม่พูดให้ใครอึดอัดใจ เพียงเพื่อจะสนองตัณหาหรือปมด้อย หรือ อัสสิมานะ (การถือเขาถือเรา) อะไรบางอย่าง

ประการที่สอง หลวงปู่เป็นคนเข้มแข็ง คนที่เข้มแข็งย่อมไม่นิยมการพึ่งพาผู้อื่นเป็นธรรมดา โดยเฉพาะในกิจที่เล็กๆ น้อยๆ คนอ่อนแอเท่านั้นที่คอยแต่จะอาศัยผู้อื่นโดยไม่จำเป็น เด็กที่อ่อนแอย่อมคอยแต่จะอ้อนมารดา โยกเยกโยเยด้วยอาการต่างๆ เป็นอาจิณ ผู้ใหญ่ที่อ่อนแอก็เช่นกัน อยู่ก็ยาก กินก็ลำบาก งอแงหงุดหงิด เจ้าโทสะ ต้องมีคนคอยเอาอกเอาใจอยู่ตลอดเวลา เหมือนเด็กอ้อนขี้โรค

หลวงปู่ท่านเป็นคนที่หาความอ่อนแอไม่พบ เป็นผู้ที่มีความสง่าผ่าเผยโดยไม่ต้องวางมาด ทุกอิริยาบถของท่าน อวัยวะทุกส่วน เคลื่อนไหวตัวเองตามหน้าที่อย่างอิสระ ปราศจากการควบคุมบรรจงจัดให้น่าประทับใจแต่อย่างใด ไม่เคยนั่งตัวงอ หรือเอนกายในที่สาธารณะสถาน ไม่เอนกายเอกเขนก หรือนอนรับคารวะจากสหธรรมิก แม้สามเณรที่เพิ่งบวชในวันนั้น

เมื่อท่านจะลุกขึ้นยืน ท่านจะลุกโดยไม่ต้องค้ำยัน หรืออาศัยพักพิงสิ่งใด และลุกขึ้นนั่งตัวตรงหรือยืนตรงทันที ยกเว้นเมื่ออาพาธเท่านั้น

บางครั้งเราจะเห็นภาพที่ผู้มองอดขำเสียไม่ได้ คือ เมื่อท่านมีอายุมากกว่า ๙๐ ปีแล้ว ญาติโยมก็มีจิตศรัทธา ซื้อหาไม้เท้ามาถวายให้ท่านได้ใช้เป็นเครื่องพยุงกาย

ท่านก็ฉลองศรัทธาญาติโยม ด้วยการนำไม้เท้านั้นติดตัวไปไหนมาไหนด้วย แต่กลับไม่ค่อยได้ใช้ไม้เท้านั้นค้ำยันกายเลย จึงเกิดภาพที่น่าขัน ที่เห็นท่านนำไม้เท้าไปในลักษณะที่ถือไปทุกครั้ง ทำให้ดูกลับกลายเป็นว่า หลวงปู่ไม่ได้พึ่งอาศัยไม้เท้านั้น แต่ไม้เท้านั้นกลับต้องพึ่งพาให้หลวงปู่เอาไปไหนมาไหนด้วย

๓๕. สูตรอายุยืน

โดยทั่วไปหลวงปู่ดูลย์ อตุโล มีร่างกายแข็งแรง รูปร่างค่อนข้างโปร่ง ผิวพรรณผ่องใส สะอาดหมดจด การ ยืน เดิน นั่ง นอน กระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว ไม่มีอาการรีรอลังเล แม้ท่านจะมีอายุมากแล้วก็ตามที เมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลที่อยู่ในวัยเดียวกัน ทุกคนจะยอมรับเป็นเสียงเดียวกัน ว่าหลวงปู่เป็นคนแข็งแรงและ สุขภาพดี

นายแพทย์ใหญ่ผู้หนึ่งเคยตรวจร่างกายท่านเมื่อหลายปีมาแล้ว และออกความเห็นว่า หลวงปู่น่าจะมีอายุเกินกว่าร้อยปีแน่นอน

ความคล่องแคล่วในการเดินของหลวงปู่นั้น บางครั้งถึงกับพระเณรเดินตามไม่ทันทั้งๆ ที่หลวงปู่ก็เดินตามปกติธรรมดา

การที่หลวงปู่มีสุขภาพแข็งแรงอย่างนี้ เป็นเหตุให้มีผู้ไต่ถามท่านบ่อยครั้งว่า ทำอย่างไรจึงจะมีสุขภาพดีอย่างท่านบ้าง?

หลวงปู่ตอบว่า

“เมื่อหิวก็กิน เมื่อง่วงก็นอน และทำงานตามหน้าที่ด้วยความเอาใจใส่และความรับผิดชอบเป็นอย่างดี เท่านั้นก็ทำให้แข็งแรงได้”

เมื่อพิจารณาตามคำแนะนำของหลวงปู่ ก็เห็นจริงตามท่าน ปกติร่างกายคนเรา เมื่อเกิดความหิวก็ต้องกินกันอยู่แล้ว เพื่อยังอัตภาพร่างกายให้เป็นไปได้ แต่คนโดยทั่วไปไม่เป็นเช่นนั้น ไม่ได้กินเท่าที่ร่างกายต้องการ แต่กินเพื่อสนองตัณหา คือความอยากด้วย

หลวงปู่กินเมื่อหิว แต่เราล้ำหน้าท่านเล็กน้อย เพราะเรากินเมื่อหิวด้วยและกินเมื่ออยากด้วย

เมื่อหลวงปู่หายหิว และเห็นว่าพอแก่ความต้องการของร่างกายแล้ว ท่านก็พอ แต่พวกเราหายหิวแล้ว แต่ยังไม่่หายอยาก เมื่อหายอยากด้วยเราจึงจะอิ่มได้ ปัญหาเรื่องสุขภาพจึงติดตามเรามาอยู่ตลอดเวลา

ในเรื่องการนอนก็เหมือนกัน เมื่อร่างกายต้องการพักผ่อนหลับนอน ก็แสดงอาการง่วงให้ปรากฏ หลวงปู่ก็นอน ครั้นร่างกายได้รับการพักผ่อนพอเพียงแล้ว ท่านก็ตื่นและไม่นอนอีก

พวกเราไม่อย่างนั้น เรามีการนอนหลายประเภท นอนเพราะร่างกายต้องการพักผ่อน นอนเพราะอยากนอน นอนเพราะขี้เกียจทำการงาน นอนอ่านหนังสือ นอนฟังเพลง นอนเล่น นอนเพราะไม่มีอะไรทำ เป็นต้น

อิริยาบถ ๔ ของเรา คือ ยืน เดิน นั่ง นอน จึงดำเนินไปอย่างไม่ได้สัดส่วนเหมาะสม ปัญหาด้านสุขภาพจึงติดตามเรามา

การงานและภาระหน้าที่เป็นกิจกรรมจำเป็นสำหรับทุกคน การเอาใจใส่รับผิดชอบต่อหน้าที่เป็นอย่างดีนั้น ทำให้สุขภาพจิตดี ไม่โลดแล่นไปด้วยอำนาจกิเลสตัณหา ด้วยอำนาจของความเกียจคร้าน ด้วยการทอดธุระ เป็นต้น นอกจากทำให้กิจการงานเสียหายแล้ว ยังทำให้สุขภาพจิตไม่่ดีอีกด้วย

สุขภาพจิตดี อันเกิดจากการรู้จักผิดชอบต่อหน้าที่นี้ มิใช่เป็นเพียงสุขภาพจิตที่ดีอย่างธรรมดา แต่เป็นสุขภาพจิตที่ดีถึงขนาดบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ถ้าได้รับการปฏิบัติอย่างเอาใจใส่เป็นเวลานานพอสมควร

สำหรับภิกษุสามเณรมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อวัตรต่างๆ มีอาจาริยวัตรและอุปัชฌายวัตร รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา และปฏิบัติกิจพระศาสนา เหล่านี้ล้วนแล้วแต่นำไปสู่มรรคผลพระนิพพานทั้งสิ้น

สำหรับฆราวาสนั้นเล่า ผู้เป็นบิดามารดามีหน้าที่อย่างไร ผู้เป็นบุตรมีหน้าที่อย่างไร ต้องปฏิบัติฆราวาสธรรมอะไรบ้าง เหล่านี้เป็นต้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการปฏิบัติ ที่นำไปสู่มรรคผลพระนิพพานด้วยกันทั้งสิ้น

ดังนั้น เราท่านทั้งหลาย พึงยังความไม่ประมาทให้เกิดขึ้นในตน วางแนวทางดำเนินชีวิตตามที่หลวงปู่แนะนำ คือ

"เมื่อหิวก็กิน เมื่อง่วงก็นอน และกระทำตามหน้าที่ที่รับผิดชอบด้วยเอาใจใส่"

๗๖. ไม่มีง่วงเหงาหาวนอน

ลักษณะแปลกอีกอย่างหนึ่งในตัวหลวงปู่ก็คือ ไม่เคยมีใครเห็นท่านในอาการที่แสดงถึงความง่วงเหงาหาวนอน หรือสัปหงก ง่วงงุน แม้ว่าจะผ่านการนั่งรถตลอดวัน หรือผ่านการตรากตรำทำกิจอะไรมา จนเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย เช่น นั่งในงานพิธีต่างๆ เป็นเวลานานๆ หรือการนั่งปรกที่รับนิมนต์ไป เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลานั่งสมาธิ ผู้เขียนเคยเห็นหลายท่าน แม้จะเป็นนักปฏิบัติก็ตาม พอนั่งลงทำสมาธิเพียงห้าหรือสิบนาที ก็สัปหงกน้ำลายไหลให้ชาวบ้านเห็นเสียแล้ว หลวงปู่เคยบอกว่า นั่นเป็น โมหะสมาธิ แต่อาการเช่นนี้ไม่เคยปรากฏมีในตัวหลวงปู่

ยิ่งกว่านั้น เมื่อเวลาตื่นนอนแล้ว ไม่ยอมเสียเวลาแม้เมื่อจะนอนอยู่เฉยๆ สักพัก แต่สำหรับหลวงปู่ เมื่อตื่นรู้ตัว ท่านจะรีบลุกขึ้นนั่งทันที แล้วเริ่มเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่างๆ ต่อไป โดยไม่มีอาการรีรออะไร โดยสีหน้าท่าทางไม่ปรากฏริ้วรอยว่า ผ่านการนอนมาแล้วแม้แต่น้อย เป็นเช่นนี้มาจนตลอดชีวิตของท่าน นับว่าเป็นเรื่องที่น่าประหลาดอย่างยิ่งในหมู่ลูกศิษย์ลูกหา

เกี่ยวกับเรื่องความง่วงนี้ คุณบำรุงศักดิ์ กองสุข เคยกราบเรียนถามหลวงปู่ว่า พระอริยบุคคลทั้ง ๔ ท่านมีความง่วงเหงาหาวนอนบ้างหรือเปล่า?

หลวงปู่ตอบ ว่า

พระโสดาบัน             ยังมีง่วงนอนอยู่

พระสกิทาคามี          มีง่วงนอนน้อยลง

พระอนาคามี             ยังมีง่วงนอนนิดหน่อย

พระอรหันต์              ไม่มีง่วงนอน

คุณบำรุงศักดิ์ ยังได้เคยกราบเรียนถาม พระอาจารย์สุวัจ สุวโจ ในช่วงที่ท่านมาเฝ้าอาพาธ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ โดยกราบเรียนถามข้อความต่างๆ เช่น

“พระอรหันต์ เวลานอน จิตท่านหลับหรือไม่”

ได้รับคำตอบจากพระอาจารย์สุวัจว่า

"พระอรหันต์ท่านจะหลับก็ได้ ตื่นก็ได้ อาตมาเคยถาม หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ว่า ท่านอาจารย์ เมื่อคืนท่านอาจารย์จำวัดหลับสบายดีหรือขอรับกระผม เลยถูกหลวงปู่มั่นดุเอาว่า ถามเหมือนคนภาวนาไม่เป็น สมาบัติซิ ดีกว่า มีกำลังมากกว่าการนอนหลับ"

จากข้อเขียนของคุณบำรุงศักดิ์อีกเช่นกัน ซึ่งเขียนถึงตอนที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโล อาพาธหนัก เข้ารับการรักษาตัว ณ โรงพยาบาลจุฬาฯ

พยาบาลถามบ่อยๆ ว่า หลวงปู่นอนหลับไหม ท่านตอบว่า นอนไม่หลับ ทุกครั้งไป หมอก็จะถวายยานอนหลับ และทุกครั้งที่หลวงปู่ฉันยา ท่านจะไม่สบายจากการแพ้ยานอนหลับ

คุณบำรุงศักดิ์เองอดใจมิได้ จึงอธิบายเรื่องการนอนของนักภาวนาให้พยาบาลฟัง ถึงการตื่นรู้อยู่กับสมาธิจิิิต หรือการพักจิตในสมาบัติ จิตจะเป็นอิสระจากนิวรณ์ ซึ่งแปลกไปจากคนธรรมดาทั่วไป แล้วผู้เขียนได้หันไปกราบเรียนหลวงปู่ว่า กระผมอธิบายถูกไหม เพื่อยืนยันกับพยาบาล หลวงปู่ไม่พูดอะไร ท่านพยักหน้ารับ

ยามดึกสงัดบางคืน สังเกตเห็นท่านนอนหลับแล้วกรนเบาๆ ทุกครั้งที่แอบเพ่งมองจดจ้องใบหน้าหลวงปู่ ใจผู้เขียนก็คิดไปต่างๆ นานา หลวงปู่จะหยุดกรน แล้วลืมตาถามเรื่องที่ผู้เขียนกำลังคิดอยู่ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังไม่เพ่งมองใบหน้าท่านแล้วพยายามไม่ส่งจิตออกนอก

ถามหลวงปู่ว่า “รู้ความนึกคิดของคนอื่นได้อย่างไร”

หลวงปู่ตอบว่า “ถ้าส่งจิตถึงกันก็รู้ได้”

๗๗. สะอาดทั้งกายทั้งใจ

จะเป็นด้วยอุปนิสัยดั้งเดิมของหลวงปู่ หรือว่าเป็นเพราะ ผลการปฏิบัติพระธุดงค์กัมมัฏฐานมานาน หรืออย่างไรไม่ทราบ นอกจากความหมดจดในอิริยาบถต่างๆ เช่นไม่นั่งเอนอิงสัปหงก นอนสงบเรียบร้อย ไม่ละเมอเพ้อพก ยืนเป็นสง่า เดินกระฉับกระเฉง ดังนี้เป็นต้น

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ยังได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่มีความสะอาดทั้งกายทั้งใจ ท่านรักษาความสะอาดทางร่างกายเป็นอย่างดี ไม่เคยมีเล็บมือเล็บเท้าสกปรก หรืออวัยวะอื่นๆ เกรอะกรังน่ารังเกียจ

เครื่องนุ่งห่มสงบจีวรต่างๆ สะอาดสะอ้าน ไม่หมักหมมโสโครก

เสนาสนะที่อยู่อาศัยนั้นเล่า พอเช้าขึ้นแต่ละวัน ต้องทำความสะอาดให้เรียบร้อยตามแบบฉบับพระกัมมัฏฐาน

หลวงปู่สอนลูกศิษย์เสมอว่า

เมื่อฝึกให้เคยชินกับการรักษาความสะอาด และทนความสกปรกไม่ได้เป็นนิสัยแล้ว นิสัยนี้จะแฝงฝังอยู่ในใจ เมื่อใดกิเลสตัณหาอันเป็นความสกปรกทางใจเกิดขึ้น มันก็จะดำรงอยู่ได้ไม่นาน เพราะใจจะทนไม่ได้ไปเอง อดที่จะกำจัดขัดเกลาทิ้งเสียมิได้

ด้านจิตใจของท่านนั้น หลวงปู่ดูลย์นับเป็นแบบฉบับของบุคคลที่เขาเรียกกันว่า ผู้มีใจสะอาด เป็นผู้ใหญ่ที่ควรเคารพบูชาอย่างแท้จริง ไม่มีเล่นแง่แสนงอน เอาเหลี่ยมเอาเชิงกับใคร ไม่มีทิฏฐิมานะ ถือว่าข้าเป็นใหญ่กว่า ผู้น้อยจะมาล้ำหน้าก้ำเกินไม่ได้ แม้จะไม่เจตนาก็ตาม

มีเรื่องที่ควรยกขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์อยู่เรื่องหนึ่งดังนี้

เหตุการณ์ครั้งหนึ่ง เมื่อใกล้เทศกาลเข้าพรรษาในปีหนึ่ง ที่ วัดป่าโยธาประสิทธิ์ ที่อยู่ชานเมืองจังหวัดสุรินทร์ มีการบวชนาคหลายรูปด้วยกัน บิดามารดาและญาติมิตรสหายของนาคทั้งหลาย ก็มาชุมนุมทำพิธีสมโภชนาคพร้อมกัน กำหนดการว่า รุ่งเช้าก็จะแห่นาคมาบวชที่วัดบูรพารามพร้อมกัน โดยได้เผดียงหลวงปู่เป็นพระอุปัชฌายะไว้เป็นที่เรียบร้อยล่วงหน้า

พอดีในคืนที่กำลังทำพิธีสมโภชนาคนั้นเอง ท่านเจ้าคุณพระเทพสุทธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) เดินทางมาจากวัดวชิราลงกรณ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อเยี่ยมเยือนวัดป่าโยธาประสิทธิ์ ที่ท่านเคยอยู่พำนักเป็นเวลานานในกาลก่อน

ผู้ปกครองนาคคนหนึ่ง เป็นผู้มีความเลื่อมใสเคารพนับถือในตัวหลวงปู่โชติมาก มีความดีอกดีใจ จึงขอแยกนาคที่เป็นบุตรชายของตน ออกมาทำพิธีบวชต่างหาก โดยอาราธนาหลวงปู่โชติเป็นพระอุปัชฌายะ แม้จะถูกนาคอื่นๆ ที่ฝึกหัดสวดขานนาคเป็นทีมเดียวกันขอร้อง และทัดทานไว้ว่า ไม่ควรทำเช่นนั้น ควรจะบวชพร้อมกันดีกว่า

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ผู้อื่นทัดทานก็คือ กราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่ดูลย์เป็นอุปัชฌายะแล้ว ไม่ควรจะมาเปลี่ยนตอนนี้ โดยไม่ได้บอกคืนการนิมนต์ท่าน

ทางฝ่ายนาคคนนั้นไม่ฟังคำชี้แจงจากคนอื่นๆ ตกลงจะเปลี่ยนแปลงตามความตั้งใจของเขาให้ได้

พอรุ่งเช้า ขบวนแห่นาคก็พากันยกมาถึงวัดบูรพารามโดยพร้อมเพรียงกัน นาคทุกคน ยกเว้นนาคผู้นั้น ก็พากันไปทำพิธีบวชในพระอุโบสถ ครั้นหลวงปู่ทำพิธีบวชให้เรียบร้อยแล้ว ก็พากันออกจากโบสถ์

บิดามารดาของนาคที่แยกตัวออกมา ก็อาราธนา ท่านเจ้าคุณพระเทพสุทธาจารย์ให้ทำพิธีบวชให้บุตรของตนแต่ผู้เดียว ท่านก็ไม่ขัดข้อง ปรากฏว่านาคผู้นั้น ซึ่งเคยซ้อมขานนาคมาด้วยกัน ๔ คน ตอนซ้อมก็ทำคล่องแคล่วดี เมื่อมาขานนาคเดี่ยวเข้า ก็ไม่คล่องแคล่ว ขานตะกุกตะกักผิดๆ ถูกๆ อักขระพยัญชนะไม่ถูกต้องชัดเจน

ท่านเจ้าคุณพระเทพสุทธาจารย์ ผู้เป็นศิษย์หลวงปู่ดูลย์ และท่านก็ถือเคร่งครัดต่ออักขระพยัญชนะเหมือนหลวงปู่อยู่แล้ว ไม่มีการช่วยเหลือบอกคำเคอะเขินแม้แต่เล็กน้อยให้ เพราะท่านถือว่า เมื่ออยากบวชก็ต้องซักซ้อมมาให้ดี

ท่านเจ้าคุณโชติ (พระเทพสุทธาจารย์) จึงเอ็ดเอาว่า

“อ้าว! ทำไมอย่างนี้ แบบนี้บวชไม่ได้หรอก ไม่บวชให้ กลับไปซ้อมมาใหม่ให้ดีเสียก่อน เรื่องบวชนั้นจะบวชเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีปัญหา”

จึงเป็นอันว่า หลวงปู่โชติไม่บวชให้นาคผู้นั้น ทั้งนาคและบิดามารดาญาติมิตรสหายก็พากันลากลับไปยังวัดป่าโยธาประสิทธิ์ด้วยความผิดหวัง

สำหรับผู้ที่ทำพิธีบวชแล้ว ก็มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ฉลองในค่ำวันนั้น ส่วนนาคผู้นั้นก็ยังเป็นนาคอยู่อย่างเดิม ความรู้สึกจะเป็นอย่างไรก็คงคาดเดากันได้

ในวันรุ่งขึ้น คณะของนาคคนนั้น ก็ยกขบวนมาวัดบูรพารามอีกครั้ง เพื่อมาขอบวช โดยอาราธนาหลวงปู่ดูลย์ให้เป็นพระอุปัชฌาย์

ท่านพระมหาสมศักดิ์ (พระราชวรคุณ) ได้กราบเรียนหลวงปู่ว่า

“หลวงปู่ครับ นาคองค์นี้แหละ ที่ไม่ยอมบวชกับหลวงปู่เมื่อวานนี้ เขานิมนต์ท่านเจ้าคุณโชติให้บวชให้ต่างหากเป็นพิเศษ เมื่อเขามานิมนต์หลวงปู่ให้บวชให้อีกในวันนี้ หลวงปู่จะต้องลงโบสถ์ไปบวชให้เขาทำไม ให้เขาไปบวชที่โคราชไม่ดีหรือ?”

หลวงปู่ตอบว่า

“เมื่อเขาอยากบวชก็บวชได้ เมื่อเขาไม่บวชก็เป็นเรื่องของเขา เมื่อวานเขาไม่พร้อม วันนี้เขาพร้อม มีหน้าที่บวชให้เขาก็บวชให้เขาไป”

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งในเหตุการณ์หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น ที่แสดงให้เห็นชัดว่า หลวงปู่เป็นยอดบุคคล ที่มีใจสะอาดปราศจากทิฏฐิมานะ เปี่ยมล้นไปด้วยเมตตากรุณา ผู้เขียนก็เลยได้ข้อคิดแก่ตนว่า นับเป็นการดี ที่ไม่ต้องไปซ้ำเติมอะไรให้เป็นมลทินแก่ใจ ธรรมชาตินั่นแหละ เป็นผู้สั่งสอนได้ดี ดังนั้น เมื่อมีอะไรที่ไม่ดีเกิดขึ้นจึงไม่ต้องไปนึกไปคิดอะไรให้มากความไปอีก

เรื่องราวต่างๆ ในทำนองเช่นนี้ บรรดาลูกศิษย์ลูกหาชอบจดจำมาคุยมาเล่าสู่กันฟัง ว่าใครประสบพบเห็นมาอย่างไร และต่างก็ได้ถือเอาเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ ไว้สอนตนเอง และเยาวชนรุ่นต่อไป ถือเป็นเครื่องช่วยบรรเทากิเลสทิฏฐิมานะของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี

๗๘. เข้าใกล้ร่มเย็นเป็นมงคล

ได้กล่าวแล้วว่า หลวงปู่เป็นคนเข้มแข็ง ความเข้มแข็งและความเป็นผู้เปี่ยมด้วยขันติธรรมของท่าน เป็นที่ปรากฏชัดแก่คนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาที่หลวงปู่อาพาธ ท่านไม่เคยแสดงความอ่อนแอออกมาให้ใครเห็น แม้กระทั่งแพทย์ พยาบาลที่ทำหน้าที่เยียวยารักษา

จนกระทั่งว่า เมื่อท่านเกิดอาพาธเล็กๆ น้อยๆ ภิกษุสามเณรที่ทำหน้าที่อุปัฏฐากท่าน ยังเข้าใจว่าท่านไม่ได้เป็นอะไร หรือเมื่อมีอาการปรากฏชัด ก็นึกว่า ท่านอาพาธเพียงเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

อำนาจแห่งขันติบารมีที่มีประจำตัวท่าน อันเป็นคุณธรรมที่ทำให้งามตา ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ แล้วอานุภาพแห่งความสงบระงับที่มีอยู่ในตัวท่าน ทำให้บุคคลที่อยู่ใกล้ท่าน หรือได้เข้ามาหาท่าน ออกปากเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกเย็นอย่างประหลาด

มีท่านผู้หนึ่งอดรนทนความพิศวงอยู่ไม่ได้ จึงเรียนถามท่านว่า

"ทำไมผมอยู่ใกล้หลวงปู่แล้ว รู้สึกเย็นอกเย็นใจ สบายกายสบายใจเหลือเกิน อยากจะอยู่ใกล้หลวงปู่นานๆ"

หลวงปู่ตอบว่า

"อยากรู้ก็ทำเอาเองซิ"

ยิ่งกว่านั้นแม้แต่บรรดาสานุศิษย์ที่อยู่ทางกรุงเทพฯ ที่เคยไปกราบเยี่ยมอาพาธหลวงปู่ที่โรงพยาบาล ก็ยังรู้สึก “อยากให้ท่านป่วยนานๆ” ดังเช่นบันทึกของคุณบำรุงศักดิ์ กองสุข ดังนี้

ทุกคนมีความรักและบูชา หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เหมือนๆ กันไม่มีใครกลัวท่าน มีแต่อยากใกล้ชิด ระหว่างอยู่โรงพยาบาลจุฬาฯ ผิวพรรณวรรณะของหลวงปู่ผ่องใสยิ่งนัก คุณจำนงค์ พันธุพงศ์ ลูกศิษย์คนหนึ่งบอกหลวงปู่ว่า “แก้มแดงเหมือนเด็กสาวรุ่น”

เมื่อท่านหายป่วย แพทย์อนุญาตให้กลับวัดได้ โยมพี่ประสาน สิงคเสลิต บอกหลวงปู่ว่า

"หลวงปู่ครับ ผมอยากให้หลวงปู่ป่วยอยู่ที่นี่อีกนานๆ"

หลายคนที่กรุงเทพฯ ต้องการให้ท่านพักอยู่ที่โรงพยาบาล จะได้มาเฝ้าท่านสะดวก แต่ถ้าท่านป่วยหนัก ทุกคนก็เป็นห่วง พอท่านสบาย ก็อยากให้อยู่นานๆ เพราะการอยู่ใกล้หลวงปู่เป็นมงคล จิตใจเบิกบาน

๗๙. ไม่หวั่นไหวในกาลทุกเมื่อ

ตราบเท่าทุกวันนี้ผู้เขียน (พระราชวรคุณ) ยังเห็นติดตาตรึงใจกับบุคลิกภาพอันมั่นคงแน่นอนของหลวงปู่ งดงามสมบูรณ์ด้วยเอกภาพอันน่าอบอุ่นใจแก่ผู้อยู่ใกล้ ใบหน้าที่สงบเยือกเย็นตลอดเวลา ประหนึ่งว่า แม้ภูเขาจะถล่มทะลายลงตรงหน้าก็ดี อยู่ท่ามกลางสนามรบที่กำลังตะลุมบอน รบพุ่งกันอย่างเอาเป็นเอาตายอยู่ก็ดี ความเปลี่ยนแปลงแม้น้อยหนึ่ง ก็จะไม่ปรากฏบนใบหน้านั้นเลย

มีเหตุการณ์หลายครั้ง ที่เล่าขานกันอยู่ในหมู่ลูกศิษย์ เกี่ยวกับความเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในกาลทุกเมื่อ ของหลวงปู่ ว่า ท่านเป็นผู้ที่มีสติมั่นคงมาก ไม่เคยตื่นตระหนกตกใจ หรือดีอกดีใจ หรือเสียอกเสียใจ ไปตามเหตุการณ์ แม้จะเกิดขึ้นใหญ่หลวงสักปานใดก็ตาม ท่านยังทรงไว้ซึ่งความเป็นปกติสภาพทุกกรณี

มีเหตุการณ์หนึ่งที่น่าจะหยิบยกมาเล่า เป็นอุทาหรณ์ ดังต่อไปนี้

ครั้งนั้น ๕๐ ปีกว่าล่วงมาแล้ว เกิดมหันตภัยที่ร้ายแรงที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์ คือ เกิดเหตุการณ์อัคคีภัยครั้งใหญ่ ในตลาดจังหวัดสุรินทร์ ชาวบ้านชาวเมืองเรียกไฟไหม้ครั้งนั้นว่า “ไฟประลัยกัลป์” เพราะเป็นการลุกไหม้เผาผลาญอย่างวินาศสันตะโรจริงๆ

ไฟเริ่มไหม้ที่ใจกลางเมืองพอดี แล้วลุกลามขยายออกไปเป็นวงกลมรอบทิศ หน่วยดับเพลิงต่างสิ้นหวัง และหมดปัญญาจะสกัดไฟได้ สามารถป้องกันได้เพียงบางจุดเท่านั้น ในส่วนอื่นๆ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม เป็นที่แน่ชัดว่า แทบทั้งเมืองจะต้องราพณาสูร ไปด้วยแรงฤทธิ์ของพระเพลิง อย่างไม่ต้องสงสัย

ทั้งในวัดและบริเวณใกล้เคียงนั้น เกิดความโกลาหลทั่วไปหมด ชาวบ้านวิ่งกันสับสนอลหม่าน คนจำนวนมากวิ่งหนีเข้ามา หวังจะพึ่งวัด หอบลูกจูงหลานแบกข้าวของกันอึงคะนึง

พระเณรเถรชีต่างก็อกสั่นขวัญหนี เพราะทั้งกุฏิและเสนาสนะต่างๆ ในวัดและอาคารบ้านเรือนรอบๆ วัด ล้วนแต่เป็นไม้เก่าแก่ นับว่าเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ต่างไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไฟแลบเลียลุกไหม้ใกล้เข้ามา และจะต้องเข้ามาถึงในวัดอย่างไม่ต้องสงสัย

ความสับสนอลหม่านในวัดเกิดขึ้น จนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ทั้งชาวบ้านวิ่งชนพระเถรเณรชี และวิ่งขนข้าวของกัน ดูชุลมุนวุ่นวายไปหมด

พระเณรจำนวนหนึ่ง กรูกันขึ้นไปบนกุฏิหลวงปู่ เห็นท่านนั่งจิบน้ำชาอยู่ด้วยสีหน้าปกติ ต่างก็ลนลานขอโอกาสท่าน เพื่อขนของหนีไฟ หลวงปู่ห้ามว่า

“ไม่จำเป็น”

ไฟโหมลุกไหม้ใกล้วัดเข้าทุกที อีกไม่กี่คูหา ก็จะถึงวัดแล้ว พระเณรกรูกันลงมาจากกุฏิหลวงปู่ วิ่งไปด้านหลังมณฑปหลวงพ่อพระชีว์ เห็นเปลวเพลิงแลบเลียใกล้เข้ามา จวนเจียนจะถึงวัดแล้ว จึงพากันวิ่งกรูขึ้นไปบนกุฏิหลวงปู่ เพื่อช่วยกันขนย้ายอีก หลวงปู่ยังนั่งอยู่ที่เดิม แล้วห้ามไว้ด้วยอาการสงบเย็นว่า "ไม่จำเป็น"

ทันใดนั้น ขณะไฟลุกลามมาติดเขตวัด สุดยอดแห่งความบังเอิญที่เกิดขึ้น เกิดมีลมกระโชกขึ้นมาอย่างแรง พัดกระพือจากทางทิศตะวันออก อันเป็นเขตวัด ตลบกลับไปทางทิศตะวันตก อันเป็นเขตภายนอกวัต พัดเปลวไฟกลับไปสู่บริเวณที่ลุกไหม้อยู่ก่อน จนกระทั่งมอดไหม้สงบไปในที่สุด

มหันตภัยครั้งนั้นก็สิ้นสุดลง ด้วยความสูญเสียครั้งที่ร้ายแรง ของชาวบ้านร้านตลาด ในจังหวัดสุรินทร์ ทุกคนภายในวัดต่างก็เหนื่อยอ่อนกันถ้วนทั่ว แต่ก็คลายใจขึ้นเมื่อไฟสงบลง เหล่าชาววัดค่อยหายใจได้ทั่วท้องกันขึ้น

เหตุการณ์ในครั้งนี้ ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาจะชี้ให้เห็นอิทธิฤทธิ์หรือปาฏิหาริย์ประการใด แต่มุ่งแสดงให้เห็นว่า แม้แต่เหตุการณ์คับขัน หลวงปู่ของเรา ก็มิได้แสดงอาการสะทกสะท้านหวั่นไหวแต่อย่างใด แสดงถึงคุณลักษณะแห่งความ “ไม่หวั่นไหวในกาลทุกเมื่อ” ของท่าน

๘๐. ไม่พยากรณ์อริยมรรคอริยผล

ปัญหาหนึ่งที่ผู้สนใจทางธรรม ชอบสอบถามกันมากได้แก่ เรื่องการพยากรณ์อริยมรรคอริยผล คือมักจะสอบถามกันว่า หลวงปู่เคยพยากรณ์หรือรับรองว่า หลวงปู่ หลวงพ่อองค์นั้นองค์นี้ ครูบาอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ บรรลุธรรมในระดับใด หรือเป็นพระอริยเจ้าระดับใดแล้ว ผู้ใดเป็นพระโสดาบัน ผู้ใดเป็นพระอรหันต์แล้ว อะไรอย่างนี้เป็นต้น ผู้สอบถามจึงอยากรู้ข้อเท็จจริง ว่าเป็นอย่างไรกันแน่

ครั้งหนึ่ง ท่านเจ้าคุณพระราชวรคุณ เคยถามหลวงปู่ ถึงผลการปฏิบัติของหมู่คณะนักปฏิบัติ ซึ่งได้รับคำตอบจากหลวงปู่ว่า

“การที่จะพยากรณ์ผู้ใดว่า บรรลุอริยมรรคอริยผลนั้น ผู้ที่จะพยากรณ์ได้มีเพียงผู้เดียว คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เท่านั้น แม้พระอริยสาวก จะไปพยากรณ์ หรือบอกว่าผู้นั้นเป็นโสดาบัน ผู้นี้เป็นอรหันต์ก็ไม่ได้ ไม่ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ”

ได้กราบเรียนถามหลวงปู่ต่อไปอีกว่า

“แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าองค์ไหนปฏิบัติธรรมเป็นอย่างไร ในหมู่พระสงฆ์สาวก”

หลวงปู่ตอบว่า

“ที่ปฏิบัติปฏิปทาอันเดียวกัน ย่อมจะรู้กัน ย่อมจะเข้าใจกันได้ เมื่อได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เมื่อได้อยู่ร่วมกัน หรือแม้ไม่ได้อยู่ร่วม แต่ได้ทราบข่าวถ้อยคำ หรือข้อความที่ผู้นั้นๆ แสดงออกมา เพราะข้อความที่ท่านผู้นั้นแสดงออกมา จะชี้ชัดเจนถึงภูมิธรรมท่านว่าอยู่ในระดับใด”

นี่เป็นถ้อยคำที่ออกจากปากหลวงปู่เอง ที่พูดกับท่านเจ้าคุณพระราชวรคุณโดยตรง ส่วนที่เคยได้ยิน เมื่อหลวงปู่กล่าวกับท่านผู้อื่นนั้น มีอยู่ว่า

เมื่อได้ยินว่า มีใครประพฤติปฏิบัติธรรมได้ผลดี และมีผู้นำมาถามหลวงปู่ถึงผลการปฏิบัติของท่านผู้นั้น หลวงปู่ก็มักจะบอกว่า ถ้าเขามีศรัทธามั่นคงแล้ว ก็จะไม่ถอยหลัง ถ้าหากได้ดำเนินอย่างมั่นคงต่อไป ก็จะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแน่นอน

หลวงปู่เคยพูดคุยกับพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เมื่อพระราชาคณะผู้นั้นถามถึงผลการปฏิบัติ ของพระภิกษุรูปหนึ่ง ว่าเป็นอย่างไร หลวงปู่เพียงแต่ตอบว่า

“เขาเข้าถึงทางตรงแล้ว ไม่มีการเสื่อมศรัทธาไปจากพระรัตนตรัยได้เลย”

เท่าที่ได้สอบถามพระที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาของหลวงปู่ ต่างก็ยืนยันว่า เคยได้ยินหลวงปู่กล่าวในลักษณะข้างต้นเท่านั้น ไม่เคยได้ยินท่านพยากรณ์อริยมรรคอริยผล ของท่านผู้ใดเลย แม้แต่ครั้งเดียว

นอกจากนี้ยังปรากฏว่า เมื่อหลวงปู่ได้ยินผู้ใดพยากรณ์ใคร ถึงอริยมรรคอริยผลต่างๆ แม้ผู้พยากรณ์เป็นฆราวาสก็ตาม หลวงปู่ก็ยังห้ามปรามว่าเป็นการทำที่ไม่ถูกต้อง

ดังนั้นก็เป็นอันสรุปได้ว่า ที่หลายๆ ท่านได้ยินใครคนใดคนหนึ่งพูดว่า

“หลวงปู่บอกว่า คนนั้นเป็นโสดาบัน คนนี้เป็นอริยบุคคลชั้นนั้นชั้นนี้”

ดังนี้เป็นต้น ก็แสดงว่า ใครคนใดคนหนึ่งนั้น พูดกันเอง ทึกทักเอาเอง ด้วยความสำคัญผิด หรือด้วยเจตนาอื่นใดก็ตาม จึงขอยืนยันว่า เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

ที่ถูกคือ หลวงปู่ไม่เคยพยากรณ์อริยมรรคอริยผลของท่านผู้ใดเลย และท่านห้ามไม่ให้พระหรือฆราวาส กระทำการอย่างนั้นด้วย เพราะไม่เหมาะไม่ควร

หน้าที่