#echo banner="" จิตตสังเขป บทที่ 4 สุจินต์ บริหารวนเขตต์

จิตตสังเขป
โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์
http://www.dhammastudy.com/thpar5.html

บทที่ ๔ 

เมื่อเห็นแล้วเกิดโลภะ ยินดีพอใจในรูปารมณ์ที่กำลังปรากฏดูเหมือนไม่เป็นโทษ เพราะดูเป็นแต่เพียงความพอใจธรรมดาๆ แต่ให้รู้ว่า แม้โลภะธรรมดาๆ ขณะนั้นก็เป็นธรรมที่เป็นโทษ ให้ผลเป็นทุกข์ โดยค่อยๆ สะสมทุกข์ขึ้นทีละเล็กละน้อย ไม่ว่าทุกข์จะปรากฏทันที ที่มีโลภะ ความพอใจ เพียงเล็กน้อย แต่เมื่อใดโลภะความพอใจมีกำลังมาก ถึงขั้นเป็นนิวรณ์ธรรมกลุ้มรุมจิต ขณะนั้นลักษณะอาการของสภาพธรรมที่หนัก เพราะเป็นอกุศลกระสับกระส่ายไม่สงบก็ปรากฏฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ตื่นจนถึงหลับนั้น ชวนวิถีสั่งสมสันดานที่เป็นกุศลมาก หรือเป็น อกุศลมาก แล้วจะทำอย่างไรดี ทุกท่านกำลังกินยาพิษ ถ้ารู้ก็ควรแสวงหายาที่จะแก้ยาพิษ ถ้าไม่รู้ก็ยังคงกินยาพิษ สะสมยาพิษ ซึ่งย่อมให้ผล เป็นโทษภัยทีละเล็กทีละน้อยเรื่อยๆ ยาที่จะแก้พิษนั้นมีขนาดเดียวเท่านั้น คือ อบรมเจริญสติปัฏฐาน ขณะใดสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่มีหนทาง ที่จะพ้น จากการสะสมของอกุศล เพราะกุศลอื่นๆ ก็เกิดน้อย เมื่ออบรมเจริญสติปัฏฐาน สติปัฏฐานก็เกิดแทนอกุศลได้ เพราะโวฏฐัพพนวิถีจิต เป็นอนันตรปัจจัยกระทำทางให้กุศลเกิดตามการสะสม กุศลจิตก็เกิดพร้อมด้วยสติ ที่ระลีกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏได้

เพราะชวนวิถีจิตซึ่งเป็นกุศลและอกุศลเกิดดับสะสมมาเรื่อยๆ สืบต่อกัน จึงเป็นปัจจัยให้แต่ละบุคคลมีอัธยาศัยต่างๆ กัน แม้พระอรหันต์ทั้งหลาย ก็มีอัธยาศัยไม่เหมือนกัน การสะสมของจิตของแต่ละบุคคลละเอียดมาก ฉะนั้น พระอรหันต์ทั้งหลายจึงมีอัธยาศัยต่างๆ กัน เป็นเอตทัคคะ คือ เป็นผู้เลิศในทางต่างๆ กัน เช่น ท่านพระสารีบุตรเป็นเอตทัคคะในทางปัญญา ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เป็นเอตทัคคะ ในทางอิทธิปาฏิหาริย์ ท่านพระมหากัสสปะเป็นเอตทัคคะในการรักษาธุดงค์และสรรเสริญธุดงค์ ท่านพระอนุรุทธะ เป็นเอตทัคคะ ในทางจักขุทิพย์ การสั่งสมของชวนวิถีจิตซึ่งต่างกันไปในกุศลจิตและอกุศลจิตฉันใด ในทางกิริยาจิตของพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ต่างกันไปฉันนั้น ขณะนี้ทุกคนคิดไม่เหมือนกันเลย พูดได้ไม่เหมือนกันเลย การกระทำทางกาย ทางวาจา ย่อมไม่เหมือนกันเลยตามการสะสม

การสะสมกุศล อกุศล และมหากิริยาฝ่ายโลกีย์ด้วยสามารถแห่งชวนวิถีจิตนั้น สะสมไปทุกขณะจนกระทั่งทำให้เกิดเป็นอุปนิสัยต่างๆ การกระทำกิริยาอาการทางกาย ทางวาจาต่างๆ บางท่านที่เห็นพระอรหันต์ก็ยังดูหมิ่น โดยสันนิษฐานตามอาการที่ปรากฏภายนอก เช่น วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ของแคว้นมคธ เห็นท่านพระมหากัจจานะลงจากภูเขาก็กล่าวว่า ท่านผู้นี้มีอาการเหมือนลิง การสั่งสมของ ชวนวิถีจิตของวัสสการพราหมณ์ทำให้สำคัญตน แม้ว่าพระผู้มีพระภาค ตรัสให้วัสสการพราหมณ์ ขอให้ท่านพระมหากัจจานะอดโทษให้ แต่มานะความสำคัญตนที่สะสมมา ก็ทำให้วัสสการพราหมณ์ไม่สามารถจะกระทำเช่นนั้นได้ แม้พระผู้มีพระภาคจะทรงพยากรณ์ว่า เมื่อวัสสการพราหมณ์สิ้นชีวิตลง จะต้องเกิดเป็นลิงในป่าไผ่ วัสสการพราหมณ์ก็ให้คนไปปลูกกล้วยและอาหารของลิงไว้ พร้อมที่จะไปเกิดเป็นลิงในป่าไผ่นั้น

ฉะนั้น จึงควรเห็นโทษของการสะสมอกุศล เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นพระอรหันต์แล้ว การสะสมของจิตแต่ละขณะ โดยความสามารถของชวนวิถี ซึ่งเกิดดับสืบต่อซ้ำกันถึง ๗ ครั้งนั้น ก็ทำให้แต่ละบุคคลมีกาย มีวาจาต่างๆ กันเป็นวาสนา คำว่า "วาสนา" หมายถึงความประพฤติทาง กาย วาจา ที่สะสมมาจนชิน "วาสนา" ที่ใช้กันในภาษาไทย หมายถึงความเป็นใหญ่เป็นโตต่างๆ แต่ "วาสนา" ในพระพุทธศาสนา หมายถึง การสั่งสม ของอกุศล จนกระทั่งเป็นความประพฤติที่เคยชิน เป็นอาการที่ปรากฏทางกาย ทางวาจา ผู้ที่ละ "วาสนา" ได้ มีบุคคลเดียวเท่านั้น คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลายดับกิเลสได้หมดสิ้น ไม่มีเชื้อของกิเลสใดๆ เหลืออยู่เลย แต่กระนั้นก็ยังละวาสนาไม่ได้ เพราะสะสมเนิ่นนานมาในสังสารวัฏฏ์ด้วยสามารถแห่งชวนวิถีวิถีจิตทางปัญจทวารมี ๗ วิถี

วิถีจิตที่ ๑ คือ อาวัชชนวิถี ได้แก่ ปัญจทวารวัชชนจิต

วิถีจิตที่ ๒ คือ ทวิปัญจวิญญาณจิต ดวงหนึ่งดวงใด คือ จักขุวิญญาณ หรือ โสตวิญญาณ หรือฆานวิญญาณ หรือชิวหาวิญญาณ หรือกายวิญญาณ

วิถีจิตที่ ๓ คือ สัมปฏิจฉันนจิต เกิดขึ้นรับอารมณ์ต่อจากทวิปัญจวิญญาณจิตดวงหนึ่งดวงใดที่ดับไป

วิถีจิตที่ ๔ คือ สันตีรณจิต พิจารณาอารมณ์

วิถีจิตที่ ๕ คือ โวฏฐัพพนจิต ทำกิจกระทำทางให้กุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือกิริยาจิต (เฉพาะพระอรหันต์) เกิดต่อ

วิถีจิตที่ ๖ คือ ชวนวิถีจิต โดยศัพท์ "ชวนะ" แปลว่า แล่นไปคือ ไปอย่างเร็วในอารมณ์ด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิตหรือกิริยาจิต (เฉพาะพระอรหันต์)

วิถีจิตที่ ๗ คือ ตทาลัมพนวิถี หรือตทารัมมณวิถี ตทาลัมพนวิถีจิตเกิดขึ้นกระทำกิจรับรู้อารมณ์ต่อจากชวนวิถีจิต เมื่ออารมณ์นั้นยังไม่ดับไป เพราะรูปๆ หนึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะจิต คือขณะที่รูปเกิดขึ้นกระทบทวารและกระทบอดีตภวังค์ เป็นขณะจิตที่ ๑

ภวังคจลนะ เป็นขณะจิตที่ ๒

ภวังคุปัจเฉทะ เป็นขณะจิตที่ ๓

ปัญจทวาราวัชชนะ เป็นขณะจิตที่ ๔

(ทวิ) ปัญจวิญญาณ เป็นขณะจิตที่ ๕สัมปฏิจฉันนะ เป็นขณะจิตที่ ๖

สันตีรณะ เป็นขณะจิตที่ ๗

โวฏฐัพพนะ เป็นขณะจิตที่ ๘

ชวนะที่ ๑ เป็นขณะจิตที่ ๙ ชวนจิต ๗ ขณะ

ชวนะที่ ๒ เป็นขณะจิตที่ ๑๐ ชวนจิต ๗ ขณะ

ชวนะที่ ๓ เป็นขณะจิตที่ ๑๑ ชวนจิต ๗ ขณะ

ชวนะที่ ๔ เป็นขณะจิตที่ ๑๒ ชวนจิต ๗ ขณะ

ชวนะที่ ๕ เป็นขณะจิตที่ ๑๓ ชวนจิต ๗ ขณะ

ชวนะที่ ๖ เป็นขณะจิตที่ ๑๔ ชวนจิต ๗ ขณะ

ชวนะที่ ๗ เป็นขณะจิตที่ ๑๕ ชวนจิต ๗ ขณะ

รวมเป็นอายุของรูปที่เกิดตั้งแต่อตีตภวังคจิตถึงชวนจิตดวงสุดท้ายเป็น ๑๕ ขณะ รูปจึงไม่ดับ อายุของรูปยังเหลืออีก ๒ ขณะจิต วิสัยของ ผู้ที่เป็นกามบุคคลนั้น เมื่อชวนจิตแล่นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแล้ว แต่รูปนั้นยังไม่ดับ การสะสมของกรรมในอดีต ที่ข้องอยู่ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ย่อมเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้นเป็น ตทาลัมพนวิถีจิต รับรู้อารมณ์นั้นต่ออีก ๒ ขณะ ตทาลัมพนวิถีจิต ที่กระทำกิจรู้อารมณ์ ต่อจากชวนะวิถีนั้นเป็นวิถีจิต สุดท้ายที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งๆ และต่อจากวิถีจิตสุดท้ายทางทวารหนึ่งๆ แล้ว ภวังคจิตก็เกิดดับสืบต่อไป จนกว่าวิถีจิตวาระต่อไป จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ทางทวารใดทวารหนึ่ง ขณะใดที่เป็นภวังคจิต โลกนี้ไม่ปรากฏความทรงจำทั้งหมด เกี่ยวกับเรื่องราว ของบุคคลต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ ในโลกนี้ไม่ปรากฏเลย ขณะที่นอนหลับสนิท เป็นภวังคจิตโดยตลอดนั้น ไม่มีความรู้ ความจำใดๆ เรื่องโลกนี้เลย และเมื่อจุติจิตเกิดกระทำกิจ เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ ปฏิสนธิจิตก็เกิดต่อ และวิถีจิตที่จะเกิดต่อไป ก็เป็นเรื่องของโลกอื่น ต่อไป แต่เมื่อจุติจิตยังไม่เกิด แม้ว่าภวังคจิตจะไม่รู้เรื่องราวต่างๆ ของโลกนี้เลย แต่เมื่อใดวิถีจิตเกิดขึ้นก็ยับยั้งไม่ได้ที่จะรู้อารมณ์ของโลกนี้ คือ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และเรื่องราวต่างๆ ของโลกนี้ต่อไปอีก

ลำดับการเกิดของวิถีจิตทางปัญจทวารมี ๗ วิถี ดังนี้

อตีตภวังค์ ๑ ขณะ ไม่ใช่วิถีจิต

ภวังคจลนะ ๑ ขณะ ไม่ใช่วิถีจิต

ภวังคุปัจเฉทะ ๑ ขณะ ไม่ใช่วิถีจิต

ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ขณะ เป็นวิถีจิต

(ทวิ) ปัญจวิญญาณจิต ๑ ขณะ เป็นวิถีจิตสัมปฏิจฉันนจิต ๑ ขณะ เป็นวิถีจิต

สันตีรณจิต ๑ ขณะ เป็นวิถีจิต

โวฏฐัพพนจิต ๑ ขณะ เป็นวิถีจิต

กุศลหรืออกุศลหรือกิริยาจิต ๑ ขณะ ชวนวิถีจิต ๗ ขณะ

กุศลหรืออกุศลหรือกิริยาจิต ๑ ขณะ ชวนวิถีจิต ๗ ขณะ

กุศลหรืออกุศลหรือกิริยาจิต ๑ ขณะ ชวนวิถีจิต ๗ ขณะ

กุศลหรืออกุศลหรือกิริยาจิต ๑ ขณะ ชวนวิถีจิต ๗ ขณะ

กุศลหรืออกุศลหรือกิริยาจิต ๑ ขณะ ชวนวิถีจิต ๗ ขณะ

กุศลหรืออกุศลหรือกิริยาจิต ๑ ขณะ ชวนวิถีจิต ๗ ขณะ

กุศลหรืออกุศลหรือกิริยาจิต ๑ ขณะ ชวนวิถีจิต ๗ ขณะ

ตทาลัมพนจิต ๑ ขณะ ตทาลัมพนวิถี ๒ ขณะ

ตทาลัมพนจิต ๑ ขณะ ตทาลัมพนวิถี ๒ ขณะ

อายุของสภาวรูป ๑ รูปเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ

เมื่อวิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางปัญจทวาร ซึ่งเป็นปสาทรูปทวารหนึ่งทวารใดดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดดับสืบต่อคั่น แล้วต่อจากนั้น มโนทวารวิถีจิต คือ จิตที่อาศัยใจ (ภวังคุปัจเฉทจิต) เป็นทวารรู้อารมณ์ก็เกิดขึ้น รู้อารมณ์เดียวกับวิถีจิตทางปัญจทวารที่เพิ่งดับไปแล้วนั้น ในวาระหนึ่งๆ วิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางมโนทวารนั้น ไม่มากเท่ากับวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางปัญจทวาร และทางมโนทวารนั้น เมื่ออารมณ์ไม่ได้กระทบกับจักขุปสาท เป็นต้น จึงไม่มีอดีตภวังค์ แต่ก่อนที่มโนทวาราวัชชนจิต จะรำพึงถึงอารมณ์ที่วิถีจิตรู้ ทางปัญจทวาร แล้วดับไปนั้น ภวังคจลนะจะต้องเกิดขึ้นไหวตามอารมณ์นั้น แล้วดับไป แล้วภวังคุปัจเฉทะจึงเกิดขึ้นแล้วดับไป ต่อจากนั้นมโนทวาราวัชชนจิตจึงเกิดขึ้น เป็นมโนทวารวิถีจิตที่ ๑ จิตที่ทำอาวัชชนกิจทางมโนทวารนั้น ไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนจิต ปัญจทวาราวัชชนจิต ทำอาวัชชนกิจได้ ทางปัญจทวารเท่านั้น ทำอาวัชชนกิจทางมโนทวารไม่ได้เลย จิตที่ทำอาวัชชนกิจทางมโนทวารมี ๑ ดวง คือ มโนทวาราวัชชนจิต ทำกิจรำพึงถึงอารมณ์ทางมโนทวาร คือ นึกถึงอารมณ์ทางมโนทวาร ในวันหนึ่งๆ ที่คิดถึงเรื่องต่างๆ นั้น ขณะที่คิดนั้น จิตไม่รู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ทางตา หู จมูก ลิ้น การเลย เมื่อภวังคจลนะเกิดขึ้นแล้วดับไป ภวังคุปัจเฉทะก็เกิดต่อแล้วดับไป แล้วมโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดขึ้นเป็นมโนทวารวิถีจิตที่ ๑ เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว สำหรับผู้ที่ไม่ใช้พระอรหันต์กุศลจิต หรืออกุศลจิต ซึ่งเป็นชวนวิถีจิตก็เกิดดับสืบต่อซ้ำกันโดยเป็นจิตประเภท เดียวกันทั้ง ๗ ขณะ เมื่อกุศลชวนวิถีจิตหรืออกุศลชวนวิถีจิตดับไปแล้ว ถ้าเป็นอารมณ์ทางใจที่ปรากฏชัดเจน ตทาลัมพนวิถีจิตก็เกิดต่ออีก ๒ ขณะ ฉะนั้น วิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางมโนทวาร จึงมีเพียง ๓ วิถีเท่านั้น คือวิถีที่ ๑ เป็นอาวัชชนวิถี ๑ ขณะ

วิถีที่ ๒ เป็นชวนวิถี ๗ ขณะ

วิถีที่ ๓ เป็นตทาลัมพนวิถี ๒ ขณะ

ลำดับการเกิดขึ้นของวิถีจิตทางมโนทวารมี ๓ วิถี ดังนี้

ภวังคจลนะ ๑ ขณะ ไม่ใช่วิถีจิต

ภวังคุปัจเฉทะ ๑ ขณะ ไม่ใช่วิถีจิต

มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ขณะ วิถีจิต

กุศลหรืออกุศลหรือกิริยาจิต ๑ ขณะ ชวนวิถีจิต ๗ ขณะ

กุศลหรืออกุศลหรือกิริยาจิต ๑ ขณะ ชวนวิถีจิต ๗ ขณะ

กุศลหรืออกุศลหรือกิริยาจิต ๑ ขณะ ชวนวิถีจิต ๗ ขณะ

กุศลหรืออกุศลหรือกิริยาจิต ๑ ขณะ ชวนวิถีจิต ๗ ขณะ

กุศลหรืออกุศลหรือกิริยาจิต ๑ ขณะ ชวนวิถีจิต ๗ ขณะ

กุศลหรืออกุศลหรือกิริยาจิต ๑ ขณะ ชวนวิถีจิต ๗ ขณะ

ตทาลัมพนะ ๑ ขณะ ตทาลัมพนวิถี ๒ ขณะ

ตทาลัมพนะ ๑ ขณะ ตทาลัมพนวิถี ๒ ขณะ

ขณะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา วิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับทางจักขุทวารนั้น เป็นจักขุทวารวิถีทั้งหมดทั้ง ๗ วิถี เพราะต้องอาศัย จักขุทวาร จึงเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏทางตาซึ่งยังไม่ดับ

ขณะที่กำลังได้ยินเสียง วิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้เสียงที่ยังไม่ดับทางโสตทวารทั้ง ๗ วิถีนั้นก็เป็นโสตทวารวิถี ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน

การรู้อารมณ์ทางปัญจทวารแต่ละทวารและแต่ละวาระนั้น มีวิถีจิตเกิดมากน้อยต่างกันเป็น ๔ วาระ คือ โมฆวาระ โวฏฐัพพนวาระ ชวนวาระ ตทาลัมพนวาระ

วาระ คือ วิถีจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อกันโดยรู้อารมณ์เดียวกัน และทางทวารเดียวกัน ซึ่งบางวาระวิถีจิตเกิดทั้ง ๗ วิถี บางวาระวิถีจิตเกิด ๖ วิถี บางวาระวิถีจิตเกิด ๕ วิถี บางวาระวิถีจิตไม่เกิดเลย มีแต่อตีตภวังค์และภวังค์เกิดดับอีกหลายขณะ แล้วภวังคจลนะก็ยังไม่เกิด จึงเป็นอตีตภวังค เกิดดับอีกหลายขณะ แล้วภวังคจลนะจึงเกิดไหวขึ้นแล้วดับไปๆ หลายขณะ เมื่ออารมณ์ คือ รูปที่กระทบปสาทนั้นใกล้จะดับ จึงไม่เป็นปัจจัย ให้วิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น เมื่อวิถีจิตไม่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบปสาท จึงเป็นโมฆวาระ เช่น ขณะนอนหลับสนิทถูกปลุกเขย่าแล้วก็ยังไม่ตื่น เขย่าแรงๆ ก็ยังไม่ตื่นอีก ขณะนั้นเป็นโมฆวาระ เพราะอาวัชชนจิตไม่เกิด มีแต่อตีตภวังค์และภวังคจลนะ เมื่อวิถีจิตไม่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบจึงเป็น "โมฆวาระ และอารมณ์นั้นก็เป็นอติปริตตารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ที่เล็กน้อยที่สุดเพราะเพียงกระทบปสาทรูป และภวังค์ แต่ไม่ทำให้วิถีเกิดได้เลย บางวาระ เมื่ออตีตภวังค์เกิดและดับไปแล้วหลายขณะ ภวังคจลนะก็เกิดและดับไปหลายขณะ ภวังคุปัจเฉทะก็เกิดแล้วดับไป ปัญจทวาราวัชชนจิต เกิดแล้วดับไป ปัญจวิญญาณจิตดวงใดดวงหนึ่งเกิดแล้วดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดแล้วดับไป สันตีรณจิตเกิดแล้วดับไป โวฏฐัพพนจิตเกิดแล้วดับไป ๒-๓ ขณะ รูปก็ดับไป ชวนจิตจึงเกิดไม่ได้ วาระนั้นจึงเป็น "โวฏฐัพพนวาระ" เพราะวิถีจิตสิ้นสุดลงที่โวฏฐัพพนจิต

สภาพธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง เป็นอย่างนี้ ฉะนั้น เมื่ออารมณ์กระทบปสาทแต่ละวาระนั้น ไม่ใช่ว่าวิถีจิตจะต้องเกิดดับสืบต่อไปตลอดทั้ง ๗ วิถี เมื่อวิถีจิตไม่เกิดเลยก็เป็นโมฆวาระ เมื่อวิถีจิตสิ้นสุดที่โวฏฐัพพนะก็เป็นโวฏฐัพพนวาระอารมณ์ของโวฏฐัพพนวาระเป็นปริตตารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ของวิถีจิตเพียงเล็กน้อย โดยเป็นอารมณ์ของวิถีจิตเพียง ๕ วิถีจิตเท่านั้นส่วนวาระใดที่เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว ชวนจิตเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะแล้วอารมณ์ก็ดับ ตทาลัมพนวิถีจิตเกิดไม่ได้ การรู้อารมณ์ของวิถีจิตวาระนั้นเป็น "ชวนวาระ" เพราะมีวิถีจิตเพียง ๖ วิถี คือ ถึงชวนวิถีเท่านั้นแล้วรูปก็ดับไป เมื่อวิถีจิตสิ้นสุดลงที่ชวนวิถี การรู้อารมณ์วาระนั้นจึงเป็นชวนวาระ อารมณ์ของชวนวาระเป็นมหันตารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ที่ชัดเจน ทำให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตหรือมหากิริยาจิต (ของพระอรหันต์) เกิดได้ส่วนวาระใดที่ชวนจิตเกิดดับ ๗ ครั้งแล้วอารมณ์ยังไม่ดับ จึงเป็นปัจจัยให้ตทาลัมพนวิถีเกิดขึ้น รู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับนั้นอีก ๒ ขณะ การรู้อารมณ์ของวิถีจิตวาระนั้นจึงเป็น "ตทารัมมณวาระ หรือ ตทาลัมพนวาระ" เพราะวิถีจิตสิ้นสุดลงที่ตทาลัมพนะอารมณ์ของตทาลัมพนวาระเป็นอติมหันตารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ที่ชัดเจนมาก เพราะแม้ชวนวิถีจิต ๗ ขณะดับไปแล้วอารมณ์ก็ยังไม่ดับ จึงเป็นปัจจัยให้ตทาลัมพนวิถีจิตเกิดได้การรู้อารมณ์ทางมโนทวารวิถีมีเพียง ๒ วาระเท่านั้น คือ ชวนวาระและตทาลัมพนวาระ

อารมณ์ของชวนวาระทางมโนวาร เป็น อวิภูตารมณ์ เพราะเป็นอารมณ์ที่ชัดเจนน้อยกว่าตทาลัมพนวาระ

อารมณ์ของตทาลัมพนวาระทางมโนทวารเป็น วิภูตารมณ์ เพราะเป็นอารมณ์ที่ชัดกว่าชวนวาระ

ทวาร

ทวาร คือ ประตูหรือทางที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังคจิต ฉะนั้นทวารจึงเป็นทางรู้อารมณ์ของวิถีจิต ทวารมี ๖ เป็นรูป ๕ ทวารและเป็นนาม ๑ ทวาร คือ

จักขุทวาร ได้แก่ จักขุปสาทรูป ๑

โสตทวาร ได้แก่ โสตปสาทรูป ๑

ฆานทวาร ได้แก่ ฆานปสาทรูป ๑

ชิวหาทวาร ได้แก่ ชิวหาปสาทรูป ๑

กายทวาร ได้แก่ กายปสาทรูป ๑

มโนทวาร ได้แก่ ภวังคุปัจเฉทจิต (ที่เกิดก่อนมโนทวาราวัชชนจิต) ๑

วัตถุ ๖

รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นั้น มี ๖ รูป เรียกว่า วัตถุรูป ๖ รูป

จักขุปสาทรูป ๑ เป็นจักขุวัตถุ เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง

โสตปสาทรูป ๑ เป็นโสตวัตถุ เป็นที่เกิดของโสตวิญญาณจิต ๒ ดวง

ฆานปสาทรูป ๑ เป็นฆานวัตถุ เป็นที่เกิดของฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง

ชิวหาปสาทรูป ๑ เป็นชิวหาวัตถุ เป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง

กายปสาทรูป ๑ เป็นกายวัตถุ เป็นที่เกิดของกายวิญญาณจิต ๒ ดวง

หทยรูป ๑ เป็นหทยวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตอื่นทั้งหมดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เว้นเฉพาะทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวงเท่านั้น

ฉะนั้น ปสาทรูป ๕ จึงเป็นทั้งทวาร ๕ และวัตถุ ๕ ดังนี้ คือ

จักขุปสาทรูป เป็นจักขุทวารของ จักขุทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณจิต สัมปฎิจฉันนจิต สัมตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต ตทาลัมพนจิต ซึ่งรู้รูปารมณ์ที่กระทบจักขุปสาทรูปนั้นและ รูปารมณ์นั้นยังไม่ดับไป แต่จักขุปสาทรูปนั้นเป็นจักขุวัตถุคือเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณจิต ๒ ดวงเท่านั้น ส่วนวิถีจิตอื่นๆ ในวาระเดียวกันนั้น คือ จักขุทวาราวัชชนจิตสัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิตตทาลัมพนจิต เกิดที่หทยวัตถุ

โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป ก็โดยนัยเดียวกัน

ส่วนหทยรูปนั้นเป็นวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของจิต แต่ไม่เป็นทวารเลย

คำถามทบทวน

๑. เพราะเหตุใดวิถีจิตทางมโนทวารจึงน้อยกว่าวิถีจิตทางปัญจทวาร

๒. โลภมูลจิตเกิดได้กี่ทวาร

๓. ปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิตเกิดได้กี่ทวาร

๔. โมฆวาระ โวฏฐัพพนวาระ ชวนวาระ ตทาลัมพนวาระ คืออะไร

๕. อวิภูตารมณ์และวิภูตารมณ์ คืออะไร

๖. ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เกิดที่รูปอะไร

๗. อกุศลจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เกิดที่รูปอะไร

๘. กิริยาจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เกิดที่รูปอะไร

๙. โสตทวารวิถีจิต เกิดที่รูปอะไรบ้าง

๑๐. เจตสิกในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เกิดที่รูปอะไรบ้าง

๒๕ มีนาคม ๒๕๔๓