#echo banner="" จิตตสังเขป บทที่ 3 ตอนที่ ๑ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

จิตตสังเขป
สุจินต์ บริหารวนเขตต์
http://www.dhammastudy.com/thpar4.html

บทที่ ๓ (ตอนที่ ๑)

ประการต่อไปอีกอย่างหนึ่งเพราะเหตุที่ศัพท์ว่า "จิตตํ" นี้ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ในว่า "จิตตํ" นี้กุศลจิต อกุศลจิต และมหากริยาจิตฝ่ายโลกีย์ ชื่อว่า "จิต" เพราะสั่งสมสันดานของตนเองสามารถแห่งชวนวิถีการที่จะเข้าใจอรรถที่ว่า ชื่อว่าจิต เพราะสั่งสมสันดานของตนเองสามารถแห่งชวนวิถีนั้น จะต้องเข้าใจเรื่องของจิตซึ่งเกิด ดับๆ สืบต่อกันอย่างรวดเร็วว่า นามธรรมที่เกิดกับจิตแล้วดับไปแต่ละขณะนั้น สะสมสืบต่อในจิตขณะหลังๆ ที่เกิดดับสืบต่อมานั่นเอง

เมื่อจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู เป็นต้น ตามปกติจะไม่รู้ว่าขณะที่เห็นหรือได้ยินนั้นเป็นลักษณะของจิต แต่มักจะรู้ว่าขณะใดจิตใจเป็นทุกข์ เศร้าหมองขุ่นมัว ขณะใดจิตใจสบาย แจ่มใส ขณะใดโกรธ ขณะใดเมตตาสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น ขณะใดเป็นมิตรไมตรีกับบุคคลอื่น จิตแต่ละขณะที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว นั้นก็สั่งสมสันดานของตน คือ ไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศล แต่ละขณะที่เกิดขึ้นแล้วดับไปนั้นเป็นปัจจัยสะสมสืบต่อในจิตดวง (ขณะ) ต่อๆ ไป เพราะเมื่อจิตดวงหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วดับไป การดับไปของจิตดวงก่อนเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อทันที ฉะนั้น จิตดวงที่เกิดต่อจึงมีสภาพธรรมซึ่งจิตดวงก่อนสะสมไว้ แล้วสืบต่อไปในจิตดวงหลังๆ ที่เกิดต่อๆ ไปอีกเรื่อยๆแต่ละท่านจะสังเกตได้ว่า แต่ละบุคคลมีอัธยาศัยต่างๆ กัน มีอุปนิสัยต่างๆ กัน ตามการสะสมของจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน บางท่านก็เป็นผู้ใจบุญใจกุศลเพราะจิตที่เป็นบุญกุศลนั้นๆ เป็นปัจจัยสืบต่อๆ ไปข้างหน้า อกุศลก็เช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นจิตประกอบด้วยโลภะ โทสะ หรือโมหะ เมื่อกุศลจิตประเภทนั้นๆ ดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น สืบต่อสภาพธรรมที่สะสมอยู่ในจิตดวงก่อนต่อไปอีก การที่จิตดวงหลังเกิดต่อจากจิตดวงก่อนอยู่เรื่อยๆ นั้น เพราะ จิตทุกดวงเป็นอนันตรปัจจัย คือ เป็นปัจจัยทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อทันทีที่จิตดวงก่อนดับ จิตทุกดวงเป็นอนันตรปัจจัย ทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น เว้นจุติจิตของพระอรหันต์ เท่านั้นที่ไม่เป็นอนันตรปัจจัย เมื่อจุติจิตของพระอรหันต์ดับจึงเป็นปรินิพพาน ไม่มีปฏิสนธิ จิตหรือจิตใดๆ เกิดสืบต่ออีกเลย ฉะนั้น ปัจจัยที่กล่าวถึงแล้วจึงมี ๓ ปัจจัย คือ สหชาตปัจจัย อารัมมณปัจจัย และอนันตรปัจจัย

ลักษณะของจิตประการที่ ๒ ข้อความในอัฏฐสาลินีมีว่า อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ว่า "จิตตํ" นี้ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ในคำว่า "จิตตํ" นี้ กุศลจิต อกุศลจิต และมหากิริยาจิตฝ่ายโลกีย์ จึงชื่อว่า "จิต" เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถีฟังดูเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่เป็นเรื่องจริงในชีวิตประจำวัน ส่วนมากทุกท่านก็ได้ยินคำว่ากุศลจิต และอกุศลจิตอยู่เสมอ แต่ยังไม่คุ้นกับมหากิริยาจิตฝ่ายโลกีย์และ "ชวนวิถี" จิตทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นประเภทต่างๆ ประการใดก็ตาม เมื่อจำแนกโดยการเกิด คือ โดยชาติแล้วมี ๔ ชาติ คือ เป็นกุศลจิต ๑ เป็นอกุศลจิต ๑ เป็นวิบากจิต ๑ เป็นกิริยาจิต ๑ (ภาษาบาลี คือ กุสลจิตตํ อกุสลจิตตํ วิปากจิตตํ กิริยาจิตตํ)ส่วนใหญ่ทุกท่านคุ้นกับคำว่ากุศลจิต และอกุศลจิต แต่ยังไม่คุ้นกับวิบากจิตและกิริยาจิต กุศลจิตเป็นจิตที่ดี ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดผล คือ กุศลวิบาก ในอนาคตข้างหน้า เมื่อกุศลจิตและกุศลเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันเป็นเหตุดับไปแล้ว ธรรมที่เป็นกุศลก็สะสมสืบต่อในจิตดวงต่อๆ ไป เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิก ซึ่งเป็นกุศลวิบากจิตและกุศลวิบากเจตสิกเกิดขึ้นร่วมกัน โดยเป็นผลของกุศลนั้นๆ ในอรรถกถามีข้อความว่าแม้วิบากเจตสิกเกิดร่วมกับจิต แต่เพราะจิตเป็นประธาน จึงใช้คำว่าวิบากจิตเท่านั้น ซึ่งก็หมายรวมถึงวิบากเจตสิกที่เกิดร่วมกันด้วย และแม้คำว่าจิตตชรูป คือ รูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นปัจจัยก็เช่นเดียวกัน จิตตชรูปเกิดขึ้นเพราะจิตและเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันเป็นปัจจัย แต่ใช้คำว่า "จิตตชรูป" นั้นก็หมายรวมถึง เจตสิกเกิดรวมกับจิตนั้นๆ ก็เห็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิดด้วย ฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงวิบากจิตก็หมายรวมถึงวิบากเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยอกุศลจิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นโทษ เป็นสภาพธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดผลที่เป็นทุกข์ ไม่น่าพอใจ คือ อกุศลวิบากจิตต่างๆ นอกจากกุศลจิตและอกุศลจิตและวิบากจิตแล้ว ก็เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง คือ กิริยาจิต ซึ่งไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก จึงไม่ใช่กุศลจิต และไม่ใช่วิบากจิตด้วย เพราะกิริยาจิตไม่ใช่ผลของกุศลจิตหรืออกุศลจิต

จิตทั้งหมดจำแนกเป็นชาติหนึ่งชาติใด ๔ ชาติ คือ เป็นกุศลหรืออกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา ถ้าไม่ศึกษาให้ละเอียดขึ้น ก็ไม่รู้ว่าขณะไหนเป็นกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต เช่น ขณะปฏิสนธิซึ่งเป็นจิตขณะแรกที่เกิดขึ้นในภพนี้ในชาตินี้ ที่ทุกท่านมีชีวิตอยู่ในขณะนี้ ก็เพราะปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นนั้น ไม่ได้กระทำกรรมใดๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ปฏิสนธิเป็นวิบากจิตซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมใดกรรมหนึ่งเป็นปัจจัย แม้ว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วในแต่ละภพชาติจะมากมายเพียงใดก็ตาม กรรมเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตหรือวิบากจิตใดเกิดขึ้น กรรมนั้นป็นกัมมปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตและวิบากจิตนั้น ถ้าเกิดในภูมิมนุษย์เป็นสุคติภูมิก็ต้องเป็นผลของกุศล กรรมจิตที่ปฏิสนธิก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเกิดในอบายภูมิ คือ เกิดในนรกหรือเกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็เป็นผลของอกุศลกรรม จิตที่ปฏิสนธิในอบายภูมิเป็นอกุศลวิบาก

เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมนั้นไม่ได้เพียงทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเท่านั้น เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมเดียวกันที่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดนั้นก็เป็นกัมมปัจจัย ทำให้วิบากจิตดวงต่อไปเกิดขึ้น ทำให้ภวังคกิจสืบต่อจากปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิต คือ จิตที่ทำให้สืบต่อจากจุติจิต (จิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน) ทันทีที่จุติจิตของชาติก่อนดับ กรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นจิตขณะแรกในชาตินี้ สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนแล้วก็ดับไป และกรรมเดียวกันนั้นเป็นปัจจัยให้วิบากจิตดวงต่อๆ ไปเกิดขึ้นกระทำภวังคกิจ คือกิจดำรงภพชาติ ที่เป็นบุคคลนี้สืบต่อไปจนกว่าจะจุติ คือเคลื่อนจากภพภูมินี้ สิ้นสุดสภาพที่เป็นบุคคลในชาตินี้ และในระหว่างที่ยังไม่จุติ กรรมอื่นๆ ก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิตต่างๆ เกิดขึ้นรู้อารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้"กุศล" คือ สภาพธรรมที่ดีงามไม่เป็นโทษภัย บางท่านเข้าใจว่า ท่านสามารถจะทำกุศลได้เฉพาะเวลาที่มีทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น แต่ลืมความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ถึงแม้ไม่มีเงิน แต่มีสิ่งของที่พอจะแบ่งปันเจือจาน สละให้เพื่อช่วยเหลือบุคคลอื่นๆ ได้ ท่านจะสละให้เพื่อช่วยเหลือคนอื่นได้ไหม ถ้าสละให้ไม่ได้ ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ผู้ที่ไม้รู้ว่ากุศลจิตเป็นจิตที่ดีงาม ไม่มีโทษก็อาจจะคิดเศร้าหมองใจว่า ท่านขาดเงิน ท่านทำบุญไม่ได้ แต่ความจริงนั้น ถึงแม้ว่าไม่มีเงินที่จะทำทานกุศล ก็มีกุศลอื่นอีกหลายประการที่กระทำได้ เช่นขณะที่รู้สึกเป็นมิตรไมตรีกับบุคคลอื่น มีจิตอ่อนโยน พูดคำที่อ่อนหวานด้วยใจจริง ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เจือจาน ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นสภาพธรรมที่ไม่เป็นโทษภัยใดๆ เลยขณะใดที่มีมานะสำคัญตนว่าสูงกว่า ดีกว่า เก่งกว่าบุคคลอื่น หรือแม้ว่ามีแบ่งแยกเป็นเราเป็นเขา ไม่ช่วยเหลือ ไม่เอื้อเฟื้อเจือจาน ขณะนั้นเป็นอกุศลจิตเป็นจิตที่ไม่ดีงาม เป็นสภาพธรรมที่เป็นโทษ

เมื่อเข้าใจลักษณะของกุศลจริงๆ ก็เจริญกุศลทุกประการได้ แม้ว่าไม่มีทรัพย์สินเงินทองที่จะให้ ก็ยังมีสิ่งอื่นเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งพอที่จะสละให้ได้ ถ้าสละให้ไม่ได้จริงๆ เพราะเป็นคนที่หวงของ แต่ก็คิดอยากให้จิตสงบ หรืออยากหมดกิเลสเป็นพระโสดาบัน จะสละสิ่งของให้ผู้อื่นได้บ้างไหมแต่ละบุคคลสะสมกุศลและอกุศลมาต่างๆ กัน ฉะนั้น จึงควรพิจารณาจิตของตนเอง ว่าเป็นผู้ที่ยังหวงสิ่งของมาก หรือว่าเริ่มสละสิ่งของให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆ บ้าง ทีละเล็กน้อยจนเป็นอุปนิสัยเป็นปัจจัยที่มีกำลัง ทำให้ละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมเป็นตัวตน จนปัญญาที่อบรมเจริญคมกล้าแล้วนั้นรู้แจ้งนิพพานได้ ผู้ที่คิดว่าอยากหมดกิเลสนั้น เวลากิเลสเกิดขึ้นก็ยังพอใจที่จะให้กิเลสนั้นมีอยู่ เช่น ขณะที่มีมานะความสำคัญตน ความริษยา แม้ผู้ใดจะบอกให้ละคลายเสีย ควรยินดีกับความสุขของบุคคลอื่น หรือควรมีเมตตาแม้ในบุคคลที่เลวร้าย ท่านจะกระทำได้ไหม ผู้ที่มีฉันทะ คือ พอใจที่จะโกรธ ดูหมิ่น ถือตัว ริษยาก็ย่อมไม่สามารถที่จะกระทำได้ ฉะนั้น การละกิเลสจึงไม่ใช่สิ่งที่กระทำได้ทันที จะต้องค่อยๆ เป็นไป ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาให้เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย ผู้ที่ต้องการดับกิเลสจริงๆ รู้ว่าจะต้องอบรมเจริญกุศลทุกประการ ไม่ใช่บำเพ็ญทานอย่างเดียวแล้วยังหวงเก็บอกุศลอย่างอื่นไว้ บางท่านก็อยากสงบเพราะรู้สึก ว่าวันๆ หนึ่งกระสับกระส่าย กระวนกระวายมาก คิดเรื่องนั้นก็โกรธ คิดเรื่องนั้นก็ยุ่ง มีแต่เรื่องเดือนร้อนรำคาญใจ เพราะไม่ได้พิจารณาจิตในขณะนั้น แต่พิจารณาบุคคลซึ่งท่านโกรธ เมื่อพิจารณาบุคคลอื่นในทางที่ทำให้เกิดอกุศล จิตก็ย่อมจะกระสับกระส่ายกระวนกระวายเดือนร้อน เมื่อรู้ว่ากำลังเดือนร้อน ก็อยากจะสงบ แต่ไม่รู้ว่าถ้าไม่โกรธขณะนั้นก็ไม่เดือดร้อน ขณะโกรธไม่สบายใจ เดือดร้อนใจ กังวลใจนั้นเป็นกุศลเป็นสภาพธรรมที่เป็นโทษ

ฉะนั้น ถ้าขณะใดโกรธแล้วระลึกได้ พิจารณาบุคคลอื่นในทางที่ทำให้เกิดเมตตาบ้าง กรุณาบ้าง มุทิตาบ้าง อุเบกขาบ้าง ก็ย่อมสงบได้ทันที เพราะขณะที่จิตมีเมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตา หรืออุเบกขา ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ จึงสงบ กุศลจิตทุกขณะสงบ ฉะนั้น เมื่อต้องการดับกิเลสจึงต้องเจริญกุศลทุกประการ ไม่ใช่เพียงทานกุศลเท่านั้น

ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ แสดงลักษณะของจิตประการที่ ๒ ว่าอีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุว่าศัพท์ว่า จิตตํ นี้ ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ในคำว่า "จิตตํ" นี้ กุศลจิต อกุศลจิต และมหากิริยาจิตฝ่ายโลกีย์จึงชื่อว่า "จิต" เพราะสั่งสมสันดานของตนเองด้วยสามารถแห่งชวนวิถีคำว่า "สันดาน" ในภาษาไทยมาจากคำภาษาบาลี ว่า "สนฺตาน" หรือ "สนฺตติ" ซึ่งหมายถึงการเกิดดับสืบต่อกัน จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นวิบากจิต ไม่ใช่กุศลจิตและไม่ใช่อกุศลจิต จึงไม่สั่งสมสันดาน จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสผลของอดีตกรรม เมื่อกรรมใดสุกงอมพร้อมที่จะให้ผล คือประกอบพร้อมด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น เห็น ได้ยิน เป็นต้น วิบากจิตไม่สั่งสมสันดาน เพราะวิบากจิตแต่ละขณะเกิดขึ้นเพราะกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมที่สะสมมาแล้วนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น เมื่อวิบากจิตเกิดขึ้นและดับไปแล้ว ก็ไม่เป็นเหตุให้วิบากใดๆ เกิดขึ้นเลยเพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของจิตประการที่ ๒ ที่ว่า กุศลจิต อกุศลจิต และมหากิริยาจิตฝ่ายโลกีย์ จึงชื่อว่า จิต เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถีนั้น ก็จะต้องเข้าใจวิถีจิตก่อนว่า วิถีจิต คือจิตประเภทไหน เกิดขึ้นเมื่อไร และจะต้องเข้าใจ ชวนวิถี ซึ่งเป็นขณะที่จิตสั่งสมสันดานของตนซึ่งเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง และสำหรับพระอรหันต์ก็เป็นมหากิริยาจิตฝ่ายโลกีย์ เพราะถึงแม้ว่าเป็นพระอรหันต์แล้วก็เป็นพระอรหันต์ที่มีกาย วาจา ใจ ต่างๆ กันตามการสั่งสมสันดานของตน

ฉะนั้น จึงต้องเข้าใจความหมายของวิถีจิตก่อนว่า วิถีจิต คือจิตที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต จิตใดก็ตามที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ภวังคจิตและจุติจิตแล้ว เป็นวิถีจิตทั้งหมด ในชาติหนึ่งปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นขณะเดียว คือ ขณะที่ที่ทำปฏิสนธิกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติปางก่อน เพียงขณะเดียวเท่านั้น ที่เป็นปฏิสนธิจิต ขณะที่จิตทำปฏิสนธิกิจนั้นไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสใดๆ ทั้งสิ้น ปฏิสนธิเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ปฏิสนธิจิตที่เกิดในภูมิมนุษย์เป็นกุศลวิบากจิต เป็นผลของกุศลกรรม

เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมไม่ได้ให้ผลเพียงพอให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเท่านั้น แต่เป็นปัจจัยให้วิบากจิตประเภทเดียวกัน เกิดขึ้นทำให้ภวังคกิจสืบต่อดำรงภพชาติของการเป็นบุคคลนั้น จนกว่าจะจุติ

ขณะที่ยังไม่จุตินั้น ภวังคจิตเกิดดับๆ กระทบกิจสืบต่อดำรงความเป็นบุคคลนั้นไว้ ในขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งกระทบสัมผัส และไม่คิดนึก ฉะนั้นขณะใดที่เป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต ขณะนั้นไม่ใช่วิถีจิต ขณะหลับสนิทไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ่มรส ไม่ได้กระทบสัมผัส ไม่ได้คิดนึก ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อกับไปเรื่อยๆ จนกว่าจะฝันหรือตื่นขึ้น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส คิดนึก อารมณ์ต่างๆ ในโลกนี้ ขณะที่วิบากจิตเกิดขึ้นทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจและจุติกิจนั้น อารมณ์ต่างๆ ในโลกนี้ไม่ปรากฏเลย โลกนี้จะเป็นโลกมนุษย์ ลักษณะอย่างไร ไม่ปรากฏทั้งสิ้น ถ้าขณะนี้ใครกำลังหลับก็จะไม่รู้ไม่เห็นเลยว่า ในที่นี้มีใครบ้าง มีเสียงอะไรบ้าง มีกลิ่นอะไรบ้าง เย็นร้อนประการใด โลกนี้ไม่ปรากฏกับปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิตเลย เมื่อไม่หลับก็ เมื่อไม่หลับก็จำเรื่องโลกนี้ จำบุคคลต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ในโลกนี้ แต่ขณะหลับสนิทเป็นภวังคจิต ตัดขาดจากอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในโลกนี้ทั้งหมด ไม่รู้ตนเองเป็นใคร อยู่ที่ไหน เกี่ยวข้องเป็นญาติกับใคร มีทรัพย์สมบัติยศฐาบรรดาศักดิ์ สุข ทุกข์ อย่างใด

ขณะที่เห็นไม่ใช่ภวังคจิต เป็นวิถีที่เกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตใดก็ตามซึ่งเกิดขึ้นเห็นหรือรู้ หรือยินดีพอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตขณะนั้นๆ เป็นวิถีจิต ขณะได้ยินเสียงแล้วพอใจ หรือไม่พอใจเสียง ขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต ขณะนั้นเป็นวิถีจิตจิต ทุกขณะที่เกิดขึ้นรู้รูปที่ปรากฏทางตาเป็นจักขุทวารวิถีจิต จิตทุกขณะที่เกิดขึ้นรู้เสียงทางหูเป็นโสตทวารวิถีจิต จิตทุกขณะเกิดขึ้นรู้รสทางลิ้นเป็นชิวหาทวารวิถีจิต จิตทุกขณะที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใจเป็นมโนทวารวิถีจิต

นามธรรมที่เกิดดับเป็นปรกติในชีวิตประจำวัน เป็นภวังคจิตที่เกิดสลับกับวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารต่างๆ

เมื่อปฏิสนธิในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ ในภูมิที่มีทั้งรูปขันธ์และนามขันธ์ กรรมเป็นปัจจัยทำให้กัมมชรูป คือ จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป เป็นต้น เกิดดับสืบต่อดำรงสภาพที่ไม่ใช่บุคคลที่ตาบอด หูหนวก เป็นต้น แต่ขณะใดกรรมที่ไม่เป็นปัจจัยให้จักขุปรูปเกิด บุคคลนั้นก็ตาบอดไม่เห็นอะไรเลย ฉะนั้น จิตเห็น และจิตอื่นๆ ทุกขณะจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตนั้นๆ ขณะที่วิถีจิตยังไม่เกิดขึ้นนั้น ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อกันอยู่เรื่อยๆเมื่อรูปใดเกิดขึ้นกระทบกับปสาทรูปใด และกระทบภวังค์วิถีจิตจะเกิดขึ้นทันทีไม่ได้ แต่เพื่อกำหนดให้รู้ว่ารูปเกิดขึ้นกระทบภวังคจิตขณะใด จึงบัญญัติภวังคจิตที่รูปเกิดขึ้นกระทบนั้นว่า "อดีตภวังค์" คือ เป็นภวังค์ที่เหมือนกับภวังค์ก่อนๆ แม้ว่ารูปจะเกิดดับเร็วมาก แต่จิตก็เกิดดับเร็วกว่ารูป สภาวรูปรูปหนึ่งเกิดดับเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ฉะนั้นอดีตภวังค์ คือ ขณะที่รูปเกิดกระทบกับปสาทรูป และกระทบกับภวังค์ขณะนั้น ทั้งนี้ เพื่อให้รู้ว่ารูปที่กระทบปสาทรูป และกระทบกับอดีตภวังค์นั้นจะดับเมื่อไร เพราะรูปหนึ่งมีเพียงอายุจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะเท่านั้น เมื่ออดีตภวังค์ดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้ภวังค์จิตดวงต่อไปไหว เป็น "ภวังคจลนะ" ซึ่งยังเป็นภวังคจิตอยู่ เพราะวิถีจิตจะเกิดขึ้นคั่นกระแสของภวังค์ทันทีไม่ได้ เมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังคจิตที่เกิดต่อเป็น "ภวังคุปัจเฉทะ" คือ เป็นภวังคจิตที่ตัดกระแสของภวังค์ เพราะเป็นภวังคจิตดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว วิถีจิตจึงเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้

วิถีจิตทุกขณะที่รู้อารมณ์ทางหูเป็นโสตทวารวิถีจิต เพราะ รู้รูปารมณ์ (สิ่งที่ปรากฏทางตา) ที่กระทบจักขุปสาทและยังไม่ดับ

วิถีจิตทุกขณะที่รู้อารมณ์ทางหูเป็นโสตทวารวิถีจิต เพราะ รู้สัททารมณ์ (เสียง) ที่กระทบกับโสตปสาทและยังไม่ดับไป

วิถีจิตทุกขณะที่รู้อารมณ์ทางจมูกเป็นฆานทวารวิถีจิตเพราะ รู้คันธารรมณ์ (กลิ่น) ที่กระทบกับฆานปสาทและยังไม่ดับไป

วิถีจิตทุกขณะที่รู้อารมณ์ทางลิ้นเป็นชิวหาทวารวิถีจิต เพราะรู้สารมณ์ (รส) ที่กระทบชิวหาประสาทและยังไม่ดับไป

วิถีจิตทุกขณะที่รู้อารมณ์ทางกายเป็นกายทวารวิถีเพราะ รู้โผฏฐัพพารมณ์ (เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว) ที่กระทบกับกายปสาทและยังไม่ดับไป

วิถีจิตทุกขณะทางใจซึ่งเป็นมโนทวารวิถีจิตนั้น รู้อารมณ์ได้ทุกอารมณ์ คือ รู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต่อจากวิถีจิตที่รู้ทางปัญจทวาร และรู้ธัมมารมณ์ คือ อารมณ์ที่สามารถรู้ได้เฉพาะทางใจ คือ มโนทวาร ทวารเดียวเท่านั้น