#echo banner="" จิตตสังเขป บทที่ 11 สุจินต์ บริหารวนเขตต์

จิตตสังเขป
โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์
http://www.dhammastudy.com/thpar12.html

บทที่ ๑๑

สัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่จำแนกจิตให้ต่างกัน โดยประเภทต่อไป คือ โดยสัมปยุตต์และวิปปยุตต์

คำว่า สัมปยุตตธรรม โดยทั่วไปหมายถึงเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต แต่เมื่อกล่าวถึงจิตที่ต่างกันโดยเป็นสัมปยุตต์และวิปปยุตต์นั้นมี ๕ ประเภท คือ เป็นอกุศลสัมปยุตต์ ๔ ประเภท เป็นโสภณสัมปยุตต์ ๑ ประเภท

อกุศลสัมปยุตต์ ๔ คือ

ทิฎฐิคตสัมปยุตต์ จิตเกิดร่วมกับทิฎฐิเจตสิก คือ ความเห็นผิด

ปฎิฆสัมปยุตต์ จิตเกิดร่วมกับโทสเจตสิก

วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ จิตเกิดร่วมกับวิจิกิจฉาเจตสิก คือ ความสงสัยในสภาพธรรม

อุทธัจจสัมปยุตต์ จิตเกิดร่วมกับอุทธัจจเจตสิก คือ สภาพธรรมที่ไม่สงบ

โสภณสัมปยุตต์ ๑ คือ

ญาณสัมปยุตต์ จิตเกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก

อกุศลจิต ๑๒ ดวง จำแนกโดยสัมปยุตต์

โลภมูลจิต ๘ ดวง เกิดร่วมกับทิฎฐิเจตสิก ความเห็นผิด เป็นทิฎฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด เป็นทิฎฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง

โทสมูลจิต ๒ ดวง เป็นปฎิฆสัมปยุตต์ คือ เกิดร่วมกับโทสเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้างทั้ง ๒ ดวง

โมหมูลจิต ๒ ดวง เกิดร่วมกับวิจิกิจฉาเจตสิก เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ๑ ดวง เกิดร่วมกับอุทธัจจเจตสิก เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ ๑ ดวง

รวมอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นสัมปยุตต์ ๘ ดวง เป็นวิปปยุตต์ ๔ ดวง

โลภมูลจิตทิฎฐิคตสัมปยุตต์ (และทิฎฐิคตวิปปยุตต์) นั้นต่างกันเป็น ๔ คือ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ๒ ดวง เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๒ ดวง

โลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา (และอุเบกขาเวทนา) นั้นต่างกันเป็น ๔ คือ เป็นอสังขาริกเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยการชักจูง ๒ ดวง เป็นสสังขาริกเกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง ๒ ดวง

รวมโลภมูลจิต ๘ ดวง คือ

โสมนสฺสสหคตํ ทิฎฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขขาริกํ

โสมนสฺสสหคตํ ทิฎฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขขาริกํ

โสมนสฺสสหคตํ ทิฎฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขขาริกํ

โสมนสฺสสหคตํ ทิฎฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขขาริกํ

อุเปกฺขาสหคตํ ทิฎฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขขาริกํ

อุเปกฺขาสหคตํ ทิฎฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขขาริกํ

อุเปกฺขาสหคตํ ทิฎฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขขาริกํ

อุเปกฺขาสหคตฺ ทิฎฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขขาริกํ

โทสมูลจิต ๒ ดวงนั้นเกิดร่วมกับปฎิฆะ คือ โทสเจตสิก จึงเป็นปฎิฆสัมปยุตต์ทั้ง ๒ ดวง เพราะเมื่อโทมนัสเวทนาเกิดขึ้นนั้น ต้องมีโทสเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง ประทุษร้าย เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ไม่เหมือนกับโสมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา ซึ่งเกิดร่วมกับโลภมูลจิต หรือกุศลจิต หรือวิบากจิต หรือกิริยาจิตก็ได้ ฉะนั้น เมื่อโทสมูลจิต ๒ ดวง เกิดร่วมกับโทมนัสเวทนา จึงต้องเป็นปฎิฆสัมปยุตต์ทั้ง ๒ ดวง และโทสมูลจิต ต่างกันเป็น ๒ ดวง ก็เพราะเป็นอสังขาริก คือเกิดขึ้นเองโดยไม่อาศัยการชักจูง ๑ และเป็นสสังขาริก คือเกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง ๑ ดังนั้นโทสมูลจิต ๒ ดวง คือ

โทมนสฺสสหคตํ ปฎิฆสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

โทมนสฺสสหคตํ ปฎิฆสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

โมหมูลจิตต่างกันเป็น ๒ ดวง คือ ดวงหนึ่งเป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ เกิดร่วมกับวิจิกิจฉาเจตสิก ซึ่งสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขันธ์ ธาตุ อดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นต้น อีกดวงหนึ่งเป็น อุทธัจจสัมปยุตต์

โมหเจตสิก เป็นเจตสิกที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้ว่ากำลังเผชิญหน้ากับอารมณ์ ก็ไม่สามารถรู้ลักษณะที่แท้จริง ของอารมณ์ ที่ปรากฏได้ เช่น ในขณะที่กำลังเห็นนี้ ไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เมื่อไม่รู้ก็สงสัยว่า ลักษณะของสภาพธรรม ที่เพียงปรากฏทางตา นั้นต่างกับที่เคยเข้าใจ ว่าสิ่งที่เห็นเป็นคนหรือเป็นวัตถุสิ่งของอย่างไร ขณะใดที่สงสัยขณะนั้นเป็นโมหมูลจิต วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าความสงสัยจะเกิดตลอดเวลา ขณะใดที่สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะนั้นเป็น โมหมูลจิตที่เกิดร่วมกับวิกิจฉาเจตสิก โดยปกติ เมื่อเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้นรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายแล้ว ถ้าขณะนั้น จิตที่เกิดต่อไป ไม่เป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิตประเภทอื่นๆ ก็เป็นโมหมูลจิต อุทธัจจสัมปยุตต์ เพราะว่าขณะนั้นไม่ได้มีความสงสัยเกิดร่วมด้วย ไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ฉะนั้น จึงรู้ลักษณะของโมหมูลจิต อุทธัจจสัมปยุตต์ได้ว่า ขณะใดที่หลงลืมสติ ขณะนั้นกำลังไม่รู้ ในสภาพของอารมณ์ ที่ปรากฏ และขณะที่อกุศลจิตไม่เกิดร่วมกับโลภเจตสิก หรือโทสเจตสิก และวิจิกิจฉาเจตสิก อกุศลจิตขณะนั้นก็เป็นโมหมูลจิต อุทธัจจสัมปยุตต์ ดังนั้น โมหมูลจิต ๒ ดวง คือ

อุเปกฺขาสหคตํ วิจิกิจฺฉาสมฺปยุตฺตํ ๑ ดวง

อุเปกฺขาสหคตํ อุทฺธจฺจสมฺปยุตฺตํ ๑ ดวง

รวมอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นสัมปยุตต์ ๘ ดวง เป็นวิปปยุตต์ ๔ ดวง

สำหรับโสภณสัมปยุตต์ คือ ญาณสัมปยุตต์นั้น จิตขณะใดเกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก ขณะนั้นก็เป็นญาณสัมปยุตต์

คำถามทบทวน

๑. ทิฎฐิเจตสิก เกิดกับจิตกี่ดวง

๒. ทิฎฐิเจตสิก เกิดร่วมกับเวทนาอะไร

๓. โทสเจตสิก เกิดร่วมกับเวทนาอะไร

๔. โสมนัสสเวทนา เกิดกับอกุศลจิตประเภทใด

๕. อุเบกขาเวทนา เกิดกับอกุศลจิตอะไรบ้าง

๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๓