#echo banner="" พุทธศาสนาในฐานะรากฐานของวิทยาศาสตร์ 36 พระธรรมปิฎก/

พุทธศาสนาในฐานะรากฐานของวิทยาศาสตร์ 36

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม

ปาฐกถาพิเศษ วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จัดโดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2534

จากหนังสือ ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง

คัดลอกจาก http://www.rit.ac.th/homepage-sc/charud/scibook/budddhist/index/index6.htm

การแก้ปัญหาที่ถ่วงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ในสังคมไทย

ก. มีแต่วัฒนธรรมเทคโนโลยี ขาดวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์

ตอนนี้ประเทศไทยของเรายังมีปัญหาที่ถ่วงการพัฒนาวิทยาศาสตร์หลายอย่าง ปัจจุบันนี้เราค่อนข้างจะมีความพรั่งพร้อมด้านเทคโนโลยีมาก แต่วิทยาศาสตร์เองกลับไม่ค่อยเจริญ จนถึงกับว่าคนจำนวนมากหรือประชาชนทั่วไปเข้าใจเอาเทคโนโลยีเป็นวิทยาศาสตร์ กลายเป็นปัญหาของเมืองไทยที่สำคัญ คือการที่คนไม่รู้จักวิทยาศาสตร์ เข้าใจว่าเทคโนโลยีเป็นวิทยาศาสตร์ และเมืองไทยชักจะมีวัฒนธรรมเทคโนโลยี ไม่มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ถ้าเราต้องการจะเจริญก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์ จะต้องพยายามพัฒนาวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ขึ้นมาให้ได้

ที่ว่ามีวัฒนธรรมเทคโนโลยี คือมีวิถีชีวิตที่เน้นเทคโนโลยีโดยเฉพาะในด้านการบริโภค หาความสะดวกสบาย ปล่อยให้ชีวิตขึ้นต่อเทคโนโลยี โดยที่ด้านจิตปัญญา จะเป็นตัวความรู้ก็ตาม ความใฝ่รู้ก็ตาม หรือนิสัยในการศึกษาค้นคว้าก็ตาม หาได้พัฒนาขึ้นมาด้วยไม่ บางทีใช้เทคโนโลยีที่แสนจะพัฒนาก้าวหน้าแต่จิตใจ ยังเชื่อสิ่งเหลวไหลงมงายอย่างตรงกันข้ามสวนทางกัน เพราะฉะนั้น จึงยังมีปัญหามาก และจะต้องพัฒนาวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ขึ้นมาให้คนมีวิถีชิวิตแห่งการแสวงหารความรู้ ชอบสืบค้นหาความรู้ มองตามเหตุปัจจัย คิดอะไรเป็นเหตุเป็นผล

การมีวัฒนธรรมเทคโนโลยี และขาดวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์นี้ อาจจะเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้ในเมืองไทยนี้คนเลือกเรียนวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์หายาก โดยมากจะไปเรียนวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยีเสียมากกว่า เพราะว่าทั้งความเข้าใจและความพอใจตามแบบวัฒนธรรมเทคโนโลยีมามีอิทธิพล อยู่เบื้องหลัง คนมีค่านิยมเทคโนโลยีมาก แต่ไม่มีค่านิยมวิทยาศาสตร์

. การมองความเจริญเหมือนนักเสพผลไม่มองแบบนักสร้างเหตุ

สภาพต่อไปที่จะต้องแก้ คือ การมองความเจริญแบบนักเสพผล ไม่มองความเจริญแบบนักสืบสาวสร้างเหตุ ข้อนี้เมื่อพูดตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ หรือกระบวนธรรมตามหลักพุทธศาสนาก็เป็นตัวหนุนวัฒนธรรมเทคโนโลยี และส่งเสริมวัฒนธรรมบริโภค ซึ่งนำไปสู่ความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย เวลาเรามองประเทศอเมริกาว่าเจริญ ขอให้ลองทดสอบคนไทยดูว่ามองอย่างไร คนไทยมองความเจริญด้วยท่าทีแบบนักเสพผล หรือด้วยท่าทีแบบนักสร้างเหตุ

ถ้าเป็นผู้มองความเจริญในความหมายแบบนักเสพผล ก็จะแสดงท่าทีและแนวความคิดออกมาว่า ถ้าเราเจริญอย่างอเมริกา ก็คือ เรามีกินมีใช้อย่างคนอเมริกัน หมายความว่า ถ้ามีกินมีใช้อย่างคนอเมริกันก็คือเจริญอย่างอเมริกา แต่ถ้ามองความเจริญแบบนักสืบสาวสร้างเหตุ เขาจะตอบอีกแบบหนึ่งว่า ถ้าเราเจริญอย่างอเมริกา ก็คือเราทำได้อย่างอเมริกา

ขณะนี้คนไทยทั่วไปตอบแบบไหน ถ้าเขาตอบว่าจะต้องมีกินมีใช้อย่างอเมริกา นั่นคือมองความเจริญแบบนักเสพผล แล้วจะนำไปสู่วัฒนธรรมบริโภค และวัฒนธรรมเทคโนโลยี จะไม่สนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นจะต้องเปลี่ยนท่าทีของจิตใจแม้แต่ในการมองความเจริญนี้ใหม่ ให้มองความเจริญแบบนักสืบสาวสร้างเหตุ พอเห็นอะไรก็ให้คิดที่จะทำให้ได้อย่างเขา พอคิดจะทำให้ได้อย่างเขา ก็จะสืบสาวหาเหตุปัจจัยในกระบวนการของเหตุผลทันที