#echo banner="" พุทธศาสนาในฐานะรากฐานของวิทยาศาสตร์ 06 พระธรรมปิฎก/

พุทธศาสนาในฐานะรากฐานของวิทยาศาสตร์ 06

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม

ปาฐกถาพิเศษ วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จัดโดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2534

จากหนังสือ ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง

คัดลอกจาก http://www.rit.ac.th/homepage-sc/charud/scibook/budddhist/index/index6.htm

ก้าวถึงสุดแดนแต่ก็รู้ว่าไม่จบ

ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เวลานี้ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ได้มาไกลมากแล้ว จนกำลังนะสุดแดนแห่งโลกวัตถุ ขอบเขตของวิทยาศาสตร์นั้นอยู่ที่โลกวัตถุ แต่ตอนนี้มันจะสุดเขตของแดนแห่งโลกวัตถุแล้ว และกำลังเข้ามาจ่อแดนของจิตใจ ตอนนี้ละจะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมาก ในแง่ของสิ่งที่เราจะศึกษา

สิ่งที่วิทยาศาสตร์จะศึกษาพิสูจน์ต่อไปนี้ กำลังจะก้าวเข้ามาในแดนของจิตใจ นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อย กำลังหันมาสนใจปัญหาเรื่องจิตใจว่า จิตใจคืออะไร จิตใจทำงานอย่างไร consciousness คืออะไร มันมาจากวัตถุจริงหรือไม่ หรือมันมีความมีอยู่ของมันต่างหาก อย่างคอมพิวเตอร์เวลานี้มี AI แล้ว AI ก็คือ artificial intelligence ที่เขาเรียกว่าปัญญาประดิษฐ์

ในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์นี้ ต่อไปจะทำให้คอมพิวเตอร์มีจิตใจหรือไม่ เรื่องนี้กำลังเป็นปัญหาที่นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยถกเถียงกันอยู่ ถึงกับเขียนหนังสือมาเป็นเล่มโต ๆ เลย บางเรื่องเป็น national bestseller ของอเมริกาก็มี ว่าด้วยเรื่องคอมพิวเตอร์จะมีจิตใจได้หรือไม่ อันนี้แสดงว่าวิทยาศาสตร์กำลังเข้ามาจ่อแดนของจิตใจ เมื่อจ่อแดนของจิตใจ ก็ก้าวเข้ามาสู่แดนของศาสนา เพราะฉะนั้น ก็มีเรื่องที่จะต้องมาพิจารณากัน นี้พูดในแง่ของสิ่งที่ถูกพิสูจน์หรือศึกษา

อีกด้านหนึ่งก็คือ ในแง่ของการพิสูจน์หรือวิธีพิสูจน์ เมื่อมาถึงขั้นนี้วิธีการพิสูจน์นั้นก็กำลังจะพ้นเลยขอบเขตของอินทรีย์ ๕ ออกไป แต่ก่อนนี้ เราใช้อินทรีย์ ๕ เปล่าเปลือย คือ ตา หู และร่างกายล้วน ๆ แล้วต่อมาเราก็อาศัยอุปกรณ์ที่ขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ เมื่ออินทรีย์เปล่า ๆ ไม่สามารถจะรับรู้ หรือรับทราบได้ เราก็เอาพวกเทคโนโลยีอุปกรณ์ที่ขยายวิสัยอินทรีย์นั้นมาใช้

แต่มาถึงตอนนี้แม้แต่อุปกรณ์เหล่านั้นก็อาจจะพิสูจน์ไม่ไหว คือ ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ เมื่อถึงขั้นนี้ การพิสูจน์ของวิทยาศาสตร์ ก็กลายมาเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์ คือใช้ภาษาคณิตศาสตร์เป็นสื่อ แล้วก็มาอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าเป็นสัญลักษณ์

เมื่อการสังเกต พิสูจน์ หรือตีความอะไรต่าง ๆ มาใกล้แดนของจิตใจมากขึ้น ถ้าวิทยาศาสตร์ยังไม่ปรับเปลี่ยนท่าทีและวิธีการ มันก็จะอยู่แค่ในระดับของการคาดหมายและความเชื่อ มีเรื่องความเชื่อเข้าไปปะปนมากขึ้นด้วย และอันนี้ก็คือเรื่องที่ว่า วิทยาศาสตร์กำลังเข้าจ่อแดนของจิตใจแล้ว จะเข้าถึงแดนนั้นได้หรือไม่ และอย่างไร ซึ่งเป็นจุดที่เราน่าจะพิจารณา

เมื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นกันอย่างนี้แล้ว ก็หันกลับไปดูตั้งแต่กำเนิด และพัฒนาการของวิทยาศาสตร์เป็นต้นมา