#echo banner="" ประวัติ หลวงปู่ตื้อ อลจธมโม 07

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ๗

พระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์ในยุคปัจจุปัน

โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๒

รศ.ดร.ปฐม - ภัทรา นิคมานนท์ เรียบเรียง

เผยแพร่โดยได้รับอนุญาต

๙๒

วัดป่าอาจารย์ตื้อ อ แม่แตง จ เชียงใหม่

พระเจดีย์และโบสถ์
วัดป่าอาจารย์ตื้อ

ในตอนนี้ เรามารู้จักวัดที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านอยู่จำพรรษา นานที่สุดในชีวิตของท่าน และเมื่อหลวงปู่ท่านหยุดการเดินธุดงค์แล้ว ท่านก็มาพำนักประจำอยู่ที่วัดป่าอาจารย์ตื้อแห่งนี้

วัดป่าอาจารย์ตื้อ ตั้งอยู่เลขที่ ๓๒๕ บ้านปากทาง ซอยศรีมหาพน หมู่ที่ ๗ ตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ถ้าหากเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปตามเส้นทางเชียงใหม่ เชียงดาว ก็จะผ่านตัวอำเภอแม่ริม ผ่านตัวอำเภอแม่แตงไปไม่ไกล ก็จะถึงทางแยกเข้าเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ซึ่งอยู่ทางขวามือ ระยะทาง จากเชียงใหม่มาถึงทางแยกเข้าเขื่อนนี้ก็ ๔๐ กิโลเมตรกับนิดหน่อย

ก่อนถึงทางแยกเข้าเขื่อน อยู่ตรงมุมด้านขวามือจะเห็นป้าย วัดป่าอาจารย์ตื้อ ได้ชัดเจน อยู่ก่อนทางแยกไม่ถึง ๕๐ เมตร

และถ้าหากเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางเขื่อนแม่งัดระยะทาง ๓ กิโลเมตร ก็จะถึงวัดอรัญญวิเวก ที่หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เคยพำนักอยู่ถึง ๑๑ ปีก่อนไปอยู่ที่ดอยแม่ปั๋ง ปัจจุบันหลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป ท่านเป็นเจ้าอาวาส

เส้นทางเส้นนี้จะผ่านไปทางเขื่อนแม่งัดไปทะลุออกเส้นทาง เชียงใหม่ - พร้าว ได้อย่างสะดวกสบาย ระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร กว่าๆ สามารถไปวัดดอยแม่ปั๋ง และวัดป่าอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) ซึ่งอยู่ในอำเภอพร้าว ได้อย่างสะดวกสบาย ทิวทัศน์สวยงามมาก ผ่านวัดป่าสายหลวงปู่มั่นหลายแห่ง รวมทั้งแวะไปดู ถ้ำดอกคำ สถานที่ที่หลวงปู่มั่นท่านพิชิตกิเลสได้อย่างราบคาบ ก็สะดวกใช้ได้

แหม...ผมน่าจะเขียนสารคดีท่องเที่ยว คิดว่าคงทำได้ไม่เบาเลย

ขออนุญาตพากลับมาที่วัดป่าอาจารย์ตื้อกันครับ วัดนี้สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต มีเนื้อที่ ๒๒ ไร่ ๒ งาน ๒๑ ตารางวา หนังสือ กรรมสิทธิ์ที่ดิน น.ส.๓ เลขที่ ๑๑๓ และ ส.ค.๑ เลขที่ ๗๐๗

ตอนนี้ต้องให้ตัวเลขที่ถูกต้อง อาจจะมีความหมายสำหรับคนชอบตัวเลขก็ได้

อาคารเสนาสนะก็มี พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ศาลา หอฉัน หอระฆัง โรงครัว โรงต้มน้ำ ปูชนียวัตถุก็มี พระพุทธรูปเนื้อโลหะ และองค์พระเจดีย์

วัดป่าอาจารย์ตื้อ ชาวบ้านจะเรียกสั้นๆ ว่า วัดป่า เดิมที่เป็นที่ดิน ของ นายหมื่น เกษม นางสา มะลิวัลย์ นายเลิศ ประทุม และนายปลั่ง จันทรวัชร

ก่อนนั้นชาวบ้านศรัทธาญาติโยมได้เคยนิมนต์พระธุดงค์มาพำนัก เพื่อโปรดชาวบ้าน พระท่านไปๆ มาๆ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๖ คณะศรัทธาจึงได้ นิมนต์หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม มาพำนักประจำที่นี่

ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ หลวงปู่ตื้อ ได้ก่อสร้างศาลาขึ้น ๑ หลัง และตั้งเป็น สำนักสงฆ์สามัคคีธรรม ขึ้น ได้มีพระธุดงค์ หรือพระป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต แวะเวียนมาพำนักตลอดมา

จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๑ หลวงปู่ตื้อ ได้รับนิมนต์กลับไปจำพรรษาที่จังหวัดนครพนม บ้านเกิดของท่าน หลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ ซึ่งเป็นหลานของท่านได้รับมอบหมายให้ดูแลปกครองวัดนี้ตลอดมา

ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ คณะศรัทธาซึ่งมีนายเลิศ ประทุม เป็นหัวหน้า ได้ทำเรื่องขอยกสำนักสงฆ์แห่งนี้ขึ้นเป็นวัด

พระครูภาวนาภิรัต (หลวงปู่สังข์ สํกิจโจ)
พระหลานชายของหลวงปู่ตื้อ

ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ (โอ้โฮ ! ใช้เวลาถึง ๑๐ ปี) ทางกรมการศาสนาจึงได้อนุมัติการเป็นวัดให้ตามที่ขอและได้ชื่อว่า วัดป่าอาจารย์ตื้อ ตามข้อเสนอแนะของท่านเจ้าคุณพระเทพกวี (ต่อมาเป็นพระธรรมดิลก และ ได้รับสถาปนาเป็น พระพุทธพจนวราภรณ์ ในปี ๒๕๔๔ ท่านเป็นเจ้าคณะภาค และเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง กับวัดป่าดาราภิรมย์)

ปี พ.ศ. ๒ ๔หลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสอย่างเป็นทางการ และกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อ วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ นี้เอง มีเขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๑๗ เมตร ยาว ๓๐ เมตร การบริหารและการปกครองก็มีเจ้าอาวาสดังที่กล่าวมา

ความเป็นระเบียบ สงบ และสะอาดสะอ้าน ไม่ต้องพูดถึงเพราะ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านเข้มงวดมาก และเป็นแบบฉบับของวัดป่าโดยทั่วไป

ผู้เขียน (รศ. ดร.ปฐม นิคมานนท์) ได้พาคณะศรัทธาไปทอดผ้าป่า ถวายเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน ครั้งแรกเมื่อ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕ นี้เอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้น

นี่คือประวัติที่สังเขปที่สุด ส่วนบรรยากาศและพลังบารมีทางธรรมนั้นขอเรียนเชิญทุกท่านไปสัมผัสด้วยตัวของท่านเอง คงไม่สามารถบอกแทนกันได้ จริงไหมครับ?

๙๓

ถวายพระพุทธรูป ๖๘ องค์มอบให้ชาวนครพนม

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม อายุ ๘๑ ปีได้รับนิมนต์ ลงไปกรุงเทพมหานคร แล้วท่านไปพักที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ เหมือนเช่นเคย

คณะศรัทธาญาติโยมได้ถวายพระพุทธรูปบูชากับหลวงปู่ มีจำนวนถึง ๖๘ องค์ หลวงปู่จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งหมดขึ้นไปถวายเพื่อประดิษฐานประจำวัดต่างๆ ในจังหวัดนครพนม ถิ่นมาตุภูมิของท่าน นับเป็นบุญของชาวนครพนมเป็นอย่างยิ่ง

แล้วหลวงปู่ก็ได้ไปพำนักที่วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม บ้านเกิดของท่าน ลูกหลานและญาติโยมทั้งหลายจึงได้กราบอาราธนาให้ท่านได้อยู่จำพรรษา ณ วัดแห่งนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่า “เพื่อสงเคราะห์ลูกหลานทางนี้บ้าง เพราะหลวงปู่ได้จากบ้านเกิดไปมากกว่า ๕๐ ปีแล้ว”

หลวงปู่จึงรับนิมนต์ และจำพรรษาที่วัดอรัญญวิเวกแห่งนี้ ในปี พ ศ. ๒๕๑๒ นั้นเอง

ท่านหลวงปู่ (ทางภาคอีสานเรียกว่า หลวงตา เพราะมีเพียงคำว่า ตา กับ ยาย เท่านั้นไม่มีคำว่า ปู่ กับ ย่า เหมือนภาคกลาง) ได้จัดสร้างพระเจดีย์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขึ้นมาโดยนำเอาช่างจากเชียงใหม่มาดำเนินการก่อสร้าง

มีพุทธศาสนิกชนจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เดินทางมากราบขอพรท่านมิได้ขาด หลวงปู่ต้องรับแขก และแสดงธรรมโปรดพระเณร และญาติโยมทุกวันอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย จนคณะศิษย์อุปัฏฐากต้องกำหนดเวลาพักผ่อนสำหรับท่าน ไว้อย่างแน่นอนเพื่อถนอมหลวงปู่ไว้ให้พวกเราได้กราบไหว้ไว้นานๆ เพราะอายุสังขารของท่านชรามากแล้ว

หลวงปู่ท่านไม่เคยเบื่อหน่ายในการแสดงธรรมท่านบอกว่า “หลวงตาจะแสดงธรรม เพื่อให้ลูกหลานและลูกศิษย์ทั้งหลาย ได้เข้าถึงธรรมอย่างแท้จริง”

ขณะเดียวกัน ท่านก็อบรมกรามฐาน แก่พระภิกษุสามเณร “เพื่อให้เป็นนักธรรม นักกรรมฐาน อย่างแท้จริง” ด้วย

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ทุ่มเทการเผยแผ่ธรรมะอย่างไม่รู้จักเหน็ด จักเหนื่อย ผู้สนใจใคร่ธรรมก็หลั่งไหลมาฟังธรรม และรับการอบรมจากท่าน ชนิดไม่ขาดสายเลยทีเดียว

๙๔

นิมนต์กลับไปจำพรรษาที่เชียงใหม่

เมื่อหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ไม่อยู่ ลูกศิษย์ลูกหาทางเชียงใหม่ คงต้องรู้สึกว้าเหว่และคิดถึงท่านอย่างแน่นอน จึงจ้องหาโอกาสที่จะนิมนต์หลวงปู่กลับเชียงใหม่คืนให้ได้ (อันนี้ผู้เขียนว่าเอง)

พอออกพรรษาในปีนั้นแล้ว ศรัทธาญาติโยมทางเชียงใหม่ จึงได้เดินทางไปนิมนต์หลวงปู่ของพวกเขาให้กลับไปอยู่ที่เชียงใหม่คืน ด้วยเหตุผลที่ว่า

“ท่านหลวงตาชราภาพมากแล้ว สุขภาพก็ไม่ค่อยแข็งแรง ต้องการให้ท่านได้พักผ่อน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจะได้พยาบาลรักษา และต้องการให้ท่านหลวงตาได้อยู่ใกล้โรงพยาบาลเพื่อจะได้ตอบแทนพระคุณด้วยการอุปัฏฐากรักษาท่านได้เต็มที่”

หลวงปู่ตอบญาติโยมชาวเชียงใหม่ว่า “อยู่ใกล้หมอยาถ้าหากเรา ไม่กินยาโรคก็ไม่หาย เราต้องอาศัยตัวของเราเอง” แล้วท่านก็หัวเราะอารมณ์ดีตามแบบฉบับของท่าน

เมื่อถอดรหัสคำพูดของท่าน ก็หมายความว่า ข้ออ้างที่ว่าเพื่อจะได้ใกล้หมอ ใกล้โรงพยาบาล จึงไม่จำเป็นสำหรับท่าน

ญาติโยม “จาวเจียงใหม่” ก็กราบนิมนต์ด้วยเหตุผลอื่นคือ “ที่วัด.(วัดป่าอาจารย์ตื้อ) ได้สร้างเจดีย์ สร้างพระพุทธรูป และศาลา ฟังธรรม เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เลยจะจัดให้มีการฉลองและทำบุญด้วย และขอนิมนต์ให้ท่านหลวงตาได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุด้วยองค์ของท่านเอง”

เมื่อโดนไม้นี้ ท่านหลวงตาตื้อ ของจาวเจียงใหม่ก็จำเป็นต้องรับนิมนต์ และแน่นอนปุถุชนคนใดเล่าที่จะยอมปล่อยผู้ที่ตนรักและเคารพบูชายิ่ง ให้หลุดมือไปอยู่กับคนอื่นได้

ผลก็คือ...หลวงปู่ตื้อท่านกลับไปจำพรรษาที่จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔

และแน่นอน...ชาวนครพนมคงจ้องรอจังหวะไปทวงหลวงตาตื้อ ที่รักและเคารพของเขากลับนครพนมคืนให้จงได้

ว่าโดยส่วนตัวของหลวงปู่แล้ว ท่านถูกอัธยาศัยกับอากาศทางภาคเหนือมาก เพราะเย็นสบายและเหมาะอย่างยิ่งต่อการบำเพ็ญภาวนา ญาติโยมก็ให้การอุปัฏฐากหลวงปู่ดี และเป็นแดนแห่งคนใจบุญสุนทาน และที่สำคัญหลวงปู่ท่านอยู่ทางเหนือมานาน ท่านบอกว่าท่านได้ “ธุดงค์ไปทุกหนทุกแห่งในภาคเหนือนี้ จนชินกับความหนาวเย็นของภาคเหนือ”

เป็นอันว่าตลอดพรรษาปี ๒๕๑๔ หลวงปู่พำนักอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่วัดป่าอาจารย์ตื้อนั่นเอง

ท่านผู้อ่านคงจะลุ้นระทึกเช่นเดียวกับผมว่า ชาวนครพนมจะไปทวงหลวงปู่ผู้เป็นที่เคารพรักยิ่งของพวกเขาคืนได้อย่างไร และในโอกาสใด

ต้องติดตาม !

๙๕

หลวงปู่กลับนครพนม

วัดอรัญญวิเวก อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

หลังจากออกพรรษาปี ๒๕๑๔ แล้ว ลูกหลานและทายกทายิกาชาวนครพนมพร้อมใจกันเดินทางไปกราบนิมนต์หลวงปู่ตื้อ อจลธมโม ให้กลับไปจำพรรษาที่นครพนม ถิ่นกำเนิดของท่าน และกับขออาราธนานิมนต์ให้ท่านอยู่จำพรรษาที่นครพนมตลอดไป

ไม้ตายของชาวนครพนมอยู่ที่คำว่า “ตลอดไป” นี้เอง

เหตุผลคือ “หลวงปู่จากนครพนมไปนานจนแก่เฒ่าแล้ว ขอให้ เมตตากลับไปโปรดลูกหลานที่บ้านเกิดด้วย”

หลวงปู่จึงรับนิมนต์ และไปจำพรรษาที่วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ตั้งแต่ออกพรรษาปี ๒๕๑๔ ติดต่อกันไปตราบจนท่านละขันธ์ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ คืออยู่ที่นครพนมได้ ๔ ปีเท่านั้นเอง

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เจดีย์ที่เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ ก็เสร็จ สมบูรณ์ ได้จัดพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและจัดงานฉลองสมโภชน์องค์พระเจดีย์ มีการบวชชีพราหณ์จำนวน ๒๓๐ คน มีการแสดงธรรม และปฏิบัติภาวนาตลอดคืน

ตลอดทั้งปีมีผู้มาฟังธรรมะ และมาเข้ารับการอบรมกรรมฐาน กับหลวงปู่จำนวนมาก หลวงปู่ต้องเทศน์ ต้องแสดงธรรมโปรดญาติโยม แทบไม่ว่างเว้นในแต่ละวัน แม้หลวงปู่จะอยู่ในวัยชราภาพ อายุ ๘๕ ปี แล้วก็ตาม ท่านลงสวดมนต์ทำวัตร สวดมนต์ และเทศน์ ที่ศาลาการเปรียญเป็นประจำและไม่เคยว่างเว้นการปฏิบัติกิจของสงฆ์เลย

ทางด้านสุขภาพของหลวงปู่ก็แข็งแรงดี ท่านไม่เคยเจ็บป่วย และไม่เคยบ่นว่าเหนื่อยหรือลำบากอะไรเลย

(จากการศึกษาประวัติชีวิตของหลวงปู่ ก็ไม่บอกว่าหลวงปู่เคยเจ็บป่วยถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อเลย จัดว่าหลวงปู่มีสุขภาพที่ดีเยี่ยมองค์หนึ่ง)

๙๖

บันทึกธรรมในช่วงที่หลวงปู่อยู่นครพนม

ท่านพระอาจารย์บูรฉัตร พรหมจาโร ศิษย์ผู้รวบรวมประวัติ ของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม  เล่มที่ผู้เขียนใช้เป็นหลักในการเขียนครั้งนี้ ได้บันทึกธรรมะที่หลวงปู่ได้แสดงช่วงที่ท่านอยู่ที่นครพนม ดังต่อไปนี้.-

เมื่อท่านมาพักจำพรรษาอยู่ที่วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า อ.ศรีสงคราม นครพนม นี้ ข้าพเจ้าได้ไปกราบคารวะท่าน (ข้าพเจ้าเรียกท่านว่า หลวงตา) เป็นประจำ ได้กราบเรียนถามถึงการที่ท่านได้ออกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ และท่านก็ชอบเล่าให้ฟังเสมอ

เพราะท่านหลวงตาท่านเดินธุดงค์ตั้งแต่บวชมาจนถึงวัยชราภาพ ด้วยความมุ่งมั่นในพระธรรมอย่างเด็ดเดี่ยวมีชื่อเสียง เป็นที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว

ท่านชอบเดินเข้าไปในดงเสือร้าย ชอบนั่งภาวนาในป่าช้า ชอบธุดงค์ไปพบผีเจ้าที่ ผีเจ้าป่า เป็นผู้มีวิชาที่ผีบอกให้ ท่านเคยบอกคาถาป้องกันไฟให้ และเคยใช้ได้ผลมาแล้ว

เมื่อข้าพเจ้าไปกราบท่านหลวงตา ท่านชอบเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ให้ฟังเสมอ และท่านหลวงตาชอบเทศน์ให้ฟังยาวๆ ถึง ๒ - ๓ ชั่วโมง ซึ่ง ก็เป็นความประสงค์ของผู้ฟังที่อยากให้เป็นเช่นนั้น

ครั้งหนึ่งท่านได้เล่าเหตุการณ์ที่ท่านเดินธุดงค์ไปตามภูเขา ตามป่า ดงพงไพร ให้ฟัง แบบการแสดงพระธรรมเทศนา ว่า

หลวงตาได้ออกเดินกรรมฐานมาหลายปีแล้ว จะเล่าให้ฟัง เมื่อครั้งไปจำพรรษาที่ภูลังกา อำเภอบ้านแพง นครพนม ได้เร่งทำความเพียรที่ภูลังกานั้นจนไม่ได้ฉันข้าวฉันน้ำ ตั้งใจแน่วแน่จะให้เห็นแจ้งต่อโลก พอจิตสงบบรรลุถึงโคตรภูญาณแล้ว รู้ไปถึงวิญญาณหลายพวกว่าเป็นอยู่อย่างไร

นี่แหละหลาน เราบรรพชาอุปสมบทมา ต้องเร่งทำให้รู้ และ เร่งทำให้ได้ เมื่อได้แล้วจะหมดสงสัยในการบรรพชา และจะลืมโลก อันมีระบบการเดินทางอันยืดยาวนี้เลยเด็ดขาด โลกนี้เขามีเครื่องผูกอันเหนียวแน่น ยากที่จะตัดได้ด้วยอย่างอื่น นอกจากพระธรรมของพระพุทธเจ้า

มนุษย์เราเกิดมาก็ต้องทำบาปแล้ว เมื่อทำแล้วก็ต้องได้รับผลกรรมที่เราทำไว้ พ่อแม่เรานั้นทำกรรมมา เราเกิดมาก็ทำกรรมไป อะไรที่สุดของกรรม ไม่มีใครรู้ได้ ทำบาปแล้วมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย

...ฯลฯ...

ท่านหลวงตาเล่าว่า สัตว์บางพวกในโลกหัวเป็นไก่ ท่อนตัวเป็นคน หัวเป็นควายตัวเป็นคน เป็นต้น ตามแต่บุญแต่กรรมที่ตนทำเอาไว้

วิญญาณเหล่านี้ ถ้าหากพ้นจากสภาพนี้แล้วคงมิได้กลับมาเกิดเป็นคน คงต่ำลงไปต่ำกว่าที่ตนอยู่

นักธรรม นักกรรมฐาน พระมหาเปรียญ ถ้าหากยังไม่บรรลุโคตรภูญาณแล้ว ก็คงไม่มีโอกาสได้รู้ได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นท่านพระครู ท่านเจ้าคุณ หรือสังฆราชก็เช่นกัน เพราะจิตนั้นไม่มีพุทโธ ธัมโม สังโฆ และยังเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าไม่ได้

พระพุทธเจ้าประสูติ กับพวกเราเกิด ต่างกันที่ตรงไหน ก็ต่างกัน ตรงที่พระพุทธเจ้าไม่หลงโลก ไม่ติดอยู่ในโลกเหมือนพวกเราทั้งหมดในทุกวันนี้

พระพุทธเจ้าท่านรู้แจ้งรู้จริง คือรู้ที่เกิดที่ตายของพวกสัตว์ ด้วยปัญญา ทั้งนี้ก็เพราะท่านรู้และตรัสรู้ของจริงตามความเป็นจริงนั่นเอง

แต่เมื่อถึงเวลาแล้ว พระองค์ก็จากโลกนี้ไปเข้าสู่พระนิพพาน ไม่มีการเกิดอีก เหลือไว้แต่ความดีให้พวกเราได้คำนึงระลึกถึง เพื่อไม่ให้เป็นผู้หลงตาย อย่างนี้เราจึงเคารพเลื่อมใส กราบไหว้อย่างไม่จืดจาง ยอมมอบกายถวายชีวิต

พวกเราทั้งหมดก็เกิดมาด้วยบุญวาสนา จึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นเวไนยชนอันหาได้ยาก เป็นที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว

พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ไม่ประมาท ไม่ให้ลืมตัว ไม่ให้ลืมบุญ วาสนาของตน คือไม่ให้ลืมตัวในการสร้างคุณงามความดี เพราะถ้าเราไม่สร้างคุณงามความดี ใจเราก็ไม่มีพุทโธ ธัมโม สังโฆ อันจะเป็นเหตุให้ต่อภพต่อชาติเป็นมนุษย์ต่อไป เมื่อบารมีไม่แก่กล้า หากเราไม่เชื่อมั่นในพระรัตนตรัย เราก็จะพากันไปสู่ภพที่ต่ำทรามก็ได้

หลายสิบครั้งที่ได้ฟังเทศน์ของท่านหลวงตา ปรากฏว่าไม่มีใครที่จะแสดงธรรมได้อย่างท่าน และท่านก็แสดงธรรมได้ไม่เหมือนใคร ท่านหลวงตากล้าพูด พูดในสิ่งที่เป็นความจริงมาก ตรงไปตรงมา

เมื่อท่านได้แสดงธรรมจบลงแล้ว ท่านชอบอธิบายซ้ำอีก เพื่อความแจ่มแจ้งในการปฏิบัติตามธรรมให้ชัดขึ้น ท่านหลวงตาเทศน์ได้ดี ตามทัศนะของนักฟังความจริงและท่านได้เล่าเรื่องแปลกๆ ให้ฟังเสมอ โดยเฉพาะท่านชอบสั่งสอนว่า

“ธรรมะคือคำสอนของพระพุทธเจ้า พวกเรามองข้ามไปเสียหมด อยู่ที่ตัวของเรานี้เอง มิใช่อื่น พุทธะ คือ ผู้รู้ ก็ตัวของเรานี้เองมิใช่ใครอื่น

เช่นเดียวกันกับไข่ ไข่อยู่ข้างในของเปลือกของไข่ ทำให้เปลือกไข่แตก เราก็ได้ไข่

พิจารณาร่างกายของเราให้แตก แล้วเราก็จะได้ธรรมะ”

“ธรรมะจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องการทำอะไรที่จริงจัง คือการตัดสินใจ อย่างแน่นอนลงไป แล้วเลือกเฟ้นธรรมะปฏิบัติอย่างแท้จริง ไม่นานหรอก เราก็จะได้พบสิ่งที่เราต้องการ

ความกลัวทุกอย่างจะหายไปหมด ถ้าเราตัดสินใจอย่างใดแล้ว คือเราต้องเป็นคนมีจุดมุ่งหมาย อย่างหลวงตานับตั้งแต่บวชมา ได้ ตัดสินใจปฏิบัติธรรมะอย่างจริงจังจนทุกวันนี้ ไม่เคยลดละและท้อถอยเลย

นักธรรม นักกรรมฐาน ต้องมีนิสัยอย่างเสือโคร่ง คือ ๑. น้ำจิต น้ำใจต้องแข็งแกร่ง กล้าหาญ ไม่กลัวต่ออันตรายใดๆ ๒. ต้องเที่ยวไปในเวลากลางคืนได้ ๓. ชอบอยู่ในที่สงัดจากคน ๔. ทำอะไรลงไปแล้วต้องมุ่งความสำเร็จเป็นจุดหมาย”

“สัตว์ดิรัจฉานมันดีกว่าคน ตรงที่มันไม่มีมายา ไม่หลอกลวงใคร มีครูอาจารย์ก็คือคน เป็นสัตว์นี้น่ารักน่าสงสาร คนเราซิโง่ เป็นพุทธะได้ แต่หลอกลวงตนเองว่าเป็นไปไม่ได้ ร่างกายก็ไม่ให้พิจารณาว่าเป็นของเน่า เป็นของเหม็น แต่เราพิจารณาว่าเป็นของหอมน่ารัก โง่ไหมคนเรา?”

ท่านบอกว่า ผู้ที่สงสัยในกรรม หรือไม่เชื่อว่าจะต้องส่งผล คือ คนที่ลืมตนลืมตาย กลายเป็นคนมืดคนบอด คนประเภทที่ว่านี้ย่อมช่วยอะไรเขาไม่ได้เลย แม้จะมีกำเนิดสูงส่งสักปานใด ได้รับการทนุถนอมเลี้ยงดูมาอย่างวิเศษเพียงไรก็ตาม หากเขาไม่มองเห็นคุณข้าวคุณน้ำ คุณบิดามารดาแล้วนั้น เขาเรียกว่าคนรกโลก และก็ไม่รู้ด้วยว่าตนเองเป็นคนรกโลก และก็ไม่สนใจจะรู้ด้วย

คิดเห็นแต่ว่า เพียงเขาเกิดมาและเจริญเติบโตมาจนกระทั่ง ถึงปัจจุบันด้วยการดื่ม การกินอาหารบำรุงเลี้ยงร่างกายจนเติบใหญ่ เป็นเพราะมันจะต้องเป็นไปในทำนองนั้น

มิได้คิดไปว่าตนเองนั้นได้เกิดขึ้นเป็นตัวเป็นตนเพราะคุณของบิดามารดาทั้งสองป้องกันรักษาให้ชีวิตและร่างกายแก่ตนมา

การทำความดี แม้แต่รูปร่างกายเรานี้ โดยกระทำให้ถูกให้ควรว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นกุศล อกุศล สิ่งที่บันดาลให้ร่างกายเราเจริญเติบโตขึ้นมาได้ ถ้าไม่เรียกว่าเป็นผล เราสมควรจะเรียกว่าเป็นอะไร จึงจะถูกต้องตามความเป็นจริง

ความดี ความชั่ว สุข ทุกข์ ที่สัตว์โลกได้รับกันมาโดยตลอดสาย ถ้าปราศจากแรงหนุนเป็นต้นก็คงอยู่เฉยๆ

ท่านพ่อลี, หลวงปู่ตื้อ, พระอาจารย์แดง ธมฺรกฺขิโต

ฉะนั้นนักกรรมฐานขอจงได้พิจารณาธรรมะของพระพุทธเจ้า คือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นที่อยู่อาศัยของจิตนั้นให้มั่นคงถาวร

และเมื่อเทศน์จบลง ท่านชอบถามผู้ฟังว่า ฟังเทศน์ดีไหม? คำถามเช่นนี้เคยกราบเรียนท่านว่า หมายถึงอะไร? ท่านบอกว่า หมายถึง การฟังธรรมครั้งนี้ ได้รับความสงบเป็นของจิตไหม และเกิดสังเวชในความชั่วไหม?

ท่านหลวงตาชอบตักเตือนเสมอว่า การปฏิบัติธรรมะนั้น อย่างที่ ท่านบูรพาจารย์ทั้งหลายดำเนินมานั้น ท่านพยายามไม่ให้เกิดความเบื่อหน่ายในการปฏิบัติธรรม พยายามให้เกิดความสนใจในธรรมปฏิบัติอยู่เสมอ

การที่เราเกิดความเบื่อหน่ายในธรรมปฏิบัตินี้เป็นการที่เราจะดำเนินการไปไม่ได้นาน และจะเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างมาก

แต่เกิดความสังเวชในธรรมบางอย่างนั้นเป็นการดี เพราะจะเป็น ประโยชน์แก่เราผู้ปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง แต่ถ้าเบื่อหน่ายในความชั่ว ไม่เป็นไร เพราะถ้าเบื่อหน่ายในความชั่วแล้ว ก็เร่งพยายามทำความดีต่อไป

๙๗

ภารกิจช่วงสุดท้ายด้านการพัฒนา

ในช่วง ๔ ปีระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๔ - ๒๕๑๗ ที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม พักจำพรรษาที่วัดอรัญญวิเวก วัดบ้านเกิดของท่านนั้น หลวงปู่ได้แสดงธรรมโปรดลูกหลาน ศิษยานุศิษย์ ญาติโยมทั้งไกลทั้งใกล้ อย่างไม่ขาดเลย

แม้หลวงปู่จะชราภาพมากแล้วก็ตาม ถ้ามีญาติโยมไม่ว่าใกล้หรือไกลมากราบเยี่ยมท่าน ท่านจะต้อนรับขับสู้ด้วยการให้โอวาทธรรม และแสดงธรรมโปรดเสมอ

ในช่วง ๔ ปีสุดท้ายนี้ หลวงปู่ได้ก่อสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๑ องค์ ที่วัดอรัญญวิเวกแห่งนี้ เพื่อให้เป็นที่สักการบูชาของประชาชนทั่วไป สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๔ หมื่นบาทเศษ

ได้มีผู้ศรัทธาถวายปัจจัยร่วมการก่อสร้างจำนวนมาก ท่านได้นำปัจจัยที่เหลือจากการสร้างเจดีย์มาสร้างโบสถ์ต่อไป

หลวงปู่ได้ปรารภถึงวัดศรีวิชัย บ้านศรีเวินชัยของท่านพระครูอดุลธรรมภาณ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ประจำอำเภอศรีสงคราม ว่าสมควรจะได้สร้างพระอุโบสถไว้บวชลูกหลานเพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนา

ท่านพระครูอดุลธรรมภาณจึงได้ขออนุญาตหลวงปู่เพื่อจัดสร้างวัตถุมงคลขึ้น เพื่อหารายได้ในการสร้างโบสถ์ หลวงปู่ท่านก็อนุญาต

วัตถุมงคลที่จัดสร้าง มี ๓ ประเภท คือ (๑) พระกริ่งรูปเหมือนของท่าน มีเนื้อเงิน ๑๒ องค์ และเนื้อนวโลหะ ๕๐๐ องค์ (๒) พระผง รูปเหมือนของท่านเนื้อว่านสี่เหลี่ยม ๒,๐๐๐ องค์ และชนิดกลม ๑,๒๐๐ องค์ (๓) เหรียญเนื้อทองแดง และชุบนิกเกิ้ล ๑๕,๐๐๐ เหรียญ เนื้อเงิน ๙๐ เหรียญ และเนื้อนวโลหะ ๒๐๐ เหรียญ

วัตถุมงคลชุดนี้สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๖ แล้วนำ ถวายให้ท่านปลุกเสกเดี่ยวจนถึงวาระสุดท้ายในชีวิตของท่านจึงเป็นวัตถุ มงคลรุ่นสุดท้ายจริงๆ

ภายหลังจากหลวงปู่มรณภาพแล้ว ก็ได้จัดพิธีพุทธาภิเษก วัตถุมงคลชุดนี้อีกครั้งหนึ่งในวันทำบุญครบรอบมรณภาพ ๑๐๐ วันของท่าน

งานพิธีได้จัดขึ้นที่วัดอรัญญวิเวกนี้ ได้นิมนต์ครูบาอาจารย์สายกรรมฐานมาเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกหลายองค์

ได้กล่าวแต่ต้นแล้วว่า รายได้จากการสร้างวัตถุมงคลชุดนี้ นำไปสร้างพระอุโบสถวัดศรีวิชัย ของท่านพระครูอดุลธรรมภาณ และอีกส่วนหนึ่งนำไปก่อสร้างพระอุโบสถวัดอรัญญวิเวก ซึ่งขณะนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์

ทั้งหมดนี้คือภารกิจด้านการพัฒนาในช่วงสุดท้ายในชีวิตของหลวงปู่ ซึ่งในชีวิตของหลวงปู่แล้วท่านทุ่มเทในการสร้างคนมากกว่า การสร้างวัตถุสิ่งของ ถาวรวัตถุในวัดของท่านจึงมีเท่าที่จำเป็น และต้องใช้ประโยชน์จริงๆ เท่านั้น

๙๘

ท่านหลวงตาพระมหาบัวพูดเรื่องเสือกับหลวงปู่ตื้อ

ในหนังสือ พ่อแม่ครูอาจารย์ ซึ่งเป็นประวัติของท่านหลวงตา พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ได้พูดถึงหลวงปู่ตื้อ ภายใต้หัวข้อ “เสือกับหลวงปู่ตื้อ” ดังนี้ : -

พระอาจารย์มหาบัว

“หลวงปู่ตื้อ บ้านข่า สามผง เราเคยไปพักอยู่เหมือนกันแต่ก่อน ไปภาวนา เสือชุมมากแถวนั้น หลวงปู่ตื้อ ท่านมีคาถาเป็นครูเสือ ไปอยู่ไหนเสือมักมานอนเฝ้าอยู่รอบๆ ข้างๆ ที่พักท่าน

หลวงปู่ตื้อท่านไปอยู่แม่ฮ่องสอนไปอยู่ในบ้าน เสือก็มาอยู่ด้วย เสือโคร่งใหญ่นะมันมาแอบอยู่ด้วย

ผู้เฒ่า (หลวงปู่ตื้อ) ไม่ได้สนใจกลัวมันแหละ เพราะมันเป็นครู คนอื่นนั่นสิ พระไปอยู่ด้วย พอดีกลางคืนพระปวดเบา จะออกมาเบา ออกมาเสือมันหมอบอยู่ข้างๆ เสือฮ่าๆ ใส่ เสียงร้องจ้าก วิ่งมา

มันไม่มีอะไร มันจะเป็นอะไร มันไม่เป็นไรแหละ หลวงปู่ตื้อ บอก ไม่เป็นไร มันตื่น บางทีมันอาจทักทายเฉยๆ ก็ได้ ท่านว่าอย่างนั้น

เสือมันโฮกๆ ใส่ พระก็โดดเข้ากุฏิ กุฏิพังกระมัง พระองค์นั้นมาอยู่ได้คืนเดียว วันหลังเผ่นเลย กลัว โอ๊ย ! อยู่ไม่ได้

ไม่เป็นไรแหละ อยู่จะเป็นไรไป มันก็อยู่กับคนดีแล้วนี่ หลวงปู่ตื้อท่านว่างั้นนะ

เสือมันอยู่แอบๆ อยู่นี่ไม่ออกมาหาคนแหละ บางทีก็เห็นมันอยู่ในป่า คนอยู่อย่างนี้ แต่ถ้ามีคนแปลกหน้ามา มันคำรามนะ ท่านว่าให้มันทำ มันไม่ทำแหละ เพราะมันเป็นหมาของพระ ว่างั้นเถอะ รักษาเจ้าของ ใครมาแปลกๆ หน้านี่ไม่ได้ มันขู่คำราม ว่างั้น

พอหลวงปู่ตื้อว่า อย่าไปขู่เขานะ มันก็เงียบเลย

เวลาหลวงปู่ตื้อไปไหนมาไหน เสือมักจะตามไปรักษาท่าน รักษา เงียบๆนะ มันอยู่ในป่าแหละเสือ ท่านไปพักภาวนานี่ เสือมักจะมาอยู่ข้างๆ ถ้ามีคนแปลกหน้ามา เราถึงจะรู้ว่ามีเสือนะ

ถ้าไม่มีคนแปลกหน้ามาก็เหมือนไม่มีเสือ มันไม่แสดงตัว มันอยู่ รอบๆ ข้างๆ ถ้ามีคนแปลกหน้ามา มีพระแปลกหน้ามา มันคำรามใส่ บางทีขู่คำราม เฮ่อๆ ใส โอ๊ย !

ไม่เป็นไรแหละ มันรักษาพระ มันอยู่นี้เป็นประจำไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัวมัน

นี่หลวงปู่ตื้อท่านเป็นอย่างนั้นนะ”

๙๙

เสือขับไล่เจ้าคณะอำเภอ

ท่านหลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้กล่าวถึงเรื่อง เสือกับหลวงปู่ตื้อ ต่อไปนี้ว่า : -

ท่านว่า ข้ามไปเที่ยวตั้ง ๕ อำเภอ มันยังตามไปนะเสือตัวนี้

อันนี้เรายังไม่เล่าให้ฟังถึงเรื่องเจ้าคณะอำเภอจะมาขับไล่ท่าน อันนี้ขบขันดีนะ

ตอนกลางคืนแต่ก่อนไม่มีไฟฟ้า มีแต่ตะเกียงเจ้าพายุ เจ้าคณะ อำเภอเห็นท่านไปอยู่ในป่า จะมาขับไล่ท่าน จุดตะเกียงเจ้าพายุหิ้วมา กลางคืน จะมาขับไล่ท่าน

พอมาถึงวัด เสือตัวนั้นออกมาคำรามใหญ่เลย เฮ่อๆ ทางนี้ เปิดเลย ตะเกียงเจ้าพายุจะตกฟากแม่น้ำโขง (กระมัง) ไปใหญ่เลย

ตกลงเสือขับเสียก่อน พระนั้นยังไม่ได้มาขับหลวงปู่ตื้อแหละ ถูกเสือขับเสียก่อนแล้ว เผ่นใหญ่เลย ไปใหญ่เลย แตกทั้งญาติทั้งโยม ทั้งพระ แตกไปด้วยกัน ฮือๆ เลย

เสือมันคำรามใส่ มันยังไม่ทำไมแหละ มันก็เหมือนกับหมามี เจ้าของ ก็คาถาท่านครอบไว้นี่ มันกลัว ใจมันลง มันไม่ถือเป็นข้าศึก ถือเป็นเหมือนเจ้าของ

๑๐๐

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท พูดถึงหลวงปู่ตื้อ

หลวงปู่เจี้ยะ จุนโท

หลวงปู่เจี้ยะ จุนโท แห่งสำนักวัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อำเภอ สามโคก จังหวัดปทุมธานี เป็นศิษย์อาวุโสที่สำคัญอีกองค์หนึ่ง ท่านรับ ใช้ใกล้ชิด และหลวงปู่มั่นเอ็นดูเหมือนลูกเหมือนหลานท่านจริงๆ

ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๐๙-๒๕๑๘ หลวงปู่เจี้ยะ พำนักจำพรรษาที่ วัดเขาแก้ว อำเภอเมือง จันทบุรี บ้านเกิดของท่าน ท่านได้ปฏิบัติพัฒนาวัดแห่งนี้จนเจริญรุ่งเรือง สร้างเสนาสนะบริบูรณ์ทุกอย่าง

ในปี พ ศ.๒๕๑๗ หลวงปู่เจี้ยะได้จัดงานทำบุญฉลองพระอุโบสถ โดยนิมนต์หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม มาเป็นประธาน และ พระกรรมฐานทั้งหลายได้มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก พระผู้ใหญ่ก็เช่น หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระอาจารย์วัน อุตฺตโม พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย เป็นต้น

เมื่อหลวงปู่ตื้อ มาพักที่วัดเขาแก้ว ท่านจะสนทนาธรรมกับ หลวงปู่เจี้ยะ เป็นเวลานานๆ หลวงปู่เจี้ยะจะแสดงกิริยานอบน้อมน่ารักยิ่งนัก พูดจาวา “ครับ...ครับ... ครูอาจารย์” ในเวลาพูดก็พนมมือโดยตลอด

ขณะหลวงปู่ตื้อพักที่วัดเขาแก้วนั้น มีคนมาถามปัญหาท่าน บางปัญหาก็น่าขำ เช่น มีโยมคนหนึ่งกราบเรียนถามท่านว่า

“หลวงปู่ครับ มุตโตทัย มันเกิดที่ไหน? หลวงปู่รู้ไหม?”

“เฮ้ย ! รู้ๆๆ จากโคราชลงมาทางกรุงเทพฯ นี่มุตโตไทย จากโคราชขึ้นไปทางอุดร ขอนแก่นโน่น เป็นมุตโตลาว !” ญาติโยมหัวเราะกันครืน

แล้วหลวงปู่ตื้อท่านก็พูดว่า “มีปัญหาอะไรถามมาเลย กูนี่ตอบ ได้หมด ยิ่งปัญหาเป็นพันๆ ปี ก็ยิ่งตอบได้ถนัด”

“โอ ! ขนาดนั้นเลยหรือหลวงปู่” โยมคนนั้นกล่าว โยมคนอื่นๆ มองหลวงปู่ตื้อ นัยน์ตาสลอนเหมือนตุ๊กตา

“เออซีวะ...กูตอบได้หมดปัญหาในโลกนี้ ยิ่งนานเป็นพันปี ยิ่งตอบ ได้เต็มปากเต็มคำ”

“ทำไมเป็นอย่างงั้นล่ะปู่” โยมผู้หญิงคนหนึ่งถาม

“มันนานาแล้ว ไม่มีคนไปรู้กับกูหรอก ไม่มีคนไปค้นได้ ไอ้คน ที่ถามกู มันก็ไม่รู้เรื่องหรอกนะ”

หลวงปู่ตื้อท่านว่าอย่างนั้น คนก็ยิ่งหัวเราะกันครื้นเครง

มีโยมคนหนึ่งนั่งใกล้ๆ กับหลวงปู่เจี้ยะ พูดกระซิบถามท่านว่า ถ้าหลวงปู่ตื้ออยู่ ท่านหลวงตามหาบัว จะกล้าหยอกเล่นไหมครับ?”

“อู้ย! ไม่กล้าหรอก”

หลวงปู่เจี้ยะ ตอบแบบเน้น ป้องปากแบบซุบซิบๆ

(จากหนังสือ หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท : พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง หน้า ๓๐๔-๓๐๕)

๑๐๑

ได้พระผู้มีบุญญฤทธิ์มาช่วยสร้างโบสถ์

หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม

ในปี พ.ศ.๒๕๑๕ ขณะที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม พำนักจำพรรษาที่วัดอรัญญวิเวก (วัดป่าบ้านข่า) อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ท่านปรารภที่จะสร้างโบสถ์ที่วัดแห่งนี้ขึ้น

หลวงปู่ท่านได้นิมิตเห็นเทวดาสวมชุดขาว สวมชฎาเหมือมงกุฎกษัตริย์ อุ้มท่านเหาะขึ้นไปบนยอดเขาสูง ซึ่งมีปราสาทสวยงามมาก ก่อนเข้าในปราสาท หลวงปู่ขอล้างเท้าก่อน พอน้ำที่ใสและเย็นถูกหลังเท้าของท่าน จิตท่านเลยถอนออกจากนิมิต

หลวงปู่ได้เพ่งพิจารณานิมิตนั้น ก็ได้ความว่าจะมีพระที่มี บุญญฤทธิ์ ชื่อคล้ายๆ กับ สิงห์ หรือ สิม นี้แหละ อยู่จังหวัดอุดรธานี จะมาช่วยสร้างโบสถ์ให้สำเร็จ

หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน หลวงปู่ได้นิมิตอีกครั้งหนึ่งว่าท่านเห็น เครื่องบินผ่านวัด (ช่วงนั้นอยู่ระหว่างสงครามเวียดนาม เครื่องบินสหรัฐ บรรทุกระเบิดไปทิ้งในเวียดนามและบินผ่านวัดเป็นประจำ) ท่านจึงหยิบ ปืนที่อยู่ข้างๆ เล็งขึ้นไป ปรากฏว่าท่านเห็นมีพระปัจเจกโพธิ์อยู่ใน เครื่องบินลำนั้น ท่านจึงวางปืนลง และรำพึงว่า “เราเกือบยิงพระปัจเจก โพธิ์แล้ว”

วันรุ่งขึ้นได้มีคณะผ้าป่ามาจากจังหวัดอุดรธานี นำโดยโยมกุ้ยกิ่ม ในคณะได้มีท่านพระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ร่วมเดินทางมาด้วย

ท่านพระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ พำนักอยู่ที่วัดทิพย์รัฐนิมิตร หรือ วัดบ้านจิก อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ชื่อของท่านคือ หลวงปู่ถิร ฐิตธมฺโม ท่านมีฝีมือในการสร้างโบสถ์ได้อย่างงดงาม ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปฝึกหัด หรือร่ำเรียนจากที่ใดมาก่อน

ชื่อของท่านคือ “ถิร” อ่านว่า “ถิน” เสียงคล้ายๆ กับ สิงห์ หรือ สิม ในนิมิตของหลวงปู่ตื้อ

ช่วงนั้นหลวงปู่ถิร ได้ช่วยหลวงปู่ชอบ ฐานสโม สร้างโบสถ์กลางน้ำที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งใกล้จะเสร็จแล้ว

หลวงปู่ตื้อยังไม่รู้จักหลวงปู่ถิร แต่หลวงปู่ถิรรู้จักหลวงปู่ตื้อมาก่อนในฐานะที่หลวงปู่ตื้อเป็นลูกศิษย์รุ่นใหญ่ในสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

เมื่อหลวงปู่ตื้อปรารภเรื่องการสร้างโบสถ์ หลวงปู่ถิร ได้กล่าว ว่า “ถ้าเรามีบุญบารมีร่วมกันมาก่อน ก็คงจะร่วมกันสร้างโบสถ์ได้สำเร็จ”

แล้วหลวงปู่ถิรก็รับปากจะช่วย โดยขอข้อแม้ ๒ ประการ หนึ่ง ต้องไม่มีการสร้างเหรียญหรือวัตถุมงคลออกจำหน่ายหาเงินเข้าวัด และ สอง ต้องไม่มีการจัดมหรสพเพื่อหาเงินเข้าวัด”

พระอุโบสถ วัดอรัญญวิเวก

วัตถุประสงค์ของหลวงปู่ทั้งสองตรงกัน และก็เป็นประเพณี ปฏิบัติในวัดป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่ถือปฏิบัติอยู่แล้ว การก่อสร้างโบสถ์ที่วัดป่าบ้านข่าจึงเริ่มดำเนินไปตั้งแต่บัดนั้น และการก่อสร้างก็ก้าวหน้าไปด้วยดี

ในหนังสือธรรมประวัติของพระครูสถิตธรรมวิสุทธ์ (หลวงปู่ ถิริ ฐิตธมฺโม) ได้กล่าวถึงว่า ทุกครั้งที่หลวงปู่ถิรเข้าพบหลวงปู่ตื้อ หลวงปู่ตื้อจะได้นิมิตทราบเหตุการณ์ต่างๆ ล่วงหน้าเสมอ ท่านที่สนใจกับนิมิตเหล่านั้น โปรดติดตามหาอ่านจากหนังสือดังกล่าวได้

เมื่อการสร้างโบสถ์ดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง หลวงปู่ตื้อได้บอกหลวงปู่ถิรว่า

“ช่วยสร้างโบสถ์ให้เสร็จเร็วๆ ด้วย เพราะขณะนี้เหล่าเทวดามานิมนต์แล้ว ๔๐๐ องค์ ฝ่ายมนุษย์มานิมนต์เพียง ๒๐๐ คน คงต้องมรณภาพในเวลาอันใกล้นี้”

หลวงปู่ถิรได้เร่งก่อสร้างโบสถ์ แต่ต้องใช้เวลา ดังนั้น โบสถ์วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า จึงเสร็จภายหลังจากที่หลวงปู่ตื้อได้มรณภาพไปแล้ว

๑๐๒

วาระสุดท้ายก่อนละขันธ์

ในปี พ ศ. ๒๕๑๗ เป็นปีที่ ๔ ที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม มาพักจำพรรษาที่วัดอรัญญวิเวก บ้านเกิดของท่านนั้น ไม่มีใครคาดคิดเลยว่า หลวงปู่ จะรีบละวางขันธ์จากพวกเราไปในปีนี้

ก่อนเข้าพรรษาในพรรษาสุดท้าย หลวงปู่จะพูดเสมอว่า “ใคร ต้องการอะไร ก็ให้เร่งรีบสร้างเอา คุณงามความดีทั้งหมดอยู่ที่ตัวของเราแล้ว ขันธ์ ๕ นี้เมื่อมันยังไม่แตกดับ ก็อาศัยมันประกอบความดีได้ แต่ถ้ามันแตกดับแล้วก็อาศัยมันไม่ได้เลย ขันธ์ ๕ ของหลวงตาก็จะดับแล้วเหมือนกัน..”

หลวงปู่ย้ำบ่อยครั้งที่สุดว่า “ธาตุลมของหลวงตาได้วิบัติแล้ว บางครั้งมันเข้าไปแล้วก็ไม่ออกมา นานที่สุดจึงออกมา และเมื่อมันออก มาแล้วก็ไม่อยากจะเข้าไป”

หลวงปู่ท่านพูดอยู่เช่นนี้ แต่ดูเหมือนไม่ค่อยมีใครใส่ใจถึงเรื่อง การจะมรณภาพวางขันธ์ของท่าน เพราะสุขภาพของท่านก็แข็งแรงดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรที่จะต้องกังวล ท่านก็ไม่ได้อาพาธอะไรเลย เดินเหิน ไปไหนมาไหนได้แคล่วคล่องตามปกติ เพียงแต่ลูกศิษย์คอยช่วย ประคับประคองบ้าง เนื่องจากเป็นห่วงเพราะท่านชราภาพมากแล้วเท่านั้น

ก่อนเข้าพรรษา จะมีคณะสงฆ์ที่เคารพศรัทธาในองค์ท่าน มาทำวัตร เพื่อกราบสักการะและถวายดอกไม้ธูปเทียนต่อหลวงปู่ ซึ่งปฏิบัติเป็นประเพณีทุกปี แล้วหลวงปู่ก็ให้โอวาทธรรมและสนทนาธรรม ต้อนรับขับสู้ไปตามระเบียบที่เคยปฏิบัติ

ในพรรษา หลวงปู่แสดงธรรมโปรดญาติโยมลูกศิษย์ลูกหา ทั้งฝ่ายฆราวาสและฝ่ายบรรพชิตทุกวันไม่เคยขาด แต่มีที่แปลกกว่าพรรษาก่อนๆ กล่าวคือเมื่อท่านแสดงธรรมจบแล้ว ท่านจะพูดเสมอว่า

“ลมไม่ค่อยดี ลมไม่ค่อยเดินสะดวก ลมของหลวงตาวิบัติแล้ว ลูกหลาน เอ้ย”

แล้วท่านก็ยิ้มและหัวเราะอย่างสบายใจตามปกติวิสัยของท่าน มิหนำซ้ำ ท่านไม่เคยบ่นว่าเหนื่อยหรือแสดงอาการลุกนั่งลำบากให้เห็นเลย จึงไม่มีใครใส่ใจและกังวลเรื่องธาตุขันธ์ของท่านเท่าที่ควร

การแสดงธรรมของท่าน ยังคงรูปแบบเอกลักษณ์ของท่าน ไม่ว่า จะเป็นสำนวนโวหาร ทัศนะ ลีลา ทุกอย่างเป็นปกติ โปรดญาติโยม และคณะสงฆ์อย่างสม่ำเสมอ

ในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเวลาประชุมพระภิกษุสามเณร และ ญาติโยมชาวบ้าน หลวงปู่จะต้องลงมาจากกุฏิเพื่อแสดงธรรม ไม่เคยงดเว้นแม้แต่วันเดียว จะไม่มีคำว่าหลวงตาอาพาธแสดงธรรมไม่ได้ ลูกศิษย์ลูกหาที่อยู่เสมอว่า “หลวงตาถึงจะมีอายุ แต่ก็ยังแข็งแรงดี” ใครๆ ก็ว่าอย่างนั้น

หลังการแสดงธรรม เมื่อหลวงปู่พูดว่า “ขันธ์ ๕ จะดับแล้ว ธาตุลมวิบัติแล้ว” ก็มีผู้กราบเรียนถามท่านว่า “ท่านหลวงตาไม่เหนื่อยหรือ ?”

หลวงปู่ท่านบอกว่า.-

“ขันธ์ ๕ จะให้หยุดการแสดงธรรมเหมือนกัน แต่จิตไม่หยุด มันก็หยุดไม่ได้ การแสดงธรรมเป็นหน้าที่ของเรา เกิดมาเพื่อทำ ประโยชน์ทั้งนั้น

ให้ความดี แล้วก็ทำความดี ต้องทำความดีเพื่อความดีอีก

คนเกิดมารู้จัก พุทโธ ธัมโม สังโฆ จึงจะเป็นคนไม่ใช่สัตว์ เราต้องรู้จักพระธรรมให้ดีที่สุด จึงจะเรียกได้ว่าพระมหาเปรียญ พระนักธรรม พระกรรมฐาน”