#echo banner="" ชีวประวัติหลวงพ่อชา จบ จากหนังสือ ตถตา ชุนุมศึกษาพุทธรรมศิริราช

หลวงพ่อชา

บันทึกประวัติส่วนหนึ่ง รวบรวมและเรียบเรียงโดย

ต.ป. เตชปัญโญ

วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี

จากหนังสือ "ตถตา" ชุมนุมศึกษาพุทธธรรมศิริราช

ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕

มีเรื่องเกี่ยวกับพระธาตุศักดิ์สิทธิ์อีกเหมือนกัน

วันหนึ่งมีชายคนหนึ่งมาจากกรุงเทพฯ เขามากราบนมัสการท่านอาจารย์ชา และได้นำวัตถุที่ถือว่าเป็นมงคลยิ่งมาให้ท่านด้วย สิ่งนั้นคือ พระธาตุพระอรหันต์ เขาเล่าและยืนยันว่า ถ้าเป็นพระธาตุแท้จะไม่จมน้ำ แต่ถ้าปกติวัตถุธรรมดาที่มีขนาดเดียวกับพระธาตุนี้ ก็จะจมน้ำ แต่เขาได้พิสูจน์แล้วว่าพระธาตุนี้ดีจริง ลอยน้ำได้

ครั้นว่าดังนั้น เขาก็เอาน้ำใส่แก้วมาแก้วหนึ่งเพื่อจะทำให้ท่านดู

เมื่อท่านเห็นดังนั้น จึงหัวเราะและห้ามเขาว่า

“อย่าทำ เดี๋ยวมันจะจม”

แต่ชายคนนั้นไม่เชื่อฟังท่าน เขายังขืนทำ ครั้นวางพระธาตุลงในน้ำ มันก็จมจริงๆ และท่านก็ยังคงนั่งหัวเราะอยู่อย่างเดิม

พระรูปหนึ่งซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน กล่าวแสดงความเห็นกับพระด้วยกันว่า

“ผมว่าพระธาตุจมน้ำได้นี่แหละประหลาดกว่าพระธาตุลอยน้ำได้ วันนี้โชคดีจริงๆ ที่ได้เห็นสิ่งอัศจรรย์ที่สุด หรือท่านมีความเห็นอย่างไรๆ”

พระอีกรูปหนึ่งได้แต่หัวเราะ

ท่านสอนว่า

“ทิฏฐิของคนเรา ถ้าเราเอาไปใส่ไว้ในอะไรแล้ว สิ่งนั้นมันก็เป็นของมีค่าขึ้นมาทันที จะกลายเป็นของขลัง ของศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาทันที แต่ถ้าไม่มีทิฏฐิเข้าไปตั้งอยู่ ทุกสิ่งมันก็ไม่มีราคา

อย่างคนไทยเราถือว่าศีรษะเป็นของสูง ใครมาจับเล่นไม่ได้ เป็นเหคุให้โกรธฆ่ากันเลยก็ได้ เพราะมีทิฏฐิมันจึงไม่ยอม ความยืดถือมันเหนียวแน่นมาก เราไปเมืองนอกเห็นฝรั่ง เขาจับหัวกันได้สบาย พระฝรั่งที่ไปด้วย พาไปเยี่ยมพ่อพอเห็นหน้าพ่อ เอามือลูบหัวเล่นเลย ทั้งลูบทั้งหัวเราะ พ่อเขาก็ดีอกดีใจ ถือว่าลูกรักเขา... เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ถ้าคนเราไม่มีทิฏฐิเสียแล้ว ทุกอย่างมันก็หมดค่า ทุกข์ทั้งหลายก็เกิดไม่ได้ ไม่มีอะไรจะมาทำให้เป็นทุกข์

เรื่องการถือมงคลภายนอก ก็เรื่องของทิฏฐิเหมือนกัน ทิฏฐิเข้าไปสำคัญมั่นหมายว่า สิ่งนั้นดีสิ่งนี้ไม่ดี มันก็กลายเป็นเป็นของดีของไม่ดี ของศักดิ์สิทธิ์ ของไม่ศักดิ์สิทธิ์กันขึ้นมา พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ยึดถืออย่างนั้น ท่านให้ถอนทิฏฐิมานะ ความสำคัญมั่นหมาย ท่านให้ละทิฏฐิมานะอย่างนั้น ถ้าเราละสิ่งเหล่านั้นออกไปแล้ว การปฏิบัติมันก็ถูกทางเท่านั้นเอง ทุกอย่างมันจะหมดค่าหมดราคา เมื่อเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น อุปาทานก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อไม่มีอุปาทาน ภพชาติก็ไม่มี แล้วทุกข์มันจะมาจากไหน?"

c õ d

วันหนึ่ง ชายหนุ่มคนหนึ่งมากราบท่าน ครั้นเมื่อจะกลับ เขาขอของที่ระลึกจากท่าน ท่านได้ให้พระพุทธรูปบูชาขนาดเล็กแก่เขา รวมทั้งหมดห้าองค์ ซึ่งพระพุทธรูปเหล่านี้นายทหารท่านหนึ่งนำมาถวาย ท่านเห็นว่า เป็นพระพุทธรูปจึงรับไว้สำหรับแจกให้ประชาชนนำไปบูชา แต่ตามปกติ ท่านจะไม่สอนให้เชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง และไม่ให้งมงายในเรื่องเหล่านั้น ท่านให้เขาทีเดียวห้าองค์ พร้อมกับบอกเขาว่า

“นี่เป็นพระชุดเหมือนสมุนไพรนั่นแหละ อยากได้พระภายนอกนัก ก็ให้มากๆ เลย แขวนให้หมดนี่นะ พระห้าองค์ มีพระหลุด พระรอด พระหลบ พระหลีก พระแล่น ถ้าเขาจะยิงให้วิ่งหนีเร็วๆ ก็แล้วกัน”

(คำว่า แล่น ในที่นี้เป็นคำอีสาน แปลว่า วิ่ง) ท่านว่าพลางหัวเราะ แล้วยื่นพระให้เขา

มันเป็นเรื่องที่ออกจะเหลือเชื่ออยู่เหมือนกัน แต่ก็ได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ กล่าวคือ

ในสัปดาห์ต่อมา ชายคนนั้นไค้กลับมาหาท่านอีกครั้งหนึ่ง เขาเล่าให้ท่านฟังอย่างตื่นเต้นว่า เขาถูกยิงแต่ไม่เข้า

เขาเล่าว่า

คืนหนึ่งเขากลับจากในตัวเมืองจะไปบ้าน พอเดินมาถึงทางเปลี่ยวแห่งหนึ่ง เขาได้สวนทางกับชายกลุ่มหนึ่งประมาณ 5-6 คน ทีแรกคิดว่า เป็นคนธรรมดาคงไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงเดินสวนมา แต่พอลับหลัง ชายคนหนึ่งในกลุ่มนั้นก็แสดงนิสัยคนร้าย ชักปืนออกมาจ่อยิงเขาทันที กระสุนถูกเข้ากลางแผ่นหลังของเขาอย่างจัง เขาก็หัวคะมำลง พอเอามือคลำดูหลังตัวเอง รู้ว่าถูกยิงไม่เข้า คิดว่าท่านบอกให้วิ่งหนีเร็วๆ พอลุกขึ้นได้จึงวิ่งหนีไป

เขาเล่าเรื่องนั้นอย่างขบขัน ทำให้หลายคนในที่นั้นอดหัวเราะไม่ได้ และก็อดที่จะฉงนสนเท่ห์ใจไม่ได้ด้วยเหมือนกัน

อีกครั้งหนึ่ง

ชายอีกคนหนึ่งเป็นผู้ฝักใฝ่ในการปฏิบัติอันเข้มงวด เขามีความเห็นว่า สิ่งทั้งหลายเป็นเครื่องทำให้เศร้าหมองทั้งนั้น ซึ่งหมายความว่า เป็นกิเลสทั้งนั้น ถ้าเป็นพระแท้จะต้องไม่สูบบุหรี่ ไม่เคี้ยวหมาก ไม่ดื่มน้ำชากาแฟใดๆ ทั้งสิ้น ต้องฉันแต่อาหารเช้ามื้อเดียว เท่านั้น และฉันแต่อาหารเจด้วย เว้นเนื้อปลาอย่างเด็ดขาด เขาอ้างพระอาจารย์ของเขารูปหนึ่งว่า ปฏิบัติได้อย่างนั้นจริงๆ ฉันข้าวเช้าแล้วเลิก แม้แต่น้ำส้มน้ำหวานก็ไม่ยอมแตะต้องอีกเลยในวันนั้น อย่างนั้นจึงจะเป็นพระแท้

เขามาเห็นท่านฉันน้ำร้อนน้ำชา เห็นท่านเคี้ยวหมาก ทั้งๆ ที่ขณะนั้นท่านก็กำลังเคี้ยวหมากอยู่ เขาก็พูดทักท้วงขึ้นต่อหน้าทันทีว่า อย่างนี้ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ไม่ใช่พระ เขาพูดสาธยายอะไรต่อมิอะไรไปมากมาย ท่านก็นั่งฟังเฉยๆไม่พูดอะไรทั้งนั้น จนกระทั่งนายคนนั้นจบคำพูดลง ท่านจึงค่อยๆ กล่าวกับเขาว่า

“อาตมาอยู่อย่างนี้ ถึงแม้จะโง่สักแค่ไหน อาตมาก็จะรักษาความโง่ของตัวไว้ให้ได้ สำหรับคนที่คิดว่า ตัวฉลาดก็ต้องรักษาความฉลาดของตัวไว้ให้ได้ อย่าให้มันไปเดือดร้อนกระทบกระทั่งผู้อื่น อาตมาถึงจะปฏิบัติไม่ถูก อาตมาก็จะไม่ไปว่าให้คนโน้นคนนี้ จะรักษาคำพูดของอาตมาไว้ ถ้าคนเราปฏิบัติได้แค่นี้ มันก็พอแล้ว มันสงบได้แล้ว ถ้ารักษาตัวเองไว้ไม่ได้ เราก็ไม่มีทางที่จะพบความสงบที่แท้จริงได้ ถึงจะปฏิบัติเคร่งไปเพียงไรก็ช่างเถอะ มันไม่ถูกทางทั้งนั้นแหละ”

ท่านเคยสอนพระผู้เป็นศิษย์ของท่านว่า

“เราเป็นคนสอนคน หน้าที่ของเราจะต้องสอนเขา เราบอกเขา เขาไม่เชื่อ ถ้าเราโกรธให้เขา อย่างนี้เรียกเราโง่กว่าเขา ไม่ใช่เราดีกว่าเขา เราต้องคิดว่า หน้าที่ของเรามี เราก็บอกก็สอนเขาไป อย่างไรผิดอย่างไรถูกก็ว่าไปตามเหตุผลของมัน ที่เราจะรู้อย่างนั้นได้ก็ด้วยการปฏิบัติ เหมือนกับว่า เราไปขายยา ถ้ายาเราดี เราก็ขายไปเรื่อยๆ โฆษณาไปเรื่อยๆ คนที่เขาเป็นไข้ เขาได้ยิน เขาก็มาซื้อเอง แต่คนที่เขาไม่เป็นไข้ เขาไม่มาซื้อ เราจะไปโกรธให้เขาก็ไม่ถูก เขาไม่ซื้อหรือเขาจะซื้อ มันเรื่องของเขา นี้ฉันใด

การที่เราสอนคนอื่นก็ฉันนั้นเหมือนกัน เราบอกเขา สอนเขา ถ้าเขาไม่เชื่อไม่ปฏิบัติตามคำสอนของเรา ข้อนี้เราก็ต้องหันมาสอนตัวเราเอง พูดกับตัวเองว่า อย่าไปยินดียินร้ายกับสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเลย ใจเราก็จะสงบอยู่ได้ ถ้าอย่างนี้เรียกว่า เราสอนตัวเองได้แล้ว จึงไปสอนผู้อื่น...อย่างนี้ มันก็พอจะรักษาตัวเองได้”

วันหนึ่งท่านสอนพระ เณรของท่านว่า

“ในโลกนี้ เราไปที่ไหน จะให้มีคนถูกใจเราหมดไม่มี เราจะหาที่ที่ไม่มีคนว่าให้เรา ไม่มี จะหาที่ที่มีคนสรรเสริญเราอย่างเดียว ไม่มี แม้แต่พระพุทธองค์ก็เหมือนกัน

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าอยู่ที่เมือง ๆ หนึ่ง ท่านไปบิณฑบาตกับพระอานนท์ วันนั้นมีคนมาคอยด่าท่าน เขาจงเกลียดจงชังท่าน เขามาด่าท่านที่กลางทาง

พระอานนท์ทนไม่ไหวจึงกราบทูลท่านว่า นิมนต์พระองค์ไปอยู่ที่เมืองอื่น พระเจ้าข้า อยู่ที่นี่คนมันไม่เคารพ

พระพุทธเจ้าได้ฟังพระอานนท์ว่าอย่างนั้น ท่านจึงพูดกับพระอานนท์ว่า อานนท์ เธอจะไปอยู่ที่ไหนที่คนไม่ว่าให้เธอ สมมติว่าเราหนีจากเมืองนี้ไปอยู่ที่อื่น ถ้าเมืองนั้นมีคนมาว่าให้เราอีก เราจะทำอย่างไร?

พระอานนท์ก็กราบทูลว่า เราก็ไปหนีไปที่อื่นอีก

พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าอย่างนั้นไม่ได้ และพระองค์จึงตรัสว่า คนไม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก

เรื่องมันเป็นอย่างนี้ นี่เรียกว่าพระพุทธเจ้าของเราท่านอยู่เหนือคำสรรเสริญและนินทาแล้ว ท่านอยู่เหนืออารมณ์ทั้งหลายแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าพระองค์จะไม่ถูกนินทาหรือจะไม่ถูกว่า เรื่องอย่างนั้น มันก็มีอยู่ เรื่องของโลกมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น

ผมเคยพูดว่า คนหลงโลกคือคนหลงอารมณ์ คนหลงอารมณ์คือคนหลงโลก แต่ถ้ารู้โลกก็คือรู้อารมณ์ และถ้ารู้อารมณ์ก็คือตนรู้โลก

พระพุทธเจ้าท่านอยู่กับโลก ท่านก็รู้จักโลก รู้จักอารมณ์ เรื่องอารมณ์มันก็มีของมันอยู่อย่างนั้น แต่พระพุทธเจ้าท่านอยู่เหนือมัน เข้าใจอย่างนี้จึงจะถูกต้อง ไม่ใช่อยู่เหนือสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะมันไม่มี ไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องเข้าใจเสียใหม่

ถ้าใครเข้าใจว่า จะอยู่เหนือโลกได้เพราะไม่มีอารมณ์ ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า ยังใช้ไม่ได้ยังปฏิบัติไม่ถูก

ผมสอนแล้วสอนอีกว่า อย่าปฏิบัติแบบที่ว่า คอยแต่จะหลบอารมณ์อยู่เรื่อย ไม่อยากจะเห็นรูป ไม่อยากจะได้ยินเสียง ไม่อยากจะทำอะไรๆ ทั้งนั้น การปฏิบัติอย่างนั้น มันก็เป็นการปฏิบัติอยู่เหมือนกัน แต่ว่ามันปฏิบัติตามตัณหา เป็นการปฏิบัติตามความอยาก ที่เราไม่อยากพบ ไม่อยากประสบกับอารมณ์ใดๆ นั้น มันเป็นตัณหา

ผมเคยเล่าให้ฟังว่า

เมื่อสมัยกำลังฝึกหัดปฏิบัติใหม่ๆนั้น ผมเคยสมาทานว่าจะไม่มองผู้หญิง เห็นว่า อย่างนั้นคงจะดี เพราะเราจะได้ไม่พบกับอารมณ์ จิตใจจะได้สงบ จึงทดลองดู

ปฏิบัติไม่มองหน้าคนเลยตลอดพรรษา 3 เดือน พอออกพรรษาคิดว่า เราจะลองมองผู้หญิงดูซิว่า มันจะเป็นอย่างไร?

วันหนึ่ง มีสีกาเข้ามา จึงมองดู โอย มันเหมือนฟ้าผ่าเลยครับ

นี่เรื่องมันเป็นอย่างนี้ เราหลบอารมณ์ จะคิดว่า เราเอาชนะอารมณ์ นั่นก็ไม่ถูก อารมณ์ในโลก เราหลีกหนีจากมัน จะว่าฉลาดก็ไม่ใช่นะ เราไม่เห็นรูป จะคิดว่าเราเอาชนะรูปได้ นั่นไม่ใช่ มันเป็นแต่ว่า เราไม่เห็นมัน เหมือนอสรพิษที่อยู่ใต้เสื่อ เรานั่งอยู่บนเสื่อ แต่เราไม่กลัว ที่เราไม่กลัว หรือถูกมันกัดเอา ก็เพราะเรายังไม่เห็นมัน และมันยังไม่แสดงฤทธิ์เดชของมัน พอวันหนึ่งเราเห็นมันเข้า เราก็นั่งตรงนั้นไม่ได้เสียแล้ว เดือดร้อนวุ่นวายแล้ว

นี่ครับ เรื่องอารมณ์นี้มันซับซ้อนเหลือเกิน จะว่าเราทำได้ง่ายๆ นะ ผมบอกแล้วว่า รูปนั้นก็ต้องเห็นบ้าง แต่ให้มีสติกำหนดให้รู้เท่ามัน ให้ดูจิตของตัวเอง สอนจิตของเราไปเรื่อยๆ รูปก็ต้องเห็น เสียงก็ต้องได้ยิน และเมื่อได้เห็นหรือได้ยินก็ให้เราทำจิตของเราให้รู้เท่าทัน ให้รู้ตามเป็นจริงของมัน ทุกอย่างมันก็จบเท่านั้น

การปฏิบัติอย่างนี้ จึงจะถูกทางเป็นไปเรื่อยๆ อะไรจะมีมา ก็รู้ก็เห็นมันไปอย่างนี้ เราอย่าไปกลัวอารมณ์หรือสิ่งแวดล้อม แต่อย่าไปติด เราก็จะสงบและมีปัญญา รู้เรื่องตามเป็นจริงของธรรมะได้”

c õ d

ใครคนหนึ่ง (ที่เมืองนอก) ถามว่า

“พระเป็นอย่างไร? ชีวิตของพระเป็นอย่างไร?”

ท่านตอบว่า

“เหมือนนกไม่รู้เรื่องของปลาอยู่ในน้ำ ถึงปลาจะอธิบายอย่างไร? นกก็ไม่เข้าใจ ยังสงสัยว่า ในน้ำนั้นจะอยู่ได้อย่างไร? เรื่องนี้นกจะไม่เข้าใจได้เลย จนกว่านกจะตายมาเกิดเป็นปลาเสียก่อน นั่นแหละจึงจะรู้ว่า ชีวิตของปลาในน้ำนั้นเป็นอย่างไร ชีวิตพระจริง ๆ นั้นเป็นอย่างไร? ข้อนี้ก็เหมือนกัน ถึงอาตมาจะอธิบายให้คุณฟัง คุณก็ไม่รู้ ถึงแม้จะรู้ แต่ก็จะไม่เข้าใจชัด ที่คุณจะรู้ จะเข้าใจชัดได้นั้น คุณจะต้องเป็นพระเสียก่อน นั่นแหละ คุณจึงจะรู้ว่าพระเป็นอย่างไร?"

c õ d

ครั้งหนึ่ง มีผู้ศรัทธาจะถวายรถยนต์แก่ท่านอาจารย์ เมื่อจะไปไหนมาไหน ท่านจะได้ไปมาสะดวกขึ้น ท่านได้ฟังจึงขอเอาไปพิจารณาก่อน ท่านบอกว่า จะปรึกษาสงฆ์ดูว่าใครจะ เห็นอย่างไร? จะรับหรือไม่รับ แล้วจะบอกทีหลัง

ครั้นเขาไปกันแล้ว เย็นวันนั้นเป็นวันอุโบสถ พระสงฆ์ต้องประชุมกันสวดปาติโมกข์ และหลังจากเสร็จภารกิจของท่านแล้ว จึงเป็นโอกาสที่จะได้คุย ปรึกษาสุขทุกข์กันในหมู่คณะตามธรรมเนียม ถ้าหากมีเรื่องราว หรือปัญหาอะไรเกิดขึ้น ก็จะได้แสดงความคิดเห็นกันในตอนนี้

วันนั้น ท่านได้เล่าเรื่องที่มีคนจะมาถวายรถยนต์แก่ท่าน และถามความเห็นของพระทั้งหลายว่า ใครจะมีความเห็นอย่างไร?

พระสงฆ์ต่างมีความเห็นเหมือนกันหมดทุกองค์ เห็นว่าดี ทั้งนี้เพราะว่า ถ้าหลวงพ่อจะเดินทางไปเยี่ยมสำนักสาขา ซึ่งมีมากมายกว่า ๔๐ สาขาก็จะไปได้สะดวก อีกทั้ง เมื่อพระเณรอาพาธ เจ็บป่วยกะทันหันจะนำส่งหมอก็ทันท่วงที ศิษย์ทุกคนเห็นว่าควรที่จะรับไว้

ท้ายที่สุด ได้สั่งสอนบรรดาศิษย์ทั้งหลายของท่าน ในที่ประชุมนั้นว่า

“สำหรับผมมีความเห็นไม่เหมือนพวกท่าน ผมเห็นว่าเราเป็นพระ เป็นสมณะ คือผู้สงบระงับ เราต้องเป็นคนมักน้อยสันโดษ เวลาเช้า เราอุ้มบาตรออกไปเที่ยวบิณฑบาต รับอาหารจากชาวบ้าน มาเลี้ยงชีวิตเพื่อยังอัตภาพนี้ให้เป็นไป ชาวบ้านส่วนมาก เขาเป็นคนยากจน เรารับอาหารมาจากเขา เรามีรถยนต์ แต่เขาไม่มี นี่ลองคิดดูซิว่า มันเป็นอย่างไร? เราอยู่ในฐานะอย่างไร? เราต้องรู้จักตัวเอง เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าไม่มีรถ เราก็อย่ามีเลยดีกว่า ถ้ามี อีกสักวันหนึ่งก็จะมีข่าวว่า รถวัดนั้นคว่ำที่นั่น รถวัดนี้ไปชนคนที่นี่...อะไรวุ่นวาย เป็นภาระยุ่งยากในการรักษา

เมื่อก่อนนี้จะไปไหนมีแต่เดินไปทั้งนั้น ไปธุดงค์สมัยก่อน ไม่ได้นั่งรถไปเหมือนทุกวันนี้ ถ้าไปธุดงค์ก็ธุดงค์กันจริงๆ ขึ้นเขาลงห้วย มีแต่เดินทั้งนั้น เดินกันจนเท้าพองกันทีเดียว แต่ทุกวันนี้พระเณร เขาไปธุดงค์ มีแต่นั่งรถกันทั้งนั้น เขาไปเที่ยวดูบ้านนั้น เมืองนี้กัน ผมเรียกว่า “ทะลุดง” ไม่ใช่ธุดงค์ เพราะดงที่ไหนมี ทะลุกันไปหมด นั่งรถทะลุมันไปเลย

สมัยก่อน พระเณรวัดป่าพงไม่เคยไปโรงพยาบาล คนเก่าๆ ศิษย์รุ่นเก่าๆ ไม่เคยไปหาหมอ ท่านอดทนกันมาก บางองค์แทบจะเอาชีวิตไม่รอด เป็นไข้หนักๆ เขาปิดประตูลงกลอนเสียเลย ไม่ยอมไปหาหมอ และไม่อยากให้ใครไปเป็นภาระยุ่งยากกับท่าน..อดทนกันถึงขนาดนั้น ปฏิบัติแบบเอาเป็นเอาตายกันทีเดียว เป็นพระ เณรที่อดทนมาก อดทนต่ออารมณ์ อดทนต่อเวทนา ทุกข์ยากลำบากอย่างไรท่านไม่เคยกลัว ไม่ย่อท้อ

ผิดกับทุกวันนี้ พระเณรเจ็บเนื้อเจ็บตัวนิดๆ หน่อยๆ ขออนุญาตไปหาหมอแล้ว อีกไม่กี่วันขอไปโรงพยาบาลแล้ว ถามว่า เป็นอะไร? บอกว่า เป็นตุ่มที่แขน อย่างนี้เป็นต้น มันไม่อดทนอดกลั้นอะไรเอาเสียเลย การปฏิบัติทุกวันนี้กับสมัยก่อนมันจึงต่างกันมาก ต่างกันชนิดฟ้ากับดินเลยทีเดียว

ผมว่า เราต้องอดทนมากๆ หน่อย ไม่มีรถก็ช่างมันเถอะ ขอแต่ให้เราประพฤติปฏิบัติให้ดีเข้าไว้ ก็แล้วกัน เทวดาเห็นเข้า เลื่อมใสศรัทธาเองหรอก ผมไม่รับรถยนต์ที่เขาจะเอามาถวายก็เพราะเหตุนี้ ยิ่งสบายเสียอีก ไม่ต้องเช็ดไม่ต้องล้างมันให้เมื่อย ขอให้ท่านทั้งหลายจำไว้ อย่าเห็นแก่ความสะดวกสบายกันนักเลย”

คราวหนึ่งอีก

มีคนกลุ่มหนึ่งมาขอสร้างเหรียญของท่าน โดยมีความเห็นและข้อเสนอว่า ประชาชนทั้งหลายมีความเคารพเลื่อมใสท่านมาก ต่างคนต่างอยากได้ของที่ระลึกบูชาเอาไว้กราบไหว้ อยู่กับเนื้อกับตัว ถ้าท่านอนุญาตให้ทำ ก็จะเป็นศิริมงคลอย่างยิ่ง รวมความแล้วทุกคนมีเจตนาเป็นกุศล

แต่หากว่าการกระทำเช่นนั้น มิใช่เป็นแนวทางของท่าน อุดมคติของท่านคือการให้ข้อธรรมปฏิบัติ เพื่อความดับทุกข์แก่คนทั้งหลาย อันเป็นจุดหมายที่ถูกต้องของพุทธบริษัทที่แท้จริง

แต่บรรดาผู้ใหญ่คนสำคัญในกลุ่มนั้น ก็มีเหตุผลและข้อเสนออันเดียวกัน หลายคนคิดว่า ครั้งนี้ท่านคงจะปฏิเสธไม่ได้ จะต้องอนุญาตให้เขาทำแน่

และก็เช่นเคย ไม่มีใครจะล่วงรู้ความคิดของท่าน ท่านได้พูดกับพวกเขาว่า

ต้องปรึกษาสงฆ์ เราอยู่ได้ก็เพราะอาศัยสงฆ์ ถ้าสงฆ์เห็นชอบด้วย ก็อนุญาตให้ได้ แต่ถ้าสงฆ์ไม่อนุญาต ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร? และนั่นก็เป็นทางออกของท่านที่แยบยลที่สุด

เป็นธรรมดาที่พระสงฆ์ผู้เป็นศิษย์จะต้องรู้แนวทางของครูบาอาจารย์ สงฆ์จึงไม่เห็นชอบด้วย

เป็นอันว่าปัญหานี้ตกไป บางคนถึงกับส่ายศีรษะ เพราะรู้ไม่ถึงปัญญาความคิดของท่าน

c õ d

คหบดีท่านหนึ่งมานิมนต์ท่านไปนมัสการสังเวชนียสถานคือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ณ ประเทศอินเดีย เขาปวารณาตัวเป็นคนอุปัฏฐาก รับภาระทุกสิ่งทุกอย่างในการเดินทาง

ท่านไม่รับนิมนต์ ท่านถามความเห็นเขาว่า

“พระพุทธเจ้าเกิดที่นี่ไม่ได้หรือ? ทำไมต้องไปเกิดอยู่ประเทศอินเดีย?”

c õ d

ชายคนหนึ่งมาหาท่าน ท่าทางเป็นคนชนบท เขากราบเรียบร้อยกว่าคนกรุงเทพฯ กิริยาอ่อนน้อมและซื่อ ท่านถามเขาถึงต้นสายปลายเหคุว่า ไปมาอย่างไร? ทำมาหากินอย่างไร? เขาตอบท่านครบถ้วนกระบวนความและบอกว่า มีอาชีพเป็นหมอดู เขาหยิบตำราเล่มเก่าๆ เล่มหนึ่งออกมาวางต่อหน้า พร้อมกับกระดาษแผ่นหนึ่ง เขาถามว่า

“ท่านอาจารย์อยากดูหมอไหม? ถ้าอยากดูผมจะดูให้”

ท่านหัวเราะเบาๆ ถามเขาไปว่า

“จะดูให้ฟรี ๆ หรือ? หรือจะดูเอาเงิน?”

เขายังพาซื่อและตอบว่า

“สำหรับท่านอาจารย์ ผมจะดูให้ฟรีๆ ไม่ต้องเอาเงิน” แล้วถามท่านอีกว่า

“ท่านอาจารย์ เกิดวันอะไร?”

ท่านได้ฟังดังนั้น จึงหัวเราะและพูดว่า

“ดูเอาเองซิ ใครเป็นหมอก็ต้องดูเอาเอง”

ชายหมอดูนิ่งไปชั่วครู่ ท่าทางเขายังต้องการคำตอบอยู่เหมือนเดิม ท่านเห็นดังนั้น จึงว่ากับเขาอีกว่า

“พระพุทธเจ้าเกิดวันอะไรเล่า?”

“วันศุกร์” เขาตอบและได้ฤกษ์ เขาจึงเริ่มขีดๆ เขียนๆ ไปตามเรื่องตามราวของเขา สักพักใหญ่ ๆ เขาก็หยุดเขียนและพูดกับท่านว่า

“ท่านอาจารย์เป็นคนมีบุญมาก”

เขาพูดด้วยท่าทางอัศจรรย์กับชะตาราศีของท่าน ในผลคำนวณของตัวเอง

ท่านจึงพูดว่า “เราไม่อยากได้บุญ มันหนัก...ขี้เกียจแบก”

เขาทำนายต่อไปอีกว่า

“เนื้อคู่ของท่านอาจารย์ตกห่างมาก จะห่างไปไกลมาก”

ท่านได้ยินดังนั้น จึงพูดราวกับว่าตกอกตกใจเป็นนักหนาว่า

“อ้าวแล้วกัน ทำไมถึงตกห่างนักวะ? เรายิ่งคิดถึงมันอยู่เหลือเกิน” 7

c õ d

นักศึกษาหญิงคนหนึ่งมาหาท่าน พร้อมกับคุณแม่ของหล่อน หล่อนเป็นเด็กสาวหัวนอก เป็นคนสมัยใหม่ เพิ่งเรียนจบมาจากเมืองนอก หลังจากที่คุณแม่ของหล่อนได้รับโอวาทคำสอนของท่านแล้ว หล่อนก็เข้าใจความหมายในคำสอนของท่านโดยตลอด จากนั้นหล่อนได้ซักถามข้อสงสัยหลายอย่างกับท่าน ท่านก็ตอบคำถาม แต่ละคำถาม สร้างความขุ่นเคืองให้กับคุณแม่มากทีเดียว ด้วยหาว่า ไม่เคารพยำเกรงท่านอาจารย์ ประโยคสุดท้ายที่หล่อนถามท่านนั้นว่า

“หนูสงสัยว่า พระในเมืองไทยนี้มีมาก ที่ดีก็มี ที่ไม่ดีก็มี อยากถามท่านว่า พระที่ไม่ดี เราคัดออกได้ไหม?”

นี่เป็นคำถามที่สุภาพที่สุดในความรู้สึกของหล่อน

ท่านตอบออกไปทันทีว่า

“ได้ แต่ใครล่ะจะทำ”

c õ d

เมื่อมีคนใหม่มาหาท่าน ท่านมักจะถามว่า อยู่ที่ไหน? ทำอะไร? เพื่อให้เป็นที่รู้จักกัน

ถ้าคนที่มาเป็นครู ท่านก็ชอบจะถามเขาด้วยปัญหาข้อเดียวกันหมด ซึ่งดูจะเป็นปัญหาที่ท่าน

สนใจมากที่สุดเพียงข้อเดียว คือถ้าใครคนนั้นตอบท่านว่าเป็นครู ท่านมักจะถามว่า

“เป็นครูสอนตัวเอง หรือสอนคนอื่น” 8

c õ d

ครั้งหนึ่ง มีคน ๆ หนึ่งมาหาท่าน เพื่อขอพิมพ์หนังสือเทศนาของท่าน เพื่อแจกเป็นทาน เขาให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการเผยแพร่ธรรมะคำสอนให้คนทั้งหลายได้รู้ ท่านก็ไม่ปฏิเสธ แต่พูดเป็นเชิงสั่งสอนว่า

“ทุกวันนี้มีแต่คนขายผลไม้ แต่ไม่มีคนปลูก ผลไม้ของตัวเองไม่มี แต่วิ่งหาร้านขายก่อนแล้ว” 9

c õ d

ท่านอาจารย์เล่าเรื่องหนึ่งว่า

มีอยู่คราวหนึ่งอาจารย์หัวหน้าสำนัก จะเดินทางออกจากอาวาสไปที่อื่น จึงสั่งกำชับบรรดาศิษย์ในสำนักทั้งหลายว่า

อย่าได้วิพากษ์วิจารณ์หรือโต้วาทะกันด้วยธรรมะเลย ให้พวกเธอเคารพในกฎข้อนี้ให้มาก

ท่านสั่งแล้วก็ลาไป เมื่ออาจารย์ไปแล้ว ศิษย์ทั้งหลายจึงมาคิดว่า ทำไมท่านอาจารย์จึงห้ามไม่ให้เราพูดจาสนทนาธรรมกัน ความจริงมันน่าจะดีเสียอีก ทุกคนปรึกษากันอยู่นาน ในที่สุด จึงลงความเห็นว่า เป็นเรื่องที่ไม่เสียหาย ควรทำ

ดังนั้นต่อมา ศิษย์เหล่านั้นจึงหาเรื่องธรรมะมาวิพากษ์วิจารณ์กัน

ทำอย่างนั้นกันไปมา วันหนึ่งก็เกิดขัดแย้งกันขึ้นอย่างรุนแรงด้วยธรรมะข้อหนึ่ง ซึ่งความเห็นทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกัน ผลก็คือเกิดการทุบตีกัน ชุลมุนวุ่นวายขึ้น ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการสนทนาธรรมะ และร้ายที่สุดคือ การไม่เคารพในคำสั่งสอนของอาจารย์

ท่านกล่าวว่า “คนมันจะเอาดีกันด้วยกิเลส” 10

ท่านสอนอีกว่า

“ทั้งผู้ที่เป็นอาจารย์และผู้ที่เป็นศิษย์ทั้งสองฝ่ายนี้ ต้องรู้จักรักษาตัวเอง บางทีอาจารย์โกรธศิษย์ บางทีศิษย์ก็โกรธอาจารย์ เรื่องอาจารย์โกรธศิษย์นั้นก็มีบ่อยเหมือนกัน เพราะบางทีศิษย์บางคนมันก็ดื้อรั้นไม่เบาเลยทีเดียว ถ้าอาจารย์ไม่เก่งจริง ก็ต้องแพ้ตัวเอง คือต้องโกรธให้ศิษย์ จนบางทีคิดอยากฆ่ามันด้วยซ้ำ”

มีอยู่คราวหนึ่ง ท่านสอนพระเณรให้ปฏิบัติมารยาทในการขบฉันให้เรียบร้อย อย่าทำให้หกเรี่ยราดสกปรก และอย่าฉันให้เสียงดัง โดยเฉพาะอย่าทำช้อนให้ครูดกับบาตรจนเกิดเสียงดัง เพราะจะเป็นเหตุให้น่าเกลียด ดูไม่งาม อีกทั้งยังผิดเสขียวัตรด้วย

ศิษย์คนหนึ่งแกนั่งฟังอยู่ด้วย พอวันรุ่งขึ้นเวลาฉันจังหัน ขณะกำลังฉัน แกก็ทำให้ร้อนกระทบบาตรดังอยู่ไปมา พอเพื่อนทั้งหลายเหลือบมาดู แกจึงพูดเปรยๆ ขึ้นว่า

“ทำอย่างไรหนอ จึงจะได้ช้อนสำลี”

แกว่าของแกอยู่คนเดียว

ท่านกล่าวว่า

“คนผู้มีปัญญาเท่านั้น ที่จะอยู่ในโลกนี้ได้โดยไม่เป็นทุกข์”

c õ d

ท่านสอนอีกว่า

“เราควรจะเอาเยี่ยงอย่างพระพุทธเจ้า

มีอยู่คราวหนึ่ง พระองค์เทศน์ให้พระภิกษุทั้งหลายฟังในที่ประชุม พระสารีบุตรก็นั่งฟังอยู่ด้วย พอพระองค์เทศน์จบลง จึงตรัสถามพระสารีบุตรต่อหน้าภิกษุทั้งหลายนั้นว่า สารีบุตร ที่เราแสดงธรรมให้เธอฟังนี้ เธอเชื่อไหม?

...พระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญา จึงประนมมือตอบว่า ยังไม่เชื่อพระเจ้าข้า

พระพุทธเจ้าท่านได้ฟังดังนั้น พระองค์จึงตรัสว่าดีละ สารีบุตร ผู้มีปัญญาไม่ควรเชื่ออะไรง่ายๆ เมื่อได้ฟังอย่างใดแล้วจะต้องนำไปพิจารณาด้วยปัญญาของตนเองก่อน เมื่อเห็นว่าสิ่งนั้นถูกต้องดีแล้ว มีเหตุมีผลดีแล้ว จึงเชื่อ อย่างนี้จึงจะชื่อว่า เป็นคนมีปัญญา อย่างนี้เป็นต้น

เราสังเกตดูซิว่า พระพุทธเจ้าของเราท่านเก่งขนาดไหน?

ถ้าเป็นพวกเราทุกวันนี้ ลูกศิษย์ไม่เชื่อเป็นไล่หนีทันทีเลย โกรธให้เขาเสียแล้ว ชอบจะเป็นกันอย่างนี้

ดังนั้น เราทั้งหลายจะต้องสอนตัวเองด้วย สอนผู้อื่นด้วย เราจึงจะไม่เป็นทุกข์ ไม่แบกไม่หามลูกศิษย์ ถ้าไม่อย่างนั้น อาจารย์ก็ต้องเป็นทุกข์ทรมาน เพราะลูกศิษย์

เด็ก ๆ สมัยนี้ไม่เหมือนก่อน มันคอยจะสู้อาจารย์อยู่เรื่อย ข้อนี้ต้องระวังให้ดี สอนเขาแล้วเราต้องปฏิบัติตัวเองด้วย เด็กเขาต้องการตัวอย่าง เราต้องทำให้เขาดู ไม่ใช่ดีแต่พูดอย่างเดียว และถ้าเขาไม่เชื่อ เราก็ต้องหันมาสอนใจเราเอง อย่าไปโกรธให้เขา นี้จึงจะได้ชื่อว่า เป็นอาจารย์สอนคนอื่นได้ แต่ถ้าเราเองก็สอนตัวเองไม่ได้แล้ว เราจะไปสอนใครที่ไหนได้"

c õ d

อีกครั้งหนึ่ง ท่านสอนว่า

“คนเรานี้ถ้าไม่วางทิฏฐิมานะเสียแล้ว มันจะเป็นเหตุให้เดือดร้อน บางคนชอบอ้างว่า นานาจิตตัง จิตคนละอย่างกัน ของใครของมัน อย่างนั้นมันจึงแตกความสามัคคีกันบ่อยๆ

คำว่านานาจิตตัง พระท่านหมายความว่า จะต้องเป็นจิตที่สามัคคีกัน มีความเห็นอันเดียวกัน ไม่ถือทิฏฐิมานะ ยอมรับฟังข้อคิดเห็นของกันและกัน ความสามัคคีกลมเกลียวกันในหมู่คณะจึงเกิดขึ้น

นานาจิตตัง คือต่างจิตต่างใจกัน แต่รวมกันเห็นถูกต้องอย่างเดียวกัน อย่างนี้พวกเราจึงจะอยู่ด้วยกันได้”

ท่านเล่าเรื่องหนึ่งว่า

คราวหนึ่ง มีอุบาสกกลุ่มหนึ่งไปวัด ๆ หนึ่ง ถึงเวลากินอาหารร่วมกัน แม่ครัวเขาจัดอาหารมาให้ บังเอิญกับข้าวสำรับนั้น มีน้ำปลาอยู่ถ้วยหนึ่ง เขาหั่นพริกใส่ลงเรียบร้อย ส่วนมะนาวนั้นผ่าเป็นซีก แยกไว้ต่างหาก ยกมาให้

พอถึงเวลากิน อุบาสกคนหนึ่ง เห็นมะนาววางอยู่ จึงหยิบขึ้นมาจะบีบใส่น้ำพริก แต่อีกคนหนึ่งเห็นเข้าจึงร้องห้ามว่า อย่าบีบ มันจะเปรี้ยว แต่คนที่จะบีบไม่ฟังคำห้าม แล้วบีบมะนาวใส่ลงไป พอมะนาวถูกเข้ากับน้ำพริก อุบาสกกลุ่มนั้นถึงกับแตกฮือ เลิกร่วมวงกัน เกิดเป็นปากเป็นเสียง ทะเลาะกัน เอ็ดตะโร เลิกคบค้าสมาคมตั้งแต่คราวนั้น

ท่านกล่าวว่า

“มันภาวนากันอย่างไรก็ไม่รู้ ?

แค่มะนาวซีกเดียว มันจะเปรี้ยวอะไรนักหนา เรื่องแค่นี้มันถึงกับจะฆ่ากันได้

นี้คือความเห็นผิด ยึดมั่นถือมั่นของคนมันไม่น่าจะเป็นเหตุให้ต้องทะเลาะเลย เพราะความโง่แท้ๆ นี่เอง ที่พระพุทธเจ้าท่านบอกให้ละทิฏฐิมานะ มันเป็นเหตุให้วุ่นวายกันอย่างนี้

ท่านว่าฝีเล็กๆ นั่นแหละ ถ้าไม่รักษาให้หาย มันจะ เป็นแผลลุกลามใหญ่โต เพราะทิฏฐิมานะนิดเดียวที่เป็นเหตุให้รบราฆ่าฟันกัน ความทุกข์ความเดือดร้อนจึงเกิดขึ้น เราไม่ควรจะมองข้ามสิ่งเล็กๆน้อยๆ เหล่านี้ไป ควรพิจารณาให้รอบคอบบ้าง อย่าเอาทิฏฐิมานะเข้าว่ากัน ใครจะว่าอะไรก็ให้รับฟังไว้

บางทีเด็กเขาก็พูดถูกของเขา แต่เราเป็นพ่อเป็นแม่กลับไม่ยอม เพราะถือว่าเราเกิดก่อนเขา เราอาบน้ำร้อนมาก่อนเขา เราสร้างเขามา คิดอย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ คนเกิดก่อนจะมีอะไรดีมากมาย เกิดก่อนเขา ก็โง่ก่อนเขา มันก็ดีเท่านั้นเอง ดีที่โง่ก่อนเขา

คนเราตราบใดที่จิตใจยังไม่มีธรรมะ ไม่มีปัญญาที่แท้จริงแล้ว มันยังใช้ไม่ได้ทั้งนั้น

พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ถึงเขาเป็นเด็ก ถ้าเขาพูดถูก เราก็ต้องยอมรับ ถ้าคนแก่พูดไม่ถูก ก็จะยอมรับไม่ได้ แต่ถ้าพูดถูก ก็ต้องยอมรับเหมือนกัน อย่างนี้จึงจะเป็นธรรมะ

อย่างเช่นคนเขาว่าให้เรา เราก็ต้องพิจารณาว่า ทำไมเขาจึงว่าอย่างนั้น? บางทีเราอาจผิดพลาดไปจริงๆ ก็ได้ เราต้องรับฟังและคิดทบทวนดู อย่างนั้นแล้ว เราก็จะเห็นชัดในการกระทำของเรา ถ้าเราทำผิดไปแล้ว เราก็เลิกเสีย แก้ตัวใหม่ ต่อไปเราก็จะไม่ผิดพลาดอีก

แต่ถ้าพิจารณาดีแล้ว เห็นว่าเราทำถูกแล้ว อย่างนี้ก็ไม่เป็นไร เขาจะผิดก็ช่างเขา เราไม่ผิด เมื่อไม่ผิด ก็ไม่จำเป็นต้องโกรธให้เขา เพราะเราไม่ผิด เขาเองที่เห็นผิด คิดผิด ในเมื่อเขาคิดผิดเห็นผิด แต่เราไปโกรธเขา เราก็จะยิ่งโง่กว่าเขา เราคิดได้อย่างนี้แล้วก็สบาย เราได้แต่ของดีเท่านั้น

บางคนไม่เป็นอย่างนั้น พอถูกเขานินทาว่าร้ายให้ ก็โกรธ คิดว่าทำไมมันจึงมาว่าฉัน มันไม่น่ามาว่าฉันเลย แต่เราเห็นว่ามันน่าจะว่า นั่นแหละเขาจึงว่า มันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น นั่นแหละมันจึงเป็น ไม่เห็นจะแปลกประหลาดมหัศจรรย์ตรงไหน? มันเป็นของธรรมดาอย่างนั้น เรื่องเขาจะว่าหรือไม่ว่า มันอยู่ที่เขา เราทำให้ถูกต้องแล้ว ก็พอแล้ว คิดอย่างนี้เสียแล้ว เราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์อะไรอีกต่อไป”

c õ d

วันหนึ่งมีคนมาถามท่าน เกี่ยวกับเรื่องการกินเจ กับการกินอาหารเนื้อ อาหารปลา ต่างกันอย่างไร? อย่างไหนถูกอย่างไหนผิด เพราะในปัจจุบัน มีสำนักปฏิบัติที่ถือข้อวัตรปฏิบัติต่างกันมากมายหลายแห่ง

บางแห่งถือว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นบาป เป็นกรรมร่วม เพราะเท่ากับเป็นการยุให้เขาฆ่าสัตว์ ที่นั้นจะต้องถือมังสวิรัติ เว้นการฉันเนื้อฉันปลาอย่างเด็ดขาด

บางแห่งว่าการกินเจเป็นข้อวัตรของเทวทัต ที่เคร่งครัดเกินไป จนพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต

เขาจึงสงสัยว่าอย่างไรจะถูก อย่างไรจะผิด? ในระหว่างข้อวัตรปฏิบัติทั้งสองแบบนี้

ท่านตอบว่า

“เหมือนกบกับคางคกนั่นแหละ โยม ว่ากบกับคางคกอย่างไหนมันดีกว่ากัน?

ความจริงแล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ฉันอะไร ไม่ได้เป็นอะไร ในจิตของท่านไม่มีอะไร เป็นอะไรอีกแล้ว การบริโภคอาหารเป็นสักแต่ว่า เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงร่างกายพอให้คงอยู่ได้ ท่านไม่ให้ติดในรสชาติของอาหาร ไม่ให้ติดอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ให้รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่ให้บริโภคด้วยตัณหา นี่เรียกว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ฉันอะไร ไม่มีอะไรไม่เป็นอะไรแล้ว

ถ้าคนกินเนื้อ ไปติดอยู่ในรสชาติของเนื้อ นั่นเป็นตัณหา

ถ้าคนไม่กินเนื้อ พอเห็นคนอื่นกินเนื้อ ก็รังเกียจและโกรธเขา ไปด่าว่านินทาเขา เอาความชั่วของเขามาไว้ในใจตัวเอง นั่นก็เป็นคนโง่กว่าเขา ทำไปตามอำนาจของตัณหาเหมือนกัน

การที่เราไปโกรธเกลียดเขานั้น มันก็คือผีที่สิงอยู่ในใจเรา เขากินเนื้อเป็นบาป เราโกรธเขา เราก็เป็นผี เป็นบาปอีกเหมือนกัน

มันยังเป็นสัตว์อยู่ทั้งสองฝ่าย ยังไม่เป็นธรรมะ อาตมาจึงว่า เหมือนกบกับคางคก

แต่ทางที่ถูกนั้น ใครจะกินอะไรก็กินไป แต่ให้มีธรรมะ คนกินเนื้อ ก็อย่าเห็นแก่ปากแก่ท้อง อย่าเห็นแก่ความเอร็ดอร่อยจนเกินไป อย่าถึงกับฆ่าเขากิน ส่วนคนกินเจก็ให้เชื่อมั่นในข้อวัตรของตัวเอง เห็นคนอื่นกินเนื้อ อย่าไปโกรธเขา รักษาตัวเราไว้

อย่าให้ติดอยู่ในการกระทำภายนอก

พระเณรในวัดของอาตมานี้ก็เหมือนกัน องค์ไหนจะถือข้อวัตรฉันเจก็ถือไป องค์ไหนจะฉันธรรมดาตามมีตามได้ก็ฉันไป แต่อย่าทะเลาะกัน อย่ามองกันในแง่ร้าย อาตมาสอนอย่างนี้ ท่านก็อยู่ไปด้วยกันได้ ไม่เห็นมีอะไร ให้เข้าใจว่า ธรรมะที่แท้นั้น เราจะเข้าถึงได้ด้วยปัญญา ทางปฏิบัติที่ถูกก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเราสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไว้ดีแล้ว จิตก็จะสงบ และปัญญาความรู้เท่าทันสภาพของสังขารทั้งหลายก็จะเกิดขึ้น จิตใจก็เบื่อหน่ายจากสิ่งที่น่ารักน่าใคร่ทั้งหลายวิมุติก็เกิดขึ้นเท่านั้น

ท่านสอนอีกว่า

“เรื่องถูกกับผิด ดีกับชั่ว สุขกับทุกข์ มันมีค่าเท่ากัน ของทั้งสองอย่างเหล่านี้มีค่าเท่ากัน เหมือนเจ้าหนี้กับลูกหนี้นั่นเอง

คนที่เป็นหนี้ เขามาร้องทุกข์กับอาตมาว่า กลัวเจ้าหนี้เขาจะตามมาทวง

อาตมาบอกเขาว่า ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะว่าความจริงแล้ว เจ้าหนี้เขาก็กลัวเราเหมือนกัน คือ เขากลัวว่า เราจะโกงเขา เพราะฉะนั้น คนสองคนนี้เท่ากัน เราทำให้ถูกต้องตามเรื่องราวมันเสียก็หมดเรื่อง ไม่เห็นจะต้องทุกข์ร้อนอะไร เราเป็นหนี้เขา ถ้าหายังไม่ได้ ก็ยกมือท่วมหัวไหว้เขาเสีย บอกว่า ยังหาไม่ได้ แต่จะหามาใช้คืนให้ได้ต่อไป อย่าไปโกงเขา อย่างนี้มันก็เข้าใจกันเท่านั้น เพราะฉะนั้นลูกหนี้กับเจ้าหนี้จึงพอๆ กัน เป็นทุกข์พอๆ กัน

เรื่องดีกับชั่ว ถูกกับผิดนี้ก็เหมือนกัน

อยู่ที่นี่ ถ้ามีคนทะ เลาะกันมา มาให้อาตมาตัดสิน อาตมาก็ตัดสินว่า มันผิดทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ ไม่มีใครถูกสักคน

เพราะอะไร

ทั้งนี้ก็เพราะว่า ถ้าคนคิดถูกทำถูกแล้ว เรื่องที่จะทะเลาะกันนั้นไม่มี มันจะเกิดขึ้นไม่ได้ คนที่มีจิตใจเป็นธรรมแล้ว ทะเลาะกับใครไม่เป็น ถ้าเราจะเอาถูก คิดว่า เขาทำผิด เขาก็คิดว่า เขาทำถูก ต่างคนต่างไม่ยอมลดราความเห็นของตัว มันโง่ทั้งสองคนเลย

ที่ถูกนั้น ถ้าว่าเขาทำผิด เราเห็นแล้วก็ควรหาโอกาสที่เหมาะสม ให้ข้อคิดเขาเสีย ว่าอย่างนั้นไม่ค่อยดีเท่าไร ควรพิจารณาแก้ไขใหม่ เราบอกเขาดีๆ อย่างนี้ ถ้าเขายังเห็นว่า เขาทำถูก เราก็เตือนสติเขาอีก บางทีเขาอาจจะยังคิดไม่ได้ เพราะเผลอสติไป ถ้าเตือนเขา 2-3 ครั้งแล้ว เขาไม่ยอมรับฟัง เราก็เลิกเท่านั้น เอาตัวเราดีกว่า ไม่ต้องทะเลาะเบาะแว้งให้เสียแรง เสียเวลา

ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็ทำถูกเสมอเท่านั้น เขาโง่ก็ปล่อยให้เขาโง่ไปคนเดียว เราเป็นคนฉลาดเสียก็หมดเรื่อง

แต่คนเรามักไม่เป็นอย่างนั้น มันชอบจะโง่ไปด้วยกันหมด

อาตมาจึงเห็นว่า ดีกับชั่ว สุขกับทุกข์ โง่กับฉลาด มันมีราคาเท่ากัน เจ้าหนี้กับลูกหนี้ก็เป็นทุกข์เท่ากัน ไม่มีใครดีกว่าใคร

ดังนั้น ถ้าใครทะเลาะกันมาให้อาตมาตัดสิน อาตมาก็ตัดสินว่า มันผิดทั้งสองคน อย่างนี้จึงจะเป็นธรรมะ ทุกอย่างมันจึงสงบลงได้ ไม่ต้องแพ้ไม่ต้องชนะกัน ถ้าคนมีปัญญาจริงๆ แล้ว ต้องไม่ทะเลาะกับใคร ต่างคนต่างก็เห็นถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิด้วยกัน แล้วเรื่องมันก็จบ”

c õ d

คนบางคนมาบ่นร้องทุกข์กับท่านว่า

“ข้าวของแพง เหลือเกิน ทุกวันนี้แทบจะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว น้ำมันก็แพงขึ้นทุกวัน ของใช้ต่างๆมันก็พลอยขึ้นราคาไปด้วย หลวงพ่อไม่โปรดพวกเราบ้าง”

ท่านตอบว่า

“ของแพง มันคงแพงขนาดคนซื้อได้นั่นแหละ ถ้าแพงจนคนซื้อไม่ได้ เขาจะไปขายให้ใคร ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปทุกข์ เขาขายแพง เราก็ให้เขามาก ๆ มันก็หมดเรื่องเท่านั้น

นี่คือคนคิดไม่ถูก คิดให้ตัวเองเป็นทุกข์

ถ้าของมันแพง ซื้อไม่ไหวจริง ๆ เราก็กินให้มันน้อยลง อย่ากินมาก แต่นี่ของมันขึ้นราคา เราอยากให้ราคามันลด เราก็เป็นทุกข์เท่านั้น อย่าไปคิดให้ราคาของมันลดเลย ให้คิดเผื่อเอาไว้มาก ๆ อย่างน้ำมันเป็นต้น เราว่า เขาขายขนาดนี้ มันแพง แต่ถ้าหากว่า เมื่อก่อนเขาขายลิตรละร้อย ถ้ามาเดี๋ยวนี้ เขาขายขนาดนี้ เราคงจะไม่ทุกข์ละนะ ใช่ไหน?

นี่เราต้องคิดเผื่อไว้อย่างนี้ อย่าไปคิดให้มันเป็นทุกข์ใจตัวเอง โลกมันจะเป็นอย่างไร ก็ให้มันเป็นไป เราก็ทำมาหากินของเราไป เรื่อยๆ มีน้อยก็ใช้แต่น้อย ถ้ามีมากเมื่อไร จึงค่อยใช้มาก ๆ ให้รู้จักคิดผ่อนสั้นผ่อนยาวไว้มากๆ

คนเราชอบคิดอะไรให้ตัวเองเป็นทุกข์ บางทีคิดจนเป็นบ้าเลยก็มี อย่าไปคิดว่า จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนี้เลย ตุ๊กแกมันยังอยู่ได้ไม่ตาย เราเป็นคน ทำไมจะอยู่ในโลกนี้ไม่ได้ ?

เคยมีคนมาร้องเรียนอาตมาว่า เด็กๆ ลูกหลาน มันไม่กระตือรือร้น ไม่รู้จักอยากได้ อยากมี กลัวมันจะเอาตัวไม่รอด หลวงพ่อช่วยสอนมันให้ดิฉันด้วย

อาตมาว่า นั่นก็คิดผิดเหมือนกัน เหมือนหนูมันอยู่ในรู เมื่อลูกเต้ามันเกิดขึ้นมา ตอนลูกยังเล็กๆอยู่ พ่อแม่มันก็หาเหยื่อมาเลี้ยง แต่พอลูกโตแล้ว มันหาเลี้ยงลูกมันอยู่หรือเปล่า? มันไปเที่ยวขุดรูให้ลูกมันอยู่หรือเปล่า? ไม่ใช่อย่างนั้น ลูกมันไปขุดรูอยู่เองทั้งนั้น

คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ก็คิดกลัว คิดเป็นห่วง แต่ว่าลูกหลานเขาก็เป็นของเขาอยู่อย่างนั้น พ่อแม่ห่วงแต่ว่า เขาจะเอาตัวไม่รอด กลัวเขาจะอดอยาก แต่เท่าที่เห็นๆ บางทีพอพ่อแม่ตายแล้ว ลูกหลานเขาร่ำรวยกว่าพ่อแม่เสียอีก อย่างนี้ก็มี

อาตมาจึงว่า เราควรคิดผ่อนสั้นผ่อนยาวเอาไว้มากๆ จิตใจจะได้สบาย”

c õ d

อีกครั้งหนึ่ง ท่านสอนฆราวาสว่า

“คนที่ไม่รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบานั้น เป็นทุกข์มาก แต่ถ้ารู้จักคิดให้ถูกแล้ว ก็ไม่ค่อยเป็นทุกข์

เคยมีคนมาหาอาตมาเขา เป็นสามีภรรยากัน เขาพากันเป็นทุกข์ เสียอกเสียใจมาก

อาตมาถามว่า เป็นทุกข์เรื่องอะไร?

เขาบอกว่าถูกขโมยมันขโมยรถไป รถยนต์เพิ่งซื้อมาใหม่ๆ จอดทิ้งไว้ประเดี๋ยวเดียว มันแย่งเอาไปเสียแล้ว คิดเสียดายจึงเป็นทุกข์มาก

อาตมาก็ฟังอยู่เฉยๆ ยังไม่พูดอะไร พอดีก็มีคนอีก 3 - 4 คนมา คนหนึ่งร้องไห้โฮเลย ยิ่งเป็นทุกข์มากทีเดียว

ถามว่าทำไมจึงร้องไห้?

บอกว่า เมียกับลูกตายทีเดียวถึง 5 คน มีเมีย 2 คนตายหมดเลย ลูกก็ตายด้วย

ถามว่าทำไมถึงตาย?

เขาตอบว่า เบื่อเห็ดตาย ไปเที่ยวหาเห็ดตามป่ามาทำอาหาร ถูกเห็ดมีพิษเข้าจึงตาย

คนนี้ยิ่งเป็นทุกข์หนักเข้าไปอีก

ทีนี้สองคนผัวเมียที่ถูกขโมยขโมยรถ พอเห็นชายคนนั้นเป็นทุกข์เพราะลูกเมียตายทีเดียวถึง 5 คน ทุกข์ที่รถหาย เลยกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไป หายทุกข์ได้ อย่างนี้เป็นต้น

เราคิดว่า ในโลกนี้เราเป็นทุกข์คนเดียว เราเป็นทุกข์กว่าเขาทั้งหมด คิดอย่างนั้นมันก็ยิ่งแบกทุกข์ไปอีก แต่ถ้าเรามาคิดว่า คนอื่นที่เขาเป็นทุกข์กว่าเราคงจะมีอีก เราคงจะไม่ทุกข์คนเดียว ถ้าคิดได้อย่างนี้ ทุกข์ของเราก็จะเบาไป เราจะไม่เป็นทุกข์มาก เพราะรู้จักคิดผ่อนหนักให้เป็นเบา เราควรคิดแบ่งเบาอะไรๆ ออกไปอย่างนี้

อาตมาจึงว่า อย่าแบกอะไรเอาไว้คนเดียวเลย เราอย่าเป็นคนฉลาดคนเดียว ให้เด็กๆ ลูกหลานหรือคนอื่นเขาฉลาดบ้าง เช่น แม่บ้านผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลายเป็นตัวอย่าง เด็กเขาทำอะไรก็ไม่ถูกเหมือนเราทำ เขาทำไม่ดีทั้งนั้น ต้องเราทำเองจึงจะดี เลยกลายเป็นคนฉลาดคนเดียว อะไรเราก็ทำเองหมด เด็กๆ เขาก็สบายเท่านั้น

อาตมาว่า ให้รู้จักปล่อยวางมันเลยบ้าง ให้เด็กๆ เขาได้แสดงความสามารถของเขาบ้าง มันจะไม่ถูกใจเราบ้าง ก็ช่างมันเถอะ เราจึงจะสบาย

อย่างอาตมาทุกวันนี้ก็เหมือนกัน อาศัยแต่ลูกหลานเขาทั้งนั้นแหละ พระเณรองค์ไหนเขาถนัดด้านไหน ก็มอบภาระให้เขาไป เราคอยดูอยู่ด้วยเท่านั้น ขาดเหลืออะไรก็หาให้เขา เด็กๆ เขาก็เต็มใจช่วย เพราะเราให้ความไว้วางใจเขา เราก็ไม่ต้องแบกหนักอยู่คนเดียว คนเราจึงควรจะรู้จักคิดกันอย่างนี้บ้าง จึงจะได้ไม่เป็นทุกข์”

c õ d

เธอจงระวัง

พระอาจารย์เคยสั่งสอน

เธอจงระวัง ความคิด ของเธอ

เพราะ ความคิด ของเธอจะทำให้

กลายเป็น ความประพฤติ ของเธอ

เธอจงระวัง ความประพฤติ ของเธอ

เพราะ ความประพฤติ ของเธอ

จะกลายเป็น ความเคยชิน

เธอจงระวัง ความเคยชิน ของเธอ

เพราะ ความเคยชิน ของเธอ

จะกลายเป็น อุปนิสัย

เธอจงระวัง อุปนิสัย ของเธอ

เพราะ อุปนิสัย ของเธอ

จะกำหนดชะตากรรมของเธอตลอดชีวิต

c õ d

หมายเหตุ

1. นี้เป็นเอกลักษณ์ในการตอบปัญหาของท่าน มักจะพูดหยั่งเข้าไปหาจิตในส่วนลึกของผู้ถามเสมอ และตอบปัญหาเหล่านั้นได้อย่างจับใจมากคำตอบที่ว่า “เหมือนคนบวชไม่ได้” นี้ดูเหมือนว่าจะกินความกว้างมากเป็นพิเศษ กล่าวคือ ท่านมุ่งจะชี้ให้เข้าใจความหมายของสิ่งที่เรียกว่า “อุปาทาน” ซึ่งหมายถึงความยึดมั่นถือมั่น นั่นเอง แต่วิธีการของท่านนั้นไม่อาศัยการอธิบายไปตามหลักทฤษฏีเหมือนอาจารย์อื่น

    ข้อที่ว่าบวชไม่ได้นั้น คนผู้ที่บวชไม่ได้นั่นเองที่จะเป็นผู้ที่เข้าใจได้ดีที่สุด สาเหตุที่ทำให้บวชไม่ได้มีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง ที่พอจะกล่าวให้เห็นได้ก็คือ เพราะยังไม่กล้าจะทิ้งสิ่งที่คนรักตนหวงแหนออกไปได้ เช่น บุตร ภรรยา สามี เป็นต้น และสำหรับคำพูดที่ว่า สิ่งทุกสิ่ง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้น ผู้ที่จะรู้เห็นได้อย่างแจ่มแจ้ง ก็ดูเหมือนจะมีแต่พระอริยเจ้าทั้ง 4 จำพวกเท่านั้น ซึ่งได้แก่พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ท่านเหล่านั้นจะไม่มีปัญหาทุกข์ร้อนเกี่ยวกับการเกิดการตายใดๆ เพราะทุกขั้นตอนของท่านเป็นแต่ความรู้แจ้งในความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาของสิ่งทั้งปวง เพราะฉะนั้นปัญหาการเกิดการตายจึงไม่มี แต่คนผู้ที่ยังบวชไม่ได้นั้น มันยังมีปัญหาอยู่ เป็นปัญหาที่มืดมน ไม่อาจจะรู้ได้อย่างแจ่มชัด มันมีอะไรๆ หลายอย่างแฝงอยู่ในจิต และโดยเฉพาะผู้ที่เสาะหาทางปฏิบัติเพื่อตรัสรู้ธรรมะนี้ มันมีสิ่งใดหรือที่ทำให้ทิ้งไปไม่ได้ ข้อนี้เป็นสิ่งที่น่าคิดมากอยู่ สำหรับที่จะอธิบายความหมายของคำว่า “อุปาทาน” ของท่านนั้น อุปมาแต่เพียงว่า “เหมือนคนบวชไม่ได้” เท่านั้นก็เห็นจะเพียงพอ เป็นวิธีการเฉพาะแบบของหลวงพ่อชาที่ประทับใจ และไม่เหมือนใครในการตอบปัญหา

2. มีคำเปรียบอุปมาว่า ลูกศรคือ ตัณหา เมื่อบุรุษถูกลูกศรเสียบหลังแล้ว ได้รับทุกข์เวทนาแสนสาหัส จึงวิ่งพล่านไปไม่มีจุดหมาย อุปมาดังคนเราทุกวันนี้ที่วิ่งพล่านไปและเต็มไปด้วยทุกข์นานาประการ แต่หาได้เห็นโทษภัยว่าเป็นโทษภัยไม่

3. ทุกสิ่งเป็นอนัตตา มิใช่สัตว์บุคคลตัวตน เราเขา เพราะมีแล้วก็หาไม่ เกิดแล้วดับไป จึงจะถือว่า เป็นสัตว์ บุคคลไม่ได้ เพราะสัตว์บุคคลมิได้มีอยู่จริง เป็นของสมมุติชั่วคราว และเมื่อสัตว์บุคคลไม่มี ก็จึงไม่มีใครเกิดไม่มีใครตาย

4.-5. ในประเด็นนี้ท่านเคยพูดว่า

    “ที่คนเขาถามกันว่า อายุได้เท่าไร? อันนี้มันถามผิด ความจริงอายุมันมีแต่เสียไป ไม่มีใครได้เลยสักคน มันใกล้วันตายเข้าไปทุกที ไม่มีได้ มีแต่เสีย นักปฏิบัติจะต้องคิดอย่างนี้เสมอ คิดถึงความตาย คิดถึงอายุที่มันล่วงไป เสียไป จะได้เห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของเราเอง ธรรมะท่านเรียกว่า มรณัสสติ คือ การกำหนดเอาความตายเป็นอารมณ์”

    ดังนั้นในที่นี้ท่านจึงตอบว่า อายุไม่มี หรือไม่มีอายุ ซึ่งหมายว่า ถ้าบุคคลรู้แจ้งในธรรมะแล้ว ทุกสิ่งจะกลายเป็นสักแต่ว่าเหตุ - ปัจจัยเท่านั้น มีแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งและไหลไปเท่านั้น ไม่มีสัตว์บุคคลจริงๆ ดังนั้นอายุจึงไม่มี ไม่ต้องนับอายุให้ลำบาก เมื่อเล็งเห็นชีวิตว่า เป็นของไม่เที่ยงแล้ว จึงจะเห็นว่า ทุกสิ่งเป็นอนัตตาอย่างแจ่มชัด สัตว์บุคคลก็หายไป

6. ท่านว่าปัญหาอย่างนี้ไม่อาจจะจบลงได้ ไม่มีที่จบ อุปมาเหมือนมดไต่บนปากกระด้งหรือปากโอ่งไม่มีที่จบ เป็นเรื่องไร้ประโยชน์ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ท่านจึงตอบปฏิเสธปัดๆ ไป. ท่านว่าอีกว่า ที่ถูกนั้น ทุกคนควรจะหันมาสนใจในเรื่องว่า ทำอย่างไร เราจึงจะไม่เป็นทุกข์ ทำอย่างไร เราจึงจะเป็นผู้ไม่วุ่นวายเดือดร้อน อย่างนี้ดีกว่า และมุ่งเฉพาะจะปฏิบัติเพื่อละสิ่งที่ไม่ดีไม่งามออกไป ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กว่านั้น ละสิ่งที่ควรละ บำเพ็ญสิ่งที่ควรบำเพ็ญ เมื่อปฏิบัติเกิดผลแล้ว เราก็ไม่ต้องไปพึ่งพาอาศัยสิ่งภายนอก ไม่ต้องไปเที่ยวหาพระธาตุมาบูชาให้วุ่นวายไป หมดสงสัย ปฏิบัติตัวเราเองดีกว่า พ้นทุกข์แล้วก็ไม่ต้องพึ่งใคร ทำคุณงามความดีไปอย่างสงบระงับ พึ่งพาตัวเอง มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในใจเสียแล้ว เราก็พึ่งตัวเราเองได้

7. เรื่องนี้เคยมีมาแล้วในครั้งพุทธกาล เรื่องมีอยู่ว่า

    ชายคนซึ่งมีอาชีพทำนายหัวกะโหลกมนุษย์ว่าคนที่ตายแล้วนั้นจะไปเกิดเป็นอะไร อยู่ที่ไหน เป็นที่นิยมเลื่อมใสของคนเป็นอันมากในแถบถิ่นนั้น ต่อมาพระภิกษุรูปหนึ่งได้ยินกิตติศัพท์ความแม่นยำในการทำนายของหมอดูคนนี้ จึงอยากจะสั่งสอนให้เขาได้วิชาคือ ความรู้ที่ประเสริฐกว่าที่เขามีอยู่

    ท่านจึงนำกะโหลกศีรษะของพระขีณาสพ (ผู้สิ้นอาสวะ คือ กิเลส) ที่ดับขันธ์แล้ว เอาไปให้หมอดูคนนี้ทำนายว่า พระขีณาสพตายแล้วไปไหน?

    เรื่องเล่าว่า หมอดูคนนี้เคาะกะโหลกศีรษะพระขีณาสพดูแล้ว ปรากฏว่าไม่สามารถจะหาคำตอบได้ เพราะสิ้นตำราของเขา เมื่อเป็นเช่นนั้น เขาจึงอัศจรรย์ในความเป็นของพระขีณาสพว่าเยี่ยมแท้ ตายแล้วไม่รู้ว่าไปไหน หายไปเลย ในที่สุดหมอดูคนนี้จึงตัดสินใจออกบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และได้กลายเป็นพระขีณาสพเสียเองในกาลต่อมา ดังนั้นในที่นี้ มันจึงเป็นเรื่องขบขันสำหรับท่านในคำทำนายทายทักของหมอดูผู้แม่นยำที่สุดคนนี้

8. ข้อนี้เป็นวิธีการในการสอนของท่าน ไม่ว่าใครก็ตามที่มา ถ้าเมื่อมีโอกาสอันควรแล้ว ท่านมักจะพูดสะกิดใจพวกเขาอยู่เสมอ แต่ก็ยกเว้นคนบางคนและบางโอกาส คำสอนของท่านมักจะจี้เข้าไปให้ถึงใจของศิษย์ เพื่อหวังจะให้รู้จักตัวเองได้อย่างฉับพลันทันที เช่นข้อที่ท่านถามเขาว่า

    “เป็นครูสอนตนเองหรือสอนคนอื่น

    นี้ ตามปกติ ผู้ที่เป็นครูนั้นส่วนมากมักจะสอนวิชาความรู้ให้แก่คนอื่น เป็นแต่สอนคนอื่นฝ่ายเดียว น้อยคนที่จะรู้จักสอนตัวเองให้เป็นผู้รู้รับผิดชอบชั่วดี ให้รู้สิ่งที่ควรละ สิ่งที่ควรบำเพ็ญ

    ดังจะเห็นได้ว่า ครูหลายต่อหลายคนกลายเป็นคนติดเหล้าหรือสิ่งเสพติด ครูบางคนขาดความเป็นผู้นำในครอบครัว จนทำให้บ้านแตกสาแหรกขาด เป็นเรื่องที่มีตัวอย่างมาแล้วมากมาย ดังนั้นในที่นี้ ท่านต้องการที่จะสอนพวกเขาว่า ให้รู้จักละสิ่งที่ควรละบ้าง ให้รู้จักสร้างสิ่งที่ควรสร้างบ้าง ครูควรจะเป็นผู้นำทางที่ดีของศิษย์ ดังนั้นครูจึงต้องเป็นเป็นผู้มีความประพฤติที่ดีงาม จนสามารถจะเป็นแบบอย่างของศิษย์ทั้งหลายได้ มิใช่ผู้ที่ต้องเต็มไปด้วยบาปสกปรก เพราะฉะนั้นคำถามของท่านที่ว่า “เป็นครูสอนคนอื่น หรือสอนตัวเอง?” นี้ จึงเป็นคำพูดที่แทงทะลุเข้าไปถึงความจริงในตัวของครูได้เป็นอย่างดีที่สุด จิตของเขาย่อมจะสว่างขึ้น และรู้จักหนทางที่ถูกต้องของตัวเขาเองได้

9. ท่านชี้ที่จะให้เห็นปฏิบัติตัวเองมากกว่าที่จะปฏิบัติผู้อื่น

10. ในขณะที่ธรรมะ เป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยประโยชน์ แต่บางทีการพูดธรรมะ การสนทนาธรรมะ การแลกเปลี่ยนธรรมะ มันก็อาจจะเป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว และเต็มไปด้วยทิฏฐิมานะ แก่งแย่งชิงดีกันอย่างร้ายกาจที่สุดก็ได้เหมือนกัน

ต.ป. เตชปัญโญ

วัดหนองป่าพง

อุบลราชธานี

รวบรวม    เรียบเรียง

30 พฤศจิกายน 2524