#echo banner="" สัพพาสวสังวรสูตร ตอนที่ ๑ พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

สัพพาสวสังวรสูตร

(ตอนที่ ๑)

›››››

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

]

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม จะแสดงพระพุทธเจ้าสอนกรรมฐานตามสัพพาสวสังวรสูตร พระสูตรที่ว่าด้วยสังวรคือระวังป้องกันอาสวะทั้งปวงนำสติปัฏฐาน

ในพระสูตรนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เริ่มว่า พระองค์ตรัสความสิ้นแห่งอาสวะทั้งหลายแก่ผู้ที่รู้อยู่เห็นอยู่ พระองค์ไม่ตรัสความสิ้นอาสวะทั้งหลายแก่ผู้ที่ไม่รู้ไม่เห็น

พระพุทธภาษิตเริ่มต้นนี้ เมื่อพิจารณาก็ย่อมจะได้ความเข้าใจว่า พระองค์ตรัสว่าผู้รู้อยู่เห็นอยู่จึงจะสิ้นอาสวะทั้งหลายได้ แต่ผู้ที่ไม่รู้ไม่เห็นจะสิ้นอาสวะหาได้ไม่ ดั่งนี้

เมื่อตรัสเริ่มไว้ดั่งนี้ก็ได้ตรัสขยายความต่อไปว่า ข้อที่ว่ารู้อยู่เห็นอยู่นั้น ก็คือรู้อยู่เห็นอยู่ซึ่งอะไร ได้ตรัสว่าก็คือรู้อยู่เห็นอยู่ซึ่งธรรมทั้งหลายที่ควรใส่ไว้ในใจ และซึ่งธรรมทั้งหลายที่ไม่ควรใส่ไว้ในใจ

และได้ตรัสอธิบายต่อไปโดยความว่า ธรรมะหรือธรรมที่ควรใส่ไว้ในใจนั้น ก็คือเมื่อใส่ไว้ในใจแล้วอาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ละดับไปได้

ส่วนธรรมะที่ไม่ควรใส่ไว้ในใจนั้น ก็คือที่ใส่ไว้ในใจแล้ว อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญงอกงามมากขึ้น ดั่งนี้

และได้ตรัสไว้ว่าอาสวะทั้งหลาย

ย่อมละได้ด้วยทัศนะคือเห็น

ย่อมละได้ด้วยสังวร คือสำรวมป้องกันระวัง

ย่อมละได้ด้วยการส้องเสพ

ย่อมละได้ด้วยการยับยั้งเอาไว้อยู่

ย่อมละได้ด้วยการเว้น

ย่อมละได้ด้วยการบันเทา

ย่อมละได้ด้วยการอบรม ดั่งนี้

อาสวะ ๓

ก่อนที่จะได้แสดงต่อไป ก็ควรจะทราบว่า อาสวะนั้นแปลว่าเครื่องดอง หรือของดอง ที่เป็นสิ่งภายนอกก็เช่นน้ำเมา น้ำดองของเมา ส่วนที่เกิดขึ้นแก่จิตใจนั้นก็ได้แก่กิเลสที่ดองจิตสันดาน อันนับว่าเป็นกิเลสอย่างละเอียด

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้แบ่งเป็น ๓ คือ

กามาสวะ อาสวะคือกาม

ภวาสวะ อาสวะคือภพ

อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา

อาสวะคือกามนั้นได้แก่ กิเลสดองสันดาน คือความใคร่ความปรารถนา ที่มีดองอยู่ในจิตสันดานของบุคคล

ภวาสวะอาสวะคือภพก็ได้แก่กิเลสที่ดองจิตสันดาน คือความเป็นนั่นเป็นนี่ ตั้งต้นแต่ความเป็นเรา อันเรียกว่า อัสมิมานะ ความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น อันเป็นต้นกำเนิดของอัตตาตัวเรา และเมื่อภวาสวะเป็นตัวเรา กามาสวะก็เท่ากับเป็นของเรา คือความรักใคร่ปรารถนาต้องการในสิ่งทั้งหลาย และสิ่งทั้งหลายที่รักใคร่ปรารถนาต้องการก็รวมเรียกว่ากามทั้งหมด และก็ต้องการกามนี้มาเป็นของเรา จะต้องการกามนี้มาเป็นของเรา ก็จะต้องมีตัวเราขึ้นมา ก็ภวาสวะนี้เองที่เป็นเครื่องสร้างตัวเราขึ้นมา กามาสวะเป็นข้อที่ ๑ ภวาสะเป็นข้อที่ ๒

ข้อที่ ๓ ก็คืออวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชาความไม่รู้ อันได้แก่ความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นของจริงของแท้ เป็นต้นว่าความไม่รู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ อันเป็นความไม่รู้ที่ดองจิตสันดานอยู่

ทั้ง ๓ นี้เรียกว่าอาสวะ เป็นกิเลสที่บังเกิดขึ้นดองจิตสันดานของบุคคล ของสัตวโลกทั้งปวง ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า เมื่อไม่รู้ไม่เห็นก็ละอาสวะนี้ไม่ได้ ต่อเมื่อรู้ และก็ได้ตรัสว่าข้อที่รู้ที่เห็น ก็คือรู้เห็น ว่าธรรมะอะไรควรใส่ไว้ในใจ ธรรมะอะไรไม่ควรใส่ไว้ในใจ เมื่อรู้เมื่อเห็นดั่งนี้จึงจะละอาสวะได้ แต่เมื่อไม่รู้ไม่เห็นดั่งนี้ก็ละไม่ได้

อาสวะทั้งหลายละได้ด้วยทัศนะ

จึงได้ตรัสต่อไปถึงอาสวะทั้งหลายละได้ด้วยทัศนะคือเห็นเป็นข้อแรก และก็ได้ตรัสอธิบายต่อไปว่า ข้อที่ว่าอาสวะทั้งหลายละได้ด้วยทัศนะคือเห็นนั้นก็คืออย่างไร จึงได้ตรัสอธิบายไว้โดยความว่า

บุถุชนคือบุคคลที่มีกิเลสหนา มิได้สดับ คือมิได้สดับคำสั่งสอนของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ของสัตตบุรุษทั้งหลาย จึงไม่ฉลาดรู้ธรรมะของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ของสัตตบุรุษทั้งหลาย ไม่เข้าใจธรรมะของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ของสัตตบุรุษทั้งหลาย ทั้งไม่ได้เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย สัตตบุรุษทั้งหลาย จึงได้ใส่ใจในธรรมะที่ไม่พึงใส่ใจ แต่ไม่ใส่ใจในธรรมะที่พึงใส่ใจทั้งหลาย

เมื่อเป็นดั่งนี้ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดจึงเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญงอกงาม ส่วนอริยสาวกทั้งหลายผู้ได้สดับแล้ว ได้เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ได้เห็นสัตตบุรุษทั้งหลาย ฉลาดรู้เข้าใจในธรรมะของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ของสัตตบุรุษทั้งหลาย ย่อมจะใส่ใจในธรรมะที่ควรใส่ใจ ไม่ใส่ใจใน

ธรรมะที่ไม่ควรใส่ใจ

อาสวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วจึงดับหายไปได้ ละไปได้ ส่วนอาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น การตั้งใจพอใจที่จะดู จะเห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย สัตตบุรุษทั้งหลาย คือที่จะคบหาสมาคม ที่จะเข้านั่งใกล้พระอริยเจ้าทั้งหลาย สัตตบุรุษทั้งหลาย เพื่อที่จะได้สดับตรับฟังคำสั่งสอนจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ

และเมื่อฟังคำสั่งสอนก็ตั้งใจฟังให้มีความรู้ ให้มีความเข้าใจ อันจะนำให้รู้จักว่าธรรมะอะไรที่ควรใส่ใจ ธรรมะอะไรที่ไม่ควรใส่ใจ ธรรมะที่ไม่ควรใส่ใจ

พระพุทธเจ้ายังได้ทรงแสดงถึงธรรมะที่ไม่ควรใส่ใจเอาไว้ ซึ่งบุถุชนทั้งหลายในโลกนี้ยังพากันใส่ใจอยู่เป็นอันมาก ด้วยทรงยกเอาเรื่องของตัวเรา หรือเรื่องของอัตตาของทุก ๆ คน ซึ่งคนทั้งปวงพากันใส่ใจ และพากันสงสัยในอัตตาคือตัวตนของทุก ๆ คน ในอดีตบ้าง ในปัจจุบันบ้าง ในอนาคตบ้าง ทั้งนี้ก็เพราะว่าต่างมีความยึดถืออยู่ซึ่งขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ คือนามรูปหรือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ ว่าเป็นตัวเราของเรา เพราะฉะนั้นจึงอดมิได้ที่จะต้องใส่ใจสนใจ จะต้องคิดคำนึง ต้องสงสัยเคลือบแคลงต่าง ๆ

ในข้อนี้เมื่อพิจารณาดูแล้วทุกคนย่อมจะมีความรู้สึกเป็นเช่นนั้น ว่าความคิดคำนึงทั้งปวง ความสงสัยเคลือบแคลงทั้งปวงนั้น ย่อมมีกำเนิดมาจากตัวเราของเรานี้ทั้งสิ้น เนื่องอยู่กับตัวเราของเรานี้ทั้งสิ้น คือตัวเราของเราที่ยึดถืออยู่นี้เอง อันทำให้ต้องครุ่นคิด ต้องกังวล ต้องวิตกวิจารต่าง ๆ เป็นไปในปัจจุบันบ้าง ย้อนไปข้างหลังบ้าง ก้าวไปข้างหน้าบ้าง เป็นไปอยู่ดั่งนี้โดยมาก เพราะฉะนั้นจึงทำให้เกิดทิฏฐิคือความเห็นอันเกี่ยวกับตัวเราของเราต่าง ๆ แม้ว่าจะไม่เกี่ยวกับตัวเราของเรา หรืออย่างที่เรียกว่าอนัตตาก็ตาม ก็ยังอดมิได้ที่จะต้องมีความพัวพันอยู่กับตัวเราของเรา

ความเห็นอันอิงอยู่กับตัวเรา

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงได้ทรงยกตัวอย่างของทิฏฐิ คือความเห็น อันอิงอยู่กับตัวเราของเรานี้ เป็นต้นว่า อัตตาคือตัวตนของเรามีอยู่ อัตตาคือตัวตนของเราไม่มี ข้อนี้ดูน่าจะไม่ใช่เป็นความเห็นที่ตรัสว่าไม่ควรใส่ใจ เพราะว่าอัตตาตัวตนของเราไม่มี ก็คล้าย ๆ กับเห็นอนัตตา แต่อันที่จริงนั้นยังมิใช่เห็นอนัตตา เพราะยังมีคำว่าของเรานี้ยืนเป็นหลักอยู่

คำว่าของเรานี้เองยังเป็นเครื่องยืนยันถึงความยึดถือ เป็นตัวยืนหลัก แต่ว่าอัตตาตัวตนบางอย่างที่เป็นของเรา ซึ่งเป็นตัวยืนนี้ไม่มีเท่านั้น แต่ว่าตัวของเรายังมีอยู่ ก็คือตัวเรายังมีอยู่ และแม้ความเห็นอย่างอื่นอีก เช่นว่ารู้จักอัตตาตัวเรา ทางตัวเรา รู้จักอัตตาคือตัวเราทางอนัตตา คือในอนัตตานั้นก็ยังมีตัวเรา รู้จักอนัตตาทางตัวเราก็คือ แม้ว่าจะพิจารณาว่าอะไรเป็นอนัตตา ก็ยังพิจารณาทางตัวเรา คือยังมีตัวเราอยู่ และยังมีความเห็นว่ามีอัตตาคือตัวเรานี้ที่เสวยเวทนาได้ เสวยวิบากของกรรมดีกรรมชั่วที่ได้ทำไว้แล้วได้ และอัตตาตัวเรานี้เองเป็นสิ่งที่เที่ยง เป็นสิ่งที่ยั่งยืน ตั้งอยู่ตลอดไป ดั่งนี้

ความเห็นของคนที่ไม่มีมรณะสติ

ก็คล้าย ๆ กับความเห็นของทุก ๆ คนที่ยังไม่มีมรณะสติ ย่อมดำรงชีวิตอยู่คล้าย ๆ กับว่าไม่ต้องตาย หรือคล้าย ๆ กับว่าชีวิตนี้ดำรงอยู่เรื่อยไปตลอดไปเหมือนไม่ตาย จะทำอะไรต่าง ๆ ก็เหมือนกับไม่ต้องตาย เรียกว่าอยู่กับความประมาท มักจะเป็นไปอยู่ดั่งนี้ ก็เพราะว่าได้ใส่ใจในธรรมะที่ไม่พึงใส่ใจ แต่ว่าไม่ใส่ใจในธรรมะที่พึงใส่ใจ

ธรรมะอันนำให้เกิดทิฏฐิ

ข้อว่าธรรมะในที่นี้ ก็หมายถึงสิ่งทั้งหลาย เรื่องทั้งหลาย ตลอดไปจนถึงธรรมารมณ์ อารมณ์คือเรื่องราวที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ คือที่ใจคิด ที่ใจดำริ ที่ใจหมกมุ่นถึง ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวแก่กาม เกี่ยวแก่ภพ เกี่ยวแก่โมหะ คือความหลงอยู่เป็นอันมาก

ดังเช่นเรื่องที่ตรัสยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างเหล่านั้น อันนำให้เกิดทิฏฐิคือความเห็นอันเกี่ยวแก่กาม เกี่ยวแก่ภพ ความเป็นนั่น เป็นนี่ ตั้งต้นแต่เป็นตัวเรา ของเราอยู่ตลอด ในปัจจุบันไม่พอก็ยังนึกย้อนไปข้างหลังคือในอดีต และก้าวไปข้างหน้าคือในอนาคตอีกด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นมายาที่ปกปิดจิตใจมิให้ได้ปัญญา หรือได้ทัศนะที่จะเห็นสัจจะคือความจริง

เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนให้เห็น ให้คบหาสมาคม ให้นั่งใกล้พระอริยเจ้า สัตตบุรุษทั้งหลาย เพื่อที่จะได้ฟังคำสั่งสอน อันจะนำให้เกิดปัญญา ตั้งต้นแต่ให้รู้จักว่าข้ออะไรที่ควรใส่ไว้ในใจ ข้ออะไรที่ไม่ควรใส่ไว้ในใจ แม้ว่าจะต้องมีชีวิตอยู่ครองเรือนต้องประกอบธุระการงานต่าง ๆ ก็ประกอบธุระการงานต่าง ๆ ไป แต่ว่าก็ต้องหาเวลามาที่จะชำระดวงตาคือปัญญาของตน ด้วยการสดับตรับฟัง หรือว่าอ่านคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงเป็นพระอริยเจ้าด้วย ทรงเป็นสัตตบุรุษด้วย ซึ่งได้ทรงชี้ให้เห็นสัจจะที่เป็นตัวความจริง คือตรัสสอนให้รู้จัก

ทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์

สมุทัยสัจจะ สภาพที่จริง คือสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

นิโรธสัจจะ สภาพที่จริงคือ นิโรธความดับทุกข์

มรรคสัจจะ สภาพที่จริงคือมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอธิบายอริสัจจ์ทั้ง ๔ ไว้โดยปริยายคือทางเป็นอันมาก เพื่อให้ผู้ฟังตั้งใจพิจารณาได้เกิดปัญญา รู้เห็นในทุกข์ รู้เห็นในเหตุเกิดทุกข์ รู้เห็นในความดับทุกข์ รู้เห็นในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ทัศนะที่ถูกต้องในสัจจะธรรม

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะได้ชื่อว่าเป็นอริยสาวก คือเป็นผู้ฟัง เป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระอริยะ ได้ชื่อว่าได้เห็น ได้พบ ได้สมาคมกับพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอริยะ ทำให้เป็นผู้ฉลาดรู้ในธรรมะของพระพุทธเจ้าผู้พระอริยะยิ่ง ๆ ขึ้นไป

และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะทำให้ทิฏฐิคือความเห็นที่หนาแน่นอยู่ในมายา คือสิ่งที่ไม่จริง ที่ปิดบังความจริง ที่ลวงตาลวงใจต่าง ๆ ให้เบาบางลงไป ทำให้จิตนี้ได้ทัศนะคือความเห็นถูกต้องในสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นตัวความจริงทั้งหลายมากขึ้นโดยลำดับ ตั้งต้นแต่ให้รู้จักผิดชอบชั่วดีทางกรรมบถ คือทางของกรรมที่ประกอบกระทำ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ

ตลอดจนถึงให้ได้ทัศนะคือเห็นในอริยสัจจ์ยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ ทัศนะในอริยสัจจ์ดังกล่าวนี้เอง รวมทั้งทัศนะเห็นในสัจจะ แม้ในทางกรรมบถ คือกระแสกรรมทางกรรม บาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ทั้งหลาย ย่อมเป็นเครื่องบันเทา เป็นเครื่องละอาสวะทั้งหลายได้ไปโดยลำดับ

การปฏิบัติในสติปัฏฐานทุกข้อทุกบท ก็ชื่อว่าเป็นการที่ได้มาสดับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผู้พระอริยะ ได้ฉลาดรู้ในธรรมะของพระพุทธเจ้าผู้พระอริยะ และเมื่อปฏิบัติก็จะทำให้ได้ทัศนะคือเห็นในสัจจะที่เป็นตัวความจริง อันมีสติที่พิจารณากายเวทนาจิตธรรมเหล่านี้นำ ให้ขัดเกลาละอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดานไปโดยลำดับได้ ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป