นรกแตก
พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
วันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๕
วันนี้จะเทศน์ถึงเรื่อง นรกแตก ให้ฟัง พอพูดถึง นรก ใครก็กลัวทุกคน แต่ยังไม่เห็นนรกเลยสักที มันไหม้เผาผลาญสัตว์อยู่ตลอดวันตลอดคืน นรกไม่ใช่มันจะเรียกเอาตัวของเราไป แต่เราตกไปเองต่างหาก เหตุที่จะไม่ให้ตกนรกนั้นมีอยู่ แต่เราไม่มีการป้องกันตัว
ความโกรธ เกิดขึ้นในใจในตัวของเรา มันร้อนอยู่ตลอดเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน ในอิริยาบถทั้งปวงหมด เป็นไฟเผาตลอดเวลา คนที่โกรธมากจึงอายุสั้น ตายเร็ว ถ้ายังไม่ตายก็ถูกไฟเผาอยู่นั่นแหละ ความโกรธนั้นมันเกิดจากความไม่พอใจเรียกว่า ปฏิฆะ
นรกแตก คือว่า ความโกรธ ความไม่พอใจมันร้อนเต็มที่แล้ว มันแตกกระจายออกไป เห็นสิ่งต่างๆ แล้วไม่พอใจไปทั้งหมด วัตถุสิ่งของใดๆ ที่อยู่รอบด้านรอบตัวของเรา เห็นเป็นพิษเป็นสงไปหมด ผู้คนต่างๆ ที่อยู่รอบตัวของเรา แม้แต่ญาติมิตร พวกพ้องพี่น้องของเรา มีบิดามารดาเป็นต้น ก็เห็นเป็นภัยหมด อันนั้นแหละ หม้อนรกแตก
มันแตกออกมาจากใจ แล้วก็กระจายไปทั่วทุกแห่งหน ไหม้ตลอดหมด เรียกว่า นรกแตก มันแตกเป็นหม้อเล็กหม้อน้อยออกไป นั่นแหละใครไม่รู้จักนรก ให้ดูเสีย ให้เข้าใจเสีย
นรก คือความโกรธ ความโกรธนี้เมื่อมีในตัวของเราแล้ว เราไม่อดกลั้นมันเลย ปล่อยกระจายออกภายนอก ไหม้เผาผลาญไปทั่วบ้านทั่วเมือง ไฟไหม้ป่าเขายังสามารถดับได้ แต่ไฟภายใน ไฟนรกตรงนี้ไม่ดับเลยสักที รถดับเพลิงสัก ๑๐ คันก็มาเถิด ยิ่งฉีดเข้าใส่เท่าไร ยิ่งกระพือไฟขึ้นใหญ่โต
คำว่า นรก เป็นคำบาลี แปลว่า นรชน คือคนเรานี่แหละ ทุกๆ คนมีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปดูที่อื่นไกล ดูตัวของเราก็แล้วกัน เวลามันโกรธขึ้นมา มันมืดมิดหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านเรียกว่า นรกโลกันต์ คือมืดมิดหมด ไม่เห็นแสง เห็นแดดอะไรเลย
เคยได้ยินจากคัมภีร์ปรำปราอันหนึ่ง กล่าวถึงเรื่องพระโมคคัลลา บิดามารดาของท่านเป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ พระโมคคัลลาอบรมทรมานอย่างไรก็ไม่ได้ผล เมื่อมารดาตายไปแล้วไปตกนรกหรือไปตกที่ไหนก็ไม่ทราบ พระโมคคัลลาท่านเป็นพระผู้ที่มีฤทธิ์มีเดชมาก ท่านเที่ยวไปในสวรรค์ ก็ไปพบคนที่ทำบุญทำทาน ผู้เป็นญาติพี่น้อง คนรู้จักที่เคยอยู่บ้านนั้นๆ หมู่นั้นๆ ไปเที่ยวนรกก็ไปเห็นสัตว์นรก พวกเขาได้ร้องขอพระโมคคัลลาว่า ญาติพี่น้องของข้าพเจ้าชื่อนั้นๆ อยู่บ้านนั้นเมืองนั้น ขอให้พระโมคคัลลาช่วยไปบอกข่าวแก่ญาติของเขา ท่านก็นำเอาข่าวสารมาบอกพวกญาติของเขาที่ยังเป็นมนุษย์อยู่นี่
แต่ท่านหามารดาของท่านไม่พบ เอ! ไปอยู่ที่ไหนกันนี่ ท่านจำเป็นจะต้องค้นนรก เพื่อจะหามารดา ท่านมีฤทธิ์มากท่านไปค้นหาทุกซอกทุกมุม ท่านไปถึงไหน ไฟนรกตรงนั้นดับไปหมด ท่านค้นหาเท่าไรๆ ก็ไม่เห็น ไฟนรกยังเหลืออยู่นิดเดียว เท่าแสงหิ่งห้อย ท่านเอาไฟนรกนั้นห่อปลายจีวรกลับขึ้นมาเมืองมนุษย์ด้วย ตอนเช้าท่านก็ออกบิณฑบาตคนมาใส่บาตร ถูกไฟนรกของท่านล้มละลายหมดเลย แต่ตัวของท่านไม่เป็นอะไร
นี่ ลองฟังดูซี ถ้าหากเป็นจริงอย่างในคัมภีร์นั้นว่าไว้ก็ชอบกลเหมือนกัน เกจิอาจารย์ท่านประพันธ์ไว้เป็นของสำคัญมาก น่าคิดเหมือนกัน พระโมคคัลลาท่านมีฤทธิ์มีเดชมาก ท่านไปถึงไหนไฟนรกดับตรงนั้น แต่ดับไม่หมดยังเหลือนิดเดียว เท่าแสงหิ่งห้อย ท่านนำมาในเมืองมนุษย์ ผู้คนทนไฟนรกนั้นไม่ได้ล้มตายหมด ท่านจึงได้เอากลับคืนไปทิ้งในนรกของเก่า ไฟนรกก็เลยลุกกลับคืนมาอีก มันไม่ดับหมดสักที ทำอย่างไรมันก็ไม่ดับ
เมื่อเป็นอย่างนี้ พวกเราจะทำอย่างไรกัน? มันแตกแล้วทำอย่างไรมันจึงจะดับ? มันแตกแล้วยิ่งกระจายออกไปใหญ่ กระจายไปหมดทั่วทุกหนทุกแห่ง ญาติพี่น้อง รวมทั้งสิ่งสารพัดทั้งปวงหมดในรอบๆ นั้น เดือดร้อนกันไปหมดเลยมันกระจายออกไป เผาผลาญไหม้ไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งสิ่งที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ ไม่เหลือทั้งนั้น
จะเห็นบางคนพอโกรธขึ้นมา ถ้วยชามทิ้งขว้างหมด แตกกระจัดกระจาย ถ้วยชามเหล่านั้นมันทำอะไรให้คน? มันมีวิญญาณอะไร? ทำไมไปจับมันขว้างหมดละ นั่นแหละไฟนรกเผา แม้แต่ของไม่มีจิตวิญญาณก็เผาหมด
ท่านสอนให้ดับไฟนรก ต้องเอาที่ต้นตอของมันจริงๆ จังๆ ต้อตอของนรกจริงๆ คือ ใจ ถ้าเราเห็นใจแล้ว มันไม่มีอะไรหรอก ไฟนรกก็ดับ ความโกรธก็ไม่มี เช่นว่า เราโกรธพอกำหนด สติ เห็น ใจ เราเท่านั้น ความโกรธนั้นหายไปเลย ความโลภ ความหลง ความมานะทิฏฐิก็เหมือนกัน หากเราเข้าไปเห็นตัวใจแล้ว ของเหล่านั้นดับหายไปหมด
ใจ คือตัวเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปในอดีต ในอนาคต ไม่คิดนึกอะไร นิ่งเฉยอยู่ ตัวนั้นแหละเป็น ใจ เราดับไฟตรงนั้นเลย ไม่ต้องใช้เครื่องฉีด ตรงเข้าไปตรงนั้นเลยทีเดียว คือตรงเข้าถึงใจ ที่มันเป็นกลางนั่นเลย
แต่มันดับไม่หมดทีเดียวนะ เหมือนกับที่โบราณาจารย์ท่านเปรียบเทียบเอาไว้ว่า พระโมคคัลลาดับไม่หมด เอาติดมานิดเดียวนั่นแหละ อันที่นิดเดียวนั้น มนุษย์ปุถุชนเห็นเข้า ล้มตายระเนระนาด ละลายไปหมด ไฟอันนั้นพิษมันร้ายแรงมาก ท่านหมายถึง ความโกรธ นั่นแหละ แม้จะน้อยนิดเดียวก็ตาม พอมันโกรธขึ้นมาแล้ว มันอาจจะล้มทุกสิ่งทุกอย่างระเนระนาดได้
ความโกรธไม่มีตัว ไม่ทราบว่าตั้งอยู่ในสถานที่ใด ใครเป็นพ่อเป็นแม่ของมันก็ไม่ทราบ ใครเป็นพี่เป็นน้องมันก็ไม่ทราบ แต่มันเกิดขึ้นมาเอง เกิดขึ้นมาแล้วก็ขยายกว้างขวางออกไป แพร่พันธุ์ลูกๆ หลานๆ กว้างขวางมาก ได้แก่ มานะทิฏฐิ ถือตนถือตัว เกิดอะไรต่างๆ ได้สารพัดทุกอย่าง ออกมาจากความโกรธความไม่พอใจทั้งนั้น
อาตมาเคยเที่ยวป่ารุกขมูลแต่ก่อนนี้ เลยจะเล่าให้ฟังสักหน่อย มีพระผู้ใหญ่ท่านถาม เวลานั้นท่านผักผ่อนนอนอยู่ใต้ร่มไม้ อาตมาเดินผ่านไป
ท่านเรียก คุณเทสก์มานี่
ท่านอยู่องค์เดียว ก็เลยเข้าไปกราบท่าน ท่านนอนอยู่บนเก้าอี้ยาว
ท่านพูดว่า พระอรหันต์ท่านยังมีกิเลสอยู่หรือ?
มีครับ อาตมาก็ไม่ทราบตอบออกไปตั้งแต่เมื่อไร ไม่รู้ตัวเหมือนกัน ท่านก็เลยนิ่ง
เอ! ทำไมหนอเราจึงไปพูดอย่างนั้น
สักพักหนึ่งก็ถามอีก เธอมีดาบอยู่ในมือ อาวุธเธอมีอยู่ในมือ เธอจะฆ่าเขาได้ไหม?
ได้ครับ เอ! ตอบซ้ำสองไปอีกแล้ว มันตอบโดยที่ไม่ได้คิดนึก จึงมาคิดถึงตนของตน เอ! มันไม่สมควรนา ตอนสำนวนกับพระผู้ใหญ่ ไม่สมควรเลย ดีอยู่หรอกที่นี้ไม่มีใคร มี ๒ องค์เท่านั้น แล้วจึงค่อยอธิบายให้ท่านฟัง
มีหอกมีดาบอยู่ในมือ กระผมสามารถจะตีจะฆ่าเขาได้ แต่กระผมไม่ฆ่า เพราะเห็นโทษของการฆ่า มันเป็นโทษจึงไม่สามารถที่จะฆ่าเขาได้
อธิบายได้เท่านั้น ก็มีพระมหาองค์หนึ่งเดินด้อมๆ เข้ามาหาท่าน อาตมากราบแล้วก็เลยลุกหนี จนป่านนี้ยังจำไม่ลืมเลย คำพูดอันนั้น
อวัยวะ มือ เท้า ฯลฯ มีอยู่ทุกคนนั่นแหละ สามารถที่จะฆ่าจะแกงเขาได้ แต่ว่าเราระมัดระวังสังวร สำรวมกาย วาจา ใจ จึงไม่สามารถที่จะทำเขาได้ ไม่สามารถที่จะฆ่าจะแกงเขาได้ กิเลสอันนั้น ถ้าเอาออกมาใช้เมื่อไร ก็ใช้ได้เหมือนกัน มันเหมือนเก่านั่นแหละ แต่ท่านผู้วิเศษทั้งหลายท่านไม่ใช้ กิเลสยังอยู่เท่าเก่า หู ตา จมูก ลิ้น กาย มันก็ยังอยู่เท่าเก่า มันประสบพบเห็นสิ่งต่างๆ ก็เท่าเก่านั่นแหละ ไม่ใช่ท่านไม่มีหู ไม่มีตา ไม่มีแขน ไม่มีอวัยวะต่างๆ ท่านมีเหมือนกันกับพวกเรา แต่ท่านเป็นผู้สำรวมแล้ว ท่านระวังแล้วตลอดเวลา
เหตุนั้น พวกเราฝึกหัดปฏิบัติอยู่นี่ ก็ปฏิบัติเพื่อให้มันชำนิชำนาญ ในเรื่องการสำรวมระวัง เมื่อมีอะไรมากระทบเข้าเพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อน เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นมา ไม่ให้มันขุ่นขึ้นมานั่นเอง ให้มันใสแจ๋วอยู่ตลอดเวลา มันจึงจะพ้นจากทุกข์ พ้นจากนรก
ถ้ามีอะไรมากระทบปั๊บเวลาใด เกิดขุ่นมัวขึ้น เกิดประหัตประหาร ฆ่าฟันกันด้วยประการต่างๆ เกิดด่าเกิดว่ากันขึ้น มันเป็นเหตุให้เดือดร้อนทั้งตนและคนอื่น เหตุนั้นจึงควรระวังทุกๆ คน เป็นมนุษย์อยู่หมู่มากด้วยกัน มันต้องมีการกระทบ จะอยู่บ้าน หรืออยู่ที่ไหนก็ตามเถิด ให้คอยระวังอยู่ตลอดเวลา การระวังสังวร พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน ให้พากันทำให้นักหนา ให้พากันรักษานักหนา
มีเรื่องเล่าไว้ว่า ลูกศิษย์คนหนึ่งไปเรียนในทิศาปาโมกข์ถึง ๓ ปี เรียนอะไรก็ไม่ได้ ลูกศิษย์คนนั้นเรียนลำบากมาก มันทื่อเหลือเกิน อาจารย์เลยบอกว่า
เอาเถิด เรียนมากไม่ได้ก็ตามเถิด เรียนคำเดียวก็เอาละ คือเรียน อด คำเดียวเท่านั้นแหละ จึงสำเร็จกลับคืนมาได้เลย
พระพุทธเจ้าก็ตรัสเทศนาเหมือนกัน ความอดกลั้น เป็นตปะอย่างยิ่ง คือ ระงับกิเลสได้
ทางโบราณท่าสอนว่า ก่อนจะทำอะไรลงไปให้นับสิบเสียก่อน ทีนี้มันไม่ทันนับสิบน่ะซี มันออกไปก่อน วาจามันเร็วที่สุด ใจยังเร็วกว่านั้นอีก มันอยากจะพูดซ้อนๆ กัน ๒-๓ คำนั่นน่ะ ตรงที่มันออกไปไม่ทันใจ พอพูดหยาบคายออกไปแล้ว มันก็เป็นเหตุให้ร้อนแล้วทีนี้ เราน่ะร้อนกว่าคนอื่นเสียด้วยซ้ำ
อาตมาจึงบอกว่า นี่แหละ นรก ไม่ใช่อื่นไกล ระงับดับนรกตรงนี้ได้แล้ว มันอยู่สบาย ไม่ต้องไประงับดับที่อื่น ที่ว่านรกอยู่ใต้ดินนั้น ที่จริงแล้วไม่ใช่หรอก ความเลวทราม ความต่ำช้าของจิตใจนั่นมันต่ำ เขาจึงเรียกว่าอยู่ใต้ดิน จึงว่านรกอยู่ใต้ดิน พูดถึงนรกก็ชี้ลงไปข้างล่างที่ดินเลย
ส่วนจิตใจที่ดีงาม มันเบา มันสูง เขาจึงเรียกว่า ขึ้นสวรรค์ มันสูงจึงอยู่ข้างบน พูดถึงสวรรค์ก็ชี้ขึ้นไปข้างบน
อันความเป็นจริงแล้ว นรก สวรรค์ อยู่ที่ตัวของเรานี่แหละ อย่างที่อธิบายให้ฟังในเบื้องต้น นรก แปลว่า นรชน นรชนมีในที่ใด นรกมีในที่นั้น ไม่ต้องไปหาที่อื่น ไปหาที่อื่นไม่เห็นหรอก จะไปหาที่ไหนๆ ก็ไม่เห็น มันอยู่ในตัวคนนี่ทั้งนั้น ครั้นตัวของเราไม่เป็นนรกแล้ว ก็หมดเรื่อง นรก ใต้ดินก็ไม่มีนรก
วันนี้อธิบายเท่านี้ละ เอวํฯ