คุยกับอาจารย์วิทยาลัยครูอุบลราชธานี
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
คัดลอกจาก http://www.geocities.com/clcseacon/preaching17.html
บ่ายวันหนึ่ง ที่...วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
คณะครูอาจารย์จากวิทยาลัยครูอุบลราชธานี มากราบนมัสการหลวงพ่อพร้อมกับของฟังธรรม...
ได้ข่าวว่าหลวงพ่อไม่ค่อยสบายหรือคะ?
อือ!...ไม่ค่อยสบาย ร่างกายไม่ค่อยสบาย มันโอนไปโอนมา
คุณหมอมาตรวจแล้วหรือยังคะ
มันเป็นอย่างงั้นแหละ...มันเกษียณแล้วนี่ ถูกเขาเกษียนแล้ว มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ อายุหกสิบกว่านี่เกษียนแล้ว ทุกวันนี้ทำงานนอกคิวเขาหรอก
ขอฟังเทศน์สักหนึ่งกัณฑ์ค่ะ
อือ!...เอาสักนิดเหรอ หรือเอามาก
เอาสักนิดก่อนค่ะ
(หลวงพ่อหัวเราะ)
...อาตมาเคยพบพวกนักศึกษาและข้าราชการมาฟังธรรม เมื่อพูดอะไรกันจบแล้ว เขามักขอฟังธรรมสักนิดหนึ่ง อาตมาเห็นว่าธรรมะที่หมดราคาแล้ว ไม่ค่อยมีใครอยากได้มาก ๆ ขอนิดเดียวเท่านั้น ลองคิดดูสิ...เวลาเราหิวข้าวแล้วกินข้าวนิดเดียว...อิ่มมั้ย?
นิดเดียวแต่หลายอย่างค่ะ
เอ้อ!...ไอ้นิดเดียวนี่มันเพราะอะไร? เพราะรีบไปรีบมาแล้วก็รีบไป รีบทั้งนั้นแหละ มันจึงเหลือนิดเดียวไปหาว่าเวลาไม่พอ เวลามันเหลือเยอะ แต่คนเราว่าเวลาไม่พอ เวลามีมากพอ แต่คนทำไม่ถูกตามเวลา ก็ไปโทษเวลาไม่พอ
เอ้า!...ตั้งใจฟังกันนะ จะพูดให้ฟังสักนิด โยมอยากได้ของสักนิดหนึ่ง ก็จะพูดให้ฟังสักนิดหนึ่งเหมือนกัน
วันนี้เป็นวันดีวันหนึ่งที่ได้ต้อนรับพูดคุยกับคณะครูอาจารย์จากวิทยาลัยครูอุบลฯ เมื่อมาถึงแล้ว ก็ไม่มีอะไรมากมายไปกว่าการสร้างความดีของพวกเรา สิ่งที่ดีของวันนี้ก็คือสิ่งที่พวกเราขอจากอาตมาอาตมาก็ให้ไปแล้ว เรียกว่าขอพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งและขอศีลไปเป็นข้อปฏิบัติ อันนี้เป็นของที่ดีที่สุด แต่เป็นของดีที่ไม่มีใครสนใจเท่าไหร่ โดยมากจะไปสนใจกับสิ่งไร้ค่า สิ่งมีคุณค่าอย่างศีลนี้ไม่ค่อยมีใครสนใจเพราะศีลไม่มีรูปร่าง บางคนก็คิดว่า ทำแล้วก็อย่างนั้น ไม่ทำก็อย่างนั้น ศีลจึงไม่ฝังลึกเข้าไปในจิตใจของคนเรา
ความเป็นจริงแล้ว ศีลเป็นสิ่งจำเป็นมาก ศีลคือความซื่อสัตย์ สุจริต ทำให้เราไว้เนื้อเชื่อใจกันได้เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกัน ทำให้เกิดความสามัคคีพร้อมเพรียงกันทำงาน และอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นปกติราบรื่น
เป็นอย่างไรล่ะ? เป็นผู้ใหญ่ เป็นครูบาอาจารย์เขาแล้ว สบายดีไหม? เมื่อก่อนก็คิดว่าเป็นผู้น้อยนี่มันลำบาก ต้องอาศัยผู้อื่นต้องเกาะผู้อื่นเค้า ก็พยายามจะทำตัวเป็นผู้ใหญ่กันนะในสมัยนั้น จนกระทั่งถึงวันนี้ เป็นยังไงล่ะ? เป็นผู้ใหญ่แล้วเป็นครูบาอาจารย์เขาด้วยซิ บัดนี้ถูกเขาเกาะแล้วคงหนักใจไม่ใช่เล่นเหมือนกันนะ แต่ก่อนเราไปเกาะเขา ก็นึกว่ามันสบาย พอวันนี้เราโตแล้วถูกเด็กเกาะเข้าล่ะทีนี้...หนักมั้ย? อะไรๆ ที่ยุ่งๆ เขาเอามาให้เราทั้งนั้นแหละ
อาตมาก็เหมือนกัน อยู่ในวัดอย่างนี้ บางครั้งก็มีคนเอาลูกหลานมาฝาก เขานึกกันว่าเอามาขว้างไว้ในวัดแล้วมันจะดี ความคิดผิดเป็นอย่างนี้แหละ ไปคิดว่าผ่านวัดแล้วจะดีขึ้น นกก็บินผ่านวัดเหมือนกัน มันดีขึ้นมั้ย?
เข้ามาวัด ต้องปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอน จึงเจริญและดีขึ้น ลูกหลานบางคน บวชในพรรษาเดือนสองเดือน ทุรนทุราย อยากจะทำจิตให้สงบ เพราะเขาไม่เคยมีจิตทีสงบ เมื่อจะฝึกจิตให้สงบ ก็อยากจะทำให้มันสงบเดี๋ยวนั้น เขาพากันมาถามบ่อย ๆ ว่าจะทำอย่างไรให้มันสงบเร็วที่สุด? อาตมาก็บอกว่า ทำให้เร็วที่สุดหรือ? ก็คือ...ไม่ต้องทำนั่นแหละดีกว่า
เขาหารู้ไม่ว่า เขาเกิดมากี่ปีแล้ว เราเคยอบรมจิตให้มันหยุดหรือสงบบ้างมั้ย? ไม่เคย จิตใจมันเพลิดเพลินสนุกสนาน หรือโลภโกรธหลงอะไร ก็ไม่เคยยับยั้งมันเลย มีแต่ปล่อยมันเต็มที่ แต่พอบวชเข้ามาเดือนสองเดือน อยากนั่งสมาธิให้มันสงบเดี๋ยวนี้ อยากให้มันเร็วที่สุด ความคิดอย่างนี้เรียกว่าตัณหามันวิ่งนำหน้าเรา
จะทำให้เร็วที่สุดตามความอยากไม่ได้หรอก ต้องค่อยๆ ทำด้วยความพอดี ทำด้วยความสม่ำเสมอ ดูกาลเวลาให้เหมาะสม ไม่ใช่ทำตามตัณหา
ตัณหาก็คือความอยากนี่แหละ เรื่องพอจึงเกิดขึ้นไม่ได้
ถ้าตัณหาเบาบางลงไป ความพอก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นมา
เมื่อต่างคนต่างพอ รู้จักพอประมาณ ความสบายก็มีมากขึ้น
ถ้าไปเคี่ยวเข็ญตนเองมาเกินไป อยากได้เร็วดั่งใจ มันก็ลำบากเท่านั้นเอง
เหมือนกับเราปลูกต้นไม้...ปลูกวันนี้...พรุ่งนี้อยากให้มันโตขึ้นทันที เป็นไปได้มั้ย? นี่แหละ! เรื่องของความอยากกิเลสตัณหา คนเราทุกข์ยากลำบากเพราะเรื่องเหล่านี้แหละ
การทำสมาธิเป็นการทำใจให้สงบเย็น ทำให้จิตมีกำลัง เหมือนร่างกายจะเข้มแข็งมีกำลังวังชา ต้องมีการออกกำลังเคลื่อนไหวอวัยวะบ่อยๆ แต่จิตจะมีกำลังหนักแน่น มั่นคง ไม่หวั่นไหว ต้องทำจิตให้สงบเสียก่อน
บางคนทำสมาธิไป แต่ยังไม่สงบ อย่าเพิ่งเสียใจเราทำทุกวัน ดีกว่าไม่ทำ เราพยายามทำจิตให้สงบดีกว่าไม่พยายาม ถึงไม่สงบ แต่มานั่งเงียบๆ อย่างนี้ก็ดีแล้ว
จะเปรียบเทียบให้ฟัง เช่นว่า วันนี้เราหิว ได้กินแต่ข้าวเปล่าๆ ไม่มีกับข้าว บางคนก็น้อยใจ แต่อาตมาไม่คิดอย่างนั้น ได้กินข้าวเปล่าๆ ก็ดีกว่าไม่มีข้าวกินใช่มั้ย? มีข้าวเปล่าๆ ก็กินไปก่อนเถอะ ดีกว่าอดข้าว
การทำสมาธิก็เหมือนกัน ยังไม่สงบก็ทำไป ดีกว่าคนปล่อยจิตปล่อยใจไปกับสิ่งเลวๆ โดยตัวเองไม่รู้เรื่องขอให้ค่อยๆ ฝึกกันไป อย่าไปทำตามความอยาก
ความอยากนี่มันไม่ดีหรือ? ความจริง อยากนี่ก็ดี แต่ต้องรู้จักพอ ถ้าไม่รู้จักพบมันเป็นตัณหา เช่นท่านทั้งหลายที่มาวัดในวันนี้ถ้าไม่มีความอยากก็คงไม่ได้มา นี่คือความอยากเป็นเหตุให้ได้มาพบกันและทำให้ได้พูดคุยสนทนาธรรมกัน ก็เพราะความอยากนี่เอง ความอยากอย่างนี้ เป็นความอยากในทางที่ดีเป็นบารมีของเรา แต่ว่าเมื่อถึงเวลาหนึ่ง เราก็ทิ้งความอยากนั้นเสีย
เรื่องราวอยากต้องแยกให้ถูก มันมีทั้งอยากในทางที่ถูกับอยากในเรื่องที่ผิด ถ้าแยกไม่เป็นจะมีแต่ปัญหา คนเราพอมีปัญหา ไม่ค่อยดูตัวเอง ชอบไปโทษอันนั้นอันนี้ ความจริงตัณหาตัวเองนั่นแหละทำให้ปัญหาเกิดขึ้นมา
เหมือนกับเรากินอาหารมากเกินไป ท้องมันแน่นแล้ว แต่ใจยังอยาก ปากยังกิน พอตอนเย็นท้องอืด ปวดท้อง ก็บ่นว่า แหม!...มันเป็นเพราะอาหาร ความจริงเป็นเพราะตัวเองกินเข้าไปมากก็ไม่ว่า ไปว่าแต่ข้างนอก ไม่ดูตัวเอง เรื่องก็เลยไม่จบสักที คล้ายกับของตกหล่นอยู่ที่หนึ่ง แต่เราไปตามหาอีกที่หนึ่ง เมื่อไหร่จะเจอล่ะ!...
การกินอาหารก็เหมือนกัน ถ้ากินมากแล้วแน่นท้องท้องอืด ปวดท้อง เราก็ต้องพิจารณาให้เห็นโทษของความอยากและการกินมาก ถ้าเราเห็นโทษนี้ชัดเมื่อไหร่ เราก็เลิกได้ วันหลังจะกินอาหารก็ระวัง เพราะถ้าไม่ระวังจะถูกมันเล่นงานเอาอีก เราเสียทีมันครั้งหนึ่งแล้ว นี่เรียกว่ารู้จักโทษของความอยาก
เมื่อเห็นโทษของความอยากแล้ว เราจะไม่ทำตามมันทั้งหมด และต่อไปก็ไม่ทำตามมันเลย ต้องเห็นโทษก่อนจึงจะละความอยากได้ ถ้าไม่เห็นโทษก็ละไม่ได้ เมื่อเราเห็นโทษปุ๊บ! ประโยชน์ก็เกิดขึ้นเดี๋ยวนั้นเลย
แต่คนไม่รู้ความจริงอันนี้ ไม่รู้จักพิจารณาจิตใจตัวเอง จะทำเรื่องเหล่านี้ได้ยาก คนจึงชอบพูดกันว่าทำดีทำยาก จึงไม่ค่อยอยากจะทำกัน ความจริงมันอยู่ที่คนต่างหาก ไม่ใช่ทำดียากกว่าทำชั่ว หรือไม่ใช่ความชั่วทำยากกว่าความดี
ถ้าคนฝึกจิตให้เป็นบุญ การทำบุญ ทำความดี ทำสิ่งที่ถูกต้อง มันก็ง่าย แต่คนไม่ฝึกจิต ปล่อยจิตให้บาปครอบงำ เขาก็ทำบาป ทำชั่ว ทำผิดได้ง่าย แต่ทำดีได้ยาก ฉะนั้น ทำดีก็ง่าย ทำชั่วก็ง่าย แล้วแต่ว่าเราจะฝึกตัวเองให้เป็นคนแบบไหน?
ทุกคนปรารถนาความสงบความสบาย แต่ความสงบอยู่ที่ไหน?
ความวุ่นวายอยู่ที่ไหน? ความสงบที่นั่น
ความสงบอยู่ที่ตัวเรานี่แหละ อย่าไปหาที่อื่นเลย
ถ้าเรารู้จักความสงบ ทำใจให้สงบได้แล้ว อยู่ที่ไหนมันก็สุขสบาย แต่ถ้าไม่รู้จักความสงบ มัวแต่ไปโทษนั่นโทษนี่ตัวเองทำความวุ่นวายให้ตัวเอง ไม่เคยโทษตัวเองสักทียิ่งอยู่ในกลุ่มใหญ่แล้วยิ่งลำบาก ต่างคนต่างทำตามใจตัวเอง คนนี้จะเอาอันนั้น คนนั้นจะเอาอันนี้ มันวุ่นวายตลอดเวลาเลยนะ ตกลงว่าเราจะต้องแก้ปัญหาให้ได้ ความสงบความสบายจึงจะเกิดขึ้นมา
ทุกวันนี้ เราเกิดมาเพื่อแก้ปัญหา ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้มันก็ทุกข์ ถ้าแก้ปัญหาได้ มันก็เบาใจ...สบาย ไม่รู้ความสบายมันมาจากไหน? แต่ก่อนความสบายอยู่ตรงไหน? มองเห็นมั้ย? มันอยู่ที่แก้ปัญหาไม่ตก พอแก้ปัญหาตกปุ๊บ! สบายขึ้นเดี๋ยวนั้น ไม่รู้มันวิ่งขึ้นมาจากไหน?
ความเป็นจริง มันอยู่ตรงนั้นแหละ แต่มีความคิดผิดเมื่อไหร่ ทุกข์ก็เกิดเดี๋ยวนั้น เมื่อมีความคิดถูก ความสงบก็เกิดขึ้นเดี๋ยวนั้นเหมือนกัน ปัญหาหมดไปเพราะปัญญาที่รู้เห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง
คนเราถ้าไม่มีปัญญาจะทุกข์มาก ไปทำงานเหนื่อยมากๆ ก็นึกว่านอนดีกว่า สบายดี นอนสบายจริงมั้ย? ลองนอนโดยไม่ขยับตัวลุกขึ้นเลยทั้งวันจะสบายมั้ย? นั่งแล้วลุกบ้างจะสบายกว่า นั่งเฉยๆ สบายมั้ย? ลองนั่งสิอย่ายืนนะ จะได้สักกี่ชั่วโมง ไม่สบายอีกแล้ว เอ้อ!...ยืนดีกว่า ยืนได้พักเดียว เดินดีกว่า เดินไปเดินมาก็ไม่สบายขึ้นมาอีก อยากอย่างนั้นอย่างนี้ไม่มีจบหรอกความอยากของคนเรานี่ ความอยากทำให้ไม่สบายจริงสักที มันไม่สบายก็เพราะไม่รู้จักพอประมาณ
ธรรมะก็เหมือนกัน ถึงแม้จะรู้ หรือเรียนไปมากขนาดไหน แต่ถ้านำไปปฏิบัติไม่พอดีแล้วไม่เป็นธรรมะต้องถึงจุดที่พอดี จึงจะเป็นธรรมะที่แท้จริง เป็นธรรมะเป็นปัญญาที่แก้ปัญหาหรือทุกข์ได้
วันนี้ได้พูดความจริงให้ฟังเล็กๆ น้อยๆ เพราะเวลาของโยมไม่มากจึงขอฟังเทศน์กันสักนิด อาตมาจะเทศน์มากกว่านี้เดี๋ยวจะขัดกับโยม เอาแค่นี้พอนะ"