สนทนาธรรมกับคณะอาจารย์ ที่ กรุงลอนดอน พ.ศ. ๒๕๒๐
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
คัดลอกจาก http://www.geocities.com/clcseacon/preaching16.html
ควรทำความอยากลดลงให้พอประมาณ อย่าปล่อยใจให้อยากเต็มที่ ถ้าปล่อยเต็มที่นะ...โลกแตกแน่เลย!
หลวงพ่อชากับพระลูกศิษย์ชาวตะวันตกรับนิมนต์จากชาวอังกฤษไปเผยแผ่พุทธธรรม และพิจารณาสถานที่จัดตั้งวัดป่าที่ กรุงลอนดอน ขณะพักอยู่ที่นั่นหลายสัปดาห์ หลวงพ่อได้อบรมธรรมะสอนวิธีปฏิบัติสมาธิภาวนา ตลอดจนสนทนาธรรมกับผู้สนใจพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก และครั้งหนึ่ง คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยในกรุงลอนดอนได้มาพูดคุยและไต่ถามปัญหาหาต่าง ๆ โดยมีพระอาจารย์สุเมพุทธศาลนิกชน (พระสุเมธาจราย วัดอมราวดี ประเทศอังกฤษ) ศิษย์ชาวอเมริกาเป็นล่าม ในข้อสนทนามีเนื้อหาสาระหลายอย่าง... |
อยากถามหลวงพ่อ...เรื่องการปฏิบัติในวัดป่าต่างจากวัดธรรมดาอย่างไร?
เดิมวัดป่า ไม่ใช่ว่าเพิ่งมาตั้งกันในปัจจุบันนี้ ในครั้งพระพุทธเจ้านั้น ท่านออกบวชแล้ว ท่านก็อยู่ป่า วัดส่วนใหญ่อยู่ในป่าทั้งนั้น เพราะป่าเป็นสงบ้าวิเวกปราศจากรูปเสียงทั้งปวง เหมาะแก่การศึกษาปฏิบัติธรรมของพระภิกษุ สามเณร
การปฏิบัติในวัดป่า ก็ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า มีพระธรรมวินัยและข้อวัตรต่าง ๆ ที่ท่านบัญญัติไว้เป็นแนวทางปฏิบัติ
ความจริงไม่ว่าด้วยวัดป่าหรือวัดธรรมดา ก็ต้องปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยทั้งนั้น เพราะเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน
พระในวัดป่านั้น เป็นพระที่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยจริง ๆ ไม่ใช่เพียงแต่เรียนหรือพูดเฉยๆ ท่านจะปฏิบัติให้เห็นเหตุผลในคำสอนของพระพุทธเจ้า
วัดป่าส่วนใหญ่จะอยู่ห่างจากชุมชนประมาณ ๑ กิโลเมตรเป็นอย่างน้อย มีพระภิกษุสามเณรปฏิบัติตามพระธรรมวินัยและธุดงค์วัตรโดยเคร่งครัดเพื่อขัดเกลากิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ ให้น้อยลงๆ จนกระทั่งถึงที่สุด
วัดป่าที่สงบสงัด ปราศจากสิ่งรบกวน จึงเป็นสถานที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติให้การบรรลุธรรมเกิดขึ้นได้
วัดป่าพงเป็นอย่างไร?...เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านอย่างไร?
วัดป่า...มีความเกี่ยวข้องกันเป็นอย่างมากกับชาวบ้าน เป็นสถานที่อบรมประชาชนทั้งหลาย ให้เป็นผู้ละความเห็นผิด ให้เป็นผู้มีความเห็นชอบในการเกิดมาเป็นมนุษย์ว่า...เราควรจะปฏิบัติอย่างไร?.. ทำอย่างไร?... ต่อชีวิต
ในทุกสัปดาห์จะมีวันพระหนึ่งวัน ชาวบ้านจะมารวมกันที่วัด ถวายอาหารบิณฑบาตพระ ฟังธรรมปฏิบัติสมาธิภาวนา รักษาศีลอุโบสถ
พระจะทำหน้าที่แนะนำพร่ำสอนให้ชาวบ้านเข้าใจในหลักของพุทธศาสนา คนบางจำพวกในเมืองไทย ก็เหมือนกับชาวยุโรปนี้ ไม่ได้ยินคำสอนของพระ ไม่เข้าใจการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องจึงเป็นคนสับสนวุ่นวายอยู่อย่างนั้นแต่บางคนเมื่อได้ยินแล้วเข้าใจบ้าง ชีวิตก็จะดีขึ้น
คนไม่รู้จักพุทธศาสนา ก็รู้ดีขึ้น คนไม่รู้จักบาป-บุญ คุณ-โทษ ไม่รู้จักผิด-ชอบ ชั่ว-ดี ก็เข้ามาอบรมให้เกิดความเฉลียวฉลาด ไม่ทำความชั่วทางกาย วาจาใจ เป็นผู้ที่มีกาย วาจา ใจ ที่สุจริต ลดทิฐิมานะให้ความโลภ โกรธ หลง น้อยลงๆ จนเป็นพุทธศาลนิกชนทีแท้จริง รู้จักแบ่งปัน มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีการปฏิบัติสมาธิภาวนา ชำระจิตใจให้สะอาด มั่นคงอยู่ในคุณงามความดี
ชาวบ้านทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อได้รับคำแนะนำพร่ำสอนจากพระวัดป่าแล้ว ก็มีความยินดี มีความประพฤติ มีการปฏิบัติดีขึ้น นอกจากนี้ บางครั้งก็มีคนจากต่างจังหวัด จากต่างประเทศ ไปศึกษาสนทนาธรรมและข้อวัตรปฏิบัติของพุทธศาสนาด้วย
ส่วนพระ-เณร ๖๐-๗๐ รูปนั้น ได้รับการอุปถัมภ์ปัจจัยสี่จากชาวบ้าน ชาวบ้านจะให้อาหารบิณฑบาตและสิ่งจำเป็นอื่นๆ แก่พระสงฆ์ ทำให้ไม่ลำบากในการเลี้ยงชีพ ตอนเช้าพระ-เณรจะไปบิณฑบาตในหมู่บ้านซึ่งเป็นโอกาสให้ชาวบ้านได้เสียสละแบ่งปัน เป็นการปฏิบัติไถ่ถอนความเห็นแก่ตัว
พระ-เณรจะไปบิณฑบาตทุกวัน ฉันอาหารเพียงมื้อเดียว โดยใส่อาหารทุกอย่างที่จะฉันลงในบาตร เพื่อให้รู้จักประมาณอาหารให้พอดี ไม่ให้มากหรือน้อยไป
เมื่อฉันเสร็จ พระเณรจะช่วยกันทำความสะอาดศาลาโรงฉันแล้ว กลับกุฏิ ฝึกหัดปฏิบัติสมาธิภาวนาในที่สงบสงัด แล้วออกมาทำกิจวัตรส่วนรวม เช่นทำความสะอาดสถานที่ต่างๆ ในเวลาบ่าย
ตอนเย็นมีการประชุมทำวัตรสวดมนต์ แล้วนั่งสมาธิ ๑-๒ ชั่วโมง ต่อจากนั้นก็รับการอบรมพระธรรมวินัยและข้อวัตรปฏิบัติจากครูบาอาจารย์ เพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น
การปฏิบัติของพระวัดหนองป่าพงนั้นมีหลายประการ ผู้ที่จะบวชในที่นั้น จะต้องเป็นนาคนุ่งขาวห่มขาวประมาณ ๑-๒ เดือน เมื่อประพฤติดีพอสมควรแล้วก็ให้บวชเป็นสามเณร ๑-๒ พรรษา (ปี) เพื่อให้รู้ข้อวัตรปฏิบัติของพระภิกษุให้ดีเสียก่อน แล้วจึงบวชเป็นพระภิกษุให้
...ที่วัดหนองป่าพง สอนไม่ให้เห็นแก่ตัว...
เช่นปัจจัยสี่ทั้งหลายที่ชาวบ้านถวายมาจากที่ไหนก็ตาม ไม่ให้สิ่งของนั้นเป็นของผู้ใดผู้หนึ่ง ให้เก็บของเหล่านั้นเป็นของส่วนรวมทั้งหมด เมื่อพระ-เณรรูปใดต้องการใช้สิ่งของใด ก็ให้เบิกจากผู้ดูแลเรือนคลังสงฆ์เพื่อให้รู้จักใช้ของแต่เพียงพอดี ไม่ให้เป็นคนเห็นแก่ตัวให้เป็นผู้มักน้อยสันโดษ ยินดีตามีตามได้ในสิ่งของที่มีอยู่
อยากจะรู้เรื่องของชาวพุทธในเมืองไทยทุกวันนี้เป็นอย่างไร? โดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติในพุทธศาสนา เพราะได้ยินว่าคนไทยส่วนใหญ่ถือว่าถ้าจะประพฤติธรรมก็ต้องบวชเป็นพระ แล้วก็มอบการปฏิบัติธรรมให้เป็นภาระหน้าที่ของพระเท่านั้น สิ่งที่ชาวบ้านทำก็เพียงการถวายทาน เคยได้ยินว่าคนไทยส่วนมากเป็นอย่างนั้น แต่อยากจะรู้ว่าทุกวันนี้คนไทยในเมืองไทย มีศรัทธาปฏิบัติตามหลักธรรมของพุทธศาสนา หรือว่าทำเป็นประเพณี และเห็นว่า หน้าที่ของเขาคือการถวายทานเท่านั้น ขอให้อธิบายหน่อย
อันนี้ก็เป็นบางส่วน โดยมากในเมืองไทยนั้น เขาปฏิบัติทำบุญทำทานเพื่อเอาสวรรค์กันเสียส่วนใหญ่มีแต่การให้ทาน ให้สิ่งของเครื่องใช้ อุปัฏฐากรับใช้พระข้อวัตรปฏิบัติเสื่อมไปบ้าง เกิดมีพิธีรีตองมากขึ้นทุกวันนี้เป็นเช่นนี้
แต่ก็ยังมีบุคคลจำนวนหนึ่ง ยังยั่งยืนอยู่หลักธรรมของพุทธศาสนา คนส่วนนี้มีมากเหมือนกัน แต่ว่าโดยมากคนไทยมีแต่ความรู้ในธรรมะเฉยๆ การปฏิบัติตามหลักธรรมและการปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจังนั้นน้อยที่สุด
จริงอย่างที่คุณว่า เขาเห็นว่า การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของพระโดยตรง ส่วนชาวบ้านเป็นผู้ช่วยเกื้อกูลบำรุงรักษาพระสงฆ์และศาสนาเขาเป็นกันอย่างนี้โดยมาก
ชาวบ้านที่ไปวัดในวันพระ ส่วนมากไปวัดเพื่อจะปฏิบัติให้พ้นทุกข์ หรือไปเป็นประเพณี เพื่อถวายทานและฟังเทศน์เท่านั้น
เป็นบางคน คนที่มีปัญญาก็จะปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ คนพวกนี้คือผู้ที่เข้าใจหลักธรรมดีแล้ว บางคนก็ปฏิบัติเพื่อเอาบุญหรือหาความสุขกัน มีสองจำพวกเท่านั้น
แต่ความเป็นจริงนั้น เขาก็อยากพ้นทุกข์เหมือนกัน คนมีปัญญาก็มุ่งไป แต่คนทีไม่รู้วิธีปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ว่าเป็นอย่างไร? เขาก็ปฏิบัติตามเพื่อนหรือปฏิบัติเป็นประเพณีตามๆ กันไปอย่างนั้น
มันก็ไม่ต่างกันกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยของคุณหรอก ครูอาจารย์ก็สอนให้ขยันหมั่นเพียร สอนให้ประพฤติปฏิบัติดีทั้งนั้น ส่วนนักเรียน นักศึกษาก็อยากจะดีๆ กันทั้งนั้น แต่โดยมากไม่ค่อยมีใครเอาใจใส่ในการเรียนการปฏิบัติกันนัก บางกลุ่มเป็นอย่างนี้ แต่บางกลุ่มก็เอาใจใส่ประพฤติปฏิบัติตามคำแนะนำ ทำให้ประสบความสำเร็จตามที่ตนเองต้องการได้ โลกก็เป็นอยู่อย่างนี้
ชาวพุทธที่แท้จริงเป็นอย่างไร?
ชาวพุทธที่แท้จริง คือ ผู้ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นพระหรือชาวบ้านถ้ามีความมุ่งหมายที่จะประพฤติตามหลักธรรมอย่างตรงไปตรงมาแล้ว เรียกว่าชาวพุทธทั้งนั้น
แต่พวกที่มีชื่อว่าชาวพุทธ แต่ไม่ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ไม่ใช่ชาวพุทธ เป็นชาวพุทธแต่เพียงชื่อเฉยๆ อย่างนี้ก็มีเยอะ
พระวัดป่าพงปฏิบัติอย่างไร? นั่งสมาธินานเท่าไหร่? และปฏิบัติแบบอย่างอื่นมีไหม? (เปลี่ยนผู้ถาม)
การปฏิบัติของพระวัดป่าพง บางครั้งรวมรวมกันเป็นกลุ่ม ๕๐-๖๐ รูปบ้าง เป็นการปฏิบัติเป็นส่วนรวมเพื่อฝึกผู้บวชใหม่ที่ยังไม่รู้วิธีการปฏิบัติ จึงต้องมารวมกันเป็นบางเวลา
เมื่อแยกกัน ก็ให้ฝึกหัดเป็นส่วนตัว จะทำเวลาไหนก็ได้ เมื่อถึงเวลาก็จะมาปฏิบัติร่วมกัน ตามเวลาที่กำหนดไว้เป็นกิจวัตรประจำวัน
วัดป่าพง จะฝึกให้ผู้บวชเป็นคนมักน้อย กินน้อย พูดน้อย นอนน้อย ให้ยินดีในของที่มีอยู่ ยินดีตามมีตามได้ เพื่อไม่ต้องวุ่นวายในการแสวงหาและเก็บรักษา
เมื่อถึงฤดูแล้ง ก็ให้โอกาสไปธุดงค์ การไปธุดงค์นี้จะแยกกันไปแห่ละหนึ่งหรือสองรูป ไปตามป่า ภูเขาหรือป่าช้า มีบาตร จีวร และสิ่งของที่จำเป็นจริงๆ ติดตัวไปเท่านั้น
ไปธุดงค์เพื่อให้จิตสงบระงับ เพื่อพิจารณาจิตตัวเอง ไปศึกษาตามธรรมชาติ ให้รักษาธรรมชาติไว้ให้รู้จักธรรมชาติ ดูธรรมชาติ แล้วดูจิตตัวเอง
เมื่อจิตของเราไปพบธรรมชาติแล้วรู้สึกอย่างไร? ต้นไม้ ต้นหญ้า พืชพรรณต่างๆ มันเหมือนกับเราไหม? ให้พิจารณาอย่างนี้ ให้ปัญญาเกิด ใช้ธรรมชาติเป็นอุปกรณ์การศึกษา เห็นธรรมชาติมันเกิดขึ้น... ตั้งอยู่... แล้วก็ดับไป... เมื่อเห็นธรรมชาติเช่นนี้ จิตที่สงบจะมีความเข้าใจว่า... มนุษย์เราก็เหมือนกับธรรมชาติทั้งหลายมีการเกิด... ตั้งอยู่...แล้วก็ดับไป ชีวิตเราเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อจิตเข้าใจอย่างนี้ จิตจะสบายขึ้น
โดยมากพระกรรมฐาน หรือพระธุดงค์ที่อยู่ในป่าส่วนมากไม่ได้ศึกษาธรรมะตามตัวหนังสือ ไม่ได้เรียนตามบทเรียนในตำรา ท่านเรียนธรรมะจากอาการที่เกิดขึ้นในจิต หาความจริงจากธรรมชาติ
อย่างเช่น เขาเขียนว่าสิ่งนั้นคือม้า เราก็ไม่ใช่รู้เพียงแต่ชื่อมันเฉยๆ เราจะต้องเดินไปดูตัวม้าจริงๆ จึงจะรู้จักม้าได้ตามความเป็นจริงทั้งหมด
การปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ก็เหมือนกัน เมื่อรู้ว่าสิ่งนี้คือทุกข์ เราก็พิจารณาตามไปหาตัวทุกข์จริงๆ ให้เห็นตัวทุกข์ให้ชัดเจน เมื่อเห็นตัวทุกข์แล้ว ก็จะไม่สร้างความทุกข์ขึ้นมาอีก
ถ้าอ่านหนังสือรู้ว่าอันนี้คือทุกข์ แต่ไม่พิจารณาหาสาเหตุของทุกข์ ไม่เห็นตัวทุกข์ มันก็พ้นทุกข์ไม่ได้การศึกษาจากตัวหนังสือส่วนมากไม่เข้าถึงใจ เห็นว่าสิ่งนี้ทำให้เกิดทุกข์ แต่ไม่เลิกทำ หรือเห็นว่าสิ่งนี้ผิดแต่ไม่เลิกจากความผิด มันก็แก้ทุกข์ไม่ได้
แต่ที่พระวัดป่า หรือผู้ปฏิบัติตามธรรมะจริงๆ ต้องศึกษาเข้าไปให้เห็นตัวทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์แล้วก็เลิกเห็นสิ่งที่ไม่ดีก็เลิกทำ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นความผิดก็เลิกทำ ไม่ทำความผิดทางกาย วาจา ใจ นับจากวันที่รู้นั้นเลย นี่เรียกว่าการศึกษาทางจิต ไม่ใช่ศึกษาทางตัวหนังสือ
เวลาเห็นทุกข์นี่ ทุกข์เป็นอย่างไร? ถ้าเราจะพิจารณาความทุกข์ เราก็อยากจะรู้ก่อนว่าความทุกข์เป็นอย่างไร?
เคยทุกข์มั้ย?
เคย
เป็นอย่างไร?
(ผู้ถามไม่ตอบ...แต่หัวเราะ!)
ไปถามคนอื่นทำไม? ทุกข์มีอยู่ที่ตัวเราแล้ว ไปถามคนอื่นเขาไม่รู้เรื่องด้วยหรอก อันนี้เป็นปัญหาที่จะต้องถามตัวเอง เพราะว่าตัวเองก็มีทุกข์อยู่แล้ว
ในคำสอนของพระพุทธเจ้าก็อธิบายไว้ไม่ใช่หรือว่า...ทุกข์เป็นอย่างนี้อย่างนั้น... และเหตุให้เกิดทุกข์ก็เป็นอย่างนี้อย่างนั้น?
ใช่!...แต่เราจะต้องเห็นชัดในใจเราเองด้วย เช่นเรามีแก้วน้ำใบหนึ่ง ต่อมาเราทำมันแตก เราเสียใจทำไมถึงเสียใจ เพราะเราไม่รู้จักแก้วน้ำตามเป็นจริงว่ามันเป็นของที่แตกได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่เราไม่ค่อยได้คิดกัน เมื่อแก้วแตกจึงเป็นทุกข์ เพราะเราไม่ยึดว่ามันเป็นของเรา ทุกข์เพราะเราคิดว่ามันไม่น่าแตก ทุกข์เพราะความผิดหวัง เพราะเคยหวังว่าจะไม่ให้มันแตก แต่มันก็แตก ทุกข์จึงเกิดขึ้นมาเพราะความผิดหวัง
จะหมดทุกข์ได้อย่างไร? ก็ต้องพิจารณาว่าเหตุทำให้เราทุกข์คืออะไร? แก้วเป็นของเราจึงหรือ? หรือว่าเป็นของเราโดยสมมุติ ต้องพิจารณาตรงนี้ให้รู้ตามเป็นจริง
เพราะความเข้าใจว่าเราเป็นเจ้าของ แล้วยึดถือความคิดอย่างนี้ไว้ เมื่อแก้วน้ำแตกไป เราจึงเป็นทุกข์นี่! ทุกข์เกิดตรงนี้ แล้วดับลงตรงนี้
เหตุของทุกข์ คือ ความยึดถือว่าเราเป็นเจ้าของและความไม่เข้าใจความจริงว่าแก้วนี้ต้องแตก ส่วนความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจคือผลของความคิดผิดนั้น
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเราจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นตัวเราหรือของๆ เรา
พระพุทธศาสนาต่างจากศาสนาอื่นเพราะมีคำสอนเรื่องอนัตตา คือไม่มีตัวไม่มีตน ผมอยากจะรู้ว่า อนัตตานี้มีความหมายอย่างไร? เพราะว่า ถ้าเราทำอะไร? สิ่งนั้นก็เป็นหน้าที่ของเรา แต่หากไม่มีเราไม่มีเขา แล้วใครเป็นคนทำ? อะไรเป็นคนงาน? อะไรเป็นคนคิด? อะไรเป็นคนกินข้าว? อะไรเป็นผู้สร้างโลก? อะไรเป็นผู้อยู่ในโลก?
เรื่องอัตตา...อนัตตา...นี้ เป็นคำที่อธิบายยากมากต้องค่อยๆ พิจารณา
อนัตตานี้ เป็นเรื่องที่มีผลดีมาก ถ้าเราเข้าใจมันอย่างถูกต้อง สามารถนำความรู้ความเข้าใจนั้นมาสร้างตนเองให้เจริญได้ดีมาก จะทำการงานอะไรก็สบาย
แต่คำว่า อนัตตา เป็นศัพท์ที่อยู่เหนือโลก คนส่วนใหญ่ตีความหมายไม่ออก ฟังไม่เข้าใจเพราะเป็นเรื่องที่คนธรรมดาคิดไม่ถึง
ฉะนั้น การจะรู้เรื่องอนัตตา จะต้องรู้ด้วยการปฏิบัติ ถ้าเอาไปคิดเฉยๆ นะ ศีรษะมันจะแตก!
วันนั้นพูดให้ฟังแล้วครั้งหนึ่ง คงจะยังไม่เข้าใจ เพราะว่าเรื่องอนัตตานี้จะไม่สามารถเข้าใจได้โดยการฟังจากคนอื่น จะต้องพิจารณาตนเอง
อนัตตาอยู่ตรงนี้ อัตตามันก็ติดอยู่ตรงนี้แต่คนไม่เห็นเพราะอัตตามันปิดอยู่ จะต้องเปิดอัตตาออก จึงจะเป็นอนัตตาได้
(หลวงพ่อจับแก้ว ๒ ในวางซ้อนกัน... ยกขึ้น แล้วใจฝ่ามือบังแก้วใบล่างไว้)
เช่น เราใช้มือปิดอยู่อย่างนี้ จะมองไม่เห็นแก้วใบข้างล่าง ความเป็นจริงแก้วใบข้างล่างมีอยู่ แต่ดูเหมือนไม่มี เพราะอะไร? เพราะมือบังอยู่ พอเราเอาฝ่ามือออกเราก็มองเห็นแก้ว ถ้าปิดก็มองไม่เห็น การไม่เห็นอนัตตาก็เช่นเดียวกัน เรามองไม่เห็นหรือไม่เข้าใจ เพราะความไม่รู้ปิดบังจิตใจเราอยู่ ถ้าเราศึกษาปฏิบัติจนรู้ตามเป็นจริงจนปัญญาเกิดขึ้นแล้ว มันจะเหมือนเอาฝ่ามือที่บังแล้วใบล่างออก แล้วเราจะเห็นแก้วทั้งสองใบในที่เดียวกันถ้ามีปัญญาแล้ว เราก็จะรู้ชัดเจนว่า นี่เป็นอนัตตา นี่เป็นอัตตา แยกได้อย่างนี้
ตามธรรมชาติหรือตามความเป็นจริงแล้ว อนัตตาก็คงเป็นอนัตตา แต่คนไม่รู้เพราะอัตตาหรือความคิดผิดมันปิดอยู่
ถ้าคุณเห็นอนัตตาแล้ว คุณจะไม่ทุกข์
จะมีความสุข ก็ไม่หลง
จะมีความทุกข์ ก็ไม่หลง
จะได้ของมา ก็ไม่ดีใจ
ของมันจะหายไป ก็ไม่ทุกข์ ไม่เสียใจ
ถ้าเราไม่เห็นหรือไม่เข้าใจอนัตตาแล้ว เมื่อมีอารมณ์สุข ก็หลงความสุข เมื่อมีความทุกข์ ก็โศกเศร้าเสียใจในความทุกข์ นี่เป็นเพราะว่าไม่เห็นอนัตตา
อนัตตาคือความไม่มีตัวตน แต่เราพยายามจะจับเอาของที่ไม่ใช่ตัวตนมาเป็นตัวตนของเรา ลองคิดดูอย่างนี้ดีมั๊ย?
ถ้าหากว่าร่างกายนี้ เป็นตัวตนของเราจริง ไม่ให้มันเจ็บได้มั๊ย? ไม่ให้มันแก่ได้มั๊ย? ไม่ให้มันตายได้มั๊ย?...ก็ไม่ได้
ถ้าไม่ได้ สิ่งนี้ก็ไม่ใช่ตัวตนของเราน่ะสิ! ถ้าเป็นของเราแล้ว เราบอกให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ให้อยู่อย่างนี้มันต้องเป็นอย่างที่เราต้องการซิ แต่มันเป็นอย่างนั้นมั๊ย?
เราบอกว่า...อย่าแก่นะ มันก็แก่ อย่าเจ็บนะ มันก็เจ็บ อย่าตายนะ ฉันยังไม่อยากตาย มันก็ตาย
นี่! มันเป็นเพราะอะไร? ก็เพราะมันไม่ใช่ตัวเราของเราเองนั่นเอง
ถ้าจะเปรียบเทียบ...ก็เหมือนกับว่า ทุกวันนี้เราอาศัยบ้านคนอื่นอยู่เท่านั้น บ้านเราไม่มี เราเช่าบ้านเขาอยู่ แต่พบอยู่นานๆ ไป เราเข้าใจผิด นึกว่าบ้านเขาเป็นบ้านเรา ถึงเวลาเขามาไล่เราหนีเราก็เสียใจเท่านั้นเอง
ร่างกายนี้ สมมุติเรียกว่าตัวเรา เราอาศัยร่างกายนี้ชั่วคราว เหมือนยืมมาจากธรรมชาติ มันไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามธรรมชาติหรือตามสภาพของมัน เพราะมันไม่ใช่ของเรานั่นเอง มันถึงได้เป็นเช่นนี้
ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ก็มีการสอนนักศึกษาอย่างนี้ และเป็นเรื่องของศาสนาทุกศาสนาด้วย ให้เข้าใจทุกศาสนา จะเป็นพุทธก็ได้ เป็นคริสต์ก็ได้ หรือจะเป็นศาสนาอะไรก็ได้ เรามีความประสงค์ที่จะเข้าใจให้ถึงที่สุดว่าศาสนามีประโยชน์อย่างไรต่อมนุษย์? และจุดหมายปลายทางของพุทธศาสนาเป็นอย่างไร? จะดำเนินไปถึงที่ไหนถ้าเราปฏิบัติอย่างแท้จริง?
ไปถึงที่ไม่มีทุกข์!...ถึงไม่มีปัญหาเกิดขึ้น!... เมื่อถึงตรงนั้นแล้ว ปัญหาอย่างนี้ไม่มี ปัญหานี้หมดไป ไม่มีปัญหาที่จะต้องถามแล้ว...หมด!... เรียกว่า หมดทุกข์ ข้อปฏิบัติของพุทธศาสนา นำชาวพุทธไปที่นั่นถึงแม้ยังไม่ตายก็นำไปถึงได้ ถ้าเขาเข้าใจอนัตตาแล้ว
อนัตตาคำเดียวนี่แหละ นำไปถึงตรงที่หมดปัญหาเราจะนั่งสบาย นอนสบาย กินสบาย ทำการงานสบายจะเป็นสุขทุกอย่าง เมื่อเรารู้จักอนัตตาแล้ว จิตใจเราจะวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวเราของเรา เมื่อวางแล้วความสบายก็เกิดขึ้น ทำงานได้ดีกว่าเก่า ความรู้สึกนึกคิดดีกว่าเก่าอะไรๆ ก็ดีกว่าเก่าหมด
อนัตตา นำมนุษย์ไปถึงที่ตรงนั้น เป็นสถานที่ที่ถูกต้อง ชาวพุทธ ชาวคริสต์ ชาวลัทธินิกายอะไรก็ตามถ้าเข้าใจคำว่าอนัตตา แล้วปฏิบัติให้เห็นอย่างชัดเจนในใจตัวเองแล้ว มันหมดปัญหา มันเปลี่ยนคนให้เป็นคนใหม่ ธรรมะหรือความจริงที่เรียนว่าอนัตตานี้ ไม่ใช่เป็นของพุทธ ไม่ใช่เป็นของคริสต์ ไม่ใช่เป็นของเถรวาทไม่ใช่เป็นของมหายาน ไม่ใช่เป็นของใคร มันเป็นความจริงที่ตั้งอยู่ มีอยู่ในโลกนี้ ถ้าใครมาถึงตรงนี้ได้ ก็หมดทุกข์ หมดปัญหาได้ทั้งนั้น เหมือนกันกับไฟ ไฟเป็นของร้อน ไฟไม่ร้อนเฉพาะใครคนใดคนหนึ่ง ใครจับเมื่อไหร่ ก็ร้อนเมื่อนั้นมนุษย์จับก็ร้อน สัตว์มาจับมันก็ร้อน หรือจะเป็นความเย็นก็เหมือนกัน เย็นกันทั้งสัตว์และมนุษย์ มันไม่ได้เป็นของใคร ธรรมะหรือความถูกต้องก็เช่นกัน ไม่ใช่เป็นพุทธหรือคริสต์ แต่เป็นสิ่งถูกต้องที่ตั้งอยู่ในโลกนี้ไม่ดับสูญไปไหน ใครทำถูกต้อง ก็ได้ความถูกต้องเป็นผล เมื่อความถูกต้องเกิดขึ้นมา ปัญหาหรือความทุกข์ก็หายไป
เช่นว่า จานใบนี้เราอยากได้ เมื่อได้มาแล้วเราไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นจานของเราเป็นทุกข์เมื่อจานหายไป ความรู้สึกของเราก็เหมือนเดิมจานจะแตกไป ความรู้สึกเหมือนเก่า ไม่ต่ำไม่สูงกว่ากัน เพราะเราเข้าใจแล้วว่ามันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น เมื่อเรามีความคิดความเห็นถูกต้องแล้ว มันก็สบาย เพราะจิตใจเราเป็นปกติ ไม่ตื่นเต้นดีใจเสียใจไปกับเรื่องที่มันเป็นไปตามความถูกต้องของมัน
พระอยู่ที่วัดป่าพงเป็นอย่างไร? ในแต่ละวันพระทำอะไร? ทำหน้าที่อะไร? เพราะคนส่วนมากยังไม่รู้ ได้ยินว่าพระอยู่ในป่าฝึกกรรมฐาน อยู่กับเรื่องชาตินี้ ชาติโน้นอยู่กับสวรรค์นิพพาน ฟังดูมีแต่ความคิดสูงๆ ยากต่อการเข้าใจ อยากจะให้หลวงพ่ออธิบายว่าชีวิตประจำวันของพระเป็นอย่างไร? (เปลี่ยนผู้ถาม)
เรื่องการงานของพระ คุณจะเข้าใจได้ลำบากการงานของพระเป็นงานที่ละเอียดที่สุด ไม่เหมือนการงานของคนธรรมดา การงานของพระละเอียดมาก เป็นเรื่องของจิตฝึกจิตให้มีเมตตากับทุกสิ่งทุกอย่าง เมตตากับทุกสิ่งทุกอย่าง เมตตาไปทั่วหน้าไม่ต้องแบ่งชั้นนั้นชั้นนี้
พระต้องศึกษาเรื่องทั้งหลายที่อาตมาพูดให้ฟังผ่านมาเมื่อสักครู่ ศึกษาปฏิบัติธรรมะจนกว่าจะรู้ความจริงของทุกสิ่งในโลกว่า ไม่มีอะไรเป็นของๆ ตนแล้วจะมีความพ้นทุกข์ นี่เป็นกิจการงานของพระซึ่งเป็นงานทางจิต แล้วนำความรู้นั้นมาสอนชาวบ้านให้รู้ความจริงอย่างนั้น ต้องพยายามสอน...สอน...
เมื่อคนได้ฟัง ได้เข้าใจในเรื่องจิตของตัวเองแล้วก็มีความสบายขึ้น ความอิจฉาพยาบาทก็น้อยลง มีความสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีโทษอะไรทั้งปวง
กิจการงานของพระเข้าใจยาก จะต้องไปศึกษาและปฏิบัติด้วยตนเอง เพราะเป็นเรื่องจิตใจของใครของมัน บางคนเห็นว่า...พระขี้เกียจ...พระไม่มีงาน... ถ้าพระไม่มีงาน คุณลองไปบวชดูซิ! จะไหวมั๊ย? ใครเห็นว่าเป็นพระสบาย...ลองไปบวชดูนะ...บวชได้มั๊ย? มันยากนะ ยิ่งถ้าเราไม่เข้าใจธรรมะ ยิ่งไปบวชก็ยิ่งไม่สบายใหญ่ มันเป็นทุกข์ยากลำบากมาก บางคนบวชได้เดี๋ยวเดียว ก็คิดว่าไปอยู่แบบธรรมดาๆ ดีกว่า
เพราะการงานและความเป็นอยู่ของพระนั้นต้องทำตามธรรมะ จะทำอะไรตามใจชอบไม่ได้ ถ้าทำตามใจตัวเองก็ไม่ถูกตามธรรมะ เช่นว่า อยากได้ก็ต้องเสียสละ อยากโกรธก็ต้องให้อภัย อยากขี้เกียจอยู่เฉยๆ ธรรมะก็ให้ขยันอดทน นี่!...เป็นอย่างนี้ มันขัดกันอยู่อย่างนี้เสมอไป จะทำอะไรตามใจตัวเองไม่ได้ คุณจะทำอย่างนี้ได้มั๊ย? ถ้าทำยังไม่ได้ จะรู้จักการงานของพระได้อย่างไร? การงานของพระเป็นเรื่องละเอียดมากที่สุด เราต้องเข้าไปศึกษาด้วยตัวเอง จะบอกให้ก็ได้ว่าเป็นงานที่มนุษย์นึกไม่ถึงนั่นแหละ!
พระในวัดป่าพงมีความสามารถจะปฏิบัติอย่างที่หลวงพ่อกล่าวมาได้มั๊ย? หรือเราเห็นว่ามันสูงและละเอียดจริงๆ พระธรรมดาจะทำงานละเอียดอย่างนั้นได้มั๊ย? หรือทำได้เป็นบางครั้งบางคราว หรือทำเรื่อยๆ หรือทำอย่างไร?
ทำไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะถึงตรงนั้น ทำไปทีละขั้น...ทีละขั้น พยายามทำความเข้าใจ ศึกษาให้เข้าใจแม้จะทำยังไม่ได้ ก็ให้พยายามทำอยู่อย่างนี้
พระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแต่บางคนเห็นว่า พระวินัยไม่มีประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องถืออย่างเคร่งครัด เพราะกาลสมัยเปลี่ยนไปแล้วของให้หลวงพ่ออธิบายว่าเมื่อปฏิบัติตามพระวินัย แล้วมีประโยชน์อะไร? จะให้อนุโลมตามยุคสมัยได้มั๊ย? หรือจะคงแบบเดิมไว้ดีกว่า?
การรักษาพระวินัยมีประโยชน์มาก เพราะวินัยเป็นข้อห้ามไม่ให้ทำความผิด ก็เหมือนกฎหมายบ้านเมือง เขาห้ามไม่ให้ทำความผิด...ดีมั๊ย? แต่ถ้าหากวันนี้มีคนมาพูดว่า...ฆ่าคนแล้วผิดมันหมดสมัยแล้ว ฆ่าไปเถอะคนมีมากแล้ว ฆ่าทิ้งเสียบ้างไปเป็นไรหรอก... จะดีมั๊ยถ้าเป็นอย่างนี้ (มีเสียงหัวเราะ)