เสียสละเพื่อธรรม
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
คัดลอกจาก http://www.geocities.com/clcseacon/preaching14.html
การปฏิบัติธรรมของพวกเราทั้งหลาย ที่มารวมกันอยู่นี้ ทั้งพระอาคันตุกะและทั้งพระเจ้าของถิ่น ผมเองก็ไม่ค่อยจะมีเวลาได้พบกับพระอาคันตุกะบางท่าน ส่วนที่อยู่ในถิ่นนั้นได้เคยอบรมบ่มนิสัยมาพอสมควร ฉะนั้น จึงไม่ควรปล่อยโอกาสและเวลาให้เนิ่นนานไป อย่างไรก็ตาม จะเป็นพระอาคันตุกะหรือเป็นพระเจ้าของถิ่นก็ตาม ทุก ๆ ท่านนั้นให้เข้าใจว่า เราเป็นผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง โดยความหมายในทางพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว ถ้าท่านองค์ใดยังไม่ยอมเสียสละสิ่งอันควรเสียสละในทางพระพุทธศาสนานี้ ท่านองค์นั้นก็ยังไม่เข้าถึงพระพุทธศาสนา ยังไม่เข้าถึงความสงบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือตามวิสัยของสมณะ ความหมายที่พวกเราทุก ๆ ท่าน ที่มารวมกันก็มีจุดหมายกันอย่างนั้น ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราทั้งหลายนั้นต้องเข้าใจว่า รวมทั้งพระอาคันตุกะและรวมทั้งพระที่อยู่ในถิ่นฐานนี้ ก็คือ เป็นพระองค์เดียวกัน เป็นพ่อแม่อันเดียวกัน มีข้อวัตรปฏิบัติเสมอกัน มีความเป็นอยู่เสมอกัน นั่นจึงมีความสามัคคีกัน มันจึงมีความสบายสมกับว่าเราเป็นผู้ที่เสียสละมาแล้ว การเสียสละนี้แหละ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแท้ ทุกท่านที่แสวงหาโมกขธรรม คือ เป็นทางหรือเป็นปากทางแห่งการพ้นทุกข์นั้น ก็คือมีคำ ๆ เดียวเรียกว่า ยอมเสียสละสิ่งทั้งปวง นั่นเอง อันใดที่พวกเราทั้งหลายสละไปแล้วนั้น เราปล่อยไปจากกายก็เบากาย ปล่อยไปจากใจก็เบาใจ อันนี้คือการปฏิบัติที่พวกเรามุ่งแสวงหา ก็ไม่มีอะไรมากมาย ถ้าเรายอมเสียสละแล้วมันก็ถึงธรรมะเท่านั้นแหละ ไม่ต้องยากไม่ต้องยุ่ง ไม่ต้องลำบาก ผู้ที่ยังไม่ถึงธรรมะข้างในก็เอาธรรมะข้อปฏิบัติอันนี้มาทำกัน เช่น ขันติบารมี วิริยบารมี เมตตาบารมีทั้งหลายเหล่านี้เป็นต้น มาเป็นขั้นตอนที่เราจะดำเนินในชีวิตของเราอยู่เสมอ อันนี้เป็นพี่เลี้ยงที่จะให้พวกเราทั้งหลายเข้าถึงธรรมะจะให้ถึงปากถึงทางถึงโมกขธรรมอย่างที่เราปรารถนา
แต่ว่าก็ทุกท่านทุกองค์นั้นอาจจะยังไม่เข้าใจในการปฏิบัติ เช่น มาอยู่ในวัดหนองป่าพงนี้ หรือบวชเข้ามาแล้ว ก็นึกว่าเราได้บวชแล้วอย่างนี้ก็มี ก็เพราะมองเห็นว่าผ้าจีวรมันเหลืองได้ปลงผมตามกาลตามเวลา อาศัยเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีพ แค่นี้ก็เข้าใจว่าเราบวชแล้ว หรือหากว่าเราได้มาร่วมอยู่ในวัดหนองป่าพงนี้ อันนี้มันยังมีอะไรเป็นเครื่องกำบังอยู่ในตาข้างในนี้มาก เราไม่ค่อยจะมองเห็น สิ่งที่เรามองเห็นข้างนอก มันเป็นสิ่งผิวเผิน เช่นว่า ผมไม่มีศรัทธา ผมจะมาบวชรึ อย่างนี้เป็นต้น ผมไม่มีศรัทธา ผมจะมาปฏิบัติรึ หรือ ผมไม่ชอบอยู่ป่า ผมจะมาอยู่ป่ารึ อย่างนี้เป็นต้น อันนี้เป็นความเข้าใจเพียงผิวเผิน
ความเป็นจริงนั้นการปฏิบัตินี้ มันเป็นของพวกท่านทั้งหลาย ที่จะรู้ได้ในใจของพวกท่านทั้งหลาย เพราะว่าความผิดชอบทั้งหลาย ความดีชั่วทั้งหลายนั้น ไม่มีใครเห็นกับเราด้วย เราจะยืน เราจะเดิน เราจะนั่ง เราจะนอน เราจะมีความรู้สึกอย่างไรนั้น ก็เป็นเพียงแต่ว่าเราคนเดียวนั้นเป็นคนรู้จัก ถ้าเราฝืนข้อประพฤติปฏิบัติคือพระธรรมวินัยนี้ ก็เราเองเป็นคนรู้จัก คนอื่นไม่ค่อยรู้จักด้วย ฉะนั้น การมาอยู่ร่วมกันนี้จะต้องอาศัยตัวเองเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากเราไม่อาศัยตัวเราเอง คนอื่นเราก็อาศัยไม่ได้ อันนี้ให้เข้าใจให้ดี การปฏิบัตินี้ไม่มีทางจะมองเห็นอะไรได้ข้างนอก ดังนั้น ผู้ประพฤติปฏิบัตินี้บางท่านบางองค์มีความเดือดร้อน เดือดร้อนอะไรเดือดร้อนเรื่องความสงสัย สงสัยที่อยู่อาศัย สงสัยในความรู้สึกนึกคิดของเรา และการสงสัยเกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของคนอื่น ก็มีเรื่องราวต่าง ๆ เช่นนั้น อันนี้เป็นเหตุให้เราอยู่ไม่สบาย
ไม่ต้องยกอื่นไกลหรอก ตัวอย่างผมเองนี่แหละ ให้พวกท่านทั้งหลายฟังให้เห็นชัด เพราะผมนี้ก็เป็นนักบวช ตลอดแต่วันบวชมาตั้งแต่เป็นเณร แต่ไม่ค่อยยอมเสียสละ อยู่มาสามสี่ห้าพรรษาแล้วก็ตามก็มีความเสียสละน้อย สิ่งที่ชอบใจเราก็เสียสละ สิ่งที่ฝืนใจเรานั้นผมไม่ค่อยยอมเสียสละ อะไรที่ผมไม่ชอบใจแล้วผมก็ไม่ค่อยยอมเสียสละอันนั้นจึงมามองเห็นว่า การยอมเสียสละของเราทั้งหลายนั้นมองเห็นได้ยาก เพราะตามธรรมดาของคนเราสามัญชนก็ต้องเป็นอย่างนั้น มันชอบตามใจตัวเอง ชอบตามเรื่องของตัวเอง แต่ถ้าหากว่าเราเข้าถึงการประพฤติปฏิบัติแล้ว มันไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าเรามาสะสางดี ๆ แล้วไม่เป็นอย่างนั้น ทีนี้ เมื่อเข้ามาบวชเข้ามาปฏิบัติ ถ้าอยู่ไปอย่างนั้นมันก็มีความสบายอย่างหนึ่งเหมือนกัน ผมที่อยู่ทั้งวัดบ้าน ทั้งวัดป่า อยู่ไปอย่างนั้นเรื่อย ๆ ไป ก็ไม่มีอะไรเท่าไร เพราะไม่มีเรื่องขัดใจของเรา ก็เลยไม่มีความเดือดร้อน สบาย สบายใจของตัวเอง อยากพูดอะไรก็พูด อยากทำอะไรก็ทำเลยสบาย ความสบายเช่นนั้นแหละมันมีความผิด มันมีความไม่สบายอยู่ในนั้นมาก แต่เราก็มองไม่เห็นแล้วก็ตามใจความสบายใจของเราเรื่อย ๆ ไป
ความเป็นจริง ใจของเรานั้นกับสัจธรรมมันคนละอย่างกันเสียแล้ว ใจของเราถ้าหากว่ามันผิด แต่เราชอบใจเราก็ทำก็ได้ แต่ว่ามันไม่ใช่สัจธรรม ไม่ใช่ธรรมที่ให้พ้นทุกข์ อันนั้นมันถูกเฉพาะใจของเรา ตามธรรมะนั้นไม่ถูก มันก็เป็นอย่างนี้เรื่อย ๆ มา ถ้าปล่อยใจไปตามเรื่องของมัน มันก็ไม่มีอะไรมากมายเท่าไร ผมเคยเปรียบเทียบให้ท่านทั้งหลายฟังเสมอว่า เมื่อเราเป็นเด็ก หรือเด็กทั้งหลายตลอดจนทุกวันนี้ เราเอาตุ๊กตาอันหนึ่งตัวหนึ่งให้เล่น เด็กก็เล่นสบายใจ เพราะตุ๊กตาเป็นสิ่งที่ชอบใจอย่างนี้ แต่เด็กคนนั้นไม่รู้เรื่องว่าตุ๊กตานี่เป็นพิษ ก็เพราะเข้าใจว่า ตุ๊กตานี้มันชอบเล่น ก็เพลิดเพลินกับตุ๊กตานั้น เมื่อเล่นไปหลาย ๆ วัน ตุ๊กตามันหล่น มันแตกเด็กนั้นจึงจะรู้สึกตัวว่าความน้อยใจความเสียใจเกิดขึ้นมาอย่างนี้เป็นต้น ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เมื่อตุ๊กตามันยังไม่แตกมันยังไม่พัง ความชอบใจ ความสุขใจนั่นแหละมันบังทุกข์ไว้ มันบังไม่ให้เห็นทุกข์ก็เพระตุ๊กตามันยังไม่พัง อันนั้นเป็นเครื่องกำบังไว้ไม่ได้เด็กร้องไห้เป็นทุกข์ เมื่อตุ๊กตานั้นมันพังไปแล้ว เด็กนั้นมันก็เสียใจก็ร้องไห้ เมื่อมาถึงความจริงเช่นนี้แล้ว เด็กมันอยู่ไม่ได้
เมื่อเราบวชเข้ามา อยู่ในความหลอกลวงของอารมณ์ทั้งหลายเราก็สบาย สบายกันอยู่ อาศัยอารมณ์นั้นเป็นอยู่ อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น ถ้าเราปฏิบัติกันมีความสบาย ผมก็ถามว่า มันสบายอย่างไร มันสบาย เพราะว่ามีอาการเสียสละทางใจหรือ อย่างนี้ความเป็นจริงความสบายนั้น มันมีพิษอยู่ในนั้น มันสบายอยู่กับสิ่งที่เราชอบใจ สิ่งที่ไม่ชอบใจเราก็ไม่สบาย อันนี้ก็เป็นเครื่องกำบังของพระภิกษุสามเณรผู้ประพฤติปฏิบัติอยู่เหมือนกัน เท่ากับว่าเราไม่ได้ปฏิบัติ ถ้าถูกอารมณ์อันใดที่ไม่ชอบใจ มันก็ใจไม่สบาย ถูกอารมณ์บางอย่างที่เราชอบใจ เราก็สบายอย่างนี้ ยังไม่เห็นพื้นฐานอะไรเลย พูดว่ายังไม่เห็นพื้นฐานอะไร เหมือนเด็กมันเล่นตุ๊กตา มันยังไม่เห็นพื้นฐานของทุกข์เลย ไม่เห็นพื้นฐานของตุ๊กตาที่อาจจะพังได้ มันก็ติดอยู่อย่างนั้น อารมณ์ที่พวกเราทั้งหลายติดตามมันอยู่ด้วยความชอบใจ มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น มันก็มีความหลงงามงายอยู่ในตุ๊กตาเหมือนเด็ก นี้เรียกว่า งมงายอยู่ในอารมณ์เหมือนเด็กนั้น เมื่อถึงเวลามันเปลี่ยนแปลง มันเป็น สัญญาวิปลาส เมื่อสัญญาวิปลาส คือ สัญญาความจำนี้เปลี่ยน มันเปลี่ยนจากที่เก่าของมัน อย่างเราเห็นบาตรของเราอยู่อย่างนี้ มันก็เป็นวิปลาสอันหนึ่งอยู่ ตอนบาตรไม่ร้าว ไม่แตก เมื่อบาตรเราแตก มันก็เป็นสัญญาวิปลาสขึ้นอีกอันหนึ่ง จิตมันจะเปลี่ยนทันที นี้เรียกว่า จิตไปอาศัยอามิสอยู่ไม่อาศัย เนกขัมมธรรม อาศัยอามิส คือ สิ่งของ อาศัยบาตร อาศัยจีวร อาศัยเสนาสนะอยู่ มันก็เพลิน มันก็ติดอยู่ด้วยอามิส ไม่อาศัยเนกขัมมะ (การออกจากกาม, การออกบวช, ความปลอดโปร่งจากสิ่งล่อเร้าเย้ายวน) อยู่ภายใน
อย่างกิจของบรรพชิตที่ท่านสวดกันวันนี้ (บทสวดปัจจัยเวกขณะ คือบทพิจารณาปัจจัย 4 ก่อนบริโภค) เป็นประโยชน์มากเหลือเกิน ไม่ใช่ว่าไม่เป็นประโยชน์ แต่สูตรนี้มันก็อาภัพ อยู่ในตำรับตำราของมัน เหมือนกับไม่มีอะไร ถ้าเราเอาสูตรนี้มาพิจารณามันก็มีข้อความออกมา มันก็มีความหมาย เราได้ฟังก็เป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้นบริขารชิ้นใดชิ้นหนึ่งจะเป็นบาตร จีวร เสนาสนะ เภสัช อะไรก็ตาม ในวันนี้เรามักไม่ได้พิจารณา แล้ววันพรุ่งนี้ก็ต้องพิจารณา เราห่มจีวรใส่สังฆาฏิ เราฉันบิณฑบาต เราอุ้มบาตรเข้าไปในบ้านอย่างนี้ ที่อยู่ที่อาศัยอย่างนี้ วันนี้ตอนเช้าเรายังไม่ได้พิจารณา อดีตมันล่วงมาแล้วนั้น ต่อมานี้ท่านจึงให้พิจารณา พิจารณาถึงอามิสทั้งหลายนี้ว่ามันเป็นอามิส มันเป็นวัตถุ บัดนี้เรามองเห็นด้วยตา เราก็สบายใจ อีกวันหนึ่งเราไม่ได้มองเห็นด้วยตา เราก็จะเป็นทุกข์ นี้เรียกว่าอามิสสุข มันสุขอยู่ด้วยอามิส พระพุทธเจ้าจึงให้เราทั้งหลายพิจารณาให้มากที่สุด เรื่องจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช มันเป็นเรื่องข้องเกี่ยวกับเรื่องสมณะทั้งหลายอยู่เท่านั้น 4 อย่าง คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช เป็นบริขารและเป็นเครื่องเป็นปัจจัยจำเป็นที่พวกเราทั้งหลายจะต้องอาศัยอยู่ตลอดเวลา เหมือนกันกับพระพุทธเจ้าและพระอริยะทั้งหลาย มันเป้นของจำเป็นของสมณะทั้งหลายที่จะอยู่อาศัยจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ฉะนั้น ท่านกลัวว่าเราทั้งหลายจะไปเพลินในอย่าอื่นเสีย จะไม่ได้พิจารณาอันนี้ ได้อาหารก็เพลินกับอาหาร ได้จีวรก็เพลินกับจีวร ได้บาตรก็เพลินกับบาตร ได้กุฏิที่ดีที่สวยก็เพลินเสีย ได้ยาบำบัดโรคฉันเข้าไปมันหายโรคก็เพลินเสียกลัวพวกท่านทั้งหลายจะเป็นผู้เพลินอยู่ด้วยสิ่งทั้งหลายเหล่านี้
สตินี้มันเป็นธรรมอันหนึ่ง แต่ว่าเราก็พยายามให้มีธรรมเหล่าอื่นเกิดขึ้นมารวมกันหลาย ๆ อย่าง เช่น มีสติ แล้วต่อไปก็มีสัมปชัญญะ รู้ตัว พูดง่าย ๆ เรียก สติ ความระลึกได้ เมื่อมีความระลึกได้ ความรู้ตัวมันก็พร้อมกันมา เมื่อมีความรู้ตัวเกิดขึ้นมา เราก็หาที่พึ่งที่หลักเรียนหาที่ปฏิบัติ ต่อไปก็ให้วิจัย ปัญญาก็เกิด สิ่งทั้งสามนี้มันจะต้องพรอมเพรียงกันอยู่เสมอทีเดียว ถ้าเรามีสติอยู่ สัมปชัญญะก็เกิดขึ้น เมื่อสัมปชัญญะเกิดแล้วก็ดึงเอาปัญญามา สติดึงเอาสัมปชัญญะมา ระลึกแล้วก็รู้ตัว รู้ตัวแล้วก็พิจารณา ปัญญาเกิด ถ้าหากปราศจากธรรม 3 ประการนี้แล้ว ก็ตกลงว่าเราทั้งหลายอยู่ในความประมาท พระพุทธองค์ท่านตรัสว่า ผู้ไม่มีสติก็คือคนประมาท คนที่ประมาทนั้นก็คือคนตาย แม้มีชีวิตอยู่ก็เรียกว่าตายแล้ว เพราะจิตใจมันตาย ไม่มีอะไรแล้วเป็นผู้ประมาท ปมาโท มจฺจุโนปทํ คนประมาทแล้วเหมือนคนตาย นี่ตายในภาษาธรรมะ ตายในภาษาด้านปรมัตถ์ ไม่ใช่ตายในร่างกายของเรา เกิดในร่างกายของเรา เป็นผู้ตายในภาษาธรรมะ ไม่ใช่เป็นภาษาคนธรรมดา ถ้าเป็นภาษาคนธรรมดา ตายก็ลมหายใจไม่มี นี่ก็เรียกว่าเขาฟังกันออก เขารู้กัน แต่ตายโดยธรรมะก็เรียกว่าผู้ไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีปัญญา ฉะนั้น เมื่อไม่รู้จักอันนี้ เราก็เห็นว่าเราเป็นอยู่เสมอ ไม่เห็นว่าเราตาย ทีนี้เมื่อคนตายจะเป็นอย่างไร เมื่อตายมันก็หมดแล้ว หมดความรู้สึกหมดอะไรหลาย ๆ อย่าง ไม่เกิดประโยชน์ นั่นคือคนตาย ถ้าพวกเราทั้งหลายเป็นอยู่อย่างนั้น มันก็เป็นคนตาย ดังนั้นพระพุทธเจ้าของเราท่านจึงไม่ให้ประมาทในอามิสทั้งหลาย ท่านกลัวพวกเราจะติดกัน ให้รู้จักอามิส กลัวพวกเราทั้งหลายจะติดอามิส คือสิ่งของ เพราะว่าพวกเราทั้งหลายนั้นจะมีโอกาสที่จะอยู่กับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้จนถึงวันตาย
ฉะนั้น เมื่อเราใกล้ชิดสิ่งทั้งหลายเหล่านี้อยู่ พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงให้พิจารณาให้มาก ระวังให้มาก ระมัดระวัง เมื่อมีความระมัดระวัง ก็มีความสำรวม เมื่อมีความสำรวม ก็มีความระมัดระวัง เมื่อเราระมัดระวังอยู่เมื่อใด สติเราก็มีอยู่เมื่อนั้น สัมปชัญญะเราก็มีอยู่ปัญญาเราก็มีอยู่ ถ้าเราระวังอยู่ การสังวรการสำรวมระวังนี้ มันจะเป็นศีล ถ้าพูดง่าย ๆ ตัวนี้มันจะเป็นตัวศีล อาการของศีล ถ้ามันเป็นอย่างนี้มันจะรอบคอบของมันอยู่ ระมัดระวังของมันอยู่ มีความอาย เมื่อมีความอายแล้วก็มีความกลัว เมื่อผิดพลาดไปทำอะไรพลาดไป เช่น เมื่อเดินไปสะดุดหัวจอ หรือเมื่อสิ่งของอะไรที่เราหยิบ เช่นว่า กระโถนที่เราหยิบมามันพลัดจากมือเราไปเสีย อย่างแก้วน้ำเรานี้ เราทำมันพลัดตกแตก หรือเราไปทำอะไรที่เสียงมันดัง เคร้ง ขึ้น ก็มีความละอายแล้ว ผู้ปฏิบัตินั้นมีความละอายมากแล้ว มีความสำรวมแล้วมีความรู้แล้ว มีความเห็นแล้ว มองเห็นข้อปฏิบัติของเราแล้ว มองเห็นความเป็นอยู่ของเราว่ามันขาดอะไรต่ออะไร นี่คือมันละอายอยู่และระมัดระวังอยู่ ถ้ามันละอายมาก ๆ ก็ระวังมาก ๆ เมื่อระวังมากสติมันก็ดีขึ้นมา สัมปชัญญะก็มากขึ้นมาปัญญาก็เกิดขึ้นมามันอยู่ในสายเดียวกันนี้
ฉะนั้น พวกเราทั้งหลายซึ่งมาอยู่ในที่นี้ เป็นกันอยู่สองอย่าง คือ อามิสสุข และนิรามิสสุข สุขอย่างหนึ่งเพราะมีอามิส อาศัยอามิสอยู่ สุขอีกประเภทไม่ต้องอาศัย นี่เป็นนิรามิสสุข สุขอันนั้นผสมกันในความสงบ ทีนี้พวกเราทั้งหลาย ปฏิบัตินี้ก็ต้องแยกพิจารณา พิจารณาแยก เช่น การห่มผ้าก็พิจารณา การเที่ยวบิณฑบาตก็พิจารณา การฉันบิณฑบาตก็พิจารณา การอยู่เสนาสนะก็พิจารณา การฉันยาบำบัดโรคก็พิจารณา การพิจารณาอย่างนี้ ให้คุมปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ อยู่ในวัดนี้ก็ให้วัดนี้สะอาด ให้วัดนี้น่าอยู่ แต่ก็อย่าไปติดมัน อันนี้เป็นเรื่องของโลก เสนาสนะกุฏิหลังนี้ท่านให้เราอยู่ เราก็ต้องรักษาเสนาสนะนั้นให้เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าเราปฏิบัติเสนาสนะอันนั้นเพื่อให้เราไปติดเสนาสนะอันนั้น อันนี้มันเป็นของสงฆ์ แต่คนเราก็ชอบ ถ้าเป็นของ ๆ ตัวก็ทำให้ดีมาก ของคนอื่นก็ชอบวางเฉย ๆ เสีย นิสัยกิเลสทั้งหลายก็ต้องเป็นอย่างนี้
ฉะนั้น การเสียสละนี้ไม่มีเมื่อไร ก็ไม่ถึงธรรมะเมื่อนั้น การทำกิจเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งหลายเหล่านี้ เป็นเรื่องของคนนั้น เป็นเรื่องของคนนี้ เป็นเรื่องของคนโน้นอย่างนี้ เช่น จับกระโถนของท่านอาจารย์เหลี่ยมไปเท จับเอากาน้ำไปกรองน้ำ ก็เข้าใจว่าเอากระโถนไปเทให้ท่านอาจารย์เหลี่ยมอย่างนี้เป็นต้น ก็ดีอยู่แต่ว่ามันน้อยไป เอากระโถนนี้ เอากาน้ำนี้ ไปกรองน้ำใส่ให้ท่านอาจารย์ชู นี่ก็ถูกไปอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่าถ้าหากว่าไม่ใช่ของอาจารย์ชูแล้วก็จะไม่เอาไปเทกระมัง ไม่ใช่ของอาจารย์เหลี่ยมก็ไม่เอาไปเทกระมัง อันนี้เช่นนี้มันก็ดีไปส่วนหนึ่ง แต่ว่าไม่เลิศไม่ประเสริฐ มันมีความมุ่งหมายในนั้น มีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ เราควรทำเพื่อธรรมะ เราทำเพื่อเสียสละ กระโถนใบนี้เราก็ทำเพื่อเราเองนั่นแหละ กิจการงานอันนี้เราทำเพื่อเราเอง ไม่ได้ทำให้ใครทั้งนั้น ทำเพื่อธรรมะ ถ้าจิตเราเป็นอย่างนี้ ไปอยู่ที่ไหนเราก็เสียสะ ปฏิบัติก็ถึงธรรม อย่างเช่น เมตตามันก็มีสองนัยเหมือนกัน เมตตาคือความรัก รักอย่างหนึ่งก็รักแต่กลุ่มตัวเอง กลุ่มอื่นไม่รัก อย่างตาแก่คนหนึ่ง ลูกหลายไปขโมยของเขา แกก็ไปจับลูกหลานนั้นมาสอน เฮ้ย...พวกเอ็งทั้งหลายนั้น ถ้าจะขโมย ถ้าจะปล้นก็ไปปล้นโน่น...บ้านอื่น อย่ามาปล้นบ้านเรา อย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้มันสั้นเกินไป ตาแก่คนนั้นก็ไม่รู้ตัวไปขโมยของคนอื่นเสีย อย่ามาขโมยของเรา ไปปล้นบ้านอื่นเสีย อย่ามาปล้นบ้านเรา ตาแก่คนนั้นก็คิดว่าคิดถูกเต็มที่แล้ว แต่พูดตามธรรมะแล้ว มันก็ไม่ใช่ธรรมะอีกนั่นแหละ นี่เรียกว่ามีเมตตาเป็นบางส่วน มันไม่ทั่วถึง ความเป็นจริงไปขโมยตรงไหนก็ไม่ดีตรงนั้นแหละ ไปปล้นบ้านไหน มันก็ไม่ดีบ้านนั้นแหละ ถ้าเป็น อัปปมัญญา (ธรรมที่แผ่ไปไม่มีประมาณ) แล้ว อย่าไปขโมยใครเลยสักแห่งหนึ่ง
การประพฤติปฏิบัติก็อย่างนั้นเหมือนกัน มันก็มีกำลังใหญ่ ตรงไหนที่มันเป็นธรรมะ แม้มันจะฝืนใจของเราสักเท่าไร ก็พยายามลงตรงนั้นให้ได้ ข้างนอกก็เหมือนกัน อันใดมันเสียสละยังไม่ได้ ก็พยายามเสียสละตรงนั้น พยายามทำตรงนั้น ถ้าทำตรงนั้นไม่ได้ ก็ยังไม่สบาย ยกตัวอย่างผมเอง ผมนี้เป็นคนขี้ขลาด เป็นคนกลัวตั้งแต่เป็นเด็กมา บ้าน...ถ้าปิดประตูก็เข้าไปในบ้านไม่ได้ กลัวมากที่สุด ถึงบวชเข้ามาปฏิบัติแล้วความกลัวนี้มันก็ยังยึดอยู่ เวลาหนึ่งอยากจะไปอยู่ป่าช้าคิดแล้วคิดเล่ามันก็ไปไม่ได้ ไปเห็นพระท่านอยู่ก็ท้อใจแล้วมันไปไม่ได้แต่ก็ยังไม่ยอม มันจะเป็นอย่างไรตรงนี้ทำไมมันถึงกลัวมาก ก็พยายามมันอยู่อย่างนั้นแหละ ผลที่สุดวันสุดท้ายจับบริขารไปเลย ไปให้มันตายทำไมป่าช้ามันถึงกลัวนักกลัวหนา มันมีอะไรอยู่ตรงนั้น ไปให้มันตายดูซิ วันนี้มันจะเป็นอย่างไรไป ไม่ใช่ว่าไม่กลัวนะ กลัวมันแทบจะเดินถอยหลัง เข้าไปถึงป่าช้าแล้ว มันก็ไม่อยากเข้าไป ขืนเข้าไปมันจะเป็นอย่างไรตรงนี้ อย่างนี้เราอยากจะรู้ว่าอะไรมันขวางทางเรา การปฏิบัติของเราต้องทำกันให้มันทะลุ พอไปแล้วก็รู้เรื่องอะไรต่าง ๆ ในที่นั้นความคิดเก่า ๆ ที่มันกลัวนั้นก็เบาลง หายไป นี่เพราะเราทำให้ดีแล้วก็ดีใจว่าตรงนี้มันฝืนใจเราได้ เท่านี้แหละไม่ต้องมากหรอก ก็เกิดความพอใจขึ้นมาแล้ว
การปฏิบัตินี้ต้องฝืนใจ ถ้าพูดกันง่าย ๆ การปฏิบัตินี้ไม่ใช่ปฏิบัติตามใจเรา มันเรื่องฝืนใจเราทั้งนั้น ตลอดจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช ทั้งหลายนี้ อยากได้ดี อยากได้สวย อยากไม้มาก สารพัดอย่าง เมื่อดูตรงนั้นแล้ว คนเรานี้พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนให้สันโดษมักน้อย ขนาดนั้นก็ยังน้อยไม่ได้อยู่นั่นแหละ น้อยไม่ค่อยได้ นี่มันอยู่ตรงนี้ เช่นท่านสอนว่า เอาอาหารรวมในบาตร พยายามทำให้มันเหลือน้อย หรือไม่ให้มันเหลือนั้นจะดีมากอย่างนี้มันก็ทำยาก ไม่ต้องอื่นไกลหรอกทำได้วันสองวันสาม อาทิตย์หนึ่งมันก็เผลอไปเสียแล้ว ถูกมันจูงไปเสียแล้ว มันจูงออกไปข้างนอก มันทำยากนะ ไม่ใช่ง่าย ๆ ลองฝึกดูตรงนี้ก็ได้ จัดข้าวจัดอาหารให้มันพอดี ๆ ฉันให้หมดพอดี ๆ ลองเถอะน่าไม่ต้องไปวิ่งธุดงค์ที่ไหนหรอก ลองดูซิมันจะได้ไหม ได้มันอยู่กี่วันไหม อันนี้เราควรฝึกดูนะว่าจะลำบากสักแค่ไหน นี่ก็จะรู้จักล่ะว่าจิตใจเรามันติดอามิสทั้งหลายอยู่
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนให้รู้จักทั้งสองอย่าง อามิสสุขอย่างหนึ่งก็ให้มันชัดเจน นิรามิสสุขก็ให้มันชัดเจน ให้มันชัดเจนทั้งสองอย่าง ไม่ให้หลงทั้งสองอย่าง เช่น กามสุขัลลิกานุโยโค คือ ความสุข ความสบาย นี้ท่านก็ให้รู้ชัดเจน อัตตกิลมถานะโยโค คือความไม่สบายเป็นทุกข์ขัดข้อง ทำไปแล้วเปล่าประโยชน์ สองอย่างนี้ท่านก็ให้รู้จักพูดง่าย ๆ คือ ความดีใจเป็น กามสุขัลลิกานุโยโค ความไม่สบายใจก็เรียกว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยโค สิ่งทั้งสองนี้พวกท่านทั้งหลายว่า อันนี้เป็นกามสุขัลลิกานุโยโค อันนี้เป็นอัตตกิลมถานโยโค มันจะไม่บอกชื่อมันอย่างนั้น แต่อาการมันก็อยู่อย่างนั้น สุขมันก็เป็นสุข ทุกข์มันก็เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น
สุขทุกข์ทั้งหลายนี้ พวกเราทั้งหลายชอบอันใด ชอบสุขหรือทุกข์อันนี้เราก็ตัดสินใจของเราได้ เราชอบความสุขนั้น มันถูกไหม ชอบความทุกข์นั้นมันถูกไหม อันนี้เราก็เลือกพิจารณา แต่ว่าถ้าเราเป็นผู้มีปัญญาน้อย เป็นผู้อิงอามิส อยู่กับอามิสมันก็ติดสุข อามิสสุข ได้ของดี ได้ของมาก ได้ของที่ชอบใจมันก็สุขใจ มันไปติดดี ดีนั้นเราก็นึกว่าโทษมันไม่มี ในที่นั้นสิ่งที่ไม่ดีสิ่งที่เราไม่ชอบนั้นไม่ต้องว่า มันรู้จักแล้ว ไม่เอาที่เราไม่ชอบ ทีนี้เราก็เลือกตามใจเรา อันใดชอบก็เอา อันใดที่เราไม่ชอบก็ไม่เอาอันนั้น มันก็เป็นทีฆนขะพราหมณ์ เท่านั้นแหละ พราหมณ์เล็บยาว ๆ ที่มากราบพระพุทธเจ้าเรื่องทิฏฐิทั้งสาม* นั่นแหละ
1. อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ, เห็นว่าการกระทำไม่มีผล
2. อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ, เห็นว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีเหตุปัจจัย
3. นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มี, เห็นว่าไม่มีการกระทำหรือสภาวะที่จะกำหนดเอาเป็นหลักได้
ความเห็นของเขา เห็นว่าอันใดไม่ชอบใจ เขาก็ไม่เอา อันใดควรแก่เขา เขาก็เอา อันใดไม่ควรแก่เขา เขาก็ไม่เอา อันนี้คือเขาอาศัยจิตของเขา เขาอาศัยกิเลสเป็นหลัก ไม่ใช่อาศัยการประพฤติปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องเป็นหลัก ก็ต้องเป็นอย่างนั้นทุกคน เราทุกคนก็เหมือนพราหมณ์ ผู้เล็บยาวทั้งนั้นแหละ หารู้ไม่ว่ากามสุขัลลิกานุโยโค และอัตตกิลมถานุโยโค สองอย่างนี้มันมีโทษเท่านั้น มันเป็นเครื่องกำบังเท่า ๆ กัน ความสุขกับความทุกข์นี้ มันมีราคาเท่ากัน คือ มันผิดเท่า ๆ กัน พูดง่าย ๆ แต่เราก็ไม่เห็น ไปเห็นแต่ว่าอันที่เราไม่ชอบใจนั่นแหละไม่ดี หรือไปเห็นว่าอะไรมันทุกข์ นั่นไม่ดี นี่ไปเห็นอย่างนั้น สุขที่เราชอบมันยังอยู่อย่างนี้ ถ้าเราโยกย้ายไปมาเพราะอามิสอย่างนี้ ถ้าไม่มีเนกขัมมะ ไม่ยอมเสียสละ ไม่เห็นธรรมะ จิตใจเราก็ต้องเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงให้พิจารณา ให้ขยันในการกระทำ ความเพียรข้อวัตรปฏิบัติเหล่านี้ อย่าประมาท เพราะเรายังไม่รู้ อันใดเราชอบใจเราก็นึกว่ามันถูกทั้งนั้นแหละ อันใดไม่ชอบใจเราก็นึกว่ามันไม่ดีทั้งนั้น จะต้องมีอย่างนี้เป็นหลักในจิตของปุถุชนเรา ฉะนั้น เมื่อพูดธรรมะอันใดขึ้นมา เราไม่ชอบใจเราก็ทิ้งเท่านั้นหละ เหมือนกันกับผมที่ไปภาคกลาง ไปเจอเอาผลมะขวิด มะขวิดเหมือนกับมะตูมน่ะที่ข้างในมันดำ ๆ เป็นเม็ดเหลง เขากินมะขวิดกันอย่างนั้น เมื่อเราเอามีดไปผ่ามันออกไป ไม่เหลือหรอก เอาไปทิ้งหมด เราว่ามันเน่า ไม่รู้จักมะขวิด คิดว่ามะขวิดเน่าทั้งนั้นแหละ นี่คือเราไม่รู้ความเป็นจริง ผลไม้ชนิดนี้มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น เขาก็ทานกันอย่างนั้น ก็อร่อยอยู่อย่างนั้น แต่ว่าเราไม่รู้เรื่อง อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น เราก็เหมือนกัน เรานึกว่าความสุขมันเกิดประโยชน์มาก ทุกข์มันไม่เกิดประโยชน์เลย ทุกข์กับสุขนี้ ถ้าใครติดสุขก็ไม่ชอบทุกข์ทั้งนั้นแหละ ธรรมสองอย่างนี้มันให้โทษเท่า ๆ กัน และเกิดประโยชน์เท่า ๆ กัน ก็เหมือนลูกตาเราสองข้าง ข้างซ้ายหรือข้างขวามันเกิดประโยชน์เท่า ๆ กัน คนไม่รู้จักอันนี้ก็เหมือนกันถ้าจะให้ลูกตามันแตกมันก็มีโทษเท่า ๆ กัน ถ้าเอามันไว้ทั้งสองลูกตาดำ ๆ อยู่ก็เกิดประโยชน์แก่เราเท่า ๆ กัน ฉะนั้นลักษณะธรรมนี้มันอยู่ที่ศูนย์กลางอย่างนั้น คนเรามาปฏิบัติไม่รู้เรื่อง บวชมาแล้วก็ไม่รู้เรื่อง เพ่งออกไปข้างนอกบ้าง เพ่งไปที่อื่น ไม่น้อมเข้ามาในใจของเรา และการบวชเข้ามานี้ บวชธรรมดาก็ยังมีกิเลสน้อย ผมเคยเป็นเณรเป็นพระ อยู่วัดบ้านก็ไม่ค่อยได้อะไรเท่าไร คือ ปล่อยไปตามเรื่องของมัน มันก็เลยไม่ค่อยมีอะไร เมื่อเข้ามาปฏิบัติแล้วมาพิจารณา เออ...อย่างนั้นต้องรักษาพระวินัย อย่างนั้นต้องทำอะไรก็ไม่ให้ร้องไม่ให้ขอ ทุกอย่างท่านไม่ให้ความอยากมันเกิดขึ้นมา ความทุกข์มันก็บีบบังคับขึ้นมา อยู่วัดบ้านนั้นมันสบาย ฤดูนี้อยากปลูกหัวหอมกินก็ได้ อยากปลูกผักกาดกินก็ได้ ฟันไม้ก็ได้ ขุดดินก็ได้ มันเลยสบาย บัดนี้ท่านไม่ให้ปลูกอย่างนั้น ไม่ให้แตะต้องอย่างนั้น ไม่ให้ทำอย่างนั้น มันบีบหัวใจมันก็เลยเกิดทุกข์ขึ้นมา ยิ่งพระกรรมฐานนี้ ถ้าอยากก็อยากได้หลาย ๆ อยากได้กว่าสิ่งธรรมดาที่เราไม่ได้ปฏิบัติ
เมื่อบวชเข้ามาปุ๊บมันก็อยากได้ความสงบ อยากเป็นพระอรหันต์อยากแล้วมันก็คิด คิดมาก็เดือดร้อนมาก ที่นี่ก็อยู่ไม่ได้ ที่นั่นก็อยู่ไม่ได้ อยู่ที่นี่ก็ แหม คนมันมากนะ ไม่สงบ อยู่ที่นี่มันไม่เป็นป่านะ ไปหาป่าเถอะ อยู่ที่นี่มันเป็นป่าก็จริง แต่มันไม่เป็นเขา บางทีก็ขึ้นไปโน้นเขาสูง ๆ บิณฑบาตวันละสามสี่กิโล ไปหาที่อยู่ที่มันสบาย ๆ คือหนีจากมันนั่นเองแหละ หนีจากมันเพราะความไม่รู้ ไม่ได้หนีจากมันเพราะปัญญา หนีจากมันเพราะการเดินหน้า อย่างเราทุกวันนี้จะหนีจากคน ไปอยู่ที่ไหน ไม่ให้คนเห็นจะไปอยู่ที่ไหน แต่ว่าระยะชั่วคราวได้อยู่ มันเป็นอยู่อย่างนี้
ฉะนั้น พระปฏิบัติหนึ่งพรรษาสองสามพรรษา ถ้าไม่ได้ศึกษาเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ให้เข้าใจล่ะก็ ไปแล้ว ธุดงค์นี่ทุกปีละ ธุดงค์นี่เดินไม่มีหยุดหรอก คือ มันไม่ให้หยุด เราเป็นทาสมันแต่เราไม่รู้จัก พอสบายสักนิดหนึ่งก็มานั่งพิจารณา ฮื้อ.... จะไปหองคายดีละมั้ง เอาละจะไปหนองคาย แล้วไปอยู่หนองคายอยู่สบายสักพักหนึ่ง ฮือ...เชียงใหม่ก็ดีเหมือนกันนะ ไปเชียงใหม่ปะไร เอ้า ไปอีก มันไล่เข้าไปในป่า มันก็ไล่ขึ้นภูเขา ขึ้นภูเขามันก็ลำบากเกินไป มันก็ไล่ลงมา มันก็เป็นอยู่อย่างนั้นแหละ
นักกรรมฐานทั้งหลายไม่รู้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่สบายหอก ให้รู้เถอะอยู่บนภูเขาเป็นอย่างไร อยู่ป่าเป็นอย่างไร อะไรทุกอย่างนี้มันเป็นอย่างไร ถ้าหากเรามารวมจุดของมันได้แล้ว ไม่จำเป็นอะไรมาก คล้าย ๆ คนอยากจะรวย ไปทำไร่ไปตัดต้นไม้เต็มป่า แต่ว่าทำไม่หมดขี้เกียจ ไปถางมันทิ้งแล้วก็หนีไป ทำได้มากแต่ไม่เอา อันนี้ก็เหมือนกัน เช่นนั้น เราก็ทำได้มากไปมาก แต่ก็ไม่รู้เรื่องที่จะเอาอย่างไรกัน จุดนี้เรายังไม่ถึงของเราแล้ว เราก็เดินอยู่เรื่อย ๆ เป็นทุกข์ บางองค์เดินไปเลยไม่เห็น บางองค์เข้าในถ้ำก็อยู่แล้ว บนภูเขาเราก็อยู่แล้ว ไนป่าเราก็อยู่แล้ว มันก็เป็นอย่างนั้นแหละสิบปีกว่า บางทีไปพบอยู่ตามภูเขา เขาทำสวน ทำไร่อ้อย ทำถั่ว ทำข้าวโพด เท่านั้นหละ เดี๋ยวก็ธุดงค์อยู่ในป่าอยู่ในเขา แล้วก็เดินบิณฑบาต ไปเห็นซังข้าวโพด ก็อีกแล้ว อยากจะไปเป็นลูกของเขาแล้ว อยากจะไปเป็นลูกจ้างเขาแล้ว บางคนเลยออกมาเก็บข้าวโพดกับเขาเสีย เป็นลูกจ้างโยมที่เคยอุปัฏฐากเรานั่นแหละ เป็นทุกข์อีก มันเสียอย่างนั้น
ฉะนั้น การธุดงค์นั้น ธุ-ตัง-คะ ก็คือว่า เป็นข้อปฏิบัติอันบุคคลทำได้ยาก เพราะเป็นข้อปฏิบัติทำปุถุชนให้เป็นอริยชน มันจึงเป็นของทำยาก เป็นของทำลำบากมาก มันฝืน ไม้มันคดมันงอมันโก่ง ไปดัดมันก็ฝืนอย่างนี้ ท่านจึงกล่าวไว้ว่า ธุดงค์นี้ใครไม่ทำก็ไม่เป็นอาบัติ (ผิดวินัย) หรอก เพราะมันเป็นข้อวัติพิเศษ ความเป็นจริงนั้นมันเป็นของฝืน เป็นข้อวัตรของพระอริยบุคคล หรือที่จะทำปุถุชนให้เป็นอริยบุคคล มันก็เป็นของทำได้ยาก เหมือนเราเคยทำของหยาบ ๆ มา เช่น เราไสกบเลื่อยไม้ ในอีกเวลาหนึ่งเราจะไปทำงาน ให้ไปไล่สนิมทอง ไปทำสร้อยทำแหวนอย่างนี้ก็ลำบาก มันเป็นกิจการของบุคคลที่ละเอียดเขาทำกัน มันก็เป็นของยากลำบาก เช่น เนสัชชิก ในวันพระนี้ไม่ให้นอนตลอดคืน เราก็ไม่เคยทำเป็น ฆราวาสก็ไม่เคยทำ เมื่อกันอิ่มแล้วจะนอนก็นอนเลย บางทีบุหรี่ยังติดปากอยู่เลย บางทีปากคาบบุหรี่ นอนกรนครอก...ครอก จนไฟจะไหม้ ไฟไหม้ปากแล้วจึงลุกขึ้นมา บางคนกินอิ่มแล้วนั่งไม่ไหวเสียแล้ว มันหนัก นอนลงไปหยิบเอาไม้ข้างฝามาจิ้มฟัน จิ้มไปจิ้มมาก็เลยนอนหลับไปเลย ไม้จิ้มฟันก็ไม่ต้องเอาออก อยู่อย่างนั้นแหละ กรนครอก...ครอก
ทีนี้เราไม่ให้นอนในคืนนั้น มาทำธุดงค์ ทำไมมันจะไม่ลำบากล่ะ มันขัดกันอย่างนี้ มันก็ลำบากซิ ทำไมจะไม่ลำบาก บางคนก็ทนไม่ไหว นี่เป็นเรื่องอย่างนี้ นี่คือข้อปฏิบัติธุดงควัตร คือ การกระทำฝืนฝึกตัวเองฆ่ากิเลส พระพุทธองค์ท่านตรัสว่า ธรรมอันใดมันเดือดร้อน ข้อปฏิบัติอันใดมันเดือดร้อน ให้มันซ้ำอยู่อย่างนั้น มันสู้กิเลสแล้วท่านว่าถูกมันแล้วถูกตัวมันแล้ว ถ้ามันสบาย ๆ ก็ไม่ถูก เพราะเราชอบสบายนี่ ถ้ามันเดือดร้อนก็เข้าใจว่ามันผิด แต่นี่มันเดือดร้อนนั้นถูกแล้วมันปฏิบัติถูกแล้ว มันฝืนใจตัวเองมันก็เดือดร้อน มันทุกข์ ลืมตาขึ้นมาก็พิจารณา นี่อะไรกัน อย่างนี้ มันเห็นอย่างนี้
ฉะนั้น การปฏิบัตินี้เราบวชมานานหลายพรรษาก็จริง แต่ว่าเราจะไม่ค่อยได้ปฏิบัติ เราจะเอาแต่สิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราไม่ชอบ เราไม่รู้สึกว่ามันเป็นข้อปฏิบัติ มันจะเป็นอย่างนี้ก็ได้นะ แล้วเราพูดว่า ฮื้อ...ผมไม่มีศรัทธา ผมไม่บวชหรอก แต่ว่าอาศัยอันนี้ยังผิวเผิน พวกเราทั้งหลายควรระลึกให้มันได้นะว่า ที่เราอยู่นี้ บริขารที่อาศัยอยู่นี้ ท่านให้พิจารราให้มาก อย่าไปหลงมัน อย่าไปเพลินกับมัน อยู่กุฏิสวย ๆ ก็ดี อยู่ที่ไหนก็ดี จีวรสวยก็ดี ให้มันมีนิรามิสสุข ใจให้มันเป็นเนกขัมมธรรม อยู่กับอะไรก็ให้ใจมันออก ถอนอุปาทานจากสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ตัวอุปาทานนั้นแหละ ท่านบอกว่า การถอนจะต้องอาศัยเนกขัมมธรรม อาศัยรู้จักเหตุรู้จักผล อาศัยรู้จักโทษของมัน
อย่างพวกเรานี้เราอาศัยร่างกายเป็นอยู่ มันไม่ป่วยไม่ไข้ มันก็สบาย แต่เราอย่าไปอาศัยมันมากนักนะ ระวังนะ! ต้องอาศัยเนกขัมมะไว้ อย่าไปพึ่งไปเกาะในกายของเรา เดี๋ยวมันจะเป็นโรคเมื่อไรก็ไม่รู้เรื่อง นี่จะไปอาศัยมันได้หรือ ก็ต้องระวัง เราจะต้องระวังอันนี้ให้มาก อีกวันหนึ่งมันจะระเบิดขึ้นมาเป็นต้น ข้อปฏิบัติเป็นอย่างนี้ ถ้าเราคิดว่ามาก มันก็มาก เรื่องปฏิบัติเป็นเรื่องฝืนใจของเราอย่างนั้น พวกเราทั้งหลายก็ต้องระวังไว้ว่า การฝึกใจตัวเองในทางที่ถูกที่ชอบนั้นนะดี แต่ว่าให้รู้จักกำลังของเรา ฉะนั้น ท่านจึงสอนซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่เรื่อย ๆ อย่างวันนี้พระเณรทุกองค์นั้นเคยนึกถึงความตายหรือเปล่า แหม วันนี้อีกไม่นานเราก็ต้องตาย บัดนี้มีอายุ 20, 30 แล้วเดี๋ยวก็ตาย เคยคิดหรือเปล่าก็ไม่รู้ เรื่องระลึกความตายมีสักองค์สององค์ก็ยังดี ความละเอียดของคนมันต่างกัน เรื่องนึกถึงความตาย จะเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่ง
อาจารย์คนหนึ่งมีศิษย์ 3 คน วันหนึ่งอาจารย์ถามว่า ใครมีสติระลึกถึงความตายบ้าง วันหนึ่งประมาณกี่ครั้ง องค์หนึ่งตอบว่า โอ๊ย ผมระลึกถึงความตายไม่ได้หยุดหย่อนเลยครับ ผมเที่ยวบิณฑบาต ผมนึกไปว่า จะได้กลับมาวัดหรือไม่หนอ จะได้กลับมาวัดหรือไม่หนอ กลัวมันจะตายอยู่กลางทาง กลัวจะไม่ได้มาฉันบิณฑบาต องค์ที่สองก็ว่า โอ๊ย ผมนึกถึงความตายยิ่งกว่านั้น ผมมานั่งฉันบิณฑบาตอยู่ นึกในใจว่า จะฉันจังหันเสร็จหรือไม่หนอ กลัวมันจะล้มตายก่อน องค์ที่สามว่า โอ้ ผมไม่ถึงแค่นั้นเลยครับ ผมคิดว่า ผมหายใจเข้าออกอยู่นี่ ผมกลัวมันหายใจเข้าไป ผมจะตายตรงนั้น ผมคิดอยู่แค่นี้ สององค์แรกนึกว่าเราเอาเต็มที่แล้วนะ องค์หนึ่งว่า บิณฑบาตกลัวจะไม่ถึงวัด จะตายก่อน นึกว่าดีแล้ว แต่ยังหลงอยู่ องค์ที่สอง ฉันอยู่กลัวมันจะล้มกลิ้งลง ก็นึกว่าไม่มีที่ไหนแก้ไขอีกแล้ว องค์ที่สาม ลมเข้าผมกลัวไม่ออก มันจะตาย นี่ดูซิ นี่คือความรู้สึกนึกคิดของคนแต่ละคน เพราะฉะนั้นมันจึงไม่เหมือนกัน มันหยาบกว่ากัน มันละเอียดกว่ากัน เพราะอันนี้
แต่ความรู้สึกของผมในสมัยนี้ ผมว่าพวกเราควรจะประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน และเพื่อประโยชน์ประชาชนคนอื่นเขาบ้าง เพราะว่าสัตว์โลกทุกวันนี้กำลังเมา กำลังมือไม่รู้เรื่อง ที่ทางทำมาหากินกันผมว่ามันแย่เสียแล้ คับแคบกันเสียแล้ว ถ้าเราออกไปอีกวุ่นไปอีก จะฆ่าจะแกงกันตาย มนุษย์ในโลกนี้ก็เห็นจะพอละมั้งนี่ เห็นจะพอกันละ สมัยก่อนชาวบ้านแต่งงานแล้วลูกก็เกิด เอ้า ให้มันเกิดเต็มที่มันเลย ไม่ต้องกลัวมัน มันจะเกิดมาถึงยี่สิบ ก็เอาเถอะ เอาหมด เดี๋ยวนี้เขาไม่เอาแล้ว รู้ตัวว่าไปไม่ไหวแล้ว อย่างมากก็สามคน ผู้ชายสองคน ผู้หญิงคนหนึ่ง พอแล้วอุดเลยปิดเลย ผมว่าไม่เห็นมันเกิดประโยชน์อะไรมากมาย มันแย่งกันแล้ว สมัยก่อนนี้คราวหลวงพิบูลสงครามให้รางวัล คนลูกมาก ๆ ผมก็อยากให้สึกเหมือนกันแหละประชาชนมันน้อย เดี๋ยวนี้ประชาชนเขามันพอกันแล้ว จะสึกออกไปทำไมอีกล่ะ
ผมว่ามันได้โอกาสแล้วพวกเราทั้งหลาย มันได้โอกาสแล้วที่จะสร้างประโยชน์ในเวลานี้ ประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่น ประโยชน์ภพนี้ประโยชน์ภพหน้า หรือประโยชน์อย่างยอด ผมว่าควรแล้ว เวลานี้มันควร เพราะเราก็เห็นนี่นะว่าสึกเป็นฆราวาสแล้ว จะไปทำอะไร เคยได้ยินไหม เคยได้ไปบิณฑบาตตามบ้านไหม บางวันเดินบิณฑบาตไปโน่น ทะเลาะกันตรงโน้น ยังไม่ทันหุงข้าวเลยทะเลาะกันแล้ว เอาแล้ววุ่นวายกันแล้ว ไม่รู้อะไรเป็นอะไร พวกท่านไม่เคยเห็นหรือ ก็ไปดูสิ่งที่มันจะเกิดปัญญาบ้างซิ ไปดูแต่สิ่งที่มันถมทับหัวใจของเรา มันจะเห็นอะไร ไปมองโน่น มองแมงป่อง เขามองก้ามกัน ก็นึกว่ามันเอาก้ามมันกัด ไปมองโน่น มองแมงป่องไม่ได้มองก้นมันนี่ ไปจับหัวมันนึกว่าตรงนั้นมันเป็นอันตราย ความจริงมันเอาก้นมันจิ้มจนจะตายเอา เรามันมองข้ามไป มองไม่ถูกที่ มันจึงเสีย อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น ผมว่าอยู่เป็นนักบวชอย่างนี้สบายแล้ว ถ้าเราคิดอย่างนี้มันสบาย ไม่มีกรรมไม่มีเวร มันจะมีอะไรก็สบายแล้ว แต่ว่าเป็นนักบวชไม่ใช่อยู่สบายเฉย ๆ นะ ต้องทำให้เกิดประโยชน์ หาทางพ้นทุกข์ให้ได้ เป็นที่พึงของสัตว์ทั้งหลายญาติทั้งหลายให้ได้