ดี.......ให้พอดี !
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
คัดลอกจาก http://www.geocities.com/clcseacon/preaching20.html
...เราศึกษาธรรมะ ฟังธรรมะ เพื่อความเข้าใจในธรรมะ แล้วนำไปปฏิบัติ นี่เป็นความมุ่งหมาย...
การศึกษาธรรมะนั้น พื้นฐานเป็นสิ่งที่สำคัญมาก พื้นฐานประกอบด้วยเวลาบุคคล สถานที่และเนื้อหาของธรรมะ เช่นการฟังธรรมของพวกเราในวันนี้ เรามาฟังกันในวัดที่มีความสงบเป็นฐาน เมื่อพูดอะไรออกไปก็ได้ยินกันถนัด นั่นเรียกว่าสถานที่สมควร ส่วนสถานที่ไม่สมควรก็คือที่ที่มีเสียงดังวุ่นวาย หลวงพ่อเคยไปงานมงคล ไม่อยากเรียกว่างานมงคลเลยนะ เรียกงานอวมงคลดีกว่า เขามานิมนต์ให้ไปเทศน์ แต่เขาไม่สนใจในศีลในเทศน์ คนเล่นก็เล่น คนกินก็กินทำอะไรกันสารพัดอย่าง อย่างนี้เรียกว่าสถานที่ไม่สมควร เวลาไม่สมควร บุคคลก็ไม่สมควร ไม่สมควรที่จะแสดงธรรมะในที่ตรงนั้น
การฟังธรรมนั้น ให้เราตั้งใจฟัง เพราะเรายังไม่รู้ชัด เราเป็นผู้ฟัง ให้ฟังไปเถอะ ฟังแล้วเอาไปพิจารณาอย่าเพิ่งเข้าใจว่ามันถูกอย่างแน่นอนและอย่างเพิ่งเข้าใจว่ามันผิด ฟังแล้วก็ให้เอาไปกลั่นกรองเสียก่อน อย่างนี้เราเรียกว่าเป็นการภาวนาอย่างหนึ่ง ภาษาโลกเขาเรียกว่าการพิจารณา พิจารณาเพื่อให้เข้าถึงธรรมะ ภาษาธรรมเขาเรียกว่าภาวนา ความจริงมันคืออันเดียวกันอันหนึ่งเป็นภาษาโลก อีกอันเป็นภาษาธรรม
การจะเข้าใจธรรมะและเข้าสู่หลักธรรมะได้นั้น การทำใจให้สะอาดเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างวันนี้หลวงพ่อให้พวกเราสมาทานศีลและขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งเสียก่อน ศีล ก็คือสิ่งที่ทำให้กาย วาจา ใจเราสะอาดเป็นปกติ ไม่ให้ความผิดความชั่ว ความสกปรกเกิดขึ้นในใจเรา ต่อจากนั้นให้ถือเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
พระรัตนตรัยคืออะไร? คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าคือท่านผู้รู้ รู้อะไร? รู้ความจริง ความจริงคืออะไร? ความจริงคือธรรมะ ที่พระศาสดารู้แล้วว่ามันเป็นความจริง พวกเราที่นั่งอยู่นี่ก็เป็นพระสงฆ์ได้ทั้งนั้น
พระสงฆ์ไม่ใช่ผู้ที่โกนหัวนุ่งเหลือง ห่มเหลือง แต่หมายถึง ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ปฏิบัติตามความเป็นจริง
พระพุทธเจ้าของเรา ให้นับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก ยิ่งกว่าที่พึ่งใดๆ ทั้งหมด แม้แต่พ่อแม่ที่เลี้ยงเรามาก็จริง ท่านให้เคารพบูชาพ่อแม่ แต่อย่าให้ยิ่งกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ทำไมถึงว่าอย่างนั้น เพราะพ่อแม่ของเรานั้นบาง ท่านยังมีความเห็นผิดอยู่มาก บางทีจูงเราเข้ารกเข้าพงเข้าหนามไปเลยก็มี จะทำอย่างไร? นี่เราไม่ได้ถูกพ่อแม่ เราเคารพเชื่อฟัง แต่อย่าให้เชื่อกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะท่านเป็นผู้บอกความจริงท่านจึงให้เชื่อความจริง พูดให้ฟังง่ายขึ้นว่า...
ท่านให้เชื่อกรรมคือการกระทำของเราเอง เราจะทำอะไรทางกาย ทางวาจา ทางใจ ถ้าปราศจากโทษทั้งหมด ให้เราทำไป
กรรมมีหลายอย่างอยู่ในโลกนี้ มหัศจรรย์ก็มีน่าเลื่อมใสก็มี น่าสยดสยอง มีสารพัดอย่าง แต่พระพุทธเจ้าของเราท่านว่า กรรมเป็นแดนเกิด กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย คนจะสุขหรือทุกข์จะดีหรือชั่ว จะพ้นทุกข์ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กรรมที่แต่ละคนทำขึ้น ดังนั้นท่านจึงให้เชื่อมั่นในการกระทำของเราเอง ไม่เชื่อทางภายนอก
เคยเห็นผู้ปฏิบัติธรรม ชอบเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรมแต่เมื่อใดใจไม่สบาย บาทีก็ไปหาหมอดู ให้เขาดูว่าเป็นอะไรไหม? หมอดูทายว่าปีนี้ระวังนะ ไปรถไปเรือระวังอุบัติเหตุ คนไม่รู้เรื่องกรรม ไม่เชื่อการกระทำของตัวเองก็กลัว กลัวจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้นี่คือจิตที่คิดผิด ไม่ปัญญา ไม่มีการพิจารณา
บางคนจะปลูกบ้านหรือเดินทางก็ต้องไปให้หมอดู บางทีหมอบอกว่าฤกษ์ไม่ดีอย่าไปเลย เขาเชื่อหมอกลับบ้านเลย อย่างข้าราชการมาอยู่อุบลฯแล้วจะย้ายไปกรุงเทพฯหรือไปที่อื่น เขามาหาแล้วถามว่า หลวงพ่อเดินทางวันไหนดี? ถ้าเราเดินดีมันก็ดีทุกวันนั่นแหละ ถ้าเราดีมันก็ดีทุกวัน โดยมากพวกข้าราชการก็ดีทุกวันนั่นแหละ ถ้าเราดีมันก็ดีทุกวัน โดยมากพวกข้าราชการจะโยกย้ายต้องกินเลี้ยงกินเหล้ากินยากัน มันไม่ดีอะไรให้ดี ๆ มีสติรอบคอบเชื่อมั่นในการกระทำที่ถูกต้องของเรา สิ่งอื่นจะมาทำให้เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่มีหรอก
ให้ทำจิตใจเชื่อมั่นในการกระทำ เชื่อเหตุผลเชื่อมั่นในการกระทำ เชื่อเหตุผลเชื่อมั่นในความจริง ไม่ตื่นเต้นกับคำเล่าลือ เรื่องมงคลตื่นข่าว ไม่ตื่นเต้นกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เป็นผู้อยู่นิ่งด้วยปัญญา เชื่อว่าทุกอย่างเกิดจากเหตุ ถ้าต้องการผลดีก็ต้องทำเหตุที่ดีอย่างนี้เป็นต้น
อย่างเช่นการเป็นคนมีศีลดีมั้ย? การไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นดีไหม? ให้เราคิดดู ไม่ฆ่า ไม่ทำร้ายทุบตี ไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น ไม่ขโมย ไม่นอกใจกันดีไหม? การพูดโกหก พูดหยาบคาย นินทาว่าร้ายกัน หรือยาเสพย์ติดเครื่องมึนเมา มันดีไหม? คนที่ปราศจากเรื่องเหล่านี้ดีไหม? คิดดูเท่านี้พอแล้ว ไม่ต้องคิดไกลของง่ายๆ อย่างนี้ แต่เราไม่ค่อยได้คิดกัน
ศีลห้า เป็นคุณสมบัติของมนุษย์ ใครมีคุณสมบัติทั้งห้าประการนี้ ไม่ต้องไปถามใครแล้วว่าฉันเป็นอะไร? หรือฉันเป็นคนอย่างไร?
ทีนี้มาพูดเรื่องปฏิบัติกรรมฐานกัน ทุกวันนี้ไปกันใหญ่แล้วนะ บางท่านให้ทำอย่างนั้น บางอาจารย์ให้ทำอย่างนี้ บางคนจึงยุ่งตลอดเวลาเพราะไม่เข้าใจ กรรมฐานมีตั้งสี่สิบวิธี มากมายเหลือเกิน ไม่รู้จะทำอย่างไร?
บางครั้งนึกพุทโธ พุทโธขึ้นมาภาวนา แต่ใจไม่สงบ จึงต้องดึงวิธีนั้นวิธีขึ้นมา ยิ่งวุ่นวายกันใหญ่บางคนเลิกไปเลย ไม่ได้เรื่องอะไรอย่างนี้ก็มี
เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าทำกรรมฐานเพื่ออะไร? ทำให้เกิดอะไร? มีประโยชน์ไหม?
เราต้องฝึกกรรมฐานเพราะว่า จิตของเราไม่เคย ได้รับการฝึกให้สงบเป็นปกติ มันเป็นไปตามเรื่องของมันถูกปล่อยปละละเลย ถูกตามใจมาตลอด อยากโมโห อยากโกรธ ก็ปล่อยให้เป็นอย่างนั้นยิ่งเมื่อเป็นเด็ก พ่อแม่รักตามใจทุกอย่าง จิตใจจึงเสียความปกติไปเรื่อยๆ
การทำกรรมฐานจึงเป็นการฝึกจิตให้อยู่ในการควบคุมของเรา แต่คนฝึกกรรมฐานชอบใจร้อน อยากให้สงบเร็วๆ มันจึงไม่ค่อยสงบกัน เพราะเราทำให้มันตึงเครียด ความสงบนี้ต้องเกิดในระยะที่เราปล่อยวาง ถ้าเราตึงเครียดเมื่อไหร่จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น จะมีแต่เรื่องวุ่นวายไม่มีความสงบภายในจิต
เช่น พระอานนท์ ท่านเป็นผู้รู้ธรรมะมากที่สุดในบรรดาสาวกพระพุทธเจ้า แต่เมื่อจะใช้ธรรมะจริงๆ ท่านไม่รู้จะเอาตรงไหน? อันนี้ก็ดี อันนั้นก็ดี ดีไปทั้งนั้นความจริงมีความรู้ไม่เสียหายอะไร แต่ท่านมีความสงสัยอยู่จึงยังวางไม่ได้
วันทำสังคายนาจะมาถึงเช้าวันพรุ่งนี้ พระอานนท์ต้องร่วมประชุมด้วย ท่านจะเข้าหรืออกกุฏิก็ร้อนใจเพราะเหลือเวลาอีกคืนเดียวเท่านั้น ท่านจึงเร่งเต็มที่เลยอยากเป็นพระอรหันต์ รีบทำใหญ่เลยไม่รู้เรื่องจนเกือบสว่างท่านคิดไว้ว่า เอ!...เราตึงเครียดเกินไปมั้งเหนื่อยก็เหนื่อย ง่วงก็ง่วง ท่านจึงคิดจะพักผ่อนพอท่านทอดอาลัยปุ๊บ! เท่านั้น เอนกายลง...วาง.. มีความรู้อันเดียวเท่านั้น เมื่อจิตวางทุกข์เท่านั้นแหละ มันเร็วที่สุด พระอานนท์ตรัสรู้ในเวลานั้น ในเวลาที่วาง
ลองวางดูบ้างซิพวกเรา!
บางคนนั่งสมาธิกัดฟันจนเหงื่อไหล...ความสงบไม่ได้อยู่ตรงนั้น ความสงบอยู่ที่ความพอดี ดีเกินไปก็ไม่สงบ เพราะดีเกินครู มันไม่พอดี ต้องดีให้พอดี ถ้าดีเกินดี มันไม่ดีหรอก จิตจะวิ่งวุ่นตลอดเวลา การฝึกสมาธิหรือการทำกรรมฐานนี้ เรื่องสำคัญอยู่ที่อารมณ์ จิตเรามีอารมณ์หลายๆ อย่าง แต่เราต้องฝึกให้จิตมีอารมณ์เดียวเช่นเราจะดูลมหายใยเข้า-ออก ก็ใช้การเฝ้าดูลมนี้เป็นอารมณ์ให้จิตระลึกอยู่อย่างเดียว
เราอยู่ในโลกนี้ ในแต่ละวันอารมณ์เกินขึ้นกับเรา มากเกินไป เดี๋ยวดีใจ เสียใจ วุ่นวายไม่จบ จิตเราจึงไม่ค่อยสงบ ความรู้สึกของคนจึงเกิดขึ้นด้วยอารมณ์เราอยู่ด้วยอารมณ์ ท่านจึงให้เอาอารมณ์ให้จิตเล่นใช้อารมณ์มาเป็นอุปกรณ์ในการฝึกสมาธิ
เช่นการกำหนดอารมณ์อยู่กับลมหายใจเข้า-ออก เราจะนึกคำว่า...พุท ขณะหายใจเข้า นึกคำว่า...โธ ขณะหายใจออกก็ได้ หรือจะไม่กำหนดพุท-โธก็ได้ เพราะที่จริงแล้ว พุทโธแปลว่าผู้รู้ เมื่อเราเฝ้าดูลมเข้า-ออกให้รู้ชัดเจน ความรู้นี่แหละเรียกว่าพุทโธ ดังนั้นเราจะไม่ว่าพุทโธในใจก็ได้ เดี๋ยวว่าไปว่ามาบางคนก็ขี้เกียจว่าอีกนั่นแหละ เมื่อเราตั้งใจทำไปจะเป็นพุทโธคือผู้รู้ขึ้นเอง คือรู้อยู่ในอารมณ์เดียว อารมณ์อื่นไม่แปลกปลอมเข้ามา จิตจะสงบขึ้นเรื่อยๆ
หรือบางคนอาจจะนึกในใจว่า ยุบหนอ...พองหนอ อันนี้ก็ใช้ได้เหมือนกัน แต่ถึงเราไม่ว่ายุบหนอพองหนอ เมื่อเราหายใจเข้า-ออก ท้องมันก็ยุบเองพองเองของมัน ไม่ต้องไปว่ายุบว่าพองก็ได้ แต่ที่ท่านให้นึกคำเหล่านี้ในใจนั้น เพื่อให้เราตั้งใจทำเท่านั้นเอง ถึงจะว่าพุทโธ ยุบหนอ-พองหนอ หรืออะไรก็ตามรวมแล้วคือการกำหนดให้จิตมีอารมณ์เดียว ให้รู้เฉพาะลมหายใจเข้าออก
การทำกรรมฐานชนิดนี้ ไม่ต้องรู้อะไรมาก ให้รู้ลมเข้า-ออกเท่านั้น กำหนดดูลมให้สบายๆ ไม่ต้องเคร่งเครียด ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย อย่าไปคิดว่าเมื่อไหร่หนอจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าคิดเลยมันจะวุ่นวาน
ขณะนั่งสมาธิ ให้เราตั้งใจดูลมเข้า-ออกตลอดเวลา แล้วพยายามตั้งสติขึ้นไว้ให้รู้ชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ลืม ให้นึกได้อยู่เสมอ จดจ่ออยู่กับอารมณ์อันนั้น ใจเราจะผ่องใส ไม่ง่วงเหงา ไม่เหน็ดเหนื่อย เพราะเห็นอารมณ์ชัดเจน เมื่อไม่ง่วง ไม่รำคาญ ไม่วุ่นวาย เราก็จะรู้จักจิตและอารมณ์ตามความเป็นจริง
จิตคืออะไร? จิตอยู่ตรงไหน? อยู่อย่างไร? ใครรู้จักไหม?
เราจะฝึกจิต ต้องรู้ก่อนว่า จิตคืออะไร? อยู่ที่ไหน? โดยมากเราไม่ค่อยรู้จักกัน เมื่อรู้สึกวุ่นวายขึ้นมาก็ว่าจิตวุ่นวาย ไม่รู้ว่าทำไมจิตถึงวุ่นวาย?
ถ้าพูดให้ชัดเจน จิตนี้ก็ไม่คืออะไร ไม่มีตัวตน จิตคือความรับรู้ แต่พบสมมุติเรียกความรับรู้นั้นว่าจิตเลยงงกันใหญ่ จิตคืออะไรหนอ? พากันคิดมากไป ถ้าพูดง่ายๆ สิ่งที่รับรู้อารมณ์ดีอารมณ์ชั่วนั่นแหละเรียกว่าจิตหรือผู้รับรู้ แต่จะเรียกว่าผู้รู้จริงยังไม่ได้ เพราะยังมีความหลงปนเปกันอยู่ในความรู้นั้น ถ้ามีจิตที่รู้ตามความเป็นจริงแล้ว...ไม่มีทุกข์ คือจิตที่ฝึกแล้วจะรู้จักแยกอารมณ์ออกจากจิต อารมณ์ทั้งหลายจะทำให้จิตรู้สึกดีใจเสียใจไม่ได้ แต่จิตที่ยังไม่ได้ฝึก ไม่ได้อบรมถ้ารู้อารมณ์แล้วชอบ ก็รู้สึกดีใจ ถ้าไม่ชอบก็เสียใจ ดังนั้นจึงให้เราเอาความรู้ตามความเป็นจริงนั้นมาอบรมจิต เพื่อรู้เท่าทันอารมณ์ ที่ผ่านมาผ่านไป ให้รู้เรื่องของอารมณ์จนกว่าจิตจะสงบ
เมื่อจิตสงบลงไปพักหนึ่งแล้ว เราจะเพ่งให้ความสงบไปไหนมันก็ไม่ไปนะ มันขี้เกียจไปเหมือนกัน เมื่ออาการจิตเป็นอย่างนี้เรียกว่าจิตมีสมาธิ แต่ยังไม่มีปัญญา มันสงบอยู่เฉยๆ อาการนี้เกิดเป็นบางครั้งไม่แน่นอน นานๆ จะเป็นสักทีหนึ่ง
บางทีวันนี้สงบ พรุ่งนี้ทำอีกกลับไม่สงบ บางคนก็แปลกใจ เอ!...เมื่อวานทำไมสงบดี วันนี้ไม่ได้เรื่องได้ราวเลย มันเป็นเพราะอะไรหนอ? ก็วุ่นวายอยู่กับความคิดสงสัยตลอดเวลา
อาการสงบที่เกิดขึ้นในขั้นนี้ ให้เข้าใจเลยว่า เป็นความสงบที่ยังไม่แน่นอน เช่น หูเรามีอยู่ เมื่อมีใครด่าถ้าเราไม่ได้ยิน เราก็ยังสบาย ความโกรธไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าอีกวันหนึ่ง เขามาด่ากรอกหูเราซิ ความโกรธเกิดขึ้นทันทีเลย ความสงบในขั้นนี้ก็เหมือนกัน เป็นความสงบที่เกิดขึ้นจากจิตปราศจากอารมณ์ เหมือนหูไม่ได้ยินคนด่า มันสงบอยู่เฉยๆ แต่เมื่อมีอารมณ์มาพัวพันแล้ว ความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้นเลย ทั้งดีใจ เสียใจ ชอบไม่ชอบ วุ่นวายขึ้นมาทันที
เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องโกรธตัวเองว่าปฏิบัติแล้ว ทำไมยังเป็นคนอย่างนี้ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวชอบ เดี๋ยวชังวุ่นวายไปหมด อย่าไปคิดอย่างนั้น
ความสงบในขั้นนี้ ไม่ใช่เรื่องของปัญญา ยังไม่แน่นอน เป็นความสงบที่เกิดขึ้นเพราะไม่ได้เห็นอะไรตาไม่เห็น หูไม่ได้ยิน จึงเป็นความสงบที่ยังไม่เด็ดขาด เพราะยังไม่รู้ตามความเป็นจริง เหมือนกับเรายังไม่ได้ เห็นได้ยินคนด่าเรานั้นแหละ มันก็เลยสงบ หรือเหมือนกับใบไม้ยังไม่ถูกลมพัดก็สงบนิ่ง ถ้ามีลมพัดมาใบก็กวัดแกว่งไปตามแรงลม
จิตที่สงบขนาดนั้น เหมือนกับใบไม้บนต้นไม้ เมื่อลมพัดมาก็กวัดแกว่ง เป็นความสงบที่มีอายุสั้นมาก ความสงบขั้นนี้เกิดขึ้นเพราะอาศัยการกำหนดจิตจดจ่อไว้กับอารมณ์เดียว คือลมหายใจเข้า-ออก ท่านเรียกว่า สงบจิตไม่ใช่สงบกิเลส...กิเลสสิ่งที่ทำให้วุ่นวายยังอยู่เยอะ ขั้นต่อไปจึงต้องสร้างปัญญาให้เกิด เพื่อให้จิตสงบอยู่เสมอ
เมื่อก่อนความสงบเกิดขึ้นเพราะไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน แต่พอมีใครมาด่าว่ากระทบกระทั่งก็วุ่นวายขึ้นมาอีก คราวนี้เราจะทำขั้นต่อไป คือแม้ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง อะไรก็ตาม เราจะให้มีความสงบอยู่ ไม่ให้เกิดความวุ่นวาย นี่เป็นการทำให้จิตรู้ขึ้นมากกว่าเดิม เป็นการรู้ชัดด้วยปัญญา แล้วสงบด้วยปัญญา ความวุ่นวายจะไม่เกิดขึ้นได้อีก
ดังนั้นเราต้องหล่อเลี้ยงให้ปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างไร? ให้อาหารมันซิ... เหมือนเราโตขึ้นมานี่ ก็เพราะได้กินข้าวกินน้ำ
การทำให้ปัญญาเกิดขึ้น ต้องอาศัยกำหนด อารมณ์ขึ้นเหมือนกันแต่อาหารของปัญญาไม่เหมือนกับอาหารของการทำสมาธิเบื้องต้นที่ว่าพุท-โธ หรือกำหนดรู้ลมหายใจเข้า-ออกอย่างเดียว เราต้องเปลี่ยนอาหารใหม่ให้จิต
คือ...เมื่อมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นในจิตใจ เราก็นึกตลอดเวลาว่า อันนี้ไม่เที่ยง อันนั้นก็ไม่เที่ยง อะไรๆ ก็ไม่แน่ จะสงบหรือวุ่นวายแค่ไหน ก็บอกจิตตัวเองว่าเออ!...อันนี้ไม่แน่ จะชอบจะชังอะไรขนาดไหนก็ตาม บอกตัวเองอยู่เสมอว่า...อันนั้นมันไม่แน่
บอกจิตแค่นี้แหละ ปัญญาจะโตขึ้นมาเรื่อยๆ ทำไมถึงโตขึ้น ทำไมจิตจึงมีความรู้เท่าทันอารมณ์มากขึ้น เพราะจิตเห็นตามความเป็นจริง คือความไม่เที่ยงตามที่เราบอกให้พิจารณาอยู่นั่นเอง
เมื่อก่อนจิตเราหลงอารมณ์ เชื่ออารมณ์มากเกินไป อารมณ์ดีเกิดขึ้นมาก็ตะครุบไว้ อารมณ์ไม่ดีก็ตะครุบไว้มันจึงกัดเอา ดีมันก็กัด ไม่ดีมันก็กัด
ถ้าเราบอกจิตว่าอย่าไปตะครุบมัน อารมณ์อะไรเกิดขึ้นมาก็ว่า เออ!...อันนี้ไม่แน่หรอก ถ้าเราไม่ไปตะครุบมัน มันก็ไม่กัดเราหรอก
บอกตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า อะไรๆ ก็ไม่แน่นอนสักอย่าง ทุกข์...เดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นสุข สุขแล้วทุกข์สงบแล้ววุ่นวาย ดีใจแล้วเสียใจ ชอบแล้วเบื่อแล้วชังไม่เที่ยงแท้แน่นอน
เมื่อเรารู้เรื่องชัดเจนเช่นนี้ รู้ว่าอารมณ์ทุกอย่างมันมีของมันอยู่อย่างนั้น ที่มันให้ทุกข์ให้โทษเราก็เพราะ เราไปยุ่งกับมัน ไปยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา ความจริงมันไม่ได้เป็นของใคร มันเกิดแล้วก็ดับไป ถ้าเราเห็นชัดเจนเช่นนี้ ความยึดมั่นถือมั่นก็น้อยลง ต่อไปก็เห็นอารมณ์ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมดา ชอบก็สักแต่ว่าชอบ ไม่ชอบก็สักแต่ว่าไม่ชอบ สุขก็สักแต่ว่าสุข ทุกข์ก็สักแต่ว่าทุกข์ มีแต่เรื่องธรรมดาทั้งนั้นแหละ จะไปยึดถือให้มันวุ่นวายทำไม? นี่เรียกว่าปัญญาโตขึ้นแล้ว
เมื่อมีปัญญา จิตก็รับรู้อารมณ์ตามความเป็นจริง เมื่อก่อนอารมณ์เกิดขึ้นมา เราก็ยึดมั่นถือมั่นจนเป็นทุกข์ แต่เดี๋ยวนี้จิตของเรารู้จริงแล้ว คือรู้ว่าอารมณ์เป็นอย่างไร แล้วก็วาง...รู้แล้ววาง ไม่ตะครุบอารมณ์อีกแล้ว เพราะตะครุบเมื่อไหร่มันก็กัดเอาเมื่อนั้น ที่จิตไม่ตะครุบอารมณ์เหมือนก่อน ก็เพราะจิตเรารู้ว่าอะไรก็ไม่เที่ยงไม่แน่ ทำไมจะต้องให้มันมาทำให้เราวุ่นวาย การรู้เห็นเช่นนี้เรียกว่าปัญญาเกิดขึ้นแล้ว มีปัญญารู้จักความจริงของจิตของอารมณ์ของทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเป็นเด็กก็เรียกว่ามันโตขึ้นมาบ้างแล้ว
การทำกรรมฐาน การฝึกสมาธิเจริญปัญญาอย่าไปแยกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เลย จะเรียกสมถะวิปัสสนาอะไรก็ตามเถอะ ไม่ต้องเถียงกันว่าอันนั้นถูกอันนี้ผิด บางคนทำสารพัดอย่าง ไม่ได้ผลสักที ความเป็นจริงทำแบบไหนก็ได้ให้มันถูกกับจริตของเรา และที่สำคัญคืออย่าทำด้วยความงมงาย ต้องทำด้วยการพิจารณาและปัญญา
การฝึกจิตให้สงบและเกิดปัญญา ด้วยการกำหนดรู้ลมหายใจเข้า-ออกนี่สะดวกที่สุด เพราะไม่ว่าเราจะยืนเดิน นั่ง นอน หรือทำอะไรก็ต้องหายใจอยู่แล้ว ถ้าไม่หายใจก็ตายเท่านั้นเอง เราไม่ต้องไปคว้าอย่างนั้นอย่างนี้มาให้ยุ่งยาก วิธีนี้ง่ายที่สุด เพราะเรามีอุปกรณ์พร้อมอยู่แล้ว จะทำที่ไหนก็ได้ นั่งทำงานหรือพักผ่อนอยู่ก็กำหนดรู้ลมหายใจเข้า-ออกได้ทั้งนั้น เมื่อทุกอย่างพร้อม คือเรามีความตั้งใจจะทำ มีวิธีที่ถูกต้อง มีลมหายใจอยู่ มันก็ง่ายและสงบขึ้นเรื่อยๆ
เราไม่ต้องสงสัยว่าความสงบมีอยู่หรือไม่ เพราะบางคนทำไปจิตใจยังไม่สงบสักที มีแต่ง่วง ฟุ้งซ่าน วุ่นวาย
ความจริงความสงบมีอยู่ อย่าเข้าใจว่าไม่มี หรืออย่าคิดว่าเราทำไม่ได้ จะยกตัวอย่างให้ฟัง เช่น เราไปสอบวิชาหนึ่ง เขาเขียนปัญหาให้เราตอบ พออ่านปัญหา แล้วก็ร้องโอ๊ย!...ตอบไม่ได้หรอก ทำไมจึงตอบไม่ได้? ความจริงทุกปัญหามีคำเฉลยทั้งนั้น ถ้าเฉลยไม่มีปัญหาไม่มีหรอก เรายังไม่สบาย ก็เพราะทำยังไม่ถึงที่ของมัน ให้เราค้นคว้าหาความสงบตรงนี้ ตรงที่มันฟุ้งซ่าน รำคาญ วุ่นวานนี่แหละ ความสงบมันมีอยู่ ไม่หนีไปไหนหรอก
พระพุทธเจ้าของเรา ท่านปฏิบัติครั้งแรกการเรียนของท่านก็ไม่มีอะไรมากหรอก ท่านพิจารณาสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ ตัวนี่แหละ ท่านเกิดสลดใจที่เห็นคนเจ็บคนตายจึงคิดว่ามีเกิดแล้วก็มีตาย เพราะเกิดมาจึงมีความทุกข์มาก แล้วไม่เกิดก็น่าจะมีเหมือนกัน มืดแล้วยังมีสว่างมันต้องมีทางแก้กันได้
ท่านคิดเปรียบเทียบเท่านี้แล้วก็พิจารณาไปจนเห็นชัดขึ้นมาว่า ความทุกข์มีขึ้นเพราะความเกิด ท่านรู้เหตุของความทุกข์ว่าคืออุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นแล้วก็ปรุงแต่งเป็นความเกิด
ความเกิดมีขึ้นเพราะอะไร? เพราะอุปาทานคือการที่เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ เช่น ลำไยต้นหนึ่งอยู่หน้าบ้านของเรา นี่เรียกว่าของเรานะ เราดูแลมันทุกวัน ลำไยต้นนี้เป็นของเรา นั่นอุปาทานเกิดแล้ว ถ้าบ้านถัดไปมีต้นลำไยเหมือนกัน เราก็คิดว่านั่นไม่ใช่ของเรา วันต่อไปมีคนมาตัดต้นลำไยหน้าบ้านเรา เราก็เกิดความทุกข์หรือความโกรธขึ้นมา นี่!...ความเกิดมีขึ้นแล้ว
วันรุ่งขึ้นเขาไปตัดต้นลำไยบ้านคนอื่น เราไม่เป็นทุกข์ เพราะไม่ใช่ลำไยของเรานี่ เรื่องเท่านี้แหละที่ทำให้สุข-ทุกข์เกิดขึ้นมา ถ้าเขาตัดของเรา เราก็เป็นทุกข์เพราะว่ามันเป็นของเรา อุปาทานเป็นอย่างนี้ ความเกิดอยู่ตรงนี้...เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดอะไรขึ้นมาเพราะอุปาทานนี้เอง
พระพุทธเจ้าจึงให้พิจารณาให้เห็นว่า อุปาทานเป็นเหตุให้เกิดภพ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ฯลฯ เกิดทุกข์ขึ้นมา
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เรียกว่าการฝึกจิต จิตเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคน ถ้าจิตหลงแล้ว อะไรๆ ก็หลงไปหมด ท่านจึงให้ฝึกจิตกัน จิตเป็นผู้รับรู้อารมณ์ จิตที่กวัดแกว่งหวั่นไหวไปตามอารมณ์ดีอารมณ์ร้าย เป็นจิตที่ยังไม่ได้รับการอบรมทำให้เราวุ่นวายอยู่เสมอ
การฝึกทำกรรมฐาน จึงเป็นการอบรมจิต แต่ก็ไม่ใช่ของทำง่ายๆ มันทำลำบากเหมือนกัน แต่ว่าความง่ายก็อยู่ในที่มันยากนั่นแหละ ตั้งใจทำไปด้วยความสม่ำเสมอ จะค่อยๆ ง่ายขึ้นมา
ความลำบากยากแค้นอันเป็นปัญหาของเรา อยู่ในความคิดผิดนั่นเอง ไม่ใช่ว่าทำกรรมฐานแล้วมันจะหายไปอย่างรวดเร็วเลย ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเราไม่รู้เรื่องจิตและอารมณ์มานานแล้ว เรายึดมั่นว่าอะไรก็เป็นของเรา นั่นตัวเรา นั่นบ้านเรา นี่ลูกเรา มันจึงวางใจลำบาก จนกว่าจะเห็นว่าทุกอย่างเป็นอนัตตาคือไม่มีเขาไม่มีเรานั่นแหละ จึงจะสบายขึ้นมา
หลวงพ่อเคยพูดว่า ธรรมะนี่ถ้าฟังลึกๆ เข้าไปแล้วใจมันถอยนะ เพราะเราอยู่กับความยึดถือว่าตัวเราของเรามาตลอดเวลา อันนี้ก็ไม่ใช่ของใคร ท่านพูดตามความจริงให้ฟัง แต่เราก็รับไม่ได้ ไม่เข้าใจ บางทีโกรธพระอีกด้วย เพราะเราเข้าใจว่ามันเป็นของเราแล้วแต่ท่านมาพูดว่าไม่ใช่ของเรา เลยอ่อนใจไม่รู้จะทำไปอย่างไร?
ถ้าให้เราคิดให้ดี คิดใหม่ว่าชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ที่มีอยู่นี้เป็นสมบัติของโลก เรามาอาศัยใช้ชั่วคราวเดี๋ยวก็ต้องละทิ้งสิ่งเหล่านี้ไปในอีกไม่นาน ทำไมจึงงัดแงะความคิดอย่างนี้ออกจากจิตไม่ได้? ก็เพราะความหลงยึดติดแน่นอยู่ในตัวเรานั่นเอง
ธรรมะที่เราศึกษาและฝึกอบรมกันอยู่นี้เพื่อไม่ให้มีทุกข์เกิดขึ้น ท่านจึงสอนให้ฝึกพิจารณาความไม่แน่นอน ความไม่ใช่เขาไม่ใช่เรา เพราะความคิดอย่างนี้มันเป็นเหตุของความทุกข์ ท่านให้เราทำลายอัตตา แต่คนเราไม่ค่อยชอบใจกัน อะไรที่ไม่เที่ยง เราอยากให้มันเที่ยง อันนี้ไม่ใช่ของเรา เราก็อยากให้เป็นของเรา พอจริงๆ แล้วมันก็เป็นไปอย่างที่เราต้องการไม่ได้หรอก ร่างกายก็ต้องเปลี่ยนไป ต้องแก่ เจ็บ ตาย ไม่มีอะไรเหลือ แต่คนเรามักทำใจไม่ได้
ดังนั้นการปฏิบัติของเราให้เริ่มที่ศีลธรรมก่อนนะ ให้อยู่กันด้วยศีลด้วยธรรม มีความขยันอดทน รู้จักคบคนด้วย ส่วนเรื่องจิตใจ ถ้ามีอารมณ์อะไรขึ้นมาก็อดทนไว้ อย่าปล่อยตัวทำตามอารมณ์นั้น มันอยากนั่นอยากนี่มากๆ ก็ทำให้ความอยากลดลงพอประมาณ อย่าปล่อยใจให้อยากเต็มที่ ถ้าปล่อยเต็มที่นะ...โลกแตกเลย! ถ้าโมโหก็อย่าปล่อยให้ใจโมโหเต็มที่ มันไม่สบายใจก็อย่าปล่อยให้เต็มที่ ให้มีศีลธรรมกำกับตัวเองไว้ เท่านี้ ก็ดีพอสมควรแล้ว
...และเมื่อเราทำกรรมฐานฝึกจิตไปด้วยเรื่อยๆ ปัญญาจะเกิดขึ้น เราจะรู้จักทำใจให้เป็นสุขได้