#echo banner= “ “ คนถูกทิ้ง! หลวงพ่อชา สุภัทโท

คนถูกทิ้ง

พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)

วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี

คัดลอกจาก http://www.geocities.com/clcseacon/preaching19.html

..ใครเคยคิดถึงชีวิตของตนเองบ้างว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของเรานั้น เราอยู่กันเพื่ออะไร?

บางคนไม่รู้จักชีวิตของตนเองเลยเกิดขึ้นมาก็ทำแต่ความทุกข์ใจให้แก้ตัวเองทุกวัน เพราะไม่รู้จักเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์นั่นเอง

ตื่นขึ้นมาตอนเช้าก็เป็นทุกข์ สายก็ทุกข์ ทุกข์ไปตลอดทั้งวันทั้งปี ถ้าเป็นอย่างนี้เรียกว่า ชีวิตไม่มีความหมาย ที่เป็นเช่นนี้เพราะขาดความรู้ ขาดการได้ยินได้ฟัง จึงไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร? ไม่รู้ว่าเราอยู่ไปทำไม? จะอยู่ไปกี่วัน? กี่เดือน? กี่ปี? ไม่รู้ว่าควรจะดำเนินชีวิตอย่างไร? ไม่ค่อยได้คิดกัน เพราะมัวแต่วุ่นวายยุ่งยากลำบาก ทะเลาะแก่งแย่งแข่งกัน ชีวิตของคนจำพวกนี้จึงไม่มีความหมายอะไร

พุทธศาสนาของเรา แบ่งคนออกเป็น 4 จำพวก คือ อุคคติตัญญู วิปจิตัญญู เนยะ ปทปรมะ บุคคล คนในโลกนี้มี 4 จำพวกเท่านั้น

อุคคติตัญญูบุคคล คือคนสอนง่าย เรียนรู้ธรรมะได้เร็ว จิตใจสะอาด ไม่คลุกคลีกับคนชั่ว ไม่สร้างปัญหา มีปัญญา รู้จักสังเกตพิจารณาชีวิตของตนเอง พอเห็นเป็นรางๆ ตั้งแต่เป็นเด็ก หรือได้เกิดในตระกูลที่ฉลาด ได้รับการอบรมบ่มนิสัยมาดีเป็นพื้น...คนจำพวกนี้ไม่ต้องพูดจ้ำจี้จ้ำไชมาก พอได้เห็นได้ยินอะไรหรือมีอะไรมากระทบ เขาจะเกิดความรู้สึก จับสิ่งเหล่านั้นมาพิจารณาว่าอันนั้นเป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นอย่างนี้

เช่น เราเลี้ยงลูกบางคน แค่มองดูหน้าเขา เขาก็รู้แล้วว่าพ่อแม่ต้องการอะไร? ลูกศิษย์กับครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน เพียงดูกิริยาอาการกัน ศิษย์บางคนก็รู้แล้วว่าอาจารย์ต้องการอะไร? ไวมากคนจำพวกนี้สอนง่าย ไม่ต้องบอกด้วยปากก็ได้ แค่มองหรือได้ยินเท่านั้นรู้ทันทีเลย เขาฉลาดมาก ไม่ใช่มีเพียงแต่มนุษย์เราเท่านั้น แม้สัตว์เลี้ยงบางตัวเป็นอย่างนี้ก็มี พวกนี้หัวไว สอนง่าย ไม่ต้องสอนด้วยคำพูดก็ได้ สอนด้วยการทำให้ดู สอนด้วยอากัปกิริยา อย่างนี้เรียกว่าเขามีพื้นฐานดี หรือเรียกว่าอุคคติตัญญูผู้สอนง่าย

เปรียบเหมือนต้นไม้ในป่าที่มีลำต้นตรงสวยงาม ถ้าเราเอาทำเสาบ้านมันง่าย ง่ายเพราะอะไร? ง่ายเพราะลำต้นตรงอยู่แล้ว ไม่ต้องไปถากหรือตกแต่งอะไรมากมาย ลักษณะของต้นไม้ที่มีความตรงสวยงามนั่นแหละ เรียกว่ามีพื้นเดิมดี นายช่างก็ไม่ต้องเปลืองแรง เปลืองความคิด ได้ไม้เช่นนั้นมาทำอะไรก็ง่าย เพราะมันดีอยู่แล้วมนุษย์เราก็เหมือนกัน บางคนเป็นอุคคติตัญญู สอนง่าย เรียนเก่ง ทำอะไรก็ง่าย ภาวนาก็ง่าย อะไรๆ ก็ง่ายไปหมอ

พวกต้นไม้ก็เช่นกัน ถ้าพันธุ์ดี ดินดี ปุ๋ยดี ต้นไม่ก็โตเร็ว มันง่าย เพราะได้อาหารดี ยิ่งได้ผู้ฉลาดเชี่ยวชาญมาดูแลรักษา ก็ยิ่งได้ผลเร็ว นี่อุคคติตัญญูของต้นไม้

สมัยอาตมาเป็นเด็ก มะพร้าวแถวบ้านไม่ต้องปลูกเองหรอก มันหล่นเองเกิดเองทั้งนั้น ต้นหมากก็เหมือนกัน เพราะต้นมันดี ดินดี ถึงแม้ว่าไม่มีใครรักษามันก็มีดอกมีผลออกมาพอสมควร ถ้ามีคนที่ฉลาดเอาปุ๋ยใส่ ดูแลรักษาดีๆ มันก็ยิ่งให้ผลมากว่านั้น

ลูกหลานเราก็เหมือนกัน บางคนสอนยาก บางคนสอนง่ายเข้าใจง่าย เป็นเพราะอะไร? เพราะเขามีของเก่ามีปัจจัยอยู่แล้วในจิต เรียกว่าอุคคติตัญญูจิต เขามีจิตสะอาด จิตว่าง เป็นกุศล มีความฉลาด ถ้ามีใครมาแนะนำพร่ำสอนเพิ่มเข้าไปอีกนิด ก็จะไปได้เร็วมาก หรือถึงแม้จะไม่มีใครสอน เขาก็มีความฉลาดอยู่ในตัว แต่จะช้าหรืออ้อมไปนิด ถ้ามีครูอาจารย์จะเร็วกว่า นี่เรียกว่า อุคคติตัญญูบุคคล

วิปจิตัญญู นี่!... สอนยากขึ้นหน่อย ต้องบอกบอกทีหนึ่งยังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง บอกครั้งที่สองนำไปปฏิบัติเลย แต่ช้าหน่อย

เหมือนกับการฟังธรรมะ บางคนฟังพระท่านบอกว่าสังขารร่างกายไม่เที่ยง เขารู้เรื่องเข้าใจเลย พอสังเกตวัยวะร่างกายตัวเอง เห็นผมหงอกสักเส้นหนึ่ง เดี๋ยวนี้หงอกแล้ว เขาก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา หรือคนแก่นี่ก็เคยเป็นหนุ่มมาแล้ว คนหนุ่มนี่ต่อไปจะต้องแก่ เขาจะรู้จักคิดเปรียบเทียบอย่างนี้ แล้วเกิดความเข้าใจว่าสังขารนี่มันไม่เที่ยง มันไม่แน่นอนนะ นี่เรียกว่าวิปจิตัญญู ผู้รู้จักการเปรียบเทียบ

เนยยะบุคคล คนจำพวกนี้สอนได้ยาก แต่พอสอนได้ ต้องย้ำไปย้ำมาจนกว่าเขาจะเข้าใจ ใช้เวลามากกว่าสองจำพวกแรก สอนยาก...แต่ก็พอสอนได้

พวกสุดท้ายคือ ปทปรมะบุคคล เป็นพวกที่สอนไม่ได้ พวกนี้มืดมิด หลงมัวเมา ไม่รู้เรื่องเลย ผมหงอกหมดศีรษะ ยังไม่รู้เรื่องของสังขารร่างกายไม่เข้าใจเรื่องของธรรมชาติว่ามันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น มิหนำซ้ำยังซื้อน้ำยามาย้อมผมที่หงอกเพิ่มความหลงมืดทึบเข้าไปอีก ยิ่งปกปิดความจริงก็ยิ่งบอด ยิ่งบอดก็ยิ่งมืด ยิ่งมืดก็ยิ่งไม่รู้เรื่อง นี่เรียกว่า ปทปรมะบุคคล คือบอกให้ฟังก็เหมือนไม่ได้บอก ไม่อยากรับรู้ ไม่อยากเข้าใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นบุคคลที่หลุดพ้นไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า

คนสอนยาก... สอนไม่ได้... เป็นคนเสียคนคนอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านทิ้ง เพราะเป็นคนสอนไม่ได้

ใครเป็นคนประเภทสุดท้ายนี้บ้าง? เป็นไปได้ทั้งนั้นแหละ แม้คนที่ได้รับการศึกษาสูงๆ ก็เป็นได้ คนไม่ได้เรียนก็เป็นได้ เป็นเพราะกรรม เป็นเพราะกำเนิดและทิฐิมานะของเขา

บางคนเรียนมากซะจนโง่ พูดกับใครไม่ค่อยรู้เรื่อง คนไม่เรียนยิ่งโง่ก็มี เพราะมันไม่พอดี ถ้าสูงก็เกินไป ถ้าต่ำก็หลุดลงมา จึงไม่พบทางสายกลาง

เหมือนเราจะสอยมะม่วง ถ้าไม่สอยยาวเลยลูกมะม่วงไปสักสาม-สี่เมตรก็สอยลำบาก ถ้าไม้สั้นก็สอยไม่ถึง ก็เลยไม่ได้มะม่วง นี่!...เพราะความสูงเกินไปต่ำเกินไป ไม่พอดี จึงใช้ไม่ได้ ไม่มีความหมาย

ถ้าเรียนมากๆ จะเข้าใจว่าเราฉลาดก็ยังไม่ถูกบางทีฉลาดเกินไป ใช้ไม่ได้ บางคนเรียนมาก เข้าใจว่าตัวเองฉลาดมาก เกิดทิฐิมานะขึ้นมา เห็นเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายโง่เหมือนสัตว์ไม่ใช่คนสักคน คิดว่าตัวเองมีอำนาจกว่า ดีกว่า เก่งกว่า ฉลาดกว่า ดูดถูกคนอื่นไปหมด คิดอย่างนี้ก็มีแต่ความเดือดร้อนเท่านั้น

ถ้าเห็นว่า เออ!...ตาสีตาสาก็เหมือนเรา คนแก่ก็เหมือนเรา ต่อไปเราต้องแก่ เจ็บ ตายเหมือนกัน หรือเห็นเด็กวุ่นวาย ก็คิดได้ว่าเราก็เคยวุ่นวายอย่างเด็กเหมือนกัน ใครเห็นอะไรแล้วนำมาพิจารณาตัวเองอย่างนี้จะเข้าใจชีวิต รู้เหตุที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขได้ง่าย

ธรรมะคือความพอดี ไม่ต่ำ ไม่สูงจนเกินไป ถ้าสูงกว่าเขาก็หยิ่งยะโส ดูถูกคนอื่น ถ้าคิดว่าตัวเองต่ำกว่าเขา ก็คิดน้อยใจ คิดอายคนอื่น กลัวว่าเขาจะว่าอย่างนั้นอย่างนี้ บางทียิงตัวตาย หรือกินยาฆ่าตัวตายก็มี ส่วนคนที่ดูถูกเขาถูกกระสุนตายไปก็มี นี่ก็เพราะไม่รู้จักความพอดีนั่นเอง

ถ้าคิดว่า คุณกับฉันมีความเกิดเป็นเบื้องต้น มีความแก่เป็นท่ามกลาง ผลที่สุดก็ดับไป จะมีใครดีกว่ากันแค่ไหน? ถ้าคิดอย่างนี้ ความพอดีก็มีขึ้น ไม่ดูถูกข่มเหงใคร ไม่คิดว่าตัวเองอาภัพอับเฉา

แต่มนุษย์ที่เป็นจำพวก ปทปรมะ สอนยังไงก็ไม่รู้เรื่อง บางคนมีความรู้มากเป็นด๊อกเตอร์ มาขอบวชบวชได้วันเดียว เขาเทศน์ให้อาจารย์ฟังเสียแล้ว แน่ะ!...เป็นเสียอย่างนั้น อันนี้เรียกว่าไม่ฉลาด มันดีจนเกินดีก็เลยไม่ดี เพราะไม่พอดี คนเรามักเป็นอย่างนี้

สมัยก่อนแถวบ้านนอกเรา ตอนอาตมาเป็นเด็กเคยเห็น...เวลาเขามาสำรวจให้เด็กเข้าโรงเรียน ถ้าลูกใครยังไม่ถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียน พ่อ-แม่ของเด็กดีใจเหลือเกิน คิดว่าลูกเราไม่ต้องไปเรียนหนังสือ จะได้มีคนเลี้ยงควาย เลี้ยงน้อง รดน้ำผักในสวนให้เรา ถ้าถูกเกณฑ์เรียนแล้ว จะไม่มีใครเลี้ยงควาย เลี้ยงน้อง ไม่มีใครตักน้ำตักท่า หรือถ้าลูกสอบตก ก็ยิ่งดีใจเหลือเกิน สมัยนั้นคิดอย่างนี้

คนอ่านหนังสือไม่ได้ ก็เหมือนคนตาบอด จะไปไหนก็ยาก เข้าไปในเมืองไม่รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน? จะไปห้องน้ำห้องส้วม จะไปไหนก็ไม่รู้จัก เพราะอ่านหนังสือไม่ออก ไม่รู้เรื่อง ไม่ทันเหตุการณ์

การเรียนรู้ธรรมะนี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีชีวิตอยู่ไปเฉยๆ ไม่ได้ฟังธรรมะ ใจจะไม่สูงขึ้น ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร?

บางคนเกิดมามีชีวิตเหมือนไก่ตัวหนึ่งเท่านั้น ไก่เกิดมาโตขึ้นมีลูก พาลูกๆ คุ้ยเขี่ยหากินไปตามเรื่องราว ตกเย็นนอน เช้ามาก็กระโจนลงดินร้องกุ๊กๆ ออกหากินไป ตอนเย็นก็กลับมานอนอีกวันๆ หนึ่งทำอยู่อย่างนี้ ถ้ามนุษย์ใช้ชีวิตแบบนี้ ชีวิตจะมีประโยชน์อะไรไหม? ไม่มีประโยชน์ ก็เหมือนกับสัตว์ที่ไม่มีปัญญาเท่านั้นเอง คนเลี้ยงไก่ เขาจับมันยกขึ้นดูทุกวันๆ เอาอาหารให้กินเรื่อยๆ ไก่ก็นึกว่าเขารักเรา แต่เจ้าของเขาคิดว่านี่มันหนักเท่าไหร่แล้ว? พอจะเอาไปขายได้หรือยัง? เจ้าไก่ไม่รู้เรื่อง พอสอง-สามเดือนต่อมา เอาแล้ว...เขาเอาไปตลาดแล้ว

คนเราอยู่กันทุกวันนี้ก็คล้ายๆ อย่างนั้น ไม่ค่อยได้นึกถึงอันตรายชีวิต เพราะมัวแต่หลงไม่รู้เรื่องชีวิตตัวเอง จึงเหมือนกับไก่ในเข่งที่เขากำลังเอาไปขาย เขายกขึ้นรถก็ยังขันโอ๊กๆ สนุกสนาน ไปถึงที่แล้วเขาจับถอนขน ก็นึกว่าเขาทำความสะอาดให้ มันโง่ขนาดนั้น พอมีดเชือดเข้าไป โอ้!...มันตายนี่นะ ไม่เห็นชีวิตตัวเองไม่รู้จักแก้ไข จึงตายไปโดยไม่มีประโยชน์

เราทุกคนก็เหมือนกัน ไม่รู้จักพอ ดิ้นรนไปทุกสิ่งทุกอย่าง ดิ้นรนในการทำมาหากิน หาชื่อเสียงเกียรติยศ แต่หาในทางที่ชอบก็ยังดีนะ บางคนดิ้นรนไปอิจฉาพยาบาทเขา มันไม่ค่อยดี คนขาดการฟังธรรมก็เป็นอย่างนั้น มันโง่ไปเรื่อยแหละ เราอิจฉาคนอื่นอยู่ ก็หาว่าเขาอิจฉาเรา คนพวกนี้ไม่ค่อยรู้จักตนเอง เป็นปทปรมะบุคคล พระพุทธองค์ท่านไม่สอนคนจำพวกนี้ เพราะมันสอนไม่ได้เป็นคนที่ถูกท่านทิ้ง

ปทปรมะบุคคล ไม่ใช่คนไม่มีความรู้นะ เป็นคนมีความรู้อยู่ แต่ไม่ทำตามใคร ไม่ยอมเชื่อใคร ตาสีตาสา ไม่ได้เรียนหนังสือ...โง่! แต่ว่าเขาฟังถ้าครูบาอาจารย์แนะนำให้ทำอย่างนั้น ปฏิบัติอย่างนี้ เขาก็ทำ ไม่โต้แย้งอะไรมาก นี่เป็นคนไม่ค่อยมีความรู้แต่พอสอนได้

แต่คนรู้แล้วไม่ทำ เป็นปทปรมะบุคคล เป็นคนใช้ไม่ได้ เพราะขาดธรรมะ ไม่สนใจธรรมะ

บางคนมีความเข้าใจว่า ฟังธรรม ปฏิบัติธรรมแล้วจะมีประโยชน์อะไร? มัวแต่ถือศีลถือธรรมก็ไม่ต้องทำมาหากินกัน นี่คิดผิดมาก เพราะธรรมะจริงๆ ก็คือเรื่องของความถูกต้อง มันรวมเรื่องถูกต้องของชีวิตเราไว้ทั้งหมด จะหากินอย่างไร? จะเก็บรักษายังไง? คบหากับคนอื่นอย่างไร? ดำเนินชีวิตอย่างไรจึงจะไม่เป็นทุกข์? นี่เรื่องธรรมะ ทำไมจะไม่มีประโยชน์?

ฉะนั้น ปทปรมะบุคคล ไม่ใช่ใครคนอื่น คือ คนที่ฉลาดไปในทางที่ผิดที่ชั่ว เหมือนเขาพูดว่ายาพิษนี่ดี แต่ดีนั้นกินเข้าไปแล้วตาย เมื่อถามว่า ถ้าปืนดีก็ยิงตัวคุณซิ...อ้าว!...ยิงไม่ได้...ไม่ดีซะแล้ว แต่ทำไมพูดว่าปืนดี ยาพิษดี คนเรามักหลงอยู่อย่างนี้ คิดไม่ถูก คิดไม่ดี คิดร้ายต่อกัน ทุกวันนี้จึงเดือดร้อนไปทั่ว ถ้าทุกคนมีเมตตากัน รู้จักให้อภัย เห็นอกเห็นใจกัน บุญกุศลก็เกิดขึ้นแก่ทุกคน ความเป็นอยู่ของเราก็เรียบร้อยเป็นสุขไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจทะเลาะเบาะแว้งกัน

ถ้าต่างคนต่างคิดร้าย คิดผิด ทำบาปทำกรรมต่อกัน มีความเห็นว่าทำตามธรรมะนี่แย่ หากินค้าขายไม่ได้กิน ไม่ทันคนอื่น ต้องโกง ต้องขโมย แย่งชิง ปล้นจี้กัน ทุกวันนี้จึงหาคนซื่อสัตย์ลำบาก ไว้ใจกันไม่ค่อยได้ แค่มองหน้ากันก็ฆ่ากันได้แล้ว ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะไม่สนใจความถูกต้อง คือธรรมะนั่นเอง

เมืองอุบลเรานี่ยังดีนะ อาตมาเคยไปอยู่มาหลายจังหวัด บางจังหวัดนี่มองหน้ากันไม่ได้เลย มองทำไม? ต้องการอะไรหรือ?...ยิงกันตายเลย!

ทำไมมนุษย์มองหน้ากันไม่ได้ คิดยังไงกันนี่ เราเป็นมนุษย์ด้วยกัน แต่ไม่อาศัยกันและกัน เราจะไปอาศัยใคร? นี่แค่มองหน้ายิงโป้ง! ตายเสียแล้ว ชีวิตไม่มีค่าเลยหรือ?

คนห่างธรรมะมากเกินไป จึงเข้าใจผิด เห็นว่าถือศีลถือธรรมแล้วหากินลำบาก ต้องขโมย ต้องโกง มันจึงจะหากินสะดวกสบาย มัวแต่คิดทำดี ไม่มีเวลาทำมาหากิน

เจ้านายเคยมาฟังธรรมที่วัด อาตมาพูดความจริงให้ฟัง เขานั่งหลับตาฟัง แต่เมื่อลุกเดินออกไปแล้วได้ยินเขาคุยกันว่า

แหม!...ที่ท่านพูดนี่ มันถูกทุกอย่างเลยนะ แต่เราคงทำไม่ได้หรอก

แน่ะ!...พูดกันไปอย่างนั้น เราได้ยินแล้วเหนื่อยใจ

เหมือนกับครูสอนเด็กในโรงเรียน สอนถูกทุกอย่าง แต่นักเรียนไม่เอาด้วย ไม่ยอมทำตาม ครูจะมีกำลังใจสอนต่อมั้ย?

คนมาฟังธรรมก็เหมือนกัน ฟังแล้วพูดกันว่า เราทำไม่ได้ พระก็เสียกำลังใจหมด บางทีมีคนนิมนต์ไปเทศน์ในบ้าน มองดูเห็นเขากินเหล้ากันอ้อๆ แอ้ๆ จะให้เราเทศน์อย่างไร จะเอาพระไปเทศน์ทำไม? อย่างนี้พระเสียกำลังใจหมด

ดังนั้นบ้านเมืองทุกวันนี้จึงเดือดร้อนกัน เพราะธรรมะหายไปจากจิตใจคน เหมือนกับว่ากลางคืนทำไมจึงมืด? มืดเพราะตะวันลับไปแล้ว ความมืดก็เกิดขึ้นมา เมื่อบ้านเมืองเดือดร้อน ก็เพราะคนไม่มีธรรมะ คนมีความเห็นผิดว่าทำตามธรรมะมันไม่เจริญ

บางคนเข้าวัดฟังธรรมเป็นประจำ พอออกจากวัดไปเข้ากับเพื่อนไม่ติดเสียแล้ว เขาเห็นเขาเย้ยว่า แหม!...เดี๋ยวนี้ธรรมะธัมโมจริงนะ ถูกเขาว่าอย่างนี้...อายแล้วไม่ยอมมาวัดอีก

คำว่า อาย นั้น เราควรอายในสิ่งที่ผิดหรือสิ่งที่เป็นความชั่วเป็นบาป สิ่งที่ไม่ผิดไม่เป็นบาปเราจะอายไปทำไม? เราทำถูกแล้ว แต่พอเขาว่า เป็นคนธรรมะธัมโมเป็นคนวัดคนวา เมื่อไหร่จะบวชนะ? บางคนอายซะแล้ว ไม่อยากจะมาวัด เข็ดไปหลายเดือน ทำไมต้องอายเขา แล้วอย่างนี้เราจะไปหาความสงบกันได้ที่ไหนถ้าเราไม่อาศัยธรรมะ

เราจะหาจากการทำมาหากินหรือ? ก็เดือดร้อนวุ่นวายกันอยู่ทุกวัน บางคนมีทรัพย์สมบัติมากมายแต่เป็นทุกข์เดือดร้อนก็มีให้เห็น บางคนยากจนทุกข์ยาก อยู่ด้วยความทรมาน บางบ้านพ่อบ้านแม่บ้านทะเลาะตบตีกันทุกวัน ถ้าเราไม่ปฏิบัติธรรม เราไม่เข้าวัดหาทางสงบใจบ้าง เราจะไปหาความสงบกันที่ไหน? ทุกวันนี้ คนเราคิดอย่างนี้ ธรรมะจึงไม่มีในใจคนบ้านเมืองสังคมจึงวุ่นวาย แม้แต่ในวัดเองก็ทรุดโทรมลงก็เพราะคนเราคิดผิดกันนั่นแหละ

บางคนนะ ลูกหลานคนไหนสอนไม่ได้มันติดกัญชาติดเฮโรอีนเอาไปบวช พวกนี้บวชแล้วไม่ฟังใคร ไม่ยอมปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ก็เลยเป็นการเข้าไปทำลายศาสนา ทำลายสถานที่ ทำลายพระสงฆ์ที่ท่านปฏิบัติดี พระดีๆ ท่านก็แยกออกไปอยู่ตามป่าตามเขา เพราะท่านไม่มีอำนาจจะเปลี่ยนแปลงใคร ท่านก็ปล่อยให้คนบ้าอยู่ในนั้น วุ่นวายกันตรงนั้น

ความรู้ต่างๆ ที่เรียนกันอยู่ในบ้านเมืองทุกวันนี้ก็เหมือนกัน อย่างวิทยาศาสตร์นี่มันสาดจริงๆ มันสาดเข้าไปตรงไหนแตกตรงนั้น สร้างโน่นสร้างนี่มาฆ่ามาแกงกัน เอารัดเอาเปรียบกันตลอดเวลา

ศาสตร์ต่างๆ ถ้าไม่มีพุทธศาสตร์รวมอยู่ด้วยแล้ว มีปัญหาทั้งนั้น เพราะพุทธศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ให้ความรู้ในทางเมตตา...กรุณา...มุทิตา...อุเบกขา ไม่ให้แก่งแย่งซึ่งกันและกัน ความเป็นอยู่ของคนจึงสงบเรียบร้อยศาสตร์อื่นๆ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

แต่ศาสตร์ทุกวันนี้ อยากจะเรียกว่า สาดเข้าป่า จะทำการงานอะไรก็เกี่ยงกัน แกล้งกัน ก็เลยไม่ต้องทำอะไร บางครั้งตั้งเป็นศูนย์นั่นศูนย์นี่ขึ้นมา บางทีก็จัดประชุม ก็มีแต่การกินเลี้ยงเท่านั้น ไม่ค่อยได้การได้งานพูดกันแล้วก็เลิกไปเลย ไม่ค่อยจะเอาไปปฏิบัติกัน

อันนี้ไม่ได้นินทาใคร พูดไปตามความเป็นจริง เมื่อเราทำกันอย่างนี้ ไม่มีทางที่ความเจริญจะเกิดขึ้นได้ เพราะเราฉลาดไปในทางที่ผิด พากันเข้ารกเข้าพงไปเพราะความรู้ที่มีอยู่ เป็นความรู้ที่ไม่ถูก เป็นปัญญาที่มืดมน เป็นปัญญาที่เดือดร้อน

แต่พุทธศาสตร์ เป็นความรู้ที่ทำให้มีปัญญาที่ถูกต้อง ทำแล้วมีเหตุผล ไม่ต้องอิจฉาใคร ไม่พยาบาท เพราะเห็นว่าเราทุกคนเหมือนกัน เกิดมาแล้วมีแก่ เจ็บ ตาย เหมือนกันทั้งนั้น จะเป็นใครก็ต้องตาย เมื่อมีชีวิตอยู่จึงไม่ควรถือเนื้อถือตัว หรือดูถูกเกลียดชังกันและกัน

ดังนั้น ศาสตร์ทั้งหลายถ้าไม่มีความถูกต้องและความพอดีเข้าไปรวมอยู่ด้วยแล้ว จะมีแต่ความเดือดร้อนต้องมีพุทธศาสตร์รวมอยู่ด้วย

ต้องรู้จักมีน้ำใจสิ! ต้องแบ่งปันกัน คิดดูดง่ายๆ ถ้าเรามีอาหารอยู่สามจาน ถ้าจะให้ถูกแล้ว ต้องให้ตัวเองหนึ่งจาน ที่เหลือแบ่งให้เพื่อนๆ ด้วยคนละจาน ถ้าเราใจแคบ กินคนเดียว อิ่มคนเดียว ที่เหลือเททิ้งให้สุนัขไป คนที่หิวอยู่แต่ไม่ให้เขา เดี๋ยวเขาก็ลุกขึ้นเล่นงานเราเท่านั้นแหละ เพราะเขาหิวนี่...ถ้าเรารู้จักแบ่งปันก็ไม่มีการทำร้ายแย่งชิงเกิดขึ้น ท่านจึงสอนให้รู้จักเสียสละ คือเสียสละให้แก่บุคคลที่ควรเสียสละ

เราควรชวนกันเข้าหาธรรมะ อย่าหันหลังให้ธรรมะถ้าไม่สนใจธรรมะ มันก็เหมือนกับเราหันหลังให้บ่อน้ำที่เย็นๆ แล้วไปหันหน้าเข้ากองไฟใหญ่ๆ ทุกวันนี้ บางคนมาถามอาตมาว่า...หลวงพ่อบ้านเมืองเราทำไมเป็นอย่างนี้? จะทำอย่างไรดี? อาตมาไม่รู้หรอก รู้แต่ว่าถ้าวันนี้เราทำดี มันก็จะดี ถ้าเราทำชั่ว วันนี้ มันก็ชั่ว

เขาพูดต่ออีกว่า...กระผมว่าศาสนาช่วยอะไรไม่ได้หรอกนะ...

จริง! มันเหมือนกับเรามีข้าวอยู่ แต่เราไม่ยอมกินมันก็หิว ศาสนาก็เหมือนกัน มีอยู่ สอนถูก แต่คนไม่ทำตาม มันจะเกิดประโยชน์อะไร? หรือ...เหมือนมีดที่คมมาก แต่ถูกทิ้งไว้เฉยๆ ความคมของมีดก็ถูกปล่อยทิ้งอยู่อย่างนั้น ไม่เกิดประโยชน์ ยิ่งหากมีคนไม่ฉลาดมาจับมีดเล่มนั้นไปทำงาน ก็ยิ่งเสียหายหมด แต่ถ้ามีคนฉลาดใช้มีดนั้นทำงานงานที่ได้ก็เรียบร้อย ศาสนาก็เหมือนกันอย่างนี้ ที่เสียหายมากก็เพราะคนไม่รู้ค่าของศาสนา และมีคนโง่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมืออยู่มาก

พุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สงบเยือกเย็น เป็นศาสนาที่ถูกต้อง แต่ถ้าไม่มีใครประพฤติปฏิบัติตามศาสนาก็คงอยู่อย่างนั้น ไม่เป็นประโยชน์ที่ดีแก่ใคร

การงานทั้งหลายก็เหมือนกัน ต้องลงมือทำ ผลงานจึงจะเกิดขึ้นมา ถ้ามีแต่การเรียนรู้เฉยๆ ไม่มีการลงมือปฏิบัติ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเกิดขึ้น บ้านเมืองเราก็เหมือนกัน เป็นเมืองแห่งพุทธศาสนา แต่เมื่อไม่มีใครปฏิบัติตามศาสนา มันจะเกิดประโยชน์ได้อย่างไร?

ในบ้านเรา เมืองเรา มีหลักพุทธศาสนาที่ดีชาวพุทธก็เลื่อมใสในพุทธศาสนาดีอยู่ แต่ไม่ค่อยทำตามหลักศาสนานั้น เช่นว่าให้งดเว้นการทำร้ายเช่นฆ่า เราไม่ยอมเว้น อย่าขโมย...เราก็ขโมย ไม่ให้กินสุรา เล่นการพนัน...เราก็กินและเล่น ไม่ให้ทำผิด แต่เราก็ทำกันอยู่

แต่เวลากราบพระ ก็นึกอธิษฐานแต่ว่า ขอให้ข้าพเจ้าอยู่สุขสบายเถิด ข้าพเจ้าก็นับถือพุทธศาสนาเป็นที่พึ่ง แล้วพุทธศาสนาอยู่ที่ไหนล่ะ? ก็อยู่ที่นี่แหละ แต่เราไม่ทำตามหลักศาสนา แล้วจะอยู่สุขอยู่สบายได้อย่างไร? เราจึงมีแต่ความวุ่นวายกันอยู่ตลอดเวลา ศาสนาจะเป็นประโยชน์ต่อเราได้ เราต้องปฏิบัติตามหลักคำสอนของท่าน ถ้าไม่ทำก็ไม่เกิดประโยชน์เหมือนกับหุงข้าวไว้ในหม้อ แต่ไม่ตักขึ้นมากิน มันก็ไม่มีประโยชน์

ทุกวันนี้ เราหันหลังให้ศาสนากันมาก นิยมทำความชั่วกัน เพราะทำง่ายดี แต่ความดีที่เป็นประโยชน์ไม่ค่อยมีคนทำ เพราะมันทำยาก ความจริงแล้ว ถ้าเราเห็นโทษของความชั่วให้ชัดเจนจริงๆ แล้ว เราจะไม่อยากทำ เพราะผลที่สุดของความชั่วคือความเดือดร้อน เมื่อใครๆ ก็ไม่ต้องการความเดือดร้อน แล้วเราจะไปทำในสิ่งที่มันทำให้เดือดร้อนทำไม? เราควรคิดดูให้ดี

อาตมาพูดเรื่องแบบนี้มาหลายแห่งเหมือนกัน ไปเมืองนอกก็พูดเรื่องนี้ให้เขาฟังว่า บ้านเมืองของคุณเจริญมาก แต่ที่เจริญไม่ได้หมายความว่ามีความสุขนะ...ทุกข์ทั้งนั้น ไม่ว่า แคนาดา อเมริกา อังกฤษ ทุกข์กันทั้งนั้น คนเป็นโรคประสาทประมาณสิบยี่สิบเปอร์เซนต์เพราะคนไม่รู้เรื่อง ...เมา...เมาความสุข...เมาความสนุกสนานมากเกินไป จึงเป็นโรคประสาท บ้าๆ บอๆ เป็นอะไรหลายๆ อย่างฉะนั้น สอนคนที่นั่น ไม่ต้องอธิบายหลักธรรมให้เขาฟังหรอก ให้เขานั่งหลับตาทำใจให้สงบเป็นสมาธิ เมื่อเขาทำสมาธิได้แล้ว เขาจะรู้จักเองว่าความสงบเป็นอย่างนี้ เพราะเขาไม่มีความสงบกันเลย เดี๋ยวนี้...เขาชอบทำกรรมฐานนั่งสมาธิกัน เพราะเมื่อสงบจิตมันได้พักผ่อน ความสบายก็เกิดขึ้น

จิตของคนเรานี่ ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยไม่พักผ่อน กลางวันคิดนั่นคิดนี่วุ่นวาย กลางคืนก็ไม่ได้พัก นอนหลับไปยังฝันอีก มันวุ่นวายกลางคืนก็ไม่ได้พัก นอนหลับไปยังฝันอีก มันวุ่นวายสารพัดอย่างตลอดเวลา จิตไม่ได้พักผ่อนเลย คนจึงเป็นโรคประสาทกันมาก

บางทีนอนไม่ค่อยหลับ ใจนึกถึงแต่เรื่องสนุกสนานเรื่องตื่นเต้นที่เคยไปเที่ยวมา จิตปรุงแต่งฟุ้งซ่านไม่สงบพ่อตื่นขึ้นก็ต้องไปทำงานเจอแต่เรื่องวุ่นวายตลอดทั้งวัน กลับบ้านก็ยังต้องวุ่นวายกับลูกหลานกับอาหารกินอีก ชีวิตอยู่อย่างนี้มีแต่เรื่องยุ่งยากตลอดเวลา ถ้าเราไม่มีธรรมะเป็นที่พึ่ง ไม่มีวิธีให้จิตใจได้พักผ่อน ชีวิตเราจะน่าสงสารมาก

คนเมืองนอกบางคนถามว่า ท่านบวชมานานแล้ว ท่านคงจะรู้อะไรต่ออะไรมากมาย ช่วยดูผมหน่อยว่าผมเป็นอะไร?

เขาถามว่า ผมเป็นอะไร? เขาไม่รู้จักตัวเอง ใครจะรู้จักตัวเราเท่าตัวเอง เราอยู่กับตัวเองมาตั้งแต่เกิดทำไมต้องถามคนอื่นว่า ผมเป็นยังไง? นี่คือคนไม่เข้าใจธรรมะ ไม่รู้จักตัวเอง เพราะมัวแต่วุ่นวายอยู่กับสิ่งอื่น

พอเราให้เขาทำกรรมฐาน เมื่อจิตได้พักผ่อนเท่านั้นแหละ เขารู้รสของความสงบ เมื่อจิตสงบ...ก็มองเห็นสิ่งไม่ถูกที่ตัวทำขึ้นมา ปัญญาเกิดขึ้นเอง เพราะการปฏิบัติจนจิตได้พัก

พวกเราลองดูสิ ทำไมถึงบอกว่านั่งสมาธิภาวนาจึงเกิดปัญญา? ถ้าเรานั่งอยู่เฉยๆ ปล่อยจิตใจไปเรื่อยๆ อย่างนี้ จะไม่รู้เห็นอะไร แต่พอนั่งสมาธิ ความรำคาญความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นทันที ทำไม? ลองนั่งดู ตรงที่วุ่นวายนั่นแหละมีความสงบซ่อนอยู่ตรงนั้น เมื่อปัญหาอยู่ตรงนั้นคำเฉลยหรือคำตอบก็อยู่ตรงนั้นเหมือนกัน เมื่อเรานั่งสมาธิแล้ว มีปัญหา...วุ่นวาย...ไม่สงบ...อยากเลิก ให้ทำต่อไป แล้วจะมีเฉลยเกิดขึ้นมาตรงนั้น ต้องแก้ไขตรงนั้น อย่าหนีไปไหน

ขอให้พวกเราสู่ธรรมะ จะได้รู้จักตัวเองว่าเป็นคนจำพวกไหน? จะต้องแก้ไขอย่างไร? เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร? ชีวิตคืออะไรรู้มั้ย? อย่าเป็นปทปรมะบุคคลเป็นคนที่สอนไม่ได้ เป็นคนที่พระพุทธเจ้าท่านทิ้ง ไม่ใช่ท่านใจดำนะ ท่านทิ้งก็เพราะคนๆ นั้นสอนไม่ได้

พุทธศาสนามีธรรมะเป็นสิ่งสำคัญ ให้เราตั้งใจฟัง แล้วนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ ถ้ารู้แล้วไม่ทำ ก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้ารู้แล้วไม่ทำ ก็ไม่เกิดประโยชน์ จะเป็นปทปรมะบุคคล คนที่ถูกทิ้ง! น่าเสียดายชีวิตที่เกิดมาแล้วมีแต่ความเห็นผิด มีแต่ความวุ่นวาย

ดังนั้นขอให้เราหันหน้าหาธรรมะ จงเจริญกันด้วยธรรมะ คำว่าเจริญนี้ คือ จิตใจที่เจริญด้วยความถูกต้องดีงาม ไม่ใช่เจริญแต่เพียงวัตถุสิ่งของอย่างทุกวันนี้ อย่างกรุงเทพฯเราว่ามันเจริญ แต่ความเจริญแบบนั้น ไม่เจริญอย่างเดียวนะ ความทุกข์มันก็เจริญขึ้นมาด้วย ความสบายเจริญขึ้นเท่าไหร่? ความอยากของคนก็เจริญขึ้นเท่านั้นหรือมากกว่านั้น มันก็วุ่นวายเท่านั้นแหละ

บ้านนอกเรานี่ไม่เจริญ แต่อยู่สบายกว่ากันนะ เราอยู่สบายกว่ากันนะเราอยู่สบายตามธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติ ความอยากความอิจฉาพยาบาทน้อย ความเจริญเกิดขึ้นตรงไหน? ความไม่เจริญก็ตามไปตรงนั้น ถ้าคนไม่รู้จักเจริญกันด้วยธรรมะ