น้ำท่วมใจ
โอวาทแก่พระภิกษุสามเณร ณ วัดพูนสินวนราม
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
น้ำขึ้นอย่างนี้ คนเราอาจจะไม่ชอบ แต่ปลาชอบ ได้หากินไปเรื่อยๆ เมาของกิน เมาปลวก เมามดน้ำลงก็ไม่คิดจะลงตามน้ำ พิรี้พิไรอยู่นั่นแหละ เพราะมันเพลิน ติดของกิน น้ำขึ้นมาปลาก็ใจใหญ่ใจโต หากินตามน้ำไปเรื่อย ที่ไม่เคยไปก็ไป แต่พอน้ำลดใจก็แป้วลงๆ ไม่มีทางไป มีแต่ช่องเล็กๆ ที่น้ำไหลพอไปได้ก็คือปากไซเท่านั้นแหละ เลยติดลอบ ติดไซ ติดเบ็ดที่เขาดักเอาไว้ แต่ก็ไม่เข็ดบางทีไปติดอยู่หนองเล็กๆ น้ำงวดลงพอมองเห็นหลัง ถ้าคนเขาไม่มาวิดเอาไป ก็ตกเป็นเหยื่อมดเท่านั้นเอง น้ำขึ้นปลาได้กินมด พอน้ำลดมดได้กินปลา โลกเป็นอย่างนี้ จะทำอย่างไร
คนเราก็เหมือนกัน เพลินเมารูป เมาเสียง กลิ่น รส เมาในการกินไม่หยุดสักที ภาวนาไม่ได้ง่ายๆ เดี๋ยวเป็นโรคนั้น เดี๋ยวเป็นโรคนี้ แต่ถ้าสัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รสแล้วไม่มีกลัวตาย เอาชีวิตเข้าแลกเลยทีเดียว นักบวชเราก็เหมือนกัน ภาวนาไม่ออก ไม่รู้ติดอะไร ผลักเข้าก็มีแต่ถอยออก มาภาวนาก็อยากจะได้เร็วๆ อยากจะให้เป็นอย่างนั้น อยากจะให้เป็นอย่างนี้ ไม่ได้ตามที่คิดตามที่ปรารถนาก็ท้อ อยากเลิกแล้ว สึกไปมีเมียดีกว่า ไปเที่ยวเล่นดีกว่า ไปเข้าบาร์ดีกว่า มาทนทุกข์อยู่อย่างนี้ทำไม คิดไปสารพัด คิดโง่ๆ ไม่เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ถ้าไม่เห็นโทษของมันก็ละไม่ได้ จะต่ำลงไปในดิน หรือสูงขึ้นไปบนอากาศ ก็ละไม่ได้ ถ้าไม่เห็นโทษของมัน ถ้าเห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย ในวัฏฏสงสารแล้ว มันไม่ขนาดนั้นหรอก มองดูก็รู้ มันไม่ไปหรอก ยังไงก็ไปไม่ได้ เมื่อเห็นโทษของมัน แต่จะต้องพยายามขยันให้มีศรัทธา ต้องหาทางออกจนได้แหละ ถ้าเห็นโทษมันแล้ว เหมือนกับน้ำ ถ้าน้ำไม่ท่วม เราก็ยังไม่เห็นโทษของมัน เมื่อมันท่วมขึ้นมาวันละคืบสองคืบ ขนของหนีน้ำไปตรงไหนก็ไม่พ้นสักที ขนแล้วขนอีกไม่จบง่ายๆ นี่โทษของมัน ถ้าเห็นโทษของน้ำท่วม ก็หนีน้ำ ถ้าเห็นโทษในวัฏฏสงสาร ก็ไม่ยินดีในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ดูมันไป พิจารณามันไป น้ำแห้งลงไป ใจคนก็เป็นอย่างหนึ่ง น้ำขึ้นมา ใจก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่เป็นอย่างนั้น น้ำลดท่านก็ให้อยู่อย่างเดิม น้ำขึ้นก็ให้อยู่อย่างเดิม ท่านให้เห็นว่า โลกมันไม่มั่นคงไม่เที่ยงอยู่อย่างนั้น น้ำขึ้นมามันก็อยู่อย่างนั้น แม้น้ำลดก็เป็นอยู่อย่างนั้น เราทำไปตามเรื่องของมัน ปฏิบัติอยู่ในวัฏฏสงสาร กองทุกข์ กองยาก กองลำบากอยู่นี้ ถ้าผู้ใดเห็นโทษของมันก็ค่อยยังชั่ว รู้ว่าน้ำขึ้นมาก็ช่วยกันขนของไวๆ ของก็ไม่เสียหาย รู้ว่ารูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นี้ มันเป็นทุกข์เป็นโทษ ก็ให้พยายามละ พยายามห่างมัน
มันก็เหมือนน้ำนั่นแหละ กาโมฆะ โอฆะคือกาม ภโวฆะ โอฆะคือภพ ทิฏโฐฆะ โอฆะคือทิฏฐิ อวิชโชฆะ โอฆะคืออวิชชา น้ำธรรมะเป็นอย่างนี้ น้ำในแม่น้ำมูลยังมีวันแห้งได้ แต่น้ำกามมันไม่หมด ไม่แห้งสักที คิดขึ้นมาทีไรใจก็เสียววาบๆ มันเข้าไปยินดียินร้าย เข้าไปใคร่ไปติด สัตว์ทั้งหลายจมอยู่ในโลก ในวัฏฏสงสารคือกาม ยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี่ตัวสำคัญ
พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า เปรียบประดุจบุรุษผู้หนึ่งเดินมากระหายน้ำ ขอน้ำกิน น้ำอย่างอื่นไม่มีหรอกมีอยู่อย่างเดียว กลิ่นก็ดี รสก็ดี สีก็ดี แต่กินแล้วเมา เมาเกือบตาย ไม่ตายก็เจียน จะกินหรือไม่กิน มันเป็นอย่างนั้นโทษของมัน แต่คนกระหายน้ำมากไม่กลัว กินเหมือนน้ำกามนี่แหละ รูป 1 กลิ่น 1 เสียง 1 โผฏฐัพพะ 1 ธรรมารมณ์ 1 ใครกินเข้าไปแล้วก็ต้องเมา ไม่ตายก็เกือบตาย คนไม่รู้เข้าไปกิน กินแล้วก็เมา เหมือนเรานี่แหละ ท่านบอกออกจากกามไปทางนี้ แต่ไม่ไป อยากจะลองดูกับกาม อยากจะสู้กับมันดู เพราะเหตุอย่างนี้แหละ จึงออกยาก มักห่วงลาภ ห่วงยศ ห่วงสรรเสริญ ทุกข์ สุข นินทา มีลูกห่วงลูก มีหลานห่วงหลาน สารพัดอย่าง หนีไม่ได้ มีอะไรก็ติดอันนั้น นี่แหละลักษณะของกาโมฆะ โอฆะคือกาม แม่น้ำสายนี้มันกว้างใหญ่ไพศาล
น้ำมหาสมุทรทะเล ที่ว่ามาก ก็ยังมีทางระบายถ่ายเท แต่น้ำตัณหาโลภะ ไม่มีการระบาย มีแต่ไม่พออยู่เรื่อย หามามากเท่าใดไม่พอกับความอยาก เพราะกาโมฆะ (โอฆะคือกาม) มันท่วมใจสัตว์
ภโวฆะ โอฆะคือภพ ภพนี้ก็เป็นกาม เป็นแม่น้ำอีกสายหนึ่ง คือ ความไปยึดมั่นถือมันอันใดอันหนึ่งไว้ เมื่อไปยึดมันไว้ก็เหมือนเราไปยืนอยู่ริมตลิ่ง น้ำจะขึ้นมาท่วมไม่วันใดก็วันหนึ่ง มันก็เป็นภพ เป็นที่เกิดของสัตว์ สัตว์ไปเกิดที่นั่นเรียกว่าชาติ ชาติอาศัยภพเกิด ภพเป็นที่ให้ชาติอาศัยอยู่ มันก็ตั้งอุปาทาน มั่นหมายทุกสิ่งสารพัดอย่าง เกิดเป็นภพ เมื่อมีภพก็มีชาติ ภโวฆะ โอฆะคือภพ จมอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ในวัฏฏสงสาร เกิดๆ ตายๆ ทุกข์ยากลำบากอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา
ทิฏโฐฆะ โอฆะคือทิฏฐิ ไม่ฟังใคร เอาแต่ใจตัวเอง ครูบาอาจารย์พูดก็ไม่ฟัง ผิดถูกไม่มี เอาแต่ใจตัวไม่ละทิ้งทิฏฐิ มีทิฏฐิมากไม่เชื่อฟังใคร เอาแต่ความเห็นของตัวเอง ไม่ได้พิจารณา มันผิดจากธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติต้องศึกษาทั้งนั้น ผิดก็ฟัง ถูกก็ฟัง ดีก็ฟัง ชั่วก็ฟัง ให้ฟังไว้ เราเป็นผู้ฟัง ฟังแล้วเอาไปพิจารณาแยกแยะ ส่วนนั้นเป็นกุศล ส่วนนี้เป็นอกุศล
ทิฏฐินี้ก็คือความเห็นธรรมดา แต่เมื่อมานะเข้าไปปน เป็นผู้ดีกว่าเขา เห็นว่าตัวดีกว่าเขา เห็นว่าตัวเสมอเขา หรือเห็นว่าตัวเลวกว่าเขา นี่ยังไม่ใช่ เป็นผู้เสมอเขา เห็นว่าตัวดีกว่าเขา เห็นว่าตัวเสมอเขา หรือเห็นว่าตัวเลวกว่าเขา นี่ก็ไม่ใช่ ยังผิดอยู่ เป็นผู้เลวกว่าเขา เห็นว่าตัวดีกว่าเขา เห็นว่าตัวเสมอเขา หรือเห็นว่าตัวเลวกว่าเขา อันนี้ก็ยังไม่ใช่ ยังมีความเห็นที่เป็นมานะเข้าไปยึดอยู่ ลำพังความเห็นไม่เท่าไรหรอก แต่มีมานะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเป็นอุปาทาน จึงทำให้ติดอยู่ในภพ
อวิชโชฆะ หลงไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ กาโมฆะก็ไม่รู้ ภโวฆะก็ไม่รู้ ทิฏโฐฆะก็ไม่รู้ อวิชโชฆะก็เลยไม่รู้ ไม่รู้สักอย่าง ไม่รู้ว่าของสี่อย่างนี้เป็นน้ำท่วมใจตัวเอง ไม่รู้จักไม่เคยเห็น อันนี้ก็มัวเมาอยู่ในความเห็นของตัวเอง ปัญญาไม่เกิด พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า อย่าได้ยึดมั่นถือมั่น หน้าแล้งก็มองสิ่งที่มันแล้ง หน้าน้ำก็มองสิ่งที่เป็นน้ำ อารมณ์ที่ดีก็ดู อารมณ์ที่ไม่ดีก็ดู ทั้งสองอย่างนี้มันก็หมด เกิดมาวูบเดียวมันก็ดับไปเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากมาย เราอย่าเข้าไปยึดมั่นกับมัน จงเห็นสภาพธรรมทั้งหลายว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ทุกสิ่งทุกอย่างให้เห็นอยู่แค่นั้น แม้แต่ความสุขหรือความทุกข์ก็เหมือนกัน เกิดขึ้นมาแล้วมันก็ดับไป เหมือนน้ำขึ้นแล้วก็ลดลง ลดลงแล้วก็ขึ้นมาอีก
น้ำข้างนอกมันไม่มีผลร้ายแรงเหมือนน้ำใจเรา น้ำใจเราเมื่อเห็นผิดก็ยิ่งมีความร้ายแรงกว่านี้ ความเห็นผิดที่เป็นมิจฉาทิฏฐินี้ร้ายแรง ท่วมหมดทั้งโลก น้ำขึ้นมันท่วมไม่กี่จังหวัด แต่มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดนี้มันทำลายสัตว์ ทำลายมนุษย์ ทำลายประชาชน ทำลายชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ หมดทั้งสิ้นไม่มีเหลือ
น้ำเหล่านี้ท่านว่าเป็นน้ำที่สำคัญ สัตว์โดยมากมักตายอยู่ในน้ำทั้งสี่สายนั้นคือ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ พระพุทธเจ้าท่านให้กำจัดมัน ให้พิจารณ์ อย่าให้ท่วมใจของเราได้ น้ำข้างนอก น้ำแม่น้ำมูล แม่น้ำซี เดี๋ยวมันก็ลด ไม่ถึงเดือนหรอก แต่พวกเราตั้งแต่เกิดมาแล้วยังไม่เลิกสักที ไม่แห้ง ไม่ลด มีแต่จะเอาอย่างเดียว
การปฏิบัตินี้ก็เหมือนกัน เมื่อมีความหลง มันทำให้การปฏิบัติหลงไปด้วย เช่น เรามาปฏิบัติ มันถูกที่ได้เราปฏิบัติ แต่ยังไม่ใช่ เพราะปฏิบัติผิดก็มี เข่น เราอยู่ในที่ที่มีคนน้อยอย่างวัดปากกุดหวาย ก็สงบระงับ ใจสบาย แต่จะว่าเราสบายแล้วก็ยังไม่ใช่ เพราะเมื่อไปอยู่กับคนหมู่มาก พระก็มาก เณรก็มาก คนก็มาก กลับรู้สึกไม่สบาย ไม่น่าอยู่ ทุกข์ก็เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ต่อสู้ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าในที่ที่มีคนน้อย หรือคนมากก็ตาม อยู่ในที่สงบหรือไม่สงบก็ตาม ความสงบที่แท้จริงไม่ใช่อยู่ที่ในป่า หากแต่มันสงบอยู่ที่จิตเห็นชอบต่างหาก ถ้ายังมีความเห็นผิด อยู่ในรูก็ไม่สงบ เอาอะไรอุดหูไว้ก็ยังวุ่นวาย ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ ปฏิบัติถูกต้องแล้ว มันสบาย อยู่น้อยคน ก็สบาย อยู่มากคน ก็สบาย เพราะเราไม่ไปอยู่กับใคร เราอยู่กับตัวเราเอง อยู่กับจิตที่ถูกต้องของตัวเอง อยู่กับพุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ไปอยู่กับยักษ์กับมาร กับเปรต กับผี อยู่ไหนก็สบาย เราภาวนาพุทโธ เฉยอยู่ในพุทโธ อยู่ในพระพุทธเจ้า เมื่ออยู่ในพระพุทธเจ้า ก็เห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระพุทธเจ้า ก็เห็นธรรมะ เห็นธรรมะ ก็เห็นพระพุทกเจ้า อย่างนี้จึงถูกต้อง ไม่ใช่ว่าได้มาแล้วถึงจะดี แต่เสียไปไม่ดี ไม่ใช่อย่างนั้น เสียไปก็ดี ได้มาก็ดี เกิดมาก็ดี ตายไปก็ดี ท่านให้รู้ทั่วถึงอย่างนั้น ใจจึงสงบ เมื่อใจสงบจากความเห็นผิด อยู่ไหนก็สบาย พวกเราได้มาก็เหมือนโดนซัดไปทางขวา เสียไปก็โดนซัดไปทางซ้าย ถูกโยนไปโยนมาอยู่อย่างนั้น
เรื่องภาวนานั้นต้องรู้จักความสงบของตัวเองเมื่อมีเหตุเครื่องเผาผลาญมากระทบ ทางตา หู จมูก ลิ้นกาย จิต มันส่งปัญหาอะไรมา เราก็แก้ได้ทุกอย่าง แก้ปัญหาทุกอย่างไปตามความเป็นจริง ทำได้อย่างนี้ก็สบายเท่านั้นเอง ท่านจึงเรียกว่าสงบ อยู่ในเมืองก็สบาย อยู่ในป่าก็สงบ แต่ธรรมชาติตามความเป็นจริงของสมณะที่สมกับผู้ประพฤติปฏิบัติต้องอยูกันที่สงบอย่างนี้ เพื่อเป็นเครื่องค้ำจุนการประพฤติปฏิบัติของเรา กิเลสมันหมดเร็ว เห็นเร็ว เพราะปราศจากเครื่องยั่วยวนทั้งหลาย แต่วางมืออยู่ในป่า อย่าไปติดป่า อยู่ในเมืองก็อย่าไปติดเมือง ได้ความสงบก็อย่าไปติดความสงบ ถ้าติดสงบเดี๋ยวก็ทำให้วุ่นวายอีก ให้ดูมันไป การปฏิบัตินี้ไม่ต้องฟังเทศน์มากหรอก ขอแต่ให้มีสติ (ความระลึกได้) สัมปชัญญะ (ความรู้ตัว) สองอย่างนี้เข้าไว้ในใจของเรา มันจะมีความรู้อยู่ทุกขณะ ตาเห็นรูปก็รู้ หูฟังเสียงก็รู้ จมูกดมกลิ่นก็รู้ ร่างกายถูกต้องโผฏฐัพพะก็รู้ ธรรมารมณ์เกิดขึ้นกับใจก็รู้ เมื่อรู้แล้วมันก็รู้จักว่าอันไหนดี อันไหนไม่ดี อันไหนชอบอันไหนไม่ชอบ สองด้านของสิ่งเหล่านี้ มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านให้วาง อย่าไปยึดมั่นหมายมั่น นี่เรียกว่าวิธีแก้ปัญหา แก้ปัญหาที่อายตนะส่งเข้ามา แก้ได้ทุกขณะจิตที่รู้จัก สติสัมปชัญญะเมื่อมีอยู่ทุกอิริยาบถไม่ว่าการยืน เดิน นั่ง นอน มีความรู้ตัวอยู่ มันก็ทำให้เกิดปัญญา แล้วก็เกิดโอปนยิโก คือน้อมเข้ามาดูในใจของเรา สอนคนอื่นได้ให้เห็นธรรมภายนอกธรรมภายในเกิดขึ้นทะลุถึงกัน นี่เรียกว่ารู้ธรรมะของพระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ยึด ไม่ให้มั่น ไม่ให้หมาย เราจะอยู่ที่ไหนก็ให้อยู่ด้วยสติสัมปชัญญะของเราเสมอ เมื่อรู้ธรรมะของพระพุทธเจ้า ได้เห็นพระพุทธเจ้า ได้ฟังเทศน์ตลอดเวลา เพราะเรารู้จักธรรมะของท่าน ถ้ารู้ธรรมะอย่างนี้ รู้สัจธรรมอย่างนี้ อยู่ไหนก็สบาย สงบระงับในที่นั้น
อันนี้คือข้อปฏิบัติของพวกเราทั้งหลาย จะต้องปฏิบัติอย่างนี้ จะอาศัยผู้อื่นชักจูงอยู่เสมอไม่ได้ ต้องปลูกฝังขึ้นในจิตใจของตัวเอง พินิจพิจารณาข้อปฏิบัติของเราอยู่เสมอ ให้มีการเปลี่ยนแปลงบ้าง เตือนตัวเอง ระวังสำรวม สำรวมแต่ไม่ระวังนี่ไม่ดีเหมือนกัน เหมือนอาจารย์รูปหนึ่ง สำรวมแต่ไม่ระวัง ท่านไปบิณฑบาตมองแต่เท้าของตัวเอง เมื่อเดินเลี้ยวเข้าสวนเข้านาเขาก็ไม่รู้เรื่อง เข้าคอกวัวคอกควายเขาก็ไม่รู้ เดินตามท่านต้องคอยบอก ซ้ายๆ ขวาๆ บางที่รู้จักขวาไม่รู้จักซ้ายด้วยช้ำ บอกขวาซัดไปซ้าย บอกซ้ายซัดไปขวา นี่เรียกว่าสำรวมแต่ไม่ระวัง ไม่รู้เท่าทันเหตุการณ์การปฏิบัตินี้ต้องรู้เท่าทันอารมณ์ อารมณ์มาอย่างนี้มันเป็นไปอย่างไร กิเลสอย่างนี้ มันเป็นไปอย่างไรต้องรู้เท่าทันเหตุการณ์ของมัน จึงจะรักษาตัวเองให้หลุดพ้นจากอันตรายได้
นักปฏิบัติเราจงพิจารณาธรรมของพระพุทธเจ้าอย่าให้ขาด พิจารณากลับไปกลับมาให้รู้ รู้จัก รู้เรื่องอยู่ก็รู้ ไปบิณฑบาตก็รู้ ฉันจึงหันก็รู้ ถ้าเรารู้อยู่อย่างนี้มันก็เป็นธรรมะ ทำอะไรไม่ผิดพลาด แต่เมื่อสำรวมแล้วก็ต้องระวัง สร้างประโยชน์ตนแล้วก็สร้างประโยชน์ผู้อื่น สอนตนแล้วก็สอนผู้อื่น ตนทำอย่างไรก็สอนผู้อื่นอย่างนั้น สอนผู้อื่นอย่างไร ตนก็ทำอย่างนั้น อันนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าของเรา ให้พากันตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้หนักแน่น...