นิวรณ์
คัดจากหนังสือ อุปลมณี หน้า 215
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
โพสท์ในพันธ์ทิพย์ [ศาสนา-ปรัชญา] กระทู้ที่ K2100914 โดย คุณ : kkk - [ 4 มี.ค. 46 ]
อุปสรรคเครื่องกางกั้นกีดขวางความสงบของจิตใจในเบื้องต้น พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า นิวรณ์ มีอยู่ 5 ประการได้แก่
กามฉนฺทะ ความพอใจใคร่ในกาม ต้องการกามคุณเป็นเครื่องตอบสนอง พยาบาท ความคิดร้าย มุ่งร้าย ความขัดแย้งเคืองใจ ถีนมิทธะ ความสลด หดหู่ และเซื่องซึม ง่วงเหงาหาวนอน อุทธจฺจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความร้อนใจวิตกกังวล วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
ไม่แน่ คือ ธรรมเครื่องแก้องค์นิวรณ์ ที่หลวงพ่อย้ำเตือนมากเป็นพิเศษ
เมื่อมันเกิดอะไรขึ้นมาในใจของเรานี้ มันเกิดเป็นอารมณ์ขึ้นมา ที่เราชอบใจก็ตาม เราเห็นว่ามันผิดมันถูกก็ตามเถอะ ให้เราตัดมันไปเลยว่า อันนี้มันไม่แน่ จะเกิดอะไรขึ้นมาก็ช่างมันเถอะ สับมันลงไป ไม่แน่ ไม่แน่ อย่างเดียว ขวานเล่มเดียวสับสงไป ไม่แน่ทั้งนั้นแหละ มันแน่ที่ตรงไหนล่ะ ถ้าเห็นว่ามันไม่แน่ ราคามันก็น้อยลง อารมณ์ทั้งหลายมันเป็นของที่ไม่มีราคาแล้ว ของที่ไม่มีราคาแล้ว เราจะเอามันไปทำไม
หลวงพ่อมีเมตตาให้กำลังใจแก่ผู้ที่กำลังใฝ่หาความสงบว่า
เราพยายามทำจิตเราให้สงบดีกว่าไม่ทำ ถึงมันไม่สงบแต่มานั่งทำท่าสมาธิอย่างนี้ก็ดีแล้ว วันนี้พูดความจริงให้ฟัง เปรียบว่าเราหิวข้าว มีแต่ข้าว ไม่มีอาหารก็น้อยใจ อาตมาว่ามันดีที่มีข้าวอยู่ มีข้าวเปล่าๆ ดีกว่าไม่มีข้าวกินใช่ไหม มีข้าวเปล่าๆ ก็กินไปเถอะ อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น เรารู้จักการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ นิดหน่อยก็ยังดีอยู่ ท่านให้ผู้ภาวนาตั้งท่าทีทัศนะต่อนิวรณ์ที่กำลังรุมเร้ารบกวนจิตใจอยู่ว่า เป็นครูบาอาจารย์หรือเครื่องทดสอบสติปัญญาของตน มากกว่าจะมองเห็นนิวรณ์เป็นศัตรูที่น่าเกลียด อันอาจทำให้เกิดความตึงเครียด เป็น วิภวตัณหา ซึ่งเป็นเหตุให้ความไม่อยากให้นิวรณ์นั้นอยู่ในใจของตนทุกข์เพิ่มทวี
กามฉันทะ ความใคร่ในกาม
การบรรเทาความใคร่ในกามให้เบาบางลง ต้องใช้หลายวิธีด้วยกัน เพื่อควบคุมการคึกคะนองของจิต สิ่งที่หลวงพ่อเน้นอยู่เสมอ คือ การกินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ความเป็นผู้มีอินทรีย์สังวร การเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค นอกเหนือจากนี้คือ การใช้อสุภกรรมฐานเป็นอุบายเครื่องแก้
กามราคะจะบรรเทาลงได้ ด้วยการพิจารณาไตร่ตรองถึงความน่าเกลียดโสโครก การหลงติดอยู่ในรูปกายเป็นสุดโต่งข้างหนึ่ง ซึ่งเราต้องมองให้เห็นสิ่งตรงข้าม จงพิจารณาร่างกายเหมือนซากศพ และเห็นการเปลี่ยนแปลงเปื่อยเน่า หรือพิจารณาอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ปอด ม้าม ไขมัน อุจจาระ และอื่นๆ จำอันนี้ไว้ แล้วพิจารณาให้เห็นจริงถึงความน่าเกลียดโสโครกของร่างกาย เมื่อมีกามเกิดข้น ก็ช่วยให้เอาชนะกามราคะได้
ถ้าเห็นรูปนี้ ชอบรูปนี้เพราะอะไร ก็เอา รูปนี้มาพิจารณาดูว่า เกสาคือผม โลมาคือขน นขาคือเล็บ ทันตาคือฟัน ตะโจคือหนัง พระพุทธเจ้าให้เอาพวกนี้มาพิจารณาย้ำเข้าไป แยกออก แจกออก ลอกมันออก ทำอยู่อย่างนี้ เอาอยู่อย่างนี้ จนมันไม่ไปไหน มองพวกเดียวกัน เช่น พระเณรเวลาเดินบิณฑบาต เห็นพระ เห็นคน ต้องกำหนดให้เป็นร่างผีตายซาก ผีเดินไปก่อนเรา เดินไปข้างหน้า เดินไปเปะๆ ปะๆ กำหนดมันเข้า ทำความเพียรอยู่อย่างนั้น เจริญอยู่อย่างนั้น เห็นผู้หญิงรุ่นๆ นึกชอบขึ้นมา ก็กำหนดให้เป็นผีเปรต เป็นของเน่าของเหม็นไปหมดทุกคน ไม่ให้เข้าใกล้ ให้ในใจของเราเป็นอยู่อย่างนี้ ถึงอย่างไรมันก็ไม่อยู่หรอก เพราะมันเป็นของเปื่อยของเน่าให้เราเห็นแน่นอนพิจารณาให้มันแน่ ให้เป็นอยู่ในใจ อย่างนี้แล้วไปทางไหนก็ไม่เสีย ให้ทำจริงๆ เห็นเมื่อใดก็เท่ากับมองซากศพ เห็นผู้หญิงก็ซากศพ เห็นผู้ชายก็ซากศพ ตัวเราเองก็ซากศพด้วยเหมือนกัน เลยมีแต่ของอย่างนี้ทั้งนั้น พยายามเจริญให้มาก บำเพ็ญให้อยู่ในใจนี้มากขึ้นอีก อาตมาว่า มันสนุกจริงๆ ถ้าเราทำ แต่ถ้ามัวอ่านตำราอยู่มันยาก ต้องทำเอาจริงๆ ทำให้มีกรรมฐานในใจเรา
พยาบาท ความคิดร้าย มุ่งร้าย
เคยมีพระลูกศิษย์ผู้มีโทสจริตรูปหนึ่ง กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า......
เมื่อผมโกรธควรจะทำอย่างไรครับ
ท่านต้องแผ่เมตตา หลวงพ่อแนะนำ
ถ้าท่านมีโทสะในขณะภาวนาให้แก้ด้วยการแผ่เมตตา ถ้าใครทำไม่ดีหรือโกรธก็อย่าโกรธตอบ ถ้าท่านโกรธตอบท่านจะโง่ยิ่งกว่าเขา จงเป็นคนฉลาด สงสารเห็นใจเขา เพราะว่าเขากำลังได้ทุกข์ จงมีเมตตาเต็มเปี่ยมเหมือนหนึ่งว่าเขาเป็นน้องชายที่รักยิ่งของท่าน เพ่งอารมณ์เมตตาเป็นอารมณ์ภาวนา แผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย ในโลก เมตตาเท่านั้นที่จะเอาชนะโทสะและความเกลียดได้
บางครั้งท่านอาจจะเห็นภิกษุรูปอื่นปฏิบัติไม่สมควร ท่านจะรำคาญใจ ทำให้เป็นทุกข์โดยใช่เหตุ นี่ไม่ใช่ธรรมะของเรา ท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่าเขาไม่เคร่งครัดเท่าฉัน เขาไม่ใช่พระกรรมฐานที่เอาจริงเอาจังเท่าฉัน เขาไม่ใช่พระที่ดี นี้เป็นกิเลสเครื่องเศร้าหมองอย่างยิ่งของตัวท่านเอง อย่าเปรียบเทียบ อย่าแบ่งเขาแบ่งเรา จงละทิฏฐิของท่านเสีย และเฝ้าดูตัวท่านเอง นี้แหละคือธรรมะของเรา ท่านไม่สามารถบังคับทุกคนประพฤติปฏิบัติ ตามที่ท่านต้องการหรือเป็นเช่นท่านได้ ความต้องการเช่นนี้มีแต่จะทำให้ท่านเป็นทุกข์ ผู้ปฏิบัติภาวนามักจะพากันหลงผิดในข้อนี้ การจับตาดูผู้อื่นไม่ทำให้เกิดปัญญาได้ เพียงแต่พิจารณาตนเองและความรู้สึกของตนเองแล้วท่านก็จะเข้าใจได้
บางครั้งนิวรณ์ตัวนี่เกิดขึ้นในลักษณะความไม่พอใจ หรือขัดเคืองกับการปฏิบัติของตนเอง หลวงพ่ออธิบายว่า
ใจวุ่นวาย ทำไมจึงวุ่นวาย เพราะมีตัณหา ไม่อยากให้คิด ไม่อยากให้มีอารมณ์ ความไม่อยากนี่แหละคือตัวอยาก คือ วิภวตัณหา ยิ่งไม่อยากเท่าไรมันก็ชวนกันมา เราไม่อยาก มันทำไมจึงมา? ไม่อยากให้มันเป็น ทำไมมันเป็น? นั่นแหละเราอยากให้มันเป็น เพราะเราไม่รู้จักใจเจ้าของ