#echo banner="" สงบเพราะคิดถูก หลวงพ่อชา สุภัทโท/

สงบเพราะคิดถูก

พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)

วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี

โพสท์ใน ลานสนทนา ลานธรรมจักร โดย TU 13-07-2547

ความสงบคือความพอดี

จะให้ความพอดีของกิเลสตัณหานั้นไม่มีหรอก

ผมว่าตัดสินใจลงไปตรงนี้แหละ อายุคงไม่ถึงร้อยปีหรอกนะ

ถ้าพวกเราทำให้ถูกต้อง ก็จะมีความสงบระงับเท่านั้นเอง

หนทางของการปฏิบัติ

ที่เราทำไปทุกวันนี้ผมคิดว่าไม่สมควร

เพราะมันจะต้องเสียหลักในการปฏิบัติ เดินออกจากหนทาง

ถ้าได้มามากก็ทุกข์มาก ไม่เห็นใครเหลือสักคนเลย

เช่นอาจารย์ทองดีเป็นเพื่อนกับผม บวชได้แปดพรรษา

เรียนนักธรรมเอกยังไม่ได้

กลับมาสอบอีกเรียนอยู่สี่ปีจึงสอบนักธรรมเอกได้ ติดอยู่นั่นแหละ

เหมือนเขาทอดแหใส่กิ่งไม้ ลูกโซ่แหไม่ถึงดิน

ก็ติดค้างอยู่บนอากาศ อยู่ไม่ได้สึกออกไปมีครอบครัวแล้ว

ไปมีภรรยาได้ไม่นานภรรยาก็ตายก็หาภรรยาใหม่อีก แล้วก็ตายอีก

สุดท้ายก็หมดหนทาง เหมือนตากกบแห้งมันจะเกิดประโยชน์อะไรล่ะ

ทำอย่างนั้นถ้าออกไปพบกับความทุกข์ก็ไม่ต้องบ่น

เพราะความทุกข์มันอยู่ที่นั่น ถ้าความอยากเกิดขึ้นมันก็ทุกข์

ถ้ามีความทุกข์ก็ทนเอา

ไม่ต้องบ่นว่ามันเป็นเพราะอะไรมันจึงทุกข์อย่าพูดเลย

มันต้องรู้จักวาง อย่างนั้นมันจะเปลี่ยนสภาพไปอีก

พระพุทธองค์ท่านสอนว่า อัตตาหรืออนัตตา ถ้าเป็นอัตตาก็เป็นตัวตน

ถ้าเป็นอนัตตาไม่ได้อาศัยตัวตน อันนี้เป็นคนละเรื่องกัน

ให้แก้ไขสิ่งที่พอจะแก้ไขได้

ถ้าสิ่งที่แก้ไม่ได้ก็ปล่อยไปไม่เคยสอนให้อยู่นอกข้อประพฤติปฏิบัติ

ถึงจะมีปัญญามากก็ตาม

ถ้าเอาตัวเองพ้นทุกข์ไม่ได้ก็ไม่เรียกว่าคนมีปัญญา

ถ้าคนมีปัญญา พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า

คนอันธพาลถึงจะมีปัญญามากก็ตาม แต่ก็เป็นปัญญาทราม

ปัญญาดีไม่มีเลยพวกโจรมันมีปัญญาในการปล้น พวกนักรบมีปัญญามาก

มีไหวพริบดีในการสร้างศาตราอาวุธ สร้างระเบิดสารพัดอย่าง

มีความเก่งกล้าสามารถ มีปัญญามากก็จริง

แต่เป็นปัญญาทรามปัญญาดีไม่มีเหมือนมะม่วงเน่าให้ประโยชน์ไม่ได้

ปัญญาทราม

มีปัญญามากอยู่ แต่ตัวเองได้รับความทุกข์

ถึงมีมากก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย

มีปัญญาทางสร้างอาวุธมารบยิงฆ่าฟันกันอย่างนี้มันไม่เกิดประโยชน์

เหมือนคนผู้มีปัญญาปรุงยาพิษมากิน คนกินก็ตาย

ไก่หรือสุนัขกินก็ตาย

มันดีหรือปัญญาอย่างนั้นปัญญาปรุงยาพิษให้คนกินแล้วตาย

ในใบสลากยาก็ว่ายาดี ดีอย่างนั้น

ดีที่เป็นโทษเป็นภัยต่อชีวิตของคนและสัตว์ในโลก

ท่านเรียกปัญญาทราม

เมื่อมองเห็นโทษก็เห็นประโยชน์

พวกเราก็เหมือนกัน จะไปอยู่ที่ไหนก็ตามถ้าไม่มีปัญญาเอาตัวไม่รอด

อยู่ที่นี้ก็เหมือนกัน

ถ้าสิ่งใดที่เรามองไม่เห็นโทษของมันอย่างชัดเจน ก็จะเลิกได้ยาก

อยากจะเลิกก็เลิกไม่ได้

ถ้าเรามองเห็นโทษก็จะมองเห็นประโยชน์ขึ้นมาพร้อมกัน

มันก็เลิกได้ถึงจะจมอยู่ในน้ำหรืออยู่บนพื้นดิน

มันก็จะผุดขึ้นมาจนได้ จิตใจของผู้ปฏิบัติอย่างนั้นหาได้ยาก

จะมีแต่คำพูดออกมาหลายๆ อย่างแต่ความคิดเห็นจริงๆ นั้นจะไม่มี

สิ่งใดที่มาผ่านจะเอาให้หมด ตั้งไว้ไม่อยู่

ครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน

ไปที่ไหนท่านก็ไปให้ความรู้ความเห็นสารพัดอย่าง จะรวมลงคือ “ทุกข์”

ความทุกข์คืออะไร

ทุกข์เหมือนกับเราแบกของหนักอันหนึ่ง

ทุกข์อีกอันหนึ่งคือเป็นหนี้สิน ของคนอื่นก็เป็นทุกข์

ทุกข์เพราะแบกก้อนหินใหญ่ก็เป็นทุกข์ เรื่องทุกข์

เอาใจไปแบกก็เป็นทุกข์ เอากายไปแบกก็เป็นทุกข์

มันมีแต่เรื่องทั้งนั้น ท่านจึงสอนให้เรารู้จักทุกข์

รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ รู้จักความดับทุกข์

รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ท่านสอนอย่างนี้

จะเป็นทุกข์มาจากอะไรๆ ก็ตามก็ทุกข์อันเดียวกัน

ความทุกข์เกิดขึ้นมา ก็คือทุกข์เหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องอื่นเลย

เช่น พ่อค้าที่เคยค้าขาย เป็นคนร่ำรวย

มาบวชเป็นพระแทนที่จะมาประพฤติปฏิบัติ

ให้เห็นธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า “ก็ไม่เห็น” .....

ก็เลยตายจากสมบัติเงินล้านเงินโกฏิเฉยๆ

ถ้าบวชอย่างนี้จะก้าวมาเดินไปให้มันเสียเวลาทำไม

อยู่กับเรือนจะไม่ดีกว่าหรือ

ก้อนทุกข์

นักบวชพวกเรานี้ก็เหมือนกัน

ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติปล่อยให้ตัวเองได้รับความทุกข์แล้ว

ผมคิดว่ามันไม่เกิดประโยชน์ผมจะเดาเอาไว้เลยก็ได้

ถ้าลงไปเรียนเอาปริญญาแล้วมันก็แค่นั้นแหละเช่นคนหนึ่งชื่อทองดี

มาบวชเป็นเณร อยู่ที่นี่มีสารพัดอย่างต่อมาก็อยากสึก

ผมก็บอกให้มารวมหมู่คณะแล้วพูดว่า เออ...ให้มันปรุงดีๆ

เณรนี้แหละจะตกนรก ถ้าไม่เชื่อลองดูก็ได้ ตกนรกแน่นอนเลย

อยากจะไปเรียนหนังสือ เรียนก็เรียนไปตกนรกนั่นแหละ

ขนาดพูดให้ฟังอยู่อย่างนี้มันยังไม่รู้จักทุกข์

จะเรียนเอาหนังสือมาอ่านให้มันรู้จักทุกข์ เป็นไปไม่ได้หรอก

รู้แล้วว่าไฟมันเป็นของร้อน แต่ก็ยังกระโดดเข้าไปหากองไฟ

จะเอาหนังสือมาอ่านให้ไฟมันหยุดร้อนไม่ได้เลย

บอกให้รู้อยู่อย่างนี้ก็ยังไม่รู้จัก “ก้อนทุกข์”

จะไปเรียนสอบเอาอะไรล่ะ สอบก็จะได้แต่คำพูดนั่นแหละ

พอเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็มีอันเปลี่ยนแปลงไปมาก

ปฏิบัติธรรมแบบพระจันทร์ข้างแรม

บางครั้งมาที่เมืองอุบลฯ บาตรก็ไม่เอามา ครองผ้าจีวรสีเหลืองสดใส

หิ้วประเป๋าเดินทางอย่างสวยเป็นมันวับๆ เลย

ใส่รองเท้าขัดมันได้อย่างสวยเลย

เราผู้เป็นอาจารย์ไม่มีรองเท้าใส่เดินด้วยเท้าเปล่าๆ

หนังเท้าหนามากจนขนาดเดินไปเหยียบหญ้าคาถูกเท้าไม่เข้าเลย

เพราะหนังมันหนา แต่เดี๋ยวนี้ไม่เห็นมาเยี่ยมเลย

คงจะตกไปที่ทุกข์มาก เงียบไป ค่อยๆ ห่างออกไปเรื่อยๆ

“มันจะต้องดับลงเหมือนพระจันทร์ข้างแรม” น้อยไปๆ เล็กลงๆ

แสงก็นับวันแต่จะเล็กลงๆ วงพระจันทร์จะแคบลงไปทุกทีๆ

อีกหน่อยก็ตกปั๊บเท่านั้นเอง หมดแสงเลย มันชอบเป็นอย่างนั้น

เพราะมันไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นโทษ

คนไม่ได้ภาวนา คือ

คนที่เขาชอบมีความเพลิดเพลินร่าเริงเป็นกลุ่มหลายๆ คน

เขาพูดคุยกันด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส

ผมก็มีความอัศจรรย์เขาอยู่เหมือนกันว่า

เอ...ดูเหมือนเขามีความร่าเริงสนุกสนานอยู่

เหมือนเขาทำงานเสร็จหมดทุกอย่าง ความจริงแล้วทำงานยังไม่เสร็จ

ผมเองถ้าพูดคุยกับเพื่อนหลายคำ ก็คิดว่าตัวเองยังทำงานไม่เสร็จ

งานยังค้างอยู่มาก

เหมือนกับไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนยังไม่ได้ปล่อยควายออกจากคอก

ก็มีความเป็นห่วงควายอยู่อย่างนั้นเพราะงานยังไม่เสร็จ

จะไปไหนก็มีความเป็นห่วงอยู่นั่นแหละ

ดูคนอื่นเขาปล่อยไปตามอารมณ์อย่างสบาย

มีความสนุกสนานพูดล้อกันเล่นสนุกเฮฮา

ผมก็คิดทุกระบบว่าตัวเองยังไม่พ้นทุกข์

จะนั่งอยู่ที่ไหนก็เหมือนกับว่าเราทำงานยังไม่เสร็จ

จะมีความปรารถนาความเพียรอยู่เสมอไม่หยุดสักที

เพราะยังมีกิเลสอยู่มาก มันจะมีความทุกข์อยู่อย่างนี้เรื่อยไป

จึงเอามาพิจารณาถ้ามีเรื่องที่คุยกับเพื่อน ก็คุยไม่มาก

ทั้งคุยทั้งอยากกลับ