ธรรมะเชิงอุปมาอุปมัย
คัดลอกจาก: "เหมือนกับใจ คล้ายกับจิต" รวบรวมคำอุปมาของ
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 010312 - โดย คุณ : mayrin [ 10 พ.ย. 2546 ]
๏ ใบไม้
ขณะนี้เรานั่งอยู่ในป่าที่สงบ ที่นี่ไม่มีลม ใบไม้จึงนิ่ง
เมื่อใดที่มีลมพัด ใบไม้จึงไหวปลิว
จิตก็ทำนองเดียวกับใบไม้
เมื่อสัมผัสกับอารมณ์มันก็สะเทือนไปตามธรรมชาติของจิต
เรายิ่งรู้ธรรมะน้อยเพียงไร ใจก็จะรับความสะเทือนได้มากเพียงนั้น
รู้สึกเป็นสุข ก็ตายด้วยความสุข รู้สึกเป็นทุกข์
ก็ตายด้วยความทุกข์อีก มันจะไหลไปเรื่อย ๆ
๏ น้ำเจือสี
ใจของเราขณะที่เป็นปกติอยู่
เปรียบเหมือนน้ำฝนเป็นน้ำที่สะอาด มีความใสสะอาดบริสุทธิ์เป็นปกติ
ถ้าเราเอาสีเขียวใส่ลงไป เอาสีเหลืองใส่เข้าไป
น้ำก็จะกลายเป็นสีเขียว สีเหลืองไป
จิตของเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อไปถูกอารมณ์ที่ชอบใจ ใจก็ดี
ใจก็สบาย เมื่อถูกอารมณ์ที่ไม่ชอบใจแล้ว ใจนั้นก็ขุ่นมัว ไม่สบาย
เหมือนกันกับน้ำที่ถูกสีเขียวก็เขียวไป ถูกสีเหลืองก็เหลืองไป
เปลี่ยนสีไปเรื่อย
๏ อยู่กับงูเห่า
ขอให้โยมจำไว้ในใจ อารมณ์ทั้งหลายนั้น
ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่พอใจก็ตาม หรืออารมณ์ที่ไม่พอใจก็ตาม
อารมณ์ทั้งสองอย่างนี้มันเหมือนงูเห่าซึ่งมีพิษมาก ถ้ามันฉกคนแล้ว
ก็ทำให้ถึงแก่ความตายได้ อารมณ์นี้ก็เหมือนงูเห่าที่มีพิษร้ายนั้น
อารมณ์ที่พอใจก็มีพิษมาก อารมณ์ที่ไม่พอใจก็มีพิษมาก
มันทำให้จิตใจของเราไม่เสรี ทำให้จิตใจไข้วเขว
จากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า
๏ ปล่อยพิษงูไป
อารมณ์ทั้งหลายเหมือนกันกับงูเห่าที่มีพิษร้าย
ถ้าไม่มีอะไรขวาง มันก็เลื้อยไปตามธรรมชาติของมัน แม้พิษมันจะมีอยู่
มันก็ไม่แสดงออกมา ไม่ได้ทำอันตรายเรา เพราะเราไม่ได้เข้าไปใกล้มัน
งูเห่าก็เป็นไปตามเรื่องของงูเห่า มันก็อยู่อย่างนั้น
ถ้าหากเป็นคนที่ฉลาดแล้วก็จะปล่อยหมด
สิ่งที่ดีก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชั่วก็ปล่อยมันไป
สิ่งที่ชอบใจก็ปล่อยมันไป
เหมือนอย่างเราปล่อยงูเห่าตัวที่มีพิษร้ายนั้น
ปล่อยให้มันเลื้อยของมันไป
มันก็เลื้อยไปทั้งที่มีพิษอยู่ในตัวมันนั่นเอง
๏ สอนเด็ก
ฉะนั้น การปฏิบัตินี้จึงว่านั่ง นั่นแหละปฏิบัตินั่ง
ดูไปมันมีอารมณ์ดี อารมณ์ชั่ว สลับซับซ้อนกันไปเป็นธรรมดาของมัน
อย่าไปสรรเสริญจิตของเราอย่างเดียว อย่าไปให้โทษมันอย่างเดียว
ให้รู้จักกาล รู้จักเวลามัน เมื่อถึงคราวสรรเสริญ ก็สรรเสริญมันหน่อย
สรรเสริญให้พอดีอย่าให้หลง
เหมือนกับสอนเด็กนั่นแหละ บางทีก็เฆี่ยนมันบ้าง
เอาไม้เรียวเล็ก ๆ เฆี่ยนมัน ไม่เฆี่ยนไม่ได้
อันนี้บางทีก็ให้โทษมันบ้าง อย่าให้โทษมันเรื่อยไป
ให้โทษมันเรื่อยไปมันก็ออกจากทางเท่านั้นแหละ ถ้าให้สุขมัน
ให้คุณมันเรื่อย ๆ มันไปไม่ได้
๏ เด็กซุกซน
เปรียบกับเด็กที่ซุกซน เล่นสนุก ทำให้รำคาญจนเราต้องดุเอา
ตีเอา แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของเด็กก็เป็นอย่างนี้เอง
พอรู้อย่างนี้ เราก็ปล่อยให้เด็กเล่นไปตามเรื่องของเขา ความเดือดร้อน
รำคาญของเราก็หมดไป เพราะเรายอมรับธรรมชาติของเด็ก
ความรู้สึกของเราจึงเปลี่ยนไป
เรายอมรับธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย เราปล่อยวางได้
จิตของเราก็มีความสงบเยือกเย็น นี่เรามีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว
เป็นสัมมาทิฏฐิ ทีนี้ก็หมดปัญหาที่จะต้องแก้
๏ รับแขก
เรามาทำจิตของเราให้เป็นผู้รู้ตื่นอยู่
คอยรักษาจิตของเราอยู่ ถ้าแขกมาเมื่อไรโบกมือห้าม มันจะมานั่งที่ไหน
มีที่นั่งเดียวเท่านั้น เราก็พยายามรับแขกอยู่ตรงนี้ตลอดวัน
นี่คือพุทโธ ตัวตั้งมั่นอยู่ที่นี่ ทำความรู้นี้ไว้ จะได้รักษาจิต
เรานั่งอยู่ตรงนี้ แขกที่เคยมาเยี่ยมเราตั้งแต่เราเกิดตัวเล็ก ๆ โน้น
มาทีไรก็มาที่นี่หมด เราจึงรู้จักมันหมดเลย พุทโธอยู่คนเดียว
พูดถึงอาคันตุกะ แขกที่จรมาปรุงแต่งต่าง ๆ นานา
เราให้เป็นไปตามเรื่องของมัน
อาการของจิตที่เป็นไปตามเรื่องของมันนี่แหละเรียกว่า เจตสิก
มันจะเป็นอะไร จะไปไหนก็ช่างมัน ให้เรารู้จักอาคันตุกะที่มาพัก
ที่รับแขกมีเก้าอี้ตัวเดียวเท่านี้เอง
เราเอาผู้หนึ่งไปนั่งไว้แล้ว มันก็ไม่มีที่นั่ง
มันมาที่นี่ มันก็จะมาพูดกับเรา ครั้งนี้ไม่ได้นั่ง
ครั้งต่อไปก็จะมาอีก มาเมื่อไรก็พบผู้ที่นั่งอยู่ ไม่หนีสักที
มันจะทนมากี่ครั้ง เพียงพูดกันอยู่ที่นั่น เราก็จะรู้จักหมดทุกคน
พวกที่ตั้งแต่เรารู้เดียงสาโน้น มันจะมาเยี่ยมเราหมดนั่นแหละ
๏ บุรุษจับเหี้ย
วิธีกำหนดอารมณ์ จับอารมณ์ ให้รู้จักจิตของตน
ให้รู้จักอารมณ์ของตน เปรียบโดยวิธีที่บุรุษทั้งหลายจับเหี้ย
เหี้ยตัวหนึ่งเข้าไปในโพรงจอมปลวกที่มีรูอยู่หกรู ก็ปิดรู้นั้น ๆ
เสียห้ารู เหลือรูเดียวให้เหี้ยออกแล้วนั่งจ้องมองที่รูเดียวนั้น
เหี้ยออกมาก็จับได้ ฉันใด
การกำหนดจิตก็ฉันนั้น ปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดลิ้น ปิดกาย
เหลือแต่จิตอันเดียวเปิดไหว้ คือ การสำรวมสังวร กำหนดจิตอย่างเดียว
การภาวนาก็เหมือนกับบุรุษจับเหี้ย คือ
กำหนดจิตให้อยู่ที่ลมหายใจ มีสติ ระมัดระวังรู้อยู่แล้ว กำลังทำอะไร
มีสัมปชัญญะ คือ รู้ตัวว่ากำลังทำสิ่งนั้น
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตขณะนั้น คือรู้ตัวว่ากำลังทำสิ่งนั้น
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตขณะนั้น ทำให้รู้จัก
๏ แมงมุม
ได้ไปเห็นแมงมุมเป็นตัวอย่าง แมงมุมทำรังของมันเหมือนข่าย
มันสายข่ายไปขึงไว้ตามช่องต่าง ๆ เราไปนั่งพิจารณาดูมัน
ทำข่ายขึงไว้เหมือนจอหนัง
เสร็จแล้วมันก็เก็บตัวเองเงียบอยู่ตรงกลางข่าย ไม่วิ่งไปไหน
พอมีแมลงวันหรือแมลงอื่นบินผ่านข่ายของมัน
พอถูกข่ายเท่านั้น ข่ายก็สะเทือน พอข่ายสะเทือนปุ๊บ
มันก็วิ่งออกจากรังทันที ไปจับตัวแมลงไว้เป็นอาหาร
เสร็จแล้วมันก็เก็บตัวของมันไว้ที่กลางข่ายเหมือนเดิม
ไม่ว่าจะมีผึ้งหรือแมลงอื่นใดมาถูกข่ายของมัน พอข่ายสะเทือน
มันก็วิ่งออกมาจับแมลงนั้น
แล้วก็กลับไปเกาะนิ่งอยู่ที่กลางข่ายไม่ให้ใครเห็นทุกทีไป
เห็นแมงมุมทำอย่างนี้ เราก็มีปัญญาแล้ว อายตนะทั้งหก คือ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใจนี้อยู่ตรงกลาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย
แผ่พังพานออกไป อารมณ์นั้นเหมือนแมลงต่าง ๆ พอรูปมาก็ถึงตา
เสียงมาก็ถึงหู กลิ่นมาก็ถึงจมูก รสมาก็ถึงลิ้น โผฏฐัพพะมาก็ถึงกาย
ใจเป็นผู้รู้จัก มันก็สะเทือนถึงใจ แค่นี้ก็เกิดปัญญาแล้ว
เราจะอยู่ด้วยการเก็บตัวไว้
เหมือนแมงมุมที่เก็บตัวไว้ในข่ายของมันไม่ต้องไปไหน พอแมลงต่าง ๆ
มันผ่านข่าย ก็ทำให้สะเทือนถึงตัว รู้สึกได้ก็ออกไปจับแมลงไว้
แล้วก็กลับอยู่ที่เดิม
ดูแมงมุมแล้วก็น้อมเข้ามาหาจิตของเรา
มันก็เหมือนกันเท่านั้น ถ้าจิตเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันกว้าง
ไม่เป็นเจ้าของสุข ไม่เป็นเจ้าของทุกข์อีกแล้ว ก็เห็นชัดได้อย่างนี้
มันก็ได้ความเท่านั้นแหละ จะทำอะไรอยู่ก็สบาย ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว
มีแต่การภาวนาจะเจริญยิ่งขึ้นเท่านั้น