วิสัชนาธรรม
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 11477 โดย: ตะวันอ้อมข้าว 29 ก.พ. 47
การภาวนา
ปุจฉา : การภาวนานี้ เราไปยืน เดิน นั่ง นอน อะไรอย่างนี้จะมีผลอะไรบ้างไหมครับ
วิสัชนา : มีมั่ง แต่เหตุมันต้องสงบถึงที่มันเสียก่อน ให้มันถึงปัญญาล่ะดีมากที่สุด คือ มันบ่มาถึงที่สุดแล้วมันก็สุกขึ้นมาได้
แต่ว่ามันมีแง่อยู่อย่างหนึ่งว่า ความสำเร็จในการปฏิบัตินี้ มันมีเรื่องติดไปด้วยวิปัสสนาภาวนา ปัญญากับจิตมันอยู่ร่วมกัน อย่างมีปัญญาไม่ต้องไปทำอะไร มันรวมเข้าไปของมัน
เรื่องสมาธิคล้าย ๆ กับว่า สมมติเราเป็นช่างวาดเขียน เราไปมองเห็นแล้วและก็เข้าใจ จนมันติดอยู่ในใจเรา เราเอาไปเขียนออกมาจากใจของเราได้ ไม่ต้องไปนั่งวาดอยู่ตรงนั้น คนที่ไม่เข้าใจคนนั้นต้องไปนั่งเขียนเสียก่อน ให้มันซาบซึ้งเข้าไป อันนี้เรื่องปัญญาไม่ต้องไปนั่งเขียน เรามามองดูก็เข้าใจ เขียนมันไปเลยก็ได้
บางคนใช้ปัญญาน้อย บางคนก็ใช้ปัญญามาก อาจจะตรัสรู้ธรรมะในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งก็ได้ การยืน เดิน นั่ง นอน ท่านให้ทั้งนั้น ก็เพราะอะไร ก็เพราะเราเป็นอย่างนี้ ท่านจึงให้ทำอย่างนั้น
บางคนไม่ต้องไปนั่งเขียนอะไรที่ตรงนั้น เราไปมองปั๊บเดียวเข้าใจ ไปนั่งเขียนมันก็เสียเวลา ถ้าเราไปนั่งเขียนตามความเข้าใจของเรา มันก็คล่องขึ้น มันเป็นอย่างนี้แต่ว่าต้องพยายาม แบบของมันอย่าไปทิ้ง มันก็เหมือนกับที่ว่าการนั่งสมาธิแบบเดิม ก็นั่งขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายตรง บางคนก็ว่าเดินก็ได้ นั่งก็ได้ คุกเข่าจะได้ไหม ได้ แต่ว่าเราเป็นนักเรียนใหม่ เรียนหนังสือต้องคัดตัวบรรจงเสียก่อน ให้มันมีหัวมีหางเสียก่อน ถ้าเราเข้าใจดีแล้ว เราเขียนอ่านเอง เราเขียนหวัดไปก็ได้ อย่างนี้ไม่ผิด แต่แบบเดิมมันต้องทำอย่างนั้นเสียก่อน ดีมาก เข้าใจมั้ย ทำถึงโน้นแล้วหรือยัง ไม่ทำถึงโน้น พูดให้ฟังก็ไม่รู้เรื่องสินะ รู้แต่ว่าฟังไป
การกำหนดลมหายใจ
ปุจฉา : หลวงพ่อครับ เกี่ยวกับฐานของลมที่จะกำหนดนี้ เราอาจจะเปลี่ยนแปลงได้เรื่อย ๆ ใช่ไหมครับ ไม่จำเป็นจะต้องกำหนด ณ จุดใดจุดหนึ่งที่เราเคยทำอยู่
วิสัชนา : อะไรที่มันมีสติอยู่ไม่ขาดกัน รู้สึกอย่างติดต่อกัน เอาจุดไหนก็ได้ ที่เรียกว่าจุดนั้น ขยายจุดนี่น่ะเพื่อให้มันติดต่อกันเท่านั้นแหละ เอาจุดไหนก็ได้ที่มีความรู้ติดต่อกัน จุดไหนที่มันมีสติสัมปชัญญะ จุดนั้น จุดไหนก็ได้ ถ้ามันมีอยู่อย่างนั้น
สติสัมปชัญญะทั้งสองนี้ก็เหมือนคนสองคน มันไปยกเอาไม้อันหนึ่ง มันหนัก คนที่สามนี้ไปมองดู เห็นมันหนักก็เข้าช่วย ถ้ามันหนักไม่ช่วยไม่ได้ ต้องเข้าช่วย คนที่เข้าช่วยนี้คือปัญญา ถ้ามีสติสัมปชัญญะแล้ว ปัญญาก็ต้องวิ่งเข้ามาหา คล้าย ๆ ที่ว่าสองคนมันแบกหนัก มันหนัก คนที่หนึ่งที่มีปัญญาฉลาดน่ะจะทนวิ่งอยู่เฉย ๆ ได้หรือ ต้องช่วยกัน คนที่สามก็ไปช่วยก็เบาขึ้นมา เห็นมั้ยสติสัมปชัญญะ สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะคือความรู้ตัว มีอยู่แล้วปัญญาจะนิ่งอยู่ไม่ได้ จำเป็นต้องเข้าช่วย สามประการนี้ประกอบกันเข้าไป ความรู้สึกนี่มันติดต่อกันได้ทั้งนั้น
ปุจฉา : เวลาเราขยายลมกระจายทั่วออกไป กำหนดจิตให้กว้างออกไป แต่พอลมกระจายไปแล้ว เรารวมจิตเข้ามาไว้ข้างใน มันจะรู้สึกว่าลมนี้มันจะคับแคบไป
วิสัชนา : อันนั้นมันความรู้สึกของเรา มันไม่แคบไม่กว้างหรอก มันพอดี ถ้ามันถูกแล้วมันพอดีทั้งนั้นแหละ ที่มันแคบเกินไป กว้างเกินไปน่ะ ความรู้สึกเช่นนั้นไม่ถูกต้องแล้ว มันเกินพอดี หรือมันไม่ถึงพอดี ถ้ามันถูกแล้วมันพอดีทั้งนั้นแหละ เราต้องรู้จักอย่างนั้น
ถ้าหากว่ามันไม่ถึง มันสั้นไป ถ้ามันยาวไปก็เรียกว่ามันยาวเกินไป มันไม่ถึงที่ ไม่ถึงจุดพอดีของมัน
ปุจฉา : หลวงพ่อครับ พูดถึงว่าถ้าเผื่อลมมันหมดนะครับ แต่รู้สึกข้างในมันยังไม่หมด นี่แสดงว่าลมมันยังไม่หมดใช่ไหมครับ คือเวลากำหนดนะครับ ส่วนข้างนอกรู้สึกว่ามันหายไปแต่ข้างในรู้สึกว่ามันยังมีอยู่
วิสัชนา : มันมีอยู่ก็ดูว่ามันมีอยู่ มันหมดไปก็ดูว่ามันหมดไป ก็แล้วกันเท่านั้น ไปสงสัยอะไรมัน
ปุจฉา : คือแปลกใจว่าข้างนอกหมดแล้ว แต่ข้างในทำไมยังไม่หมด
วิสัชนา : เอ้า มันเป็นอย่างนั้นของมัน อันนั้นมันซับซ้อนกันอยู่ตรงนั้นแหละ ไม่ต้องสงสัยแล้งตรงนั้นน่ะ ทำไมมันถึงเป็นยังงั้น ก็เรื่องของมันจะเป็นอย่างนั้น มันก็ต้องเป็นของมันอย่างงั้น
ปุจฉา : แล้วจะทำยังไง หรือปล่อยเฉยไว้อย่างนี้
วิสัชนา : ไม่ต้องทำซิ ทำความรู้สึกเท่านั้นแหละ อย่าไปทำอันอื่นเลย อย่าไปลุกเดินลุกวิ่งตามมันเลย ดูมันไปตรงนั้นแหละ มันจะถึงแค่ไหน มันก็ถึงแค่นั้นของมันแหละ จับจุดอยู่ตรงนั้น เท่านั้นพอแล้ว
อารมณ์กรรมฐาน
ปุจฉา : เมื่อกำหนดลมไปอีก เห็นเป็นซี่โครงขาว ๆ คล้ายกับที่หลวงพ่อแขวนอยู่ที่นี่ นึก ๆ มาเลยคิดว่าใจมันคิดเกินไป มันเลยหายวูบไปเลย
วิสัชนา : อันนั้นเขาเรียกว่า อุคคหนิมิต ขยายรูป ขยายแสง ขยายให้ใหญ่ก็ได้ ขยายให้เล็กก็ได้ ขยายให้สั้นก็ได้ ขยายให้ยาวก็ได้ เรื่องเราขยาย
ความเป็นจริงนั้น จิตที่มันสงบแล้วก็พอแล้ว เป็นฐานแล้วเป็นฐานของวิปัสสนาแล้ว ไม่ต้องขยายอะไรมันมากมาย พอที่ว่ามีฐานะจะให้ปัญญาเกิดแล้วก็พอแล้ว เมื่อปัญญาเกิดอะไรปุ๊บ มันเกิดขึ้นมา มันแก้ปัญหาของมันได้แล้ว มันมีปัญหาก็ต้องมีเฉลย อารมณ์อะไรที่มันเกิดขึ้นมาปุ๊บ มันเป็นปัญหามา เมื่อเห็นปัญหาก็เห็นเฉลยพร้อม มันก็หมดปัญหาแล้ว อันนี้ความรู้มันสำคัญ อะไรที่ปัญหามันเกิด แต่เฉลยไม่เกิด ก็แย่เหมือนกันนะ ยังไม่ทันมัน
ฉะนั้นไม่ต้องคิดอะไรมาก เมื่อมีปัญหาขึ้นมาปุ๊บ เฉลยพร้อมเป็นปัจจุบันอย่างนี้ นี่เป็นปัญญาที่สำคัญที่สุด คือปัญญานั่นแหละมันบอกเฉลยให้เกิดขึ้นมา มันเป็นเสียอย่างนั้น ตรงนั้นมันหมดกันที่ตรงนั้นแหละ ไม่หมดกันที่ตรงไหนหรอก ปัญญาตรงนี้เป็นปัญญาที่ทันเหตุการณ์ สำคัญนะปัญญาที่ทันเหตุการณ์ สำคัญ
ถ้าเรามีเช่นนี้ทุกอย่าง ทุกข์ไม่มี เมื่อใดเกิดปัญหาขึ้นมา มีเฉลยปั๊บ ทุกข์นั้นเกิดไม่ได้แล้ว มันวางทั้งนั้น ทำลายอุปาทานทั้งนั้นแหละ ถ้าเราแก้ปัญหามันที่เกิดขึ้นมา แหม ต้องไปแก้มันตั้งสองวันสามวันมันห่างเกินไป มันไม่ทันช่วงของมันแล้ว เกิดเดี๋ยวนั้นเอาเดี๋ยวนั้น เห็นปัญญาเกิดมีเฉลยพร้อม ๆ กันทุกขณะเกิดดับกลับพร้อมกันเลย อย่างนี้ก็น่าดูเหมือนกันนะ
ปุจฉา : แล้วอย่างนี้เราจะมีปัญหาอย่างไร จึงจะรู้เท่าทันมัน
วิสัชนา : อย่าไปถามมัน มันมีอยู่ในนั้นแหละ มันมีอยู่แล้วตรงนั้นน่ะ อันนี้ที่ว่าทำไมถึงมีปัญญารู้เท่ามัน อันนี้คือคนยังไม่ถึงตรงนั้นถึงพูดอย่างนี้ ถ้าถึงตรงนั้นปัญหานี้จบ ให้เข้าใจไว้ ไม่มีที่จะสงสัย ไม่มีปัญหาแล้วตรงนี้ถ้ารู้จุดนั้นแล้ว อันนี้ไม่ต้องมีปัญหาแล้ว ถึงไม่พูดก็ไม่มีปัญหาแล้ว มันรู้เรื่องของมันแล้วตรงนั้นน่ะ
ปุจฉา : ตามใบหน้า ตามจมูก บางทีมันปวด
วิสัชนา : อ๋อ อันนี้เรื่องปวด มันก็แก้ยากนะ กำหนดมันจนเกินไปมั้ง
ปุจฉา : ครับ ถูกต้อง
วิสัชนา : อย่าไปกำหนดมันมากสิ นั่งเฉย ๆ ซะ นั่งเฉย ๆ ให้มันมีความรู้สึกอยู่นั่นแหละ อย่าไปบีบมันเกินไป แม้กระทั่งลมหายใจเรานี่ก็ลำบากนะ ถ้าเราเดินไปเดินมา ไม่ไปควบคุมมันก็ไม่เท่าไร มันก็สบาย ถ้าเราไปนั่ง จะกำหนดลมหายใจให้มันถูกต้อง อะไรต่ออะไรวุ่นวาย บางทีก็เลยหายใจไม่ถูกต้อง ก็เพราะว่ามันบีบเกินไปเมื่อเราถอนมาอยู่เฉย ๆ ซะก็ไม่เป็นไร
ลมหายใจนี่ก็ลำบากนะ บางทีก็หายใจไม่ถูก มันยาวเกินไป มันสั้นเกินไป เลยวุ่นวาย อันนี้ก็เพราะเรากำหนดมันเกินไป ไปบีบมันเกินไป มันถึงเป็นอย่างนั้น ก็เหมือนเด็ก ๆ น่ะแหละ สอนให้มันนั่ง สอนทีไรเฆี่ยนทุกทีน่ะ เด็กมันจะมีความฉลาดขึ้นมามั้ย ไปบังคับมันจนเกินไป
อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเรามาคิดดูว่า เมื่อเราเดินจากบ้านไปสวน หรือเดินจากบ้านไปทำงาน ทำไมมันไม่รำคาญเพราะลม ก็เพราะเราไม่ไปยึดอะไรมัน เพราะเราปล่อยตามเรื่องมัน อวัยวะส่วนใด ๆ ที่มันปวดน่ะ เพราะเราไปเพ่ง ไปกำหนดมันเกินไป แก้วใบนี้น่ะเรายึดมาดูเสียก่อน รู้แล้วก็วางมัน นี่เรียกว่าอย่าไปยึดมั่น คือยึดอย่าให้มันมั่น ยึดมาดูรู้เรื่องแล้วก็วางมันสบาย อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น ที่มันเจ็บปวดจามสภาวะแถวนี้ เพราะไปกำหนดมันมาก ถอยออกมาบ้าง อย่าขยับเข้าไปให้มันมาก เพ่งจนเจ็บ เพ่งจนปวด มันก็ไม่ได้ตรงนั้น เคยเป็นทุกทีมั้ยน่ะ
นั่นแหละ ถอยกลับเสียบ้าง ทำสบาย ๆ ทำความรู้สึกไว้เท่านั้น อย่าไปกำหนดเกินไป แต่ทำความรู้สึกไว้ ทำด้วยการปล่อยวาง ทำอะไรด้วยการปล่อยวาง ไม่ได้ทำด้วยการฝึกให้มันแน่น แล้วก็สบาย
นิมิต
ปุจฉา : ในช่วงระยะที่เราอยู่ในสภาวะที่กำหนดเห็นว่าร่างกายมันใหญ่ได้ ตรงนั้นเป็นสภาวะที่สงบนิ่งแล้วใช่ไหมครับ หรือว่าเราต้องใช้ปัญญาพิจารณาในตอนนี้
วิสัชนา : ถ้ามันไม่สงบ มันไม่เกิดอาการอย่างนั้น ที่จะเกิดอาการอย่างนั้นเพราะจิตมันสงบ มันถึงเป็นอย่างนั้น แต่ให้ควบคุมสติเราให้ดีว่ามันใหญ่เกินขนาดไหน มันเล็กเกินขนาดไหน
เมื่อกำหนดเข้าไปถึงที่สุดแล้ว ก็กำหนดเข้าไปข้างใน อย่าวิ่งไปข้างนอก ถ้าวิ่งไปตามข้างนอก มันจะขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็เป็นหมู เดี๋ยวก็เป็นหมา เดี๋ยวก็เป็นช้าง เดี๋ยวก็เป็นโน้น เดี๋ยวก็ลุกขึ้นมาไล่มันเท่านั้นแหละ ให้รู้ว่าอันนี้มันเป็นนิมิต สะเก็ดของความสงบมันเกิดจากที่สงบ นั่นมันเป็นอย่างนั้น อาการจะเกิดนิมิตอย่างนี้มันต้องสงบแล้ว มันจึงเกิดอย่างนั้น ก็กำหนดกลับเข้ามาในจิตมันก็หายได้
ปุจฉา : ทีนี้เมื่อเรากำหนดรู้ว่ามันใหญ่เกินไปไหม มันจะคับมากหรืออะไรอย่างนี้ อาจจะทำให้เราตกใจขึ้นมา
วิสัชนา : อย่าไปตกใจมันซิ มันเต็มสตินั่นแหละ บางทีนั่งจมูกโด่งไปถึงโน่นก็ได้ ให้มันโด่งไปซิ มันยาวไปจริงมั้ยนั่น เรามีสติอยู่นะ มันไม่ยาวจริงอย่างนั้น มันมีความรู้สึกปรากฏขึ้นอย่างนั้น เรียกว่านิมิต ไม่มีอันตราย เราครองสติเราให้ได้ บางทีมันนั่งอยู่ศีรษะมันขาดปุ๊บไปเลยก็ได้ แต่อย่าไปตกใจมันซิ ไม่ใช่มันขาดไป อันนั้นเรียกว่า นิมิต
ปุจฉา : หลังจากเราเพ่งดู รู้สึกรู้
วิสัชนา : ไม่ต้องไปตามมันแล้ว ปล่อยให้มันเป็นนิมิตอย่างนั้นแหละ ทำจิตเราให้สงบต่อ อย่าไปตามดูมัน เราตามดูมันมาพอสมควรแล้ว ถ้าตามไปมันหลงนะ มันหลงนิมิต อันนี้เรียกว่า นิมิต ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นอะไรของมันให้มันบานปลายไป
เมื่อเราอยากให้นิมิตนั่นหายไป เราก็กลับคืนที่ของเรา จิตของเรามันอยู่ขนาดไหน อะไรยังไงกำหนดให้รู้เข้ามา
ปุจฉา : ถ้ากำหนดเข้ามา ลมหายใจก็ไม่มีใช่ไหมครับช่วงนั้น
วิสัชนา : มีสิ มี
ปุจฉา : ถึงช่วงนั้น ตอนนั้นพิจารณาได้ใช่ไหมครับ
วิสัชนา : ปกติ ตรงนั้นมันปกติ อาตมาว่ามาถึงตรงนั้นแล้ว มันไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมาก มันจะหมดปัญหาแล้ว มันจะมีมาก็หมดปัญหาแล้ว มันจะไม่มีมาก็หมดปัญหาแล้วตรงนั้น ไม่ต้องสงสัยว่ามันเป็นอย่างนั้น ถ้ามันเป็นอย่างนั้นในเวลานั้น
ปุจฉา : แต่บางทีมันทำให้เราตกใจ
วิสัชนา : อย่าไปตกใจซิ อันนั้นมันเป็นนิมิต อย่าไปตกใจเลยไม่มีอะไรจะทำอันตรายเราได้แล้ว แต่อาการของจิตมันเป็นไปทุกอย่างแหละ แต่ว่าอะไรจะมาทำอันตรายเราไม่ได้
ปุจฉา : เมื่อไม่มีนิมิตอะไร เราต้องถอยไหมครับ
วิสัชนา : ไม่ต้องถอย ประคองจิตนั่นไว้ ถึงวาระของมัน มันจะเป็นของมันเอง อย่าไปแต่งมัน แต่งมันก็ไม่สวยเท่านั้นแหละ ของมันดีอยู่แล้ว มันจะเป็นวาระของมัน เป็นวาระเข้าออกของมัน ในระยะนั้นอย่าไปแต่ง ประคองจิตให้มีสติดูไปตรงนั้น ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรเท่านั้นแหละ
ความฟุ้งซ่านแห่งจิต
ปุจฉา : มีอุบายที่จะแก้อุทธัจจะเสียหน่อยไหมครับ
วิสัชนา : อะไร อุทธัจจะฯ มันเป็นยังไง
ปุจฉา : มันฟุ้งซ่าน เวลามันเกิดเข้มข้นขึ้นมา เราจะมีอุบายแก้ยังไงครับ
วิสัชนา : มันไม่ยากหรอก ของมันไม่แน่หรอก ไม่ต้องไปแก้มัน คราวที่มันฟุ้งซ่านมีมั้ย ที่มันไม่ฟุ้งซ่านมีมั้ย
ปุจฉา : มีครับ
วิสัชนา : นั่นจะไปทำอะไรมันล่ะ มันก็ไม่แน่อยู่แล้ว
ปุจฉา : ทีนี้เวลามันแลบไปแลบมาล่ะครับ
วิสัชนา : เอ้า ก็ดูมันแลบไปแลบมาเท่านั้นแหละ จะทำยังไงกับมัน มันดีแล้วนั้นแหละโยม จะให้มันเป็นอะไรอย่างไร มันจะเกิดปัญหาหรือนั่น
ปุจฉา : มันแลบไป เราก็ตามดูมัน
วิสัชนา : มันแลบไป มันก็อยู่นั่นแหละ เราไม่ตามมันไป เรารู้สึกมันอยู่ มันจะไปตรงไหนล่ะ มันก็อยู่ในกรงอันเดียวกัน ไม่ไปตรงไหนหรอก นี่แหละเราไม่อยากจะให้มันเป็นอะไร นี่ท่านอาจารย์มั่น เรียกว่า สมาธิหัวตอ ถ้ามันแลบไปแลบมา ก็ว่ามันแลบไปแลบมา ถ้ามันนิ่งเฉย ๆ ก็ว่ามันเฉย ๆ จะเอาอะไรกันล่ะ ให้รู้เท่าทันมันทั้งสองอย่าง
วันนี้มันมีความสงบ ก็ถอนมันมาให้ปัญญามันเกิด แต่บางคนเห็นว่ามันสงบนี่ดีนะ ชอบมัน ดีใจ วันนี้ฉันทำสมาธิมันสงบดีเหลือเกิน แน่ะ อย่างนี้ เมื่อวันที่สองมาไม่ได้เรื่องเลย วุ่นวายทั้งนั้นแหละ แน่ะ วันนี้ไม่ดีเหลือเกิน
เรื่องดีไม่ดีมันราคาเท่ากัน เรื่องดีมันก็ไม่เที่ยง เรื่องไม่ดีมันก็ไม่เที่ยง จะไปหมายมั่นมันทำไม มันฟุ้งซ่านก็ดูมันฟุ้งซ่านไปสิ มันสงบก็ดูเรื่องสงบสิ อย่างนี้ให้ปัญญามันเกิด มันเป็นเรื่องของมัน จะเป็นอย่างนี้ เป็นอาการของจิตมันเป็นอย่างนี้ เราอย่าไปยุ่งกับมันมากสิลักษณะอันนั้น
อย่างเราเห็นลิงตัวหนึ่งน่ะ มันไม่นิ่งใช่ไหม โยมก็ไม่สบายใจเพราะลิงมันไม่นิ่ง มันจะนิ่งเมื่อไหร่ โยมจะให้มันนิ่ง โยมถึงจะสบายใจ มันจะได้มั้ยเรื่องของลิงนะ ลิงมันเป็นเช่นนั้น
ลิงที่กรุงเทพ ก็เหมือนลิงตัวนี้แหละ ลิงที่อุบลฯ ก็เหมือนลิงที่กรุงเทพน่ะแหละ ลิงมันเป็นอย่างนั้นของมันเอง ก็หมดปัญหาเท่านั้นแหละ อันนี้ลิงไม่นิ่ง เราก็เป็นทุกข์อยู่เสมอ ยังงั้นเราก็ตายเท่านั้นแหละ เราก็เป็นยิ่งกว่าลิงซะแล้วมั้ง
มหาสติปัฏฐาน
ปุจฉา : ในมหาสติปัฏฐาน บอกว่า ทางนี้เป็นทางสายเดียวเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ ก็ต้องมีพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ผู้ที่จะพ้นทุกข์จะต้องพิจารณาทั้ง ๔ อย่าง ทั้งหมดหรือเปล่า
วิสัชนา : กาย เวทนา จิต ธรรม อันนี้มันของอย่างเดียวกัน รู้อันหนึ่งก็เหมือนรู้หมด เหมือนเรารู้คน ๆ หนึ่ง ก็รู้หมดทุกคนในโลก เหมือนเรารู้ลิงตัวหนึ่ง ลิงตัวอื่นนอกนั้นเหมือนลิงตัวนี้เหมือนกัน
นี่จะพูดง่าย ๆ หลักใหญ่ของสติปัฏฐานมันเป็นอย่างนี้ อันนั้นมันเป็นลักษณะของมัน เมื่อรู้กาย เวทนา จิต ธรรม สักแต่ว่ากาย สักแต่ว่าเวทนา สักแต่ว่าจิต สักแต่ว่าธรรม มันเป็นสักแต่ว่าทั้งนั้นแหละ ทั้งสี่นั่นน่ะมันก็พอแล้วนะ ถึงแม้มันจะรู้อันเดียวมันก็ได้
สติ-สัมปชัญญะ
ปุจฉา : เคยมีคนมาที่นี่ เคยเอ่ยถึงท่านอาจารย์บ่อย ๆ บอกว่าในกายนี่ พิจารณาถึงอิริยาบถของกายนะครับ สติสัมปชัญญะและก็ถ้าพิจารณาถึงสิ่งทั้งหลาย คนนั้นแกดื้อดึง รู้สึกว่าแกจะพิจารณาแคบ แกบอกพิจารณาสติสัมปชัญญะอย่างเดียวพอ ไม่ต้องอะไร
วิสัชนา : สติสัมปชัญญะ ตรัสรู้ทั้งสี่นั้นก็ไม่มีอะไร มันก็ไม่มีอะไรในกลุ่มอันนั้น อย่างที่แกว่าฉันจะต้องไปแยก เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ แล้วถึงจะเรียกว่าฉันพิจารณากาย
ทีนี้อีกคนหนึ่งว่า ผมไม่พิจารณาไปทั้งหมดละ พิจารณาทางมันไม่เที่ยง ทางนี้ส่วนเดียว มันก็หมดเหมือนกัน
ปุจฉา : แต่ว่าที่เราเห็นนั่น ก็เห็นว่าทุก ๆ อย่างมันก็ไม่เที่ยงเหมือนกันใช่ไหมครับ
วิสัชนา : ใช่ มันก็หลักอันเดียวกันเท่านั้นแหละ
กาย เวทนา จิต ธรรม นั้นให้เห็นว่ามันไม่เที่ยงอย่างเดียวกันเท่านั้น มันก็เห็นมรรคสมังคีกันตรงนั้นเท่านั้น อันนี้ท่านแยกออกไปพิจารณาเฉย ๆ หรอก
เมื่อเราเห็นมันรวมแล้วก็ไม่ต้องแยกสิ แยกก็เหมือนไม่แยก ไม่แยกก็เหมือนแยก เพราะมันเป็นอย่างนั้น ท่านให้มีความเข้าใจอย่างเดียวตรงนั้นก็พอแล้ว
ความสงบ
ปุจฉา : หลวงพ่อครับ เวลาเราภาวนาอยู่นะครับ คล้าย ๆ กับว่าเรากำลังสนทนาพูดคุยกับตัวเราอยู่นี่ อย่างนี้จะมีทางแก้ยังไงครับ
วิสัชนา : อย่าไปแก้มันเลยตรงนั้น มันดีแล้ว มันเป็นโพชฌงค์น่ะ ธัมมวิจยะ มันจะก่อเกิดตัวปัญญาแล้วตรงนั้นน่ะ มันอยู่ในความสงบของมันแล้ว มันเป็นธัมมวิจยะ สอดส่องธรรมะไม่ต้องไปแก้มันเถอะ ดูไปตรงนั้นแหละ ถ้ามันมีตรงนั้นแล้วมันไม่ฟุ้งซ่านรำคาญหรอก มันอยู่ในสงบของมันแล้วจะต้องเป็นอย่างนี้ อันนี้มันเป็นโพชฌงค์ เป็นองค์ธรรมที่จะตรัสรู้ธรรมะอยู่ในตัว ไปแก้มันทำไมตรงนี้
ปุจฉา : อยากให้มันสงบครับ
วิสัชนา : นั่นแหละมันอยู่ในความสงบนั่นเอง ถ้าเราไม่มีอย่างนี้มันจะมีปัญญาสงบนิ่งขึ้นไปมั้ย
หมายความว่า เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นมา มันทำความสงบให้ยิ่งขึ้นไป มันทำปัญญาให้ยิ่งขึ้นมา มันเป็นไวพจน์ซึ่งกันและกันอยู่อย่างนี้ มันยังไม่จบเรื่องของมัน อย่าไปอ้างมันสิ มันเป็นองค์ของโพชฌงค์ เป็นธัมมวิจยะ สอดส่องธรรมะ เรื่องนี้มันเรื่องไม่ฟุ้งซ่าน มันเรื่องที่จะให้เกิดปัญญาสุขุมไปเรื่อย ๆ เรื่องฟุ้งซ่านไม่ใช่เรื่องของอย่างนี้ เรื่องฟุ้งซ่านมันก็ไม่ใช่เรื่องของธัมมวิจยะ มันไม่ใช่องค์ธรรมที่จะทำให้ตรัสรู้ธรรมสิ
ความเป็นจริง คนเราไม่อยากจะให้มันรู้ อยากจะให้มันเฉย ๆ อย่าให้มันเป็นอย่างนั้น คือรู้เฉย เข้าใจไหม? เหมือนกับไม่รู้แหละ รู้เฉย ถ้าไม่รู้ไม่ได้ รู้แล้วไม่รำคาญ
อย่างเรานั่งอยู่นี้ ได้ยินคนพูดอยู่แต่มันไม่รำคาญ จิตอยู่ในที่ของมัน มันสงบแล้ว มันไม่รำคาญ การสักแต่ว่า การสักแต่ว่ามันเกิด ไม่ต้องสงสัยอะไรมันที่ตรงนั้นมากมาย อันนั้นมันศึกษาเรื่องของจิต จำไว้นะไม่ต้องสงสัยอะไรละ มันจะเป็นไปตรงไหน ก็รู้จักมันเถอะ มันสงบก็ดูเรื่องมันสงบเถอะ มันไม่สงบก็ดูเรื่องมันไม่สงบเถอะ เมื่อไม่สงบน่ะ วันนี้มันไม่สงบ พรุ่งนี้มันสงบ ทำยังไงมัน ความที่มันวุ่นวาย มันไปไหนล่ะ เป็นของไม่เที่ยง ถ้าหากว่ามันเห็นของไม่เที่ยงนะ มันเป็นยังไง มันก็เป็นสัจธรรม เพราะเราเห็นว่ามันเที่ยง เที่ยงเพราะมันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ มันจะไม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างอื่น เพราะเรื่องนี้มันเป็นอย่างนี้ เรารู้เช่นนี้แล้วเราก็วางมันไว้ จะไปสงสัยอะไรมัน
ปุจฉา : เวลามันไม่สงบ เราก็ไม่พอใจครับ
วิสัชนา : เอาปัญญาใส่ลงไป ถ้ามันไม่สงบ ธรรมถึงว่ามันไม่แน่มันเป็นอย่างนี้ รู้จักมันด้วยปัญญาว่า มันฟุ้งซ่าน เราก็สงบในที่นั้น เพราะเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้น เรื่องของมันนี่อย่าไปจับจดมันอุปาทานมัน อย่าไปทำอะไร ให้รู้ตามเรื่องของมัน ให้มันสงบของมัน
ความเป็นจริงอาตมาเคยเปรียบเทียบให้ฟัง เราต้องการความสงบใช่มั้ย พระหรือโยมก็ช่างเถอะ ต้องการความสงบไปหาหลบอยู่ในที่มันสงบ เมื่อไรไม่มีสี ไม่มีเสียง มันสบายแน่ะ ถ้าว่ามีเสียงเกิดขึ้นมาปุ๊บ แหม รำคาญ ทำไมเสียงมันมากวนเรานี่ ก็เห็นเสียงมันมากวนเราอย่างเดียวเท่านั้นแหละ
ถ้าเรากลับมาพิจารณาดูว่า เอ๊ะ มันใช่มั้ย มันแน่อย่างนั้นหรือเปล่า ดูไปอีกให้มันลึกเข้าไปกว่านั้นอีก มันเสียงมากวนเราหรือเราไปกวนเสียงนี่ ตามเข้าไปสิ จะได้เห็นว่าเรามันไปกวนเสียง เสียงมันก็เป็นเสียงอยู่ของเขา เขาไม่ได้มากวนเรา เราไปยึดมันมานี่ มันก็เป็นว่าเราไปกวนเสียง เมื่อเราเห็นเราไปกวนเขา ก็นึกว่าเขามากวนเรา ตรงกันข้ามง่าย ๆ เห็นชัด ๆ เราไปกวนเขา เข้าใจว่าเขามากวนเรา ความเป็นจริงเราไปกวนเขา
อันนี้ อาตมาจะบอกให้ว่า ไปนั่งมีแต่ความสงบ ไม่มีอะไรเลยก็อยู่ไม่ได้ แหม จะทำอะไรอีกต่อไปน้อ มันสงบไปหมดทั้งคลื่น นี่จะต้องหาทางออกอีก มันเป็นเสียเช่นนี้แหละ คนเรานึกว่ามันอย่างไรต่อไป มันคงยากนะ มันไม่ถึงที่มัน แต่ว่าดูอะไรก็ดูไปเถอะ สงบก็ดูมัน ไม่สงบก็ดูมันเถอะ ให้ปัญญามันเกิด เรื่องมันสงบนี้ ก็เรื่องไม่แน่นอน เรื่องไม่สงบก็เรื่องไม่แน่นอนทั้งนั้นแหละ สองอย่างนี้มันมีราคาเท่ากัน มันให้คุณเราอย่างไร มันก็ให้โทษเราอย่างนั้นเหมือนกัน ถ้าเราไม่รู้จักมัน เรื่องสงบมันเป็นสองอย่างนะ
เรื่องสงบทางปัญญานี่ หูได้ยินอยู่ ตาเห็นอยู่ แต่มันสงบ มันสงบเพราะไม่ไปยึดมั่นถือมั่นเข้ามา นี่อันนี้สงบ
เรื่องสงบด้วยสมาธินี่ มันผิวบาง เข้าใจไหม ? ถ้าอะไรกระทบแก๊ก ไม่ได้เสียแล้ว ผิวมันบางเกินไป ต้องปรับใหม่ พิจารณาใหม่มันจะทันท่วงทีไหมยังงั้น เมื่ออะไรที่กิเลสเข้ามา จะต้องนั่งสมาธิทั้งนั้นเลยหรือ
ปุจฉา : หมายความว่า จิตเราต้องทำตามได้ อดทนได้
วิสัชนา : ใช่ มันรู้ ๆ ไม่ได้อดทนด้วย ไม่ได้ยกด้วย กระทบมาปล่อยมันเลย นี่อย่างนี้ มันต้องเป็นอย่างนี้ ทางปัญญาของเรามันจะเห็นสี เห็นแสงอะไรก็ช่างมันเถอะ มันเป็นธรรมดาอยู่ในโลกนี้หนีไปไม่ได้หรอก ให้เรารู้เท่าทันมัน สิ่งทั้งหลายเหล่านี้
การเกิด-ดับแห่งสภาวะ
ปุจฉา : วันหนึ่ง ลูกได้ไปอ่านหนังสือที่ฝรั่งเขาเขียน เรื่องพุทธศาสนา เขาเขียนอยู่ตอนหนึ่งว่า
ศาสนาฮินดูเขาเชื่อว่ามีการเกิดใหม่ขึ้น โดยที่ว่ามีวิญญาณเดิม หรือจิตเดิม เพียงแต่ว่าเปลี่ยนร่างกายใหม่เท่านั้น ส่วนในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ไม่ใช่เป็นอย่างนั้น คือชีวิตที่เกิดขึ้นใหม่นี้ท่านให้เรียกว่าเป็น สภาวะ การเปลี่ยนชีวิตนี้ไม่ใช่เปลี่ยนร่างใหม่ แต่ว่าเปลี่ยนจากสภาวะหนึ่งเป็นอีกสภาวะหนึ่ง ส่วนจิตนั้นก็ยังเป็นจิตเดิม แล้วเขาให้คำในวงเล็บไว้ว่า อนัตตา เขาบอกว่าการที่เปลี่ยนจากสภาวะหนึ่งเป็นอีกสภาวะหนึ่งที่เราเรียกว่าชีวิตใหม่นี้ กรรมทำไว้อย่างไรก็จะส่งผลให้เป็นอย่างนั้น เหมือนกับลูกบิลเลียดลูกที่หนึ่ง ที่วิ่งไปถูกลูกที่สอง จะทำให้ลูกที่สองวิ่งไป แล้วก็วิ่งไปในทิศทางที่ลูกแรกไปกระทบถูกค่ะ
ทำให้ลูกมาคิดว่า ถ้าอย่างนั้น ถ้าเราหยุดกรรมได้ก็แสดงว่าสภาวะต่อไปจะไม่เกิดขึ้น แต่ว่าไม่เข้าใจว่าจิตที่ว่าเป็นจิตเดิมนี่เป็นยังไงคะ และก็อนัตตานี่เป็นสภาวะอย่างไร
ขอกราบเรียนหลวงพ่ออธิบายค่ะ ถ้าว่าไม่ต้องสนใจเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเรารู้อย่างเดียวว่าเราสามารถจะหยุดกรรมได้ ก็จะไม่มีสภาพต่อไปเกิดขึ้นอีก อันนี้ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกหรือผิด
วิสัชนา : ปัญหานี้ต้องแยกตอบ ปัญหานี้มันก็มีสองแง่ แง่หนึ่งเรื่องมันจบแล้ว แง่หนึ่งเรื่องมันไม่จบ เรื่องที่มันจบไปแล้ว ก็ไม่ต้องถามหรอก เพราะมันจบไปแล้ว มันจะไปอะไรที่ไหนก็คือเรื่องทุกอย่างมันจบ เรื่องเปลวของไฟที่ดับไปมันจะไปที่ไหนนั้น ก็ไม่เป็นปัญหาที่จะต้องถามแล้ว มันเป็นอย่างนี้ อันนั้นเรียกว่าเรื่องที่มันจบไป และมันคงเหลือเรื่องที่ไม่จบ เรียกว่าสภาวะ
สภาวะเรื่องที่ไม่จบนี้ จะพูดว่าเป็นกรรมก็ได้ แต่ว่าที่มันไม่จบนี้เรียกว่าวิบาก มันเกิดขึ้นจากกรรมที่กระทำนั้นเป็นสภาวะอันหนึ่ง ถ้าหากว่าเรื่องวิบากมันจบไปแล้วนั้นก็ไม่มีปัญหา ท่านพูดย้อนกลับมาถึงวิบากที่มันเป็นปัจจัย
เทียบง่าย ๆ ว่า มีความรู้สึกนึกคิดขึ้นเดี๋ยวนี้ ที่มันรู้สึกนึกคิดขึ้นเดี๋ยวนี้ เช่น คุณหมออยากจะถามให้รู้เรื่อง ทำไมมันถึงมีความรู้สึกออกปากมาถามอย่างนี้ก็เพราะมันมีปัจจัย มันจึงเกิดความรู้สึกขึ้นอย่างนี้ นี่เรียกว่าเรื่องมันยังไม่จบ เรียกว่าปัจจัย เหตุปัจจัยเป็นสภาวะอันหนึ่ง ถ้าหากว่าคุณหมอเข้าใจเรื่องเหล่านี้ดีแล้ว ก็หมดปัจจัย ไม่มีปัจจัยที่จะเกิดความรู้สึกชวนให้ถามอะไรต่ออะไรต่อไปอีกแล้ว ทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้น อันนั้นก็เรียกว่ามันจบ เรื่องที่มันจบไปนั้นมันอยู่ที่ไหน ? ก็ตอบได้แต่เพียงว่าเรื่องมันจบ มันจบแค่นั้นมันไม่มีเหตุที่จะต้องให้ถาม ไม่มีปัจจัยที่จะต้องถาม ที่จะสงสัยอันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น
เรื่องที่เป็นอนัตตาอันนั้น อนัตตานี้พูดศัพท์ง่าย ๆ ก็เรียกว่าของไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แต่ว่ามันอาศัยอาการตัวตนอยู่ อาศัยอาการของอัตตาอยู่ อนัตตานั้นจึงมี เป็นอนัตตาที่ถูกต้อง ถ้าอัตตานี้ไม่มีแล้ว อนัตตาก็ไม่ปรากฏขึ้นมา เช่น คุณหมอไม่มีกระโถนใบนี้อยู่ในบ้าน เรื่องของกระโถนใบนี้ก็ไม่กวนกับคุณหมอเลย มันจะแตกมันจะร้าว หรือขโมยมันจะขโมยไปอย่างนี้ ก็ไม่มีมากวนจิตใจของคุณหมอเลย เพราะไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย คืออะไร ? ก็คือว่ากระโถนไม่มีในบ้านเรา
ถ้าหากมีกระโถนขึ้นมาในบ้านเรา มันก็เป็นตัวอัตตาขึ้นมาแล้ว เมื่อกระโถนมันแตกมันก็กระทบ เมื่อกระโถนมันหายมันก็กระทบ เพราะกระโถนนี้มีเจ้าของแล้ว อันนี้เรียกว่า อัตตา มันมีสภาวะอยู่อย่างนี้
ส่วนสภาวะที่ว่า อนัตตานั้น คือสภาวะที่ว่ากระโถนในบ้านเราไม่มี จิตใจที่คอยพิทักษ์รักษากระโถนนั้นไม่มี จะกลัวขโมยมันจะขโมยไปมันก็ไม่มี อันนั้นมันหมดสภาวะแล้ว เรียกว่าสภาวธรรม มันมีสภาวะ มีเหตุ มีปัจจัย แต่เพียงมันยังเหลืออยู่เท่านั้น
ฉะนั้น อนัตตานี้อันที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อะไรบอกมัน มันถึงรู้จักว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ก็คือตัวตนนี้แหละมันบอกขึ้นมา อันนี้ธรรมะมีหลักเปรียบเทียบ ธรรมะที่ไม่มีตัวตนมีหลักเปรียบเทียบ เช่น อนิจจัง มันเป็นของไม่เที่ยง อย่างนี้เป็นต้น ไม่เที่ยงไปทุกอย่างรึ ของเที่ยงมีมั้ย ของเที่ยงก็มีเหมือนกัน มันมาจากไหน ตัวอนิจจังนี้แหละมันคลอดออกมาเป็นตัวนิจจัง มันคลอดออกมายังไง คือเรื่องอนิจจังมันเปลี่ยนแปลงอยู่นั่นแหละ คือมันเป็นนิจจัง มันเป็นอยู่อย่างนั้นมันเที่ยง เที่ยงยังไง ความเที่ยงมันคลอดออกมาจากสิ่งไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงนั่นแหละเรียกว่าเป็นนิจจัง นิจจังนี่ออกมาจากอนิจจัง อนิจจังมีที่ไหน นิจจังที่นั่น นิจจังมีที่ไหน อนิจจังก็มีอยู่ที่นั่น อย่างนี้เป็นต้น มันเป็นของคู่เคียงกันอย่างนี้ ฉะนั้นอัตตาหรืออนัตตานี้ ก็เหมือนกันฉันนั้น อนัตตาจะมีขึ้นมา จะปรากฏขึ้นมาก็เพราะมีอัตตา อัตตาจะปรากฏขึ้นมาก็เพราะมีอนัตตา
อันหนึ่งมันเป็นสภาวะที่หยาบ อันหนึ่งมันเป็นสภาวะที่ละเอียด แต่มันติดกันอยู่อย่างนี้ จะพูดกันง่าย ๆ ก็เรียกว่า ตัวเรานี้มีสองคน ตัวรูปร่างอันนี้มันเป็นตัววัตถุ แต่เงาของเรามันเป็นสิ่งที่ละเอียดเข้าไปอีก มันแฝงอยู่อย่างนี้ อันนี้เป็นสภาวะ ความจริงแล้วธรรมะทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นอุบายเท่านั้น ที่จะให้เรามองเห็นอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้ก็ไม่ต้องสงสัยอะไรมันแล้ว
ถ้าอนัตตาไม่มีตัวมีตนแล้วจะไปอยู่ยังไง ก็คือทุกข์เราหมดไปแล้ว มันจะไปอยู่ยังไง ของเราไม่มีแล้ว จะไปอยู่ยังไง ความคิดในเวลาต่อไปมันยังไม่เกิดขึ้น จะไปอยู่ที่ไหน ? ก็เพราะมันเกิดความคิดขึ้นเราถึงรู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ แต่ก่อนเรายังไม่คิด ความคิดเช่นนี้มันไปอยู่ที่ไหน เป็นต้น มันอยู่ที่เหตุปัจจัยมากระทบขึ้นมา
อย่างแก้วใบนี้กับพื้นนี้มันจะมีเสียงเกิดขึ้น ก็เพราะมีการกระทบเกิดขึ้นมาเดี๋ยวนี้ มันก็อยู่ตรงนั้นแหละ แต่มันมีเหตุปัจจัยอยู่เฉย ๆ แต่เสียงนั้นมันยังไม่มี แต่เหตุจะให้เกิดเสียงนั้นมีอยู่ แต่บัดนี้มันยังไม่ปรากฏ อันนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ปุจฉา : หมายความว่า ถ้าเราจะวางเหตุทั้งหลายได้ ไม่ให้มันมีเหตุเกิดขึ้นมาก ตัวสภาวะอันนี้มันก็จะแตกดับไปเลยใช่ไหมคะ
วิสัชนา : คือ ไม่ใช่ว่าไม่ให้มีเหตุ แต่ว่าให้รู้จักเหตุ คือเรื่องเหล่านี้มันจะเป็นอยู่อย่างนั้น มันมีเหตุอยู่อย่างนั้น ห้ามไม่ได้เหตุนี้ แต่ว่าเมื่อเราเกิดความรู้เหตุอันนั้น เหตุอันนั้นมันก็หมดเหตุ หมดปัจจัย เพราะความที่รู้เหตุอันนั้น
อย่างเหตุที่เกิดทุกข์มันมีอยู่ทุกขณะ แต่เรารู้เหตุทุกข์จะเกิดขึ้น ทุกข์มันก็หายสลายไป เรารู้จักเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยยังมีอยู่ แต่เรารู้เหตุปัจจัยเราก็ปล่อย มันก็หมดไปอย่างนั้น
ปุจฉา : ถ้าหากว่าเรารู้ว่า เหตุเกิดขึ้นเพราะอะไรแล้ว เรายังไปยึดเหนี่ยวมันอยู่ อย่างนี้เราก็จะไม่พ้นทุกข์ใช่ไหมคะ
วิสัชนา : ใช่ แต่ให้รู้นะ รู้ไม่ยึด พูดง่าย ๆ ซะ รู้ไม่ยึด มันเกี่ยวกับภพชาติ
อย่างแก้วใบนี้มันแตก เราก็เกิดทุกข์ เกิดชาติ ไม่สบายใจมันเป็นทุกข์อย่างนี้เรียกว่าชาติ มันไปเกิดในภพ ภพนั้นคืออุปาทานมั่นหมายในแก้วใบนั้น ถ้าเราไม่มั่นหมายในแก้วใบนั้น เมื่อมันแตก ความทุกข์ก็ไม่มี ๆ ก็คือชาติไม่เกิดที่นั่น อย่างนี้เป็นต้น คือมันหมดเหตุหมดปัจจัย เพราะว่าอะไร เพราะเรารู้แล้วว่า แก้วใบนี้แตกมันจะเป็นทุกข์ เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด แต่เรารู้ว่าสภาวะของแก้วใบนี้เป็นของไม่แน่นอนอยู่แล้ว เราชัดเจนแล้ว เราก็ดับเหตุอันนี้ ทุกข์มันก็เกิดขึ้นไม่ได้อย่างนี้ เหตุผลของมันก็มีอยู่เรื่อย ๆ ไป แต่ความรู้แจ้งนี้น่ะ สำคัญมากเรื่องนี้