เห็นตามเป็นจริง
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
คัดลอกจาก http://www.isangate.com/index2.html
เรามาปฏิบัติกันตามสบายนะ ตามสบายใจ คนมีปัญญาได้ประโยชน์หลายมีประโยชน์มาก สมัยก่อนการสวดมนต์ทำวัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นอุบายฝึกหัดผู้ใหม่นั่นเอง ถ้าเราเข้าใจในการปฏิบัติทุกคนแล้วก็ไม่มีอะไรโดยมากอยู่ตามป่าไม่ค่อยได้ทำวัตรกันหรอก สมัยท่านอาจารย์ทองรัตน์ปฏิบัติอยู่น่ะอยู่กันไปเฉยๆ เรื่อยๆ วันพระรวมกันทำวัตรและก็มีการประชุมกัน กิจวัตรนี้ถ้าหากว่าเราทำอะไรมากไปแล้วมันยุ่ง แต่ถ้าอยากจะทำประจำ เจ้าของอยู่กุฏิของเราก็ทำได้ สวดมนต์ทำวัตรฝึกตัวเองตอนเช้าก็ดีตอนเย็นก็ดี เราทำของเราเองทำเป็นส่วนตัวเรา
ผู้ปฏิบัตินี่ก็ไม่เหมือนกัน บางองค์นานๆ พูดทีหนึ่งก็เข้าใจ บางองค์ก็ชอบจ้ำจี้จ้ำไชตอนเช้าตอนเย็น ชอบอย่างนั้น บางองค์ชอบเรียบๆ บางองค์ก็ชอบขู่เข็ญกิเลส สารพัดอย่าง การปฏิบัตินี้จึงเป็นอุบายเพื่อจะสั่งสอนจิตของเราให้สงบคำสอนของพระล้วนแล้วแต่เป็นอุบาย ให้เรารู้จักความประสงค์ของพระพุทธเจ้าของเรา ที่เรามาบวชในพุทธศาสนานี้ พระพุทธองค์ทรงมีพุทธประสงค์ อยากจะให้พุทธบริษัทนี้รู้จักข้อประพฤติปฏิบัติ เพื่อทรงพระธรรมวินัย คำสอนของท่านไว้ ให้พระศาสนาของท่านยืนยงคงทนอยู่ตลอดกาลนานนั่นเอง ผู้ปฏิบัติทุกคนทุกท่านก็ต้องอาศัยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญาเป็นกำลัง ท่านกล่าวว่าเป็นกำลังทั้ง ๕ สิ่ง ๕ อย่างนี้ท่านเรียกว่าพละ เป็นกำลังหรือพลัง พลังของจิต
ศรัทธา แปลว่า ความเชื่อ ถ้าพูดง่ายๆ ก็ว่า ศรัทธานี้มีกันทุกคน แต่ว่ามันไม่ถึงศรัทธา ศรัทธามันเชื่อ แต่จิตเราไม่ค่อยจะเชื่อ มนุษย์ทั้งหลายไม่ค่อยจะเชื่อกัน พูดง่ายๆ ก็เรียกว่า บวชมานี้ยังไม่มีศรัทธา ผู้มีศรัทธาจะต้องเคารพคารวะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่เสมอ ระวังสิ่งที่ผิดจากพระธรรมวินัย ถ้ารู้จัก ผู้ปฏิบัติย่อมไม่กล้าทำ เพราะเชื่อว่าอันนี้มันผิด อันใดที่ผิดก็เรียกว่าอันนั้นเป็นอาบัตินั่นเอง อาบัติก็แปลว่าผิดไม่ใช่เป็นอย่างอื่น
เรามาประพฤติปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากความผิด ถ้าเรายังมีความผิดอยู่ ก็ยังไม่มีความบริสุทธิ์สมบูรณ์ เมื่อยังไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ก็ให้เอื้อเฟื้อศึกษาให้รู้อะไรที่ยังไม่รู้เราจะเมินเฉยเสียก็ไม่ได้ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา เชื่อว่าผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก อย่างนี้ อะไรที่เรายังหลงผิดอยู่ ก็เรียกว่าอันนั้นเรายังไม่รู้จัก ไม่รู้จักเราก็เคารพอยู่ สังวรสำรวมอยู่ตลอดเวลา แล้วก็อาศัยคนอื่น อาศัยครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอน อาศัยความรู้สึกนึกคิดในการปฏิบัติของเราเองด้วยเทียบเคียงกันไป ท่านเรียกว่าศรัทธา อย่าไปเห็นว่าเรามีศรัทธาเราจึงจะบวช แต่บวชแล้วไม่ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าของเรา นั่นเรียกว่าศรัทธายังไม่ถึงที่สุดนะ ศรัทธาก็ต้องพยายามทำ อันนี้ยังไม่เรียบร้อยแต่ใจก็พยายามอยู่เสมอ นี่เรียกว่า ศรัทธา ความเชื่อ ต้นตอก็เรียกว่าต้องเป็นผู้มีศรัทธา ถ้าปราศจากศรัทธาแล้ว มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร
ถ้ามีศรัทธาแล้วก็มีความเพียร เพียรเพื่ออะไร? เพียรเพื่อจะละข้อผิดอันนั้น พยายามแสวงหาทางที่ถูกอยู่เสมอ พระพุทธองค์ท่านสอนว่า เมื่อบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ให้ทำตัวเป็นพระภิกษุใหม่อยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าเก่า ให้เป็นผู้ใหม่อยู่เสมอ สยดสยองอยู่ต่อข้อปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอด้วยใจ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จิตก็ปรารภอยู่ว่าเราจะทำให้อะไรที่ตรงนั้นเรียบร้อย ได้โดยวิธีอย่างไร? เราจะมีความมักน้อยโดยวิธีอย่างไร? จะปฏิบัติอย่างไรถึงจะเป็นอย่างนั้น ให้เรารำลึกอยู่อย่างนี้เสมอ ให้รู้จักความผิดชอบเฉพาะตัวเราอยู่ทุกเวลานั่นเอง ที่ท่านเรียกว่า อัตโนโจทยัตนัง...จงเตือนตนด้วยตนเอง อันนี้สำคัญกว่า เพราะว่าตนที่สมมตินั้นก็อยู่ที่เรา นั่งเราก็เอาตนนั่ง นอนเราก็เรียกว่าตน อะไรก็เป็นตนทั้งนั้นแหละ
เรานั่งอยู่เราคิดอย่างไร? ในเวลานี้เราทำอะไรอยู่? เรียกว่า เราตามดูตัวของเจ้าของเราพยายาม การกระทำเช่นนี้ท่านเรียกว่า วิริยะ คือเพียร เพียรเพื่อจะละความชั่ว ประพฤติความดี ไม่ใช่เพียรอย่างอื่น เพียรละสิ่งที่ผิดปฏิบัติให้ความผิดหมดไป...ก็เหลือแต่ความที่ไม่ผิด ความที่ไม่ผิดมีอยู่ก็เรียกว่า...ของที่บริสุทธิ์ เรียกว่าเป็นผู้เพียร วิริยะรัมภะ ปรารภความเพียร เราจะนั่ง จะยืน จะเดิน จะนอนอยู่ก็ตามมีความปรารภอยู่เสมอ ทำอย่างไรความอยากของเรา ซึ่งมีล้นเหลืออยู่ในใจนี้จะเบาลงไป จะเบาลงไป จะมักน้อย...จะสันโดษ จะมีความเห็นชอบตามธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าของเรา นั่นเรียกว่าปรารภความเพียรอยู่เสมอ...ไม่ลืม
เมื่อมีความเพียรอยู่ก็มี สติ สติคือความระลึกได้เมื่อเราพูดอะไร ทำอะไรอย่างไรอยู่ เป็นผู้มีสติตื่นอยู่สะดุ้งอยู่เสมอ เมื่อเรามีสติรู้ง่าย มันก็รู้เร็ว เมื่อมีสติอยู่ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกันกับสัตว์บางอย่างเช่นแมลงมุมที่มันทำรังในอากาศ ใยมันผ่านไปผ่านมาเป็นรังขึงอยู่เมื่อเสร็จแล้วตัวมันก็หมกอยู่ตรงจุดกลางของรังอันนั้น เฉยอยู่ นิ่งอยู่สงบอยู่ด้วยมีสติอยู่ ถ้าแมลงวัน แมลงผึ้ง แมลงต่างๆ มาผ่านใย มันก็มีความสัมผัสสะดุ้งรู้จัก แมลงมุมก็จะตื่นขึ้นรีบไปจับสัตว์นั้นไว้เป็นอาหาร เมื่อจับเสร็จแล้วก็รีบมาอยู่ยังจุดเก่า ทำความสงบระงับ มีสติ รู้อะไรจะมาถูกเข้าสัมผัส เมื่อไรแมลงมุมก็ตื่น เพราะว่าแมลงมุมอยู่ด้วยสติ ก็เพราะมันจ้องกินอาหาร มันระมัดระวังอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา เมื่อจับแล้วก็วิ่งมาอยู่ที่เก่า อย่างนี้เป็นวิสัยของแมลงมุมที่จับสัตว์กิน
แมลงมุมนั้นก็เหมือนกันกับจิตของเรา จิตของเรานั้นอยู่จุดกลางของอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต มีความรู้สึกตื่นอยู่ไม่ว่าอะไรจะมาสัมผัสทางตา ตาเห็นรูป...ก็รู้สึก มีสติอยู่ หูฟังเสียงก็รู้สึก มีสติอยู่ ได้กลิ่นเหม็นหอมอะไร ก็มีความรู้สึก ลิ้นสัมผัสโอชารสต่างๆ ก็รู้สึก ธรรมารมณ์ที่เกิดกับใจ ก็รู้สึก นี่เรียกว่าสัมผัสสัมผัสครั้งแรกก็รู้สึกเฉยๆ รูปก็ดี รสก็ดี กลิ่นก็ดี เสียงก็ดี โผฏฐัพพะก็ดี ธรรมารมณ์ก็ดี เมื่อกระทบก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น พอกระทบแล้วมีความรู้สึกต่อไปอีก ซึ่งมันจะเกิดกิเลส เกิดตัณหา เกิดราคะ เกิดโทสะ เกิดโมหะ ผู้ประพฤติปฏิบัตินี้ก็เหมือนกันฉันนั้น ถ้าเราระมัดระวังอยู่สังวรสำรวมอยู่ด้วยอินทรีย์ จะรู้จักตัวของเจ้าของรู้จักจิตของเจ้าของว่า จิตเจ้าของนี้เป็นไปในลักษณะอันใด? ก็รู้จักเมื่อเรารู้จักจิตของเจ้าของแล้ว เราก็จักสั่งสอนจิตของเจ้าของเท่านั้นแหละ ฉะนั้น ตัวสตินี้จึงเป็นตัวที่สำคัญมากที่สุด เมื่อมีสติแล้วเราสังวรสำรวมอยู่ ก็ดึงเอาปัญญามาพิจารณาว่า รูปนี่เป็นอย่างไร เสียงนี่เป็นอย่างไร มีอะไรไหม? ปัญญามาช่วยพิจารณา อันนี้เรียกว่าสติมีคุณค่า
สมาธิ คือความตั้งใจมั่น สมาธินั่นก็เกิดมาจากสตินั่นแหละสติ-สมาธิ ถ้าพูดเรื่องสมาธิ ตามศัพท์สมาธิท่านหมายถึงความตั้งใจมั่น อย่างเราจะละอารมณ์สิ่งที่ชั่วสิ่งที่ไม่ดีน่ะ ไม่คืนคลายมันมั่นในข้อประพฤติของเราในข้อปฏิบัติของเรา สมาธิมีหลายขนาด ที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้ สมาธิที่นั่งแล้วหลับตากำหนดอันใดอันหนึ่งขึ้นมาเป็นอารมณ์ อย่างอานาปานสติที่เราอบรมกันนี้เอาลมหายใจเป็นอารมณ์ เป็นเครื่องหมาย เอาเป็นจุดเด่นที่สุด ทำไมถึงเอาเป็นอารมณ์เพราะว่าจิตนี้มีอารมณ์หลายอย่าง หูฟังเสียงก็เป็นอารมณ์หนึ่ง จมูกดมกลิ่นก็เป็นอารมณ์หนึ่ง มันหลายอารมณ์ สิ่งที่มันหลายๆ อารมณ์มันฟุ้งซ่านดังนั้นท่านจึงรวมจุดมากๆ มาเป็นอารมณ์เดียว เราจะเลือกอันใดอันหนึ่งก็เอา
ที่วัดเรานี้ก็สอนอานาปานสติ อานาปานสตินี้เป็นของง่าย เพราะอะไร เพราะมีอยู่แล้ว เรานั่งอยู่เราก็หายใจอยู่ เรายืนอยู่ก็หายใจอยู่นอนเราก็หายใจของเราอยู่ ดังนั้นก็กำหนดเอาสิ่งที่มีอยู่ใกล้ๆ เป็นอารมณ์ หายใจเข้าหายใจออกเอาอันนี้เป็นอารมณ์ เพื่อจะให้จิตมั่นในอารมณ์ คืออานาปานสตินี้ไม่ให้ฟุ้งซ่านไปหลายอย่าง อารมณ์มันมากแต่เราจะทำให้มันน้อย คือเป็นอารมณ์เดียว เราจึงยกลมขึ้น หายใจเข้า-ออกกำหนดว่า พุทโธ พุทโธ ไว้ในใจของเราเสมอ มีความระลึกอยู่ รู้อยู่ ตื่นอยู่ในพุทโธอันนั้น นี่เรียกว่าเป็นอารมณ์ เมื่อเราทำไป หายใจเข้าก็เป็นพุท หายใจออกก็เป็นโธ พุทโธนั่นก็หมายความว่าผู้รู้อยู่นั่นเอง เรารู้อยู่ด้วยสติของเราที่ตื่นอยู่ ถ้าเรารู้จักจิตของเจ้าของ มีสติอยู่ เราก็รู้จักว่าจิตของเจ้าของคิดอะไร? อะไรเป็นจิตก็เข้าไปเห็นชัด
ผู้ที่มีอำนาจปรับเอาอารมณ์ทั้งหลายนั่นแหละเรียกว่าตัวจิต สมมติว่าจิตหรือใจ ตัวที่กำหนดรู้ ลมเข้าก็รู้จัก ลมออกก็รู้จักคนที่รู้ลมมันเข้ามันออกนั่นแหละคือตัวจิต เราสมมติว่าเป็นตัวจิตใครตามรู้อยู่เสมอ เราก็รู้จักว่าใครตามรู้อยู่ ผู้ตามรู้อยู่ก็เรียกว่าจิตอารมณ์นั้นก็เป็นอารมณ์ จิตนั้นเป็นตัวจิต นั่นคือผู้รู้ก็เป็นผู้รู้ อารมณ์ก็เป็นอารมณ์ เป็นคนละตอนคนละท่อน ท่านจึงให้ทำเป็นสมาธิ เมื่อเป็นสมาธิมีอารมณ์อันเดียวแล้ว จะเห็นจิตของเจ้าของว่า เออ! จิตนี้เป็นอย่างหนึ่ง อารมณ์นี้เป็นอย่างหนึ่ง ผู้ที่รู้สึกอารมณ์มากระทบเป็นอย่างนั้นก็อย่างหนึ่ง สองอย่างนี้ถ้าหากว่าเราไม่เป็นสมาธิ ไม่ทำสมาธิให้มีอารมณ์เดียวยืนยันอยู่ เราก็ไม่รู้จักจิตของเจ้าของ จิตเจ้าของเศร้าหมองก็ไม่รู้เรื่อง จิตผ่องใสก็ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้เพราะอะไร? เพราะเราไม่ได้สั่งสอนจิตของเรา
พระพุทธองค์ท่านบอกว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใครตามดูจิตของตนคนนั้นจะพ้นจากบ่วงของมาร บ่วงของมารนั้นคืออะไร? คือรูปหนึ่ง เสียงหนึ่ง กลิ่นหนึ่ง รสหนึ่ง โผฏฐัพพะหนึ่ง ธรรมารมณ์หนึ่งอันนี้แหละเป็นบ่วงที่จะผูกจิตผู้ที่ไม่รู้ ให้เข้าไปในอำนาจของมันเข้าไปในอำนาจของความเกลียดหรือความรัก ถ้าหากว่าเรารู้จิตของเจ้าของเช่นนั้น ทั้งเรามีสติอยู่ เราก็รู้ว่าอันนี้เป็นอารมณ์ อันนี้เป็นจิต ถ้าเรามองเห็นว่าอารมณ์เป็นอารมณ์ จิตเป็นจิต เราก็แยกมันออกเป็นสองอย่าง เราก็รู้จักว่าจิตไปยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ อารมณ์นั้นท่านเรียกว่าโลก หลงอารมณ์ก็คือหลงโลก หลงโลกก็คือหลงอารมณ์ ใครเป็นคนหลง? จิตผู้รู้นั่นแหละมันหลง หลงตามอารมณ์ ที่ดีก็หลงไป ชั่วก็หลงไปตาม สุขก็หลงไป ทุกข์ก็หลงไป เอาตัวไปแทนเสียว่าเป็นตัวทุกข์ ความเป็นจริงนั้น จะทุกข์ก็เพราะมีอุปาทานยึดมั่นในอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น เลยไปเป็นเจ้าของอารมณ์
ความเป็นจริงนั้นอารมณ์ก็เป็นอารมณ์ จิตก็เป็นจิต มันคนละอย่างกัน เมื่อเราเข้าไปยึดว่าอันนั้นดี อันนั้นสวยอย่างนี้เป็นต้น ไม่ใช่ว่าเห็นเฉยๆ เห็นแล้วมีอุปาทานมั่นหมาย ไปยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขานั้นเรียกว่าบ่วงของพญามารผูกไป ความพอใจก็ผูกไป ความไม่พอใจก็ผูกไป ความสุขก็ผูกไป ความทุกข์ก็ผูกไป ชั่วก็ผูกไป ดีก็ผูกไปอย่างนี้ก็เพราะว่าเราไม่รู้จักจิต ไม่รู้จักอารมณ์ ถ้าเรารู้จักจิตของเจ้าของแล้ว อารมณ์มันก็เป็นอารมณ์ จิตมันก็เป็นจิต เป็นคนละอย่างถ้าเราไม่รู้จักอันนี้ เราก็เข้าไปเป็นเจ้าของอารมณ์อันนั้น เราก็ต้องรับรองอารมณ์อันนั้นอยู่ ติดตามอารมณ์อันนั้นอยู่ ถ้าเราเห็นเช่นนี้ว่าอันนี้เป็นจิต อันนี้เป็นอารมณ์ เราก็ต้องรู้จักสอนจิตของเจ้าของ เมื่อเรามีความสงบอยู่ ถูกอารมณ์ขึ้นมาเราก็รู้จักว่าอันนี้เป็นอารมณ์ อันนี้เป็นจิต เปรียบง่ายๆ คือมันอยู่ใกล้ชิดกัน เหมือนน้ำมันกับน้ำถ้ามันมีน้ำหนักต่างกัน จะเอาใส่ในขวดเดียวกันก็ได้ แต่ว่ามันไม่แทรกซึมเข้าหากัน จิตกับอารมณ์ก็เป็นอย่างนั้น ถ้ารู้จักว่าอันนั้นเป็นอารมณ์ อันนั้นเป็นจิต จะเห็นจิตเป็นจิต เห็นอารมณ์เป็นอารมณ์ สักแต่ว่าอารมณ์เท่านั้น
อารมณ์นี้แหละท่านเรียกว่าโลก เราหลงโลกก็คือหลงอารมณ์หลงอารมณ์ก็คือหลงโลก เอาจิตกับอารมณ์ไปพัวพันกันจนแยกกันไม่ได้ แยกไม่ออกว่าอะไรเป็นจิต...อะไรเป็นอารมณ์ อารมณ์นี้ก็สักแต่ว่าอารมณ์ เห็นจิตก็สักแต่ว่าจิต เป็นธรรมธาตุอันหนึ่งเป็นอยู่อย่างนั้น เขาเป็นอยู่อย่างนั้น ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาเขาก็เป็นของเขาอยู่อย่างนั้น ถ้าหากว่าเราไม่รู้จักสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เราก็ไปสำคัญมั่นหมายว่า ทำไมมันเป็นอย่างนั้น ทำไมมันเป็นอย่างนี้ความเป็นจริงอันนี้เป็นของเก่าแก่ มันตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงให้ปฏิบัติ ให้พิจารณา ที่ท่านสอนว่า ให้ท่านทั้งหลาย หรือสูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้อันน่าตระการดุจราชรถ อันพวกคนเขลาทั้งหลายหมกอยู่แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่ ท่านพูดตรงเข้าไปเลย เห็นโลกที่มันวุ่นวาย มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น โลกนี้ไม่ใช่ว่ามันวุ่นวายมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ที่เราเข้าไปหมายมั่นไม่พอใจกับมัน มันก็วุ่นวายซิ ถ้ารู้ตามเป็นจริงด้วยปัญญาแล้ว ก็เห็นว่าไม่วุ่นวาย แต่คนไม่มีปัญญาแล้ว ก็เข้าใจว่าที่นั่นมันวุ่นวาย พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสอย่างนั้น ให้มาดูโลกอันนี้...อันน่าตระการดุจราชรถ เพราะคนเขลาคือคนโง่ คือคนไม่รู้จัก คือคนหลงหมกอยู่ แต่ผู้รู้ทั้งหลายรู้แล้วไม่ข้องอยู่ ที่นั่นไม่วุ่นวายที่นั่นไม่ขัดข้องก็เพราะเห็นว่าของเขา
เป็นของเขาอยู่อย่างนั้น พื้นฐานของการประพฤติปฏิบัติ พื้นฐานของความเห็นก็ต้องเป็นอย่างนั้น ให้รู้ ถ้าเราไม่รู้มันก็เป็นทุกข์ ไม่รู้ ก็เข้าไปยึดมั่นถือมั่นตลอดกาลตลอดเวลา
อารมณ์มาทางตาก็มี หูก็มี จมูกก็มี ลิ้นก็มี กายก็มี เกิดมาทางจิตเฉยๆ ก็มี คือมีความรู้สึกเกิดขึ้นมาเดี๋ยวนั้น ทั้งๆ ในเวลานั้นตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่สัมผัสถูกต้องอะไร แต่ว่ามันเป็นธรรมารมณ์ เป็นธรรมเก่าที่เก็บไว้ ในเวลานั้นมันระเบิดขึ้นมาอยู่ที่ใจเพราะว่าในเวลานั้นไม่ได้ยิน ไม่ได้เห็น ไม่อะไรก็ตามทีเถอะ แต่ว่าอันนั้นมันมีอยู่เป็นของเก่า เป็นธรรมารมณ์ เป็นธรรมะ + อารมณ์นั่นเอง มันฝังแน่นอยู่ในใจเรียกว่า อุปธิธรรม เมื่อได้ช่องเมื่อไร มันก็ระเบิดขึ้นมา เกิดความยินดีเกิดความยินร้ายขึ้นมา อันนี้คือของเก่าที่มีอยู่แล้ว ในปัจจุบันนั้น ตาก็ไม่ต้องเห็น หูก็ไม่ต้องได้ยิน จมูกก็ไม่ได้กลิ่น ลิ้นก็ไม่ได้รส กายก็ไม่ถูกต้อง แต่ว่ามีอารมณ์ทางจิตเกิดขึ้นมาเฉยๆ ที่เกิดขึ้นมาที่จิตนั้น จิตก็ยังหลงของมันอยู่เรื่อยๆ ยังไปหลงรัก ยังไปหลงใคร่อยู่ในสถานที่นั้นอีก ถ้าเราเห็นเช่นนี้ ถ้าเราดูเช่นนี้ เราทำสมาธิเห็นชัดอยู่อย่างนี้ เราก็พยายามดูซิว่า เกิดแล้วมันก็ดับ ดับแล้วมันก็เกิด เกิดแล้วมันก็ดับ มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น
พระโยคาวจรท่านเห็นชัดว่า อันนี้เป็นธรรมธาตุอันหนึ่งเท่านั้นเรียกว่า ธรรมะ เกิดแล้วก็ดับไป ดับแล้วก็เกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป พระผู้มีพระภาคท่านให้เห็นจิตอันนี้เป็นของเกิดดับอยู่เท่านั้นมันไม่เป็นไปอย่างอื่นอีกถ้ารู้ชัดแล้ว มันก็เกิดดับของมันอยู่อย่างนั้นก็เหมือนโลกน่ะแหละ ถึงเวลาสว่างมันก็สว่าง ถึงเวลามืดมันก็มืด มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น แต่คนที่ยุ่งก็ไปให้โทษมันว่า มันมืดเร็วไปหรือมันสว่างเร็วไปอย่างนี้ ถ้ารู้ตามเป็นจริงแล้ว ก็เป็นเรื่องของมันเป็นอยู่อย่างนั้น อันนั้นเรียกว่าเราหลง พระพุทธเจ้าให้ประพฤติปฏิบัติเพื่อให้หายหลง พระโยคาวจรคือใคร? ก็คือพวกเรานี่เองแหละ ให้ศึกษาเข้าไปเห็นความจริง เมื่อจิตสงบมีสติอยู่ มีสัมปชัญญะอยู่ เป็นสมาธิมันก็เห็น ในที่สงบระงับ เมื่อเห็นอาการทั้งหลายเป็นเช่นนั้น ก็เกิดการวิเคราะห์วิจารณ์ขึ้นมา เพ่งสิ่งที่เกิดขึ้นมาอยู่นั้น เป็นอย่างนั้นอยู่เสมอ เมื่อเห็นอาการตามความเป็นจริงของมัน ก็รู้ว่ามันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น เมื่อเห็นชัดเช่นนั้น เราก็ไม่ต้องไปเพิ่มอะไรขึ้นอีก ไม่ต้องไปถอนอะไรมันอีก ปล่อยมันอยู่ตามเช่นนั้นเสมอ คนที่ไปเพิ่มอะไรเข้ามา ไปถอนอะไรออกไป ก็คือคนหลงอารมณ์ จึงเกิดยุ่งเกิดวุ่นวายเกิดความไม่สงบ
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าให้เห็นโลก คือเห็นโลกนี้ตามเป็นจริงอยู่ ท่านให้เห็นชัดด้วยปัญญาว่า มันเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่มีทางจะแก้ไข ท่านให้แก้ไขตัวเราเอง ไม่ใช่ไปแก้ไขอย่างอื่น ถ้าเราไปแก้ไขอย่างอื่นนั้นก็เรียกว่า มันเป็นภายนอก นึกว่าเหตุมันเกิดมาจากนั้นเช่นเรามองดูรูปหรือเราฟังเสียง ก็เห็นว่ารูปนั้นเราไม่ชอบ หรือเสียงนั้นเราไม่ชอบ ก็นึกว่ารูปนั้นเป็นเหตุ เสียงเป็นเหตุ ความเป็นจริงเหตุไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้น เหตุอยู่ที่จิตของเจ้าของนี่เอง เพราะเราเข้าไปสำคัญมั่นหมายว่า มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนี้ ความจริงนั้นเหตุเกิดที่เรา แต่เราไปเข้าใจว่าเหตุเกิดอยู่ที่รูป เสียง กลิ่น เมื่อมันกระทบถูกต้อง มันเกิดจากความเห็นนี้เอง อันนั้นมันก็อยู่สภาพของมันอย่างนั้น มิแปรเป็นอย่างอื่น ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสให้พุทธบริษัททั้งหลายมาดูโลกอันนี้ให้แจ้ง ให้รู้เรื่องตามความเป็นจริงของมัน ถ้ารู้ตามความเป็นจริงของมัน แล้วก็ไม่มีทางอะไรจะแก้ไขเห็นตามมันเสีย ปัญญารู้เท่าสังขาร ว่าสังขารนั้นเป็นจริงอย่างไร ให้รู้เท่าตามความเป็นจริงอย่างนั้นทุกอย่าง หูเราได้ยินก็ดี อายตนะทั้งหลายที่รวมอยู่นี้ มันเป็นสัจจธรรมทั้งนั้น คือความจริงทั้งนั้น แต่เราไม่รู้จักความจริงก็เลยกลายเป็นของปลอมไปเสีย เข้าไปปรุง ปรุงให้มันเป็นอย่างนั้น ปรุงให้มันเป็นอย่างนี้ ไปแต่งให้มันเป็นอย่างนั้น แต่งให้เป็นทุกข์ ก็เป็นทุกข์ ปรุงไปอย่างอื่นก็ไม่เป็น มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ถ้าเราเห็นสั้นๆ เช่นนี้ เราก็รู้จักสั่งสอนจิตของเจ้าของแล้วว่าอันนี้เป็นอารมณ์ อันนี้มันเป็นจิต
อารมณ์นี้ก็สักว่าอารมณ์ จิตนี้ก็สักว่าจิตเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน เราเขา ผลที่สุดแล้วก็ไม่มีใครทำอะไรทั้งนั้น อารมณ์ก็เป็นเรื่องอนิจจัง จิตก็เป็นอนิจจัง ตัดผ่านไปเสียไม่ต้องข้องแวะไม่ต้องวิจัยมาก เพราะรู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น เห็นอารมณ์ที่เกิดดับก็ดี เห็นอารมณ์ดีก็ตาม อารมณ์ชั่วก็ตาม ก็เรียกว่าเป็นอนิจจังทั้งนั้น ถ้าพูดให้ง่ายๆ ก็ว่า ตัวอนิจจังนี้แหละคือตัวพระพุทธเจ้าล่ะ ตัวสัจจธรรมล่ะตัวที่จะทำให้พระพุทธองค์ของเราให้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า สาวกทั้งหลายก็เหมือนกันฉันนั้น ถ้าเห็นอนิจจังชัดเจน ก็เป็นพระสมบูรณ์นั่นเอง เห็นอนิจจังเป็นของไม่เที่ยง ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ อุปาทาน มั่นหมายก็ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ คือมี ๕ กอง กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขารกองวิญญาณ เราไปยึดมั่นถือมั่นว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้ เป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขาโดยใช่เหตุ ตามความเป็นจริงแล้วอันนี้มันเป็น ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนไม่ใช่เราไม่ใช่เขา เรียกว่ามันเป็นกอง กองรูปก็เป็นกองหนึ่ง กองเวทนาก็คือกองสุข...กองทุกข์ นี่เป็นกองหนึ่ง สัญญานี้ก็เป็นกองหนึ่ง สังขารนี้ก็เป็นกองหนึ่ง วิญญาณนี้ก็เป็นกองหนึ่ง คนคนหนึ่งมีอยู่ ๕ ก้อนหรือมีอยู่ ๕ กอง เราจะอยู่ไปได้ด้วยขันธ์ ๕ นี้
ผู้ที่จะมีความทุกข์มีความเดือดร้อน ก็เพราะยึดเอาก้อนนี้มาเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขา ใครมันเป็นทุกข์? ขันธ์ ๕ นี้แหละเป็นทุกข์ เพราะเห็นขันธ์ ๕ นี้เป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขา คือไปยึดหมายสิ่งที่ไม่เป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขานี้แหละ มาเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขา อันนี้มันตรงกันข้ามเลย สิ่งที่ไม่ใช่ตัวใช่ตน เราเข้าใจว่าตัวว่าตน สิ่งที่ไม่ใช่เราใช่เขา เราก็เข้าใจว่าเป็นเราเป็นเขา อันนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากหลักธรรมะ เมื่อผิดจากหลักธรรมะที่เกิดทุกข์ เพราะสิ่งทั้งหลายเป็นก้อนเป็นกองเฉยๆ กองรูปก็เป็นกองหนึ่ง กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงให้พิจารณาให้เห็นว่า ขันธ์ ๕ นี้เกิดแล้วก็ดับ มันเกิด-ดับ เกิด-ดับเท่านั้น
หาอย่างอื่น นอกนั้นไม่มี ทุกข์เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สุขเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ยั่งยืนถาวรอยู่ มันเป็นอยู่อย่างนั้น ท่านจึงสอนว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้ไม่เที่ยง แต่คนเราทั้งหลายมองไม่เห็น เราว่าเป็นของเที่ยง จึงขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา ที่ท่านเห็นธรรมะก็คือท่านเห็นตรงนี้ ที่ท่านตรัสรู้ธรรมะก็คือตรัสรู้ตรงนี้ ไม่ใช่รู้อย่างอื่น เห็นชัดเรื่องขันธ์ ๕ นี้ว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา จิตก็ปล่อยวางเห็นแต่ว่าขันธ์ ๕ เกิดแล้วก็ดับไปเท่านั้น มันเกิด-ดับ เห็นสิ่งที่เกิด-ดับอยู่ตลอดเวลา เมื่อเห็นเช่นนี้ก็ไม่รู้จะไปทำอะไรมัน นี่คือความเห็นที่ถูกต้อง
เห็นง่ายๆ คิดง่ายๆ ว่ามันเกิด-ดับเท่านั้นแหละ วูบเดียวก็เกิดขึ้นมา วูบเดียวก็ดับไป หาสิ่งใดจะมาเกิด-ดับไม่มีนอกจากสุขกับทุกข์ ทุกข์มันเกิดแล้วก็ดับไป สุขเกิดแล้วก็ดับไป มันเป็นเรื่องเท่านี้เอง ถ้าเราไม่รู้เรื่องสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ก็เหมือนว่าเราจะไม่รู้ธรรมะ ถ้าเรารู้ธรรมะ ก็เห็นเรื่องทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นอยู่อย่างนี้ หมดทางที่จะแก้ไข เรียกว่าเห็นโลก เห็นโลกเป็นอย่างนั้น ถ้าเห็นแล้วก็ไม่ต้องแก้ไข ถ้าเห็นแล้วใจสบาย เห็นโลกตามเป็นจริงอย่างนั้นก็เรียกว่าบรรลุธรรมะ คือเห็นรูปเห็นนามนี้เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เมื่อเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เราก็เห็นออกจากตัวของเรา ออกจากตนของเรา ก็เลยเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน มีแต่ขันธ์ ๕
ในสมัยหนึ่ง พระปุณมัณตนีบุตรจะออกไปธุดงค์ พระสารีบุตรซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระปุณมัณตนีบุตร ได้ถามปัญหาแก่ลูกศิษย์ของท่านว่าถ้ามีคนมาเรียนถามท่านว่า พระขีณาสพตายแล้วเป็นอะไร? พระปุณมัณตนีบุตรตอบว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดแล้วดับไป ท่านไม่เห็นว่าท่านเกิดแล้วท่านดับไป ตรงนั้นไม่มีท่านไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีเรา ไม่มีเขา ท่านก็เลยตอบคำถามพระอาจารย์ว่าพระขีณาสพตายแล้วไม่เป็นอะไร ท่านเห็นแต่เพียงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดแล้วดับไปเท่านั้นพระสารีบุตรก็พอใจในความเห็นของลูกศิษย์ ว่าอย่างนี้ไปได้แล้ว ท่านก็ปล่อยให้พระปุณมัณตนีบุตรไปธุดงค์ ท่านถามอย่างนั้นเพื่อสอบความเข้าใจของลูกศิษย์ เมื่อลูกศิษย์ตอบมาตามความเป็นจริงเช่นนั้นแล้ว มันหมด ตอบได้หมดที่จะเข้าใจว่าตัวว่าตนตรงนั้นไม่มี พระขีณาสพตายแล้วไม่เป็นอะไร พระขีณาสพก็คือผู้สิ้นไปแล้วสิ้นกิเลสทั้งหลายแล้ว ตายแล้วไม่เป็นอะไร พระปุณมัณตนีบุตรรู้แล้ว ท่านประสบมาแล้วว่าเป็นอย่างนั้น ท่านไม่เห็นว่ามีอะไร เห็นแต่เพียงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดแล้วดับไป ไม่มีใครเกิดไม่มีใครตาย
อย่างพระโมกขราชเห็นสุญญตาธรรมเป็นธรรมที่ไม่ตาย ถ้าถึงจุดอันนั้นแล้วไม่ตาย ทำไมถึงไม่ตาย? มันไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ถ้าไม่มีคนก็ไม่มีใครจะตาย ไม่มีสัตว์ก็ไม่มีใครจะตาย เห็นชัดแล้วว่ามันพ้นจากตัวตนเราเขา เห็นแต่ธาตุ หรือกองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลมเห็นแต่ขันธ์ ๕ มีแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่มีคนไม่มีสัตว์ ตรงกับพราหมณ์ที่เข้าไปถามพระพุทธเจ้าว่า พระผู้เป็นเจ้าคนตายแล้วเกิดมีไหม? พระพุทธเจ้าท่านย้อนถามพราหมณ์ ใครจะมาเกิดมาตายอยู่ที่นี่ ถ้าพราหมณ์มีความเห็นเช่นนี้ ก็เหมือนกันกับที่ว่าลูกศรนั้นแทงหัวใจพราหมณ์ อยู่เท่านั้นแหละ ขวางอยู่ตลอดเวลาแต่ว่าเอามันออกยาก มันเห็นยาก คือมันติดสมมติ ถ้าเราเห็นสมมติเห็นวิมุตติตามความเป็นจริง แล้วมันก็สบายไม่มีใครเกิด ไม่มีใครแก่ไม่มีใครเจ็บ ไม่มีใครตาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมันเป็นไปต่างหาก ถ้ามันเป็นเช่นนั้น อะไรจะเกิดที่ไหนมีไหม? ความโลภจะเกิดขึ้นมีไหม? ความโกรธจะเกิดขึ้นมีไหม? ความหลงจะเกิดขึ้นมีไหม?
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาได้เพราะคน เพราะสัตว์ ถ้าท่านเห็นว่าพ้นไปจากสัตว์ พ้นไปจากคนแล้ว กิเลสจะเกิดกับอะไร? ไม่มีที่เกาะ ไม่มีกิเลส โลภ โกรธ หลง หมดไป เพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นกับสัตว์ กับมนุษย์ กับตัวกับตน กับเรากับเขา ท่านเห็นว่าไม่มีตัวไม่มีตัว ไม่มีเราไม่มีเขาแล้ว มันจะเกิดกับอะไร ท่านจึงว่าผู้ถึงที่สุดของธรรมะ มัจจุราชตามไม่ทัน ท่านเป็นผู้ที่ไม่ตาย จะตายแต่คนหรือสัตว์ ถ้าพ้นไปจากคนหรือสัตว์แล้ว ก็ไม่มีอะไรที่จะตาย ไม่มีอะไรที่จะเกิดจะดับอยู่ตรงนั้น ไม่มีแล้ว พระพุทธเจ้าของเรามีพุทธประสงค์อยากจะให้เราเห็นอย่างนั้นที่ปฏิบัติมานี้ อยากจะให้รู้อย่างนั้น อยากจะให้เป็นอย่างนั้น ให้พ้นจากความเกิด ความแก่ความเจ็บ ความตาย ทุกข์ก็ไม่มี ไม่มีทุกข์ ทุกข์ก็หมด ทุกข์ก็ดับอันนี้ท่านจึงว่าให้ปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ ถ้าเราไม่ยึดมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นเขา เป็นสัตว์เป็นบุคคลอยู่อย่างนี้ มันก็เกิด แก่เจ็บ ตายอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่พ้น พระพุทธองค์ท่านให้เห็นอย่างนั้นท่านสอนอย่างนั้น ท่านให้รู้อย่างนั้น
เดินไปก็ไม่มีอะไร มีแต่ขันธ์ ๕ มีแต่กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ มีแต่เรื่องขันธ์ ๕ เท่านั้น เป็นไปตามสภาวะของมัน อันนี้ท่านเรียกว่า ให้เห็นออกจากตัวตน ไม่มีอะไรจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เป็นผู้ที่ปล่อยวาง จะได้เห็นว่าเป็นสภาวะธรรมอันหนึ่งเท่านั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีแต่เรื่องเกิด-ดับไปทั้งนั้น อันนี้เป็นจุดหมายปลายทางที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ต้องการให้พวกพุทธบริษัททั้งหลาย ปฏิบัติให้เข้าไปรู้อย่างนั้น ให้เข้าไปเห็นอย่างนั้น ถ้าเข้าไปรู้อย่างนั้นท่านก็เรียกว่าเราเข้าไปรู้ธรรมะ เห็นธรรมะ เมื่อเห็นธรรมะก็เห็นพระพุทธเจ้า เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าก็เห็นธรรมะ อันนั้นเป็นเรื่องการปฏิบัติล้วนๆ ทางจิตของเรา
เรื่องการปฏิบัติที่เราแนะนำพร่ำสอนกันนี้ก็เรียกว่าเป็นศีลธรรม สอนเรื่องศีลธรรมนี้ สอนเรื่องตัวเรื่องตน เรื่องเราเรื่องเขา อย่าไปเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เป็นตัวเราเป็นตัวเขา ถ้าสอนธรรมะล้วนๆ ก็เรียกว่า ไม่มีเราไม่มีเขา สอนเรื่องศีลธรรมนี้ก็ต้องมีเรามีเขาความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้า มีพระพุทธประสงค์อยากจะให้สาวกทั้งหลายเป็นอย่างนั้น ให้รู้อย่างนั้น ให้เห็นอย่างนั้น ให้เป็นอยู่อย่างนั้น สงบจากสัตว์ สงบจากบุคคล จากตัว จากตน จากเรา จากเขา หมดกันแค่นั้น ในทางพุทธศาสนาของเราท่านสอนอย่างนั้น
แต่ว่าพุทธบริษัทจะมีศรัทธา จะมาประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปตามทำนองนั้นลำบาก ยาก ไม่มีศรัทธาเพียงพอ ความเป็นจริงอย่างนักบวชเรา อย่างพวกเรานี้น่ะ ละฆราวาสวิสัยมาแล้ว ละบ้านละช่องมาแล้ว อะไรทั้งหมดๆ เราก็ทิ้งมาแล้ว อยู่ในวิสัยของสมณะ จุดนั้นเป็นที่หมาย เป็นเป้าหมายของพวกเราทั้งหลาย เป็นเป้าหมายของผู้ประพฤติ เป็นเป้าหมายของผู้ปฏิบัติ ฉะนั้น ท่านจึงสอนให้ละทิฏฐิมานะ ทิฏฐิคือความเห็น มานะคือความยึดในตน ฯลฯ การละนี้แหละคือทางที่จะสงบจริง เย็นจริง