#echo banner="" การสอนธรรมะของครูอาจารย์ หลวงพ่อชา สุภัทโท/

การสอนธรรมะของครูอาจารย์

พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)

วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี

คัดลอกจาก http://www.isangate.com/index2.html

ท่านทั้งหลายได้นับถือพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานาน เคยได้ยินได้ฟังเรื่องเกี่ยวกับธรรมในพระพุทธศาสนามาจากครูบาอาจารย์มาก็มาก ซึ่งบางท่านก็สอนอย่างพิสดารกว้างเกินไป จนไม่ทราบว่าจะกำหนดเอาไปปฏิบัติได้อย่างไร บางท่านก็สอนลัดเกินไป จนผู้ฟังยากที่จะเข้าใจ เพราะว่ากันตามตำรา บางท่านก็สอนพอปานกลาง ไม่กว้างและไม่ลัด เหมาะที่จะนำไปปฏิบัติจนตัวเองได้รับประโยชน์จากธรรมนั้นๆ พอสมควร

อาตมาจึงใคร่อยากจะเสนอข้อคิดและการปฏิบัติ ซึ่งเคยดำเนินมา และได้แนะนำศิษย์ทั้งหลายอยู่เป็นประจำให้ท่านทั้งหลายได้ทราบบางทีอาจจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจอยู่บ้างก็เป็นได้

ผู้ที่จะเข้าถึงพุทธธรรมนั้น เบื้องต้นจะต้องทำตนให้เป็นคนมีความซื่อสัตย์สุจริตอยู่เป็นประจำ และเข้าใจความหมายของคำว่าพุทธธรรมต่อไปว่า

พุทธะ หมายถึงท่านผู้รู้ตามเป็นจริง จนมีความสะอาด สงบ สว่างในใจ

ธรรม หมายถึงตัวความสะอาด สงบ สว่าง ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ดังนั้น ผู้ที่เข้าถึงพุทธธรรม ก็คือ คนเข้าถึงศีลสมาธิ ปัญญา นี่เอง

การสอนธรรมะของครูบาอาจารย์

การเดินทางเข้าถึงพุทธธรรม

ตามธรรมดาการที่บุคคลจะไปถึงบ้านถึงเรือนได้นั้น มิใช่บุคคลที่มัวนอนคิดเอา เขาเองจะต้องลงมือเดินทางด้วยตนเอง และเดินทางให้ถูกทางด้วย จึงจะมีความสะดวก และถึงที่หมายได้ หากเดินผิดทาง เขาจะได้รับอุปสรรค เช่น พบขวากหนามเป็นต้น และยังไกลที่หมายออกไปทุกที หรือบางทีอาจจะได้รับอันตรายระหว่างทาง ไม่มีวันที่จะเข้าถึงบ้านได้ เมื่อเดินไปถึงบ้านแล้วจะต้องขึ้นอยู่อาศัยพักผ่อนหลับนอนเป็นที่สบายทั้งกายและใจ จึงจะเรียกว่าคนถึงบ้านได้โดยสมบูรณ์

ถ้าหากเป็นแต่เพียงเดินเฉียดบ้าน หรือผ่านบ้านไปเฉยๆ คนเดินทางผู้นั้นจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากการเดินทางของเขา ข้อนี้ฉันใด การเดินทางเข้าถึงพุทธธรรมก็เหมือนกัน ทุกๆ คนจะต้องออกเดินทางด้วยตนเอง ไม่มีการเดินแทนกัน และต้องเดินไปตามทางแห่งศีล สมาธิ ปัญญา จนถึงซึ่งที่หมาย ได้รับความสะอาด สว่าง สงบสว่าง นับว่าเป็นประโยชน์เหลือหลายแก่ผู้เดินทางเอง แต่ถ้าหากผู้ใดมัวแต่อ่านตำรา กางแผนที่ออกดูอยู่ตั้งร้อยปีร้อยชาติ ผู้นั้นไม่สามารถไปถึงที่หมายได้เลย เขาจะเสียเวลาไปเปล่าๆ ปล่อยประโยชน์ที่ตนจะได้รับให้ผ่านเลยไป ครูบาอาจารย์เป็นผู้บอกให้เท่านั้น เราทั้งหลายได้ฟังแล้วจะเดินหรือไม่เดิน และจะได้รับผลมากน้อยเพียงใด นั้นมันเป็นเรื่องเฉพาะตน

อย่ามัวอ่านสรรพคุณยาจนลืมกินยา

อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนหมอยายื่นขวดยาให้คนไข้ ข้างนอกขวดเขาเขียนบอกสรรพคุณของยาไว้ว่า แก้โรคชนิดนั้นๆ ส่วนตัวยาแก้โรคนั้นอยู่ข้างในขวด ที่คนไข้มัวอ่านสรรพคุณของยาที่ติดไว้ข้างนอกขวด อ่านไปตั้งร้อยครั้งพันครั้ง คนไข้ผู้นั้นจะต้องตายเปล่า โดยไม่ได้รับประโยชน์จากตัวยานั้นเลย และเขาจะมาร้องตีโพยตีพายว่าหมอไม่ดี ยาไม่มีสรรพคุณ แก้โรคอะไรไม่ได้ เขาจึงเห็นว่ายาที่หมอให้ไว้ไม่มีประโยชน์อะไร ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่เคยเปิดจุกขวดรินยาออกกินเลย เพราะมัวแต่ไปติดใจอ่านฉลากยา ซึ่งติดอยู่ข้างขวดเสียจนเพลินแต่ถ้าหากเขาเชื่อหมอจะอ่านฉลากครั้งเดียวหรือไม่อ่านก็ได้ แต่ลงมือกินยาตามคำสั่งของหมอ ถ้าคนไข้เป็นน้อย เขาก็หายจากโรค แต่ถ้าหากเป็นมาก อาการของโรคก็จะทุเลาลง และถ้าหากกินบ่อยๆ โรคก็จะหายไปเอง ที่ต้องกินยามากและบ่อยครั้ง ก็เพราะโรคเรามันมาก เรื่องนี้เป็นธรรมดาเหลือเกิน ดังนั้นท่านผู้อ่านจงใช้สติปัญญาพิจารณาให้ละเอียดจริงๆ จึงจะเข้าใจดี

สรีรโอสถและธรรมโอสถ

พวกแพทย์พวกหมอเขาปรุงยาปราบโรคทางกาย จะเรียกว่าสรีรโอสถ ก็ได้ ส่วนธรรมของพระพุทธเจ้านั้นใช้ปราบโรคทางใจ เรียกว่า ธรรมโอสถ ดังนั้นพระพุทธองค์จึงเป็นแพทย์ผู้ปราบโรคทางใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โรคทางใจเป็นได้ไวและเป็นได้ทุกคน ไม่เว้นเลย เมื่อท่านรู้ว่าท่านเป็นไข้ใจ จะไม่ใช้ธรรมโอสถรักษาบ้างดอกหรือ

เข้าถึงพุทธธรรมด้วยใจ

พิจารณาดูเถิด การเดินทางเข้าถึงพุทธธรรมมิใช่เดินด้วยกายแต่ต้องเดินด้วยใจจึงจะเข้าถึงได้ ได้แบ่งผู้เดินทางออกเป็น 3 ชั้น คือ

  1. ชั้นต่ำ ได้แก่ ผู้รู้จักปฏิญาณตนเองเอาพระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอาศัย ตั้งใจปฏิบัติตามคำสั่งสอนด้วยดี ละทิ้งประเพณีที่งมงายและเชื่อมงคลตื่นข่าว จะเชื่ออะไรต้องพิจารณาเหตุผลเสียก่อน คนพวกนี้เรียกว่า สาธุชน

  2. ชั้นกลาง หมายถึง ผู้ปฏิบัติจนเชื่อต่อพระรัตนตรัยอย่างแน่นแฟ้นไม่เสื่อมคลาย รู้เท่าทันสังขาร พยายามสละความยึดมั่นถือมั่นให้น้อยลง มีจิตเข้าถึงธรรมสูงขึ้นเป็นขั้นๆ ท่านเหล่านี้เรียกว่าพระอริยบุคคล คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี

  3. ชั้นสูง ได้แก่ผู้ปฏิบัติจนกาย วาจา ใจ เป็นพุทธะ เป็นผู้พ้นจากโลก อยู่เหนือโลก หมดความยึดถืออย่างสิ้นเชิง เรียกว่า พระอรหันต์ ซึ่งเป็นพระอริยบุคคลชั้นสูงสุด

การทำตนให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์

ศีลนั้น คือระเบียบควบคุมรักษากายวาจาใจให้เรียบร้อย ว่าโดยประเภทมีทั้งของชาวบ้านและของนักบวช แต่เมื่อกล่าวโดยรวบยอดแล้วมีอย่างเดียว คือ เจตนา ในเมื่อเรามีสติระลึกได้อยู่เสมอเพื่อควบคุมใจให้รู้จักละอายต่อการทำชั่วเสียหาย และรู้สึกตัวกลัวผลของความชั่วจะตามมา พยายามรักษาใจให้อยู่ในแนวทางแห่งการปฏิบัติที่ถูกที่ควรเป็นศีลอย่างดีอยู่แล้ว ตามธรรมดา เมื่อเราใช้เสื้อผ้าที่สกปรกและตัวเองก็สกปรก ย่อมทำให้จิตใจอึดอัดไม่สบาย แต่ถ้าหากเรารู้จักรักษาความสะอาดทั้งร่างกายและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ย่อมทำให้จิตใจผ่องใสเบิกบาน ดังนั้นเมื่อศีลไม่บริสุทธิ์เพราะกายวาจาสกปรก ก็เป็นผลให้จิตใจเศร้าหมอง ขัดต่อการปฏิบัติธรรม และเป็นเครื่องกั้นใจมิให้บรรลุถึงจุดหมาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจิตใจที่ได้รับการฝึกมาดีหรือไม่เท่านั้น เพราะใจเป็นผู้สั่งให้พูดให้ทำ ฉะนั้นเราจึงต้องมีการฝึกจิตใจต่อไป

การฝึกสมาธิ

การฝึกสมาธิ ก็คือการฝึกจิตของเราให้ตั้งมั่นและมีความสงบเพราะตามปกติ จิตนี้เป็นธรรมชาติดิ้นรน กวัดแกว่ง ห้ามได้ยาก รักษาได้ยาก ชอบไหลไปตามอารมณ์ต่ำๆ เหมือนน้ำชอบไหลสู่ที่ลุ่มเสมอ พวกเกษตรกรเขารู้จักกั้นน้ำไว้ทำประโยชน์ในการเพาะปลูกต่างๆ มนุษย์เรามีความฉลาดรู้จักเก็บรักษาน้ำ เช่น กั้นฝาย ทำทำนบทำชลประทาน เหล่านี้ก็ล้วนแต่กั้นน้ำไว้ทำประโยชน์ทั้งนั้น พลังงานไฟฟ้าที่ให้ความสว่างและใช้ทำประโยชน์อื่นๆ ก็ยังอาศัยน้ำที่คนเรารู้จักกั้นไว้นี่เอง ไม่ปล่อยให้มันไหลลงที่ลุ่มเสียหมด ดังนั้นจิตใจที่มีการกั้นการฝึกที่ดีอยู่ ก็ให้ประโยชน์อย่างมหาศาลเช่นกัน ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า "จิตที่ฝึกดีแล้ว นำความสุขมาให้ การฝึกจิตให้ดีย่อมสำเร็จประโยชน์" ดังนี้เป็นต้น

เราสังเกตดูแต่สัตว์พาหนะ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ก่อนที่เราจะเอามาใช้งานต้องฝึกเสียก่อน เมื่อฝึกดีแล้วเราจึงได้อาศัยแรงงานมันทำประโยชน์นานาประการ

จิตที่ฝึกดีแล้วมีคุณค่ามากมาย

ท่านทั้งหลายก็ทราบแล้ว จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมมีคุณค่ามากมายกว่ากันหลายเท่า ดูแต่พระพุทธองค์และพระอริยสาวก ได้เปลี่ยนภาวะจากปุถุชนมาเป็นพระอริยบุคคล จนเป็นที่กราบไหว้ของคนทั่วไปและท่านยังได้ทำประโยชน์อย่างกว้างขวางเหลือประมาณที่เราๆ จะกำหนด ก็เพราะพระองค์และสาวกได้ผ่านการฝึกจิตมาด้วยดีแล้วทั้งนั้น

จิตที่เราฝึกดีแล้วย่อมเป็นประโยชน์แก่การประกอบอาชีพทุกอย่าง ยังเป็นทางให้รู้จักทำงานด้วยความรอบคอบ ไม่เป็นคนหุนหันพลันแล่น ทำให้ตนเองมีเหตุผล และได้รับความสุขตามสมควรแก่ฐานะ

การฝึกอานาปานสติภาวนา

การฝึกจิตมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน แต่วิธีที่เห็นว่ามีประโยชน์และเหมาะสมที่สุด ใช้ได้กับบุคคลทั่วไป วิธีนั้นเรียกว่า อานาปานสติ-ภาวนา คือ มีสติจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าและหายใจออก ที่สำนักนี้ให้กำหนดลมที่ปลายจมูกโดยภาวนาว่าพุทโธ ในเวลาเดินจงกรม และนั่งสมาธิ ก็ภาวนาบทนี้ จะใช้บทอื่น หรือจะกำหนดเพียงการเข้าออกของลมก็ได้ แล้วแต่สะดวก ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าพยายามกำหนดลมเข้าออกให้ทันเท่านั้น การเจริญภาวนาบทนี้จะต้องทำติดต่อกันไปเรื่อยๆ จึงจะได้ผล ไม่ใช่ว่าทำครั้งหนึ่งแล้วหยุดไปตั้งอาทิตย์สองอาทิตย์ หรือตั้งเดือนจึงทำอีก อย่างนี้ไม่ได้ผล พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า ภาวิตา พหุลีกตา อบรมกระทำให้มาก คือทำบ่อยๆ ติดต่อกันไป

ใช้สติกำหนดลมหายใจเพียงอย่างเดียว

การฝึกจิตใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผล ควรเลือกหาที่สงบ ไม่มีคนพลุกพล่าน เช่น ในสวนหลังบ้าน หรือต้นไม้ที่มีร่มเงาดีๆ แต่ถ้าเป็นนักบวชควรแสวงหาเรือนว่าง (กระท่อม) โคนไม้ ป่า ป่าช้า ถ้ำ ตามภูเขา เป็นที่บำเพ็ญ เหมาะที่สุด เราจะอยู่ที่ใดก็ตาม ใช้สติกำหนดลมหายใจอย่างเดียว แม้จิตใจจะคิดไปเรื่องอื่น ก็พยายามดึงกลับมาทิ้งเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด โดยไม่พยายามคิดถึงมัน รู้ให้ทันกับความคิดนั้นๆ เมื่อทำเข้าบ่อยๆ จิตจะสงบลงเรื่อยๆ เมื่อจิตสงบตั้งมั่นแล้ว ถอยจิตนั้นมาพิจารณาร่างกาย ร่างกายคือขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หาตัวตนไม่ได้ มีแต่ธรรมชาติไหลไปตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น สิ่งทั้งปวงตกอยู่ในลักษณะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้น ความยึดมั่นต่างๆ จะน้อยลงๆ เพราะเรารู้เท่าทันมัน เรียกว่าเกิดปัญญาขึ้น

ปัญญาเกิดเมื่อจิตดีแล้ว

เมื่อเราใช้จิตที่ฝึกดีแล้วพิจารณารูปนามอยู่อย่างนี้ ให้รู้แจ้งแน่ชัดว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปัญญารู้เท่าทันสภาพความเป็นจริงของสังขารที่เกิด เป็นเหตุให้เราไม่ยึดถือหรือหลงใหล เมื่อเราได้อะไรมาก็มีสติ ไม่ดีใจจนเกินไป เมื่อของสูญหายไป ก็ไม่เสียใจจนเกิดทุกขเวทนา เพราะรู้เท่าทัน เมื่อประสบความเจ็บไข้หรือได้รับทุกข์อื่นๆ ก็มีการยับยั้งใจ เพราะอาศัยจิตที่ฝึกมาดีแล้ว เรียกว่ามีที่พึ่งทางใจเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่าเกิดปัญญารู้ทันตามความเป็นจริง ที่จะเกิดปัญญาเพราะมีสมาธิ สมาธิจะเกิดเพราะมีศีล มันเกี่ยวโยงกันอยู่อย่างนี้ ไม่อาจแยกออกจากกันไปได้

ลมหายใจกับศีล สมาธิ ปัญญา

สรุปได้ความดังนี้ อาการบังคับตัวเองให้กำหนดลมหายใจ ข้อนี้เป็นศีล การกำหนดลมหายใจได้และติดต่อกันไปจนจิตสงบ ข้อนี้เรียกว่าสมาธิ การพิจารณากำหนดรู้ลมหายใจว่าไม่เที่ยง ทนได้ยากมิใช่ตัวตน แล้วรู้การปล่อยวาง ข้อนี้เรียกว่า ปัญญา การทำอานาปานสติภาวนา จึงกล่าวได้ว่าเป็นการบำเพ็ญทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ไปพร้อมกัน และเมื่อทำศีล สมาธิ ปัญญา ให้ครบ ก็ชื่อว่าได้เดินทางตามมรรคมีองค์แปด ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นทางสายเอกประเสริฐกว่าทางทั้งหมด เพราะจะเป็นการเดินทางเข้าถึงพระนิพพานเมื่อเราทำตามที่กล่าวมานี้ ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงพุทธธรรมอย่างถูกต้องที่สุด

ผลจากการปฏิบัติสมาธิภาวนา

เมื่อเราปฏิบัติตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ย่อมมีผลปรากฏตามระดับจิตของผู้ปฏิบัตินั้นๆ ซึ่งแบ่งเป็น 3 พวก ดังต่อไปนี้

  1. สำหรับสามัญชนผู้ปฏิบัติตาม ย่อมทำให้เกิดความเชื่อในคุณพระรัตนตรัย ถือเอาเป็นที่พึ่งได้ ทั้งเชื่อตามผลกรรมว่า ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว จะทำให้ผู้นั้นมีความสุขความเจริญยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนได้กินขนมที่มีรสหวาน

  2. สำหรับพระอริยบุคคลชั้นต่ำ ย่อมมีความเชื่อในคุณพระรัตนตรัยแน่นแฟ้นไม่เสื่อมคลาย เป็นผู้มีจิตใจผ่องใส ดิ่งสู่นิพพานเปรียบเหมือนคนได้กินของหวาน ซึ่งมีทั้งรสหวานและมัน

  3. สำหรับท่านผู้ได้บรรลุอรหัตตผล ย่อมมีความหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ทั้งปวง เพราะเป็นพุทธะแล้ว พ้นจากโลก อยู่จบพรหมจรรย์เปรียบเหมือนได้กินของหวาน ที่มีทั้งรสหวาน มัน และหอม

จงรีบสร้างบารมีด้วยการทำดี

เราท่านทั้งหลายได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา เป็นการยากแท้ที่สัตว์ทั้งหลายล้านตัวไม่มีโอกาสอย่างเรา จงอย่าประมาท รีบสร้างบารมีให้แก่ตนด้วยการทำดี ทั้งชั้นต้น ชั้นกลาง และชั้นสูง อย่าปล่อยให้เวลาเสียไปโดยเปล่าปราศจากประโยชน์เลย

ฉะนั้น ควรจะทำตนให้เข้าถึงพุทธธรรมเสียแต่วันนี้ ขอฝาก ภาษิตว่า "เที่ยวทางเวิ้งเหิงนานมันสิค่ำ เมานำต่าบักหว้ามันสิช้าค่ำทาง"