#echo banner="" เรื่องของหลวงพ่อชา หลวงพ่อชา/

เรื่องของหลวงพ่อชา

จากหนังสืออุปลมณี

พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)

วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี

โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 009436 - โดย คุณ : กิเลสเต็มตัว [ 13 ส.ค. 2546 ]

ผมรวบเรื่องธรรมของหลวงพ่อชาขึ้นในรูปแบบนิทานเซ็นเป็นตอน ๆ จากหนังสืออุปลมณี เพื่อให้ง่ายต่อการอ่านสำหรับผู้เกลียดการอ่านหนังสือธรรมะยาว ๆ

ใช้ภาษาอะไร?

หลวงพ่อชา สุภัทโท แห่ง วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่สำคัญมากรูปหนึ่ง ที่สามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ชาวต่างชาติเกิดความเลื่อมใสศรัทธาออกบวชปฏิบัติกับท่านมากมายด้วยปฏิภาณไหวพริบที่เฉียบแหลม

ในช่วงแรกนั้น สำหรับชาวบ้านที่มาเห็นพระฝรั่งในวัดหนองป่าพง เขาเหล่านั้นต่างรู้สึกทึ่งที่เห็นว่าพระฝรั่งชาวต่างชาติปฏิบัติกรรมฐานเคร่งครัดเคียงข้างกับพระชาวไทย จึงเกิดความสงสัยว่าหลวงพ่อชาท่านสอนพระฝรั่งได้อย่างไร? เพราะตัวหลวงพ่อชาเองท่านเป็นพระป่าที่ไม่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษมาก่อน ท่านรู้จักแต่ภาษาบาลีภาษาพระพุทธเจ้าเท่านั้น ส่วนทางฝ่ายลูกศิษย์ฝรั่งเองก็ไม่คุ้นเคยกับภาษาไทย บางคนอดสงสัยไม่ได้จนถึงกับถามเอาความจากท่าน ท่านก็ย้อนถามโยมท่านนั้นว่า

“ ที่บ้านมีสัตว์เลี้ยงหรือเปล่า? อย่างหมา อย่างแมว หรือวัวควายอย่างนี้ เวลาฝึกหัดมัน โยมต้องรู้ภาษาของมันด้วยไหม?”

เพ่งโทษผู้อื่น

พระขี้บ่นรูปหนึ่ง ชอบติเตียนเพื่อนสหธรรมิกบ้าง ครูบาอาจารย์บ้าง สถานที่บ้าง ว่าไม่สัปปายะ ไม่เอื้อเฟื้อต่อการปฏิบัติ คอยแต่จะนึกตำหนินั่น ตำหนินี่ จิตใจหมักหมมไว้แต่เรื่องอกุศลมูลจนกลิ่นตลบ คราวนี้หลวงพ่อชา ท่านกระทุ้งเอาอย่างแรงแต่เป็นเชิงตลกว่า

“คุณนี่แปลก.. ชอบเอาขี้พกใส่ย่าม แล้วพกติดตัวไปไหนต่อไหนด้วย แล้วมาบ่นว่าเหม็นขี้ ที่โน่นเหม็นขี้ ที่นี่เหม็นขี้ ที่ไหน ๆ ก็เหม็นขี้ ดีแต่บ่น ทำไมไม่ลองสำรวจย่ามของตัวเองดูบ้าง”

อาจารย์ที่แท้จริง

ครั้งหนึ่งท่านพระอาจารย์ชาคโร (พระชาวต่างชาติ) ถูกหลวงพ่อชาส่งให้ไปอยู่ประจำวัดสาขาแห่งหนึ่ง เมื่อมีโอกาสหลวงพ่อท่านได้เดินทางไปเยี่ยม หลวงพ่อถามว่า

“ท่านชาคโรเป็นอย่างไร? ทำไมผอมอย่างนี้ล่ะ?” พระอาจารย์ชาคโรกราบเรียนโดยไม่อ้อมค้อมว่า

“ เป็นทุกข์ครับหลวงพ่อ ไม่สบายเลย” หลวงพ่อซักไซ้ต่อว่า

“ เป็นทุกข์เรื่องอะไร? ทำไมจึงไม่สบาย?” พระอาจารย์ชาคโรเผยความในใจว่า

“ เป็นทุกข์เพราะอยู่ห่างไกลครูบาอาจารย์ครับ” หลวงพ่อท่านจึงท้วงขึ้นในทันทีว่า

“ มีอาจารย์อยู่ด้วยตั้ง ๖ องค์ ยังไม่พอรึ? มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่แหละ เป็นอาจารย์ของเรา ฟังให้ดี ดูให้ดี เขาจะสอนเราให้เกิดปัญญา”

ปล่อยวางผิดทาง

ลูกศิษย์หลวงพ่อท่านหนึ่งกำลังสนใจฝึกที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่นตามแนวทางของ "ท่านเว่ยหล่าง” (สังฆปรินายกองค์ที่ ๖ ของจีน) อยู่ ท่านพักอาศัยอยู่ในกุฏิหลังคามุงแฝกหลังหนึ่งภายในวัดหนองป่าพง ในฤดูฝนนั้นฝนตกชุก และวันหนึ่งพายุก็พัดเอาหลังคาโหว่ไปครึ่งหนึ่ง ท่านก็ไม่ขวนขวายที่จะมุงมันใหม่ จึงปล่อยให้ฝนรั่วอยู่อย่างนั้น หลายวันผ่านไปหลวงพ่อท่านได้ถามถึงกุฏิของท่านเข้า ลูกศิษย์ท่านนั้นก็ตอบว่า

“ ผมกำลังฝึกการไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ ขอรับ”

หลวงพ่อท่านก็ตอบสวนกลับไปว่า

“นั้นเป็นการไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยไม่ใช้หัวสมอง มันก็เกือบจะเหมือนกับความวางเฉยของควาย ถ้าท่านมีความเป็นอยู่ดีและเป็นอยู่ง่าย ๆ ถ้าท่านอดทนและไม่เห็นแก่ตัวนั้นแหละถึงจะเข้าใจความไม่ยึดมั่นถือมั่นของท่านเว่ยหล่างได้ ”

อุบายคลายคิดถึง

ครั้งหนึ่งพระหนุ่มชาวต่างชาติซึ่งบวชอยู่ที่วัดหนองป่าพง เกิดคิดถึงคู่รักเก่าของตนขึ้นมา จิตใจฟุ้งซ่านวุ่นวายเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติของตนมาก จึงได้มากราบเรียนปรึกษาหลวงพ่อเพื่อขออุบายในการคลายความฟุ้งซ่านของตน หลวงพ่อท่านก็แนะนำให้ว่า

“ ขอให้เขียนจดหมายถึงคู่รัก และขอให้เธอเอาขี้ใส่ขวดเล็ก ๆ ส่งมาให้ด้วย แล้วเก็บไว้ในย่ามตลอดเวลา คิดถึงเมื่อไหร่ก็ให้หยิบขวดขี้ของเธอออกมาสูดดม.. เฮ้อ!”

พระอรหันต์

สำหรับตัวหลวงพ่อชาเอง ท่านไม่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เลยเหมือนไม่สนใจ ท่านไม่กล่าวถึงแต่ก็ไม่ปฏิเสธ ถ้ามีคนไปถามเรื่องอย่างนี้ หลวงพ่อท่านก็จะพูดตัดบทหรือพูดชักนำออกไปในเรื่องของการประพฤติปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์เสีย อย่างเช่นครั้งหนึ่งมีคนไปถามท่านว่า

“ เขาลือว่าหลวงพ่อเป็นพระอรหันต์ เป็นแล้วเหาะได้หรือเปล่า? ” หลวงพ่อท่านก็ตอบว่า

“ เรื่องเหาะเรื่องบินนี่มันไม่สำคัญหรอก แมงกุดจี่ (แมลงชนิดหนึ่งอยู่กับขี้ควาย) มันก็บินได้ มันเป็นพระอรหันต์รึเปล่า? ”

และอีกครั้งหนึ่ง เมื่อครูคนหนึ่งถามท่านเกี่ยวกับการเหาะเหินเดินอากาศของพระอรหันต์ในครั้งพุทธกาล ซึ่งเคยอ่านพบว่าเป็นความจริงหรือไม่ว่า

“ เคยอ่านพบเรื่องพระอรหันต์สมัยก่อน ๆ เขาว่าเหาะได้จริงไหมครับ?”หลวงพ่อท่านก็ตอบว่า

“ถามไกลตัวเกินไปแล้วล่ะครู มาพูดถึงตอสั้น ๆ ที่จะตำเท้าเราจะไม่ดีกว่ารึ? ”

จับเองก็ปล่อยเอง

มีเด็กหิ้วกรงขังนกมาชวนให้หลวงพ่อซื้อเพื่อปล่อยเป็นการทำบุญในสถานที่แห่งหนึ่ง ท่านถามว่า

“นกอะไร? เอามาจากไหน?” เด็กที่ขายนกก็ตอบว่า

“ผมจับมาเอง หลวงพ่อปล่อยไหม จะได้ทำบุญ” หลวงพ่อชาก็ตอบว่า

“เอ๊า.. จับเองก็ปล่อยเองซิ มาให้หลวงพ่อปล่อยทำไม?”

ไม่อายหรือ?

หลวงพ่อท่านมีความรักและเคารพต่อข้อวัตรปฏิบัติของท่านมาก จนกระทั่งเคยบอกกับลูกศิษย์ว่า

“ ถ้าจะให้ผมละเมิดพระวินัย ผมยอมตายก่อนไม่เสียดายชีวิตเท่าเสียดายพระวินัย”

ครั้งหนึ่งหลวงพ่อได้รับนิมนต์ไปฉันในพระบรมมหาราชวัง ขณะลงจากรถได้พบกับเจ้าคุณรูปหนึ่งพอดี ท่านเจ้าคุณรูปนั้นมองเห็นว่าหลวงพ่อสะพายบาตรอยู่ ก็ถามหลวงพ่ออย่างเยาะหยันว่า

“คุณชา ไม่อายในหลวงหรือ สะพายบาตรเข้าวัง?” หลวงพ่อท่านก็ตอบท่านเจ้าคุณทันทีเลยว่า

“ ท่านเจ้าคุณไม่อายพระพุทธองค์หรือครับ จึงไม่สะพายบาตรเข้าวัง”

นั่งอย่างเดียวก็ไม่ใช่

วันหนึ่งหลวงพ่อพาพระเณรขนดินขึ้นไปใส่สนามหญ้ารอบโบสถ์ พอดีขณะที่ท่านกำลังยืนสั่งงานอยู่นั้น มีหนุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งเข้ามาเที่ยวชมวัด เดินมาพบท่านเข้า พวกเขาเข้ามายืนใกล้ ๆ ท่านทำท่าทางแบบฝรั่งวัยรุ่นกิริยาไม่สู้จะอ่อนน้อมเท่าไรนัก หนึ่งในคณะของเขาถามท่านหลายอย่างและท้ายสุดเขาจึงถามท่านทำนองรุกไล่ว่า

“ทำไม? ท่านไม่พาพระเณรนั่งสมาธิ ชอบพาทำงานอยู่เรื่อย” หลวงพ่อตอบออกไปทันควันว่า

“ นั่งมากมันขี้ไม่ออกว่ะ”

พวกนั้นรู้สึกงุนงงต่อคำตอบของท่าน ทันทีท่านก็ยกไม้เท้าขึ้นชี้ไปยังคนถามปัญหาและสั่งสอนว่า

“ ที่ถูกนั้นนั่งอย่างเดียวก็ไม่ใช่ เดินอย่างเดียวก็ไม่ใช่ ต้องนั่งบ้าง ทำประโยชน์บ้าง และทำความรู้ความเห็นให้ถูกต้องไปทุกเวลานาที อย่างนี้จึงจะถูก กลับไปเรียนใหม่นี่ยังอ่อนอยู่มาก เรื่องการปฏิบัตินี้ถ้าไม่รู้จริงอย่าพูด มันจะขายขี้หน้าตัวเอง”

รักษ์ป่า

ในช่วงแรกที่หลวงพ่อและคณะสงฆ์มาอยู่ที่วัดหนองป่าพง ไข้มาเลเรียระบาดหนักอยู่ถึง ๓ ปีเต็ม ทั้งพระเณรและแม่ชีเป็นไข้กันงอมแงมเริ่มจากหลวงพ่อก่อนเลย ท่านเป็นหนักมากจนเนื้อตัวเขียวคล้ำ นึกว่าถึงที่สุดแล้วแต่ในที่สุดก็หาย พอหลวงพ่อหายลูกวัดก็เป็นกันใหญ่ ทั้งพระทั้งชีป่วยหนักไปตาม ๆ กัน แต่โชคดีที่ไม่มีใครเสียชีวิตกันเลย

การรักษาในสมัยนั้นก็ไม่มีหยูกยาอะไรกินนอกจากสมุนไพร ครั้งหนึ่งมีคณะแพทย์เขามากราบเรียนหลวงพ่อว่า

“ ป่านี้ทึบเกินไป ให้ตัดรอนกิ่งไม้ออกบ้างให้โปร่ง ๆ ลมจะได้เข้าสะดวก” หลวงพ่อตอบว่า

“ตายซะคน เอาไว้แต่ป่าก็พอ”

พวกหมอก็พยายามอธิบายพูดโน้มน้าวหว่านล้อมด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับเรื่องป่า แต่หลวงพ่อก็ยังยืนยันเจตนารมณ์ดั้งเดิม ท่านตอบอย่างเด็ดเดี่ยวว่า

“ พระหรือชีก็ตาม อาตมาเองก็ตาม ตายแล้วก็แล้วไป เอาป่าไว้เสียดีกว่า”

พวกหมอก็เลยพูดไม่ออก แล้วก็ลากลับไป

รถประจำตำแหน่ง

ครั้งหนึ่งโยมที่อุบลฯ เอารถมาถวายหลวงพ่อ เขาบอกว่าถ้าหลวงพ่อไม่รับผมไม่ยอมหรอกครับ เขาเอารถมาจอดไว้หลังกุฏิท่านใต้ต้นประดู่ (ด้านประตู) แล้วเอากุญแจใส่ย่ามท่านไว้ แล้วก็มานั่งหัวเราะภาคภูมิใจในผลบุญของตน แต่หลวงพ่อไม่เคยไปดูรถคันนั้นเลย พอออกจากกุฏิท่านจะเดินไปทางอื่น จะไปในเมืองท่านก็ขึ้นรถคนอื่น ไม่ได้ไปดูเลยว่ามันเป็นอย่างไร? มีสีอะไร? ผ่านไป ๗ วันหลวงพ่อท่านก็เรียกโยมคนหนึ่งมาแล้วบอกว่า

“ ไปบอกเขาเอารถกลับคืนไปนะ เอามาถวายข้อย ๆ ก็รับไปแล้ว ได้บุญแล้ว เดี๋ยวนี้ข้อยจะส่งคืน มันไม่ใช่ของพระ”

ปวดเหมือนกัน

มีโยมผู้หญิงมากราบหลวงพ่อและร้องขอกับท่านว่า

“ หลวงพ่อเป่าขาให้ดิฉันหน่อยซิ แหม! ดิฉันปวดขาเหลือเกิน” หลวงพ่อท่านก็บอกว่า

“ โยมมาเป่าให้อาตมาบ้างซิ อาตมาก็ปวดเหมือนกัน”

จริงแต่ไม่ถูก

นักปฏิบัติที่ถือเอาการปฏิบัติที่จิตภาวนาอย่างขะมักเขม้น แต่ละเลยกิริยาภายนอก หลวงพ่อท่านถือว่าเป็นการสร้างประโยชน์ตนแต่ฝ่ายเดียว ไม่ใส่ใจในประโยชน์ผู้อื่นจะเรียกว่าเป็นนักปฏิบัติธรรมที่ครบถ้วนสมบูรณ์ยังไม่ได้ ส่วนการประพฤติปฏิบัติโดยเอื้อเฟื้อต่อพระวินัยนั้น ถือเป็นการประกาศศาสนาไปในตัวเพราะทำให้ผู้ที่มาพบเห็นที่ยังไม่เคยเลื่อมใสให้เลื่อมใส ที่เลื่อมใสแล้วเกิดความเลื่อมใสยิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งข้อนี้ตรงกับวัตถุประสงค์อันหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นคู่เคียงกับพระธรรม บางสำนักสอนว่าไม่ต้องไปจุกจิกจู้จี้เรื่องสิกขาบทต่าง ๆ มากเกินไป ให้มีสติตัวเดียวก็พอแล้ว ครั้งหนึ่งมีพระถามหลวงพ่อว่าท่านเห็นอย่างไร? ต่อทัศนะนี้หลวงพ่อท่านก็ตอบว่า

“ จริงแต่ไม่ถูก ถูกแต่ไม่จริง”

วางมันซิ

พระฝรั่งลูกศิษย์รูปหนึ่ง มีปัญหาในการเลือกอารมณ์กรรมฐานที่ถูกจริตของตัวเอง เพราะได้เจริญพุทโธกับอานาปานสติมาเป็นเวลานานแล้ว จิตก็ไม่เคยสงบ ระลึกความตายก็ไม่สงบ ระลึกขันธ์ห้าก็ไม่สงบ เลยหมดปัญญา เมื่อมากราบเรียนถามหลวงพ่อท่านก็ตอบง่าย ๆ ว่า

“วางมันซิ หมดปัญญาก็วางมัน”

ใครรู้ ?

คนที่นับถือพระเจ้าท่านหนึ่ง ไม่ยอมรับคำสอนเรื่อง "อนัตตา" ของศาสนาพุทธ เหตุผลของเขาก็คือว่า

“จะเอาอะไรมารู้อนัตตาเล่า ? ถ้าไม่ใช่อัตตา”

ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่เป็นอนัตตาหรือสิ่งที่ไม่มีตัวตน สิ่งนั้นเราจะรู้และเข้าใจได้อย่างไร? ถ้าไม่มีตัวตนผู้ที่มารู้มาเข้าใจ วันหนึ่งมีชาวคริสต์คนหนึ่งมาถามหลวงพ่อว่า

“ใครรู้อนัตตา ?”

หลวงพ่อท่านก็ถามกลับทันทีว่า

“ใครรู้อัตตา ?”

เมาความสุข

ครั้งหนึ่งระหว่างที่พำนักอยู่ที่วัดหนองป่าพง พระอาจารย์ปสันโน (พระฝรั่ง) มีโอกาสได้ตามหลวงพ่อไปบิณฑบาตที่บ้านกลาง ขากลับหลวงพ่อเดินช้า ๆ ขณะเดินผ่านต้นไม้ กิ้งก่าคู่หนึ่งซึ่งกำลัง "ปฏิบัติกามกิจ” อยู่ข้างบนก็พลาดท่า หล่นตุ๊บลงมาต่อหน้าทั้งที่ตัวยังติดกัน หลวงพ่อเห็นเข้าก็หัวเราะชี้ให้ลูกศิษย์ดู พร้อมกับทำมือทำไม้ประกอบคำอธิบายแก่ท่านอาจารย์ปสันโน ซึ่งตอนนั้นยังไม่ค่อยเข้าใจภาษาไทยมากนักว่า

“แน่ะ! เห็นไหม มันเมาความสุขอยู่ข้างบน เป็นเหตุให้ประมาท ตกลงมาก็เจ็บอย่างนี้แหละ”

ข้าวฟักไข่

ที่วัดมีกติกาว่า อาหารที่ได้จากการบิณฑบาตต้องส่งไปโรงครัวทั้งหมด ห้ามเก็บไว้ในบาตรของตนครั้งหนึ่งมีภิกษุรูปหนึ่ง เกิดฝ่าฝืนกติกาสงฆ์ข้อนี้ ท่านคงคิดว่าอาหารมีน้อยบางทีอาหารบางอย่างก็แจกหมดก่อนแต่ต้นแล้ว ไม่ถึงปลายแถวหรือแม้จะถึงก็กลัวจะได้น้อยหรือได้ของที่ไม่ชอบใจ วันนั้นพระรูปนั้นไปบิณฑบาตได้ไข่ต้มมาหนึ่งฟอง ท่านก็เลยปั้นข้าวเหนียวหุ้มไว้ เอาไข่ไว้ข้างในก้อนข้าวจะด้วยเหตุบังเอิญหรืออาจจะทำมานานแล้วกรรมมันส่งผลก็ไม่ทราบได้ วันนั้นก่อนฉันหลวงพ่อท่านก็ออกเดินตรวจในบาตรของพระภิกษุสามเณร พอมาถึงบาตรของพระรูปนั้นท่านก็หยุดเพราะก้อนข้าวปริแตกและมองเห็นไข่ต้มอยู่ข้างใน ท่านก็เลยพูดขึ้นว่า

“ปั้นข้าวใครฟักไข่หนอ? ”

ภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก ซึ่งกำลังนั่งอยู่ในโรงฉันต่างก็หันไปมองพระรูปนั้นเป็นจุดเดียวยังกะนัดกันไว้ ทำให้พระรูปนั้นทั้งกลัวทั้งอายจนตัวสั่นหน้าซีดแทบจะแทรกแผ่นดินหนีให้ได้ ตั้งแต่นั้นมาภิกษุรูปนั้นก็เข็ดขยาดหวาดกลัว ไม่กล้าทำอย่างนั้นอีกเลย อย่าว่าแต่ภิกษุรูปนั้นเลย แม้แต่ภิกษุรูปอื่น ๆ ซึ่งเห็นเหตุการณ์ก็ไม่กล้าทำอย่างนั้นเช่นกัน

ตึง ๆ หย่อน ๆ

ความเป็นครูบาอาจารย์อาจจะทำให้หลวงพ่อมองเห็นว่า การปฏิบัติของลูกศิษย์นั้นก็คงเหมือนกับการเตรียมตัวดูหนังสือเพื่อเข้าสอบของนักเรียน ถ้าเตรียมดูหนังสือเพียงแค่ให้สอบผ่าน ๕๐ - ๖๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เข้าสอบจริง ๆ อาจจะไม่ผ่านก็ได้จะต้องเตรียมพร้อมไว้ ๙๐ หรือถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นั่นแหละ แล้วเวลาสอบมันจะเลื่อนลดลงมาเหลือเพียง ๗๐ - ๘๐ เปอร์เซ็นต์ก็ยังถือว่าสอบได้ ปฏิปทาในการรักษาข้อวัตรของหลวงพ่อ จึงเป็นไปอย่างผู้ที่เข้าถึงสัจธรรม ความไม่เที่ยงอย่างแท้จริง เมื่อมีการปรารภถึงข้อวัตรที่บางคนเห็นว่าตึงเกินไป หลวงพ่อตอบว่า

“ ให้มันตึงไว้นั่นแหละดีแล้ว เดี๋ยวมันก็หย่อนลงมาเอง”

เรื่องของความเพียร

นักปฏิบัติผู้มุ่งมั่นบางท่าน เร่งทำความเพียรในการปฏิบัติอย่างไม่ลดละ บางคนก็คิดว่าการปฏิบัติกรรมฐาน คือ การเดินจงกรมและนั่งสมาธิเท่านั้น แต่หลวงพ่อเน้นว่าการปฏิบัติอยู่ที่สติมากกว่าอิริยาบถหมายความว่า ฝึกให้มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมทุกอิริยาบถโดยไม่ถือเอาอากัปกิริยาเป็นเกณฑ์ ไม่ใช่เฉพาะเวลานั่งสมาธิหรือเดินจงกรมเท่านั้น เคล็ดลับของท่านก็คือ ปฏิบัติเรื่อยไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่เคร่งเกินไป แต่ก็ไม่หย่อน ให้พอดีแก่การขัดเกลากิเลส จึงจะเรียกว่าเป็น "สัมมาปฏิปทา" อย่างที่ท่านเทศน์ในตอนหนึ่งว่า

“ ในการปฏิบัติทำความเพียรนั้น ไม่ใช่เดินเพียร นั่งเพียร แต่หมายถึงให้ รู้เพียร”

พระอรหันต์ (อีกแล้ว)

ครั้งหนึ่งมีการเล่าลือว่า ลูกศิษย์ของหลวงพ่อรูปหนึ่งเป็นพระอรหันต์ พระบางรูปก็เชื่อ บางรูปก็ไม่เชื่อ นานเข้าพระรูปหนึ่งอดรนทนไม่ไว้ก็เลยเอาเรื่องนี้ไปกราบเรียนถามหลวงพ่อ หลวงพ่อท่านตอบว่า

“ ท่านเป็นก็เป็น ไม่เป็นก็ไม่เป็น ผมก็ไม่ได้เป็นอะไร ผมไม่มีอะไรจะเป็น เรื่องของเราก็เป็นเรื่องของเรา เรื่องของเราไม่ใช่เรื่องของคนอื่น เรื่องของคนอื่นก็ไม่ใช่เรื่องของเรา”

ชอบคนละอย่าง

มีรูปหลวงพ่อชายิ้มกว้างแพร่หลายออกมา ภายหลังจากที่ท่านกลับจากประเทศอังกฤษ ภาพยิ้มนั้นเป็นฝีมือศิษย์ฝรั่งที่ถ่ายเอาไว้ เมื่อลูกศิษย์คนไทยได้พบเห็นก็ถามเป็นเชิงตำหนิว่า

“ ทำไมจะต้องมีรูปหลวงพ่อยิ้มด้วย ?” หลวงพ่อท่านก็ตอบว่า

“ นี่ก็เป็นเรื่องแปลกอยู่เหมือนกัน คนไทยชอบให้ครูบาอาจารย์มีรูปขรึม ๆ สำรวม แต่ฝรั่งชอบไปอีกอย่าง”

พูดได้หลายภาษา

เคยมีโยมคนหนึ่งมากราบเรียนถามท่านว่า ที่หลวงพ่อมีลูกศิษย์ลูกหาชาวต่างประเทศมากนั้น เป็นเพราะหลวงพ่อได้ “นิรุตติปฏิสัมภิทา” (ปัญญาที่แตกฉานในภาษา) หรือเปล่า? หลวงพ่อยิ้มแล้วตอบว่า

“ อาจจะใช่นะโยม ภาษาชาวนาอาตมาก็พูดได้ ภาษาแม่ค้าก็พูดได้ ภาษาทหารก็พูดได้ ที่จริงมันแตกฉานหลายภาษาอยู่”

คิดถึงบ้าน

แม่ชีที่ปฏิบัติอยู่ที่วัดหนองป่าพง ขอโอกาสหลวงพ่อกลับไปเยี่ยมบ้าน ตอนที่ไปกราบลากลับไปเยี่ยมบ้านท่านก็ขู่ว่า

“ ไปเยี่ยมบ้านไปทำไม? คิดถึงลูกหลานล่ะสิ มาอยู่กี่ปีแล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่เห็นไปเยี่ยมบ้าน นี่มาอยู่ไม่เท่าไหร่จะไปเยี่ยมบ้านแล้ว” หรือบางทีท่านจะสำทับว่า “เออ! ไปวาง มาวางนะ” พอแม่ชีกลับมาวัดท่านก็ถามว่า

“ไง? บ้านยังอยู่เหมือนเดิมรึ หาบอะไรมาล่ะ?” แม่ชีคนนั้นไม่เข้าใจความหมายที่ท่านถามก็ตอบว่า

“ได้หอมได้กระเทียมมาบ้างนิดหน่อย” บางทีท่านก็ถามแม่ชีแก่ ๆ ว่า

“เมื่อคืนนี้ไปบ้านมากี่ครั้ง ?” เขาไม่เข้าใจก็ตอบว่า

“ไม่ได้ไป” ท่านก็ว่า

“ไม่เห็นมันล่ะซิ”

ทิฐิมานะ

เป็นที่ยอมรับกันว่าหลวงพ่อเป็นครูบาอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหาชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะชาวตะวันตก ซึ่งคนไทยทั่วไปเรียกกันติดปากว่า “ฝรั่ง” และเป็นที่น่ายินดีที่ลูกศิษย์ฝรั่งของหลวงพ่อ ได้เป็นตัวแทนที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลออกไปยังต่างประเทศ

พระอาจารย์สุเมโธ พระฝรั่งรูปแรกที่มาอยู่ที่วัดหนองป่าพง ท่านเล่าว่าทุกเช้าเวลาหลวงพ่อกลับจากบิณฑบาตจะมีพระเณรหลายรูปไปรอที่ศาลาเพื่อคอยล้างเท้าท่าน ระยะแรกที่ท่านได้เห็นกิจวัตรอันนี้ทีไรก็ได้แต่นึกค่อนขอดพระเณรเหล่านั้นอยู่ในใจ ล้างเท้าท่านรูปเดียวสองรูปก็พอทำไมต้องไปกันมากมาย แต่พออยู่นานเข้าท่านก็ชักจะเป็นไปด้วย แล้วก็มีอยู่เช้าวันหนึ่ง ก่อนที่จะรู้ตัวว่าอะไรเป็นอะไร ท่านก็ปราดเข้าไปอยู่หน้าพระเณรรูปอื่น ๆ เสียแล้ว ขณะก้มลงล้างเท้าถวายท่านอยู่ก็ได้ยินเสียงนุ่ม ๆ เย็น ๆ กลั้วเสียงหัวเราะของหลวงพ่อพูดอยู่บนหัวท่านว่า

“สุเมโธ ยอมแล้วบ่ ?”

ผิดคาด

พระอาจารย์ชยสาโร พระฝรั่งอีกรูปหนึ่งเล่าว่า หลวงพ่อท่านไม่สอนอะไรมาก ท่านจะพูดเพียง ๒-๓ คำให้เราเก็บเอาไปคิดพิจารณา อย่างเช่นครั้งหนึ่งท่านกำลังกวาดลานวัดอยู่ หลวงพ่อท่านผ่านมาก็ถามว่า

“ช้อน สบายดีไหม ?” ชื่อเดิมของท่านคือ ฌอน (Shaun) หลวงพ่อก็เรียกว่า ช้อน ท่านก็กราบเรียนหลวงพ่อว่า

“สบายดีครับ หลวงพ่อ” หลวงพ่อท่านก็ถามต่อเหมือนกับย้ำว่า

“สบายดีไหม ?” ท่านก็กราบเรียนยืนยันเช่นเดิมว่า

“สบายดีครับ” หลวงพ่อท่านกลับพูดว่า

“สบายดี ไม่ดี”

แล้วหลวงพ่อท่านก็เดินจากไป ปล่อยให้ท่านชยสาโรยืนงงอยู่อย่างนั้น

Good morning

พระอาจารย์ญาณธัมโม ชาวออสเตรเลียศิษย์รุ่นเดียวกับพระอาจารย์ชยสาโร ดูเหมือนจะประทับใจในบทเรียนแบบเฉียบพลันที่ได้รับจากหลวงพ่อยิ่งนัก ท่านเล่าว่าวันหนึ่งท่านมีเรื่องขัดใจกับพระรูปหนึ่ง รู้สึกโกรธหงุดหงิดอยู่ทั้งวัน รุ่งเช้าไปบิณฑบาตก็เดินคิดไปตลอดทาง ขากลับเดินสวนทางกับหลวงพ่อ ท่ายิ้มและทักอาตมาเป็นภาษาอังกฤษว่า

“Good morning”

เพียงเท่านี้ก็ทำให้อารมณ์ของท่านเปลี่ยนทันที ที่กำลังขุ่นมัวหงุดหงิดกลับเบิกบาน ปลื้มปิติที่หลวงพ่อทักทาย

ประมาท

หลวงพ่อท่านเน้นเรื่องของการปฏิบัติให้สม่ำเสมอ ให้ค่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ อย่างเช่นวันนี้ขยันก็ทำ ขี้เกียจก็พยายามทำไมได้ทำมากก็ให้ได้สักครึ่งหนึ่งก็เอา อย่าไปปล่อยวันนี้ขี้เกียจไม่ทำ อย่างนี้ไม่ได้การเสียหายเลย ไม่ใช่นักปฏิบัติแล้ว อย่างเช่นตัวอย่างที่เคยมีลูกศิษย์ได้เคยระบายกับหลวงพ่อว่า

“แหม! ปีนี้ผมแย่เหลือเกิน หลวงพ่อ” ท่านก็ถามว่า

“ทำไม ?” ลูกศิษย์ก็ตอบว่า

“ผมป่วยทั้งปี ไม่ได้ปฏิบัติเลย” หลวงพ่อท่านก็พูดว่า

“โอ้โฮ! มันจวนจะตายแล้วก็ยังไม่ปฏิบัติอีกรึ? จะไปปฏิบัติเมื่อไหร่ล่ะ?”

แยกยาก

หลวงพ่อท่านเคยเปรียบเปรยในทำนองปรารภธรรมให้ฟังว่า คนหนึ่งไปซื้อกล้วยหรือซื้อมะพร้าวใบหนึ่งจากตลาด แล้วเดินหิ้วมา แล้วอีกคนหนึ่งเห็นก็ถามว่า

“ท่านซื้อกล้วยมาทำไม? ”

“ซื้อไปรับประทาน”

“เปลือกมันต้องรับประทานด้วยหรือ?”

“เปล่า”

“ไม่เชื่อหรอก ไม่รับประทานแล้วเอาไปทำไมเปลือกมัน?” หรืออย่างเอามะพร้าวมาใบหนึ่งก็เหมือนกัน

“เอามะพร้าวไปทำไม?”

“จะเอาไปแกง”

“เปลือกมันแกงด้วยหรือ?”

“เปล่า”

“เอาไปทำไมล่ะ?”

อาหารใจ

โยมฝรั่งคนหนึ่งตั้งคำถามหลวงพ่อ ๓ ข้อว่า

“ปฏิบัติทำไม? ปฏิบัติอย่างไร? ปฏิบัติแล้วเกิดผลอย่างไร?” หลวงพ่อท่านจึงย้อนถามกลับว่า

“กินข้าวทำไม? กินข้าวอย่างไร? กินข้าวแล้วเกิดผลอย่างไร?”

โยมฝรั่งคนนั้นก็งงและไม่ค่อยพอใจกับคำตอบของหลวงพ่อเท่าใดนัก เพราะไม่เข้าใจหลวงพ่อท่านจึงอธิบายเสริมต่อว่า

“.. ปฏิบัติทำไม? ก็คือกินข้าวทำไม? ปฏิบัติอย่างไร? ก็คือกินอย่างไร? ก็ให้นึกซิว่าเรากินข้าวทำไม? เหตุที่เรากินก็เพราะหิว มีความหิว มีความทุกข์ ถ้าไม่กินก็เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น เราปฏิบัติเพราะอะไร? เพราะความหิว เรากินอาหารก็เพื่อระงับความหิวทางกาย เราปฏิบัติธรรมเพื่อระงับความหิวทางใจ ใจเป็นทุกข์ ก็ต้องใช้ธรรมะมาแก้ทุกข์ ทีนี้ปฏิบัติอย่างไร? ก็เหมือนกับเรากินอย่างไร? ก็ต้องเอาอาหารมาใส่ ถ้าใจขาดอาหารก็เอาธรรมะมาใส่ ให้ใจได้กินธรรมะ ปฏิบัติแล้วเป็นอย่างไร? ก็เหมือนกับกินแล้วเป็นอย่างไรนั่นแหละ กินแล้วก็อิ่มใช่ไหม? ปฏิบัติแล้วก็อิ่มธรรมะ”

เสียสละ

ในสมัยก่อนนั้น อาหารการขบฉันมีความฝืดเคืองมากดังนั้นแม่ชีก็ต้องทำตนให้เป็นผู้เลี้ยงง่าย ใครจู้จี้จุกจิกเรื่องอาหารเป็นต้องโดนหลวงพ่อท่านขนาบเอาแรง ๆ ทุกทีไป พระเถระรูปหนึ่งได้เล่าถึงลีลาการเทศน์ของหลวงพ่อในกรณีอย่างนี้ว่า มีแต่คำที่ดุเดือดเผ็ด ๆ ร้อน ๆ เหล่าบรรดาแม่ชีจึงได้รับความสงบระงับเรื่อยมา และสมัยก่อนทำความเพียรเก่งมาก ตัวอย่างการเทศน์ที่มีรสชาติของหลวงพ่อก็เช่นว่า

“ …เอาให้ผู้เฒ่าซะหัวมัน เหลือแต่ก้างอย่างนี้ (หมายถึงว่าหัวปลาที่เหลือแต่ก้างนั้นให้แม่ชีแก่) ถึงแม้ได้แต่ก้างก็ต้องถือว่าตัวเกิดเป็นหมาเสียซิ มันกินแต่ก้างก็ยังโต ได้กินข้าวก็ยังดี ดูซิหมามันกินกระทั่งขี้มันยังเติบใหญ่เป็นหมาได้ยังไม่สูญพันธ์หมา นับประสาอะไรกับคนเรานี้…”

ตายแล้วเกิด

ปัญหาเรื่องชาติหน้าภพหน้าก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากในวงการนักศาสนา และดูเหมือนว่าจะไม่มีที่ยุติได้ วันหนึ่งก็มีโยมกลุ่มหนึ่งมากราบเรียนถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้กับหลวงพ่อ

โยม : “ชาติหน้ามีจริงไหมครับ ?”

หลวงพ่อ : “ถ้าบอกจะเชื่อไหมล่ะ ?”

โยม : “เชื่อครับ”

หลวงพ่อ : “ถ้าเชื่อคุณก็โง่”

โยม : “อ้าว! คนตายแล้วเกิดไหมครับ ?”

หลวงพ่อ : “จะเชื่อไหมล่ะ ? ถ้าเชื่อคุณโง่หรือฉลาด?”

สรุปแล้วเลยนั่งงงทั้งกลุ่มไม่รู้หลวงพ่อจะเอายังไงแน่ ท่านก็เลยพูดอธิบายขยายความต่อไปอีกว่า

“ หลายคนมาถามอาตมาเรื่องนี้ อาตมาก็ถามเขาอย่างนี้เหมือนกันว่าถ้าบอกแล้วคุณจะเชื่อไหม ถ้าเชื่อคุณก็โง่ เพราะอะไร? ก็เพราะมันไม่มีหลักฐานพยานอะไรที่จะมาหยิบให้ดูได้ ที่คุณเชื่อเพราะคุณเชื่อตามเขา เขาว่าอย่างไรคุณก็เชื่ออย่างนั้น คุณไม่รู้ชัดด้วยปัญญาของคุณเอง คุณก็โง่อยู่ร่ำไป ทีนี้ถ้าอาตมาตอบว่าคนตายแล้วเกิดหรือว่าชาติหน้ามี อันนี้คุณต้องถามอาตมาต่อ ไปอีกว่า ถ้ามีพาผมไปดูหน่อยได้ไหม? เรื่องมันเป็นอย่างนี้ มันหาที่จบลงไม่ได้ เป็นเหตุให้ทะเลาะถกเถียงกันไปไม่มีที่สิ้นสุด

ทีนี้ถ้าคุณถามว่าชาติหน้ามีไหม? อาตมาก็ถามว่าพรุ่งนี้มีไหม? ถ้ามีพาไปดูได้ไหม? อย่างนี้คุณก็พาไปดูไม่ได้ ถึงแม้ว่าวันพรุ่งนี้จะมีอยู่แต่ก็พาไปดูไม่ได้อย่างนี้เป็นต้น ถ้าวันนี้มีพรุ่งนี้ก็ต้องมีแต่สิ่งนี้มันเป็นของที่หยิบยกเอามาเป็นวัตถุตัวตนให้เห็นไม่ได้

ความจริงแล้ว พระพุทธองค์ท่านไม่ให้เราตามไปดูถึงขนาดนั้น ไม่ต้องสงสัยว่า ชาติหน้ามีหรือไม่มี? ไม่ต้องถามว่าคนตายแล้วจะเกิดหรือไม่เกิด อันนั้นมันมันไม่ใช่ปัญหา มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือ เราต้องรู้เรื่องราวของตนเองในปัจจุบัน เราต้องรู้ว่าเรามีทุกข์ไหม? ถ้าทุกข์มันทุกข์เพราะอะไร? นี้คือสิ่งที่เราต้องรู้และเป็นหน้าที่โดยตรงที่เราจะต้องรู้ด้วย พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราถือเอาปัจจุบันเป็นเหตุของทุกอย่าง เพราะว่าปัจจุบันเป็นเหตุของอนาคต คือถ้าวันนี้ผ่านไป วันพรุ่งนี้มันก็กลายมาเป็นวันนี้ นี่เรียกว่าอนาคตคือพรุ่งนี้ มันจะมีได้ก็เพราะวันนี้เป็นเหตุ ทีนี้อดีตก็เป็นไปจากปัจจุบัน หมายความว่า ถ้าวันนี้ผ่านไปมันก็กลายเป็นเมื่อวานนี้เสียแล้ว นี่คือเหตุที่มันเกี่ยวเนื่องกันอยู่ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้เราพิจารณาเหตุทั้งหลายในปัจจุบัน เท่านี้ก็พอแล้ว ถ้าปัจจุบันเราสร้างเหตุไว้ดีอนาคตมันก็จะดีด้วย อดีตคือวันนี้ที่ผ่านไป มันย่อมดีด้วย และที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าเราหมดทุกข์ได้ในชาติปัจจุบันนี้แล้ว อนาคตคือชาติหน้าก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดถึง”

รดน้ำมนต์

ครั้งหนึ่งมีนายทหารคนหนึ่งไปตรวจราชการที่อุบลฯ กับลูกน้อง ๔-๕ คน ได้แวะไปกราบหลวงพ่อ เมื่อไปถึงก็พูดธรรมะให้หลวงพ่อฟังเรื่องนั้นเรื่องนี้มากมาย ล้วนแต่ที่มีอยู่ในตำราทั้งสิ้น ตอนหนึ่งเขาพูดกับหลวงพ่อว่า

“หลวงพ่อครับ ตอนผมเป็นนายทหารหนุ่ม ผมออกไปล่ากระทิงในป่าผมยิงโป้งไป กระทิงตัวนั้นกระโดมาขวิดผมเกือบถูก แหม! มันร้ายเหลือเกิน”

หลวงพ่อ: “คนแหละยิ่งร้ายกว่ากระทิง”

นายทหาร : “อ้าว! ทำไมล่ะครับหลวงพ่อ? ”

หลวงพ่อ : “ ก็กระทิงมันอยู่ในป่ายังไปตามล่ามัน ไปฆ่ามันจนตาย สัตว์ มันต้องรักชีวิตมันต้องต่อสู้เพื่อป้องกันชีวิต แต่มันสู้เราไม่ได้ นั่น แหละคุณมันจึงร้ายกว่ากระทิง”

คุยกันนานกว่าสองชั่วโมง แต่หลวงพ่อไม่ค่อยได้พูด โดยมากนายทหารจะพูดเองมากกว่า ในที่สุดก่อนที่เขาและลูกน้องจะกลับ เขาก็พูดว่า

นายทหาร : “หลวงพ่อครับ พวกผมจะกลับแล้วละครับขอรดน้ำมนต์หน่อย”

หลวงพ่อ : “รดแล้ว”

นายทหาร : “ รดที่ไหนครับหลวงพ่อ ผมเป็นคนรับ ผมต้องรู้ซิ”

หลวงพ่อ : “รดมาตั้งสองชั่วโมงแล้ว คุณยังไม่รู้สึกหรือ? ”

โทษของการทำบาป

หลวงพ่อท่านจะมีปฏิภาณโวหารดีในการเปรียบเทียบธรรมะให้ง่ายสำหรับบางคน อย่างเช่นครั้งหนึ่ง พ่ออ่ำลูกศิษย์หัวเห็ดท่านหนึ่งเคยโต้คารมกับหลวงพ่อเกี่ยวกับโทษของการทำบาปโดยพ่ออ่ำถามหลวงพ่อว่า

“ ข้าวก็ข้าวของผม แป้งก็แป้งของผม เอามาทำเหล้ากินทำไมจะบาป? หลวงพ่อท่านก็ตอบพ่ออ่ำว่า

“ มีดนั้นก็มีดของโยม ทางคมก็ใช้สับทำลายได้ ทำอาหารได้ ส่วนทางสันก็ลองสับหัวตัวเองดูซิ มันจะเป็นอย่างไร ?”

ตายแล้วไปไหน?

เมื่อครั้งที่หลวงพ่อไปจาริกในต่างประเทศที่อังกฤษ ครั้งนั้นมีแหม่มคนหนึ่งถามหลวงพ่อว่า

“ คนตายแล้วไปไหน? ท่านได้ฟังแล้วจึงเป่าเทียนที่อยู่ใกล้ให้ดับ และถามแหม่มคนนั้นว่า

“เทียนดับแล้วไปไหน? ”

แหม่มคนนั้นก็รู้สึกงุนงงในคำตอบของท่านมาก

หลุมพราง

หลวงพ่อมหาอมร เขมจิตโต ได้เล่าว่าวันหนึ่งขณะที่ได้ติดตามหลวงพ่อชาไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน พอไปถึงทางเลี้ยวซ้ายหลวงพ่อท่านก็เดินชะลอเหมือนคอยจังหวะให้ท่านไปถึง พอเดินไปทันเห็นท่านเหลียวมองดูบ้านบ้านหลังหนึ่งชำรุดเก่าคร่ำคร่า เป็นบ้านของช่างไม้รับจ้างปลูกเรือน แล้วท่านก็เอ่ยลอย ๆ ว่า “บ้านช่างไม้นี่เก่าชำรุดเสียจริง ๆ นะ” หลวงพ่อมหาอมรก็ตอบแบบคล้อยตามว่า

“เป็นช่างไม้มีฝีมือ คนจึงมาจ้างบ่อย ๆ คงยังไม่มีเวลาทำให้ตนเอง” หลวงพ่อก็พูดสวนออกมาในทันทีว่า

“เราก็เหมือนกันนั่นแหละ.. มัวแต่สอนเขา”

หลวงพ่อมหาอมรจึงนึกรำพึงในใจว่า เอาแล้วไหมล่ะ.. เผลอไปจึงตกหลุมพรางของท่านเข้า รู้สึกกินใจและสะอึก แทบจะวางบาตรนั่งลงกราบรับรองว่าจริงตามที่ท่านพูดเพราะคาดไม่ถึง ไม่นึกว่าจะโดนท่านสอนธรรมะแบบปัจจุบันทันด่วนเช่นนี้

ความโกรธ

เคยมีพระลูกศิษย์ผู้มีโทสจริตรูปหนึ่ง เข้ามากราบนมัสการเรียนถามขออุบายจากหลวงพ่อว่า

“เมื่อผมโกรธควรจะทำอย่างไรขอรับ? หลวงพ่อท่านจึงแนะนำว่า

“ท่านต้องแผ่เมตตา… ถ้าท่านมีโทสะในขณะภาวนาให้แก้ด้วยการแผ่เมตตา ถ้าใครทำไม่ดีหรือทำให้โกรธก็อย่าโกรธตอบ ถ้าท่านโกรธตอบท่านจะโง่ยิ่งกว่าเขา จงเป็นคนฉลาดสงสารเห็นใจเขาเพราะว่าเขากำลังได้ทุกข์ จงมีเมตตาเต็มเปี่ยมเหมือนหนึ่งว่าเขาเป็นน้องชายที่รักยิ่งของท่าน เพ่งอารมณ์เมตตาเป็นอารมณ์ภาวนา เมตตาเท่านั้นที่จะเอาชนะโทสะและความเกลียดได้…

“บางครั้งท่านอาจจะเห็นพระภิกษุอื่นปฏิบัติไม่สมควร ท่านจะรำคาญใจทำให้เป็นทุกข์โดยใช่เหตุ ท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่าเขาไม่เคร่งครัดเท่าฉัน เขาไม่ใช่พระกรรมฐานที่เอาจริงเอาจังเช่นฉัน เขาไม่ใช่พระดี นี่เป็นกิเลสเครื่องเศร้าหมองอย่างยิ่งของตัวท่านเอง จงอย่าเปรียบเทียบ อย่าแบ่งเขาแบ่งเรา จงละทิฏฐิของท่านลงเสียและเฝ้าดูตัวท่านเอง ท่านไม่สามารถบังคับให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติตามที่ท่านต้องการหรือเป็นเช่นท่านได้ ความต้องการเช่นนี้มีแต่จะทำให้ท่านเป็นทุกข์ ผู้ปฏิบัติภาวนามักจะพากันหลงผิดในข้อนี้ การจับตาดูผู้อื่นไม่ทำให้เกิดปัญญาได้ เพียงแต่พิจารณาตนเองและความรู้สึกของตนเองแล้วท่านก็จะเข้าใจได้ นี่แหละคือธรรมะของเรา… ”

แบบเซนก็มี

ในสมัยปัจจุบัน พุทธศาสนาที่แพร่หลายในอเมริกาคือฝ่ายมหายาน ซึ่งมีคำสอนบางประการที่ไม่สอดคล้องกับฝ่ายเถรวาท ทำให้เกิดความสับสนในกลุ่มชาวตะวันตกที่ศึกษาธรรมะบ้างพอสมควร ตัวพอลเองหลังจากลาสิกขาไปจากวัดหนองป่าพง ก็เกิดสนใจธรรมะนิกายเซนของมหายานและได้ศึกษามาประมาณ ๒-๓ ปีก่อนหน้านั้น จึงมีเรื่องต่าง ๆ ของเซนมาเป็นหัวข้อสนทนาซักถามหลวงพ่อบ่อย ๆ และพอลก็ต้องแปลกใจ ที่หลวงพ่อสามารถโต้ตอบให้ความกระจ่างแก่เขาได้ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่เคยได้ศึกษาทางนี้มาก่อน

นี่คือตัวอย่างการสนทนาระหว่างหลวงพ่อและพอล

พอล : “ มหายานนี้ถือว่าจิตเดิมแท้เป็นของบริสุทธิ์ สรรพสัตว์มีพุทธภาวะในใจ อยู่แล้ว ฉะนั้นบางคนเห็นว่าไม่ต้องประพฤติปฏิบัติให้ลำบาก”

หลวงพ่อ : “ เรามีอะไรสะอาดบ้างไหม? ถาดใบนี้นะสมมุติว่าเราเอาขี้ใส่ แล้วพูดว่า ถาดใบนี้เดิมแท้เป็นถาดสะอาด พูดอย่างนี้จะถูกไหม?”

พอล : “ บางคนไม่ปฏิบัติเพราะเห็นว่าเขาสบายแล้ว ไม่มีความทุกข์”

หลวงพ่อ : “ ถ้าหากว่าเด็กน้อยไม่ยอมไปโรงเรียน ดื้อกับพ่อแม่ว่าไม่ไป ผมสบายแล้ว อย่างนี้จะดีไหม? ”

พอล : “บางคนเขาเห็นว่าความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่สมบูรณ์ ชีวิตต้องมีทั้งสุขและทุกข์ ความทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับจึงจะเป็นธรรมชาติ ถ้าไม่ความทุกข์ ความสุขก็ไม่มีรสชาติ”

หลวงพ่อ : “ จะเอาอย่างนี้ก็ได้ อย่าปล่อยนะ จับไว้ดี ๆ จับไว้นาน ๆ ดูซิว่ามันจะเป็นอย่างไร? ”

แบบเซน (อีกครั้ง)

คำตอบของหลวงพ่อสร้างความพอใจและคลายความสงสัยแก่นายพอลลงมาก แต่บทสนทนาระหว่างหลวงพ่อกับนายพอลยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ ยังมีคำถามต่ออีกว่า

พอล : “ผมยอมรับรับว่าคำสอนของหลวงพ่อเป็นสัจธรรมจริง แต่ยากที่ฆราวาส ญาติโยมผู้พัวพันอยู่กับโลก ๆ จะปฏิบัติตามได้”

หลวงพ่อ : (เอาไม้ชี้ที่อกของพอล) “ถ้าปลายไม้นี้มีเปลวไฟลุกโพลง คิดดูซิว่าพอลจะว่ายังไง? พอลก็จะพูดว่า ผมทุกข์จริง ร้อนจริง แต่นั่งอยู่ที่นี่ไม่รู้ว่าจะหนีไปไหน

พอล : “จะโอ้เอ้พูดอยู่อย่างนั้นหรือ มีแต่จะลุกหนีเท่านั้นแหละ”

หลวงพ่อ : “ ถ้าเราเห็นตัวทุกข์ เกิดขึ้นมาจริง ๆ แล้ว มีแต่จะภาวนาหาทางออกให้ได้เท่านั้น”

พอล : “ทำอย่างไรจึงจะละกิเลสได้ครับ? ”

หลวงพ่อ : “อย่าเพิ่งใจร้อนรีบละกิเลส ใจเย็น ๆ คอยดูความทุกข์ ดูเหตุมันดูให้ ดี ๆ แล้วจะได้ละมันออกอย่างเต็มที่ เหมือนกับว่าเวลาเรากินอาหาร เรา เคี้ยวช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด มันจึงจะย่อยง่าย ย่อยได้ดี”

ผ้าสกปรก

“ผ้าสกปรกไม่ฟอก แต่อยากจะรับน้ำย้อม

“เอาผ้าเช็ดเท้าไปย้อมไม่ต้องซักจะดีไหมนะ?”