การฝึกสมาธิเจริญปัญญา
คัดลอกจาก: อุปลมณี
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 008578 - โดย คุณ : mayrin [ 21 เม.ย. 2546 ]
การฝึกสมาธิเจริญปัญญา
พระพุทธองค์ตรัสว่า เมื่อศีลมั่นคงดีแล้ว นักปฏิบัติไม่ควรประมาท จงน้อมจิตเพื่อการฝึกอบรมที่สูงขึ้นไป คือการภาวนานั่นเอง หลวงพ่อให้คำจำกัดความเกี่ยวกับการฝึกสมาธิภาวนาว่า
เป็นการฝึกจิตของเราให้ตั้งมั่น และมีความสงบ เพราะตามปกติ จิตนี้เป็นธรรมชาติดิ้นรน กวัดแกว่ง ห้ามได้ยาก รักษาได้ยาก ชอบไหลไปตามอามรณ์ต่ำ ๆ เหมือนน้ำชอบไหลสู่ที่ลุ่มเสมอ
พวกเกษตรกรเขารู้จักกั้นน้ำไว้ทำประโยชน์ในการเพาะปลูกต่าง ๆ มนุษย์เรามีความฉลาดรู้จักเก็บรักษาน้ำ เช่น กั้นฝาย ทำทำนบ ทำชลประทาน เหล่านี้ ก็ล้วนแต่กั้นน้ำไว้ทำประโยชน์ทั้งนั้น
พลังงานไฟฟ้าที่ให้ความสว่างและใช้ทำประโยชน์อื่น ๆ ก็ยังอาศัยน้ำที่คนเรารู้จักกั้นไว้นี่เอง ไม่ปล่อยให้มันไหลลงสู่ที่ลุ่มเสียหมด จิตใจที่มีการกั้น การฝึกที่ดี ก็ให้ประโยชน์อย่างมหาศาลเช่นกัน
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า จิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้ การฝึกจิตให้ดี ย่อมสำเร็จประโยชน์ ดังนี้เป็นต้น
การฝึกจิตเป็นหัวใจของชีวิตนักบวช หลวงพ่อให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากในฐานะเป็นงานหลักของชีวิตประจำวันทีเดียว ดังที่ท่านชี้แนะพระเณรที่วัดหนองป่าพงว่า
คนที่จะมีกำลังนี่เดินจงกรมก็ไม่ได้ขาด นั่งสมาธินี่ไม่ได้ขาด สังวรสำรวมไม่ได้ขาด เราสังเกตพระเณรที่นี้ก็ได้ องค์ใดถ้าเห็นว่าฉันเสร็จแล้วหมดธุระแล้ว เข้าไปในกุฏิของท่าน
ตากจีวรไว้ เดินจงกรม เดินไปตามกุฏิเท่านั้น เราจะเห็นทางเดินเป็นแถว เราเห็นบ่อยครั้ง การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ ท่านองค์นี้ไม่เบื่อไม่หน่าย นี่ท่านมีกำลัง ท่านเป็นผู้มีกำลังมาก ทุก ๆ องค์ ถ้าเอาใจใส่ในการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ผมว่ามันสบาย
ปริยัติปฏิบัติ
หลวงพ่อมักแนะนำพระภิกษุสามเณร ผู้ที่มุ่งเข้ามาประพฤติปฏิบัติที่วัดหนองป่าพงว่า
ไม่ต้องอ่านหนังสือ ให้อ่านใจตัวเองดีกว่า แต่ไม่ใช่ว่าท่านประมาทในเรื่องปริยัติธรรม เพียงแต่เป็นห่วงว่าลูกศิษย์จะหลงเข้าใจผิดว่า ตนรู้ธรรมะดีแล้ว ทั้ง ๆ ที่จิตยังเข้าไม่ถึง
ปริยัตินี้เหมือนตำรายาที่ชี้บอกให้หารากไม้ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติ ออกแสวงหาต้นยา ให้รู้จักว่า ต้นนี้เป็นอย่างนั้น ต้นนั้นเป็นอย่างนี้ มันไม่เกิดประโยชน์อะไร
มิหนำซ้ำ ความรู้ที่เป็นสัญญาความทรงจำอาจจะมีโทษต่อผู้ภาวนา
นักปริยัติชอบสงสัย เช่น เวลานั่งสมาธิ ถ้าจิตสงบปั๊บ เอ! มันเป็นปฐมฌานละกระมัง ชอบคิดอย่างนี้ พอนึกอย่างนี้จิตถอนเลย ถอนหมดเลย เดี๋ยวก็นึกว่าเป็นทุติยฌานแล้วกระมัง
อย่าเอามาคิด พวกนี้มันไม่มีป้ายบอก มันคนละอย่าง ไม่มีป้ายบอกว่า นี่ทางเข้าวัดหนองป่าพง มิได้อ่านอย่างนั้น มันไม่บอก มีแต่พวกเกจิอาจารย์มาเขียนไว้ว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน มาเขียนไว้ทางนอก
ถ้าจิตเราเข้าไปสงบถึงขั้นนั้นแล้ว ไม่รู้จักหรอก รู้อยู่แต่ว่ามันไม่เหมือนปริยัติที่เราเรียน ถ้าผู้เรียนปริยัติแล้วชอบกำเข้าไปด้วย ชอบนั่งคอยสังเกตว่าเอ เป็นอย่างไร มันเป็นปฐมฌานแล้วหรือยัง
นี่มันถอนออกหมดแล้ว ไม่ได้ความ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เพราะมันอยาก พอตัณหาเกิดมันจะมีอะไร มันก็ถอนออกพร้อมกัน นี่แหละเราทั้งหลายต้องทิ้งความคิดความสงสัยให้หมด ให้เอาจิตกับกายวาจาล้วน ๆ เข้าปฏิบัติ
ดูอาการของจิต อย่าแบกคัมภีร์เข้าไปด้วย ไม่มีคัมภีร์ในนั้น ขืนแบกเข้าไปมันเสียหมด เพราะในคัมภีร์ไม่มีสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ผู้ที่เรียนมากๆ รู้มาก ๆ จึงไม่ค่อยสำเร็จ เพราะมาติดตรงนี้
หลวงพ่อเคยสอนพระที่แตกฉานในทางปริยัติรูปหนึ่งว่า
เอาปริยัติของคุณใส่หีบใส่ห่อเก็บไว้เสีย อย่าเอามาพูด เวลามีอะไรขึ้นมา มันไม่เป็นอย่างนั้น เหมือนกับเราเขียนหนังสือว่า ความโลภ
เวลามันเกิดขึ้นในใจมันไม่เหมือนกับตัวหนังสือ เวลาโกรธก็เหมือนกัน เขียนใส่กระดานดำเป็นอย่างหนึ่ง มันเป็นตัวอักษร เวลามันอยู่ในใจ มันอ่านอะไรไม่ทันหรอก
มันเป็นขึ้นมาที่นี่เลย สำคัญนัก สำคัญมาก จริงอยู่ปริยัติเขียนไว้ถูก แต่ต้อง โอปนยิโก ให้เป็นคนน้อม ถ้าไม่น้อมก็ไม่รู้จักความจริง
อุปกรณ์เสริมส่งสมาธิภาวนา
เราจะต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี ที่เรียกว่าเมตตาธรรม ให้เป็นผู้มีเมตตา เป็นคุณธรรม เช่นว่า เรากำจัดตัวโลภะ หรือความเห็นแก่ตัวออก
ทางพระท่านว่า ทานคือการให้ คนเราถ้าเห็นแก่ตัวแล้วไม่ค่อยสบาย แต่คนชอบจะเห็นแก่ตัวหลาย แต่เจ้าของไม่รู้สึก ไม่รู้สึกตัว
จะรู้ได้ในเวลาไหน ? รู้ได้ในเวลาเราหิวอาหาร ถ้าเราได้แอปเปิ้ลมา แล้วเราจะแบ่งคนอื่น จะแบ่งให้เพื่อน คิดแล้วคิดอีก อยากจะให้เพื่อนก็อยากจะให้
แต่ว่าอยากจะเอาลูกเล็ก ๆ ให้จะเอาลูกใหญ่ให้ก็ แหม! เสียดายเหลือเกิน คิดยากนักหนา เอาไป เอาไป เอาลูกนี้ไป เราก็ให้ลูกเล็ก ให้แอปเปิ้ลลูกน้อย ๆ ไป แต่เอาลูกใหญ่ไว้
นี่ความเห็นแก่ตัวชนิดนี้อันหนึ่ง แต่คนไม่ค่อยจะเห็น เคยมีไหม? เคยเป็นไหม ? การให้ทานนี้ เป็นการทรมานจิตนะ มันอยากให้เขาลูกเล็ก ๆ อุตส่าห์บังคับเอาลูกใหญ่ให้เพื่อน พอให้แล้ว เออ! สบายนะ
นี่การทรมานจิตอย่างนี้ ต้องบังคับจิตใจให้มันรู้จักให้ ให้มันรู้จักละ ไม่ให้มันเห็นแก่ตัว เมื่อเราให้คนอื่นเสียแล้ว มันก็สบายหรอก
ถ้าเรายังไม่ให้นี่ จะให้ลูกไหนหนอ มันลำบากมากเหลือเกิน กล้าตัดสินว่าให้ลูกใหญ่นี่หนา เสียใจนิดหน่อยนะ แต่พอตกลงใจให้เขาแล้วมันก็แล้วไป นี้เรียกว่าทรมานจิตในทางที่ถูก มันเป็นอย่างนี้
ถ้าเราทำให้ได้อย่างนี้เรียกว่าเราชนะตัวเอง ถ้าเราทำไม่ได้อย่างนี้เรียกว่าเราแพ้ตัวเอง เห็นแก่ตัวเรื่อยไป ก่อนนี้เรามีความเห็นแก่ตัว อันนี้ก็เป็นกิเลสอันหนึ่งเหมือนกัน ต้องขจัดออก
ทางพระเรียกว่าการให้ทาน การให้ความสุขแก่คนอื่น อันนี้เป็นเหตุช่วยให้ชำระความสกปรกในใจของเราได้ และต้องให้เป็นคนจิตใจอย่างนี้ ให้พิจารณาอย่างนั้น อันนี้ประการหนึ่ง ที่ควรทำไว้ในใจของเรา
บางคนอาจจะเห็นว่าอย่างนี้ ก็เบียดเบียนตัวเอง นี้ไม่ใช่เบียดเบียนตัว แต่เป็นการเบียดเบียนกิเลสตัณหาต่างหากล่ะ ถ้าในตัวมันมีกิเลสขึ้นมา ให้กิเลสมันหายไป
กิเลสนี้เหมือนแมว ให้กินตามใจมันก็ยิ่งมาเรื่อยๆ แต่มีวันหนึ่งมันข่วนนะ ถ้าเราไม่ให้อาหารมัน ไม่ต้องให้อาหารมัน มันจะมาร้องแง๊ว ๆ อยู่ เราไม่ให้อาหารมัน สัก ๑ - ๒ วันเท่านั้นก็ไม่เห็นมันมาแล้ว
เหมือนกันแหละ กิเลสไม่มากวนเรา เราก็จะได้สงบใจต่อไป ทำให้กิเลสกลัวเรา อย่าทำให้เรากลัวกิเลส ให้กิเลสกลัวเรา นี่พูดให้เห็นธรรมในปัจจุบันในใจของเราอย่างนี้
ธรรมะของพระพุทธเจ้าของเราอยู่ที่ไหน อยู่ที่ความรู้ความเห็นในใจของเรา อย่างนี้รู้ได้ทุกคน เห็นได้ทุกคน ไม่ใช่อยู่ในตำรา ไม่ต้องมาเรียนให้มันมาก
พิจารณาเดี๋ยวนี้ก็เห็น เห็นได้ทุกคน เพราะมันอยู่ในใจทุกคน เรามีกิเลสทุกคนใช่ไหม ถ้ามันได้เห็นอย่างนี้ก็รู้จัก แต่ก่อนนี้เราต้องเลี้ยงกิเลสไว้
ให้รู้จักกิเลส อย่าให้มันมากวนเรา อันนี้เป็นอันหนึ่งที่ยังไม่บังเกิด ให้ทำให้เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็ทำให้มากขึ้น
ทีนี้ข้อปฏิบัติต่อไปคือ การรักษาศีล ศีลนี้จะดูแลธรรมะให้เจริญขึ้น เหมือนพ่อแม่กับลูก การรักษาศีลคือ การเว้นการเบียดเบียนและทำการเกื้อกูลช่วยเหลือ อย่างน้อยให้มี ๕ ข้อ คือ
๑. ให้เมตตาสัตว์และมนุษย์ทั้งหมด ไม่ให้ทำร้ายเบียดเบียนตลอดถึงการฆ่า
๒. ให้มีความสุจริต อย่าไปข้ามสิทธิ์ของกันและกัน พูดง่าย ๆ คือ ไม่ให้ขโมยของกันนั่นเอง
๓. ให้รู้จักประมาณในการบริโภค อยู่ในฆราวาสวิสัยก็ต้องมีครอบครัว มีพ่อบ้าน แม่บ้าน แต่ถ้ารู้จักประมาณก็ปฏิบัติธรรมะได้ ให้รู้จักพ่อบ้านของเรา รู้จักแม่บ้านของเราเท่านั้น
ให้รู้จักประมาณ อย่าทำให้เกินประมาณ ให้มีขอบเขต แต่โดยมากคนจะไม่มีขอบเขตเสียด้วยนะ บางทีพ่อบ้านคนเดียวก็ไม่พอ มีสองคนบ้าง บางทีแม่บ้านคนเดียวไม่พอ ต้องมีสองมีสามด้วย อย่างนี้ก็มี
อาตมาว่าคนเดียวก็กินไม่หมดแล้ว จะไปมีสองคนสามคนนี่ มันเรื่องสกปรกทั้งนั้นนี่ อย่างนี้ต้องพยายามชำระ พยายามฝึกใจให้มันรู้จักประมาณ ความรู้จักประมาณนี้มันบริสุทธิ์ดี
ที่ไม่รู้จักประมาณนี้ มันไม่มีขอบเขต ถึงได้อาหารเอร็ดอร่อยอย่างนี้ อย่าไปนึกถึงความเอร็ดอร่อยมันมาก ให้รู้จักท้องเรา ให้รู้จักประมาณ ถ้าเรากินมากก็ลำบากเหมือนกัน
ให้รู้จักประมาณ ความรู้จักประมาณนี่ดีที่สุด ให้มีแม่บ้านคนเดียวก็พอแล้ว มีพ่อบ้านคนเดียวก็พอแล้ว มีสองมีสามเกินขอบเขตแล้ววุ่นวาย
๔. ความซื่อสัตย์ นี้ก็เป็นเครื่องกำจัดกิเลสเราเหมือนกัน เป็นคนตรงมีสัจจะ เป็นคนซื่อสัตย์
๕. เป็นคนที่ไม่ดื่มสุราน้ำเมา อย่างนี้ก็ให้รู้จักประมาณ ให้เลิกเสียก็ดี คนเราเมามัวในครอบในครัวก็มากแล้ว เมาลูก เมาหลาน เมาทรัพย์สมบัติหลายอย่าง มันก็พอแล้ว
ยิ่งเอาเหล้ามากินเข้าไปอีก มันก็มืดเท่านั้นแหละ อันนี้บริษัททั้งหลายไม่รู้ ดูตัวเราเอง ถ้าหากว่ามักมาก ใครมีมากก็พยายามค่อย ๆ ปัดเป่ามันออกไป ปัดเป่ามันออกไปให้หมด
ทีนี้ เมื่อมีศีลบริสุทธิ์ดีแล้ว มีความรักกัน ซื่อสัตย์ ก็จะมีความสุข ความเดือดร้อนไม่มี เมื่อความเดือดร้อนไม่มีแล้ว เพราะไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน อย่างนี้ก็มีความสุข
นี้คืออยู่ในเมืองสวรรค์แล้ว สบาย กินก็สบาย นอนก็สบาย มีความสุข สุขเกิดจากศีล เมื่อมีการกระทำอย่างนี้ ก็เป็นเหตุให้อันนี้เกิดขึ้นมา ละความชั่วเช่นนี้
เป็นกฏอันหนึ่งเพื่อความดีนี้เกิดขึ้นมา นี่ถ้าเรามีศีล อย่างนี้ ความชั่วหนีไป ความสุขเกิดขึ้นมา นี่ละเกิดเพราะการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ทีนี้ยังไม่จบแค่นี้นา คนเราถ้ามีความสุขแล้วชอบเผลอเหมือนกัน ชอบเผลอไม่อยากไปที่ไหน ชอบติดสุขอยู่ที่นั่นแล้ว ไม่อยากไปที่ไหนหรอก ชอบสุขมันเป็นสวรรค์
ถ้าพูดตามบุคคลาธิษฐาน เป็นเมืองสวรรค์ ผู้ชายก็เป็นเทวบุตร ผู้หญิงก็เป็นเทวดา สบาย ไม่รู้เนื้อรู้ตา อันนี้ให้ทำความพิจารณาอีกทีหนึ่งอย่างหลงมัน
ให้พิจารณาโทษของความสุขอีก ว่าความสุขนี่มันไม่แน่นอนเหมือนกัน มีความสุขแล้วไม่ช้าไม่นานเท่าไร ความสุขนั้นก็จะเลิกจากเรา นี้เป็นของไม่แน่เหมือนกัน
เมื่อความสุขเลิกจากเรา ความทุกข์เกิดขึ้นมา เราก็ร้องไห้อีกแหละ นางเทวดาร้องไห้แล้วซิ เทวบุตร ยังร้องไห้เป็นทุกข์ แล้วท่านให้เราพิจารณาโทษของมัน
ให้เห็นโทษของมันว่า โทษของความสุขมีอยู่ แต่ในเวลาที่มีความสุขนี่ไม่รู้จัก มีความสุขนี้มันปิด ทำให้เราไม่เห็นทุกข์หรอก
ภาวนาแบบไหนดี
หลวงพ่อไม่ได้จำกัดวิธีการเจริญภาวนา ผูกขาดลงไปในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง แต่ท่านเน้นว่า
แนวทางการทำสมาธิใดที่นำไปสู่การปล่อยวาง ไปสู่การไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง
การภาวนาก็คือ การทำความคิดความเห็นให้ถูกต้อง ทำเพื่อปล่อยวาง วิธีการทุกอย่าง ก็เหมือนเครื่องมือจับปลานั่นแหละ มันต่างกันแต่รูปแบบ ต่างกันแต่วิธีเท่านั้น ในที่สุดก็เพื่อเอาผลอันเดียวกันนั่นเอง
ทีนี้ เราจึงไม่จำกัดรูปแบบการปฏิบัติ แต่ก็มักจะสอนให้ภาวนา พุทโธ หรือ อานาปานสติ คือ การกำหนดลมหายใจเข้าออก ทำไปพอสมควรแล้ว จึงค่อยทำความรู้ความเห็นของเราให้ถูกต้องเรื่อยไป
ท่านให้เหตุผลในการสอน อานาปาสติเป็นหลักว่า
เป็นสิ่งที่ง่ายและสบายแก่นักปฏิบัติ เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ตลอดเวลา ทุกอิริยาบถ ไม่ต้องสร้างหรือปรุงขึ้นมา
อาการบังคับตัวเองให้กำหนดลมหายใจ ข้อนี้เป็นศีล การกำหนดลมหายใจได้และติดต่อไปจนจิตสงบ ข้อนี้เรียกว่า สมาธิ การพิจารณากำหนดลมหายใจว่าไม่เที่ยง ทนได้ยาก มิใช่ตัวตน แล้วรู้การปล่อยวาง ข้อนี้เรียกว่า ปัญญา
การทำ อานาปานสติภาวนา จึงกล่าวได้ว่าเป็นการบำเพ็ญ ศีล สมาธิ ปัญญา ไปพร้อมกัน และเมื่อทำศีล สมาธิ ปัญญา ให้ครบ ก็ชื่อว่าได้เดินทางตามมรรคมีองค์ ๘ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นทางสายเอก ประเสริฐกว่าทางทั้งหมด
เพราะจะเป็นการเดินทางเข้าถึงพระนิพพาน เมื่อเราทำตามที่กล่าวมานี้ ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงพุทธธรรมอย่างถูกต้องที่สุด
นั่งสมาธิอย่างไร
สำหรับอิริยาบถนั่งสมาธินั้น หลวงพ่อไม่พิถีพิถันมากนัก แต่ให้คำแนะนำสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า นั่งตัวตรง ดำรงสติมั่น เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ไม่นั่งหลังงอหรือหลังโกง ไม่เคร่งจนเกินไป ไม่เอียงไม่เอนไปทางซ้ายทางขวา ทำตัวให้สบาย ๆ นั่งเหมือนพระพุทธรูป
เอาสติที่มันมีอยู่นี้ ตามลมเข้า ตามลมออก ตามลมเข้าไป ต้นลม กลางลม ปลายลม ให้มีสติสัมปชัญญะอยู่ที่ลมเท่านั้น เมื่อเราฝึกเช่นนี้พอสมควรแล้ว สติก็มีอยู่ เข้าก็มีสติ ออกก็มีสติ กลางลมก็มีสติ ต้นลมก็มีสติ
จิตใจหรือความรู้สึกของเรา มันไม่มีเวลาหลีกไปเก็บเอาอารมณ์อื่น เพราะมันรู้อยู่ที่ตรงนี้ ทั้งลมเข้าลมออก ถ้าหากว่าจิตใจหรือความรู้สึกของเรา มันแส่ส่ายไปหาอารมณ์อื่น ก็แสดงว่า สติมันเผลอไปแล้ว ให้ตั้งสติขึ้นใหม่
ให้รู้จักว่ามันผ่านตรงนี้ ๆ ดูไปเรื่อย ๆ บางทีมันหนีไปที่ไหนตั้งนานแล้ว ก็ยังไม่รู้ อ้าว ! เผลอสติอีกแล้วก็ยกขึ้นมาใหม่ ถ้าเราทำอย่างนี้ จะรู้จักต้นลม กลางลม ปลายลม ได้พอสมควร
ตอนแรก ๆ จะลำบากหน่อย ระยะต่อไปถ้าเรามีความชำนาญ รู้จักพอสมควรแล้ว เรางดก็ได้ ไม่ต้องกำหนดตามไปก็ได้ ไม่ต้องตามลมออกลมเข้า มันจะยาวจะสั้นเราก็รู้จัก เอาความรู้สึกมาอยู่ที่ปลายจมูกอย่างเดียว ให้หยุดอยู่ตรงนั้น ลมเข้าก็รู้จัก ลมออกก็รู้จัก การกำหนดลมเราไม่ต้องไปบังคับมัน
เมื่อเราจะนั่งสมาธิก็ลองดูอย่างนี้ก่อน คล้าย ๆ กับการฝึกหัดเหยียบจักรเย็บผ้า เราจะต้องมีมือมีเท้าที่สัมพันธ์กัน เราหัดเย็บผ้าครั้งแรกจะต้องทำอย่างไรบ้าง เอาเท้าถีบจักรเปล่า ๆ เสียก่อน ไม่ต้องใส่ผ้าให้เท้ามันคล่องตัวเสียก่อน เมื่อมันคล่องตัวดีแล้วเราจึงเอาผ้าเข้าไปเย็บ
ลมหายใจนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น เราไม่ต้องกำหนดมัน ยาวหรือสั้นก็ตามให้มันสบาย ๆ ก็พอ เมื่อมันสบายเราก็รู้จักว่า เออ! ความสบายมันถึงขนาดนี้ ลมนี้มันจะยาวเกินไปหรือสั้นเกินไป แรงเกินไป อย่าได้ไปบังคับมัน ปล่อยมันให้ได้สัดส่วนพอดี ๆ กำหนดลมเข้าลมออกเท่านั้นก็พอ ไม่ต้องไปพิจารณาอย่างอื่น ทำอันนี้ให้รู้จักลมก็พอแล้ว
เมื่อทำอย่างนี้ ความคิดบางส่วนจะเกิดขึ้นมา แหม ! ทำอย่างนี้มันจะรู้อะไรหนอ ทำต่อไป อย่าได้สงสัยเลย ไม่ต้องพูด ไม่ต้องคิด ไม่ใช่หน้าที่การงานของเรา หน้าที่การงานของเราคือ รู้ลมเข้ารู้ลมออกเท่านั้น
ไม่ต้องการให้ไปเห็นเทวดาองค์นั้น ไปเห็นพระพรหมองค์นี้ ไม่ต้องการเช่นนั้น ให้รู้จักอารมณ์ คือลมเข้าลมออกเท่านั้น ไม่ให้ลืมก็พอแล้ว ให้เข้าใจ ให้ตัดมันเสีย เมื่อเห็นอารมณ์มันผ่านมา ผ่านไป แล้วก็ปล่อยมันไป
อารมณ์ต่าง ๆ นี้ มันไม่แน่นอนหรอก พอจะนั่งมันก็คิดถึงบ้าน แล้วมันก็ปรุงแต่งอย่างนั้น อย่างนี้ พอคิดถึงบ้านปุ๊บ เอ๊ย! อันนี้มันไม่แน่นอน คิดถึงบ้านก็ไม่แน่นอน เบื่อบ้านก็ไม่แน่นอน ไม่เชื่อมันทั้งนั้น มันโกหก
เราจะต้องยืนยันอย่างนี้ก่อน บางทีมันเกลียดคนนั้นเกลียดคนนี้ ก็ไม่แน่ บางทีรักคนนั้นรักคนนี้ ก็ไม่แน่ เอ้า ! เอามันอยู่ตรงนั้น มันจะไปตรงไหนล่ะ
มันเกลียดคนนั้น มันก็ปรุงแต่งให้เป็นอย่างนั้น ๆ มันรักคนนี้ก็ปรุงแต่งให้เป็นอย่างนี้ ๆ จนจิตใจไม่สบายเป็นทุกข์ บางทีเกลียดเอามาก ๆ นึกถึงทีไร น้ำตามันไหลออกมาเลย เห็นไหม จะเห็นว่ามันเป็นของแน่นอนได้อย่างไร
อารมณ์ทั้งหลาย ให้เห็นว่าเป็นสักแต่ว่าอารมณ์เท่านั้น มันไม่แน่นอนสักอย่างเลย เราตัดอันนี้ออกเพราะจะทำให้เราหลง อันนี้มันดี เออ ! ดีก็ไม่แน่ อันนี้มันไม่ดีนี่ ไม่ดีก็ไม่แน่ ดีมันก็ไม่ควรยึด ไม่ดีก็ไม่ให้มันยึด
ถ้าเรารู้เท่าทันมันอย่างนี้ อารมณ์มันก็เป็นโมฆะ ค่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ อารมณ์ที่มันเกิดขึ้น มีดีมีชั่วนั้นมันไม่มีราคา มันจะค่อย ๆ จืดจางไปเรื่อย ๆ ถ้าเราตามดูอยู่ก็จะเห็นของไม่แน่จริงเท่านี้แหละ
เรื่องการปฏิบัติเบื้องแรกของเรา การกระทำของเราต้องทำอย่างนี้ อยู่ที่นั่น ให้มีสติ ต่อนั้นไป เราจะเห็นลม เห็นสติ แล้วก็เห็นจิตพร้อมกัน อยู่ในที่อันเดียวกันนั้น มีสติต้องมีลมด้วยมีจิตด้วย มีความพร้อมอยู่เป็นสามัคคีอยู่ทั้งนั้น
คำว่า เห็น ไม่ใช่ตาเห็นนะ ความรู้สึกมันเห็น ตาในมันเห็น ไม่ใช่ตานอก ความรู้สึกลมอยู่ที่นี่ สติอยู่ที่นี่ ความรู้อยู่ที่นี่ จิตก็อยู่ที่นี่ มันรวมกันอยู่เป็นสามัคคีอันเดียวกันนั้น
เมื่อเราเห็นสามัคคี ทั้งสติ ทั้งลม ทั้งจิตของเราอยู่ในที่เดียวกัน จิตเราก็พรากจาก กามฉันทะ คือความใคร่ในกามพยาบาท คือความคิดเบียดเบียน
ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย หมดไม่มี เห็นแต่ลม
มีแต่สติกับจิตอยู่ในจุดเดียวกัน จิตปราศจากนิวรณ์ ปราศจากธรรมทั้งห้านี้ ก็ให้เข้าใจได้ว่าจิตเป็นสมาธิแล้ว เราก็รู้จักว่าลมของเรามันหยาบ รู้จักว่าลมของเราละเอียด เราก็ต้องรู้ในที่นั้นเอง
ต่อนั้นไป เราก็ต้องกำหนดลมของเราให้ละเอียดเข้า ให้น้อยเข้า ๆ ให้ละเอียดเข้าไป ๆ จนถึงกับมันไม่มีหยาบ ความละเอียดของลมเป็นเช่นนี้ จนเรานั่งพิจารณาอยู่ มันละเอียดคล้ายกับว่าไม่มีลม หรือมีความรู้สึกว่าลมไม่มี
นี้ไม่ต้องตกใจ ลมมันมีอยู่ แต่เป็นของละเอียดมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะทำอย่างไรต่อไป
เราจะต้องมีสติกำหนดว่า ไม่มีลมเป็นอารมณ์ต่อไป พอถึงระยะนี้ บางคนอาจจะตกใจ กลัวลมหายใจจะไม่มี กลัวจะเป็นอันตราย ต้องคิดแก้อย่างนี้ว่า อันตรายไม่มี อันนั้นไม่มีอันตราย ไม่เป็นอันตราย
ขอแต่ว่าให้เรามีสติ รู้สึกอยู่ รู้อยู่เท่านั้นก็พอ เมื่อจิตเป็นเช่นนี้ เรียกว่าจิตละเอียดมาก ๆ จิตถึงขนาดนี้ไม่ต้องควบคุม ไม่ต้องไปทำอะไร ไม่ต้องไปควบคุมจิต เอาความรู้สึกให้มีสติสัมปชัญญะ อยู่อย่างเอียวเท่านั้น
ให้รู้เสียว่า จิตขณะนี้มันเป็นอัตโนมัติแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องไปฝึกให้มันหยาบ ให้มันละเอียด ขอแต่ว่าให้เรามีสติสัมปชัญญะอยู่ให้มันแน่นอนเท่านั้นก็พอ อย่างนี้เรียกว่า จิตเข้าถึงความสงบเต็มที่แล้ว
เป็นบางครั้งจิตจะเข้าและถอยออกเป็นพัก ๆ บางทีเมื่อถอนออกมาก็สงบหน่อยหนึ่งแล้วก็ถอยมามีความรู้สึก เกิดอะไรขึ้นมาต่าง ๆ นี่ เรียกว่า จิตถอยออกมาแล้ว ถอนออกมาจากสมาธิแล้ว
เมื่อจิตถอนออกมาตรงนี้แล้ว จะรู้เรื่องอะไรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เกิดความอิ่มเอิบในธรรม อธิบายธรรมเกิดปัญญา เกิดความรู้ความเห็นอะไรในที่นี้หลายอย่าง
จิตในขณะนี้จะเป็นวิปัสสนาแล้ว จะต้องตั้งสติให้ดี ตั้งจิตให้มั่น ตั้งสัมปชัญญะ จิตใจในขณะนี้ เมื่อเกิดปัญญาแล้วก็เป็นวิปัสสา ซึ่งต่อเนื่องกับสมถะ ตรงนี้นี่ท่านเรียกว่า ขณะของจิต ท่านเรียกว่า วสี
ต้องชำนาญใน วสี เมื่อจิตเป็นเช่นนี้ เราจะรู้จักว่าอาการของจิตเป็นอย่างไร อาการถอนจิตเป็นอย่างไร ให้ฉลาดในการเข้า ให้ฉลาดในการออก จะต้องตั้งสติให้มาก ตั้งสัมปชัญญะให้มาก
ในตรงนี้ จิตตรงนี้เป็นจิตที่หมดความวุ่นวาย ถึงแม้จะเป็นอาการเดินไปก็ไม่วุ่นวาย ถอยกลับมาก็ไม่วุ่นวาย จิตเช่นนี้เป็นอาการอยู่ในความสงบทั้งนั้น
เมื่อพอสมควรกับเวลาที่เราจะออกจากสมาธิแล้ว เราควรนึกว่าก่อนจะเข้าสมาธิจิตเรามาสงบได้อย่างไร เราตั้งไว้อย่างไรจิตเราถึงสงบอย่างนี้
วันหลังเมื่อเราจะทำสมาธิ เราก็ต้องนึกอย่างนี้ว่าเบื้องต้นเราทำอย่างไร เมื่อเข้าไปแล้วจะถอนออกมา เรากำหนดอย่างไรก็ต้องรู้จัก จึงค่อย ๆ ออกจากสมาธิ คือหยุดนั่งสมาธิ
แต่เราต้องเข้าใจว่า เรายังไม่ออกจากสมาธิ จะมีความรู้กำหนดและมีสติอยู่ต่อไป การยืน การเดิน การนั่ง การนอน จะต้องมีสติอยู่ทุกเมื่อ