ธรรมอุปมา
คัดลอกบางส่วนจาก: อุปลมณี
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 009123 โดยคุณ : mayrin [ 3 ก.ค. 2546 ]
ธรรมอุปมา
การอุปมา เป็นวิธีการสอนธรรมะที่ดูเหมือนหลวงพ่อชอบมากที่สุด และเป็นวิธีที่ท่านถนัดมากที่สุดด้วย ท่านยกธรรมชาติรอบด้านเข้ากับสภาวะ เข้ากับปัญหาถูกกับจริต นิสัยของคนนั้น อุปมาอุปไมยประกอบการสอนธรรมะ
จึงทำให้ผู้ฟังเกิดภาพพจน์ตามไปด้วย ทำให้ผู้ฟังสามารถมองปัญหาได้อย่างทะลุปรุโปร่ง หมดความสงสัยในหลักธรรมที่นำมาแสดง
ตัวอย่างการอุปมาของหลวงพ่อได้แก่
เหมือนคนเลี้ยงไก่ไม่ได้กินไข่ไก่ ได้แต่ขี้ไก่ระวังอย่าให้เป็นอย่างนั้น ก็เหมือนว่า เราเรียนปริยัติได้ แต่ไม่รู้จักละกิเลสไม่รู้จักละความโลภโกรธหลงออกจากใจของเรา
คนมาอยู่กันมาก ๆ มันก็ปฏิบัติกันได้ง่าย ถ้ามีความเห็นถูกต้องตรงกัน เมื่อมาน้อมลงเพื่อละทิฐิอันเดียวกัน มันก็ลงสู่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เหมือนกัน จะว่ามีหลายองค์มันเกะกะก็ไม่ได้
คล้าย ๆ ตัวกิ้งกือ ตัวกิ้งกือมีหลายขา มองดูก็น่ารำคาญเหมือนกับว่ามันจะยุ่งกับขากับแข้งของมัน แต่มันเดินไปเดินมา ความจริงมันไม่ยุ่งมันมีจังหวะมีระเบียบ ในทางพระพุทธศาสนาก็เหมือนกัน ถ้าปฏิบัติแบบสาวกของพระพุทธเจ้ามันก็ง่าย
คือการเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง
ปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์และเป็นผู้ปฏิบัติชอบ ถึงเราจะมีเป็นร้อยเป็นพัน เราจะมีมากแค่ไหนก็ช่างเถอะ มันก็ลงสายเดียวกันหมด
บางคนบวช ว่าจะมาพักผ่อนให้สบาย จะมานั่งพักผ่อนเอาสบาย ไม่ได้เรียนหนังสือมาก่อน จะมาจับหนังสือได้เลยอย่างนั้นหรือ ไม่ได้หรอก
บางคนต้องการมาปฏิบัติ เพื่อเอาความสุขเฉย ๆ สุขมันจะมาจากไหนก่อน อะไรเป็นเหตุมัน ความสุขทั้งหลายน่ะ มันต้องมีทุกข์มาก่อนมันจึงจะมีสุข เราทำทุกสิ่งทำงานก่อนจึงได้เงินมาซื้อกินมิใช่หรือ ทำนาก่อนจึงจะได้กินข้าว มันต้องผ่านควาทุกข์มาก่อนทุกอย่างนั้นแหละ
การทำกรรมฐาน ทำเหมือนระฆังใบนี้ ระฆังนี้ตั้งไว้เฉย ๆ เสียงไม่มีนะ สงบ สงบจากเสียง เมื่อมีเหตุกระทบขึ้นมา (หลวงพ่อตีระฆังดัง ๑ ที) เห็นไหมเสียงมันเกิดขึ้นมา
นักปฏิบัติเป็นคนมักน้อยอย่างนั้น เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นมา แก้ไขทันท่วงทีเลยชนะ ด้วยปัญญาของเราแก้ปัญหาแล้วก็สงบตัวของเรา เหมือนระฆังนี้
เหมือนกับคลื่นในทะเลที่กระทบฝั่ง เมื่อขึ้นมาถึงแค่ฝั่งมันก็สลายเท่านั้น คลื่นใหม่มาก็ต่อไปอีก มันจะเลยฝั่งไปไม่ได้ อารมณ์มันจะเลยความรู้ของเราไปไม่ได้เหมือนกัน
เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะพบกันที่ตรงนั้น มันจะแตกร้าวอยู่ที่ตรงนั้น มันจะหายก็อยู่ตรงนั้น เห็นว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือฝั่งทะเล อารมณ์ทั้งหลายผ่านเข้ามาเหมือนคลื่นทะเล ...
ครูรู้จักศิษย์
คำว่า ครู มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤตคือ คุ ซึ่งแปลว่าความมืด และรุ แปลว่า ความสว่าง ครู จึงหมายถึงผู้ที่นำศิษย์ออกจากความมืดมาสู่ความสว่าง
เป็นธรรมดาอยู่เองที่บรรดาลูกศิษย์แต่ละคนของครูนั้น มาจากหลายถิ่น ต่างพื้นเพ ต่างจริตนิสัย ต่างจิตใจกันเหมือนไม้ในป่า แต่ช่างไม้ที่ฉลาดรู้จักพืชพันธู์ และคุณภาพของไม้แต่ละต้น ย่อมสามารถนำไม้จากป่า มาทำให้เกิดประโยชน์ใช้สอยได้ตามความเหมาะสม
ครูที่ฉลาดรู้จักลูกศิษย์แต่ละคนของตน ก็ย่อมสามารถปลุกปั้นสั่งสอนศิษย์ให้สำเร็จประโยชน์บรรลุจุดหมายปลายทางได้ฉันนั้น
หลวงพ่อเคยเปรียบเทียบให้ฟังอีกนัยหนึ่งว่า
การให้ธรรมะนี่ก็เหมือนกับให้ยารักษาคนไข้ นายแพทย์รักษาคนไข้ก็ต้องรู้ว่ายาชนิดไหนเหมาะแก่ใคร ต้องรู้จักคนไข้ รู้สมุฏฐานของโรคหรือเหมือนกับเราทอดแห ไปเหวี่ยงแหสะเปะสะปะคร่อมแม่น้ำเลย ไม่ได้หรอก
ต้องคอยเวลาเห็นปลาบ้อน(ผุด)นั่นแหละ มันบ้อนตรงไหนก็เหวี่ยงลงตรงนั้นเลย ถึงจะได้ การสอนก็ต้องดูว่าเขาจะรับได้แค่ไหน ดูความพอดีของเขา เพราะความพอดีนั้นแหละคือธรรมะ ถ้าไม่พอดีไม่เป็นธรรมะ
หลวงพ่อเป็นครูที่รู้จักลูกศิษย์ เหมือนหมอที่รู้จักคนไข้ และท่านก็ฉลาดในการจัดยา คือเลือกวิธีสอนให้เหมาะแก่จริตนิสัยของลูกศิษย์แต่ละคนด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเทศน์ การพูดจาปราศรัยหรือการปฏิบัติต่อลูกศิษย์ในโอกาสต่าง ๆ ท่านจะพูดหรือทำอะไรที่เหมือนกับว่า ท่านรู้ใจหรือรู้ความเป็นไปของลูกศิษย์อีกด้วย
พระอาจารย์สุริยนต์ได้ให้ตัวอย่างในเรื่องการวางคำสอนว่า
เช่นลูกศิษย์ฝรั่ง ปกติฝรั่งเขาชอบยิ้มแย้ม ชอบให้ถาม ถ้าเฉยเกินไปเขาก็คิดว่ามันเป็นบรรยากาศที่อึดอัดสำหรับเขา หลวงพ่อจึงต้องเอาใจใส่ไต่ถามความเป็นอยู่ ถามทุกข์สุข การปฏิบัติเป็นอย่างไร ก้าวหน้าหรือถอยหลังอย่างไร
ถ้าพระเณรคนไทยท่านก็จะดูนิสัยเหมือนกัน บางองค์มีความเข้าใจในท่านพอสมควรแล้ว ท่านก็ไม่จำเป็นต้องถามมาก บางองค์ซื่อหรือไม่ค่อยมีปัญญา ท่านก็หาอุบายธรรมะที่เหมาะสมชี้แนะให้
บางองค์หนักไปทางโทสะจริต ท่านก็หาธรรมะคำพูดที่แฝงความขบขัน หรือยกตัวอย่างที่มีความเมตตามีความกตัญญู ทำให้อารมณ์ผ่อนคลายคล้อยตาม เบิกบานร่าเริงได้ เป็นเหตุให้มีกำลังใจ และมีความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม
พระอาจารย์เอนกเล่าว่า เคยได้ยินหลวงพ่อปรารภถึงลูกศิษย์อย่างนี้
ทำไมจะไม่รู้จักลูกศิษย์ ถ้าไม่รู้จักจะเป็นครูบาอาจารย์ได้อย่างไร เปรียบเหมือนชาวสวนกล้วย ถ้าไม่รู้จักลำต้น ใบ ผล ของมันจะทำสวนกล้วยได้อย่างไร ครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน ทำไมจะไม่รู้จักลูกศิษย์
ลูกศิษย์แต่ละรูปก็มีกายกับใจเท่านั้น พูดถึงใจมันก็ไม่แปลกกัน ใจคนหนุ่ม คนแก่ พระเณร ญาติโยม ถ้าเป็นใจที่ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลสมันก็ไม่ต่างกัน นี่หลวงพ่อพูดง่าย ๆ อย่างนี้
หลวงพ่อท่านเป็นคนช่างสังเกต ปัญญาท่านแหลมคม ประกอบด้วยประสบการณ์ในการสอนศิษย์มีมาก ท่านจึงดูคนออกง่าย ท่านมองลูกศิษย์ เดิน ยืน นั่ง นอน ฉัน กราบ ทำงาน ความฉับไวและความละเอียดในการอุปัฏฐาก
ท่านก็เห็นทั้งไส้ทั้งพุงเลย ยิ่งกว่านั้นบางทีในโอกาสที่หลวงพ่อเห็นสมควร ท่านอาจพูดบางคำที่แสดงให้ศิษย์เห็นว่า รู้ความคิดของศิษย์รูปนั้น ๆ เพื่อเร้าความละอายและความเกรงกลัวต่อบาปให้เกิดขึ้นในผู้ประมาท
การทดสอบ
นอกจากจะได้ฟังการอบรมเป็นประจำ ระหว่างเวลาประชุมทำวัตร พระเณรจะได้รับการสั่งสอนจากหวงพ่อโดยใกล้ชิดอีกในหลาย ๆ โอกาส เป็นต้นว่า ในเวลาที่ท่านพาทำงานพาไปธุดงค์ พาไปเยี่ยมวัดสาขาต่าง ๆ
หรือในระหว่างการอุปัฏฐาก เช่นเข้าไปถวายการนวด การสรงน้ำท่าน ก็เป็นโอกาสอันดีที่ศิษย์จะได้อยู่กับหลวงพ่ออย่างเป็นกันเอง และบางทีหลวงพ่อก็ใช้โอกาสเหล่านี้เป็นการทดสอบสติปัญญาของศิษย์
การทดสอบนี้รูปไหนสอบตกจะไม่มีวันลืมเลย การที่ท่านคอยทดสอบ คอยจ้ำจี้จ้ำไช ทำให้พระเณรตื่นตัว ไม่ค่อยเผลอ ขณะเดียวกันก็ทำให้ลูกศิษย์ เกิดความอบอุ่น ด้วยความรู้สึกว่าเป็นศิษย์มีครู มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์คอยจับตาดูเราตลอดเวลา
แต่บางรูปก็อาจจะรู้สึกมีความกดดันเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถือได้ว่าการทดสอบนี้เป็นการกลั่นกรองและคัดเลือกคนก็ได้
หลวงพ่อสอนให้มีสติสัมปชัญญะความรอบคอบ สำรวรสังวรก่อนจะคิดจะพูดจะทำอะไรรู้จัก พิจารณาให้แยบคาย เมื่อเห็นว่าไม่ผิดธรรมไม่ผิดวินัยแล้ว จึงพูดจึงทำด้วยความไม่ประมาท
เพื่อทดสอบพระเณรในเรื่องนี้ บางครั้งท่านจะแกล้งชวนคุย พอคุยไปได้ที่แล้วท่านก็จะหยุด นิ่งเฉยด้วยอาการสงบ ลูกศิษย์บางองค์ไม่มีสติ หลวงพ่อหยุดแล้วก็ไม่ยอมหยุด
บางองค์นึกว่า ท่านสนใจฟังเรื่องของตัวเองเสียอีก ยิ่งได้ใจ คุยไม่ยอมหยุด หลวงพ่อก็จะนิ่งเงียบเฉย ไม่ยิ้มไม่แย้ม ทำเหมือนกับไม่มีอะไร แต่พอถึงเวลาเทศน์อบรม ท่านก็ยกตัวอย่างเอาเรื่องของภิกษุสามเณรรูปนั้น ๆ มาเทศน์ เช่น
ภิกษุสามเณรบางรูป เช่นภิกษุ ก สามเณร ข เวลาพูดคุยกับครูบาอาจารย์ ท่านหยุดแล้วก็ไม่ยอมหยุด พูดเรื่อยเปื่อยไม่มีสติ คนเราถ้าขาดสติมันก็ไม่แปลกอะไรกับคนบ้านั้นแหละ
ถ้าภิกษุสามเณรรูปไหนโดนท่านดุอย่างนั้นต่อไปก็จะมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ครูบาอาจารย์ถามจึงพูด ถ้าท่านหยุดก็ไม่กล้าพูดต่อ กลัวโดนดุอีก
บางครั้งท่านก็ใช้วิธีอีกวิธีหนึ่ง ค่อนข้างตลก เช่นตอนออกบิณฑบาตกับท่าน ท่านก็ชวนคุยไปด้วยเดินไปด้วย บางทีท่านก็แกล้งหยุด เมื่อท่านหยุดผู้ที่เดินตามหลังเกิดเผลอสติ ตั้งตัวไม่ทัน ก็ไปชนท่านเข้า
คนตามหลังมาก็ชนเข้าอีก บางทีชนหมดทั้งแถวเลยก็มี เมื่อกลับถึงวัด ถึงเวลาเทศน์อบรม ท่านก็ให้ข้อคิดเตือนสติให้มีความระมัดระวัง สำรวมสังวร มีสติในการยืน การเดิน การทำอะไรทุกอย่างก็ให้มีสติระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
พระอาจารย์เลี่ยม ได้เล่าถึงวิธีทดสอบอีกวิธีหนึ่งของหลวงพ่อให้ฟังว่า
ส่วนมากท่านดูความรู้ของคนจากสิ่งที่เขาพูด ดูอุบายหรือปัญญาธรรมะที่ออกมาจากการพูด เช่นในวันออกพรรษา ท่านให้พระเณรที่อยู่ร่วมการประพฤติปฏิบัติ ได้แสดงความคิดเห็นต่อหน้าญาติโยม
นี่เป็นทางหนึ่งที่ท่านดู และรู้ว่าการประพฤติปฏิบัติของใครเป็นอย่างไร พอที่จะมีธรรมะอยู่ในการควบคุมองค์พระธรรมกถึกได้หรือไม่ และต้องเป็นผู้ที่ไม่อยากจะพูดด้วย เพราะผู้ที่อยากพูด ท่านถือว่าเป็นการทำตามความอยาก
ท่านดูว่าใครมีความรับผิดชอบบ้าง ท่านให้ฝึกเพื่อดูลักษณะความพิเศษ เพราะคนเราถ้าไม่ทำอย่างนั้นบ้างก็จะไม่รู้จัก หลวงพ่อจันทร์ก็เหมือนกัน ท่านมาฟังเทศน์ของหลวงพ่อจนกระทั่งหลวงพ่อบอกว่า
จันทร์ ท่านน่ะหยุดการฟังได้แล้ว ต่อไปนี้ต้องเทศน์ให้โยมฟังเอง
การทรมาน
ครั้งหนึ่งหลวงพ่อสอนว่า
ถ้ามันคิดอะไรยุ่งขึ้นมาก็ให้เข้าใจว่า ความที่ไม่ยุ่งก็อยู่ตรงนั้นแหละ มันสกปรกตรงนี้ ที่สะอาดก็อยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ที่อื่น ล้างสกปรกออกก็จะสะอาดเท่านั้นเอง
ธรรมของพระพุทธเจ้าของเรามันตรงอยู่อย่างนั้น อนิจจัง เป็นของไม่เที่ยงแท้ บทเดียวเท่านั้นแหละ เห็นพระพุทธเจ้าแล้ว ใครเห็นอนิจจังอย่างแท้จริงก็เห็นพระพุทธเจ้า ให้นั่งใกล้ ๆ ท่านทุกทีๆ เดี๋ยวก็เจอท่านหรอก
แต่โดยปกติปุถุชนเราจะไม่ชอบดูความทุกข์ ไม่ยอมพิจารณา รู้สึกแต่ว่าตัวเองเป็นทุกข์ แต่ไม่พยายามทำความรู้จักทุกข์ จะใช้วิธีหนีหรือกลบกลื่อนความทุกข์เสียมากกว่า
การหนีหรือกลบเกลื่อนความทุกข์สำหรับชีวิตฆราวาสก็ทำได้หลายวิธี ตั้งแต่วิธีหยาบไปถึงละเอียด แต่สำหรับชีวิตนักบวชวิธีการหนีทุกข์มีไม่มากนัก โดยปกติก็ไม่พ้นเรื่องอาหาร การพูดคุยและการนอนหลับ
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นวิธีการอย่างหยาบ เพราะฉะนั้นหลวงพ่อจึงให้คติธรรมเตือนใจลูกศิษย์เสมอว่า
กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย คือนักปฏิบัติ กินมาก นอนมาก พูดมาก คือคนโง่
วิธีฝึกเพื่อขัดเกลากิเลสที่หลวงพ่อใช้เป็นประจำวิธีหนึ่งก็คือ การทรมาน การทรมานในความหมายของพระวัดป่า หมายถึงการที่ครูบาอาจารย์วางข้อวัตรปฏิบัติให้ขัดกับความอยากของลูกศิษย์
เช่น ให้อยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ ให้พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบ หรือไม่ให้สิ่งที่อยากได้ เป็นต้น เป็นวิธีตรงไปตรงมาที่เปิดเผยกิเลสของลูกศิษย์ ให้เจ้าตัวเผชิญหน้ากับความทุกข์ และให้เห็นประจักษ์ว่า
ความทุกข์นั้นเกิดจากความอยากและความยึดติดของตัวเอง นอกจากนั้นก็เป็นการฝึกให้ลูกศิษย์มีความอดทน ทำสิ่งที่ไม่เคยทำหรือคิดว่าจะทำไม่ได้ ให้อยู่ด้วยความอยาก จนกระทั่งหมดอยากและจิตยอม
เห็นตัณหาความอยากตามหลักไตรลักษณ์ ถ้าเอาชนะได้ครั้งเดียว ก็จะไม่เชื่อกิเลสอีกเหมือนแต่ก่อน เป็นการดัดนิสัยเก่า การทรมานนี้ก็เพื่อให้พระไม่ประมาท มีความระวังตัวอยู่ตลอดเวลา
การฝึกหัดขัดเกลาด้วยวิธีทรมานนี้ หลวงพ่อเคยพูดเหมือนจะให้กำลังใจว่า
ทรมานกิเลสนะไม่ใช่ทรมานคน
และท่านก็มีกลเม็ดหลาย ๆ อย่าง ซึ่งกิเลสน่าจะเข็ดขยาดเหมือนกัน เป็นต้นว่า
อยากมากไม่ให้ฉัน
วันไหนญาติโยมนำภัตตาหารมาถวายมาก หรือมีของประณีตน่าอร่อยเป็นพิเศษ หลวงพ่อท่านจะไม่ยอมให้พระฉันง่าย ๆ แต่จะทำเป็นคุยกับญาติโยมนานกว่าปกติ แล้วก็แกล้งทำเสียงกระแอมขึ้นเหมือนกับว่าจะตั้งต้นให้พรก่อนลงมือฉัน
พระบางรูปซึ่งทำท่านั่งสมาธิ แต่ความจริงกำลังอยากฉัน ก็เผลอประนมมือเตรียมสวดมนต์ แต่หลวงพ่อกลับคุยต่อ อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน
หลวงพ่อเคยเล่าถึงลูกศิษย์รูปหนึ่ง ซึ่งท่านสังเกตเห็นว่า ในระหว่างที่รูปอื่น ๆ กำลังฉันอาหาร พระรูปนั้นก็เอาแต่นั่งจ้องบาตรอยู่อย่างนั้นแหละ เดี๋ยวก็เลื่อนบาตรเข้าหาตัว ทำท่าจะฉัน แต่แล้วก็ผลักบาตรออกไปไม่ยอมฉัน
บางครั้งฉันไปได้สองสามคำก็ผลักบาตรออก ทำอยู่อย่างนั้น หลางครั้งหลายหน เมื่อหลวงพ่อถามไถ่ขึ้นมา พระรูปนั้นกราบเรียนว่า มันอยากฉันมาก ผมเลยไม่ยอมให้มันฉันครับ หลวงพ่อก็เลยอุทานด้วยความพอใจ
เออ ! ทำอย่างนี้กิเลสก็คงยอมแพ้ละ อยู่กับท่านไม่ได้แล้ว
ร้อนนัก ห่มผ้าเสีย
หน้าร้อน หลังฉันเสร็จแล้ว บางทีหลวงพ่อก็สั่งให้พระเณรเข้าไปนั่งสมาธิในโบสถ์เก่าโดยกำชับให้ปิดประตูหน้าต่างอย่างมิดชิดแล้วครองจีวรให้เรียบร้อย ไม่นานทุกรูปในห้องเตาอบสำเร็จรูปของหลวงพ่อก็สุกพอดี ผ้าอังสะจีวรก็เปียกโชกด้วยน้ำเหงื่อ ใครกล้าบ่นหลวงพ่อก็ดุ
อยู่ในท้องแม่ตั้งเก้าเดือนยังอยู่ได้ ส่ำนี่สิเป็นอิหยัง
(อยู่ในท้องแม่ตั้งเก้าเดือน ยังอยู่ได้ แค่นี้จะเป็นอะไรไป)
ช่วงหน้าหนาวก็ตรงกันข้าม หลวงพ่อให้เปิดประตูหน้าต่างทุกบาน เพื่อให้ได้รับสายลมอันเย็นเฉียบ พระรูปใดมองในแง่ดีก็เห็นว่าอย่างน้อย เรานี่นั่งหนาวตัวสั่นยังกับลูกนก ตกน้ำดีเหมือนกันไม่ง่วง เพราะมัวแต่หนาวเลยไม่มีเวลาว่าง
หน้าหนาวของทุกปี หลวงพ่อให้พระเณรทุกรูปลงจากกุฏิปักกลดอยู่ในป่าเป็นเดือน เพื่อฝึกไม่ให้พระเณรติดในความสะดวกสบาย ให้เผชิญหน้ากับความวังเวงในป่า และสัตว์ต่าง ๆ ทั้งที่น่ากลัวเช่น งู แมงป่อง หรือตะขาบ และที่ก่อกวน เช่น มดและปลวก เป็นต้น
ต้องทนฟัง
แม้การเทศน์ท่านก็ใช้เป็นการทรมานลูกศิษย์ได้เหมือนกัน คือไม่ใช่ว่าท่านจะแสดงธรรมเพื่อให้ความรู้หรือให้กำลังใจเท่านั้น เช่น บางทีท่านเทศน์นานหลาย ๆ ชั่วโมง โดยไม่ได้มีเรื่องราวอะไรมากมายนัก
นอกจากพูดซ้ำๆ ซาก ๆ อยู่แต่เรื่องเดิม การทรมานโดยวิธีนี้รู้สึกว่ามีผลมากสำหรับลูกศิษย์ชาวต่างประเทศ ที่ยังไม่เข้าใจภาษาไทย
พระอาจารย์สุเมโธและพระอาจารย์วีรธมฺโมเล่าว่า ท่านทั้งสองต่างก็รู้สึกเป็นทุกข์ และโกรธหลวงพ่อมาก ในขณะที่ต้องทนนั่งฟังเทศน์โดยไม่รู้ว่าเมื่อไรจะจบเสียที
ทำไมต้องให้เรามานั่งฟังด้วย ทำไมหลวงพ่อไม่ปล่อยให้กลับไปทำความเพียรที่กุฏิ แต่เมื่อได้สติ และหันกลับไปเฝ้าดูความรู้สึกของตัวเองอย่างเพ่งพินิจ
ได้เห็นการเกิดขึ้น และการดับไปของอารมณ์ต่าง ๆ จึงได้แต่รู้สึกขอบคุณหลวงพ่อที่ท่านได้ช่วยเปิดตาในให้ได้เห็นกิเลสของตัวเอง พระอาจารย์สุเมโธเล่าว่า หลังจากที่ต้องทนทุกข์นั่งฟังหลวงพ่ออยู่ถึง ๖ ชั่วโมง โดยไม่รู้เรื่องอะไรเลย
ความทุกข์ ความโกรธแค้นขัดเคืองทั้งหลายทั้งปวงก็มลายหมดสิ้นไป เมื่อหลวงพ่อจบการเทศน์และหันมาพูดกับท่านด้วยน้ำเสียงปรานีเป็นอย่างยิ่งว่า
เป็นจังได๋ สุเมโธ (เป็นยังไงบ้าง สุเมโธ)
ปัจจุบันธรรม
ปจฺจุปปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ
อสํหิรํ อสํกุปฺปํ ตํวิทฺธามนูพฺรูหเย
แปลเป็นไทยว่า ผู้ใดเห็นธรรมอันเกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้นๆ อย่างแจ่มแจ้ง ไม่ง่อนแง่น คลอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการนั้นไว้
ปัจจุบันธรรมนี้มีความหมายและความสำคัญต่อนักบวชเพียงใด หลวงพ่อได้อธิบายไว้อย่างแจ่มแจ้งดังนี้
ปัจจุบันธรรมมันจะเป็นอย่างไร ละมันเดี๋ยวนี้ แก้มันเดี๋ยวนี้ เพราะว่าปัจจุบันธรรมคือ ปัจจุบันนี้ มันเป็นทั้งเหตุทั้งผล ปัจจุบันนี้มันตั้งอยู่ในเหตุผล อดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล
ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล มันมีเหตุผลอย่างนี้เรื่อย ๆ ไป ที่เราอยู่เดี๋ยวนี้ก็เป็นเหตุ อดีตเหตุ อยู่ในปัจจุบันนี้ก็เป็นผล ผลเดี๋ยวนี้ก็เป็นเหตุของอนาคตอีก
ปัจจุบันนี้มันเป็นผลของอดีต และเหตุของอนาคตต่อไป ทั้งอดีตและอนาคต มันก็อยู่ในปัจจุบันนี้
การปฏิบัติก็ให้ดูปัจจุบันนี้เท่านั้นละ อย่าไปห่วงอดีต อย่าไปห่วงอนาคต เพราะอดีตมันก็ผ่านไปแล้ว เรื่องที่เกิดในอดีต มันก็ดับไปแล้วในอดีต มันหมดแล้ว อนาคตเราก็ปล่อย
เรื่องที่เกิดในอนาคต มันก็ดับในอนาคต เราจะไปห่วงใยมันทำไม ดูปัจจุบันธรรมนี้ว่ามันไม่แน่ มันไม่เที่ยง พุทโธมันก็รู้ขึ้นมา เจริญขึ้นมา รู้ความจริงในสิ่งทั้งหลายว่า มันไม่เที่ยง
สุขทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่เที่ยง ไม่แน่ ถ้าจิตใจของเราเห็นของทุกอย่างว่าเป็นของไม่แน่ ปัญหาว่าเราจะไปยึดมั่นหมายมั่นก็จะค่อย ๆ หมดไป
ในเมื่อความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และหนทางไปสู่ความดับทุกข์ ล้วนแต่อยู่ในขณะปัจจุบัน จึงเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่หลวงพ่อเน้นความสำคัญของการอยู่ในปัจจุบัน และเน้นที่การมีสติอยู่ทุกอิริยาบถ
ข้อปฏิบัตินี้คือการภาวนานี่เอง พูดง่าย ๆ ก็เรียกว่า เราต้องเป็นผู้มีสติ คือความรู้ความระลึกอยู่เสมอ อยู่ที่นี่ว่าเดี๋ยวนี้เราคิดอะไรอยู่ เราทำอะไรอยู่ เรามีอะไรอยู่เดี๋ยวนี้
เราดูอย่างนี้ มีสติอยู่เสมอว่า เราอยู่ยังไง เรารู้ตัวอยู่ว่า ขณะนี้เรามีอะไรอยู่ กำลังคิดอะไร กำลังสุขหรือกำลังทุกข์ ผิดหรือถูกอยู่เดี๋ยวนี้ ที่เรามีสิ่งทั้งหลายปรารภอยู่อย่างนี้ ปัญญามันก็เกิดขึ้นมาแล้ว ระลึกได้อยู่แล้ว รู้ได้อยู่เป็นต้น
มันก็วิ่งไปวิ่งมา มันก็เกิดขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ พิจารณาเป็นความรู้สึกอยู่ทุกขณะ เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส ร่างกายถูกต้องโผฏฐัพพะ
ถ้ารู้สึกแล้วมันก็รู้จัก อันนั้นดี อันนั้นไม่ดี อันนั้นเราชอบ อันนั้นเราไม่ชอบ ทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านให้วาง อย่าไปยึดมั่นถือมั่น นี่เรียกว่าแก้ปัญหา
ความเป็นอยู่ในวัด ก็มีส่วนช่วยให้ความคิดเรื่องอดีต อนาคต หรือเรื่องนอกตัวลดน้อยลงได้เหมือนกัน สิ่งแวดล้อมเป็นป่ารกทึบ ไม่ชวนมอง ก็ทำให้คนต้องหันกลับมามองตนเอง
ตารางการประพฤติปฏิบัติที่คล้ายกันในแต่ละวัน ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรเร้าความสนใจให้ตื่นเต้นก็เป็นข้อดี ที่ช่วยให้พระภิกษุสามเณรมีสติ อยู่กับปัจจุบันยิ่งขึ้น
หลวงพ่อเองเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกศิษย์ ท่านสงบเยือกเย็น และตั้งมั่นในปัจจุบันอยู่เสมอด้วยความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน และสติอันเต็มเปี่ยม ซึ่งทำให้หลวงพ่อมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างว่า เป็นอาจารย์สอนธรรมะอยู่แล้วตลอดเวลา
ดังที่ท่านเคยพูดบ่อย ๆ ว่า อะไรที่ไม่เป็นธรรมะนั้นไม่มี เรานั่งอยู่ก็นั่งทับซึ่งธรรมะ เดินไปก็เดินไปบนธรรมะ เพราะฉะนั้นไม่ว่าหลวงพ่อจะอยู่ที่ไหนท่านมีอุปกรณ์ในการสอนพร้อมอยู่ตลอดเวลา
จะอยู่ในภาวะปกติ หรือมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ท่านก็สามารถหยิบยกอุปกรณ์จากธรรมชาติรอบตัวในขณะนั้น มาชี้แนะให้ลูกศิษย์ได้ฉุกคิดอยู่เสมอ
ท่านพระครูบรรพตวรกิต ได้เล่าเรื่องเก่า ๆ ซึ่งเป็น ปัจจุบันธรรมคำสอน ที่หลวงพ่อให้กับตัวท่านเองโดยตรงว่า
ครั้งหนึ่ง ช่วงที่กำลังช่วยหลวงพ่อสร้างกุฏิ ยังปูพื้นกระดานไม่เสร็จ ผมก็ป่วย ไข้ขึ้นสูง หลวงพ่อกับพระเณรมาเฝ้าไข้ และท่านได้เล่าให้ฟังว่า ผมละเมอ ปูดี ๆ เด้อ เอาแผ่นนั่นเลื่อนเข้าไปอีก เออ ! เออ ! จั่งซั่นหละ อย่าให้มีร่อง
ท่านก็เลยให้สติว่า จิตที่ห่วงกังวลอยู่นี่แหละ ที่จะพาไปเกิด อาจจะไปเกิดเป็นตุ๊กแก หรือสัตว์อะไรก็ได้ ตรงกุฏิที่กำลังสร้างอยู่นั่นเอง...
ครั้งหนึ่งระหว่างพำนักอยู่ที่วัดหนองป่าพง พระอาจารย์ปสันโน มีโอกาสได้ตามหลวงพ่อไปบิณฑบาตที่บ้านกลาง ขากลับหลวงพ่อเดินช้า ๆ ขณะเดินผ่านต้นไม้ กิ้งก่าคู่หนึ่งซึ่งกำลัง ปฏิบัติการสุนทรีย์ อยู่ข้างบนก็พลาดท่า หล่นตุ๊บลงมาต่อหน้า ทั้งที่ตัวยังติดกัน
หลวงพ่อเห็นเข้าก็หัวเราะ ชี้ให้ลูกศิษย์ดู พร้อมกับทำมือทำไม้ประกอบคำอธิบายแก่ท่านอาจารย์ปสันโน ซึ่งตอนนั้น ยังไม่ค่อยเข้าใจภาษาไทยมากนัก
แนะ ! เห็นไหม มันเมาความสุขอยู่ข้างบน เป็นเหตุให้ประมาท ตกลงมาก็เจ็บอย่างนี้แหละ
มีตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นไหวพริบอันฉับไวของหลวงพ่อ ในการชี้ปัจจุบันเหตุให้ลูกศิษย์ เห็นธรรมแบบแทงใจดำ แต่แฝงด้วยอารมณ์ขัน เช่นเรื่อง ปั้นข้าวฟักไข่ ซึ่งพระอาจารย์เอนก ได้เล่าให้ฟังดังนี้
ตามปกติที่วัดหนองป่าพง หลังจากเสร็จกิจวัตรในตอนเช้าแล้ว ภิกษุสามเณรก็ออกบิณฑบาต ไปตามสายต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่หลายสายด้วยกัน แล้วแต่ใครจะไปสายไหน
เมื่อกลับจากบิณฑบาตก็มาถ่ายบาตรออก ปั้นข้าวเหนียวเอาเฉพาะพอฉันอิ่มเท่านั้น ไม่ให้มากหรือไม่ให้น้อยเกินไป ส่วนอาหารที่บิณฑบาตได้มาทุกอย่าง ต้องส่งไปที่โรงครัว
เพื่อให้แม่ชีสำรวจดูให้เรียบร้อยเสียก่อนว่า สิ่งไหน ควรไม่ควร เสร็จแล้วพวกชีเขาก็จัดสำรับทั้งหมดส่งมาถวายพระ
ที่วัดมีกติกาว่า อาหารที่ได้จากการบิณฑบาตต้องส่งไปโรงครัวหมด ห้ามเก็บไว้ในบาตรของตน ครั้งหนึ่งมีภิกษุรูปหนึ่งเกิดฝ่าฝืนกติกาสงฆ์ข้อนี้ ท่านคงคิดว่าอาหารมีน้อย
บางทีอาหารบางอย่างก็แจกหมดก่อนแต่ต้นแล้ว ไม่ถึงปลายแถว หรือแม้จะถึงก็กลัวจะได้น้อย หรือได้ของที่ไม่ชอบใจ วันนั้นพระรูปนั้นไปบิณฑบาตได้ไข่ต้มมาหนึ่งฟอง
ท่านก็เลยปั้นข้าวเหนียวหุ้มไว้ เอาไข่ไว้ข้างในก้อนข้าว จะเป็นเหตุบังเอิญ หรือท่านอาจจะทำมานานแล้ว กรรมมันส่งผลก็ไม่ทราบ
วันนั้นก่อนฉัน หลวงพ่อก็ออกเดินตรวจในบาตรของพระภิกษุสามเณร พอมาถึงบาตรของพระรูปนั้น ท่านก็หยุด เพราะก้อนข้าวปริ และมองเห็นไข่ต้มอยู่ข้างใน ท่านก็เลยพูดขึ้นว่า
ปั้นข้าวใครฟักไข่
ภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก ซึ่งกำลังนั่งอยู่ในโรงฉัน ต่างก็หันไปมองพระรูปนั้นเป็นจุดเดียว ยังกะนัดกันไว้ ทำให้ภิกษุรูปนั้นทั้งกลัวทั้งอายจนตัวสั่นหน้าซีด แทบจะแทรกแผ่นดินหนีให้ได้
ตั้งแต่นั้นมากภิกษุรูปนั้นก็เข็ดขยาดหวาดกลัว ไม่กล้าทำอย่างนั้นอีกเลย อย่าว่าแต่ภิกษุรูปนั้นเลย แม้แต่ภิกษุรูปอื่น ๆ ซึ่งเห็นเหตุการณ์ ก็ไม่กล้าทำอย่างนั้นเหมือนกัน
ไม่แน่
สิ่งที่หลวงพ่อพยายามชี้ให้ลูกศิษย์ได้เห็น ได้สัมผัสอยู่เสมอคือ ความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอน เพราะท่านเห็นว่า ความรู้ความเห็นในเรื่องนี้เป็นสัมมาทิฐิ เป็นตัวปัญญา
ไม่แน่ คำนี้เป็นคำสอนที่หลวงพ่อย้ำนักย้ำหนาในหลาย ๆ รูปแบบ จนแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นคาถาบทสำคัญ หรืออาจถือเป็นเอกลักษณ์ในคำสอนของท่านก็ว่าได้ ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความรู้สึกของท่านต่เรื่องนี้คือ
ตัวที่ว่าไม่แน่นั่นล่ะ คือตัวพระพุทธเจ้าละนั่น ตัวที่ไม่แน่นั่นละคือตัวธรรมะ และท่านกล่าวคล้ายรำพันว่า
ผมเคยพูดบ่อย ๆ แต่คนไม่ค่อยใส่ใจ อะไรเกิดขึ้นในปัจจุบัน ผมก็ว่า เออ ! อันนี้มันไม่แน่ ! แต่คำนี้คนไม่ค่อยได้คิดตาม คำง่าย ๆ สั้น ๆ ที่ว่า ไม่แน่ คำเดียวและถูกผมพูดบ่อย ๆ คนก็ไม่ค่อยเอา ฯลฯ ถ้าเห็นอนิจจังชัดเจน มันก็เป็นพระสมบูรณ์นั่นเอง เห็นอนิจจัง มันเป็นของไม่แน่นอน ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ อุปทานมั่นหมายมันก็ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งห้า
อะไรก็ช่างเถอะ ถึงจะเกิดอารมณ์อะไรที่ไม่พอใจถึงกับน้ำตามันจะไหลออกมา ให้เรานึกถึงคำสอนที่ว่า อันนี้ไม่แน่ ไว้เสมอเลยทีเดียว ด้วยสติสัมปชัญญะของเรา มันจะพอใจ ไม่พอใจ มันจะดี มันจะชั่ว ก็ให้พอดี มันก็ถอนอุปทานได้
เห็นว่ามันเป็นของไม่มีราคา แล้วก็มีการปล่อยวางไปในตัวด้วยเสมอ อันนี้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เมื่ออะไรเกิดขึ้นมาก็เรียกว่า มันไม่แน่ อย่าไปลืม อย่าไปทิ้งคำนี้ ดีท่านก็ไม่ให้ยึด ชั่วก็ไม่ให้ยึด
ถ้าหากว่าเราประสบอะไรมาก็ช่างเถอะ ให้รวมกำลังลงตรงนี้ อันนี้เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา แล้วก็เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เอาอันนี้เป็นอารมณ์เสมอ จะทำให้พวกเราพ้นจากความสงสัย
เพราะว่าธรรมะทั้งหลายเหล่านี้เรียกว่า ไม่แน่ ไม่เที่ยงนะ มันจะหมุนรอบตัวมันอยู่ เห็นอาการทั้งหลายเป็นอยู่อย่างนั้น จิตจะทอดอาลัย อันนี้เป็นเครื่องมือที่ถอนความยึดมั่นออกจากอารมณ์อันนั้น ทำให้เรามองเห็นธรรมะอย่างแจ้งชัด
สมัยหนึ่งเพลงลูกทุ่ง มันบ่แน่ดอกนาย กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ไปถึงไหน ๆ ก็ต้องได้ยิน วันหนึ่งหลวงพ่อบังเอิญมีธุระผ่านเข้าไปในเมือง ก็พลอยได้ยินไปกับชาวบ้านเขาด้วย
และเมื่อกลับถึงวัด ท่านได้ปรารภเรื่องนี้ให้ลูกศิษย์ฟัง ในระหว่างการอบรมว่า เออ ! นั่นมันร้องเพลงของพระพุทธเจ้าเลยนะนั่น
นอกจากนี้ หลวงพ่อใช้ความไม่แน่นอนเป็นเครื่องมือ สอนให้ลูกศิษย์คลายความยึดติดในสิ่งต่าง ๆ คือ ให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน จนพระเณรจะต้องวางความรู้สึกให้ยืดหยุ่น ยึดถืออะไรเป็นจริงเป็นจังไม่ได้
เช่น ท่านสั่งว่าไปก็ต้องพร้อมที่จะไป แต่ถ้าท่านสั่งเลิกก็พร้อมที่จะเลิก โดยไม่รู้สึกกระทบกระเทือน ท่านพระครูบรรพตวรกิต เป็นลูกศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอดคำสอน ซึ่งเป็นคาถาสำคัญบทนี้จากหลวงพ่อซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนซึ้งแก่ใจ
ผมเองนะ ท่านสอนแบบที่ว่าเอาของจริงมาสอนเลย เช่นท่านสอนว่า ไม่แน่ คำนี้เป็นคำที่ผมรับมาตลอด ตอนที่ท่านสอนครั้งแรกก็ยังไม่เข้าใจ ทีนี้ท่านสอนด้วยการกระทำ เช่น ท่านจะให้เราไปที่ใดที่หนึ่งกับท่าน ท่านบอกว่าไปเตรียมบริขารมา วันนี้เราไปจะไปที่ไน้นด้วยกัน
ทีนี้พอเราเตรียมตัวมาปุ๊บ ท่านก็กลับมาบอกว่า เอ้า ! ไม่ไปแล้ว กลับเถอะ ลักษณะอย่างนี้เราต้องกลับ ผมรู้สึกเจอบ่อยจนกระทั่งเข้าใจคำว่า ไม่แน่ ของท่าน
จนกระทั่งต่อไป รู้คำสมมุติของท่านลงในพระไตรลักษณ์ คำว่า ไม่แน่ หมายความว่าแบ่งไว้ครึ่งหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ให้แบ่งไว้สัก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ผมก็เลยยึดเอาหลักนี้สำหรับปฏิบัติ ซึ่งได้จากท่านโดยตรง
คำนี้ทำให้เราไม่เป็นทุกข์ สบายใจ คือรู้จักแบ่ง อันนี้เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะที่ได้กับผมโดยตรงนะ รู้สึกว่าเป็นประโยชน์แล้วก็ดีมากสำหรับการสอนของท่าน
ต่อจากนั้นเวลาอยู่กับท่านเราก็เข้าใจแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่าง พอท่านทำอะไร ๆ หรือพูดอะไร ๆ เราก็รู้จักว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่แน่ จำคำของท่านไว้เสมอ
แม้พระอาจารย์รุ่นหลัง ๆ ก็โดนหลวงพ่อสอนคาถาบทนี้ เพื่อให้รู้จักดูความรู้สึกของตนเองด้วย ท่านรูปหนึ่งเล่าว่า
ไปกราบหลวงพ่อทีไร ท่านก็จะยิ้มแย้มเป็นกันเอง ทักทายทุกครั้ง เราก็ปลื้มอยู่นาน โอ ! หลวงพ่อเมตตาเรามากจริง ๆ
แล้วก็มีอยู่ครั้งหนึ่งไปกราบ ท่านไม่พูดด้วยเลย อย่าว่าแต่พูด ไม่มองมาด้วยซ้ำ เหมือนไม่มีเราอยู่ในที่นั้น กว่าจะรู้ โอ้โฮ ! ทุกข์แท้ ๆ