#echo banner="" ธรรมในวินัย - ทรงไว้ซึ่งข้อวัตร หลวงพ่อชา/

ธรรมในวินัย - ทรงไว้ซึ่งข้อวัตร

พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)

วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี

โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 009220 - โดย คุณ : pat [ 13 ก.ค. 2546 ]

เนื่องในโอกาสวันเข้าพรรษา เห็นมีผู้สงสัยในขอบเขตแห่งศีลอยู่ ก็เลยขอนำธรรมะของหลวงพ่อชามาลงไว้ ถึงแม้จะเป็นส่วนที่ท่านสอนพระเณรในเรื่องวินัยสงฆ์ แต่ก็น่าจะประยุกต์เข้ากับศีลของฆราวาสได้

คัดลอกมาจากหนังสือ รวมธรรมเทศนาของหลวงพ่อชา สุภัทโท ฉบับสัมมาทิฏฐิ ธรรมที่หยั่งรู้ได้ยาก

ธรรมในวินัยการปฏิบัติของเรานะ มันเป็นของยากอยู่ ไม่ใช่เป็นของง่าย คือ เรารู้อยู่ส่วนหนึ่ง แต่ว่าส่วนที่ไม่รู้นั้นมีมาก ยกตัวอย่างเช่นว่า ให้รู้กาย แล้วก็รู้กายในกาย อย่างนี้เป็นต้น ให้รู้จิต แล้วให้รู้จิตในจิต ถ้าเรายังไม่เคยปฏิบัติมา เราได้ยินคำพูดเช่นนี้เราก็งงเหมือนกัน พระวินัยนี้ก็เหมือนกัน

สมัยก่อนผมก็เคยเป็นครูโรงเรียน แต่เป็นครูน้อยๆ ไม่มาก ทำไมถึงเรียกว่าครูน้อย คือครูไม่ได้ปฏิบัติ สอนพระวินัย แต่ว่าไม่ได้ปฏิบัติตามพระวินัย เรียกว่าครูไม่สมบูรณ์ ที่ว่าครูไม่สมบูรณ์ ออกมาปฏิบัติแล้วก็ไม่สมบูรณ์ พูดถึงเรื่องส่วนใหญ่มันไกลมาก เหมือนกันกับไม่ได้เรียนอะไรเลยเรื่องพระวินัย

ฉะนั้น ผมจึงขอเสนอความเห็นแก่พระภิกษุทั้งหลายว่า เรื่องการปฏิบัตินั้น เราจะรู้พระวินัยโดยสิ้นเชิงก็ไม่ได้ เพราะบางสิ่งรู้ก็เป็นอาบัติ ไม่รู้ก็เป็นอาบัติ มันก็เป็นของยาก แต่ว่าพระวินัยนี้ท่านกำชับไว้ว่า ถ้าหากว่ายังไม่รู้สิกขาบทใด ข้ออรรถอันใดก็ให้ศึกษา ให้รู้สิกขาบทนั้น ด้วยความพยายามจงรักภักดีต่อพระวินัย ถึงไม่รู้ท่านก็ให้พยายามศึกษาข้อนั้นให้รู้ ถ้าไม่เอาใจใส่ก็เป็นอาบัติอีก เช่น ถ้าเราสงสัยอยู่นะ เป็นหญิงสำคัญว่าผู้ชาย เข้าไปจับเลย อย่างนี้ สงสัยอยู่ก็เข้าไปจับ มันก็ยังผิดอยู่ ผมก็เคยคิดว่าไม่รู้ทำไมมันผิด

เมื่อมานึกถึงการภาวนา เราผู้ปฏิบัติจะต้องมีสติ จะต้องพิจารณา จะพูดจะจา จะจับจะแตะทุกอย่าง จะต้องพิจารณาก่อนให้มาก ที่เราพลาดไปนั้นเพราะเราไม่มีสติ หรือมีสติไม่พอ หรือไม่เอาใจใส่ในเวลานั้น

เช่น ตะวันยังไม่ห้าโมง แต่ในเวลานั้นฝนฟ้าอากาศมันครึ้ม ไม่สามารถที่จะมองเห็นตะวันได้ ไม่มีนาฬิกา เราก็เลยคิดประมาณเอาว่า “มันจะบ่ายแล้วละมั้ง” มีความรู้สึกอย่างนี้จริงๆ ในจิตใจเรา สงสัยอยู่ แต่เราก็ฉันอาหารเสีย พอฉันไปได้พักหนึ่งแสงสว่างของพระอาทิตย์มันก็เกิดขึ้นมา ได้ห้าโมงกว่าเท่านั้นเอง นี้เป็นอาบัติแล้ว

ผมก็มาคิดในใจว่า “อ๊ะ… มันก็ยังไม่เกินเที่ยง ทำไมเป็นอาบัติ”

ท่านปรับอาบัติเพราะว่าเผลอเรอ ไม่เอื้อเฟื้อ ไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนนี้เอง ไม่สังวร สำรวม ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นล่ะ ถ้าหากว่าสงสัยแล้วยังทำอยู่อย่างนี้ ท่านปรับอาบัติทุกกฎ เพราะว่าสงสัย

สงสัยว่าบ่ายแต่ความจริงนั้นไม่บ่าย ถูกอยู่ แต่ก็ปรับอาบัติตอนนี้ เพราะว่าอะไร ปรับเพราะไม่สังวรระวัง ประมาท ถ้าหากว่ามันบ่ายไปแล้ว สงสัยอยู่ว่าไม่บ่าย ก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ที่ท่านปรับอาบัติทุกกฎนี้เพราะไม่สังวร สำรวม สงสัยอยู่ จะถูกก็ตามจะผิดก็ตาม ต้องอาบัติ ถ้าหากมันถูกก็ปรับอาบัติหย่อนลงมา ถ้าหากมันผิด ปรับอาบัติอย่างเต็มที่เลย

ฉะนั้น เมื่อพูดถึงเรื่องพระวินัยนี้ ฟั่นเฝือมากเหลือเกิน ผมเคยไปกราบเรียนท่านอาจารย์มั่น ในเวลานั้นเรากำลังจะเริ่มปฏิบัติ แล้วก็อ่านบุพพสิกขาไปบ้าง ก็เข้าใจพอสมควร ทีนี้ไปอ่านวิสุทธิมรรค ท่านมาพูดถึง สีลฺนิทฺเทส สมาธินิทฺเทส ปญฺญานิทฺเทส ศีรษะผมมันจะแตกเลย

อ่านแล้วก็มาพิจารณาว่ามนุษย์ทำไม่ได้ ทำอย่างนั้นไม่ได้ แล้วคิดไปอีกว่า อันที่มนุษย์ทำไม่ได้นั้น พระพุทธเจ้าท่านไม่สอนหรอก ท่านไม่สอนแล้วท่านก็ไม่บัญญัติ เพราะว่าสิ่งนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อท่าน และก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่นด้วย สิ่งอะไรที่ใครทำไม่ได้ ท่านไม่สอน

สีลฺนิทฺเทส นี้มันละเอียดมาก สมาธินิทฺเทส ก็ยิ่งละเอียด ปญฺญานิทฺเทส มันก็ยิ่งมากขึ้นอีกเรามานั่งคิดดู ไปไม่ไหวเสียแล้ว ไม่มีทางที่จะไป คล้ายๆ ว่ามันหมดหนทางเสียแล้ว

ถึงคราวนั้นก็กำลังกระเสือกกระสนเรื่องปฏิปทาของตนอยู่ มันก็ติดอยู่อย่างนี้ พอดีได้มีโอกาสไปนมัสการท่านอาจารย์มั่น ก็เลยเรียนถามท่านว่า

“ผมจะทำยังไง เกล้ากระผมปฏิบัติใหม่ แต่ก็ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร ความสงสัยมาก ยังไม่ได้หลักการในการปฏิบัติเลยครับ”

ท่านว่า “มันเป็นยังไง”

“ผมหาทางก็เลยเอาหนังสือวิสุทธิมรรคขึ้นมาอ่าน มีความรู้สึกว่ามันจะไปไม่ไหวเสียแล้ว เพราะว่าเนื้อความในสีลฺนิทฺเทส สมาธินิทฺเทส ปญฺญานิทฺเทสนั้น ดูเหมือนไม่ใช่วิสัยของมนุษย์เสียแล้ว ผมมองเห็นว่ามนุษย์ทั่วโลกนี้มันจะทำไม่ได้ครับ มันยาก มันลำบาก กำหนดทุกๆ สิกขาบทนี้มันไปไม่ได้ครับ มันเหลือวิสัยเสียแล้ว”

“ท่าน… ของนี้มันมากก็จริงหรอก แต่มันน้อย ถ้าเราจะกำหนดทุกๆ สิกขาบทในสีลฺนิทฺเทสนั้นนะ มันก็ยาก มันก็ลำบาก… จริง แต่ความเป็นจริงแล้วนะ ที่เรียกว่าสีลฺนิทฺเทสนั้น มันเป็นนิทฺเทสอันหนึ่ง ซึ่งบรรยายออกไปจากจิตใจของคนเรานี้

ถ้าหากว่าเราอบรมจิตของเราให้มีความอาย มีความกลัวต่อความผิดทั้งหมด นั่นแหละ… ก็จะเป็นคนสำรวม จะเป็นคนสังวร จะเป็นคนระวังเพราะความกลัว เมื่อเป็นอย่างนั้นจะเป็นเหตุที่ว่า เราจะเป็นคนมักน้อย เราจะไม่เป็นคนมักมาก เพราะว่าเรารักษาไม่ไหวนี่

ถ้าเป็นเช่นนั้น สติของเรามันจะกล้าขึ้น มันจะตั้งสติขึ้น จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนที่ไหน มันจะตั้งอกตั้งใจมีสติเต็มเปี่ยมเสมอ ความระวังมันเกิดขึ้นมานั่นแหละ

อันใดที่มันสงสัยแล้วก็อย่าพูดมันเลย อย่าทำมันเลย ที่เรายังไม่รู้จะต้องถามครูบาอาจารย์เสียก่อน ถามครูบาอาจารย์แล้ว ก็รับฟังไว้อีก ก็ยังไม่แน่ใจ เพราะว่ามันยังไม่เกิดเฉพาะตัวเอง

ถ้าหากเราจะไปกำหนดทุกประการนั้น ก็ลำบาก เราจะเห็นว่าจิตของเรายอมรับหรือยังว่า ทำผิดมันผิด ทำถูกมันถูก อย่างนี้เรายอมรับหรือเปล่า”

คำสอนของท่านอันนี้เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่ว่าจะไปรักษาสิกขาบททุกๆ ข้อ เรารักษาจิตอันเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว

“อะไรทั้งหมดที่ท่านไปดูนะ มันขึ้นต่อจิตทั้งนั้น ถ้าท่านยังไม่อบรมจิตของท่านให้มีความรู้ ให้มีความสะอาดนั้น ท่านจะมีความสงสัยอยู่เรื่อยไป วิจิกิจฉาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ท่านจงรวมธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ที่จิต สำรวมอยู่ที่จิต อะไรที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว สงสัยแล้วเลิกมัน ถ้ายังไม่รู้แจ้งเมื่อใดแล้วอย่าทำมัน อย่าไปพูดมัน อย่าไปละเมิดมัน”

นี่ผมก็นั่งฟังอยู่ก็เข้ากับธรรมะที่ว่า ธรรมะที่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความสะสมซึ่งกิเลส

ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์

ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ

ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความมักมาก

ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความมักใหญ่ใฝ่สูง

ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความคลุกคลีหมู่คณะ

ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน

ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก

ลักษณะตัดสินพระธรรมวินัยแปดประการนั้น รวมกันลงไปแล้ว อันนี้เป็น สัตถุ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นอกนั้นไม่ใช่

ถ้าหากว่าเราสนใจจริงๆ จิตใจเราจะต้องเป็นคนอายต่อบาป กลัวความผิด รู้จิตของตนอยู่ว่าสงสัยแล้วไม่ทำ ไม่พูด เรื่องสมาธินิทฺเทส ก็เหมือนกัน เรื่องปญฺญานิทฺเทส ก็เช่นกัน อันนั้นมันตัวหนังสือ เช่น หิริโอตตัปปะ อยู่ในตัวหนังสือมันก็เป็นอย่างหนึ่ง ถ้ามันมาตั้งอยู่ในใจของเราแล้วมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

ไปศึกษาเรื่องพระวินัยกับท่านอาจารย์มั่น ท่านก็สอนหลายอย่าง หลายประการ ผมก็นั่งฟัง จึงเกิดความรู้ขึ้นมา ดังนั้นเรื่องการศึกษาพระวินัยนี้ ผมก็ได้ศึกษามากพอสมควร บางวันเอาตั้งแต่หกโมงตอนเย็นถึงสว่างเลยนะ ศึกษาตลอดพรรษา เข้าใจพอสมควร

องค์ของอาบัติทั้งหมดที่อยู่ในบุพพสิกขานี้ ผมเก็บไว้หมดในสมุดพกใส่ในย่ามตลอดเวลา ขะมักเขม้นพยายามที่สุด แต่กาลต่อมานี้ก็เรียกว่ามันค่อยๆ คลายออก มันมากเกินไป ไม่รู้จักเนื้อ ไม่รู้จักน้ำ มันไม่รู้จักอะไร มันเอาไปทั้งหมด จิตใจมันก็มีปัญญาคลายออก มันหนัก ก็เลยพยายามสนใจในใจของตนเองตลอดมา ตำรับตำราก็ค่อยทิ้ง เขี่ยออกไปเรื่อย

ฉะนั้น ที่มาอบรมพระเณรนี้ ผมก็ยังเอาบุพพสิกขานี้เป็นหลักฐาน ได้อ่านบุพพสิกขาเวลาศึกษาพระวินัยให้พระฟังหลายปี อยู่วัดป่าพงผมทั้งนั้นละที่อ่านให้ฟัง สมัยนั้นขึ้นธรรมาสน์เทศน์ อย่างน้อยก็ต้องห้าทุ่มหรือหกทุ่ม บางทีก็ตีหนึ่งตีสองนะ สนใจแล้วก็ฝึก ฟังแล้วก็ไปดูไปพิจารณา ถ้าเรามาฟังเฉยๆ นี้ ผมว่าไม่เข้าใจแยบคาย ออกจากการฟังแล้ว เราต้องไปดู ไปวินิจฉัย มันถึงจะเข้าใจ

ขนาดผมศึกษามาหลายปีในสิ่งเหล่านี้ ก็ยังรู้นิดหน่อย เพราะมันคลุมเครือกันหลายอย่าง ทีนี้มันห่างเหินในการดูตำรับตำรามาหลายปีแล้ว ฉะนั้น ความจำในสิกขาบทต่างๆ นั้นมันก็น้อยลง น้อยลง แต่ว่าในใจของเราน่ะมันไม่บกพร่อง มันไม่ขาดเขินในใจเรา มันมีเครื่องหมายอยู่ อย่างนี้ไม่ได้สงสัยอะไร รู้จักก็เลยวางไว้

โดยมากก็บำเพ็ญจิตของตนอยู่เรื่อยไป ไม่ได้สงสัยในอาบัติทั้งหลายทั้งปวง ขนาดที่ว่าจิตของเรามันอายแล้ว ไม่กล้าจะทำความผิดแล้วในที่ลับหรือที่แจ้ง ไม่ฆ่าสัตว์แม้แต่ตัวเล็ก ถ้าหากจะให้ฆ่าโดยเจตนา มดตัวหนึ่ง ปลวกตัวหนึ่งอะไรนี้ จะให้เอามือไปบี้มัน ถึงจะให้ตัวหนึ่งราคาหลายๆ หมื่นก็ฆ่าไม่ได้ ขนาดปลวก ขนาดมดเท่านั้นนะ มันมีราคาสูงมาก แต่ว่าบางทีก็ทำมันตายนะ บางทีมันมาไต่ รำคาญก็ปัดมันตาย ตายแล้วดูจิตของตนก็ไม่เสียใจอะไรเลย ไม่หวาดหวั่น ไม่สงสัย เพราะอะไร เพราะเจตนาเรามันไม่มี ภิกฺขเว สีลํงวทามิ เจตนาหํ เจตนานี้เป็นตัวศีล เมื่อมันรวมเข้ามาเช่นนี้ เราจะทำมันตายด้วยเจตนาไม่มี ถึงแม้เราเดินไป เราเหยียบไปถูกมันตาย

สมัยก่อนเมื่อยังไม่รู้จักจิตของเรานั้น มันเป็นทุกข์ ปรับตัวเองเลยว่าเป็นอาบัติแล้ว

“เอ้า… นี่ไม่ได้เจตนา”

“ไม่มีเจตนาก็ไม่สังวรสำรวมน่ะสิ”

มันเป็นอย่างนี้ มันเข้ามาอย่างนี้ก็เลยไม่สบาย กระสับกระส่าย

ดังนั้น พระวินัยนี้จึงเป็นของก่อกวนกับผู้ประพฤติปฏิบัติทั้งหลาย และก็มีประโยชน์มากด้วย ไม่ใช่ว่าไม่มีประโยชน์ สมกับที่ท่านว่า ม่รู้สิกขาบทไหนก็ต้องให้รู้ ไม่รู้ก็ต้องไต่ถามท่านผู้รู้ให้รู้ ท่านย้ำเหลือเกิน ทีนี้ถ้าหากว่าเราไม่รู้ตามสิกขาบท อยู่ข้างนอก เราจะไม่รู้เท่าอาบัติ เช่นว่า ท่านอาจารย์เภา พระเถระในสมัยก่อนอยู่ลพบุรี วัดเขาวงกฎ วันหนึ่งก็มีมหาองค์หนึ่ง แกเป็นลูกศิษย์มานั่งอยู่ แล้วก็มีโยมผู้หญิงมาถามว่า

“ท่านหลวงพ่อ ดิฉันจะนำท่านไปโน้น ท่านจะไปไหม” ท่านหลวงพ่อเภาก็เฉย

มหาองค์นั้นนั่งอยู่ใกล้ๆ ก็นึกว่าท่านอาจารย์เภาไม่รู้เรื่อง ไม่ได้ยิน ก็เลยว่า “หลวงพ่อ ๆ โยมพูดได้ยินไหม เขาจะนิมนต์ไปเที่ยวที่โน้น”

ท่านก็ว่า “ได้ยิน”

โยมก็พูดว่า “หลวงพ่อ หลวงพ่อจะไปหรือเปล่า”

ท่านก็เฉย ไม่พูด เลยไม่ได้เรื่อง ท่านไม่รับปาก

เมื่อโยมผู้หญิงกลับไปแล้ว ท่านมหาก็ว่า “หลวงพ่อ โยมเรียนถามหลวงพ่อทำไมไม่พูด”

ท่านก็ว่า “โอ้ มหา ท่านรู้หรือเปล่า รู้ไหม คนที่มาเมื่อกี้มีแต่ผู้หญิงทั้งนั้น จะชวนเดินทางร่วมกันกับพระ นี่คุณจะไปรับปากกับเขาทำไม ให้เขาชวนข้างเดียวนั้นก็ไม่เป็นอะไร เมื่อเราอยากจะไป เราก็ไปไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ชวนเขา เขาชวนข้างเดียว”

ท่านมหาก็เลยนั่งคิด “อือ เราเสียคนเหลือเกินนะ”

ผู้หญิงชวนพระเดินทาง แล้วเดินทางร่วมกันไปโน้นไปนี้อย่างนี้ ท่านว่าชวนกันเดินทางร่วมกับผู้หญิง ถึงไม่ใช่สองต่อสอง มีแต่ผู้หญิง ท่านว่าผิดทั้งนั้น เป็นอาบัติปาจิตตีย์

แล้วก็อีกเรื่องหนึ่ง เอกลาภเกิดขึ้นมาที่วัดเขาวงกฎนี้ คนเอาเงินมาถวายท่าน ท่านก็รับ พอเอาใส่ถาดมา ท่านก็ยื่นผ้าเช็ดหน้าไปรับ ท่านก็จับผ้าเช็ดหน้า เมื่อเขาจะเอาถาดมาวาง ท่านก็ขยับมือออกจากผ้าเช็ดหน้าอย่างนี้ ไม่ให้ติดผ้าเช็ดหน้านะ นี่อย่างนี้เป็นต้น เงินก็ทิ้งไว้ที่เตียง รู้แล้วไม่สนใจ ลุกหนีไป คือในพระวินัยท่านว่า ถ้าเราไม่ยินดีแล้ว ไม่บอกเขาก็ได้ ถ้าหากว่าเรายินดี

“โยม อันนี้ไม่สมควรแก่พระ” นี่บอกเขาเสีย ถ้าเราไม่ยินดีจริงๆ ไม่บอกก็ได้ พอวางปุ๊บก็ลุกไปเลย ถ้าเรามีความยินดี ต้องห้ามเขาเสียในสิ่งที่มันผิด อย่างนี้เป็นต้น ถ้าท่านรู้จัก ท่านก็ลุกไปจริงๆ อันนี้อาจารย์กับลูกศิษย์อยู่ด้วยกันตั้งหลายปีไม่ค่อยรู้เรื่องกัน อันนี้แย่ ข้อปฏิบัติของท่านอาจารย์เภาเล็กๆ น้อยๆ ผมก็ไปสืบแสวงหาพิจารณาอยู่ อะไรหลายอย่าง

ฉะนั้น พระวินัยนี้ มันเป็นของที่ทำให้บางคนสึกก็ได้ เมื่ออ่านหนังสือพระวินัยไป เออ โผล่ขึ้นมาแล้วตรงนั้น มันจะยันไปโน่น จะเอาอดีตมายุ่ง การบวชของเรามันจะถูกไหมหนอ อุปัชฌาย์ของเราจะบริสุทธิ์หรือเปล่า พระหัตถบาสเราก็ไม่มีใครสนใจในพระวินัยเลย มันจะมีนั่งรู้จักหัตถบาสกันไหม การสวดนาคจะถูกต้องดีหรือเปล่า อย่างนี้ มันค้นมันคิดไป โบสถ์ที่เราบวชนั้น มันถูกต้องดีหรือเปล่า โบสถ์น้อยๆ อย่างนี้ สงสัยไปหมด ตกนรกทั้งนั้นแหละ มันตกเพราะเราไม่รู้จัก

อย่างนั้นกว่าจะมีอุบายแก้ไขจิตใจของตนนี้ลำบากมาก ต้องใจเย็นๆ ผลุนลันเกินไปก็ไม่ได้ จะเย็นเกินไปจนไม่รับพิจารณาเหตุผลนี่ก็ไม่ได้ ผมงงจนเกือบจะสึกแล้วจริงๆ เพราะว่าเห็นความบกพร่องในการกระทำ ในการปฏิบัติมาจากครูบาอาจารย์สารพัดอย่าง ร้อน นอนไม่ได้เลย บาปจริงๆ มันบาปด้วยความสงสัย สงสัยเท่าไรก็ยิ่งภาวนาไป ยิ่งทำความเพียรไป สงสัยที่ไหนก็ทำมันไปเรื่อยๆ ที่นั้น ปัญญามันก็เกิด ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่รู้ว่าจะพูดให้ใครฟังได้ เปลี่ยนแปลงจนมันไม่สงสัยอะไร ไม่รู้มันเปลี่ยนแปลงโดยวิธีอะไร ถ้าเราไปพูดให้คนอื่นฟัง เขาคงไม่รู้เรื่องเหมือนกัน

ดังนั้น จึงได้มาระลึกถึงคำสอน ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ วิญญูจงรู้เฉพาะตนเองอย่างนี้ มันก็เกิดขึ้นมาในขณะที่มันเป็นอย่างนั้น เรื่องปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ เรื่องที่เราได้มาศึกษาพระธรรมวินัยนั้นก็จริงอยู่ แต่ว่ามันศึกษานอกๆ เราไม่ปฏิบัติ ถ้ามาปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง มันสงสัยไปหมดทุกอย่าง

แต่ก่อนอาบัติทุกกฎไม่รู้เรื่อง ไม่รับฟังอะไรทั้งนั้น เมื่อมาเข้าใจธรรมะจริงๆ แล้วถึงข้อปฏิบัตินี้นะ อาบัติทุกกฎนี้กลายมาเป็นปาราชิกเลย สมัยก่อนนี้อาบัติทุกกฎไม่เป็นอะไร มันเล็กๆ น้อยๆ คิดอย่างนี้ ตอนเย็นๆ มาแสดงอาบัติแล้วก็หายเท่านั้น แล้วก็ไปทำใหม่อีก นี่การแสดงอาบัติอย่างนี้ก็เรียกว่ามันยังไม่บริสุทธิ์ คือมันไม่หยุด มันไม่ตกลง มันไม่สังวรสำรวม ต่อไปทำอีกก็เป็นอีกอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้ ความรู้ตามความเป็นจริงไม่มี การปล่อยวางมันก็ไม่มี

ความเป็นจริงนั้น มันก็พูดยากเหมือนกัน อาบัตินี้ ถ้าพูดตามธรรมะตามความจริง ไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงมันแล้ว ถ้าหากว่าเห็นความบริสุทธิ์ใจของตนนั้นแหละ ไม่ได้สงสัยอะไรทั้งสิ้น มันก็ขาดไปเท่านั้นแหละ ที่เรายังไม่บริสุทธิ์แท้ คือเราสงสัยอยู่วิจิกิจฉาอยู่ ลังเลอยู่นั้นเอง ยังไม่บริสุทธิ์แท้ มันจึงตกลงไม่ได้ ไม่เห็นตัวของตัวเอง มันเป็นในทำนองนี้ คือศีลเรานี้เอง ไม่ใช่อื่นหรอก พระวินัยก็คือรั้วนั่นเอง เหมือนรั้วหนึ่งที่จะให้เราพ้นจากความผิดต่างๆ อันนี้ต้องพิถีพิถันหน่อยนะ

เรื่องพระวินัยนี้ ถ้าหากว่ามันไม่เห็นในใจของตน มันก็ยาก ในเวลาก่อนมาอยู่วัดป่าพงหลายสิบปี ผมก็ตั้งใจจะทิ้งเงินทั้งพรรษาค่อนพรรษาเลย ตัดสินใจไม่ได้ ในที่สุดผมเลยคว้าเอากระเป๋าเงิน เดินลงมาพบมหาองค์หนึ่ง เดี๋ยวนี้อยู่วัดระฆัง เคยไปกับผม แล้วทิ้งกระเป๋าเงินให้

“นี่มหา เงินนี้ท่านเป็นพยานให้ผมด้วย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผมจะไม่หยิบ ผมจะไม่จับ ถ้าผมไม่สึกนะ ให้ท่านเป็นพยานให้ผมด้วย”

 “นิมนต์เถอะท่าน เอาไปเถอะ เอาไปเรียนหนังสือเถอะ” ท่านมหาก็ไม่อยากหยิบกระเป๋าสตางค์… อาย

“ท่านอาจารย์ ทำไมจึงทิ้งสตางค์หลายร้อยหนอ” แกก็ไม่สบายใจ

“ไม่ต้องเป็นห่วงผมหรอก ผมเลิกแล้ว ตกลงกันแล้ว เมื่อคืนนี้ ตกลงแล้วครับ”

ตั้งแต่ท่านเอาไปแล้วก็เหมือนผมตายไปจากท่านแล้ว พูดอะไรก็ไม่รู้เรื่องกันหรอก ท่านยังเป็นพยานอยู่ทุกวันนี้ ไม่เคยทำ ไม่เคยแลก ไม่เคยเปลี่ยน ไม่เคยอะไรต่ออะไรเรื่อยมา อะไรต่างๆ ก็สำรวมอยู่มันก็เหมือนกับไม่มีอะไรจะผิด แต่มันกลัวเสมอนะ แล้วการภาวนาทางใน เราก็ภาวนาไปเรื่อยๆ ส่วนนั้นเราไม่ต้องการแล้ว เหมือนอย่างกับยาพิษนี่ เราเห็นแล้วว่า เอาให้คนกินก็ตาย เอาให้สุนัขกินมันก็ตาย เอาให้อะไรกินมันก็ตาย เป็นอันตรายทั้งนั้น ถ้าเราเห็นชัดอย่างนั้น แม้จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน เราก็รู้สึกเลยว่าอย่าไปกินยาพิษอันนั้น เพราะเราเห็นโทษมันอย่างชัดอย่างนี้ เลยไม่เป็นของยาก

อาหารการขบการฉันที่เขามาถวาย อะไรต่างๆ ที่มันสงสัยไม่เอา แม้มันจะมีอะไรดีเลิศประเสริฐเท่าไรก็ไม่เอาเสียแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ ปลาส้มอย่างนี้ ถ้าเราอยู่ในป่า ไปบิณฑบาต เขาใส่ปลาส้มให้เป็นห่อ มีแต่ปลาส้มห่อเดียวเท่านั้น มาเปิดดูเป็นปลาส้มไม่สุก ก็เลยเอาทิ้ง ฉันข้าวเปล่าๆ ดีกว่า มันไม่กล้าล่วง อย่างนั้นจึงเรียกว่าจิตมันเห็น พระวินัยนั้นมันก็ง่ายขึ้นๆ

พระสงฆ์จะเอาอะไร ให้เครื่องบริขาร จะเป็นบาตร จะเป็นมีดโกน จะเป็นอะไรต่างๆ ผมไม่เอา ถ้าไม่เห็นว่าเป็นเพื่อนด้วยกัน สหธรรมมิกอันเดียวกัน ไม่เอา ทำไม ก็คนไม่สังวรสำรวม เราจะเชื่อได้ไหม มันก็ทำผิดต่างๆ ได้ทั้งนั้น คนไม่สังวรสำรวมนี่ มันไม่เห็น มันก็เป็นไปได้อย่างนี้ ความเห็นมันก็ลึกไปอย่างนั้น

ฉะนั้น มันจึงเป็นเหตุให้พวกสหธรรมมิกทั้งหลาย มองท่านองค์นั้น ไม่เล่นกับเพื่อน ไม่เข้าสังคม ไม่อะไรต่ออะไร ผมก็เฉยเสีย เออ คอยสังคมกันที่ตายเถอะ ที่จะตายมันอยู่สังคมอันเดียวแหละ นึกไว้ในใจอย่างนี้ อยู่เรื่อยมาด้วยความอดทนมากที่สุด เลยเป็นคนพูดน้อย ใครมาพูดก้าวก่ายถึงการปฏิบัติเราแล้วก็เฉยๆ ทำไมถึงเฉย คือ พูดแล้วเขาก็ไม่รู้จัก ไม่รู้การปฏิบัติ อย่างพระไปพิจารณาซากศพนี้ บางคนก็ว่า

“อย่าไปฟังท่านเลย เอาใส่ย่าม อย่าบอกท่าน อย่าให้ท่านรู้ว่าใส่ย่าม” (เข้าใจว่าท่านไปสวดในงานศพ แล้วชาวบ้านจะถวายปัจจัย แต่ท่านไม่รับ - ในวงเล็บนี้เป็นความเห็นของ pat เองค่ะ)

“เออ โยมรู้ไหมว่าพระเป็นหรือพระตาย พระนี้โยมเห็นว่าพระเป็นหรือพระตายแล้ว ไม่ใช่ว่าสุราจะเรียกว่าน้ำหอม มันจะเป็นน้ำหอมเหรอ มีแต่โยมเท่านั้นแหละ อยากจะกินเหล้าก็เป็นน้ำหอม ก็พากันกิน มันก็เป็นบ้าทั้งนั้นแหละ ไม่รู้เหล้ามันเป็นอย่างนี้” ตรงนะ ฟังด้วยตัวเองตรงอย่างนี้

อย่างนั้นพระวินัยนี้ลำบาก ต้องเป็นคนมักน้อย ต้องเป็นคนสันโดษ จะต้องเป็นคนเห็น เห็นถูกจริงๆ

ไปอยู่สระบุรี เราเข้าไปพักอยู่กับวัดบ้านเขา อาจารย์องค์นั้นก็เสมอพรรษา ไปบิณฑบาตมาร่วมกัน เอาบาตรมาตั้ง โยมเอาปิ่นโตมา ขึ้นบนศาลาเอาไปวาง พระก็ไปเอามารวมกัน ก็มาเปิดปิ่นโต จัดปิ่นโต ปิ่นโตเรียงกันยาวไปทางโน้น แล้วพระก็ไปรับประเคน ก็เอานิ้วมือใส่ปิ่นโตทางนี้ ปิ่นโตนั้นไปทางโน้น โยมเขาก็เอามือใส่ปิ่นโตทางนั้น เอาแล้วพอแล้ว ก็จับมาถวายพระให้พระฉัน ไปกับผมประมาณสักห้าองค์… ไม่ฉัน… ไปบิณฑบาตมาก็มีแต่ข้าว ไม่มีใครกล้าฉันอาหารปิ่นโต เราก็อยู่อย่างนี้เรื่อยๆ วันหนึ่ง ท่านอาจารย์ก็เดือดร้อนเหมือนกัน คงจะมีลูกศิษย์ท่านไปพูดให้ฟัง

“พระอาคันตุกะเหล่านี้ไม่ฉันอาหารเลย ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร” ท่านก็มีความเดือดร้อนขึ้น ผมก็มีเวลาอยู่นั้นตั้งหลายวัน จำเป็นต้องไปกราบเรียนท่านสมภารวัด

บอกว่า “ท่านอาจารย์ ผมขอโอกาสเถอะนะ ในเวลานี้ ผมมีธุระที่จะพักพึ่งบารมีท่านอยู่สักหลายวัน แต่ถ้าอยู่วัดนี้ บางทีก็ท่านอาจารย์จะระแวงระวังหลายอย่างเหมือนกัน ทั้งพระภิกษุสามเณรทุกองค์ เพราะทำไมผมจึงไม่ฉันอาหารที่โยมเอามามากๆ นะ ผมขอเรียนให้อาจารย์ฟัง ผมไม่มีอะไรครับ ที่ผมไม่ฉันนั้นนะ ผมได้รับการประพฤติปฏิบัติมานี้นานแล้ว การรับประเคนนะครับ ที่โยมมาวางไว้ พระไปเปิดปิ่นโต ปลดสาย เปิดปิ่นโตแล้วก็เอาปิ่นโตซ้อนเอามาวางไว้ แล้วก็ให้เณรมาถวายอันนี้ผมเห็นว่ามันผิด มันเป็นทุกกฎแล้ว คือไปลูบไปคลำไปจับต้องของยังไม่ได้ประเคน มันเสียหายทั้งนั้น ตามพระวินัย พระทุกองค์ฉันนะ เป็นอาบัติหมดเลย ข้อนี้เองครับ มิใช่รังเกียจใครทั้งนั้น ที่ผมมาเรียนท่านอาจารย์วันนี้ มิใช่จะห้ามให้ลูกศิษย์ลูกหาว่าท่านไปทำ… มิใช่ ผมมาเล่าความบริสุทธิ์ให้ฟัง เพราะว่าผมจะมีเวลาอยู่ในที่นี้หลายวัน”

ท่านก็ยกมือขึ้น “สาธุ ดีมากทีเดียว ผมไม่เคยเห็นพระที่รักษาอาบัติทุกกฎในสระบุรี ไม่มีแล้วครับ มันจะมีก็นอกจังหวัดสระบุรี ผมขออนุโมทนาสาธุการเลยครับ ผมไม่มีอะไร ดีแล้ว”

รุ่งขึ้นเช้า เข้าไปบิณฑบาตกลับมารวมกัน พระไม่เข้าไปใกล้เลย ทีนี้มีแต่โยมเข้ามาถวาย เพราะกลัวพระไม่ฉันจังหัน แต่วันนั้นมา พระเณรท่านก็กลัว ท่านจะยืน จะเดิน จะนั่ง เขาก็ลำบากคับแคบใจ ผมก็เลยเปิดเผยให้เขาเข้าใจกันดีทุกคน รู้สึกว่าพระเณรที่นั้นกลัวมาก เข้ากุฏิปิดเงียบสงบเลย ไม่มีเสียง สองวันสามวัน ผมพยายามดีกับเขา เพราะเขากลัว… อาย

นี่มันเป็นอย่างนี้ จะต้องไปพูดอะไรให้รู้เรื่อง เราไม่มีอะไรจริงๆ เราจะพูดว่าฉันจังหันไม่พอ หรือเราจะเอาอาหารอะไรๆ ไม่พูด เพราะอะไร ก็เราเคยอดอาหารมาเจ็ดวัน แปดวัน ก็เคยมาแล้ว สองวันสามวันเราเคยมาแล้ว อันนี้มีข้าวเปล่าๆ ฉัน มันไม่ตายหรอก ที่มันมีกำลังก็คือที่เราปฏิบัติ ที่รับโอวาทรับธรรมะที่ได้ปฏิบัติแล้ว คิดว่าทำตามพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้นแหละ ไปตรงนั้น ใครทำอย่างนี้ ไปตรงนี้ ไม่เล่นกับใคร แล้วพยายามที่สุดอย่างนี้ นี่ก็เพราะว่ามันรักตัวเอง รักข้อประพฤติปฏิบัติ

คนไม่รักษาพระวินัย คนไม่ภาวนากับคนภาวนาอยู่ด้วยกันไม่ได้ มันต้องแยกกันเลย มันไปด้วยกันไม่ได้ อันนี้ก็เป็นของที่สำคัญ ผมก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกันสมัยก่อน เป็นครูเป็นอาจารย์ของเขา สอนมันอย่างนั้น แต่เราไม่ได้ปฏิบัติ เสียหมดนะ มันเสีย เมื่อมาพิจารณาดีๆ โอย มันไกลกันฟ้ากับดินเลย ความเห็นของเรานะ

ดังนั้น คนเราจะไปตั้งสำนักวิปัสสนาทำกรรมฐานอยู่ในป่า… อย่าเลย ถ้าไม่รู้เรื่อง อย่าไปเลย ยิ่งร้าย เราก็เข้าใจว่าไปอยู่ในป่ามันจะสงบ เนื้อในของการปฏิบัตินั้นไม่รู้จัก บางคนก็ไปถากหญ้าเอาเอง บางคนก็ไปทำอะไรเอาเองสารพัดอย่าง วุ่นวาย พอผู้ที่รับรู้กับการประพฤติปฏิบัติแล้ว เขามองดูเห็นแล้วไม่เอา มันไม่เจริญ อย่างนั้นมันไม่เจริญ จะไปตั้งอยู่ป่าที่สงบขนาดไหน มันเจริญไม่ได้ คือมันทำไม่ถูก เห็นท่านอยู่ป่าก็ไปอยู่ป่าอย่างท่าน มันก็ไม่เหมือน ห่มจีวรก็ไม่เหมือน สีจีวรก็ไม่เหมือน ขบฉันอะไรก็ไม่เหมือนทั้งนั้นแหละ

คือมันไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัดเสียที ไม่ค่อยจะเป็นจริง เป็นก็เป็นหลักที่โฆษณาตามโลกเขา ก็เหมือนกับเขาโฆษณาขายยาเท่านั้นแหละ มันไม่ได้ยิ่งไปกว่านั้นหรอก ดังนั้น คนที่ไปตั้งวิปัสสนาใหม่ๆ ไปเรียนรู้วิธีมาก็ไปเรียน ไปสอน จิตมันไม่เป็น จิตมันไม่เห็น เดี๋ยวก็เลิกเท่านั้นแหละ พังเท่านั้นแหละ เดือดร้อน

ดังนั้น พวกเรานะ ไม่ต้องเรียนอะไรกันมาก ดูนวโกวาทเขาว่าอะไรกันบ้าง มันเป็นอย่างไร ศึกษาให้เข้าใจแล้ว พิจารณาแล้ว ก็จำไว้นานๆ ก็มากราบครูอาจารย์ ตรงนั้นมันเป็นอย่างไร อันนี้นะท่านจะอธิบายปลีกย่อยให้ฟัง เราก็ศึกษาไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะเข้าใจจริงๆ ในเรื่องพระวินัย

ทรงไว้ซึ่งข้อวัตรวันนี้เป็นโอกาสที่ท่านทั้งหลายได้มาประชุมกัน ณ โอกาสนี้ทุกปี คณะเราทำการสอบธรรมะ แล้วก็มารวมกัน ทุกๆ ท่านให้พากันเข้าใจว่า ผู้ปฏิบัติควรสนใจการกระทำกิจวัตร อาจาริยวัตร อุปัชฌายวัตร อันนี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของพวกเราทั้งหลายให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน มีความสามัคคีพร้อมเพรียงซึ่งกันและกัน เป็นเหตุให้พวกเราได้ทำความเคารพ ซึ่งจะเป็นมงคลในหมู่พวกเราทั้งหลาย

ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนถึงบัดนี้ ทุกกลุ่มทุกเหล่า ถ้าขาดความคารวะกันแล้วก็ไม่สำเร็จประโยชน์ แม้ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็เหมือนกัน จะเป็นฆราวาส จะเป็นบรรพชิต ถ้าขาดความเคารพคารวะ ความมั่นคงก็ไม่มี ถ้าความเคารพคารวะไม่มี ก็เกิดความประมาท กิจวัตรทุกอย่างมันก็เสื่อมทรามไป

คณะกรรมฐาน คณะปฏิบัติ พวกเราที่มารวมอยู่ที่นี้ประมาณ ๒๕ พรรษาแล้ว มีความเจริญก้าวหน้ามา ตามที่ผมสังเกตนั้นก็เรียกว่า เจริญมาเรื่อยๆ แต่ว่าถึงจุดหนึ่งมันก็จะเสื่อมได้ อันนี้ให้เราเข้าใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามองเห็นเหมือนกัน แต่ถ้าหากว่าพวกเราทั้งหลายอาศัยความไม่ประมาท มีความเคารพคารวะ ทำกิจวัตรอันนี้ติดต่อกันไปไม่ขาด ผมเข้าใจว่าความสามัคคีของพวกเรานั้นจะมีความมั่นคง การประพฤติปฏิบัติในหมู่คณะของพวกเรา ก็จะเป็นเหตุให้ยืนยงคงทน ยังพุทธศาสนาอันนี้ให้เจริญไปนาน

ทีนี้ปริยัติและปฏิบัติมันเป็นคู่กันโดยตรง และปริยัติกับปฏิบัตินี้เป็นของคู่กันมา ยังพุทธศาสนาให้เจริญถาวรรุ่งเรืองตลอด บัดนี้ก็เพราะการศึกษาแล้วก็รู้ รู้แล้วก็ปฏิบัติตามความรู้ของเรานั้น เรียกว่า การประพฤติปฏิบัติ ถ้าหากว่าเราเรียนปริยัติอาศัยความประมาท เท่าที่ผมเคยสังเกตมาแล้ว

คือสมัยหนึ่งผมอยู่ที่นี้ พระอยู่จำพรรษาประมาณ ๗ องค์ เป็นปีแรก ผมก็เลยมาคิดว่า เรื่องการเรียนปริยัติกับปฏิบัตินี่ ถ้าตั้งปริยัติขึ้นเมื่อไหร่… เสื่อม โดยมากเป็นอย่างนี้ ทั้งการปฏิบัติก็เป็นไปได้ยาก มันเสื่อม โดยมากเป็นเสียอย่างนั้น

เมื่อได้มาคำนึงถึงอันนี้ ผมอยากจะรู้เหตุข้อมูลว่าเป็นเพราะอะไร ก็เลยมาตั้งสอนพระเณรในพรรษานั้น ๗ องค์ สอนประมาณสัก ๔๐ วัน ฉันเสร็จแล้วก็สอนจน ๖ โมงเย็นทุกวัน ไปสอบสนามหลวงปรากฏว่าได้ผล ๗ องค์ สอบได้หมดทุกองค์เลย อันนี้ดี

แต่ว่ามันมีการบกพร่องอยู่อย่างหนึ่ง กับบุคคลที่ไม่มีความระมัดระวัง การเรียนปริยัตินี้ต้องอาศัยการพูด อาศัยการท่องบ่นต่างๆ เป็นต้น บุคคลที่ไม่ค่อยระวังสังวร ไม่ค่อยสำรวมนั้นก็เลยทิ้งการปฏิบัติ มาท่องบ่นจดจำด้วยสัญญาเสียเป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้พวกเราทั้งหลายนั้นทิ้งบ้านเก่าเรา ทิ้งมูลเก่าเรา ทิ้งข้อปฏิบัติอันเก่าของเราไป โดยมากมันเป็นเช่นนี้

ทีนี้เมื่อเรียนจบแล้ว สอบสนามหลวงแล้ว ดูกิริยาพระเณรก็ต่างเก่า เดินจงกรมก็ไม่ค่อยมี นั่งสมาธิก็น้อย การคลุกคลีกันก็มากขึ้น ความสงบระงับมันน้อยลง ความเป็นจริงการปฏิบัตินะ เมื่อเดินจงกรมแล้วก็ตั้งใจเดินจงกรม เมื่อนั่งสมาธิก็ตั้งอกตั้งใจทำ เมื่ออยู่ในอิริยาบถการเดิน การยืน การนั่ง การนอน เราก็พยายามสังวรสำรวม แต่เมื่อเรามาเรียนหนังสือแล้ว มันเป็นสัญญาเสียโดยมาก เลยเพลินไปตามปริยัติอันนั้น ลืมตัวเสีย ก็เล่นอารมณ์ภายนอก

อันนี้มันก็เป็นแต่เฉพาะคนที่ไม่มีปัญญา บุคคลที่ไม่สังวรสำรวม บุคคลที่ไม่มีสติติดต่อกัน ก็เป็นเหตุให้เสียหายได้เหมือนกัน มันเป็นเพราะเหตุนั้น ที่เมื่อนักเรียนเรียนหนังสือ ไม่ได้นั่งสมาธิ ไม่ได้เดินจงกรม การสังวรสำรวมมันก็น้อย เป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่าน การพูดเรื่อยเปื่อย ไม่สังวรสำรวม จับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนก็มากขึ้นมา หลายขึ้นมา อันนี้เป็นเหตุให้เสื่อม มันไม่ใช่เป็นเพราะปริยัติ มันเป็นเพราะบุคคล เราไม่ตั้งใจ ลืมเนื้อลืมตัวเสีย

ความจริงปริยัตินี้ เป็นของชี้ช่องทางให้พวกเราประพฤติปฏิบัติทั้งนั้น ถ้าหารเราไปเรียนแล้วลืมตัว การพูดมันก็มาก การเล่นมันก็มาก การเดินจงกรมทิ้งไปหมด แล้วก็มีความกระสันอยากจะสึก โดยมากเรียนไม่ได้ ก็สึกกัน อันนี้เป็นเหตุ ไม่ใช่ว่าเพราะปริยัติไม่ดี ปฏิบัติไม่ถูก ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นเพราะพวกเราทั้งหลายนั้นขาดการพินิจพิจารณา ความเป็นจริงการปฏิบัตินั้น จะอ่านหนังสือ จะท่องหนังสือ จะทำอะไรมันก็เป็นกรรมฐานกันทั้งนั้น

ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ในพรรษาที่สอง ผมเลยเลิกสอน เลิกการสอนปริยัติ อีกหลายปีต่อมา มีกุลบุตรมากขึ้น บางคนก็ไม่รู้เรื่องพระธรรมวินัย สมมุติบัญญัติก็ไม่รู้เรื่อง ก็เลยปรับปรุงขึ้นมาใหม่ ขอครูบาอาจารย์ผู้ที่ได้เรียนมาแล้วนั้นสอน พยายามสอนจนตลอดมาจนถึงทุกวนนี้ การเรียนปริยัติจึงเกิดขึ้นมา

ฉะนั้น ทุกปีเมื่อเรียนเสร็จแล้ว ผมก็ให้ท่านเปลี่ยนใหม่ ตำรับตำราต่างๆ ที่มันไม่สำคัญเก็บใส่ตู้ไว้เสีย อ่านเฉพาะที่มันเป็นข้อปฏิบัติเท่านั้น ตั้งใหม่เข้าหลักเดิมของเรา มายกข้อประพฤติปฏิบัติส่วนรวมขึ้นมา เช่นจะต้องทำวัตรสวดมนต์พร้อมเพรียงกัน อันนี้เป็นหลัก ทำไปเพื่อแก้ความขี้เกียจ แก้ความรำคาญ เป็นเหตุให้เราขยันหมั่นเพียรขึ้นมา ทุกคนก็ทำกันเรื่อยๆ มาตลอดทุกวันนี้ ปีนี้ก็เหมือนกัน

ฉะนั้น ให้พวกเราทั้งหลายอย่าทิ้งหลักการประพฤติปฏิบัติ การพูดน้อย นอนน้อย กินน้อย การสงบระงับ ไม่คลุกคลีหมู่คณะ การเดินจงกรมเป็นประจำ การนั่งสมาธิเป็นประจำ การประชุมกันเนืองนิจในคราวที่ควรประชุม อันนี้ขอให้เอาใจใส่ทุกๆ ท่านต่อไป

ฉะนั้น พวกท่านทั้งหลายอย่าเอาโอกาสดีๆ อันนี้ไปทิ้ง ถึงประพฤติปฏิบัติ เรามีโอกาสซึ่งอยู่ใต้การปกครองของครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านก็ปฏิบัติกันชั้นหนึ่ง ให้พวกเราทั้งหลายตั้งใจประพฤติปฏิบัติกันไป ก็เป็นกันมาอย่างนี้ ฉะนั้นจึงให้พวกท่านทั้งหลายรวมกันทำสามัคคีเข้าหลักเดิม เคยเดินจงกรมก็ต้องเดิน เคยนั่งสมาธิก็ต้องนั่ง เคยมาทำวัตรตอนเช้า ทำวัตรตอนเย็นนั้น ก็พยายาม อันนี้เป็นกิจของท่านโดยตรง

อันนี้ขอให้ท่านตั้งใจ คนอยู่เฉยๆ นั้นไม่มีกำลังนะ คนป้วนเปี้ยน คนที่อยากจะสึก วุ่นวาย ดูซิ ก็คือคนที่ไม่ตั้งใจปฏิบัติ ไม่มีงานทำ เราจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ในกิจพุทธศาสนานี้ เป็นพระเป็นเณร เราอยู่ดีกินดีแล้ว จะอยู่สบายไม่ได้ กามสุขัลลิกานุโยโค นี่มันเป็นพิษอย่างมากทีเดียว

ให้พวกท่านทั้งหลายกระเสือกกระสน หาข้อประพฤติปฏิบัติของตน เพิ่มข้อวัตรขึ้น เตือนตนเองมากขึ้น อันใดที่มันบกพร่องก็พยายามทำดีขึ้นไป อย่าไปอาศัยอย่างอื่นเป็นอยู่ คนที่จะมีกำลังนี่ เดินจงกรมก็ไม่ได้ขาด สังวรสำรวมไม่ได้ขาด เราสังเกตพระเณรที่นี้ก็ได้ องค์ใดถ้าเห็นว่าฉันเสร็จหมดธุระแล้ว เข้าไปในกุฏิของท่าน ตากจีวรไว้ เดินจงกรม เดินไปตามกุฏิเท่านั้น เราจะเห็นทางเดินเป็นแถว เราเห็นบ่อยครั้ง การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ ท่านองค์นี้ไม่เบื่อไม่หน่าย นี่ท่านมีกำลัง ท่านเป็นผู้มีกำลังมาก

ทุกๆ องค์ถ้าเอาใจใส่ในการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ผมว่ามันสบาย ไม่ค่อยมีอะไรมากมาย ถ้าหากว่าใครไม่อยู่ในการประพฤติปฏิบัติ การเดินจงกรม การทำสมาธิ ไม่มีอะไร มีแต่การเที่ยว มันไม่สบายตรงนี้ ไปเที่ยวตรงนั้น มันไม่สบายตรงนั้น ไปเที่ยวตรงนี้ เท่านั้นแหละ ตะลอนไปเรื่อยอย่างนั้น มันก็ไม่ตั้งใจกัน ไม่ค่อยดี ไม่ต้องอะไรมากมายหรอก เราอยู่ให้รู้จักข้อวัตรปฏิบัติให้มันสุขุมเสียก่อนเถอะ การเที่ยวไปมามันเป็นของภายหลัง มันไม่ยาก ของง่ายๆ ตั้งใจกันทุกๆ องค์นะ

อันนี้พูดถึงการเสื่อมการเจริญ มันก็เป็นมาอย่างนี้ ถ้าจะให้มันดีจริงๆ แล้ว ปริยัติก็พอสมควร ปฏิบัติก็พอสมควร เป็นคู่เคียงกันไป อย่างกายกับจิตนี้เป็นตัวอย่าง จิตมีกำลัง กายก็ปราศจากโรค กายดี จิตมันก็ได้รับความสงบระงับ ถ้าหากว่าจิตวุ่นวาย กายสมบูรณ์อยู่ มันก็เป็นไปได้ยาก ถ้าหากว่ากายมีเวทนาหนามาก จิตไม่มีกำลัง จิตนั้นก็มายึดกายเป็นต้น ก็ไม่สบายกันไปอีก นี่พูดถึงผู้ที่ยังศึกษาอยู่ เราก็ต้องศึกษาอย่างนี้

การศึกษาในทางกรรมฐานเรานี้ ศึกษาเรื่องการบำเพ็ญและการละ ที่ว่าศึกษานี้ ถ้าหากว่าเราถูกอารมณ์มา เรายังไปยึดไหม ยังมีวิตกไหม ยังมีความน้อยใจไหม มีความดีใจไหม พูดง่ายๆ เรายังหลงอารมณ์เหล่านั้นอยู่ไหม หลงอยู่ เมื่อไม่ชอบก็แสดงความทุกข์ขึ้นมา เมื่อชอบก็แสดงความพอใจขึ้นมา จนเกิดเป็นกิเลส จนใจเราเศร้าหมอง อันนั้นเราจะมองเห็นได้ว่าเรายังบกพร่องอยู่ ยังไม่สมบูรณ์ บริบูรณ์ เราจะต้องศึกษา จะต้องมีการละ ต้องมีการบำเพ็ญอยู่เสมอไม่ขาด นี่ผู้ศึกษาอยู่ มันติดอยู่ตรงนี้ เราก็รู้จักว่าติดอยู่ตรงนี้ เราเป็นอย่างนี้ เราจะต้องแก้ไขตัวเราเอง

การอยู่กับครูบาอาจารย์หรืออยู่นอกครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน ความกลัวนั้น บางคนก็มีความกลัว ถ้าไม่เดินจงกรมก็กลัวครูบาอาจารย์จะดุจะว่าเอา นี่ก็ยังดีอยู่ แต่ว่าข้อประพฤติปฏิบัติที่แท้นั้น ไม่ต้องกลัวใคร กลัวแต่ความประมาทมันจะเกิดขึ้นมา กลัวความผิดมันจะเกิดขึ้นมาที่กาย ที่วาจา ที่ใจของเรานี้เอง เมื่อเราเห็นความบกพร่องที่กาย ที่วาจา ที่ใจของเราแล้ว เราก็ต้องพิจารณาควบคุมจิตใจของเราอยู่เสมอ อตฺตนา โจทยตฺตานํ จงเตือนตน ด้วยตนเอง ไม่ต้องทิ้งการงานอันนั้นให้คนอื่นช่วย เรารีบปรับปรุงตัวเองเสียให้รู้จักอย่างนี้ เรียกว่าการศึกษา การละ การบำเพ็ญ จับอันนั้นมาพิจารณาให้มันเห็นแจ่มแจ้ง

ที่เราอยู่กันนี้ด้วยการอดทน อดทนต่อกิเลสทั้งหลายนี้ มันก็ดีส่วนหนึ่งเหมือนกัน แต่อดทนอันนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมยังไม่เห็นธรรม ถ้าเราปฏิบัติธรรมจนเห็นธรรมแล้ว สิ่งที่มันผิด เราก็ละมันได้จริงๆ เมื่อเราเห็นในจิตของเราอย่างนี้ เราก็สบาย ใครจะมาว่าอย่างไรก็ช่าง เราเชื่อจิตของตนเอง มันไม่วุ่นวาย จะอยู่ที่ไหนก็อยู่ไปได้อย่างนี้

ทีนี้ พวกเราเป็นพระเล็กเณรน้อย บวชก็มาปฏิบัติ บางทีก็เห็นครูบาอาจารย์ท่านก็ไม่ค่อยเดินจงกรม ไม่ค่อยนั่งสมาธิ ไม่ค่อยทำอะไรต่ออะไรของท่าน เราก็อย่าเอาตัวอย่างท่านนั้น ให้เอาเยี่ยง อย่าไปเอาอย่างท่าน เยี่ยงมันก็เป็นอย่างหนึ่ง อย่างมันก็เป็นอย่างหนึ่ง คือสิ่งอะไรที่ท่านพออยู่สบายแล้ว ท่านก็อยู่สบายๆ ถึงท่านไม่ทำทางกาย ทางวาจา ท่านก็ทำของท่านทางใจ สิ่งภายในจิตใจนั้น ตามองไม่เห็น การประพฤติปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนานี้ มันเป็นเรื่องของจิต ถึงแม้ไม่แสดงทางกาย วาจา เรื่องจิตมันก็เป็นส่วนจิต

ฉะนั้น เมื่อเห็นครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมานานแล้ว พอสมควรแล้ว บางทีท่านก็ปล่อยกาย วาจาของท่าน แต่ท่านคุมจิตของท่าน ท่านสำรวมอยู่แล้ว ถ้าเราเห็นเช่นนั้น เราก็ไปเอาอย่างท่าน แล้วก็ปล่อย การปล่อยวาจาเราก็ปล่อยไปตามเรื่อง มันก็ไม่เหมือนกันเท่านั้น มันคนละที่

อันนี้ให้พิจารณา มันต่างกันเสียแล้ว มันคนละที่เสียแล้ว อันนั้นเมื่อท่านนั่งอยู่ ท่านก็ไม่มีความประมาท ท่านไม่วุ่นวายกับสิ่งทั้งหลาย แต่ท่านก็อยู่ในสิ่งอันนั้น อั้นนี้เราไม่รู้จักท่าน สิ่งในใจมันไม่มีใครรู้จัก เราจะไปดูตัวอย่างข้างนอกอย่างเดียวนั้นก็ไม่ได้ เรื่องจิตนี้เป็นของสำคัญ เรานี้ถ้าพูดไปก็ตามคำพูด ถ้าทำมันก็ไปตามการกระทำนั้น บางทีที่ท่านทำมาแล้ว กายของท่าน ท่านก็ทำได้ วาจาของท่าน ท่านก็พูดได้ แต่จิตของท่านไม่เป็นไปตามนั้น เพราะว่าจิตของท่านปรารภธรรมปรารภวินัยอยู่

เช่น บางอย่างท่านจะทรมานเพื่อนฝูง ทรมานลูกศิษย์หรืออะไรต่างๆ การพูดมันก็หยาบ ไม่ค่อยเรียบร้อย ทางกายของท่านก็หยาบ เมื่อเราไปเห็นเช่นนั้น เราเห็นแต่กายของท่าน ส่วนจิตนั้น ที่ท่านปรารภธรรม หรือปรารภวินัยมองเห็นไม่ได้ อย่างไรก็ช่างมันเถอะ ให้เรายึดเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าอย่าประมาท ความไม่ประมาทนี่แหละเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ความประมาทนั่นแหละคือความตาย ให้ถืออย่างนี้ ใครจะทำอย่างไรก็ช่างใครเถอะ เราอย่าประมาทเท่านั้น อันนี้เป็นของที่สำคัญ

อันนี้ที่ผมกล่าวมานี้ เพื่อจะเตือนท่านทั้งหลายว่า เวลานี้เราสอบสนามหลวงมาเสร็จแล้ว แล้วก็มีโอกาสที่จะเที่ยวสัญจรไปมา แล้วก็มีโอกาสที่จะทำอะไรๆ หลายๆ อย่าง ขอให้ท่านทั้งหลายมีความสำนึกรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า เราเป็นผู้ปฏิบัติ เป็นผู้ปฏิบัติต้องสังวร สำรวมระวัง อย่างคำสอนที่ท่านว่า “ภิกขุ” แปลว่า ผู้ขอ ถ้าแปลอย่างนี้การปฏิบัติมันก็ไปรูปหนึ่ง หยาบๆ ถ้าใครเข้าใจ อย่างพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผู้เห็นภัยในสงสาร นี่มันลึกซึ้งกว่ากันทั้งนั้น

ผู้เห็นภัยในสงสาร ก็คือ เห็นโทษของวัฏฏะทั้งหลายนั้น ในวัฏฏะสงสารนี้ มันมีภัยมากที่สุด แต่ว่าคนธรรมดาสามัญไม่เห็นภัยในสงสารนี้ เห็นความสนุก เห็นความสนาน ความรื่นเริงบันเทิงในโลกอันนี้ แต่ท่านว่า “ภิกขุ ผู้เห็นภัยในสงสาร” สงสารนั้นคืออะไร สํสาเร สุขํ สํสาเรทุกฺขํ ทุกข์ในสงสารนี้เหลือที่จะทนได้ มันมากเหลือเกินแหละ อย่างความสุขนี่มันก็เป็นสงสาร ท่านไม่ให้เอาไปยึดมั่น ถ้าเราไม่เห็นภัยในสงสาร เมื่อเกิดความสุขเราก็ยึดความสุขนั้นเข้าไป ไม่รู้จักทุกข์ คล้ายๆ ไม่รู้จักความผิด เหมือนเด็กไม่รู้จักไฟ มันเป็นเช่นนั้น

ถ้าเราเข้าใจการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ว่า “ภิกขุ ผู้เห็นภัยในสงสาร” ถ้าธรรมะข้อนี้เข้าใจอย่างนี้ มันจมอยู่ในใจของผู้ใด ผู้นั้นจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนที่ไหนก็ตาม ก็เกิดความสลด เกิดความสังเวช เกิดความรู้ตัว เกิดความไม่ประมาทอยู่ นั่นแหละ ถึงท่านจะนั่งอยู่เฉยๆ ก็เป็นอยู่อย่างนั้น ท่านจะทำอย่างไรอยู่ ท่านก็เห็นภัยอยู่อย่างนั้น อันนี้มันอยู่คนละที่กันเสียแล้ว การปฏิบัตินี้เรียกว่า “ผู้เห็นภัยในสงสาร” ถ้าเห็นภัยในสงสารแล้ว ท่านก็อยู่ในสงสารนี้แหละ แต่ท่านไม่อยู่ในสงสารนี้ คือรู้จักสมมุติอันนี้ รู้จักวิมุตติอันนี้ท่านจะพูดก็พูดต่างเรา ทำก็ทำต่างเรา คิดก็คิดต่างเรา นี่การปฏิบัติมันฉลาดกว่ากันอย่างนี้

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านยังบอกว่าให้เอาเยี่ยงของท่าน อย่าไปเอาอย่างท่าน มันมีเยี่ยงกับอย่าง ๒ อย่างคลุมกันอยู่ ถ้าคนไม่ฉลาด ก็ไปจับหมดทุกอย่าง มันก็ไม่ได้ อันนี้แหละ เวลานี้ เราต้องมีการมีงาน อะไรหลายๆ อย่าง พวกเราทั้งหลายอย่าพากันเผลอ

ส่วนผม ปีนี้ร่างกายไม่ค่อยสบาย ไม่ค่อยดี บางสิ่งบางอย่างผมก็มอบให้พระภิกษุสามเณรทุกๆ องค์ช่วยกันทำต่อไป บางทีผมก็พักผ่อน โดยมากก็ชอบเป็นอย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ทางโลกก็เหมือนกัน ถ้าพ่อแม่ยังอยู่ ลูกเต้าก็สบายสมบูรณ์ ถ้าพ่อแม่ตายไปแล้ว ลูกเต้าแตกกันแยกกัน เป็นคนรวยก็กลับมาเป็นคนจน

อันนี้มันเป็นธรรมดาอยู่ในโลกนี้ มันมีอยู่แล้ว และเรามองเห็นอยู่ เช่น เมื่อครูบาอาจารย์ยังอยู่ก็สบาย สมบูรณ์ บริบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าของเราเป็นต้น เมื่อท่านยังทรงพระชนม์อยู่นั้นก็เรียกว่า กิจการต่างๆ นั้น ก็เรียบร้อย มันดีทุกอย่าง เมื่อปรินิพพานแล้วนั้นนะ ความเสื่อมมันเข้ามาเลย เพราะอะไร ก็เพราะเรานะ เมื่อครูบาอาจารย์ยังอยู่ก็เกิดเผลอไป ประมาทไป ไม่ขะมักเขม้นการศึกษาและประพฤติปฏิบัติ ทางโลกก็เหมือนกัน พ่อแม่ยังอยู่ เราก็ปล่อยให้พ่อแม่ อาศัยพ่อแม่เราว่ายังอยู่ ตัวเราก็ไม่เป็นการเป็นงาน เมื่อพ่อแม่ตายไปหมดแล้วก็ต้องเป็นคนจน

ฝ่ายพระเจ้าพระสงฆ์เราก็เหมือนกัน ถ้าหากครูบาอาจารย์หนีหรือมรณภาพไปแล้ว ชอบคลุกคลีกัน ชอบแตกสามัคคีกัน ชอบเสื่อมเกือบทุกแห่งเลย อันนี้เป็นเพราะอะไร เพราะว่าเราทั้งหลายพากันเผลอตัวอยู่ เราก็อาศัยบุญบารมีของครูบาอาจารย์อยู่ เราก็ไม่เป็นอะไร สบาย ถ้าหากว่าครูบาอาจารย์เสียไปแล้ว ลูกศิษย์ชอบแตกกัน ชอบแยกกัน ความเห็นมันต่างกัน องค์ที่คิดผิดก็ไปอยู่แห่งหนึ่ง องค์ที่คิดถูกก็ไปอยู่แห่งหนึ่ง ผู้ที่ไม่สบายใจหนีออกไปจากเพื่อนแล้ว ไปตั้งใหม่อีก ก่อกำเนิดขึ้นมาใหม่อีก มีบริษัทมีบริวารประพฤติดี ประพฤติชอบขึ้นมาอีกในกลุ่มนั้น ชอบเป็นอย่างนี้ ปัจจุบันนี้ยังเป็นอย่างนั้น

อันนี้ก็เพราะพวกเราทำให้บกพร่อง บกพร่องเมื่อครูบาอาจารย์ยังอยู่ เรายังอาศัยความประมาทกันอยู่ ไม่หยิบเอาข้อวัตรปฏิบัติอันที่ท่านประพฤติปฏิบัติมานั้น ยกเข้ามาใส่ใจของเรา จะประพฤติปฏิบัติตามอย่างนั้นไม่ค่อยมี

แม้แต่ครั้งพุทธกาลก็เหมือนกัน เคยเห็นไหม พระภิกษุผู้เฒ่านั่นไงล่ะ สุภัททะภิกขุนั่น พระมหากัสสปะมาจากปาวาร มาถามปริพาชกว่า

“พระพุทธเจ้าของเรายังสบายดีอยู่หรือเปล่า”

“พระพุทธเจ้าปรินิพพานไป ๗ วันเสียแล้ว”

พระทั้งหลายที่ยังมีกิเลสหนา ปัญญาหยาบ ยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็น้อยใจร้องไห้ก็มี ครวญคราง หลายๆ อย่าง ผู้ถึงธรรมะก็เห็นว่า

“พระพุทธเจ้าของเราปรินิพพานไปแล้ว ไปด้วยดีแล้วหนอ”

ผู้ที่มีกิเลสมาก อย่างเช่นพระสุภัททะพูดว่า

“ท่านจะร้องไห้ทำไม พระพุทธองค์ท่านนิพพานไปน่ะดีแล้ว เราจะอยู่สบายกัน เมื่อท่านยังอยู่นั้น จะทำอะไรก็ไม่ได้ จะพูดอะไรก็ไม่ได้ ขัดข้องทั้งนั้นแหละ เราอยู่ลำบากใจเรา อันนี้มันดีแล้ว ท่านนิพพานไปแล้ว สบายเลย อยากทำอะไรก็ทำ อยากพูดอะไรก็พูด อันนี้เราจะร้องไห้ทำไม”

มันเป็นมาแต่โน้น มันเป็นมาอยู่อย่างนี้

ฉะนั้น อย่างไรก็ตาม ถึงครั้งพระพุทธเจ้าเรา ก็เอานี้ไว้ไม่ได้ แต่ว่าอย่างเรามีแก้วน้ำใบหนึ่ง เราพยายามรักษามันให้ดี ใช้แล้วก็เช็ดมัน เก็บมันไว้ที่สมควร ระมัดระวังแก้วใบนั้น มันจะได้ใช้ไปนานๆ เราใช้ไปเสร็จแล้ว คนอื่นจะได้ใช้ต่อไปนานๆ ให้มันนานเท่าที่มันจะนานได้ ถ้าหากว่าเราใช้แก้วแตกวันละใบ วันละใบ วันละใบ กับการใช้แก้วใบหนึ่ง ๑๐ ปี จึงแตก มันก็ต่างกัน ดีกว่ากันไหม มันก็เป็นอย่างนั้น

อย่างการประพฤติปฏิบัตินี้ก็เหมือนกัน อย่างพวกเราอยู่ด้วยกันหลายๆ องค์อย่างนี้นะ ปฏิบัติให้สม่ำเสมอ จะให้ดีมากสัก ๑๐ องค์เถอะ ๑๐ องค์ วัดป่าพงนี้เจริญ เหมือนกับคนในบ้านๆ หนึ่งนั่นแหละ ขนาดสัก ๑๐๐ หลังคา มีคนดีสัก ๔๐ คน บ้านนั้นก็เจริญ อันนี้จะหาสัก ๑๐ คน ก็ยาก อย่างวัดหนึ่งอย่างนี้นะ จะหาครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติมานั้น ผู้มีศรัทธาจริงจังนั้น ๕-๖ องค์มันก็ยาก มันเป็นเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม พวกเราทั้งหลายก็ไม่มีหน้าที่อื่นอีกแล้ว นอกจากการประพฤติปฏิบัติชอบเท่านั้น เพราะเรานี้ไม่มีอะไรแล้ว ดูซิ ใครเอาอะไรไหม ทรัพย์สมบัติเราก็ไม่เอาแล้ว ครอบครัวเราก็ไม่มีแล้ว อะไรทุกอย่างแม้ตั้งแต่การฉันก็ยังฉันมื้อเดียว เราละมาหลายๆ อย่างแล้ว สิ่งที่มันดีกว่านี้เราละมาเยอะ คล้ายๆ กับที่ว่าเป็นพระนี้เราละหมดไม่มีอะไร สิ่งที่พวกเขาชอบๆ กันนั้นนะ ทิ้งหมด ก็ตกลงว่า เราบวชมาในพุทธศาสนานี้ ก็เพื่อหวังการประพฤติปฏิบัติ เพราะเราละมาแล้ว ไม่เอาอะไรแล้ว เราจะมาคิดเอาอะไรอีก จะมาเอาอะไรต่างๆ ไว้ในใจของเราอีก อันนี้มันไม่สมควรแล้ว

ให้เราไปคิดว่า เราบวชกันทำไม เราปฏิบัติกันทำไม บวชมาปฏิบัติ ถ้าหากเราไม่ปฏิบัติก็อยู่เฉยๆ เท่านั้นแหละ ถ้าไม่ปฏิบัติก็เหมือนฆราวาส มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่ทำธุระหน้าที่การงานของเรานี้มันก็เสียเพศสมณะ ผิดความมุ่งหวังมาแล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เรียกว่าเราประมาทแล้ว เราประมาทแล้วก็เรียกว่าเราตายแล้ว อันนี้ให้เข้าใจ นานๆ ก็พิจารณาไปเถอะ อย่าไปลืมความตายนี้

ดูซิ ถามว่าเมื่อเราตายมีเวลาไหม ถามตัวเราเสมอแหละ “ตาย… เมื่อไหร่ตาย”

ถ้าเราคิดเช่นนี้จิตใจเราจะระวังทุกวินาทีเลยทีเดียว ความไม่ประมาทจะเกิดขึ้นมาทันที เมื่อความประมาทไม่มีแล้ว สติ ความระลึกได้ว่าอะไรเป็นอะไรก็เกิดมาทันที ปัญญาก็แจ่มแจ้ง เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งชัดเจน ในเวลานั้น เราก็มีสติประคองอยู่ รอบรู้อยู่ทางอารมณ์ทั้งกลางวันและกลางคืน ทุกสิ่งสารพัดนั่นแหละ ก็เป็นผู้มีสติอยู่ ถ้าเป็นผู้มีสติอยู่ ก็เป็นผู้สำรวม ถ้าเป็นผู้สำรวมอยู่ก็เป็นผู้ไม่ประมาท ถ้าเป็นผู้ไม่ประมาท ก็เป็นผู้ปฏิบัติถูกต้องเท่านั้น อันนี้เป็นหน้าที่ของเราทั้งหลาย

ฉะนั้น วันนี้ขอพูดถวายพวกท่านทั้งหลาย ต่อไปนี้ ถ้าหากว่าเราจะออกจากที่นี้ไปอยู่สาขาก็ตาม จะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม อย่าลืมตัว อย่าลืมตัวของตัว คือเรายังไม่สำเร็จ เรายังไม่เสร็จสิ้น การงานของเรายังมีมาก ภาระของเรายังมีมาก คือข้อประพฤติปฏิบัติในการละ การบำเพ็ญของเรายังมีมาก ให้เป็นห่วงไว้

พวกท่านทั้งหลาย ให้ตั้งใจทุก ๆ องค์ จะอยู่ในสาขาก็ดี อยู่ในที่นี้ก็ดี ให้ท่านทรงข้อวัตรปฏิบัติไว้ เพราะว่าในเวลานี้พวกเราทั้งหลายรวมกันมากแล้ว หลายสาขาแล้ว ต้องให้ท่านพยายาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่างสาขาต่างมีกำเนิดจากวัดป่าพง จะถือว่าวัดป่าพงนี้เป็นพ่อแม่ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นเยี่ยงอย่างของสาขาเหล่านั้นก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเณรครูบาอาจารย์ทุกองค์ ซึ่งอยู่ประจำวัดป่าพงนี้ พยายามให้เป็นแบบเป็นตัวอย่าง เป็นครูบาอาจารย์ของสาขาทั้งหลายเหล่านั้น ให้เข้มแข็งในการประพฤติปฏิบัติตามหน้าที่ของสมณะพวกเราทั้งหลายต่อไป.

จากคุณ : pat [ 13 ก.ค. 2546 ]