#echo banner="" ธรรมะเชิงอุปมาอุปมัย หลวงพ่อชา/

ธรรมะเชิงอุปมาอุปมัย

พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)

วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี

โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 010312 – โดย จากคุณ : mayrin [6 พ.ย. 2546 ]

ใบไม้

ขณะนี้เรานั่งอยู่ในป่าที่สงบ ที่นี่ไม่มีลม ใบไม้จึงนิ่ง เมื่อใดที่มีลมพัด ใบไม้จึงไหวปลิว

จิตก็ทำนองเดียวกับใบไม้ เมื่อสัมผัสกับอารมณ์มันก็สะเทือนไปตามธรรมชาติของจิต เรายิ่งรู้ธรรมะน้อยเพียงไร ใจก็จะรับความสะเทือนได้มากเพียงนั้น รู้สึกเป็นสุข ก็ตายด้วยความสุข รู้สึกเป็นทุกข์ ก็ตายด้วยความทุกข์อีก มันจะไหลไปเรื่อย ๆ

น้ำเจือสี

ใจของเราขณะที่เป็นปกติอยู่ เปรียบเหมือนน้ำฝนเป็นน้ำที่สะอาด มีความใสสะอาดบริสุทธิ์เป็นปกติ ถ้าเราเอาสีเขียวใส่ลงไป เอาสีเหลืองใส่เข้าไป น้ำก็จะกลายเป็นสีเขียว สีเหลืองไป

จิตของเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อไปถูกอารมณ์ที่ชอบใจ ใจก็ดี ใจก็สบาย เมื่อถูกอารมณ์ที่ไม่ชอบใจแล้ว ใจนั้นก็ขุ่นมัว ไม่สบาย เหมือนกันกับน้ำที่ถูกสีเขียวก็เขียวไป ถูกสีเหลืองก็เหลืองไป เปลี่ยนสีไปเรื่อย

อยู่กับงูเห่า

ขอให้โยมจำไว้ในใจ อารมณ์ทั้งหลายนั้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่พอใจก็ตาม หรืออารมณ์ที่ไม่พอใจก็ตาม อารมณ์ทั้งสองอย่างนี้มันเหมือนงูเห่าซึ่งมีพิษมาก ถ้ามันฉกคนแล้ว ก็ทำให้ถึงแก่ความตายได้ อารมณ์นี้ก็เหมือนงูเห่าที่มีพิษร้ายนั้น อารมณ์ที่พอใจก็มีพิษมาก อารมณ์ที่ไม่พอใจก็มีพิษมาก มันทำให้จิตใจของเราไม่เสรี ทำให้จิตใจไข้วเขว จากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า

ปล่อยพิษงูไป

อารมณ์ทั้งหลายเหมือนกันกับงูเห่าที่มีพิษร้าย ถ้าไม่มีอะไรขวาง มันก็เลื้อยไปตามธรรมชาติของมัน แม้พิษมันจะมีอยู่ มันก็ไม่แสดงออกมา ไม่ได้ทำอันตรายเรา เพราะเราไม่ได้เข้าไปใกล้มัน งูเห่าก็เป็นไปตามเรื่องของงูเห่า มันก็อยู่อย่างนั้น

ถ้าหากเป็นคนที่ฉลาดแล้วก็จะปล่อยหมด สิ่งที่ดีก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชั่วก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชอบใจก็ปล่อยมันไป เหมือนอย่างเราปล่อยงูเห่าตัวที่มีพิษร้ายนั้น ปล่อยให้มันเลื้อยของมันไป มันก็เลื้อยไปทั้งที่มีพิษอยู่ในตัวมันนั่นเอง

สอนเด็ก

ฉะนั้น การปฏิบัตินี้จึงว่านั่ง นั่นแหละปฏิบัตินั่ง ดูไปมันมีอารมณ์ดี อารมณ์ชั่ว สลับซับซ้อนกันไปเป็นธรรมดาของมัน อย่าไปสรรเสริญจิตของเราอย่างเดียว อย่าไปให้โทษมันอย่างเดียว ให้รู้จักกาล รู้จักเวลามัน เมื่อถึงคราวสรรเสริญ ก็สรรเสริญมันหน่อย สรรเสริญให้พอดีอย่าให้หลง

เหมือนกับสอนเด็กนั่นแหละ บางทีก็เฆี่ยนมันบ้าง เอาไม้เรียวเล็ก ๆ เฆี่ยนมัน ไม่เฆี่ยนไม่ได้ อันนี้บางทีก็ให้โทษมันบ้าง อย่าให้โทษมันเรื่อยไป ให้โทษมันเรื่อยไปมันก็ออกจากทางเท่านั้นแหละ ถ้าให้สุขมัน ให้คุณมันเรื่อย ๆ มันไปไม่ได้

เด็กซุกซน

เปรียบกับเด็กที่ซุกซน เล่นสนุก ทำให้รำคาญจนเราต้องดุเอา ตีเอา แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของเด็กก็เป็นอย่างนี้เอง พอรู้อย่างนี้ เราก็ปล่อยให้เด็กเล่นไปตามเรื่องของเขา ความเดือดร้อน รำคาญของเราก็หมดไป เพราะเรายอมรับธรรมชาติของเด็ก ความรู้สึกของเราจึงเปลี่ยนไป

เรายอมรับธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย เราปล่อยวางได้ จิตของเราก็มีความสงบเยือกเย็น นี่เรามีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว เป็นสัมมาทิฏฐิ ทีนี้ก็หมดปัญหาที่จะต้องแก้

รับแขก

เรามาทำจิตของเราให้เป็นผู้รู้ตื่นอยู่ คอยรักษาจิตของเราอยู่ ถ้าแขกมาเมื่อไรโบกมือห้าม มันจะมานั่งที่ไหน มีที่นั่งเดียวเท่านั้น เราก็พยายามรับแขกอยู่ตรงนี้ตลอดวัน นี่คือพุทโธ ตัวตั้งมั่นอยู่ที่นี่ ทำความรู้นี้ไว้ จะได้รักษาจิต เรานั่งอยู่ตรงนี้ แขกที่เคยมาเยี่ยมเราตั้งแต่เราเกิดตัวเล็ก ๆ โน้น มาทีไรก็มาที่นี่หมด เราจึงรู้จักมันหมดเลย พุทโธอยู่คนเดียว

พูดถึงอาคันตุกะ แขกที่จรมาปรุงแต่งต่าง ๆ นานา เราให้เป็นไปตามเรื่องของมัน อาการของจิตที่เป็นไปตามเรื่องของมันนี่แหละเรียกว่า เจตสิก มันจะเป็นอะไร จะไปไหนก็ช่างมัน ให้เรารู้จักอาคันตุกะที่มาพัก ที่รับแขกมีเก้าอี้ตัวเดียวเท่านี้เอง

เราเอาผู้หนึ่งไปนั่งไว้แล้ว มันก็ไม่มีที่นั่ง มันมาที่นี่ มันก็จะมาพูดกับเรา ครั้งนี้ไม่ได้นั่ง ครั้งต่อไปก็จะมาอีก มาเมื่อไรก็พบผู้ที่นั่งอยู่ ไม่หนีสักที มันจะทนมากี่ครั้ง เพียงพูดกันอยู่ที่นั่น เราก็จะรู้จักหมดทุกคน พวกที่ตั้งแต่เรารู้เดียงสาโน้น มันจะมาเยี่ยมเราหมดนั่นแหละ

บุรุษจับเหี้ย

วิธีกำหนดอารมณ์ จับอารมณ์ ให้รู้จักจิตของตน ให้รู้จักอารมณ์ของตน เปรียบโดยวิธีที่บุรุษทั้งหลายจับเหี้ย เหี้ยตัวหนึ่งเข้าไปในโพรงจอมปลวกที่มีรูอยู่หกรู ก็ปิดรู้นั้น ๆ เสียห้ารู เหลือรูเดียวให้เหี้ยออกแล้วนั่งจ้องมองที่รูเดียวนั้น เหี้ยออกมาก็จับได้ ฉันใด

การกำหนดจิตก็ฉันนั้น ปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดลิ้น ปิดกาย เหลือแต่จิตอันเดียวเปิดไหว้ คือ การสำรวมสังวร กำหนดจิตอย่างเดียว

การภาวนาก็เหมือนกับบุรุษจับเหี้ย คือ กำหนดจิตให้อยู่ที่ลมหายใจ มีสติ ระมัดระวังรู้อยู่แล้ว กำลังทำอะไร มีสัมปชัญญะ คือ รู้ตัวว่ากำลังทำสิ่งนั้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตขณะนั้น คือรู้ตัวว่ากำลังทำสิ่งนั้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตขณะนั้น ทำให้รู้จัก

แมงมุม

ได้ไปเห็นแมงมุมเป็นตัวอย่าง แมงมุมทำรังของมันเหมือนข่าย มันสายข่ายไปขึงไว้ตามช่องต่าง ๆ เราไปนั่งพิจารณาดูมัน ทำข่ายขึงไว้เหมือนจอหนัง เสร็จแล้วมันก็เก็บตัวเองเงียบอยู่ตรงกลางข่าย ไม่วิ่งไปไหน

พอมีแมลงวันหรือแมลงอื่นบินผ่านข่ายของมัน พอถูกข่ายเท่านั้น ข่ายก็สะเทือน พอข่ายสะเทือนปุ๊บ มันก็วิ่งออกจากรังทันที ไปจับตัวแมลงไว้เป็นอาหาร เสร็จแล้วมันก็เก็บตัวของมันไว้ที่กลางข่ายเหมือนเดิม ไม่ว่าจะมีผึ้งหรือแมลงอื่นใดมาถูกข่ายของมัน พอข่ายสะเทือน มันก็วิ่งออกมาจับแมลงนั้น แล้วก็กลับไปเกาะนิ่งอยู่ที่กลางข่ายไม่ให้ใครเห็นทุกทีไป

เห็นแมงมุมทำอย่างนี้ เราก็มีปัญญาแล้ว อายตนะทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใจนี้อยู่ตรงกลาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย แผ่พังพานออกไป อารมณ์นั้นเหมือนแมลงต่าง ๆ พอรูปมาก็ถึงตา เสียงมาก็ถึงหู กลิ่นมาก็ถึงจมูก รสมาก็ถึงลิ้น โผฏฐัพพะมาก็ถึงกาย ใจเป็นผู้รู้จัก มันก็สะเทือนถึงใจ แค่นี้ก็เกิดปัญญาแล้ว

เราจะอยู่ด้วยการเก็บตัวไว้ เหมือนแมงมุมที่เก็บตัวไว้ในข่ายของมันไม่ต้องไปไหน พอแมลงต่าง ๆ มันผ่านข่าย ก็ทำให้สะเทือนถึงตัว รู้สึกได้ก็ออกไปจับแมลงไว้ แล้วก็กลับอยู่ที่เดิม

ดูแมงมุมแล้วก็น้อมเข้ามาหาจิตของเรา มันก็เหมือนกันเท่านั้น ถ้าจิตเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันกว้าง ไม่เป็นเจ้าของสุข ไม่เป็นเจ้าของทุกข์อีกแล้ว ก็เห็นชัดได้อย่างนี้ มันก็ได้ความเท่านั้นแหละ จะทำอะไรอยู่ก็สบาย ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว มีแต่การภาวนาจะเจริญยิ่งขึ้นเท่านั้น

คลื่นกระทบฝั่ง

เรื่องทุกข์เรื่องไม่สบายใจนี่มันก็ไม่แน่หรอกนะ มันเป็นของไม่เที่ยง เราจับจุดนี้ไว้ เมื่ออาการเหล่านี้มันเกิดขึ้นมา เรารู้มันเดี๋ยวนี้ เราวาง กำลังอันนี้จะค่อย ๆ เห็นทีละน้อย ๆ เมื่อมันกล้าขึ้น มันข่มกิเลสได้เร็วที่สุด ต่อไปมันเกิดตรงนี้ มันดับตรงนี้ เหมือนกับน้ำทะเลที่กระทบฝั่ง เมื่อขึ้นมาถึงฝั่งมันก็ละลายเท่านั้น คลื่นใหม่มาอีก มันก็ละลายต่อไปอีก มันจะเลยฝั่งไปไม่ได้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ ฝั่งทะเลอารมณ์ทั้งหลายที่ผ่านเข้ามา มันก็เท่านั้นแหละ

เลื่อย

แต่เมื่อมันรู้เห็นหมดแล้วธรรมะก็ไม่ได้แบกเอาไปด้วยอย่างเลื่อยคันนี้ เขาจะเอาไปตัดไม้ เมื่อเขาตัดไม้หมดแล้ว อะไรก็หมดแล้ว เลื่อยก็เอาวางไว้เลย ไม่ต้องไปใช้อีก เลื่อยก็คือธรรมะ ธรรมะต้องเอาไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุมรรคผล

ถ้าหากว่ามันเสร็จแล้ว ธรรมะที่อยู่ก็วางไว้ เหมือนเลื่อยที่เขาตัดไม้ ท่อนนี้ก็ตัด ท่อนนี้ก็ตัด ตัดเสร็จแล้วก็วางไว้ที่นี่ อย่างนั้น เลื่อยก็ต้องเป็นเลื่อย ไม้ก็ต้องเป็นไม้ นี่เรียกว่าถึงหยุดแล้ว ถึงจุดของมันที่สำคัญแล้ว สิ้นการตัดไม้ ไม่ต้องตัดไม้ ตัดพอแล้ว เอาเลื่อยวางไว้

กบกินเบ็ด

สัตว์ทั้งหลายเมื่อไปติดบ่วงเข้าแล้วลำบาก มันผูกไว้ดึงไว้ รอจนเจ้าของแร้วมา เหมือนกับนกไปติดแร้วเข้า แร้วมันรัดถูกคอดิ้นไปไหนก็ไม่หลุด ดิ้นปัดไปปัดมาอย่างนั้นแหละ มันผูกไว้คอยนายพรานเจ้าของแร้ว ครั้นเจ้าของมาเห็นก็จบเรื่อง นั่นแหละพญามาร นกกลัวมาก สัตว์ทั้งหลายกลัวมาก เพราะหนีไปไหนไม่พ้น

บ่วงก็เช่นกัน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นบ่วงผูกเอาไว้ เมื่อเราติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ก็เหมือนกับปลากินเบ็ด รอให้เจ้าของเบ็ดมา ดิ้นไปไหนก็ไม่หลุด อันที่จริงแล้ว มันยิ่งกว่าปลากินเบ็ด ต้องเปรียบได้กับกบกินเบ็ดเพราะกบกินเบ็ดนั้น มันกินลงไปถึงไส้ถึงพุง แต่ปลากินเบ็ด ก็กินอยู่แค่ปาก

รูลึกหรือว่าแขนสั้น

คำสอนของพระ ตรง ง่าย แต่ยากกับคนที่จะปฏิบัติ เพราะรู้ไม่ถึง เหมือนกับรู คนตั้งร้อยพันคนโทษว่ารูมันลึก เพราะล้วงไปไม่ถึง ที่จะว่าแขนของตนสั้นไม่ค่อยมี

พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนไม่ให้ทำบาปทั้งปวง เราข้ามไปพากันทำบุญ แต่ไม่พากันละบาป ก็เท่ากับว่ารูมันลึก ที่จะว่าแขนของตนสั้นนั้นไม่มี

โฮ่ง ๆ ๆ

อาตมาเคยเห็นหมาตัวหนึ่ง เอาข้าวให้มันกิน มันกินแล้วกินไม่หมด มันก็นอนเฝ้าอยู่ตรงนั้น อิ่มจนกินไม่ได้แล้ว ก็ยังนอนเฝ้าอยู่ตรงนั้นแหละ นอนซึม ประเดี๋ยวก็ชำเลืองตาดูอาหารที่เหลือ ถ้าหมาตัวอื่นจะมากินไม่ว่าตัวเล็กตัวใหญ่ก็ขู่ โอ้!...ไก่จะมากินก็โฮ่ง ๆ ๆ ท้องจะแตกอยู่แล้ว จะให้เขากินก็ไม่ได้ หวงไว้

มาดูคนเหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักธัมมะธัมโม ก็ไม่รู้จักผู้น้อยผู้ใหญ่ ถูกกิเลสคือ โลภะ โทสะ โมหะ เข้าครอบงำจิตใจ แม้จะมีสมบัติมากมายก็หวงไว้ ไม่รู้จักเฉลี่ยเจือจาน แม้แต่จะให้ทานแก่เด็กยากจนหรือคนชราที่ไม่มีจะกินก็ยาก อาตมามาคิดดูว่า มันเหมือนสัตว์จริงหนอ คนพวกนี้ไม่มีคุณสมบัติของมนุษย์เลย พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า มนุษย์เดรัจฉาโน มนุษย์เหมือนสัตว์เดรัจฉาน เป็นอย่างนั้น เพราะขาดความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

สุนัขบนกองข้าวเปลือก

เปรียบกับสุนัขนอนอยู่บนกองข้าวเปลือก ท้องร้องจ๊อก จ๊อก มันก็นอนอยู่ จิตวิตก จะไปกินที่ไหนหนอ ท้องมันหิว ก็โจนออกไปจากกองข้าวเปลือก วิ่งไปหาเศษอาหาร

อาหารมีอยู่ แต่มันไม่รู้จัก เพราะไม่เห็นข้าว มันกินข้าวเปลือกไม่ได้ความรู้มีอยู่ ไม่ปฏิบัติก็ไม่รู้เรื่อง โง่ขนาดสุนัขมันนอนบนกองข้าวเปลือก น่าสงสาร

ข้าวสารมีอยู่แต่เปลือกมันปิด เหมือนกับวิมุตติมีอยู่แต่สมมติมันปิด

มัจจุราช-เจ้าของไก่

อยู่อย่างไก่ไม่รู้เรื่อง ตอนเช้าไก่ก็พาลูกคุ้ยเขี่ยหากินไป เย็นมาก็เข้าเล้านอน พรุ่งนี้ก็คุ้ยหากินไปอีก เจ้าของเขาโปรยข้าวให้กินทุกวัน มันก็ไม่รู้ว่าเขาเลี้ยงมันไว้ทำไม ไก่กับเจ้าของไก่มันคิดกันคนละอย่างกัน

เจ้าของก็คิดแต่ว่าไก่มันหนักกี่กิโลแล้ว ไก่ก็เพลินกับอาหาร เจ้าของอุ้มน้ำหนักก็คิดว่าเขารัก

เราเองก็ไม่รู้เรื่อง ไม่ว่ามาจากไหน จะอยู่ไปอีกกี่ปี จะไปทางไหน ใครเป็นผู้พาไป ไม่รู้เรื่อง

มัจจุราช คือความตายน่ะ เหมือนเจ้าของไก่ มัจจุราชจะตามมาถึงเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เพราะมัวแต่เพลิน เพลินกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ไม่รู้จักแก่ ไม่รู้จักพอ

หัวงู หางงู

มนุษย์เราทั้งหลายไม่ต้องการทุกข์ ต้องการแต่สุข ความจริงสุขนั้นก็คือทุกข์อย่างละเอียดนั่นเอง ส่วนทุกข์ก็คือทุกข์อย่างหยาบ พูดอย่างง่าย ๆ สุขและทุกข์นี้ก็เปรียบเหมือนงูตัวหนึ่ง ทางหัวมันเป็นทุกข์ ทางหางมันเป็นสุข เพราะถ้าลูบทางหัวมันมีพิษ ทางปากมันมีพิษ ไปใกล้ทางหัวมัน มันก็กัดเอา ไปจับหางมันก็ดูเหมือนเป็นสุข แต่ถ้าจับไม่วาง มันก็หันกลับมากัดได้เหมือนกัน เพราะทั้งหัวงูและหางงู มันก็อยู่ในงูตัวเดียวกัน

ความดีใจ ความเสียใจ มันก็เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน คือ ตัณหาความลุ่มหลงนั่นเอง ฉะนั้น บางทีเมื่อมีสุขแล้วใจก็ยังไม่สบาย ไม่สงบ ทั้งที่ได้สิ่งที่พอใจแล้ว เช่น ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ได้มาแล้วก็ดีใจก็จริง แต่มันก็ยังไม่สงบจริง ๆ เพราะยังมีความเคลือบแคลงใจว่ามันจะสูญเสียไป กลัวมันจะหายไป ความกลัวนี่แหละ เป็นต้นเหตุให้มันไม่สงบ

บางทีมันเกิดสูญเสียไปจริง ๆ ก็ยิ่งเป็นทุกข์มาก นี่หมายความว่าถึงจะสุขก็จริง แต่ก็มีทุกข์ดองอยู่ในนั้นด้วย แต่เราไม่รู้จัก เหมือนกันกับว่าเราจับงู ถึงว่าเราจับหางมันก็จริง ถ้าจับไม่วางมันก็หันกลับมากัดได้

ฉะนั้น หัวงูก็ดี หางงูก็ดี บาปก็ดี บุญก็ดี อันนี้อยู่ในวงวัฏฏะหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่ว ก็ไม่ใช่หนทาง

หมาขี้เรื้อน

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ท่านเห็นไหมว่าเมื่อตอนเย็นวันนี้ หมาป่าตัวหนึ่งมันเดินอยู่ที่นี่ เห็นไหม? มันจะยืนอยู่มันก็เป็นทุกข์ มันจะวิ่งไปมันก็เป็นทุกข์ มันจะนั่งอยู่ก็เป็นทุกข์ มันจะนอนอยู่ก็เป็นทุกข์ เข้าไปในโพรงไม้มันก็เป็นทุกข์ จะเข้าไปอยู่ในถ้ำก็ไม่สบาย มันก็เป็นทุกข์ เพราะมันเห็นว่าการยืนอยู่นี้ไม่ดี การนั่งไม่ดี การนอนไม่ดี พุ่มไม้นี้ไม่ดี โพรงไม้นี้ไม่ดี ถ้ำนี้ไม่ดี มันก็วิ่งอยู่ตลอดเวลานั้น”

“ความเป็นจริงหมาป่าตัวนั้นมันเป็นขี้เรื้อน มันไม่ใช่เป็นเพราะพุ่มไม้ หรือโพรงไม้หรือถ้ำ หรือการยืน การเดิน การนั่ง การนอน มันไม่สบายเพราะมันเป็นขี้เรื้อน”

พระภิกษุทั้งหลายนี้ก็เหมือนกัน ความไม่สบายนั้นคือ ความเห็นผิดที่มีอยู่ ไปยึดธรรมที่มีพิษไว้มันก็เดือดร้อน ไม่สำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย แล้วก็ไปโทษแต่สิ่งอื่น ไม่รู้เรื่องของเจ้าของเอง ไปอยู่วัดหนองป่าพงก็ไม่สบาย ไปอยู่อเมริกาก็ไม่สบาย ไปอยู่กรุงลอนดอนก็ไม่สบาย ไปอยู่วัดป่าบุ่งหวายก็ไม่สบาย ไปอยู่ทุก ๆ สาขาก็ไม่สบาย ที่ไหนก็ไม่สบาย

นี่ก็คือความเห็นผิดนั้นยังมีอยู่ในตัวเรานั่นเอง มีความเห็นผิด ยังไปยึดมั่นถือมั่นในธรรมอันมีพิษไว้ในใจของเราอยู่ อยู่ที่ไหนก็ไม่สบายทั้งนั้น นั่นคือเหมือนกันกับสุนัขนั้น ถ้าหากโรคเรื้อนมันหายแล้ว มันจะอยู่ที่ไหนมันก็สบาย อยู่กลางแจ้งมันก็สบาย อยู่ในป่ามันก็สบายอย่างนี้ ผมนึกอยู่บ่อย ๆ แล้วผมก็นำมาสอนพวกท่านทั้งหลายอยู่เรื่อย เพราะธรรมตรงนี้มันเป็นประโยชน์มาก

หนอน

ถ้ามีความเห็นถูกขึ้นในใจของเราแล้วอยู่ที่ไหนก็สบาย แต่เพราะเรายังมีความเห็นผิดอยู่ ยึดธรรมอันมีพิษอยู่ แล้วมันก็ไม่สบาย ที่เรายึดอยู่อย่างนี้ก็เหมือนกับตัวหนอนนั่นแหละ ที่อยู่ของมันก็สกปรก อาหารของมันก็สกปรก ที่อยู่และอาหารของมันไม่ดีทั้งนั้น ไม่สมควร แต่ว่ามันสมควรกับหนอน ลองเอาไม้ไปเขี่ยมันออกจากมูตร ออกจากคูถดูสิ ตัวหนอนนั้นมันจะดิ้นกระเสือกกระสนไปทีเดียว มันจะดิ้นมาหากองคูถอย่างเก่า มันจึงจะสบาย อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น

พระภิกษุสามเณรเราทั้งหลายนั้น ยังมีความเห็นผิดอยู่ครูบาอาจารย์มาแนะนำให้เห็นถูก มันก็ไม่สบายใจ มันวิ่งไปหากองคูถอยู่เรื่อย ๆ มันไม่สบายเพราะตรงนั้นเป็นที่อยู่ของมัน เมื่อหนอนนั้นมันยังมองไม่เห็นความสกปรกอยู่ในที่นั้น เมื่อนั้นมันก็ออกไม่ได้ พวกเราทั้งหลายก็เหมือนกันฉันนั้น ถ้าไม่เห็นโทษทั้งหลายในสิ่งเหล่านั้น มันก็ออกไม่ได้ ปฏิบัติมันก็ยากลำบาก

แม่น้ำ

เหมือนน้ำในแม่น้ำ ที่มันไหลลงไปในทางที่ลุ่ม มันก็ไหลไปตามสภาพอย่างนั้น อย่างแม่น้ำอยุธยา แม่น้ำมูล แม่น้ำอะไร ๆ ก็ตามเถอะ มันก็ต้องมีการไหลลงไปทางใต้ทั้งนั้นแหละ มันไม่ไหลขึ้นไปทางเหนือหรอก ธรรมดามันเป็นอย่างนั้น

สมมติว่าบุรุษคนหนึ่งไปยืนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ แล้วก็มองดูกระแสของแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวไปทางใต้ แต่บุรุษนั้นมีความคิดผิด อยากจะให้น้ำมันไหลขึ้นไปทางเหนือ อย่างนี้เป็นต้น เขาก็เป็นทุกข์ เขาคนนั้นจะไม่มีความสงบเลย ถึงแม้จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน เขาก็ไม่มีความสงบ เพราะอะไรล่ะ เพราะบุรุษนั้นคิดผิด

ยา

เปรียบเหมือนหมอยายื่นขวดยาให้คนไข้ ข้างนอกขวด เขาเขียนบอกสรรพคุณของยาไว้ว่าแก้โรคชนิดนั้น ๆ ส่วนตัวยาแก้โรคนั้นอยู่ข้างในขวด คนไข้มัวอ่านสรรพคุณของยาที่ติดไว้ข้างนอกขวด อ่านไปตั้งร้อยครั้ง พันครั้ง คนไข้ผู้นั้นจะต้องตายเปล่าโดยไม่ได้รับประโยชน์จากตัวยานั้นเลย แล้วเขาจะมาตีโพยตีพายว่าหมอไม่ดี ยาไม่มีสรรพคุณ แก้โรคไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่เคยเปิดจุดขวดกินยานั้นเลย

เป็ดกับไก่

คนสองคนเห็นเป็ดตัวหนึ่ง ไก่ตัวหนึ่ง คนหนึ่งคิดอยากจะให้ไก่เป็นเป็ด เป็ดเป็นไก่ มันก็เป็นไปไม่ได้ ในชั่วชีวิตหนึ่งมันก็ไม่เป็นให้ ถ้าคนนี้คิดอย่างนี้ไม่หยุดก็ต้องทุกข์ คนที่สองเห็นเป็ดก็เป็นเป็ด ไก่ก็เป็นไก่ นั่นแหละ ปัญหาไม่มีเห็นถูกแล้วไม่ทุกข์ อย่างนี้ก็เหมือนกัน

อนิจจังเป็นของไม่เที่ยง อยากให้มันเที่ยง เมื่อมันไม่เที่ยงเมื่อไร ก็เสียใจเมื่อนั้น ถ้าใครเห็นว่าอนิจจังเป็นของไม่เที่ยงอย่างนั้น คนนั้นก็สบาย ไม่มีปัญหา

ตั้งแต่วันที่เราเกิดมา เราเดินหนีจากความจริง ไม่อยากจะให้เป็นอย่างนี้ ห้ามมันก็ไม่ได้ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ จะให้เป็นอย่างอื่นมันก็เป็นไม่ได้ เหมือนกับเป็ดจะให้มันเหมือนไก่ มันก็ไม่เหมือน เพราะมันเป็นเป็ด ไก่จะให้เหมือนเป็ด ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นไก่ ถ้าใครคิดก็ทุกข์ ถ้าคิดว่า “เออ! มันก็เป็นของมันอย่างนั้น” คิดเช่นนี้เราจะมีกำลัง เพราะสกนธ์ร่างกายนี้จะให้มันยืนนานถาวรไปเท่าไร ๆ ก็ไม่ได้

ถ้วยน้ำสกปรก

ทิฏฐิ คือ ความเห็นและความนึกคิดเกี่ยวกับสิ่งทั้งปวง เกี่ยวกับตัวเขาเอง เกี่ยวกับการปฏิบัติภาวนา เกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธเจ้า หลาย ๆ ท่านที่มาที่นี่ มีตำแหน่งการงานสูงในสังคม บางคนเป็นพ่อค้าที่มั่งคั่ง หรือได้ปริญญาต่าง ๆ ครูและข้าราชการ สมองของเขาเต็มไปด้วยความคิดเห็นต่อสิ่งต่าง ๆ เขาฉลาดเกินกว่าที่จะฟังผู้อื่น

เปรียบเหมือนน้ำในถ้วย ถ้าถ้วยมีน้ำสกปรกอยู่เต็ม ถ้วยนั้นก็ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ เมื่อได้เทน้ำเก่านั้นทิ้งไปแล้วเท่านั้น ถ้วยนั้นก็จะใช้ประโยชน์ได้ ท่านต้องทำจิตให้ว่างจากทิฏฐิ แล้วท่านจึงจะได้เรียนรู้ การปฏิบัติของเรานั้นก้าวเลยความฉลาดหรือความโง่ ถ้าท่านคิดว่า 'ฉันเก่ง ฉันรวย ฉันเป็นคนใหญ่คนโต ฉันเข้าใจพระพุทธศาสนาแจ่มแจ้งทั้งหมด' เช่นนี้แล้ว

ท่านจะไม่เห็นความจริงในเรื่องของอนัตตาหรือความไม่ใช่ตัวตน ท่านจะมีแต่ตัวตน ตัวฉัน ของฉัน แต่พระพุทธศาสนาคือการละตัวตน เป็นความว่าง เป็นความไม่มีทุกข์ เป็นความดับสนิท คือ นิพพาน

สอยมะม่วง

มะม่วงมันอยู่สูงหัวเมตร เราอยากได้ เอาไม้สิบเมตรมาสอยไม่ได้ มันยาวเกินไป เอาไม้สองเมตรมาสอยมันก็ไม่ได้ ไม่พอดี มันสั้นเกินไป เราอย่าเข้าใจว่าคนจบดอกเตอร์มาปฏิบัติสบายเหลือเกิน เพราะเรียนรู้มาพอแล้ว อย่าเข้าใจอย่างนั้น ดอกเตอร์มันยาวเกินไปก็ได้

เกลือไม่เค็ม

พระรูปหนึ่งบอกว่าเป็นนักปฏิบัติ เมื่อมาขออยู่กับอาตมา ถามถึงระเบียบปฏิบัติ อาตมาจึงอธิบายให้ฟังว่า “เมื่อมาอยู่กับผม จะสะสมเงินทองและสิ่งของไม่ได้ ผมถือตามวินัย”

ท่านพูดว่า “ท่านปฏิบัติไม่ยึดไม่หมาย”

อาตมาบอกว่า “ผมไม่ทราบกับท่าน”

ท่านเลยถามว่า “ถ้าผมจะใช้เงินทอง แต่ไม่ยึดไม่หมายจะได้ไหม”

อาตมาตอบว่า “ได้ ถ้าท่านเอาเกลือมากินดูแล้วไม่เค็มก็ใช้ได้ ท่านจะพูดเอาเฉย ๆ เพราะท่านขี้เกียจรักษาของจุก ๆ จิก ๆ นี่มันยาก เมื่อเอาเกลือมากินท่านไม่เค็มแล้ว ผมจึงเชื่อ ถ้ามันไม่เค็มจะเอามาให้กินสักกะทอ (เข่งเล็ก) ลองดู มันจะไม่เค็มจริง ๆ หรือ เรื่องไม่ยึดไม่หมายนี้ ไม่ใช่เรื่องพูดเอง คาดคะเนเอา ไม่ใช่ ถ้าท่านพูดอย่างนี้อยู่กับผมไม่ได้”

ท่านจึงลาไป

ทางเปลี่ยว

อะไรทุกอย่าง ถ้าไม่มีเหตุผลเพียงพอในใจของเราเอง ก็ยังไม่ปล่อยวาง คือว่า มีสองข้าง นี่ข้างหนึ่ง นี่ก็ข้างหนึ่ง คนเรานั้นจะแอบเดินมาข้างนี้หรือแอบเดินไปข้างนั้น ที่เดินไปกลาง ๆ ไม่ค่อยเดินหรอก มันเป็นทางเปลี่ยว เดี๋ยวรักก็ไปทางรัก พอชังก็ไปทางชัง จะปล่อยการรักการชังนี้ไป มันเป็นทางเปลี่ยว มันไม่ยอมไป

หนาม

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันมิได้ให้ทุกข์แก่เรา เช่นเดียวกับหนาม หนามที่แหลม ๆ มันให้ทุกข์แก่เราไหม? เปล่า มันเป็นหนามอยู่อย่างนั้น มิได้ให้ทุกข์แก่ผู้ใด ถ้าเราไปเหยียบมันเข้าก็ทุกข์ทันที

ทำไมจึงเป็นทุกข์ เพราะไปเหยียบมัน จึงว่าเป็นเพราะเรา

แบกก้อนหิน

“การปล่อยวาง” ความจริงมันหมายความอย่างนี้ อุปมาเหมือนเราแบกก้อนหินหนักอยู่ก้อนหนึ่ง แบกไปก็รู้สึกหนัก แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรกับมัน ก็ได้แต่แบกอยู่นั่นแหละ พอมีใครบอกว่าให้โยนมันทิ้งเสียซิ ก็มาคิดอีกแหละว่า เอ๊ะ! ถ้าเราโยนมันทิ้งเสียแล้ว เราก็ไม่มีอะไรเหลือน่ะซิ ก็เลยแบกอยู่นั่นแหละ ไม่ยอมทิ้ง

ถึงจะมีใครบอกว่า โยนทิ้งไปเถอะ แล้วจะดีอย่างนั้น เป็นประโยชน์อย่างนี้ เราก็ยังไม่ยอมโยนทิ้งอยู่นั่นแหละเพราะกลัวแต่ว่าจะไม่มีอะไรเหลือ ก็เลยแบกก้อนหินหนักไว้ จนเหนื่อยอ่อนเพลียเต็มทีจนแบกไม่ไหวแล้ว ก็เลยปล่อยมันตกลง

ตอนที่ปล่อยมันตกลงนี่แหละ ก็จะเกิดความรู้เรื่อง การปล่อยวาง ขึ้นมาเลย เราจะรู้สึกสบาย แล้วก็รู้สึกได้ด้วยตนเองว่า การแบกก้อนหินนั้นมันหนักเพียงใด แต่ตอนที่เราแบกอยู่นั้น เราไม่รู้หรอกว่า การปล่อยวาง มันมีประโยชน์เพียงใด

เสี้ยน

พระพุทธองค์ทรงให้หนีด้วยปัญญา เปรียบประหนึ่งว่า เรามีเสี้ยนหรือหนามน้อย ๆ ตำเท้าเราอยู่ เดินไปปวดบ้าง หายปวดบ้าง บางทีก็เดินไปสะดุดหัวตอเข้า ปวดขึ้นมาก็คลำดู คลำไปคลำมาไม่เห็นเลยขี้เกียจดูมันก็ปล่อยมันไป ต่อไป เดินไปถูกปุ่มอะไรขึ้นมาก็ปวดอีก มันเป็นอย่างนี้เรื่อยไป เพราะอะไรนะ

เพราะเสี้ยนหรือหนามนั้นมันยังอยู่ในเท้าเรา ยังไม่ออก ความเจ็บความปวดมันก็เป็นอยู่อย่างนั้น เมื่อมันปวดมา ก็คลำหามัน ไม่เห็นก็ปล่อยไป นาน ๆ เจ็บอีกก็คลำอีก อยู่อย่างนั้นเรื่อย ๆ ทุกข์ที่เกิดขึ้นมานั้นนะ เราต้องกำหนดรู้มัน ไม่ต้องปล่อยมันไป เมื่อมันเจ็บปวดขึ้นมา “เออ ไอ้หนามนี่มันยังอยู่นี่นะ”

เมื่อความเจ็บปวดเกิดขึ้น ความคิดที่ว่าจะเอาหนามออกจากเท้าเราก็มีพร้อมกันมา ถ้าเราไม่เอามันออก ความเจ็บปวดมันก็เกิดขึ้น เดี๋ยวก็เจ็บ เดี๋ยวก็เจ็บ อยู่อย่างนี้ ความสนใจที่จะเอาหนามออกจากเท้าเรามันมีอยู่ตลอดเวลา ผลที่สุดวันหนึ่งต้องตั้งใจเอาหนามออกให้ได้ เพราะมันไม่สบาย อันนี้เรียกว่าการปรารภความเพียรของเราต้องเป็นอย่างนั้น มันขัดตรงไหน มันไม่สบายตรงไหน ก็ต้องพิจารณาที่ตรงนั้น แก้ไขที่ตรงนั้น แก้ไขหนามที่มันยอกเท้าเรานั่นแหละ งัดมันออกเสีย

สุ่มปลา

ยังไม่เห็นโทษพอที่จะละมัน ไม่เห็นอานิสงส์ที่จะเกิดขึ้นมาได้ การงานอันนั้นจึงไม่สำเร็จประโยชน์ เอาเล็บเขี่ยเล่นอยู่เฉย ๆ ถ้าเราเห็นโทษของมันอย่างชัดเจน เออ! เช่นคุณไปสุ่มปลา สุ่มไปเถอะ รู้สึกว่ามีอะไรอยู่ในสุ่มของเรา มันดังคึ่กคั่ก ๆ เรานึกว่าปลา เอามือล้วงลงไป ไปเจอสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่มันอยู่ในน้ำ ตาไม่เห็น

แต่มีความรู้สึกในใจของเรานึกว่าเป็นปลาไหลบ้าง นึกว่าเป็นงูบ้างนะ จะทิ้งมันก็เสียดายมัน หากว่ามันเป็นปลาไหลแล้วก็เสียดาย จะจับไว้ถ้าหากว่ามันเป็นงูมันก็จะกัดเอา นี่เข้าใจไหม สงสัยอยู่ไม่ชัดเจน ไอ้ความอยากนี่มันมากอุตสาห์จับไว้ เผื่อมันจะเป็นปลาไหลนะ พอโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำ เห็นแสกคอมันลาย วางเลยไม่มีใครมาบอกว่า “อันนั้นงู วาง ๆ ”

ไม่มีใครบอกหรอก มันบอกมันเอง ยิ่งชัดกว่าเราบอกเสียด้วย เพราะอะไร เพราะเห็นโทษว่างูมันกัดเป็น ใครจะไปบอกมัน จิตนี้ ถ้าเราฝึกมันแล้ว รู้เช่นนั้นแล้ว มันไม่เอาหรอก

แมว

กิเลสนี่เหมือนแมว ถ้าให้กินตามใจ มันก็ยิ่งมาเรื่อย ๆ แต่มีวันหนึ่ง มันข่วนนะถ้าเราไม่ให้อาหารมัน ไม่ต้องให้อาหารมัน มันจะมาร้องแงว ๆ อยู่ เราไม่ให้อาหารมันสักวัน หนึ่ง สองวัน เท่านั้นก็ไม่เห็นมันมาแล้ว เหมือนกันแหละ กิเลสไม่มากวนเรา เราก็จะได้สงบใจต่อไป

กระโถน

เรื่องที่เป็นอนัตตาอันนั้น อนัตตานี้พูดศัพท์ง่าย ๆ ก็เรียกว่า ของไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แต่ว่ามันอาศัยอาการตัวตนอยู่ อาศัยอาการของอัตตาอยู่ อนัตตานั้นจึงมี เป็นอนัตตาที่ถูกต้องด้วย ถ้าอัตตานี้ไม่มีแล้ว อนัตตาก็ไม่ปรากฏขึ้นมา เช่นว่า คุณหมอไม่มีกระโถนใบนี้อยู่ในบ้าน เรื่องของกระโถนใบนี้ก็ไม่กวนกับคุณหมอเลย มันจะแตกมันจะร้าวหรือขโมยมันจะขโมยไปอย่างนี้ก็ไม่มีมากวนจิตใจของคุณหมอเลย เพราะมันไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย คืออะไร? ก็คือว่ากระโถนไม่มีในบ้านเรา

ถ้าหากมีกระโถนขึ้นมาในบ้านเรา มันก็เป็นตัวอัตตาขึ้นมาแล้ว เมื่อกระโถนมันแตกมันก็กระทบ เมื่อกระโถนมันหาย มันก็กระทบ เพราะกระโถนนี้มีเจ้าของแล้ว อันนี้เรียกว่า อัตตา มันมีสภาวะอยู่อย่างนี้ ส่วนสภาวะที่ว่า อนัตตา นั้น คือ สภาวะที่ว่ากระโถนในบ้านเราไม่มี จะกลัวขโมยมันจะขโมยไปมันก็ไม่มีอันนั้นมันหมดสภาวะแล้ว เรียกว่า สภาวะธรรม มันมีสภาวะ มีเหตุ มีปัจจัย แต่เพียงมันยังเหลืออยู่เท่านั้น

คณิตศาสตร์

ดังนั้นก็สร้างบุญไปด้วย ก็พิจารณาไปด้วย คือกุศล คือปัญญานะ เพื่อจะทำลาย คล้าย ๆ กับวิธีเลขนะ มันมีคูณ มันมีบวก มันมีลบ มันมีหาร มันจึงจะได้จำนวนตามที่เราชอบใจ อันนี้เราไม่เอายังงั้นซิ เอาแต่วิธีคูณอย่างเดียวไม่มีที่ใส่วิธีคูณกับวิธีบวกกันเข้าไปเรื่อย ๆ วิธีลบไม่มี วิธีแบ่งก็ไม่ค่อยจะมีซะด้วยนะ ถ้ามีวิธีแบ่ง มันก็เบา มีวิธีลบมันก็เบาซิ มันมีวิธีบวกกับวิธีคูณมันก็ยิ่งไปกันใหญ่เท่านั้นแหละ

เกลือ

ถ้าทำบุญเพื่อบรรเทาทุกข์ มันต้องทำบุญด้วย ทำกุศลธรรมด้วย ถ้าไม่เอากุศลธรรมก็ไม่มีปัญญา บุญอย่างเดียวเหมือนเนื้อกับปลาสด ๆ เอาทิ้งไว้เฉย ๆ มันก็เท่านั้นแหละ อาศัยเกลือเป็นอยู่เนื้อหรือปลาจึงมีอายุได้นาน หรือเอาเข้าตู้เย็นเสียอย่างนี้

กะละมังคว่ำ

เมื่อเราละบาปแล้ว บำเพ็ญบุญเพิ่มเข้ามาทีละน้อย ก็มีหวังที่บารมีจะเต็มได้เหมือนกะละมังที่ตั้งหงายอยู่กลางแจ้ง แม้ฝนจะตกมาใส่ทีละหยด ๆ มันก็มีโอกาสที่จะเต็มได้

เมื่อเราทำบุญ แต่ยังไม่ละบาป ก็เหมือนกับเราเอากะละมังไปคว่ำไว้กลางแจ้ง ฝนตกลงมาถูกก้นกะละมังเหมือนกัน แต่มันถูกข้างนอก ไม่ถูกข้างใน น้ำก็ไม่มีโอกาสที่จะเต็มกะละมังนั้นได้

กะละมังรั่ว

การทำบาป แล้วบำเพ็ญบุญปิดช่องมันเสีย ก็เหมือนกับหม้อมันรั่ว ปิดช่องมันรั่ว แล้วเทน้ำใส่กะละมังรั่วก็อุดรูรั่วมัน แล้วเทน้ำใส่ เรียกว่าก้นกระทะไม่ดี ก้นหม้อไม่ดี การละบาปของเรายังไม่ดี ทำบุญลงไป มันก็ยังรั่ว เทน้ำใส่ลงไปมันก็ยังรั่วออกไปหมด จะเทใส่ลงไปทั้งวัน มันก็ซึมรั่วออกไปทีละน้อย น้ำก็เหือดแห้งไปหมด ไม่สำเร็จประโยชน์สมความต้องการของเราได้

แม่พิมพ์

ครูเป็นแบบพิมพ์ แม่พิมพ์ของคน ควรจะหันมาหาธรรมะ มาปฏิบัติธรรม ประพฤติปฏิบัติตัวให้เป็นแบบอย่างของคนทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่พิมพ์สำหรับพิมพ์พระใครเคยเห็นไหม พิมพ์เดียวเท่านั้นแหละ เขาทำอย่างดีเลย เขาแกะหน้าตาคิ้วคางให้ดี ไม่ให้บิดเบี้ยว ไม่ให้เว้าแหว่ง เพื่อจะอัดพระพิมพ์ให้เป็นรูปงาม เมื่ออัดมาก็งามจริง ๆ เพราะพิมพ์ดีเพียงพิมพ์เดียว นี้ฉันใด

ครูซึ่งเป็นแม่พิมพ์ของศิษย์และผู้คนทั้งหลายนั้นก็เหมือนกันฉันนั้น จำเป็นจะต้องทำตนให้งามอยู่ด้วยคุณธรรมของความเป็นครูเป็นอาจารย์ ควรประพฤติตนให้อยู่ในระเบียบวินัย และร่องรอยของผู้นำทางอยู่เสมอ สิ่งชั่วช้ามัวเมาควรละออกไปให้หมด จรรโลงศีลธรรมให้สูงกลับคืนมา ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก ๆ

เถาวัลย์

เด็กนั้นก็เหมือนกับเถาวัลย์นั่นแหละ เมื่อเถาวัลย์เกิดขึ้น ณ ที่ใด มันจะต้องหาต้นไม้ที่จะเลื้อยขึ้นเสมอ ในเมื่อต้นไม้ต้นหนึ่งอยู่ใกล้ ๑๕ เซ็นติเมตร ถ้าอีกต้นหนึ่งอยู่ห่าง ๑๐ เมตร คุณว่ามันจะเลื้อยขึ้นต้นไหน มันก็จะเลื้อยขึ้นต้นที่อยู่ใกล้ที่สุดนั่นแหละ ต้นที่อยู่ห่าง ๑๐ เมตรโน่น มันคงไม่เลื้อยไปหรอก เพราะมันไกลเกินไป

ฉะนั้นครูเป็นผู้ที่ใกล้ชิดของเด็ก ๆ ทั้งหลายนั่นเองแหละเป็นผู้ที่เด็ก ๆ ทั้งหลายจะถือเอาเป็นแบบอย่าง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการประพฤติจรรยามารยาท เครื่องละเว้นเครื่องบำเพ็ญในเด็กดู อย่าสอนเขาแต่ปาก การยืน การเดิน การนั่ง การเคลื่อนไหว การพูดจาอะไรทุกอย่าง เราต้องทำให้เป็นการสอนเขาทั้งนั้น เด็ก ๆ เขาจะทำตาม เพราะเด็กนั้นไว เขาไวกว่าผู้ใหญ่

พันธุ์ผลไม้

อาตมายินดีเมื่อเห็นชาวกรุงลอนดอนเหมือนเห็นพี่น้อง จะเปรียบให้ฟังว่าดินก็ดี พันธุ์ผลไม้ก็ดี แต่ไม่มีใครมาปลูก มาทำสวน อย่างนั้นแหละ ปฏิรูปเทสพอสมควร จิตใจคนก็ดี สถานที่ก็ดี ดินฟ้าอากาศก็ดี สมบูรณ์บริบูรณ์ทั้งหมด แต่ว่าไม่มีใครมาสั่งสอน ประกาศพุทธศาสนาให้เข้าใจ มีความสุขยิ่งไปกว่านี้ เหมือนพันธุ์ผลไม้ก็ดี ดินก็ดี แต่ไม่มีใครมาปลูก อาตมารู้สึกอย่างนั้น...ดีไหม โยมจะเอาพระมาประกาศพระพุทธศาสนาที่นี่ ดีไหม?

แก้วแตก

โยมว่า “อย่ามาทำแก้วฉันแตกนะ” ของมันแตกได้ โยมจะไปห้ามมันไม่ได้ ไม่แตกเวลานี้ ต่อไปมันจะแตกเราไม่ทำแตก คนอื่นจะทำแตก คนอื่นไม่ทำแตก ไก่มันจะทำแตก พระพุทธเจ้าท่านให้ยอมรับ ท่านมองทะลุไปว่า แก้วใบนี้แตกแล้ว แก้วที่ไม่แตกนี้ ท่านให้รู้ว่ามันแตกแล้ว จับทุกทีใส่น้ำดื่มเข้าไปแล้ววางไว้ ท่านก็ให้เห็นว่าแก้วมันแตกแล้ว เข้าใจไหม นี่คือความเข้าใจของท่านเป็นอย่างนั้น เห็นแก้วที่แตกอยู่ในแก้วใบที่ไม่แตก เพราะเมื่อมันหมดสภาพแล้ว ไม่ดีเมื่อไรมันก็จะแตกเมื่อนั้น ทำความรู้สึกอย่างนี้แล้ว ก็ใช้แก้วใบนี้ไป รักษาไป

อีกวันหนึ่ง พอมันหลุดมือแตก “ผัวะ” สบายไปเลย ทำไมสบาย เพราะเห็นว่ามันแตกก่อนแตกแล้ว เห็นไหม แต่ถ้าเป็นโยม “แหม ฉันถนอมมันเหลือเกิน อย่าทำให้มันแตกนะ” อีกวันหนึ่งสุนัขทำแก้วแตก เกลียดสุนัข ถ้าลูกทำแตกก็เกลียดลูก เกลียดทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้แก้วแตก เพราะเราไปกั้นฝายไว้ไม่ให้น้ำไหลออกไป กั้นไว้อย่างเดียว ไม่มีทางระบายน้ำ ฝายมันก็แตกเท่านั้นแหละใช่ไหม ต้องทำฝายแล้วทำทางระบายน้ำด้วย พอน้ำได้ระดับแค่นี้ ก็ระบายน้ำข้าง ๆ นี่ เมื่อมันเต็มที่ก็ให้มันออกข้างนี้ ท่านเห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยงอยู่อย่างนั้น นั่นแหละเป็นทางระบายของท่าน อย่างนี้โยมจะสงบ นี่คือการปฏิบัติธรรมะ

อัดเทปภายใน

คำสอนที่ผมขอมอบให้ในวันนี้ ถ้าการฟังธรรมทำให้ใจว่างสงบ ก็ดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องจดจำอะไร บางท่านอาจจะไม่เชื่อ ถ้าเราทำใจให้สงบ ฟังแล้วก็ให้ผ่านไป แต่นำมาพิจารณาอยู่เรื่อย ๆ อย่างนี้ เราก็เหมือนเครื่องบันทึกเสียง เมื่อเราเปิดมัน มันก็อยู่ตรงนั้น อย่ากลัวว่าจะไม่มีอะไร เมื่อใดที่ท่านเปิดเครื่องบันทึกเสียงของท่าน ทุกอย่างก็อยู่ในนั้น

เทปภายนอกนี่มันเสื่อมได้ ซื้อมาแล้วมันก็เสื่อมได้ เทปภายในของเรานั่นน่ะ เมื่อมันถึงใจแล้ว มันดีเหลือเกินนะโยม มันมีอยู่ตลอดเวลา ไม่เปลืองถ่าน

ลูกโป่ง

ในครั้งพุทธกาล นั่งฟังธรรม บรรลุธรรมถึงขั้นที่สุด ในขณะที่นั่งฟังอยู่ก็มี มันเร็ว คล้ายกับลูกโป่ง ลมที่อยู่ในลูกโป่ง มันมีพลังที่จะดันออกมา พอเอาเข็มหมุดไปแทงนิดเดียวเท่านั้น ลมก็ฟื้ออกไปเลย

อันนี้ก็ฉันนั้น พอได้ฟังธรรมถูกจริต มันพลิกความเห็นอย่างนั้นมาเป็นอย่างนี้ ก็บรรลุธรรมอย่างแท้จริงได้

อย่าให้อายวัว

วัวที่มันลากเกวียนบรรทุกของมาจากทางไกลน่ะ ยิ่งตะวันบ่ายคล้อยต่ำค่ำลงวัวมันก็เร่งฝีเท้ากระชั้นเข้าทุกครั้ง เพราะมันอยากจะให้ถึงที่เร็วๆ มันคิดถึงบ้าน

คนเรายิ่งแก่ ยิ่งเจ็บไข้ ใกล้ความตาย ก็เป็นตอนที่จะต้องปฏิบัติภาวนาละ จะเอาความแก่ ความเจ็บ มาเป็นข้ออ้าง มันก็จะแย่กว่าวัวเท่านั้นแหละ

อาจารย์ใจ

เราทุก ๆ คนนี้ก็เหมือนกัน ไม่ได้เป็นอย่างอื่นหรอก ทุกวันนี้ก็ไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์ เพราะจะตรัสรู้ธรรม ใจน่ะ มันต้องสอนตัวเอง ถ้าไม่สอนตัวเองให้ผู้อื่นไปสอนปานใด มันก็ไม่ฟัง มันไม่รู้จัก ถ้าใจไม่สอน ใจนั่นแหละเป็นครู ใจนั่นแหละเป็นอาจารย์

คนเราไม่เห็นตัวเองง่าย ๆ ไม่เห็น มันยาก เห็นตัวเองเห็นยาก ให้พากันคิดสักหน่อย ทำมาแล้ว ทุก ๆ คนเคยทำบาปมา เมื่อแก่เฒ่ามาแล้วก็ควรพากันหยุด ให้มันเบาบางลงไป ให้มันน้อยลงไป ถอยลงไป มันไม่มีอะไรหรอก มีเท่านี้แหละ ให้เข้าหาศีลธรรม

น้ำมันกับน้ำ

น้ำมันกับน้ำท่ามันต่างกัน เหมือนกับคนฉลาดก็ต่างกับคนโง่ พระพุทธเจ้าก็ทรงอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แต่พระองค์ทรงเป็นพระอรหันต์ พระองค์จึงทรงเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสิ่ง สักว่า เท่านั้น

พระองค์ทรงปล่อยวางมันไปเรื่อย ตั้งแต่ทรงเข้าพระทัยแล้วว่า ใจก็สักว่าใจ ความคิดก็สักว่าความคิดพระองค์ไม่ทรงเอามันมาปนกัน

ถ้าคิดได้ รู้สึกได้อย่างนี้ เราก็จะแยกมันได้ ความคิด ความรู้สึก อยู่ทางหนึ่ง ใจก็อยู่อีกทางหนึ่ง เหมือนกับน้ำมัน กับน้ำท่าอยู่ในขวดเดียวกัน แต่มันแยกกันอยู่

พระสมมติ - พระแท้

เมื่อบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาแล้ว สมมติว่าเป็นพระ ยังไม่ได้เป็นพระแท้นะ คือ เป็นพระเฉพาะกายโกนผมห่มเหลือง เท่านี้แหละ จึงเป็นพระโดยสมมติ

เหมือนกับการที่เขาเอาไม้มาแกะสลัก หรือเอาปูนมาปั้น หรือเอาทองมาหล่อมาหลอมขึ้น เป็นพระพุทธเจ้าโดยสมมติ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าแท้

ผู้ที่ยังเป็นพระสมมติ คือยังอาศัยความโลภ ความโกรธ ความหลงนั่นแหละเป็นอยู่ในใจ มันกั้นกลางเราไว้ในภพชาติทั้งหลาย ให้ถึงความสงบไม่ได้ ก็เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้าเอาโลภ โกรธ หลง ออกจากใจแล้ว มันจะถึงความบริสุทธิ์ ถึงความเป็นพระแท้ ซึ่งจะเป็นพระขึ้นในใจได้เท่านั้น

จากคุณ : mayrin [ 6 พ.ย. 2546 ]