#echo banner="" การปฏิบัติในป่าช้า หลวงพ่อชา/

หลวงพ่อชากับการปฏิบัติในป่าช้า

พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)

วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี

โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 003634 โดยคุณ : แย้มกะลา [ 1 พ.ย. 2544 ]

เนื้อความ :

จากเรื่อง “ใต้ร่มโพธิญาณ” ซึ่งเป็นประวัติของหลวงพ่อชา สุภัทโทครับ อ่านแล้วประทับใจ เลยคัดมาฝากครับ

จากคุณ : แย้มกะลา [ 1 พ.ย. 2544 ]

 

วันหนึ่งหลวงพ่อชากับคณะเดินทางถึงวัดโปร่งคลอง ซึ่งเป็นสำนักของพระอาจารย์คำดี ขณะนั้นเป็นฤดูแล้ง พื้นดินแห้ง เหมาะแก่การพักตามโคนไม้ พระบางรูปในสำนักจึงไปอยู่ป่าช้า เพื่อฝึกฝนตนเอง หลวงพ่อเกิดความสนใจ ใคร่จะศึกษาดูว่า การอยู่ป่าช้าจะช่วยขัดเกลากิเลสได้อย่างไร หลวงพ่อเล่าถึงประสบการณ์ที่ป่าช้าในครั้งนั้นว่า

“...วันนั้นตอนบ่ายๆ ตั้งใจว่าคืนนี้จะไปภาวนาในป่าช้า พอจะไปจริงๆ ใจชักไม่อยากไปซะแล้ว ก็บังคับมัน คิดว่าถ้าจะตายก็ยอมตาย เพราะมันลำบากนัก มันโง่นัก พูดในใจอย่างนี้

พอไปถึงป่าช้า ปะขาวแก้วจะมาพักใกล้ๆ ก็ไม่ยอม ให้ไปอยู่ไกลๆ โน่น ความจริงแล้ว อยากให้มาอยู่ใกล้ๆ เป็นเพื่อนกัน แต่ไม่เอา เดี๋ยวตัวเองจะอาศัยเขา กลัวนักก็ให้มันตายเสียในคืนนี้

พอค่ำลง เขาหามศพมาฝังพอดี ทำไมถึงเหมาะเจาะอย่างนี้ คิดอยากจะหนี เขานิมนต์ให้สวดมาติกา ก็ไม่เอา เดินหนีไป มันกลัว เดินก็แทบไม่รู้สึกว่าเท้าแตะดิน สักพักก็เดินกลับมา เขาเอาศพฝังไว้ใกล้ๆ แล้วยังเอาไม้ไผ่ที่หามศพมาทำเป็นร้านให้นั่ง จะทำอย่างไรดี หมู่บ้านกับป่าช้าก็ไม่ใช่ใกล้ๆ กัน ห่างกันตั้งสองสามกิโล

พอตะวันตกดิน ใจหนึ่งก็บอกให้เข้าไปอยู่แต่ในกลดท่าเดียว จะเดินไปหาหลุมศพ ก็เหมือนมีอะไรมาดึงขาเอาไว้ ความรู้สึกกลัวกับกล้ามันฉุดรั้งกันอยู่

พอมืดสนิทจริงๆ ก็มุดเข้ากลดทันที รู้สึกเหมือนมีกำแพงเจ็ดชั้น เห็นบาตรตั้งอยู่ข้างๆ ก็รู้สึกดีใจ ได้อาศัยบาตรเป็นเพื่อนนั่งอยู่ในกลดทั้งคืน ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย นั่งเงียบอยู่ จะง่วงก็ไม่ง่วง มันกลัว ทั้งกลัวทั้งกล้า นั่งอยู่อย่างนั้นตลอดทั้งคืนเลย

พอสว่างขึ้น ก็รู้สึกว่า เรารอดตายแล้ว ดีใจจริง ๆ ภายในใจเราอยากให้มีแต่กลางวันเท่านั้น ไม่อยากให้มีเวลากลางคืนเลย อยากฆ่ากลางคืนทิ้ง มันจะได้มีแต่กลางวัน

ตอนเช้า ไปบิณฑบาตคนเดียว หมาวิ่งตามหลังมาจะกัด แต่ก็ไม่ไล่ จะกัดก็กัดไปเลย ให้มันกัดให้ตายซะ หมาก็งับผิดงับถูก โยมชาวภูไท ไม่รู้จักไล่หมา เขาว่าผีมันมากับพระ หมาจึงได้เห่าได้กัด เขาจึงไม่ไล่มัน ช่างมัน! เมื่อคืนนี้ก็กลัวจนเกือบตายทีหนึ่งแล้ว ตอนเช้านี้หมาจะกัด ก็เลยปล่อยให้มันกัดซะ ถ้าหากว่าแต่ก่อนเราเคยกัดมัน ก็ปล่อยให้มันกัดคืนซะ แต่มันก็งับผิดงับถูกอยู่อย่างนั้น

บิณฑบาตกลับมา ก็ฉัน พอฉันเสร็จ แดดออกมาบ้าง รู้สึกอบอุ่น ได้เดินจงกรมและพักผ่อนเอาแรงบ้าง คืนนี้จะได้ภาวนาให้เต็มที่ คงไม่มีอะไรน่ากลัว เพราะได้ทดลองมาคืนหนึ่งแล้ว

พอบ่ายๆ ชาวบ้านหามศพมาอีกแล้ว เป็นผู้ใหญ่เสียด้วย เขาเอามาเผาไว้ใกล้ๆ ด้านหน้ากลด แล้วก็กลับบ้านกันหมด

ช่วงหัวค่ำ ศพที่ถูกเผามีกลิ่นเหม็นตลบอบอวล จะเดินจงกรม ไปข้างหน้าก็ก้าวไม่ออก ที่สุดเลยเข้าไปในกลด นั่งหันหลังให้กองไฟ ไม่คิดอยากนอนเลย ตาตื่นแข็งอยู่อย่างนั้น

ตกดึกประมาณสี่ทุ่ม มีเสียงอยู่ข้างหลังในกองไฟ ดังเหมือนโลงตกลงมา หรือหมาจิ้งจอกมากินซากศพ แต่ฟังอีกที เหมือนเสียงควายดังครืดคราดๆ พอสักพัก มีเสียงเหมือนคนเดินเข้ามาหาทางด้านหลัง เดินหนักเหมือนควาย แต่ไม่ใช่ แต่จะเข้ามาก็ไม่เข้า เดินโครมๆ ออกไปทางปะขาวแก้ว

นานประมาณครึ่งชั่วโมง เดินกลับมาอีกแล้ว เหมือนคนเดินจริงๆ ตรงดิ่งเข้ามาเหมือนจะเหยียบเราอย่างนั้นแหละ หลับตาสนิท ไม่ยอมลืมตา ให้มันตายทั้งหลับตานี่แหละ มันมาถึงใกล้ๆ หยุดกึก! ยืนนิ่งอยู่เงียบๆ ข้างหน้ากลด รู้สึกเหมือนกับว่า มันเอามือที่ถูกไฟไหม้ คว้าไปมาอยู่ข้างหน้า

ตายคราวนี้ละ! พุทโธ ธัมโม สังโฆ ลืมหมด มีแต่ความกลัวอย่างเดียว เต็มแน่นเอี๊ยดอยู่ในใจ ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยมีความกลัวเหมือนครั้งนี้เลย มันกลัวมาก เปรียบเหมือนกับน้ำที่เราเทใส่ในโอ่ง เทใส่มากจนเต็มมันก็ล้นออกมา ความกลัวเหมือนกัน มันกลัวมากจนหมดกลัว แล้วก็ล้นออกมา

ใจหนึ่งเลยถามว่า ที่กลัวมากกลัวมายนัก มันกลัวอะไร? กลัวตาย อีกใจหนึ่งตอบ แล้วความตายมันอยู่ที่ไหน? ทำไมกลัวเกินบ้านเมืองเขานัก? หาที่ตายดูซิ มันอยู่ไหน? ความตายอยู่กับตัวเอง อยู่กับตัวเอง แล้วจะหนีไปไหนจึงจะพ้นมันล่ะ วิ่งหนีก็ตาย นั่งอยู่ก็ตาย เพราะมันอยู่กับเรา ไปไหนมันก็ไปด้วย เพราะความตายมันอยู่กับเรา กลัวหรือไม่กลัวก็ตายเหมือนกัน หนีมันไม่ได้หรอก

พอคิดได้อย่างนี้เท่านั้น สัญญาพลิกกลับ ความคิดก็เปลี่ยนขึ้นมาทันที ความกลัวทั้งหลายเลยหายไป ปานพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ อัศจรรย์เหลือเกิน ความกลัวมากๆ มันหายไปได้ ความไม่กลัวมันกลับมาแทนในที่เดียวกันนี้

โอ...ใจมันสูงขึ้น สูงขึ้นเหมือนอยู่บนฟ้านะ เปรียบไม่ถูก พอเอาชนะความกลัวได้แล้ว ฝนเริ่มตกทันทีเลย ลมพัดแรงมาก แต่ก็ไม่กลัวตายแล้ว ไม่กลัวต้นไม้กิ่งไม้มันจะหักลงมาทับ ไม่สนใจมันเลย ฝนตกลงมาหนักเหมือนฝนเดือนสี่

พอฝนหยุด เปียกหมดทั้งตัว นั่งนิ่งไม่กระดิกเลย…ร้องไห้ นั่งร้องไห้น้ำตาไหลอาบแก้มลงมา เพราะเกิดนึกไปว่า ตัวเรานี่ทำไมเหมือนคนไม่มีพ่อมีแม่แท้ มานั่งตากฝน ยังกับคนไม่มีอะไร ยังกับคนสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง คนที่เขามีบ้านอยู่ดีๆ เขาคงจะไม่คิดหรอกว่า จะมีพระมานั่งตากฝนอยู่ทั้งคืนอย่างนี้ เขาคงจะนอนห่มผ้าสบาย คิดไปวิตกไป เลยสังเวชชีวิตของตน ร้องไห้น้ำตาไหลพรากๆ เอ้า...น้ำไม่ดีนี่ให้มันไหลออกมาให้หมด อย่าให้มันมีอยู่

เมื่อคิดได้อย่างนี้ เมื่อชนะความรู้สึกแล้ว ก็นั่งดูจิตดูใจอยู่อย่างนั้น ความรู้เห็นสารพัดเรื่องเกิดขึ้นมา พรรณนาไม่ได้ คิดถึงพระพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้ว่า “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน” ความทุกข์ที่นั่งตากฝน ความกลัวที่มันหายไป ความรู้สึกต่อมาเป็นอย่างไร ก็รู้แต่เฉพาะเราเอง ใครอื่นจะมารู้ด้วย นั่งพิจารณาอยู่อย่างนี้จนสว่าง จิตมีกำลังศรัทธาขึ้น

สว่างขึ้นมา ลืมตาครั้งแรก มองไปทางไหนเหลืองไปหมด ลุกไปปัสสาวะ เพราะมันปวดตั้งแต่เมื่อคืน ปวดจนหายปวดไปเฉยๆ ปัสสาวะออกมามีแต่เลือด รู้สึกตกใจเล็กน้อย คิดว่าไส้หรืออะไรข้างใน คงขาดหมดแล้ว ขาดก็ขาด ตายก็ตายไปซิ ตายเพราะการปฏิบัติอย่างนี้ก็พอใจตาย แต่ตายเพราะไปทำความชั่วซิไม่ค่อยดี ตายเพราะปฏิบัติแบบนี้ ตายก็ตาย ในใจมันแย้งกันอยู่อย่างนี้ ใจหนึ่งมันเบียดเข้ามาว่าเป็นอันตราย อีกใจหนึ่งมันสู้ มันค้าน และตัดขึ้นมาทันที

คืนนั้นฝนตกทั้งคืน วันรุ่งขึ้นจับไข้สั่นไปทั้งตัว แต่ก็อดทนออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน บิณฑบาตก็ได้แต่ข้าวเปล่าๆ ... ”

ถ้าไม่เหมาะสมหรือขาดตกบกพร่องประการใด ขอหลวงพ่ออโหสิกรรมให้ผมด้วยครับ _/|\_ _/|\_ _/|\_

จากคุณ : แย้มกะลา [ 1 พ.ย. 2544 ]

 

ความคิดเห็นที่ 1 : (ดังตฤณ)

พระป่าท่านปฏิบัติเหมือนพระในพุทธกาล เมื่อเล่าประสบการณ์แล้ว ก็ทำให้เห็นว่าพระในพุทธกาลท่านทำกันอย่างไร เป็นอยู่กันอย่างไร ได้ภาพชัดเจน และ “ไม่ง่ายเลย” ที่ท่านยอมสละโลก แต่ “ทำให้ง่ายขึ้น” ที่จะถึงมรรคถึงผล

จากคุณ : ดังตฤณ [ 1 พ.ย. 2544 ]

 

ความคิดเห็นที่ 2 : (เรวัตตะ)

สาธุ สาธุ สาธุครับ ชอบมากที่สุดตรงนี้ครับ “...ใจหนึ่งเลยถามว่า ที่กลัวมากกลัวมายนัก มันกลัวอะไร? กลัวตาย.....”

ชอบอ่านเรื่องประสบการณ์การปฏิบัติอย่างนี้มากครับคุณแย้มกะลา หามาให้อ่านอีกนะครับ

จากคุณ : เรวัตตะ [ 1 พ.ย. 2544 ]

 

ความคิดเห็นที่ 7 : (กอบ)

http://www.script.co.th/pothiyan/index.htm

เวบใต้ร่มโพธิญาณ ครับ ลองอ่านดูครับ

จากคุณ : กอบ [ 1 พ.ย. 2544 ]

 

ความคิดเห็นที่ 9 : (ปิ่น)

ลองดูที่ web ข้างล่างครับมี vdo, รูปถ่าย และเสียงเทศน์ของท่านด้วยครับ http://jedi.tg.nectec.or.th/ajahn.chah/

จากคุณ : ปิ่น [ 1 พ.ย. 2544 ]

 

ความคิดเห็นที่ 14 : (เมธาพร)

ความกลัวทั้งหมด รวมสุดท้ายอยู่ที่ “กลัวตาย” เมื่อไม่กลัวที่จะตาย ความกลัวทั้งหลายก็ไม่น่าหวาดหวั่น....

สัจจธรรม...ท่านสอนให้เห็นได้ชัดเจน อนุโมทนาครับ

จากคุณ : เมธาพร [ 1 พ.ย. 2544 ]

 

ความคิดเห็นที่ 16 : (MacroArt)

ใจหนึ่งเลยถามว่า ที่กลัวมากกลัวมายนัก มันกลัวอะไร? กลัวตาย อีกใจหนึ่งตอบ แล้วความตายมันอยู่ที่ไหน? ทำไมกลัวเกินบ้านเมืองเขานัก? หาที่ตายดูซิ มันอยู่ไหน? ความตายอยู่กับตัวเอง อยู่กับตัวเอง แล้วจะหนีไปไหนจึงจะพ้นมันล่ะ วิ่งหนีก็ตาย นั่งอยู่ก็ตาย เพราะมันอยู่กับเรา ไปไหนมันก็ไปด้วย เพราะความตายมันอยู่กับเรา กลัวหรือไม่กลัวก็ตายเหมือนกัน หนีมันไม่ได้หรอก

อ่านตรงนี้แล้วยกมือสาธุเลยครับ _/|\_

จากคุณ : MacroArt [ 2 พ.ย. 2544 ]

 

ความคิดเห็นที่ 20 : (จิตฐิ)

“ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน” “ ความทุกข์ที่นั่งตากฝน ความกลัวที่มันหายไป ความรู้สึกต่อมาเป็นอย่างไร ก็รู้แต่เฉพาะเราเอง ใครอื่นจะมารู้ด้วย นั่งพิจารณาอยู่อย่างนี้จนสว่าง จิตมีกำลังศรัทธาขึ้น ”

........................

กำลังแห่งศรัทธา..เกิดขึ้นจากการ..ปฏิบัติ:

ขอเล่าสู่เพื่อนธรรม..: ครั้งแรกที่จิตฐิเข้าป่า 1 เดือน:

ความกลัวที่ต้องไปอยู่ในป่ามืด ต้องฟังเสียงสัตว์ดังระงมไปหมด ไหนใครว่า ป่าเงียบไง...แล้วอยู่ๆ ฟนก็ตกลงมาอย่างไม่ลืมหู ลืมตา.... ทุกข์ที่ต้องนั่งตากฝน บนหน้าผา ฟ้าก็ผ่า ดัง เปรี้ยง ปร้าง พอวิ่งลงมาจากหน้าผา วิ่งเข้าถ้ำจะหลบฟน ก็พบงูนอน อยู่ในโพรง ในถ้ำนั้นอีก ทั้งกลัว ทั้งทุกข์ ซ้ำซ้อนกันอยู่อย่างนั้น อยู่ในถ้ำนั้นจนเช้า พอเห็นแสงอาทิตย์ก็เดินกลับวัด ความรู้สึกตอนนั้น..บอกไม่ถูกจริงๆ ค่ะ มันช่างวิเศษ มันช่างเบา รู้แต่จิตใจมีความแน่วแน่ ในเส้นทางการปฏิบัติ อย่างไม่มีวันถอย สิ่งที่ได้...คือ 1. ความศรัทธาในการปฏิบัติ และ ผลที่จิตได้รับ 2. ความเชื่อเรื่องกรรม เต็ม 1โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 00% ไม่มีสงสัยอีกเลย

จิตฐิขอเดินตามรอยครูบาอาจารย์ และ พระพุทธองค์

จากคุณ : จิตฐิ [ 6 พ.ย. 2544 ]

 

จบกระทู้บริบูรณ์