สัมมาสมาธิ
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 003431 โดยคุณ : วิลาศินี [ 16 ก.ย. 2544 ]
ทำความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติ
ให้เราเข้าใจในการปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าของเรา ทั้งปฏิปทาก็ตาม ทั้งอุบายแนะนำพร่ำสอน สาวกทั้งหลายก็ตาม ให้เอาตัวอย่างพระพุทธเจ้า ท่านสอนข้อปฏิบัติ เป็นอุบายให้เราละถอนทิฏฐิมานะ ไม่ใช่ว่าท่านปฏิบัติให้ เมื่อเลิกจากการฟังแล้ว เราต้องมาสอนตัวเอง มาปฏิบัติตัวเอง ผลมันเกิดขึ้นตรงนี้ ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นตรงที่ท่านสอน ที่ท่านสอนเรานั้น เราเพียงแต่เข้าใจ แต่ว่าธรรมะนั้นยังไม่มีในใจ เพราะอะไร เพราะเรายังไม่ได้ปฏิบัติ คือยังไม่ได้สั่งสอนตัวเรา พูดตรงๆ แล้วก็คือ ธรรมะนี้ เกิดที่การกระทำ จะรู้ก็อยู่ตรงที่การกระทำ จะสงสัยก็อยู่ตรงที่การกระทำ ธรรมที่เราฟังจากครูบาอาจารย์ก็จริงอยู่ แต่ว่าการฟังนั้น ไม่สามารถที่จะให้เราบรรลุธรรมะได้ เป็นแต่เหตุให้รู้จักการปฏิบัติ ให้บรรลุธรรม การจะให้เราบรรลุธรรมนั้น เราก็ต้องเอาคำสอนของท่านมาทำขึ้นในใจของเรา ส่วนที่เป็นทางกาย ก็เอาให้กาย ส่วนที่เป็นทางวาจา ก็เอาให้วาจา ส่วนที่เป็นทางใจก็เอาให้ใจปฏิบัติ หมายความว่า ท่านสอนเราแล้ว เราก็กลับมาสอนตัวเราอีก ให้เป็นธรรมะ ให้รู้ธรรมตามทำนองนั้น
อย่าเชื่อผู้อื่นโดยปราศจากการพิจารณา
บุคคลที่เชื่อคนอื่น พระพุทธเจ้าของเราไม่ตรัสสรรเสริญ ว่าบุคคลนั้นเป็นปราชญ์ คนที่เป็นปราชญ์นั้น ก็คือคนที่ปฏิบัติธรรมะให้เป็นธรรมะ จนเชื่อตัวของตัว ไม่ต้องเชื่อคนอื่น ในคราวหนึ่งครั้งพุทธกาล พระสารีบุตร และสาวกหลายรูป นั่งฟังธรรมด้วยความเคารพ ต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ท่านก็อธิบายธรรมะให้ความเข้าใจไป แล้วที่สุด ท่านก็ย้อนถาม พระสารีบุตรว่า ท่านสารีบุตรเชื่อแล้วหรือยัง พระสารีบุตรตอบว่า ข้าพระองค์ยังไม่เชื่อ นี่เป็นตัวอย่าง แต่ว่าท่านรับฟัง คำที่ว่าท่านยังไม่เชื่อนั้น มิใช่ว่าท่านประมาท ท่านพูดความจริง ออกมา ท่านรับฟังเฉยๆ คือปัญญายังไม่เกิด ท่านจึงตอบพระพุทธองค์ว่า ยังไม่เชื่อ ก็เพราะว่ายังไม่เชื่อจริงๆ คำพูดนี้คล้ายๆ กับประมาท แต่ความจริงท่านมิได้ประมาทเลย ท่านพูดตามความจริงใจว่า ท่านยังไม่เชื่อ พระพุทธองค์ก็ทรงสรรเสริญ เออ สารีบุตรดีแล้ว นักปราชญ์ไม่ควรเชื่อง่ายๆ ควรไตร่ตรองพิจารณาแล้วจึงเชื่อ
ลักษณะของการเชื่อตนเอง
คำที่ว่าเชื่อตนเองนั้น ก็มีหลายอย่าง มีหลายลักษณะ ลักษณะอันหนึ่ง มีเหตุผลที่ถูกต้อง ตามสัจจธรรมแล้ว ลักษณะอีกอันหนึ่ง มีเหตุผลที่ไม่ถูกต้องตามสัจจธรรม ลักษณะอันนี้ ประมาทเลย เป็นความเข้าใจที่ประมาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เชื่อใคร ยกตัวอย่างเช่น ทีฆนขะพราหมณ์ พราหมณ์คนนี้เชื่อตนเองมาก ไม่เชื่อคนอื่น เมื่อพระพุทธเจ้า กับพระสารีบุตร ลงมาจากดอยคิชฌกูฏ นั่งพักอยู่ ทีฆนขะพราหมณ์ก็เข้าไปเรียนถามพระพุทธเจ้า ให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้ฟัง หรือจะว่า ไปแสดงธรรมให้พระพุทธเจ้าฟังก็ได้ คือไปอวดรู้อวดความเห็นของตัวเอง ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าทุกอย่างไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ความเห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ฟังทิฏฐิของทีฆนขะพราหมณ์อยู่ ท่านก็เลยตอบว่า พราหมณ์ ความเห็นอย่างนี้ ก็ไม่ควรแก่พราหมณ์เหมือนกัน พอพระพุทธเจ้าตอบสวนมา พราหมณ์ก็สะดุดใจ ไม่รู้ว่าจะพูดอะไร พระพุทธเจ้าจึงยกอุบายหลายอย่าง ขึ้นให้พราหมณ์เข้าใจ พราหมณ์ก็เลยหยุด พิจารณา จึงได้เข้าใจว่า เออ....ความเห็นของเรานี้มันไม่ถูก เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบปัญหา เช่นนั้น พราหมณ์ก็ลดทิฏฐิมานะลง พิจารณาเดี๋ยวนั้น เห็นเดี๋ยวนั้น พลิกเดี๋ยวนั้นเลย เปลี่ยนหน้ามือ เป็นหลังมือในเวลานั้น ได้สรรเสริญธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า เมื่อได้รับธรรมะของพระผู้มีพระภาคแล้ว จิตใจของข้าพระองค์ มีความแจ่มแจ้ง ใสสว่างเหมือนอยู่ในที่มืด มีคนมาทำไฟให้สว่างฉันนั้น หรือเหมือนกะละมังที่มันคว่ำอยู่ มีคนมาช่วยหงายกะละมังขึ้น หรือเปรียบประหนึ่งว่าหลงทาง ไม่รู้จักทาง ก็มีคนมาชี้ทางให้ฉันนั้น
เมื่อความเห็นผิดหายไป ความเห็นถูกก็เข้ามา
อันนี้ความรู้ได้เกิดขึ้นที่จิตเดี๋ยวนั้น ที่จิตที่มันเปลี่ยนกลับเดี๋ยวนั้น ความเห็นผิดหายไป ความเห็นถูกก็เข้ามา ความมืดก็หายไป ความสว่างก็เกิดขึ้นมาเดี๋ยวนั้น ดังนั้น พระพุทธเจ้า จึงตรัสว่า ทีฆนขะพราหมณ์นี้เป็นผู้ได้ดวงตาเห็นธรรม เพราะว่าในสมัยก่อน ทีฆขนะพราหมณ์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงความเห็นของตัวเอง และไม่รู้สึกว่าจะพยายาม เปลี่ยนแปลงความเห็น เช่นนั้นด้วย เมื่อได้รับธรรมะของพระพุทธเจ้า จิตของท่าน ก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ความยึดมั่น ถือมั่น ในความเห็นของตนนั้นผิดไป เมื่อความรู้ที่ถูกเกิดขึ้น ก็เห็นความรู้ที่มีก่อนนั้นว่ามันผิด ท่านจึงเปรียบเทียบอยู่ในที่มืด มีคนมาทำไฟให้สว่าง อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น ในเวลานั้น ทีฆนขะพราหมณ์ก็หลุดไปจากมิจฉาทิฏฐิที่ยึดถือไว้เช่นนั้น
ปัญญาเกิดขึ้นที่จิต
คนเราก็ต้องเปลี่ยนอย่างนี้ ปฏิบัติต้องเปลี่ยน ต้องเห็นเช่นนี้จึงจะละมันไปได้ เรามาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่ก่อนเราปฏิบัติไม่ดีไม่ชอบ แต่ก็เห็นว่ามันดีมันชอบอยู่นั่นเอง เราจึงทิ้งมันไม่ได้ เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติพิจารณาแล้ว เปลี่ยนกลับหน้ามือเป็นหลังมือ คือผู้รู้ธรรมะหรือปัญญาเกิดขึ้นที่จิตนั้น คงมีความสามารถเปลี่ยนความเห็น เพราะความรู้อันนั้น ตามรักษาจิต ฉันนั้น นักประพฤติปฏิบัตินี้ จึงสร้างความรู้สึกที่เรียกกันว่า 'พุทโธ' คือผู้รู้ อันนี้ให้เกิดขึ้นที่จิต แต่ก่อนผู้รู้ยังไม่เกิดขึ้นที่จิต รู้แต่ไม่แจ้ง รู้แต่ไม่จริง รู้แต่ไม่ถึง ความรู้อันนั้น จึงอ่อนความสามารถ ไม่มีความสามารถที่จะสอนจิตของเราได้ ในเวลานั้น จิตนั้นได้กลับ เปลี่ยนออกมา เพราะความรู้อันนี้เรียกว่าปัญญาหรือญาณ รู้ยิ่งกว่ารู้มาแต่ก่อน ผู้รู้แต่ก่อนนั้น รู้ไม่ถึงที่สุด จึงไม่มีความสามารถแนะนำจิตของเราให้ถึงที่สุดได้
ทำปัญญา-ทำญาณ ให้เกิดขึ้นที่จิต
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าของเราจึงให้น้อมเข้ามาเป็นโอปนยิโก น้อมเข้า อย่าน้อมออกไป หรือน้อมออกไปแล้ว ให้น้อมเข้ามาดูเหตุผล ให้หาเหตุหาผลที่ถูกต้องทุกอย่าง เพราะว่า ของภายนอก และของภายในนั้น มันเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน อยู่เสมอ ดังนั้นการปฏิบัตินี้ คือการมาสร้างความรู้อันหนึ่ง ให้มีกำลังมากกว่า ความรู้ที่มีอยู่แล้ว คือทำปัญญาให้เกิดขึ้นที่จิต ทำญาณให้เกิดขึ้นที่จิต จนมีความสามารถที่จะหยั่งรู้กิริยาจิต ภาษาจิต รู้อุบายของกิเลส ทั้งหลายทั้งปวง ที่เกิดขึ้นมาในจิตนั้น
ความรู้ที่ยังไม่จบ
พระพุทธเจ้าของเรานั้น ท่านก็ตัดสินใจของท่าน ยังไม่ได้เหมือนกัน เมื่อท่านออกบวชใหม่ๆ ก็แสวงหาโมกขธรรม ดูอะไรท่านก็ดูทุกอย่างให้มีปัญญา แสวงหาครูบาอาจารย์ อุทกดาบสอย่างนี้ ท่านก็ไป เข้าไปปฏิบัติดู ยังไม่เคยนั่งสมาธิ ท่านก็ไปนั่ง นั่งสมาธิขาขวาทับขาซ้าย มือขวา ทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง หลับตา อะไรๆ ก็ปล่อยวางไปหมด จนสามารถ บรรลุฌานสมาบัติชั้นสูง แต่เมื่อออกจากฌานนั้นแล้ว ความคิดมันก็โผล่ขึ้นมาอีก เมื่อมันโผล่ขึ้นมาแล้ว จิตก็เข้าไปยึดมั่น ถือมั่น ในที่นั้น ท่านก็รู้ว่า เออ...อันนี้ปัญญาของเรายังไม่รู้ ยังไม่แจ่มแจ้ง ยังไม่เข้าถึง ยังไม่จบ ยังเหลืออยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านก็ได้ความรู้เหมือนกัน ตรงนี้ไม่จบ ท่านก็ออกไปใหม่ แสวงหาครูบา อาจารย์ใหม่ เมื่อออกจากครูบาอาจารย์องค์นี้ท่านก็ไม่ดูถูกดูหมิ่น ท่านทำเหมือนกัน กับแมลงภู่ ที่เอาน้ำหวาน ในเกสรดอกไม้ ไม่ให้ดอกไม้ช้ำ แล้วไปพบอาฬารดาบส ก็เรียนอีก ความรู้สูงกว่าเก่า เป็นสมาบัติอีกขั้นหนึ่ง เมื่อออกจากสมาบัติแล้ว พิมพา ราหุล ก็โผล่ขึ้นมาอีก เรื่องราวต่างๆ ก็เกิดขึ้นมา ยังมีความกำหนัดรักใคร่อยู่ ท่านก็เห็นในจิตของท่านว่า อันนี้ก็ไม่ถึงที่สุดเหมือนกัน ท่านก็เลิกลา อาจารย์องค์นี้ไป แต่ยอมรับฟังและพยายามทำไปจนสุดวิสัยของท่าน ท่านตรวจดูผลงาน ของท่านตลอดกาล ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าท่านทำแล้วก็ทิ้งไป ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านติดตามผลงานของท่านตลอดเวลาทีเดียว
สัมมาสมาธิ : ความรู้ที่ถูกต้อง
แม้กระทั่งการทรมาน เมื่อทรมานเสร็จ ก็เห็นว่าการทรมาน อดข้าวอดปลา ทรมาน ให้ร่าง ซูบซีดนี้ มันเป็นเรื่องของกาย กายมันไม่รู้เรื่องอะไร คล้ายๆ กับว่า ไปตามฆ่าคน ที่ไม่ได้เป็นโจร คนที่เป็นโจรนั้น ไม่ได้สนใจ เขาไม่ได้เป็นโจร เข้าใจว่าเขาเป็นโจร เลยไปตะคอกใส่ พวกนั้น ไปคุมขังแต่พวกนั้น ไปเบียดเบียนแต่พวกนั้นเรื่อย เป็นไปในทำนองนี้ เมื่อท่าน พิจารณาแล้ว ก็เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องของกาย มันเป็นเรื่องของจิต อัตตกิลมถานุโยโค นี้พระพุทธเจ้าผ่านแล้ว รู้แล้ว จึงเข้าใจว่า อันนี้เป็นเรื่องกาย ความเป็นจริง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้ทางจิต เรื่องกายก็ดี เรื่องจิตก็ดี ดูแล้วก็ให้รวมเป็นเรื่องอนิจจัง เป็นเรื่องทุกขัง เป็นเรื่องอนัตตา มันเป็นแต่เพียง ธรรมชาติอันหนึ่ง มีปัจจัยให้เกิดขึ้นมา แล้วมันก็ตั้งอยู่ ตั้งอยู่แล้วก็สลายไป มีเหตุมีปัจจัย ก็เกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาแล้วก็ตั้งอยู่ ตั้งอยู่แล้ว มันก็สลายไปอีก ที่มันเป็นเช่นนี้ ก็ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่มีอะไร เป็นแต่เพียง ความรู้สึกเท่านั้น สุขก็ไม่มีตัวตน ทุกข์ก็ไม่มีตัวตน เมื่อค้นคว้า หาตัวตนจริงๆ แล้วไม่มี มีเพียงธรรมชาติอันหนึ่ง เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ตั้งอยู่ ตั้งอยู่แล้ว ก็ดับไป มันหมุนเวียนเปลี่ยนไปเท่านั้น
สรรพสิ่งเกิดขึ้น : ตั้งอยู่ : ดับไป
มนุษย์สัตว์ทั้งหลายนั้น ก็มักเข้าใจว่า การเกิดขึ้นนั้น เป็นเรา การตั้งอยู่ เป็นเรา การดับไปนั้น เป็นเรา ก็ไปยึดสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างอื่น เช่นว่าเกิดแล้ว ไม่อยากให้สลายไป สุขแล้ว ไม่อยากให้ทุกข์ ทุกข์ไม่อยากให้เกิด ถ้าทุกข์เกิดแล้ว อยากให้ดับเร็วๆ หรือไม่ให้เกิดเลย ดีมาก อย่างนี้ นี่ก็เพราะเห็นว่า รูปนามนี้เป็นตัวเรา เป็นของเรา จึงมีความปรารถนา อยากจะให้รูปนาม เป็นอย่างนั้น ถ้าความเห็นเป็นอย่างนี้ มันก็คล้ายๆ กับว่า สร้างทำนบ สร้างเขื่อน ไม่มีทางระบายน้ำ โทษมันก็คือ เขื่อนมันจะพังเท่านั้นเอง เพราะไม่มีทางระบาย อันนี้ก็เหมือนกัน ฉันนั้น นี่พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า เมื่อความคิดความเห็น เป็นเช่นนี้ อันนี้แหละ เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด เมื่อคิดเช่นนั้น เข้าใจเช่นนั้น ทุกข์มันก็เกิดขึ้นมาเดี๋ยวนั้น ท่านเห็นเหตุอันนี้ ท่านจึงสละ นี้คือสมุทัยสัจ ทุกขสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ มันติดอยู่ตรงนี้เท่านั้น คนจะหมดสงสัย ก็จะหมดที่ตรงนี้ เมื่อเห็นว่าอันนี้มันเป็นรูป นาม หรือ กายกับใจ พิจารณาแล้ว ที่มันเกิดมาแล้ว ก็ให้เข้าใจว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มันเป็นไปตามธรรมชาติ ตั้งอยู่อย่างนั้น ที่เรามาปฏิบัติ ให้รู้ตามสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ว่า มันเป็นอย่างนั้น เราไม่มีอำนาจไปบริหารการงานที่นั้น เราจะไปเจ้ากี้เจ้าการ ไปแต่งไปตั้งอะไร ตรงนั้นไม่ได้ มันจะเป็นทุกข์ เพราะเราไม่ใช่เจ้าของ เราจะเข้าใจว่า เราเป็นเขาไม่ได้ ทั้งกายและจิต ถ้าเรารู้อันนี้ ตามเป็นจริงแล้ว มันก็มีอยู่ แล้วก็เห็นอยู่ มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น เหมือนกับ ก้อนเหล็ก แดงๆ ก้อนหนึ่ง ที่เขาเอาไปเผาไฟแล้ว มันร้อนอยู่ทั้งหมดนั่นแหละ จะเอามือไปแตะข้างบน มันก็ร้อน ไปแตะข้างล่างก็ร้อน ไปแตะข้างๆ มันก็ร้อน ไปแตะค่อนทางนี้ ทางโน้นก็ร้อน เพราะอันนั้นมันร้อน ให้เราเข้าใจอย่างนั้น โดยมากปกติของเรานะ เมื่อเรามาปฏิบัติ มันก็อยากมี อยากเป็น อยากรู้ อยากเห็น แต่ว่าไม่รู้จะไป เป็นอะไร ไม่รู้ว่าจะไป เห็นอะไร อาตมาเคยเห็น ลูกศิษย์คนหนึ่ง มาปฏิบัติกับอาตมา ครั้งแรกมาปฏิบัติ จิตมันวุ่นวาย เมื่อมันวุ่นวาย ก็เกิดความสงสัยไม่หยุด เหมือนกัน แล้วทำไปสอนไปเรื่อยๆ ให้มันสงบ เมื่อจิตสงบแล้ว ก็ยังหลงอยู่อีกว่า จะทำให้เป็นอย่างไรต่อไปอีก แน่ะ!.วุ่นวายเข้าอีกแล้ว เขาชอบความสงบ ป่านนี้มันทำจิตให้สงบแล้ว แต่ก็ไม่เอาอีก ถามว่าจะทำอย่างไรต่อไป
สมาธิ เพื่อความสงบ
ฉะนั้นการปฏิบัติทุกอย่างนี้ พวกเราทั้งหลายต้องทำด้วยการปล่อยวาง การปล่อยวางนั้น มันจะปล่อยวางได้อย่างไร คือเกิดความรู้เท่ามันเสีย ให้เรารู้ว่าลักษณะของจิตมันเป็นอย่างนี้ ลักษณะของกายมันเป็นอย่างนี้ เรานั่งเพื่อความสงบ แต่ว่านั่งเข้าไปแล้วมันเห็นความไม่สงบ คืออาการของจิตมันเป็นอยู่อย่างนั้นเอง พอเราตั้งจิตกับลมหายใจของเราที่ปลายจมูกหรือริมฝีปาก เราจะทำสมาธิ เราก็ยกความรู้ขึ้นมาตั้งตรงนี้ไว้ เมื่อยกขึ้นมาตั้งเรียกว่าเป็นวิตก คือยกไว้เมื่อยกเป็นวิตก กำหนดอยู่ที่นี่เป็นวิจาร คือการวิจัยที่ปลายจมูกหรือที่ลมนี้ไปเรื่อยๆ วิจารนี้มันจะคลุกคลีกับอารมณ์ของเรานั้น อารมณ์อะไรก็ช่างมันเถอะ มันก็ต้องพิจารณาเรื่องที่มันเกิดขึ้นมา คลุกคลีกับอารมณ์เรื่อยๆ ไปเป็นธรรมดาของมัน เราก็คิดว่าจิตมันไม่นิ่ง ไม่อยู่เสียแล้ว ความเป็นจริงอันนั้นมันเป็นวิจาร มันต้องคลุกคลีไปกับอารมณ์นั้น ทีนี้เมื่อมันถลำมากไปในทางที่ไม่ดี มันจะดึงความรู้สึกของจิตออกห่างไปมาก เมื่อเรามีสติอีกก็ตั้งใจขึ้นใหม่ ยกขึ้นมาตั้งตรงนี้อีก เรียกว่าวิตก เมื่อเราตั้งขึ้นสักประเดี๋ยวหนึ่งมันก็เกิดวิจารพิจารณาคลุกคลีไปกับอารมณ์เรื่อยไป แต่เมื่อเราเห็นอาการเป็นเช่นนี้ ความไม่รู้ของเราก็เกิดขึ้นมาว่า มันไปทำไม เราอยากให้มันสงบ ทำไมมันไม่สงบ นี่เราทำไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นของเรา
เรื่องของจิตมันเป็นอย่างนั้นเอง
ความเป็นจริงอาการของจิตมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น แต่เราไปเพิ่มว่าอยากให้มันนิ่ง ทำไมมันไม่นิ่ง เกิดความไม่พอใจ เลยเอาไปทับกันเข้าไปอีกทีหนึ่ง ก็ยิ่งเพิ่มความสงสัย เพิ่มความทุกข์ เพิ่มความวุ่นวายขึ้นมาอีกตรงนั้น ความเป็นจริงถ้าหากมันมีวิจารคิดไปตามเรื่องตามราวกับอารมณ์เรื่อยๆ ไปอย่างนั้น ถ้าเรามีปัญญาเราก็ควรคิดว่า เออ..เรื่องจิตมันเป็นอย่างนี้เอง นั่นผู้รู้บอกอยู่ตรงนั้น บอกให้รู้ตามความจริง เรื่องจิตมันเป็นของมันอยู่แล้วอย่างนี้ มันก็สงบลงไปเมื่อไม่สงบเราก็ยกเป็นวิตกขึ้นมาตั้งใหม่ ได้พักหนึ่งแล้วมันก็สงบ อีกหน่อยมันก็เกิดวิจารอีก วิตกวิจารมันเป็นอยู่อย่างนี้ วิจารไปตามอารมณ์ เมื่อวิจารไปมันก็จางไปๆ เราก็ยกขึ้นมาอีกอยู่อย่างนี้ คือการกระทำความเพียรของเรา การกระทำในเวลานี้ต้องทำโดยการปล่อยวาง เห็นการวิจารไปกับอารมณ์ อารมณ์ที่มันเกิดขึ้นมานั้น ไม่ใช่ว่าจิตเราวุ่น แต่เราไปคิดผิดเท่านั้น ว่าเราไม่อยากให้มันเป็น ตรงนี้เป็นเหตุขึ้นมาแล้วก็ไม่สบาย ก็เพราะเราอยากให้มันสงบเท่านั้น ตรงนี้เป็นเหตุคือความเห็นผิด ถ้าเรามาเปลี่ยนความเห็นสักนิดว่าอาการของจิตมันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ เท่านี้มันก็ลดลงแล้ว นี้เรียกว่าการปล่อยวาง
การปล่อยวางอาการของจิต
ทีนี้ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่น คือทำด้วยการปล่อยวาง ปล่อยอยู่ในการกระทำ กระทำอยู่ในการปล่อย อย่างนี้ ให้มันเป็นลักษณะอย่างนี้ อยู่ในใจของเรา เรื่องวิจารนั้นมันก็ไม่มีอะไร ถ้าจิตเราหยุดวุ่นวายเช่นนั้น เรื่องวิจารนั้นมันจะเป็นเรื่องซอกค้นหาธรรมะ ถ้าเราไม่ซอกค้นหาธรรมะมันจะไปเกิดวุ่นวายอยู่ตรงนั้น ความเป็นจริงวิตกแล้วก็วิจาร วิตกแล้วก็วิจาร วิจารมันค่อยๆ ละเอียดไปเรื่อยๆ ทีแรกมันก็วิจารประปรายทั่วๆ ไป พอเรารู้ว่าอาการของจิตมันก็เป็นอย่างนั้นมันไม่ทำอะไรให้ใครทั้งนั้น มันเป็นที่เราไปยึดมั่นถือมั่น อย่างน้ำมันไหล มันก็ไหลของมันไปอยู่อย่างนั้น ถ้าเราไปยึดมั่นว่าไหลไปทำไมเกิดทุกข์แล้ว ถ้าเราเข้าใจว่าน้ำก็ไหลไปตามเรื่องของมัน มันก็ไม่มีทุกข์แล้ว เรื่องวิจารนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น วิตกแล้วก็วิจาร วิตกแล้วก็วิจาร คลุกคลีกับอารมณ์ แล้วเอาอารมณ์นั้นมาทำกรรมฐานให้จิตสงบ เอาอารมณ์นั้นมากำหนด วิจารนี้ก็ทำนองเดียวกับอารมณ์นั้น
ความสุขปะปนอยู่ในความปีติ
ถ้ามันรู้เรื่องของจิตอย่างนี้ มันก็ปล่อยวางนะ เหมือนกับปล่อยน้ำให้มันไหลไป เรื่องวิจารนั้นก็ละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป มันจะหยิบเอาสังขารขึ้นมาวิจารก็ได้ เอาความตายมาวิจารก็ได้ เอาธรรมะอันใดมาวิจารก็ได้ ถูกจริตขึ้นเมื่อใด มันก็เกิดความอิ่มขึ้นมา ความอิ่มคืออะไร คือปีติ เกิดปีติความอิ่มใจขึ้นมา ความขนพองสยองเกล้าซู่ซ่าขึ้นมา หรือตัวเบา ใจมันก็อิ่ม นี่เรียกว่าปีติ แล้วก็มีความสุขในที่นั้น ความสุขมันปะปนอยู่ที่นั้น ทั้งมีความสุขทั้งมีอารมณ์ผ่านอยู่ก็เป็นเอกัคคตารมณ์ แน่ะ เอกัคคตารมณ์ คืออารมณ์อันเดียว นี้ถ้าพูดไปตามขณะของจิตมันต้องเป็นอย่างนี้ วิตก วิจาร ปีติ สุขเอกัคคตา ถ้าขั้นที่สองไปเป็นอย่างไรล่ะ จิตมันละเอียดแล้ว วิตกวิจาร มันหยาบมันก็ล้นไปอีก มันก็ทิ้งวิตก วิจาร เหลือแต่ปีติ สุขเอกัคคตา อันนี้เรื่องจิตมันดำเนินการเอง เราไม่ต้องรู้อะไร ให้รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ บัดนี้ปีติไม่มี เหลือแต่สุขกับเอกัคคตา เราก็รู้จักปีติไปไหน ไม่หนีไปที่ไหนหรอก จิตของเรามันละเอียดขึ้นไป ก็ทิ้งส่วนที่มันหยาบเท่านั้น ส่วนไหนมันหยาบ มันก็ทิ้งไป ทิ้งไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดแล้ว คือมันทิ้งๆ ไป เหลือเอกัคคตากับอุเบกขา มันก็ไม่มีอะไร มันจบอย่างนั้น
ยิ่งอยากให้สงบ มันยิ่งไม่สงบ
เมื่อจิตดำเนินการประพฤติปฏิบัติ มันจะต้องไปในรูปนี้ แต่ขอให้เรามีปัญญาเสียหน่อยหนึ่งว่า ที่เราทำครั้งแรกนี้นะเราต้องการให้จิตสงบ แต่จิตมันก็ไม่สงบ เราอยากให้มันสงบก็ไม่สงบ อันนี้คือเราทำด้วยความอยาก แต่เราไม่รู้จักว่าทำด้วยความอยาก คือเราอยากให้มันสงบ มันไม่สงบอยู่แล้ว เราก็ยิ่งอยากให้มันสงบ อยากนี้มันเป็นเหตุมิใช่อื่น อยากให้สงบนี้ เราไม่เข้าใจว่าเป็นตัณหา ก็เหมือนเพิ่มน้ำหนักขึ้นอีก ยิ่งอยากขึ้นก็ยิ่งไม่สงบขึ้น แล้วก็เลิกกันเท่านั้นทะเลาะกันไปเรื่อยๆ ไม่ได้หยุดหรอก นั่งทะเลาะกันคนเดียว นี้ก็เพราะอะไร เพราะเราไม่น้อมกลับมาว่าเราจะตั้งจิตอย่างไร ให้รู้สภาวะของมันว่าอาการของจิตมันก็เป็นของมันอย่างนั้น ถ้ามันเกิดมาแล้วเวลาใดก็พิจารณาว่าเรื่องมันเป็นอย่างนั้น เรื่องจิตนี้ลักษณะของจิตมันเป็นอย่างนี้ มันไม่ไปทำให้ใครหรอก ถ้าเราไม่เห็นว่ามันเป็นอย่างนั้น มันเป็นโทษ แต่ความเป็นจริงมันไม่มีโทษหรอก เห็นว่าลักษณะอันนั้นมันเป็นอย่างนั้นเท่านั้นแหละ
ความเห็นที่ถูกต้องเกี่ยวกับอารมณ์
เราจะตั้งวิตก วิจาร วิตกวิจารมันก็ผ่อนลงมา ผ่อนลงมาเรื่อยๆ มันก็ไม่รุนแรง ที่มันมีอารมณ์มาเราก็วิจารไป คลุกคลีไปกับอารมณ์ มันจะรู้เรื่องเกี่ยวกับอารมณ์นั่นเอง มิใช่อื่น อันนี้เราไปทะเลาะกันเสียก่อนแล้ว ก็เพราะเราตั้งใจเหลือเกินว่า เราอยากทำความสงบ เมื่อนั่งปุ๊บอารมณ์มากวน ยกขึ้นมาเท่านี้ก็ไม่อยู่แล้ว ก็พิจารณาออกไปตามอารมณ์เลย ก็นึกว่ามันมากวนเรา ความเป็นจริงมันเกิดจากที่นี่ เกิดจากความเห็นที่มันอยากๆ นี้แหละ ถ้าหากเราเห็นว่าเรื่องจิตนี้มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ มันก็อาศัยการไปการมาอย่างนั้น ถ้าเราไม่เอาใจใส่มัน ถ้าเรารู้เรื่องของมันเสียแล้ว เหมือนกันกับเรารู้เรื่องของเด็กน้อย เด็กน้อยมันไม่รู้จักอะไร มันจะพูดกับเรา พูดกับแขก มันจะพูดอย่างไรก็พูดไปตามเรื่องของมัน ถ้าเราไม่รู้เรื่องของเด็ก เราก็โกรธก็เกลียดขึ้นมาอย่างนั้น ถ้าเรารู้เรื่องของเด็กแล้วเราก็ปล่อย เด็กมันก็พูดของมันไปอย่างนั้น เมื่อเราปล่อยอย่างนี้ความไปยึดในเด็กนั้นก็ไม่มี เราจะปรึกษากันกับแขก เราก็พูดไปตามสบาย เด็กมันก็คุยเล่นไปตามเรื่องของมัน เรื่องของจิตมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ ไม่มีพิษอะไรนอกจากเราไปหยิบมันขึ้นมา เลยไปยึดมัน ไปตะครุบมันเท่านั้นแหละมันก็เป็นเหตุขึ้นมาทีเดียว เมื่อปีติเกิดขึ้นมา เราจะมีความสุขใจบอกไม่ถูกเหมือนกัน แต่ใครเข้าไปถึงตรงนั้นมันก็รู้จัก ความสุขเกิดขึ้นมา อาการอารมณ์อันเดียวมันก็เกิดขึ้นมา ก็มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา สิ่งทั้ง ๕อย่างนี้มันรวมอยู่ที่อันเดียวกัน ถึงมันเป็นคนละลักษณะก็ตาม แต่ว่ามันรวมอยู่ที่อันเดียวกัน เราเห็นทั่วถึงกันไปหมด เหมือนกับผลไม้เอามารวมในกระจาดเดียวกัน มันเป็นคนละอย่างก็ช่างมัน เราจะเห็นทุกอย่างในกระจาดอันนั้น วิตกก็ดี วิจารก็ดี ปีติก็ดี สุขก็ดี เอกัคคตาก็ดี เราก็มองดูที่จิตตรงนั้น มันจะมีหมด ๕ อย่าง ก็มีลักษณะอันนั้นมันเป็นอย่างนั้น มีอยู่อย่างนั้น จะว่ามันวิตกอย่างไรวิจารอย่างไร ปีติอย่างไร สุขอย่างไร บอกไม่ถูก เมื่อมันรวมลง เรามองเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้น มันเต็มในใจของเราอยู่
ภาวนาอย่าไปยึดมั่นยึดติด
ตรงนี้มันก็แปลกแล้ว การทำภาวนาของเราก็แปลกแล้ว ต้องมีสติสัมปชัญญะ อย่าหลง ให้เข้าใจว่าอันนี้มันคืออะไร มันเป็นเรื่องขณะของจิต มันเป็นเรื่องวิสัยของจิตเท่านั้น อย่าไปสงสัยอะไรในเรื่องปฏิบัตินี้ มันจะจมลงในพื้นดินก็ช่าง มันจะไปบนอากาศก็ช่าง มันจะนั่งตายเดี๋ยวนี้ก็ช่างมันเถอะ อย่าไปสงสัยมัน เรื่องการปฏิบัตินี้ให้มองดูลึก ลักษณะจิตเรามันเป็นอย่างไร ให้อยู่กับความรู้อันนี้เท่านั้นทำไปอันนี้มันได้ฐานแล้ว มันมีสติสัมปชัญญะรู้ตัว ทั้งการยืน การเดินการนั่ง การนอน เมื่อเราเห็นอะไรเกิดขึ้นมาก็ให้มันไป เราอย่าไปติดอย่าไปยึดมั่นถือมั่นมัน เรื่องชอบใจ ไม่ชอบใจ เรื่องสุข เรื่องทุกข์เรื่องสงสัย ไม่สงสัย นั้นก็เรียกว่ามันวิจาร มันพิจารณา ตรวจตราดูผลงานของมัน อย่าไปชี้อันนั้นเป็นอันนี้ อย่าเลย ให้รู้เรื่อง เห็นสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับจิตนั้นก็สักแต่ว่าเป็นความรู้สึกเท่านั้นเอง เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาก็ตั้งอยู่ ตั้งอยู่ก็ดับไป ก็เป็นไปเท่านั้น ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นอันใดอันหนึ่งในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้
รูปนามมันไม่เที่ยง
เมื่อเห็นรูปนามมันเป็นเช่นนี้ตามเรื่องของมันแล้ว ปัญญาเห็นเช่นนี้มันก็เห็นรอยเก่ามัน เห็นความไม่เที่ยงของจิต เห็นความไม่เที่ยงของร่างกาย เห็นความไม่เที่ยงของความสุข ความทุกข์ ความรักความโกรธ มันไม่เที่ยงทั้งนั้น จิตมันก็วูบแล้วก็เบื่อ เบื่อกายเบื่อจิต เบื่อสิ่งที่มันเกิดมันดับ ที่มันไม่แน่อย่างนี้เท่านั้นแหละ จะไปนั่งอยู่ที่ไหนมันก็เห็น เมื่อจิตมันเบื่อก็หาทางออกเท่านั้น มันหาทางออกจากสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ไม่อยากเป็นอย่างนี้ ไม่อยากอยู่อย่างนี้ มันเห็นโทษในโลกนี้ เห็นโทษในชีวิตที่เกิดมาแล้ว เมื่อจิตเป็นเช่นนี้ เราไปนั่งอยู่ที่ไหน ก็เห็นเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ไม่มีที่จับต้องมันแล้ว จะไปนั่งอยู่โคนต้นไม้ก็ได้ฟังเทศน์พระพุทธเจ้า จะไปนั่งอยู่บนภูเขาก็ได้ฟังเทศน์พระพุทธเจ้า จะไปนั่งที่ราบก็ได้ฟังเทศน์พระพุทธเจ้าเห็นต้นไม้ทุกต้นมันจะเป็นต้นเดียวกัน เห็นสัตว์ทุกชนิดมันเป็นสัตว์อย่างเดียวกัน ไม่มีอะไรจะแปลกไปกว่านี้ มันเกิดแล้วมันก็ตั้งอยู่ ตั้งอยู่แล้วก็แปรไป ดับไปเหมือนกันทั้งนั้น
เมื่อยึดมั่นมันก็ทุกข์
ฉะนั้นเราก็มองเห็นโทษนี้ได้ชัดขึ้น เห็นรูปนามอันนี้ได้ชัดขึ้นมันชัดขึ้นต่ออนิจจัง ชัดขึ้นต่อทุกขัง ชัดขึ้นต่ออนัตตา ถ้ามนุษย์ทั้งหลายเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่ามันเที่ยง มันจริงอย่างนั้น มันก็เกิดทุกข์ขึ้นมาทันที มันเกิดอย่างนี้ ถ้าเราเห็นรูปนามมันเป็นของมันอย่างนั้น มันก็ไม่เกิดทุกข์ เพราะไม่ไปยึดมั่นถือมั่น นั่งอยู่ที่ไหนก็มีปัญญา เห็นแม้ต้นไม้ก็เกิดปัญญาพิจารณา เห็นหญ้าทั้งหลายก็มีปัญญา เห็นแมลงต่างๆ ก็มีปัญญา รวมแล้วมันเข้าจุดเดียวกัน เป็นธรรมะ เป็นของไม่แน่นอนทั้งนั้น นี้คือความจริง นี้คือสัจจธรรม มันเป็นของเที่ยง มันเที่ยงอยู่ตรงไหน มันเที่ยงอยู่ตรงที่ว่า มันเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่แปรเป็นอย่างอื่นเท่านั้นละ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ถ้าเราเห็นเช่นนี้แล้ว มันก็จบทางที่จะต้องไป
รู้แจ้งตามเป็นจริง : ไม่มีเรา ไม่มีเขา
ในทางพระพุทธศาสนานี้ เรื่องความเห็นนี้ ถ้าเห็นว่าเราโง่กว่าเขามันก็ไม่ถูก เห็นว่าเราเสมอเขา มันก็ไม่ถูก เห็นว่าเราดีกว่าเขามันก็ไม่ถูก เพราะมันไม่มีเรา นี่มันเป็นเสียอย่างนี้ มันก็ถอนอัสมิมานะออก อันนี้ท่านเรียกว่าเป็นโลกวิทู รู้แจ้งตามเป็นจริง ถ้ามาเห็นจริงเช่นนั้น จิตมันก็รู้เนื้อรู้ตัว รู้ถึงที่สุด มันตัดเหตุแล้ว ไม่มีเหตุผลก็เกิดขึ้นไม่ได้ อันนี้พูดถึงข้อปฏิบัติ มันจะดำเนินการของมันไปอย่างนั้น
รากฐานที่เราจะต้องปฏิบัติใหม่ๆ
๑. ให้เป็นคนซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ๒. ให้เป็นคนกลัว เป็นคนละอายต่อบาป ๓. มีลักษณะที่ถ่อมตัวในใจของเรา เป็นคนที่มักน้อย เป็นคนที่สันโดษ ถ้าคนมักน้อยในการพูดการอะไรทุกอย่าง มันก็เห็นตัวของตัวไม่เข้าไปวุ่นวาย รากฐานที่มีอยู่ในจิตนั้นก็ล้วนแต่ศีล สมาธิ ปัญญาเต็มอยู่ในจิต ไม่มีอะไรอื่น จิตในขณะนั้นก็เดินในศีล ในสมาธิ ในปัญญาโดยอาการเช่นนั้น ฉะนั้นนักปฏิบัติเรานั้นอย่าประมาท ถึงแม้ว่าถูกต้องแล้วก็อย่าประมาท ผิดแล้วก็อย่าประมาท ดีแล้วก็อย่าประมาท มีสุขแล้วก็อย่าประมาท ทุกอย่างท่านว่าอย่าประมาท ทำไมไม่ให้ประมาท เพราะอันนี้มันเป็นของไม่แน่ ให้จับมันไว้อย่างนี้ จิตใจเราก็เหมือนกัน ถ้ามีความสงบแล้วก็วางความสงบไว้ แหม มันอยากจะดีใจ แต่ดีก็ให้รู้เรื่องมัน ชั่วก็ให้รู้เรื่องมัน
การอบรมจิต เป็นเรื่องของตนเอง
ฉะนั้นการอบรมจิตนั้นเป็นเรื่องของตนเอง ครูบาอาจารย์บอกแต่วิธีที่อบรมจิต ก็เพราะจิตมันอยู่ที่เรา มันรู้จักหมดทุกอย่าง ไม่มีใครจะรู้เท่าถึงตัวเรา เรื่องปฏิบัติมันอาศัยความถูกต้องอย่างนี้ ให้ทำจริงๆ เถอะ อย่าไปทำไม่จริง คำว่าทำจริงๆ นั้นมันเหนื่อยไหม ไม่เหนื่อย เพราะทำทางจิต ประพฤติทางจิต ปฏิบัติทางจิต ถ้าเรามีสติอยู่ มีสัมปชัญญะอยู่ เรื่องที่ถูกที่ผิดมันก็ต้องรู้จัก ถ้ารู้จักเราก็รู้จักข้อปฏิบัติเท่านั้น ไม่จำเป็นมาก ดูข้อปฏิบัติทั้งหลายทุกสิ่งทุกส่วนแล้วก็ให้น้อมเข้ามาอย่างนั้นทุกคน เราทำประโยชน์ต้องทำให้สมบูรณ์
มันก็จวนค่อนพรรษาแล้ว ตามความจริงลักษณะของคนเรานั้นนานๆ ไปมันชอบอยากประมาทในข้อวัตรที่ตั้งไว้ไม่เสมอต้นเสมอปลายแสดงว่าปฏิปทาของเราไม่สมบูรณ์ อย่างที่เราตั้งใจไว้ก่อนพรรษา เราจะทำอะไรกันก็ต้องทำประโยชน์อันนั้นให้สมบูรณ์ ระยะสามเดือนนี้ให้มันตลอดต้นตลอดปลาย ต้องพยายามให้เป็นทุกๆ คน เราตั้งใจไว้ว่าเราจะปฏิบัติกันอย่างไรก่อนเข้าพรรษา ข้อวัตรเราต้องทำกันอย่างไร ตั้งใจอย่างไรให้ระลึกถึงว่า ถ้าหากมันย่อหย่อนก็ต้องกลับตัวปรับปรุงเรื่อยๆ เหมือนกับเราภาวนาทำอานาปานสติ ลมหายใจเข้าออกสม่ำเสมอ เมื่อมันเป็นไปตามอารมณ์ก็ยกขึ้นมาอีก ตั้งใหม่ อย่างนี้ก็เหมือนกัน ทางจิตของเรา ทางกายของเรา ก็เป็นอย่างนั้นต้องพยายาม
_/|\_ _/|\_ _/|\_
คัดลอกมาจากซีดีรอมหลวงพ่อชาค่ะ อ่านแล้วเตือนสติได้ดีเลยอยากเอามาฝากไว้ค่ะ
จากคุณ : วิลาศินี [ 16 ก.ย. 2544 ]
จบกระทู้บริบูรณ์