หลงสังขารเป็นทุกข์
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
คัดลอกจาก ธรรมะ หลวงพ่อชา
จัดทำโดย คุณเจริญชัย เจริญทั้งเมือง
ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
http://www.geocities.com/uu2uu/achar/cha14.html
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
วันนี้เป็นวันธรรมสวนะ เป็นกาลเป็นเวลาที่พุทธบริษัททั้ง หลายได้พากันมาอบรมจิตใจ ก่อนอื่นเมื่อเราตั้งใจที่จะกระทำการงานทุกสิ่งทุกอย่าง ครูบาอาจารย์ของเราท่านก็สอนให้เราพากันตั้งใจ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวเนื่องมาจากจิตใจของเรา พระพุทธ ศาสนาที่ท่านสอนก็เกี่ยวถึงเรื่องจิตใจ เรานั้นก็ระลึกรู้ได้อยู่ทุกๆ คนว่า ในสกลกายของเราทั้งหมดนี้ เฉพาะส่วนตัวของแต่ละบุคคลนั้นมีอะไรเป็นใหญ่ เราจะสังเกตได้ว่าร่างกายของเรานั้น ถ้าปราศจาก วิญญาณแล้ว มันก็หมดประโยชน์ ไม่มีค่าอะไร นอนหมดลมหายใจ ไม่ลืมตา เคลื่อนไหวไปมาก็ไม่ได้ ใช้ประโยชน์อะไรก็ไม่ได้ อันนี้แสดงว่าจิตใจนั้นเป็นของสำคัญ บุคคลที่จะมีความรู้สึกนึกคิด มีความรู้ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็เนื่องมาจากจิตใจ บุคคลจะกระทำความดี กระทำความชั่วได้ทั้งหมดนั้น ก็เป็นเรื่องของจิตใจ
ฉะนั้นจะเห็นได้ง่ายๆ ว่า การสร้างคุณงามความดี การประพฤติปฏิบัติธรรมก็ต้องเกี่ยวเนื่องแก่จิตใจ ดังนั้นจึงต้องพากันอบรมจิตใจ อย่างวันนี้เราได้สมาทานข้อวัตรเป็นต้น ธรรมดาทุกๆ วันนั้น เราก็จะได้พากันกระทำอะไรๆ ต่างๆ ได้ตามอำเภอใจของตัวเอง เราจะได้กินข้าวเย็น เราจะได้ทาแป้งแต่งตัว เราจะได้นอนบนเตียงที่มีฟูกมีฟองน้ำรองนอนอันอ่อนนุ่มสบาย ตามความปรารถนาของเรา บางคนก็อาจจะเข้าใจว่า ที่ท่านให้รักษาศีลนั้น ทำไมกินข้าวเฉยๆ ก็จะต้องบาปด้วย? ทาแป้งแต่งตัวธรรมดาก็จะบาปด้วยหรือ? นอนที่นอนสูงที่นอนใหญ่ก็จะบาปด้วยหรือ? ความเป็นจริงนั้นการสมาทานศีลงดเว้นสิ่งเหล่านี้ ก็เพื่อให้มันเป็นเครื่องอุปกรณ์สำหรับช่วยให้จิตสงบ คือ
หนึ่ง เรามาทำความเพียร ถ้าเรามาปฏิบัติภาวนาแล้ว เรามัวแต่ไปยุ่งอยู่กับเรื่องอาหารการกินวันละสองสามครั้ง มันก็วุ่นวายใจ ไม่สงบระงับ เป็นปลิโพธกังวลมาก (หมายเหตุ 1) ท่านจึงตัดออกเสีย ข้อหนึ่ง คือไม่ให้กินข้าวเย็น ให้กินครั้งเดียวเท่านั้นก็หยุด ภาระมันก็น้อยลง ถ้าภาระน้อยลงจิตใจของเรามันก็น้อยลง ไม่คิดกว้างขวาง จิตของเราถ้ามาฝึกหัดเพื่อให้เกิดความเคยชินก็จะดีอยู่นะ อย่างวันพระวันนี้ ทุกๆ วันนั้นญาติโยมที่อยู่บ้าน พอถึงเวลาเย็นก็ต้องกินข้าวเย็น เมื่อถึงเวลาก็คงจะต้องอยากกินข้าว แต่ถ้ามารักษาศีลในวันนี้ แล้วกำหนดว่าวันนี้จะไม่กินอะไร หยุด หยุดอยาก หยุดหิว ถึงใครจะเอามากินอยู่ตรงหน้า ก็ไม่อยากหิว นี่ถ้าอยู่บ้านเป็นไม่ได้เลย อันนี้ถ้ามาพิจารณาดูก็จะเห็นว่า ที่มันเป็นอย่างนี้เพราะมันเกี่ยวกับอะไร? เราจะพากันสังเกตเห็นได้ วันนี้ให้เราพากันตั้งใจ ตั้งใจว่าเราจะละมันออก ว่าจะวางมันเสียแล้ว ไม่ไปยึดมั่นหมายในสิ่งเหล่านี้ ความอยากก็ไม่มี เพราะตั้งใจไว้แล้วตั้งแต่เมื่อเช้านี้ ตอนเย็นมาก็คงจะไม่มา รบกวนอีกหรอก ไม่มีความหิวกระหายตามมารบกวนอีก
ทีนี้ถ้าหากว่าเรากลับไปบ้าน เราก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะบังคับตัวเอง ก็กินกันตั้งแต่เช้าไปเรื่อยๆ แล้วแต่ความต้องการ กินกันตลอดกาลตลอดเวลา เพราะไม่ได้ตั้งข้อวัตรอะไร พอแม่บ้านตำแจ่ว (น้ำพริกอีสาน) ป๊อกๆ ๆ ๆ เสียงลูกเรียกว่า มาเถอะพ่อ มากินข้าว ก็รีบไป ไม่หิวก็กิน อันนี้ก็เลยทำเป็นปลิโพธกังวลหลายๆ อย่าง แต่เรามาทำกิจอันนี้ให้น้อยลง ถ้ากิจทางนอกมันน้อยลง ใจของเราก็ไม่พัวพัน ผูกกังวลมาก มันก็สบาย อันนี้เป็นข้อวัตรข้อหนึ่งที่ท่านบัญญัติไว้ไม่ ให้กินข้าวมื้อเย็น เพื่อให้มันเบาจิตใจ ไม่มีความกังวล เวลานั่งสมาธิภาวนาให้มันมีความสงบระงับ
สอง ท่านไม่ให้แต่งเนื้อแต่งตัว ทาแป้งประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ด้วยของหอมเครื่องย้อมเครื่องทาต่างๆ อันนี้เป็นเพราะอะไร? ธรรมดาจิตของเราถ้าไปสัมผัสถูกกลิ่นหอมอะไรเข้า ก็คิดปรุงแต่งไปหลายๆ อย่างหลายประการ เป็นกามคุณ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วทำให้จิตใจวิตกกังวลไปต่างๆ นานา เหมือนกับเราได้กลิ่นของสบู่หอม น้ำหอม เหล่านี้เป็นต้น ก็ปรุงแต่งขึ้นมา เพราะความหอมนั้นมากระทบ เกิดวิตกวิจารณ์ไปหลายๆ อย่าง ปรุงแต่งไป เรื่อยๆ หาความสนุกสนานรื่นเริงบันเทิง ดังนั้นท่านจึงบัญญัติไม่ให้ทาแป้ง ไม่ให้แต่งตัวผิดปกติ ให้นุ่งห่มธรรมดาๆ อันนี้ทำให้ไม่มี ปลิโพธกังวล มีแต่ความสบายๆ
สาม ท่านไม่ให้นั่งนอนที่นอนสูง ที่นอนใหญ่ นอนฟูก นอนเบาะอันอ่อนนุ่ม (หมายเหตุ 2) เป็นเพราะอะไร? มันยิ่งจะไม่ภาวนาดี หรือ นอนที่นอนอ่อนๆ นุ่มๆ ห้ามทำไม? คนเราถ้าได้นอนเบาะนอนฟูกอ่อนๆ นั้น ใจจะวิตกกังวล ปรุงแต่งไปมากมายหลายๆ อย่าง เพราะร่างกายของเรามันกระทบวัตถุอันอ่อนนุ่ม ก็จะเกิดความดำริขึ้นในใจ ซึ่งเป็นราคะ โทสะ โมหะ มันก็ปรุงแต่งไปเป็นเหตุให้ใจของเราวุ่นวายในกามสุขนั่น จะทำสมาธิก็ไม่สงบได้ง่าย ไม่เป็นของง่าย อันนี้เป็นวัตรสามข้อ ที่บัญญัติไว้ก็ไม่ใช่เพื่ออะไรหรอก เพื่อทำไม่ให้จิตใจของเราไปกังวลอยู่กับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เมื่อเราประกอบกิจปฏิบัติภาวนา ถ้านำเอามารวมกับอันเก่า (ศีลห้า) ก็รวมเป็นศีลแปด ให้พากันเข้าอยู่รักษาในอุโบสถศีล เพราะวันนี้เป็นวันประพฤติปฏิบัติ
ฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจึงทรงวางข้อวัตรไว้ให้พวกเราทั้งหลายว่า เมื่อถึงวันพระ หรือวันอุโบสถศีล ก็ให้พากันมาอบรมบ่มนิสัย หนุ่มๆ สาวๆ ก็มาได้ ถึงมาแล้วอยู่จำศีลไม่ได้ ก็ให้ฟังธรรมะแล้วก็กลับบ้าน วันนี้ถ้าเราได้ฟังธรรมะแล้วใจของเราก็สบาย เมื่อมีราคะ โทสะ โมหะเกิดขึ้นมา เราก็รู้เท่าทันได้ จึงต้องมาฝึกหัดจิตของเราให้มีความชำนาญ อันนี้เป็นผลประโยชน์ที่เกิดจากการมาประพฤติปฏิบัติในวันธรรมสวนะนี้ แต่ว่าก็ให้ญาติโยมทั้งหลายพากันประพฤติปฏิบัติจริงๆ อย่าสักแต่ว่ามาเปล่าๆ มาเล่นที่วัดเฉยๆ เท่านั้น ให้พากันพิจารณาเอาไปประพฤติปฏิบัติด้วย อย่างที่เราสมาทานศีลข้อที่หนึ่ง เป็นเพราะอะไร? ท่านจึงบอกไม่ให้เบียดเบียนกัน ดีไหม?
ข้อที่สอง คนเราไม่ให้ข้ามสิทธิ์กัน ไม่ให้ขโมยของกันและกัน
ข้อที่สาม ไม่ให้นอกใจกัน
ข้อที่สี่ ไม่ให้โกหกเหลวไหล
ข้อที่ห้า ไม่ให้กระทำความย้อมจิตของเราให้มัวเมา
แต่ละข้อๆ นี้ เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกันทั้งหมด ถ้าหากว่า บุคคลทั้งหลายไม่พากันอบรมจิตใจ ใจของเราก็ไม่ตื่นไม่รู้ ใจของเราก็ไม่เห็น ไม่รู้จักอุปการคุณของครูบาอาจารย์ ของพ่อแม่ อย่างเราเป็นลูกอย่างนี้ โดยมากเราไม่ค่อยเอาใจใส่ ไม่ค่อยนึกถึงพระคุณของพ่อ พระคุณของแม่ เป็นเพราะอะไร? เพราะไม่รู้จักความเป็นจริง เรื่องของพ่อแม่นี้ ท่านตรัสไว้ว่า มาตาปิตุ อุปฏฐานัง ปฏิบัติบิดามารดาของตนให้เป็นสุข การปฏิบัติมารดาบิดาของตนให้เป็นสุขนั้นทำอย่างไร? เป็นเพราะอะไรจึงต้องปฏิบัติให้ท่านมีความสุข? เราก็ควรรู้จักว่าพ่อแม่ที่ท่านเลี้ยงเรามานั้นท่านมีบุญคุณต่อเรามากเท่าไร? อันนี้ให้เรานำมาพิจารณาดู ตั้งแต่แรกที่เราเกิดขึ้นมา เราจะต้องปฏิสนธิอยู่ในครรภ์ของมารดาอยู่หลายเดือน มารดาก็ต้องอุ้มท้องไปๆ มาๆ อยู่ตลอดเวลา ชีวิตของแม่นั้นตั้งแต่รู้ว่าลูกได้อุบัติเกิดขึ้นในครรภ์ ก็ไม่รู้ว่าชีวิตของตัวเองจะดำรงอยู่หรือจะต้องตาย ต้องทุกข์ยากลำบาก ต้องประคับประคองทะนุถนอม และก็ไม่ใช่ว่าจะต้องประคับประคอง แต่เฉพาะอยู่ในครรภ์เท่านั้น เมื่อออกมาแล้วตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่ก็ ยังตามประคับประคองปกป้องรักษาอยู่ ฉะนั้นบุคคลที่ไม่รู้จักบุญคุณ ไม่รู้จักกตัญญูกตเวที ซึ่งคิดแล้วก็เหมือนสัตว์เดรัจฉาน พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เหมือนสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย เราจะสังเกตดูได้ว่าสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายที่มันเกิดขึ้นมานั้น มันไม่รู้จักพ่อไม่รู้จักแม่ และมนุษย์เราทั้งหลายท่านก็ไม่ให้เป็นไปอย่างนั้น
คำว่ามนุษย์นั้นสูงมาก สูงกว่าสัตว์ทั้งหลาย หรือจะเรียกว่า เป็นชาติที่สูงที่สุดก็ว่าได้ จะไปต่อไปอีกไม่มี มีแต่จะต้องหวนกลับมา บังเกิดเป็นมนุษย์นี้อีก (โลกมนุษย์เป็นแหล่งสถานที่สำหรับสร้างบารมีให้บรรลุถึงมรรคผล พ้นวัฏฏสงสารสู่แดนแห่งนิพพานได้) พระพุทธเจ้าท่านก็มาสร้างบารมีในชาติมนุษย์นี้ พระสาวกทุกๆ องค์ก็ต้องมาสร้างบารมีที่นี่ หรือจะเป็นพระอรหันต์เจ้าทุกๆ องค์ ที่ท่านทั้งหลายสิ้นอาสวะกิเลสแล้ว ก็จะต้องมาบังเกิดเป็นมนุษย์เสียก่อน จะไปจุติเป็นอินทร์ พรหม ยม ยักษ์ เป็นสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ไปไม่เป็น (ไปได้ไม่สิ้นสุด สร้างบารมีเพื่อถึงมรรคผลนิพพานไม่ได้)
ฉะนั้นมนุษย์เราทั้งหลายจึงควรมาฝึก พระบรมศาสดาท่านจึงฝึก ฝึกบุคคลที่ควรจะฝึกได้ เราก็เป็นบุคคลที่ควรฝึกตัวเองเหมือนกัน พระพุทธเจ้าท่านทรงเห็นว่า พวกเราทั้งหลายเป็นบุคคลที่ควรฝึก เราก็มาพิจารณาดูอีกว่า ทำไมจึงควรฝึกตัวเอง? โอ! มันก็ควรนั่นแหละ ถ้าตัวไม่ได้ฝึกตัวของตัวเอง ใครจะมาฝึกให้เรา เท้าของเรามันพาเดินเข้าป่า ถ้าเราไม่ดูหนามให้ตัวเอง ใครจะมาดูแลให้เรา อันตรายทั้งหลายจะเกิดมีแก่เรา ถ้าเราไม่ระวังรักษา ใครจะมาระวังรักษาให้เรา ฉะนั้นจึงควรฝึกตัวเอง ควรฝึกระวังรักษาตนเอง ควรให้เข้าใจในธรรมะทั้งหลาย เมื่อเข้าใจในธรรมะทั้งหลายแล้ว เราทั้งหลายก็พากันอยู่เย็นเป็นสุข มีความสงบระงับ อยู่ตามธรรมชาติของเรา ไม่มีการอิจฉาหรือพยาบาทกัน
ธรรมะทั้งหลายคืออะไร? ที่เรียกว่าฟังธรรมหรือธรรมะคือ อะไร? ธรรม คือธรรมชาติทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งที่มันเป็นรูปหรือไม่มีรูป อยู่ในสกลโลกอันนี้ ตลอดจนถึงต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์ สัตว์เดรัจฉาน หรือมนุษย์ทั้งหลายเหล่านี้ รวมกันเป็นธรรมหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านจึงให้พิจารณาธรรม เป็นเพราะอะไรจึงให้พิจารณาธรรม? เพราะถ้าคนไม่รู้จักธรรมะแล้วจะเป็นทุกข์ ถ้ารู้จักธรรม รู้จักพิจารณาธรรม ว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ธรรมชาติเหล่านี้ มันจะมีกฎความเป็นจริงของมันอยู่ กฎธรรมชาติที่มนุษย์เราทั้งหลายหรือสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย จะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ แก้กฎของธรรมชาติอันนี้ไม่ได้ กฎของดิน น้ำ ของไฟ ของลม ของดินฟ้าอากาศ ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ กฎของมันคืออะไร? กฎของมันคือ เบื้องต้นของการบังเกิดขึ้นมา อันนี้คือกฎของธรรมชาติหรือกฎของธรรมะ ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีการเกิดขึ้นมาเป็นเบื้องต้น เรียกว่ากฎของมัน ตามเหตุตามปัจจัย เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็จะค่อยๆ แปรเปลี่ยนไป ไหลไป ไหลไป จากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ไหลไปๆ ไหลไปเรื่อยๆ เมื่อเราเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีความเปลี่ยนแปลงไปตามกาล เปลี่ยนไปๆ อายุก็ไหลไปๆ ไหลจาก เด็กไปหาหนุ่ม ไหลจากหนุ่มไปหาความแก่เฒ่าชรา และความตาย อันนี้แหละความแปรเปลี่ยนของมันมีอยู่ ความแปรเปลี่ยนของธรรมชาติ ไม่มีความยั่งยืนถาวร ถ้าหากว่าเรายังไม่เห็น ก็หวนกลับมาดูสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ ตัวเราก็ได้มองออกไปดูต้นไม้ มองดูแผ่นดินนั่น ดูซิ! มันเปลี่ยนแปรไหม? หรือมันยังเหมือนเดิม คงสภาพเดิมอยู่ เห็นไหมว่า มันก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา
ทีนี้ก็มองย้อนกลับมาดูตัวของเราเอง ว่ามันจะทรงสภาพเหมือนเดิม เหมือนแต่ก่อนเก่าไปไม่ได้ ตลอดแม้แต่สกลร่างกายของเราอันนี้ มันก็ยังแปรเปลี่ยนไป สภาพธรรมชาติของมัน ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง มันจะไม่คงอยู่เหมือนเดิม อันนี้คือกฎของมันที่จะต้องแปรเปลี่ยนไป ตลอดมาถึงฟัน หู ตา แข้งขา อวัยวะของเราทั้งหลาย มันก็แปรไปๆ ความแปรเปลี่ยนไปนี้เรียกว่า กฎของธรรมชาติ หรือ กฎของธรรมดา กฎของธรรมะ หรือ กฎของธรรม ใครๆ ก็จะมาห้ามมันไม่ได้ ห้ามมันไม่ฟัง จะไปอยู่ที่ไหนๆ ก็ตาม ถึงจะหนีไปอยู่ในมหาสมุทรก็ช่างเถอะ มันก็ต้องแปรเปลี่ยนไป หรือจะหนีไปซ่อนอยู่ในกลีบเมฆก็ตาม มันจะต้องแปรเปลี่ยนไปอย่างนี้ จะมีแต่ความแปรไปเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปไม่หยุดยั้ง มีแต่มันจะไหลไป ไหลไปตามกาลเวลา อันนี้เรียกว่ากฎของธรรมะ
เราไม่รู้จักว่าธรรมะคืออะไร? ธรรมะคือสัตว์ คือมนุษย์นี่ คือ สัตว์เดรัจฉาน คือต้นไม้ คือแผ่นดินนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างนี้เราเรียกว่า ธรรมะ และกฎของธรรมะก็คือกฎของธรรมชาติอันนี้ มันก็แปรไปตามเรื่องของมัน แปรไปๆ ๆ
ตัวอย่างที่มันปรากฏชัดให้เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ก็ดูที่ตัวของเราเองนี่แหละ แต่ก่อนเราไม่ได้มีสภาพอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้มันแปรเปลี่ยนมาเป็นอย่างนี้ นั่นแหละธรรมะ มันมีการบังเกิดขึ้นเป็นเบื้องต้นแล้ว มันก็มีการแปรไปๆ แปรไปในท่ามกลาง และแปรไปในที่สุด ผลที่สุดของมันนั้นก็ไม่มีอะไร มีแต่ความเสื่อมสลายแตกดับทำลายไป ท่านจึงบอกว่า อันนั้นไม่ใช่ของของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ให้พิจารณาเอาไว้ อันนี้เราจะไปยึดเอาไม่ได้ เราบอกมันไม่ได้ ห้ามมันไม่ฟัง อันนี้คือกฎของธรรมดา คือกฎของธรรมะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้ามันแปรไปแล้วจะเอาอะไรมาห้ามมันก็ไม่ได้ จะเอาทรัพย์สมบัติมาห้ามมันก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นสังขารที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปรไปอย่างนี้ ทีนี้ถ้าคนไม่รู้จักกฎของธรรมะ เมื่อมาเห็นแล้วก็เกิดความเสียใจ มาเห็นความเปลี่ยนแปรไปอย่างนี้แล้วก็ร้องให้เสียใจ อันนี้คือคนไม่ได้เรียนธรรมะ ไม่รู้จักธรรมะ ไม่รู้จักธรรมะว่าธรรมะนั้นอยู่ที่ไหน? ว่าการปฏิบัติธรรมะคือการปฏิบัติ อย่างไร? ไม่รู้จัก ไม่รู้จักธรรมะก็ไม่รู้จักการปฏิบัติ
การปฏิบัติธรรมะก็คือการมาทำความรู้จักกฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติตามความเป็นจริงนี้แหละ ว่ามันเป็นอย่างนี้ เหมือน กับกล้วย มะพร้าว หมาก ผลไม้ทุกอย่างมันเกิดขึ้นมา แล้วมันก็แก่ ไปๆ เป็นของธรรมดา แล้วผลที่สุดมันก็ร่วงหล่นลงมา เป็นอยู่อย่างนี้ เรื่อยๆ ไป ฉะนั้นจึงว่าต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์ มันก็แปรเปลี่ยนไปอยู่ อย่างนั้น ต้นไม้นั้นถึงฤดูกาลเวียนมา ใบของมันก็ร่วงหล่นไป แล้วมัน ก็แตกผลิกิ่งใบขึ้นมาใหม่ มนุษย์ สัตว์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ที่เป็นรูป ธรรมอันนี้ ฉะนั้นจึงเป็นของไม่นอน จริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เรียกว่า ธรรม แล้วเราปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติอย่างไร? คือมาพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงของมัน ว่า อาการที่มันเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องแปรเปลี่ยนไปนี้ เราห้ามมันไม่ได้ บอกมันก็ไม่เชื่อฟัง จะเอาอำนาจอะไรมาปราบมันก็ไม่ได้ จะหายา อะไรมากินให้มันหายจากการแปรเปลี่ยนไม่ให้ตายไม่ได้ นี่เป็นกฎ ธรรมชาติที่ตายตัว นี่คือความจริง เรามาพิจารณาหาความจริงอันนี้ เรียกว่า สัจจธรรม ถ้าเราเห็นสัจจธรรมแล้วเราก็หมดทุกข์ เพราะ เห็นแล้วว่ามันจะต้องแปรไปอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้มันจะต้องเป็นไปอย่าง นี้ เราก็มาเห็นตามความเป็นจริง ว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้น อันนี้ เรียกว่าธรรมะ เรียกว่าการปฏิบัติธรรมะ เห็นตามความเป็นจริงอยู่ ตลอดกาลตลอดเวลา การยืน การเดิน การนั่ง การนอน เห็นอยู่ รู้อยู่ เป็นอยู่ มองเห็นรูปภายนอกนั้นว่ามันกำลังแปรไป จากเด็กไปเป็นหนุ่มสาว จากหนุ่มสาวแปรไปสู่ความแก่ชรา ผลที่สุดก็แปรไปสู่ความตายเป็นธรรมดา นี่แสดงว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นของไม่แน่นอน
ทีนี้พูดถึงนามธรรมคือจิตใจ จิตใจของเรานี้มันก็แปรไป ไม่คงอยู่เหมือนเก่า จิตใจที่มันยังอยู่เหมือนเก่ามีไหม? ลูกก็ดี หลานก็ดี วัตถุก็ดี วัตถุสิ่งของบางสิ่งบางอย่าง เราเคยรัก เคยชอบ เคยมีความพอใจ แต่พอใช้ไปๆ ก็กลับไม่รัก ไม่ชอบ ไม่พอใจอีก นี่มันก็เป็นของเราอยู่อย่างนี้ อันนี้มันก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน เกิดมีขึ้นแล้วก็แปรไป เปลี่ยนไป ไหลไปตามธรรมดา สิ่งที่มันแปรไปเปลี่ยนไปไม่อยู่เหมือนเดิมคือ สังขาร ที่มันแปรเปลี่ยนท่านเรียกว่าความจริง ฉะนั้นคนที่ไม่ เห็นความจริงก็คือ คนที่เห็นสังขารมันแปรเปลี่ยน แต่ว่าไม่อยากจะให้มันเป็นไปอย่างนั้น ไปกั้น ไปห้าม ไปยึดมั่นหมายมั่นว่า สังขารเหล่านี้เป็นสิ่งมั่นคงถาวร เป็นสาระแก่นสาร เป็นของของตัวเองแล้ว ก็กลับมาเป็นทุกข์ ถ้าคนหลงสังขารแล้วจะเป็นทุกข์มาก ฆ่ากัน ยิง กัน ทุบตีกัน แข่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน ก็เพราะไม่รู้จักธรรมะ ไม่รู้จักสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ว่ามันเป็นธรรมะ เลยเกิดฆ่ากัน ตีกัน แย่งชิงกันขึ้น ถึงกับมีอันต้องล้มหายตายจาก เกิดการจองเวรกัน ก็ต้องมีอันเป็นไป ทุกสิ่งทุกอย่างดังนี้ ก็เพราะคนไม่รู้จักธรรมะ ไม่รู้จักธรรมชาติของธรรมะ บ้านเมืองก็เกิดความเดือดร้อนขึ้นมา ถึงตัวเราเองก็ต้องเดือดร้อน
ฉะนั้นพระบรมศาสดาท่านจึงให้ประพฤติปฏิบัติธรรมหรือ ปฏิบัติธรรมะ คือทำจิตใจของเราให้เข้าไปเห็นตามความเป็นจริงว่า สังขารทั้งหลาย เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วในเบื้องต้น มันก็จะแปรเปลี่ยนไป ตามเรื่องของมัน มีแล้วก็หาไม่ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ว่าจะเป็นของภายนอกหรือภายในก็ตาม (หมายเหตุ 3) ของภายนอกคือแก้วแหวน เงินทอง เมื่อได้มาแล้วก็เสียไป เสียไปแล้วก็ได้มาเป็นธรรมดา นั่นคือ สิ่งที่มันแปรไปเปลี่ยนไป ไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน ของภายในคือ สกลร่างกายของเรา ที่มันมีการเปลี่ยนสภาพไปทุกๆ วัน อย่างวันนี้ก็เหมือนกัน วันนี้ก็ได้อันใหม่แล้วนี่ ฮือ! นั่น ได้ผมเส้นใหม่ ได้ฟันซี่ใหม่ ได้ตาอันใหม่ ได้หนังแผ่นใหม่แล้ว วันนี้ได้อันใหม่ อันเมื่อวานนี้มันตายไปแล้วนะ มาถึงวันนี้เราก็ได้อันใหม่ทั้งหมดนี้ หมดวันนี้ก็ได้ของอันนี้ไปถึงพรุ่งนี้ หมดพรุ่งนี้ก็ทิ้งอันเก่าได้อันใหม่อีก บางครั้งจนหลงกัน จนลืมกัน จนมองกันไม่ออก ไม่รู้จักกัน เป็นเพราะอะไร? ก็เพราะเปลี่ยนไปเป็นคนใหม่ เปลี่ยนตาใหม่ เปลี่ยนหูใหม่ เปลี่ยนหนังใหม่ เปลี่ยนรูปร่างใหม่ เปลี่ยนฟันใหม่ เปลี่ยนไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อมาพบกันก็เลยไม่รู้จักกัน ไม่รู้ก็เลยถามเขาว่า ตัวนั้นเป็นใคร ตัวนั้น อยู่ที่ไหน? อีกคนก็ตอบว่า อ้าว! ตัวจำเราไม่ได้หรือ ตัวหลงเราแล้ว หรือ? จะไม่ให้หลงได้อย่างไรละ ตัวนั้นเป็นคนใหม่ไม่เหมือนคนเก่า นี่นา ถ้าเป็นคนเก่าใครจะหลง ก็เพราะมันเปลี่ยนไปเป็นคนใหม่ถึงได้ หลง จะว่าอย่างไร?
นี่แหละคือลักษณะที่มันเปลี่ยนไป ที่มันเปลี่ยนไปนี้ ใครจะมาบอกมันก็ไม่ฟัง พ้นกฎหมาย กฎหมายบัญญัติตามไม่ทัน มันไม่เชื่อฟังใคร ฟัน ขน ผม เนื้อหนังของเราก็เหมือนกัน ถึงมีอยู่กับใครก็จะต้องมีความแก่ ความเจ็บ ความตายได้ ไม่เฉพาะเจาะจง อยู่แต่มนุษย์เราเท่านั้น แม้แต่เสือตัวดุร้าย มันก็ทำร้ายไม่ได้ ช้างตัวร้ายกาจ มันก็ทำร้ายไม่ได้ กับเรื่องกฎธรรมชาติ มันจะจับเอาไปถอดถอนออกหมดทุกสิ่งทุกอย่าง อันนี้เรียกว่าความจริงของธรรมชาติ มันไม่กลัวใคร