น้ำไหลนิ่ง
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
http://www.geocities.com/Tokyo/Ginza/9697/ajarn_cha6.html
เอ้า ตั้งใจทุกคน อย่าทำจิตให้มันเพ่งไปที่คนโน้นคนนี้ ทำความรู้สึกคล้ายๆ กับเรานั่งอยู่บนภูเขาอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง คนเดียวเท่านั้นแหละ ตัวเราที่นั่งอยู่เฉพาะปัจจุบันนี้มีอะไรบ้าง มีแต่กายกับจิตเท่านั้น โดยตรงจะมีกายกับจิตสองอย่างเท่านั้น กายคือสิ่งทั้งหมดที่เรานั่งอยู่ในก้อนนี้...เป็นกาย จิตก็คือสิ่งที่นึกคิดรับอารมณ์ในปัจจุบันนี้ เรียกว่าจิต ท่านเรียกว่า นามรูป นามหมายถึงสิ่งที่ไม่เป็นรูป ไม่มีรูป จะเป็นความนึกคิดอะไรก็ได้ หรือความรู้สึกทุกอย่าง เรียกว่าเป็นนาม เช่น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้ก็ไม่มีตัวตน เป็นนามธรรม ตาเห็นรูปเรียกว่ารูป เกิดความรู้สึกเป็นนามเรียกว่า รูปธรรม นามธรรม หรือเรียกว่ากายกับจิต
ที่เรานั่งอยู่ปัจจุบันนี้มีกายกับจิต ให้เราเข้าใจอย่างนี้ สิ่งทั้งหลายมันเกิดจากนี้มันมุ่งหลายอย่าง ฉะนั้นถ้าเราต้องการความสงบให้เรารู้รูปกับนามหรือกายกับจิตเท่านี้ก็พอ แต่จิตที่มีอยู่เดี๋ยวนี้เป็นจิตที่ยังไม่ได้ฝึก จิตนี้ยังสกปรก จิตนี้ยังไม่สะอาดไม่ใช่จิตเดิม จำเป็นจะต้องฝึกหัดจิตอันนี้ ดังนั้นท่านจึงให้สงบเป็นบางครั้ง
บางคนเข้าใจว่าการนั่งนี้แหละเป็นสมาธิ แต่ความเป็นจริง การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ก็เป็นการปฏิบัติทั้งนั้น ทำสมาธิให้เกิดได้ทุกขณะ สมาธิหมายตรงเข้าไปว่า ความตั้งใจมั่น การทำสมาธิไม่ใช่การไปกักขังตัวไว้ บางคนก็เข้าใจว่า ฉันจะต้องหาความสงบ จะไปนั่งไม่ให้มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นเลย จะไปนั่งเงียบๆ อันนั้นก็คนตาย ไม่ใช่คนเป็น การทำสมาธิคือทำให้รู้ทำให้เกิดปัญญา ทำให้มีปัญญา สมาธิคือความตั้งใจมั่นมีอารมณ์อันเดียว อารมณ์อันเดียวคืออารมณ์อะไร คืออารมณ์ที่ถูกต้อง นั้นแหละเรียกว่าอารมณ์เดียว ธรรมดาคนเราอยากจะไปนั่งให้มันเงียบเฉยๆ โดยมากนักศึกษานักเรียนเคยมากราบอาตมาว่า ดิฉันนั่งสมาธิมันไม่อยู่ เดี๋ยวมันก็วิ่งไปโน้น เดี๋ยวมันก็วิ่งไปนี้ ไม่รู้จะทำอย่างไรจึงจะให้มันหยุด ของนี้เป็นของหยุดอยู่ไม่ได้ไม่ใช้ว่าไม่ให้มันวิ่ง มันเกิดความรู้สึกขึ้นในที่นี้ บางคนก็มาฟ้อง มันวิ่งไปฉันก็ดึงมันมา ดึงมันมาอยู่ที่นี้ เดี๋ยวมันก็เดินไปที่นั้นอีก...ดึงมันมา มันก็เลยนั่งดึงอยู่อย่างนั้นแหละ
จิตอันนี้เข้าใจว่ามันวิ่ง แต่ความเป็นจริงมันวิ่งแต่ความรู้สึกของเราอย่างศาลาหลังหนึ่ง แหม มันใหญ่เหลือเกิน มันก็ไม่ใหญ่หรอก ที่ว่าใหญ่มันเป็นเพราะความรู้สึกของเราว่ามันใหญ่เท่านั้น ศาลาหลังนี้มันไม่ใหญ่ แต่เรามาเห็น แหม ศาลานี้มันใหญ่เหลือเกิน ไม่ใช่ศาลามันใหญ่อย่างนั้น มันเป็นแต่ความรู้สึกของเราว่ามันใหญ่ ความเป็นจริงศาลาแห่งนี้มันก็เท่านั้น มันไม่ใหญ่ไม่เล็ก มันเป็นอย่างนี้ อย่างนั้นเราก็วิ่งไปตามความรู้สึกนึกคิดของเรา
การภาวนาให้มันสงบ คำว่าสงบนั้น เราจะต้องรู้เรื่องของมัน ถ้าไม่รู้เรื่องของมัน มันก็ไม่สงบ ยกตัวอย่างเช่นว่า วันนี้เราเดินทางมาจากไหนก็ไม่รู้ ปากกาที่เราซื้อมาตั้งห้าร้อยบาท หรือพันบาท เรารักมัน พอเดินมาถึงที่นี้ บังเอิญเราเอาปากกาไปวางในที่หนึ่งเสีย เช่น เอาใส่กระเป๋าหน้า อีกวาระหนึ่งเอาใส่ในกระเป๋าหลัง ก็เลยมาคลำดูกระเป๋าหน้า ไม่เห็นเสียเลย โอ๊ย! ตกใจแล้ว ตกใจ เพราะมันไม่รู้ตามความเป็นจริง มันก็วุ่นวายอยู่อย่างนั้น จะยืน จะเดิน จะเหินไปมาก็ไม่สบาย นึกว่าปากกาของเราหาย ก็เลยทุกข์ไปด้วยเพราะความรู้สึก คิดผิด รู้ผิด เช่น นี้มันเป็นทุกข์ ทีนี้เราก็กังวล กังวลไปกังวลมา แหม มันเสียดายปากกาเพิ่งเอามาใช้ไม่กี่วันมันก็หาย มีความกังวลอยู่อย่างนี้ อีกขณะหนึ่งนึกขึ้นมา อ๋อ เราไปอาบน้ำตรงนั้น จับมาใส่กระเป๋าหลังตรงนี้ แน่ะ พอนึกได้เช่นนี้ ยังไม่เห็นปากกาเลย ดีใจเสียแล้ว นั่นเห็นไหม ดีใจเสียแล้ว ไม่กังวลในปากกานั้น มันแน่ใจแล้วเดินมาก็คลำดูในกระเป๋าหลังนี้ นี่อย่างนี้ มันโกหกเราทั้งนั้นแหละปากกาไม่หาย มันโกหกว่ามันหาย เราก็ทุกข์เพราะความไม่รู้ จิตมันก็กังวลเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้น ที่นี้เมื่อเห็นปากกาแล้ว รู้แน่แล้ว หายสงสัยแล้ว มันก็สงบ ความสงบเช่นนี้เรียกว่าเห็นต้นตอมัน เห็นตัวสมุทัยอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ พอเรารู้จักว่าเราเอาไว้ในกระเป๋าหลังนี้แน่นอนแล้ว มันเป็นนิโรธดับทุกข์ มันเป็นเสียอย่างนี้
อย่างนั้นต้องพิจารณาหาความสงบ ที่ว่าเราทำสงบหรือสมาธินี้มันสงบจิตไม่ใช้สงบกิเลสหรอก เรานั่งทับมันไปให้มันสงบเฉยๆ เหมือนกับหินทับหญ้า หญ้ามันก็ดับไปเพราะหินมันทับอีกสามสี่ห้าวันเรามายกหินออก หญ้ามันก็เกิดขึ้นอีก แปลว่าหญ้ามันยังไม่ตาย คือมันระงับเฉยๆ เช่นเดียวกับนั่งสมาธิ มันสงบจิตไม่ใช่สงบกิเลส คือมันระงับเฉยๆ เช่นเดียวกับนั่งสมาธิ มันสงบจิตไม่ใช่สงบกิเลส นี่เรื่องสมาธิจึงเป็นของไม่แน่นอน ฉะนั้นการที่สงบนี้เราจะต้องพิจารณา สมาธิก็สงบแบบหนึ่ง แบบหินทับหญ้า หลายวันไปยกหินออกจากหญ้า หญ้าก็เกิดขึ้นอีก นี่สงบชั่วคราว สงบด้วยปัญญาคือไม่ยกหินออก ทิ้งมันไว้อย่างนั้นทับมันไว้ไม่ยกหินออก หญ้ามันเกิดไม่ได้ นี่เรียกว่าสงบแท้ สงบกิเลสแน่นอน นี่เรียกว่า ปัญญา
ตัวปัญญากับตัวสมาธินี้ เมื่อเราพูดแยกกันออกก็คล้ายๆ คนละตัว แต่ความเป็นจริงมันเป็นตัวเดียวกันนั่นเองแหละ ตัวปัญญามันเป็นเครื่องเคลื่อนไหวของสมาธิเท่านั้น มันออกจากจิตอันนี้เองแต่มันแยกกันออกไป มันเป็นคนละลักษณะ เหมือนมะม่วงใบนี้ มะม่วงใบนี้ก็คือมะม่วงใบเดียวกัน ไม่ใช่คนละใบมันเล็กก็ใบนี้ มันโตก็ใบนี้ มันสุกก็ใบนี้ แต่มันเปลี่ยนลักษณะเราปฏิบัติธรรม อาการอย่างหนึ่งท่านเรียกว่าสมาธิ อาการอย่างหลังท่านเรียกว่าปัญญา แต่ความเป็นจริง ไม่ใช่คนละอย่าง เหมือนมะม่วงใบเดียวกัน ผลมันเล็กก็ใบนั้นมันสุกก็ใบนั้น ใบเดียวนั่นแหละ แต่ว่ามันเปลี่ยนอาการเท่านั้น
ความจริงการปฏิบัตินี้ อะไรก็ช่างมัน ให้เริ่มออกจากจิตให้เริ่มจากจิต รู้จักจิตของเราไหม จิตเรามันเป็นอย่างไร มันอยู่ที่ไหน มันเป็นอะไร ก็คงงงหมดทุกคน จิตมันเป็นอย่างไร จิตอยู่ตรงไหนไม่รู้ ไม่รู้จัก รู้จักแต่ว่าเราอยากจะไปโน่น อยากจะไปนี่ มันเป็นสุขหรือมันเป็นทุกข์ แต่ตัวจิตจริงๆ นี้มันก็รู้ไม่ได้ จิตนี้มันคืออะไร จิตนี้ก็ไม่มีอะไร มันจะคีออะไรล่ะจิตนี้ เราสมมติขึ้นมาว่า สิ่งที่มันรับอารมณ์ดีอารมณ์ชั่วทั้งหลายเป็นจิตเหมือนกับเจ้าของบ้าน ใครรับแขกเป็นเจ้าของบ้าน แขกจะมารับเจ้าของบ้านไม่ได้หรอก เจ้าของบ้านต้องอยู่บ้าน แขกมาหาเจ้าของบ้านต้องรับ
ใครรับอารมณ์ ใครเป็นผู้รับอารมณ์ ใครปล่อยอารมณ์ ใครเป็นผู้ปล่อยอารมณ์ ตรงนั้นแหละท่านหมายถึงว่า จิตใจ แต่เราไม่รู้เรื่อง ก็มาคิดวนไปเวียนมา อะไรเป็นจิต อะไรเป็นใจ เลยวุ่นกันจนเกินไป เราอย่าเข้าไปเข้าใจมากถึงขนาดนั้นซิ อะไรมันรับอารมณ์ อารมณ์บางอย่างมันชอบ อารมณ์บางอย่างมันไม่ชอบ นี้คือใคร ที่ชอบไม่ชอบนี่ มีไหม มี แต่มันเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ เข้าใจไหม? มันเป็นอย่างนี้แหละ ตัวนี้แหละที่เรียกว่าจิต อย่าไปดูมันไกลเลย
การปฏิบัติธรรมนี้จะเรียกว่าสมาธิหรือวิปัสสนาก็ช่าง เราเรียกว่าปฏิบัติธรรมเท่านี้ก็พอและก็ดำเนินจากจิตของเราขึ้นมา จิตคืออะไร คือผู้ที่รับอารมณ์นั่นแหละ มันถูกอารมณ์นี้ก็ดีใจบ้าง อารมณ์นั้นเสียใจบ้าง ตัวที่รับอารมณ์นั่นแหละ มันพาเราสุขพาเราทุกข์ มันพาเราผิดมันพาเราถูก ตัวนั้นแหละ แต่ว่าเราไม่มีตัว สมมติว่าถ้าเป็นตัวเฉยๆ แต่ว่าเป็นนามธรรม ดีมีตัวไหม