#echo banner="" ข้อควรระวัง หลวงพ่อชา/

ข้อควรระวัง

ตัดตอนจาก การบรรยายที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐

พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)

วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี

คัดลอกจาก “ธรรมะ หลวงพ่อชา”

รวบรวม การบรรยายธรรม ของ หลวงพ่อชา สุภัทโท (พระโพธิญาณเถร)

http://www.geocities.com/uu2uu/achar/cha12.html

ซึ่งจัดทำโดยคุณเจริญชัย เจริญทั้งเมือง

ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๙

สิ่งที่ควรระวัง

การทำสมาธินี้ อาจให้โทษแก่ผู้ปฏิบัติได้ ถ้าผู้ปฏิบัติไม่ใช้ ปัญญา และก็ย่อมให้คุณแก่ผู้ปฏิบัติได้มาก ถ้าผู้ปฏิบัติเป็นผู้มี ปัญญา สมาธิก็จะส่งจิตไปสู่วิปัสสนา

สิ่งที่เป็นโทษแก่ผู้ปฏิบัตินั้น ก็คือการที่ผู้ปฏิบัติหลงติดอยู่ใน อัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นความสงบลึก และมีกำลังอยู่นานที่สุด เมื่อจิต สงบก็เป็นสุข เมื่อเป็นสุขแล้วก็เกิดอุปาทาน ยึดสุขนั้นเป็นอารมณ์ ไม่ อยากจะพิจารณาอย่างอื่น อยากมีสุขอยู่อย่างนั้น เมื่อเรานั่งสมาธิอยู่ นานๆ จิตมันจะถลำเข้าไปง่าย พอเริ่มกำหนดมันก็สงบ แล้วก็ไม่ อยากทำอะไร ไม่อยากออกไปไหน ไม่อยากพิจารณาอะไร อาศัย ความสุขนั้นเป็นอยู่ อันนี้เป็นอันตรายแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติอย่างหนึ่ง จิตต้องอาศัยอุปจารสมาธิ คือกำหนดเข้าไปสู่ความสงบแล้ว พอสมควร ก็ถอนออกมารู้อาการภายนอก ดูอาการภายนอกให้เกิด ปัญญา

อันนี้ดูยากสักหน่อยหนึ่ง เพราะมันคล้ายๆ จะเป็นสังขาร ความปรุงแต่ง เมื่อมีความคิดเกิดขึ้นมา เราอาจจะเห็นว่าอันนี้มันไม่ สงบ ความเป็นจริงความรู้สึกนึกคิดในเวลานั้น มันรู้สึกอยู่ในความ สงบ พิจารณาอยู่ในความสงบ แล้วก็ไม่รำคาญ บางทีก็ยกสังขารขึ้น มาพิจารณา ที่ยกขึ้นมาพิจารณานั้น ไม่ใช่ว่าคิดเอา หรือเดาเอา มัน เป็นเรื่องของจิตที่เป็นขึ้นมาเองของมัน อันนี้เรียกว่า ความรู้อยู่ใน ความสงบ ความสงบอยู่ในความรู้ ถ้าเป็นสังขารความปรุงแต่ง จิต มันไม่สงบ มันก็รำคาญ แต่อันนี้ไม่ใช่เรื่องปรุงแต่ง มันเป็นความรู้สึก ของจิตที่เกิดขึ้นจากความสงบ เรียกว่าการพิจารณา นี่ปัญญาเกิด ตรงนี้

สมาธิทั้งหลายเหล่านี้ แบ่งเป็นมิจฉาสมาธิอย่างหนึ่ง คือเป็น สมาธิในทางที่ผิด เป็นสัมมาสมาธิอย่างหนึ่ง คือเป็นสมาธิในทางที่ ถูกต้อง นี้ก็ให้สังเกตให้ดี

มิจฉาสมาธิ คือความที่จิตเข้าสู่สมาธิ เงียบ...หมด...ไม่รู้อะไร เลย ปราศจากความรู้ นั่งอยู่สองชั้วโมงก็ได้ กระทั่งวันก็ได้ แต่จิตไม่รู้ ว่ามันจะไปถึงไหน มันเป็นอย่างไร ไม่รู้เรื่อง นี่สมาธิอันนี้เป็นมิจฉา สมาธิ มันก็เหมือนมีดที่เราลับไห้คมดีแล้วแต่เก็บไว้เฉยๆ ไม่เอาไปใช้ มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร อย่างนั้น ความสงบอันนั้นเป็นความสงบที่ หลง คือว่าไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัว เห็นว่าถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่ค้นคว้าอะไรอีก ต่อไป จึงเป็นอันตราย เป็นข้าศึกในขั้นนั้น อันนี้เป็นอันตราย ห้าม ปัญญาไม่ให้เกิด ปัญญาเกิดไม่ได้ เพราะขาดความรู้สึกรับผิดชอบ ส่วนสัมมาสมาธิที่ถูกต้อง ถึงแม้จะมีความสงบไปถึงแค่ไหน ก็มีความรู้อยู่ตลอดกาล ตลอดเวลา มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บริบูรณ์ รู้ตลอดกาล นี้เรียกว่าสัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่ไม่ให้หลงไป ในทางอื่นได้ นี่ก็ให้นักปฏิบัติเข้าใจไว้ให้ดี จะทิ้งความรู้นั้นไม่ได้ จะ ต้องรู้แต่ต้นจนปลายทีเดียว จึงจะเป็นสมาธิที่ถูกต้อง ขอให้สังเกตให้ มาก สมาธิชนิดนี้ไม่เป็นอันตราย

เมื่อเราเจริญสมาธิที่ถูกต้องแล้ว อาจจะสงสัยว่ามันได้ผลที่ ตรงไหน มันจะเกิดปัญญาที่ตรงไหน เพราะท่านตรัสว่า สมาธิเป็น เหตุให้เกิดปัญญาวิปัสสนา สมาธิที่ถูกต้อง เมื่อเจริญแล้วมันจะมี กำลังให้เกิดปัญญาทุกขณะ ในเมื่อตาเห็นรูปก็ดี หูฟังเสียงก็ดี จมูก ดมกลิ่นก็ดี ลิ้นลิ้มรสก็ดี กายถูกต้องโผฏฐัพพะก็ดี ธรรมารมณ์เกิด กับจิตก็ดี อิริยาบถยืนก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี จิตจะไม่เป็นไปตามอารมณ์ แต่จะเป็นไปด้วยความรู้ตามเป็นจริงของธรรมะ

ฉะนั้นการปฏิบัตินี้ เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่เลือก สถานที่ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนก็ตาม จิตมันเกิดปัญญาแล้ว เมื่อมีสุขเกิดขึ้นมาก็รู้เท่า มีทุกข์เกิดขึ้นมาก็รู้เท่า สุขก็สักว่าสุข ทุกข์ก็ สักว่าทุกข์เท่านั้น แล้วก็ปล่อยทั้งสุขและทุกข์ ไม่ยึดมั่นถือมั่น เมื่อสมาธิถูกต้องแล้ว มันทำจิตให้เกิดปัญญา อย่างนี้เรียก ว่า วิปัสสนา มันก็เกิดความรู้เห็นตามเป็นจริง นี้เรียกว่า สัมมาปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง มีอิริยาบถ สม่ำเสมอกัน คำว่าอิริยาบถสม่ำเสมอกันนี้ ท่านไม่ได้หมายเอา อิริยาบถภายนอกที่ว่า ยืน เดิน นั่ง นอน แต่ท่านหมายเอาทางจิตที่มี สติสัมปชัญญะอยู่นั่นเอง แล้วก็รู้เห็นตามเป็นจริงทุกขณะ คือมันไม่ หลง

ความสงบนี้มีสองประการคือ ความสงบอย่างหยาบหนึ่ง และความสงบอย่างละเอียดอีกอย่างหนึ่ง อย่างหยาบนั่นคือเกิดจาก สมาธิ ที่เมื่อสงบแล้วก็มีความสุข แล้วถือเอาความสุขเป็นความสงบ อีกอย่างหนึ่งคือความสงบที่เกิดจากปัญญา นี้ไม่ได้ถือเอาความสุข เป็นความสงบ แต่ถือเอาจิตที่รู้จักพิจารณาสุขทุกข์เป็นความสงบ เพราะว่าความสุขความทุกข์นี้ เป็นภพ เป็นชาติ เป็นอุปาทาน จะไม่ พ้นจากวัฏฏสงสาร เพราะติดสุข ติดทุกข์ ความสุขจึงไม่ใช่ความสงบ ความสงบจึงไม่ใช่ความสุข ฉะนั้นความสงบที่เกิดจากปัญญานั้น จึง ไม่ใช่ความสุข แต่เป็นความรู้เห็นตามความเป็นจริงของความสุข ความทุกข์ แล้วไม่มีอุปาทานมั่นหมายในสุขทุกข์ที่มันเกิดขึ้นมา ทำ จิตให้เหนือสุขเหนือทุกข์นั้น ท่านจึงเรียกว่าเป็นเป้าหมายของพุทธ ศาสนาอย่างแท้จริง

หมายเหตุจากผู้จัดทำ (คุณเจริญชัย เจริญทั้งเมือง)

เดิมเรื่อง ข้อควรระวัง นี้เป็นบทแทรกอยู่ตอนท้ายของเรื่อง มรรคสามัคคี แต่ในภายหลังได้มีการเรียบเรียงเรื่อง มรรคสามัคคี ขึ้น มาใหม่ และเนื่องจากเรื่องที่เรียบเรียงใหม่นั้นมีความจบสมบูรณ์ด้วย ตัวของมันเอง จึงได้ยกเรื่อง ข้อควรระวัง มาไว้ ณ ที่นี้ การบันทึกข้อมูลนี้ ผมได้ใช้ต้นฉบับจากสองแหล่งคือ ใช้ หนังสือ หลวงพ่อชา เล่มสอง ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ชมสมัย เป็นต้นฉบับหลัก และหนังสือ นอกเหตุเหนือผล ของสำนักพิมพ์ ธรรมสภา ในการตรวจสอบข้อความที่สงสัยว่าจะสะกดผิด มีการปรับปรุงตำแหน่งการเว้นวรรคและย่อหน้าให้เหมาะสม แต่ได้คงข้อความเดิมไว้ทั้งหมด ยกเว้นมีการแก้ไขเพียงจุดเดียว ซึ่ง เป็นจุดที่คาดว่าจะสะกดผิด จึงทำการเทียบต้นฉบับทั้งสองแล้วเห็นว่าผิดจริง ดังนั้นได้แก้ไขโดยไม่ได้ลงหมายเหตุไว้