ทางพ้นทุกข์
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
http://www.geocities.com/Tokyo/Ginza/9697/ajarn_cha3.html
วันนี้ได้รับอนุญาตจากท่านอาจารย์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส ให้แสดงธรรม แก่พุทธบริษัททั้งหลาย ที่มานั่งประชุม ณ ที่นี้ ดังนั้น ขอพุทธบริษัททั้งหลาย จงตั้งใจ ให้อยู่ในความสงบ เพราะว่าการแสดงธรรมวันนี้ มีความจำเป็นเกี่ยวกับภาษา จะต้องตั้งใจฟังล่ามที่จะแปลไป มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจ
เมื่อได้มาพักอยู่ที่นี่ อาตมารู้สึกมีความสบายใจ เพราะว่าทั้งท่านอาจารย์ก็ดี ทั้งสานุศิษย์ก็ดี ทำความพอใจ หน้ายิ้มแย้มแจ่มใส สมกับเป็นผู้ได้ประพฤติ ปฏิบัติธรรม อันแท้จริง เมื่อได้มาเห็นสถานที่ซึ่งท่านอยู่อาศัยก็เลื่อมใส แต่บ้านหลังใหญ่นี้ใหญ่เหลือเกิน คิดสงสารท่านเหมือนกัน ในการบูรณะสร้างที่อยู่เพื่อปฏิบัติธรรมต่อไป
อาตมาเคยลำบากมาแล้ว เป็นอาจารย์มาหลายปี ตั้งต้นสอนจริงๆ จังๆ มาประมาณเกือบ ๓๐ ปี ขณะนี้มีวัดสาขาน้อยใหญ่ที่ขึ้นต่อวัดหนองป่าพง ประมาณ ๔๐ แห่งแล้ว แต่ก็รู้สึกว่ามีศิษย์สอนยาก สอนลำบากเหลือเกิน บางคนรู้แล้วไม่เอาใจใส่ บางคนไม่รู้ ก็ไม่เอาใจใส่ เดี๋ยวนี้เลยคิดอะไรไม่ค่อยจะออก ไม่ทราบว่าทำไมจิตของมนุษย์จึงเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่รู้ก็ไม่ดี แต่บอกให้รู้แล้วก็ยังไม่รับเอา จะทำอย่างไรอีกต่อไป ก็ยังไม่รู้อีกเหมือนกัน เมื่อปฏิบัติไปก็มีแต่เรื่องสงสัยทั้งนั้นแหละ สงสัยอยู่เรื่อยๆ อยากจะไปแต่พระนิพพาน แต่ไม่เดินไปตามทาง อยากจะไปเฉยๆ เท่านั้น มันวุ่น ให้นั่งสมาธิก็กลัว มีแต่ความง่วง ง่วงนอน สิ่งที่เราไม่สอนนั่นแหละชอบปฏิบัติ ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสมาเยี่ยมท่านอาจารย์ จึงเรียน ถามท่านว่าลูกศิษย์ของท่านเป็นอย่างไร ท่านตอบว่าเหมือนกัน นี่ก็เป็นความยุ่งยากอันหนึ่ง เป็นปัญหาอันหนึ่งของครูบาอาจารย์ ที่จะช่วยลูกศิษย์ ธรรมะที่จะกล่าวในวันนี้ เป็นธรรมะที่จะแก้ปัญหาในปัจจุบัน ในเวลาที่เราเกิดมาในชาตินี้ ในวันนี้ เดี๋ยวนี้
พุทธบริษัทบางกลุ่ม ผู้หญิงก็ดี ผู้ชายก็ดี เคยพูดว่าฉันมีธุระมากเกี่ยวแก่การงาน ไม่มีโอกาสที่จะทำความเพียร จะให้ฉันทำอย่างไร อาตมาตอบว่า โยมทำงานนั้น โยมหายใจหรือเปล่า เขาตอบว่าหายใจอยู่ ทำไมโยมมีโอกาสหายใจ เมื่อโยมทำงานอยู่ เขาก็ไม่พูด โยมมีสติอยู่เท่านั้นแหละ ก็มีเวลามากเหลือเกินที่จะทำความเพียร ที่จะทำกรรมฐาน เหมือนกับลมหายใจเข้าออก เราทำงานอยู่ก็หายใจอยู่ นอนอยู่ก็หายใจอยู่ นั่งก็หายใจอยู่ เราทำงานก็หายใจอยู่ นอนอยู่ก็หายใจอยู่ นั่งก็หายใจอยู่ ทำไมมันมีโอกาสหายใจอย่างนั้น ถ้าเรามีความรู้สึกถึงความมีชีวิตของเรา กับลมหายใจนั้น มันก็ต้องมีเวลาอยู่ตลอดกาล
ใครเคยมีความทุกข์ไหม ใครเคยมีความสุขไหม คิดดูซิ เคยไหม นั่นแหละที่ธรรมะเกิดที่ตรงนี้ ที่ปฏิบัติธรรมะก็อยู่ที่ตรงนี้ ใครเป็นสุข ใจมันเป็นสุข ใครเป็นทุกข์ ใจมันเป็นทุกข์ มันเกิดที่ไหน มันดับที่นั่น กายและใจสองอย่างนี้ รวมมีเอามาแล้วทุกคน ไม่ใช่ว่าไม่มีหลักปฏิบัติ หลักปฏิบัติมีอยู่แล้ว มีกาย มีใจ เท่านั้นพอแล้ว ทุกคนที่นั่งรวมกันอยู่นี้ เคยมีความสุขไหม เคยมีความทุกข์ไหม ทำไมเป็นอย่างนั้น มันเป็นเพราะอะไร นี้คือปัญหาแล้ว ปัญหาที่จะเกิดขึ้นมาล่ะ ถ้าเรารู้จักทุกข์ รู้จักเหตุของทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มันก็แก้ปัญหาได้
นี้คือทุกข์ ทุกข์ธรรมดาอย่างหนึ่ง ทุกข์ที่เหนือธรรมดาอย่างหนึ่ง ทุกข์ประจำสังขารนี้ ยินก็เป็นทุกข์ นั่งก็เป็นทุกข์ นอนก็เป็นทุกข์ อย่างนี้เป็นทุกข์ธรรมดา ทุกข์ประจำสังขาร พระพุทธเจ้าท่านก็มีเวทนาอย่างนี้ มีสุขอย่างนี้ มีทุกข์อย่างนี้ แต่ท่านก็รู้จักว่าอันนี้เป็นธรรมดา สุขทุกข์ธรรมดาทั้งหลายเหล่านี้ ท่านระงับมันได้ เพราะท่านรู้จักเรื่องของมัน รู้จักทุกข์ธรรมดา มันเป็นของมันอย่างนั้น ไม่รุ่นแรง ท่านให้ระวังทุกข์ที่มันจรมา ทุกข์ที่เหลือธรรมดา เปรียบประหนึ่งว่าเราเป็นไข้เอายาไปฉีด ฉีดเข้าไปในร่างกาย เข็มฉีดยานั้นมันทะลุเข้าไปในเนื้อหนัง เรารู้สึกเจ็บนิดหน่อยเป็นธรรมดา เมื่อถอนเข็มออกมาแล้ว ความเจ็บก็หาย นี่ เรียกว่าทุกข์ธรรมดา ไม่เป็นอะไร ทุกคนจะต้องเป็นอย่างนี้ ทุกข์ที่ไม่ใช่ธรรมดานั้น คือทุกข์ที่เรียกว่า อุปาทาน เข้าไปยึดมั่นถือมั่นไว้ เปรียบประหนึ่งว่าเอาเข็มฉีดยาไปอาบยาพิษ แล้วฉีดเข้าไป นี่ไม่ใช่เจ็บธรรมดาแล้ว ไม่ใช่ทุกข์ธรรมดาแล้ว เจ็บจนตาย ทุกข์จนตาย นี่เรียกว่าทุกข์เกิดจากอุปาทานความเห็นผิด นี่ก็เป็นปัญหาอันหนึ่ง
ไม่รู้จักอนิจจัง ความเปลี่ยนแปลงของสังขาร สังขารมันเป็นวัฏสงสาร สังสาเรทุกขัง ทุกข์ในสงสารมันเปลี่ยน เราไม่อยากให้มันเปลี่ยน เราคิดผิดมันก็ทุกข์ คิดถูกมันก็ไม่ทุกข์ คนเราเกิดขึ้นมาแล้วไม่เห็นสังขารอันนั้น เห็นสังขารว่าเป็นตน เป็นเราเป็นเขา ไม่อยากให้สังขารเปลี่ยนแปลงไป พูดง่ายๆ ก็หมายความว่า เราหายใจเข้าออก ออกไปแล้วก็เข้ามา เข้ามาแล้วก็ออกไป มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น เราจึงมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าเราให้มันออกไป ไม่ให้มันเข้ามา มันก็อยู่ไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องเช่นนั้น เรื่องของสังขารมันเป็นอย่างนี้แต่ว่าเราไม่รู้จัก เช่นว่ามีสิ่งของแล้วมันหายไป ไม่อยากให้มันหาย คิดว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา ไม่เห็นตามสังขารที่มันหมุนเวียนอยู่ตามธรรมชาตินั้น มันก็เลยเกิดทุกข์ขึ้นมา ไม่เชื่อก็ลองดูซิ หายใจออกหายใจเข้า มันสบายอยู่ได้ ถ้าหายใจออกแล้วไม่เข้า หรือหายใจเข้าแล้วไม่ออกจะอยู่ได้ไหม สังขารมันเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น เราเห็นว่ามันเป็นอยู่อย่างนั้น เห็นตามธรรมะ เห็นเรื่องอนิจจัง ความเปลี่ยนแปลง เราอยู่ด้วยอนิจจัง อยู่ด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น แล้วก็ปล่อย เรียกว่าการปฏิบัติธรรมให้มีปัญญารู้ตามสังขารอย่างนั้น ทุกข์ก็ไม่เกิด ถ้าคิดเช่นนั้นมันขัดต่อความรู้สึกของเรา ขัดต่อความรู้สึก ก็ขัดต่อธรรมะความเป็นจริงของมันเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เราป่วยเข้าโรงพยาบาล คิดในใจไม่อยากตาย อยากหายเท่านั้น คิดอย่างนั้นไม่ถูก เป็นทุกข์ ต้องคิดว่าหายก็หาย ตายก็ตาย เพราะเราแต่งไม่ได้นี่เป็นสังขาร คิดอย่างนี้ถูก ตายก็สบาย หายก็สบาย ต้องได้อย่างหนึ่งจนได้ เราคิดว่าจะต้องตาย จะต้องไม่ตาย อย่างนี้มันเรื่องจิตของเราไม่รู้จักสังขาร ฉะนั้นเราก็ต้องคิดให้มันถูก ว่าหายก็เอา ไม่หายก็เอา ตายก็เอา เป็นก็เอา ถูกทั้งสองทาง สบาย ไม่ตกใจ ไม่ร้องไห้ ไม่โศกเศร้า เพราะมันเป็นอย่างนั้น จริงๆ อย่างนั้น พระพุทธเจ้าของเรา ท่านจึงมองเห็นชัด ธรรมะของท่านยังใหม่เอี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้าสมัย ไม่เปลี่ยนแปลงที่ไหน ทุกวันนี้ยังมีความจริงอยู่ ยังไม่เสื่อม ยังเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่ไปที่ไหน ถ้าใครจะรับพิจารณาอย่างนั้น จะได้เกิดความสงบความสบาย ท่านให้อุบายว่า อันนี้ไม่ใช่ตัวเรา อันนี้ไม่ใช่ของเรา แต่เราฟังไม่ได้ ไม่อยากฟัง เพราะเราเข้าใจว่า นี่เป็นตัวเรา เป็นของเรา นี่แหละเป็นเหตุให้ทุกข์เกิดตรงนี้ ให้เราเข้าใจอย่างนี้
เมื่อกลางวันนี้ มีโยมคนหนึ่งมาถามปัญหาว่า เมื่อมันมีความโกรธขึ้นมา จะให้ดิฉันทำอย่างไร อาตมาบอกว่า เมื่อมันโกรธขึ้นให้เอานาฬิกามาหมุนตั้งไว้ บอกนั่นได้สองชั่วโมงให้โกรธมันหายนะ ลองดู ถ้ามันเป็นเราบอกได้สองชั่วโมงก็หายโกรธ แต่อันนี้ไม่ใช่เรา สองชั่วโมงมันก็ยังไม่หาย บางทีหนึ่งชั่วโมงมันก็หายแล้ว จะไปเอาโกรธมาเป็นเรา มันก็ทุกข์ซิ นี่ถ้าเป็นตัวเรา มันต้องได้ตามปรารถนาอย่างนั้น ถ้าไม่ได้ตามปรารถนาก็เป็นเรื่องโกหกเรา อย่าไปเชื่อมันเลย มันจะดีใจก็อย่าไปเชื่อมัน จะเสียใจก็อย่าไปเชื่อ มันจะรักอย่าไปเชื่อมัน จะเสียใจก็อย่าไปเชื่อมัน มันจะรักอย่าเชื่อมัน มันจะเกลียดก็อย่าไปเชื่อมัน มันเรื่องโกหกทั้งนั้น ให้คำตอบเขาอย่างนี้
ใครเคยโกรธไหม เมื่อโกรธขึ้นมามันเป็นสุขหรือทุกข์ไหม ถ้าเป็นทุกข์ทำไมไม่ทิ้งมัน เอาไว้ทำไม นี่จะเข้าใจว่าเรารู้อย่างไรเล่า จะเข้าใจว่าเราฉลาดอย่างไรเล่า ตั้งแต่เราเกิดมานี้ มันโกรธเรากี่หนมาแล้ว บางวันมันทำให้ครอบครัวเราทะเลาะกันก็ได้ ร้องไห้ทั้งคืนก็ได้ ขนาดนั้นก็ยังเกิดความโกรธอีก ยังเก็บมันเอาไว้ในใจอีก ทุกข์อีกอยู่ตลอดเวลา ตลอดถึงบัดนี้ ตั้งแต่นี้ต่อไป ถ้าโยมทุกคนไม่เห็นทุกข์ มันก็จะทุกข์เรื่อยๆ ไป ถ้าเห็นทุกข์วันนี้ เอามันทิ้งเสีย เอามันทิ้ง ถ้าไม่ทิ้งมัน มันจะให้เราทุกข์ จนตลอดวันตาย ไม่ได้หยุด วัฏสงสารก็ต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าเรารู้จักทุกข์อย่างนี้ ก็แก้ปัญหาได้เท่านั้น ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านว่า ไม่มีอุบายอะไรที่จะดีไปกว่านี้ อุบายที่จะไม่มีทุกข์ ก็เห็นว่าอันนี้ไม่ใช่ตัว อันนี้ไม่ใช่ของตัวเท่านี้ อันนี้เลิศแล้ว อันนี้ประเสริฐแล้ว แต่เราไม่ค่อยได้รับฟัง เมื่อทุกข์ทุกทีก็ร้องไห้ทุกที ยังไม่จำอีกนี่ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมไม่ดูนานๆ ท่านอาจารย์สอนให้ดู ให้ภาวนา พุทโธ ให้เห็นชัด
ระวังบางคนจะไม่รู้ว่าธรรมะนะ นี่คือธรรมะนอกคัมภีร์ คนเราไปอ่านแต่คัมภีร์ แล้วไม่เห็นธรรมะ วันนี้อธิบายธรรมะนอกคัมภีร์ แต่อยู่ในขอบเขต บางคนฟ้งแล้วจะไม่รู้เรื่อง จะไม่เข้าใจในธรรมะ ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมะ เราจะมีความทุกข์ตลอดไป สังขารมันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา เรื่องธรรมดาอย่างนี้ ยกตัวอย่างให้ฟังอีกสักเรื่องหนึ่ง คนสองคน เช่นคนนี้กับคนนี้เดินไปด้วยกัน เห็นเป็ดตัวหนึ่ง ไก่ตัวหนึ่ง คนหนึ่งว่า แหมไก่ทำไมไม่เหมือนเป็ด เป็ดทำไมไม่เหมือนไก่ คิดอยากจะให้ไก่เป็นเป็ด คิดอยากจะให้เป็ดเป็นไก่ มันก็เป็นไปไม่ได้ เมื่อมันเป็นไปไม่ได้ โยมก็คิดว่า แหม อัศจรรย์เหลือเกิน ทำไม่ไก่ไม่เป็นเป็ด อยากจะให้เป็ดเป็นไก่ อยู่ตลอดเวลา ในชั่วชีวิตหนึ่งๆ มันก็ไม่เป็นให้ เพราะเป็ดก็เป็นเป็ด ไก่ก็เป็นไก่ ถ้าคนนี้ คิดอย่างนี้ไม่หยุด ก็ต้องทุกข์ คนที่สองเห็นว่า เป็ดก็เป็นเป็ด ไก่ก็เป็นไก่ นั่นแหละ แล้วก็เดินผ่านไป ปัญหาไม่มี เห็นถูกแล้ว ที่เป็นเป็ดให้เป็นเป็ด เป็นไก่ก็ให้เป็นไก่ไปเสีย คนที่อยากให้เป็ดเป็นไก่ อยากให้ไก่เป็นเป็ด อยู่นั่นแหละ ก็เป็นทุกข์มากอย่างนี้ ก็เหมือนกันอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง อยากจะให้มันเที่ยงมันก็ไม่เที่ยง เมื่อมันไม่เที่ยงเมื่อไร ก็เสียใจเมื่อนั้น ถ้าใครเห็นว่าอนิจจังเป็นของไม่เที่ยงอย่างนั้น คนนั้นก็สบายไม่มีปัญหา คนอยากให้มันเที่ยงก็มีปัญหา เป็นทุกข์เป็นร้อน บางทีนอนไม่หลับ อย่างนี้ก็เป็นไปได้ นี้เรียกว่าไม่รู้เรื่องของอนิจจัง ตามความจริง เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า
เมื่ออยากรู้ธรรมะจะไปดูที่ไหนได้ ดูอยู่ที่กายของเรานี้แหละ ดูอยู่ที่ใจของเรานี้แหละ ไปดูในตู้ไม่พบ ไม่เห็น จะรู้ธรรมะอย่างแท้จริง ต้องดูในกายของเรา นี้เรียกว่า รูปธรรม รู้เข้าไปอีกชนิดหนึ่งไม่มีรูป มีปรากฏอยู่คือ นามธรรม มีสองอย่างอย่างเท่านั้น รูปธรรม มองเห็นด้วยตาของเรา ที่นั่งอยู่นี่ แต่นามธรรม มองไม่เห็น นามธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะมองดูด้วยตาเนื้อได้ ต้องมองดูด้วยตาใน คือ ตาใจ มองดูในใจ จึงจะเห็นนามธรรม คนจะบรรลุธรรมะ จะได้เห็นธรรมะ ต้องรู้จักว่า ธรรมะอยู่ตรงไหนเสียก่อน ถ้าธรรมะอยู่ที่กาย ก็ต้องมาดูที่กายของเรา ดูตั้งแต่นี้ลงไป เอาอะไรตรวจดูตรงนี้ เอานามธรรมคิดตัววิญญาณธาตุ ดูกายนี้ ไปดูที่อื่นไม่พบ เพราะความสุข ความทุกข์เกิดจากที่นี่ หรือใครเห็นความสุขเกิดจากต้นไม้ มีไหม เกิดจากแม่น้ำ มีไหม เกิดจากดินฟ้าอากาศมีไหม ความสุข ความทุกข์ เป็นความรู้สึกทางกาย ทางใจของเรานี่เอง ฉะนั้นพระพุทธองค์ท่านให้รู้จักธรรมะ ให้มาดูธรรมะที่กายของเรานี้ คือธรรมะอยู่ที่นี่ จงมาดูที่นี่ อย่างท่านอาจารย์ท่านสอนนี้ ท่านให้มาดูที่ตัวธรรมะ แต่เราเข้าใจว่าตัวธรรมะอยู่ที่หนังสือ จึงไม่เจอ ถ้าดูหนังสือก็ต้องน้อมเข้ามาในนี้อีก จึงจะรู้จักธรรมะ อย่างนี้ให้เข้าใจว่า ธรรมะที่แท้จริงอยู่ที่ไหน อยู่ที่นี่ อยู่ที่กาย อยู่ที่ใจนี้ ให้เอาใจนี้พิจารณา นี้เป็นหลักการพิจารณา
ฉะนั้น จึงทำปัญหาให้เกิดขึ้นใจจิตของเรา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นในจิตของเราแล้ว จะมองไปที่ไหนจะมีแต่ธรรมะทั้งนั้น เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดเวลา อนิจจังเป็นของไม่เที่ยง ทุกขังถ้าไปยึดว่ามันเที่ยง ก็เป็นทุกข์ เพราะอันนั้นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้ว แต่เราไม่เห็น กลับเห็นว่าเป็นตัวเป็นตนอยู่เสมอ เห็นว่าเป็นของตนอยู่ทุกเวลา คือเราไม่เห็นสมมุติ รู้จักสมมุติกันเสียเถิด เช่นเราทุกคนที่นั่งในที่นี้มีชื่อทุกคน ชื่อเรานี้เราตั้งเอาใหม่ หรือมันเกิดพร้อมกันกับเรา หรือมีชื่อติดตามมาตั้งแต่วันเกิด เข้าใจไหม นี้สมมุติ สมมุติประโยชน์ไหม มีประโยชน์เช่น สมมุติว่าเชื่อนาย ก นาย ข นาย ค นาย ง มันก็เป็นคนด้วยกันทั้งนั้น ต้องเอาชื่อคนมาใส่เป็นให้สะดวกแก่การพูด สะดวกแก่การงานเท่านั้นแหละ เช่น เราต้องการใช้นาย ก ก็เรียกนาย ก นาย ก ก็มา นาย ข นาย ค นาย ง เฉยเสียไม่ต้องมา สมมติมันสะดวกเท่านี้ ถ้าไม่สมมุติ เราจะเรียกคนมาใช้สักหนึ่งคน ถ้าเรียกว่าคนๆ คนๆ ทั้งหมดก็จะลุกขึ้นมา ก็ใช้ไม่ได้จะทำอย่างไร ฉะนั้นสมมุติจึงไม่มีประโยชน์คือไม่สะดวกแก่การใช้เท่านั้น เมื่อตามดูเข้าไปแล้วที่จริงไม่มีใครทั้งนั้น มันเป็นวิมุติ มีดิน มีน้ำ มีไฟ มีลม เท่านั้นแหละที่เป็นสกลร่างกายของเรานี้ แต่เรามองไม่ค่อยจะเห็น เพราะมีอุปาทาน มันไม่เห็น ถ้าเราเห็นชัด จะเห็นว่าตัวเราของคนๆ หนึ่งไม่มีอะไรมาก ส่วนที่มันเคลื่อนแข็ง ก็เป็นดิน ส่วนที่เหลงก็เป็นน้ำ ส่วนที่ร้อนก็เป็นไฟ ส่วนที่พัดไปมาก็เป็นลม มีดิน มีน้ำ มีไฟ ผสมกันเข้าไปเป็นก้อนก็เรียกว่ามนุษย์ เมื่อมันแยกกันออกไปอีก ส่วนดินก็เป็นดินไป ส่วนน้ำก็เป็นน้ำไป ส่วนไฟก็เป็นไฟไป ส่วนลมก็เป็นลมไป เป็นคนที่ไปไหน คนไม่มีเลย มันเป็นอยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนว่าไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าการที่เราเข้าใจว่า อันนี้ไม่ใช่ตัวเรา แต่เป็นของสมมุติ อันนั้นไม่ใช่ของของเราแต่เป็นของสมมุติ ถ้าเราเข้าใจสิ่งทั้งหลายแจ่มแจ้ง เป็นธรรมะแล้ว ก็จะสบายใจ ถ้าเรารู้ในปัจจุปันอย่างนี้ว่ามันไม่เที่ยง อันนี้ก็ไม่ใช่เรา อันนั้นก็ไม่ใช่ของเรา ให้เห็นอยู่อย่างนี้ ถ้าอันนี้วิบัติเมื่อไรก็สบายใจเหมือนกัน ถ้าอันนั้นจะวิบัติไป แยกกันไปเมื่อไร ใจก็สบาย เพราะไม่มีของใคร เป็นแต่ดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้น แต่คนเราจะเห็นตามได้ยาก แต่ถึงจะยากก็ไม่เหลือวิสัยของมนุษย์ หากเราเห็นเช่นนั้นได้ก็สบายใจ ใจจะไม่ค่อยโกรธ ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง จะมีธรรมะอยู่สม่ำเสมอ ไม่ต้องอิจฉาพยาบาทกัน เพราะต่างก็เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลมเหมือนกัน ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น เมื่อยอมรับว่าเป็นจริงอย่างนั้น ก็เห็นจริงในธรรมะ เมื่อเห็นจริงในธรรมะแล้วก็ไม่ต้องเปลืองครูบาอาจารย์ ไม่ต้องสอนกันทุกวันหรอก เมื่อรู้แล้วก็ทำตามหน้าที่เท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ที่เราสอนยากลำบาก คือมันไม่ยอมรับ ยังเถียงครูบาอาจารย์อยู่ ยังเถียงพระธรรมวินัยอยู่ ถ้าอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ ก็ทำดีเสียหน่อยหนึ่ง เมื่อลับหลังครูบาอาจารย์ ก็เป็นขโมยเสียเป็นเรื่องที่สอนยากอย่างนี้ โยมเมืองไทยเป็นอย่างนั้น จึงต้องเปลืองครูบาอาจารย์มาก
ระวังนะ ระวังไม่ดีไม่เห็นธรรมะนะ ต้องระวังให้ดีต้องนำไปพิจารณาให้เกิดปัญญา ดอกไม้นี้สวยไหม ดูซิ เห็นสิ่งที่ไม่สวยในนี้หรือเปล่า เห็นสิ่งที่ไม่สวยในสิ่งที่สวยหรือเปล่า มันจะสวยไปกี่วัน ต่อไปมันจะเป็นอย่างไร ทำไมมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างนั้น อีก 3-4 วัน ก็ให้เอาไปทิ้งใช่ไหม เพราะหมดความสวย มันไม่สวยเสียแล้ว นี่คือคนติดความสวย ติดความดี ถ้ามีความดี ก็ดี ดี ดี พระพุทธองค์ของเราท่านตรัสว่า สวยก็พึงว่าสวยเฉยๆ อย่างไปติดมัน ถ้ามีความดีใจ ก็อย่างเพิ่งไปเชื่อมันเลย ที่ว่าดีนี้ก็ไม่แน่ สวยนี้ก็ไม่แน่ ไม่แน่สักอย่างหนึ่ง ไม่มีอะไรจะแน่นอน ในโลกนี้ นี่คือความจริงของที่ไม่จริง คือสวยไม่จริง มันจริงแต่ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงของมัน อยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ถ้าเราเห็นว่ามันสวยๆ อย่างนี้ เมื่อหมดความสวยไป ใจเราก็ไม่สวย ถ้ามันหมดความดีแล้วใจเราก็ไม่ดีด้วย เราเอาใจไปฝากกับวัตถุต่างๆ อย่างนี้ หากว่า มันเสียหายไป เราก็ทุกข์ เพราะเราไปยึดมั่นถือมั่นว่าอันนี้เป็นของเรา พระพุทธเจ้าท่านให้รู้จักว่า มันเป็นธรรมชาติของมันเท่านั้น สวนเกิดขึ้นมาอีกไม่กี่วันก็หายแล้ว อย่างนี้ปัญญาก็เกิดแล้ว ฉะนั้นท่านจึงให้เห็นอนิจจัง เห็นว่ามันสวยก็ว่าไม่ใช่เห็นว่าไม่สวยก็ว่าไม่ใช่ เห็นว่าดีก็ไม่ใช่ ให้เห็นไว้อย่างนี้ ดูอยู่เสมออย่างนี้ จะเห็นความจริงในสิ่งที่เราไม่จริง จะเห็นความไม่เปลี่ยนแปลง ในสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงอย่างนั้น
วันนี้อธิบายให้รู้จักทุกข์ สิ่งที่ให้เกิดทุกข์ สิ่งที่ดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ สี่อย่างนี้ รู้จักทุกข์เมื่อทุกข์แล้วก็ทิ้ง รู้จักเหตุที่จะให้ทุกข์เกิดแล้วก็ทิ้ง ปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นของไม่แน่นอน ทุกข์แล้วก็ดับ มันดับแล้วจะไปอยู่ที่ไหน เราปฏิบัติแล้วจะเอาอะไร ปฏิบัตินี้ปฏิบัติเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อเอา
อย่างโยมที่ถามเมื่อกลางวันนี้ว่าเป็นทุกข์ อาตมาถามว่าโยมอยากเป็นอะไร ตอบว่าอยากตรัสรู้ธรรม อยากตรัสรู้ธรรมมันไม่ได้ตรัสดอก อย่าให้มันอยากเลย อาตมาบอกไปจะรู้หรือไม่ก็ตามเถอะ เมื่อรู้จักทุกข์ตามความจริงมันก็ทิ้งทุกข์ รู้จักเหตุให้ทุกข์เกิด ที่ไหนทุกข์จะเกิด ก็ไม่ทำมัน จะปฏิบัติมันก็ดับทุกข์ ที่ปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อันนี้ก็ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ใช่เราใช่เขา เห็นเช่นนี้ทุกข์ก็ดับ เหมือนคนเดินทางไปเดินไป ไปถึงแล้วก็หยุดอยู่ มันดับ นั่นใกล้ต่อพระนิพพานง่ายๆ เดินไปก็เป็นทุกข์ ถอยกลับก็เป็นทุกข์ หยุดอยู่ก็เป็นทุกข์ เดินไปก็เป็นทุกข์ ถอยกลับก็เป็นทุกข์ หยุดอยู่ก็เป็นทุกข์ เดินไปก็ไม่เดิน ถอยกลับก็ไม่ถอย หยุดอยู่ก็ไม่หยุด มีอะไรเหลือไหม ดับ รูปมันดับ นามมันก็ดับ นี้เรียกว่าดับทุกข์ ฟังยากสักหน่อยนะ ถ้าหากเราภาวนาพิจารณาเรื่อยๆ มันจะพ้นขึ้นมาแล้วจะรู้จัก มันจะดับของมันอย่างนั้น ที่สุดคำสอนพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น หมอล่ะ ไม่เป็นอะไร ละหมดพระพุทธเจ้าสอนจบตรงนี้ ละหมด จบลงที่นี่
วันนี้อธิบายธรรมะให้ญาติโยม และถวายท่านอาจารย์ ถ้าหากว่าผิดพลาดประการใด ขออภัยด้วย แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่ามันผิดมันถูก ฟังไว้ก่อน รู้จักถูก ถ้าเหมือนกับเอาผลไม้ชนิดหนึ่ง ถวายท่านอาจารย์ และฝากญาติโยมทุกๆ คน อาตมาบอกว่าผลไม้นี้มันหวานนะ ก็ขอให้ฟังไว้ก่อน อย่าเพิ่งเชื่อว่ามันหวานล่ะ เพราะเมื่อไม่รู้จักรสผลไม้ที่มันเปรี้ยว เอามือจับมันก็ไม่รู้เปรี้ยว ผลไม้นี้มันหวาน ถวายให้จับดู มันก็ไม่รู้หวาน ฉะนั้นที่เทศน์ให้ฟังวันนี้ อย่าเพิ่งไปเชื่อ ถ้าอยากจะรู้จักรสเปรี้ยวหวานของผลไม้ ก็ต้องเอามีดไปเฉือน แล้วเคี้ยวดูในปาก นั่นแหละ หากมันเปรี้ยวก็จะรู้สึกเปรี้ยว หากมันหวานก็จะรู้สึกหวาน ทีนี้เชื่อได้แล้ว เพราะเหตุใด จึงเชื่อ เพราะว่าเป็นปัจจัตตัง แล้วมีพยาน ตัวเราจะเป็นพยานของตัวเรา แน่นอนแล้วทีนี้ ฉะนั้น ผลไม้ที่อาตมาฝากให้วันนี้ อย่าเพิ่งเอาไปทิ้ง เก็บไว้ทาน ให้รู้รสเปรี้ยวหวานเสียก่อน จนเป็น สิขีภูโต ตัวเราเป็นพยานของเราแล้วแน่นอน
พระพุทธเจ้าไม่มีครูไม่มีอาจารย์นะ อาชีวกไปถามท่านว่าใครเป็นครู เป็นอาจารย์ของท่าน พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า เราไม่มีครูไม่มีอาจารย์ อาชีวกก็สบัดหน้าไปเลย คือบอกความจริงเกินไป บอกความจริงกับคนไม่รู้จักความจริง ไม่เชื่อ ไม่รู้จักฟัง ไม่รู้จักเอา ฉะนั้น วันนี้อาตมาถึงบอกว่าอย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งไม่เชื่อ คนไปเชื่อคนอื่น เขาท่านว่าคนโง่ เพราะไม่มีพยานในตัวของเรา ดังนั้นให้ยึดพยานในตัว พยานในตัวของเราอย่างนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเลยว่า พระพุทธองค์ไม่มีครู ไม่มีอาจารย์ อย่างนี้เป็นความจริง แต่เราคิดให้ถูกนะ ถ้าคิดไม่ถูกแล้วไม่เคารพอาจารย์นะ ไม่มีครู ไม่มีอาจารย์ อย่าไปว่านะ ถ้าครู อาจารย์ สอนถูกมาแล้ว เรารู้จักปฏิบัติ เห็นถูกเห็นผิด รู้ขึ้นมาตามครูบาอาจารย์
วันนี้พวกเราทั้งหลายมีโชคดี อาตมามีโอกาสรู้จักญาติโยมทุกๆ คน และได้พบกับท่านอาจารย์ ไม่น่าจะมาเห็นกันนะเพราะอยู่ไกลกันมาก วันนี้อาตมาเห็นว่าจะต้องมีเหตุปัจจัยอันหนึ่ง ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า อะไรที่จะเกิดขึ้นมา จะต้องมีเหตุอย่างนี้ อย่าลืมนะ จะต้องมีเหตุอันหนึ่ง บางทีสมัยก่อนอดีตชาติ อาตมาได้มาเป็นพี่ๆ น้องๆ ของญาติแถวๆ นี้ก็เป็นได้ ถ้าพูดถึงเหตุมันเป็นอย่างนั้น คนอื่นไม่ได้มาแต่อาตมาได้มา ทำไม หรือว่าจะมาสร้างเหตุเดี๋ยวนี้ก็ได้
ฉะนั้น จึงฝากธรรมไว้ให้ญาติพี่น้องทั้งหลาย คนแก่ก็เป็นพ่อเป็นแม่ คนมีอายุเสมอๆ กันก็เป็นเพื่อน คนอายุน้อยๆ ก็เป็นลูกหลานทุกๆ คน ขอฝากความอาลัยไว้ ณ ที่นี้ ญาติโยมทั้งหลาย จงเป็นผู้ขยันขันแข็ง หมั่นในข้อประพฤติปฏิบัติ ไม่มีอะไรแล้วจะยิ่งกว่าธรรมะ ธรรมะนี้เป็นเครื่องที่ค้ำจุนโลกเหลือเกิน ทุกวันนี้เราจะไม่สบาย กระสับกระส่าย ก็เพราะไม่มีธรรมะ ถ้าเรามีธรรมะก็จะสบาย อาตมาก็ดีใจ ที่ได้ช่วยท่านอาจารย์ และญาติโยมด้วย จึงขอฝากความอาลัยไว้ บางทีพรุ่งนี้คงได้จากไป ไปที่ไหนก็ยังไม่ทราบ อย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดา มาแล้วก็ต้องไป ไปแล้วก็ต้องมา มันเป็นเรื่องอย่างนี้ ไม่ควรดีใจ และไม่ควรเสียใจ สุขแล้วก็ทุกข์ ทุกข์แล้วก็สุข ได้แล้วก็เสียไป เสียไปแล้วก็ได้มา เป็นเรื่องธรรมดา ญาติโยมจงเข้าอยู่ในธรรมะ จะไม่มีความเดือดร้อน ทุกๆ คน ผลที่สุดนี้ ขอให้ญาติโยมทั้งหลาย เป็นคนมีโชคดี โชคอย่างใหญ่หลวงคือ โชครู้จักธรรมะ นั่นแหละเป็นโชคดีที่สุดแล้ว
ในวาระสุดท้าย ญาติโยมทั้งหลายทุกคน มีความสงสัยอะไรในใจ ให้ถามปัญหาได้ มีไหมล่ะ สมัยก่อนครั้งพุทธกาล เรื่องสาวกไม่ชอบพระพุทธเจ้าก็มี เพราะพระพุทธเจ้า บอกให้ขยัน ไม่ให้ประมาท สาวกที่ขี้เกียจกลัวและเกลียด เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน สาวกกลุ่มหนึ่งร้องไห้ว่า พระพุทธเจ้าของเราปรินิพพาน แล้วจะไม่มีใครเป็นครู เป็นอาจารย์สอนเรา สาวกกลุ่มนี้ก็โง่ สาวกอีกกลุ่มหนึ่งยกมือสาธุ พระพุทธเจ้าตายแล้ว เราสบาย ไม่มีใครบังคับเรา กลุ่มที่สาม เมื่อพระพุทธองค์นิพพานแล้วก็สบายใจ ปล่อยสลดสังเวชในสังขาร นี่ มีกลุ่มหนึ่ง กลุ่มสอง กลุ่มสาม เราจะเอากลุ่มไหนล่ะ จะเอากลุ่มสาธุหรือจะเอากลุ่มไหน กลุ่มหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์นิพพานแล้วก็ร้องไห้ นี่คือคนที่ไม่ถึงธรรมะ กลุ่มที่สองนั่นเกลียด ไปทำอันนี้ก็ไม่ได้ ทำอันนั้นก็ไม่ได้ ผิดทั้งนั้น กลัวท่านจะดุเอา กลัวท่านจะว่าเอา เมื่อท่านนิพพานแล้วสบายใจ ทุกวันนี้เช่นกัน บางทีท่านอาจารย์อาจจะมีลูกศิษย์เกลียด เหมือนกันละนะ เกลียดอยู่ในใจ อดไว้ คนมีกิเลสก็ต้องเป็นทุกคน แม้แต่พระพุทธองค์ ยังมีสาวกรังเกียจ อาตมามีลูกศิษย์รังเกียจเหมือนกัน ไปบอกให้เขาทิ้งความชั่ว เขาเสียดายความชั่ว เขาก็เกลียดเอา อย่างนี้ก็มีเยอะ ฉะนั้นปัญญาชนทั้งหลาย ให้พากันตั้งอยู่ในธรรมะให้แน่นหนา เอาล่ะ