อยู่เพื่ออะไร
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
คัดลอกจาก : http://www.geocities.com/Tokyo/Ginza/9697/ajarn_cha1.html
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทธํ ธมมํ สงฆํ นมสฺสามิ
อิโต ปรํ สกฺกจฺจํ ธมํโมโสตพฺโพติ
ขอให้ตั้งอยู่ในความสงบ รับโอวาทพอสมควร วันนี้มีทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต มาถวายดอกไม้ ตามกาลเวลา เรื่องสักการะ เรื่องคารวะ การเคารพต่อผู้ใหญ่เป็นมงคลอันเลิศ พรรษานี้ อาตมาไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง ไม่สบาย สุขภาพไม่แข็งแรง ฉะนั้นจึงหลบมาอยู่บนภูเขานี้ ก็ได้รับอากาศบริสุทธิ์สักพรรษาหนึ่ง ญาติโยมสานุศิษย์ทั้งหลายไปเยี่ยม ก็ไม่ได้สนองศรัทธาอย่างเต็มที่ เพราะว่าเสียงมันจะหมดแล้ว ลมมันก็จะหมดแล้ว
นับว่าเป็นบุญที่เป็นตัวเป็นตนมานั่งให้ญาติโยมเห็นอยู่ นี่นับว่าดีแล้ว ต่อไปก็จะไม่ได้เห็น ลมมันก็จะหมด เสียงมันก็จะหมด มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสังขาร ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านสอนไว้ ขัยยะวัยยัง คือความสิ้นเสื่อมไปของสังขาร
เสื่อมไปอย่างไร เปรียบให้ฟ้งเหมือนก้อนน้ำแข็ง แต่ก่อนมันเป็นน้ำ เขาเอามาทำมาทำให้เป็นก้อน แต่มันก็อยู่ไม่กี่วันหรอกมันก็เสื่อมไป เอาก้อนน้ำแข็งใหญ่ๆ เท่าเทปนี้ไปวางไว้กลางแจ้ง จะดูความเสื่อมของก้อนน้ำแข็งก็เหมือนสังขารนี้ มันจะเสื่อมทีละน้อยทีละน้อย ไม่กี่นาทีไม่กี่ชั่วโมงก้อนน้ำแข็งก็จะหมด ละลายเป็นน้ำไป นี่เรียกว่าเป็น ขัยยะวัยยัง ความสิ้นไปความเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งหลาย เป็นมานานแล้ว ตั้งแต่มีโลกขึ้นมา เราเกิดมาเราเก็บเอาสิ่งเหล่านี้มาด้วย ไม่ใช่ว่าเราทิ้งไปไหน พอเกิดมาเราเก็บเอาความเจ็บ ความแก่ ความตาย มาพร้อมกัน
ดังนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้ว่า ขัยยะวัยยัง ความสิ้นเสื่อมไปของสังขารทั้งหลาย เรานั่งอยู่บนศาลานี้ทั้งอุบาสกอุบาสิกา ทั้งพระทั้งเถรทั้งหมดนี้ มีแต่ก้อนเสื่อมทั้งนั้น นี่ที่ก้อนมันแข็ง เปรียบเช่นก้อนน้ำแข็งแต่ก่อนเป็นน้ำ มันเป็นก้อนน้ำแข็งแล้วก็เสื่อมไป เห็นความเสื่อมมันไหม ดูอาการที่มันเสื่อมซี่ ร่างกายของเรานี่ทุกส่วนมันเสื่อม ผมมันก็เสื่อมไป ขนมันก็เสื่อมไป เล็บมันก็เสื่อมไป หนังมันก็เสื่อมไป อะไรทุกอย่างมันเสื่อมไปทั้งนั้น
ญาติโยมทุกคนเมื่อครั้งแรกคงจะไม่เป็นอย่างนี้นะ คงจะมีตัวเล็กกว่านี้ นี่มันโตขึ้นมา มันเจริญขึ้นมา ต่อไปนี้มันก็จะเสื่อม เสื่อมไปตามธรรมชาติของมัน เสื่อมไปเหมือนก้อนน้ำแข็งเดี๋ยวก็หมด ก้อนน้ำแข็งมันก็กลายเป็นน้ำ เรานี่ก็เหมือนกันทุกคน มีดิน มีน้ำ มีไฟ มีลม เมื่อมีตัวตนประกอบกันอยู่ ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ตั้งขึ้น เรียกว่าคน แต่เดิมไม่รู้ว่าเป็นอะไรหรอก เรียกว่าคน เราก็ดีอกดีใจ เป็นคนผู้ชาย เป็นคนผู้หญิง สมมติชื่อให้นายนั้นนางนี้ตามเรื่อง เพื่อเรียกตามภาษา ให้จำง่ายใช้การงานง่าย แต่ความเป็นจริงก็ไม่มีอะไร มีน้ำหนึ่ง ดินหนึ่ง ลมหนึ่ง ไฟหนึ่ง มาปรุงกันเข้ากลายเป็นรูป เรียกว่าคน
โยมอย่าเพิ่งดีใจนะ ดูไปดูมาก็ไม่มีคนหรอก ที่มันแข้นแข็งพวกเนื้อ พวกกระดูกทั้งหลายเหล่านี้เป็นดิน อาการที่มันเหลวๆ ตามสภาพร่างกายนั้นเราเรียกว่าน้ำ อาการที่มันอบอุ่นอยู่ในร่างกายเราเรียกว่าไฟ อาการที่มันพัดไปมาอยู่ในร่างกายของเรานี้ ลมพัดขึ้นเบื้องบน พัดลมเบื้องต่ำนี้ เรียกว่าลม ทั้งสี่ประการนี้มาปรุงกันเข้าเรียกว่าคน ก็ยังเป็นผู้หญิงผู้ชายอีก จึงมีเครื่องหมายตามสมมติของเรา
แต่อยู่ที่วัดป่าพง ที่ไม่เป็นผู้หญิงไม่เป็นผู้ชายก็มี เป็นนปุงสกลิงค์ ไม่ใช่อิตถีลิงค์ ไม่ใช่ปุงลิงค์ คือซากศพที่เขาเอาเนื้อเอาหนังออกหมดแล้วเหลือแต่โครงกระดูกเท่านั้น เป็นซากโครงกระดูกเขาแขวนไว้ ไปดูก็ไม่เห็นว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ใครไปถามว่านี่เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้แต่มองหน้ากัน เพราะมันมีแต่โครงกระดูกเท่านั้น เนื้อหนังออกหมดแล้ว พวกเราทั้งหลายก็ไม่รู้ ทุกคนไปวัดป่าพงเข้าไปในศาลาก็ไปดู โครงกระดูก บางคนดูไม่ได้ วิ่งออกศาลาเลยกลัว กลัวเจ้าของ อย่างนั้นเข้าใจว่าไม่เคยเห็นตัวเราเองสักที ไปกลัวกระดูก ไม่นึกถึงคุณค่าของกระดูก เราเดินมาจากบ้าน นั่งรถมาจากบ้าน ถ้าไม่มีกระดูกจะเป็นอย่างไร จะเดินไปมาได้ไหม นั่งรถมาถึงวัดป่าพง พอลงรถเข้าศาลาไปดูโครงกระดูก พอเห็นวิ่งออกมาจากศาลาเลย กลัวโครงกระดูก คนเราไม่เคยเห็น เกิดมาพร้อมกัน ไม่เคยเห็นกัน นอนเบาะอันเดียวกันไม่เคยเห็นกัน นี่แสดงว่าเราบุญมากที่มาเห็น แก่แล้ว ๕๐ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี ไปนมัสการวัดป่าพง เห็นโครงกระดูก กลัว นี่อะไรไม่รู้ แสดงว่าเราไม่คุ้นเคยเลย ไม่รู้จักตัวเราเลย กลับไปบ้านก็ยังนอนไม่หลับอยู่สามสี่วัน แต่ก็นอนกับโครงกระดูกนั่นแหละไม่ใช่นอนที่อื่นหรอก ห่มผ้าผืนเดียวกันอะไรๆ ด้วยกัน นั่งบริโภคข้าวด้วยกัน แต่เราก็กลัง นี่แสดงว่าเราห่างจากตัวเรามากที่สุด น่าสงสารไปดูแต่อย่างอื่น ไปดูต้นไม้ไปดูวัตถุอื่นๆ ว่าอันนั้นโตอันนี้เล็ก อันนั้นสั้น อันนั้นยาว นี่ไปดูแต่วัตถุของอื่นนอกจากตัวเรา ไม่เคยมองดูตัวเราเลย ถ้าพูดตรงๆ แล้วก็น่าสงสารมนุษย์เหมือนกัน ดังนั้นคนเราจึงขาดที่พึ่ง
อาตมาเคยบวชนาคมาหลายองค์ เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ นาคที่เคยเป็นนักศึกษาคงนึกหัวเราะว่า ท่านอาจารย์เอาอะไรมาสอนนี่ เอาผมที่มันมีอยู่นานแล้วมาสอน ไม่ต้องสอนแล้วรู้จักแล้ว เอาของที่รู้จักแล้วมาสอนทำไม นี่คนที่มันมืดมากมันก็เป็นอย่างนี้ คิดว่าเราเห็นผม อาตมาบอกว่าคำที่ว่าเห็นผมนั้น คือเห็นตามความเป็นจริง เห็นขนก็เห็นตามความเป็นจริง เห็นเล็บ เห็นหนัง เห็นฟัน ก็เห็นตามความเป็นจริง จึงเรียกว่าเห็น ไม่ใช่ว่าเห็นอย่างผิวเผิน เห็นตามความเป็นจริงอย่างไรๆ เราคงนะไม่หมกมุ่นอยู่ในโลกอย่างนี้ ถ้าเห็นตามความจริง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นอย่างไร ตามความเป็นจริง เป็นอย่างไร เป็นของสวยไหม เป็นของสะอาดไหม เป็นผมมีแก่นสารไหม เป็นของเที่ยงไหม เปล่า มันไม่มีอะไรหรอก ของไม่สอยแต่เราไปสำคัญว่ามันสวย ของไม่จริงไปสำคัญว่ามันจริง
อย่างเกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง คนเราไปติดอยู่นี่ พระพุทธองค์ท่านยกมาทั้งห้าประการนี้เป้นมูลกรรมฐาน สอนให้รู้จักกรรมฐานทั้งห้านี้ มันเป็นอนิจจัง เป็นทุกขังอนัตตา ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เราเกิดขึ้นมาก็หลงมันอันนี้เป็นของโสโครก ดูซิ คนเราไม่อาบน้ำทำงานรวมกันอย่างนี้ เอาสิเหม็นทั้งนั้นแหละ กลับไปบ้านอาบน้ำเอาสบู่มาถูออกหายไปนิดหนึ่งก็หอมสบู่ขึ้นมา ได้ถูสบู่มันก็หอม ไอ้ตัวเหม็นมันก็อยู่อย่างเดิมนั่นแหละมันยังไม่ปรากฏเท่านั้น กลิ่นสบู่มันข่มไว้ เมื่อหมดสบู่มันก็เหม็นตามเคย อันนี้เรามักจะเห็นรูปที่นั่งอยู่นี่นึกว่ามันสวย มันงาม มันแน่น มันหนา มันตรึงตา มันไม่แก่ มันไม่เจ็บ มันไม่ตาย หลงเพลิดเพลินอยู่ในสากลโลกนี้ ฉะนั้นจึงไม่รู้จักพึ่งตนเอง ตัวที่พึ่งของเราคือตัวใจ ใจของเราเป็นพึ่งจริงๆ ศาลาหลังนี้มันใหญ่ก็ไม่ใช้ที่พึ่ง มันเป็นที่อาศัยชั่วคราว นกพิราบมันก็มาอาศัยอยู่ ตุ๊กแกมันก็มาอาศัยอยู่ จิ้งเหลนนี้มันก็มาอาศัยอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างมาอาศัยอยู่ได้ เราก็นึกว่าของเรา มันไม่ใช่ของเราหรอก มันอยู่ด้วยกัน หนูมันก็มาอยู่ สารพัดอย่าง นี่เรียกว่าที่อาศัยชั่วคราว เดี๋ยวก็หนีไปจากไป เราก็นึกว่าอันนี้เป็นที่พึ่งของเรา คนมีบ้านหลังเล็กๆ ก็เป็นทุกข์ เพราะบ้านมันเล็ก มีบ้านหลังใหญ่ๆ ก็เป็นทุกข์ เพราะกวาดไม่ไหว ตอนเช้าก็บ่น ตอนเย็นก็บ่น จับอะไรวางตรงไหนก็ไม่ค่อยได้เก็บ คุณหญิงคุณนายนี่จึงเป็นโรคประสาทกันเป็นทุกข์
ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงให้หาที่พึ่ง คือ หาใจของเรา ใจของเราเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยมากคนเราไม่ค่อยมองดูในสิ่งที่สำคัญ ไปมองดูที่อื่นที่ไม่สำคัญ เป็นต้นว่า กวาดบ้าน ล้างจาน ก็มุ่งความสะอาดล้างถ้วยล้างจานให้มันสะอาด ทุกสิ่งทุกอย่างมุ่งความสะอาด แต่ใจเจ้าของไม่เคยมุ่งเลย ใจของเรามันเน่า บางทีก็โกรธ หน้าบูดหน้าบึ้งอยู่นั่นแหละ ก็ไปมุ่งแต่จานให้จานมันสะอาด ใจของเราไม่สะอาดเท่าไรก็ไม่มองดู นี่เราขาดที่พึ่ง เอาแต่ที่อาศัย แต่งบ้านแต่งช่อง แต่งอะไรสารพัดอย่าง แต่ใจของเราไม่ค่อยจะแต่งกัน ทุกข์ไม่ค่อยจะมองดูมัน ใจนี่แหละเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นพระพุทธองค์ท่านจึงพูดว่าให้หาที่พึ่งทางใจ อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ใครจะเป็นที่พึ่งได้ ที่เป็นที่พึ่งแน่นอนก็คือใจของเรานี่เอง ไม่ใช่สิ่งอื่น พึ่งสิ่งอื่นก็ได้แต่ไม่ใช่ของที่แน่นอน เราจะพึ่งสิ่งอื่นได้ก็เพราะเราพึ่งตัวของเรา เราต้องมีที่พึ่งก่อน จะพึ่งอาจารย์ พึ่งญาติมิตรสหายทั้งหลาย จะพึ่งได้ดีนั้น เราต้องทำตัวของเราเป็นที่พึ่งให้ได้เสียก่อน
ดังนั้นวันนี้ที่มากราบนมัสการทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตขอให้รับโอวาทนี้ไปพิจารณา เราทุกคนให้นึกเสมอว่า เราคืออะไร เราเกิดมาทำไม นี่ถามปัญหาเจ้าของอยู่เสมอว่า เราเกิดมาทำไม ให้ถามเสมอ บางคนไม่รู้นะ แต่อยากได้ความสุขมา มันทุกข์ไม่หาย รวยก็ทุกข์ จนก็ทุกข์ เป็นเด็ก เป็นคนโตก็ทุกข์ ทุกข์หมดทุกอย่าง เพราะอะไร เพราะว่ามันขาดปัญญา เป็นคนจนก็ทุกข์เพราะมันจน เป็นคนรวยก็ทุกข์เพราะมันรวยมาก ของมากๆ รักษาคนเดียว ในสมัยก่อนอาตมาเป็นสามเณรเคยเทศน์ให้โยมฟัง ครูบาอาจารย์ท่านให้เทศน์พูดถึงความร่ำรวยในการมีทาส ให้ทาสสักร้อย ผู้หญิงก็ให้ได้สักร้อยหนึ่งผู้ชายก็ร้อยหนึ่ง มีช้างก็ร้อยหนึ่ง มีวัวก็ร้อยหนึ่ง มีควายก็ร้อยหนึ่ง มีแต่สิ่งละร้อยละร้อยทั้งนั้น ญาติโยมได้ฟังแล้วก็สบายใจ ให้โยมไปเลี้ยงควายสักร้อยหนึ่งเอาไหม เอาควายร้อยหนึ่ง เอาวัวร้อยหนึ่ง มีทาสผู้หญิงผู้ชายอย่างละร้อยให้โยมรักษาคนเดียวมันจะดีไหม นี่ไม่คิดดู แต่ความอยากมีวัว มีควาย มีช้าง มีม้า มีทาส สิ่งละร้อยละร้อย น่าฟัง อุ๊ย ! อิ่มใจเหลือเกิน มันสบายนะ แต่อาตมาเห็นว่าได้สักห้าสิบตัวก็พอแล้ว แค่ฟั่นเชือกเท่านั้นก็เต็มทีแล้ว อันนี้โยมไม่คิด คิดแต่ได้ ไม่คิดถึงว่ามันจะลำบาก
สิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในตัวเรานี้ ถ้าเราไม่มีปัญญา จะทำให้เราทุกข์นะ ถ้าเรามีปัญญา นำออกจากทุกข์ได้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่ของดีนะถ้าเราใจไม่ดี ไปมองคนบางคน ไปเกลียดเขาอีกแล้ว มานอนเป็นทุกข์อีกแล้ว ไปมองคนบางคน ไปรักเขาอีกแล้ว รักเป็นทุกข์อีกแล้ว มันไม่ได้ ก็เป็นทุกข์ เกลียดก็เป็นทุกข์ รักก็เป็นทุกข์ เพราะมันอยากได้ อยากได้ก็เป็นทุกข์ ไม่อยากได้ ก็เป็นทุกข์ ของที่ไม่ชอบใจ อยากทิ้งมันไป อยากได้ของที่ชอบเข้ามามันก็ทุกข์ ของที่ชอบใจ ได้มาแล้วกลัว มันจะหายอีกแล้ว มันเป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่รู้ว่าจะอยู่อย่างไร บ้านหลังใหญ่ๆ ขนาดนี้ก็นึกว่าให้มันสบายขึ้น เก็บความสบายเก็บความดีไว้ในนี้ ถ้าคิดไม่ดีมันก็ไปไม่ได้ทั้งนั้นแหละ
ดังนั้นญาติโยมทั้งหลายจงมองดูตัวของเรา ว่าเราเกิดมาทำไม เราเคยได้อะไรไว้ไหม อาตมาเคยรวมคนแก่ เอาคนแก่อายุ ๘๐ ปีขึ้นไปแล้วมาอยู่รวมกัน อาชีพทำนา ตามบ้านนอกของเราทำนามาตั้งแต่โน้น เกิดมาได้ ๑๗ - ๑๘ ปี ก็รีบแต่งงานกลัวจะไม่รวย ทำงานตั้งแต่เล็กๆ ให้มันรวย ทำนาจน ๗๐ ปีก็มี ๘๐ปีก็มี ๙๐ ปีก็มี ที่มานั่งรวมกันฟังธรรม
"โยม" อาตมาถาม
"โยมจะเอาอะไรไปไหมนี่"
"เกิดมาก็ทำอยู่จนเดี๋ยวนี้แหละผลที่สุดจะไป จะได้อะไรไปไหม"
ไม่รู้จัก ตอบได้แต่ว่า "จังว่า จังว่า จังว่า"
นี่ตามภาษาเขาว่า กินลูกหว้า เพลินกับลูกหว้ามันจะเสียเวลา เพราะจังว่านี่แหละ จะไปก็ไม่ไป จะอยู่ก็ไม่อยู่ มันอยู่ที่จังว่า นั่งอยู่ก้างๆ อยู่ง่า นั่งอยู่คาคบนั่นแล้ว มีแต่จังว่า
ตอนหนุ่มๆ ครั้งแรกอยู่คนเดียวเข้าใจว่าเป็นโสดไม่สบาย หาคู่ครองเรืองมันจะสบาย เลยหาคู่ครองมาครองเรือนให้ เอาของสองอย่างมารวมกันมันก็กระทบกันอยู่แล้ว อยู่คนเดียว มันเงียบเกินไป ไม่สบายแล้ว เอาคนสองคนมาอยู่ด้วยกัน มันก็กระทบกัน ก๊อกๆ แก็กๆ นั่นแหละลูกเกิดมาครั้งแรกตัวเล็กๆ พ่อแม่ก็ตั้งใจว่า ลูกเราเมื่อมันโตขึ้นมาขนาดหนึ่ง เราก็สบายหรอก ก็เลี้ยงมันไปสามคนสี่คนห้าคน นึกว่ามันโตเราจะสบาย เมื่อมันโตมาแล้ว มันยิ่งหนัก เหมือนกับแบกท่อนไม้อันหนึ่งเล็กอันหนึ่งใหญ่ ทิ้งท่อนเล็กแล้วแบกเอาท่อนใหญ่ นึกว่ามันจะเบาก็ยิ่งหนัก ลูกเราตอนเด็กๆ มันไม่กวนเท่าไรหรอกโยม มันกวนถาม กินข้าว กับกล้วย เมื่อมันโตขึ้นมานี่ มันถามเอารถมอเตอร์ไซด์ มันถามเอารถเก๋ง
เอาล่ะความรักลูกจะปฏิเสธไม่ได้ ก็พยายามหา มันก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่ให้มันก็เป็นลูก บางทีพ่อแม่ทะเลาะกัน "อย่าพึ่งไปซื้อให้มันเลย รถนี่มันยังไม่มีเงิน" แต่ความรักลูก ก็ต้อง ไปกู้คนอื่นมา เห็นอะไรก็อยากซื้อมากิน แต่ก็อด กลัวมันจะหมดเปลืองหลายอย่าง ต่อมา ก็มีการศึกษาเล่าเรียน "ถ้ามันเรียนจบเราก็จะสบายหรอก" เรียนมันจบไม่เป็นหรอก มันจะจบอะไร เรียนไม่มีจบหรอก ทางพุทธศาสนานี่เรียนจบ ศาสตร์อื่นนอกนั้น มันเรียนต่อ ไปเรื่อยๆ เรียนไม่จบเอาไปเอามาก็เลยวุ่นเท่านั้นแหละ บ้านหนึ่งเรียน ๔ คน ๕ คน ตาย! พ่อแม่ทะเลาะกันไม่มีวันเว้นละอย่างนั้น
ไอ้ความทุกข์มันเกิดมาภายหลังเราไม่เห็น นึกว่ามันจะไม่เป็นอย่างนี้ เมื่อมันมาถึงเข้าแล้ว จึงรู้ว่า โอ! มันเป็นทุกข์ ทุกข์อย่างนั้นจึงมองเห็นยาก ทุกข์ในตัวเรานะโยม พูดตามประสาบ้านนอกเรา เรื่องฟันของเรานะโยม ตอนไปเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ขี้ถ่านไฟก็ยังเอามาถูฟัน ให้มันขาว ไปถึงบ้านก็ไปยิงฟันใส่กระจก นึกว่ามันขาว ถูฟันแล้วนี่ ไปชอบกระดูกของเจ้าของ ไม่รู้เรื่อง พออายุถึง ๕๐-๖๐ ปีฟันมันโยก เออ! เอาซิฟันโยก มันจะร้องไห้กินข้าว น้ำตามันก็ไหล เหมือนกับถูกศอก ถูกเข่าเขาอยู่ทุกเวลา ฟันมันเจ็บมันปวด มันทุกข์มันยาก มันลำบาก
นี่อาตมาผ่านมาแล้ว เรื่องนี้ ถอนออกหมดเลย ในปากนี้ เป็นฟันปลอมทั้งนั้น มันโยกไม่สบายอยู่ ๑๖ ซี่ ถอนทีเดียวหมดเลย เจ็บใจมัน หมอไม่กล้าถอนแน่ะตั้ง ๑๖ ซี่
"หมอ! ถอนมันเถอะ เป็นตายอาตมาจะรับเอาหรอก"
ถอนมันออกทีเดียวพร้อมกัน ๑๖ ซี่ ที่มันยังแน่นๆ ตั้งหลายซี่ ตั้ง ๕ ซี่ถอนออกเลย แต่ว่าเต็มทีนะ ถอนออกหมดแล้วไม่ได้ฉันข้าวอยู่ ๒-๓ วัน นี่เป็นเรื่องทุกข์
อาตมาคิดแต่ก่อนนะ ตอนไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เอาถ่านไฟมาถูมันให้ขาว รักมันมาก เหลือเกิน นึกว่ามันเป็นของดี ผลที่สุดมันจะหนีจากเรา จึงเกือบตาย เจ็บฟันนี้มาตั้งหลายเดือน ตั้งหลายปี บางทีมันบวมทั้งข้างล่างข้างบน หมดท่าเลยโยม อันนี้คงจะเจอกันทุกคนหรอก พวกที่ฟันไม่โยก เอาแปรงไปแปรง ให้มันสะอาดสวยงาม อยู่นั้นแหละ ระวังนะ ระวัง มันจะเล่นงานเมื่อสุดท้าย ไอ้ซี่ยาว ซี่สั้น สับกันอยู่อย่างนี้ ทุกข์มากโยม อันนี้ทุกข์มากจริงๆ
อันนี้บอกไว้หรอก บางทีจะไปเจอเอาทุกข์เพราะความทุกข์ในตัวของเรานี้ ทุกข์ในตัวเรา จะหาที่พึ่งอะไรมันไม่มีแต่มันค่อยยังชั่วเมื่อเรายังหนุ่ม มันแก่มาแล้วมันก็เริ่มฟัง มันช่วยกันฟัง สังขารมันเป็นไปตามเรื่องของมัน เราร้องไห้มันก็อยู่อย่างนี้ จะดีใจมันก็อยู่อย่างนี้ เราจะเป็นอะไร มันก็อยู่ของมันอย่างนี้ เราจะเจ็บจะปวด จะเป็นจะตาย มันก็อยู่อย่างนั้น เพราะมันเป็นอย่างนั้น นี่มันหมดความรู้หมดวิชา เอาหมอฟันมาดูฟัน ถึงแก้ไขแล้ว ยังไงก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้น ต่อไป หมดฟันเอง ก็เป็นเหมือนเราอีก ไปไม่ไหวอีกแล้ว ทุกอย่างมันก็ฟังไปด้วยกันทั้งหมด
นี้เป็นความจำเป็นที่เราจะต้องรีบพิจารณา เมื่อมีกำลังเรี่ยวแรงก็รีบทำ จะทำบุญสุนทาน จะทำอะไร ก็รีบจัดทำกัน แต่ว่าคนเรา ก็มักจะไปมอบให้แต่คนแก่ จะเข้าวัดศึกษาธรรมะ รอให้ แก่เสียก่อน โยมผู้หญิงก็เหมือนกัน โยมผู้ชายก็เหมือนกัน ให้แก่เสียก่อนเถอะ ไม่รู้ว่าอะไรกัน คนแก่นี่มันกำลังดีไหม ลองไปวิ่งแข่งขันกับคนหนุ่มดูซิ ทำไมจะต้องไปมอบให้คนแก่ เหมือนไม่รู้จักตาย พอแก่มาสัก ๕๐ปี ๖๐ปี จวนเข้าวัดอยู่แล้ว หูตึงเสียแล้ว ความจำก็ไม่ดี เสียแล้ว นั่งก็ไม่ทน
"ยายไปวัดเถอะ"
"โอย หูฉันไม่ดีแล้ว"
นั่นเห็นไหม ตอนหูดีเอาไปฟังอะไรอยู่ จังว่า จังว่า มันคาแต่ลูกหว้าอยู่นั่นแหละ จนหูมันหนวกเสียแล้ว จึงไปวัด มันคาแต่ลูกหว้า อยู่นั่นแหละ จนหูมันหนวกเสียแล้วจึงไปวัด มันก็ไปไม่ได้ นั่งฟังท่านเทศน์ เทศน์อะไรไม่รู้เรื่อง มันหมดแล้วจึงมาทำกัน
ดังนั้น วันนี้คงจะได้ประโยขน์กับบุคคลที่สนใจเป็นบางสิ่งบางอย่าง ที่ควรเก็บไว้ในใจเรา สิ่งทั้งหลายนี่เป็นมรดกขอบเราทั้งนั้นมันจะรวมมา รวมมาให้เราแบกทั้งนั้นแหละ ขานี่เป็นสิ่งที่วิ่งได้มาแต่ก่อน อย่างขาอาตมานี่จะเกินมันก็หนักสกล ร่างกายจะต้องแบกมันแต่ก่อนนั้นมันแบกเรา บัดนี้เราแบกมัน ลุกขึ้นก็ "โอ๊ย" สมัยเป็นคนเด็กเห็นคนแก่ลุกขึ้นก็ "โอ๊ย" ที่โอ๊ยๆ ยังไม่ยอมนะ ขนาดนี้นะ นั่งก็ "โอ๊ย" ลุกขึ้นก็ "โอ๊ย" "โอ๊ย" ทั้งนั้นแหละ ไม่รู้อะไรทำให้เราไม่รู้เรื่อง มีแต่ "โอ๊ยๆ " ทั้งนั้น มันทุกข์ถึงขนาดนั้น เรายังไม่เห็นโทษมัน เมื่อจะหนีจากมันเราไม่รู้จัก ที่ทำเจ็บปวดขึ้นมา นี่เรียกว่า สังขารมันเป็นไป ตามเรื่องของมัน ที่มันเป็นมันเป็นประดง ประดงไฟ ประดงข้อ ประดงงอ ประดงจิปาถะ หมด เอายามาใส่ก็ไม่ถูก ผลที่สุดก็ฟังไปทั้งหมออีก คือสังขารมันเสื่อม มันเป็นไป ตามสภาพของมัน มันจะเป็นของมันอยู่อย่างนั้น อันนี้เป็นธรรมชาติมัน ฉะนั้นให้ญาติพี่น้องให้พากันเห็น ถ้าเห็นแล้วก็ไม่เป็นอะไร อย่างงู อสรพิษตัวร้ายๆ มันเลื้อยมาเราเห็น เราเห็นมันก่อนก็หนี มันไม่ได้กัดเราหรอก เพราะเราได้ระวังมัน ถ้าเราไม่เห็นมัน เดินๆ ไปไม่เห็นก็ไปเหยียบมัน เดี๋ยวมันก็กัดเลย
ถ้ามันทุกข์แล้วไม่รู้จะไปฟ้องใคร ถ้าทุกข์เกิดขึ้นจะไปแก้ตรงไหน คืออยากแต่ว่า ไม่ให้มันทุกข์เฉยๆ เท่านั้น อยากไม่ให้มันทุกข์แต่ไม่รู้จักทางแก้ไขมัน แล้วก็อยู่ไป อยู่ไป จนถึงวันแก่ วันเจ็บ แล้วก็วันตาย คนโบราณบางคนเขาว่า เมื่อมันเจ็บมันไข้ จวบลมหายใจจะขาด ให้ค่อยๆ เข้าไปกระซิบใกล้หูคนไข้ว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ มันจะเอาพุทโธ นั่นนะ คนที่ใกล้จะนอนในกองไฟจะรู้จักพุทโธอะไร ตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว อายุรุ่นๆ ทำไมไม่เรียน พุทโธให้มันรู้ หายใจติดบ้างไม่ติดบ้าง "แม่ๆ พุทโธ พุทโธ" ว่าให้มันเหนื่อยทำไม อย่าไปว่าเลย มันหลายเรื่อง เอาได้แค่นั้นก็สบายแล้ว
โยมชอบเอาแต่ต้นกับปลายมัน ตรงกลางไม่เอาหรอกชอบแต่อย่างนั้น บริวารพวกเราทั้งหลายก็ชอบอย่างนั้น ทั้งญาติโยมทั้งพระทั้งเณรชอบทำอย่างนั้น ไม่รู้จักแก้ไขภายในจิตของเจ้าของ ไม่รู้จักที่พึ่ง แล้วก็โกรธง่ายและก็อยากหลายด้วย ทำไม คือคนที่ไม่มีที่พึ่งทางใจ อยู่เห็นฆราวาสครอบครัว อายุก็ ๒๐- ๓๐- ๔๐ ปี กำลังแรงดีอยู่ พ่อบ้านแม่บ้านทั้งหลายก็พอพูดกันรู้เรื่องกันหน่อย นี่ ๕๐ ปีขึ้นไปแล้วพูดันไม่รู้เรื่องกันแล้ว เดี๋ยวก็นั่งหันหลังให้กันหรอก เลยแยกกัน หันหลังให้กัน คนนั้นพร้อม ลูกชายคนนี้ คนนี้พร้อม ลูกหญิงคนนั้น เลยแตกกันเลย
เรื่องนี้อาตมาเล่าไปหรอก ไม่เคยมีครอบครัว ทำไมไม่มีครอบครัว คืออ่านคำว่าครอบครัวมันก็รู้แล้ว ครอบครัวคืออะไร ครอบมันก็คือย่างนี้ ถ้าเรานั่งอยู่เฉยๆ ก็เอาอะไรมาครอบลงนี้จะเป็นอย่างไร เรานั่งอยู่ไม่มีอะไรมาครอบ มันก็พอทนได้ ถ้าเอาอะไรมาครอบลงก็เรียกว่าครอบแล้ว มันเป็นอย่างไรครอบก็เป็นอย่างนั้น มันมีวงจำกัดแล้ว ผู้ชายก็อยู่ในวงจำกัด ผู้หญิงก็อยู่ในวงกำจัดแล้ว อาตมาไปอ่านแล้ว ครอบครัว โอยหนัก ศัพท์ตายนี่ คำนี้ไม่ใช่ศัพท์เล่นๆ ศัพท์ที่ว่า ครอบ นี้ศัพท์ทุกข์ ไปไม่ได้มันมีจำกัดแล้ว ต่อไปอีก ครัว ก็หมายถึง การก่อกวนแล้วทิ่มแทงแล้ว โยมผู้หญิงเคยเข้าครัว เคยโขลกพริกคั่วพริกแห้งไหม ไอ จาม ทั้งบ้านเลย ศัพท์ ครอบครัว มันวุ่น ไม่น่าอยู่หรอก อาตมาอาศัยสองศัพท์นี่แหละจึงบวชไม่สึก
ครอบครัวนี่น่ากลัว ขังไว้จะไปไหนก็ไม่ได้ ลำบากเรื่องลูกบ้าง เรื่องเงินเรื่องทองบ้าง สารพัดอย่างอยู่ในนั้น ไม่รู้นะไปไหน มันผูกไว้แล้ว ลูกผู้หญิงก็มีลูกผู้ชายก็มี มันวุ่นวายเถียงกัน อยู่นั่นแหละจนตายไม่ต้องไปไหนอยู่นั่นแหละ เออ น้ำตามันไม่หมดนะโยมครอบครัวนี่นะ ถ้าไม่มีครอบครัวน้ำตามันหมดเป็น ถ้ามีครอบครัวน้ำตามันหมดยาก หมดไม่ได้ โยมเห็นไหม มันบีบออกเหมือนบีบอ้อย ตาแห้งๆ ก็บีบออกให้เป็นน้ำไหลออกมา ไม่รู้มันมาจากไหน มันเจ็บใจ แค้นใจ สารพัดอย่าง มันทุกข์ เลยรวมทุกข์บีบออกมาเป็นทุกข์
อันนี้ให้โยมทั้งหลายเข้าใจ ถ้ายังไม่ผ่าน มันจะผ่านอยู่ข้างหน้า บางคนอาจจะผ่าน มาบ้างแล้ว เล็กๆ น้อยๆ บางคนก็เต็มที่แล้ว
"จะอยู่หรือจะไปหนอ"
โยมผู้หญิงเคยมาหาหลวงพ่อ "หลวงพ่อ แหม ถ้าดิฉันไม่มีบุตรดิฉันจะไปแล้ว"
"เออ อยู่นั่นแหละเรียนให้จบเสียก่อน"
เรียนตรงนั้น อยากจะไปก็อยากจะไป ไม่อยากจะอยู่ ถึงขนาดนั้นก็ยังหนีไม่ได้ อยู่วัดป่าพง สร้างกุฏิเล็กๆ ไว้ตั้ง ๗๐- ๘๐ หลัง บางทีจะมีพระเณรมาอยู่บรรจุเต็ม บางทีก็มีเหลือ ๒ - ๓ หลัง อาตมาถามว่า
"กุฏิเรายังเหลือว่างไหม?"
พวกชีบอกว่า "มีบ้าง ๒ - ๓ หลัง"
"เออ เก็บเอาไว้เถอะ บางทีพ่อบ้านแม่บ้านเขาทะเลาะกัน เอาไว้ให้เขานอนสักหน่อย"
แน่ะมาแล้ว โยมผู้หญิงสะพายของมาแล้ว ถามว่า "โยมมาจากไหน?"
"มากราบหลวงพ่อ ดิฉันเบื่อโลก"
"โอย! อย่าว่าเลย อาตมากลัวเหลือเกิน"
พอผู้ชายมาบ้าง ก็เบื่ออีกแล้ว นั่นมาอยู่ ๒ - ๓ วันก็หายเบื่อไปแหละ โยมผู้หญิงมาก็เบื่อ โกหกเจ้าของ โยมผู้ชายมาก็เบื่อ โกหกเจ้าของ ไปนั่งกุฏิเล็กๆ เงียบๆ คิดแล้ว
"เมื่อไรหนอแม่บ้านจะมาเรียกเรากลับ"
แน่ะ ไม่รู้อะไร มันเบื่ออะไรกัน มันโกรธแล้ว มันก็เบื่อแล้วก็กลับอีก เมื่ออยู่ในบ้านผิดทั้งนั้นล่ะ พ่อบ้านผิดทั้งนั้น แม่บ้านผิดทั้งนั้น มานั่งถาวนาได้ ๓ วัน
"เออ! แม่บ้านเขาถูกเว้น เรามันผิด"
"พ่อบ้านเขาถูก เราซิผิด"
แน่ะมันจะกลับ มันเปลี่ยนเอาเองของมันอย่างนั้น ก็กลับไปเลยทั้งนั้นแหละ นี้ความจริงมันเป็นอย่างนั้นนะ ก็กลับไปเลยทั้งนั้นแหละ นี้ความจริงมันเป็นอย่างนั้นนะ โลกนี้อาตมาจึงไม่วุ่นวานอะไรมันมาก รู้ต้นรู้ปลายมันแล้ว ฉะนั้นจึงมาบวชอยู่อย่างนี้
วันนี้ขอฝากให้เป็นการบ้าน เอาไปทำการบ้าน จะทำไร่ทำนา ทำสวน ให้เอาคำหลวงพ่อมาพิจารณาว่า เราเกิดมาทำไมเอาย่อๆ ว่าเกิดมาทำไม มีอะไรเอาไปได้ไหม ถามเรื่อยๆ นะ ถ้าใครถามอย่างนี้บ่อยๆ มีปัญญานะ ถ้าใครไม่ถามเจ้าของอย่างนี้ โง่ทั้งนั้นแหละ เข้าใจไหม บางทีฟังธรรมวันนี้ แล้วกลับไปถึงบ้านจะพบ เย็นนี้ก็ได้ไม่นานนะ มันเกิดขึ้นทุกวัน เราฟังธรรมอยู่มันเงียบ บางทีมันรออยู่ที่รถ เมื่อเราขึ้นรถ มันก็ขึ้นรถไปด้วย ถึงบ้าน มันก็แสดงอาการออกมา อ้อ หลวงพ่อท่านสอนไว ้จริงของท่านละมังนี่ ตาไม่ดีไม่เห็นนะ เอาละวันนี้เทศน์มากก็เหนื่อย นั่งมามากก็เหนื่อย สังขารร่างกายนี้