รวมคติธรรม: ชาวพุทธหรือชาวพูด
ชยสาโรภิกขุ
โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 002768 - โดยคุณ : นุดี [ 11 พ.ค. 2544]
เนื้อความ :
คัดบางส่วนมาฝาก จากหนังสือ ชาวพุทธหรือชาวพูด รวมคติธรรม ของท่านพระอาจารย์ชยสาโร ท่านมีสามารถในด้านการใช้ภาษาเป็นอย่างยิ่งถ้อยคำเรียบง่าย แต่คมคาย แฝงได้ด้วยแง่คิด บางครั้งเพียงแค่ประโยคสั้น ๆ ประโยคเดียวก็สะกิดใจได้ หยิบมาอ่านหรือฟังเทศน์ของท่านครั้งใด ก็ประทับใจได้เสมอ ๆ ถ้าพิมพ์ผิดพลาดตกหล่นก็ขออภัยด้วยค่ะ ชยสาโร ภิกขุ นามเดิม ฌอน ชิเวอร์ตัน (Shaun Chiverton); พ.ศ. 2501 เกิดที่ประเทศอังกฤษ; พ.ศ. 2521 ได้พบกับท่านอาจารย์สุเมโธ ที่วิหารแฮมสเตด ประเทศอังกฤษ ถือเพศเป็น อนาคาริก (ปะขาว) อยู่กับท่านอาจารย์สุเมโธ 1 พรรษา แล้วเดินทางมายังประเทศไทย; พ.ศ. 2522 บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี; พ.ศ. 2523 อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดหนองป่าพง โดยมีพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) เป็นพระอุปัชฌาย์; ปัจจุบัน เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี |
เป็นชาวพุทธหรือชาวพูด
ทุกวันนี้เราก็เป็นชาวพูดมากกว่าชาวพุทธพูดจริง แต่ไม่ค่อยทำ ชาวพูด พูดเฉยๆ
เราไม่ได้เป็นชาวพุทธเพราะทะเบียน เราเป็นชาวพุทธเพราะความเพียร.เราเพียรพยายามเลิกละสิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม พยายามบำเพ็ญสิ่งที่ดีงามในชีวิตพยายามทำสมาธิภาวนาให้เกิดปัญญาในการแก้ปัญหาในชีวิต
พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของเราทุกคน
พระพุทธเจ้า สามารถเอาความคิดที่ลึกซึ้งของเราออกมาพูดเป็นภาษาคนเพราะฉะนั้น การได้พบพระพุทธศาสนาเท่ากับได้พบตัวเองทำให้เข้าใจการสอนของครูบาอาจารย์ที่ว่าพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องของตำรา ไม่ใช่เรื่องของวัดวาไม่ใช่เรื่องของนักบวช เป็นเรื่องของเราทุกคน เรื่องของหัวใจมนุษย์
เรื่องของพุทธศาสนา คือ เรื่องของตัวเอง และเรื่องการละ เรื่องการบำเพ็ญ ก็ไม่มีอะไรนอกเหนือจากสิ่งที่มีอยู่ในใจของเรานี่แหละ
ผู้มีอุปสรรคคือผู้มีบุญ
ปัญญาเกิดจากการฝ่าฟันอุปสรรคยิ่งมีอุปสรรคมากยิ่งมีโอกาสที่จะสร้างปัญญามากฉะนั้น ผู้ที่มีอุปสรรคมาก ๆ เป็นผู้ที่มีบุญมาก น่าอิจฉา
รอบคอบในความสบาย
หลวงพ่อชาสอนว่าความสบายมี 2 อย่าง คือความสบายที่เป็นไปเพื่อความสบายและความสบายที่เป็นไปเพื่อความไม่สบายบางทีเราต้องผ่านความไม่สบายก่อน เราจึงได้ความสบายที่มีคุณค่าเพราะความสบายบางอย่าง ถึงแม้ว่าจะให้ความสุขในปัจจุบันแต่ก็เกิดความไม่สบายในอนาคตเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อมก็เป็นตัวอย่างที่ดี เราอาจจะทำลายธรรมชาติ เพื่อความสุขความสบายในขณะปัจจุบันหรืออาจจะทำเพื่อลูกเพื่อหลานของเราได้ โดยลืมเสียว่าลูกของเราหลานของเราก็จะมีลูกมีหลานเหมือนกันการสงเคราะห์ลูกหลานของเรา อาจเป็นการเบียนลูกของลูกๆที่ยังไม่ได้เกิด
ฆ่าเวลาเพราะกลัวการอยู่กับตัวเอง
ความจริงการฆ่าเวลานี้ น่าจะผิดศีลข้อปาณาติบาตเป็นความเลวนะ มันเป็นสิ่งไม่ดี เวลาเรามีน้อย น้อยมากพอเรามีเวลาว่าง ๆ ให้อยู่กับตัวเอง ไม่ต้องฆ่าเวลา
ทุกวันนี้ชีวิตพวกเรามีการฆ่าเวลาอยู่มากฆ่าเวลาแล้วไม่ได้ยอมรับว่าเป็นการฆ่าเวลาฆ่าเวลาแล้วก็เรียกว่า งานอดิเรกบ้าง เรียกว่ากีฬาบ้าง เรียกว่าธุรกิจบ้าง
แต่ส่วนมากเป็นการฆ่าเวลา ฆ่าเวลาเพราะอะไรเพราะเรากลัวตัวเอง กลัวอยู่กับตัวเอง ก็ต้องเดินออกนอกอยู่ตลอดเวลาซัดส่ายไปตามอารมณ์ภายนอกอยู่ตลอดเวลาเลยเป็นทาสของสิ่งภายนอกอยู่ร่ำไป
อย่าเป็นนัก โทษ
ความทุกข์เกิดขึ้นในชีวิต ชอบโทษคนอื่นชอบเป็นนักโทษคนนั้น โทษคนนี้ โทษพ่อแม่ โทษลูกหลานโทษรัฐบาล โทษเศรษฐกิจ โทษอาหาร สิ่งที่โทษได้ในชีวิตมีนับไม่ถ้วน แต่ว่าทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นจากสิ่งเหล่านี้สิ่งเหล่านั้นเป็นแค่เงื่อนไขหรือปัจจัย หรือเป็นจุดกระตุ้นความทุกข์อยู่ที่ใจ
มรรคแปดหรือมักแปดเปื้อน
มรรคมีองค์แปด คือ ทางมีองค์แปดประการอันประเสริฐ ได้แก่สัมมาทิฐิ (เห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (การทำชอบ) สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ) มรรคมีองค์แปดนี้ ได้ชื่อว่า มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) ด้วย
มรรคมีองค์แปด มันเกิดด้วยความลำบากแต่มรรคของคนเรานี้ มักจะเป็นความมักง่ายมากว่ามรรคแปดเลยกลายเป็นว่า มรรคแปดนั้นเป็นมักแปดเปื้อน มันไม่ใช่มรรคแปดของพระพุทธองค์ จึงทำให้เราต้องมีความฝืน แต่ให้มันฝืนพอสมควร คือรู้ประมาณตนในการฝืนมากไปก็ไม่ดีจะทำให้มีความเคร่งเครียด แต่ว่ามันต้องมีความฝืนบ้างพอสมควรแล้วก็เดินไป ดำเนินไป เราเดินไม่ได้ก็ไม่เป็นไรคลานไปก็แล้วกัน แต่อย่าได้ถอยหลัง
การปฏิบัติคือการดูของเก่า
ทำธรรมะให้มันถึงใจของเรา ธรรมะเป็นสิ่งที่เราต้องทำเราไม่ควรจะลืม การทำให้มันถึงใจของเราด้วยการภาวนาการภาวนา คือ การที่เราหยิบสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาแล้วก็หยุดไว้หยุดไว้พิจารณา หยุดไว้สร้างความรู้สึกไว้กับสิ่งที่มีอยู่แล้ว คือเราไม่ต้องแสวงหาความแปลก ๆ ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ให้มารู้จัก มาตระหนักกับสิ่งที่มันมีอยู่แล้วตามธรรมดา
ปัญญาไม่ได้เกิดจากสิ่งที่ผิดปกติ แต่มันเกิดจากการรับรู้อย่างทะลุปรุโปร่งต่อสิ่งที่ปกติ
ลักษณะสำคัญบางประการของทางสายกลาง
ทางสายกลางไม่มีการ เก็บกด สิ่งที่ไม่ดีและไม่มีการ ปล่อย ของสกปรกออกไปเบียดเบียนผู้อื่น
หยุดบำรุงเลี้ยงกิเลสด้วยอาการยินดียินร้าย
กิเลสอยู่ได้ด้วยอาศัยอาหารถ้าเราเลี้ยงมันไว้ มันก็อยู่นาน มันทรมานเรานานแล้วก็ทรมานผู้ที่อยู่รอบข้างเราด้วยแต่ถ้าเราไม่เลี้ยงมันด้วยความยินดี หรือยินร้ายมันจะค่อยแห้งเหี่ยวไป มันจะค่อยหมดไปมันจะค่อยหายไปจากจิตใจของเรา
ฆ่ากิเลสด้วยการรู้เท่าทัน
การที่เราจะฆ่ากิเลสหรือฆ่านิวรณ์นั้นต้องเข้าใจคำว่าฆ่านั้นว่า หมายถึง การรู้เท่าทันฆ่าด้วยการรู้เท่าทัน รู้กับละมีความหมายอันเดียวกันคำว่า รู้กับละกับฆ่า ใช้แทนกันได้ขอให้เราฆ่ามันด้วยความรู้ ความเข้าใจ รู้ตามความเป็นจริง
การภาวนาคือการลดความโง่ของตัวเอง
การภาวนา คือ การลดความโง่ของตัวเองผู้ที่หาว่าไม่มีเวลาภาวนา คือ ผู้ที่ถือว่าไม่มีเวลาลดความโง่ของตัวเอง
สติคือชีวิต
สติ คือ ชีวิต หลวงพ่อชาเคยสอนว่า ผู้ที่ไม่มีสติเป็นบ้าขาดสติ 5 นาทีเท่ากับเป็นบ้า 5 นาทีท่านว่าอย่างนั้นขาดสติชั่วโมงก็บ้าชั่วโมง
ฉะนั้น ขอให้พวกเรามีสติ ชีวิตจะมีความมั่นคงเราจะเป็นที่พึ่งของตัวเองได้ เชื่อตัวเองได้เราจะไม่ต้องไปปลุกเสก ไม่ต้องสะเดาเคราะห์ ไม่ต้องขออะไรจากใคร
ทุกข์อยู่ตรงไหน การปฏิบัติก็อยู่ตรงนั้น
ถ้าเห็นว่าการที่มีอะไรยุ่ง ๆ ตลอดเวลา เป็นกรรมเป็นวิบากของเราลองเปลี่ยนความคิดเสียหน่อยว่า นี่แหละคือการปฏิบัติของเราถ้าเขาถามว่า การปฏิบัติของเราอยู่ตรงไหนตอบว่าทุกข์อยู่ตรงไหน การปฏิบัติของเราก็อยู่ตรงนั้น เหมือนกับบ้านของเรากำลังไหม้ เราจะเอาน้ำไปดับตรงนั้น เราก็ดับตรงที่มันไหม้นั่นแหละ
ทีนี้ เรามีปัญหาตรงไหน เราก็ปฏิบัติตรงนั้น ถือว่าเป็นการท้าทายสมมุติว่า เราเป็นคนขี้โกรธ วันนี้การท้าทายของเราคือ ไม่ให้จิตใจหลงเกิดความคับแค้นใจ รักษาไว้ในสภาพปกติ นั่นแหละคือการปฏิบัติของเราในวันนี้
ปฏิบัติธรรมหรืออธรรม
ในการที่มนุษย์เรามีกาย มีวาจา มีใจมีการกระทำอยู่ตลอดเวลา เว้นเวลาที่เรานอนหลับเป็นอันว่าต้องมีการปฏิบัติตลอดเวลา หลายคนอ้างว่าไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมแต่ไม่ใช่ว่าเราจะเลือกได้ระหว่างการปฏิบัติธรรมหรือการไม่ปฏิบัติธรรมอย่างไรก็ตาม เราก็ต้องมีการปฏิบัติอยู่แล้ว สำคัญที่ว่าเราจะปฏิบัติสิ่งที่เป็นธรรมหรือปฏิบัติสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมถ้าเราไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม ก็หมายความว่า มีแต่เวลาปฏิบัติอธรรมอันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
อารมณ์ที่มากระทบคือหินลับปัญญา
หินแหลมคมบนภูเขาก้อนนั้น ถ้ามันกลิ้งลงมาข้างล่างกระทบกับก้อนนั้นก้อนนี้ ซ้ายทีขวาที ในที่สุดมันก็จะกลายเป็นก้อนกรวดที่กลมเกลี้ยงขึ้นมาได้การปฏิบัติของเรานี้ก็เช่นเดียวกัน ต้องให้กระทบอารมณ์บ่อย ๆ มันถึงจะเกิดปัญญา
ถึงคราวปลอบก็ต้องปลอบ
เมื่อเราดูกิเลส พยายามอย่าไปโกรธตัวเองอย่าไปดูถูกตัวเอง อย่าไปว่าตัวเองแต่ต้องเมตตาตัวเอง อะหัง สุขิโต โหมิ ที่เราเมตตานั้นไม่ได้หมายถึงว่า จะต้องปล่อยให้มันเป็นไปในทางที่ไม่ดีหรือว่าปล่อยให้สิ่งที่เป็นข้าศึกต่อกุศลได้อยู่ตามสบายแต่เมตตานั้นแปลว่า ไม่รังเกียจตัวเองว่ามีกิเลสเพราว่าจิตใจของ ปุถุชน เปรียบเหมือนกับห้องว่างที่มีประตูเปิดไว้ให้ใครเข้าก็ได้สิ่งที่เป็นกุศลก็เข้าได้ สิ่งที่เป็นอกุศลก็เข้าได้ แล้วก็ออกได้
ให้เราเป็นผู้ที่มีศรัทธา ศรัทธาตรงนี้แปลว่า พร้อมที่จะตั้งตัวใหม่เพราะการที่เราจะไม่มีความผิดพลาดเลย การที่เราจะไม่มีอุปสรรคเลยนั้นเป็นไปไม่ได้
การปฏิบัติเป็นเรื่องของการฝึกการฝืน
การปฏิบัติที่ไม่มีการฝืนความรู้สึกเก่า ความเคยชินของคนจะเป็นการปฏิบัติที่ไม่มีฤทธิ์ แล้วก็จะเป็นการปฏิบัติที่จะอยู่ในลักษณะเหลาะ ๆ แหละ ๆ จะไม่เอาเป็นเอาตายสักทีจะมีแต่ซังกะตายอย่างเดียว
พยายามฝึก พยายามฝืน แต่ไม่ต้องฝืนมากไปฝืนนิด ๆ หน่อย ๆ แต่ละวัน ๆ เหมือนกับการออกกำลังกายถ้าเราทำมาไปในวันแรกนั้น มันก็จะเจ็บปวด จะไม่ไหวผู้ฉลาดจะพยายามทำให้มากขึ้น ๆ โดยลำดับ
ลองฝืนความอยาก ถ้าไม่ฝืนเลย ความอยากจะดูเหมือนกับเป็นเพื่อนของเราหรือเป็นของธรรมดา เราจะไม่เห็นโทษของมัน
ความสบายอยู่ตรงที่รู้จักแยกจิตกับอารมณ์ออกจากกันได้
จิตกับอารมณ์เปรียบได้เสมือนท้องฟ้ากับสิ่งที่เกิดอยู่ในท้องฟ้าแม้ว่าฟ้าจะมีเมฆหรือไม่มี จะมีเครื่องบินหรือจะไม่มีเครื่องบิน จะมีนกหรือไม่ท้องฟ้าก็อยู่อย่างนั้น มันไม่เปลี่ยนตามสิ่งที่บินไปบินมาในท้องฟ้านั้นขอให้ทำจิตใจของเราเหมือนกันอย่างนี้ เวลามันเกิดอารมณ์
สิ่งภายนอกขึ้น ๆ ลง ๆ แต่เราก็ไม่ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามเราอยู่ด้วยความวางเฉยของผู้รู้เท่านั้น อาการแห่งความสุขก็มีอยู่อาการแห่งความทุกข์ก็มีอยู่ แต่มันอยู่ข้างนอกมันไม่ได้เข้าไปถึงใจของเราจิตไม่ใช่อารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่จิต ให้รู้จักแยกจิตออกจากอารมณ์ ยอมให้อารมณ์เป็นอารมณ์ ให้จิตเป็นจิตนี้เราจะมีความสบายอยู่ตรงนี้
อย่าปฏิบัติเพื่อจะได้อะไร หรือเป็นอะไร
เราต้องรู้ว่าเดี๋ยวนี้ เราปฏิบัติเพื่ออะไรเราปฏิบัติเพื่ออยากเอา อยากเด่นไหมหลวงพ่อท่านก็สอนเสมอว่า อย่าไปปฏิบัติเพื่อจะได้อะไรอย่าเป็นพระพุทธเจ้า อย่าเป็นพระอรหันต์ อย่าเป็นพระอนาคามี อย่าเป็นพระสกทาคามี อย่าเป็นพระโสดาบัน อย่าเป็นอะไรเลย เป็นแล้วมันจะทุกข์อย่าเป็นอะไรเลย สบาย ความสบายอยู่ตรงที่เราไม่ต้องเป็นอะไรเราไม่ต้องเอาอะไร
อย่าไปปฏิบัติเพื่อจะเป็นเพื่อจะเอา เพราะจะเป็นการปฏิบัติที่เป็นการพายเรือในอ่างขอให้เรามีความพอใจในความจริง มุ่งเพื่อเห็นความจริง ปฏิบัติเพื่อความจริงให้ทานด้วยความจริงใจ รักษาศีลด้วยความจริงใจภาวนาด้วยความจริงใจ เพื่อความจริง มุ่งความจริง
ชอบปฏิบัติเสียก่อน จึงจะเป็น ผู้ปฏิบัติชอบ ได้
ถึงแม้ว่าการปฏิบัติของเรานั้น ยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่า การปฏิบัติชอบอย่างน้อยที่สุดขอให้เราชอบปฏิบัติเสียก่อนอย่าไปจริงจังเกินไป อย่าตึงเครียดจนเกินไปต้องหาความพอดีในการปฏิบัติ มีความพอดีระหว่าง ความเพียร กับ ความผ่อนคลาย
ถ้าหากว่าเราชอบปฏิบัติ มีความยินดี มีความเบิกบานมีความพอใจในการปฏิบัติที่จะละสิ่งที่เป็นอกุศลบำเพ็ญสิ่งที่เป็นกุศล ชำระจิตใจของตนให้สะอาดแล้วมีความรู้ความตื่น ความเบิกบาน ในการทำอย่างนี้ในที่สุดชีวิตของเราก็ต้องมีความปลอดโปร่งผ่องใสแล้วการปฏิบัติก็ต้องเป็นการปฏิบัติชอบ
ปล่อยวางเป็นเรื่องของผล ไม่ใช่เรื่องของเหตุ
การปล่อยวางเป็นเรื่องของผล ไม่ใช่เรื่องของเหตุ เรื่องนี้ต้องจำไว้คือเราทำอะไร ก็ต้องทำอย่างเต็มความสามารถ เรียกว่าสร้างเหตุให้ดี แต่ผลที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเหตุนั้น เป็นผลที่เราจัดแจงไม่ได้รับรองไม่ได้ เพราะย่อมจะมีหลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกันกับการกระทำของเราไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของเรา
ฉะนั้น ผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของเราไม่แน่นอนถ้าเราหมายมั่นปั่นมือว่า ต้องออกมาอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้นให้ได้ ทุกข์แน่ ๆ
ถอยออกจากอารมณ์ แล้วดูความเกิด-ดับของมัน
สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมดับเป็นธรรมดาแทนที่จะดูที่เนื้อหาของอารมณ์ เราต้องดูที่กระบวนการของอารมณ์ หรือความเป็นอารมณ์ของอารมณ์ ก็ถอนออกจากอารมณ์ แล้วดู
เมื่อเรารู้ว่ามันคืออารมณ์ แค่นี้คือความรู้ที่จะช่วยให้เราถอยออกมาแล้วก็ดูอารมณ์ไม่ต้องทำอะไรกับอารมณ์ เป็นเพียงตั้งตัวเป็นผู้รู้ไว้มันก็เกิดขึ้นแล้วดับไปๆไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา
เคล็ดลับของการปฏิบัติไม่ใช่อะไรที่ลึกลับ
การเฝ้าสังเกตการเคลื่อนไหวไปมาของร่างกายของกองสังขารของเจ้าของตัวเอง เวทนาความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์ รู้สึกเฉย ๆความจำได้หมายรู้ ความนึกคิดต่าง ๆหรือว่าจินตนาการถึงเรื่องอนาคต มีอะไรเกิดขึ้นเราก็รับรู้สิ่งนั้นให้อยู่ในปัจจุบันให้มาก
เคล็ดลับของการปฏิบัติมันก็อยู่ตรงนี้ ไม่ใช่อะไรลึกลับ เพียงแต่ว่า จะทำอะไรก็ให้เรารู้สึกในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่กับเหตุปัจจัยทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่นั้น
ความสงบที่ควรมุ่งหวัง
ความสงบที่เกิดจากสมถะ เป็นสิ่งที่ดีแต่สิ่งที่เราขาดไม่ได้ คือปัญญาอันแหลมคมหรือปัญญาที่มีพลังพอที่จะขจัดกิเลสได้ ย่อมเกิดจากจิตที่สงบเป็นฐาน
แต่ว่าความสงบที่เกิดจากสมถะภาวนา เป็นความสงบที่เปราะ เป็นความสงบที่อ่อนแอ ความสงบที่ควรมุ่งหวังในการประพฤติปฏิบัติคือความสงบที่เกิดจากการรู้เท่าทันสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
ภาวนาแล้วบ้า ?
คำว่า ภาวนา เป็นคำที่คนกลัวกันมากหลายคนบอกว่า ถ้าภาวนาแล้วจะเป็นบ้าอาตมาเคยไปเทศน์ที่โรงพยาบาลโรคจิต ที่จังหวัดอุบลราชธานีคนมาฟังหลายร้อยคน ส่วนมากเป็นผู้ป่วย เป็นคนไข้ซึ่งรู้สึกว่านั่งฟังเรียบร้อยดี เรียบร้อยกว่าข้าราชการบางคนด้วยซ้ำอาตมาได้ถามว่า คนไข้ที่มานั่งฟังเทศน์ที่นี้ เป็นบ้าเพราะนั่งสมาธิกี่คนก็ไม่มี มีแต่คนเป็นบ้าเพราะไม่นั่งสมาธิมากว่า การนั่งสมาธิด้วยความเห็นชอบ อย่างที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำไว้ ไม่มีพิษมีภัยหรอก แต่นั่งเพื่ออยากได้อยากเป็น อยากเห็น นี่แหละอันตรายพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราภาวนาเพื่อเที่ยวสวรรค์เที่ยวนรก ไปดูนั่นดูนี่เป็นเรื่องของเด็กเล่น ไม่ใช่เรื่องของศาสนา
เมื่อไม่ฝึกจิต ก็ย่อมหลงอารมณ์
การหลงอารมณ์นั้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือในชีวิตประจำวัน เหมือนกับเราดูทีวี แต่ว่าเราเอาหน้ามาชิดจอ มันมองอะไรไม่ชัดแต่พอเราห่างจอเสียหน่อย เราก็เห็นภาพในจอชัดเจน
ถ้าเราไม่ฝึกจิตก็เหมือนกับเราเอาหน้ามาชิดกับจอ คือสิ่งใดที่เกิดกับชีวิตเราก็ตั้งสติไม่ทัน ก็วิ่งตามอารมณ์ตลอดเวลาแต่ถ้าเราฝึกสติบ่อย ๆ ก็คล้าย ๆ กับอะไร ๆ มันช้าลงที่จริงมันไม่ช้าลงนะ แต่มันช้าลงในความรู้สึกเมื่อเรามีสติดี มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติโทษของการหลงอารมณ์ เรากลายเป็นหุ่นกระบอกไม่มีความเป็นอิสระ ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามอารมณ์ไม่มีความสม่ำเสมอ ไม่มีความสงบ
การเจริญสติในชีวิตประจำวัน
ในการเจริญสติในชีวิตประจำวัน เริ่มต้นด้วยสิ่งง่าย ๆ เช่น การแปรงฟัน เราจำได้ไหมว่า ขณะที่เราแปรงฟัน เราได้คิดอะไรด้วยไหม เราตั้งใจแปรงฟัน หรือว่าปล่อยให้จิตคิดเรื่องอื่น อันนี้ ที่เรารู้สึกว่าไม่มีเวลา ก็เพราะเราไม่รู้จักใช้เวลา ไม่ว่าเราจะยุ่ง จะมีภาระหนักมากมายขนาดไหน ยังมีเวลาแปรงฟัน ยังมีเวลาอาบน้ำ ยังมีเวลาแต่งตัว หลายสิ่งหลายอย่างที่เราจะน้อมเข้ามาเป็นเรื่องของการปฏิบัติได้ คือตั้งจิตตั้งใจอยู่ในปัจจุบันกับสิ่งที่เราทำ
กระทบแต่ไม่กระแทก
อย่าไปเข้าใจว่า ความสงบอยู่ที่การหนีความวุ่นวายหรือหนีจากสิ่งกระทบ
การกระทบเป็นของธรรมดาแต่ว่า การกระทบ อย่าให้เกิดการกระแทกก็แล้วกัน กระทบเฉย ๆ แล้วก็ดับไป
นั่งสมาธิแม้จิตไม่สงบ ก็ยังได้ความดีหลายอย่าง
แรก ๆ จิตไม่สงบก็ไม่เป็นไร หลวงพ่อชาปลอบใจลูกศิษย์ใหม่อยู่เสมอว่า นั่งสมาธิแล้วจิตสงบ เหมือนทานอาหารอร่อย จิตไม่สงบเหมือนทานข้าวเปล่า ก็ยังดีกว่าไม่ทานอะไรเลย
อย่างน้อยเราได้เจริญ ขันติบารมี คือ การอดทนต่อความฟุ้งซ่านของจิต เนกขัมมบารมี คือการดึงจิตออกจากความคิดปรุงแต่งกลับมาสู่ธรรม สัจจะบารมี เช่น การตั้งใจจะนั่งสมาธิทุกวัน ศีลบารมี คือการนั่งสมาธิ ไม่ได้ทำให้อะไรให้ใครเดือดร้อนหรือเป็นทุกข์ ทานบารมี คือ ปฏิบัติบูชาพระรัตนตรัย ถวายครูบาอาจารย์หรือเพื่ออนุเคราะห์สรรพสัตว์ทั้งหลาย