#echo banner="" เจ้าคุณนรฯ ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ 01

เจ้าคุณนรฯ ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ

โดย นิโรธ เกสรศิริ

รวบรวมจากหนังสือ ภาพพระเครื่อง และประวัติท่านธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ ซึ่งเขียนโดย คุณการุณย์ เหมวนิช และคุณเสทื้อน ศุภโสภณ

คึกฤทธิ์สดุดี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ผมเพิ่งได้ทราบข่าวเดี๋ยวนี้เองว่า พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต ได้มรณภาพเสียแล้วที่ วัดเทพศิรินทร์ เมื่อวันที่ 8 ม.ค 14 เมื่อเวลาหลังเพลแล้วเล็กน้อย

นามฉายาของท่านคือ ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ ความจริงพระภิกษุมรณภาพเพียงรูปเดียวเมื่ออายุท่านได้ 74 ปี ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นอะไรนัก แต่บังเอิญชีวิตของท่าน และการปฏิบัติธรรมของท่านในภิกขุภาวะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และเป็นเครื่องชี้ให้เห็นธรรมอันดีที่ควรส่งเสริมบางอย่าง ผมจึงเขียนถึงท่านไว้ในที่นี้ ผมเคยรู้จักเจ้าคุณนรรัตนฯ เมื่อผมยังเป็นเด็กเล็กคิดดูเดี๋ยวนี้ก็เห็นจะห้าสิบกว่าปีมาแล้ว

ตอนนั้นท่านอายุ 20 กว่า เป็นพระยาและได้สายสะพายแล้วด้วย

ท่านรับราชการมหาดเล็กหลวง และมีตำแหน่งเป็นต้นห้องพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

หน้าที่ของท่านคืออยู่รับใช้ ใกล้ชิดพระองค์ในที่รโหฐาน และเป็นผู้บังคับบัญชามหาดเล็กห้องพระบรรทมคนอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่หลายคน

เจ้าคุณนรรัตนฯ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนที่หอวัง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเรียนสำเร็จแล้วก็ต้องไปรับราชการในกรมมหาดเล็กเพื่อศึกษาราชการตามระเบียบ ก่อนที่จะไปรับราชการกรมกองอื่น ๆ

แต่เจ้าคุณนรรัตนฯ ติดอยู่ที่กรมมหาดเล็กและอยู่ที่ห้องพระบรรทมอยู่จนตลอดรัชกาล

ความจำของเด็ก ๆ ซึ่งบัดนี้แก่แล้วจะต้องกระจัดกระจาย เป็นธรรมดา ต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ผมนึกออกเกี่ยวกับเจ้าคุณนรรัตน ฯ

ครั้งหนึ่งเห็นท่านกำลังติดพระตรากับฉลองพระองค์ ซึ่งสวมไว้กับหุ่นช่างตัดเสื้อ ท่านติดจนเสร็จแล้วท่านก็ถอยออกมา นั่งดูอยู่นาน ไม่พูดจากับใคร

อีกครั้งหนึ่งเห็นท่านนั่งชุนกางเกงจีนเก่า ๆ ของใครอยู่  เสือกเข้าไปถามท่านตามวิสัยของเด็กทะลึ่งว่า ท่านชุนกางเกงของท่านเองหรือ

ท่านบอกให้ผมลงกราบกางเกงที่ท่านกำลังชุนอยู่นั่น แล้ว บอกว่าเป็นพระสนับเพลาจีนของพระเจ้าอยู่หัว

แล้วท่านก็บ่นอุบอิบอยู่ในคอว่า

“เป็นถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน แต่ก็ชอบนุ่งกางเกงขาด ๆ เก่า ๆ  หาใหม่ให้ก็ไม่เอา ครั้นจะปล่อยให้นุ่งกางเกงขาด ก็ขายหน้าเขา”

จำได้ว่าเวลาท่านพูดกับเด็ก อย่างผมแล้วท่านใช้วาจาหยาบคายสิ้นดี พูดมึงกูไม่เว้นแต่ละคำ

แต่ท่านมีทอฟฟี่แจก เด็กก็เมียงเข้าไปบ่อย ๆ

เด็กที่วิ่งอยู่ๆ อยู่ในวังสมัยนั้นมีมาก และบางคน (อย่างผม) ก็เป็นเด็กที่ซุกซนขนาดเหลือขอจริง ๆ ทีเดียว

บางครั้งเข้าไปซุกซนใกล้ที่ประทับจนถูกกริ้วต้องพระราชอาญา มีรับสั่งให้เจ้าคุณนรรัตนฯ เอาไปตีเสียให้เข็ด

เจ้าคุณนรรัตนฯ ก็ลากตัวเข้าไปในห้องซึ่งอยู่ใกล้ที่ประทับ แล้วเอาไม้เรียวซึ่งเตรียมไว้ มาหวดซ้ายป่ายขวาลงไปกับเก้าอี้บ้าง กระดานบ้างให้มีเสียงดัง

เด็กที่ไม่รู้เคล็ดก็อ้าปากค้าง นั่งดูเฉย ท่านก็ชี้หน้าบอกว่า

“ร้องไห้ดัง ๆ นะมึง ไม่ร้อง พ่อตีตายจริง ๆ ด้วยเอ้า”

เด็กก็ร้องจ้าขึ้นมา

และก็จะได้ยินพระสุรเสียงดังมาจากที่ประทับทันที

“พอที ข้าสั่งให้ตีสั่งสอนมันเพียงหลาบจำ เอ็งตีลูกเขาอย่างกับตีวัวตีควาย ลูกเขาตายไปข้าจะเอาที่ไหนไปใช้เขา”

เจ้าคุณนรรัตนฯ ก็กระซิบบอกเด็กว่า

“ไหมล่ะ!”

เด็กก็พ้นพระราชอาญาเพียงแค่นี้ และความรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาก็จะติดอยู่ในตัวในใจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่มีวันที่จะลืมเลือนได้

ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าคุณนรรัตนฯ ได้อุปสมบทหน้าพระเพลิง อย่างที่สามัญชนเรียกว่า บวชหน้าไฟ

และท่านได้ครองสมณเพศ ตลอดมาจนถึงมรณภาพ

เป็นเวลา 46 ปีเต็ม

สี่สิบหกปีแห่งความกตัญญู อันมั่นคงหาที่เปรียบได้ยาก

ความจริงเมื่อเสด็จสวรรคตนั้น เจ้าคุณนรรัตนฯ มีทั้งฐานะ ทั้งทรัพย์ และโอกาสที่จะหาความเจริญในโลกต่อไปอย่างพร้อมมูล

ในทางชีวิตครอบครัวท่านก็มีคู่หมั้นอยู่แล้ว

แต่ท่านก็ได้สละสิ่งเหล่านี้ ทั้งหมดออกอุปสมบท และอยู่ในสมณเพศตลอดชีวิตเพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งมีพระคุณแก่ท่าน

นับวาเป็นตัวอย่างแห่งความกตัญญูซึ่งควรจะจารึกไว้

เมื่ออยู่ในสมณเพศนั้น เจ้าคุณนรรัตนฯ ฉันอาหารวันละหนเท่านั้น

อาหารที่ท่านฉัน มีข้าวสุก มะพร้าว กล้วย เกลือ มะนาว และ ใบฝรั่ง

ท่านลงไปโบสถ์ทำวัตรเช้าและเย็น วันละสองครั้ง ไม่เคยขาด จนมรณภาพ

ดูเหมือนจะขาดอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณวรเถระ ขณะที่ท่านยังมีชีวิตและเป็นเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์อยู่สั่งให้อยู่ที่กฏิ เพราะท่านอาพาธ

ท่านเป็นพระที่สงบสงัดจากโลกแล้ว ไม่เคยโด่งดัง

แม้แต่ธรรมที่ท่านได้แสดงไว้ เมื่อพิมพ์แล้ว ได้เป็นสมุดเล่มเล็ก ๆ มีความเพียง 22 หน้ากระดาษ และแบ่งออกเป็นเรื่องรู้น ๆ ได้เพียง 8 บท

บทที่ 7 นั้นมีเพียงเท่านี้ แต่ก็ขอให้ท่านอ่านเอาเองเถิดว่า เป็นความจริงเพียงไร และน่าประทับใจเพียงไร

อานุภาพไตรสิกขา

คือ

ศีล สมาธิ ปัญญา

ด้วยอานุภาพของไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้แล จึงชนะข้าศึก คือ กิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง และ อย่างละเอียด

ชนะความหยาบคาย ซึ่งเป็นกิเลสอย่างหยาบที่ล่วงทางกาย วาจาได้ด้วยศีล

ชนะความยินดียินร้ายและ หลงรัก หลงชังเป็นกิเลสอย่างกลางที่เกิดในใจได้ด้วยสมาธิ

ชนะความเข้าใจ รู้ผิด เห็น ผิดจากความเป็นจริงของสังขาร ซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียดได้ด้วยปัญญา

ผู้ใดศึกษาและปฏิบัติตาม ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้โดยพร้อมมูล บริบูรณ์สมบูรณ์ แล้ว ผู้นำจึงเป็นผู้พ้นจากทุกข์ ทั้งปวงได้เป็นแน่นอน ไม่ต้องสงสัยเลย!

เพราะฉะนั้น จึงควรสนใจ เอาใจใส่ ตั้งใจศึกษา และปฏิบัติตามไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญานี้ ทุกเมื่อเทอญ

ครั้งหนึ่งผู้คนเขาไปลือว่า ท่านสำเร็จพระอรหันต์แล้ว

ผมพบท่านโดยบังเอิญที่วัดเทพศิรินทร์ก็เข้าไปกราบท่าน แล้วกราบเรียนถามท่านว่า

เขาลือกันว่าได้เท้าสำเร็จ เป็นพระอรหันต์แล้วจริงหรือครับ

ท่านดึงหูผมเข้าไปใกล้ ๆ แล้ว กระซิบว่า

“ไอ้บ้า”

อริยสงฆ์

ทุกวันนี้เมื่อเอ่ยถึง “เจ้าคุณนรรัตน์” หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “เจ้าคุณนรฯ” ซึ่งมีนามฉายา ว่า “ธมฺมวิตกฺโก” แล้ว

วงการพุทธศาสนิกชนในเมืองไทยยอมรับกันว่าท่านเป็น ”สงฆ์” อย่างแท้จริง “อริยสงฆ์” ด้วย มิใช่เป็นแต่เพียง “สมมติสงฆ์” อย่างที่เห็นกันอยู่ ดาษดื่นทั่วไปในยุคนี้

จนถึงกับมีบุคคลมากมาย เชื่อกันอย่างสนิทใจว่าท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์

ปฏิปทาและการปฏิบัติของท่านนั้น มั่นคงและเด็ดเดี่ยวเป็นยิ่งนัก ท่านเป็น “สมณะ” ที่เคร่งครัดต่อศีลาจารวัตรเป็นอย่างยิ่ง

เป็นผู้สะอาด บริสุทธิ์ปราศจากมลทินด่างพร้อยด้วยประการทั้งปวง ทั้งกายและใจ ทั้งภายในและภายนอก

เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง และปฏิบัติชอบ เป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นผู้ควรแก่การเคารพนบไหว้อย่างแท้จริงของสาธุชนทั้งหลาย

เป็นการยากที่จะหาพระ ภิกษุรูปใด ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน ไม่ว่าในอาณาจักรสงฆ์ไทยเรา หรือในวงการสงฆ์นานาประเทศ

ที่จะปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ครบถ้วนตามวินัยบัญญัติอย่างเคร่งครัด เด็ดเดี่ยวเสมอต้นเสมอปลายอย่างท่านได้

วัตรปฏิบัติ ทั้งหลายทั้งปวงของท่านนั้น ล้วนเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจาก “โลกียะ" มุ่งตรงต่อ “โลกุตตระ” อย่างแท้จริง

ซึ่งแตกต่างห่างไกลจากการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ทั่วไปในยุคนี้โดยสิ้นเชิง นับว่าท่านเป็นบุคคลที่หาได้ยากยิ่งในโลก

ท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งเคยบวชอยู่ในวัดเทพศิรินทราวาส และเคยอยู่ใกล้ชิดกับเจ้าคุณนรรัตน์มาพอสมควร ถึงกับกล่าวว่า

ถ้าหากพระพุทธองค์ยังทรงดำรงพระชนม์อยู่มาจนถึงบัดนี้ ก็คงจะต้องประทานประกาศนียบัตรในการประพฤติปฏิบัติเป็นเอก ให้แก่ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ เป็นแน่แท้

ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ เป็นอัจฉริยบุคคล ผู้ทรงไว้ซึ่งความเป็นอัจฉริยภาพอย่างแท้จริง นอกเหนือไปจากการประพฤติปฏิบัติที่มั่นคงเด็ดเดี่ยวสม่ำเสมอ และมีความทรงจำที่แม่นยำอย่างน่ามหัศจรรย์แล้ว ยังมีดวงจิตที่ ทรงพลังอย่างมหาศาลอีกด้วย

ดังจะเห็นได้จากท่านใช้อำนาจจิตต่อสู้ผจญกับอสรพิษ และโรคร้าย โดยมิต้องใช้หยูกยาใด ๆ ดังเช่นคนทั้งหลาย จนปรากฏผลเป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง

ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านเจ้าคุณนรรัตน์ จักเป็นที่กึกก้องขจรไกล เป็นที่กล่าวขวัญสรรเสริญติดปากชาวพุทธในเมืองไทยอยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน

ตราบใดที่พระพุทธศาสนายังสถิตสถาพรดำรงคงอยู่คู่ไทย ตราบนั้นนาม “เจ้าคุณนรรัตน์ฯ” อันเป็นมหามงคลนาม

ก็จักยังคงความศักดิ์สิทธิ์ ติดตรึงอยู่ในดวงใจของชาวพุทธในเมืองไทย ตราบชั่วนิรันดร์กาล

ไม่แพ้พระเถระผู้ทรงวิทยาคมและทรงคุณธรรมเป็นพิเศษรูปใด ๆ ในอดีต เป็นต้นว่าสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หลวงพ่อสุข วัดมะขามเฒ่า ฯลฯ

มงคลสูตร

พระเถระผู้ทรงคุณธรรมเป็นพิเศษในอดีตส่วนใหญ่ เมื่อจะถือกำหนดในครรภ์โยมมารดานั้น มักจะสำแดงนิมิตให้ปรากฏแก่โยมบิดาและโยมมารดาต่าง ๆ กัน

เป็นต้นว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถระ) อดีต เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส องค์สำคัญยิ่ง ซึ่งเป็นสมเด็จอุปัชฌาย์ของท่านธมฺมวิตกฺโก และเชื่อกันว่าท่านเป็นพระอริยบุคคลรูปหนึ่งนั้น เมื่อปีที่ท่านจะเกิด โยมบิดาก็ฝันไปว่ามีผู้นำช้างเผือกมาให้

หรือเมื่อตอนที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แต่ครั้งยังเป็นสามเณร จะย้ายเข้าไปอยู่วัดระฆังโฆสิตาราม เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น

ก็เล่ากันว่าพระอาจารย์ของท่านฝันในคืนวันที่ท่านจะไปถึง ว่ามีช้างเผือกเชือกหนึ่งเข้าไปกินคัมภีร์พระไตรปิฎกในดู้จนหมด ฯลฯ

โดยเหตุที่เคยมีเรื่องราวเล่ากันมาดังกล่าวนี้ จึงทำให้ผู้เขียนสนใจสืบถามนิมิตเมื่อตอนที่ท่านธมมฺวิตกฺโกจะถือกำเนิดอยู่เหมือนกัน เพื่อจะได้ “เกร็ด” ประวัติตอนสำคัญของท่านมาเผยแพร่ แต่ก็มิได้ความกระจ่างแต่อย่างใด

เคยมีผู้สนใจซักถามโยมบิดาของท่าน (พระนรราชภักดี ตรอง จินตยานนท์) ว่าประพฤติตนเช่นไร สวดมนต์อย่างไร ท่องคาถาบทไหน ฯลฯ จึงได้มีบุตรที่ดี (หมายถึงท่านธมฺมวิตกฺโก) เช่นนี้ โยมบิดาของท่านก็ได้ตอบไปว่า เห็นจะเป็นด้วยเหตุที่ท่านได้ใส่ใจภาวนา สวดพระคาถามงคลสูตรอยู่เสมอนั่นเอง

อันพระคาถามงคลสูตรนี้ ตัวท่านธมฺมวิตกฺโกเอง ก็นิยมท่องบ่นเจริญภาวนาอยู่เสมอเช่นกัน ตลอดทั้งได้แนะนำผู้ใกล้ชิดบางคน เช่น คู่หมั้นของท่าน ให้หมั่นสวดภาวนาทุกวัน ทั้งเวลาเช้าตื่นนอน และเวลาค่ำก่อนเข้านอน

โดยท่านได้ให้อรรถาธิบายว่า

“มงคลคาถานี้ เป็นพระสูตรที่คัดมาจากพระไตรปิฎก ผู้ใด เล่าบ่นหรือสวดและปฏิบัติตาม ย่อมเป็นสิริมงคลอันประเสริฐ จึงเรียกว่า คาถามงคลสูตร”

กำเนิด

ท่านธมฺมวิตกฺโกภิกขุ หรือ พระยานรรัตนราชมานิต มีนาม เดิมว่า ตรึก จินตยานนท์

ท่านเกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2440 ตรงกับวันเสาร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปีระกา

ซึ่งวันนั้นเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา คือ เป็นวันมาฆบูชา ท่านเกิดเมื่อเวลา 07.40 น.

ท่านเล่าว่า เมื่อก่อนที่ท่านจะเกิด โยมแม่ของท่านได้ออกมาตักบาตรตามปกติ

พอตักบาตรพระองค์สุดท้ายเสร็จ ก็เริ่มเจ็บท้องจึงกลับขึ้นบ้าน สักครู่ก็คลอด และเป็นการคลอดง่ายมากทั้งที่ท่านเป็นบุตรคนแรกของโยมแม่

ท่านบอกอย่างขำ ๆ ว่า “อาตมาไม่ได้ทำให้โยมแม่เจ็บนาน” ท่านเกิดที่บ้านใกล้วัดโสมนัส

ท่านเป็นบุตรคนแรกของ พระนรราชภักดี (ตรอง จินตยานนท์) และนางนรราชภักดี (พุก จินตยานนท์)

ท่านมีน้องเป็นชาย 2 คน และหญิง 2 คน น้องของท่านถึงแก่กรรมเมื่อยังเยาว์สองคน เป็น 1 และหญิง 1

วัยศึกษา

เมื่อโตขึ้นก็ได้เข้าเรียนชั้นประถมที่วัดโสมนัส และมาต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร เมื่อตอนจะจบชั้นมัธยม ท่านสอบได้ที่ 1 ของสนามสอบ

การสอบในสนามสอบนี้เป็นการสอบรวมกันหลายโรงเรียน โดยข้อสอบเดียวกัน

ฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่าท่านสอบได้เป็นที่ 1 ของประเทศไทยในสมัยของท่าน

เมื่อท่านจบจากโรงเรียนมัธยมแล้ว ท่านตั้งใจจะเรียนวิชาแพทย์ต่อเพราะท่านสนใจวิชานี้มาก เห็นว่าเป็นประโยชน์ที่จะเกื้อกูลต่อผู้ที่ต้องทุกขเวทนา เกี่ยวกับการป่วยเจ็บ

แต่โยมพ่อเป็นนักปกครอง อยากจะให้ท่านได้เป็นนักปกครองตาม จึงให้ท่านเรียนวิชาการปกครองเพื่อจะสืบตระกูล ต่อไป

เมื่อโยมพ่อปรารถนาเช่นนั้นท่านก็ตามใจโดยไปเข้าเรียน โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ในสมัยนั้น โรงเรียนนี้ท่านเล่าว่า อยู่ในวังหลวง

ท่านได้เรียนวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เมื่อท่านเรียนอยู่ปีสุดท้าย โรงเรียนนี้ย้ายมาอยู่ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปัจจุบัน

และท่านก็จบในปีนั้น นับเป็นบัณฑิตจุฬารุ่นแรก และดูเหมือนท่านจะสอบได้ที่ 1 อีกด้วย

ท่านนิยมความเป็นหนึ่ง ท่านบอกว่าในชีวิตของคนเรา ถ้าทำอะไรให้เป็นหนึ่งแล้วมักจะดีเสมอ

เมื่อจะทำการงาน หรือทำสิ่งใดก็ต้องทำใจให้เป็นหนึ่งมุ่งอยู่ในงานนั้นจนสำเร็จ

แม้การทำสมาธิ ก็คือการทำจิตให้เป็นหนึ่ง คือเอกัคตา

สู่ราชสำนัก

เมื่อท่านจบการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ได้รับประกาศนียบัตรในวิชารัฐประศาสนศาสตร์ในสมัยนั้นแล้ว

ได้มีการซ้อมรบเสือป่าที่ค่ายหลวงอำเภอบ้านโป่ง จังหวัด ราชบุรี (ท่านบอกว่าเมื่อสมัยนั้นเป็นเขตจังหวัดกาญจนบุรี)

ท่านในฐานะเสือป่าได้เข้าร่วมซ้อมรบครั้งนี้ด้วย ท่านได้รับหน้าที่ให้เป็นคนส่งข่าว โดยมีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ

และการซ้อมรบครั้งนี้เอง ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของท่านอย่างมากมาย จากความตั้งใจที่จะเป็นข้าราชการฝ่ายปกครอง มาเป็นข้าราชสำนัก โดยที่ท่านไม่เคยนึกฝันมาก่อน

เนื่องจากขณะนั้นท่านมีรูปร่างแบบบาง ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จึงได้รับสั่งถามว่า ตัวเล็ก ๆ อย่างนี้ถ้านำข่าวไปแล้วถูกข้าศึกดักทำร้ายจะสู้ไหวหรือ ซึ่งท่านก็กราบบังคมทูลว่า ต้องลองสู้กันดูก่อน ส่วนจะสู้ไหวหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

จากคำกราบบังคมทูลนี้ ปรากฏว่าล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ทรงพอพระราชหฤทัยมาก

ถ่ายกับล้นเกล้า รัชกาลที่ 6 ในชุดร่วมฝึกเสือป่า
พระยานรรัตนราชมานิต (คนที่ 4 จากขวา)

เมื่อซ้อมรบเสร็จได้มีการเลี้ยงเนื่องในการซ้อมรบครั้งนี้ และล้นเกล้าฯ ได้โปรดให้รับใช้ใกล้เคียง และได้รับสั่งชวนให้ไปรับราชการในวังก่อน เมื่ออายุมากกว่านี้ จะออกมารับราชการฝ่ายปกครองก็จะโปรดให้เป็นเทศาฯ เสียทีเดียว

เมื่อท่านเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้โอกาสเช่นนี้แล้ว จึงกราบบังคมทูลว่า แล้วแต่จะทรงโปรด ฉะนั้น เมื่อเสร็จการซ้อมรบท่านก็ตามเสด็จเข้าไปอยู่ในวังเลย

อภัยทาน

ท่านเล่าว่าชีวิตของท่าน ระยะแรกที่เข้าไปอยู่ในวังนั้น ท่านถูกตั้งข้อรังเกียจจากชาววังสมัยนั้น

ใคร ๆ ก็ว่า พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเด็กเลี้ยงควาย ถึงกับให้มารับใช้อย่างใกล้ชิด เป็นเหตุให้ถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา

เช่น เมื่อเข้าเวรก็มีคนเอาน้ำมาราดที่นอนของท่าน เมื่อกลับมาท่านก็นอนไม่ได้เพราะที่นอนชุ่มน้ำหมด

ท่านก็อดทนไม่ปริปากบ่น หรือบอกกับใครถึงการที่ถูกกลั่นแกล้งนี้ แต่การกลั่นแกล้งเช่นนี้ก็ไม่หยุด ท่านจึงหาวิธีแก้ไข โดยไม่นอนบนที่นอน รื้อที่นอนทิ้ง แล้วนอนบนเหล็กแทน

ที่ว่านอนบนเหล็กนี้ เพราะเตียงที่ใช้นอนทำด้วยเหล็กและที่ พื้นเตียงก็เป็นเหล็กเส้นพาดไปมา ส่วนหมอนก็ไม่ใช้ เมื่อท่านทำเช่นนี้ก็ไม่มีใครมาแกล้งได้

ท่านบอกว่าท่านรู้ว่าใครมาแกล้ง แต่ท่านก็ไม่ว่ากระไร แม้เมื่อท่านขึ้นมาเป็นเจ้ากรมห้องพระบรรทม กลุ่มที่แกล้งท่านกลับมาอยู่ใต้บังคับบัญชา

ท่านก็ไม่เคยคิดจะแก้แค้นแต่อย่างใด ท่านให้อภัยทุกคน การให้อภัยทานนี้ ทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นการทำทานอย่างสูงสุด

แตกฉาน

เมื่อท่านธมฺมวิตกฺโก ได้เข้ารับราชการแล้ว ท่านก็ขวนขวายหาวิชาความรู้เพิ่มเติม เพื่อจะได้รับราชการสนองคุณได้อย่างไม่มีข้อบกพร่อง

ท่านได้จ้างครูสอนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส จนสามารถใช้ภาษาทั้งสองนี้ได้ดี

ท่านได้เรียนวิชามวยไทย ฟันดาบ และยูโด โดยท่านจ้างครูที่ชำนาญในวิชานี้มาสอนแต่ละวิชาเลยทีเดียว และท่านได้ศึกษาวิชาต่อสู้นี้จนแคล่วคล่อง ในกระบวนการต่อสู้ต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา

นอกจากนี้ท่านยังสนใจวิชาโหราศาสตร์ โดยเฉพาะการดูลายมือ การดูลักษณะ ซึ่งปรากฏว่าท่านสามารถทายลายมือได้แม่นยำมาก

ด้วยความสนใจในวิชานี้ ท่านเคยขอเจ้าคุณพัสดีฯ เข้าไปดูลายมือนักโทษที่จะถูกประหารชีวิต เพื่อเป็นการศึกษาและยืนยันความมีอยู่จริงของวิชานี้

ยังมีอีกวิชาหนึ่งที่ท่านสนใจเป็นพิเศษเช่นกัน คือวิชาโยคศาสตร์ และด้วยวิชานี้สามารถเปลี่ยนแปลงร่างกายท่านจากแบบบางมาเป็นล่ำสันแข็งแรง

เนื่องจากท่านสนใจวิชาแพทย์มาแต่เด็ก เมื่อมารับราชการท่านก็มิได้ละทิ้งความสนใจนี้ ท่านเล่าว่าท่านได้ขอท่านเจ้าคุณแพทย์พงศาฯ ผ่าศพดูด้วยตนเองเพื่อการศึกษา จนกระทั่งเจ้าคุณแพทย์พงศาฯ มอบกุญแจห้องเก็บศพให้

จากการผ่าศพนี้ ทำให้ท่านมีความรู้ทางกายวิภาคอย่างแตกฉาน และด้วยความรู้นี้ท่านสามารถบรรเทาอาการทุกขเวทนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้

ท่านได้เล่าให้ฟังว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประ ชวรและได้รับการผ่าตัดพระอันตะ (ลำไส้) และหลังจากการผ่าตัดนั้นแล้ว เมื่อเสร็จจากการเสวยพระกระยาหารเกือบทุกครั้งจะปรากฏว่า พระกระยาหารที่เสวยนั้นจะไปติดพระอันตะตรงที่ผ่าตัดนั้น ทำให้ประชวรทรมานมาก

ท่านต้องช่วยด้วยการเอามือนวดไปตามพระอันตะ และค่อย ๆ ดันให้พระกระยาหารที่ติดอยู่ตรงช่วงนั้นเลื่อนเลยไปก็จะหายประชวร ซึ่งไม่มีใครทำถวายได้เลย นอกจากท่านเพียงคนเดียว

คนเป็นคนตาย

ท่านธมฺมวิตกฺโก มีปกตินิสัยชอบความสงบ ท่านชอบคนตาย ท่านบอกว่าคนตายให้แต่ความดีงาม ทำใจให้สงบ เพราะเมื่อเห็นแล้วก็เป็นเครื่องเตือนสติว่า ตัวเราก็ต้องตายเช่นนั้นไม่ช้าก็เร็ว

นอกจากนี้คนตายยังให้ความรู้เป็นอาจารย์ทางแพทย์ได้อีกด้วย ไม่เหมือนคนเป็น ซึ่งอาจมีคุณและโทษ ถ้าพบคนเลวก็มีแต่โทษ มีแต่ความลำบากใจไม่รู้จักหยุด

ฉะนั้นด้วยวิสัยนี้ ถ้าตามเสด็จไปบางปะอินครั้งใด ท่านจะ ต้องไปนั่งในป่าช้าเสมอ เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ต้องการตัว ท่านจะรับสั่งให้คนไปตามที่ป่าช้า

ท่านไม่นิยมความสนุกสนาน แต่กระนั้นท่านก็บอกว่า ท่านสามารถเล่นโขนและละครได้ ท่านเคยแสดงเป็นทั้งตัวพระและตัวนางหน้าพระที่นั่ง และแสดงได้ดีจนได้รับการยกย่องในสมัยนั้น

จงรักและภักดี

ความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กับ ท่านธมฺมวิตกฺโก แต่ครั้งยังรับราชการ เป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทม ในนามบรรดาศักดิ์พระยานรรัตนราชมานิตนั้น เป็นไปอย่างใกล้ชิดสนิทแน่นยิ่ง

ตำแหน่งเจ้ากรมห้องที่พระบรรทมหรือมหาดเล็กต้นห้อง พระบรรทม ตลอดกระทั่งการได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นถึงพระยาพานทอง ตั้งแต่อายุเพียง 25 ปี

และราชทินนามที่ว่า “นรรัตนราชมานิต” อันแปลอย่างง่าย ๆ ได้ว่า “คนดีที่มีพระเจ้าแผ่นดินทรงยกย่อง” นั้น ย่อมเป็นพยานยืนยันอย่างดี ถึงความไว้วางพระราชหฤทัย และความยกย่องให้เกียรติเพียงใด ขององค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อพระยานรรัตนราชมานิต ตั้งแต่ยังเยาว์วัย

แต่พระยานรรัตนราชมานิต ได้มีความวิริยะอุตสาหะ ตั้งใจ ปฏิบัติหน้าที่สนองพระเดชพระคุณอย่างดีที่สุด ที่มนุษย์ในโลกนี้จักพึงกระทำได้ต่อผู้มีพระคุณแก่ตนตลอดทั้งความจงรักภักดี และ ความกตัญญูกตเวทีก็มีอยู่อย่างล้นพ้น จนสุดที่จะประมาณได้

ตลอดเวลาที่รับราชการประจำอยู่แต่ในเขตพระราชฐาน เป็นเวลานานเกือบ 10 ปีบริบูรณ์นั้น ท่านได้ตั้งหน้าอุตสาหะปฏิบัติหน้าที่ราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างเต็มสติกำลัง และโดยสม่ำเสมอ ไม่รู้จักย่นย่อท้อถอย

หน้าที่อันใดที่บ่าวจักพึงปฏิบัติต่อนาย เป็นต้นว่าตื่นก่อน นอนทีหลัง ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่การงานใหญ่ขึ้น นำพระคุณของนายไปสรรเสริญ ฯลฯ เหล่านี้ ท่านสามารถปฏิบัติได้โดยครบถ้วนบริบูรณ์ไม่มีขาดตกบกพร่องใด ๆ

เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตื่นพระบรรทมลืมพระเนตรขึ้นมาคราวใด เป็นต้องได้ทอดพระ เนตรเห็นท่านหมอบเฝ้าคอยถวายอยู่งานแทบทุกครั้งไป

ไม่ว่างานหนักงานเบา งานจุกจิกหยุมหยิมอย่างใด ท่านก็ ยินดีและเต็มใจปฏิบัติสนองพระเดชพระคุณ จนเป็นที่พึงพอพระราชหฤทัยแทบทุกกรณีไป

กล่าวกันว่าตลอดเวลา 10 ปี ที่รับราชการสนองพระเดชพระ คุณอยู่อย่างใกล้ชิดนั้น ท่านไม่เคยถูกกริ้วเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ทั้ง ๆ ที่โดยปกตินั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอารมณ์ออกจะรุนแรง กริ้วง่ายและกริ้วอยู่เสมอ สำหรับบุคคลอื่น ๆ แต่สำหรับตัวท่านแล้ว กลับตรงกันข้าม จึงเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจ ให้แก่ผู้ที่ได้ทราบเรื่องนี้อยู่เสมอ

โดยปกติมหาดเล็กห้องพระบรรทมจะมีหน้าที่อยู่เวรถวายอยู่งานวันหนึ่ง แล้วว่างเว้นวันหนึ่ง สลับกันไป เพื่อจะได้มีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง สำหรับจะได้พักผ่อนหรือทำธุรกิจส่วนตัว

แต่สำหรับท่านแล้ว เล่ากันว่าแม้จะเป็นวันว่างเวร ท่านก็มักจะไม่ไปไหน คงประจำอยู่แต่ในห้องพระบรรทมแทบทุกวัน ไม่ว่าวันเข้าเวรหรือออกเวร หากมีธุระส่วนตัวจะต้องออกมาข้างนอกเมื่อใด ก็จะใช้เวลาตอนเสด็จออกจากห้องพระบรรทมแล้ว หรือเวลาเข้าที่พระบรรทมแล้ว เท่านั้น

อันงานในหน้าที่ของมหาดเล็กห้องพระบรรทมนั้น นับว่าจุกจิกหยุมหยิมมากมายพอดูทีเดียว เริ่มแต่พอเสด็จเข้าที่พระบรรทม ก็จะต้องถวายอยู่งานนวด อยู่งานพัดเรื่อยไป จนกว่าจะทรงบรรทม หลับ

เวลาจะเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ใด ๆ ก็จะต้องทำหน้าที่แต่งพระองค์หรือควบคุมการแต่งพระองค์อย่างใกล้ชิด ร่วมกับพนักงานภูษามาลา คอยติดตามฉลองพระองค์ ฯลฯ บางครั้งท่านยังต้องชุนพระสนับเพลาจีนด้วยตนเองอีกด้วย

นอกจากนี้ ก็ยังต้องคอยควบคุมดูแลเกี่ยวกับการเสวยพระกระยาหารเช้า และพระเครื่องว่างในเวลาที่ต้องพระราชประสงค์

รวมความว่า งานรับใช้ทุกอย่างภายในห้องพระบรรทมนั้น อยู่ในหน้าที่ดูแลของท่านโดยตลอด

โดยปกติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จ เข้าที่พระบรรทมซึ่งส่วนใหญ่จะประทับประจำอยู่ ณ พระที่นั่งบรมพิมานเป็นเวลาราว 01.00 น. หรือบางทีก็จน 02.30 น. ล่วงแล้ว และจะไปตื่นพระบรรทมเอา ราว 11.00-11.30 น.

แล้วก็จะเสวยเครื่องเช้า ลำพังพระองค์ที่เฉลียงข้างห้องพระบรรทม จากนั้นจึงจะเสด็จเข้าห้องทรงพระอักษร ทรงปฏิบัติงานราชการแผ่นดิน และทรงปฏิบัติพระราชกิจต่าง ๆ

ในระหว่างเวลาต่อจากนี้ไปแล้ว จึงจะมีเวลาพักผ่อนเอาแรง หรือทำธุรกิจส่วนตัวได้ รวมทั้งตระเตรียมวางงานการบางอย่างไว้ด้วย

ตลอดเวลาที่ท่านรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ในวัง เป็นเวลาช้านานถึง 10 ปี นั้นท่านไม่เคยได้กลับมานอนที่บ้านเลย จะออกมาเยี่ยมเยียนบ้านได้บ้าง ก็เพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น

และไม่เคยมีโอกาสได้ไปเที่ยวเตร่ที่ไหน ๆ เลย ไม่เคยได้ตามเสด็จไปในที่ใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะภาระงานในหน้าที่ของท่านนั้นบีบรัดอยู่ตลอดเวลา

พอจะเสด็จไปคราวใด ท่าน ก็จะทำหน้าที่แต่งพระองค์โดยตลอด พอเสด็จกลับมาถึง ก็จะต้องรับหน้าที่คอยถอดฉลองพระองค์อีก ซึ่งจะต้องกระทำกันอย่างเร่งรีบรวดเร็วและเรียบร้อยด้วย หลายคนต้องช่วยกันชุลมุนวุ่นวาย

เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงมีพระวรกายอวบอ้วน (ทรงพ่วงพี) จึงทรงเป็นบุคคลชนิดที่เรียกกันว่า ขี้ร้อนเอาการอยู่ทีเดียว กล่าวกันว่าพอเสด็จกลับมาถึงเมื่อใด ก็จะต้องเปิดพัดลมถวายคราวละ 4-5 เครื่องพร้อม ๆ กัน แล้วก็ ช่วยกันระดมถอดกระดุมฉลองพระองค์ ถอดถุงพระบาท ฉลองพระบาทให้ทันพระราชหฤทัย

ก็เมื่องานในหน้าที่รัดตรึงอยู่อย่างหนักหน่วงเช่นนี้ โอกาสที่ท่านจะตามเสด็จไปในที่ต่าง ๆ เยี่ยงข้าราชบริพารและขุนนางคนอื่น ๆ นั้นจึงหาได้ยากยิ่ง

ท่านเคยเล่าว่า ในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมในที่ทุรกันดาร ห่างไกลจากในบ้านในเมือง เนื่องในวาระซ้อมรบเสือป่าทุกคราวนั้น

แม้ทางการจะได้จัดการวางเวรยามรักษาการณ์ถวายอารักขาไว้อย่างเข้มงวดกวดขันเพียงใดแล้วก็ตาม แต่ท่านก็อดมิได้ที่จะต้องเอาเป็นธุระกังวล หมั่นออกตรวจตราตรากตรำ ดูแลกำกับอยู่เสมอทุกครั้งไปโดยมิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ความง่วงเหงาหาวนอน ตามความต้องการพักผ่อนของร่างกายแต่อย่างใด

ด้วยความไม่ไว้วางใจ เกรงว่าเวรยามเหล่านั้น อาจจะเผลองีบหลับไปบ้างด้วยความง่วงจัด ในยามดึกสงัด ก็จะเป็นโอกาสของทรชนผู้คอยจ้องหมายปองจะประทุษร้ายต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้

อันความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ท่านเคยกล่าวอยู่ เสมอ ๆ ว่า

“ต้องตายแทนได้!”

ถ้าหากว่าตัวท่านกระทำผิดคิดร้ายใด ๆ ต่อพระองค์ท่าน หรือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบังเกิดความไม่เชื่อถือ ไม่ไว้วางพระราชหฤทัยในตัวท่านเมื่อใดแล้ว

ท่านก็พร้อมเสมอที่จะน้อมรับพระบรมราชโองการให้เอาตัวไปประหารชีวิต ตัดศีรษะเสีย ตามแบบฉบับของการประหาร ในสมัยนั้นได้ ท่านกล่าวอย่างหนักแน่นในเรื่องนี้ว่า

“เอาหัวเป็นประกันได้เลย!”

แปลว่าท่านมีความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างสุดชีวิตเลยทีเดียว

ส่วนองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นั้น ก็ทรงมีความเข้าพระราชหฤทัย และทรงรู้ใจในตัว พระยานรรัตนราชมานิตเป็นอย่างดีเช่นกัน

เป็นต้นว่าในยามที่เสด็จ แปรพระราชฐานไปประทับที่ พระราชวังบางปะอินนั้น คราวใดที่พระองค์มีพระประสงค์จะทรงดนตรีร่วมกับข้าราชบริพาร อันไม่ต้องอัธยาศัยของพระยานรรัตนราชมานิต

ท่านก็จะถือโอกาสกราบบังคมทูลปลีกตัวออกไปนั่งสงบอยู่ในป่าช้าแต่โดยลำพัง แต่ก็มิใช่ไปอย่างขาดลอยสบายตัวเลย เพราะเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะทรงเรียกใช้สอย หรือ ทรงต้องการตัวเมื่อใด ก็จะต้องกราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงแหล่งที่จะไปตามพบตัวได้ทุกเมื่อ

กล่าวคือเป็นที่รู้กันระหว่าง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระยานรรัตนราชมานิต

ก็โดยเหตุที่ท่านได้อุตสาหะ ตั้งใจรับราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างสุดกำลัง ไม่ว่าทั้งด้านกายใจ ได้ทุ่มเทอุทิศถวายให้ทั้งหมด แม้กระทั่งชีวิตและความสุขของตนเอง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คงจะซาบซึ้ง ตระหนักชัดในความจงรักภักดี ของมนตรีของพระองค์ผู้นี้เป็นอย่างดีเช่นกัน ถึงกับคราวหนึ่ง เมื่ออยู่ลำพังสองต่อสอง ได้มีพระราชกระแสรับสั่งกับท่านว่า

“ตรึก นี่เราเป็นเพื่อนกันนะ แต่เวลาออกงานออกการแล้ว เราจึงจะเป็นเจ้าเป็นข้ากัน”

พระราชดำรัสทั้งนี้ เป็นที่จับใจพระยานรรัตรราชมานิตเป็นอย่างยิ่ง

ยอดกตัญญู

โดยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ จึงเป็นเหตุให้ท่านตัดสินใจบวชหน้าไฟ อุทิศถวายเป็นพระราชกุศล ในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ แล้วก็กลายเป็นบวชจนชั่วชีวิต ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

ตลอดเวลาที่ท่านบวชอยู่เป็นเวลาช้านานถึง 46 พรรษา คิดเป็นวันก็ได้กว่า 16,000 วันนั้น ไม่มีวันใดเลยที่ท่านจะว่างเว้นจากการกรวดน้ำอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล แด่องค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นยอดกตัญญูอย่างที่จะหาบุคคลใดมาเทียบได้ยากยิ่ง

ยิ่งกว่านั้น ทุกวันที่ 25 พฤศจิกายน อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 นั้น ท่านก็จะงดเว้นการฉันอาหาร 1 วัน

และนั่งกระทำสมาธิตั้งแต่หัวค่ำไปจนยันสว่างเพื่อน้อมจิตอุทิศถวายกุศลผลบุญ ที่ได้ปฏิบัติบำเพ็ญมาโดยตลอด แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น

ท่านได้เฝ้าปฏิบัติอยู่เช่นนี้ เป็นประจำทุกปีมิได้เคยมีขาด หรือเว้นเลย

นอกจากนี้ยังได้บำเพ็ญกุศลด้วยประการต่าง ๆ เพื่อน้อมอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลอีกเป็นอเนกประการ

อันความจงรักภักดีของท่านธมฺมวิตกฺโก ที่มีต่อองค์พระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น จึงนับว่าเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งใหญ่หลวงจริง ๆ

คราวหนึ่ง ในขณะที่มีการประกวดนางงามกันในงานวชิราวุธานุสรณ์ และนางงามผู้ชนะเลิศยังเรียกกันว่า “นางงามวชิราวุธ” ต่อมาได้เปลี่ยนเรียกเป็น “นางสาวไทย” นั้น ได้การพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีนี้กันต่อหน้าท่านธมฺมวิตกฺโกในพระอุโบสถ

ทันใดนั้น ท่านธมฺมวิตกฺโก ก็กล่าวขึ้นว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงพอพระราชหฤทัยในการที่เอาพระปรมาภิไธยของพระองค์ไปใช้เรียกชื่อนางงามที่นุ่งน้อยห่มน้อย เป็นเชิงประกวดขาอ่อนกันเช่นนั้น

ทุกคนที่ได้ฟัง พากันตะลึง และงงงัน

ทันใดนั้น คนหนึ่ง ด้วยความสงสัยเต็มประดา ก็โพล่งถามท่านไปว่า

พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต
ผู้บวชถวายราชกุศล ร.6 ถ่ายภาพร่วมกับ
พระภิกษุพระยาสีหราชฤทธิไกร ผู้บวช
ถวายพระราชกุศล ร.5 ณ วัดราชบพิตร
เมื่อพ.ศ.2469

“พระเดชพระคุณได้ติดต่อกับพระองค์อยู่เสมอหรืออย่างไร จึงได้ทราบว่าไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย”

“โธ่” ท่านพยักหน้าตอบ

คำตอบของท่าน เป็นคำตอบอย่างจนมุม สุดที่จะเลี่ยงตอบให้เป็นอย่างอื่นได้ เพราะตามปกตินั้น ท่านก็มักจะไม่พูดถึงเรื่องเร้นลับใด ๆ ให้เป็นการแสดงอวดรู้อวดวิเศษกับบุคคลใด นอกจากเป็นการโดยบังเอิญ ดังเช่นกรณีนี้เท่านั้น

เมื่อท่านพูดสิ่งใดออกไปแล้ว ทุกคนก็ต้องเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น และไม่มีใครกล้าซักถามกันอีกต่อไป ด้วยความกลัวเกรงท่าน แล้วเรื่องก็ยุติลงแต่เพียงแค่นั้น

บวชอุทิศ

ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต รับราชการจนกระทั่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 สวรรคต ท่านจึงได้บวชอุทิศถวายพระราชกุศล เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2468 ที่วัดเทพศิรินทราวาส

โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอุดมศีลคุณ และพระพุทธวิริยากร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และอนุสาวนาจารย์

ท่านได้บอกว่าตำแหน่งของท่านนี้ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต ก็จะบวชถวายพระราชกุศล มีตัวอย่างมาเสมอ

แต่ไม่มีใครบวชถวายตลอดชีวิตเช่นกัน

พระอุปัชฌาย์

เหตุที่ท่านธมฺมวิตกฺโกเลือกเอาวัดเทพศิรินทราวาส เป็นสำนักเพื่อการอุปสมบท ทั้ง ๆ ที่บ้านท่านก็อยู่ใกล้กับวัดโสมนัส เมื่อแรกเขียนหนังสือก็เรียนอยู่ในวัดโสมนัสฯ ท่านและโยมบิดา-มารดาเคยมีความสัมพันธ์กับวัดโสมนัสเป็นอันดีตลอดมา

ตลอดทั้งการที่ท่านได้เลือกเอาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในการตัดสินใจ “บวชหน้าพระเพลิง” เพื่ออุทิศกุศลถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2468 (ถ้านับอย่างปัจจุบันก็จะเป็นปี พ.ศ. 2469 แล้ว) นั้น

นอกจากจะแอบสังเกตดูลายมือของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ใน สมัยนั้น เวลาที่ท่านเข้าประเคนของถวายหรือขอดูโดยตรงจากพระเถระบางองค์ตามที่โอกาสจะอำนวย จนกระทั่งมาพบลายมือท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และได้ดูลักษณะทุกอย่าง จึงได้ตกลงใจเลือกเอาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ในการบวชดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ)

ยังได้ทราบจากคำบอกเล่าของญาติผู้ใกล้ชิดของท่านมาอีกทางหนึ่ง เป็นข้อเท็จจริงที่แปลกออกไปจากเรื่องที่ทราบกันมาแล้ว แต่เป็นเรื่องที่น่ารับฟังไว้ จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังไว้ ณ ที่นี้บ้าง

ระหว่างที่มีการบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 นั้น ได้มีการทำบุญถวายสลากภัตเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลเป็นประจำทุก 7 วัน ในพระบรมมหาราชวัง

โดยได้กำหนดให้ข้าราชบริพารชั้นพระยาพานทองสายสะพายรับเป็นเจ้าภาพ จัดเครื่องไทยธรรมถวายพระที่ไปในโอกาสนั้นด้วยการจับสลาก

ท่านธมฺมวิตกฺโกหรือเจ้าคุณนรรัตนฯ ในเวลานั้นบังเอิญจับสลากได้พระดี คือได้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งขณะนี้ยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระสาสนโสภณ เจ้าคณะรองคณะธรรมยุติกนิกาย

ก็เลยเกิดศรัทธาในรูปโฉมของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่ละม้ายคล้ายพระสิริโฉมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ซึ่งท่านมีความเคารพและภักดียิ่งชีวิต

กล่าวอย่างธรรมดาสามัญก็คือ เจ้าประคุณสมเด็จฯ มีรูปร่างอ้วน ขาว และศีรษะล้าน ละม้ายกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก

จากรูปโฉมนี้เอง เป็นจุดแรกที่โน้มเหนี่ยวให้เกิดศรัทธา กอปรกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ องค์นั้นมีบุคลิกและอัธยาศัยที่สุภาพ สุขุม นุ่มนวลละมุนละไม เป็นที่ประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น และได้มีโอกาสสนทนาวิสาสะด้วย

เป็นสมณะที่สงบและเคร่งครัดต่อการประพฤติปฏิบัติเป็นอย่างยิ่งรูปหนึ่ง และเป็นพระเถระที่มีเมตตาเป็นอย่างสูงแก่ทุก ๆ คนไม่เลือกหน้าว่าจะมั่งมี หรือยากจน จะเป็นคนชั้นสูงหรือชั้นต่ำ ฯลฯ

จากรูปโฉมและบุคลิกปฏิปทาของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ดังกล่าวได้ทำให้เจ้าคุณนรรัตนฯ บังเกิดศรัทธาและเคารพเลื่อมใสในองค์ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นยิ่งนัก

ดังนั้นพอเสร็จกิจพิธีถวายสลากภัต เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลในวันนั้นแล้ว ท่านก็ตามไปส่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จนถึงวัดเทพศิรินทราวาสเลยทีเดียว

และก็คงจะได้ไปมาหาสู่เป็นประจำวันแต่นั้นมา พร้อมกับได้ตัดสินใจเลือกท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ ด้วยเชื่อมั่นว่าได้เลือก “พ่อ” ในเพศใหม่คือเพศบรรพชิต ที่เพียบพร้อมเหมาะสมถูกใจเป็นอย่างยิ่งจริง ๆ แล้ว

พอถึงวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 24 มีนาคม 2468 ท่านก็เข้ารับการบรรพชาอุปสมบทจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ภายในพระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส

เพื่อน้อมเกล้าฯ อุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น เป็นการบวชอย่างที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “บวชหน้าไฟ”

พอบวชเสร็จแล้ว ค่ำวันนั้น ท่านได้ไปร่วมในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง พร้อมกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ พระอุปัชฌาย์

หน้าที่