#echo banner="" ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ โดย พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน 13

ประวัติ

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

ตอนที่ ๑๓

โดย   ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน

แห่งวัดป่าบ้านตาด  จังหวัดอุดรธานี

หมายเหตุของ webmaster : ข้อความทั้งหมดได้ Download มาจาก www.luangta.com โดยไม่ได้แก้ไขข้อความหรือตัดทอน เว้นแต่มีการแก้ไขการพิมพ์ผิดอยู่บ้าง ๒ - ๓ คำ แต่ได้นำมาจัดวรรคตอนและย่อหน้าใหม่ เพื่อให้อ่านได้ง่าย และสบายตาขึ้น รวมทั้ง คำนำหัวข้อต่าง ๆ ก็ได้จัดทำเพิ่มขึ้น เพื่อให้ในแต่ละหน้าดูโปร่งขึ้น ผู้ดำเนินการขอกราบเท้าขอขมาท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ไว้ ณ ที่นี้ หากมีข้อผิดพลาดใด ๆ เกิดขึ้น

ปัญหา ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

จากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ   ฉบับลงวันที่ 23 มี.ค.251

ได้มีท่านผู้มีใจกรุณามอบหนังสือให้ผมเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือประวัติพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตเถระ ซึ่งท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด อุดรธานี เป็นผู้เรียบเรียง หนังสือเล่มนี้ผมเข้าใจว่าได้พิมพ์แจกไปแล้วเป็นจำนวนมาก เล่มที่ผมได้รับมานี้เป็นเล่มที่เพิ่งได้พิมพ์ขึ้นใหม่ และผมก็เพิ่งได้เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ในคราวนี้ ที่ได้นำเอาหนังสือเรื่องนี้มาเขียนถึงในคอลัมน์นี้ ก็เพราะเห็นว่าหนังสือเล่มเป็นหนังสือที่น่าอ่านอยู่มาก ใครที่ยังไม่เคยอ่านก็ควรจะได้หามาอ่านเสีย ที่ว่าเป็นหนังสือที่น่าอ่านนั้น ผมหมายถึงวิธีเขียนหนังสือของท่านอาจารย์พระมหาบัว ผู้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้นเป็นสำคัญ เมื่อจับหนังสือเล่มนี้ขึ้นอ่าน ก็สังเกตได้ทันทีว่าท่านผู้เรียบเรียง ท่านได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นตามสบายของท่าน

เมื่อผู้เขียนหนังสือเขียนตามสบาย ใจของคนอ่านก็เกิดความรู้สึกว่าตามสบายคล้อยตามไป และอ่านหนังสือนั้นตามสบายเช่นเดียวกัน เมื่อเกิดความรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้อ่านได้ตามสบาย แต่ในขั้นแรกแล้ว ผมเองก็เริ่มอ่านตามสบายเรื่อย ๆ ไป และถ้าไม่มีธุระบางอย่างมาขัดข้องเสียแล้วก็คิดว่า คงจะได้อ่านเรื่อยไปจนจบในรวดเดียวนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่ออ่านจบแล้วก็เกิดความนับถือเลื่อมใสในท่านเจ้าของประวัติ คือพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระเป็นอย่างยิ่ง ในการเขียนประวัติของพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านอาจารย์พระมหาบัวได้เขียนอย่างตามสบายของท่านจริง ๆ กล่าวคือนึกถึงเรื่องอะไรออก ท่านก็เขียนลงไว้ มิได้เขียนประวัติอย่างคนอื่นเขียนตามธรรมดา แต่ก็มีการสอดแทรกธรรมะที่พระอาจารย์มั่นได้สั่งสอนสานุศิษย์ของท่านไว้ ในหลายที่หลายแห่งโดยตลอด นอกจากนั้นก็ยังได้เขียนถึงเหตุการณ์อันน่าสนใจ น่าตื่นเต้นอีกมากมายหลายอย่างในชีวิตของพระอาจารย์มั่น ลงไว้เป็นระยะ ๆ ไป

การอ่านหนังสือธรรมะล้วน ๆ นั้น มักจะเป็นงานหนักของคนส่วนมาก เพราะต้องใช้สติปัญญามากอยู่ในการอ่าน เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันถูกต้อง และสติปัญญานั้นเมื่อใช้มากเข้า ก็เกิดความเหน็ดเหนื่อยทางสมองขึ้นได้ การอ่านหนังสือธรรมะจึงอ่านได้รวดเดียวจบไม่ง่าย เฉพาะตัวผมเองไม่เคยปรากฏว่าทำได้ แต่หนังสือที่ท่านอาจารย์พระมหาบัวแต่งขึ้นนี้ ท่านมีวิธีเขียนของท่านจากข้อความอันเป็นธรรมะไปยังข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์อื่นที่น่าตื่นเต้นบ้าง น่าสนใจบ้าง จนความเหน็ดเหนื่อยในการอ่านนั้นไม่เกิดขึ้น เพราะเมื่อเหนื่อยธรรมะแล้วก็มีเรื่องอื่นที่เรียกร้องความสนใจในทางอื่นมาให้อ่านต่อไป ในจังหวะที่พอดีทุกครั้งไป เป็นการพักสมองไปในตัว

เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้จบลงแล้ว ก็เกิดความรู้สึกขึ้นในใจว่า ได้อ่านชีวิตของนักต่อสู้ที่มีความแข็งแกร่งและมีกำลังมากคนหนึ่ง รูปเรื่องที่เกิดขึ้นในใจนั้น เป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างพระอาจารย์มั่นกับความโง่หลงงมงายของมนุษย์ ข้อความที่ท่านอาจารย์พระมหาบัวเก็บเอามาลงไว้ในหนังสือ จากเทศนาของพระอาจารย์มั่นในหลายที่หลายแห่งนั้นแสดงให้เห็นได้ชัดว่า ท่านต้องทำการต่อสู้อย่างหนักกับกิเลสตัณหาของมนุษย์ และความโง่หลงงมงายของมนุษย์ หรือมิฉะนั้นการโต้ตอบของท่านกับผู้ที่มาตั้งปัญหาถามท่านต่าง ๆ นั้น ก็แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้นั้นเช่นเดียวกัน

เป็นต้นว่า ท่านเทศน์สั่งสอนพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นสานุศิษย์ของท่านว่า อย่านึกว่าเมื่อได้มาบวชแล้ว จะต้องเป็นคนดีที่อยู่ในศีลธรรมเสมอไป เพราะบาปนั้นทำได้ถึงสามทาง คือทางกายกรรม ทางวจีกรรม และทางมโนกรรม ถึงแม้ว่าพระภิกษุสงฆ์จะไม่ทำบาปด้วยกายและด้วยวาจา ก็ยังไม่แน่นักว่าพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นจะเป็นผู้พ้นจากบาปแล้วหรือไม่ เพราะอาจยังทำบาปทางใจอยู่ก็ได้ และตราบใดที่ยังทำบาปทางใจอยู่แล้ว กลับไปนึกเสียว่าตนเป็นผู้ที่อยู่ในศีลธรรมอันดีแล้ว พระเช่นนั้นจะยิ่งสั่งสมบาปให้มากหนักขึ้นไปอีก ฟังดูแล้วก็จับใจ

เมื่อท่านจาริกไปถึงเมืองนครราชสีมา มีผู้มาถามท่านว่า ในการที่ท่านมายังนครราชสีมาคราวนี้ ท่านมีความประสงค์ที่จะมาแสวงหามรรคผลอันใด ท่านตอบว่าอาตมาเป็นคนไม่หิวเสียแล้ว ธรรมดาของคนไม่หิวก็ย่อมไม่แสวงหาอันใดทั้งสิ้น ฟังแล้วก็สะใจดีพิลึก

ทั้งที่หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อ่านสนุกอ่านเพลิน แต่ขณะที่อ่านนั้นก็เกิดความกังวลขึ้นเรื่อย ๆ ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระนั้น ท่านเป็นอาจารย์ทางวิปัสสนา ซึ่งมีผู้เคารพนับถือยกย่องมาก เมื่อได้อ่านประวัติของท่านก็เกิดความสนใจ จนกลายเป็นความร้อนใจที่จะได้ทราบถึงการปฏิบัติของท่านในทางวิปัสสนา แต่หนังสือเล่มนี้ก็มิได้บอกไว้ คงบอกแต่วัตรปฏิบัติของท่าน เช่นท่านนั่งสมาธิเวลาใด เดินจงกรมเวลาใด ฉันอาหารจากบาตรเป็นประจำและฉันวันละหน เหล่านี้เท่านั้น นอกจากนั้นก็มีเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางของท่านเพื่อไปพำนักอยู่ในที่วิเวกตามป่าเขาหรือในถ้ำ ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น น่าสนใจดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

โดยเฉพาะเรื่องระหว่างพระอาจารย์มั่น และสัตว์ป่าต่าง ๆ ที่ท่านได้พบเห็น เช่น เสือบ้าง ฝูงลิงบ้าง และช้างบ้างนั้น แสดงให้เห็นเมตตาอันมีต่อสัตว์ทั้งปวงของพระพุทธศาสนาอย่างเด่นชัด เมตตาของพระอาจารย์มั่นอันมีต่อสัตว์ทั้งปวงนี้ มาปรากฏเป็นแสงสว่างขึ้นในตอนท้ายของหนังสือ พระอาจารย์มั่นไปอาพาธหนักอยู่ที่บ้านผือ อันเป็นบ้านป่านอกอำเภอเมืองสกลนคร เมื่อท่านทราบแน่ว่าท่านจะต้องถึงกาลกิริยาในครั้งนั้น ท่านก็เร่งเร้าให้บรรดาศิษย์ทั้งหลายของท่าน พาตัวท่านไปยังตัวจังหวัดสกลนคร เพื่อที่จะได้มรณภาพที่นั้น ท่านได้กล่าวว่า หากท่านมรณภาพลงที่บ้านผือ อันเป็นละแวกที่ไม่มีตลาดขายอาหารแล้ว ผู้คนที่มาเคารพศพท่านเป็นจำนวนมากมาย เมื่อท่านมรณภาพแล้วก็จะต้องซื้ออาหารจากบ้านผือนั้นเอง ทำให้ชาวบ้านต้องฆ่าสัตว์มาขายเป็นอาหารเพิ่มขึ้นกว่าปกติ ท่านไม่สามารถที่จะทนดูชีวิตสัตว์จำนวนมากมายต้องถูกทำลายลงเพราะท่านมรณภาพแต่องค์เดียวได้ จึงขอให้ท่านได้ไปมรณภาพเสียที่ตัวจังหวัดสกลนคร เพราะที่นั่นมีตลาดสดพอที่ผู้คนจะซื้ออาหารได้สะดวก

เรื่องประทับใจต่าง ๆ เหล่านี้มีมากเหลือเกินในหนังสือเล่มนี้ แต่ถึงอย่างนั้น ความกังวลใจเพราะอยากจะได้สดับธรรมขั้นสูงกว่านั้นก็ยังมีอยู่ ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ท่านอาจารย์พระมหาบัว เขียนด้วยความเคารพเลื่อมใส และความกตัญญูต่อพระอาจารย์มั่นผู้เป็นอาจารย์ของท่าน เมื่ออ่านแล้วก็เกิดความเข้าใจขึ้นว่า เพราะเหตุใดในพระไตรปิฎกซึ่งได้รจนาขึ้นภายหลังพระพุทธเจ้านิพพานแล้วหลายร้อยปี จึงเต็มไปด้วยปาฏิหาริย์ต่าง ๆ และเรื่องที่คนในสมัยปัจจุบันอาจเห็นว่าเหลือเชื่อ

ท่านอาจารย์พระมหาบัวท่านเขียนไว้ว่า เมื่อครั้งพระอาจารย์มั่นออกไปอยู่ตามป่าตามเขาหรืออยู่ในถ้ำที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น มีพระอินทร์และเทวดาทั้งหลาย คือเทวดาเบื้องล่างและเบื้องบน ตลอดจนพญานาคมาฟังธรรมจากท่านเป็นเนืองนิจ เทวดาที่มาจากประเทศเยอรมันก็มี ครั้งหนึ่งเทวดาที่มาฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่นนั้นมีจำนวนมากจนท่านต้องกำหนดตารางสอน แบ่งเวลาให้เทวดาฟังธรรมเป็นพวก ๆ ไป เท่าที่ทราบจากหนังสือเล่มนี้ เทวดาที่จังหวัดสกลนครมีน้อยกว่าเทวดาที่เชียงใหม่ ขอให้ชาวจังหวัดสกลนครนึกเสียว่าเป็นกรรมก็แล้วกัน อย่าน้อยอกน้อยใจไปเลย

แต่ในเรื่องนี้ก็มีสิ่งที่น่าสังเกตอยู่ว่า ในหนังสือเล่มนี้เองปรากฏว่า พระอาจารย์มั่นท่านตอบในเรื่องบางเรื่องอย่างมีเหตุผลดีที่สุด เป็นต้นว่ามีผู้มาถามท่านว่าผีมีจริงไหม? ท่านก็ตอบว่า ผีที่ทำให้คนเกิดความกลัวและเป็นทุกข์กันนั้น เป็นผีที่คนคิดขึ้นที่ใจว่าผีมีอยู่ที่นั้นบ้างที่นี้บ้าง ผีจะมาทำลายบ้างต่างหาก จึงพาให้เกิดความกลัวและเป็นทุกข์ขึ้นมา ถ้าอยู่ธรรมดาไม่ก่อเรื่องผีขึ้นที่ใจ ก็ไม่เกิดความกลัวและไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้นผีจึงเกิดขึ้นจากการก่อเรื่องของผู้กลัวผีขึ้นที่ใจ มากกว่าผีจะมาจากที่อื่น หรือเมื่อมีผู้มาตั้งปัญหาถามท่านว่ามนุษย์เกิดมาจากไหน? ท่านตอบว่ามนุษย์เราต่างก็มีพ่อมีแม่เป็นแดนเกิด แม้ผู้ถามก็มิได้เกิดจากโพรงไม้ แต่มีพ่อแม่เป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูมาเหมือนกันจึงไม่ควรถาม ถ้าจะตอบว่ามนุษย์เกิดจากอวิชชาตัณหาก็ยิ่งจะมืดมิดปิดตายิ่งกว่าไม่ตอบเป็นไหน ๆ เพราะไม่เคยรู้ว่าอวิชชาตัณหาคืออะไร ทั้งที่มีอยู่กับตนทุกคน เว้นพระอรหันต์เท่านั้น

พระอาจารย์มั่นท่านได้ถือโอกาสในการตอบปัญหาเหล่านี้ แสดงธรรมต่อไปเพื่อให้มนุษย์เกิดปัญญา ลักษณะเช่นนี้ของพระอาจารย์มั่นดูเหมือนจะมีคุณวิเศษในสายตาของผมยิ่งกว่าปาฏิหาริย์ใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เรื่องเทวดามาฟังธรรมนั้นก็ช่างเถิด เพราะในพระไตรปิฎกก็มีพูดถึงบ่อย ๆ ว่าเทวดามาฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ในอรรถกถาพระพุทธโฆษาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า เทวดาลงมาฟังธรรมจากพระอรหันต์จึงมิใช่เรื่องแปลกประหลาด เรื่องที่แปลกประหลาดอย่างยิ่งนั้นก็คือในหนังสือเล่มนี้บอกว่า เมื่อพระอาจารย์มั่นอยู่ในถ้ำ มีพระอรหันต์หลายองค์มาสนทนาธรรมกับท่าน นอกจากสนทนาธรรมแล้ว พระอรหันต์ยังแสดงท่านิพพานของแต่ละองค์ให้พระอาจารย์มั่นดูอีกด้วย เมื่ออ่านถึงตอนนี้แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับใจนั้นเกินไปกว่าความกังวล แต่เป็นความเดือดร้อนทีเดียว พระอรหันต์ที่นิพพานไปแล้ว มาสนทนาธรรมกับคนที่ยังไม่นิพพาน แล้วแสดงท่านิพพานให้ดูนั้น ไม่มีในพระบาลีเป็นแน่นอนครับ

เมื่ออุปสีวมานพมาทูลถามปัญหาพระพุทธเจ้าเรื่องพระอรหันต์นั้น อุปสีวมานพได้ทูลถามว่าที่ว่าพระอรหันต์ดับไปแล้วนั้น ท่านดับโดยสิ้นเชิง หรือว่าเป็นแต่ไม่มีตัวหรือจักเป็นผู้ตั้งอยู่ยั่งยืนหาอันตรายมิได้

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ประมาณแห่งเบญจขันธ์ของผู้ที่ดับขันธปรินิพพานแล้ว มิได้มีกิเลสซึ่งเป็นเหตุกล่าวผู้นั้นว่าไปเกิดเป็นอะไร ของผู้นั้นก็มิได้มี เมื่อธรรมทั้งหลายอันผู้นั้นขจัดได้หมดไปแล้ว ก็ตัดทางแห่งถ้อยคำที่จะพูดถึงผู้นั้นว่าเป็นอะไรเสียทั้งหมด หมายความว่า พระอรหันต์นั้นดับถึงขนาดที่ไม่มีเรื่องที่จะพูดถึงท่านอีกต่อไป

อ่านประวัติของพระอาจารย์มั่นจบแล้วก็ได้แต่ถามตนเองว่า ที่หลวงพ่อมั่นท่านต่อสู้กับความโง่หลงงมงายมนุษย์นั้น ท่านได้ชัยชนะทำให้ใครได้ฉลาดขึ้นหรือไม่ หรือว่าท่านตายเปล่า?

gggggggggg

อันเนื่องมาแต่ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

ม.ล.จิตติ นพวงศ์

คัดจากหนังสือพิมพ์ศรีสัปดาห์

ฉบับที่ ๑๐๗๕ วันศุกร์ที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๑๕

ปัญหาที่เป็นเหตุให้ต้องมาเขียนเรื่องนี้มีอยู่ว่า เป็นไปได้หรือที่พระอรหันต์จะมาสนทนาธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่น จนกระทั่งถึงแสดงท่านิพพานให้ท่านดูต่าง ๆ กัน ในเมื่อไม่ปรากฏในพระบาลีว่า พระอรหันต์นิพพานไปแล้วจะมาทำเช่นนั้น

เหตุผลเท่านั้นที่ทำให้มนุษย์สูงกว่าสัตว์ ทำให้คนฉลาดแตกต่างจากคนโง่ แต่ก็ต้องเป็นเหตุผลที่ถูกต้องตามความจริงแท้ มิใช่สักแต่ว่าเป็นเหตุที่คนทรามปัญญาคว้ามาถือ และก็ไม่ถือไว้ตามลำพังตน ยังพยายามจะให้คนอื่นทั้งหลายถือไว้เหมือนตนด้วย ให้กลายเป็นผู้ทรามปัญญาเหมือนตนด้วย

ก็ถูกต้อง ที่ไม่มีปรากฏในพระบาลีว่าพระอรหันต์ที่นิพพานไปแล้วจะมาสนทนาธรรมกับคนที่ยังไม่นิพพาน แต่ก็ไม่มีปรากฏในพระบาลีเลยว่า พระอรหันต์ที่นิพพานแล้วจะมาทำเช่นนั้นไม่ได้เป็นอันขาด ในกรณีนี้ เหตุผลต้องอยู่ที่ตรงนี้ อะไรที่ไม่ถูกนำมาเอ่ยถึง ไม่จำเป็นต้องไม่มีอยู่ ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่แท้จริงทั้งหลายท่านทราบ ในขณะที่ปราชญ์จอมปลอมไม่อาจรู้ได้ ว่านอกจากที่ปรากฏในพระบาลียังมีอะไร ๆ ที่อัศจรรย์วิจิตรพิสดารอีกมากนัก ผู้ที่เกิดมาไม่เคยปฏิบัติธรรม หมกมุ่นวุ่นวายอยู่แต่กับความสกปรกโสโครกทุกลมหายใจเข้าออก จะรู้จักสิ่งบริสุทธิ์สูงส่งหาใดเสมอเหมือนมิได้ได้อย่างไร

ระหว่างพระกับมาร ใครหลงเชื่อมาร มารก็พาไปนรกเท่านั้น ท่านอาจารย์มั่นก็ตาม ท่านอาจารย์พระมหาบัวก็ตาม ท่านเป็นพระ หรือถ้าไม่อยากจะเชื่อใครทั้งนั้นในเรื่องนี้ อยากจะเชื่อตัวเองก็ต้องทำตัวเองให้เหมือนท่านอาจารย์ท่านเสียก่อน ให้เห็นเท็จและจริงด้วยตัวเองเสียก่อนนั่นแหละ แล้วจึงควรอ้าปากวิจารณ์เรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่พ้นต้องเป็นคนโง่ตัวใหญ่ ที่คิดจะยกตัวให้สูงขึ้นด้วยการพยายามปีนป่ายเหยียบย่ำกระทืบยอดเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ ท่ามกลางสายตาของพุทธศาสนิกชน จะพ้นสภาพย่อยยับไปไม่ได้เลย

การเข้าใจความพระบาลีให้ถูกต้องนั้น อย่าคิดว่าง่าย ต่อให้ได้ชื่อว่า เป็นปราชญ์ทางโลก อ่านหนังสือหมดโลกก็ตาม ถ้าพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์นิพพานแล้วจะต้องดับสิ้น ถึงขนาดที่ไม่มีเรื่องจะพูดถึงท่านได้อีกต่อไปจริง แล้วทุกวันนี้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มีอยู่อย่างไรในเมื่อท่านนิพพานไปเสียแล้ว หรือทุกวันนี้ไม่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เสียแล้ว ที่ให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งสูงสุดกันนั้น หมายถึงให้ถือลม ถือแล้งหรอกหรือ ไม่มีความจริงกระนั้นหรือ

ปฏิเสธเสียก่อนว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์สรณะสูงสุดของเราไม่มีในปัจจุบัน ปฏิเสธเสียก่อนว่าพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพไม่มีในปัจจุบันแล้วนั่นแหละจึงปฏิเสธเรื่องราวระหว่างพระอรหันต์ที่ท่านนิพพานแล้วกับท่านพระอาจารย์มั่นได้

gggggggggg

ตอบปัญหาของท่านผู้ถามเกี่ยวกับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

โดย พระมหาบัว ญาณสัมปันโน

วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี

นับตั้งแต่วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๑๕ เป็นต้นมา ได้มีสุภาพบุรุษสุภาพสตรีหลายท่านทั้งใกล้และไกล ทยอยกันมาถามปัญหาธรรมในแง่ต่าง ๆ ทั้งอุตส่าห์มาด้วยตัวเอง ทั้งมีจดหมายมาถามมิได้ขาด แทบตอบไม่หวาดไม่ไหว ต้นเรื่องมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๑๕ โดยท่านคึกฤทธิ์เป็นผู้เขียนขึ้น ความจริงท่านก็เขียนดีน่าฟังอยู่แล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาที่ควรยุ่งเหยิงวุ่นวายถึงขนาดที่กำลังเป็นอยู่เวลานี้ เพื่อช่วยกันแบ่งเบาไปบ้าง จึงขอเรียนตอบด้วยการเล่าเรื่องท่านอาจารย์มั่นให้ฟัง ซึ่งบางเรื่องเห็นว่าเหมาะสมกับเหตุการณ์ที่กำลังเป็นอยู่

เพียงเท่านี้ก็พอทำให้คิดและทราบได้ในหลักใจของชาวพุทธเราว่า ยังมีท่านที่ลังเลสงสัยธรรมทางพระพุทธศาสนา ทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติอยู่มาก จึงทำให้วิตกถึงปฏิเวธธรรมที่เป็นผลแสดงขึ้นในลักษณะต่าง ๆ กัน จากการปฏิบัติของท่านผู้บำเพ็ญอยู่ไม่น้อยว่า น่าจะเป็นธรรมสุดเอื้อมหมดหวังในสมัยปัจจุบัน เพราะความจริงใจในธรรมมีน้อย เนื่องจากถูกทุ่มเทไปทางอื่นเสียมาก มิได้คำนึงเหตุผลพอประมาณ จึงอดคิดเป็นห่วงมิได้ในเรื่องดังกล่าวมา

เฉพาะองค์ท่านพระอาจารย์มั่นที่ผู้เขียนเทิดทูนสุดจิตสุดใจนั้น แม้ท่านจะถูกวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิติชมในลักษณะยกขึ้นทุ่มลง หรือด้วยวิธีการใด ๆ จนไม่มีชิ้นส่วนอะไรติดต่อกัน และกลายเป็นผุยผงไปตามอากาศก็ตาม ผู้เขียนมิได้มีอะไรหวั่นวิตกไปด้วยท่านเลย แม้กิเลสจะแสนหนาแน่นภายในใจอยู่ขณะนี้ก็เถิด แต่ที่ไม่แน่ใจอยู่เวลานี้ คือความรู้ภายในของท่านพระอาจารย์มั่น ประเภทที่ลึกลับซับซ้อนเกินกว่าความคาดคิดด้นเดาของสามัญธรรมดาทั่วไป เฉพาะอย่างยิ่งผู้ครองพระไตรปิฎก แต่ไม่เคยสนใจมองดูหัวใจตนว่าเป็นอย่างไรบ้างเลย มีแต่เที่ยวกวาดต้อนล่าธรรม ท่านที่รู้เห็นจากการปฏิบัติทางจิตตภาวนาในแง่ต่าง ๆ ไม่มีประมาณนั้น ให้เข้าสู่วงจำกัดคือพระไตรปิฎกโดยถ่ายเดียวนั่นแล ที่น่าเป็นห่วงมาก กลัวว่าอกจะแตกไปเสียก่อน ทั้งที่ธรรมท่านที่กำลังถูกกวาดต้อน ก็ยังไม่เข้าสู่จุดมุ่งหมายให้หมดสิ้นไปได้

เมื่อมีเหตุอันควรกล่าวถึงองค์ท่านอาจารย์มั่นอีก ผู้เขียนก็จะกล่าวถึงความรู้ท่านที่ยังไม่เคยกล่าวเสียบ้าง เผื่อท่านที่มีความสามารถในทางนี้ จะได้ช่วยกวาดต้อนติชมไปตามนิสัย ซึ่งอาจเป็นการช่วยสังคายนากลั่นกรองธรรมเถื่อนให้หมดสิ้นไป เหลือไว้แต่ธรรมของจริงล้วน ๆ หากอยู่ในฐานะที่ควรเป็นได้ ลำพังผู้เขียนเพียงคนเดียวไม่อาจเห็นความผิดพลาดและความบกพร่องของท่านและของตนได้โดยทั่วถึง จึงขอเล่าเรื่องท่านแต่เพียงเอกเทศไว้ ณ ที่นี้บ้าง

ท่านเคยเล่าให้สานุศิษย์ฟังในโอกาสต่าง ๆ กันอยู่เสมอมาว่า วันคืนหนึ่ง ๆ ธรรมประเภทต่าง ๆ ปรากฏขึ้นภายในใจท่านเสมอจนไม่อาจคณนา สิ่งไม่เคยคาดคิดว่าจะรู้เห็นก็รู้เห็นขึ้นมาเรื่อย ๆ จึงทำให้ท่านแน่ใจ หายสงสัยในธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายหลังจากตรัสรู้และบรรลุธรรมแล้ว จนถึงกาลเสด็จปรินิพพาน ว่ามีมากต่อมาก ราวท้องฟ้ามหาสมุทรสุดจะประมาณได้ ธรรมที่เป็นพระวิสัยของพระพุทธเจ้าทรงรู้เห็นโดยเฉพาะ ไม่อยู่ในวิสัยของสาวกจะพึงรู้ได้ก็ดี ธรรมที่อยู่ในวิสัยของสาวกบางองค์อาจรู้ตามได้ แต่ไม่อาจแสดงให้แก่ใครรู้และเข้าใจได้ก็ดี ยังมีอีกมากมาย

ท่านว่าธรรมที่ไม่ได้จารึกไว้ในพระบาลีแห่งพระไตรปิฎกนั้น เทียบกับน้ำในมหาสมุทร ส่วนธรรมที่มาในพระไตรปิฎกนั้น เทียบกับน้ำในตุ่มในไหเท่านั้นเอง จึงน่าเสียดายที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ผู้เชี่ยวชาญนิพพานไปแล้วตั้งหลายร้อยปี จึงมีผู้คิดได้และจารึกธรรมเหล่านั้นขึ้นสู่คัมภีร์ตามความสามารถของตน ซึ่งโดยมากการจารึกก็ขึ้นอยู่กับความรู้สึกนึกคิดของผู้จัดทำอีกเช่นกัน จึงไม่แน่ใจว่าจะได้ธรรมที่ถูกต้องแม่นยำถึงใจเสมอไป ไว้ต้อนรับอนุชนรุ่นหลังได้อ่านได้ชมเพียงไร เฉพาะความรู้สึกของผมเองว่าธรรมที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งฉายออกมาจากพระทัยที่บริสุทธิ์นั้น เป็นธรรมถึงใจสุดจะกล่าว เพราะเป็นธรรมที่ถึงเหตุถึงผลอยู่กับพระทัยที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ แล้ว จึงเป็นธรรมที่อัศจรรย์และมีอานุภาพมากผิดธรรมดา ผู้รับจากพระโอษฐ์จึงมีทางบรรลุมรรคผลได้ง่าย และมีจำนวนมากมายเหลือจะพรรณนา บรรดาธรรมเหล่านั้น ไม่ว่าพระพุทธเจ้าและสาวกแสดงย่อมเห็นผลประจักษ์แก่ผู้รับฟังอย่างถึงใจ

ส่วนพระไตรปิฎกที่พวกเราศึกษาจดจำกันมานั้น มีใครบ้างได้บรรลุมรรคผลในขณะที่กำลังฟังและศึกษาอยู่ แต่มิได้ปฏิเสธว่าไม่มีผล เมื่อเป็นเช่นนี้ธรรมทั้งสองนั้น ธรรมใดเป็นธรรมที่มีคุณค่าและน้ำหนักมากกว่ากันเล่า? ลองพิจารณาดูซิพวกท่าน ถ้าว่าผมหาเรื่องป่าเถื่อนมาพูด สำหรับผมเองมีความรู้สึกอย่างนี้ และเชื่ออย่างเต็มใจว่า ธรรมจากพระโอษฐ์นั่นแล คือธรรมประเภทถอนรากถอนโคนกิเลสทุกประเภทได้อย่างถึงใจทันควัน ดังพระองค์ทรงใช้ถอดถอนกิเลสแก่มวลสัตว์มาแล้วจนสะเทือนโลกทั้งสาม ผมจึงไม่ประสงค์และส่งเสริมให้ท่านทั้งหลายเย่อหยิ่งทำตัวเป็นตัวบุ้งตัวหนอนคอยกัดแทะกระดาษแห่งคัมภีร์ใบลานอยู่เปล่า ๆ โดยไม่สนใจพิจารณาสัจธรรมอันประเสริฐที่มีอยู่กับตัว แต่มัวไปยึดธรรมที่ศึกษามาถ่ายเดียว ซึ่งเป็นสมบัติของพระพุทธเจ้ามาเป็นสมบัติของตนด้วยความเข้าใจผิด ว่าตนเรียนรู้และฉลาดพอตัวแล้ว ทั้งที่กิเลสยังกองเต็มหัวใจ ยิ่งกว่าภูเขาไฟมิได้ลดน้อยลงบ้างเลย จงพากันมีสติคอยระวังตัว อย่าให้เป็นคนประเภทใบลานเปล่า ๆ เรียนเปล่าและตายทิ้งเปล่า ไม่มีธรรมอันเป็นสมบัติของตัวอย่างแท้จริงติดตัวบ้างเลย

การกล่าวทั้งนี้ผมมิได้กล่าวเพื่อประมาทธรรมของพระพุทธเจ้า ธรรมย่อมเป็นธรรม ทั้งธรรมในใจและธรรมนอกใจ คือธรรมในบาลีพระไตรปิฎก แต่ธรรมในพระทัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเอง พุทธบริษัทได้บรรลุมรรคผลต่อพระพักตร์ของพระองค์แต่ละครั้งมีจำนวนมาก ส่วนธรรมที่จารึกขึ้นสู่คัมภีร์ใบลานนั้นมีผลผิดกันอยู่มาก ดังที่ปรากฏในตำรา ฉะนั้นธรรมในพระทัยจึงเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ แต่เมื่อพระองค์และพระสาวกซึ่งเป็นเจ้าของเสด็จเข้าสู่นิพพานแล้ว จึงมีผู้จารึกภายหลัง ซึ่งอาจแฝงไปด้วยความรู้ความเห็นของผู้จดจารึก อันเป็นเครื่องยังธรรมนั้น ๆ ให้ลดคุณภาพและความศักดิ์สิทธิ์ลงตามส่วน ใครก็ไม่อาจทราบได้

นี่เป็นคำที่ท่านพระอาจารย์มั่นเคยพูดอยู่เสมอ กรุณาท่านที่สงสัยถามมาโดยทางจดหมาย วินิจฉัยตามที่เรียนมานี้ ส่วนที่นอกเหนือไปจากคำที่ท่านเคยพูดไว้ ผู้เขียนไม่อาจวินิจฉัยให้หายสงสัยได้ เพียงแต่ประคองร่างสืบชีวิตไปเป็นวัน ๆ ก็ยังหกล้มก้มกราบอยู่แล้ว จึงกรุณาเห็นใจและขออภัยมาก ๆ ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ส่วนท่านที่ถามมาตามหนังสือสยามรัฐตอนสุดท้ายว่า ที่หลวงพ่อมั่นท่านต่อสู้กับความโง่หลงงมงายของมนุษย์ ท่านได้ชัยชนะทำให้ใครได้ความฉลาดขึ้นหรือไม่? หรือว่าท่านตายเปล่า? สำหรับท่านผู้เขียนประวัติท่านมีความเห็นอย่างไรบ้าง? นั้น ถ้าพอมีสติระลึกตนได้อยู่บ้างว่ายังโง่ ยังหลงงมงายอยู่หรือไม่ หรือฉลาดจนถึงไหนแล้ว และเห็นว่าวิธีการที่ท่านดำเนินเป็นนิยยานิกธรรมอยู่บ้าง ธรรมนั้นและวิธีนั้นก็ควรจะทำคนโง่ให้ฉลาด และทำคนหลงให้รู้สึกตัวได้ ไม่ตายเปล่าแบบท่านอาจารย์มั่นซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่เวลานี้ ไม่มีใครอาจแก้ให้ตกไปได้ ถ้าไม่แก้ที่ตนซึ่งกำลังเป็นปัญหาตัวใหญ่อยู่กับทุกคนว่า จะตายเปล่า หรือจะตายที่เต็มไปด้วยอะไรบ้างด้วยกัน ไม่มีข้อยกเว้น

และท่านที่ถามอย่างกว้างขวาง แล้วมาสรุปความลงว่า การวิจารณ์ว่าเรื่องพระอรหันต์มาสนทนาธรรมและมาแสดงท่านิพพานต่าง ๆ กัน ให้ท่านอาจารย์มั่นดู มิได้มีในพระบาลีนั้นจริงไหม? การวิจารณ์เป็นความจริงหรือไม่? ถูกต้องหรือไม่? ท่านเป็นผู้เรียบเรียงจะวินิจฉัยว่าอย่างไร? ขอคำแนะนำด้วย

ปัญหาเหล่านี้เข้าใจว่า ได้เรียนตอบลงในคำบอกเล่าของท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งเขียนผ่านมาแล้ว ผู้เขียนมิใช่คนวิเศษวิโสเป็นคนใหญ่คนโต มีความรู้ความฉลาดเลื่องลือมาจากโลกไหน ก็เป็นคนสามัญธรรมดาที่มีกิเลสเต็มหัวใจเราดี ๆ นี่เอง ท่านผู้วิจารณ์และท่านผู้อ่านทั้งหลายก็เข้าใจว่า คงเป็นคนสามัญธรรมดาด้วยกัน ส่วนท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งเป็นเจ้าของประวัตินั้น ท่านเป็นพระประเภทใด ผู้เขียนไม่กล้าอาจเอื้อมวิจารณ์ทำนายท่านได้ กลัวตกนรกทั้งเป็น ยังอาลัยเสียดายอยากอยู่ในโลกเหมือนคนทั่ว ๆ ไปอยู่

การที่ความรู้ความเห็นของท่านพระอาจารย์มั่น จะมีในพระบาลีหรือไม่นั้น ถ้าพระไตรปิฎกมิได้ตั้งตัวเป็นกองปราบปรามผูกขาด ผู้ปฏิบัติก็มีสิทธิ์จะรู้ได้ในธรรมทั้งหลายตามวิสัยของตน ดังพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายทรงรู้เห็นมาก่อนพระไตรปิฎกยังไม่อุบัติ ถ้าธรรมเหล่านี้และท่านเหล่านี้จะพอเป็นความจริง เป็นความถูกต้องได้และเป็นสรณะของโลกได้ ก็เป็นมาก่อนพระบาลีแล้ว ถ้าปลอมก็ปลอมมาแล้วอย่างไม่มีปัญหา จึงขอให้ท่านวินิจฉัยเลือกเอาตามชอบใจว่า จะเอา พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ หรืออะไร ๆ ผ่านสายตาสัมผัสใจก็ สรณํ คจฺฉามิ ร่ำไปแบบกินไม่เลือก แต่เวลาเจอก้าง……..