ประวัติ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
ตอนที่ ๒
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
แห่งวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
หมายเหตุของ webmaster : ข้อความทั้งหมดได้ Download มาจาก www.luangta.com โดยไม่ได้แก้ไขข้อความหรือตัดทอน เว้นแต่มีการแก้ไขการพิมพ์ผิดอยู่บ้าง ๒ - ๓ คำ แต่ได้นำมาจัดวรรคตอนและย่อหน้าใหม่ เพื่อให้อ่านได้ง่าย และสบายตาขึ้น รวมทั้ง คำนำหัวข้อต่าง ๆ ก็ได้จัดทำเพิ่มขึ้น เพื่อให้ในแต่ละหน้าดูโปร่งขึ้น ผู้ดำเนินการขอกราบเท้าขอขมาท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ไว้ ณ ที่นี้ หากมีข้อผิดพลาดใด ๆ เกิดขึ้น |
บ่ายวันหนึ่งท่านออกจากที่สมาธิแล้วก็ออกไปนั่งตากอากาศ ห่างจากหน้าถ้ำพอประมาณ ขณะนั้นกำลังรำพึงธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงพระเมตตาประทานไว้แก่หมู่ชน รู้สึกว่าเป็นธรรมที่สุขุมลุ่มลึกมาก ยากที่จะมีผู้สามารถปฏิบัติและไตร่ตรองให้เห็นจริงตามได้ ท่านเกิดความภูมิใจและอัศจรรย์ในตัวท่านเองขึ้นมา ที่มีวาสนาได้ปฏิบัติและรู้เห็นความอัศจรรย์หลายอย่างจากธรรม แม้จะยังไม่สมบูรณ์เต็มภูมิที่ใฝ่ฝันมานานก็ตาม แต่ก็ยังจัดว่าอยู่ในขั้นพอกินพอใช้ ไม่ขัดสนจนมุมในความสุขที่เป็นอยู่และจะเป็นไป ซึ่งตัวเองก็แน่ใจว่าจะถึงแดนแห่งความสมหวังในวันหนึ่งแน่นอน ถ้าไม่ตายเสียในระยะกาลที่ควรจะเป็นนี้
ขณะนั้นกำลังเสวยสุขเพลินอยู่ด้วยการพิจารณาธรรม ทั้งฝ่ายมรรคคือทางดำเนิน และฝ่ายผลคือความสมหวังเป็นลำดับ จนถึงความดับสนิทแห่งกองทุกข์ภายในใจไม่มีเหลือ พอดีมีลิงฝูงใหญ่พากันมาเที่ยวหากินบริเวณหน้าถ้ำนั้น โดยมีหัวหน้ามาก่อนเพื่อน ปล่อยระยะห่างจากฝูงประมาณ ๑ เส้น
พอหัวหน้าลิงมาถึงที่นั้นก็มองเห็นท่านนั่งนิ่ง ๆ อยู่พอดี แต่มิได้หลับตา ท่านเองก็ได้ชำเลืองไปดูลิงตัวนั้นเช่นกัน ประกอบกับลิงตัวนายฝูงนั้นกำลังเกิดความสงสัยในท่านอยู่ว่า นั่นคืออะไรกันแน่ มันค่อยด้อม ๆ มอง ๆ ท่าน และวิ่งถอยไปถอยมาอยู่บนกิ่งไม้ด้วยความสงสัย และเป็นห่วงเพื่อนฝูงของมันมาก กลัวจะเป็นอันตราย ขณะที่มันสงสัยท่าน ท่านก็ทราบเรื่องของมันพร้อมกับเกิดความสงสารขึ้นมาในขณะนั้น และแผ่เมตตาจิตไปยังลิงตัวนั้นว่า เรามาบำเพ็ญธรรม มิได้มาหาเบียดเบียนและทำร้ายใคร ไม่ต้องกลัวเรา จงพากันหาอยู่หากินตามสบาย แม้จะพากันมาหากินอยู่แถวบริเวณนี้ทุกวันเราก็ไม่ว่าอะไร สักประเดี๋ยวใจ มันวิ่งไปหาพวกของมันซึ่งพอมองเห็นตัวที่กำลังตามหลังกันมา
ท่านเล่าตอนนี้น่าหัวเราะและน่าสงสารมาก พอมันวิ่งไปถึงพรรคพวกของมันแล้ว มันรีบบอกกันว่า
โก้ก เฮ้ยอย่าด่วนไป มีอะไรอยู่ที่นั้น
โก้ก ระวังอันตราย
พวกของมันที่ยังไม่เห็น พอได้ยินเสียงก็ร้องถามมาว่า
โก้ก อยู่ที่ไหน
โก้ก อยู่ที่นั้น
พร้อมทั้งหันหน้ามองมาที่ท่านพักอยู่เหมือนจะบอกกันว่านั่น นั่งอยู่นั่นเห็นไหม ทำนองนี้ แต่เป็นภาษาของสัตว์ จึงเป็นเรื่องลึกลับสำหรับมนุษย์ธรรมดาจะตามรู้ แต่ท่านอาจารย์มั่นท่านรู้ทุกคำที่มันพูดกัน
เมื่อมันให้สัญญาณกันว่าอยู่ที่นั้นแล้ว มันบอกกันว่า อย่าพากันไปเร็วนัก จงพากันค่อย ๆ ไป และดูซิว่าเป็นอะไรกันแน่ แล้วก็พากันค่อย ๆ ไป ส่วนหัวหน้าฝูงพอบอกพรรคพวกเสร็จแล้วก็รีบไป แต่ค่อยด้อม ๆ มอง ๆ ไปจนถึงหน้าถ้ำที่ท่านนั่งอยู่ มีอาการทั้งกลัวทั้งอยากดูและอยากรู้ว่าเป็นอะไรกันแน่ ทั้งเป็นห่วงเพื่อนฝูงที่พากันค่อยมารออยู่เบื้องหลัง หัวหน้ามันโดดขึ้นลงอยู่บนกิ่งไม้ ตามนิสัยลิงซึ่งเป็นนิสัยหลุกหลิกดังที่เคยเห็นมาแล้วนั่นแล มันมาด้อม ๆ มองอยู่ระยะห่างจากท่านประมาณ ๑๐ วา ท่านเองก็ได้ใช้ความสังเกตอยู่ภายในทุกระยะ ว่ามันจะมีความรู้สึกต่อท่านอย่างไรบ้าง
นับแต่เริ่มแรกที่มันมาหาท่านและวิ่งกลับไปจนมันวิ่งกลับมาอีก และดูท่านซ้ำ ๆ ซาก ๆ พอมันแน่ใจแล้วว่า ไม่ใช่อันตราย มันก็วิ่งกลับไปบอกเพื่อนฝูงของมันว่า
โก้ก ไปได้ โก้ก ไม่มีอันตราย
ท่านเล่าว่า ตอนมันวิ่งไปบอกเพื่อนฝูงของมันนั้น น่าขบขัน และน่าหัวเราะ ทั้งน่าสงสารมันมาก เมื่อเรารู้ภาษาของมันแล้ว แต่ถ้าไม่รู้คำที่มันพูดกันจะเห็นว่าเสียงที่มันเปล่งออกมาแต่ละคำและแต่ละตัวนั้น เป็นเสียงมันร้องธรรมดาไปเสียหมด เช่นเดียวกับเราได้ยินเสียงนกเสียงการ้องฉะนั้น ความจริงเท่าที่ท่านตั้งใจสังเกตกำหนดดูเสียงของลิงที่วิ่งกลับไปบอกเพื่อนฝูงของมันจริง ๆ แล้ว มันเปล่งเสียงออกชัดถ้อยชัดคำ เหมือนเสียงคนเราพูดกันดี ๆ นี่เอง
คือพอมันวิ่งกลับไปถึงพวกของมันแล้ว มันก็รีบพูดเป็นคำเตือนพวกของมันให้สนใจในคำของมัน เพื่อระวังตัว โดยเป็นเสียงของลิงพูดกันว่า โก้ก ๆ ดังนี้ แต่ความหมายที่มันเข้าใจกันจากคำว่า โก้ก ๆ นั้น เป็นใจความว่า
เฮ้ยหยุดก่อน อย่าด่วนพากันไป โก้ก มันยังมีอะไรอยู่ข้างหน้านั้น
พวกของมันได้ยินเสียงมันเตือนเช่นนั้น ต่างตัวต่างเกิดความสงสัยจึงร้องถามมาว่า
โก้ก มีอะไรหรือ
ตัวนั้นถามมาว่า โก้ก อะไรกัน
ตัวนี้ ร้องถามว่า โก้กอะไรกัน
ตัวหัวหน้าฝูงก็ตอบว่า โก้กเก้ก มันมีอะไรอยู่ที่นั้น น่ากลัวเป็นอันตราย
พวกของมันถามมาว่า โก้ก อยู่ที่ไหน
หัวหน้าตอบว่า โก้ก นั้นอย่างไรล่ะ
เสียงมันถามและตอบรับกันสนั่นป่าไปหมด เพราะมีลิงจำนวนมากด้วยกัน
ตัวนั้น โก้ก ถามมา ตัวนี้ โก้ก ถามมาด้วยความตื่นตกใจ ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่วิ่งวุ่นกันไปมา ขณะที่มันเกิดความสงสัยไม่แน่ใจ กลัวจะเกิดอันตรายแก่ตัวและพวกของตัว จึงต่างตัวต่างเรียกร้องถามกันอย่างชุลมุนวุ่นวาย เช่นเดียวกับมนุษย์เราร้องถามกันถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ นี่เอง
หัวหน้าต้องชี้แจงเรื่องราวให้ทราบและเตือนพวกของมันว่า
โก้กเก้ก ให้พากันรออยู่ที่นี่ก่อน เราจะกลับไปดูให้แน่นอนอีกครั้ง
พอมันสั่งเสียแล้วก็รับกลับไปดู ขณะที่มันวิ่งไปดูท่านอาจารย์ก็นั่งอยู่ พอจวนถึงตัวท่าน มันค่อยด้อมค่อยมอง วิ่งขึ้นวิ่งลงอยู่บนกิ่งไม้ ตาจับจ้องมองดูอย่างพินิจพิเคราะห์ จนเป็นที่แน่ใจว่า ไม่ใช่ข้าศึกผู้จะคอยทำลายแล้ว มันก็รีบวิ่งกลับมาบอกเพื่อนฝูงของมันว่า
โก้กเก้ก ไปได้แล้ว ไม่เป็นอันตราย โก้ก ไม่ต้องกลัว
พอทราบแล้วต่างตัวมาสู่ที่ท่านนั่งพักอยู่ และต่างตัวต่างดูท่านในลักษณะท่าทางไม่ค่อยไว้ใจนัก ต่างวิ่งขึ้นวิ่งลงแบบลิงนั่นเอง เพราะความหิวกระหายอยากดูอยากรู้ และร้องถามกันโก้กเก้ก ลั่นป่าไปเวลานั้นว่า นี่คืออะไรและมาอยู่ทำไมกัน เสียงตอบรับกันแบบต่าง ๆ ตามภาษาสัตว์ซึ่งต่างตัวต่างสงสัยอยากรู้เรื่องด้วยความกระวนกระวาย
ที่พูดซ้ำนี้เขียนตามคำที่ท่านเน้นซ้ำ เพื่อผู้นั่งฟังด้วยความสนใจจากท่านได้เข้าใจชัดเจน
ท่านเล่าว่า ขณะที่เขาเกิดความสงสัยไม่แน่ใจในชีวิตของตัวและพรรคพวกนั้น รู้สึกว่าเป็นเสียงที่แสดงออกด้วยความชุลมุนวุ่นวายมากพอดู เพราะสัตว์ประเภทนี้เคยถูกมนุษย์ทำลายด้วยวิธีต่าง ๆ มามากต่อมากตลอดชีวิตของมัน จึงเป็นสัตว์ที่มีความระแวงต่อมวลมนุษย์อยู่มากประจำนิสัย
ขณะนั้นต่างตัวต่างมารุมดู ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ ด้วยท่าทางระมัดระวังอย่างยิ่ง กระแสจิตที่แสดงความหมายออกมาตามเสียงที่มันร้องถามและตอบรับกันนั้น เหมือนกับกระแสใจของมนุษย์ที่ส่งออกมาตามกระแสเสียงที่พูดกันนั่นเอง ฉะนั้น เขาจึงรู้เรื่องของกันได้ดีทุกประโยค เช่นเดียวกับมนุษย์เราพูดกันฉันนั้น ในคำที่เขาแสดงออกแต่ละคำซึ่งแสดงออกมาจากกระแสจิตที่มีความมุ่งหมายไปต่าง ๆ กันนั้น เป็นคำที่ให้ความหมายแก่ตัวรับฟังอย่างชัดเจน ไม่มีความบกพร่องพอจะให้เกิดความสงสัยแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
ดังนั้น คำแสดงของลิงแต่ประโยค เช่น โก้ก เป็นต้น ที่มนุษย์ธรรมดาเราฟังไม่รู้เรื่อง แต่ระหว่างเขาเองรู้เรื่องกันดีทุกประโยคที่แสดงออก เพราะเป็นภาษาของสัตว์พูดต่อกัน เช่นเดียวกับมนุษย์เราชาติต่าง ๆ ต่างก็มีภาษาประจำชาติของตนฉะนั้น
สรุปความก็คือ ภาษาสัตว์ต่าง ๆ ก็มีไว้สำหรับชาติของตน ภาษามนุษย์ชาติต่าง ๆ ก็มีไว้สำหรับชาติของตน การจะฟังรู้เรื่องหรือไม่รู้ระหว่างสัตว์ชนิดต่าง ๆ พูดกัน ระหว่างมนุษย์ชาติต่างๆ พูดกัน ก็ยุติลงเองไม่เป็นอารมณ์ข้องใจต่อไป ปล่อยให้เป็นสิทธิของแต่ละชาติจะวินิจฉัย รับรู้ของเขาเอง
พอต่างตัวต่างหายสงสัยแล้ว ต่างก็มาเที่ยวหากินในบริเวณนั้นตามสบาย หายความหวาดระแวง ไม่ระเวียงระวังว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา เขาพากันมาเที่ยวหากินตามบริเวณหน้าถ้ำอย่างสบาย ไม่สนใจกับท่าน ท่านเองก็มิได้สนใจกับเขา ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตน
ท่านว่า สัตว์ที่มาเที่ยวหากินอยู่บริเวณใกล้เคียงท่านโดยไม่ต้องระแวงและกลัวภัยนี้ เขาก็เป็นสุขดีเหมือนกัน โดยมากพระไปอยู่ที่ไหน พวกสัตว์ชนิดต่าง ๆ ชอบไปอาศัยอยู่ด้วย ไม่ว่าสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ เพราะความรู้สึกมันคล้ายคลึงกันกับมนุษย์ เป็นแต่เขาไม่มีอำนาจและไม่มีความเฉลียวฉลาดรอบด้านเหมือนมนุษย์เท่านั้น มีความฉลาดเฉพาะการหาอยู่หากินและหาที่ซ่อนตัวเพื่อชีวิตไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น
a8a8a8a8a8a8a8a8a8a
คืนวันหนึ่ง ท่านเกิดความสลดสังเวชใจอย่างมากจนน้ำตาร่วงออกมาจริง ๆ คือเวลานั่งสมาธิจิตรวมลงอย่างเต็มที่ เพราะการพิจารณากายเป็นเหตุ ปรากฏว่าจิตว่างและปล่อยวางอะไร ๆ หมด โลกธาตุเป็นเหมือนไม่มีอะไรเหลืออยู่เลยในความรู้สึกขณะนั้น
หลังจากสมาธิแล้วพิจารณาพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เพื่อลบล้างหรือถอดถอนความผิดที่มีอยู่ในใจของสัตว์โลก ซึ่งเป็นธรรมที่ออกจากความฉลาดแหลมคมแห่งพระปัญญาของพระพุทธเจ้า พิจารณาไปเท่าไร ก็ยิ่งเห็นความฉลาดและอัศจรรย์ของพระองค์ และเห็นความโง่เขลาเต่าปลาของตนยิ่งขึ้น
เพราะการขบฉันขับถ่ายก็ต้องได้รับการอบรมสั่งสอนมาก่อน การยืน เดิน นั่ง นอนก็ต้องได้รับการอบรมสั่งสอนมาก่อน การนุ่งห่มซักฟอกก็ต้องได้รับการสั่งสอนมาก่อน ไม่เช่นนั้นก็ทำไม่ถูก นอกจากทำไม่ถูกแล้วยังทำผิดอีกด้วย ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่อง หาบบาปหาบกรรม ใส่ตัว การปฏิบัติต่อร่างกายด้วยวิธีต่าง ๆ ก็ต้องได้รับการอบรมสั่งสอน การปฏิบัติต่อจิตใจก็ต้องได้รับการอบรมสั่งสอน ถ้าไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาเท่าที่ควร ก็ต้องทำผิดจริง ๆ ด้วย โดยไม่เลือกเพศวัยและชาติชั้นวรรณะใด ๆ เลย เพราะสามัญมนุษย์เราเป็นเหมือนเด็ก ซึ่งต้องได้รับการดูแลและอบรมสั่งสอนจากผู้ใหญ่อยู่ทุกขณะจึงจะปลอดภัยและเจริญเติบโตได้
คนเราใหญ่แต่กาย ใหญ่แต่ชาติ ใหญ่แต่ชื่อ ใหญ่แต่ยศ ใหญ่แต่ความสำคัญตน แต่ความรู้ความฉลาดที่จะทำตนให้ร่มเย็นเป็นสุขทั้งทางกายและทางใจโดยถูกทาง ตลอดผู้อื่นได้รับความร่มเย็นเป็นสุขด้วย นั่นไม่ค่อยเจริญเติบโตด้วยและไม่สนใจบำรุงให้ใหญ่โตอีกด้วย จึงเกิดความเดือดร้อนกันอยู่ทุกหนทุกแห่ง โดยไม่เลือกเพศวัยและชาติชั้นวรรณะอะไรเลย
เหล่านี้แลที่ทำให้เกิดความสลดสังเวชตนอย่างยิ่งในคืนวันนั้น
ส่งจิตไปตามดูความคิดของหลวงตาที่เชิงเขา
ที่ชายเขาทางขึ้นไปถ้ำที่ท่านพระอาจารย์พักอยู่ ก็มีสำนักบำเพ็ญวิปัสสนาอยู่แห่งหนึ่ง เวลาท่านพักอยู่ถ้ำนั้น มีขรัวตาองค์หนึ่งพักอยู่สำนักบำเพ็ญนั้น
คืนวันหนึ่งท่านพระอาจารย์คิดถึงขรัวตาองค์นั้น ว่าท่านจะทำอะไรอยู่เวลานี้ ก็กำหนดจิตส่งกระแสลงมาดูขรัวตา พอดีเป็นเวลาที่ขรัวตาองค์นั้นกำลังคิดวุ่นวายไปกับกิจการบ้านเรือนครอบครัวยุ่งไปหมด เรื่องที่ขรัวตาคิดเกี่ยวกับอตีตารมณ์
พอตกดึกท่านส่งกระแสจิตลงมาหาขรัวตาองค์นั้นอีก ก็มาเจอเอาเรื่องทำนองนั้นเข้าอีก ท่านก็ย้อนจิตกลับ
จวนสว่างส่งกระแสจิตลงมาอีก ก็มาโดนเอาแต่เรื่องคิดจะสั่งเสียลูกคนนั้นหลานคนนี้อยู่ร่ำไป ทั้งสามวาระที่ท่านส่งกระแสจิตลงมา แต่ก็มาเจอเอาแต่เรื่องขรัวตาคิดจะสร้างบ้านสร้างเรือน สร้างภพสร้างชาติ สร้างวัฏสงสาร ไม่มีสิ้นสุดวิถีแห่งความคิดความปรุงเอาเสียเลย
ตอนเช้าท่านลงมาบิณฑบาต ขากลับมาจึงแวะไปเยี่ยมขรัวตาถึงที่พัก แล้วพูดเป็นเชิงปัญหาว่า
เป็นอย่างไรหลวงพ่อ ปลูกบ้านใหม่ แต่งงานกับคู่ครองใหม่แต่เป็นแม่อีหนูคนเก่าเมื่อคืนนี้ตลอดคืนไม่ยอมนอน เสร็จเรียบร้อยไปด้วยดีแล้วมิใช่หรือ คืนต่อไปคงจะสบายไม่ต้องวุ่นวายจัดแจงสั่งลูกคนนั้นให้ทำสิ่งนั้น สั่งหลานคนนี้ให้ทำงานสิ่งนี้อีกกระมัง คืนนี้รู้สึกหลวงพ่อมีงานมากและวุ่นวายพอดู แทบมิได้พักผ่อนนอนหลับมิใช่หรือ
ขรัวตาถามท่านด้วยอาการเอียงอายและยิ้มแห้ง ๆ ว่า ท่านพระอาจารย์เป็นพระอัศจรรย์มาก ท่านรู้ด้วยหรือเมื่อคืนนี้
ท่านพระอาจารย์แสดงอาการยิ้มรับแล้วตอบว่า ผมเข้าใจว่าท่านจะรู้เรื่องของตัวดียิ่งกว่าผมผู้ถามเป็นไหน ๆ แต่ทำไมท่านจึงกลับมาถามผมอย่างนี้อีก ผมเข้าใจว่าความคิดปรุงของท่านเป็นไปด้วยเจตนาและพอใจในความคิดนั้น ๆ จนลืมหลับนอนไปทั้งคืน แม้แต่รุ่งเช้าตลอดมาถึงปัจจุบันนี้ ผมก็เข้าใจว่าท่านจงใจคิดเรื่องเช่นนั้นอยู่อย่างเพลินใจจนไม่มีสติจะยับยั้ง และยังพยายามทำตัวให้เป็นไปตามความคิดนั้น ๆ อย่างมั่นใจมิใช่หรือ
พอจบลง ท่านมองดูหน้าขรัวตาเหมือนคนจะเป็นลม ทั้งอายทั้งกลัว พูดออกมาด้วยเสียงสั่นเครือแทบไม่เป็นเสียงคน และไม่ชัดถ้อยชัดคำ ขาด ๆ วิ่น ๆ เหมือนจะเป็นอะไรไปในเวลานั้นจนได้ พอเห็นท่าไม่ได้การ ขืนพูดเรื่องนั้นต่อไป เดี๋ยวขรัวตาจะเป็นอะไรไปก็จะแย่ ท่านเลยหาอุบายพูดไปเรื่องอื่นพอให้เรื่องจางไป แล้วก็ลาขึ้นถ้ำ
ต่อมาได้ ๓ วันโยมผู้ปฏิบัติขรัวตาองค์นั้นก็ขึ้นไปที่ถ้ำ ท่านพระอาจารย์จึงถามถึงขรัวตานั้นว่าสบายดีหรือ
โยมท่านบอกว่า
ขรัวตาองค์นั้นจากไปที่อื่นเสียแล้วตั้งแต่เช้าวานนี้ ผมถามท่านว่าหลวงพ่อจะไปทำไม อยู่ที่นี่ไม่สบายหรือ
ท่านบอกว่า จะอยู่ไปได้อย่างไร ก็เช้าวานนี้ท่านพระอาจารย์มั่นมาหาอาตมาที่นี่ แล้วเทศน์อาตมาเสียยกหนึ่งหนัก ๆ อาตมาแทบเป็นลมสลบไปต่อหน้าท่านอยู่แล้ว ถ้าท่านขืนเทศน์ไปอีกสักประโยคสองประโยค อาตมาต้องล้มตายต่อหน้าท่านแน่ ๆ แต่พอดีท่านหยุดและเลยพูดเรื่องอื่นไปเสีย อาตมาจึงพอมีชีวิตและลมหายใจกลับคืนมาได้ ไม่ตายไปเสียในขณะนั้น แล้วจะให้อาตมาอยู่ต่อไปได้อย่างไร อาตมาขอไปวันนี้
ผมถามท่านว่า ท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ดุด่าท่านหรือ ถึงจะอยู่ต่อไปไม่ได้และจะตายต่อหน้าท่าน
ท่านมิได้ดุด่าอาตมา แต่ปัญหาธรรมของท่านนั้นมันหนักยิ่งกว่าท่านดุด่าเฆี่ยนตีเป็นไหน ๆ ขรัวตาตอบ
ท่านถามปัญหาหลวงพ่ออย่างนั้นหรือ ปัญหานั้นมีว่าอย่างไร ผมอยากทราบด้วยพอเป็นคติบ้าง ผมถามท่าน
ท่านพูดว่า ขออย่าให้อาตมาเล่าให้โยมฟังเลย อาตมาอายจะตายอยู่แล้ว จะมุดดินลงไปเดี๋ยวนี้แลถ้าขืนบอกใครให้ทราบด้วย อาตมาจะพูดให้โยมฟังเพียงเปรย ๆ นะ ก็เราคิดอะไร ๆ ท่านรู้เสียจนหมดสิ้น จะไม่หนักกว่าท่านดุด่าอย่างไรล่ะ ธรรมดาปุถุชนก็ย่อมมีคิดดีบ้างชั่วบ้างเป็นธรรมดา จะห้ามไม่ให้คิดได้อย่างไร ทีนี้พอเราคิดอะไรขึ้นมา ท่านก็รู้เสียหมด อย่างนี้จะอยู่ได้อย่างไร หนีไปตายที่อื่นดีกว่า อย่าอยู่ให้ท่านพลอยหนักใจด้วยเลย คนอย่างเราไม่ควรอยู่ที่นี่ต่อไป อายโลกเขาเปล่า ๆ คืนนี้อาตมานอนไม่ได้เลย คิดแต่เรื่องนี้อย่างเดียว
ผมแย้งท่านว่า ก็ท่านจะมาหนักใจด้วยเราทำไม เพราะท่านมิใช่ผู้ผิด เราผู้ผิดต่างหากจะควรหนักใจ และควรแก้ความผิดของตนให้สิ้นเรื่องไป ท่านอาจารย์ยังจะอนุโมทนาอีกด้วย นิมนต์ท่านอยู่ที่นี่ไปก่อน เผื่อคิดอะไรผิด ๆ ถูก ๆ ขึ้นมา ท่านอาจารย์จะได้ช่วยเตือน เราก็จะได้สติแก้ไข ยังจะดีกว่าหนีไปอยู่ที่อื่นเป็นไหน ๆ ความเห็นของผมว่าอย่างนี้หลวงพ่อจะว่าอย่างไร
ไม่ได้ ความคิดว่าจะได้สติและจะแก้ไขตัว กับความกลัวท่านนั้น มันมีน้ำหนักกว่าคนละโลก เหมือนช้างกับแมวเอาทีเดียว แล้วเราจะพอมีสติสตังมาแก้อยู่อย่างไรได้ พอคิดว่าท่านจะรู้เรื่องเราเท่านั้นตัวมันสั่นขึ้นมาแล้ว อาตมาขอไปวันนี้ ถ้าขืนอยู่ที่นี่ต่อไปอาตมาต้องตายแน่ ๆ โยมเชื่ออาตมาเถอะ อย่าให้อยู่เลย
ท่านว่าอย่างนี้ ไม่ทราบว่าผมจะห้ามท่านได้อย่างไร คิดแล้วก็น่าสงสาร เวลาท่านพูดให้ผมฟัง ก็ทั้งพูดทั้งกลัว หน้าซีดเซียวไปหมด เลยต้องปล่อยให้ท่านไป ก่อนจะไปผมถามท่านว่า
หลวงพ่อจะไปอยู่ที่ไหน
ท่านตอบว่า เอาแน่นอนไม่ได้ ถ้าไม่ตายเราคงเห็นหน้ากันอีก
แล้วก็ไปเลย ผมให้เด็กตามไปส่งท่าน เวลาเด็กกลับมาแล้วถามเด็ก เด็กบอกว่าไม่ทราบ เพราะท่านไม่บอกที่ที่ท่านจะพักอยู่ สุดท้ายก็เลยไม่ได้เรื่องราวจนป่านนี้ น่าสงสาร ทั้งท่านก็แก่แล้ว ไม่น่าจะเป็นเอาขนาดนั้น
ฝ่ายท่านอาจารย์เกิดความสลดใจ ที่ทำคุณได้โทษ โปรดสัตว์ได้บาป เราคิดแล้วแต่แรกที่เห็นอาการไม่ดีเวลาถามปัญหา จากวันนั้นมาแล้วก็มิได้สนใจคิดและส่งกระแสจิตไปถึงขรัวตาอีก เพราะกลัวจะไปเจอเอาเรื่องที่เคยเจอ แล้วก็มาเป็นดังที่คิดจนได้ ท่านคิดในใจขณะที่ทราบเรื่องจากโยมเล่าให้ฟัง และได้พูดกับโยมบ้างเล็กน้อยเกี่ยวกับปัญหาที่เขาเล่าให้ท่านฟังว่า
อาตมาก็พูดไปธรรมดาในฐานะคุ้นเคยกัน ทีเล่นทีจริงบ้างอย่างนั้นเอง ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่โตถึงกับพาให้ขรัวตาต้องร้างวัดร้างวาหนีไปเช่นนั้น
เรื่องของขรัวตาเป็นเรื่องสำคัญต่อท่านอาจารย์ไม่น้อยตลอดมา ในการที่จะปฏิบัติต่อบรรดาผู้ที่มาเกี่ยวข้องทั้งใกล้และไกล เกรงว่าเรื่องจะซ้ำรอยเข้าอีกหากไม่สนใจคิดไว้ก่อน
จากนั้นมาแล้ว ท่านว่าท่านไม่เคยทักใครเกี่ยวกับความคิดนึกดีชั่ว เพียงพูดเป็นอุบายไปเท่านั้น เพื่อผู้นั้นระลึกรู้ตัวเอาเองโดยมิให้กระเทือนใจ เพราะใจคนเราย่อมเป็นเหมือนเด็กอ่อนที่เพิ่งฝึกหัดเดินกะเปะกะปะไปตามเรื่อง ผู้ใหญ่เป็นเพียงคอยดูแลสอดส่องเพื่อมิให้เด็กเป็นอันตรายเท่านั้น ไม่จำต้องไปกระวนกระวายกับเด็กให้มากไป ใจของสามัญชนก็เช่นกันปล่อยให้คิดไปตามเรื่อง ถูกบ้างผิดบ้าง ดีบ้างชั่วบ้างเป็นธรรมดา จะให้ถูกต้องดีงามอยู่ตลอดเวลาย่อมเป็นไปไม่ได้
a8a8a8a8a8a8a8a8a8a
ท่านว่า ท่านพักอยู่ที่ถ้ำนั้นได้ความรู้และอุบายแปลก ๆ ต่าง ๆ มากมาย ทั้งเป็นเรื่องภายในโดยเฉพาะ ทั้งเกี่ยวกับเรื่องภายนอกไม่มีประมาณ ท่านเกิดความอาจหาญร่าเริงในข้อปฏิบัติ จนลืมเวล่ำเวลา ไม่ค่อยได้สนใจกับวันคืนเดือนปีอะไรนัก ความรู้ภายในใจเกิดขึ้นทุกระยะเหมือนน้ำไหลรินในฤดูฝน บางวันตอนบ่ายอากาศโปร่ง ๆ ท่านก็เดินเที่ยวชมป่าชมเขา ภาวนาไปเรื่อย ๆ ทำให้เพลินใจไปตามทัศนียภาพที่มีอยู่เป็นอยู่ตามธรรมชาติของมัน เย็น ๆ หน่อยค่อยลงมาถ้ำ ที่ที่ท่านพักอยู่ สัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ มีมาก พืชผลอันเป็นอาหารธรรมชาติก็มีมาก จำพวกสัตว์ป่าที่อาศัยผลไม้เป็นอาหาร เช่น ลิง ค่าง บ่าง ชะนี ก็รู้สึกว่าเขาเพลิดเพลินไปตามภาษาของเขา เวลาเขามองเห็นเราก็ไม่แสดงอาการกลัว ต่างตัวต่างหากินไปตามภาษา
ท่านว่าท่านก็เพลินไปกับเขาด้วยความเมตตาสงสาร ว่าเขาก็เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายเช่นเดียวกันกับเรา ไม่มีอะไรยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แม้วาสนาบารมีของสัตว์กับมนุษย์ต่างก็มีเช่นเดียวกัน ส่วนความยิ่งหย่อนแห่งวาสนาบารมีนั้นย่อมมีได้ทั้งคนและสัตว์ นอกจากนั้นสัตว์บางตัวที่มีวาสนาบารมีแก่กล้าและอัธยาศัยดีกว่ามนุษย์บางรายยังมีอยู่มาก แต่เวลาเขาตกอยู่ในภาวะความเป็นสัตว์ก็จำต้องทนรับเสวยไป เช่นเดียวกับมนุษย์เราแม้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ซึ่งจัดว่าเป็นชาติที่สูงกว่าสัตว์ แต่ขณะที่ตกอยู่ในความทุกข์จนข้นแค้นก็จำต้องทนเอาจนกว่าจะสิ้นกรรมหรือสิ้นวาระของมัน แล้วมีส่วนดีเข้ามาแทนที่ให้รับเสวยผลสืบต่อไปตามวาระดังที่เห็น ๆ กันอยู่ เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนไม่ให้ดูถูกเหยียดหยามชาติกำเนิดความเป็นอยู่ของกันและกัน และสอนว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมดีชั่วเป็นของของตน
พอตกเย็นท่านก็ทำข้อวัตรปัดกวาดหน้าถ้ำบริเวณที่อยู่อาศัย เสร็จแล้วก็เริ่มทำความเพียร โดยวิธีเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง จิตท่านมีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางสมาธิ ความสงบใจ ทั้งทางปัญญา พิจารณาแยกส่วนแบ่งส่วนแห่งธาตุขันธ์ลงในไตรลักษณญาณ ปรากฏเป็นความมั่นใจขึ้นเป็นลำดับ
พระสาวกอรหันต์มาแสดงธรรมให้ฟัง
บางคืนปรากฏมีพระสาวกอรหันต์มาแสดงธรรมให้ท่านฟังตามทางอริยประเพณี โดยปรากฏทางสมาธินิมิต เป็นใจความว่า
วิธีเดินจงกรมต้องให้อยู่ในท่าสำรวมทั้งกายและใจ ตั้งจิตและสติไว้ที่จุดหมายของงานที่ตนกำลังทำอยู่ คือกำลังกำหนดธรรมบทใดอยู่ พิจารณาขันธ์ใดอยู่ อาการแห่งกายใดอยู่ พึงมีสติอยู่กับธรรมหรืออาการนั้น ๆ ไม่พึงส่งใจและสติไปอื่น อันเป็นลักษณะของคนไม่มีหลักยึด ไม่มีความแน่นอนในตัวเอง การเคลื่อนไหวไปมาในทิศทางใดควรมีความรู้สึกด้วยสติพาเคลื่อนไหว ไม่พึงทำเหมือนคนนอนหลับ ไม่มีสติตามรักษาความกระดุกกระดิกของกาย และความละเมอเพ้อฝันของใจในเวลาหลับของตน การบิณฑบาต การขบฉัน การขับถ่าย ควรถืออริยประเพณีเป็นกิจวัตรประจำตัว ไม่ควรทำเหมือนคนผู้ไม่เคยอบรมศีลธรรมมาเลย พึงทำเหมือนสมณะคือเพศของนักบวชอันเป็นเพศที่สงบเยือกเย็น มีสติปัญญาเครื่องกำจัดโทษที่ฝังลึกอยู่ภายในอยู่ทุกอิริยาบถ การขบฉันพึงพิจารณาอาหารทุกประเภทด้วยดี อย่าปล่อยให้อาหารที่มีรสเอร็ดอร่อยตามชิวหาประสาทนิยมกลายมาเป็นยาพิษแผดเผาใจ แม้ร่างกายจะมีกำลังเพราะอาหารที่ขาดการพิจารณาเข้าไปหล่อเลี้ยง แต่ใจจะอาภัพเพราะรสอาหารเข้าไปทำลาย จะกลายเป็นการทำลายตนด้วยการบำรุงคือทำลายใจ เพราะการบำรุงร่างกายด้วยอาหารโดยความไม่มีสติ สมณะไปที่ใด อยู่ที่ใด ไม่พึงก่อความเป็นภัยแก่ตัวเองและผู้อื่น คือไม่สั่งสมกิเลสสิ่งน่ากลัวแก่ตัวเองและระบาดสาดกระจายไปเผาลนผู้อื่น คำว่ากิเลส อริยธรรมถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่ง พึงใช้ความระมัดระวังด้วยความจงใจ ไม่ประมาทต่อกระแสของกิเลสทุก ๆ กระแส เพราะเป็นเหมือนกระแสไฟที่จะสังหารหรือทำลายได้ทุก ๆ กระแสไป การยืน เดิน นั่ง นอน การขบฉัน การขับถ่าย การพูดจาปราศรัยกับผู้มาเกี่ยวข้องทุก ๆ ราย และทุก ๆ ครั้งด้วยความสำรวม นี่แล คืออริยธรรม เพราะพระอริยบุคคลทุกประเภทท่านดำเนินอย่างนี้กันทั้งนั้น ความไม่มีสติ ไม่มีการสำรวม เป็นทางของกิเลสและบาปธรรม เป็นทางของวัฏฏะล้วน ๆ ผู้จะออกจากวัฏฏะจึงไม่ควรสนใจกับทางอันลามกตกเหวเช่นนั้น เพราะจะพาให้เป็นสมณะที่เลว ไม่เป็นผู้อันใคร ๆ พึงปรารถนา อาหารเลวไม่มีใครอยากรับประทาน สถานที่บ้านเรือนเลวไม่มีใครอยากอยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่มใช้สอยเลว ไม่มีใครอยากนุ่งห่มใช้สอยและเหลือบมอง ทุกสิ่งที่เลวไม่มีใครสนใจ เพราะความรังเกียจโดยประการทั้งปวง คนเลว ใจเลว ยิ่งเป็นบ่อแห่งความรังเกียจของโลกผู้ดีทั้งหลาย ยิ่งสมณะคือนักบวชเราเลวด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นจุดทิ่มแทงจิตใจของทั้งคนดีคนชั่ว สมณะชีพราหมณ์ เทวบุตรเทวดาอินทร์พรหมไม่เลือกหน้า จึงควรสำรวมระวังนักหนา การบำรุงรักษาสิ่งใด ๆ ในโลก การบำรุงรักษาตน คือใจเป็นเยี่ยม จุดที่เยี่ยมยอดของโลกคือใจ ควรบำรุงรักษาด้วยดี ได้ใจแล้วคือได้ธรรม เห็นใจตนแล้วคือเห็นธรรม รู้ใจแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล ถึงใจตนแล้วคือถึงพระนิพพาน ใจนี่แลคือสมบัติอันล้นค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป คนพลาดใจคือ ไม่สนใจปฏิบัติต่อใจดวงวิเศษในร่างนี้ แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติก็คือผู้เกิดผิดพลาดนั่นเอง เมื่อทราบแล้วว่าใจเป็นสิ่งประเสริฐในตัวเรา จึงไม่ควรให้พลาดทั้งรู้ ๆ จะเสียใจภายหลัง ความเสียใจทำนองนี้ไม่ควรให้เกิดได้เมื่อทราบอยู่อย่างเต็มใจ มนุษย์เป็นชาติที่ฉลาดในโลก แต่อย่าให้เราที่เป็นมนุษย์ทั้งคน โง่เต็มตัว จะเลวเต็มทนและหาความสุขไม่เจอ กิจการทั้งภายในภายนอกของสมณะเป็นกิจ หรือเป็นงานตัวอย่างของโลกได้อย่างมั่นใจ เพราะเป็นกิจที่ขาวสะอาดปราศจากมลทินโทษทั้งกิริยาที่ทำและงานที่ประกอบ จัดว่าชอบด้วยอรรถด้วยธรรม จึงควรบำรุงส่งเสริมสมณกิจของตนให้มีความเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป จะเป็นผู้เจริญรุ่งเรืองในที่ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อ สมณะผู้รักในศีล รักในสมาธิ รักสติ รักปัญญา รักความเพียร จะเป็นสมณะอย่างเต็มภูมิทั้งปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้ ธรรมที่แสดงนี้คือธรรมของท่านผู้มีความเพียร ของท่านผู้อดผู้ทน ของท่านผู้เป็นนักต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดเป็นยอดคน ของผู้พ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง ปราศจากสิ่งกดขี่บังคับของท่านผู้เป็นอิสระอย่างเต็มภูมิ คือพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของโลกทั้งสาม ถ้าท่านเห็นว่าธรรมทั้งนี้เป็นธรรมสำคัญสำหรับท่าน ท่านจะเป็นผู้ไม่มีกิเลสในไม่ช้านี้ จึงขอฝากธรรมไว้กับท่านนำไปพิจารณาด้วยดี ท่านจะกลายเป็นคนที่แปลกขึ้นมาในใจ ซึ่งเป็นของแปลกอยู่แล้วตามหลักธรรมชาติดังนี้ |
เมื่อพระสาวกอรหันต์มาแสดงธรรมให้ท่านฟังจากไปแล้ว ท่านก็น้อมเอาธรรมนั้นมาพิจารณาใคร่ครวญอีกต่อหนึ่ง โดยแยกแยะออกเป็นแขนง ๆ ไตร่ตรองดูด้วยความละเอียด ทุก ๆ ครั้งที่พระสาวกอรหันต์แต่ละองค์มาแสดงธรรมสั่งสอน ท่านได้อุบายต่าง ๆ จากการสดับธรรมของพระอรหันต์ทั้งหลาย ที่มาอบรมสั่งสอนแต่ละครั้งแต่ละองค์ ช่วยส่งเสริมกำลังใจกำลังสติปัญญาตลอดมา
ท่านเล่าว่า ขณะที่ฟังธรรมพระอรหันต์ท่านแสดงธรรมให้ฟัง ประหนึ่งได้ฟังธรรมในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า แม้ไม่เคยเห็นพระองค์มาก่อน ใจรู้สึกอิ่มเอิบและเพลิดเพลินไปตาม เหมือนโลกและธาตุขันธ์ไม่มีกาลเวลามาบีบบังคับเลย ปรากฏว่ามีแต่จิตล้วน ๆ ที่สว่างไสวไปด้วยอรรถด้วยธรรมเท่านั้น พอจิตถอนออกมาจึงทราบว่าตนมีภูเขาอันแสนหนักทั้งลูก คือร่างกายอันเป็นที่รวมแห่งขันธ์ ซึ่งแต่ละขันธ์ล้วนเป็นกองทุกข์อันแสนทรมาน
ท่านพักอยู่ที่ถ้ำนั้น มีพระอรหันต์หลายองค์มาเยี่ยมและแสดงธรรมให้ฟังเสมอในวาระต่าง ๆ กัน ซึ่งผิดกับที่ทั้งหลายอยู่มากในชีวิตที่ผ่านมา ธรรมเป็นที่แน่ใจได้ปรากฏขึ้นแก่ท่านในถ้ำนั้น ธรรมนั้นคือพระอนาคามีผล
ธรรมนี้ในพระปริยัติท่านกล่าวไว้ว่าละสังโยชน์ได้ ๕ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ ท่านผู้บรรลุธรรมขั้นนี้เป็นผู้แน่นอนในการไม่กลับมาอุบัติเกิดเป็นมนุษย์ และสัตว์ที่มีธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นเรือนร่างอีกต่อไป หากยังไม่เลื่อนชั้นขึ้นถึงพระอรหันตภูมิในอัตภาพนั้น เวลาตายแล้วก็ไปอุบัติเกิดในพรหมโลก ๕ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่ง ตามภูมิธรรมที่ผู้นั้นได้บรรลุในพรหมโลก ๕ ชั้น คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และอกนิฏฐา ซึ่งเป็นที่สถิตอยู่ของพระอนาคามีบุคคล ตามลำดับแห่งภูมิธรรมที่มีความละเอียดต่างกัน
ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าเป็นการภายในว่า ท่านได้บรรลุอนาคามีธรรมในถ้ำนั้น แต่ผู้เขียนก็เลยตัดสินใจนำมาลงเพื่อท่านผู้อ่านได้ติชมบ้าง หากเป็นการผิดพลาดประการใด ก็ขอได้ตำหนิผู้เขียนว่าเป็นผู้ไม่รอบคอบเสียเอง ท่านพักบำเพ็ญสมณธรรมด้วยความสงบเย็นใจอยู่ที่นั้นหลายเดือน
คืนวันหนึ่ง เกิดความเมตตาสงสารหมู่คณะขึ้นมาอย่างมากมายผิดสังเกตที่เคยเป็นมา สาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้น เนื่องมาจากท่านทำสมาธิภาวนาเกิดความอัศจรรย์หลายอย่างที่ไม่เคยคาดฝันว่าจะเป็นได้ในชีวิต แต่ก็ได้ปรากฏขึ้นมาอย่างประจักษ์ใจติด ๆ กันทุกคืน
เฉพาะคืนที่คิดถึงหมู่คณะนั้น รู้สึกเป็นคืนที่แปลกมาก คือจิตเป็นสมาธิที่ละเอียดสุขุมมากเป็นพิเศษ ความรู้ความเห็นทั้งภายในภายนอกเป็นพิเศษ ความอัศจรรย์ปรากฏขึ้นกับใจเป็นพิเศษ ถึงกับน้ำตาร่วงไหลออกมาด้วยความเห็นโทษแห่งความโง่ของตนในอดีตที่ผ่านมา ความเห็นคุณของความเพียรที่ตะเกียกตะกายมาจนได้เห็นธรรมอัศจรรย์ขึ้นจำเพาะหน้า ความเห็นคุณของพระพุทธเจ้าผู้มีพระเมตตาประสิทธิ์ประสาทธรรมไว้พอเห็นร่องรอยได้ดำเนินตาม และรู้ความสลับซับซ้อนแห่งกรรมของตนและของผู้อื่น ตลอดสัตว์ทั้งหลาย ขึ้นมาอย่างประจักษ์ ปราศจากความเคลือบแคลงสงสัย ตรงตามธรรมบทว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นของตน เป็นต้น อันเป็นบทธรรมที่รวมความสำคัญของศาสนาไว้แทบทั้งมวล
ท่านเตือนตนว่า แม้จะประสบความอัศจรรย์หลายอย่างขึ้นมาอย่างภาคภูมิใจก็ตาม แต่ก็ทราบว่าทางเดินเพื่อความพ้นทุกข์ของท่านยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ ยังจะต้องทุ่มเทกำลังสติปัญญาและความพากเพียรทุกด้านลงอย่างเต็มกำลังอีกต่อไป
สิ่งที่ทำให้ท่านเย็นใจและอยู่ด้วยความผาสุกทั้งทางกายและทางใจนั้น คือโรคเรื้อรังในท้องที่เคยรบกวนและตัดรอนเสมอมา ได้หายไปโดยสิ้นเชิง จิตใจได้หลักยึดอย่างมั่นคง แม้ยังไม่สิ้นกิเลส แต่ก็มิได้สงสัยปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน ปฏิปทาภายในเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เหมือนแต่ก่อน มีความแน่ใจว่าจะไม่ลุ่มหลงสงสัยทางดำเนินเพื่อธรรมขั้นสูงสุดแบบลูบ ๆ คลำ ๆ ดังที่เคยเป็นมา และมั่นใจว่าตนจะบรรลุถึงธรรมแดนพ้นทุกข์ในวันหนึ่งแน่นอน สติปัญญาก็ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่ถูกบังคับเคี่ยวเข็ญ วันคืนหนึ่ง ๆ เกิดความรู้ความเห็นต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวแก่สิ่งภายในและเกี่ยวแก่สิ่งภายนอกไม่มีประมาณ ทำให้จิตใจรื่นเริงในธรรม และเกิดความสงสารหมู่คณะที่เคยอยู่ด้วยกันมามากขึ้น อยากให้ได้รู้ได้เห็นอย่างที่ตนรู้เห็นบ้าง
ความคิดสงสารนี้เลยกลายเป็นสาเหตุให้ท่านจำต้องจากถ้ำอันเป็นอุดมมงคลนี้ ไปหาหมู่คณะทางภาคอีสานอีก ทั้ง ๆ ที่อาลัยอาวรณ์ไม่อยากไป
ก่อนที่ท่านจะจากถ้ำนี้ไปราว ๒-๓ วัน ก็ปรากฏว่ามีพวกรุกขเทพ โดยมีเทพลึกลับองค์ที่เคยมาหาท่านเป็นหัวหน้าพามาเยี่ยมฟังธรรมเทศนาท่าน เมื่อท่านให้โอวาทแก่เทวดาจบลง และบอกความประสงค์ที่จะต้องจากถ้ำและคณะเทพทั้งหลายไปสู่ถิ่นอื่นด้วยความจำเป็น บรรดาเทวดาที่รวมกันอยู่จำนวนมาก ไม่ยอมให้ท่านจากไป และพร้อมกันอาราธนานิมนต์ท่านไว้ เพื่อความร่มเย็นและเป็นสิริมงคลแก่ชาวเทพตลอดกาลนาน
ท่านก็บอกว่า ที่มาอยู่ที่นี่ก็มาด้วยความจำเป็น แม้การจะจากไปสู่ที่อื่นก็ไปด้วยความจำเป็นเช่นเดียวกัน มิได้มาและไปด้วยความอยากพาให้เป็นไป จึงขอความเห็นใจจากท่านทั้งหลาย อย่าได้เสียใจ ถ้ามีโอกาสวาสนาอำนวยยังจะได้มาที่นี่อีก
ชาวเทพพากันแสดงความเสียใจและเสียดายท่านด้วยความเคารพรักจริง ๆ ไม่อยากให้ท่านจากไป
ส่งกระแสจิตมาดูท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ
จวนจะถึงวันลงจากถ้ำ ตอนกลางคืนราว ๔.๐๐ นาฬิกา คือ ๑๐ ทุ่ม ท่านคิดถึงท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ วัดบรมนิวาส ว่าเวลานี้ท่านจะพิจารณาอะไรอยู่ จึงกำหนดจิตส่งกระแส ลงมาดูท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็ทราบว่า เวลานั้นท่านกำลังพิจารณาปัจจยาการคืออวิชชาอยู่ ท่านอาจารย์ทราบแล้วก็จดจำวันไว้ เวลาลงมากรุงเทพฯ ได้โอกาสก็เรียนถามท่านตามที่ตนทราบมาแล้ว
ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ พอได้ทราบเท่านั้น เลยต้องสารภาพและหัวเราะกันพักใหญ่ พร้อมทั้งชมเชยว่า
ท่านมั่นนี้เก่งจริง เราเองเป็นขนาดอาจารย์ แต่ไม่เป็นท่า น่าอายท่านมั่นเหลือเกิน ท่านมั่นเก่งจริง
แล้วก็กล่าวชมเชยว่า
มันต้องอย่างนี้ซิลูกศิษย์พระตถาคต ถึงจะเรียกว่าเดินตามครู พวกเราอย่าทำตัวเป็นโมฆะจากธรรมของพระพุทธเจ้าเสียหมด ต้องมีผู้ทรงธรรมท่านไว้บ้าง สมกับธรรมเป็นอกาลิโก ไม่ปล่อยให้กาลสถานที่และความเกียจคร้านเอาไปกินเสียหมด ธรรมจะไม่ปรากฏแก่โลกทั้งที่พระพุทธเจ้าประกาศสอนแก่หมู่ชน ต้องทำอย่างท่านมั่นที่ได้ความรู้ต่าง ๆ มาเล่าสู่กันฟังอย่างนี้จึงเป็นที่น่าชมเชย
ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เลื่อมใสและชมเชยท่านมาก บางครั้งเวลามีเรื่องราวต่าง ๆ ที่ท่านไม่แน่ใจว่าควรจะพิจารณาและตัดสินใจอย่างไรจึงจะถูกต้องเหมาะสม ท่านยังให้พระนิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นไปร่วมปรึกษา และมอบเรื่องราวให้ท่านไปพิจารณาช่วยก็ยังมี
พอควรแก่เวลาแล้ว ท่านก็เดินทางไปภาคอีสาน
ท่านว่า ก่อนท่านจะขึ้นไปบำเพ็ญอยู่ที่ถ้ำสาริกาเขาใหญ่ จังหวัดนครนายก ท่านเที่ยวจาริกไปทางประเทศพม่าก่อน แล้วกลับมาผ่านจังหวัดเชียงใหม่ ลงไปทางหลวงพระบาง ประเทศลาว บำเพ็ญสมณธรรมอยู่แถบนั้นนานพอสมควร แล้วไปจังหวัดเลย และจำพรรษาที่บ้านโคก ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับถ้ำผาปู่ในเขตจังหวัดเลย ๑ พรรษา และไปจำพรรษาที่ถ้ำผาบิ้ง ๑ พรรษาในเขตจังหวัดเดียวกัน
ที่ที่ท่านจำพรรษาเหล่านี้มีแต่ป่าแต่เขา และเต็มไปด้วยสัตว์ชนิดต่าง ๆ เพราะหมู่บ้านและผู้คนมีน้อยในสมัยนั้น เดินทางไปตั้งวันก็ไม่เจอหมู่บ้าน ถ้าเกิดไปหลงทางเข้าต้องแย่ และนอนกลางป่า ซึ่งเป็นที่ชุกชุมของสัตว์นานาชนิด มีเสือ เป็นต้น
ท่านเล่าว่า ท่านข้ามไปเที่ยวธุดงค์ฟากฝั่งแม่น้ำโขงประเทศลาว และพักอยู่ในป่าใกล้ภูเขา มีเสือโคร่งใหญ่เคยมาหาท่านบ่อย ๆ บางทีมันก็มาดูท่านอยู่ห่าง ๆ ในเวลากลางคืน ซึ่งกำลังเดินจงกรมอยู่ แต่มันมิได้แสดงท่าทางให้เป็นที่น่ากลัวอะไรนัก นอกจากมันร้องไปตามภาษาของมัน แลเที่ยวไปมาอยู่แถว ๆ บริเวณนั้นเท่านั้น ท่านก็มิได้สนใจกับมัน เพราะเคยชินกับพวกสัตว์ต่าง ๆ มาแล้ว
คืนวันหนึ่งมีเสือโคร่งตัวใหญ่มาก เข้ามาหาพระที่เป็นเพื่อนไปด้วยกัน ซึ่งกำลังเดินจงกรมอยู่ แต่อยู่กันคนละหมู่บ้าน มิได้อยู่ด้วยกัน มันเข้ามานั่งดูท่านอยู่ข้างทางเดินจงกรมของพระอาจารย์องค์นั้น ห่างจากทางจงกรมท่านประมาณ ๑ วา ท่ามกลางความสว่างของแสงไฟเทียนไขที่ท่านจุดไว้เพื่อมองเห็นหนทางเดินจงกรมไปมา การนั่งของเสือโคร่งตัวนั้นเหมือนสุนัขบ้านเรานั่งนั้นเอง มันนั่งหันหน้ามาทางจงกรมท่าน ตามันจับจ้องมองดูพระที่ท่านกำลังเดินจงกรมไปมาไม่ลดละสายตา แต่มิได้แสดงอาการอย่างใดออกมา
ขณะที่พระท่านเดินจงกรมไปถึงตรงที่มันนั่งดูอยู่นั้น รู้สึกสงสัยนัยน์ตาและเฉลียวใจ เพราะข้างทางจงกรมตรงนั้นปกติไม่มีอะไร แต่ขณะนั้นรู้สึกพิกลนัยน์ตา จึงมองไปดู ก็พอดีเห็นเสือโคร่งใหญ่กำลังนั่งมองดูท่านอยู่แล้ว ตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบ พระท่านเองก็ไม่กลัวมัน มันก็ไม่ทำอะไรท่าน เป็นเพียงนั่งดูอยู่เฉย ๆ เหมือนสัตว์ไม่มีวิญญาณ และไม่กระดุกกระดิก ท่านก็เดินจงกรมผ่านหน้ามันไปมาไม่นึกกลัวอะไรกัน เป็นแต่เห็นมันนั่งดูท่านอยู่นานผิดปกติ จึงทำให้ท่านคิดขึ้นด้วยความสงสารมันว่า
แกจะไปหาอยู่หากินที่ไหนก็ไปซิ จะมานั่งเฝ้าเราทำไมกัน
พอท่านคิดจบลงเท่านั้น เสียงมันดังกระหึ่มขึ้นทันที จนสะเทือนป่าไปหมดในขณะนั้น เมื่อท่านได้ยินเสียงมันดังกระหึ่ม และไม่ยอมหนีตามที่ท่านคิดอยากให้มันหนีไป ท่านเลยรีบเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่า
เท่าที่คิดเช่นนั้นก็เพราะความสงสาร เกรงว่าจะเกิดความหิวโหย เพราะมีปากมีท้องที่จะต้องได้รับการบำรุงรักษาเช่นทั่ว ๆ ไป เพราะการมานั่งเฝ้าเรานาน ๆ ถ้าไม่เกิดความหิวกระหายใด ๆ จะนั่งเฝ้าเพื่อรักษาอันตรายให้ก็ยิ่งดี เราก็ไม่ว่าอะไร
พอท่านเปลี่ยนความคิดใหม่เช่นนี้จบลง มันก็มิได้แสดงอาการอย่างไรต่อไปอีก คงนั่งดูท่านเดินจงกรมต่อไปตามนิสัยของมัน ท่านเองก็คงเดินจงกรมไปมาตามปกติ มิได้สนใจกับมันอีกต่อไป มันก็นั่งดูท่านอยู่เหมือนหัวตอไม่กระดุกกระดิกตัวแต่อย่างใดเลย
จนถึงเวลาท่านก็เดินออกจากทางจงกรมเข้าไปสู่ที่พักซึ่งเป็นแคร่เล็ก ๆ เหมือนเตียงนอน ที่อยู่ไม่ห่างไกลจากทางจงกรมนัก ทำวัตรสวดมนต์และนั่งสมาธิภาวนาต่อไป จนถึงเวลาพักผ่อนท่านก็พักนอนอยู่บนแคร่นั้น ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากเสือโคร่งตัวนั้นนักเลย
ท่านตื่นนอน ๓.๐๐ นาฬิกา คือ ๙ ทุ่ม จากนั้นท่านก็เริ่มออกไปเดินจงกรมอีกตามเคย แต่ไม่เห็นเสือตัวนั้นอีก ไม่ทราบว่ามันหายไปทางทิศใด คืนต่อไปก็ไม่เห็นมันมาที่นั่นอีก จนกระทั่งท่านจากที่นั้นหนีไป เผอิญเห็นเฉพาะคืนเดียวเท่านั้น จึงทำให้พระอาจารย์องค์นั้นเกิดความสงสัย เวลาไปพบกับท่านพระอาจารย์มั่น จึงเล่าเรื่องเสือมาเฝ้าตนให้ท่านพระอาจารย์มั่นฟัง
ท่านเล่าว่า อาจารย์องค์นั้นชื่อ สีทา อายุพรรษาแก่กว่าท่านเล็กน้อย ท่านเป็นพระนักปฏิบัติรุ่นเดียวกัน และเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์หนึ่ง ท่านชอบป่าชอบเขาชอบที่สงบสงัดมาก ท่านชอบอยู่ตามภูเขาทางฝั่งแม่น้ำโขงประเทศลาวมากกว่าที่อื่น ๆ แม้ข้ามมาฝั่งไทยเราก็ไม่นาน
ท่านพระอาจารย์สีทาเล่าให้พระอาจารย์มั่นฟัง คราวเสือกระหึ่มใส่ท่านนั้น เป็นขณะที่ท่านคิดอยากให้มันหนีไปว่าท่านไม่รู้สึกกลัว แต่ขนลุกไปหมดทั้งตัว ศีรษะชาเหมือนใส่หมวก ต่อไปค่อยเป็นปกติและเดินจงกรมไปมาได้สะดวกธรรมดาเหมือนไม่มีอะไรมาอยู่ที่นั้น ความจริงมันคงจะมีความกลัวอยู่อย่างลึกลับจนเจ้าตัวไม่อาจรู้ได้ แม้คืนที่เสือโคร่งใหญ่ตัวนั้นไม่มาหาท่านถึงที่อยู่ แต่ก็ได้ยินเสียงมันร้องกระหึ่ม ๆ อยู่บริเวณใกล้เคียงที่ท่านพักอยู่แทบทุกคืน ท่านก็ไม่เห็นรู้สึกกลัวมัน และทำความเพียรได้อย่างสบายเหมือนไม่มีอะไรในบริเวณนั้น
สมัยที่ท่านพระอาจารย์มั่นออกปฏิบัติทีแรก และเที่ยวไปตามจังหวัดต่าง ๆ มีจังหวัดนครพนม สกลนคร อุดรธานี จนไปถึงพม่า กลับมาผ่านจังหวัดเชียงใหม่ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ จังหวัดเลย ลงไปจำพรรษาที่วัดปทุมวัน กรุงเทพฯ และไปพักที่ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ ตลอดเวลาที่ท่านกลับมาทางภาคอีสานอีก ท่านมักจะไปเพียงองค์เดียว แม้จะมีพระติดตามบ้างก็เป็นบางสมัยเท่านั้น แล้วก็แยกกันไป เพราะท่านเป็นผู้ปฏิบัติเด็ดเดี่ยว ไม่ชอบเกี่ยวข้องกับหมู่คณะ ท่านถือเป็นความสะดวกในการไปคนเดียวอยู่คนเดียว บำเพ็ญสมณธรรมคนเดียวตลอดมา จนปรากฏว่ามีกำลังใจมั่นคง จึงเกิดความสงสารหมู่คณะ และสนใจที่จะแนะนำสั่งสอน
ความคิดอันนี้เป็นเหตุให้ท่านได้จากถ้ำสาริกาอันแสนสบายกลับไปทางภาคอีสาน หลังจากท่านได้อบรมพระเณรไว้บ้างสมัยที่ท่านเที่ยวธุดงค์อยู่ทางภาคอีสาน ก่อนหน้าจะลงมาทางภาคกลางและไปถ้ำเขาใหญ่ ก็ปรากฏว่ามีพระธุดงคกรรมฐานปฏิบัติอยู่ทางภาคอีสานมากพอสมควร พอท่านกลับไปเที่ยวนี้ก็ได้ตั้งใจทำการสั่งสอนทั้งพระเณรและฆราวาสผู้มีความมุ่งหวังต่อท่านอยู่แล้วอย่างเต็มกำลัง
การเที่ยวทางภาคอีสานท่านก็เที่ยวไปตามจังหวัดต่าง ๆ ที่เคยไปแล้ว ปรากฏว่ามีพระเณรญาติโยมเกิดความเชื่อเลื่อมใสท่านมากมาย ผู้ออกบวชและปฏิบัติตามท่านด้วยความเชื่อเลื่อมใสมีจำนวนมาก แม้พระที่มีอายุพรรษาจนเป็นขั้นอาจารย์แล้วก็ยอมสละทิฐิมานะและภาระหน้าที่ออกปฏิบัติตามท่าน จนกลายเป็นผู้มีความมั่นคงทางข้อปฏิบัติและทางจิตใจ จนสามารถสั่งสอนผู้อื่นได้อย่างเต็มภูมิก็มีจำนวนมาก
พระที่เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของท่าน คือ ท่านพระอาจารย์สุวรรณ ที่เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดศรัทธาราม นครราชสีมา ทั้ง ๓ องค์นี้ท่านเป็นชาวอุบลราชธานี และท่านมรณภาพไปหมดแล้ว ซึ่งล้วนเป็นลูกศิษย์ผู้สำคัญที่ให้การอบรมพระเณรญาติโยม สืบทอดจากพระอาจารย์มั่นมาเป็นลำดับถึงสมัยปัจจุบัน
พระอาจารย์สิงห์ กับ พระอาจารย์มหาปิ่น ทั้งสององค์นี้ท่านเป็นพี่กับน้องร่วมอุทรเดียวกัน และเป็นผู้ได้รับการศึกษาทางปริยัติมามากพอสมควร ทั้งสององค์นี้ท่านเกิดความเลื่อมใสพอใจ ยอมสละทิฐิมานะและภาระหน้าที่ออกปฏิบัติตามท่านพระอาจารย์มั่นตลอดมา และได้ทำประโยชน์แก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง
รองกันลงมาก็ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ท่านเป็นพระราชาคณะ ปัจจุบันท่านจำพรรษาอยู่วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ท่านเป็นลูกศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่นรูปหนึ่งที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นที่น่าเคารพเลื่อมใสอยู่มาก และเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพระเณรและประชาชนทั่วไปแทบทุกภาค ปฏิปทาของท่านเป็นไปอย่างเรียบ ๆ สม่ำเสมอ สมกับอัธยาศัยท่านที่คล่องแคล่ว อ่อนโยน สงบเสงี่ยม งามมาก ยากที่จะหาได้แต่ละองค์ คำพูดจาปราศรัยเป็นที่จับใจไพเราะต่อคนทุกชั้น ท่านมีมารยาทสวยงามมาก ผู้ยึดไปเป็นคติและปฏิบัติตาม ย่อมเป็นผู้สวยงามและเย็นตาเย็นใจแก่ผู้ได้เห็นได้ยิน ตลอดผู้มาเกี่ยวข้องทั่ว ๆ ไปอย่างไม่มีประมาณ
เพราะมารยาทอัธยาศัยของครูอาจารย์แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน คือมารยาทของบางองค์ใครนำไปใช้ก็งามไปหมด ไม่แสลงใจแก่ผู้มาเกี่ยวข้อง และเป็นความงามตาเย็นใจในคนทุกชั้น แต่มารยาทของบางอาจารย์ ย่อมเป็นสมบัติที่เหมาะสมและสวยงามเฉพาะองค์ท่านเท่านั้น ผู้อื่นยึดเอาไปใช้ย่อมกลายเป็นสิ่งที่ปลอมแปลงและแสลงใจผู้อื่นที่ได้เห็นได้ยินขึ้นมาทันที ดังนั้น มารยาทของบางอาจารย์จึงไม่สะดวกที่จะยึดไปใช้ทั่ว ๆ ไป
ท่านอาจารย์เทสก์ ท่านมีอัธยาศัยนุ่มนวลควรเป็นคติและเป็นสิริมงคลแก่ผู้รับไปปฏิบัติตามทั่ว ๆ ไป โดยไม่มีปัญหาว่าจะขัดต่อสายตาและจิตใจของผู้มาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด และเหมาะสมกับเพศนักบวชผู้ควรมีมารยาทอัธยาศัยสงบเสงี่ยมเย็นใจโดยแท้ นี่คือลูกศิษย์ของท่านรูปหนึ่งที่ควรกราบไหว้บูชาอย่างสนิทใจ ตามความรู้สึกของผู้เขียนที่ได้เคยสมาคมและกราบไหว้บูชาท่าน โดยถือเป็นครูอาจารย์อย่างสนิทใจตลอดมา ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากในภาคต่าง ๆ และทำประโยชน์แก่หมู่ชนอย่างกว้างขวาง จัดว่าเป็นพระอาจารย์ที่หาได้ยากรูปหนึ่ง
ลำดับพรรษาลงมาก็มี พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านผู้หนึ่ง ขณะนี้ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดอุดมสมพร บ้านนาหัวช้าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ท่านเป็นที่เลื่องลือระบือทั่วทุกหนทุกแห่งด้วยกิตติศัพท์กิตติคุณแห่งการปฏิบัติดี สามีจิกรรมที่ชอบทั้งภายนอกภายใน จิตใจท่านก็สูงด้วยคุณธรรม เป็นที่เคารพนับถือของหมู่ชนทุกภาคของเมืองไทย เป็นที่น่าเลื่อมใสอย่างยิ่ง เป็นผู้มีความเมตตามากต่อคนทุกชั้น การสงเคราะห์ทั้งด้านวัตถุและด้านธรรมะ นับว่าท่านเอาใจใส่อย่างพระผู้มีจิตเมตตาไม่มีขอบเขตจริง ๆ แต่รู้สึกเสียใจที่จำต้องงดเรื่องท่านไว้ก่อนเพื่อดำเนินเรื่องของท่านพระอาจารย์มั่นสืบต่อไป หากมีโอกาสจะนำมาลงในวาระต่อไป ตอนจบเรื่องของท่านพระอาจารย์มั่นเรียบร้อยแล้ว
ลำดับศิษย์ของท่านองค์ต่อไปคือ ท่านพระอาจารย์ขาว ซึ่งขณะนี้ท่านอยู่วัดถ้ำกลองเพล อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี ท่านผู้อ่านคงทราบกิตติคุณท่านได้ดีพอ เพราะเป็นอาจารย์สำคัญในปัจจุบัน ทั้งด้านข้อปฏิบัติและความรู้ภายในใจ เป็นที่น่าเลื่อมใสอย่างมาก ท่านเป็นพระที่เด็ดเดี่ยวทางความเพียร ชอบแสวงหาอยู่ในที่สงัดตลอดมา ทางความเพียรท่านเป็นเยี่ยมในวงพระธุดงคกรรมฐาน ยากจะหาตัวจับได้ แม้ปัจจุบันอายุท่านจะก้าวข้าม ๘๒ ปีอยู่แล้วก็ตาม แต่ความเพียรยังไม่ยอมลดหย่อนผ่อนตามสังขารเลย
มีบางคนพูดเป็นเชิงวิตกเป็นห่วงท่านว่า ท่านจะทำความเพียรไปเพื่ออะไรนักหนา เพราะอะไร ๆ ท่านก็เพียงพอทุกอย่างแล้ว ไม่ทราบว่าท่านจะขยันไปเพื่ออะไรอีก
ก็ได้ชี้แจงเรื่องของท่านให้ฟังว่า ท่านผู้หมดสิ้นสิ่งที่เป็นข้าศึกซึ่งคอยกีดกันบั่นทอนและคอยเอารัดเอาเปรียบตลอดเวลาโดยสิ้นเชิงแล้ว ท่านไม่มีความเกียจคร้านมากีดขวางลวงใจให้ลุ่มหลงไปตาม เหมือนพวกเราผู้สั่งสมความขี้เกียจอ่อนแอไว้ในใจจนกองเท่าภูเขาสูงลูกใหญ่ ๆ แทบมองหาตัวคนไม่เห็น พอจะทำอะไรลงไปบ้างก็กลัวแต่จะได้มาก มีมากกลัวจะหาที่เก็บไม่ได้ กลัวแต่จะเหนื่อยยากลำบาก สุดท้ายก็ไม่มีอะไรจะเก็บใส่ภาชนะเลย มีแต่ภาชนะเปล่า ๆ ใจเปล่า ๆ ใจเหี่ยวแห้ง ใจไม่มีคุณสมบัติเครื่องอาศัย ใจลอย ๆ สิ่งที่เต็มก็คือการบ่นว่าทุกข์ ว่าจน หรือเดือดร้อนกันทั่วโลก เพราะมารตัวขี้เกียจคอยบันดาลขัดขวางและกดถ่วงไว้
ท่านผู้ปราบมารตัวเหล่านี้ออกจากใจได้แล้ว จึงเป็นผู้ขยันหมั่นเพียรไม่ลดละ โดยไม่สนใจคิดว่าจะมีภาชนะเก็บหรือไม่ ความมีใจเป็นธรรมล้วน ๆ ไม่มีโลกเครื่องทำลายเข้ามาแอบแฝง จึงเป็นบุคคลที่มีความสง่าผ่าเผยอยู่ทุกอิริยาบถ ไม่มีความอับเฉาเศร้าใจเข้ามาครอบครอง จึงเป็นบุคคลตัวอย่างของโลกได้อย่างมั่นเหมาะ ลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์แต่ละองค์รู้สึกมีสมบัติอันแพรวพราวราวกับเพชรซ่อนอยู่ในตัวอย่างลึกลับแทบทุกองค์ เมื่อเข้าถึงองค์ท่านจริง ๆ แล้ว จะได้รับสิ่งแปลก ๆ และอัศจรรย์ไปเป็นขวัญใจและระลึกไว้เป็นเวลานาน ๆ
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมีลูกศิษย์ที่สำคัญ ๆ อยู่หลายองค์และหลายรุ่น ทั้งรุ่นอายุพรรษาและคุณธรรมรองกันลงมาเป็นลำดับลำดา สมกับท่านเป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่องรุ่งเรืองด้วยคุณธรรม คือข้อปฏิบัติและธรรมภายใน ประหนึ่งพระไตรปิฎกย่อม ๆ ตั้งอยู่ภายในดวงใจท่าน จริงดังบุพพนิมิตที่ปรากฏเป็นกรุยหมายไว้แต่เริ่มแรกออกปฏิบัติ เวลาสำเร็จผลขึ้นมาก็ตรงตามนั้น
ทราบว่าท่านจาริกไปในที่ต่าง ๆ และทำการอบรมสั่งสอนพระเณรและประชาชนเป็นจำนวนมากต่อมาก พากันเกิดความเชื่อเลื่อมใสอย่างฝังใจ และติดใจในรสพระสัทธรรมของท่านมาก เนื่องจากท่านนำเอาของจริงภายในใจออกสั่งสอนด้วยความรู้จริงเห็นจริง มิได้เป็นไปแบบสุ่มเดา คือท่านก็แน่ใจและเห็นจริงในธรรมที่ปฏิบัติ รู้และสอนจริงตามธรรมที่ท่านรู้ท่านเห็น
เมื่อกลับจากถ้ำสาริกาสู่ภาคอีสานครั้งที่สองนี้ ท่านเล่าว่าท่านตั้งใจอบรมสั่งสอนพระเณรและประชาชนทั้งชุดเก่าที่เคยอบรมไว้บ้างแล้ว ทั้งชุดใหม่ที่กำลังเริ่มตั้งรากตั้งฐานอย่างแท้จริง
ธุดงควัตรที่ท่านนับถือเป็นแบบฉบับ
การปฏิบัติต่อธุดงควัตรที่ท่านนับถือเป็นแบบฉบับอย่างฝังใจประจำองค์ท่าน และสั่งสอนพระเณรให้ดำเนินตามมีดังนี้
การบิณฑบาตเป็นกิจวัตรประจำวันมิได้ขาด ถ้ายังฉันอยู่ เว้นจะไม่ฉันในวันใด ก็ไม่จำต้องไปในวันนั้น
กิจวัตรในการบิณฑบาต ท่านสอนให้ตั้งอยู่ในท่าสำรวมกายวาจาใจ มีสติประจำตนกับความเพียรที่เป็นไปอยู่เวลานั้น ไม่ปล่อยใจให้พลั้งเผลอไปตามสิ่งยั่วยวนต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาสัมผัสกับอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งไปและกลับ ท่านสอนให้มีสติรักษาใจ ตลอดความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ไม่ให้เผลอตัว และถือเป็นความเพียรประจำกิจวัตรข้อนี้ทุก ๆ วาระที่เริ่มเตรียมตัวออกบิณฑบาต หนึ่ง
อาหารที่ได้มาในบาตรมากน้อยถือว่าเป็นอาหารที่พอดี และเหมาะสมกับผู้ตั้งใจจะสั่งสมธรรมคือความมักน้อยสันโดษให้สมบูรณ์ภายในใจ ไม่จำต้องแสวงหาหรือรับอาหารเหลือเฟือที่ตามส่งมาทีหลังอีก อันเป็นการส่งเสริมกิเลสความมักมากซึ่งมีประจำตนอยู่แล้ว ให้มีกำลังผยองพองตัวยิ่ง ๆ ขึ้นจนตามแก้ไม่ทัน อาหารที่ได้มาในบาตรอย่างใดก็ฉันอย่างนั้น ไม่แสดงความกระวนกระวายส่ายแส่อันเป็นลักษณะเปรตผีตัวมีวิบากกรรมทรมาน มีอาหารไม่พอกับความต้องการ ต้องวิ่งวุ่นขุ่นเคืองเดือดร้อน เพราะท้องเพราะปาก ด้วยความหวังอาหารมากยิ่งกว่าธรรม ธุดงค์ข้อห้ามอาหารที่ตามส่งมาทีหลังนี้ เป็นธรรมหรือเครื่องมือหักล้างกิเลสความมักมากในอาหารได้เป็นอย่างดี และตัดความหวังความกังวลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอาหารได้อย่างดีเยี่ยม หนึ่ง
การฉันมื้อเดียวหรือหนเดียวในวันหนึ่ง ๆ เป็นความพอดีกับพระธุดงคกรรมฐาน ผู้มีภาระและความกังวลน้อย ไม่พร่ำเพรื่อกับอาหารหวานคาวในเวลาต่าง ๆ อันเป็นการกังวลกับปากท้องมากกว่าธรรมจนเกินไป ไม่สมศักดิ์ศรีของผู้แสวงธรรมเพื่อความพ้นทุกข์อย่างเต็มใจ แม้เช่นนั้น ในบางคราวยังควรทำการผ่อนอาหาร ฉันแต่น้อยในอาหารมื้อเดียวนั้น เพื่อจิตใจกับความเพียรจะได้ดำเนินโดยสะดวก ไม่อืดอาดเพราะมากจนเกินไป และยังเป็นผลกำไรทางใจอีกต่อหนึ่งจากการผ่อนนั้นด้วย สำหรับรายที่เหมาะกับจริตของตน ธุดงควัตรข้อนี้เป็นธรรมเครื่องสังหารลบล้างความเห็นแก่ปากแก่ท้องของพระธุดงค์ที่มีใจมักละโมบโลเลในอาหารได้ดี และเป็นธรรมข้อบังคับที่เหมาะสมมาก
ทางโลกก็นิยมเช่นเดียวกับทางธรรม เช่น เขามีเครื่องป้องกันและปราบปรามสิ่งที่เป็นข้าศึก ไม่ว่าจะเป็นข้าศึกต่อทรัพย์สินหรือต่อชีวิตจิตใจ เช่น สุนัขดุ งูดุ ช้างดุ เสือดุ คนดุ ไข้ดุ หรือไข้ทรยศ เขามีเครื่องมือหรือยาสำหรับป้องกันหรือปราบปรามกันทั่วโลก พระธุดงคกรรมฐานผู้มีใจดุ ใจหนักในอาหารหรือในทางไม่ดีใด ๆ ก็ตาม ที่ไม่น่าดูสำหรับตัวเองและผู้อื่น จึงควรมีธรรมเป็นเครื่องมือไว้สำหรับปราบปรามบ้าง ถึงจะจัดว่าเป็นผู้มีขอบเขตและงามตาเย็นใจสำหรับตัวและผู้เกี่ยวข้องทั่ว ๆ ไป ธุดงค์ข้อนี้จึงเป็นธรรมเครื่องปราบปรามได้ดี หนึ่ง
การฉันในบาตรไม่เกี่ยวกับภาชนะอื่นใด จัดเป็นความสะดวกอย่างยิ่งสำหรับพระธุดงคกรรมฐาน ผู้ประสงค์ความมักน้อยสันโดษและมีนิสัยไม่ค่อยอยู่กับที่เป็นประจำ การไปเที่ยวจาริกเพื่อสมณธรรมในทิศทางใด ก็ไม่ต้องหอบหิ้วพะรุงพะรังอันเป็นความไม่สะดวก และเหมาะสมกับพระผู้ต้องการถ่ายเทสิ่งรกรุงรังภายในใจทุกประเภท เครื่องบริขารใช้สอยแต่ละอย่างนั้น ทำความกังวลแก่การบำเพ็ญได้อย่างพอดู ฉะนั้น การฉันเฉพาะในบาตรจึงเป็นกรณีที่ควรสนใจเป็นพิเศษสำหรับพระธุดงค์ คุณสมบัติที่จะเกิดจากการฉันในบาตรยังมีมากมาย คือ อาหารชนิดต่าง ๆ ที่รวมลงในบาตร ย่อมเป็นสิ่งที่สะดุดตาสะดุดใจและเตือนสติปัญญามิให้นิ่งนอนใจต่อการพิจารณา เพื่อถือเอาความจริงต่าง ๆ ที่มีอยู่กับอาหารที่รวมกันอยู่ได้อย่างดีเยี่ยม ท่านเล่าว่า ท่านเคยได้รับอุบายต่างๆ จากการพิจารณาอาหารในขณะที่ฉันมาเป็นประจำ แม้ข้ออื่น ๆ ก็มีนัยเช่นเดียวกัน ท่านจึงได้ถือเป็นข้อหนักแน่นในธุดงควัตรตลอดมามิได้ลดละ
การพิจารณาอาหารในบาตร เป็นอุบายตัดความทะเยอทะยานในรสชาติของอาหารได้ดี การพิจารณาก็เป็นธรรมเครื่องถอดถอนกิเลส เวลาฉันใจก็ไม่ทะเยอทะยานไปกับรสอาหาร มีความรู้สึกอยู่กับความจริงของอาหารโดยเฉพาะ อาหารก็เพียงเป็นเครื่องยังชีวิตให้เป็นไปในวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น ไม่กลับเป็นเครื่องก่อกวนและส่งเสริมให้ใจกำเริบ เพราะอาหารดีมีรสอร่อยบ้าง เพราะอาหารไม่ดีมีรสไม่ต้องใจบ้าง การพิจารณาโดยแยบคายทุก ๆ ครั้งก่อนลงมือฉัน ย่อมทำให้ใจคงตัวอยู่ได้โดยสม่ำเสมอ ไม่ตื่นเต้น ไม่อับเฉา เพราะอาหารและรสอาหารชนิดต่าง ๆ วางตัวคือใจเป็นกลางอย่างมีความสุข ฉะนั้น การฉันในบาตรจึงเป็นข้อวัตรเครื่องกำจัดกิเลสตัวหลงรสอาหารได้เป็นอย่างดี หนึ่ง
ท่านถือผ้าบังสุกุลเป็นกิจวัตร พยายามอดกลั้นไม่ทำตามความอยากอันเป็นความสะดวกใจ ซึ่งมีนิสัยชอบสวยงามในความเป็นอยู่ใช้สอยโดยประการทั้งปวงมาดั้งเดิม คือ เที่ยวเสาะแสวงหาผ้าที่เขาทิ้งไว้ในที่ต่าง ๆ ที่ป่าช้า เป็นต้น เก็บเล็กผสมน้อยมาเย็บปะติดปะต่อเป็นเครื่องนุ่งห่มใช้สอย โดยเป็นสบงบ้าง เป็นจีวรบ้าง เป็นสังฆาฏิบ้าง เป็นผ้าอาบน้ำฝนบ้าง เป็นบริขารอื่น ๆ บ้าง เรื่อยมา บางครั้งท่านชักบังสุกุลผ้าที่เขาพันศพคนตายในป่าช้าก็มีที่เจ้าของศพเขายินดี เวลาไปบิณฑบาตมองเห็นผ้าขาดตกทิ้งอยู่ตามถนนหนทาง ท่านก็เก็บเอาเป็นผ้าบังสุกุล ไม่ว่าจะเป็นผ้าชนิดใดและได้มาจากที่ไหน เมื่อมาถึงที่พักแล้วท่านนำมาทำการซักฟอกให้สะอาด แล้วเอามาเย็บปะสบงจีวรที่ขาดบ้าง เย็บติดต่อกันเป็นผ้าอาบน้ำฝนบ้าง อย่างนั้นเป็นประจำตลอดมา
ต่อมาศรัทธาญาติโยมทราบเข้า ต่างก็นำผ้าไปบังสุกุลถวายท่านที่ป่าช้าบ้าง ตามสายทางที่ท่านไปบิณฑบาตบ้าง ตามบริเวณที่พักท่านบ้าง ที่กุฎีหรือแคร่ที่ท่านพักบ้าง การบังสุกุลที่ท่านเคยทำมาดั้งเดิมก็ค่อยเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ที่พาให้เป็นไป ท่านเลยต้องชักบังสุกุลผ้าที่เขามาทอดไว้ตามที่ต่าง ๆ ในข้อนี้ปรากฏว่าท่านพยายามรักษามาตลอดอวสานแห่งชีวิต
ท่านว่าพระเราต้องทำตัวเหมือนผ้าขี้ริ้วที่ปราศจากราคาค่างวดใด ๆ แล้วจึงเป็นความสบาย การกินอยู่หลับนอนและใช้สอยอะไรก็สบาย การเกี่ยวข้องกับผู้คนก็สบาย ไม่มีทิฐิมานะความถือตัวว่าเราเป็นพระเป็นเณรผู้สูงศักดิ์ด้วยศีลธรรม เพราะศีลธรรมอันแท้จริงมิได้อยู่กับความสำคัญเช่นนั้น แต่อยู่กับความไม่ถือตัวยั่วกิเลส อยู่กับความตรงไปตรงมาตามผู้มีสัตย์มีศีลมีธรรมความสม่ำเสมอเป็นเครื่องครองใจ นี้แลคือศีลธรรมอันแท้จริง ไม่มีมานะเข้ามาแอบแฝงทำลายได้ อยู่ที่ใดก็เย็นกายเย็นใจ ไม่มีภัยทั้งแก่ตัวและผู้อื่น
การปฏิบัติธุดงควัตรข้อนี้เป็นเครื่องทำลายกิเลสมานะความสำคัญตนในแง่ต่าง ๆ ได้ดี ผู้ปฏิบัติจึงควรเข้าใจระหว่างตนกับศีลธรรมด้วยดี อย่าปล่อยให้ตัวมานะเข้าไปยื้อแย่งครอบครองศีลธรรมภายในใจได้ จะกลายเป็นผู้มีเขี้ยวมีเขาแฝงขึ้นมาในศีลธรรมอันเป็นธรรมชาติเยือกเย็นมาดั้งเดิม
การฝึกหัดทรมานตนให้เป็นเหมือนผ้าเช็ดเท้าจนเคยชิน โดยไม่ยอมให้ตัวทิฐิมานะโผล่ขึ้นมาว่าตัวมีราคาค่างวดนี้ เป็นทางก้าวหน้าของธรรมภายในใจโดยสม่ำเสมอ จนกลายเป็นใจธรรมชาติ เป็นธรรมธรรมชาติ ไม่หวั่นไหวเหมือนแผ่นดิน ใครจะทำอะไร ๆ ก็ไม่สะเทือน จิตที่ปราศจากทิฐิมานะทุกประเภทโดยประการทั้งปวงแล้ว ย่อมเป็นจิตที่คงที่ต่อเหตุการณ์ดีชั่วทั้งมวล การปฏิบัติต่อบังสุกุลจีวรท่านถือว่า เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยตัดทอนลบล้างตัวมีราคาที่ฝังอยู่ในใจอย่างลึกลับ ให้สูญซากลงได้อย่างมั่นใจข้อหนึ่ง
การอยู่ป่าเป็นวัตรตามธุดงค์ระบุไว้ ท่านก็เริ่มเห็นคุณแต่เริ่มฝึกหัดอยู่ป่าเป็นต้นมา ทำให้เกิดความวิเวกวังเวงอยู่คนเดียว ตาเหลือบมองไปในทิศทางใดก็ล้วนเป็นทัศนียภาพเครื่องปลุกประสาทให้ตื่นตนอยู่เสมอ ไม่ประมาทนอนใจ นั่งอยู่ก็มีสติ ยืนอยู่ก็มีสติ เดินอยู่ก็มีสติ นอนอยู่ก็มีสติ กำหนดธรรมทั้งหลายที่มีอยู่รอบตัว เว้นแต่หลับเท่านั้น ในอิริยาบถทั้งสี่เต็มไปด้วยความปลอดโปร่งโล่งใจ ไม่มีพันธะใด ๆ มาผูกพัน มองเห็นแต่ความมุ่งหวังพ้นทุกข์ที่เตรียมพร้อมอยู่ภายในไม่มีวันจืดจางและอิ่มพอ ยิ่งพักอยู่ในป่าเปลี่ยวอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ทุกชนิด ซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านด้วยแล้ว ใจปรากฏว่าเตรียมพร้อมอยู่ทุกขณะ ประหนึ่งจะทะยานเหาะขึ้นจากหล่มลึกคือกิเลสในเดี๋ยวนั้น ราวกับนกจะเหาะบินขึ้นบนอากาศฉะนั้น ความจริงกิเลสก็คงเป็นกิเลสและฝังอยู่ในใจตามความมีอยู่ของมันนั่นแล แต่ใจมันมีความรู้สึกไปอีกแง่หนึ่ง
เมื่อไปอยู่ในที่เช่นนั้น ความรู้สึกในบางครั้งเป็นเหมือนกิเลสตายลงไปวันละร้อยละพัน ยังเหลืออยู่บ้างประปรายราวตัวสองตัวเท่านั้น เพราะอำนาจของสถานที่ที่พักอยู่ช่วยส่งเสริม ทั้งความรู้สึกโดยปกติและเวลาบำเพ็ญเพียร กลายเป็นเครื่องพยุงใจไปทุกระยะที่พักอยู่ ความคิดเกี่ยวกับสัตว์ต่าง ๆ ทั้งสัตว์ร้ายและสัตว์ดีที่มีอยู่ทั่วไปในบริเวณนั้น ก็คิดไปในทางสงสารมากกว่าจะคิดในทางเป็นภัย โดยคิดว่าเขากับเราก็มีความเกิดแก่เจ็บตายเท่ากันในชีวิตที่ทรงตัวอยู่เวลานี้ แต่เรายังดีกว่าเขาตรงที่รู้จักบุญบาปดีชั่วอยู่บ้าง ถ้าไม่มีสิ่งนี้แฝงอยู่ภายในใจบ้างก็คงมีน้ำหนักเท่ากันกับเขา
เพราะคำว่า สัตว์ เป็นคำที่มนุษย์ไปตั้งชื่อให้เขาโดยที่เขามิได้รับทราบจากเราเลย ทั้ง ๆ ที่เราก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง คือสัตว์มนุษย์ที่ตั้งชื่อกันเอง ส่วนเขาไม่ทราบว่าได้ตั้งชื่อให้พวกมนุษย์เราอย่างไรหรือไม่ หรือเขาขโมยตั้งชื่อให้ว่า ยักษ์ ก็ไม่มีใครทราบได้ เพราะสัตว์ชนิดนี้ชอบรังแกและฆ่าเขา แล้วนำเนื้อมาปรุงเป็นอาหารก็มี ฆ่าทิ้งเปล่า ๆ ก็มี จึงน่าเห็นใจสัตว์ที่พวกมนุษย์เราชอบเอารัดเอาเปรียบเขาเกินไปประจำนิสัย และไม่ค่อยยอมให้อภัยแก่สัตว์ตัวใดง่าย ๆ แม้แต่พวกเดียวกันยังรังเกียจและเกลียดชังกัน เบียดเบียนกัน ฆ่ากันไม่มีหยุดหย่อนและผ่อนเบาลงบ้างเลย ในวงสัตว์ก็ร้อนเพราะมนุษย์เบียดเบียนและฆ่าเขา ในวงมนุษย์เองก็ร้อนเพราะมนุษย์เบียดเบียนและฆ่ากันเอง ฉะนั้น สัตว์จึงระเวียงระวังมนุษย์ประจำสันดาน
ท่านว่าการอยู่ในป่ามีทางคิดทางไตร่ตรองได้กว้างขวาง ไม่มีทางสิ้นสุด ทั้งเรื่องนอกเรื่องใน ซึ่งมีอยู่รอบตัวตลอดเวลา ใจที่มีความใคร่ต่อธรรมแดนพ้นทุกข์ จึงรีบเร่งตักตวงความเพียรไม่มีเวลาลดละ
บางครั้งหมูป่าเดินเข้ามาหาในบริเวณที่นั้นและมองเห็นท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ แทนที่มันจะกระโดดโลดเต้นวิ่งหนีเอาตัวรอด แต่เปล่า มันมองเห็นแล้วก็เดินหากินไปตามภาษาของมันอย่างธรรมดา ท่านว่ามันจะเห็นท่านเป็นยักษ์ไปกับมนุษย์ผู้ร้ายกาจทั้งหลายด้วย แต่มันไม่คิดเหมาไปหมด มันจึงไม่รีบวิ่งหนี และเที่ยวขุดกินอาหารอย่างสบายเหมือนไม่มีอะไร
ในตอนนี้ผู้เขียนขอแทรกบ้างเล็กน้อยเพื่อเรื่องกระจ่างขึ้นบ้าง อย่าว่าแต่หมูมันไม่กลัวท่านพระอาจารย์มั่นที่อยู่องค์เดียวในป่าเลย แม้แต่วัดป่าบ้านตาด เมื่อเริ่มสร้างวัดใหม่ ๆ และมีพระเณรอยู่ด้วยกันหลายรูป หมูป่าเป็นฝูง ๆ ยังพากันมาอาศัยนอนและเที่ยวหากินอยู่ตามบริเวณหน้ากุฏีพระเณรในเวลากลางคืน ห่างจากที่ท่านเดินจงกรมราว ๒-๓ วาเท่านั้น ได้ยินเสียงมันขุดดินหาอาหารด้วยจมูกดังตุ๊บตั๊บ ๆ อยู่ในบริเวณนั้น ไม่เห็นมันกลัวท่านเลย เวลาท่านเรียกกันมาดูและฟังเสียงมันอยู่ใกล้ ๆ ก็ไม่เห็นมันวิ่งหนีไป ยังพากันเที่ยวหากินตามสบายในบริเวณนั้นแทบทุกคืน ทั้งหมูและพระเณรเคยชินกันไปเอง แต่ทุกวันนี้ยังมีเหลือเล็กน้อยและนาน ๆ พากันมาเที่ยวหากินทีหนึ่ง เพราะยักษ์ที่สัตว์ตั้งชื่อให้ดังท่านพระอาจารย์มั่นว่าไว้ เอาไปรับประทานเกือบจะไม่มีสัตว์เหลือค้างแผ่นดินแถบนั้นอยู่แล้วเวลานี้ ต่อไปไม่กี่ปีคงจะเรียบไปเอง
ที่ท่านเล่าคงเป็นความจริงในทำนองเดียวกัน เพราะสัตว์แทบทุกชนิดชอบมาอาศัยพระ พระอยู่ที่ไหน สัตว์ชอบมาอยู่ที่นั้นมาก แม้วัดที่อยู่ในเมือง สัตว์ยังต้องมาอาศัย เช่น สุนัข เป็นต้น บางวัดมีเป็นร้อย เพราะท่านไม่เบียดเบียนมัน เพียงเท่านี้ก็พอทราบได้ว่าธรรมเป็นของเย็น สัตว์โลกจึงไม่มีใครค่อยรังเกียจ เว้นกรณีที่สุดวิสัยจะกล่าวเสีย
เท่าที่ท่านปฏิบัติมาก่อน ท่านว่าป่าเป็นสถานที่ช่วยพยุงใจได้ดีมาก ฉะนั้น ป่าจึงเป็นจุดที่เด่นของพระผู้มีความใคร่ต่อทางพ้นทุกข์ จะถือเป็นสมรภูมิสำหรับบำเพ็ญธรรมทุกชั้น โดยไม่ระแวงสงสัยว่าป่าจะกลับเป็นข้าศึกต่อการบำเพ็ญธรรม ตรงกับอนุศาสน์ที่พระอุปัชฌาย์อบรมสั่งสอนภิกษุผู้อุปสมบทใหม่ ให้พากันเสาะแสวงหาอยู่ป่าตามอัธยาศัย
ท่านพระอาจารย์จึงถือธุดงค์ข้อนี้จนวาระสุดท้ายแห่งขันธ์ นอกจากสมัยที่จำต้องอนุโลมผ่อนผันไปตามเหตุการณ์เท่านั้น เพราะทำให้ระลึกว่าตนอยู่ในป่าซึ่งเป็นที่เปลี่ยวกายเปลี่ยวใจตลอดเวลาจะนอนใจมิได้ คุณธรรมจึงมีทางเกิดไม่เลือกกาล หนึ่ง
ธุดงควัตรข้อรุกขมูลคือร่มไม้ ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ท่านอาจารย์มั่นเล่าว่า ขณะที่จิตของท่านจะผ่านโลกามิสไปได้โดยสิ้นเชิง คืนวันนั้นท่านก็อาศัยอยู่รุกขมูลคือร่มไม้ ซึ่งตั้งอยู่โดดเดี่ยวต้นเดียว ตอนสำคัญนี้จะรอลงข้างหน้าตามลำดับของการเที่ยวจาริกและการบำเพ็ญของท่าน จึงขออภัยท่านผู้อ่านทั้งหลายโปรดรออ่านข้างหน้า วาระนี้จำจะเขียนไปตามลำดับความจำเป็นก่อน เพื่อเนื้อเรื่องจะไม่ขาดความตามลำดับ
การอยู่ใต้ร่มไม้ซึ่งปราศจากที่มุงบังและเครื่องป้องกันตัว ย่อมทำให้มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ จิตที่ตั้งความรู้สึกไว้กับตัว ย่อมเป็นทางถอดถอนกิเลสไปทุกโอกาส เพราะกาย เวทนา จิต ธรรม หรือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่เรียกว่า สติปัฏฐานและสัจธรรม อันเป็นจุดที่ระลึกรู้ของจิตแต่ละจุดนั้น ย่อมเป็นเกราะเครื่องป้องกันตัวเพื่อทำลายกิเลสแต่ละประเภทได้อย่างมั่นเหมาะ ซึ่งไม่มีที่อื่นใดจะยิ่งไปกว่า
ฉะนั้น จิตที่ระลึกรู้อยู่กับสติปัฏฐานหรืออริยสัจ เพราะความเปลี่ยวและความกลัวเป็นเหตุ จึงเป็นจิตที่มีหลักยึดเพื่อการรบชิงชัยเอาตัวรอดโดยสุคโต ตามทางอริยธรรมไม่มีผิดพลาด ผู้ประสงค์อยากทราบเรื่องของตัวอย่างละเอียดทั่วถึงโดยทางที่ถูกและปลอดภัย จึงควรแสวงหาธรรมและสถานที่ที่เหมาะสมเป็นเครื่องพยุงทางความเพียร จะช่วยให้มีความสะดวกรวดเร็วขึ้นกว่าธรรมดาที่ควรจะเป็นอยู่มาก ดังนั้น ธุดงควัตรข้ออยู่รุกขมูล จึงเป็นธรรมเครื่องทำลายกิเลสได้เป็นอย่างดีเสมอมา ที่ควรสนใจเป็นพิเศษอีกข้อหนึ่ง
ธุดงควัตรที่เกี่ยวกับการเยี่ยมป่าช้า เป็นธุดงค์เครื่องปลุกเตือนพระและหมู่ชนมิให้ประมาทในเวลามีชีวิตอยู่ โดยเข้าใจว่าตัวจะไม่ตาย ความจริงก็คือคนที่เริ่มตายเล็กตายน้อย ตายไปอยู่ทุกเวลานั่นเอง เพราะคนที่ตายจนถึงกับย้ายบ้านใหม่ไปปลูกสร้างกันอยู่ที่ป่าช้าจนดาษดื่น แทบจะหาที่เผาและที่ฝังกันไม่ได้ ก็ล้วนแต่คนที่เคยตายเล็กตายน้อยมาแล้ว เช่น พวกเราผู้ยังมีชีวิตอยู่นี่เอง จะเป็นคนแปลกหน้ามาจากที่ไหน พอจะเห็นว่าเราเป็นคนที่แปลกกว่าเขา แล้วประมาทว่าตนจะไม่ตาย ที่ท่านสอนให้เยี่ยมญาติพี่น้องผู้เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน ก็เพื่อเตือนไม่ให้หลงลืมญาติพี่น้องอันดั้งเดิมในป่าช้านั่นเอง เพื่อจะได้ท่องบ่นไว้ในใจว่า เรามีความแก่ เจ็บ ตายอยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน ไม่มีใครจะกล้าอุตริเย่อหยิ่งตัวว่า จะไม่เกิด แก่ เจ็บ ตายได้ เมื่อสายทางแห่งวัฏฏะที่ตนยังท่องเที่ยวเรียนสูตรอยู่ยังไม่จบ
พระซึ่งเป็นเพศที่เตรียมพร้อมแล้วเพื่อความหลุดพ้น จึงควรศึกษามูลเหตุแห่งวัฏทุกข์ที่มีอยู่กับตน คือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งภายนอก คือการเยี่ยมป่าช้าอันเป็นที่เผาศพ ทั้งภายใน คือตัวเอง อันเป็นป่าช้าร้อยแปดพันเก้าแห่งศพที่นำมาฝัง หรือบรรจุอยู่ในตัวตลอดเวลา ทั้งเก่าและใหม่ จนนับไม่ครบและแทบเรียนไม่จบ ให้จบสิ้นลงด้วยการพิจารณาธรรมสังเวชโดยทางปัจจเวกขณะ คือ องค์สติปัญญาเครื่องทดสอบ แยกแยะหามูลความจริงไม่นิ่งนอนใจ
ทั้งนักบวชและฆราวาสที่ชอบเข้าเยี่ยมทั้งป่าช้านอกและป่าช้าในตัวเอง โดยการพิจารณาความตาย เป็นต้น เป็นอารมณ์ ย่อมมีทางถอดถอนความเผยอเย่อหยิ่งในวัย ในชีวิต และในวิทยฐานะต่าง ๆ ออกได้อย่างน่าชม ไม่ชอบผยองพองตัวในแง่ต่าง ๆ ตามนิสัยมนุษย์ซึ่งมักมีความพิสดารประจำใจอยู่เป็นนิตย์ ทั้งจะเห็นโทษแห่งความบกพร่องของตัว และพยายามแก้ไขไปเป็นลำดับ มากกว่าจะไปเห็นโทษคนอื่น แล้วนำมานินทาเขา ซึ่งเป็นการสั่งสมความไม่ดีใส่ตน ประจำนิสัยมนุษย์ที่ชอบเป็นกันอยู่ทั่วไป เหมือนโรคระบาดเรื้อรังชนิดแก้ไม่หาย หรือไม่สนใจจะแก้ นอกจากจะเพิ่มเชื้อให้มากขึ้นเท่านั้น
ป่าช้าเป็นสถานที่อำนวยความรู้ความฉลาด ให้แก่ผู้สนใจพิจารณาอย่างกว้างขวาง เพราะคำว่าป่าช้าเป็นจุดใหญ่ที่สุดของโลก ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และทุกชาติชั้นวรรณะ จำต้องประสบด้วยกัน จะกระโดดข้ามไปไม่ได้ เพราะไม่ใช่คลองเล็ก ๆ พอจะก้าวข้ามไปอย่างง่ายดาย โดยมิได้พิจารณาจนรู้รอบขอบชิดก่อน ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกอรหันต์ท่านข้ามไป แม้เช่นนั้นก็ปรากฏว่า ท่านต้องเรียนวิชาจากสถาบันใหญ่ คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย จนเชี่ยวชาญทุก ๆ แขนงก่อน แล้วจึงโดดข้ามไปอย่างสบายหายห่วง ไม่ต้องติดบ่วงแห่งมารอยู่เหมือนพวกที่ลืมตนลืมตาย ไม่สนใจพิจารณาเรื่องของตัวคือมรณธรรมอันขวางหน้าอยู่ ซึ่งจะต้องโดนในไม่ช้านี้
การเยี่ยมป่าช้าเพื่อพิจารณาความตาย จึงเป็นทางผ่อนคลายหายกลัว ทั้งเรื่องของตัว และเรื่องของคนอื่นได้อย่างไม่มีประมาณ จนเกิดความอาจหาญต่อความตาย ทั้ง ๆ ที่โลกกลัวกันทั่วดินแดน ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็ได้เป็นไปในวงของนักปฏิบัติธรรมมาแล้ว มีพระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยม เสร็จแล้วจึงประทานพระโอวาทเกี่ยวกับการพิจารณาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไว้ทุกแง่ทุกมุม เพื่อหมู่ชนผู้มีความรับผิดชอบในตนและผู้เกี่ยวข้องได้นำไปพิจารณาหาทางแก้ไข บรรเทาความมัวเมาเขลาปัญญาของตนขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นเวลาที่พอดิบพอดี ยังไม่สายเกินไป เมื่อสิ้นลมหายใจจนไปถึงสถาบันใหญ่แล้ว ต้องนับว่าหมดหนทางแก้ไข มีอยู่เพียงอย่างเดียวคือ ถ้าไม่เผาก็ต้องฝังเท่านั้น จะพาไปรักษาศีลภาวนาทำบุญสุนทานอย่างแต่ก่อนนั้นเป็นไปไม่ได้แล้ว
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเห็นคุณของการเยี่ยมป่าช้า ว่าเป็นสถานที่ที่ให้สติปัญญารอบรู้กับเรื่องของตนตลอดมา ท่านจึงสนใจเยี่ยมป่าช้านอกและป่าช้าในอยู่เสมอ แม้พระบางองค์ที่เป็นลูกศิษย์ท่านก็ยังพยายามตะเกียกตะกายปฏิบัติตามท่าน ทั้ง ๆ ที่ตนเป็นพระที่กลัวผีมาก ซึ่งเราไม่ค่อยได้ยินกันในคำว่าพระกลัวผีและธรรมกลัวโลก แต่พระองค์นั้นได้เป็นพระที่กลัวผีเสียแล้ว
ท่านเล่าให้ฟังว่า พระองค์หนึ่งเที่ยวธุดงค์ไปพักอยู่ในป่าใกล้กับป่าช้า แต่เจ้าตัวไม่รู้ว่าถูกโยมพาไปพักริมป่าช้า เพราะไปถึงหมู่บ้านนั้นตอนเย็น ๆ และถามถึงป่าที่ควรพักบำเพ็ญเพียร โยมก็ชี้บอกตรงป่านั้นว่าเป็นที่เหมาะ แต่มิได้บอกว่าเป็นป่าช้า แล้วพาท่านไปพักที่นั้น พอพักได้เพียงคืนเดียว วันต่อมาก็เห็นเขาหามผีตายผ่านมาที่นั้นเลยไปเผาที่ป่าช้า ซึ่งอยู่ห่างจากที่พักท่านประมาณ ๑ เส้น ท่านมองตามไปก็เห็นที่เขาเผาอยู่อย่างชัดเจน องค์ท่านเองพอมองเห็นหีบศพที่เขาหามผ่านมาเท่านั้นก็ชักเริ่มกลัว ใจไม่ดี และยังนึกว่าเขาจะหามผ่านไปเผาที่อื่น แม้เช่นนั้นก็นึกเป็นทุกข์ไว้เผื่อตอนกลางคืนอยู่อีก กลัวว่าภาพนั้นจะมาหลอกหลอน ทำให้นอนไม่ได้ตอนกลางคืน ความจริงที่ท่านพักอยู่กลับเป็นริมป่าช้า และยังได้เห็นเขาเผาผีอยู่ต่อหน้า ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลเลย ท่านยิ่งคิดไม่สบายใจและเป็นทุกข์ใหญ่ คือทั้งจะคิดเป็นทุกข์ในขณะนั้น และคิดเป็นทุกข์เผื่อตอนกลางคืนอีก ใจเริ่มกระวนกระวายเอาการอยู่ นับแต่ขณะที่ได้เห็นศพทีแรก เมื่อตกกลางคืนยิ่งกลัวมาก และหายใจแทบไม่ออก ปรากฏว่าตีบตันไปหมด น่าสงสารที่พระกลัวผีถึงขนาดนี้ก็มี จึงได้เขียนลงเพื่อท่านผู้อ่านที่เป็นนักกลัวผี จะได้พิจารณาดูความบึกบึนที่ท่านพยายามต่อสู้กับผีในคราวนั้น จนเป็นประวัติการณ์อันเกี่ยวกับส่วนได้ส่วนเสียมีอยู่ในเนื้อเรื่องอันเดียวกันนี้ พอเขากลับกันหมดแล้ว ท่านเริ่มเกิดเรื่องยุ่งกับผีแต่ขณะนั้นมาจนถึงตอนเย็นและกลางคืน จิตใจไม่เป็นอันเจริญสมาธิภาวนาเอาเลย หลับตาลงไปทีไร ปรากฏว่ามีแต่ผีเข้ามาเยี่ยมถามข่าวถามคราวความทุกข์สุกดิบต่าง ๆ อันสืบสาวยาวเหยียดไม่มีประมาณ และปรากฏว่าพากันมาเป็นพวก ๆ ก็ยิ่งทำให้ท่านกลัวมาก แทบไม่มีสติยับยั้งตั้งตัวได้เลย เรื่องเริ่มแต่ขณะมองเห็นศพที่เขาหามผ่านหน้าท่านไปจนถึงกลางคืน ไม่มีเวลาเบาบางลงบ้างพอให้หายใจได้ นับว่าท่านเป็นทุกข์ถึงขนาดที่จะทนอดกลั้นได้ นับแต่วันบวชมาก็เพิ่งมีครั้งเดียวเท่านั้นที่ต่อสู้กับผีในมโนภาพอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง ท่านจึงพอมีสติระลึกได้บ้างว่า ที่เราคิดกลัวผีก็ดี ที่เข้าใจว่าผีพากันมาเยี่ยมเราเป็นพวก ๆ ก็ดี อาจไม่เป็นความจริงก็เป็นได้ และอาจเป็นเรื่องเราวาดมโนภาพศพขึ้นมาหลอกตนเองให้กลัวเปล่า ๆ มากกว่า อย่ากระนั้นเลย เพราะถึงอย่างไรเราก็เป็นพระธุดงคกรรมฐานทั้งองค์ ที่โลกให้นามว่าเป็นพระที่เก่งกาจอาจหาญเอาจริงเอาจัง และเป็นพระประเภทที่ไม่กลัวอะไร ๆ ไม่ว่าจะเป็นผีที่ตายแล้ว หรือเป็นผีเปรต ผีหลวง ผีทะเลอะไร ๆ มาหลอกก็ไม่กลัว แต่เราซึ่งเป็นพระธุดงค์ที่โลกเคยยกยอสรรเสริญอย่างยิ่งมาแล้ว ว่าไม่กลัวอะไร แล้วทำไมจึงมาเป็นพระที่อาภัพอับเฉาวาสนา บวชมากลัวผี กลัวเปรต กลัวลมกลัวแล้งอย่างไม่มีเหตุมีผลเอาได้ เป็นที่น่าอับอายขายหน้าหมู่คณะซึ่งเป็นพระธุดงคกรรมฐานด้วยกัน เสียเรี่ยวแรงและกำลังใจของโลกที่อุตส่าห์ยกยอให้ว่าเป็นพระดี พระไม่กลัวผีกลัวเปรต ครั้นแล้วก็เป็นพระอย่างนี้ไปได้ เมื่อท่านพรรณนาคุณของพระธุดงค์และตำหนิตัวเองว่าเป็นพระเหลวไหลไม่เป็นท่าแล้ว ก็บอกกับตัวเองว่า นับแต่ขณะนี้เป็นต้นไป ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน เรามีความกลัวในสถานที่ใด จะต้องไปในสถานที่นั้นให้จงได้ ก็บัดนี้ใจเรากำลังกลัวผีที่กำลังถูกเผา ซึ่งมองเห็นกองไฟอยู่ในป่าช้านั้น เราต้องไปที่นั้นให้ได้ในขณะนี้ ว่าแล้วก็เตรียมตัวครองผ้าออกจากที่พัก เดินตรงไปที่ศพซึ่งกำลังถูกเผาและมองเห็นอยู่อย่างชัดเจนทันที พอออกเดินไปได้ไม่กี่ก้าว ขาชักแข็ง ก้าวไม่ค่อยออกเสียแล้ว ใจทั้งเต้นทั้งสั่น ตัวร้อนเหมือนถูกแดดเผาเวลากลางวัน เหงื่อแตกโชกไปทั้งตัว เห็นท่าไม่ได้การจึงรีบเปลี่ยนวิธีใหม่ คือเดินแบบเท้าต่อเท้าติด ๆ กันไป ไม่ยอมให้หยุดอยู่กับที่ ตอนนี้ท่านต้องบังคับใจอย่างเต็มที่ ทั้งกลัวทั้งสั่นแทบไม่เป็นตัวของตัว เหมือนอะไร ๆ มันจะสุด ๆ สิ้น ๆ ไปเสียแล้วเวลานั้น แต่ท่านไม่ถอยความพยายามที่จะก้าวไปให้ถึงแบบเอาเป็นเอาตายเข้าว่ากัน สุดท้ายก็ไปจนถึง พอไปถึงศพแล้ว แทนที่จะสบายตามความรู้สึกในสิ่งทั่ว ๆ ไปว่า สมประสงค์แล้ว แต่เวลานั้นปรากฏว่าตัวเองจะเป็นลมและลืมหายใจไปจนแล้วจนรอด จึงข่มใจพยายามดูศพที่กำลังถูกเผาทั้ง ๆ ที่กำลังกลัวแทบจะเป็นบ้าเป็นหลังไปอยู่แล้ว พอมองเห็นกะโหลกศีรษะผีที่ถูกเผาจนไหม้และขาวหมดแล้ว ใจก็ยิ่งกำเริบกลัวใหญ่ แทบจะพาเหาะลอยไปในขณะนั้น จึงพยายามสะกดใจไว้ แล้วพานั่งสมาธิลงตรงหน้าศพห่างจากเปลวไฟเผาศพพอประมาณ โดยหันหน้ามาทางศพ เพื่อทำศพให้เป็นเป้าหมายของการพิจารณา บังคับใจที่กำลังกลัว ๆ ให้บริกรรมว่า เราก็จะตายเช่นเดียวกับเขาคนนี้ ไม่ต้องกลัว เราก็จะตาย ไม่ต้องกลัว เราก็จะตาย กลัวไปทำไม ไม่ต้องกลัว ขณะที่นั่งบังคับใจให้บริกรรมภาวนาความตายอยู่ด้วยทั้งความกระวนกระวาย เพราะกลัวผีนั้น ได้ปรากฏเสียงแปลกประหลาดขึ้นข้างหลัง เสียงบาทย่างเท้าดังเข้ามาเป็นบทเป็นบาท เหมือนมีอะไรเดินมาหาท่าน ซึ่งกำลังนั่งสมาธิภาวนาอยู่ และเดิน ๆ หยุด ๆ เป็นลักษณะจด ๆ จ้อง ๆ คล้ายจะมาทำอะไรท่าน ซึ่งเป็นความรู้สึกที่คิดขึ้นในขณะนั้น ก็ยิ่งทำให้ใจกำเริบใหญ่ ถึงขนาดจะวิ่งหนีและร้องออกมาดัง ๆ ว่า ผีมาแล้ว ช่วยด้วย ถ้าเทียบทางวัตถุ ก็ยังอีกเส้นผมเดียวที่ท่านจะออกวิ่ง ท่านอดใจรอฟังไปอีก ก็ได้ยินเสียงค่อย ๆ เดินมาข้าง ๆ ห่างท่านประมาณ ๓ วา แล้วก็ได้ยินเสียงเคี้ยวอะไรกร้อบแกร้บ ยิ่งทำให้ท่านคิดไปมากว่า มันมาเคี้ยวกินอะไรที่นี่ เสร็จแล้วก็จะมาเคี้ยวเอาศีรษะเราเข้าอีก ก็เป็นอันว่าเราต้องจบเรื่องกับผีตัวร้ายกาจไม่ไว้หน้าใครอยู่ที่นี้แน่ ๆ พอคิดขึ้นมาถึงตอนนี้ ท่านอดรนทนไม่ไหว จึงคิดจะลืมตาขึ้นดูมัน เผื่อเห็นท่าไม่ได้การจะได้เตรียมวิ่งหนีเพื่อเอาตัวรอด ดีกว่าจะมายอมจอดจมให้ผีตัวไม่มีความดีอะไรเลยกินเปล่า เมื่อชีวิตรอดไปได้เรายังมีหวังได้บำเพ็ญเพียรต่อไป ยังจะมีกำไรกว่าการเอาชีวิตของพระทั้งองค์มาให้ผีกินเปล่า พอปลงตกแล้วก็รีบลืมตาขึ้นมาดูผีตัวกำลังเคี้ยวอะไรกร้อบ ๆ อยู่ขณะนั้น พร้อมกับเตรียมตัวจะวิ่งเพื่อตัวรอดหวังเอาชีวิตไปจอดข้างหน้า พอลืมตาขึ้นมาดูจริง ๆ สิ่งที่เข้าใจว่าผีตัวร้ายกาจ เลยกลายเป็นสุนัขบ้านออกมาเที่ยวเก็บกินเศษอาหารที่เขานำมาเพื่อเซ่นผู้ตายตามประเพณี ซึ่งไม่สนใจกับใครและมาจากที่ไหน คงเที่ยวหากินไปตามภาษาสัตว์ซึ่งเป็นผู้อาภัพทางอาหารประจำชาติตามกรรมนิยม ส่วนพระธุดงคกรรมฐาน พอลืมตาขึ้นมาเห็นสุนัขอย่างเต็มตาแล้ว เลยทั้งหัวเราะตัวเอง และคิดพูดทางใจกับสุนัขตัวไม่รู้ภาษาและไม่สนใจกับใครนั้นว่า แหม! สุนัขตัวนี้มีอำนาจวาสนามากจริง ทำเอาเราแทบตัวปลิวไปได้ และเป็นประวัติการณ์อันสำคัญต่อไปไม่มีสิ้นสุด ทั้งเกิดความสลดสังเวชตนอย่างยิ่งที่ไม่เป็นท่าเอาเลย ทั้ง ๆ ที่ได้พูดกับตัวเองแล้วว่า จะเป็นนักสู้แบบเอาชีวิตเข้าประกัน แต่พอเข้ามาเยี่ยมศพในป่าช้า และได้ยินเสียงสุนัขมาเที่ยวหากินเท่านี้ก็แทบตั้งตัวไม่ติด และจะเป็นกรรมฐานบ้าวิ่งเตลิดเปิดเปิงไปจนได้ ยังดีที่มีพระธรรมท่านเมตตาไว้ให้รออยู่ประมาณผมเส้นหนึ่ง พอรู้เหตุผลต้นปลายบ้าง ไม่เช่นนั้นคงเป็นบ้าไปเลย โอ้โฮ! เรานี้โง่และหยาบถึงขนาดนี้เชียวหรือ ควรจะครองผ้าเหลืองอันเป็นเครื่องหมายของศิษย์พระตถาคตผู้องอาจกล้าหาญไม่มีใครเสมอเหมือนอีกต่อไปละหรือ และควรจะไปบิณฑบาตจากชาวบ้านมากินให้สิ้นเปลืองของเขาเปล่า ๆ ด้วยความไม่เป็นท่าของเราอยู่อีกหรือ เราจะปฏิบัติต่อตัวเองที่แสนต่ำทรามอย่างไรบ้าง จึงจะสาสมกับความเลวทรามไม่เป็นท่าของตนซึ่งแสดงอยู่ขณะนี้ ลูกศิษย์พระตถาคตผู้โง่เขลาและต่ำทรามขนาดเรานี้จะยังมีอยู่ให้หนักพระศาสนาต่อไปอีกไหมหนอ ขนาดมีเราเพียงคนเดียวเท่านี้ก็นับว่าจะทำพระศาสนาให้ซวยพอแล้ว ถ้าขืนมีอีกเช่นเรานี้พระศาสนาคงแย่แน่ ๆ ความกลัวผีซึ่งเป็นเรื่องกดถ่วงให้เราเป็นคนต่ำทรามไม่เป็นท่านั้น เราจะปฏิบัติต่อกันอย่างไร รีบตัดสินใจเดี๋ยวนี้ ถ้ารอไปนานก็ขอให้เราตายเสียดีกว่า อย่ามายอมตัวให้ความกลัวผีเหยียบย่ำบนหัวใจอีกต่อไปเลย อายโลกเขาแทบไม่มีแผ่นดินจะให้คนหนักพระศาสนาอยู่ต่อไปอีกแล้ว พอพร่ำสอนตนจบลง ท่านทำความเข้าใจกับตัวเองว่า ถ้าไม่หายกลัวผีเมื่อไร จะไม่ยอมหนีจากที่นี้อย่างเด็ดขาด ตายก็ยอมตาย ไม่ควรอยู่ให้หนักโลกและพระศาสนาต่อไป คนอื่นยังจะเอาอย่างไม่ดีไปใช้อีกด้วย และจะกลายเป็นคนไม่เป็นท่าไปหลายคน และหนักพระศาสนายิ่งขึ้นไปอีกมากมาย นับแต่ขณะนั้นมา ท่านตั้งใจปฏิบัติต่อความกลัวอย่างกวดขัน โดยเข้าไปอยู่ป่าช้าทั้งกลางวันกลางคืน ยึดเอาคนที่ตายไปแล้วมาเทียบกันตนซึ่งยังเป็นอยู่ ว่าเป็นส่วนผสมของธาตุเช่นเดียวกัน เวลาใจยังครองตัวอยู่ก็มีทางเป็นสัตว์เป็นบุคคลสืบต่อไป เมื่อปราศจากใจครองเพียงอย่างเดียว ธาตุทั้งมวลที่ผสมกันอยู่ก็สลายลงไป ที่เรียกว่าคนตาย และยึดเอาความสำคัญ ที่ไปหมายสุนัขทั้งตัวที่มาเที่ยวหากินในป่าช้า ว่าเป็นผี มาสอนตัวเองว่า เป็นความสำคัญที่เหลวไหล จนบอกใครไม่ได้ ไม่ควรเชื่อถือว่าเป็นสาระต่อไป กับคำว่าผีมาหลอก ความจริงแล้วคือใจหลอกตัวเองทั้งเพ การกลัว ก็กลัวเพราะใจหลอกหลอนตัวเอง ทุกข์ก็เพราะความเชื่อความหลอกลวงของใจ จนทำให้เป็นทุกข์แบบจะเป็นจะตายและแทบจะเสียคนไปทั้งคนในขณะนั้น ผีจริงไม่ปรากฏว่ามาหลอกหลอน เราเคยหลงเชื่อความคิดความหมายมั่นปั้นเรื่องหลอกลวงต่าง ๆ ของจิตมานาน แต่ยังไม่ถึงขั้นจะพาตัวให้ล่มจมเหมือนครั้งนี้ ธรรมท่านสอนไว้ว่า สัญญาเป็นเจ้ามายานั้น แต่ก่อนเรายังไม่ทราบความหมายชัดเจน เพิ่งมาทราบเอาตอนจะตายทั้งเป็น และจะเหม็นทั้งที่ยังไม่เน่า ขณะกลัวผีที่ถูกเจ้าสัญญาหลอกและต้มตุ๋นนี้เอง ต่อไปนี้สัญญาจะมาหลอกเราเหมือนแต่ก่อนไม่ได้แน่นอน เราจะต้องอยู่ป่าช้านี้จนกว่าเจ้าสัญญาที่เคยหลอกตายไปเสียก่อน จนไม่มีอะไรมาหลอกให้กลัวผีต่อไปถึงจะหนีไปที่อื่น เวลานี้เป็นเวลาที่เราจะทรมานสัญญาตัวปลิ้นปล้อนหลอกลวงเก่ง ๆ นี้ให้ตายไป จนได้เผาศพมันเหมือนเผาศพผีตาย ดังที่เราเห็นเมื่อวานเสียก่อน เมื่อชีวิตยังอยู่ อยากไปที่ไหนเราถึงจะไปทีหลัง ตอนนี้ถึงขั้นเด็ดขาดกับสัญญา ท่านก็เด็ดจริง ๆ และทรมานถึงขนาดที่สัญญาหมายขึ้นว่า ผีมีอยู่ ณ ที่ใด และเกิดขึ้นขณะใด ท่านต้องไปที่นั้น เพื่อดูและรู้เท่ามันทันที จนสัญญาเผยอตัวขึ้นไม่ได้ในคืนวันนั้น เพราะท่านไม่ยอมหลับนอนเอาเลย ตั้งหน้าต่อสู้กับผีภายนอก คือสุนัขซึ่งเกือบเสียตัวไปกับมัน พอได้เงื่อนและได้สติ ท่านก็ย้อนกลับมาต่อสู้กับผีภายในให้หมอบราบไปตาม ๆ กัน นับแต่ขณะที่รู้ตัวแล้ว ความกลัวผีไม่เคยเกิดขึ้นรบกวนท่านได้อีกตลอดทั้งคืน แม้คืนต่อมา ท่านก็ตั้งท่ารับความกลัวนั้นอย่างแข็งแกร่งต่อไป จนกลายเป็นพระองค์กล้าหาญต่อหลาย ๆ สิ่งขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ แต่เรื่องก็เป็นความจริงจากท่านมาแล้ว จนเป็นเรื่องฝังใจและตั้งตัวได้เพราะผีเป็นเหตุแต่บัดนั้นเป็นต้นมา |
ความกลัวผีจึงเป็นธรรมเทศนากัณฑ์เอกโปรดท่าน ให้กลายเป็นพระอันแท้จริงขึ้นมาองค์หนึ่ง ถึงได้นำมาแทรกลงในประวัติของท่านพระอาจารย์มั่น เผื่อท่านผู้อ่านได้นำไปเป็นคติต่อไป คงไม่ไร้สาระไปเสียทีเดียว เช่นกับประวัติของท่านผู้เป็นอาจารย์ ซึ่งเป็นประวัติที่ให้คติแก่โลกอยู่เวลานี้ ฉะนั้น การเยี่ยมป่าช้าจึงเป็นความสำคัญสำหรับธุดงควัตรประจำสมัยตลอดมา หนึ่ง
การถือไตรจีวรคือผ้า ๓ ผืนเป็นวัตร ท่านพระอาจารย์มั่นถือปฏิบัติมาแต่เริ่มอุปสมบทไม่ลดละ จนถึงวัยชราจึงลดหย่อนผ่อนตามธาตุขันธ์ที่ต้องการความบำรุงมากขึ้นทุกระยะ ที่ท่านปฏิบัติเช่นนั้นโดยเห็นว่า พระธุดงคกรรมฐานครั้งนั้นไม่อยู่ประจำที่นัก นอกจากในพรรษาเท่านั้น ต้องเที่ยวไปในป่านั้น ในภูเขาลูกนี้อยู่เสมอ การไปก็ต้องเดินด้วยเท้าเปล่า ไม่มีรถราเหมือนสมัยนี้ มีบริขารมากน้อยต้องสะพายไปเอง ช่วยตัวเองทั้งนั้น ของใครของเราช่วยกันไม่ได้ เพราะต่างคนต่างมีพอกับกำลังของตัว จะมีมากกว่านั้นก็เอาไปไม่ไหว ทั้งเป็นความไม่สะดวก พะรุงพะรังอีกด้วย จึงมีเฉพาะที่จำเป็นจริง ๆ นานไปก็กลายเป็นความเคยชินต่อนิสัย แม้ผู้มีมาถวายก็ให้ทานผู้อื่นไป ไม่สั่งสมให้เป็นการกังวล
เพราะสมณะเรามีความสวยงามอยู่กับการปฏิบัติดีและไม่สั่งสม เวลาตายไป ให้มีแต่บริขารแปด ซึ่งเป็นของจำเป็นสำหรับพระเท่านั้น เป็นความงามอย่างยิ่ง เมื่อมีชีวิตอยู่ก็สง่าผ่าเผยด้วยความจนแบบพระ เวลาตายก็เป็นสุคโต ไม่มีอารมณ์กับสิ่งใด อันเป็นเกียรติอย่างยิ่งของพระผู้ตายด้วยความจน มนุษย์และเทวดาสรรเสริญ ธุดงควัตรข้อนี้จึงเป็นเครื่องประดับสมณะให้งามตลอดอวสานข้อหนึ่ง
ธุดงควัตรเหล่านี้ ท่านเคยปฏิบัติมาเป็นประจำไม่ลดละ ปรากฏว่าเป็นผู้คล่องแคล่วชำนิชำนาญในทางนี้อย่างยากจะหาผู้เสมอได้ในสมัยปัจจุบัน และได้อบรมสั่งสอนพระเณรผู้มาศึกษาอบรมด้วยธุดงควัตรเหล่านี้ คือ ท่านพาอยู่รุกขมูลร่มไม้ ในป่า ในเขา ในถ้ำ เงื้อมผา ป่าช้า ซึ่งล้วนเป็นสถานที่เปล่าเปลี่ยวน่ากลัว พาบิณฑบาตเป็นกิจวัตรประจำวัน ไม่พารับอาหารที่มีผู้ตามส่งทีหลัง ข้อนี้คณะศรัทธาเมื่อทราบอัธยาศัยท่านแล้ว เขามีอาหารคาวหวานอย่างไร ก็พากันจัดใส่บาตรถวายท่านไปพร้อมเสร็จ ไม่ต้องไปส่งให้ลำบาก พาฉันสำรวมในบาตร ไม่มีภาชนะชนิดสำหรับใส่อาหาร ทั้งคาวหวานรวมลงในบาตรใบเดียว พาฉันมื้อเดียวคือวันละหนมาเป็นประจำจนอวสานสุดท้าย