#echo banner="" ประวัติพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตเถระ ฉบับสมบูรณ์ โดยพระอาจารย์วิริยังค์ 13

ประวัติพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตเถระ ฉบับสมบูรณ์

พระญาณวิริยาจารย์ (พระอาจารย์วิริยังค์)

เจ้าอาวาส วัดธรรมมงคล แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ

ตอนที่ ๗

ตอนที่                            

พ ศ. ๒๔๗๘

๑๒ ปีในการอยู่เชียงใหม่ ของพระอาจารย์มั่น

ภูริทัตตะเถระ ทุ่งหมกเม้า อ. พร้าว

ดังได้กล่าวแล้วว่า ในท้องที่อำเภอพร้าวนั้นมีที่วิเวกเหมาะสมกับการบำเพ็ญกัมมัฏฐานมาก ท่านพระอาจารย์มั่น ฯ ท่านเดินธุดงค์วกเวียนอยู่ในอำเภอนี้หลายปี

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คณะศิษย์ของท่านที่ได้ถูกอบรมไว้แล้ว โดยส่วนมากอยู่ทางภาคอีสาน ที่พยายามสืบเสาะหาพระอาจารย์มั่น ฯ ว่าอยู่แห่งหนตำบลใด จึงได้ข่าวว่าอยู่ทางอำเภอพร้าว ต่างก็หาวิธีที่จะมาหาท่านด้วยความยากลำบาก เพราะโดยส่วนมากก็เดินโดยเท้า บางองค์บางท่านพยายามฟังข่าว และเสาะหาท่านอยู่หลาย ๆ ปี กว่าจะพบบางท่านก็ได้พบง่าย คือพอรู้ว่าศิษย์จะมาและศิษย์นั้นอาจจะมีความสำคัญในอนาคตหรือจะเป็นกำลังให้แก่พระพุทธศาสนา ท่านจะเอาใจใส่พิเศษ เพื่อให้เกิดผลทางใจ ท่านจะถือโอกาสไปคอยรับการมาทีเดียว

เป็นความประสงค์ของท่านที่ จะรวมศิษย์อีกครั้งตามที่ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟัง เพราะหลังจากการธุดงค์แสวงหาความสงบ พิจารณาถึงปฏิปทาต่าง ๆ แล้ว สมควรจะแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่ยังบกพร่องอยู่ ให้เต็มพร้อมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ฉะนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่คณะศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ฯ ในปัจจุบัน ที่มีความสามารถมากกับเป็นที่เคารพนับถือจากพุทธบริษัทโดยทั่วไป

จึงปรากฏว่า พระอาจารย์จากภาคอีสานได้เดินทางไปพบกับท่านที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะอำเภอนี้ก็ถูกความประสงค์ของท่าน โดยไม่ต้องไปนิมนต์.หรือสั่งการให้มา แต่เป็นความต้องการ หรือความประสงค์ที่ตรงกันเกิดขึ้น ทางศิษย์ต้องการจะพบ เพื่อจะได้ศึกษาธรรมให้สูงยิ่งขึ้น ทางอาจารย์ต้องการจะพบจะได้แก้ไขปรับปรุงที่ได้สอนไว้ ให้มีความบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น และให้ได้ผลยิ่งขึ้น ความประสงค์ตรงกันหลังจากท่านอาจารย์มั่น ฯ จากศิษย์ไปประมาณ ๘ ปี

นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระเถรานุเถระจำนวนมากจึงหลั่งไหลขึ้นเชียงใหม่ เพื่อการเข้าพบหาท่านอาจารย์มั่นฯ ทั้งกิตติศัพท์ก็กำลังเลื่องลือว่า ท่านเป็นผู้มีความบริสุทธิ์และมีความสามารถในอันที่จะแนะนำศิษยานุศิษย์ให้ได้รับผลทางใจ ผู้ใดต้องการความสงบหรือความพ้นจากทุกข์แล้ว ก็จะไปหาไปพบหรือไปอยู่กับท่าน ก็จะได้ผลอย่างเต็มที่ทีเดียว ข่าวนี้เป็นที่ทราบดี ในขณะนั้นผู้เขียนก็บรรพชาเป็นสามเณรได้เพียง ๒ พรรษา ข่าวความดีงามในการปฏิบัติของท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ส่งเข้าสู่ใจของผู้เขียนตลอดทุกระยะเวลา ทำให้เกิดความกระตือรือร้นในอันที่จะต้องการพบท่านเป็นอย่างยิ่ง แต่ขณะนั้นโอกาสยังไม่ให้เลย ประกอบกับผู้เขียนยังอยู่กับพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ และการปฏิบัติกัมมัฏฐานยังอยู่ในขั้นที่ยังใช้ไม่ได้ดี ท่านอาจารย์กงมาท่านว่า

“เณรอยากไปหาท่านอาจารย์มั่น ฯ หรือ ถ้าหากเณรมีภูมิจิตแค่นี้ มีหวังโดนตูมเดียวพัง”

ท่านอาจารย์กงมา ท่านหมายความว่า ใครที่มีภูมิจิตอ่อน โดนท่านดุเอาก็สู้ไม่ไหว ก็เป็นเหตุให้ผู้เขียนพยายามบำเพ็ญจิตอย่างหนักตลอดมา แต่จนแล้วจนรอดผู้เขียนก็ไม่ได้โอกาสที่จะขึ้นไปพบพระอาจารย์มั่น ฯ ที่เชียงใหม่ จนท่านอาจารย์มั่นฯ ไปพักอยู่บ้านเดิมของอาจารย์กงมา ท่านจึงพาผู้เขียนไปพบพระอาจารย์มั่นฯ สมใจ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕

เมื่อคณะศิษย์ทั้งหลายไปพบพระอาจารย์มากขึ้น ท่านได้พาเที่ยวธุดงค์ไปตามป่าเขาถ้ำตามที่เห็นสมควรแล้ว ท่านก็แนะนำปฏิปทาข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ จนเป็นผลในทางจิตมากขึ้น.ได้รับประโยชน์อย่างที่เป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้น เนื่องจากการกระทำที่ท่านทำให้เป็นตัวอย่างนั้นหนึ่ง และการแนะนำไปตามความเป็นจริงเกิดขึ้นนั้นหนึ่ง ซึ่งเช่นนี้น้อยนักที่ผู้เป็นอาจารย์จะหาโอกาสช่วยศิษย์ให้ได้ถึงขนาดนี้ เป็นหลักการที่จะปรากฏในที่ต่าง ๆ เพราะเหตุว่าการกระทำเช่นนี้ต้องมีความหนักแน่นหวังเพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและแก่มนุษย์ชาติอย่างแท้จริงจึงจะทำได้ เพราะจะต้องเหน็ดเหนื่อย ลำบากและทุรกันดาร ตลอดถึงการเอาจิตใจเข้าพัวพันโอบอ้อมระวังเพื่อให้ผู้ดำเนินได้เดินไปในทางที่ถูกตลอดเวลา

กาลและสถานที่ช่างเป็นใจอะไรเช่นนั้น เหตุคือความเจริญของท้องถิ่น แต่ละแห่งในแถบนี้ยังเป็นลักษณะบ้านป่า แม้แต่ตัวอำเภอเอง ตลอดถึงอุปนิสัยใจคอของคนบ้านนี้ ก็ยังไม่รู้วัฒนธรรมต่างชาติ ที่จะเข้ามาครอบคลุม เกาะกุมจิตใจให้ละเมอเพ้อพกไป จนถึงทำตนให้หลงจากวัฒนธรรมอันดีงามของพระพุทธศาสนา จึงทำให้คณะกัมมัฏฐานในสายของพระอาจารย์มั่น ฯ ซึ่งต้องการความสงบวิเวกปราศจากความปลิโพธ ได้เป็นไปตามความประสงค์ของท่านเป็นอย่างดีโดยความเชื่อฟัง ซึ่งท่านบอกแนะนำให้มาทำบุญตักบาตร ฟังธรรมในเวลาที่ควร ไม่ต้องมาเฝ้าแหนรบกวนอยู่ตลอดเวลา ตลอดถึงบอกให้รู้ว่าคณะนี้ต้องการความสงบ เขาทั้งหลายก็เชื่อฟัง มิต้องคอยดุด่าเอาในเมื่อมีผู้คนมารบกวนความสงบ

ทั้งนี้จึงเป็นโอกาส ให้แก่พระภิกษุสามเณร ที่จะเชื่อฟังโอวาทของท่านอาจารย์อย่างเต็มเปี่ยมไม่มีการบกพร่อง เป็นเหตุให้ต่างก็ได้รับความรู้อย่างมีประลิทธิภาพระหว่างศิษย์กับอาจารย์จะพึงได้ ด้วยเหตุอย่างนี้จึงทำให้ศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ฯ แต่ละองค์ที่ เคยรับการฝึกฝนทรมานแล้ว เป็นพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิในเวลาต่อมา จนถึงได้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง

สถานที่ ๆ ท่านจำพรรษานั้น ทุก ๆ แห่งได้เกิดเป็นสถานที่มีความสำคัญขึ้นในปัจจุบัน เพราะต่างก็มาคิดกันว่า ท่านผู้ทรงคุณวุฒิในทางใจเช่นท่านอาจารย์มั่น ฯ นี้ เมื่อท่านไปอยู่ที่ใดก็ควรจะสร้างอนุสรณ์ขึ้นในที่นั้น ๆ เพื่อจะได้ตามระลึกถึงข้อปฏิบัติที่ท่านได้แสดงให้ศิษย์อันซาบซึ้งนั้น จึงไม่เป็นการแปลกประหลาดอะไร ในเมื่อเราจะได้เห็นภาพอนุสรณ์ของสถานที่แต่ละแห่งที่ท่านจำพรรษาอยู่ เพราะบรรดาศิษย์ของท่านที่กำลังทำการเผยแพร่พระธรรมของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ตามกุศโลบายของพระอาจารย์มั่น ฯ ตนของตนก็ได้รับความสงบเย็นใจและกาย และผู้ที่ได้รับฟังคำสอนก็เย็นใจ ผลที่ได้รับนั้นประมาณค่ามิได้ จึงไม่เป็นของน่าแปลกอะไรเลยที่เขาเหล่านั้นจะได้พยายามเสียสละทุนทรัพย์อันเป็นของภายนอกเพื่อก่อลร้างอนุลรณ์ ในที่แต่ละแห่งที่ท่านเคยอาศัยอยู่พรรษา ทั้งนี้ก็เพราะมาเห็นคุณประโยชน์ที่ได้รับทางจิตใจ จากการพร่ำสอนของท่านอาจารย์มั่น ฯ นั้น ซึ่งแต่ละคำมีค่ายิ่งกว่าเงินทอง ตามสามัญธรรมดาเราชาวพุทธต่างก็ทราบกันดีว่า อันเงินทองธนสารสมบัติใด ๆ ในโลกนี้นับว่าเป็นโลกีย์ทรัพย์ซึ่งต้องตกอยู่ภายใต้กฎแห่งไตรลักษณ์ คือเป็นของที่จะผุพังเสื่อมสลายนำติดตนตามตัวไปไม่ได้ในปรภพ แต่ทรัพย์อันยอดเยี่ยมคือ โลกุตรทรัพย์นั้นอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ของสามัญลักษณ์หรืออยู่เหนือธรรมชาติ เพราะไม่สูญสลาย สามารถที่จะให้ความสุขกายสบายใจ ให้ความเยือกเย็นแก่จิตใจ พร้อมกันนี้โลกุตรทรัพย์อันนี้ยังติดตนตามตัวไปทุกภพทุกชาติ

ถ้าหากจะย้อนหลังจากปัจจุบันไปอีกสัก ๓๘ ปี โดยหวนกลับมาระลึกถึงภาพพจน์ในอดีต อันประกอบด้วยป่าเขาลำเนาไพรเพียบพร้อมไปด้วยเสียงจักจั่นและเรไร ในเขตพื้นที่อำเภอพร้าว ซึ่งเราจะไม่เห็นรถยนต์ เราจะไม่เห็นตึกร้านบ้านเรือนอันสูงตระหง่านระเกะระกะ เราจะไม่เห็นเสาสายไฟฟ้าอันกอร์ปด้วยแสงสีสว่าง ประกายแวววับระยิบระยับจับหัวใจของคนในยุคที่กล่าวกันว่าศิวิไลย์นี้ แต่จะเห็นเพียงทางเดินด้วยเท้า หรืออย่างดีก็ทางเกวียนที่ลากด้วยวัว ซึ่งนับว่าเป็นทางยาวเหลือประมาณ เมื่อคำนวณจากตัวเมืองเชียงใหม่แล้วก็ประมาณ ๘๐ กว่ากิโลเมตร แม้แต่แสงไฟซึ่งใช้ตะเกียงโคมต่าง ๆ อย่างดีก็แต่ตะเกียงเจ้าพายุ ..

ดังนั้นสภาวะอย่างนี้จึงเป็นบรรยากาศดีมาก เหมาะสำหรับนักปฏิบัติที่แสวงหาความวิเวกทางกายและทางจิต แม้แต่เพียงเดินไปไม่กี่กิโลเมตร ก็จะพบสถานที่ที่สงบสงัดแล้ว ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อเราได้ที่สงบดี จะแนะนำธรรมต่าง ๆ ก็ดีไปด้วย เป็นเหตุให้พิจารณาได้ลึกซึ้ง เทศนาได้ลึกซึ้ง เพราะผู้ฟังก็สงบ ผู้แสดงก็สงบ สถานที่ก็สงบ จึงนับว่าเป็นสัปปายะ เท่ากับเป็นการส่งเสริมเกื้อกูลให้ซึ่งกันและกัน หากว่าผู้ฟังสงบ ผู้แสดงสงบ แต่สถานที่ไม่สงบ มีเสียงอื้ออึง ก็จะทำให้ไม่ได้ผล ทำให้เสียผลไปถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแม้ว่าธรรมนั้นจะเป็นธรรมที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้งสุขุมคัมภีรภาพ ไพเราะนุ่มนวลควรแก่การสดับสักเพียงใดก็ตาม ผลก็จะไม่ได้เต็มที่ น่าเสียดาย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ท่านได้เปรียบเหมือนกับน้ำที่เต็มขัน เมื่อเราถือเดินไป ขยอกไป มันก็หกไป โดยเหตุนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาสถานที่สงบสงัดแสดงธรรมจึงจะประสบผล

อีกประการหนึ่งเล่า ผู้ฟังไม่สงบ คือไม่ได้ตั้งใจจ่อจด ทำใจส่งไปที่อื่น ๆ ตลอดถึงพูดคุยกัน อันนี้จะต้องเสียผลไปถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะขาดภาชนะที่รองรับคือผู้ฟัง เหมือนกับน้ำตกที่ตกลงมาจากท้องฟ้า ผู้ต้องการน้ำฝน แต่รองรับน้ำฝนด้วยภาชนะรั่ว แม้ฝนจะตกลงมาสักเท่าใดก็ไม่สามารถจะขังอยู่ได้ พระธรรมแม้จะดีสักเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อผู้ฟังไม่มีความตั้งใจแล้วธรรมนั้นก็ไร้ผล

สำหรับผู้แสดงไม่สงบ คือการแสดงธรรมโดยจับคัมภีร์อ่านบ้าง นึกถึงธรรมตามหัวข้อที่จำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง อัตโนมัติเองเสียบ้าง แสดงธรรมติดตลกบ้าง แสดงธรรมโดยหวังเพื่อกัณฑ์เทศน์บ้าง เหล่านี้ชื่อว่าความไม่สวบของผู้แสดง ผลที่ได้รับก็ไม่ถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์

ท่านอาจารย์มั่นฯท่านว่า ความสงบจากผู้แสคง ความสงบจากผู้ฟัง ความสงบจากสถานที่ ประกอบกับผู้แสดง ผู้ฟังมีความภูมิใจนั่นเองที่จะได้รับผลเต็มที่ นี้เป็นความจริงซึ่งผู้เขียนและสหธรรมิกพร้อมกับครูบาอาจารย์ของผู้เขียนได้รับผลมาแล้วในอดีต....

พ.ศ. ๒๔๗๙

๑๒ ปี ในการอยู่เชียงใหม่ ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตตเถระ

จำพรรษาที่เขามูเซอร์ อ.แม่สาย จ.เชียงราย

ท่านอาจารย์มั่น ฯ เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อคณะศิษย์พากันมาหามากขึ้นทั้งเก่าและทั้งใหม่ ท่านอบรมธรรมอันเป็นภายในที่มีความสำคัญตามสมควรแล้ว ท่านก็ให้แยกย้ายกันไปแสวงหาสถานที่วิเวกตามอัธยาศัย ส่วนตัวของท่านก็เลือกเอายอดเขาที่พวกชาวเขาเหล่ามูเซอร์ อันเป็นยอดเขาลูกหนึ่งที่สูงมากในอำเภอแม่สายแห่งนี้และมีหมู่บ้านประมาณ ๑๐ ครอบครัว อากาศบนยอดเขานี้หนาวตลอดปี บ้านพวกชาวเขาที่พวกเขาอยู่กันได้สร้างขึ้นด้วยไม้และมุงหญ้าทำไม้เป็นแผ่นมีทั้งกระพี้และเปลือก ถากเป็นกระดานล้อมรอบบ้านทุกๆ หลังแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงก็ให้อยู่ในบ้านหมด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าอากาศหนาวจัดแต่มีกลิ่นสาปน่าดู ถึงเช่นนั้นพวกเขาก็สามารถอยู่ได้ เพราะความเคยชินนั่นเอง ท่านเล่าว่าพวกชาวเขาเหล่านี้รูปร่างก็ไม่เลว แต่หนักไปทางคนจีนอยู่ไม่น้อย

ท่านปรารภว่าการอยู่ในที่วิเวก เป็นเหตุให้จิตใจไม่คิดถึง โลกภายนอก ซึ่งมีแต่ความนึกติดนี้หดตัวเข้า ยิ่งนานวันก็ยิ่งมีแต่ความมักน้อยในการนึกติดมากเข้า นี้เป็นธรรมชาติช่วยให้เกิดประโยชน์ทางใจ เมื่อคณะศิษย์มามาก ท่านก็ให้อุบายซึ่งเป็นประโยชน์ของการดำเนินจิตและการที่จะสั่งสอนชุมนุมชน ความรู้รอบคอบนั้นเกิดจากความวิเวกมีประสิทธิภาพมาก มากกว่าการใช้การประชุมในงานที่มีแต่โลกภายนอกเข้าปะปน ซึ่งจะมีแต่ภายนอก แม้จะมีการแลกเปลี่ยนความรู้กันกับผู้รู้ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด แต่เป็นเพียงสัญญาและตาภายนอกจึงเป็นเรื่องของความสมมติ ทั้งเป็นไปเพื่อพรรคพวกและทิฐิมานะ แต่ก็มีประโยชน์อยู่ตามสมควร เท่าที่สมมติจะให้ได้

ส่วนการประชุมที่ในวิเวก และแสวงหาประโยชน์จากการประชุมโดยการไปสถานที่วิเวก นี่แหละเป็นทางพระนิพพานเพื่อความไม่เกี่ยวข้องกังวล เป็นไปโดยเสียสละ ทำตัวให้เป็นสมณะที่ถูกต้องเป็นอย่างดี ต่างองค์ก็ต่างมีความมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติธรรมชั้นสูงของพระพุทธศาสนา มาเป็นการรวมอยู่ในใจอันเดียวกัน เป็นเหตุให้ค้นคิดแต่หนทางปฏิปทาที่จะให้ก้าวหน้าในด้านนี้ เป็นการรวมคณะที่หวังความจริง ซึ่งเป็นการยากเหลือเกินที่จะมีศิษย์อาจารย์เช่นนี้ ความเป็นเช่นนี้เองที่สามารถยกระดับการปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน หรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน อันเป็นธุระสำคัญธุระหนึ่งในพระพุทธศาสนาให้ปรากฏเป็นที่แจ่มแจ้งในยุคนี้เพราะเหตุแห่งความจริงนี้เอง

ภูเขาที่สูงตระหง่าน เรียงรายกันเป็นเทือกเขายาวเหยียด จากเชียงใหม่ถึงเชียงรายติดต่อเข้าไปจนถึงเขตพม่าหนาทึบไปด้วยต้นไม้นานาพรรณ มองดูเขียวชอุ่มเหมือนช่างภาพมาระบายสีเมื่ออยู่บนภูเขาลูกนี้ เมฆสีขาวเหมือนปุยฝ้ายยังถูกลมพัดผ่านไปต่ำกว่าสถานที่อยู่เสียอีก ต้นสนที่พวกเขาใช้เอามาทำฟืนจุดไฟแทนได้ มีมาก ขึ้นเต็มลูกภูเขา พวกชะนี ลิง ค่างมีมาก ซึ่งมันเองก็ไม่รู้ว่ามีคนอยู่แถวนั้น ต่างก็พากันมาหากินเป็นหมู่ๆ ไต่เต้นตามต้นไม้ จากต้นไม้นี้ไปต้นไม้โน้น ส่งเสียงเจี้ยวจ้าวไปตามภาษาของมัน

แต่เมื่อพวกมันมาถึงกลดของท่านอาจารย์ มันก็งงไปเพราะไม่เคยเห็นและพวกมันยิ่งส่งเสียงอีกทึก บางตัวทำชำเลืองมอง ยกมือป้องหน้า เบิ่งดูพวกแล้วพวกเล่าที่ผ่านเข้ามาทางนั้น

อันเสียงสัตว์เหล่านี้แม้จะดังพอสมควรเพราะมากตัว แต่ก็ยังเป็นเสียงวิเวกวังเวงอยู่นั้นเอง มันไม่เหมือนเสียงคนทะเลาะกันหรือเสียงคนเอะอะ หรือเสียงรถ เสียงเรือบิน เรือเหาะ เพราะเสียงเหล่านี้มิได้ให้เกิดวิเวกวังเวงเลย แต่มันทำให้เกิดความไม่สงบ กระทบกระเทือนสมาธิของผู้บำเพ็ญตบะธรรม

ตกเย็นถึงพลบค่ำ ฝูงนกจำนวนมากนานาพรรณมันคงจะไปหากินแล้วกลับมารวงรัง มันบินกันมาเป็นชุดๆ หลากสี จำไม่ได้ว่าเป็นนกอะไรบ้าง กลับมาแล้วก็ส่งเสียงสำเนียงต่างๆ กัน แม้เราจะไม่ยอมมองแต่ก็ผ่านสายตาฉวัดเฉวียนเหมือนกับนกเลี้ยง เชื่องดี เสียงแหลม เสียงทุ้ม เสียงหนักเบาระงมไปรอบบริเวณ

ทำไมหนอเสียงเหล่านั้นจึงไม่เป็นภัย เมื่อเวลานั่งสมาธิ มันกลับทำให้จิตสงบเร็วขึ้นเสียอีก เสียงนกมันก็ร้องไม่ขาดระยะ แต่การทำสมาธิได้ผลขึ้นตามปกติไม่ต้องใช้ความพยายามจนเกินควร จึงหวนคิดถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า

อรญฺเญ รุกฺขมูเล วา สุญฺญาคาเรว ภิกฺขโว

ในป่า ใต้โคนไม้ เรือนว่าง เป็นที่สมควรแก่การบำเพ็ญสมณธรรมเป็นอย่างยิ่ง

ระยะนี้เป็นเวลาพลบค่ำ จำพวกจักจั่นเรไรมีมากเป็นพิเศษ มันพร้อมใจกันจริงๆ สัตว์จำพวกนี้ ช่วยกันร้องออกเป็นเสียงเดียวกัน ดังกังวานเป็นช่วงๆ แหลมคม เสียงนี้พวกเราจะหาเสียงอะไรเหมือนกับมันนั้นยากเหลือเกิน แม้พวกมันจะพูดกันไม่รู้เรื่องเหมือนมนุษย์ แต่มันก็ยังมีความสามัคคีช่วยกันในการประสานเสียง ตัวมันเล็กสักเท่านิ้วก้อย แต่มันก็มีพลังแห่งการสามัคคี รวมกันเป็นหมู่นับด้วยร้อยด้วยพัน เสียงของมันไม่แตกกันออกเสียงเดียว น่าสรรเสริญเสียงนี้ยิ่งกว่าสัตว์อื่น ยังความวังเวงให้เกิดขึ้นยิ่งกว่าเสียงใด ผู้มีจิตใจไม่แก่กล้าจริงๆ แล้ว จะต่อสู้ให้คิดถึงบ้าน แทบอยู่ไม่ได้เลยทีเดียว แต่สำหรับผู้เที่ยวธุดงค์หวังเพื่อความสงบแล้วก็ทำให้เพิ่มพลังให้เกิดความสงบยิ่งๆ ขึ้นไป

ผู้อ่านคงแปลกใจว่าทำไม ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ นี้ท่านถึงพูดเรื่องป่าเขามากนั้น เนื่องจากท่านได้เล่าเรื่องนี้ เพื่อเปรียบเทียบการวิวัฒนาการทำแก้ไขธรรมชาติ แก้กันจนจะไม่มีอะไรจะแก้แล้ว เร็วเท่าไรก็ไม่ทันใจมนุษย์ไม่พอความพอใจของมนุษย์นั้นไม่มีที่สิ้นสุด ท่านจึงหันมาพูดเรื่องธรรมชาติบ้าง หรืออาจจะสดชื่นไปตามการอ่าน

ครั้นเมื่อได้เวลากลางคืน ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเล่าว่า จำพวกไก่ป่าพระยาลอทำไมมันจึงมีมาก เพราะเราจะได้ยินเสียงขันบอกเวลา โดยที่เราไม่ต้องไปตั้งยามตั้งโมง หากเราจะทำกำหนดไว้ให้ดีแล้ว มันจะขันบอกให้ทุก ๆ ยาม ๓ ชั่วโมงต่อครั้ง แต่ที่พวกมันจะพร้อมกันขันอย่างเอาจริงเอาจังเท่านั้นเป็นเวลาตี ๓ จะต้องมีหัวหน้ามาขันก่อนตัวหนึ่ง จากนั้นมันก็จะช่วยกันขันเป็นการใหญ่ เสียงนี้จะส่งมาไกลมาก แล้วมันก็ไม่เป็นภัยต่อความสงบของผู้ต้องการความสงบแต่อย่างใดเลย เนื่องจากไม่มีเสียงอื่นเข้าปะปน เพราะสัตว์พวกต่างๆ คงจะนอนหลับกันหมด เสียงขันของไก่จึงทำให้ได้ยินชัดเจนมาก

อันที่จริงแล้วมันก็ไม่น่าจะขันให้ดังมากเช่นนี้ เพราะเสียงของมันอาจเป็นภัยแก่มันเอง เมื่อมนุษย์รู้ว่าพวกมันอยู่ตรงไหนก็จะตามเสียงของมัน แล้วจับมันไปแกงกินให้อร่อยไป พวกมันคงจะคิดกันว่า ในตอนนี้ดึกแล้วมนุษย์ผู้เป็นภัยใหญ่หลวงของมันคงจะหลับสนิท มันจึงตะโกนเสียงของมันอย่างไม่กลัวภัย

แต่พึงเข้าใจเถิดว่า อันธรรมชาติก็แสดงธรรมชาติออกมาให้ปรากฏ จึงน่าที่มนุษย์ผู้มีปัญญาทั้งหลายควรจะช่วยกันรักษาธรรมชาติเอาไว้เถิด เพื่อให้ได้ศึกษาหรือหาความเย็นใจ หรือเพื่อให้ท่านสมณะทั้งหลายอาศัยธรรมชาติหาหนทางให้ถึงซึ่งพระนิพพาน หรือมิฉะนั้นก็เพื่อที่จะให้สมณะทั้งหลายเที่ยวแสวงหาความสงบตามภาวะของท่าน ท่านก็จะได้ธรรมเทศนา หรือธรรมอันวิจิตรลึกซึ้ง ซึ่งเกิดจากธรรมชาติเหล่านี้ แล้วก็นำมาบรรยายเป็นพระธรรมเทศนา แนะนำประชาชนให้เดินทางถูกต้องตามครรลองคลองธรรม เพื่อจะมีประชาชนผู้เป็นชาวพุทธไม่ต้องพากันงมงายในสิ่งต่าง ๆ อันเป็นทางนำไปสู่มิจฉาทิฏฐิให้น้อยลง ด้วยอาศัยชาวเราช่วยกันรักษาซึ่งธรรมชาติป่าไม้ ทั้งสิงห์สาราสัตว์ไว้

คืนวันที่ล่วงไปไนป่าใหญ่ ที่มีทั้งเหวระหารลำธารน้ำ ยังความวิเวกลึกซึ้งแก่ท่านอาจารย์มั่นฯ และศิษย์ผู้หวังพ้นทุกข์อย่างยิ่งนั้น เป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนาการยิ่งนักแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ในท่ามกลางขุนเขาลำเนาไพรซึ่งจะมีหลายจำพวก เสียงที่ทำให้แวบวาบในหัวใจของผู้ที่มีตบะอ่อนนั้นก็คือเสียงตัวใหญ่ ๆ เช่นเสือโคร่ง เสือเหลือง ช้าง และงูจงอางเป็นต้น มีชุกชุมมากในขุนเขาเหล่านี้ ส่งเสียงคำรามก้องจนแผ่นดินสะเทือน มันเป็นเสียงที่มีอำนาจอะไรเช่นนั้น

เพราะเหตุแห่งเสียงสัตว์ตัวร้ายนี้เอง ทำให้พระธุดงค์ทั้งหลาย ชอบที่จะธุดงค์สู่ป่าที่ใหญ่โต ในเทือกเขาอันกว้างขวาง เพราะเสียงเหล่านั้นตรงกันข้ามกับเสียงนก เสียงไก่ เนื่องจากมันเป็นเสียงไม่ไพเราะเสนาะโสตเลย ซึ่งเสียงมันแสดงให้เห็นถึงความตาย ในเมื่อมันส่งเสียงออกมาแล้ว ในใจของผู้ได้ยินก็จะต้องนึกถึงตัวของมันว่าอยู่ไหน นึกอยู่ว่าอยู่ใกล้หรือไกล ถ้าอยู่ใกล้ก็จะต้องมีการระวังตัว จิตใจในขณะนี้ได้ยินเสียงคำรามของเสือช้างนั้นได้หดตัวลงอย่างน่าประหลาดใจทีเดียว แต่มันก็หาฟังยากเหมือนกัน เพราะสัตว์พวกนี้ จะไม่อยู่เกลื่อนกลาดมากมายเหมือนสัตว์เหล่าอื่น จึงต้องมีตามภูเขาในป่าใหญ่ไกลคนจริงๆ จึงจะได้ยินเสียงมัน เราจะพยายามตามเข้าไปอยู่ในดงอย่างนั้นหรือ หามิได้ เราเข้าไปในป่าใหญ่เพื่อต้องการวิเวก แต่เผอิญเสือมันก็ชอบจะอยู่ในป่าใหญ่ที่ไกลจากคนเหมือนกัน

อันการธุดงค์นี้ ท่านอาจารย์มั่นฯ และศิษย์ถือเป็นกิจวัตรที่จะต้องทำเป็นประจำเพราะถือมิให้อยู่ที่เดียวเป็นจำเจ เปลี่ยนที่อยู่บ่อย ๆ ก็จะทำให้ไม่ต้องเป็นปลิโพธิกังวล ด้วยการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ เป็นการแสวงหาธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมนั้นก็อยู่ในตัวเรานี่เอง ทำไมจึงจะต้องไปเที่ยวหาอยู่ป่าเขาทำไม ใช่แล้วธรรมอยู่ในตัวเรา แต่การไปตามถ้ำป่าเขานี้ก็เพื่อแสวงหาความสงบให้ได้ เนื่องจากจิตใจของมนุษย์ทั้งหลายสับสนไปตามอารมณ์มากเหลือ มากจนเกินควร จำเป็นต้องหาวิธีลดความสับสนเหล่านี้โดยวิธีต่าง ๆ ซึ่งก็ได้ แก่การบำเพ็ญสมาธิให้มาก สงบให้มาก

แต่การที่จะสงบใจได้นั้นก็ต้องบั่นทอนทางกายให้มาก ๆ เช่นการออกบวชก็ตัดไปส่วนหนึ่ง ออกบวชแล้วบำเพ็ญสมาธิ ก็ตัดเข้าไปอีกส่วนหนึ่ง ไม่ใช่แต่บวช ยังต้องออกไปธุดงค์ ฉันหนเดียว ก็ตัดเข้าไปอีกเปลาะหนึ่ง เมื่อธุดงค์ก็เดินเข้าไปในป่าใหญ่ไม่มีอะไรในตัว นอกจาก กลด มุ้งบาตร เท่านั้นที่เป็นบริขารของนักบวช ก็ตัดเข้าไปอีก ยิ่งท่านตัดมากเท่าไร การหดตัวของอารมณ์ก็มีมากขึ้นเท่านั้น เมื่อการหดตัวของอารมณ์มากเข้า จิตก็จะได้ชื่อว่าถูกทรมานอย่างหนักหน่วง เพราะจิตมนุษย์ชอบแต่สิ่งที่เติมอารมณ์เท่านั้น ยิ่งเติมอารมณ์ได้มากก็ยิ่งพอใจ จึงชื่อจิตได้ถูกทรมานด้วยทำให้จิตหดตัวลง นี่คือการรับประโยชน์จากการอยู่ป่าอย่างแท้จริง

ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านอธิบายให้ผู้เขียนฟัง

พ.ศ. ๒๔๘๐

๑๒ ปีในเชียงใหม่ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ

จำพรรษาที่พระธาตุจอมแจ้ง อ แม่สรวย จังหวัดเชียงราย

การบำเพ็ญประโยชน์แก่พวกอยู่ในป่าดงอันเป็นถิ่นที่แสนจะกันดาร และต่างภาษานั้นยากนัก ในสมัยนั้นการไปไหนแต่ละแห่งต้องใช้การเดินใช้เวลาหลายๆ วันจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ก็การอยู่กับพวกชาวเขาเผ่าหนึ่ง คือ มูเซอร์ ท่านก็ได้อาศัยพวกเหล่านี้อยู่จำพรรษา ท่านเล่าว่า

“ ก็อัศจรรย์พวกนี้อยู่อย่างหนึ่ง คือ มีพวกมิชชันนารีที่เป็นบาทหลวงขึ้นไปแนะนำให้เขานับถือคริสตังคริสเตียน มีหลายพวกหลายครั้งที่พวกบาทหลวงเหล่านั้นไปสอน ทั้งแจกสิ่งของมากมาย แต่พวก.นี้ก็ไม่ยอมจะเข้าศาสนากับพวกนั้นเลย ครั้นเมื่อพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาไปอยู่ พวกนี้จะทำบุญด้วย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าอยู่ในพระพุทธศาสนา เพราะพวกนั้นนับถือภูตผีปีศาจอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม พวกชาวเขานี้จำนวนมากทั้งเชียงรายเชียงใหม่ คณะของพระอาจารย์มั่นฯ ได้ไปช่วยแนะนำสั่งสอนพระพุทธศาสนาไว้เป็นพื้นฐานมากทีเดียว จึงเป็นนิสัยติดต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ นับเป็นการปูพื้นฐานการนับถือพระพุทธศาสนาแก่ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ไว้แล้วตามสมควร ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีใครสนใจชาวเขากันเลย

จากการจำพรรษาบนภูเขา ออกพรรษาแล้วท่านก็ลงจากภูเขา แต่คงอยู่ในอำเภอนี้ต่อไป ท่านเล่าว่าในเขตเชียงใหม่เชียงรายนี้มีวัดเก่าๆ ที่สร้างตามภูเขาเล็กๆ หรือท้องที่ต่าง ๆ มากทีเดียว เฉพาะที่อำเภอแม่สรวยมีวัดร้างอยู่ถึง ๒๐๐ กว่าวัด อันนี้ก็แสดงถึงความเจริญทางวัฒนธรรมในอดีตของคนภาคนี้ จากปรากฏการณ์ที่เป็นวัดร้างจำนวนมากนั้น ทำให้ท่านได้แสดงความคิดเห็นว่า การที่ประชาชนในกาลก่อน แม้ความเจริญในทางวัตถุต่าง ๆ ยังไม่มาก ทำไมถึงมีความศรัทธาอย่างยิ่ง ได้สร้างวัดมากเช่นนี้ก็เป็นการแสดงถึงความสามารถอันเกิดขึ้นจากศรัทธา เป็นการรวมพลังทำให้เกิดวัตถุภายนอกขึ้นเพราะวัดต่าง ๆ จะเกิดขึ้นได้นั้นมิใช่ง่าย ๆ ต้องเสียสละร่วมกันทั้งกำลังกายและกำลังความคิด กำลังทรัพย์จึงจะเกิดขึ้นได้ กำลังศรัทธาจะเกิดขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยความสามารถของผู้นำ จึงจะเกิดขึ้นและเป็นพลังได้ แสดงว่าก่อนนี้ทางภาคเหนือได้มีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยและมีความสามารถมากทีเดียวที่ได้เป็นผู้นำสร้างวัดขึ้น แต่ละวัดนี้จะขาดเสียมิได้คือพระธาตุตามภาษาพื้นเมืองนั่นคือ เจดีย์ ที่เราเรียกกันทั่วไป

ที่เรียกว่าพระธาตุจอมแจ้งนั้น ก็เป็นวัดเก่าวัดหนึ่งในจำนวนหลายร้อยวัดที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้เลือกจำพรรษาในปี ๒๔๘๐ นี้ แต่ท่านก็มิได้ตั้งใจจะรื้อฟื้นวัดร้างนี้เพื่อให้เป็นวัดที่เจริญ ขึ้นใหม่อีก เพียงแต่เห็นว่าเป็นสภาพที่สงบสงัดสมควรแก่การที่จะบำเพ็ญสมณธรรมได้ และสมควรที่ศิษย์ติดตามจะได้ใช้สถานที่เหล่านี้บำเพ็ญกัมมัฏฐานได้ดีเท่านั้น

แต่ท่านได้ให้ความเห็นแก่ผู้เขียน ในการที่วัดร้างนี้ว่า มันเป็นการดีอย่างหนึ่งคือ เป็นที่น่ากลัวแก่บุคคลผู้ยังมีกำลังใจอ่อนเพราะวัดนี้ได้ชื่อว่าต้องมีคนตายที่ต้องมาอาศัยฝังบ้าง เผาศพบ้าง โดยเฉพาะสมภารก็ต้องทำกันเอิกเกริกพิสดาร ทั้งเชื่อว่าวิญญาณเมื่อเข้าใจเอาว่าเป็นผี มันต้องอาศัยอยู่ที่วัดร้างเหล่านี้มีมากกว่าแห่งอื่น ๆ ดังนั้นจึงเกิดความหวาดเสียวที่เป็นนิสัยของคนไทย ทำให้นึกถึงว่า วัดร้างนั้นน่ากลัวมาก

จึงเป็นเหตุให้เป็นผลดีแก่นักปฏิบัติธรรมส่วนหนึ่ง ทำให้จิตใจของบุคคลผู้เข้ามาอยู่วัดร้าง บังเกิดความหวาดเสียวตามนิสัยแห่งความเชื่อถือ และเป็นผลทำให้เกิดความสงบเงียบในใจขึ้นได้

เป็นที่ทราบอยู่แล้วว่า โดยส่วนมากท่านอาจารย์มั่นฯ ไม่ใคร่จะจำพรรษาแห่งเดียวหลายๆ ปี จะมีมากอยู่ครั้งสุดท้ายครั้งเดียวเท่านั้น เพราะระยะนั้นท่านก็ชราภาพลงมากแล้ว การที่ท่านต้องเปลี่ยนที่อยู่เสมอนั้นท่านมีความประสงค์อยู่ ๒ ประการ คือ

๑  ท่านต้องการมิให้เป็นการติดถิ่น

๒  ท่านต้องการฝึกฝนลูกศิษย์ที่เป็นพระภิกษุสามเณร

เพราะท่านได้กล่าวอยู่เสมอว่า.พระเณรมีความสำคัญมาก ในเมื่อมีเหตุอันหนึ่งอันใด เกี่ยวกับพระเณรท่านจะให้ความสำคัญ หรือถือว่าเป็นกรณีพิเศษไว้เสมอ เกี่ยวกับการเอาอกเอาใจ ท่านถือเอาพระเณรเป็นที่หลักก่อนเสมอ ตามที่ผู้เขียนได้ติดตามท่านอยู่ระยะหนึ่งนั้น ก็ทราบเรื่องนี้ดีซึ่งท่านได้แย้มให้ผู้เขียนฟังเสมอ ๆ ว่า การฝึกฝนพระให้ได้รับประโยชน์องค์เดียวเท่ากับได้โยมเป็น ๑๐๐ เป็น ๑,๐๐๐ คน เพราะว่าพระนี้เมื่อได้รับการฝึกหัดจนเป็นอาจารย์ได้แล้ว จะเป็นผู้ไปสอนผู้อื่นได้อีกมาก ท่านจึงสนใจและตั้งใจฝึกฝนพระเณรเป็นพิเศษ

ซึ่งต่างกับอาจารย์อื่น ๆ ที่กำลังให้ความสำคัญแก่โยมหรืออุบาสกอุบาสิกามากกว่าพระเณร ในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ตลอดถึงการต้อนรับโอภาปราศัย ถือเอาโยมเป็นกรณีพิเศษไปเสียหมด.เลยทำให้พระเณรชักจะระอาครูบาอาจารย์มากขึ้น โดยเข้าใจว่าครูบาอาจารย์ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ตน หรือท่านปล่อยเวลาต่าง ๆ ไปสอนอยู่ที่โยมเสียส่วนมาก ขาดการเอาใจในพระเณร จึงทำให้พระเณรนั้นกลับมาเป็นอาจารย์ในภายหลังน้อยลงทุกวัน ๆ

สำหรับพระอาจารย์มั่น ฯ ศิษย์ที่เป็นพระก็กลับมาเป็นอาจารย์ ศิษย์ที่เป็นสามเณรก็บวชพระ กลับมาเป็นอาจารย์ รู้สึกว่าเกือบทั่วประเทศไทยที่เป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ฯ ที่ท่านเหล่านั้นได้เดินทางไปประกาศสัจธรรม นี้ก็เป็นผลงานของพระอาจารย์มั่นฯ ที่ควรจะได้เป็นตัวอย่าง ทั้งเตือนสติให้ระลึกถึงว่า ผู้เป็นพระอาจารย์ทั้งหลาย ควรจะกลับมาให้ความสำคัญแก่พระภิกษุสามเณรมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนั้น เพราะบางทีพระอาจารย์บางองค์ก็เข้าใจว่าเมื่อมีโยมมากขึ้น-นับถือ-มาหามาก ๆ เข้าก็เข้าใจว่าเป็นการดี เป็นเรื่องของคุณธรรมที่สูง จึงมีคนเลื่อมใสมาก ประชาชนเขาจึงมาหามาก อะไรทำนองนี้ เกิดความเข้าใจผิดในตัวของตัวเองมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความสำคัญผิดในพระภิกษุสามเณรอันควรจะได้ใช้เวลาฝึกฝนผู้ซึ่งควรเป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา

ในระยะนี้ ต่างก็เป็นที่ทราบถึงเกียรติคุณของพระอาจารย์มั่น ฯ มากขึ้นตามลำดับในหมู่ของพระภิกษุสามเณร จึงได้พยายามที่จะติดตามท่าน เพื่ออยากเห็นและอยากฟังเทศน์ท่านบ้าง หรืออยากอยู่ปฏิบัติออยู่กับท่านโดยเฉพาะในหมู่พระภิกษุสามเณรมีมาก.พอสมควร มีบางองค์ก็ได้ยอมเสียสละส่วนอื่นๆ น้อมตนเข้าปฏิบัติธรรมกัน จึงปรากฏว่ามีการเดินธุดงค์ซึ่งหมายความว่าไปหาสถานที่วิเวก มิใช่ไปแสวงหาความขลังอย่างอื่น ๆ เพราะปรากฏว่ามีการธุดงค์เพื่อแสวงหาอะไรไม่ทราบที่แฝงอยู่เบื้องหลัง หวังจะเอาการแบกกลดห่มผ้าดำ นำพรรคพวกจำนวนมากหาทางให้มันดังจนเป็นข่าว ถึงกับทางราชการออกประกาศห้ามปักกลดที่โน้นที่นี้ นี่เป็นเรื่องไม่ใคร่จะถูกต้อง

การรวมตัวของศิษย์มากขึ้น ทำให้ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านใคร่ครวญพิจารณาถึงความเป็นไปต่าง ๆ ของคนภาคเหนือ ซึ่งระยะ ๑๒ ปีนี้ ก็เป็นการศึกษาถึงนิสัยใจคอตลอดจนอุปนิสัยวาสนาได้เป็นอย่างดี ท่านได้เคยพูดกับผู้เขียนอยู่เสมอว่า

คนเมืองเหนือ ฯนี้ใจอ่อน ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็ดี แต่การที่จะยอมเสียสละบวชอุทิศตนต่อการปฏิบัติอย่างจริงจังนั้นมีน้อยมาก ๑๒ ปีของการอยู่ภาคเหนือ ยังไม่เห็นใครมาบวชและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังสักองค์เลย ซึ่งตรงกันข้ามกับคนภาคอีสานยังมีคนมาบวชแล้วตั้งใจเด็ดเดี่ยวมีอยู่มาก จนถึงมีศรัทธาความตั้งใจอย่างแน่วแน่ของการปฏิบัติ แม้จะได้เรียนจากเรา ปฏิบัติกันอย่างจริงมาแล้วก็ตาม ยังได้พากันติดตามหาเราถึงจังหวัดเชียงใหม่ การมานั้นมิใช่เพื่อหวังประโยชน์อะไรอื่น นอกจากจะมาหาทางแก้ไขในเรื่องของการปฏิบัติธรรมกันทั้งนั้น คนทางตะวันออกเฉียงเหนือจึงถือได้ว่าเป็นคนที่มีความบึกบึนเป็นเยี่ยม แม้ว่าจะมีปัญญาค่อนข้างทึบอยู่เป็นส่วนมาก บรรดาผู้ที่มาฝึกฝนอยู่กับเรา ที่ติดตามมามากขึ้นทุกทีนี้เอง ทำให้คิดถึงว่าเราอาจจะต้องกลับไปทางอีสานอีก แต่ในขณะนี้ก็ใคร่จะทำประโยชน์ให้แก่คณะบ้างตามสมควร จึงพยายามหาทางปลูกนิสัยบุคคลให้เข้าใจถึงการปฏิบัติจิตใจทั่ว ๆ ไป

ทุกหนทุกแห่งตามที่ท่านเดินทางไป พร้อมทั้งบอกให้คณะศิษย์ที่มีความรู้พอสมควรเดินทางไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อหาทางฝึกปรือชาวบ้านให้เข้าใจถึงความจริงในการปฏิบัติธรรม ตลอดถึงสรณะที่พึ่งอันสมควร ทั้งเหตุผลของพระพุทธศาสนา เพื่อที่จะได้มาแก้ความงมงายต่าง ๆ ที่พากันเชื่อผิด ๆ และการนี้ก็ได้ผล คือทำให้เกิดความเข้าใจถูกต้องขึ้นมาก เนื่องจากตามชนบทที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ขาดผู้ที่มีความรู้ชี้แจงแนะนำ ก็จำต้องยอมเพื่อบางสิ่งบางอย่าง อันอาจจะทำให้เขาสำเร็จผลงานที่ตั้งใจไว้ อันความจริงความสำเร็จผลงานนั้นมันก็จะสำเร็จอยู่แล้ว แต่เผอิญประจวบกับที่เขาบูชาเช่นสรวงในสิ่งที่เขาบูชาเชื่อถือพอดีก็จึงทำให้เกิดความเชื่อขึ้น ซึ่งก็เป็นการแก้ยากมาก แต่เมื่อเขาได้มารับรสพระธรรม พร้อมกับการปฏิบัติธรรม คือการบำเพ็ญจิตให้สงบ บังเกิดผลอันเป็นภายในเข้าแล้ว ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง ครั้นแล้วเราก็แนะนำธรรมต่าง ๆ เพิ่มเติมก็จะบังเกิดความเชื่อมั่นยิ่งขึ้น จึงทำให้เกิดผลในการเผยแพร่ธรรมได้เป็นอย่างดี

การไปทำความเพียรกัมมัฏฐานตามที่ต่าง ๆ ก็ดี การออกไปเที่ยวแนะนำสั่งสอนประชาชนตามหมู่บ้านนั้น ๆ ก็ดี.ท่านจะมีเวลานัดให้ไปรวมกันเมื่อถึงเวลา คือหากได้ไปทำประโยชน์ตนและบุคคลผู้อื่นพอสมควรแล้ว ในระยะเป็นเดือนจะนัดไปประชุมกันที่แห่งใดแห่งหนึ่ง พระเถระนุเถระที่เป็นศิษย์ของท่านที่ไปทำงานนั้น ๆ มาแล้วก็จะมาเล่าความเป็นไป หรือสิ่งที่ประสบมาเพื่อการแก้ไขเหตุการณ์ต่าง ๆ ปรับปรุงการสอนให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยไม่ต้องให้เสียเวลาที่จะต้องตามไปบอกองค์นั้นองค์นี้ การดำเนินการสอนเป็นไปในแนวเดียวกันทั้งสิ้น เพราะการประชุมปรับความเข้าใจ และมีท่านเป็นประธานที่เคารพสูง มีความรู้สูง

การกระทำเช่นนั้น ท่านเล่าว่าเพื่อเป็นประโยชน์ตนและบุคคลอื่น แต่ก็พยายามที่จะแสวงหาสถานที่สงบเป็นสำคัญ เพราะในขณะที่จะฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมให้หนาแน่นยิ่งขึ้น และการแก้ไขสิ่งที่ปฏิบัติเป็นไปเพื่อความงมงายทั้งฝ่ายฆราวาสและบรรพชิต

พ.ศ  ๒๔๘๑ -๒๔๘๒

๑๒ ปี ในเชียงใหม่ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ

จำพรรษา วัดเจดีย์หลวง จำพรรษาที่ แม่คอย อ.พร้าว

ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เรามาอยู่เชียงใหม่โดยเฉพาะได้ใช้ชีวิตความเป็นอยู่ในป่าเป็นส่วนมาก เพราะมีที่ควรแก่การวิเวกมาก ผลจากการพิจารณาถึงความเสื่อมความเจริญของพระพุทธศาสนา ในเรื่องของการปฏิบัติทางกรรมฐาน ก็ปรากฏชัดแก่ท่านเป็นอันมาก.ครั้งหนึ่ง เมื่อท่านพักอยู่ในอรัญวิเวก.ธรรมนิมิตได้ปรากฏแก่ท่านว่า

“เราได้เดินไปตามทาง ซึ่งทางนั้นโล่งเตียนสะอาด ขณะที่เราเดินไปนั้น ปรากฏว่ามีพระภิกษุสามเณรเดินตามท่านมาเป็นอันมาก ดูเป็นแถวยาวเหยียด เมื่อเดินไปและเดินไป ก็ปรากฏต่อไปว่า พระภิกษุสามเณรเหล่านั้น เป็นพระเถระผู้ใหญ่ และผู้น้อย ต่างก็เดินไปคนละทาง บ้างก็แยกไปทางซ้าย บ้างก็แยกไปทางขวา บ้างก็ล้ำหน้าเดินไปอย่างไม่เกรงใจ ดูพลุกพล่านไป

ผู้เขียนเกิดความสนใจในธรรมนิมิตนี้มาก จึงได้ถามท่านว่า

“ธรรมนิมิตนี้หมายถึงอะไร”

ท่านตอบว่า “ก็พิจารณาเอาเองซิ”

ผู้เขียนได้ถามท่านต่อไปว่า

“กระผมเองไม่สามารถจะเข้าใจได้ลึกซึ้ง และการตีความหมายอาจจะไม่ตรงจุดสำคัญ จึงขอให้ท่านอาจารย์จงได้กรุณาไขปัญหานี้ให้แก่กระผมด้วย”

เมื่อท่านได้ถูกผู้เขียนรบเร้าขอให้อธิบายธรรมนิมิตนี้แล้ว ท่านก็จึงเริ่มที่จะอธิบายว่า

“ในการต่อไปข้างหน้านี้ จะมีผู้นิยมการทำกัมมัฏฐานภาวนากันมากขึ้น กับจะมีการตั้งตนเป็นอาจารย์สอนกัมมัฏฐานภาวนากันมาก การตั้งตนเป็นอาจารย์สอนกัมมัฏฐานภาวนานั้น ก็จะมีทั้งมีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ คือต่างก็จะสอนไปตามความเข้าใจของตน จนถึงกับนำเอาการตั้งตนเป็นอาจารย์สอนกัมมัฏฐานภาวนาบังหน้า แล้วก็ดำเนินการไม่บริสุทธิ์ด้วยประการต่างๆ ผลที่เกิดขึ้นจึงไม่เห็นผลเท่าที่ควร.แต่บางพวกก็ดี เพราะยังเดินตามเราอยู่ นี้มิได้หมายความว่าเราเป็นผู้วิเศษ แต่การดำเนินของเรานั้น ได้ทำไปโดยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งเพื่อความพ้นทุกข์ โดยปฏิปทานี้ก็ทำให้ได้ผลทั้งตนเองและศิษยานุศิษย์ตลอดมา การต่างคนต่างตั้งคนเป็นอาจารย์นั้น ย่อมทำให้เสียผล เพราะทำให้เกิดความลังเลแก่ผู้จะเข้ามาเรียนกรรมฐานภาวนาว่าจะถือเอาอาจารย์ไหนจึงจะถูก”

นี่คือการแก้ธรรมนิมิตที่พระอาจารย์มั่น ๆ ท่านแสดงแก่ผู้เขียน และผู้เขียนก็ล่วงกาลผ่านวัยมาถึงบัดนี้ก็ได้ ๓๘ พรรษาแล้วนับแต่บวชมา ก็พิจารณาตามธรรมนิมิตของท่านอาจารย์มั่นนั้นก็เข้าเค้าขึ้นมากทีเดียวในปัจจุบัน

เมื่อผู้เขียนบวชเป็นสามเณรเขาอายุ ๑๖-๑๗ ปีนั้น ก็จำความได้ว่า ยังไม่มีการนิยมเรียนและสอนกรรมฐานภาวนากันเท่าไรเลย หาคนจะมาสนใจเรียนสมาธิก็แสนยาก แม้อาจารย์จะสอนเป็นล่ำเป็นสันก็แสนยาก จะมีก็แต่ลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่นฯ นี้.เท่านั้นที่ออกธุดงค์ และถือโอกาสแนะนำสั่งสอนประชาชน

ในเรื่องเกี่ยวกับสมาธิภาวนา ตัวผู้เขียนเองก็ได้มารับการฝึกอบรมสมาธิภาวนากับศิษย์ของพระอาจารย์มั่นฯ เช่นกันท่านผู้นั้นคือ พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ในขณะนั้นผู้เขียนอายุเพียง ๑๓ ปีเท่านั้น และรู้สึกว่า มีศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น ฯ เช่นกับพระอาจารย์กงมา ซึ่งเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าจำนวนหลายองค์ที่ท่านได้กรุณาออกแนะนำสั่งสอนประชาชนในเรื่องของกรรมฐานภาวนา และก็ได้ผลมาก เป็นการเปิดศักราชของการปฏิบัติธรรมขึ้นอย่างกว้างขวาง จนปรากฏว่าทุก ๆ ภาคของประเทศไทย จะได้เป็นผู้รับการอบรมการปฏิบัติธรรมสายพระอาจารย์มั่น ฯ ผลที่เกิดขึ้นจากการอบรมจิตนี้ เป็นสิ่งอัศจรรย์ เพราะประชาชนทั่วไปยังไม่เคยได้รับรสพระธรรมอันซาบซึ้งเช่นนี้ เมื่อได้รับก็เกิดความเลื่อมใสขึ้น และกระจายกันทั่วๆ ไป จนปรากฏเป็นวัดป่าอันเป็นแหล่งของการทำกรรมฐานทั้งพระภิกษุสามเณรและอุบาสก อุบาสิกา

ผู้เขียนคิดว่า นี้เองเป็นต้นเหตุของการเกิดขึ้นซึ่งพระอาจารย์กรรมฐานเพราะมาคิดว่าเป็นการที่ถูกต้องแล้วว่า พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญกรรมฐานจนได้สำเร็จ.เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสาวกก็เช่นกัน และผู้ต้องการสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลก็ต้องทำกรรมฐานและทรงตรัสสรรเสริญผู้ทำกรรมฐาน จึงเป็นการถูกต้องที่ผู้บวชเข้ามาแล้วจะต้องทำเช่นนี้ ทรงตำหนิผู้ที่ไม่ทำกรรมฐานว่า “เป็นเพียงลูกจ้างเฝ้าศาสนา”

การปฏิบัติกรรมฐานภาวนา ที่เจริญขึ้นในประเทศไทยจะด้วยเหตุใดก็ตามก็ถือได้ว่าเป็นการดีมาก เป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนามาก ถึงแม้ว่าจะมีการปฏิบัติผิดนอกรีตนอกรอยไป ก็จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายอะไรมากนัก แต่ว่าควรจะได้ปรับปรุงและพยายามที่จะดำเนินการปฏิบัติธรรมไปโดยความบริสุทธิ์ใจ ก็จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง ครั้นเมื่อหวนระลึกถึงธรรมนิมิตของท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ก็ทำให้เป็นห่วงถึงบุคคลที่ดำเนินการปฏิบัติกรรมฐานโดยความไม่บริสุทธิ์ใจ ที่จะทำให้เกิดความไขว้เขว แต่จะอย่างไรก็ตาม พุทธบริษัทก็คงจะมีปัญญาพิจารณาโดยตนเองแล้วก็ใช้โยนิโสใคร่ครวญ ก็อาจจะรู้ความถูกผิดด้วยคนเองไม่ยากนัก

ในระยะนี้ พระอาจารย์เทสก์ (ปัจจุบันเป็นพระนิโรธรังสีฯ) ได้อยู่กับท่านอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา กับได้พยายามที่จะอาราธนาให้ท่านกลับทางภาคอีสาน เพื่อจะได้แนะนำธรรมปฏิบัติแก่คณะสงฆ์ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านจำนวนมากที่ไม่สามารถจะตามมาหาท่านที่เชียงใหม่นี้ได้ ท่านอาจารย์เทสก์ได้ชี้แจงเหตุผลต่าง ๆ เป็นต้นว่า

“นับแต่ท่านอาจารย์ได้มาอยู่ที่ภาคเหนือถึงเป็นสิบ ๆ ปี ยังไม่ปรากฏว่ามีนักบวชชาวเหนือสนใจและตั้งใจปฏิบัติธรรมกับท่านอาจารย์อย่างจริงจังแม้แต่องค์เดียว มีแต่ท่านอาจารย์ปฏิบัติ ได้รับความวิเวกเฉพาะองค์เท่านั้น และบัดนี้ก็เป็นเวลานานสมควรแล้วที่ท่านอาจารย์ได้รับผลทางใจ ซึ่งควรที่จะกรุณาแก่นักปฏิบัติที่กำลังเอาจริงเอาจังอยู่ทางภาคอีสาน กระผมเองก็ยังคิดถึงหมู่คณะที่ควรจะได้รับอุบายการปฏิบัติของท่านอาจารย์ และคิดว่าจะเป็นประโยชน์จริง ๆ”

เมื่อท่านได้รับการแนะนำอาราธนาของท่านอาจารย์เทสก์อย่างนี้แล้ว ประกอบกับพิจารณาเห็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ท่านจึงตัดสินใจที่จะกลับภาคอีสาน หลังจากท่านเข้ามาจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวงอีกครั้ง โดยต้องการจะสงเคราะห์ชาวเชียงใหม่ แล้วท่านก็นึกถึงสถานที่วิเวก ทางแม่คอย อ. พร้าว ก็วกเข้าไปวิเวกจำพรรษาอยู่ที่นั้น

เมื่อท่านอาจารย์เทสก์ได้ทาบทามเพื่อที่จะให้ท่านกลับภาคอีสาน และแน่ใจพอสมควรแล้ว ท่านก็มีจดหมายไปถึงท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ซึ่งเป็นความปรารถนาอย่างยิ่งของท่านอาจารย์เทสก์ ก็ดีใจเป็นอย่างยิ่ง

ออกพรรษาของปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ก็ขึ้นไปเชียงใหม่ด้วยตนเอง โดยไปพักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง มีความกระหายที่จะได้พบพระอาจารย์มั่น ฯ

ทางฝ่ายพระอาจารย์มั่นฯ เมื่อทราบว่าศิษย์คนโปรดคือเจ้าคุณธรรมเจดีย์มา (ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์นี้ แต่ครั้งเป็นสามเณรได้มาอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ฯ ที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเล่าว่าเป็นสามเณรโคร่ง คือเป็นเณรใหญ่ ได้ทำการปลูกมะพร้าวเป็นอันมากให้แก่วัดนี้ และเป็นสามเณรที่ว่านอนสอนง่าย)

ท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ลงจากดอยเดินทางมาพบกับท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ที่วัดเจดีย์หลวง ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ก็เข้าไปกราบอาราธนาให้เดินทางกลับภาคอีสาน ท่านก็รับที่จะเดินทางไปตามความประสงค์

เป็นอันว่า ๑๒ ปีของการอยู่ภาคเหนือ ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ โดยเฉพาะเชียงใหม่ ก็เป็นอันสิ้นสุดลงด้วยเหตุผลเป็นไปตามสมควร นักปราชญ์ผู้ฉลาดเมื่ออยู่ในสถานที่แห่งใดย่อมทำประโยชน์แก่สถานที่แห่งนั้น แม้ประโยชน์ส่วนอื่นยังไม่ปรากฏ แต่ก็ได้เกิดเป็นวัดป่าขึ้นตามสถานที่ที่ท่านได้พักจำพรรษา และไม่จำพรรษาเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ยิ่งในขณะที่เมื่อทราบว่าเป็นแหล่งสถานที่ของท่านได้อยู่อาศัยแล้ว พระภิกษุและประชาชน จะได้พยายามที่จะทำให้เป็นวัดป่าขึ้น เรียกว่ามีผลระยะยาว ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ เพราะว่าท่านได้ปลูกฝังการปฏิบัติที่ถูกต้องและได้ผลจริงให้แก่ศิษย์ของท่าน กับทั้งศิษย์ของท่านก็ได้ปฏิบัติจริงได้ผลและสั่งสอนผู้อื่นจนเกิดผลได้ จึงเท่ากับเป็นการยกย่องเกียรติคุณของท่านไปด้วย ปรากฏการณ์เช่นนี้ ควรจะได้เป็นแบบอย่างแก่พระอาจารย์ทั้งหลาย ที่หวังความเจริญของพระพุทธศาสนา จะได้จดจำและหาทางดำเนินตาม ก็จะเป็นผลดีแก่พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง

การเดินทางกลับภาคอีสานของพระอาจารย์มั่นฯ ครั้งนักไม่มีอะไรมากนอกจากจัดบริขาร ๘ ของพระธุดงค์จะพึงมีเท่านั้นก็เป็นอันเสร็จ ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ได้ล่วงหน้ากลับมาก่อนแล้ว ท่านก็ประกาศให้ศิษย์ผู้เคยปฏิบัติธรรมอยู่กับท่านให้ทราบ บางองค์ก็อยู่ บางองค์ก็กลับตามท่านไป

ท่านเล่าว่า ขณะที่โดยสารรถไฟไปนั้น ท่านได้พิจารณาไปด้วย ทำสมาธิ.เป็นการภายใน แม้จะพูดจะมองดูอะไรต่าง ๆ ก็ให้จิตเป็นสมาธิมีสติ

ท่านได้เล่าเสริมว่า

เราโดยสารรถไฟคราวนี้ กำหนดจิตจนปรากฏว่าไม่มีอะไร เป็นรถไฟหรือตู้โบกี้ตู้ไหน มันก็กำลังวิ่งและกำลังเสียดสี มีเสียงอย่างไร ไปถึงไหน ไม่ปรากฏทั้งนั้น จิตได้เข้าสู่ความปรกติ การเดินทางเป็นวันเป็นคืนเหมือนชั่วขณะเดียวและสบายมากมีความเบา หลังจากลงจากรถไฟแล้วก็ไม่เสียกำลัง ทำเหมือนกับว่าอยู่ในป่าฉะนั้น

ผู้เขียนได้ฟังความข้อนี้แล้ว รู้สึกเคารพและเลื่อมใสยิ่ง ที่ท่านได้กระทำความเพียรอยู่ทุกเมื่อ แม้จะเดินทางโดยรถไฟ ท่านก็ไม่ละความเพียร ผู้เขียนฟังขณะที่ท่านเล่าโดยความเป็นกันเองเช่นนี้ ทำให้เกิดความระวังตนเองขึ้นมาก และมาได้ความคิกว่าการการทำความเพียรนี้เป็นอกาลิโกจริงๆ คำสอนของพระพุทธเจ้าในคำนี้ คือไม่เลือกกาลเลือกเวลา สามารถจะบำเพ็ญจิตได้ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ.

ปีนี้เมื่อท่านมาถึงกรุงเทพฯได้พักอยู่ที่วัดบรมนิวาสเป็นการชั่วคราว และผู้ที่ขอร้องท่านให้ไปอยู่เชียงใหม่คือท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์. (สิริจนฺโท จันทร์) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ก็ได้มรณภาพไปแล้ว ก็เพียงได้พบกับท่านสมเด็จพระมหาวีรวงศ์.(ติสฺโส อ้วน) เป็นเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสแทน สำหรับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์นี้ก็มีความเลื่อมใสในตัวของท่านอาจารย์มั่นฯ มาก เนื่องจากได้เคยอยู่ร่วมกันที่วัดบรมนิวาสแต่ก่อน ได้เห็นจริยวัตรของท่าน และท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็ได้กล่าวสรรเสริญไว้มาก เมื่อได้มาพบกันอีกครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันงามที่จะได้ไต่ถามข้อปฏิบัติธรรมอันเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางปฏิบัติจิตต่อไป เหตุนั้น ขณะที่พระอาจารย์มั่นฯ พักอยู่วัดบรมนิวาส สมเด็จฯ จึงถือโอกาสสนทนาธรรมปฏิบัติเป็นการส่วนตัวตลอดเวลา

ในวันหนึ่งมีพระหลายองค์กำลังนั่งอยู่ข้าง ๆ สมเด็จฯ จึงถามท่านอาจารย์มั่นฯ ว่า

“เธอเข้าไปอยู่ในป่า ไม่มีตำราจะหาธรรมที่ถูกต้องได้อย่างไร”

พระอาจารย์มั่น ฯ ตอบโดยไม่ต้องคิดว่า “ธรรมนั้นมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า สำหรับผู้มีปัญญา”

สมเด็จฯ ได้อุทานขึ้นว่า จริง ๆ และขอให้ท่านอาจารย์มั่นฯ อธิบายต่อไปว่า ที่ว่า ธรรมมีทุกหย่อมหญ้า สำหรับผู้มีปัญญานั้นหมายความว่าอย่างไร ?

ท่านได้อธิบายว่า จิตที่ได้รับการอบรมที่ถูกต้องแล้วปัญหาย่อมเกิดขึ้น จะมองดูอะไรก็เป็นนิยายนิกธรรมทั้งสิ้น ส่วนผู้ไม่ได้รับการอบรมจิตที่ถูกต้อง ปัญญาแท้จริงก็ไม่เกิด แม้ผู้นั้นกำลังจับพระไตรปิฎกอ่านอยู่ก็ไม่เป็นผล ยิ่งทำให้เกิดความลังเลสงสัยตลอดไป ส่วนผู้มีปัญญาอบรมมาด้วยจิตที่ถูกต้อง แม้จะไม่ต้องจับพระไตรปิฎก แต่ก็น้อมเอาสิ่งต่าง ๆ มาเป็นธรรม เป็นยอดพระไตรปิฎกได้ ยกตัวอย่างเช่น สังกิจจสามเณรไปบิณฑบาต เห็นเขาไถนา เห็นเขาไขน้ำ นำเอามาเป็นอุบายจนเกิดปัญญา แล้วท่านก็สามารถบรรลุพระอรหันต์ได้ เพราะเหตุที่ท่านได้นำเอาดินที่ชาวนากำลังไถมาเป็นอุบายว่า ดินไม่มีใจ ทำไม่เขาจึงนำเอาไปตามประสงค์ได้ น้ำไม่มีใจ ทำไมเขาจึงทำเอาตามประสงค์ได้ เรามีใจ ทำไมไม่ทำใจให้เป็นไปตามประสงค์ เพราะเหตุนั้นธรรมจึงมีอยู่ทุกหย่อมหญ้ามิใช่หรือ ?

เป็นอันว่าท่านมาอยู่วัดบรมนิวาสชั่วขณะหนึ่ง ก็ยังได้ทำประโยชน์ แนะนำธรรมปฏิบัติแก่พระภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาลิกาตามสมควรแล้ว ท่านก็เดินทางต่อไป และได้แวะจังหวัดนครราชสีมา พักอยู่วัดสาลวัน ขณะนั้นพระอาจารย์สิงห์เป็นเจ้าอาวาสอยู่ และพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ก็เป็นศิษย์ขั้นพระเถระ เป็นศิษย์รุ่นแรกของท่าน เมื่อพระอาจารย์มั่นฯ มาเยี่ยมคราวนั้นมีความดีใจมาก กับทั้งพระเถระอื่นๆ ทั้งพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นต้นก็ยังอยู่ที่นั้น เป็นโอกาสที่ท่านจะได้แสดงธรรมอันเป็นส่วนของการแก้ไขจิต ทั้งพระเถระทั้งหลายก็สนใจที่จะฟังเพื่อการดำเนินปฏิปทาอันถูกต้อง ขณะนั้นผู้เขียนยังอยู่จังหวัดจันทบุรี

เมื่อพระอาจารย์มั่นฯ ได้พักอยู่ที่วัดสาลวันชั่วระยะหนึ่งแล้วและได้สถิตธรรมส่วนลึก อันเป็นธรรมสำคัญไว้ เพื่อการให้ความคิดของท่านพระเถระทั้งหลาย จนมีความคิดว่าจะต้องติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ ไป แต่ขณะนั้นท่านพระเถระทั้งหลายก็ยังต้องอยู่ เพื่อรักษาศรัทธาของประชาชนไปพลางก่อน แต่ปรากฏว่าบรรดาพระอาจารย์ทั้งหลาย ในกาลต่อไปได้ติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ มาเป็นส่วนมาก

ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ ได้จัดเสนาสนะถวายท่านอาจารย์มั่นฯ เพื่อจำพรรษาที่วัดป่าโนนนิเวสน์.ท่านก็ได้พักจำพรรษาที่วัดป่าโนนนิเวสน์ ใน พ.ศ  ๒๔๘๓-พ.ศ  ๒๔๘๔ ครั้งนี้ก็เป็นการเปิดเผยตัวของท่านอาจารย์มั่น ฯ อีกครั้งหนึ่ง หลังจากท่านได้ปลีกตัวอยู่ในถ้ำภูเขา ซ่อนเร้นเพื่อสมณธรรมอยู่เชียงใหม่ - เชียงรายเป็นเวลาถึง ๑๒ ปี ที่ได้กล่าวว่าท่านได้เปิดเผยตัวนั้นก็คือ ท่านจำพรรษาอยู่ใกล้บ้าน และเปิดโอกาสให้พระภิกษุสามเณรทั้งหลายเข้าศึกษาและปฏิบัติอยู่กับท่านได้ และท่านก็อบรมและให้โอวาทแนะนำ และแก้ไขปฏิปทาต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายในให้อย่างไม่อั้น เป็นเหตุในพระภิกษุสามเณรผู้สนใจในการปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ ได้ทราบข่าวอันเป็นมงคลนี้อย่างรวดเร็ว พระเล็กเณรน้อย และพระเถรานุเถระจึงหลั่งไหลกันเข้ามามอบตัวเป็นศิษย์เป็นอันมาก

แม้ผู้เขียนได้สดับข่าวอันเป็นมงคลนี้เช่นกัน มีความกระตือรือร้นอยากที่จะมาหาท่านให้จงได้ แต่พระอาจารย์กงมา ผู้เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้ายังไม่ให้โอกาส เพราะขณะนั้นท่านยังสร้างวัดทรายงาม บ้านหนองบัว จังหวัดจันทบุรีอยู่ ท่านก็บอกว่าจะพาไป ผู้เขียนก็พยายามทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ไม่หลับไม่นอนตลอด เวลาหลายเดือนเพื่อเร่งความเพียรหวังเพื่อจะได้ศึกษาต่อกับพระอาจารย์มั่น ฯ จนเมื่อ พ.ศ  ๒๔๘๔ ผู้เขียนก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และก็ได้ทำการรบเร้าพระอาจารย์กงมาเพื่อให้นำไปหาพระอาจารย์มั่นฯ ให้ได้ ปีนี้ออกพรรษาแล้ว ท่านอาจารย์กงมา ก็ได้พาผู้เขียนเดินธุดงค์จากจังหวัดจันทบุรี ผ่านพระตะบอง.จังหวัดมงคลบุรี ศรีโสภณ ตัดขึ้นไปอรัญประเทศ และข้ามภูเขาไปที่ถ้ำวัวแดง ผ่านอำเภอกระโทก เข้าจังหวัดนครราชสีมา ต่อไปถึงจังหวัดขอนแก่น อุดร แล้วตรงไปจังหวัดสกลนคร พบกับท่านอาจารย์มั่นฯ ที่บ้านโคก ต.ตองโขบ อ. เมือง จ.สกลนคร อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพระอาจารย์กงมาผู้เป็นอาจารย์ของผู้เขียน

 หน้าที่