#echo banner="" ประวัติพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตเถระ ฉบับสมบูรณ์ โดยพระอาจารย์วิริยังค์ 12

ประวัติพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตเถระ ฉบับสมบูรณ์

พระญาณวิริยาจารย์ (พระอาจารย์วิริยังค์)

เจ้าอาวาส วัดธรรมมงคล แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ

ตอนที่ ๖

ตอนที่                            

พ.ศ. ๒๔๗๔

ตอนพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ จำพรรษาที่จังหวัด

เชียงใหม่ ที่บ้านโป่ง อ.สันป่าตอง

หลังจากที่ท่านได้พักผ่อนในอรัญราวป่า ที่จอมทองในพรรษานั้นแล้ว เมื่อออกพรรษาท่านได้เดินธุดงค์ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อแสวงหาความสงบต่อไป

ท่านเล่าต่อไปว่า เชียงใหม่นี้เป็นป่าดงกว้างขวาง ภูเขามากมาย สิงห์สาราสัตว์เป็นต้นว่า เสือ ช้าง งูก็มาก หากแต่สัตว์เหล่านั้นไม่เคยทำอันตรายแก่พระภิกษุสามเณรที่สัญจรไปมาเลย

ครั้งหนึ่งท่านพักอยู่ในราวป่า เขตของอำเภอสันป่าตอง ฝนก็ได้ตกลงมาอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน แถวๆ นี้หมู่บ้านที่ไม่ใช่ชาวเขา พากันทำไร่กันอยู่ประมาณสิบกว่าหลังคาเรือน ท่านอาศัยหมู่บ้านนี้บิณฑบาต และที่ท่านอยู่มีคลองขวางกั้นอยู่ จะไปบ้านต้องข้ามคลองไป คลองนี้ไม่กว้างนัก ชาวบ้านเขานำขอนไม้มาวางเป็นสะพานไม้ เมื่อฝนตกหนักคราวนี้ น้ำป่าแรงได้พัดไม้สะพานไป เมื่อน้ำไม่ลด ท่านก็ข้ามน้ำไปบิณฑบาตไม่ได้ โยมก็มาหาท่านไม่ได้ ก็จำเป็นจะต้องอดอาหาร ส่วนทางชาวบ้านร้อนใจมาก กลัวท่านจะอด จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะข้าม ชาวบ้านเขาพยายามอยู่นานก็สามารถข้ามน้ำนำอาหารมาถวายได้.

ฝนที่ตกติดต่อกันมาหลายวันนั้นก็ยังไม่มีที่ท่าจะหยุดลงได้ ก็ยิ่งทำความลำบากแก่ชาวบ้านที่จะมาถวายอาหารบิณฑบาต และแก่ท่านที่จะออกบิณฑบาต แม้ท่านบอกว่าอาตมาจะอดได้ ๓-๔ วันไม่เป็นไรหรอกโยม ชาวบ้านก็กลัวจะบาปจะยอมให้อดไม่ได้ จึงเป็นการต่อสู้กับภัยธรรมชาติครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง

เมื่อฝนตกกรำมาหลายเวลา ยังไม่มีทางว่าจะผ่อนคลายลงนั้น ท่านก็ได้รำพึงและพูดเปรย ๆ ออกว่า

“พญานาคเอ๋ย พวกเธอจะเล่นน้ำกันไปถึงไหน จนน้ำนองไปหมดแล้วพระก็ลำบาก ชาวบ้านก็ลำบาก หยุดเล่นกันเสียทีเถิด”

ฝนก็เริ่มหยุดเป็นปรกติน้ำก็เริ่มลดลง ชาวบ้านก็มาถวายอาหารตามปรกติ ต่อมาวันหนึ่งชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นได้มาช่วยปรนนิบัติท่านโดยการหาฟืนมา และก่อกองไฟถวายตลอดถึงต้มน้ำร้อน วันนั้นมีงูตัวหนึ่งเป็นงูทับทานปล้องเหลืองปล้องดำ ขนาดยาวถึง ๒ วาเห็นจะได้ มาขดอยู่ในกองฟืน ความจริงตามป่าเขาในย่านนี้ก็เป็นดงงูอยู่แล้วพวกงูจำนวนมากอาศัยอยู่ เพราะเป็นหินก้อนเล็ก ก้อนใหญ่ ต้นไม้ใหญ่เล็กระเกะระกะ เหมาะแก่การอยู่ของพวกสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้

แต่งูตัวนี้มาขดอยู่ที่กองฟืน งูตัวนี้ประหลาดกว่างูอื่นๆ คือมันไม่ยอมจะไปไหน ถึงมันไปชั่วครู่แต่มันก็ต้องกลับมาขดอยู่ที่เก่า โยมปรนนิบัติท่านอยู่ก็กลัว เพราะตัวมันใหญ่ โยมจึงหาไม้ยาวมาอันหนึ่ง โดยมีความตั้งใจกะไล่มันหนี ท่านรู้เข้าก็ออกมาจากที่พัก มาพูดกับโยมว่า อย่าไล่มันเลย มันจะมาอยู่เป็นเพื่อนเรา ลองให้มันอยู่ ดูหรือว่ามันจะอยู่นานเท่าไร โยมบอกว่างูตัวนี้อันตรายมาก กัดแล้วตายเลย เผลอ ๆ เดี๋ยวใครมาถูกมันเข้าโดนกัดจะลำบาก ท่านตอบว่า งูตัวนี้ไม่ทำอะไรใครดอก

มันเป็นสิ่งประหลาดกว่างูตัวอื่น ๆ ตัวนี้มันเชื่องมาก เวลามันเลื้อยออกมาตอนต้มน้ำเสร็จแล้ว คล้ายกับมันอยากจะทำการปฏิบัติอะไรสักอย่าง เลื้อยไปเลื้อยมารอบ ๆ บริเวณ หางของมันจะแกว่งเป็นบริเวณกว้างมันจะออกทำอย่างนี้วันละ ๒ ครั้งแล้วก็เข้าไปขดอยู่ที่เดิม มันอยู่กับท่านจนท่านจากมันไป มันก็หายไปเหมือนกัน ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้ได้เล่าให้ฟังว่า งูตัวนี้ท่าจะเป็นงูเจ้าหรืองูเทวดาอะไรก็ไม่ทราบ มันจึงมีความรู้สึกเกือบจะเป็นคน

เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนระลึกไปถึงเมื่อครั้งผู้เขียนเป็นสามเณร อยู่จังหวัดจันทบุรี ครั้งเมื่อผู้เขียนธุดงค์ไปตามภูเขาสระบาป เข้าไปพักอยู่ที่บ้านกงษีไร่ ประมาณ พ.ศ.๒๔๘๑ พบกับลูกศิษย์คนหนึ่ง ชื่อหมอสมร นามสกุล ภักดี มาขอฝึกการทำสมาธิกับผู้เขียน และเป็นผู้ทำจริง ๆ จนถึงกับเกิดสมาธิที่กล้าแข็งขึ้น มีจิตสงบ ทั้งภรรยาของเขาด้วย บำเพ็ญจนไม่รับประทานอาหารตอนบ่าย รับประทานหนเดียวเหมือนกับพระธุดงค์ เมื่อหมอสมรนี้ได้สนิทสนมคุ้นเคยกับผู้เขียนจนเป็นกันเองขึ้นแล้ว เขาก็พูดขึ้นอยู่บ่อย ๆ ว่า ผมนี้เป็นญาติกับงู ผู้เขียนก็ไม่ใคร่จะสนใจนัก นึกว่าคงเป็นเรื่องนิยายมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง แต่เมื่อเขาได้พูดหลายครั้ง ประกอบกับมีพยานหลายคน ผู้เขียนชักจะสนใจขึ้นจึงขอทราบความจริงของการที่เขาเป็นญาติของงูได้อย่างไร ?

หมอสมรจึงเริ่มเล่าว่า เมื่อนานมาแล้วชั่วอายุคนหนึ่ง มีครอบครัวเรือนหนึ่ง ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบางกะจะ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ครอบครัวนี้หลังจากแต่งงานแล้ว ตั้งครรภ์ขึ้น ตอนคลอดลูกออกมาคนแรกปรากฏว่าเป็นงู เกิดความตกใจกันขึ้น ด้วยความกลัว คิดว่าจะเอาใส่ขวดดองเสีย แต่นางมารดาก็มีจิตสามัญสำนึกแห่งการรักบุตรของตนอยู่ จึงห้ามการที่ฆ่าบุตรแม้จะเป็นสัตว์เดียรฉาน ต่อมามารดาคนนี้คลอดบุตรอีก ๗ คน ชาย ๕ หญิง ๒ คน คนสุดท้องเป็นหญิง

ครั้นเจริญวัยใหญ่โตกันขึ้นต่างก็มีครอบครัวไปกันหมด และก็ได้ตั้งบ้านเรือนรวมกันเป็นหมู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ ส่วนงูผู้เป็นพี่ใหญ่นั้น เมื่อโตขึ้นก็เกิดความระแวงแก่คนโดยทั่วไป อาจจะเกิดอันตรายแม้นแต่ญาติพี่น้องก็ตาม ที่หมอสมรได้เล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นเขาจะออกมาเลื้อยเล่นตามลานบ้านแล้วจะมีงูอื่น ๆ มาเป็นพวกด้วย เลยเกิดเป็นบ้านงูขึ้น จึงยิ่งทำให้เกิดความหวาดกลัวแก่บุคคลทั่วไปมากขึ้น หมอสมรเล่าว่า งูตัวนี้มีสีขาวปนดำมีหงอนด้วยเชื่องมาก แม่พูดออย่างไรจะทำตามทุกอย่าง เช่น อย่างบอกให้อยู่เฉย ๆ เขาก็นอนตามความแนะนำ บอกให้ลงไปเล่นข้างล่างก็ลงไป บอกให้อย่ามาใกล้ ก็ไม่มาบอกให้มาใกล้ ก็มา ผู้เขียนถามว่าเอาอะไรเป็นอาหารแก่งู หมอสมรว่าไก่และเนื้อสัตว์อื่น ๆ ที่ฆ่ามาแล้วและหมอได้พูดต่อไปว่า แม่ของงูนี้ไม่กลัวงูเลย บางครั้งจะจับคลำเล่น เหมือนกับว่ามันไม่ใช่อสรพิษอย่างนั้นแหละ จึงรวมความว่า แม่งูรู้จักภาษางู และงูก็รู้จักภาษาคน เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะมีได้ แต่ก็มีมาแล้ว กระทั่งบัดนี้ก็ยังมีญาติของงูเหลืออยู่ แม้จะเป็นสิ่งเหลือเชื่อ แต่หลักฐานยังบ่งชัดว่าน่าจะเป็นไปได้

ครั้นต่อมาผู้คนในละแวกนั้นเกิดไม่ไว้ใจในงูซึ่งเป็นสัตว์มีพิษมากขึ้น ขอร้องให้นั้นไปปล่อยเสียที่อื่นผู้เป็นแม่ก็จนใจ อยู่มาวันหนึ่งแม่จึงเรียกงูนั้นมาแล้วพูดว่า

“ขณะนี้ชาวบ้านเขากลัวกันมาก เพราะว่าเจ้าก็ใหญ่ขึ้นทุกวัน แม่จำเป็นต้องขอร้องให้เจ้าจงหาทางไปอยู่เสียที่ ๆ เป็นวิสัยของเจ้าเถิด”

งูก็เป็นผู้ว่าง่ายอยู่แล้ว เมื่อแม่ขอร้องก็จึงไปหาน้อง ๆ ทุกคนแล้วก็มาปะหงกหัว ลาแม่บังเกิดเกล้า เลื้อยลงมาจากบ้านอย่างเชื่องช้า พร้อมกับร้องไห้น้ำตาไหลพราก และเปล่งเสียงวีด ๆ ประมาณ ๕-๖ ครั้ง แล้วก็เลื้อยหายลงไปสู่ทะเล

ต่อมาเขาจะมาเยี่ยมแม่ของเขาทุก ๆ ๗ วัน และต่อไปเขาจะมาเยี่ยมแม่ของเขาทุก ๆ เดือน จนถึงบีหนึ่งเขาจะมาเยี่ยมแม่ของเขาครั้ง ในการมาเยี่ยมแต่ละครั้งนั้นจะมีพวกติดตามมามาก มีงูหลายชนิดเหมือนกับคอยอารักขา เวลามาเยี่ยมนั้นเขาจะอยู่ประมาณครึ่งวันจึงจะกลับ ครั้งสุดท้ายแม่ป่วยไม่สบาย เขารู้ได้อย่างไรไม่ทราบ เพราะแม่ป่วย

ครั้งนี้จะต้องตายแน่ เขาพาพวกเขามาอยู่กับแม่ของเขา จนแม่เขาถึงแก่กรรม และเขาก็มีการแจกสมบัติขณะแจกสมบัตินั้น งูก็ยังอยู่ ฟังเขาพูดกันจนรู้เรื่อง คำพูดคำหนึ่งนั้นที่งูสนใจ คือ เราจะแบ่งสมบัติออกเป็น ๗ ส่วน งูผู้เป็นพี่ก็มีส่วนด้วย ขณะนั้นเอง งูได้ทำกิริยาอย่างหนึ่งโดยเอาหางชี้ไปที่น้องคนสุดท้าย เป็นอันทราบว่างูมีความประสงค์จะมอบสมบัติส่วนตัวให้แก่น้องคนสุดท้อง เป็นอันว่าเสร็จสิ้นกันไป แล้วงูนั้นก็ลาน้อง ๆ จากไป นับตั้งแต่นั้นจนบัดนี้ก็ไม่ปรากฏว่างูนั้นหวนกลับมาอีก

ผู้เขียนพูดมายืดยาว เพื่อให้เป็นการแก้อารมณ์ท่านผู้อ่านที่ต้องเคร่งเครียดอยู่กับประวัติของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระไปบ้าง.ต่อไปก็จะได้เริ่มเขียนการจำพรรษาของท่านอีกต่อไป

ปีนี้ท่านจำพรรษาอยู่ที่บ้านโป่ง อำเภอสันป่าตอง บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่เล็กมาก มีอาชีพทำพืชไร่ล้มลุก ปลูกเผือก-มัน-งา พืชไร่ต่าง ๆ นำเอาเข้าไปขายในอำเภอ ความเป็นอยู่ของเขาไม่มีอะไรมาก เพียงแต่มีชีวิตอยู่ไปวันหนึ่ง ๆ แต่เขาก็อยู่กันอย่างสบาย.ที่นี่ไม่ใช่ภูเขา เป็นที่ราบ แต่เป็นป่าไม้ใหญ่ มีพวกไม้ยางและไม้สักมาก เป็นป่าระหง ไม่ใช่ป่าทึบ ท่านพูดว่า เราต้องการหาที่โปร่ง ๆ จำพรรษาสำหรับปีนี้ เพื่อจะได้พิจารณาถึงการอยู่ป่า ที่จะอยู่ได้นานๆ เพราะป่าบางป่าชุ่มเกินไป ป่าบางป่าทึบเกินไป อยู่ลำบากมาก อาจเกิดโรคภัยต่าง ๆ ได้ ทั้งเป็นการบั่นทอนกำลังของร่างกาย แต่ว่าป่าทึบนั้นก็ดีแต่เฉพาะที่ไม่ใช่หน้าฝน ถึงอย่างนั้นจะอยู่นาน ๆ ก็ต้องมีการถากถางเบิกป่าออกไปบ้าง ก็เป็นภาระไม่ค่อยจะจำเป็นนัก

การอยู่ที่บ้านโป่งนี้เป็นป่าต้นไม้ใหญ่ก็จริง แต่ไม้ใหญ่นี้ขึ้นสูงมาก ต้นไม้อยู่ข้างๆ ก็ไม่มีโอกาสจะโตขึ้นได้ เพราะร่มต้นไม้ใหญ่บัง ถึงแม้จะมีการถากถางก็ไม่ต้องทำอะไรมาก บางแห่งไม่ต้องถากถางเลยก็ใช้เป็นสถานที่อยู่ได้ และท่านได้เลือกเอาสถานที่ห่างจากบ้านพอสมควรอันเป็นแหล่งที่จะเที่ยวภิกขาจารได้ และบ้านโป่งนี้ก็เป็นป่าไม้ใหญ่โต ผู้คนก็ไม่พลุกพล่าน และก็ไม่เป็นที่รบกวนแก่การบำเพ็ญสมณธรรม พวกชาวบ้านเหล่านี้เขาเห็นตุ๊เจ้ามาก็ดีใจเหลือหลาย เพราะนานปีจึงมีตุ๊เจ้ามาโปรดอย่างนี้ แต่เขาก็ไม่ทราบว่าตุ๊เจ้ามั่นฯ ท่านเป็นใคร อย่างไร ? เขาก็เข้าใจแต่เพียงว่าตุ๊เจ้าองค์หนึ่งเท่านั้น เพราะชาวบ้านเป็นชาวพุทธ เมื่อถึงเวลาเทศกาลเขาจะเดินไปทำบุญที่วัดตั้งหลายชั่วโมงเขาก็ยังอุตส่าห์ไปกัน เมื่อตุ๊เจ้ามาให้ทำบุญอยู่ใกล้ ๆ และจำพรรษาอยู่ในที่นี้ ก็ทำให้เขาดีใจเหลือหลาย จึงได้ช่วยท่านทำเสนาสนะพอที่จะอยู่จำพรรษาได้

ความจริงพรรษานี้ ท่านก็ได้พยายาม เพื่อตรวจถึงความจริงของพระพุทธศาสนา จนเห็นว่ามีมิจฉาทิฏฐิปะปนอยู่มาก ที่ว่าเช่นนั้นเพราะท่านเห็นชาวบ้านพากันนับถึงภูตผีปีศาจ และนับถืออะไรต่อมิอะไรอื่นอีกเหลือคณานับ เช่น ตรงไหนมีต้นไม้ครึ้ม ๆ เขาก็ไปบูชากัน เห็นหินก้อนใหญ่ ๆ ก็ไปบูชากัน ถึงปีเช่นวันเพ็ญเดือนสิบสอง เขาก็จะมีการเลี้ยงผีแล้วก็เซ่นสรวงบูชาทำกันอย่างเอิกเกริก เหมือนกับไม่ใช่ชาวพุทธ แต่เขาก็เป็นพุทธ

ท่านว่า เรื่องอย่างนี้ก็แก้ยาก เพราะคนยังมีจิตใจต่ำ ยังไม่เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ซาบซึ้งจริง ๆ แต่หากว่าเขาได้พัฒนาจิตขึ้นมาก สภาพจิตของเขาก็อาจจะดีขึ้น จนถึงกับเลิกเชื่อถือภูตผีปีศาจก็เป็นได้

พ.ศ.๒๔๗๕

ตอนพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ จ.เชียงใหม่

จำพรรษา ณ วัดเจดีย์หลวง

ท่านได้เคยพูดเสมอว่า

“กาลญฺญูต ปุริสญฺญุตา รู้จักกาล รู้จักบริษัท”

ผู้จะปฏิบัติอันจะเป็นพระภิกษุสามเณร หรือเป็นคฤหัสถ์นั้น มีความจำเป็นที่จะต้องรู้จักสังคม เพราะเราอยู่ในโลก ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก แม้แต่พระพุทธศาสนาก็ต้องเกี่ยวกับโลก คือ อาณาจักร การเป็นเช่นนี้จึงจะต้องทำตัวให้เข้ากับเขาได้จึงจะเป็นไปตามหลักฐานที่ถูกต้อง ปละแม้แต่พระพุทธองค์ก็ต้องนำมาบำเพ็ญ ญาตตฺถจริยา โลกตฺถจริยา คือทำประโยชน์แก่ญาติและแก่โลก บุคคลหรือนักปฏิบัติที่คร่ำเคร่งอยู่ในการปฏิบัติธรรม เขาจะต้องเป็นผู้ กาลญฺญุตา รู้จักกาล ปุริสญฺญุตา รู้จักบริษัท มิฉะนั้นการปฏิบัติอาจจะเสียผล ดังที่ปรากฏว่ากาลที่ควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร บริษัทนี้ทำอะไรไม่ควรทำอะไร. ควรพูดอะไร ไม่ควรพูดอะไร หากไม่ใช้ปัญญาจะบังเกิดผลเสียหาย จนถึงการทำลายการปฏิบัติของตนเสียก็ได้

เช่นพระภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๖-๒๔๘๗ อยู่บนภูเขาที่ข้างสถานีมวกเหล็ก.พอรถไฟขบวนหนึ่ง มีผู้โดยสารมากผ่าน ท่านจะขึ้นไปนั่งสมาธิบนก้อนหินสูงเด่น (แต่พอรถไฟผ่านจะนั่งหรือเปล่าไม่ทราบ) ทั้งนี้ เพื่ออวดว่าเราเป็นนักปฏิบัติ นี้คือไม่รู้จักกาล เพราะการกระทำเช่นนั้นแม้จะเป็นการปฏิบัติ แต่เป็นการกระทำเพื่อโอ้อวดมากกว่า

หรือคำพูดตลอดถึงการเขียนหนังสือ จะพูดถึงการปฏิบัติก็อย่าพึงพูดอวดตัวหรืออวดพวกของตัวว่าดีวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ นี่ก็ต้องรู้จักบริษัท เพราะที่พูดออกไปนั้นเขียนออกไปนั้น ผู้คนเขาจะต้องรู้ต่อกันไปอีกมาก แม้ว่าจะพูดของจริง เป็นความดีความวิเศษก็ไม่ควร แต่จะพูดในบริษัทของเรากันเอง เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสกล้าหาญในการที่จะนำเอาเป็นตัวอย่าง นี้ก็ควรจะพูด เพราะจะได้ประโยชน์

ท่านได้ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งเมื่อพระโมคคัลลานเถระกับพระลักขณเถระไปทำความเพียรอยู่บนเขาคิฌกูฏ เมื่อขณะที่ลงจากเขา พระโมคคัลลานเถระได้เห็นเปรตตนหนึ่ง ด้วยทิพจักษุ คือไฟได้ไหม้ เปลวไฟได้ตั้งขึ้นแต่หางลามขึ้นไปถึงศีรษะตั้งขึ้นทั้งสองข้างไปรวมตรงกลางตัว ได้รับความทรมานแสนสาหัส พระเถระเห็นดังนั้นแล้วจึงยิ้มขึ้น อันพระลักขณเถระถามเหตุแห่งการยิ้ม ตอบว่า ที่นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ ท่านจงถามเราในสำนักพระศาสดาเถิด ท่านทั้งสองเที่ยวไปบิณฑบาตในนครราชคฤห์ เข้าไปเฝ้าพระศาสดา

อันพระลักขณเถระนั้นได้ถามเหตุของการยิ้มแห่งพระเถระ ต่อพระพักตร์ของพระศาสดาแล้ว พระโมคคัลลานะจึงตอบว่า

“ผู้มีอายุ ผมได้เห็นเปรตตนหนึ่งในที่นั้น.อัตตภาพของมันเป็นอย่างนี้ จึงได้ทำการยิ้มให้ปรากฏ เพราะอัตตภาพอย่างนี้ เราไม่เคยเห็นเลย”

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสเป็นการย้ำความจริงแก่พระโมคคัลลานเถระว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สาวกของเราเป็นผู้มีจักษุหนอ” ทรงรับรองถ้อยคำของพระเถระแล้ว.จึงตรัสว่า เปรตตนนั้นเราได้เห็นมันแล้วนับแต่เราได้ตรัสรู้ ณ โพธิสถานเหมือนกัน.แต่เราไม่พูด เพราะคิดว่า “เมื่อหมู่ชนใดไม่พึงเชื่อคำของเรา ความไม่เชื่อของชนหมู่นั้น ไม่มีประโยชน์อะไรมีแต่จะให้โทษแก่เขาเท่านั้น บัดนี้เราได้พระโมคคัลลานะเป็นพยานแล้ว จึงจะได้พยากรณ์ว่า เปรตนั้นได้ทำกรรมอะไรมา”

ที่ตรงนี้ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้ย้ำพูดถึงว่า การที่เรามีความรู้อะไรต่าง ๆ อันเป็นภายในแห่งสมาธิ สิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นความจริงก็ไม่ควรพูดออกมาหรือเขียนออกมาให้คนอื่นเข้าใจผิด เพราะผู้อื่นนั้นยังไม่รู้ หรือถึงรู้ก็ไม่เข้าใจ ซึ่งอาจจะเป็นบาปแก่ผู้ฟังถ้ามีการเข้าใจอย่างผิด ๆ ถูก ๆ เพราะความไม่เชื่อ นับประสาอะไรกับเราผู้เป็นสาวกรุ่นนี้เล่า ? แม้แต่พระบรมศาสดา พระองค์มิได้ทรงพยากรณ์ในเรื่องเปรตเหล่านั้นในขณะที่ทรงเห็นด้วยพระองค์เอง ได้ทรงพยากรณ์ก็ต่อเมื่อมีพระมหาโมคคัลลานเถระมาเป็นพยานในการรู้เห็นของพระองค์ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ว่า ผู้ที่มีแต่เฉพาะตานอก คือเพียงตาเนื้อ แต่ไม่มีตาทิพยจักษุ คือตาภายในนั้น เขาก็รู้เอาแต่เพียงคาดคะเนเท่านั้น เขาจะชื่อว่ารู้จริงหาได้ไม่ ดูตัวอย่าง ฌาน ก็แล้วกันเขาเรียนทั้งรูปฌาน อรูปฌาน แต่เขาก็ไม่รู้ว่า ฌานนั้นเป็นอย่างไร นี่แหละ พึงเข้าใจเสียเถิดว่า จะเป็นบาปแก่เขาเปล่า ๆ แม้แต่เขาเหล่านั้นจะมีความรู้เรียนจบพระไตรปิฎก แต่ตาในไม่มีก็ไม่เข้าใจความจริง เมื่อเพียงแต่เดาเอาก็ไปกันใหญ่ เหมือนเขาเล่าว่า อีกาเช็ดปาก พอลือกันไปหน่อยก็ค่อย ๆ ยาวไป ก็กลายเป็นอีกา ๗ ปาก แตกตื่นกันใหญ่

เรื่องของเปรตนั้น ท่านกล่าวต่อไปว่า เปรตตนนี้เมื่อยังเป็นคน ได้เกิดในศาสนาพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อว่า สุมังคละได้สร้างพระวิหารถวายโดยเสียสละทรัพย์จำนวนมาก เศรษฐีนี้จะต้องไปที่วิหารนั้นทุก ๆ วัน ในวันหนึ่งตอนเช้า ท่านเศรษฐีได้ไปที่วิหารดังเช่นเคยทุก ๆ วัน ในระหว่างทางได้เหลือบไปเห็นโจรคนหนึ่งนอนอยู่ใกล้ ๆ ประตูพระนคร มีตัวสกปรกทั้งตัวแล้วยังเอาผ้ากาสาวะคลุมตัวด้วย เศรษฐีจึงพูดเปรย ๆ ขึ้นว่า “หมอคนนี้เป็นคนเปรอะเปื้อนสกปรก เป็นนักเลงเที่ยวกลางคืนไม่เอาการเอางาน ดีแต่นอน”

โจรได้ฟังก็โกรธคิดว่า “เราจะต้องทำให้เศรษฐีนี้เจ็บใจ” ผูกอาฆาตแล้วทำการเผานา ตัดเท้าโค เผาเรือนของเศรษฐี แต่เศรษฐีก็ไม่โกรธเคือง โจรจึงคิดว่าเราจะทำให้เศรษฐีเคืองให้ได้ รู้ว่าพระคันธกุฎี อันเป็นที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะต้อง|เป็นที่รักของเศรษฐี จึงได้ไปเผาพระคันธกุฎีวอดหมด แทนที่เศรษฐีจะเสียใจ กลับดีใจหัวเราะ เพราะจะได้ทำพระคันธกุฎีเสียใหม่ให้สบาย. สวยกว่าเก่า ส่วนโจรผู้ซึ่งได้ทำกรรมหนัก ถึงกับเผาพระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้าเมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็ไปบังเกิดในมหาอเวจีนรกสิ้นกาลนาน บัดนี้มาเกิดเป็น อชครเปรต ถูกไฟไหม้อยู่ที่ภูเขาคิฌกูฏด้วยผลแห่งกรรมที่ยังเหลือ

ในปี พ.. ๒๔๗๕ นี้ ท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระก็ได้กลับมาจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวงในเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง โดยมีความประสงค์จะได้ดำเนินการพระศาสนา ให้เป็นประโยชน์แก่บริษัททั้งหลาย และก็ได้ผลตามที่ท่านเล่าว่า มีพุทธบริษัทมาเรียนกัมมัฏฐานกันมาก ทั้งพระภิกษุ สามเณรและอุบาสกอุบาสิกา ต่างก็พากันตื่นตัวขึ้น แล้วท่านก็ได้แนะนำการปฏิบัติในทางจิตใจให้ นับว่าเป็นประโยชน์ เพราะการปฏิบัติธรรมในขณะนั้น โดยทั่วไปยังพากันสนใจน้อยมาก ต่อเมื่อเขาปฏิบัติจนเกิดผลคือ ความสงบทางใจแล้วและได้เล่าต่อ ๆ กันไป ก็ทำให้เกิดความกระตือรือร้นขึ้น จึงเป็นเหตุให้มีบุคคลใคร่เพื่อให้ได้ความสุขอันเป็นภายใน แต่การปฏิบัตินั้นต้องอาศัยผู้แนะนำที่ถูกต้องก็จะทำให้เกิดความก้าวหน้าต่อไป เมื่องจากการแนะนำในด้านการปฏิบัติจิตใจขณะนั้น ยังไม่แพร่หลาย จึงทำให้บุคคลผู้มาปฏิบัติอยู่ในวงจำกัด

พ.ศ. ๒๔๗๖

ตอนพระอาจารย์มั่น ฯ จำพรรษาที่อรัญญปัพพตา

บ้านห้วยทราย อ. เวียงป่าเป้า จ. เชียงราย

ครั้นเมื่อจำพรรษาอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง ด้วยความประสงค์ที่จะให้พระภิกษุสามเณรได้สนใจในการปฏิบัติ โดยการที่ท่านแนะนำพร่ำสอน กับทั้งความเพียรซึ่งท่านได้กระทำเป็นตัวอย่าง ผลที่เกิดขึ้นนั้นน้อยมาก ทั้งนี้หมายความถึงธรรมที่เกิดขึ้นภายใน

ท่านเล่าว่าเมื่อออกพรรษาไปในปีที่แล้วก็เดินธุดงค์จากวัดเจดีย์หลวง เพื่อไปแสวงหาความสงบต่อไป ซึ่งตั้งใจว่าจะกลับมาแนะนำสั่งสอนประชาชนในเมืองเป็นครั้งคราว เพื่อให้ประชาชนชาวเมืองได้รับความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามสมควร ท่านจึงมุ่งหน้าไปอำเภอสันทราย อำเภอนี้ไม่ไกลจากหัวเมืองเชียงใหม่เท่าใดนัก แต่ก็ลำบากมิใช่น้อยเพราะไม่มีถนนรถยนต์ ใช้การเดินเท้าตลอดตามที่ต่าง ๆ ก็มีหมู่บ้านเล็ก ๆ เป็นแห่งๆ ไป ท่านเล่าต่อไปว่า พยายามหลีกเลี่ยงหมู่บ้านใหญ่ ๆ เพราะกลัวคนจะมารบกวน จึงพยายามหาที่สงบ เมื่อเห็นว่าสถานที่สงบดีก็พักอยู่นาน แต่เมืองเชียงใหม่นี้มาเลเรียชุมนัก มักเล่นงานเอาท่านหลายครั้ง ทั้งยาก็หายาก ใช้ยาสมุนไพรแก้ไขกันไปตามเรื่อง บางครั้งก็ต้องใช้กำลังใจกำจัดมันก็หายไปได้

ท่านได้เล่าต่อไปอีกว่า การเปลี่ยนบรรยากาศ จากในป่าเข้ามาอยู่ในเมืองนั้นเป็นสิ่งควรทำ เพราะจะเป็นการทดลองกำลังใจของคนที่ฝึกฝนมาแล้ว เพราะหากว่าอยู่ป่าจำเจไป ถ้าหากว่าไม่มีสติพอ อาจจะกระทำให้เห็นว่าโลกนี้แคบไป หรือจะอยู่แต่ในความสงบอันจะเป็นไปตามโมหะ เพราะการอยู่ในป่านั้นไม่เกี่ยวข้องในความเป็นอยู่ในหมู่คนส่วนใหญ่ การอยู่ป่าจึงมีส่วนดีและส่วนเสียอยู่เหมือนกัน. เพราะหากว่าเกิดเป็นทิฏฐิชนิดหนึ่งแล้วจะแก้ยาก คือถือว่าการอยู่ป่านั้นวิเศษกว่า ถือว่าเรานั้นวิเศษแล้ว ผู้ที่ไม่ได้อยู่ป่าถือว่าบุคคลผู้นั้นอยู่กลางกิเลส จึงถือเอาตัวเป็นใหญ่ แล้วทำทิฏฐินี้ให้ฝังอยู่ในใจ ตำหนิติโทษผู้อื่น อย่างนี้เป็นผลเสียเป็นอย่างยิ่ง.

ท่านเล่าต่อไปว่า ในครั้งพุทธกาล พวกฤๅษีจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ท่านจะอยู่เป็นเวลาประมาณ ๔ เดือนในป่าหิมพานต์นั้น ๘ เดือนท่านจะมาอยู่กับหมู่ชน จากคัมภีร์พระธรรมบทขุททกนิกาย ท่านอ้างว่ามีพระฤๅษีจำนวนหนึ่งประมาณ ๕๐๐ คน มีโฆษกเศรษฐีเป็นที่คุ้นเคยในตระกูลนั้น สี่เดือนฤๅษีทั้ง ๕๐๐ จะอยู่ในป่าหิมพานต์ ๘ เดือน ฤๅษีทั้ง ๕๐๐. จะมาหาเศรษฐี และเพื่อจะได้ลิ้มรสอาหารนานาชนิด เพราะอยู่ในหิมพานต์ประเทศนั้นได้ลิ้มแต่รสผลไม้

ในวันหนึ่ง ฤๅษีทั้ง ๕๐๐ ได้มาพักอยู่ใต้โคนต้นไทรต้นใหญ่ มีร่มเงาสาขามหึมา ครั้นนั่งพักกันสักครู่แล้ว ฤๅษีทั้ง ๕๐๐ ก็มีความสงสัยว่าต้นไม้ใหญ่อาจจะมีเทวดาสิงอยู่ จึงได้พูดว่า

“หากว่าเทวดามีอยู่จริง บัดนี้พวกเราต้องการน้ำฉันเพราะกำลังกระหาย”

เทวดาที่สิงอยู่ในต้นไทรนั้นก็เนรมิตน้ำให้ฉัน

ฤๅษีทั้ง ๕๐๐ องค์ก็พูดว่า “เราต้องการอาหาร”

เทวดานั้นก็เนรมิตอาหารถวายให้ฉันกันจนอิ่ม

ฤๅษีพากันพูดว่าพวกเราต้องการเห็นตัวเทวดา”

เทวดาก็ปรากฏตัวให้เห็นกันจนทั่วถึง

ฤๅษีจึงถามเทวดาว่า“ ท่านทำบุญอะไรมา ?”

เทวดาก็ไม่อยากจะบอกความจริง เพราะทำบุญมาน้อยมาก แต่ฤๅษีได้อ้อนวอนโดยนานาประการ เทวดาจึงบอกบุพพกรรมตนเองว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ในชาติก่อนนั้น กระผมได้เกิดเป็นคนใช้ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้ที่เป็นพุทธอุปฐาก ครั้งนั้นผมเป็นคนใช้ใหม่ ๆ ไม่ทราบถึงว่าวันพระหนึ่งๆ พวกคนใช้ทั้งหมดจะต้องสมาทานศีล ๘ วันนั้นเป็นวันพระ ผมได้ไปทำงานตัดไม้ในบ้าน ผมกลับมาแล้ว มีความสงสัยมาก ว่าทำไมไม่มีใครรับประทานอาหารมื้อเย็นแม้แต่คนเดียว เขาได้จัดอาหารไว้ให้ผม ผมจึงสงสัยมาก ได้ถามว่าเขาทำไมไม่รับประทานอาหารในเวลาเย็นกันเลย

ได้รับคำตอบว่า วันนี้เป็นวันพระ ทุกคนในที่นี้ต้องสมาทานศีลอุโบสถ แม้แต่เด็กกินนม วันนี้ก็ต้องกินน้ำผึ้งแทน

ผมจึงได้เกิดความละอายแก่ใจ แล้วมีศรัทธาขึ้นมาทันที จึงได้เข้าไปถามท่านเศรษฐีว่า ผมจะขอสมาทานศีลอุโบสถบ้างจะได้ไหม

อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็บอกว่าได้ แต่ได้เพียงกึ่งพระอุโบสถศีล เพราะวันนั้นเย็นแล้ว

ผมคิดว่าแม้กึ่งอุโบสถก็ยังดี ผมจึงสมาทานอุโบสถทันที ครั้นเมื่อผมได้สมาทานอุโบสถแล้ว ค่าที่ผมไม่เคยอดข้าวเย็นมาก่อน ผมก็เกิดปวดท้องเป็นลมอย่างรุนแรง ในเมื่อเวลาล่วงไปใกล้รุ่ง ได้รับทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า เพื่อนๆ ผมเขาบอกให้ผมรับประทานอาหารเสียเถอะ แต่ผมก็ไม่ยอม จนต้องถึงกับเอาผ้าขาวม้ามารัดท้องเพื่อผ่อนคลายความเจ็บปวด ในที่สุดผมก็ไม่สามารถที่จะทนอยู่ต่อไปได้ จึงทำกาลกริยาตายในคืนนั้นเอง ด้วยอานิสงส์กึ่งอุโบสถ ผมจึงมาเกิดเป็นเทวดาอยู่ในที่นี้

อันพวกฤๅษีถามแล้วว่า พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วหรือ ?

อุบัติขึ้นแล้วขณะนี้ประทับอยู่ที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี

ฤๅษีเหล่านั้นมีความดีใจเป็นอย่างยิ่งรีบเดินทางไปพบเศรษฐีผู้ชื่อว่าโฆษกะที่เป็นโยมอุปฐาก เพราะทุก ๆ ปีหน้าแล้งก็จะมาพักอยู่กับเศรษฐีนี้ เพื่อจะได้ลิ้มรสอาหารนอกจากผลไม้ แต่การมาคราวนี้ของฤๅษี ๕๐๐ เป็นไปอย่างรีบด่วน เมื่อได้พบเศรษฐีแล้ว ก็รีบบอกเศรษฐีว่า

“บัดนี้ พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้วในโลก ท่านเศรษฐีจะไปนมัสการท่านหรือไม่ พวกเราจะไปเดี๋ยวนี้”

เศรษฐีก็บังเกิดศรัทธาจากความบอกเล่าของฤๅษีจึงบอกว่า “พวกท่านหมู่ฤๅษี จงไปก่อนเถิด ผมจะตามไปทีหลัง”

ฤๅษีทั้ง ๕๐๐ ก็รีบเดินทางไปพบพระพุทธเจ้า ได้เข้าไปนมัสการ ณ วัดพระเชตวัน นครสาวัตถี เมื่อเข้าไปเฝ้าแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ยังพวกฤๅษีเหล่านั้นให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์โดยพลัน

เรื่องนี้หลังจากท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังโดยย่อแล้ว ท่านก็ได้อธิบายเป็นข้อๆ ว่า

๑. การที่ประชาชนหรือฆราวาสที่รักษาอุโบสถนั้น นับว่าเป็นกุศลแก่เขามาก เพียงกึ่งอุโบสถก็ทำให้ได้บุญมิใช่น้อย เพราะเหตุนั้นควรจะแนะนำโยมรักษาอุโบสถให้มากก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

๒. การที่ฤๅษีบำเพ็ญฌานจนสำเร็จอภิญญาแล้ว ได้มาฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้วได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น ท่านบอกว่า เพราะความพอเพียงแห่งพลานุภาพของจิต ซึ่งฤๅษีเหล่านั้นได้บำเพ็ญ เพียงแต่ยังไม่ได้อุบายที่ถูกต้องเท่านั้น เพราะฌานของฤๅษีเท่ากับสมถกรรมฐาน แต่ยังไม่ใช่วิปัสสนากรรมฐาน อันเป็นการกำจัดกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง ดังนั้น เมื่อได้ฟังธรรมแสดงในทางวิปัสสนาจึงไม่เป็นของยาก

๓. การลงมาจากภูเขาหิมพานต์ประเทศตามตำนานบอกว่าเพื่อลิ้มรสอาหารที่เผ็ดมัน และอาหารรสเลิศต่าง ๆ แต่เราเข้าใจว่า เป็นการทดสอบในเรื่องของจิตใจมากกว่า เพราะการอยู่ในป่านั้นสงบทั้งภายนอก คือหาสีแสงของผู้คนหญิงชายความกระตุ้นของอายตนะภายนอกไม่มี ก็เหมือนกับสงบอยู่ หรือเหมือนหมดกิเลสแล้ว และยิ่งได้บำเพ็ญสมาธิก็ยิ่งเหมือนกับว่าสลัดแล้วซึ่งกิเลสจริง ๆ แต่นั้นเป็นเพียงการระงับยับยั้งกิเลสไว้ชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งพอมากระทบสีแสงฉาบสวยตระการตา ผู้คนหญิงชายอันเป็นกามกิเลสตลอดจนสิ่งต่าง ๆ อันเป็นเครื่องกระตุ้นจิตใจให้กำเริบขึ้น ก็เกิดความหวั่นไหวคลอนแคลน ถึงจะไม่หวั่นไหวมากเพราะกำลังจิตยังดีอยู่ก็ตาม แต่ในเมื่อมันหวั่นไหวแล้วความเร่าร้อนที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในขันธสันดานย่อมเกิดขึ้น อุปมาประดุจดังไฟสุมแกลบนั่นทีเดียว

พวกฤๅษีทั้ง ๕๐๐ องค์เหล่านี้ได้มาพิจารณาตัวตนของตัวเองโดยที่มิได้ถือทิฏฐิมานะว่า เรานี้มีฤทธิ์ถึงกับเหาะเหินเดินอากาศได้ อีกทั้งมีคนร่ำรวยและมียศถาบรรดาศักดิ์มาเลื่อมใส ละทิฏฐิมานะอันจะเป็นเครื่องกางกั้นความจริงเสีย โดยพิจารณาถึงความจริงว่า เรายังมีความหวั่นไหวในใจที่ถูกกระทบกระเทือนอยู่

ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้ท้าวความต่อไปว่า บุคคลผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานทั้งหลายควรสำเหนียกข้อนี้ให้มาก เพราะถือเอาทิฏฐิมานะเป็นเกณฑ์ แล้วจะเสียผล เนื่องจากการเข้าใจตัวเองผิด ๆ โดยการที่ตนเองมักจะตีความเข้าตัวเองอยู่เสมอ เมื่อความดีเกิดขึ้นประมาณ ๑๐๐ ก็ตีความเอาว่าเรานี้ได้ ๑,๐๐๐ แต่การตีความเช่นนี้มันก็ไม่เสียหายอะไร และก็ไม่เป็นบาปด้วย เช่นเราทำสมาธิได้รูปฌานมา เข้าใจว่าเราได้อรูปฌาน หรือกำลังพิจารณาความเกิดดับเป็นอุบายของสมถะข้างต้น เข้าใจว่าตัวถึงวิปัสสนาที่แท้จริง เหล่านี้คือการเข้าใจตัวเองผิด ไม่เป็นบาปแต่ก็ทำให้เกิดการเนิ่นช้าเสียเวลา ควรจะยอมรับความจริงเสีย อย่ายกตัวเองให้มากไป เช่นมี ๑๐๐ เข้าใจว่ามี ๑,๐๐๐ เป็นอย่างนี้จะเสียเวลาเปล่า บำเพ็ญความเพียรที่เขาได้ผลอย่างจริงจังนั้น เพราะยอมรับความจริงโดยไม่หลีกเลี่ยง และมีความมุ่งหวังความพ้นทุกข์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้อธิบายธรรมต่างๆ นี้แล้ว ก็เล่าไปถึงการเดินธุดงค์ครั้งนี้โดยความประสงค์จะไปให้ไกล จึงตัดทางไปทางจังหวัดเชียงราย ที่ได้ข้ามขุนเขาไปอย่างทุรกันดารที่สุด แล้วในสมัยนั้นไม่ต้องพูดถึงรถยนต์ แม้แต่ถนนรถยนต์ก็ไม่มี แต่นั่นเป็นความพอใจ เพราะต้องการวิเวก ซึ่งเป็นการเหมาะสมสำหรับสมณะ และการไปครั้งนี้ ใคร่เพื่อที่จะไปให้ใกล้แดนประเทศพม่าให้มากที่สุด เพราะท่านเคยธุดงค์ไปประเทศพม่ามาครั้งหนึ่งแล้ว ท่านจึงรู้จักทางที่จะไป และสถานที่ที่จะทำความเพียรอันเป็นแหล่งวิเวกบางแห่งนั้น ท่านเล่าว่าท่านยังชอบใจในภูมิประเทศหลายแห่งสมควรแก่การอยู่เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ก็บ้านห้วยทราย ในเขตท้องที่อำเภอเวียงป่าเป้านี่ก็เป็นย่านที่พอเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรมเป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงได้อยู่จำพรรษา.

ท่านได้พูดว่า การอยู่ป่าเขา เมื่อจะอยู่นานได้นั้น ต้องตรวจดูภูมิประเทศเกี่ยวกับอากาศอย่าให้อับเกินไป คืออย่าให้เป็นป่าทึบเพราะจะทำให้เกิดความวิปริตแก่ร่างกาย และถ้าเป็นภูเขาก็อย่าให้สูงเกินไป จะทำให้เกิดไม่สบายเกี่ยวกับอากาศและการโคจร หากประสงค์จะทำความเพียรให้ได้ผล ก็ควรจะหาชาวบ้านที่เป็นสัปปายะ ไม่รบกวนจนเป็นเหตุให้ต้องเสียเวลาการทำความเพียร คือชาวบ้านไม่แตกตื่นกัน เพราะชาวเขาชาวบ้านในป่าลึกเขาไม่ใคร่แตกตื่นเหมือนชาวเมือง ก็จะทำให้ไม่ต้องมีการกังวลมาก ท่านว่า คนตื่นนี้มันยิ่งกว่าวัวควายตื่น พอรู้ว่าพระหลวงพ่อขลังมาอยู่บนภูเขาจะแตกตื่นไปพบกันใหญ่ หลวงพ่อบางองค์กิเลสยังเยอะ หลงไปกับความแตกตื่น อุตส่าห์ตัดถนนรถยนต์ให้คนเขาไปหาเพื่อให้ความสะดวกแก่คน เลยแตกตื่นกันใหญ่ ท่านว่าทำอย่างนี้ไม่ถูก

เมื่อท่านเห็นว่าที่บ้านห้วยทรายนี้ เหมาะแก่การทำความเพียร อันจะเป็นผลทางใจอย่างนี้แล้ว ท่านก็ได้รับความอนุเคราะห์จากชาวบ้าน โดยยกกระต๊อบถวายพอจะอยู่ได้ไม่ผิดพระวินัย แล้วท่านจึงปรารภความเพียรอย่างเต็มที่

ภายในพรรษานี้ ท่านได้เล่าให้กับผู้เขียนฟังว่า เราได้พิจารณาดูแล้วว่าต่อไปการทำกัมมัฏฐานของพระภิกษุสามเณรนั้นจะรุ่งโรจน์ แต่จะไปรุ่งโรจน์ในเมือง และการธุดงค์ของพระภิกษุสามเณรนั้นจะเป็นบางลงไป เพราะจะไปหาป่าเขาวิเวกยากยิ่งขึ้น ประกอบกับความไม่เข้าใจของการธุดงค์ ที่จะทำให้เกิดผลอย่างแท้จริง มีแต่จะธุดงค์พอเห็นเหมาะก็สร้างวัดกัน เพื่อจะให้เป็นแหล่งบำเพ็ญสมณธรรมตามประเพณีไปเท่านั้น เพราะแต่ละแห่งญาติโยมเขาต้องการพระที่จะอยู่กับเขา สั่งสอนเขาให้ได้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติ จึงทำให้เกิดเป็นวัดป่ากันมากขึ้น

ส่วนในเมืองทั่ว ๆ ไปญาติโยมก็จะสนใจการปฏิบัติธรรมมาก และจะเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยบ้าง แต่ก็ยังดี จะได้เป็นกำลังของการปฏิบัติ ท่านว่าผู้ใหญ่โต พ่อค้าวาณิชชาวเมืองจะพากันสนใจกัมมัฏฐานมากขึ้นในอนาคต

ผู้เขียนฟังแล้วยิ่งไตร่ตรองดู ก็ยิ่งเห็นจริงขึ้นตามลำดับเมื่อมามองดูในยุคปัจจุบัน

พ.ศ. ๒๔๗๗

๑๒ ปีในการอยู่เชียงใหม่ของพระอาจารยมั่น ภูริทัตตเถระ

จำพรรษาที่ปางเมี่ยง แม่ปั๋ง อ. พร้าว

นับเป็นการเดินธุดงค์ที่มีความสำคัญอยู่ไม่น้อยในการเดินท่องเที่ยวอย่างโดดเดี่ยวในท่ามกลางขุนเขาลำเนาไพรป่าไม้ดงดิบ อันเป็นดงแห่งสัตว์ร้ายนานาชนิด ซึ่งมันจะสามารถทำลายชีวิตทุกเมื่อทุกขณะ ในเมื่อพระอาจารย์มั่นฯ ท่านได้วกวนท่องเที่ยวอยู่โดยการบำเพ็ญธุดงค์กัมมัฏฐาน แต่ความลำบากเหน็ดเหนื่อยในการบำเพ็ญเช่นนี้ก็หาได้เป็นอุปสรรคอะไรเลยสำหรับท่าน ยิ่งทำให้ท่านให้รับผลแห่งความบริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ผู้เขียนได้สอบถามชาวบ้านในหมู่บ้านของอำเภอพร้าว ที่ท่านอาจารย์เคยพักอยู่ และชาวบ้านที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ขณะที่ท่านอาจารย์มั่นพักอยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งปัจจุบันเป็นสวนลำไย และมีหมู่บ้านหนาแน่นมาก แต่ครั้งที่ท่านมาพักนั้น ครั้งนั้นยังเป็นดงดิบ มีสัตว์จำพวกเสือ หมี หมูป่าเข้ามากินวัวควายทำร้ายผู้คน หรือไม่ก็เข้ามาทำลายวัตถุสิ่งของผลาผลต่าง ๆ อยู่เสมอ

ชาวบ้านเล่าว่า ท่านได้แนะนำให้พวกเขาแสดงตัวเป็นพุทธมามกะ (ผู้รับเอาพระรัตนเป็นที่พึ่ง-ผู้ใกล้ชิดพระรัตนตรัย) และสอนให้พวกเขาเข้าใจในเหตุผลแห่งความเป็นจริง โดยไม่ให้มีความเชื่อถืออย่างงมงายไร้เหตุผล เพราะเหตุผลเป็นความจริงในพระพุทธศาสนา โดยท่านได้สอนเน้นถึงว่า คุณธรรมนั้นมีความสำคัญยิ่งนัก เช่นที่เราพากันกราบไหว้พระพุทธปฏิมากรนี้ มิใช่ว่าเราไหว้หรือนอบน้อมต่ออิฐ-ปูน-ทองเหลือง-ทองแดง-ทองคำ-หรือไม้-ดิน เพราะนั่นเป็นแต่เพียงวัตถุก่อสร้างธรรมดาอย่างหนึ่งเท่านั้น เมื่อเราจะกราบไหว้พระพุทธรูป เราต้องกราบไหว้คุณธรรม คือมาระลึกถึงว่า พระพุทธเจ้าพระองค์ท่านตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้ไกลจากกิเลสเครื่องยั่วยวน ซึ่งถ้าไม่ไกลจากกิเลสแล้วเราก็ไม่ไหว้ เราไหว้เฉพาะท่านที่ห่างไกลจากกิเลสเท่านั้น อย่างนี้ชื่อว่า ไหว้พระองค์ท่านด้วยคุณธรรม จึงจะไม่ชื่อว่า ไหว้อิฐ-ปูน- ฯลฯ

การไหว้พระธรรมซึ่งเป็นคุณธรรมที่มีอยู่ในพระพุทธองค์ก็เช่นกัน โดยกล่าวคำเป็นต้นว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธมฺมํ นมสฺสามิ-พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ข้าพเจ้าขอนอบน้อมนมัสการกราบไหว้พระธรรมนั้น เพราะถ้าพระธรรม (คำสอน) ที่กล่าวแล้วไม่ดีและเมื่อพิจารณาเห็นประจักษ์แล้วว่าไม่มีเหตุผล เราก็ไม่ไหว้ไม่นอบน้อม ดังนั้นเราจึงไหว้แต่พระธรรมที่กล่าวดี มิฉะนั้นแล้วเราก็จะกราบถูกเพียงแต่ใบลาน คือใบไม้ เพราะไปเข้าใจว่า ใบไม้คือธรรมนี้ชื่อว่าไม่ถูกต้อง เราจะต้องกราบให้ถูกให้ตรงต่อคำสอน คือพระธรรมของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง

สำหรับพระสงฆ์อันเป็นสาวกผู้สืบพระศาสนาคือหลักธรรมของ พระพุทธเจ้าก็มีนัยเช่นเดียวกัน การที่เราให้ความเคารพกราบไหว้สักการะก็โดยมาระลึกถึงว่า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีการเป็นอยู่อย่างสงบ ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครๆ พร้อมกันนี้ท่านยังดำรงภาวะเป็นเนื้อนาบุญอันเอกอุของชาวโลก ดังนั้นเมื่อเราจะกราบไหว้เราก็กล่าวคำว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สงฺฆํ นมามิ-พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ชื่อว่าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้านอบน้อมกราบไหว้พระสงฆ์นั้น ถ้าพระสงฆ์มีการปฏิบัติไม่ดีเราก็ไม่กราบ เรากราบผู้ที่ท่านปฏิบัติดี อย่างนี้ชื่อว่า กราบถูก มิฉะนั้นจะเป็นว่าเรากราบคนหรือธาตุ ๔ เท่านั้น ดังนั้นขณะที่เรากราบโดยกล่าวคำระลึกดังที่กล่าวมาแล้วและมีพระสงฆ์อยู่ต่อเฉพาะหน้าเรา อาจจะไม่ถูกเรากราบ ถ้าพระสงฆ์รูปนั้นปฏิบัติไม่ดี เมื่อทำได้ดังกล่าวชื่อว่าเรากราบได้อย่างถูกต้องไม่ผิดพลาด

สรุปแล้วกราบไหว้ใด ๆ ก็ตามถ้าเรากราบโดยยึดเอาคุณธรรมเป็นที่คงเป็นหลักแล้ว เราจะไม่มีการกราบผิดเลยเพราะการกราบไหว้โดยท้าวความถึงคุณธรรมนั้นจึงจะชื่อว่าเป็นเหตุผล หรือสมกับเหตุผลนั้นก็คือ กราบได้ไม่ผิดจึงจะได้รับความสงบร่มเย็นเป็นบุญ ฯ

ผู้เขียนรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจมาก ที่ได้ฟังโยมเขาอธิบายถึงคำสั่งสอนของท่านอาจารย์มั่น ฯ ที่เขาได้พากันจดจำเอาไว้และได้นำมาเล่าให้ฟังได้อีกจึงทำให้ได้ ความจริงมาอีกข้อหนึ่งว่า ท่านอาจารย์ท่านได้สอนคนบ้านนอกที่กลการศึกษาให้เข้าใจถึงข้อเท็จจริงซึ่งบางทีอาจจะดีกว่าผู้ที่ศึกษาแล้วอยู่ในเมืองหลวงเสียอีก....

โยมคนนั้นได้เล่าถึงท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านสอนต่อไปว่า ศาสนา คือตัวของเราและอยู่ที่ตัวของเราเพราะเหตุไร ? ก็เพราะว่า ตัวตนของคนเรานี้เป็นที่ตั้งของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมก็ทรงแสดงถึง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ปฏิบัติก็ให้ปฏิบัติที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และที่ใจ ไม่เห็นให้ปฏิบัติที่อื่น ๆ

นอกจากที่ดังกล่าว บางคนก็ว่า ศาสนาอยู่ในคัมภีร์ใบลาน

โยมคนนั้นได้เล่าให้ฟังว่า ไม่ใช่อยู่ในคัมภีร์ใบลาน ก็ในใบลานหรือในกระดาษหนังสือทั้งหลาย ก็คนเรานั่นแหละไปจารึกไว้หรือไปเขียนไว้และทำมันขึ้นมา ซึ่งถ้าคนไม่ไปเขียนหรือไปทำมันขึ้นมา มันจะเป็นหรือมีขึ้นมาได้อย่างไร

บางคนว่าศาสนาอยู่ในวัดวาอารามหรือพระสงฆ์

โยมคนนั้นก็ได้รับอรรถาธิบายจากท่านอาจารย์มั่น ฯ ว่า วัดนั้นใครเล่าไปสร้างไห้มันเกิดขึ้น ก็คนนั้นแหละ พระสงฆ์ใครเล่าไปบวช ก็คนนั่นแหละบวชขึ้นมา ก็เป็นอัน ศาสนาอยู่ที่ตัวของเรา. ..

การที่เราจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติศาสนา จึงเป็นสิ่งที่ตัวเราจะต้องมีความรับผิดชอบ ถ้าไม่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ คือการละบาป บำเพ็ญบุญ เราจะต้องไปทำชั่วซึ่งผิดศีลธรรมก็ต้องถูกลงโทษให้ได้รับความทุกข์ทรมาน ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบคือละความชั่วประพฤติความดี ผลที่เกิดขึ้นก็คือความสุขสงบ และความหลุดพ้นจากทุกข์ในที่สุด นี้ก็คือการปฏิบัติพระพุทธศาสนาแล้วก็มีผล คือการปฏิบัติโดยการยกตัวของตนขึ้นจากหล่มหลุมแห่งวังวนวัฏสงสารเป็นต้น. . 

ผู้เขียนได้ฟังแล้วรู้สึกจับใจและมาเข้าใจว่า คนที่อยู่ในตำบลนอก ๆ ห่างไกล ก็ยังมีความรู้ซึ้งในพระพุทธศาสนาได้ก็นับว่ายังดีมาก แต่ก็เกิดขึ้นจากท่านผู้รู้ที่ยอมเสียสละความสุขส่วนตัวโดยเข้าไปสอนให้รู้ธรรมได้   

ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้เล่าให้ฟังต่อไปอีกว่า

สำหรับอำเภอพร้าวนี้มีภูมิทำเลเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางใจ และเป็นสถานที่แปลกประหลาดอยู่ เพราะมีภูเขาเรียงรายอยู่ทั่ว ๆ ไป ที่แปลกคือ ภูเขาวงล้อมเป็นเหมือนกำแพงเมือง มองดูแต่ไกลสูงตระหง่านง้ำตั้งอยู่เป็นระยะ ๆ แลตอนใดที่เขาไม่จรดถึงกันก็ปรากฏเป็นช่องเขาขาด ดูประดุจหนึ่งประตูของกำแพงเมือง บริเวณเหล่านี้เราจะเลือกเอาเป็นสถานที่สำหรับทำความเพียรได้สบายมาก เพราะบริเวณนี้แวดวงด้วยขุนเขาและป่าละเมาะโปร่งสบาย ทุ่งนาก็มีเป็นแห่ง ๆ สลับกับลำธารห้วยระแหงซึ่งมีอยู่โดยทั่ว ๆ ไป พร้อมกันนี้หมู่บ้านก็ตั้งเรียงรายอยู่กันเป็นหย่อม ๆ มากบ้างน้อยบ้าง พอได้อาศัยเป็นโคจรคามบิณฑบาตตามสมควร...

ท่านจึงปรารภในใจว่า สมควรจะได้อยู่พักเพื่อการบำเพ็ญให้นานสักหน่อย ประกอบกับลูกศิษย์ลูกหาของท่าน ที่ได้รับคำสั่งสอนและปฏิบัติตามมรรคาที่ท่านได้แนะนำพร่ำสอนแล้วก็ได้รับผลพอสมควร แต่ก็ยังมีข้อสงสัย หรือไม่ก็ผลที่ตนได้รับนั้นยังไม่เป็นที่พอใจ ซึ่งก็ได้พากันพยายามติดตามหาท่านอยู่ตลอดมา ส่วนมากก็อยู่ทางภาคอีสาน และเมื่อท่านได้มาอยู่ทางภาคเหนือ จึงพยายามเดินทางมาหาท่านเท่าที่โอกาสจะอำนวยให้ จึงปรากฏว่าได้มีพระภิกษุสามเณรทางภาคอีสานเป็นจำนวนไม่น้อย ได้พากันเดินทางมาพบท่านที่เชียงใหม่ และเมื่อได้ข่าวว่าท่านอยู่ที่อำเภอพร้าว จึงได้ไปหาที่นั่น แล้วก็มีมากขึ้นตามลำดับ เพราะแต่ก่อนท่านพยายามไม่อยู่ที่ไหนนาน ผู้ติดตามไม่ใคร่จะพบ เมื่อท่านอยู่อำเภอนี้นานเข้า ทำให้มีการเล่าลือว่าท่านอยู่แห่งนี้นาน พระภิกษุสามเณรผู้ได้รับความเย็นใจจากท่านก็ได้โอกาสรีบติดตามเพื่อจะได้พบ และต้องการฟังธรรมเทศนาของท่าน

ท่านเล่าว่า ในระยะนี้เราต้องการที่จะพบกับลูกศิษย์ลูกหาเหมือนกัน เพราะจะได้ปรับความเข้าใจในเรื่องปฏิบัติทางใจให้มีความละเอียด และมีหลายสิ่งหลายอย่างที่จะต้องปรับปรุง เพราะการปฏิบัติจิตใจ จะต้องศึกษาให้รอบคอบ เนื่องจากว่าเป็นนามธรรมเป็นสิ่งที่จะต้องมีประสบการณ์ในตนเอง คือการกระทำที่เกิดขึ้นในใจนั้นมีหลายอย่างที่จะต้องใช้ปัญญาวิจารณ์ หาเหตุผลเพื่อให้การดำเนินไปในทางที่ถูกต้องจริง ๆ เปรียบเทียบเท่ากับพระไตรปิฎกในคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในปีนี้มีพระอาจารย์ที่เคยเป็นศิษย์ของท่าน ในขณะเมื่อท่านได้แนะนำสั่งสอนอยู่ในภาคอีสานจำนวนมาก ได้เริ่มคิดถึงท่านที่ได้จากมาอยู่ทางภาคเหนือหลายปีแล้ว จึงต่างก็ได้คิดจะติดตาม เพราะขณะที่ได้อยู่กับท่านนั้นได้รับผลทางใจมากเหลือเกินจนมีความมหัศจรรย์มาก มีอุปมาเหมือนเปิดของที่ปิด หงายของที่คว่ำ....

ซึ่งในขณะนั้นการปฏิบัติทางด้านจิตใจยังงมงายกันมาก หากท่านอาจารย์มั่นฯได้มาปรับปรุงแนะนำปฏิบัติเข้าทาง จึงทำให้เกิดความจริงขึ้นจนเป็นที่เชื่อมั่นในตนอย่างหนักแน่นเข้า ข่าวความดีของการปฏิบัติทางด้านจิตใจหรือการปฏิบัติกัมมัฏฐานได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้หวังดีอยากพ้นทุกข์ ได้น้อมตัวเข้ามาเป็นศิษย์เพื่อการอยู่ปฏิบัติกับท่านจำนวนมากขึ้น ทั้งพระธรรมยุตและพระมหานิกาย เพราะการปฏิบัติทั้งทางด้านพระธรรมวินัยและการปฏิบัติธุดงค์ ตลอดถึงกิจวัตรต่าง ๆ ได้แนะนำและพาปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและเหมาะสม ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีหมู่ใดคณะใดกระทำได้ เพราะผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามปฏิปทาของท่านอาจารย์มั่นฯ นั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการตื่นตัวในเรื่องของการปฏิบัติทางใจมากขึ้น แม้จะอยู่ในวงของภิกษุแต่ก็มั่งคั่งและแผ่ออกถึงญาติโยมในปัจจุบัน ในระยะเพียงไม่กี่ปี ความขยายตัวของคณะปฏิบัติก็กว้างขวางออกไปอย่างมากพอสมควรทีเดียว นับเป็นประโยชน์ทั้งแก่ภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกา

ในระยะแรกนี้ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้พาคณะศิษย์เที่ยวธุดงค์ เพื่อวิเวกวกเวียนอยู่เฉพาะภาคอีสานในถ้ำภูเขา ป่าใหญ่ เพราะการธุดงค์นั้นมีความมุ่งหมายที่จะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติทางใจจริงๆ ในกรณีนี้ท่านเองมีความชำนาญลู่ทางการไปมามาก ท่านจึงแนะนำแก่ศิษย์ได้ถูกต้อง ควรจะไปอยู่ถ้ำโน้นถ้ำนี้ เขาโน้นเขานี้ หรือป่าโน้นป่านี้เป็นต้น เมื่อได้ธุดงค์ไปทำความเพียรในที่ต่าง ๆ ปฏิบัติได้ผลอย่างไร ทุก ๆ องค์ก็นำไปศึกษากับท่านต่อไป และทุกครั้งที่มีการศึกษานั้นก็จะรับความกระจ่างแจ้งอย่างดียิ่ง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผลเกิดขึ้นทำให้ได้รับความก้าวหน้าของการดำเนินได้เป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งยังไม่เคยมียุคใดในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่จะบังเกิดผลแห่งการปฏิบัติด้านจิตใจที่ยิ่งใหญ่เหมือนกับครั้งที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้กระทำขึ้น ที่กล้ากล่าวเช่นนี้เพราะเป็นความจริงซึ่งผลปรากฏจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่ดำเนินจิตเป็นลูกศิษย์ของท่านนั้น นับมาแต่ ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล พระอาจารย์เทสก์ เทสรงฺสี พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์แหวน สุจิณฺโน พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ พระอาจารย์ขาว อนาลโย พระอาจารย์ชอบ พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปณฺโณ รุ่นสุดท้ายก็ผู้เขียน และพระอาจารย์วัน อุตฺตโม ยังมีอีกนับได้กว่า ๘๐๐ องค์ ที่เป็นศิษย์ของท่าน ทั้งยังมีชีวิตอยู่และทั้งมรณภาพไปแล้ว ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ได้ทำกิจพระศาสนา ได้รับผลประโยชน์อย่างยิ่งทั้งตัวของท่านและผู้อื่น

ผู้เขียนจึงกล้าพูดว่า ไม่มียุคใดที่การปฏิบัติจิตใจได้ถูกฟื้นฟูขึ้นเท่ากับยุคนี้ แต่ก่อนพระอาจารย์มั่น ฯ เริ่มปฏิบัตินั้นก็ยังไม่เห็นมีการปฏิบัติกันเท่าไร และดูยังลึกลับอยู่มาก หลังจากศิษย์ของท่านได้รับความจริงในด้านนี้ แล้วนำเผยแพร่ทั่วประเทศไทย ความตื่นตัวเรื่องการปฏิบัติจึงมีขึ้น เนื่องจากว่าอุบาสกอุบาสิกาได้รับ ผลคือความเยือกเย็นสบาย เห็นความบริสุทธิ์แท้จริงจากศิษย์ของอาจารย์มั่น ฯ มากขึ้นตามลำดับ เพื่อนำมาปฏิบัติทางด้านจิตใจกันขึ้นมาก ถ้าหากไม่รีบหาวิธีปฏิบัติแล้วญาติโยมอุบาสกอุบาสิกา ก็จะต้องหันมาศึกษาการปฏิบัติกับพระที่เป็นศิษย์ท่านอาจารย์มั่น ฯ เสียหมด จะทำให้ประโยชน์บางประการของคนอื่นต้องเสียหมดไป จึงปรากฏมีการตื่นตัวของสำนักวิปัสสนามากมายเกิดขึ้น ถูกบ้างผิดบ้างไปตามเรื่องของศาสนาแต่ละคณะ

ผู้เขียนก็ได้รับประสบการณ์จากศิษย์พระอาจารย์มั่น ฯ เช่นเดียวกัน เพราะขณะนั้นผู้เขียนอายุเพียง ๑๓ ปีเท่านั้น และขณะนั้น พ.ศ. ๒๔๗๖ ก็มาได้ความดีของการปฏิบัติจิต อย่างน่าพิศวง จนถึงกับบวชปฏิบัติกับศิษย์พระอาจารย์มั่น ฯ จนได้ติดตามปฏิบัติถึงกับได้ไปอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ฯ แต่ก่อนนี้ผู้เขียนยังไม่เห็นมีการปฏิบัติวิปัสสนาเลย ผู้เขียนเองยังถูกชาวบ้านเขาตำหนิว่า การปฏิบัติวิปัสสนานั้นเดี๋ยวจะบ้า แล้วเขาพูดว่าไม่มีประโยชน์ บางพวกก็พูดว่า มรรคผลไม่มีแล้ว ดู ๆ มันมืดมนเหลือเกิน ในครั้งนั้นผู้เขียนยังว่าไม่มียุคใดในกรุงรัตนโกสินทร์ที่จะเหมือนกับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ได้ฟื้นฟูการปฏิบัติวิปัสสนาเจริญถึงขั้น

 หน้าที่