#echo banner="" ประวัติพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตเถระ ฉบับสมบูรณ์ โดยพระอาจารย์วิริยังค์ 9

ประวัติพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตเถระ ฉบับสมบูรณ์

พระญาณวิริยาจารย์ (พระอาจารย์วิริยังค์)

เจ้าอาวาส วัดธรรมมงคล แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ

ตอนที่ ๓

ตอนที่                            

พ.ศ. ๒๔๕๙

ถ้ำภูผากูด กิ่งคำชะอี จังหวัดนครพนม

เมื่อออกพรรษา ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลฯ ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้กราบลาพระกรรมวาจาจารย์ เพื่อไปติดตามพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร ซึ่งขณะนั้นท่านจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำภูผากูด เมื่อทราบแน่แล้วท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้เดินโดยเท้าเช่นพระธุดงค์ทั้งหลาย ท่านเล่าว่า ทางรถยนต์ไม่มีรถยนต์วิ่ง นับเป็นเวลาเดือน ๆ ก็ไม่เห็นสักคันหนึ่ง ตามทางที่ท่านไปก็เป็นดงดิบ ล้วนแต่ต้นไม้ใหญ่ ๆ เช่น ต้นตะเคียน ต้นยาง ต้นประดู่ ต้นตะแบก และสารพัดไม้นั้นเป็นไม้ใหญ่ บางต้น ๙ อ้อม ๑๐ อ้อม แลดูไม่เห็นพระอาทิตย์ทีเดียว เป็นป่าเปลี่ยวจริงๆ ขณะที่เดินธุดงค์เห็นว่าที่ไหนเหมาะ ก็แวะพักทำความเพียรกันเป็นเวลา ๕ วัน หรือ ๗ วัน

ขณะที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ กำลังเดินธุดงค์ระหว่างทางยังไม่ถึงถ้ำภูผากูดนั้น ท่านได้คิดถึงอาจารย์ของท่านมากและก็วันหนึ่งหลังจาการพักผ่อนการเดินทาง ซึ่งเร่งเดินเป็นวัน ๆ มาแล้วอย่างเหน็ดเหนื่อย ท่านได้พิจารณาถึงท่านอาจารย์เสาร์ที่เป็นอาจารย์ของท่าน และได้ระลึกถึงที่ท่านได้ทราบภายในญาณเมื่อคราวที่ท่านอยู่ที่ถ้ำสาริกาว่า ท่านอาจารย์ของท่านปรารถนาปัจเจกโพธิ

ถ้าหากว่าท่านยังมีจิตกังวลในการปรารถนาเช่นนั้น การทำความเพียรเพื่อความพ้นทุกข์ก็จะสำเร็จไปไม่ได้ เช่นเดียวกับเราเหมือนกัน เพื่อความปรารถนาพระโพธิญาณยังฝังอยู่ในจิต เราก็ไม่สามารถดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจจ์ เพื่อความหมดจดจากกิเลสได้ ถ้าเราไปพบท่านอาจารย์ของเรา ๆ ก็จะต้องแนะนำให้ท่านเลิกจากการปรารถนาเช่นนั้นเสีย จะเป็นผลสำเร็จหรือไม่หนอ

นี้เป็นการรำพึงภายในการเป็นสมาธิละเอียดของท่านอาจารย์มั่นฯ แต่เมื่อท่านได้สละความคิดนั้นเพื่อมิให้กังวลใจแล้ว และท่านก็ได้ธุดงค์เรื่อยๆ ไปจนใกล้จะถึงถ้ำภูผากูด โดยรอบบริเวณภูเขาอันเป็นถ้ำแห่งนี้นั้นเป็นภูมิประเทศที่เป็นป่าไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ไม้มะค่า แต่ไม่เป็นดงทึบเหมือนกับดงอื่นๆ จึงทำให้บริเวณนั้นมีอากาศปลอดโปร่งดี ถ้ำแห่งภูเขาแถวนั้นก็ไม่อับชื้น ทั่วบริเวณจึงเป็นสถานที่ที่จะพึงอาศัยเป็นเวลาแรมปีได้ ถ้าเป็นดงดิบมองไม่เห็นพระอาทิตย์แล้วจะอยู่กันนานไม่ได้เพราะจะทำให้สุขภาพเสีย

โดยที่ท่านอาจารย์เสาร์ท่านได้เลือกเอาสถานที่แห่งนี้อยู่ถึง ๕ ปี และท่านก็ยังมีสุขภาพดีเป็นปรกติเหมือนกับอยู่ในวัดธรรมดา นับว่าท่านอาจารย์เสาร์มีความรู้ความชำนาญในการอยู่ป่าอย่างยิ่ง

ท่านอาจารย์มั่น ๆ ท่านว่าเราได้เดินมองพิเคราะห์ดูแล้วเป็นที่เหมาะสมจริง ๆ เพราะมีธารน้ำเล็กๆ ไหลไม่ขาด อยู่ที่ตรงกลางทางที่จะขึ้นถ้ำพอดี คำว่าภูผากูด คือมีผักกูดขึ้นอยู่ตามตลิ่งธารน้ำนั้นมาก เมื่อผักกูดขึ้น ผักที่จะขึ้นตามผักกูดมาก็เช่นผักหนาม ผักเต่าเกียด

ในคราวนั้นท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ทราบว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ ธุดงค์ไป ท่านก็ธุดงค์ตามไปติด ๆ กับท่านอาจารย์มั่นฯ แต่พอก่อนจะถึงถ้ำภูผากูด ท่านก็ล้มเจ็บเป็นไข้จึงได้เดินทางกลับมารักษาตัวอยู่ที่จังหวัดอุบล ฯ เมื่อท่านหายป่วยแล้วก็ได้ติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ ไป เพื่อหวังในการศึกษาธรรมปฏิบัติอีก โดยมิได้มีการย่นย่อท้อถอยแต่ประการใด

ครั้นเมื่อท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้เดินจนกระทั่งถึงและขึ้นไปบนถ้ำภูผากูด เมื่อวางบริขารไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ท่านก็เข้าไปนมัสการท่านอาจารย์เสาร์ ซึ่งท่านอาจารย์เสาร์ได้รู้ล่วงหน้าและเตรียมสถานที่ไว้คอยรับศิษย์รักอันจากกันไป นานอยู่แล้ว ท่านอาจารย์ มั่นฯ ได้เข้าไปกราบนมัสการสนทนาปราศรัยตามสมควรแล้วก็ไปพัก ณ บริเวณแห่งหนึ่ง ตามอัธยาศัย และท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ตั้งใจจะจำพรรษา ณ ถ้ำนี้กับท่านอาจารย์เสาร์

ในระหว่างพรรษาทั้งศิษย์และอาจารย์ก็ได้ปรึกษาสนทนาในเรื่องธรรมปฏิบัติแทบทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์มั่นฯ ได้พูดขึ้นว่า

“ท่านอาจารย์ได้พิจารณาอริยสัจธรรมหรือไม่ ?”

ท่านอาจารเสาร์ได้ตอบว่า“ เราก็ได้พิจารณาเหมือนกัน”

“ได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง ?” ท่านอาจารย์มั่นฯ ถาม

“ได้ผลเหมือนกันแต่ไม่ชัดเจน” ท่านอาจารย์เสาร์ตอบ

“เพราะเหตุไรบ้างครับ ?” ท่านอาจารย์มั่น ฯ ถาม

“เราได้พยายามอยู่ คือพยายามคิดถึงความแก่ความตาย แต่ว่าบางคราวมันก็ไม่แจ่มแจ้ง” ท่านอาจารย์เสาร์ตอบ

“ถ้าเช่นนั้นคงมีอะไรเป็นเครื่องห่วงหรือกระมัง ?” ท่านอาจารย์มั่นฯ ถาม

“เราก็พยายามพิจารณาเหมือนกัน แต่ก็หาสิ่งขัดข้องไม่ได้” ท่านอาจารย์เสาร์ตอบ และได้กล่าวต่อไปว่า “ความจริงความสว่างของดวงจิตนั้นก็เป็นปรกติดีอยู่ แม้มันจะดีบ้าง ไม่ดีบ้าง มันก็เรื่องธรรมดาของสมาธิ แต่ว่าเมื่อจิตพิจารณาทีไรรู้สึกว่าไม่ก้าวไป”

ท่านอาจารย์ มั่นฯ จึงกล่าวว่า “กระผมคิดว่าคงมีอะไรสักอย่างเป็นเครื่องห่วง”

ท่านอาจารย์เสาร์ตอบว่า “และเธอรู้ไหมว่าเรามีอะไรเป็นเครื่องห่วง ?”

ท่านอาจารย์มั่นฯ เห็นเป็นโอกาสที่จะได้ถวายความรู้ในครั้งอยู่ถ้ำสาลิกาโน้นจึงได้ตอบทันทีว่า “ท่านอาจารย์ห่วงเรื่องการปรารถนาเรื่องปัจเจกโพธิกระมังครับ “

ท่านอาจารย์เสาร์ตอบว่า

“แน่ทีเดียว ในจิตใจเราตั้งอยู่ว่า จะขอให้รู้ธรรมเองโดยมิต้องให้ใครมาแนะนำหรือบอกให้ และมันก็ตั้งอยู่ในใจของเรามาตลอด”

ท่านอาจารย์มั่น ฯ จึงขอความกรุณาแล้วบอกท่านอาจารย์เสาร์ว่า ขอให้ท่านอาจารย์อย่าเป็นห่วงเลย ขอให้พิจารณาอริยสัจเพื่อความพ้นทุกข์เสียแต่ชาตินี้เถิด เพราะกระผมเองก็ปรารถนาพระโพธิญาณ และกระผมก็ได้ละความปรารถนานั้นแล้ว เนื่องด้วยว่าการท่องเที่ยวในสังสารวัฏฎ์นี้มันนานเหลือเกิน

ในวันนั้นท่านอาจารย์เสาร์ต้องประหลาดใจที่ศิษย์ของท่านได้ล่วงรู้ถึงความจริง อันปรากฏอยู่ในใจของท่าน ซึ่งท่านไม่เคยปริปากบอกใครเลย ฉะนั้นจึงทำให้ท่านรู้สึกว่า ท่านอาจารย์มั่นฯ นี้ ต้องมีความดีความจริงความชัดเจนในใจอย่างแน่นอน ในวันนั้นก็ได้คุยกันเพียงเท่านี้แล้วก็เลิกกันไป

อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์เสาร์ได้ไปนั่งอยู่ที่สงัดเฉพาะองค์เดียว เริ่มด้วยการพิจารณาถึงอริยสัจจ์โดยอุบายอย่างหนึ่งคือ การพิจารณากายจนชัดแจ้งประจักษ์เกิดนิพพิทาญาณความเบื่อหน่ายขึ้น และท่านก็เริ่มดำเนินจิต เจริญให้มาก กระทำให้มากจนเป็นญาณ สามารถทวนกระแสมาถึงที่ตั้งของจิตได้ และวันนั้นท่านก็ตัดเสียซึ่งความสงสัยได้อย่างเด็ดขาด เมื่อได้รับการอธิบายจากท่านอาจารย์มั่นฯ ซ้ำอีกว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ควรจะเจริญให้มากจนกว่าจะพอแก่ความต้องการ เมื่อจวนถึงกาลปวารณาออกพรรษาท่านก็ทราบชัดถึงความเป็นจริงทุกประการ และท่านก็บอกแก่อาจารย์มั่นฯ ว่า เราได้เลิกการปรารถนาพระปัจเจกโพธิแล้ว และเราก็ได้เห็นธรรมจริงแล้ว

เมื่อท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้ฟังก็ได้พูดให้ความแน่ใจว่า เป็นจริงเช่นนั้นแล้ว ต่างก็มีความอิ่มเอิบในธรรม ระยะเวลานั้นท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านมีพรรษา ๒๖ พรรษา ท่านได้ปฏิบัติท่านอาจารย์เสาร์เหมือนกับท่านเป็นพระใหม่ คือปฏิบัติตั้งแต่การล้างบาตร ซักจีวร ปูที่นอน ตักน้ำถวายสรง ถูหลัง ทุกประการ ซึ่งแม้อาจารย์เสาร์จะห้ามไม่ให้ทำ แต่ท่านก็ปฏิบัติได้โดยมิได้มีการแข็งกระด้างแต่ประการใด

ก่อนเข้าพรรษาปรากฏว่ามารดาของท่านอาจารย์มั่น ฯ ซึ่งยังกระหายต่อการปฏิบัติศึกษาธรรมอยู่มิวาย จึงอุตส่าห์ล้มลุกคลุกคลานตามวิบากของคนแก่ติดตามไปที่ถ้ำภูผากูด เพื่อศึกษาอบรมตนให้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมปฏิบัติ ท่านอาจารย์เสาร์จึงได้บวชชีให้อยู่ปฏิบัติ ณ ถ้ำนี้โดยจองเอาที่เงื้อมแห่งหนึ่งเป็นที่ปฏิบัติธรรม เร่งความเพียรทั้งกลางวันทั้งกลางคืนอยู่ที่ถ้ำนั้น

ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม หลังจากหายป่วยแล้วก็ติดตามไปปฏิบัติกับท่านอาจารย์มั่น คือไปทุกหนทุกแห่ง ซึ่งเริ่มติดตามพบที่ถ้ำในปีนี้เอง

พ.ศ.๒๔๖๐

บ้านดงปอ ห้วยหลวง อำเภอเพ็ง

ในพรรษานี้ ท่านอาจารย์มั่น ฯ จำพรรษาที่ป่าแห่งหนึ่ง ที่บ้านดงปอ ต.ห้วยหลวง อ.เพ็ง หลังจากที่ท่านได้เปิดศักราชแห่งการปฏิบัติธรรมอย่างได้ผลแล้ว ท่านก็เริ่มอบรมพระภิกษุสามเณรอย่างเด็ดเดี่ยวจริงจัง เพื่อผลงานในด้านนี้ของพระพุทธศาสนาจะได้เด่นขึ้น อันจักเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ในปีนี้บรรดาพระภิกษุที่หลายผู้เคยได้รับรสพระธรรมจากท่าน และผู้ที่ได้เคยสดับแต่กิตติศัพท์ก็ได้ติดตามมาปฏิบัติกับท่าน

การจำพรรษาของท่าน ท่านไม่ต้องการอยู่รวมกันหลายองค์ เพราะจะทำให้ไม่วิเวก ดังนั้นท่านจึงตรวจดูเฉพาะองค์ที่กำลังจะได้รับผลที่แน่นอนให้จำพรรษาอยู่กับท่าน เพื่อที่จะได้แนะนำตลอดระยะเวลา เพื่อความก้าวหน้าไม่หยุดยั้งของศิษย์

ส่วนผู้ที่กำลังจะทำการอบรมเพื่อรอความแก่กล้าของสมาธิ ท่านก็แนะนำให้ไปอยู่แห่งละองค์สององค์ จะได้อบรมตนให้ยิ่งไม่ต้องกังวลกับใคร แต่พอเมื่อสงสัยในการปฏิบัติเกิดขึ้น ท่านเหล่านั้นจะมาหาให้ท่านอาจารย์ช่วยแก้ความสงสัยเป็นราย ๆ ไป การที่บรรดาศิษย์ได้ไปอยู่ตามสถานที่ต่าง.ๆ มิใช่ว่าท่านจะทอดธุระเสียแต่อย่างใด ท่านต้องใช้ญาณภายในตรวจตราพร้อมทั้งคอยสดับตรับฟังข่าวอยู่ตลอดเวลา ท่านพิจารณาเห็นเหตุการณ์ของศิษย์แล้วถ้าเป็นเหตุสำคัญ ท่านจะใช้ให้พระหรือโยมไปตามพระองค์นั้นมาหาท่านทันที เพื่อจะได้แก้ไขเหตุการณ์ให้ดำเนินไปเพื่อความถูกต้อง และได้ผลเป็นประมาณ

เช่นคราวหนึ่ง ท่านจำพรรษาอยู่ที่บ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร มีอาจารย์องค์หนึ่งพักอยู่บนภูเขาเรียกกันว่าภูค้อ อาจารย์องค์นั้นไม่ฉันอาหารตลอด ๓ เดือน ผู้คนได้แตกตื่นกันไปหาท่านอย่างล้นหลาม แต่อาจารย์องค์นั้นไม่ได้เป็นศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น ฯแต่อย่างใด ท่านจึงเพียงแต่แนะนำศิษย์ของท่านว่า การไปอยู่ป่าอยู่เขาทำอย่างนั้นไม่ถูกต้อง เพราะไปทำอภินิหารอดอาหาร อยู่ถ้ำเพื่อที่จะให้คนไปหาเป็นการผิดวิสัย พวกเราอย่าได้พากันทำเช่นนั้นเพราะตามความเป็นจริงแล้ว การอยู่ป่าต้องทำตัวเก็บตัวแสวงหาความสงบด้วยใจจริง โดยความบริสุทธิ์ในการแสวงหาธรรมปฏิบัติ การอยู่ป่าอยู่เขาโดยการเพื่อแสวงหาลาภหาปัจจัยนั้นไม่ถูกต้อง พวกเธอถ้าหากว่าจะพึงแสวงหาความสงบแล้ว ต้องอย่าไปทำอะไรที่ชวนให้คนหลงตามไปหา ซึ่งมันจะไม่เป็นการบริสุทธิ์ใจของนักปฏิบัติ

การควบดุมการปฏิบัติของศิษย์นั้น ท่านพิถีพิถันมาก พยายามติดตามดูความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ถ้าท่านได้พิจารณาเห็นว่าศิษย์รูปนั้นจะเป็นผู้มีนิสัย วาสนาเป็นผู้ที่ปฏิบัติเข้มแข็งและจะพึงเห็นอรรถเห็นธรรมในเบื้องหน้าแล้ว ท่านยิ่งจะติดตามคอยแนะนำการปฏิบัติให้ทุกระยะ ตัวอย่างเช่น ท่านอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นน้องชายของท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้เข้ามามอบตัวเป็นศิษย์ของท่าน หลังจากนั้นท่านก็ได้พิจารณาเห็นว่าท่านมหาปิ่นนี้มีบุญวาสนา ได้บำเพ็ญมาพอสมควรที่จะเห็นอรรถธรรมได้ ท่านจึงพยายามแนะนำธรรมปฏิบัติให้อย่างละเอียดและลึกซึ้ง

อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์มหาปิ่น ท่านนั่งพักอยู่ในกุฏิหลังเล็กมุงหลังคาแฝกในเสนาสนะป่าซึ่งท่านก็ได้ผ่านการนั่งสมาธิมาแล้ว ๒ ชั่วโมง เป็นเวลาประมาณ ๒๓.๐๐ น.เศษ พลางท่านก็ได้นึกไปถึงอาจารย์มั่นฯ ว่า

“ท่านอาจารย์มั่นมิได้ร่ำเรียนพระปริยัติธรรมมากเหมือนเรา ท่านจะมีความรู้กว้างขวางได้อย่างไร เราได้ร่ำเรียนมาถึง ๕ ประโยค จะต้องมีความรู้กว้างขวางมากกว่าท่าน และที่ท่านสอนเราอยู่เดี๋ยวนี้จะถูกหรือมิถูกประการไรหนอ”

ก็ขณะนั้นเองท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านนั่งอยู่กุฏิของท่านห่างกันคนละมุมวัด ท่านก็ทราบวาระจิตของท่านมหาปิ่นทันทีว่า กำลังจะคิดดูถูกท่านอยู่ และการคิดเช่นนี้ย่อมเป็นภัยแก่การบำเพ็ญสมณธรรมอย่างยิ่ง ท่านจึงลุกขึ้นถือไม้เท้าเดินไปที่กุฏิมหาปิ่นทันที และเอาไม้เท้าเคาะข้างฝาที่ทำด้วยใบไม้ดังปั๊บ ๆ แล้วก็ส่งเสียงขึ้นว่า

“ ท่านมหาปิ่น นี่เธอจะมานั่งดูถูกเราด้วยเหตุไร ? การคิดเช่นนี้เป็นภัยต่อการบำเพ็ญสมณธรรมจริงหนา มหา”

มหาปิ่นได้ฟังตกใจสุดขีด เพราะมิได้นึกฝันเลยว่า เรานั่งคิดอยู่คนเดียวในเวลาที่ดึกสงัดเช่นนี้ ท่านอาจารย์มั่น ฯ จะมาล่วงรู้วาระจิตของเราได้ จึงรีบลุกขึ้นจากกุฏิตรงเข้าไปกราบเท้าท่านอาจารย์มั่น ฯ รีบกราบเรียนว่า

“กระผมกำลังนึกถึงท่านอาจารย์ในด้านอกุศลจิต กระผมขอกราบเท้า จงอโหสิกรรมให้แก่กระผมเถิด ตั้งแต่วันนี้ต่อไปกระผมจะบังคับจิตมิให้นึกคิดถึงสิ่งที่เป็นอกุศลจิตอย่างนี้ต่อไปอีก”

(ตรงนี้ผู้เขียนขอแทรกข้อความตอนเชียงใหม่ให้ผู้อ่านได้ทราบตอนสำคัญไว้ เพราะจะรอเขียนตอนท่านอยู่เชียงใหม่ก็จะไม่ทันใจผู้เขียนและผู้อ่าน)

เมื่อท่านพักอยู่บนภูเขากับพวกมูเซอร์ ในจังหวัดเชียงใหม่ มีพระหลวงตา (หมายถึงผู้มีครอบครัวแล้วถึงบวช) ๓ องค์ ได้พยายามติดตามถามข่าวหาท่านอาจารย์มั่นฯ อยู่ถึง ๓ ปี จึงได้ข่าวว่าอยู่บนภูเขากับพวกมูเซอร์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อรู้ชัดแน่แล้วจึงรีบไปเพื่อที่จะได้พบท่านทั้ง ๓ หลวงตาก็เดินทางปีนป่ายภูเขาขึ้นอย่างความตั้งใจจริง ไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากแต่ประการใด เพราะตั้งใจมานานแล้ว พึ่งจะใกล้ความสำเร็จ ซึ่งทั้ง ๓ หลวงตาคงจะเข้าใจว่า เมื่อพบท่านแล้วคงจะได้ธรรมแสงสว่างไม่ยากนัก จึงได้อุตส่าห์ติดตามเป็นเวลานาน ก็พอดีเป็นเวลาเย็นประมาณบ่าย ๕ โมง จึงได้ถึงสถานที่อาจารย์มั่นฯ อยู่ เมื่อถึงแล้วก็เข้าไปนมัสการท่าน ท่านกำลังฉันน้ำร้อนอยู่ มีพระเณรอยู่ด้วย ๒-๓ องค์ คอยปรนนิบัติอยู่ เมื่อหลวงตาทั้ง ๓ กราบแล้วท่านก็ถามว่า เธอตามหาเรามานานแล้ว วันนี้มาจากไหน สามหลวงตาก็งงเป็นที่สุดว่าท่านรู้ได้อย่างไร และก็ตอบพร้อมกันว่า วันนี้มาจากอำเภอสันทราย แล้วท่านก็ให้พระไปจัดสถานที่อยู่ให้ตามจะพึงมี

จำเดิมแต่นั้นหลวงตาทั้งสามก็พยายามปฏิบัติตามโอวาทของท่านอยู่อย่างเต็มความสามารถ ทั้งสามหลวงตาเล่าว่า ไม่ว่าพวกฉันจะนึกอยากฟังธรรมข้อใด ท่านจะต้องเทศน์ธรรมข้อนั้นให้ฟังโดยไม่ต้องออกปากถามเลย ฉันอัศจรรย์ใจจริง แต่....อยู่มาวันหนึ่ง ฉันทั้งสามได้ไปนั่งอยู่บนหินก้อนใหญ่งามมาก หลังหินเสมอเรียบดี พวกเราก็นั่งประชุมสนทนากัน. ก็พูดถึงเรื่องทางบ้านว่า ป่านนี้ภรรยาของเราอยู่กันอย่างไรหนอ ลูกของฉันมี ๔ คน ลูกหญิงเป็นสาวยังไม่ได้แต่งงานเลย อีกองค์ก็พูดว่า ภรรยาน่ากลัวจะไปมีผัวใหม่ อาจจะทิ้งลูกเสียก็ได้และก็พูดกันหลายอย่างเป็นเวลากว่าชั่วโมง ทุกองค์ก็ต่างกลับมา แต่ก็มิได้อาลัยในคำพูดเหล่านั้นดอก พูดแล้วก็แล้วกันไป

แต่ที่ไหนได้ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้รู้เรื่องราวของเราหมด และในวันนั้นก็ได้มีพระภิกษุสามเณรทุกแห่งที่อยู่แถวใกล้ๆ นั้นมาประชุมกันหมด ท่านก็ยกเอาเรื่องทั้งสามหลวงตาขึ้นมาพูดในท่ามกลางบริษัทว่า

“ ดูสิ ทั้งสามหลวงตานี่ อุตส่าห์มาอยู่ป่า บวชแล้วยังคิดถึงมาตุคามลูกเมีย มันจะมีประโยชน์อะไรที่จะมาอยู่ในกลางป่าเช่นนี้ ซึ่งไม่ควรเลย น่าอับอายท่านผู้รู้ นี่แน่ะ หลวงตา เธอเป็นพระกี่เปอร์เซ็นต์”

เท่านั้นเองพวกเราทั้งสามอายเพื่อนอย่างหนัก นั่งก้มหน้า เมื่อเลิกประชุมแล้วพวกเราทั้งสามก็ร้อนไปหมด จึงเป็นอันว่าพวกเราอยู่ไม่ไหว คืนนั้นประมาณเที่ยงคืนพวกเราก็เก็บบาตร กลดหนีกันทั้งคืน ปากก็พูดว่า อรหํ ๆ ๆ ทั้งเดินหนีไปมิได้อำลาท่านเลย โดยมิได้คำนึงว่าทางที่เดินมานั้นมีทั้งหมีทั้งเสือทั่วไป แต่พวกเรากลัวท่านอาจารย์มั่นฯ มากกว่าเสืออีก

พ.ศ. ๒๔๖๑

ถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย

หลังจากอยู่ปฏิบัติและถวายความรู้ในธรรมปฏิบัติอันยิ่งแก่อาจารย์ของท่านแล้ว ท่านเห็นหมู่คณะตามท่านมามากรู้สึกกังวลขึ้น ท่านจึงปลีกตัวออกจากหมู่ เดินธุดงค์ไปแต่องค์เดียวจนบรรลุถึงถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย ในปีนี้ท่านต้องการพิจารณาถึงความจริงทั้งหลายอันเกิดแก่การบำเพ็ญในตนของท่าน และต้องการวัดผลการปฏิบัติที่ท่านไค้แนะนำสั่งสอนแก่บรรพชิต และคฤหัสถ์ว่า ผลต่างๆของการปฏิบัตินั้น ได้เป็นไปตามความมุ่งหมายมาเดิมหรือไม่ และเป็นผลที่ถูกต้องทำนองคลองธรรมคำสอนของพระพุทธองก์จริงหรือไม่

เมื่อได้ใคร่ครวญทั้งความนึกคิดอันเป็นภายนอก และพิจารณาตามญาณอันเป็นภายใน ท่านก็พอใจในผลงานเหล่านั้นว่าเป็นประโยชน์มาก สมควรที่จะยอมเสียสละในการแนะนำสั่งสอนพุทธบริษัทต่อไป

ในวันหนึ่งขณะท่านนั่งสมาธิได้รับความสว่างอยู่นั้น ท่านหวนพิจารณาถึงความรู้ของท่านและที่ได้แนะนำสั่งสอนผู้อื่น ได้ปรากฏว่า อันที่จริงอริยธรรมเหล่านี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วอย่างชัดเจน แต่เพราะเหตุที่ผู้ศึกษาไม่ได้ทำให้เป็นจริงขึ้น จึงปรากฏว่าเป็นสิ่งที่ลึกลับยากแก่การจะรู้จริงได้ แม้ว่าพระพุทธองค์จะทรงแสดงแจ้งชัดสักเท่าใดก็ตาม เช่นพระองค์แสดงอนัตตลักขณสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ให้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น พระองค์ก็ทรงแสดงชี้ลงไปที่กายคือรูปของปัญจวัคคีย์นั่นเอง ได้ทรงแสดงว่า รูปํ ภิกฺขเว อนตฺตา รูปไม่ใช่ตน แม้รูปของปัญจวัคคีย์ก็มีอยู่แล้ว ทำไมปัญจวัคคีย์จึงไม่พิจารณาเอาเองเล่า มารู้แจ้งเห็นจริงเอาตอนที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้ดู จึงค่อยมาได้สำเร็จ

ข้อนี้ก็เป็นเช่นกับตัวของเรานั้นเอง ได้อุตส่าห์เที่ยวไปแสวงหาอาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิกระทั่งทั่วประเทศไทยและต่างประเทศ แต่ครั้นจะมารู้จริงได้ก็คือการมาศึกษาปฏิบัติเอาโดยตนเอง ตามแนวของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง แต่ว่าเท่าที่เราเองได้เข้าใจนั้นก็เพราะเราไปเห็นความจริงเท่านั้น ทั้งๆ ที่ความจริงก็อยู่ใกล้นิดเดียว แต่ว่าการรู้ปฏิบัติเพื่อความรู้จริงนี้มันเป็นสิ่งที่แปลก เพราะเห็นว่าการทำจิตเป็นนามธรรม เมื่อเกิดความอัศจรรย์หรือความสบาย ก็ไปเข้าใจเสียว่าดีเสียแล้ว จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถจะรู้ยิ่งขึ้นได้ จึงไม่ควรตำหนิผู้ที่เขาพากันทำสมาธิแล้วหลงใหลไปตามโลกียฌาณหรือตามวิปัสสนูปกิเลส เพราะเขาเหล่านั้นก็ได้รับความสงบความเย็นใจซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยาก แต่ที่ควรตำหนิก็เพราะว่า เขาไม่พยายามหาโลกุตรธรรมนั่น แม้แต่เราในเบื้องแรก เราก็ได้พบโลกียฌาน ฌานมากมาย ซึ่งมันก็ทำให้เราต้องหลงใหลมันไปพักใหญ่ แต่เราพยายามที่จะแสวงหาให้ยิ่งขึ้น เราจึงไม่ติดอยู่เพียงแค่นั้น

อันการติดอยู่หรือเข้าใจผิดในธรรมปฏิบัติจิตอันเป็นภายในนี้ มันไม่ไปนรกดอก แต่ว่าการที่ไปติดมัน มันทำให้ต้องล่าช้าต่อการรู้ยิ่งเห็นจริงต่างๆ หาก เราเองเมื่อได้ความรู้แจ้งนี้แล้ว จึงได้พยายามเพื่อความที่จะทำจิตให้ก้าวหน้าโดยไม่หยุดยั้ง ทุกหมู่ทุกจำพวกในบรรดาผู้บำเพ็ญจิตในกัมมัฦฐานทั้งหลายนั้น ต่างก็มุ่งหวังเพื่อความดีความเจริญทุกหมู่ทุกคณะ แต่เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั่นเอง ที่ทำให้เขาต้องเสียประโยชน์

ท่านได้ปรารภไปถึงอาฬารดาบสกาลามโคตร และอุทกดาบสรามบุตร ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “ฉิบหายเสียจากคุณอันใหญ่” เนื่องด้วยดาบสทั้ง ๒ นั้น ได้มรณะไปเสียก่อนที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ ความจริงดาบสทั้งสองก็เป็นผู้สำเร็จฌานชั้นสูงกันทั้งนั้น อันว่าฌานชั้นสูงนี้ ก็เป็นการให้ความสุขอันยิ่งแก่ผู้ได้สำเร็จอยู่มากแล้ว แต่เพราะเหตุใดเล่าพระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่า “ฉิบหายเสียจากคุณอันใหญ่” ก็เพราะว่ายังไม่หมดจากกิเลส เพราะเพียงแต่ข่มกิเลสไว้ เหมือนกับศิลาทับหญ้าเท่านั้น

อันที่จริงฌานชั้นสูงนั้น ก็เป็นเบื้องต้นแห่งการดำเนินไปสู่ความหมดจิตจากกิเลส แต่เพราะความที่ดาบสนั้นไม่เข้าใจวิธีแห่งการอันจะพึงทำจิตเข้าลู่อริยสัจเท่านั้น ข้อนี้เป็นประการสำคัญนัก เพราะการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็เพราะเหตุนี้คือ อริยสัจจ์นี้ แต่ท่านได้พิจารณาคือไปอีกว่า การบำเพ็ญจิตต้องอาศัยปัญญาจึงจะรู้ถูกผิด และมิใช่จะเอาแต่ทำจิตอย่างเดียว ต้องมีสิ่งแวดล้อมภายนอกอีก อาทิเช่นธรรมวินัยทั้งอย่างหนักและอย่างเบา แม้ว่าจะพยายามทำจิตสักเท่าใดก็ตาม ถ้าประพฤติผิดพระวินัยน้อยใหญ่แล้วจะทำจึงย่อมไม่บังเกิดผล

พร้อมกันนั้นต้องเป็นผู้สันโดษมักน้อย รักษาธุดงควัตรต่าง ๆ อันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสหยาบ ด้วยว่าสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ที่จะต้องพยายามปฏิบัติให้เป็นอันดี เท่ากับเป็นเครื่องบำรุงส่งเสริม เช่นกับรถยนต์ เครื่องยนต์กลไกต่างๆ ถึงเป็นเครื่องดีมากสักเท่าใดก็ตาม ถ้าขาดการบำรุงรักษา ก็ไม่สามารถที่จะให้ผลแก่ผู้ใช้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือเช่นต้นไม้ต่าง ๆ ถ้าเราจะปลูกบ้านให้ได้ผลก็ต้องบำรุงรักษาจึงจะให้ผลแก่เจ้าของได้

การบำเพ็ญจิตก็เช่นเดียวกัน ควรจะได้กำหนดข้อปฏิบัติอันเป็นการสันโดษมักน้อยเอาไว้ โดยการฉันหนเดียว การฉันในบาตร การบิณฑบาต การปัดกวาดทำความสะอาดเสนาสนะ การอยู่โคนต้นไม้ การอยู่ป่า การมีจีวรเพียงแต่ไตรจีวร การรักษาวัตรทั้งหลายมีเสขิยวัตรและอาจาริยวัตรเป็นต้น

ในปีนั้นท่านได้พิจารณาเหตุการณ์ต่าง ๆ อันที่จักนำไปเพื่อความเจริญในการปฏิบัติธรรม เพื่อจะได้กำหนดแนวทางปฏิบัติที่แน่นอนแก่บรรดาศิษย์ทั้งหลาย พร้อมกันนั้นท่านได้ทำตัวของท่านให้เป็นตัวอย่างอีกด้วย ทั้งการที่แก้ไขความประพฤติเพื่อให้เป็นการเหมาะสมจากมรรยาทที่ต่ำไปหาที่สูง อันนี้ก็ต้องทดสอบในธรรมวินัยให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องด้วย

หลังจากที่ท่านพิจารณาถึงหลักพระธรรมวินัย ของพระพุทธองค์ทั้งภายนอกนามตำรับตำรา และภายในคือการพิจารณาหาความจริงอันเป็นข้อเท็จจริงซึ่งจะป้องกันความงมงายต่าง ๆ เช่นสีผ้าท่านก็กำหนดได้ว่าในครั้งพุทธกาลใช้ผ้าลีอะไร ท่านยังทราบว่าพระอนุรุธเถระเจ้า ใช้ผ้าสีคร่ำอ่อน พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรเถระใช้สีวัวโทนและท่านพระมหากัสสปะใช้ผ้าสีคร่ำเป็นต้น

บางครั้งท่านได้คำนึงถึงท่านพระสารีบุตรซึ่งครั้งหนึ่งได้ชวนพระโมคคัลลานะไปบำเพ็ญสมณธรรม ณ ถ้ำแห่งหนึ่งเป็นเวลาหลายวัน อยู่มาวันหนึ่งท่านพระสารีบุตรได้ป่วยเพราะโรคปวดท้องกำเริบขึ้น อันพระโมคคัลลานะถามว่า ท่านเป็นโรคนี้เคยฉันยาอะไรจึงหาย พระสารีบุตรตอบว่า โรคนี้ต้องได้ฉันข้าวมธุปายาสมีน้ำอ้อยผสมกับน้ำตาลกรวดจึงหาย

ขณะนั้นเทวดาที่สิงอยู่ในถ้ำนั้นได้ยินก็ต้องการที่จะให้พระเถระได้ฉัน จึงรีบไปยังบ้านอันเป็นโคจรตามของพระเถระทั้งสองแล้วก็เข้าไปสิงในร่างของเด็ก ทำอาการให้เด็กชักดิ้นชักงอ อันบิตามารดาต้องพยายามแก้ไขทุกอย่างเด็กก็ไม่ทุเลา เทวดาที่สิงจึงบอกว่า “นี่ พวกท่านต้องการให้ลูกหายไหม”

บิดามารดาตอบว่า “ข้าพเจ้าต้องการเป็นที่สุด”

เทวดาที่สิงอยู่ในร่างเด็กก็บอกว่า “ท่านจงทำข้าวมธุปายาส มีน้ำอ้อยผสมน้ำตาลกรวดไปถวายท่านพระสารีบุตรเท่านั้นเอง บุตรของท่านก็จะหายทันที”

อันบิดามารดาของเด็กรับว่า “เพียงเท่านั้นข้าพเจ้าทำได้ และพระเถระนี้ข้าพเจ้าก็เลื่อมใสท่านเป็นอย่างยิ่ง”

แล้วเทวดานั้นก็ออกจากร่างเด็กๆ ก็หายทันที

รุ่งเช้าพระโมคคัลลานะออกบิณฑบาตแต่เช้า ได้ไปถึงบ้านนั้น อันเขาทั้งหลายได้ถวายอาหารแก่พระโมคคัลลานะแล้วก็ถวายข้าวมธุปายาส และขอร้องให้ไปถวายแก่พระสารีบุตร อันพระโมคคัลลานะนำมาแล้วก็น้อมเข้าไปถวาย ท่านพระสารีบุตรได้พิจารณาว่าอาหารนี้ไม่บริสุทธิ์ท่านจะนำมาทำไม

“เพราะเหตุใด” ท่านพระโมคคัลลานะถาม

“เพราะว่าเทวดาไปบังคับเขา” พระสารีบุตรตอบ ส่วนท่านพระโมคคัลลานะได้พิจารณาก็ทราบทันที แล้วพระโมคคัลลานะจึงอุทานว่า “ เราตาบอดไปเชียว”

แล้วนำมธุปายาสนั้นไปเททิ้ง พระสารีบุตรก็กำหนดจิตให้บริสุทธิ์ หายจากโรคปวดท้องทันที

ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้พูดเป็นอุบายว่า ความบริสุทธิ์ของศีลนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความผ่องใสเป็นทางให้เกิดความจริงได้ เพราะศีลมีทั้งอย่างหยาบและอย่างละเอียด

ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้พูดเสมอว่า “ท่อนไม้ยางใหญ่ๆ มันเข้าตาคนไม่ได้หรอก ผงธุลีเล็กๆ ต่างหากมันเข้าตาคน”

ในราตรีหนึ่งระหว่างกาลเข้าพรรษา ขณะที่กำลังบำเพ็ญสมณธรรมอยู่เกิดความสงบเยือกเย็นมาก จนเกิดแสงสว่างพุ่งไปสู่พระอภิธรรมทั้ง ๗ พระคัมภีร์ขึ้นมาแล้วได้พิจารณากำหนดพิจารณาแยบคายค้นคว้าสามารถรู้ได้ทั้งอรรถและทั้งแปล อย่างคล่องแคล่ว ได้พิจารณาอย่างละเอียดตลอดคืนยันรุ่ง พอรุ่งเช้าออกจากสมาธิแล้ว ความรู้เหล่านั้นปรากฏว่าลบเลือนไปเสียเป็นส่วนมาก ยังจำได้เฉพาะที่สำคัญ พอรู้ความหมายเฉพาะเรื่องหนึ่งๆ เท่านั้น ท่านได้พิจารณาวาสนาบารมีของท่าน แล้วคำนึงถึงว่าเมื่อแจ่มแจ้งแล้วทำไมจึงลบเลือนไปเสีย

ท่านได้ทราบในญาณของท่านว่า “ปฏิสัมภิทานุสาสน์” ความรู้ที่จะพึงแตกฉานในพระธรรมวินัยนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะได้มีความแตกฉานเป็นปฎิสัมภิทาญาณก็หามิได้

เช้าวันนี้เมื่อเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน มีโยมผู้ชายคนหนึ่งมาใส่บาตรแล้วพูดขึ้นว่า “เมื่อคืนนี้ผมฝันเห็นท่านเปิดเอาหนังสือพระไตรปิฎกออกมาอ่านเป็นอันมาก ท่านคงภาวนาดีในคืนนี้” ท่านได้ยินโยมพูดก็เพียงแต่ยิ้มแย้มนิดหน่อยแล้วก็เดินบิณฑบาตต่อไป

พ.ศ. ๒๔๖๒

เสนาสนะป่าบ้านค้อ อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี

ในปีนี้ท่านจำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านค้อ อำเภอผือ เป็นปีที่เริ่มแนะนำข้อปฏิบัติแก่พระภิกษุเป็นส่วนมาก ซึ่งปรากฏว่าท่านอาจารย์สุวรรณ สุจินฺโณ ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ท่านอาจารย์ตื้อ ท่านอาจารย์แหวน สุจิณฺโณ ท่านอาจารย์หนูใหญ่ ได้ติดตามมาปฏิบัติอยู่กับท่าน ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้แนะนำเพื่อความก้าวหน้าแห่งการดำเนินจิตเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากท่านทุกองค์เหล่านี้ได้บำเพ็ญ ได้ผลในทางปฏิบัติกันมาแล้ว เพียงเพื่อจะอบรมให้เกิดความแก่กล้าขึ้นเท่านั้น

ท่านได้แนะนำถึงข้อสำคัญในเรื่องความหลงในญาณว่า ผู้ต้องการพ้นทุกข์จริงๆ แล้ว ต้องไม่หลงในความเป็นเหล่านั้น ท่านได้อธิบายว่า ญาณคือความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นในระหว่างแห่งความสงบ เป็นต้นว่าญาณระลึกชาติหนหลังได้ ญาณรู้จักเหตุการณ์ในอดีต ญาณรู้จักเหตุการณ์ในอนาคต รู้จักวาระจิต ความนึกคิดของบุคคลอื่นเป็นต้น เหล่านี้ล้วนแต่เป็นวิชาที่น่าอัศจรรย์มากทีเดียว แต่ถ้าหากว่าหลงและติดอยู่ในญาณเหล่านี้แล้ว จะทำให้เกิดความเนิ่นช้าในการปฏิบัติ เมื่อเข้าสู่อริยสัจธรรม แต่ญาณเหล่านี้เป็นอุปกรณ์อย่างดีพิเศษ ในอันที่ดำเนินจิตเข้าสู่อริยลัจจ์หรือการทรมานบุคคลบางคน แต่ว่าจะต้องรู้ว่ามันเป็นญาณ อย่ายินดีหรือติดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะเท่ากับว่ามันเป็นผลพลอยได้ เกิดจากการบำเพ็ญจิตเข้าสู่อริยสัจจ์นั่นเอง ถ้าหากว่าเราไปยินดีหรือไปติดอยู่เพียงเท่านี้แล้ว ก็จะก้าวเข้าไปสู่ความพ้นไปจากทุกข์ไม่ได้

แม้แต่พระเทวทัตในสมัยครั้งพุทธกาลก็สำเร็จญาณถึง ๕ ประการแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้สมกับความประสงค์ แต่หลงอยู่ในความรู้ญาณของตน เกิดทิฐิมานะว่าคนเก่งตนดี ถึงกับต้องการจะเป็นพระพุทธเจ้าแทนเอาเลยทีเดียว แต่ที่ไหนได้ ในที่สุด โดยอาศัยความหลงญาณ กลับต้องเสื่อมหมดทุกอย่าง ไม่พ้นทุกข์ ไม่เข้าถึงอริยสัจ แต่กลับตกนรกไปเลย.

ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเน้นว่า ญาณเหล่านี้มันน่าคิดจริง ๆ เพราะมันวิเศษแท้ ทั้งเยือกเย็นทั้งสว่างผ่องใส ทั้งรู้อะไรที่เป็นอดีต อนาคต ตามความประสงค์ ผู้ที่ไม่เข้าใจความจริง ที่ไปติด ณ ที่นี้ เราจะสังเกตเห็นได้ตรงที่เกิดทิฐิขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือการถือตัวว่าดีกว่าใคร ๆ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นครูบาอาจารย์หรือเพื่อนสหธรรมิกหรือศิษย์ หาว่าศิษย์สู้เราไม่ได้ ใครก็สู้เราไม่ได้ ทิฐิชนิดนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ตัวของตัวเองไม่รู้ตัวเอง ซึ่งท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเปรียบว่า มีจระเข้ตัวหนึ่งใหญ่เหลือเกินอยู่ในท้องทะเล มันไม่รู้ว่าหางของมันอยู่ไหน เมื่อมันไม่รู้ มันเห็นหางของมัน มันก็กินหางของมัน กินไป ๆ จนเหลือแค่หัว เลยม้ำช้ำหมดเลย

และท่านก็อธิบายว่า การหลงตัวด้วยญาณนี้มันละเอียดนัก เราจะสังเกตได้อีกอย่างหนึ่ง คือการขาดจากความรอบคอบบางสิ่งบางประการ เพราะเหตุแห่งการถือตัว เช่นการกล่าวคำดูถูกดูหมิ่นต่อเพื่อนสหธรรมิกด้วยกัน หรือต่อครูบาอาจารย์ของตน หรือบุคคลใด บุคคลหนึ่ง ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับการดำเนิน

ญาณทุกญาณ ท่านอาจารย์มั่นฯ กล่าวว่า มันต้องเสื่อม มันจะคงตัวอยู่ได้ตลอดไปหาได้ไม่ แม้จะใช้ความพยายามสักเท่าใดก็ตาม คือว่าครั้งแรก ๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นความจริงได้ แต่ต่อไปก็เลือนเข้า ๆ กลับกลายเป็นความนึกคิด โดยอาศัยสัญญาเก่า นี้คือความเสื่อมแห่งญาณ ลูกศิษย์มีหลายองค์ ที่ต้องเสื่อมลงจากญาณเหล่านี้อย่างน่าเสียดาย ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสื่อม จึงต้องรีบดำเนินจิต เข้าสู่อริยสัจจ์เสียเลย เพราะความที่จิตเข้าสู่อริยสัจจ์ได้แล้ว มันก็ห่างจากความเสื่อมเข้าไปทุกที ๆ

ท่านยกตัวอย่างว่าท่านอาจารย์หนูใหญ่ อายุคราวเดียวกับท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร ไม่พยายามดำเนินจึงเข้าสู่อริยสัจจ์แต่ว่ามีวิญญาณแหลมคมดี เอาแต่ญาณภายนอกอย่างเดียว จึงเสื่อมไปได้ คือท่านอาจารย์หนูใหญ่นั้น ปรากฏว่า เมื่อปฏิบัติไปแล้วเกิดญาณรู้ความจริงบางอย่างได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นที่ปรึกษาหารือแก่สหธรรมมิกด้วยกันได้เป็นอย่างดี ทั้งมีความรู้พิเศษเป็นที่น่าอัศจรรย์มาก เมื่อหมู่คณะที่อยู่รวมสำนักกับท่านประพฤติผิดธรรมวินัยในข้อวัตรปฏิบัติแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ท่านสามารถรู้ได้ด้วยญาณของท่าน ทั้งๆ ที่ท่านก็ไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นแต่ประการใด

อาทิเช่นครั้งหนึ่ง เวลาตอนบ่าย สามเณรทั้งหลายได้จัดน้ำปานะ (อัฏฐบาล) ถวายพระเวลาที่พระทั้งหลายกำลังดื่มอยู่นั้น ขณะนั้นท่านอาจารย์หนูใหญ่ กำลังทำสมาธิอยู่ในความสงบ ได้ปรากฏเห็นพระเหล่านั้นในญาณ ของท่านว่า กำลังฉันอาหารกันอยู่ ท่านจึงไปที่ท่ามกลางหมู่คณะนั้นแล้วกล่าวว่า พวกเรากำลังฉันสิ่งของที่เจือด้วยอนามิสแน่ เพราะมันไม่บริสุทธิ์ ซึ่งพระภิกษุสามเณรทั้งหลายกำลังฉันน้ำปานะกันอยู่ พากันสงสัย และสามเณรผู้ทำก็ยืนยันว่าบริสุทธิ์ไม่มีอะไร เพราะทำมากับมือ แต่อาจารย์หนูใหญ่ก็ยืนยันว่าไม่บริสุทธิ์แน่ จึงได้มีการตรวจค้นกันขึ้น ได้พบเมล็ดข้าวสุกติดอยู่ที่ก้นภาชนะนั้นจริง ๆ เพราะเหตุนั้นหมู่คณะทั้งหลายจึงเกรงขามท่านมาก เพราะเมื่ออยู่ใกล้ ๆ กับท่านแล้วต้องระวัง ระวังความนึกคิด เป็นเหตุให้เกิดสติสัมปชัญญะขึ้นมาก

แต่นั้นแหละเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เมื่อท่านอาจารย์หนูใหญ่ได้ออกไปไกลจากอาจารย์มั่น ฯไม่ค่อยจะได้เข้าไปศึกษาบ่อยๆ เมื่อภายหลังได้เกิดญาณเสื่อมจากคุณธรรมส่วนยิ่งโดยไม่รู้สึกตัว ต่อสู้กับกิเลสมาก คือไปไม่ได้ จึงลาสิกขาบท ไปอยู่ในฆราวาสวิสัย ยอมอยู่ใต้อำนาจของกิเลสต่อไป

ท่านอาจารย์มั่นฯหลังจากเล่าความเป็นไป ของท่านอาจารย์หนูใหญ่ให้เป็นตัวอย่างแล้ว ท่านก็เน้นลงไปอีกว่า บุคคลผู้ที่ได้ญาณนี้แล้วถ้าเป็นเช่นนี้ย่อมเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งทีเดียว เพราะเท่ากับกับได้สมบัติมหาศาลแล้วรักษาสมบัติไม่ได้ หรือใช้สมบัติไม่เป็น ไม่ได้ประโยชน์จากสมบัตินั้น ผู้ที่ได้ญาณก็เหมือนกันว่าจะทำมันขึ้นมาได้แสนยากลำบากนัก แต่เมื่อได้มาแล้วไม่รู้จักรักษาและไม่รู้จักทำให้มันเป็นประโยชน์ จึงเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติทั้งหลายควรสังวรเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับเรื่องญาณ หรือความสงบ ถ้าหากไปหลงมันเข้าปล่อยให้เกิดแต่ความสงบอย่างเดียวย่อมไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจะได้ เพราะสถานที่นั้นเป็นที่สบายอย่างยิ่งและน่าอยู่ มันทำให้เกิดความสุขอย่างน่าพิศวง และเป็นสถานที่น่าคิดอยู่ของหมู่โยคาวจรทั้งหลายจริงๆ มิหนำซ้ำบางทีท่านก็หลงไปถึงกับว่าที่นี่เองเป็นที่หมดไปจากกิเลส อันที่จริงแล้วที่นี่เองจำเป็นต้องแก้ไขตัวของตัวเองอย่างหนัก เหมือนกันกับคนที่กำลังนั่งนอนสบาย และจะให้ทำงานหนักก็จำเป็นต้องทั้งบังคับทั้งปลอบ

ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านชี้ตัวอย่างท่านอาจารย์เทสก์ เทสรงฺสี (พระนิโรธรังสีฯ) ว่า ท่านเทสก์นี้ได้ติดอยู่ในญาณนี้นานยิ่งกว่าใครๆ ในระยะที่ท่านเทสก์หลงอยู่ในญาณนั้น เราได้พยายามแก้ไขอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้คลายจากความเป็นเช่นนี้นั้น กว่าจะได้ผลต้องใช้เวลาถึง ๑๒ ปี เพราะท่านอาจารย์เทสก์ได้ติดอยู่ในญาณถึง ๑๒ ปี ครั้นเมื่อท่านอาจารย์เทสก์แก้ไขตัวของท่านได้แล้วถึงกับอุทานว่า เราหลงไปถึง ๑๒ ปี ถ้าไม่ได้ท่านอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิแก้ไขเราแล้วก็จะต้องติดไปจนตาย

ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้เน้นหนักว่า การแก้ไขสิ่งของที่ดีที่เกิดขึ้นนี้ลำบากกว่าแก้สิ่งของไม่ดี เพราะความไม่ดีรู้กันในหมู่ผู้หวังดี หาทางแก้ไขได้ง่าย ส่วนความดีที่ต้องติดดีนี่แก้ไขยาก ผู้ติดดีจึงต้องใช้ความพยายามหลายอย่าง เพราะขั้นนี้มันเป็นขั้นปัญญา เนื่องจากการเกิดขึ้นภายในนั้นมีพร้อมทั้งเหตุและผล จนทำให้เชื่อเอาจนได้ จะไปว่าอะไรแต่อย่างอื่นที่ไกลจากอริยสัจธรรม แม้แต่วิปัสสนาซึ่งก็เป็นทางไปสู่อริยสัจจ์อยู่แล้ว แต่ผู้ดำเนินไม่มีความรอบรู้พอ กลับกลายเป็นวิปัสสนูปกิเลสไปได้ การเป็นวิปัสสนูปกิเลสนั้นคือ

โอภาโส แสงสว่างไม่มีประมาณ แสงสว่างที่เกิดจากจิตที่สงบยิ่งเกิดแสงสว่างขึ้น เป็นแสงสว่างที่จะหาสิ่งเปรียบเทียบยาก ผู้บำเพ็ญจิตเบื้องต้น พอจิตสงบแล้วเกิดนิมิต เห็นแสงสว่าง เท่านั้นไม่จัดเข้าในวิปัสสนู เพราะแสงสว่างที่จัดเข้าในวิปัสสนูนี้ เป็นแสงที่เกิดจากการเห็นของธรรมชาติ แม้การเห็นเป็นธรรมชาติ เป็นของจริงก็ตาม การที่จะถือเอาของจริงแม้นั้นก็ผิด เพราะความจริงที่เห็นนี้สำหรับพิจารณาด้วยญาณต่างหาก ไม่ใช่จะให้ติดข้องพัวพัน ถ้าติดข้องก็เกิดเป็นกิเลส ก็เลยยึดเข้าไปหาว่าได้ชั้นนั้นชั้นนี้ เลยยิ่งเหลวไปใหญ่ แสงสว่างที่เห็นของจริงนี้ท่านจึงจัดเป็นวิปัสสนูเพราะไปหลงเข้าแล้วหาว่าดี แม้เพียงเท่านี้ ความจริงมันเป็นเพียงเครื่องมือพิจารณาต่อไป ท่านจึงห้ามติด

ญาณะ ความรู้ไม่มีประมาณ ความรู้ที่เกิดในขั้นต้น เป็นต้นว่ารู้ว่าจิตสงบ หรือรู้อยู่เฉพาะหน้าบ้าง อย่างนี้ไม่จัดเข้าในขั้นนี้ ความรู้ที่จัดเป็นวิปัสสนูนั้น คือความรู้ที่หยั่งรู้ว่า จิตเรานี้ว่ามีความสว่างจริง เช่นเห็นธาตุ ว่าเป็นธาตุจริง ชนิดนี้เราไม่เคยเห็นไม่เคยรู้มาก่อน แน่ล่ะ ถ้าจะเป็นของจริง เลยเข้าใจว่ารู้นี้เป็นธรรมแท้ จึงเป็นกิเลส เป็นเหตุให้ถือตัว แต่ความจริงแล้วท่านให้ใช้ความรู้นี้พิจารณาให้ยิ่งเท่านั้น มิใช่ให้ถือเอาความรู้ ก็เท่ากับถือเอาเครื่องมือว่าเป็นของจริง ท่านจึงห้ามติด

ปีติ ความอิ่มใจอันแรงกล้า ความอิ่มใจซาบซ่านในตัวอันเกิดขึ้นแก่ผู้ฝึกสมาธิในขั้นต้น ไม่จัดเข้าในชั้นนี้ ปีติที่จัดเป็นวิปัสสนูปกิเลสนั้น คือความเยือกเย็นอันได้เห็นในสิ่งที่เราไม่เคยเห็น เช่นเห็นว่า ธาตุทั้งหลาย สักแต่ว่าธาตุ เป็นธรรมธาตุแห่งสภาพจริงๆ ความปีติเยือกเย็นอย่างที่ไม่เคยพบ ก็จะได้พบ เมื่อพบเข้าเลยเกิดความอิ่มใจอย่างแรงกล้า เข้าใจว่าเป็นของจริงทำให้ติด เกิดกิเลสเป็นเหตุให้ยึดถือว่า เป็นธรรมพิเศษหรืออมตธรรม ก็เลยจะเป็นทางให้ยึดแล้วก็ทำให้เนิ่นช้า ท่านจึงห้ามติด

ปัสสัทธิ ความสงบยิ่ง การทำจิตสงบชั่วครั้งชั่วคราวของผู้เริ่มความเพียรไม่นับเข้าในชั้นนี้ ปัสสัทธิที่จัดเป็นวิปัสสนูฯ นั้น คือความสงบที่มีกำลังอันอาจจะจำแนกธาตุออกไปได้ว่าธาตุนั้นเป็นดิน เป็นน้ำเป็นต้น เพราะสงบจริง จึงจะเห็นธาตุเป็นธาตุจริง ซึ่งสามารถจะให้จิตหลง เพราะความสงบนี้เยือกเย็นมากขึ้นเป็นกำลัง แม้จะทำให้เกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ แต่ถ้าไปติดเพียงเท่านั้นแล้วก็เข้าใจว่าเป็นของจริง กลับกลายเป็นกิเลส ท่านจึงห้ามติด

สุขะ ความสุขอันลึกซึ้ง ความสุขเกิดแก่จิตของผู้ฝึกหัดใหม่นั้น แม้ครั้งสองครั้งหรือชั่วครั้งชั่วคราวไม่จัดเข้าในชั้นนี้ สุขะที่จัดเป็นวิปัสสนูฯ นั้นเป็นผลไปจากการเห็นธาตุทั้งหลายว่าเป็นจริง เกิดความสงบสุขยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ความสุขนี้จะมีชั้นสูงขึ้นตามลำดับแห่งการเห็นตามเป็นจริงแห่งธรรมธาตุ ถ้าติดก็เป็นกิเลส เป็นเหตุให้พอใจเพียงแค่นั้น จะไม่ก้าวหน้าต่อไป ท่านจึงห้ามติด

อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ ของจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่ เป็นฐิติธรรม อาศัยอวิชชาเป็นเครื่องปิดบังจึงไม่สามารถจะเข้าถึงได้ แต่เมื่อพอแก่ความต้องการแล้วก็เป็นอันว่าถึงได้แน่นอน เมื่อทำไม่พอแก่ความต้องการแล้วก็ถึงไม่ได้ เหมือนกับคนทั้งหลายจะพากันเดินทางจากต่างจังหวัดเข้าสู่กรุงเทพฯ เช่นเขาทั้งหลายอยู่เชียงใหม่ แต่กรุงเทพนั้นน่ะมีจริง พอเขาเดินมาถึงลำปาง เขาก็พากันน้อมใจเชื่อว่า ลำปางนี่แหละคือ กรุงเทพ ฯ เขาเหล่านั้นก็ลงรถไฟโดยถือเอาลำปางเป็นกรุงเทพฯ เมื่อน้อมใจเชื่อเช่นนี้เป็นอันถึงกรุงเทพ ฯ ไม่ได้ กรุงเทพมีจริงแต่ต้องขึ้นรถไฟรถยนต์จากเชียงใหม่ไปให้พอแก่ความต้องการ ก็จะต้องถึงจนได้ อันการบำเพ็ญจิตยิ่งบำเพ็ญยิ่งละเอียดขึ้นเป็นลำดับ น่าทึ่งน่าอัศจรรย์มากมายเหลือจะนับจะประมาณ มีสิ่งประหลาดมากมายทีเดียวจึงเป็นสิ่งที่คล้ายกับธรรมชั้นสูง โดยเหมือนกับมีธรรมผุดขึ้นมาบอกว่า ถึงธรรมชั้นนั้นชั้นนี้บ้าง ได้เห็นอริยสัจจ์บ้าง ได้เห็นจะบรรลุบ้าง อะไรมากมายที่จะเกิดขึ้นน้อมใจเชื่อมันแล้ว เป็นกิเลสตัวใหญ่กางกั้นความดี ที่กำลังจะก้าวหน้าไปอย่างน่าเสียดาย

ปัคคาหะ ความเพียรอาจหาญ การบำเพ็ญจิตจนเกิดความดี ความงาม ความที่ละเอียดอ่อน โดยอาศัยพลังงานแห่งจิต โดยที่ต้องการให้ถึงเร็ว เป็นการเร่งเกินแก่ความพอดี อย่างไม่คำนึงถึงว่าร่างกายมันจะเป็นอย่างไร เอาใจเป็นใหญ่ หักโหมความเพียรอย่างไม่ปรานีปราสัย นี่ก็เป็นทางเสียหาย เพราะเหตุใด ท่านจึงจัดเป็นอุปกิเลสแห่งวิปัสสนาด้วยเล่า ก็เพราะว่าในที่นี้นับว่าเป็นความปรารถนาอย่างรุนแรงของใจ จนอาจจะเป็นอันตรายได้ โดยขาดมัตตัญญู ความเป็นผู้รู้จักประมาณไป จึงกลายตัวมาเป็นอุปกิเลส ซึ่งทำให้เกิดความมัวหมอง ถึงกับจะกางกั้นความเจริญชั้นสูงต่อไป แต่การจะถือเอาวิปัสสนูฯ ข้อนี้มาทำให้เกิดหย่อนความเพียร เรื่องก็ยิ่งเสียหายกันไปใหญ่อีก ในที่นี้ท่านต้องการความพอดี เหมือนกับการรับประทานอาหาร “ความอิ่ม” นี่คือความพอดี ถ้าเรารับประทานไม่อิ่ม แต่เราถือว่า “อิ่ม” นี่คือไม่พอดี ถ้าเรารับประทาน “อิ่ม” ยิ่งเติมเข้าไป ก็เกินความพอดี เราจะต้องทราบความละเอียดที่เกิดผลตามสมควร จึงจะชื่อว่าพอดี ไม่หักโหมเกินไป จนเป็นเหตุให้ถือเอาความเพียรข่มผู้อื่นอันจะกลับกลายเป็นกิเลสไป

อุปฐานะ สติกล้า สตินี้ไม่น่าจะเป็นอุปกิเลส เพราะสตินี้เองสามารถดำเนินจิตให้ตั้งเที่ยงอยู่ได้ แต่ว่าไม่ว่าอะไรทุกสิ่งทุกอย่างจะดีสักเท่าไรก็ตาม ถ้าเกินไปก็ใช้ไม่ได้ แม้สติกำหนดเพ่งกันเกินไป กำหนดอยู่ในกายานุปัสสนา ไม่รู้จักพักผ่อน เกินแก่ความต้องการไม่ช้าก็ต้องเลอะเลือน ธรรมดาการใช้สติกำหนดต้องรู้จักพักตามสมควร เพราะถ้าไม่รู้จักพักแล้ว เมื่อมันเกิดความเลอะเลือนขึ้น ความสงสัยก็ตามมา ก็จะกลับกลายเป็นอุปกิเลสไป

อุเบกขา ความวางเฉย การจัดอุเบกขาเป็นวิปัสสนู ฯ นั่นคือการไปเข้าใจเอาเองว่า นี่เป็นวิมุตติธรรม หรือความละเอียดแห่งจิต เท่านี้ถือว่าเป็นการบรรลุธรรมชั้นสูง เลยวางเฉย ถือว่าเป็นสิ่งแน่นอน ยังไม่ถึงอริยสัจจ์เต็มที่ มาวางเฉยเสียก่อนเป็นการคำนึงเอง หรือเป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” ท่านจึงจัดว่าเป็นเครื่องเศร้าหมอง นักปฏิบัติควรระวังเป็นพิเศษในข้อนี้ อย่าไปวางเฉยเอาง่าย ๆ ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้เสียก่อน

นิกันติ ความพอใจ ความพอใจแม้จะเป็นธรรมชั้นละเอียดก็ยังใช้ไม่ได้ เพราะจะเป็นการพอใจอยู่เพียงหนทาง ไม่เชื่อว่าพอใจในสถานที่ต้องการ เพราะการถึงสถานที่ที่ต้องการนั้น มิใช่เป็นความพอใจ แต่เป็นความจริง และของจริงนั้นเมื่อเป็นขึ้น ย่อมเป็นสิ่งล่วงพ้นจากความพอใจที่จะพึงกำหนดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ถ้าทำความพอใจในธรรมละเอียดไม่ดี จะกลายเป็นอัตถวาทุปาทานไปเสีย จะเสียงานใหญ่ในการที่จะบำเพ็ญให้ก้าวหน้าต่อไป.

ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้เน้นหนักลงไปถึง ฌาน และญาณนี้หนักมากในพรรษานี้ เพื่อให้ศิษย์ทั้งหลายได้สำเหนียก เพื่อความก้าวหน้าของตน

 หน้าที่