#echo banner="" ประวัติพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตเถระ ฉบับสมบูรณ์ โดยพระอาจารย์วิริยังค์ 7

ประวัติพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตเถระ ฉบับสมบูรณ์

พระญาณวิริยาจารย์ (พระอาจารย์วิริยังค์)

เจ้าอาวาส วัดธรรมมงคล แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ

ตอนที่ ๑

ตอนที่                            

การเขียนประวัติของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระของข้าพเจ้า โดยการได้ยินได้ฟังจากตัวของท่านเองและครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้า ตลอดถึงลูกศิษย์ของท่าน เพราะท่านอาจารย์มั่น ฯ นี้ท่านเป็นนักผจญภัย เพื่อต่อสู้กับกิเลสอย่างยอดเยี่ยม จึงเป็นประวัติที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าเองตั้งแต่เป็นสามเณร เพียงแต่ได้ยินอาจารย์ของข้าพเจ้าเล่าให้ฟัง ก็รู้สึกเลื่อมใสจริง ๆ จนอยากจะพบท่านทีเดียว แต่ประวัติของท่านอาจารย์มั่นฯ นั้น เข้าใจว่าตัวข้าพเจ้าเองไม่สามารถจะพรรณนาได้หมดแน่ เพราะเหลือวิสัยเนื่องจากมีอะไรหลายอย่างที่เป็นสิ่งลึกลับอยู่ แต่ว่าความจริงแล้วการแนะนำพร่ำสอนในธรรมทั้งหลายนั้น ข้าพเจ้ายอมรับอย่างไม่มีข้อแม้เลยว่า เป็นธรรมที่มีเหตุผลและเป็นผลที่ได้รับจริง ๆ จนข้าพเจ้าต้องอุทานมาคนเดียวขณะที่เพิ่งจะมาอยู่กับท่านว่า “เรามาอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ฯ เพียงเดือนเดียว แจ่มแจ้งในธรรมดีกว่าอยู่กับท่านอาจารย์ของข้าพเจ้าถึง ๘ ปี” แต่อะไรที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องอุทานออกมาเช่นนี้นี่แหละที่จะเป็นต้นเหตุให้เขียนประวัติของท่านอาจารย์มั่น ฯ ต่อไป

คำแรกที่ข้าพเจ้าได้ฟังจากท่านอาจารย์มั่นฯ

แม้ว่าวันแรกที่ข้าพเจ้าไปพบวันนั้นต้องเดินไปเป็นหนทางถึง ๒๐ กิโลเมตร พอสรงน้ำเสร็จเข้าไปกราบท่าน ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร แสดงธรรมเลยทีเดียว ท่านแสดงว่า

มัชฌิมา ทางกลาง หมายถึงอะไร หมายทางพอดี ของพอดีนั้นมีความสำคัญ ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างขาดความพอดี ใช้ไม่ได้ ไม้ที่จะตัดเป็นบ้านขาดความพอดีก็เป็นบ้านไม่ได้ จีวร เสื้อผ้า ตัดยาวไป สั้นไปก็ใช้ไม่ได้ อาหารมากไปก็ไม่ได้ น้อยไปก็ไม่ได้ ความเพียรมากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ได้ มัชฌิมา ทางกลางคือ ขจัดสิ่งที่ไม่พอดี ให้พอดีนั่นเอง กามสุขลฺลิกานุโยค คือ การปฏิบัติตกไปในทางรัก อตฺตกิลมถานุโยค คือ ตกไปในทางชัง นี่คือการไม่พอดี ทำสมาธิหลงไปในความสุขก็ตกไปในทางรัก ทำสมาธิไม่ดีในบางคราว เศร้าใจ ตกไปในทางชัง การขจัดเสียซึ่งส่วนทั้งสองนั้น คือการเดินเข้าสู่อริยะมรรค.การถึงอริยมรรคนั่นคือการถึงต้นบัญญัติ การถึงต้นบัญญัติคือการถึง “พุทธ”

ยาขนานนี้เองเป็นยาขนานแรกที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ ส่งให้ข้าพเจ้าฉัน มันช่างเป็นขนานที่หนักเอาการ แต่เป็นธรรมที่ซาบซึ้งตรึงใจเป็นที่สุด

พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ เป็นพระปรมาจารย์ทางกัมมัฏฐาน ท่านได้แสดงความสามารถในด้านนี้อย่างสูงทุกประการ ตามความเป็นจริงก็ปรากฏอย่าง(ไม่)มีศิษย์คนใดจะกล้าปฏิเสธ คุณธรรมต่าง ๆ ที่ได้ปรากฏขึ้นนั้น ฝังอยู่ในดวงจิตของผู้เป็นศิษย์อย่างไม่มีทางเลือนลาง เป็นความจริงเหลือเกินที่ว่า ท่านได้ฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมชั้นสูงของพระพุทธศาสนา จนเป็นที่รับรองจากปัญญาชนทั้งหลาย ผลประโยชน์เกิดจากการฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมนั้น ย่อมปรากฏอยู่แก่ผู้ที่น้อมตัวเข้าเป็นศิษย์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน แม้ว่าบางคนอาจะไม่เคยเห็นหน้าท่าน เพียงแต่เป็นชั้นหลานเหลน หรือเพียงอ่านประวัติของท่านก็ทำให้เกิดความเลื่อมใสอย่างซาบซึ้งตรึงใจแล้ว

การอ่านประวัติของท่านอาจารย์มั่น ฯ ผู้อ่านควรจะได้ตระหนักถึงข้อปฏิบัติปฏิปทาอันจะได้นำมาเป็นตัวอย่าง ก็จะทำให้เกิดประโยชน์มากที่เดียว เพราะท่านได้ทำตัวของท่านเป็นตัวอย่างที่ดีเลิศ กับทั้งยังมีความเมตตาต่อนักบวชด้วยกันอย่างมากที่สุด มองเห็นการณ์ไกลได้เป็นอย่างดี ข้าพเจ้าใคร่จะเขียนให้ใกล้ความจริงเป็นที่สุด ซึ่งแม้จะเป็นยาขมบ้าง เข้าใจว่าอาจจะแก้โรคให้แก่ท่านในภายหลัง เพราะยาขมใครก็ไม่อยากรับประทาน จะรับประทานก็ต่อเมื่อถึงคราวจำเป็น แต่ยาขมก็ได้ช่วยชีวิตมนุษย์มาแล้วมากต่อมากมิใช่หรือ ๆ

สถานะเดิม

ท่านเกิดในตระกูล แก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชื่อนางจันทร์ เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องอยู่ ๙ คน แต่ ๗ คนนั้นได้ถึงแก่กรรม คงเหลือ ๒ คน ท่านเป็นคนหัวปี ท่านมีร่างกายสง่าผ่าเผย หน้าตาคมสัน เป็นลักษณะน่าเคารพบูชา เป็นผู้รักการรักงาน เป็นที่ไว้วางใจได้ในการงานที่ได้รับมอบหมาย จึงเป็นที่รักแก่บิดามารดาอย่างยิ่ง

ท่านได้ศึกษาวิชาหนังสือไทย-ไทยน้อย-ขอม จากสำนักอา ได้ศึกษารู้เร็ว จนอาออกปากชมว่าฉลาดมาก เมื่ออ่านหนังสือได้แล้ว ท่านก็ได้ค้นคว้าหนังสือประวัติศาสตร์และนวนิยายของภาคอีสาน (เขาเรียกกันว่าลำพื้นลำแผ่น) เมื่อผู้เขียนอยู่กับท่าน ๆ จะเล่าถึงนิยายเก่ามีอันเป็นคติมาก เช่น เสียวสวาทเป็นต้น

เป็นธรรมดาอยู่เองของสังสารวัฏต้องมีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้มนุษย์เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย การหมุนเวียนนี้แหละ สำหรับผู้ดีมีวาสนา ก็หากหาแต่ความดีเท่านั้นให้เป็นทุนในการท่องเที่ยว เมื่อพอแก่ความต้องการก็เท่ากับสะสมบุญมาก ซึ่งในมงคลคาถามีว่า “ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา ผู้มีบุญทำไว้แล้วแต่ปางก่อน” บุญย่อมผูกนิสัยให้ดีและชอบการพ้นทุกข์เสมอไป ดังในปัจฉิมภาวิกชาติของพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย บารมีได้ส่งให้พระองค์ออกบรรพชาแสวงหาโมกขธรรม โดยเกิดขึ้นในพระหฤทัยของพระองค์เอง จนกระทำให้สำเร็จพระโพธิญาณในที่สุด แม้พระสาวกทั้งหลายก็เช่นกัน เมื่อบุญติดตามผูกอุปนิสัย ก็เป็นเหตุให้น้อมเข้ามาบรรพชาอุปสมบท ในขอบเขตของพระบรมศาสดา พ้นทุกข์ไป

พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ก็เห็นจะเป็นเช่นกับพระสาวกเหล่านั้น จึงมีเหตุปัจจัยแนะนำจิตของท่าน ให้น้อมไปเพื่อบรรพชา

ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๑๗ ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาไปช่วยงานทางบ้าน ท่านก็ได้ลาสิกขาไปช่วยเต็มความสามารถในการนั้น แม้ท่านลาสิกขาไปแล้ว ก็ลาแต่กายเท่านั้น ส่วนใจยังครองเพศบรรพชิต จึงทำให้ท่านระลึกอยู่ไม่วาย เป็นเพราะเหตุปัจจัยดังกล่าวแล้ว ท่านจึงเบื่อฆราวาสวิสัย

ครั้นเมื่ออายุ ๒๒ ปี จึงลาบิดามารดาอุปสมบท ท่านทั้ง ๒ ก็อนุญาต ท่านได้เข้าไปเล่าเรียนธรรมที่สำนักท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ วัดเลียบ อุบลราชธานี ต่อมาได้อุปสมบทเป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนา ที่วัดศรีทอง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูศรีทา ชยเสโน เป็นกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๔ นามมคธที่อุปัชฌาย์ตั้งชื่อ ภูริทตฺโต

ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเป็นผู้ไม่ชอบอยู่นิ่ง ชอบแต่จะพยายามหาทางก้าวหน้าเรื่อยไป แม้แต่ท่านบวชเข้ามาใหม่ ก็มิใช่เพื่อบวชแล้วก็ฉันและจำวัด ได้มาอยู่กับพระผู้ปฏิบัติก็อยากจะทำให้เห็นจริงเห็นจังไปเสียเลย ความไม่ชอบอยู่นิ่งของท่านนี้เอง ทำให้ท่านต้องชักไซ้ไต่ถามหาความจริงเอากับ ท่านอาจารย์เสาร์ อยู่ตลอดเวลา ท่านได้รบเร้าให้อาจารย์สอนกัมมัฏฐานให้ยิ่งขึ้น แต่อาจารย์ก็หมดความรู้จะสอนต่อไป

ท่านอาจารย์เสาร์ท่านเอ็นดูศิษย์คนนี้ของท่านอย่างยิ่ง เรียกว่าศิษย์คนโปรดก็ว่าได้ ท่านจึงพาศิษย์ของท่านไปทุกหนทุกแห่ง ตามป่า เขา ลำเนาไพร เพื่อแสวงหาความสงบ แต่ก็ยังไม่ได้ผลเต็มที่ จึงได้พาธุดงค์ข้ามไปฝั่งประเทศลาว จนถึงเมืองหลวงพระบาง เมื่อได้ยินได้ฟังว่าอาจารย์ไหนเก่งทางสอนกัมมัฏฐาน ก็จะได้แวะไปพักอยู่และขอเรียนกัมมัฏฐานด้วย แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ยิ่งไปกว่าที่ท่านได้ปฏิบัติเรียนรู้มาแล้ว

ที่สุดก็ย้อนลงมาที่เมืองท่าแขก อยู่ฝั่งซ้าย (เขตอินโดจีน) ซึ่งเป็นภูมิประเทศอันประกอบด้วยป่าเขาลำเนาไพรมีหมู ช้าง เสือ หมี ผีร้ายนานาประการ ตลอดจนไข้มาเลเรียก็ชุกชุม แต่เป็นที่ประกอบไปด้วยความวิเวกวังเวงสงัดยิ่งนัก ซึ่งสมควรแก่ผู้แสวงหาบำเพ็ญสมณธรรมอยู่อาศัย จะได้ยังความไม่ประมาทให้เป็นไปในตน ปีนั้นท่านได้พักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่งใกล้กับบ้านถ้ำ ท่านทั้ง ๓ ได้พักจำพรรษาอยู่ที่นั้น

ในระหว่างพรรษานั้น ท่านอาจารย์เสาร์ และสามเณรได้จับไข้มาเลเรีย มีอาหารหนักบ้าง เป็นบ้าง ก็ไม่ถึงกับร้ายแรงจริง

ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า

วันหนึ่งมีคณะอุบาสกอุบาสิกาได้นำผ้ามาบังสุกุล ท่านอาจารย์เสาร์จะต้องการตัดจีวร เราก็ต้องจัดทำทุกอย่าง กว่าจะเย็บเสร็จเพราะต้องเย็บด้วยมือ ใช้เวลาถึง ๗ วันจึงเสร็จ พอยังไม่เสร็จดีเลย ไข้มันเกิดมาจับเอาเราเข้าให้แล้ว ทำให้เราต้องเกิดความวิตกกังวลขึ้นมา นึกในใจว่า เณรก็ไข้ อาจารย์ก็ไข้ เราก็กลับจะมาไข้เสียอีก ถ้าต่างคนต่างหนักใครเล่าจะดูแลรักษากัน ถ้าเกิดล้มตายกันเข้า ใครจะเอาใครไปทิ้งไปเผากันเล่า เจ้ากรรมเอ๋ยอยู่ด้วยกัน ๓ องค์ก็เจ็บป่วยไปตาม ๆ กัน ยิ่งกว่านั้นอาจารย์ของเรานั่นแหละจะร้อนใจมาก

ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านก็เล่าต่อไปว่า

เราได้คิดมานะขึ้นมาในใจว่า บัดนี้เราไม่มีทางเลือกทางอื่นแล้ว ที่จะมาระงับเวทนานี้ได้ เพราะยาจะฉันแก้ไข้ก็ไม่มีเลย มีแต่กำลังอานุภาพแห่งภาวนานี้เท่านั้น เพราะว่าเรามาอยู่สถานที่นี้ก็เพื่อจะอบรมตน ในทางเจริญกัมมัฏฐานภาวนา เราจะมาคิดแส่ส่ายไปทางอื่นหาควรไม่ เราต้องเอาธรรมเป็นที่พึ่งจึงจะถูก แม้จะตายขอให้ตายด้วยการภาวนา ไม่ต้องท้อถอยอ่อนแอ จะต้องเป็นผู้กล้าหาญจึงจะจัดว่าเป็นนักพรตได้

แล้วเราก็ตัดสินใจปฏิบัติบูชาพระพุทธศาสนาด้วยข้อปฏิบัตินั้น

ท่านจึงกำหนดพุทโธเป็นบริกรรมต่อไป เพราะขณะนั้นท่านก็ยังไม่สันทัดในการเจริญกัมมัฏฐานเท่าไร ครั้นบริกรรมพุทโธ ๆ ๆ ก็นึกถึงคำสอนของอาจารย์ขึ้นมาว่า

กายนี้เป็นที่อาศัยของจิตและเป็นทางเดินของจิต เปรียบเสมือนแผ่นดิน ย่อมมีทางน้อยใหญ่เป็นที่สัญจรของหมู่สัตว์ทุกหมู่เหล่า กายนี้ก็เหมือนกัน ย่อมเป็นที่อยู่อาศัยของจิต และเป็นที่เที่ยวไปมาของจิตฉันนั้น ถ้าจิตมามัวยึดถือกายนี้ว่าเป็นตนอยู่เมื่อใด ย่อมได้รับความทุกข์ความเศร้าโศกเสียใจมีความเดือดร้อนวุ่นวายอยู่เป็นนิตย์

ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านเล่าให้ข้าพเจ้าฟัง และก็ฟังกันหลายองค์ ว่า

เมื่อหมดหนทางเพราะไม่มีใครช่วยแล้ว เรานั่งสมาธิเข้าที่อยู่โดยการเสียสละ กำหนดจิตแล้วทำความสงบ ทำให้เป็นหนึ่งแน่วแน่ ไม่ให้ออกนอกเป็นอารมณ์ได้เลย เพราะขณะนั้นทุกข์เวทนากล้าจริง ๆ พอกำหนดความเป็นหนึ่งนิ่งจริง ๆ ครู่หนึ่งปรากฏว่า ศีรษะลั่นเปรี๊ยะปร๊ะไปหมด จนเหงื่อไหลออกมาเหมือนรดน้ำ เมื่อออกจากสมาธิปรากฏว่าไข้ได้หายไปราวกับปลิดทิ้ง นี่เป็นระงับอาพาธด้วยธรรมโอสถเป็นครั้งแรกของเรา เราได้พยาบาลอาจารย์ของเราได้เต็มที่

การเดินทางในครั้งนี้นั้น ได้เป็นเช่นนี้หลายหน บางครั้งมาลาเรียขึ้นสมองแทบเอาชีวิตไม่รอด เมื่อลูกศิษย์อาจารย์ปรึกษากันเห็นว่าไม่มีผลในการเดินธุดงค์อันทุรกันดารเช่นนี้แล้ว ต่างก็ชวนกันกลับประเทศไทย

สถาปนาพระธาตุพนม

ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้เล่าขณะที่ข้าพเจ้าทำหมากถวายท่านเวลากลางวันต่อไปอีกว่า

พวกเราก็ต้องเดินทางหลังจากออกพรรษาแล้ว รอนแรมตามฝั่งแม่น้ำโขงเรื่อยลงมา ณ ตามฝั่งแม่น้ำโขงนั้นก็มีหมู่บ้านเป็นหย่อม ๆ หลายก๊ก เช่น ภูไท ไทยดำ ลาวโซ่ง

ท่านเล่าว่า

ภูไทมีศรัทธาดีกว่าทุกก๊ก แต่ภูไทนี้การภาวนาจิตใจอ่อน รวมง่าย รักษาไม่ใคร่เป็น ส่วนลาวโซ่งนั้นไม่ใคร่เอาไหนเลย แต่ทุก ๆ ก๊กก็ทำบุญนับถือพุทธทั้งนั้น เขาให้พวกเราได้มีชีวิตอยู่ก็นับว่าดี แต่ขณะนี้ตัวของเราเองก็ยังมองไม่เห็นธรรมของจริง ยังหาที่พึ่งแก่ตนยังไม่ได้ จะไปสอนผู้อื่นก็เห็นจะทำให้ตัวของเราเนิ่นช้า จึงไม่แสดงธรรมอะไร นอกจากเดินทางไป พักไป บำเพ็ญสมณธรรมไป ตามแต่จะได้

ครั้นแล้วท่านอาจารย์เสาร์ก็พาข้ามแม่น้ำโขงกลับประเทศไทย ที่ท่าข้ามตรงกับพระธาตุพนมพอดี

ท่านเล่าไปเคี้ยวหมากไปอย่างอารมณ์ดีว่า

ขณะนั้นพระธาตุพนมไม่มีใครเหลียวแลดอก มีแต่เถาวัลย์นานาชนิดปกคลุมจนมิดเหลือแต่ยอด ต้นไม้รกรุงรังไปหมด ทั้ง ๓ ศิษย์อาจารย์ก็พากันพักอยู่ที่นั้น เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ขณะที่ท่านอยู่กันนั้น พอตกเวลากลางคืนประมาณ ๔-๕ ทุ่ม จะปรากฏมีแสงสีเขียววงกลมเท่ากับลูกมะพร้าว และมีรัศมีสว่างเป็นทาง ผุดออกจากยอดพระเจดีย์ แล้วก็ลอยห่างออกไปจนสุดสายตา และเมื่อถึงเวลาก่อนจะแจ้ง ตี ๓-๔ แสงนั้นก็จะลอยกลับเข้ามาจนถึงองค์พระเจดีย์แล้วก็หายวับเข้าองค์พระเจดีย์ไป

ทั้ง ๓ องค์ศิษย์อาจารย์ได้เห็นเป็นประจักษ์เช่นนั้นทุกๆ วัน ท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ จึงพูดว่า

“ที่พระเจดีย์นี้ต้องมีพระบรมสาริกธาตุอย่างแน่นอน”

ในตอนนี้ผู้เขียนกับพระอาจารย์มั่น ฯ ได้เดินธุดงค์มาพักอยู่ที่วัดอ้อมแก้วมี ๒ องค์เท่านั้น และมีตาปะขาวตามมาด้วยหนึ่งคน ท่านจึงมีโอกาสเล่าเรื่องราวเบื้องหลังให้ข้าพเจ้าฟัง ซึ่งน่าจะเป็นประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนจำได้ว่าเป็นปีที่พระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ คุณนายพวงจากจังหวัดอุบลราชธานี จะตีตั๋วให้ไปทางเครื่องบิน ท่านบอกว่า “เราจะเดินเอา” จึงได้พาผู้เขียนพร้อมด้วยตาปะขาวบ๊อง ๆ คนหนึ่งซึ่งไม่ค่อยจะเต็มเต็งเท่าไรนักไปด้วย เดินไปพักไป แนะนำธรรมะแก่ผู้เขียนไปพลาง จนไปถึงพระธาตุพนม เขตจังหวัดนครพนม แล้วท่านก็พาผู้เขียนพักอยู่ที่นี่และได้ฟังเรื่องราวของพระธาตุพนม ซึ่งจะได้เล่าสู่กันฟังต่อไปข้างหน้า โดยจะเล่าถึงการสถาปนาพระธาตุพนม

ดังนั้น ท่านจึงได้ชักชวนญาติโยมทั้งหลายในละแวกนั้น ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน และส่วนมากก็เป็นชาวนา ได้มาช่วยกันถากถางทำความสะอาดรอบบริเวณองค์พระเจดีย์นั้น ได้พาญาติโยมทำอยู่เช่นนี้ถึง ๓ เดือนเศษๆ จึงค่อยสะอาด เป็นที่เจริญหูเจริญตามาตราบเท่าทุกวันนี้

เมื่อญาติโยมทำความสะอาดเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์ก็พาญาติโยมในละแวกนั้นทำมาฆบูชา ซึ่งขณะนั้น ผู้คนแถวนั้นยังไม่รู้ถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด ทำให้พวกเขาเหล่านั้นเกิดศรัทธาเลื่อมใสอย่างจริงจัง จนได้ชักชวนกันมารักษาอุโบสถ ฝึกหัดกัมมัฏฐานทำสมาธิกับท่านอาจารย์จนได้ประสบผลตามสมควร การพักอยู่ในบริเวณของพระธาตุพนมทำให้จิตใจเบิกบานมาก และทำให้เกิดอนุสรณ์รำลึกถึงพระพุทธเจ้าได้อย่างดียิ่ง

ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้เล่าต่อไปว่า

ก่อนท่านจะกลับประเทศไทย ท่านเป็นโรคริดสีดวงจมูกประจำตัวมานาน โรคนั้นมักจะกำเริบบ่อย ๆ จึงทำให้ท่านกำหนดเอาเวทนาเป็นอารมณ์ ด้วยอำนาจแห่งความเพียรที่ท่านกำหนดเอาเวทนาเป็นอารมณ์อย่างมิได้ท้อถอยนั้น วันหนึ่งจิตของท่านได้รวมเป็นอัปปนาสมาธิ ขณะที่จิตถอยออกจากอัปปนาสมาธิแล้ว ได้ปรากฏความรู้ที่น่าอัศจรรย์ขึ้นมาว่า โรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นมาจากกรรมในปัจจุบัน เนื่องจากได้กระทำกรรมไว้ และเมื่อได้พิจารณาตามรูปเรื่องจนเห็นสมจริงตามความรู้นั้นทุกประการแล้ว จิตก็รวมลงเป็นอัปปนาสมาธิอีก คราวนี้ปรากฏว่ามีอีกาตัวหนึ่งมาจับอยู่บนศีรษะ แล้วมันก็เอาจะงอยปากจิกกินจมูกของท่านจนหมดไป ตั้งแต่นั้นมา โรคริดสีดวงจมูกของท่านก็หายเป็นปกติ นี่เป็นการระงับความอาพาธด้วยธรรมโอสถเป็นครั้งที่สอง

จากนั้นท่านทั้ง ๓ ก็ได้ออกเดินทางจาริกต่อไป และแสวงหาความสงบตามป่าดงพงพีไปเรื่อย ๆ โดยมุ่งหวังเพื่อบรรลุธรรม แต่ก็ยังไม่สมความตั้งใจไว้ ต่อมาพระอาจารย์เสาร์ ก็พากลับจังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นถิ่นเดิมของท่าน

พ.ศ. ๒๔๕๔

การแสวงหาธรรมะต่อไปในประเทศพม่า

ความไม่หยุดยั้ง มุ่งหวังหาความจริงเพื่อจะต่อสู้กับกิเลสโดยทุกทางของพระอาจารย์มั่น ฯ เป็นไปอย่างไม่คอยเวลา แม้จะต้องใช้เวลาปีแล้วปีเล่าในการมุมานะ แทบว่าจะหมดหนทางอยู่แล้วก็ตาม แท้จริงพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาก็ยังมิได้เสื่อมคลายไปไหนเลย.มีแต่การที่จะหยิบยกขึ้นมาปฏิบัติให้ได้ผลเท่านั้น เพราะท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านต้องการแสวงหาความจริงที่ไม่มีความวิปริต ท่านเองปฏิบัติ พระอาจารย์พาปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาพร้อมทั้งแนะแนวทาง แต่ท่านก็ยังรู้สึกตัวเองว่า ยังไม่พบความจริง ยังไม่เป็นที่พอใจ

ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟัง ซึ่งขณะนอนพักอยู่ที่บ้านนาสีนวน ตำบลหนองเหียน อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ในโอกาสที่ผู้เขียนกำลังถวายนวดเป็นประจำ คือในตอนเช้า หลังจากฉันภัตตาหารเสร็จแล้วก็เริ่มนวดถวายไปจนถึง ๑๑.๐๐ น. ตอนกลางคืนหลังจากเดินจงกรมแล้ว ๒ ทุ่มเศษถวายนวดจนถึง ๕ ทุ่มหรือกว่านั้น โอกาสที่เล่าถึงการไปธุดงค์ที่ประเทศพม่าครั้งนี้ ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษว่า เราอาจจะมีโอกาสไปสักครั้งบ้าง จึงทำให้ผู้เขียนพยายามจดจำการเล่าของท่าน ซึ่งท่านเองอาจจะรู้จักใจของผู้เขียนที่มีความสนใจและฝังใจ ท่านจึงเล่าให้ฟังโดยละเอียดถี่ถ้วนใช้เวลาหลายวัน และผู้เขียนเองก็พยายามซักถามท่านอยู่เสมอ จึงทำให้เกิดรสชาติขึ้นมาก

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ท่านก็ได้พบเพื่อนสหธัมมิกอีก ๑ องค์และมีชื่อ มั่น เหมือนกับชื่อของท่าน แต่ปัจจุบันท่านองค์นั้นยังมีชีวิตอยู่ โดยเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ คือ พระเทพมงคลปัญญาจารย์ ท่านอาจารย์มั่นฯ กับท่านเจ้าคุณ ฯ เทพมงคลปัญญาจารย์ ได้ปรึกษาหารือกันว่า เราจะต้องถวายชีวิตแต่พระพุทธศาสนา เดินธุดงค์แสวงหาที่วิเวก เมื่อตกลงสละชีวิตร่วมกันแล้ว ก็ออกเดินทางคือไปโดยไม่มีจุดหมาย ไม่ว่าสถานที่นั้นจะเป็นประเทศอะไร จะต้องมีหนังสือเดินทางข้ามแดนหรือไม่ก็ตาม เพราะถือเอาการอยู่ป่าเป็นสำคัญ เห็นที่ไหนเหมาะดีก็อยู่ทำความเพียรไป แต่พอจะเกิดความเคยชินก็เดินทางต่อไปอีก.

เมื่อท่านทั้ง ๒ เดินทางข้ามภูเขาไป แต่ละลูก ๆ นั้น เห็นภูเขาที่สูงชันน่ากลัวทั้งสิ้น ขณะที่ไปก็พบแต่พวกชาวเขาพูดกันไม่รู้เรื่อง

ท่านเล่าว่า ดีมากที่ไม่รู้ภาษากัน มีแต่เพียงว่าเขาให้อาหารแก่เราพอปะทังชีวิตก็พอแล้ว

ในขณะที่ท่านทั้ง ๒ กำลังเดินทางข้ามภูเขาลูกแล้วลูกเล่า ก็ถึง เมืองห่าง เขตพม่า พวกชาวบ้านเป็นไทยใหญ่เป็นส่วนมาก พวกเขาพอรู้ภาษาไทยบ้างเล็กน้อย พวกชาวบ้านเห็นเข้าแล้วก็เกิดความเลื่อมใส นิมนต์ให้ท่านพักอยู่ ท่านก็พักชั่วคราว ตามที่ท่านสังเกตดู พวกเขาเป็นคนที่มีศีลธรรมดี เวลาเขาขายของกันนั้น เจ้าของร้านบางทีก็ไม่อยู่เฝ้าหน้าร้าน เขาเขียนราคาติดสิ่งของไว้เสร็จ คนซื้อไม่เห็นเจ้าของร้านก็เอาเงินวางไว้ให้ แล้วหยิบเอาของนั้นไปตามราคา การลักการขโมยไม่มี ผู้คนมีรูปร่างหน้าตาสะอาด

ท่านรำพึงว่า ธรรมะอะไรหนอ ที่ทำให้พวกเขาเหล่านี้มีศีลธรรมอันดีงาม น่าแปลกใจจริง

เพื่อการแสวงหาเฉพาะธรรมะเท่านั้น ท่านทั้ง ๒ จึงไม่พยายามที่จะสอนใครและหาความสนิทสนมกับใคร ๆ เพราะต้องการปฏิบัติมากกว่า อันแดนพม่ากับแดนไทยนี้ ท่านเล่าว่า มันกีดกันด้วยภูเขาลูกใหญ่จริงๆ.ไม่เหมือนทางภาคอีสานของไทย ถ้าเปรียบเทียบกันแล้วภูเขาลูกเล็ก ๆ ทั้งนั้น

“เสือ-ช้าง งูจงอาง-หมี-วัวกระทิง ท่านอาจารย์ไม่พบบ้างหรือ?” ผู้เขียนถาม

ท่านตอบว่า

“ไม่ต้องพูดถึงหรอก ตลอดระยะทางก็มีแต่เฉพาะพวกมันทั้งนั้น ก็เข้าไปป่าทึบซึ่งเป็นเขตของมัน แม้แต่พวกเราจะจำวัดในป่ากัน ๒ องค์ ก็ไม่อยู่ใกล้กัน เสียงช้างและเสือน่ะหรือ อ๋อ ชินต่อพวกมันเสียแล้ว แม้แต่จะเดินสวนทางผ่านกันไปก็ทำเหมือนไม่รู้ไม่ชี้

การเดินทางของเราทั้ง ๒ คราวนี้ มิได้มีการสนทนาธรรมเท่าใด เพราะต่างเอาความเพียรเป็นสำคัญ เมื่อจะพึงได้รับความสงบเย็นใจก็ถือว่าใช้ได้ บางครั้งเดินไปเหนื่อย หยุด หยุดทำไม ก็นั่งสมาธิ ถ้าไม่พบบ้านเรือนเลยก็ต้องอดอาหาร”

“ก็เทวดาไม่ใส่บาตรหรือครับ” ผู้เขียนย้อนถาม

“เทวดาก็คือคนใจบุญ เห็นมีแต่ต้นไม้จะมีเทวดาที่ไหนมาใส่บาตร”

“เราทั้งสองอดอาหารโดยการเดินทาง บางครั้งนานถึง ๓ วัน เพราะไม่มีบ้านคน ดื่มเฉพาะน้ำ แต่ไม่ได้กระทบกระเทือนจิตใจของเราแต่อย่างใดเลย มันเป็นความพอใจ จึงไม่เห็นจะเป็นการหนักใจอะไร เข็มทิศก็ไม่มี”

“การเดินทางมิหลงแย่หรือครับ ?” ผู้เขียนชักถาม

“เราก็ถามชาวบ้านเขาไปเรื่อย ๆ ไปถูกผิดบ้างตามเรื่อง ส่วนการผจญกับสัตว์ป่าน่ะหรือ ก็ไม่เห็นเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์อะไร วิริยังค์ (ชื่อผู้เขียน)”

“นายพรานป่าพวกเขาไปตามป่าดงพงพี พบงูฆ่างู พบเสือฆ่าเสือ พบช้างฆ่าช้าง นอนกลางดงกลางป่าไม่เห็นเขาจะกลัวอะไร พวกพรานทั้งหลายซึ่งเป็นนักล่าสัตว์ เขาผจญกับพวกสัตว์ร้ายมากกว่าเรา เราไม่จำเป็นจะต้องถือว่าการผจญกับพวกสัตว์ร้ายเป็นเรื่องสำคัญ เราถือว่าการปฏิบัติที่เรากำลังจะต่อสู้กับกิเลสภายในนี้แหละสำคัญกว่า”

“การเดินทางอย่างทุรกันดารและยาวไกลคราวนี้ ก็ทำให้เกิดผลทางใจแก่เราไม่น้อยเลย เป็นเหตุให้เกิดความกล้าหาญในทางใจขึ้นอีกมาก"

ท่านก็พยายามหาอาจารย์ผู้สอนกัมมัฏฐานหลายต่อหลายท่าน ตามทางที่ไป จนถึงพระธาตุชเวดากอง ซึ่งใช้เวลาทั้งหมดถึง ๘ เดือน แต่ยังไม่ได้ผลเป็นที่พอใจ และก็ไม่ผิดอะไรกับที่ไปประเทศลาว จึงทำให้ท่านคิดจะกลับประเทศไทยต่อไปอีก

ตามข่าวเล่าลือว่าอาจารย์ที่ประเทศพม่านี้เก่งในทางการสอนและปฏิบัติกัมมัฏฐานมาก ท่านได้เสาะแสวงหา ตั้งปัญหาถามทุกอย่าง คำตอบยังไม่เป็นที่พอใจ เพราะเหมือนกับที่เราทำอยู่เดี๋ยวนี้ มิได้ยิ่งขึ้นไป แม้เราจะถามให้สูงขึ้นซึ่งอรรถปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติทางใจ แต่เราก็ไม่มีปัญญา เรามีความรู้เท่าไร ก็ถามเขาเท่านั้น มิใช่ถามเพื่อการลองภูมิ เหมือนกับคนทั้งหลายที่อวดดี ถามเพื่อจะแก้ตัวเอง เมื่อไม่มีความรู้ที่จะถาม ถามก็แต่ที่เรามีอยู่ มันก็จนใจ และก็ไม่เห็นค่า มีประโยชน์อะไรที่จะอยู่ต่อไป ถ้าหากว่าเราจะพึงได้รับความรู้ก้าวหน้าต่อไปอีก เราก็เห็นจะไม่ห่วงอะไรข้างหลังเลย เพราะไม่เห็นมีอะไรจะให้ห่วง

ดังนั้นเราทั้งสองจึงตัดสินใจกลับ ปีนี้กลับโดยการเดินไม่ทันเสียแล้ว จึงต้องจำพรรษาอยู่ที่บนเขาแห่งหนึ่งในเขตเมืองมะละแหม่ง เป็นเพียงสำนักสงฆ์มีพระอยู่องค์เดียว เมื่ออาศัยอยู่ที่นั้น มีกุฏิที่กำบังแดดฝนถูกต้องตามพระวินัยนิยม ก็เร่งความเพียรไปตามที่พอจะทำได้

นับเป็นการเดินทางผจญภัยและหยุดจำพรรษาพักผ่อน ทั้งสองก็ปรึกษากันว่าออกพรรษาแล้วจะเข้าไปประเทศไทยที่ไหนดี. แต่ท่านมั่นบอกว่าพอแล้ว ผมจะกลับเข้ากรุงเทพฯ ส่วนพระอาจารย์มั่นฯ เห็นว่า การปล่อยให้ท่านมั่นกลับเข้ากรุงเทพฯ องค์เดียวคงไม่ดีแน่ ท่านจึงได้ไปส่งและพักแรมอยู่ที่วัดสระประทุม ฯ ด้วยกัน ครั้งนั้นพอดีมีคนเยอรมัน ๒ คน มีศรัทธาเลื่อมใสท่านมั่น ช่วยสร้างกุฏิถวาย และรู้จักคุ้นเคยกับพระอาจารย์มั่น ฯ ซึ่งท่านเล่าว่า ชาวเยอรมันที่มีนิสัยดี รู้จักบุญบาป มาทำบุญในประเทศไทย เท่ากับเป็นเทวดาตั้งแต่ยังไม่ตายทีเดียว

“อ้าวก็ฝรั่งชาติอื่นเล่าครับ” ผู้เขียนย้อนถาม

“ก็เรายังไม่เคยเห็นเขาทำบุญเลย เราก็เลยไม่ต้องพูดถึงเขา”

หลังจากนั้นท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็มุ่งธุดงค์องค์เดียว คราวนี้ไม่มีใครเป็นเพื่อน แล้วตรงไปยังจังหวัดเลย เพราะจังหวัดเลยมีภูมิลำเนาเป็นป่าใหญ่ มีภูเขาและถ้ำใหญ่ มาก ตามปรกติถ้ำใหญ่ ๆ ท่านไม่ค่อยจะชอบ ท่านชอบถ้ำเล็ก ๆ มีภูเขาไม่ใคร่สูงนัก พอขึ้นลงได้สบาย จึงจะอยู่นาน ท่านจึงค้นพบถ้ำหนึ่งชื่อถ้ำผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

ณ ที่ถ้ำผาบิ้งนี้ ต้องนับว่าเป็นสถานที่สัปปายะแก่ผู้บำเพ็ญความเพียรเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในขณะที่เขียนนี้พระอาจารย์หลุยซึ่งเป็นศิษย์คนสำคัญของพระอาจารย์มั่นรูปหนึ่งได้อาศัยอยู่และกำลังพัฒนาให้เป็นที่เหมาะสมสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม

ท่านพระอาจารย์มั่นฯ เล่าว่า

ในครั้งแรกของการมาที่ถ้ำนี้ หลังจากกรากกรำมาจากประเทศพม่าแล้ว ก็รู้สึกว่าได้รับความสงบมากพอสมควร การอยู่ที่ถ้ำผาบิ้งแต่องค์เดียว จึงเป็นการทำความเพียรที่ได้ผลมาก แต่ก็ยังไม่ได้ปัญญา หรือเป็นที่แน่ใจอย่างไรเลย เพราะท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านเป็นผู้ที่รักความจริง สิ่งปลอมแปลงหรือสิ่งหลอกลวงท่านไม่ชอบ

ขณะที่ผู้เขียนนั่งฟังท่านเล่า ได้ปรารภถึงผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในครั้งนั้นว่า การเชื่อมงคลตื่นข่าวนี้ไม่ดีเลย ยิ่งเป็นพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา ทำว่าตนไปอยู่ถ้ำอยู่เขาหวังเพื่อให้ดังแล้วมีคนไปหามาก นั่นคือพาให้เขาหลง

ขณะที่ท่านเล่านั้นมีพระอาจารย์รูปหนึ่งอยู่ที่ภูค้อ มีคนไปหามาก ท่านไม่ฉันข้าวอยู่แต่ในถ้ำ ท่านพระอาจารย์มั่นฯ พูดกับผู้เขียนว่า

พวกเธออย่าทำอย่างนั้น อย่าไปอยู่ถ้ำอยู่เขาให้คนแห่กันไปหา “ มันบ่แม่น” หมายความว่ามันไม่ถูก ท่านบอก นักบวชที่อยู่ถ้ำอยู่เขาเพียงต้องการวิเวก จะไปเที่ยวป่าวประกาศไปหาพระในถ้ำให้เอิกเกริกนั้นผิดวิสัย

อย่าว่าแต่ใครเลย แม้แต่อาจารย์ของข้าพเจ้าผู้เขียนเอง ก็ถูกท่านดุเอา ตอนที่ท่านพระอาจารย์มั่นฯ อยู่วัดบ้านหนองผือ ท่านเคยพูดว่า

“กงมา เธอไปอยู่ในถ้ำ และเที่ยวทำโน่นทำนี่ เขาเล่าลือ มันบ่แม่นหนา ให้อยู่อย่างสงบจริง ๆ จึงจะถูก”

ซึ่งผู้เขียนได้ยินมากับหูอย่างนี้

แม้ท่านจะมาอยู่ที่ถ้ำผาบิ้งนี้นาน แต่ท่านก็พยายามหลบหลีกผู้คนที่จะมาเห็นตัวท่านว่าวิเศษ ดูเอาเถิดแม้แต่กลดของท่าน ท่านเล่าว่า

“เรายังต้องเอาร่มจีนกางแล้วเอาผ้ามุ้งมาย้อมกลัก ทำอย่างนี้ต้องการจะไม่ให้เขามาหาของขลัง เพราะเขาจะได้เข้าใจว่า เราไม่ใช่พระธุดงค์”

ท่านพระอาจารย์มั่น ๆ พยายามหลบหลีกการมีชื่อเสียงและชุมนุมชนวุ่นวาย ซึ่งตรงกันข้ามกับพระที่อยู่ถ้ำป่าเขา เพื่อต้องการหาชื่อเสียงให้วุ่นวายไป เพราะพระภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นธรรมะป่าอะไร ๆ ทำนองนั้น ต้องการอยากจะหาชื่อเสียงให้กับตัวเองด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา

ส่วนท่านพระอาจารย์มั่นฯ หาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านรักความสงบโดยไม่เห็นแก่หน้าใครเลย ใครจะมารบกวนความสงบของท่านไม่ได้

ดูแต่วันหนึ่งท่านอยู่บ้านนามน เวลาเย็นท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ มีคุณโยมนุ่ม ชุวานนท์ คหบดีจากจังหวัดสกลนคร จะเข้าไปถวายสิ่งของและนมัสการ เดินเข้าไป ๓-๔ คน เวลานั้น ท่านยังต้องไล่ตะคอกให้ออกจากวัดไปโดยเร็ว เพราะเวลานี้ต้องการความสงบ อย่ามายุ่ง จนคุณโยมต้องวิ่งหนีกลับกันจ้าละหวั่น ซึ่งผู้เขียนก็ได้เห็นมาด้วยตาตัวเอง

นี่แหละจึงเห็นได้ว่า ท่านอาจารย์มั่น ฯ มิได้ต้องการมีชื่อเสียงโด่งดัง ไม่ต้องการอามิสอันจะนำมาซึ่งการทำลายความสงบอันเป็นยอดปรารถนา

คุณโยมที่อ้างถึงนี้เป็นโยมที่เคยอุปัฏฐากมาตั้งแต่พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระครั้งยังมีชีวิตอยู่นั้น แทนที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ จะเอาอกเอาใจ แต่ท่านต้องขับไล่ไสส่งไปเพราะมาก่อกวนความสงบ

ต่อมาภายหลังคุณโยมนุ่มก็ได้เข้าใจเรื่องนี้ดี จึงได้มานมัสการในเวลาอันสมควร

ณ ที่ถ้ำผาบิ้งนี้ท่านบอกว่า ยังไม่สามารถจะแก้ความสงสัยของการปฏิบัติได้ แม้ว่าจะคิดการดำเนินการปฏิบัติอย่างทุรกันดารแสนที่จะตรากตรำแล้ว สงบก็ถึงที่สุดแล้ว วิเวกก็ถึงที่สุดแล้ว นั่งสมาธิก็ถึงที่สุดแล้ว เขาป่าก็ถึงที่สุดแล้ว เขาถ้ำไหนที่ใดก็ถึงที่สุดแล้ว

ในที่สุดท่านก็เดินทางกลับมายังวัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานีอีก เพื่อมาพบกับท่านอาจารย์เสาร์ จากนั้นเมื่อท่านพักอยู่ที่วัดเลียบ ท่านก็พยายามทำความเพียรอย่างเต็มกำลัง เพราะวัดเลียบในสมัยนั้นสงบสงัด ไม่พลุกพล่านเหมือนในปัจจุบันนี้

สุบินนิมิตเกิดขึ้น

เหมือนกับธรรมะบันดาล โดยความที่ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้ประโยคพยายามอย่างจรดเหนือจรดใต้รอบฟ้าแดนดินก็ว่าได้ และยังไม่ได้สมดังความมุ่งหมาย ถ้าเป็นอย่างเรา ๆ ท่านๆ เห็นท่าจะต้องล้มเลิกการปฏิบัติเสียแล้ว เพราะลำบากแสนสาหัสจริงๆ ท่านยังพูดกับผู้เขียนเสมอ ๆ ขณะที่ผู้เขียนตำหมากถวายท่านตอนกลางวันว่า

“วิริยังค์เอ๋ย มันแสนสาหัสสากรรจ์จริง ๆ หนา เราได้ตรากตรำทำมา เกือบจะเอาชีวิตไปทิ้งเสียที่ในกลางป่าดงพงไพรโดยไม่รู้ ไม่เห็นอะไร มันสาหัสก็แสนสาหัส มันสากรรจ์ก็แสนจะสากรรจ์ แต่มันก็มีอะไรอยู่อย่างหนึ่งที่ทำให้เราต่อสู้ไม่เคยกลัว และก็ไม่ถอยให้แก่มันแม้แต่ก้าวเดียว ก็เป็นเหมือนกับธรรมะบันดาล คือค่ำคืนวันหนึ่งขณะที่เราได้หลับไปแล้ว แต่การหลับของเราในขณะนั้นก็เหมือนจะตื่น เพราะต้องกำหนดจิตให้มีสติไว้เสมอๆ”

ท่านเล่าว่า

“เราก็ฝันไปว่า เราเดินออกจากบ้านไปตามหนทางแล้ว ก็เข้าสู่ป่าที่รกชัฏมีทั้งหนามและไม้รกรุงรัง”

ท่านก็เดินผ่านป่านั้นเรื่อยไป ก็ได้พบกับต้นชาดต้นหนึ่งที่ล้มตาย มีกิ่งก้านผุไปหมด ท่านก็ขึ้นบนขอนไม้ชาดที่ล้มนั้น ปรากฏว่าเป็นขอนไม้ที่ใหญ่โตมากทีเดียว แม้ท่านขึ้นไปบนขอนไม้ชาดแล้วจึงสังเกตดูก็รู้ว่าเป็นต้นชาดที่ตายสนิท ไม่มีทางจะงอกงามขึ้นมาได้อีก มองไปข้างหน้าเป็นท้องทุ่งเวิ้งว้าง ปลอดโปร่งกว่าทางที่ผ่านมา

ขณะนั้นปรากฏว่ามีม้าสีขาวตัวหนึ่งวิ่งมาจากทางไหนไม่ทราบ แล้วก็เข้ามาเทียบข้างขอนไม้ชาดที่ท่านกำลังยืนอยู่นั้น ท่านก็ขึ้นบนหลังม้าขาวนั้นทันที ม้าก็พาท่านวิ่งห้อเต็มเหยียดไปกลางทุ่ง พอสุดทุ่งก็พอดีพบตู้พระไตรปิฎกตั้งตระหง่านอยู่ข้างหน้า ม้าก็ได้หยุดลงตรงนั้นพอดี แต่ท่านมิได้เปิดตู้พระไตรปิฎกนั้น ก็พอดีรู้สึกตัวตื่นขึ้นเสียก่อน

ครั้นเมื่อท่านตื่นขึ้นก็ได้ทบทวนตามเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้สุบินนิมิตนี้ เกิดความมั่นใจและทำนายนิมิตนั้นตามลำดับว่า

“ที่เราออกจากบ้านไปนั้น คือเราได้ออกจากความเป็นฆราวาส แต่ไปพบป่ารกชัฏ แสดงว่าเราได้เดินทางไปแต่ยังไม่ถูกทางจริงจึงต้องลำบากอย่างหนัก แต่การที่เราได้ขึ้นบนขอนไม้ชาดที่งอกอีกไม่ได้นั้น แสดงว่าเราอาจจะเป็นชาติสุดท้ายด้วยการแสวงหาธรรมในทางที่ถูกต้องต่อไป ทุ่งว่างเป็นทางที่จะปลอดโปร่งในการที่จะดำเนินการปฏิบัติที่ไม่มีความลำบากนัก การที่เราได้ขี่ม้าขาว หมายถึงการเดินไปสู่ความบริสุทธิ์อย่างรวดเร็ว การไปพบตู้พระไตรปิฎกแต่ไม่ได้เปิดดูตู้นั้น คือเราไม่ได้ถึงปฏิสัมภิทาญาณ ถ้าได้เปิดตู้นั้นดูก็คงแตกฉานกว่านี้ นี่เป็นเพียงพบตู้ก็ถึงเพียงปฏิสัมภิทานุศาสน์ มีการสอนผู้อื่นได้บ้างเท่านั้น”

เมื่อเหมือนบุญบันดาลเช่นนี้ ก็ทำให้ท่านเกิดความมั่นใจขึ้นมาอีกมากในการที่จะดำเนินการปฏิบัติต่อไป

ท่านเล่าว่า

จากนั้นท่านได้พยายามอยู่อย่างเดียว คือ

เมื่อจิตได้พลังเกิดความสงบ และความแกร่งขึ้นในจิตนั้นแล้ว ท่านก็ไม่ให้มันสงบเหมือนแต่ก่อน เพราะแต่ก่อนนั้นถือเอาความสงบเป็นใหญ่ แต่ตอนนี้ท่านพยายามที่จะกำหนดจิต พิจารณากายคตาอย่างหนัก ท่านได้ใช้กระแสจิตกำหนดเข้าสู่กายทุกส่วน ทั้งยืน เดิน นั่ง นอน ให้จิตนี้จดจ่ออยู่ที่กายตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อพิจารณาให้เกิดความเบื่อหน่าย บางครั้งท่านเดินจงกรมอยู่ ปรากฏว่าท่านได้เดินลุยเหยียบไปบนร่างของคนตายซึ่งนอนเรียงรายอยู่ทั่วไป

การกระทำเช่นนี้ใช้เวลานานหลายเดือน ทั้งก็รู้สึกว่าจะเกิดปัญญาขึ้นมาบ้าง ซึ่งก็ไม่เหมือนเมื่อคราวทำจิตให้สงบ ไม่เกิดปัญญาเลย มีแต่อยู่เฉยสบายๆ ก็สบายจริง แต่ก็ได้แต่สบาย ไม่ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ยังบังเกิดความหวั่นไหวไปตามกิเลสอยู่ ครั้งนี้รู้สึกว่าความหวั่นไหวตามอารมณ์ชักชะงักลง จึงปลงใจว่าน่าจะถูกหนทางแล้วกระมัง

วันหนึ่งท่านนิมิตเป็นอุคคหะขึ้น (หมายความว่านิมิตในสมาธิ) เห็นคนตายนอนอยู่ตรงหน้า ห่างจากตัวท่านราว ๑ ศอก หันหน้าข้าหาท่าน ขณะนั้นมีสุนัขตัวหนึ่งเข้ามากัดซากศพนั้น ดึงเอาไส้ออกมาเคี้ยวกินอยู่ เมื่อเห็นนิมิตปรากฏอย่างนั้น ท่านก็กำหนดพิจารณาให้เกิดความเบื่อหน่ายสังเวชสลดมิได้ท้อถอย ทำให้เห็นอยู่ทุกอิริยาบถ แล้วก็กำหนดขยายส่วนต่าง ๆ ออกไปได้ตามความปรารถนา แม้จะกำหนดอย่างนั้นให้เต็มทั่วทั้งวัดและทั้งโลกก็ได้ หรือกำหนดให้ย่อยยับดับสูญไม่มีอะไรเหลือก็ทำได้ เรียกว่ากำหนดให้เป็นไปตามความปรารถนาทุกอย่าง

ท่านได้พิจารณาซากศพนี้เป็นเวลานาน และยิ่งกำหนดยิ่งพิจารณาไปเท่าไร จิตก็ยิ่งปรากฏสว่างไสวขึ้นมาก จึงได้ปรากฏเป็นดวงแก้วขึ้น แล้วทิ้งการกำหนดอสุภ โดยกำหนดเอาเฉพาะดวงแก้วนั้นเป็นอารมณ์

วาระต่อไปจึงปรากฏเห็นเป็นนิมิตอันหนึ่ง คล้ายกับภูเขาอยู่ข้างหน้า คิดอยากจะไปดู บางทีอาจจะเป็นหนทางที่อาจจะปฏิบัติได้ดีบ้างกระมัง

ปรากฏในนิมิตสมาธิต่อไปอีกว่า

ได้เดินเข้าไปมองเห็นเป็นชั้น ๆ มีถึง ๕ ชั้น จึงก้าวขึ้นไปจากชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่ ๕ เป็นบันไดแก้วแล้วหยุดอยู่บนชั้นนั้น แต่แล้วก็กลับคืน และในขณะนั้นปรากฏว่าได้สะพายดาบอันคมกล้าไปด้วยเล่มหนึ่ง พร้อมทั้งสวมรองเท้าวิเศษอีกด้วย

ในคืนต่อไป ทำสมาธิเข้าไปถึงชั้นเดิมอีก แต่คราวนี้ปรากฏเป็นกำแพงแก้วอยู่ข้างหน้า ที่กำแพงแก้วนั้นมีประตูเข้าออกได้ จึงคิดอยากจะเข้าไปดูว่ามีอะไรอยู่ข้างในนั้น จึงเอามือผลักบานประตูเดินเข้าไป เห็นมีทางอยู่ทางหนึ่งเป็นสายตรง ได้เดินเข้าไปตามทางสายนั้น ข้างทางด้านขวามือมีที่สำหรับนั่ง และมีพระกำลังนั่งสมาธิอยู่ประมาณ ๒ - ๓ รูป ที่อยู่ของพระนั้นคล้ายกับประทุนเกวียน แต่เราไม่ค่อยจะเอาใจใส่เท่าไรนักจึงเดินต่อไป ข้างทางทั้ง ๒ มีถ้ำเงื้อมอยู่มาก และได้เห็นดาบสคนหนึ่ง แต่ก็ไม่เอาใจอีก แล้วก็เดินทางต่อไปจนถึงหน้าผาซึ่งสูงชันมาก คิดจะเดินต่อไปอีกก็ไม่ได้ จึงหยุดเพียงแค่นั้นแล้วกลับมาตามทางเดิม

ในคืนต่อไป ก็ได้เข้าจิตสมาธิดำเนินไปตามทางเดิมทุกประการ เมื่อไปถึงหน้าผานั้นปรากฏว่ามียนต์อยู่อันหนึ่งคล้ายๆ กับอู่ มีสายหย่อนลงมาจากหน้าผานั้น จึงได้ขึ้นยนต์ พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ยนต์ก็ชักพาขึ้นไปบนยอดเขาลูกนั้น แต่บนเขานั้นมีสำเภาใหญ่อยู่ลำหนึ่ง ได้ขึ้นบนสำเภาลำนั้นอีก ข้างในสำเภามีโต๊ะสี่เหลี่ยมอยู่ตัวหนึ่ง บนโต๊ะมีผ้าสีขาวละเอียดปูไว้ เมื่อมองไปมองมาทั้ง ๔ ทิศ เห็นมีแสงประทีปตั้งไว้รุ่งโรจน์ชัชวาล ประทีปนั้นคล้ายกับติดเชื้อด้วยน้ำมัน จึงได้ขึ้นนั่งบนโต๊ะนั้น และได้ฉันจังหัน (ฉันเช้า) ที่นั้นด้วย ของฉันก็มีข้าวและแกงกับอีกหลายอย่าง เวลาฉันเสร็จแล้วมองข้างหน้าเห็นฝั่งโน้นไกลลิบ จะไปต่ออีกก็ไม่ได้เพราะมีเหวลึกขวางหน้าอยู่ และสะพานที่จะข้ามก็ไม่มี จึงต้องกลับสู่ทางเดิม

คืนหลังต่อมา ก็ได้เข้าสมาธิจึงไปตามเดิมนั่นเอง แต่พอมาถึงสำเภาลำนั้น ก็ยังคิดอยากจะข้ามเหวต่อไป ปรากฏว่ามีสะพานเล็ก ๆ พอข้ามไปได้ เมื่อข้ามไปถึงฝั่งข้างโน้นแล้ว เห็นเป็นกำแพงใหญ่สูงมาก และประกอบไปด้วยค่ายคู ประตูและหอรบครบบริบูรณ์ ด้านหน้ากำแพงมีถนนใหญ่อยู่สายหนึ่ง จากทิศใต้ไปทิศเหนือ นึกอยากไป แต่ผลักประตูไม่ออก จึงต้องกลับทางเดิม

คืนหลังต่อมาอีก ก็ได้เข้าสมาธิจิตไปตามทางเดิมนั้นอีก ในคืนวันนั้น เมื่อไปถึงระหว่างตอนที่จะข้ามสะพานครั้งเหวลึกนั้น ปรากฏว่ามีสะพานใหญ่กว่าวันก่อนมาก ขณะที่เดินไปตามสะพานถึงระหว่างกลางนั้น ก็ได้พบกับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ซึ่งเดินสวนทางมาแล้วกล่าวว่า “อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค” แล้วก็เดินต่อไป ครั้นไปถึงประตูแล้วมองเห็นประตูเล็ก จึงผลักประตูเล็กออกไปได้ เข้าไปผลักประตูใหญ่ก็ได้อีก เมื่อเดินเข้าไปก็เห็นมีกำแพงและมีเสาธงตั้งอยู่กลางเวียง กำแพงนั้นสูงตระหง่านบานใจยิ่งนัก ที่ข้างหน้ามีถนนสะอาดเตียนราบรื่นและมีหลังคามุงไว้ มีประทีปโคมไฟติดไว้ตามเพดานสว่างไสว ข้างหลังถนนเห็นมีโบสถ์หลังหนึ่ง จึงเดินเข้าไปในโบสถ์นั้น ภายในโบสถ์มีทางสำหรับเดินจงกรม และมีดวงประทีปตามไว้สว่างไสวอยู่ ๒ ข้างทางเดิน คิดอยากจะเดินจงกรม จึงได้เดินกลับไปกลับมาอยู่ ณ ที่นั้น และเห็นธรรมาสน์อันวิจิตรไปด้วยเงินตั้งอยู่  จึงได้ขึ้นไปนั่งบนธรรมาสน์นั้น ข้างบนธรรมาสน์มีบาตรอยู่ใบหนึ่ง เมื่อเปิดดูก็พบมีดโกนอยู่เล่มหนึ่ง

พอมาถึงตอนนี้ไม่มีนิมิตอะไรอีกต่อไป คงหยุดเพียงแค่นี้

ทุกวันทุกคืนได้เข้าจิตทำนองนี้จนเกิดความชำนิชำนาญ จะเข้าออกเวลาไหนก็ตามใจชอบ พอถึงที่ของมันแล้วจะสงัดจากอารมณ์ทั้งหลาย แม้เสียงก็ไม่ได้ยิน ทุกขเวทนาก็ไม่ปรากฏ เป็นเช่นนี้อยู่ถึง ๓ เดือน และทุกครั้งที่เข้าจิตไปนั้น ดาบและรองเท้าก็ต้องมีพร้อมทุกคราวไป จนสำคัญตนว่า ตนของตนถึงความบริสุทธิ์แน่จริง หมดจดจากกิเลสแล้ว

การเกิดนิมิตที่ท่านเล่ามานี้ ผู้เขียนได้เขียนจากปากคำของท่านเอง ขณะที่ท่านอาจารย์มั่นฯ นั่งอยู่ที่ศาลาเวลาบ่าย ๒ โมงเศษ ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษขอจดลงในสมุดบันทึกเลย และท่านก็บอกผู้เขียนว่า

ระวังอย่าได้ไปหลงในนิมิตเช่นนี้ เพราะมันวิเศษจริง ๆ ผู้ปฏิบัติทางจิตชอบจะมาติดอยู่เพียงแค่นี้แล้วสำคัญตนผิด เราเองก็สำคัญตัวเราเองมาแล้ว และมันก็น่าจะหลง เพราะเป็นสิ่งอัศจรรย์มาก ที่วิปัสสนูปกิเลสก็คือความเห็นเช่นนี้

ท่านเล่าต่อไปว่า

ถึงแม้จะสำคัญว่าตนบริสุทธิ์แล้วก็ตาม แต่ยังมีความสงสัยอยู่เหมือนกัน จึงได้มีการกำหนดรู้ เมื่อเวลาจิตออกจากความสงบแล้ว ปรากฏว่ายังมีวี่แววแสดงอาการกระทบกระเทือน ในเมื่ออารมณ์มากระทบย่อมอ่อนไหวไปตาม เมื่อคิดค้นดูเหตุการณ์ด้วยตนเองแล้ว เห็นว่าลักษณะจิตที่ดำเนินไปอย่างนี้ คงจะยังไม่ตรงต่ออริยมรรคอริยผลแน่ จึงพยายามไม่ให้จิตมันลงไปเหมือนเดิม ถึงมันจะลงก็ไม่ยอมให้มันลง กำหนดกายคตาเป็นอารมณ์

พยายามแก้ไขตัวเองอยู่เดือนเศษ

ในวันหนึ่งหลังจากที่มิให้จิตมันหลงไปตามนิมิตต่าง ๆนั้นได้แล้ว กำหนดเฉพาะกายคตา จิตได้เข้าถึงฐาน ปรากฏว่า ได้เลิกหนังของตนออกหมด แล้วแหวะภายในกาย ได้พิจารณาทบทวนอยู่ในร่างกายอย่างละเอียด แต่ก็ใช้เวลาพักจิต มิใช่พิจารณาไปโดยได้มีการหยุดพัก แต่เมื่อพักจิตก็รู้ว่า ปัญญาได้เกิดขึ้นพอควร มีอาการไม่ตื่นเต้นและไม่หวั่นไหว จึงได้เปล่งอุทานว่า

“นี่แหละจึงจัดว่ารวมถูก เพราะไม่ใช่จิตรวมสงบก็อยู่เฉย ที่สงบนั้นต้องสงบแล้วพิจารณาอยู่ในกัมมัฏฐาน คืออยู่ในการพิจารณาดูตัวทุกข์คือ กายนี้เป็นตัวทุกข์ และให้เห็นตัวทุกข์อยู่จึงจะได้ชื่อว่าดำเนินจิตอยู่ในองค์มรรค”

ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้เล่าถึงตอนนี้ จึงพูดขยายความต่อไปอีกว่า

“เราจะต้องตรวจค้นให้รู้จริงเห็นจริงอยู่ที่กายกับจิตเท่านั้น จึงจะถูกอริยมรรคปฏิปทา”

จนครั้งหนึ่งปรากฏว่าร่างกายของท่านแตกออกเป็น ๒ ภาค แล้วก็ได้กำหนดจิตให้นิ่ง จนเกิดความสังเวชสลดใจ จึงถือเอาหลักนั้นเป็นการเริ่มต้น เพราะเห็นว่าถูกต้องแล้วเป็นปฏิปทาดำเนินต่อไป

พ.ศ. ๒๔๕๕

ธุดงค์ผจญภัยองค์เดียวถึงถ้ำไผ่ขวาง

ท่านได้พิจารณาในตัวของท่านเองว่า ที่เราบำเพ็ญถูกบ้างผิดบ้าง แต่ก็พอจะรู้ทางถูกทางผิดบ้างแล้ว ถ้าเราจะอยู่ที่วัดเลียบต่อไป การทำความเพียรของเราก็จะไม่สามารถทำถึงขั้นอุกฤษฏ์ได้ เพราะยังเกี่ยวข้องกังวลบางสิ่งบางประการ จึงตัดสินใจออกป่าแต่ผู้เดียว โดยท่านเอาร่มจีนมาแทนกลด เพราะถ้าเอากลดไปด้วยแล้ว ก็จะทำให้คนทั้งหลายเข้าใจว่าเป็นพระธุดงค์ ก็จะมารบกวนหาของขลังอย่างโน้นอย่างนี้ เป็นที่กังวลเป็นอุปสรรคต่อการประกอบความเพียร ท่านเห็นพระธุดงค์ไปที่พระพุทธบาท ถึงกับเขียนไว้ข้างมุ้งกลดเลยว่า มีพระให้เช่า ท่านบอกว่า ท่านที่ธุดงค์โดยมุ่งหวังชื่อเสียงลาภสักการะนั้น อย่าธุดงค์ดีกว่า เราเข้าป่าเพื่อแสวงหาธรรมปฏิบัติ ก็ควรจะยกความกังวลทั้งหลายออกไปเสีย

ท่านเดินธุดงค์ออกจากจังหวัดอุบลราชธานีครั้งนั้นด้วยการเดินเท้าเปล่า รอนแรมผ่านดงพญาเย็นเรื่อยมา แทบจะกล่าวได้ว่า ท่านได้ผ่านภูเขาแทบทุกลูกในประเทศไทย แต่แล้วก็ยังไม่เหมาะในการทำความเพียร ในที่สุดการธุดงค์ของท่านในครั้งนั้น ก็ลุมาถึง ถ้ำไผ่ขวาง ข้างน้ำตกสาริกา เขตจังหวัดนครนายก ซึ่งในสมัยนั้นยังคงเป็นป่าทึบและดงดิบ อยู่กลางป่าจึงดาษดื่นไปด้วยสิงห์สาราสัตว์ เช่นเสือ ช้างที่ดุร้าย พร้อมทั้งงูเห่าและงูจงอาง ท่านเล่าว่า เดินเข้าไปเย็นยะเยียบเงียบจากเสียงภายนอก มีแต่เสียงของพวกสัตว์นานาชนิด มันเป็นสิ่งที่เราปรารถนาและต้องการอยู่แล้ว เพราะจะพยายามทรมานตัวเอง

เมื่อท่านได้มุ่งหน้าเข้าไปยังถ้ำน้ำตกสาริกาบนภูเขา ในระหว่างทางได้พบหมู่บ้านไม่กี่หลังคาเรือนซึ่งเป็นชาวไร่ พวกเขาจึงถามท่านว่า

“ท่านหลวงพ่อครับ จะไปไหน ?”

ท่านตอบว่า “จะไปบำเพ็ญสมณธรรมในเขาลูกนี้”

บรรดาชาวไร่เหล่านั้นก็พากันตกตะลึง พยายามทัดทานท่านว่า

“อย่าเข้าไปเลยหลวงพ่อ เพราะพระที่เข้าไป ในถ้ำนี้มรณภาพไปแล้วถึง ๖ องค์ ขอให้อยู่กับพวกผมที่บ้านนี้เถิด อย่าเข้าไปเลย”

ท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ตอบไปว่า “เออ โยมขอให้อาตมาเป็นองค์ที่ ๗ ก็แล้วกัน”

ท่านไม่ยอมฟังคำทัดทานของชาวบ้าน ได้เดินธุดงค์เข้ายังถ้ำภูเขาลูกนั้นต่อไป

ถ้ำแห่งนั้นเป็นถ้ำที่ไม่ใหญ่โตเท่าใดนัก มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่นจนมืดครึ้ม เป็นที่น่าสะพรึงกลัว ซึ่งเป็นที่พระธุดงค์ได้มรณภาพถึง ๖ องค์ ชาวบ้านแถวนั้นเขาเข้ามานำเอาศพไปบำเพ็ญกุศลกันตามมีตามเกิด ท่านอาจารย์มั่น ฯ เมื่อทอดอาลัยในชีวิตแล้ว ก็วางบริขารไว้แห่งหนึ่งตรงปากถ้ำ จัดการสถานที่แล้วเดินดูรอบๆ บริเวณ ได้ยินแต่เสียงจักจั่นเรไรร้อง พวกนกส่งเสียงกระจิ๊บกระจ๊าบ ก็ยิ่งทำให้เกิดความวังเวงยิ่งขึ้น

เมื่อเวลาตอนพลบค่ำสนธยา รอบ ๆ บริเวณนั้นเต็มไปด้วยความสงัดเงียบ ถ้าเป็นคนที่มีจิตใจไม่แข็งพอ ก็อาจจะเป็นบ้าไปเพราะความกลัวเสียก็ได้ แต่ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านเคยชินในเรื่องนี้เสียแล้ว จึงไม่มีอะไรจะมาทำให้จิตใจของท่านเกิดหวั่นไหว เมื่อค่ำลงสนิทแล้วท่านก็เริ่มบำเพ็ญความเพียรด้วยการนั่งสมาธิตลอดคืน ปรากฏว่าสว่างไสวไปทั่วหมด ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตอันดีเป็นอย่างมากในค่ำคืนวันนั้น

รุ่งขึ้นท่านก็ออกบิณฑบาตที่บ้านไร่นั้น นำอาหารกลับมาฉันที่ถ้ำ เมื่อฉันเสร็จแล้วท่านก็พักกลางวันไปสักชั่วโมง เพราะเหน็ดเหนื่อยมาตลอดคืนที่แล้ว แต่พอลุกขึ้นท่านก็รู้สึกหนักตัวไปหมด และหนักผิดปกติจนท่านแปลกใจ

เมื่อท่านไปถ่ายอุจจาระก็รู้สึกว่าเป็นท้องร่วง เมื่อสังเกตดูอุจจาระก็พบว่าทุกอย่างไม่ย่อยเลย ข้าวสุกก็ยังเป็นเมล็ด แตงโมก็ยังเป็นชิ้นอยู่ ถ่ายออกมาก็ยังมีสภาพเหมือนเดิม ท่านเข้าใจว่าเหตุนี้เอง พระเหล่านั้นมรณภาพ ตัวเราเองก็เห็นจะตายแน่เหมือนพระเหล่านั้น

ท่านจึงเดินเที่ยวหาบริเวณที่อันจะทำให้เกิดความหวาดเสียว ซึ่งต้องเป็นที่เหมาะ เพราะจะต้องทำกันให้ถึงที่สุด แล้วท่านก็เหลือบไปเห็นหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งตั้งอยู่บนปากเหวลึก แล้วท่านก็ทดลองโยนหินลงไป กว่าจะได้ยินเสียงก็กินเวลาอึดใจหนึ่ง ท่านก็กะว่าที่ตรงนี้เหมาะแล้ว ถ้าเราจะต้องตายก็ขอให้ตายตรงนี้ ให้ท่านหล่นลงไปในเหวนี้เสียเลย จะได้ไม่ต้องเป็นที่วุ่นวายแก่ใครๆ ซึ่งจะต้องกังวลทำศพให้เรา

ในค่ำวันนี้ท่านตั้งปณิธานว่า

“เอาละ ถ้าเราไม่รู้แจ้งเห็นจริง ก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด”

และในค่ำคืนวันนั้นเอง เมื่อท่านกำหนดจิตตามที่ท่านฝึกฝนไว้ตอนหลังสุดตามอุบายนั้น ก็เกิดการสว่างไสวดุจกลางวัน ซึ่งปรากฏเห็นแม้กระทั่งเมล็ดทราย โดยปรากฏเห็นเหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน ความผ่องใสของใจนี้ทำให้พิจารณาเห็นอะไรได้ทุกอย่างที่ผ่านมา แจ้งประจักษ์ขึ้นมาในปัจจุบันทั้งหมด

การนั่งสมาธิคราวนี้ท่านใช้เวลา ๓ วัน ๓ คืน โดยไม่แตะต้องอาหารเลย การพิจารณาถึงกายคตาตลอดถึงธรรมะต่าง ๆ ท่านได้ตัดความสงสัยทุกอย่างโดยสิ้นเชิงในการปฏิบัติจิต

ในขณะที่การพิจารณาธรรมทั้งหลายอย่างได้ผลนั่นเอง นิมิตอย่างหนึ่งได้ปรากฏขึ้นแก่ท่าน คือเห็นเป็นลูกสุนัขกินนมแม่อยู่ ท่านได้ใคร่ครวญดูว่า นิมิตที่เกิดขึ้นนี้ จะต้องมีเหตุ เพราะขณะจิตขั้นนี้จะไม่มีนิมิตเข้ามาเจือปนได้ คือเลยชั้นที่จะมีนิมิต

ท่านกำหนดพิจารณาโดยกำลังของกระแสจิต ก็เกิดญาณคือความรู้ขึ้นว่า ลูกสุนัขนั้นหาใช่อื่นไกลไม่ คือตัวเราเอง เรานี้ได้เคยเกิดเป็นสุนัขอยู่ตรงนี้มานับครั้งไม่ถ้วน คงหมุนเวียนเกิดตายอยู่ในชาติของสุนัข

ท่านใคร่ครวญต่อไปว่า ก็ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คือเหตุใดจึงต้องเป็นสุนัขอยู่อย่างนั้น

ได้ความว่า ภพ คือความยินดีในอัตภาพของตน สุนัขก็ยินดีอยู่ในภพของมัน จึงต้องอยู่ในภพของมันตลอดไป

ขณะท่านทราบว่าตนต้องเกิดเป็นสุนัขนั้น ได้ถึงซึ่งความสลดจิตมากที่สุด แม้ความสว่างไสวของจิตก็ยังคงเจิดจ้าอยู่ตลอดระยะเวลานั้น ท่านจึงพิจารณาค้นความจริงในจิตของท่านว่า เหตุอันใดที่ต้องทำให้เกิดความพะว้าพะวงห่วงหน้าห่วงหลังอยู่ในขณะนี้ แม้จะได้รับความสลดอย่างยิ่งนี้แล้ว ก็ยังจะพิจารณาให้ยิ่งขึ้นไปไม่ได้ ก็เมื่อความละเอียดของจิตเกิดขึ้นพร้อมกับความสว่างไสวแล้วนั้น ความจริงที่ยังไม่ทราบมาก่อนได้เกิดขึ้นแก่ท่านแล้วก็คือ

“การปรารถนาพระสัมมาสัมโพธิญาณ”

ท่านจึงหวนรำลึกต่อไปว่า เราได้ปรารถนามานานสักเท่าใด

ก็เพียงสมัยพระพุทธกาลนี่เอง ไม่นานนัก

ท่านจึงตัดสินใจที่จะไม่ต้องการพุทธภูมิอีกต่อไป เพราะเหตุที่มาสังเวชตนที่ตกเป็นทาสของกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดเป็นสุนัขเสียนับภพนับชาติไม่ถ้วน

ด้วยเหตุนี้ท่านจึงนึกถึงธรรมะที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ ก็มาระลึกได้ว่า ปฐมเทศนาเป็นบทบาทสำคัญซึ่งจะเป็นทางบรรลุธรรม เพราะว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมนี้ จากความเห็นจริงที่พระองค์ได้ทรงรู้ แล้วนำออกมาแสดง เช่นที่พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงอริยสัจจ์ ๔ ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คือ

ทุกข์ ควรกำหนดรู้

สมุทัย ควรละ

นิโรธ ควรทำให้แจ้ง

มรรค ควรเจริญให้มาก

ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้มาคำนึงถึงธรรมะอันเป็นหัวใจของพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตรเช่นนี้แล้ว ท่านก็มาพิจารณาต่อไปอีกว่า

ทุกข์ คืออะไร

ในปฐมเทศนาแสดงว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์ และใครเล่าเกิด-แก่-เจ็บ ตาย ก็คืออัตภาพร่างกายของเรานี่เอง ฉะนั้นร่างกายนี้จึงถือได้ว่า เป็นอริยสัจจธรรม การพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงในกายนี้ ก็เท่ากับรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจจ์นั่นเอง

ดูแต่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ด้วยพระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๒ คืออนัตตลักขณสูตร พระพุทธองค์ทรงยก “รูป” ขึ้นมาให้พระปัญจวัคคีย์พิจารณา คือทรงแสดงว่า

รูปํ ภิกขเว อนตฺตา รูปไม่ใช่ตน

ปริวัตน์ที่ ๒ ว่า ตํ กึ มญฺญสิ ภิกฺขเว รูปํ นิจฺจํ วา อนิจฺจํ วาติ      ภิกษุที่หลายท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ

ปริวัตน์ที่ ๓ ว่า ตสฺมา ติห ภิกฺขเว รูปํ อตีตํ วา อนาคตํ วา ปจฺจุปนฺนํ วา      เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย รูปในอดีต อนาคต หรือรูปปัจจุบัน

สพฺพํ รูปํ      รูปทั้งปวง

เนตํ มม เนโส หมสฺมิ น เม โส อตฺตา ติ      ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนเรา

เอวเมตํ ยถาภูตํ สมฺมปฺปญฺญา ยทตฺตพฺพํ      จงพิจารณาข้อความนี้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ

ท่านพระอาจารย์มั่น ฯ ได้พิจารณาว่า

การพิจารณาตัวทุกข์นี้ก็คือรูปกายนี่เอง พระปัญจวัคคีย์แม้จะได้บรรลุธรรมในเบื้องต้นแล้วแต่ยังไม่เพียงพอ พระพุทธองค์จึงต้องทรงเน้นหนักลงไปที่กายนี่เอง โดยทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร เพี่อจะให้พระปัญจวัคคีย์ได้บรรลุธรรมชั้นสูงสุด

ท่านพระอาจารย์มั่น ฯ ได้คำนึงถึงปฏิปทาของพระพุทธองค์ตอนที่จะตรัสรู้ ที่ทรงนั่งสมาธิในวันวิสาขะ เพ็ญเดือน ๖ นั้น

ตอนปฐมยาม ทรงบรรลุ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือพระญาณอันเป็นเหตุให้ระลึกชาติในหนหลังได้ นี่คือการพิจารณา “กาย” จุดสำคัญจุดแรก เนื่องจากอัตภาพ แต่ละอัตภาพที่พระพุทธองค์ทรงระลึกนั้นมีทั้ง สุข ทุกข์ มีทั้ง เกิด แก่ เจ็บ ตาย นับภพนับชาติไม่ถ้วน เป็นการยืนยันว่า พระพุทธองค์ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ ทรงพิจารณา “กาย” เพราะญาณเป็นที่ระลึกชาติหนหลังได้นั้น ต้องรู้ถึงการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่คืออัตภาพแต่ละอัตภาพ ซึ่งต้องมีทุกข์ครบถ้วนทุกประการในการที่พระพุทธองค์ทรงระลึกนั้น

ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้คำนึงว่า

การพิจารณาทุกข์ พระพุทธองค์ทรงดำเนินมาแล้วแต่ปฐมยามนั่นเอง ท่านจึงได้ความชัดในใจของท่าน แล้วก็ได้นำเอาการระลึกชาติ ในการที่ท่านได้เกิดเป็นสุนัขอันแสนนานนั้น มาเป็นเหตุพิจารณาให้เกิดความแจ่มแจ้งขึ้นในจิตนั้น เพื่อให้เพียงพอแก่ความต้องการแห่งสัจธรรม ดำเนินให้เป็นไปตามความเป็นจริงนี้ เรียกว่า ญาณ คือการหยั่งรู้ ท่านได้ความรู้ว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความเพียงพอ (อิ่มตัว) ของญาณแต่ละครั้ง มิใช่เป็นสิ่งที่จะนึกคิดเอา หรือน้อมเอาเพื่อให้เป็นไป แต่ต้องเกิดจากความจริงที่ว่า “ต้องพอเพียงแห่งความต้องการ (อิ่มตัว)”

การเป็นขึ้นจากการพิจารณาโดยความเป็นจริงแห่งกำลังของจิตที่ได้รับการอบรมมาพอแล้ว เช่นผลไม้ มันต้องพอควรแก่ความต้องการของมัน จึงจะสุก ห่อข้าวที่ถูกไฟ หุงด้วยไฟ มันต้องการไฟเพียงพอกับความต้องการของมันจึงจะสุก แม้การพิจารณากายที่เรียกว่าตัวทุกข์นี้ก็เช่นเดียวกัน กว่าจะกลับกลายเป็นญาณขึ้นมาได้ ต้องอาศัยการพิจารณาจนเพียงพอแก่ความต้องการ (จุดอิ่มตัว) แต่ละครั้ง เช่นกำลังของการพิจารณานี้ มันอาจจะอยู่ได้ชั่วขณะหรือเวลา สุดแล้วแต่กำลังของญาณ เช่น นิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย จะตั้งอยู่ในใจ นานเท่าไรนั้น สุดแล้วแต่การพิจารณากายเห็นชัด ด้วยสามารถแห่งพลังจิต การพิจารณาทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดญาณนี้ ถ้าเกิดความเพียงพอกำลังเข้าเมื่อใด ญาณนั้นจึงจะเป็นกำลังตัดกิเลสได้เมื่อนั้น

หน้าที่