ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ฉบับสมบูรณ์
พระญาณวิริยาจารย์ (พระอาจารย์วิริยังค์)
เจ้าอาวาส วัดธรรมมงคล แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ
ใต้สามัญสำนึก ๖
ตอนพระอาจารย์มั่น ฯ พาพระวิริยังค์
ไปทำศพพระอาจารย์เสาร์
ณ วัดอ้อมแก้วนี้ หลังจากผู้เขียนได้รับฟันอันเป็นรางวัลจากท่านอาจารย์มั่นฯในวันนั้นแล้ว ท่านก็ได้เล่าถึงความเป็นไปต่าง ๆ ของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ ให้ผู้เขียนฟังอย่างละเอียด ทำให้ผู้เขียนได้รู้จักกับความเป็นจริงท่านอาจารย์เสาร์ผู้เป็นอาจารย์ของท่านหลายประการ ที่ผู้เขียนสะดุดใจอยู่อย่างหนึ่งคือ ท่านว่า
พระอาจารย์เสาร์นี้ วาจาท่านศักดิ์สิทธิ์มาก การแสดงธรรมก็ไม่แสดงมาก คือวันหนึ่งศาลาการเปรียญของวัดชำรุดมานาน วันนี้ท่านขึ้นแสดงธรรม บอกกับโยมทั้งหลายว่า ศาลาเต็มทีแล้ว สร้างกันให้ดีเสียเถิด
เพียงเท่านี้ศาลานั้นก็ถูกสร้างขึ้นสำเร็จอย่างรวดเร็ว หรือบางครั้งมีพระดื้ออยู่กับท่าน ท่านบอกว่า
อย่าดื้อเลย
เพียงเท่านี้พระนั้นก็ไม่ดื้อตลอดชีวิต แต่ว่าท่านอาจารย์เสาร์นี้นาน ๆ ท่านจึงจะพูด จึงทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ในการพูดมาก
ต่อจากพระธาตุพนมนี้ก็จะมีการเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นที่พระราชทานเพลิงศพ อุบาสกได้มาขอปวารณาปัจจัยค่ารถ ให้ขึ้นรถยนต์ไปที่จังหวัดอุบล ผู้เขียนก็ นึกในใจว่า ท่านจะขึ้นรถหรือจะพาเดินเท้าอีกหนอ ? ในคราวนี้
เช้าวันนั้นหลังจากบิณฑบาตมาแล้ว ท่านก็ได้บอกผู้เขียนว่า เวลาถวายพระราชทานเพลิงศพของพระอาจารย์เสาร์ใกล้เข้ามาแล้ว เราจะเดินก็คงไม่ทันต้องขึ้นรถยนต์โดยสารไป จึงให้ผู้เขียนดีใจ และแป้วใจ ที่ดีใจก็จะได้ไม่ต้องเหนื่อย ถึงเร็ว ที่แป้วใจก็คือ เราควรจะได้ธุดงค์กับท่านอีกสักพักใหญ่แต่แล้วก็ไม่มีโอกาส และก็หมดโอกาสเพียงเท่านี้ มาคิดอีกทีท่านก็สงเคราะห์เราเท่านี้จะไปเอาอะไรกับท่านอีกเล่า ขณะนี้ท่านอายุก็ ๗๔ แล้ว หนทางจากนครพนมถึงอุบลนับเป็นร้อย ๆ กิโลเมตร
เมื่อได้เวลาของวันเดินทาง ท่านก็พาข้าพเจ้าขึ้นรถโดยสารออกจากอำเภอพระธาตุพนม เป็นถนนลูกรัง ตั้งแต่เช้าถึงจังหวัดอุบลราชธานีตอนเย็นและพักที่วัดเลียบ
ที่วัดเลียบนี้เอง ท่านเล่าว่า ท่านอยู่ที่นี่มานาน ทำความเพียรทางสมาธิได้ผลมาก พร้อมกับบอกผู้เขียนว่าท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ อยู่ที่นี้เป็นสิบๆ ปี เพราะในขณะนั้นสงบดีมาก และท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ ( พนฺธุโล จูม ) อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี ก็มาเป็นสามเณรอยู่กับเราที่วัดนี้เอง ก็นับว่าวัดเลียบนี้เป็นที่อยู่ของพระมหาเถระผู้ใหญ่หลายองค์ แม้ขณะที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านบำเพ็ญความเพียรได้ทั้งนิมิตสมาธิในขั้นแรกก็คือวัดเลียบนี้เอง
ผู้เขียนได้เดินดูรอบ ๆ บริเวณ ก็รู้สึกว่ามีความเป็นสัปปายะหลายประการ น่าที่จะเป็นแหล่งทำความเพียรของผู้หวังความสงบได้เป็นอย่างดี เมื่อประชาชนได้ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ มาพักอยู่ที่วัดเลียบนี้ ก็ได้พากันมานมัสการท่านมาก และมากขึ้นทุกวัน มีอยู่วันหนึ่งเมื่อญาติโยมมาหลายคนก็อาราธนาท่านอาจารย์มั่น ฯ แสดงพระธรรมเทศนา ท่านก็ไม่ขัดข้อง ผู้เขียนก็ถือโอกาสนั่งฟังอย่างจดจ่อเพราะยังไม่เคยเห็นท่านแสดงธรรมแก่ญาติโยมมากอย่างนี้สักที มีแต่แสดงธรรมแก่พระภิกษุ สามเณร
เริ่มการแสดงธรรมเทศนา ท่านได้แสดงว่าบุคคลผู้ประพฤติตัวไม่ดีในพุทธพจน์ว่า ทุวิชาโนปราภโว ผู้รู้ชั่วทำตัวฉิบหาย เช่นเล่นไพ่ กินเหล้า ท่านแสดงว่าสุรา นารี กีฬาบัตร เที่ยวผู้หญิง พวกนี้พากันล่มหลวง หมายความว่า เมื่อตัวไม่ทำงานยังใช้เวลาเล่นโดยไม่มีประโยชน์ เสียเงิน ภาษีอากรของรัฐก็ขาดไป ตั้งตัวของตนเป็นภัยต่อสังคม อย่างนี้เรียกว่าล่มหลวง ถ้าทำกันมากขึ้นก็เป็นภาระหนักแก่หลวงคือรัฐบาล ที่ว่าวันล่มหลวง วันฟู วันจม ตามตำราหมอดูนั้น มันบ่แม่นดอกท่านว่า วันไม่ได้ล่มหลวง ไม่ฟู ไม่จม ตัวคนนี้ต่างหากที่ฟู ที่จม ที่ล่มหลวง
ขณะที่ผู้เขียนฟังท่านอยู่นั้น ก็คิดในใจว่าท่านอาจารย์มั่นฯ ที่ท่านแสดงธรรมนี้ช่างมีคำคมน่าฟังจริง เราก็พึ่งจะรู้ว่า วันล่มหลวงนั้น ที่แท้ก็คือคนทำความชั่วล่มทั้งตัวทั้งที่รัฐบาล วันนี้เอง และมาเข้าใจว่า ท่านอาจารย์มั่นฯ มิได้สนับสนุนการเป็นหมอดู หรือการดูหมอโชคชาตาราศีต่าง ๆ
ต่อมา ๒-๓ วันท่านได้พาผู้เขียนไปพักที่วัดบูรพาราม อันเป็นสถานที่ถวายพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ที่นี้เองได้มีพระเถรานุเถระบรรดาที่เป็นศิษย์ของพระอาจารย์เสาร์ และพระอาจารย์มั่น ฯ ได้มาประชุมกันมาก แต่แม้จะมีพระภิกษุสามเณรมาก นับจำนวนหลายร้อยรูป ดูเหตุการณ์ต่าง ๆ เหมือนกับไม่มีพระเณรเลย น่าที่จะลำบากแก่เจ้าภาพผู้ทำการต้อนรับ ด้วยสถานที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ นี่ไม่มีการลำบากอะไรเท่าไรนัก เพราะแต่ละองค์ที่ท่านมากัน ถือเหมือนกับมาสนองพระคุณของครูบาอาจารย์ ไม่ต้องการให้ผู้ใดมาลำบากด้วย เมื่อมาถึงท่านก็จะเข้าไปดูต้นไม้ป่าไม้หลังวัด จัดแจงกางกลดทำที่นอนโดยไม่มีผ้าปูนอน เอาตีนบาตรเป็นหมอน พักกันไปทั่วบริเวณหลังวัด และต่างก็รับผิดชอบตัวเอง ทั้งน้ำใช้น้ำฉันมีเครื่องใส่น้ำพร้อมสรรพ นำมาเองแบบธุดงค์มา จึงไม่ทำความรำคาญเดือดร้อนให้แก่ผู้เป็นเจ้าภาพจัดงาน มีแต่มาช่วยทำงานกันอย่างจริงจัง ไม่ต้องบอกต้องวาน เห็นว่าตรงไหนควรทำอะไรแล้วท่านได้ช่วยกันทำทุกอย่าง น่าปลื้มใจ ผู้เขียนได้ออกอุทานอยู่ในใจ และท่านเหล่านี้ก็มิได้หวังประโยชน์จากงานศพ ถึงจะนิมนต์หรือไม่ ไม่สำคัญ
ในงานศพของพระอาจารย์เสาร์ในคราวนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสพบกับพระอาจารย์ใหญ่ ๆ หลายองค์ด้วยกัน นับเป็นบุญตาเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าได้เกิดความเลื่อมใสในใจอย่างประหลาด เพราะแต่ละองค์นั้นมีความสง่า และเหมือนกับซ่อนความลึกลับแห่งความดีอะไร ๆ มากทีเดียว
เมื่องานพระราชทานเพลิงศพใกล้เข้ามา ท่านพระเถระผู้ใหญ่บรรดาที่เป็นศิษย์ของท่านอาจารย์ทั้ง ๒ ก็ยิ่งทยอยกันเข้ามามากมายจำนวนหลายร้อยองค์ ดูก็เป็นการประชุมพิเศษ ทุก ๆ องค์ที่เข้ามาต่างก็มีความเคารพ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระเป็นพิเศษ โดยเฉพาะตอนกลางคืนเวลาว่าง จะมารวมประชุมขอฟังโอวาทพิเศษ และ พระอาจารย์มั่น ฯ ก็ได้แสดงธรรมให้แก่ท่านเหล่านั้น ดูเหมือนจะไม่ใช่งานศพ เหมือนกับจะประชุมสังคายนาธรรม หรือเป็นแหล่งอบรมธรรมชั้นพระปรมาจารย์ไปทีเดียว
นี่เองทำให้ผู้เขียนมาระลึกถึงงานพระราชทานเพลิงศพครั้งนี้ว่าการทำศพให้ เป็นประโยชน์ และก็เป็นประโยชน์จริงๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรมาก เป็นการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิแลกเปลี่ยนปรับปรุงความคิดเห็น ในการปฏิบัติธรรม เอาเพียงศพเป็นเหตุเท่านั้น แต่ถือการประชุมมีความสำคัญกว่า แม้คำพูดและคำให้โอวาทของพระอาจารย์มั่นฯ ที่ท่านแสดงออกมานั้น มีข้อความเน้นหนักไปในทางให้รักษาเป็นปฏิบัติปฏิปทาเดิมทั้งสิ้น และแสดงเพื่อให้อาจหาญเชื่อมั่นในข้อปฏิบัติที่ได้กระทำมาแล้วนั้นถูกต้องแล้ว
นี่เองผู้เขียนเห็นว่าการทำศพที่มีประโยชน์เพราะการประชุมเช่นนี้ นานนักจะมีการประชุมกันขึ้นได้ เพราะแต่ละองค์นั้นมิใช่อยู่ที่เดียวกัน ต่างองค์ต่างก็ไปอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ และเป็นถิ่นทุรกันดารในถ้ำภูเขาเป็นส่วนมาก การที่จะติดต่อพบกันได้จึงลำบากมาก ครั้งนี้ถือเอาศพของพระอาจารย์เสาร์ ฯ เป็นเหตุได้มาประชุม อันเป็นมหาสันนิบาต นับว่าเป็นบุญตาของผู้พบเห็นจริง ๆ
บรรยากาศตอนหนึ่ง ผู้ที่เขียนต้องจดจำและซาบซึ้งในใจ คือในวันนั้นเป็นรายการแสดงธรรม โดยพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ณ ศาลาวัดบูรพา เมื่อพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ได้ทราบข่าว ได้พากันมาประชุมในวันนั้นพอสมควร ผิดคาดที่ผู้เขียนคิดว่า ชาวเมืองอุบลคงจะหลามไหลมาฟังธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่นฯ ส่วนพระภิกษุสามเณรนั้นก็อยู่ประจำอยู่แล้ว จึงมากไปด้วยพระเณรที่ตั้งใจฟังธรรม
พระธรรมเทศนา แสดงผ่านไมโครโฟนเครื่องขยายเสียง เสียงพระธรรมเทศนาจึงดังไปทั่วบริเวณวัด ทุก ๆ คนที่อยู่ในบริเวณนี้ถ้าตั้งใจฟังก็ได้ยินหมด การแสดงธรรมเทศนาในวันนี้ ใช้เวลาประมาณเกือบ ๒ ชั่วโมง นานพอดูทีเดียว
การแสดงธรรมเทศนาในวันนี้ส่วนใหญ่เป็นการแสดงธรรม การปฏิบัติกรรมฐานโดยตรง และปรมัตถนัย เพราะพอเริ่มต้น ท่านก็แสดงว่า
ธรรมนั้นอย่าพึงเข้าใจว่าอยู่ที่ไหน อยู่ในตัวของเรานี้เอง ที่ว่าอยู่ในคัมภีร์ใบลานนั้นไม่ใช่ เพราะนั่นเพียงใบไม้เขาเอามาจารึก ว่าอยู่ในวัดก็ไม่ใช่ นั่นคือที่อยู่ของหมู่สงฆ์ ว่าอยู่บนอากาศ ป่าไม้ก็ไม่ใช่ ถ้าอย่างนั้นอยู่ที่ไหน ? ก็อยู่ในตัวของคนเรานี้เอง รูปธรรม นามธรรมอยู่ไหนเล่า ? นั่นแหละคือธรรม ในตัวของเรานี้มีหมด พระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคา พระอรหันต์ ก็อยู่ในตัวของเรา พระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็อยู่ในตัวของเรา จึงเมื่อใครต้องการปฏิบัติพระพุทธศาสนา ก็มาปฏิบัติในตัวเรา ท่านได้กล่าวคาถาว่า อคฺคํฐนํมนุสฺเสสุ มคฺคํสตฺต วิสุทฺธิยา มนุษย์เป็นผู้ประเสริฐ สามารถทำให้แจ้งได้ซึ่งมรรคผลนิพพาน
จากนั้นท่านก็อธิบายถึง ผู้ปฏิบัติที่หลงอยู่ในสมถะ คือหลงอยู่ในฌาน ท่านว่า สมาธิหัวตอ หมายความว่า มันไม่งอกเงยขึ้น เพราะมัวหลงแต่ความสุข โดยมากไม่รู้หนทางที่แน่นอน จึงถือเอาความสุขของฌานเป็นใหญ่เพราะสบายดี แต่ไม่พ้นทุกข์
และท่านก็อธิบายว่า การดำเนินมหาสติปัฏฐาน มี กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นต้น พิจารณาถึงอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะ ให้เห็นจริงขึ้นภายในจิตนั้น จิตนั้นก็จะดำเนินเข้าสู่อริยสัจจ เข้าสู่องค์มรรคในที่สุด
ผู้เขียนได้ฟังแล้วจับใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้ผ่านการฟังธรรมเทศนาแบบนี้มาตลอดพรรษาที่แล้ว ที่ได้มาพบและจำพรรษาอยู่กับท่าน แต่ข้าพเจ้าสังเกตดูผู้ฟังบางท่านชักงง ๆ อย่างไรไม่ทราบ คงจะไม่ใคร่จะเข้าใจเท่าไร เป็นอันว่าธรรมเทศนาผ่านไป ๒ กัณฑ์ตั้งแต่ท่านได้เยี่ยมเข้ามาจังหวัดอุบล และถือได้ว่าเป็นการมาครั้งสุดท้ายของท่านอาจารย์มั่น ฯ
ข้าพเจ้ายังแปลกใจหนักหนาว่า ทำไมชาวจังหวัดอุบลในครั้งนั้น จึงไม่มีความกระตือรือร้น ในอันที่จะเข้ามานมัสการไต่ถามอรรถธรรม หรือข้อปฏิบัติในทางด้านจิตใจกับท่านอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺตเถระ เพราะทุกหนทุกแห่งที่ท่านไป ผู้คนจะหลามไหลไปนมัสการ ทำบุญท่านต่าง ๆ ตลอดถึงขอฟังธรรมเทศนา และทุก ๆ คนก็ได้รับการโปรดปรานธรรมเทศนา หรือสัมโมทนียกถาพอใจไปตาม ๆ กัน
ตอนพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร
ในขณะนี้การกำหนดพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์เสาร์ก็ใกล้เข้ามาทุกขณะ พระเถระผู้ใหญ่ ทุกฝ่ายก็ได้หลั่งไหลเข้ามามากขึ้น
พระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง เป็นเจ้าอาวาสวัดสระปทุมกรุงเทพมหานคร เป็นนักปฏิบัติในอดีต ร่วมกับท่านอาจารย์มั่น ฯ ธุดงค์ร่วมกัน แต่ถูกแต่งตั้งเป็นสมภารวัดสระปทุม เลยหยุดการธุดงค์แต่นั้น ท่านผู้นั้นคือ เจ้าคุณปัญญาพิศาลเถระ (หนู) เป็นอุปัชฌาย์ของผู้เขียนเอง
ท่านเจ้าคุณองค์นี้เมื่อมาถึง ได้ขอสิทธิพิเศษเข้าไปในห้อง แล้วไม่มีใครเข้าไปด้วย ได้สนทนากับพระอาจารย์มั่นฯ เป็นเวลากว่า ๒ ชั่วโมง ทำเอาผู้เขียนชักจะสงสัย.ท่านได้สนทนาเรื่องอะไรกัน ถึงได้นานอย่างนี้
ข้าพเจ้าเกิดความสนใจขึ้นภายหลังจึงได้ถามท่านอาจารย์มั่น ฯว่า ท่านเจ้าคุณอุปัชฌาย์พูดเรื่องอะไรกับท่านอาจารย์ ได้รับคำบอกเล่าว่า ท่านได้ถามเรื่องการปฏิบัติทางใจ แม้ท่านจะไม่ได้ออกธุดงค์ อยู่ที่กรุงเทพฯ วัดสระปทุม ท่านก็บำเพ็ญกัมมัฏฐานอยู่ทุก ๆ วัน การปฏิบัติจิตนั้นก็ได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ ที่ได้ถามกันอยู่นานนั้นคือการเคลียถึงการปฏิบัติที่ผ่านมา ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร การปฏิบัติจิตได้เป็นทางที่ถูกต้องหรือไม่ เป็นอันผู้เขียนหมดความสงสัย
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระเถระผู้ใหญ่องค์หนึ่ง ก็ได้มาประชุมและประชุมพิเศษคือมาร่วมฉันกับพระอาจารย์มั่น ฯ ที่กุฏิทุกวัน นอกจากนั้นยังได้วิสาสะกับท่านอาจารย์มั่น ฯ อย่างใกล้ชิด
ในระยะนี้พระอาจารย์ฝั้น อยู่วัดป่าศรัทธารามในจังหวัดนครราชสีมา ได้จากพระอาจารย์มั่นฯ ไปเป็นเวลานานแล้ว เมื่อได้มาพบกับท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ทำให้ท่านได้สากัจฉาธรรมอันเป็นส่วนแห่งการปฏิบัติเป็นพิเศษ ผู้เขียนเข้าใจว่าท่านต้องมีการแนะนำที่พิเศษจริง ๆ เพราะหลังจากงานศพนี้แล้วท่านอาจารย์ฝั้นก็ได้จากจังหวัดนครราชสีมา มาอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ฯ ที่จังหวัดสกลนคร โดยทิ้งจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งท่านก็อยู่เป็นเวลาร่วม ๒๐ ปี
ในขณะนั้น พระอาจารย์ใหญ่ ๆ หรือพระเถระผู้ใหญ่ของผ่ายกัมมัฏฐาน อันนับเนื่องด้วยความเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่นฯ ต่างก็ได้ทยอยกันเข้ามาอยู่ให้ใกล้กับท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นส่วนมาก ทั้งนี้ก็เป็นความประสงค์ของพระอาจารย์มั่นฯ เหมือนกันเพราะท่านต้องการจะปรับปรุงข้อปฏิบัติปฏิปทาหลายประการ เนื่องจากท่านได้จากศิษย์ทางภาคอีสาน ไปอยู่ภาคเหนือเป็นเวลา ๑๒ ปี
ในงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์เสาร์ คราวนี้จึงเป็นการประชุมศิษย์ทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อย ของพระอาจารย์เสาร์และพระอาจารย์มั่นฯ และเป็นโอกาสอันสำคัญของท่านทั้งหลายที่จะได้ฟังธรรมเทศนาอันเป็นที่วิจิตรลึกซึ้งของพระอาจารย์มั่นฯ ด้วย
วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ พระเถรานุเถระมาในงานประชุมกันเพื่อทำอุโบสถสังฆกรรม วันนั้นประชุมกันเต็มโบสถ์ ผู้เขียนไม่เคยเห็นหน้ามาก่อนมาก ทำให้คิดว่าลูกศิษย์พระอาจารย์เสาร์-พระอาจารย์มั่น ฯ มีมาก แต่ละท่านทรงคุณวุฒิน่าเกรงขาม ก็พอดีท่านอาจารย์มั่นฯ ได้สั่งให้ผู้เขียนสวดปาฎิโมกข์ในวันนี้ ผู้เขียนไม่ขัดข้อง เพราะการสวดปาฏิโมกข์ผู้เขียนถือว่าเป็นกุศลอันประเสริฐ ตั้งใจท่องปาฏิโมกข์ตั้งแต่บวชเป็นสามเณรปีแรก และได้ไปฝึกวิธีสวดกับพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญญาพโล น้องชายพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ขณะนั้นท่านอยู่ที่วัดป่าทรงคุณ จังหวัดปราจีนบุรี
ผู้เขียนรับบัญชาสวดปาฏิโมกข์ในวันนั้นก็รู้สึกครั่นคร้ามไม่น้อยเลย เพราะแต่ละองค์ที่ประชุมใหญ่โตกันทั้งนั้น แต่การสวดของผู้เขียนก็เป็นไปตามปรกติและสวดได้ดีเป็นพิเศษ ตั้งแต่ต้นจนจบไม่ติดขัดเลย มีเพียง ๒ ครั้งเท่านั้นที่ถูกทักขึ้น
เมื่อจบปาฏิโมกข์ เป็นโอกาสที่จะได้ฟังโอวาทของพระเถระผู้เป็นหัวหน้า นี้เป็นธรรมเนียมของคณะกรรมฐาน ครั้งนี้พระอาจารย์มั่น ฯ เป็นพระเถระผู้เป็นหัวหน้าและพระเถรานุเถระเหล่านั้นก็ตั้งใจอยู่แล้วว่า ต้องการจะฟังโอวาทจากท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ
เป็นอันสมใจแก่พระเถรานุเถระทั้งปวงในวันนั้น พระอาจารย์มั่นฯ ได้ให้โอวาทเป็นใจความว่า
ข้อปฏิบัติจะให้การปฏิบัติก้าวหน้านั้น ต้องเป็นไปทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกนั้น คือความวิเวก หาที่วิเวกปราศจากสิ่งรบกวนต่าง ๆ ที่อยู่ในป่า ถ้ำเป็นต้น อย่าไปโฆษณาหาให้คนมาพบหรือวุ่นวายให้มาก อย่าเอาความวิเวกเป็นการอวดอ้าง เมื่อจะอยู่วิเวกอย่าหาเครื่องกังวล เช่นการก่อสร้างอะไรต่าง ๆ ให้คนหลั่งไหลเข้ามา อย่าอยู่เป็นที่ เพราะการอยู่เป็นที่ทำความกังวล
การปฏิบัติภายนอกก็คือ ข้อปฏิบัติได้แก่ธุดงค์ ธุดงค์เป็นเครื่องขัดเกลากิเลสที่พระพุทธองค์แสดงไว้ ๑๓ ข้อ เลือกถือเอาที่เหมาะแก่อัธยาศัย เช่นการฉันในบาตร การฉันหนเดียว การบิณฑบาต การถือผ้าเฉพาะสามผืน การอยู่ป่า การอยู่โคนต้นไม้ การเยี่ยมป่าช้า เป็นต้น เหล่านี้ชื่อว่าเป็นข้อปฏิบัติภายนอกที่จะต้องทำ เพราะเป็นอุปกรณ์เพื่อให้เกิดการขัดเกลากิเลส และถ้าหากไม่ทำ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความล่าช้า หรือเกิดความสงบได้ยาก ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้การปฏิบัติทางใจเจริญงอกงาม
ภายในนั้นได้แก่ การดำเนินจิต ต้องดำเนินทั้งสมถกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐาน ความสงบของใจ โดยการฝึกตามอัธยาศัย ทำจิตให้ปราศจากอารมณ์ มีความตั้งมั่นอยู่ได้ มีสติเป็นเครื่องควบคุมอยู่ มีความเยือกเย็นสบาย นั่งนานก็ไม่เหนื่อย การฝึกที่เป็นเช่นนี้เรียกว่าสมถกัมมัฎฐาน พึงเข้าใจว่าสมถะนี้ ถ้าผู้ใดมาติดอยู่จะทำให้เกิดความงมงายได้ เช่นพวกฤๅษีชีไพรสมัยครั้งพุทธกาล มัวแต่หลงอยู่ในฌาน เป็นรูปฌาน อรูปฌาน เข้าใจว่าตนได้บรรลุพระนิพพานแต่หาได้บรรลุไม่ เพราะเพียงแค่สมถะเท่านั้นจะบรรลุไม่ได้
ในตอนนี้พระอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้ย้ำถึงวิปัสสนาอย่างหนักหน่วง ท่านได้แสดงต่อไปว่า การพิจารณาตามความเป็นจริง คือการไม่อยู่นิ่งของใจ ที่ได้รับการอบรมจนแข็งแกร่งด้วยสมถะแล้ว ยกจิตขึ้นพิจารณา ตามอย่างของท่านปัญจวัคคีย์ คือ พิจารณารูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ อันเป็นนามรูป ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน จนเกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย สามารถดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจจธรรมจนรู้แจ้งเห็นจริงได้
นับเป็นการแสดงธรรมให้โอวาทแก่พระภิกษุสามเณรที่ทำปาฏิโมกข์เสร็จในวันนั้น ให้เกิดความเข้าใจอะไรหลายอย่าง ซึ่งผู้เขียนได้บันทึกไว้แต่เพียงเนื้อความเล็กน้อยเท่านั้น สังเกตเห็นพระเถรานุเถระที่ประชุมกันพออกพอใจเป็นอย่างยิ่ง
ตอนพระอาจารย์มั่น ฯ พาพระวิริยังค์
ไปถวายพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์เสาร์
ความกตัญญูกตเวที ย่อมแสดงออกซึ่งน้ำใจของสัตบุรษ มาแล้วทุกยุคทุกสมัย พระอาจารย์มั่นฯ แม้ท่านจะได้ธุดงค์ฝ่าป่าดงพงพี บำเพ็ญตบะธรรมมาแล้วอย่างหนักจนเกิดผลทางใจ แนะนำศิษยานุศิษย์อย่างกว้างขวางและได้รับผลอย่างสูงแล้ว
ท่านก็ยังได้พยายามเดินทางไปเพื่อจะถวายพระราชทานเพลิงศพ พระอาจารย์เสาร์ ผู้เป็นพระอาจารย์ของท่าน แม้การเดินทางครั้งนี้จะลำบากสักเพียงใด ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างอันดีแก่พวกเรา ซึ่งบางท่านอาจคิดว่างานศพไม่สำคัญ เพราะงานศพนั้นเป็นการแสดงถึง กตัญญูกตเวทีได้อย่างดี
ข้าพเจ้าได้อยู่อุปัฏฐากท่านอาจารย์มั่น ฯ ที่งานพระราชทานเพลิงศพของพระอาจารย์เสาร์ ครั้งนี้ได้พบกับพระเถรานุเถระเป็นจำนวนมาก และท่านเหล่านั้นก็ได้แสดงออกซึ่งความอดทนอย่างยิ่ง ในการมาร่วมงานคราวนี้ เพราะในงานไม่มีการต้อนรับ หรือการเลี้ยงดูพิเศษอันใด ทุก ๆ องค์ที่มา ช่วยตนเองทั้งนั้น ทั้งการฉันและที่อยู่ ต่างก็เข้าหาโคนต้นไม้ตามมีตามได้ ข้าพเจ้าได้ตระเวนดูทั่วไป ท่านใช้เชิงบาตรเป็นหมอนหนุนศีรษะ ใช้ผ้าอาบน้ำฝนปูนอน ภาชนะใส่น้ำของท่านมีกระติกที่ทำเองติดตัวมาทุกท่าน กลดเป็นกุฏิ ท่านได้กางกลดมีมุ้งในตัว
เมื่อถึงคราวจะต้องช่วยงาน ท่านก็จะออกจากกลดมาที่ทำงาน เมื่อถึงคราวสวด-เทศน์ เป็นต้นทุก ๆ องค์ก็ทราบดีว่าจะทำอะไร ท่านก็ออกมาตามกำหนดการที่ไม่ต้องมีตัวหนังสือ
ข้าพเจ้าหวนระลึกถึงงานที่เป็นกันเองเช่นนี้ ก็อัศจรรย์ใจอยู่มาก พระเถรานุเถระเหล่านี้มาด้วยศรัทธา ไม่ต้องนิมนต์ ถือว่าเป็นงานอาจารย์ของตนก็มาด้วยความจงรักภักดี โดยเหตุนี้ทางเจ้าภาพหรือผู้จัดงานจึงไม่มีการหนักใจอยู่เลย เพราะไม่ต้องลงทุน ค่าพาหนะของพระ และค่าเลี้ยงดู ค่าถวายปัจจัยสี่ ซึ่งถ้าหากงานใหญ่ ๆ มีพระจำนวนถึง ๔-๕๐๐ อย่างนี้ จะต้องมีการใช้จ่ายหลายหมื่นบาท แต่งานนี้ไม่ต้องใช้จ่ายเลย จึงน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่พุทธศาสนิกชนผู้บำเพ็ญกุศลอุทิศแก่ผู้ที่ล่วงลับ เพราะบางรายมีถึงคนตายขายคนเป็น แต่บางรายกลับเอาคนตายขายกิน ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่นพระผู้ตายมีชื่อเสียง คนนับถือมาก ก็ใช้ศพนั้นเป็นนากินกันอยู่ไม่รู้จบ ดู ๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่น่าเอน็จอนาถใจ ตายแล้วก็ยังจะมาทำอะไรต่อมิอะไรอีก จนเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นเช่นนั้น
อยู่มาวันหนึ่ง มีพระอาจารย์องค์หนึ่งเข้ามาถามถึงข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการเดินธุดงค์ว่า จะปฏิบัติด้วยวิธีใดจึงจะเป็นการถูกต้อง พระอาจารย์องค์นั้นได้เน้นว่า ผมเห็นพระธุดงค์ที่ไปปักกลดตามที่ชุมนุมชน หรือธุดงค์ไปไหว้พระเจดีย์ พระพุทธบาท บางกลดถึงกับเขียนประกาศติดไว้ที่มุ้งกลดว่า มีของดี ใครต้องการให้มารับ
พระอาจารย์มั่น ฯ ได้ให้คำตอบและอธิบายเรื่องนี้ให้พระองค์นั้นฟังอย่างแจ่มแจ้ง โดยใจความว่า การธุดงค์นั้นมุ่งหมายเพื่อถ่ายถอนกิเลส กำจัดกิเลส การที่ออกธุดงค์โดยการโฆษณาหรือประกาศโฆษณาว่าจะออกไปทางโน้นทางนี้ โดยต้องการว่าจะให้คนไปหามาก ๆ นั้นไม่ชื่อว่าเป็นการถูกต้อง ธุดงค์ก็แปลว่า คุมเครื่องกำจัดความอยาก มีการฉันหนเดียว ฉันในบาตรไม่มีภาชนะอื่น การบิณฑบาต การอยู่โคนต้นไม้ การอยู่ในป่า การปฏิบัติอย่างนี้ชื่อว่าเป็นธุดงค์ เช่นการฉันหนเดียว เป็นการตัดความอยากที่จะต้องการฉันอย่างโน้นอย่างนี้ เมื่อฉันแล้วก็แล้วกันในวันนั้น ตัดการกังวลทั้งปวง หรือเช่นการฉันในบาตร ก็ไม่ต้องคิดถึงรสชาติ หรือต้องหาภาชนะให้เป็นการกังวล ที่จะคิดว่าจะแบ่งกับข้าว และข้าวไว้ต่างกัน เพื่อหารสชาติแปลก ๆ ต่าง ๆ รวมอันหมดในบาตร เป็นการขจัดความอยากอย่างหนึ่ง หรือเช่นการไปอยู่ในป่าที่ไกลจากบ้านพอควร หรือในถ้ำภูเขานี้ ก็เป็นการหาสถานที่บำเพ็ญกัมมัฏฐาน แสวงหาความสงบเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม การแสวงหาแหล่งที่เป็นป่า ภูเขา-ถ้ำนี้ต้องหาสถานที่เป็นสัปปายะ เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณกิจ สมณธรรมจริง อย่าไปหาถ้ำภูเขาที่ประชาชนไปกันมาก เป็นการผิด และไม่เป็นการดำเนินธุดงค์ หรือจะไปแสวงหาแหล่งที่เป็นภูเขา ถ้ำ ที่เป็นแหล่งเหมาะแก่การที่ประชาชนจะไปให้มาก และอยู่นาน ๆ จนประชาชนรู้จักแล้วก็จัดการก่อสร้างถาวรวัตถุให้เป็นที่จูงใจนักท่องเที่ยว มิหนำซ้ำยังมีการชักชวนประชาชนให้มาดูมาชม เขาไม่มาก็ไปหาเขา เขามาก็ต้อนรับด้วยวิธีการต่าง ๆ จนประชาชนติดใจ ชักชวนกันมา พระธุดงค์เหล่านั้นกลับดีใจว่าประชาชนขึ้นตัวมากไม่พยายามที่จะคิดหนีหรือไปหาวิเวกทางอื่นอีก บางแห่งทำสถานที่โอ่อ่ายิ่งกว่าในบ้านในเมืองเขาเสียอีกอย่างนี้
เมื่อพระอาจารย์มั่นฯ ได้พรรณนาถึงความเป็นเช่นนี้เกี่ยวกับการธุดงค์ ท่านจึงให้หลีกจากความเป็นดังกล่าวเสีย เมื่ออยู่นานจะเป็นการเคยชิน แล้วก็พยายามหาหนทางไปทางอื่น เมื่อรู้ว่ามีคนมามากก็รีบหลีกเลี่ยงไปเสีย การธุดงค์จึงจะถูก และเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสได้จริง เมื่อจะอยู่ที่ใดอันเป็นแหล่งของการวิเวกสงบสงัดแล้ว ก็พึงอยู่ที่นั้นแล้วบำเพ็ญประโยชน์แก่ตน ยิ่งสงบเท่าใดยิ่งดี ยิ่งปราศจากผู้คนเท่าไรยิ่งดี ยิ่งอยู่ในดงสัตว์ร้ายเท่าไรยิ่งดี และพยายามอย่าอยู่แห่งเดียว เปลี่ยนที่อยู่เสมอ ๆ เพื่อแก้ความเคยชินต่อสถานที่
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านเตือนหนักเตือนหนาว่า อย่าเอาการอยู่ป่า อยู่บนภูเขา อยู่ในถ้ำ เป็นเครื่องมือโฆษณาเป็นอันขาด เพราะการทำเช่นนั้น เป็นการทำให้คนแตกตื่น เพราะคนชอบแตกตื่นกันอยู่แล้ว พอเห็นของแปลกเข้า ก็เลยแตกตื่นกันใหญ่ หากทำเช่นนั้นถือว่าเป็นการปลอมแปลงการถือธุดงค์ จะไม่ได้รับผลจากการรักษาปฏิบัติธุดงค์ตามความมุ่งหมาย
เมื่อพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ได้ผ่านไปด้วยดี เป็นไปด้วยความเรียบร้อยทุกประการ หลังจากนั้น พระเถรานุเถระทั้งหมดก็จะมาร่วมประชุมกันเพื่อถวายสักการะแก่พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นพระผู้ใหญ่ และเป็นประธาน การถวายสักการะ คณะปฏิบัติถือว่าเป็นการทำวัตร เพราะนานแล้วไม่ได้พบกับท่านอาจารย์มั่น ฯ เมื่อได้มีโอกาสมาพบเช่นนี้ จึงถือโอกาสทำวัตรท่านพร้อมกัน
จึงเป็นธรรมเนียมของพระกัมมัฏฐานสายนี้ คือเมื่อพบกับพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิเคารพนับถือแล้วจะต้องถวายสักการะ ในโอกาสที่ถวายสักการะพระเถระองค์นั้นก็จะถือโอกาสให้โอวาทเป็นทำนองตักเตือน เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมต่าง ๆ นับว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสมดีมาก
แม้ขณะนี้ พระเถรานุเถระก็ได้มาทำวัตรท่านอาจารย์มั่น ฯ กันอย่างพร้อมเพรียง ข้าพเจ้าได้เห็นภาพที่น่าเลื่อมใสจริงๆ เพราะพระเถระที่มาประชุมกันนั้นส่วนมากเป็นพระผู้ใหญ่กันทั้งนั้น เป็นชั้นพระอาจารย์ ขณะนั้นผู้เขียนอายุเพียง ๒๓ ปีเท่านั้น เมื่อมาเห็นพระเถระชั้นคร่ำๆ และเป็นอาจารย์นักปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้ผู้เขียนดื่มด่ำในความลึกล้ำเลื่อมใสยิ่งขึ้น ภาพเหตุการณ์ของวันนี้มันน่าจะบันทึกไว้ด้วยการถ่ายทำภาพยนตร์หรือด้วยภาพนิ่ง หรือด้วยภาพวาดอย่างใดออย่างหนึ่งจริง ๆ แต่ภาพนี้ก็ปรากฏเป็นเพียงมโนภาพของผู้เขียนเท่านั้น เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง แต่ถึงจะเป็นมโนภาพของผู้เขียนก็ยังดีอยู่ ที่ยังมีการถ่ายทอดออกมาจากใจ มาเขียนให้ผู้อ่านทั้งหลายมาช่วยกันวาดมโนภาพเอาเอง ก็อาจจะทำให้เกิดความเลื่อมใสขึ้นมาได้บ้าง ผู้เขียนจึงขอบันทึกความจำนี้ลงมาเป็นหลักฐานไว้กับหนังสือฉบับนี้
เป็นคำเตือนขั้นสุดท้ายของพระอาจารย์มั่นฯ แก่บรรดาพระเถรานุเถระศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ที่มาร่วมประชุมหลังจากการพระราชทานเพลิงศพเป็นไปโดยความเรียบร้อยแล้ว และจะได้มีการอำลาจากกันไปคนละทิศคนละทาง ซึ่งอาจจะได้พบกันยากนักเมื่อไม่มีเหตุ
ขณะที่ประชุมกราบลา ท่านได้เตือนว่า ทุกรูปทุกองค์ อย่าพากันประมาทเลย จงพากันคิดว่าการมาทำศพนั้นคือการสอนตัวของเราเอง นำเอาศพเป็นสักขีพยานว่า ความตายเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้
ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเสริมว่า ปัจจุบันบางคนพากันเข้าใจผิดว่า เวลาคนตาย นิมนต์พระมาสวดอภิธรรม มาติกา บังสุกุล เข้าใจผิดว่าสวดให้คนตาย บางคนก็ไปเคาะโลง บอกว่าพระสวดแล้ว นี่เป็นการเข้าใจผิดออย่างมาก ความจริงนั้นการสวดของพระขณะที่มีศพ ท่านต้องการให้ผู้ฟังปลงธรรมสังเวช คือเอาคนตายเป็นลักขีพยานว่านี่ยังไง ศพ จะได้นึกถึงตัวของเราว่าจะต้องตาย
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้เล่าเรื่องบุพกรรมของท่านพระยศกุลบุตร ว่าในอดีตชาติ ท่านพระยศกับสหายทั้ง๕๙ คน ได้พร้อมใจกันบำเพ็ญกุศลเกี่ยวกับงานศพ เมื่อมีการตายโดยไม่มีญาติ (หรือเรียกกันว่าผีไม่มีญาติ) ท่านกับสหายจะไปตามเก็บเอาศพมาทำฌาปนกิจให้หมด โดยไม่คิดมูลค่าแต่อย่างใด
อยู่มาวันหนึ่ง มีหญิงคนหนึ่งได้ตายลงโดยฉับพลันด้วยโรคปัจจุบัน เนื้อหนังมังสายังเอี่ยมลอออยู่ ท่านพร้อมกับสหายเมื่อทราบข่าวก็รีบไปนำศพนั้นมา ทุก ๆ คนก็ได้เห็นศพตายใหม่ ๆ ยังไม่มีส่วนอวัยวะบกพร่อง ต่างคนก็พูดว่า แหมศพนี้ยังดูสดใส แล้วจึงนำร่างหญิงนั้นไปสู่ป่าช้า วางลงบนเชิงตะกอน เตรียมการฌาปนกิจ เมื่อติดไฟ ๆ ได้ลุกขึ้นเผาผลาญร่างของหญิงนั้นดำเป็นตอตะโก ทุกส่วนกำลังถูกไฟเผาผลาญ ขาดวิ่นลงอย่างน่าอนาถ ท่านพระยศกุลบุตรในชาตินั้น ได้เห็นภาพที่ได้เปลี่ยนจากเอี่ยมลออมาเป็นสภาพดำเป็นตอตะโก ได้ปลงธรรมลังเวช เกิดความสลดใจได้เห็นธรรม แล้วท่านก็บอกสหายๆ ก็ได้มาดูเกิดสลดใจได้เห็นธรรมเช่นเดียวกัน
ด้วยบุพกรรมที่ท่านได้ทำในอดีตชาติเช่นนี้เอง เป็นปัจจัยให้ท่านมาบังเกิดเป็นเศรษฐี ชื่อว่ายศกุลบุตร เมื่อท่านได้เสวยอารมณ์ชมสมบัติ เมื่อบารมีปัจจัยในอดีตแก่กล้าขึ้น วันหนึ่งท่าน จึงลุกขึ้นกลางดึกเดินออกจากห้อง เห็นนางบำเรอหลับใหล หลงละเมอด้วยอาการกิริยาต่าง ๆ ท่านก็เกิดสังเวชสลดจิต คิดว่านี้คือป่าช้าผีดิบ ไม่เป็นที่เจริญใจเจริญตาเหมือนก่อน จึงคิดเบื่อหน่าย ออกอุทานในใจว่า ที่นี่ขัดข้อง ที่นี่วุ่นวายๆ ๆ แล้วก็เดินลงจากปราสาท หนีออกจากบ้าน บ่นไปคนเดียว เดินไปจนถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ พระพุทธองค์ทรงได้ยินทางทิพยโสตจึงได้ทรงเรียกยศกุลบุตรว่า
ที่นี่ไม่ขัดข้อง ที่นี่ไม่วุ่นวาย จงมาเถิด เราจะแสดงธรรมแก่เธอ
เมื่อยศกุลบุตรได้ยินเข้าแล้วจึงรีบเดินเข้าไปตามเสียงนั้น แล้วก็ได้ฟังธรรม ภายหลังได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วบวชในพระพุทธศาสนา สหายทั้ง ๕๔ คน เมื่อได้ทราบว่าพระยศกุลบุตรบวชแล้ว ก็มาคิดว่าธรรมวินัยที่ยศกุลบุตรบวชคงไม่เลว จึงได้ชวนกันมาพบกับพระยศ แล้วพระยศก็พาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟังสหายทั้ง ๕๔ คนก็ได้บรรลุพระอรหันต์ แล้วบวชในพระพุทธศาสนา.
ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเล่าจบแล้วก็ย้ำว่าการที่บุคคลมาทำศพนั้น ต้องมาปลงธรรมลังเวช จึงจะได้ผล มิใช่จะมาทำศพด้วยความสนุกสนาน หรือด้วยเพียงธรรมเนียมหรือด้วยเสียไม่ได้ หรือด้วยการเห็นผิด ต้องกระทำเช่นกับพระยศกุลบุตรกับสหายในอดีตชาติ เมื่อท่านได้ทำศพอย่างนั้นแล้ว ผลที่ได้รับจึงผลใหญ่
นี่ก็เป็นคำสอนคำเตือนขั้นสุดท้ายในงานศพของพระอาจารย์เสาร์ และก็เป็นคำเตือนที่น่าฟังมาก. ผู้เขียนจึงบันทึกเพื่อให้ทราบถึงความจริงบางประการ หรือนโยบายการแนะนำธรรมานุธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ฯ ให้ผู้ที่ไม่เคยเห็นท่านหรือไม่เคยได้ยิน จะได้มีความเข้าใจบ้างตามสมควร
พระอาจารย์ มั่นฯ ได้เดินทางกลับมาจากจังหวัดอุบล หลังจากงานพระราชทานเพลิงศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยทางรถยนต์ กลับไปจังหวัดสกลนคร และพักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
บ้านนี้เป็นบ้านเดิมของพระอาจารย์เนียม ซึ่งพระอาจารย์องค์นี้คุ้นเคยกับผู้เขียนเป็นกรณีพิเศษ เพราะตอนก่อนจะไปงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์เสาร์นั้น ได้พักอยู่ด้วยกันกับผู้เขียน อยู่กับพระอาจารย์มั่นฯ ที่บ้านนาสีนวล
พระอาจารย์เนียมนี้ เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของท่านพระอาจารย์มั่นฯ มาก ด้วยเหตุนี้กระมัง พระอาจารย์หลังจากอยู่บ้านโคกอันเป็นบ้านเดิมของท่านอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ซึ่งท่านก็ได้ไว้เนื้อเชื่อใจ แล้วท่านก็ได้มาอยู่วัดป่าบ้านนามน เท่ากับฉลองศรัทธาให้กับท่านอาจารย์เนียมเป็นครั้งสุดท้าย
ปรากฏว่าท่านอาจารย์เนียมนี้ท่านอ่านหนังสือไม่ออกเลย ที่ท่านออกปฏิบัติกับพระอาจารย์มั่นฯ ด้วยการหวังการพ้นทุกข์จริง ๆ
ตอนพระอาจารย์มั่น ฯ จำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน
บ้านของพระอาจารย์เนียม
พระอาจารย์มั่นฯ ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านโคก เป็นบ้านของพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ อาจารย์องค์แรกของผู้เขียน และเป็นบ้านเกิดของท่าน ต่อมาได้มาจำพรรษาอยู่ที่บ้านนามน ต. ตองโขบ อ.เมือง จ.สกลนครอันเป็นบ้านเกิดของอาจารย์เนียม
ดูจะเป็นการเอาใจท่านทั้งสองมิใช่น้อยเลย เพราะการจำพรรษาแต่ละครั้งก็มีคนมานิมนต์มากแห่ง แต่ท่านก็ไม่ไป
ในฐานะผู้เขียนเป็นชั้นศิษย์ ยังมองเห็นความมหัศจรรย์อยู่มาก ที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ มาจำพรรษาที่ป่าใกล้บ้านทั้ง ๒ แห่งนี้ เพราะมองดูสถานที่แล้ว ก็ไม่ใช่เป็นป่าใหญ่ หรือที่ดีอะไรนัก แต่เพราะท่านมีความประสงค์จะให้พระอาจารย์ของข้าพเจ้า ( พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ) กลับจากจังหวัดจันทบุรี เพราะท่านต้องการจะให้มาเพื่อหาความวิเวกยิ่ง ๆ ขึ้น และจะได้ปรับปรุงการปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักของการปฏิบัติกัมมัฏฐานต่อไป
และท่านคงเล็งเห็นประโยชน์อะไรอีกมากในการจำพรรษา ๒ แห่งนี้เป็นเวลา ๓ ปี ผู้เขียนในฐานะเป็นศิษย์ติดตามจึงพลอยมาได้รับผลประโยชน์ในคราวนี้อย่างดียิ่ง เพราะเมื่อเข้ามาแล้วก็ได้รับตำแหน่ง เป็นพระอุปัฏฐากเลย จึงเป็นโอกาสอย่างยิ่งที่จะได้ทราบการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด
วัดป่าบ้านนามนเป็นสถานที่สงบพอสมควร อยู่ไม่ไกลจากเทือกเขาภูพาน ขณะที่พระอาจารย์มั่นฯ นำพระภิกษุสามเณรจำพรรษาอยู่นั้น ไม่มีกุฏิถาวร มีแต่กุฏิชั่วคราว หลังคามุงด้วยหญ้าคา และท่านก็ไม่ใคร่จะยอมให้ใครทำถาวรวัตถุเลย เมื่อจะยกกุฏิก็ทำเป็นการชั่วคราวทั้งนั้น
เมื่อท่านจำพรรษาอยู่ที่นี้ พระภิกษุ-สามเณรก็พยายามที่จะมาอยู่กับท่านมาก จึงจำเป็นต้องจัดเสนาสนะเพิ่มขึ้น การจัดเสนาสนะก็เป็นการจัดชั่วคราว พื้นฟาก หลังคามุงหญ้าคา
ผู้เขียนจึงขอกล่าวถึงประวัติของพระอาจารย์เนียม ไว้ในที่นี่เพื่อเป็นบันทึกชีวประวัติของท่านไว้ แม้ว่าท่านจะมรณภาพไปแล้ว แต่ท่านก็ทำคุณประโยชน์ไว้ในพระพุทธศาสนา ทั้งแก่ตัวท่านและผู้อื่นมิใช่น้อย
ท่านอาจารย์เนียมได้อุปสมบทหลังจากมีภรรยาแล้ว มีความเบื่อหน่ายฆราวาส ท่านมิได้เรียนหนังสือมาก่อนเลย หมายความว่าอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เอาเลย แต่ว่าเมื่อท่านบวชแล้ว ท่านได้ติดตามพระอาจารย์มั่นฯ ได้เรียนกัมมัฏฐานกับท่านแล้วก็พยายามปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ทีเดียว ทั้งสนใจในการไต่ถามการปฏิบัติจนได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ ท่านอาจารย์เนียมเคยพูดกับผู้เขียนถึงการที่ท่านปฏิบัติอยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ ตื้นลึกหนาบางท่านได้บอกเคล็ดลับการปฏิบัติอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ฯ หลายอย่างในฐานะเคยอยู่กับท่านมาก่อน ทำให้ผู้เขียนเข้าใจความจริงอะไรหลาย ๆ อย่างซึ่งเป็นประโยชน์เหลือเกิน
ความจริงเคล็ดลับนี้มีความสำคัญนัก ไม่ว่าจะทำอะไรถ้าไม่ทราบความจริงของเคล็ดลับแล้ว จะทำให้เกิดความล่าช้าหรือความลำบากโดยใช่เหตุ และอันเคล็ดลับนี้เอง ที่อาจารย์สมัยก่อนเก็บงำซ่อนเงื่อนเอาไว้สำหรับดัดสันดานลูกศิษย์ เช่นวิชาอาคมอะไรต่าง ๆ ให้แก่ศิษย์ก็ไม่สอนหมด เหลือตอนสำคัญเอาไว้ เผื่อลูกศิษย์มันคิดล้างครู ลูกไม่รู้คุณพ่อมัน จะได้เอาดัดสันดาน การกระทำอะไรต่างๆ แม้ในปัจจุบันที่พวกประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายไปร่ำเรียนวิซาการสมัยใหม่ทุก ๆ สาขาอันเป็นวิซาการสำคัญ ผู้เขียนเข้าใจว่าเคล็ดลับของประเทศที่เจริญแล้ว เขาได้เก็บเอาไว้อย่างมิดชิด แล้วเราก็ว่าได้สำเร็จปริญญาอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ยังมีสิ่งที่เรายังไม่รู้เคล็ดลับที่สำคัญ จึงทำให้เจริญขึ้นยาก กว่าจะจับเคล็ดลับได้ก็ต้องอาศัยเวลานาน
แม้การที่ผู้เขียนไค้ทราบเคล็ดลับในการอยู่กับพระอาจารย์มั่น ฯ จากพระอาจารย์เนียมนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนได้รับประโยชน์อย่างรวดเร็ว กับทั้งกันความผิดพลาดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ทำไมพระอาจารย์เนียมจึงให้ความสนิทสนมแก่ผู้เขียนมากและในเวลาอันรวดเร็ว นี้น่าแปลกใจ จึงทำให้ผู้เขียนเข้าใจความจริงอะไรหลายอย่างที่ทำให้ได้ไต่ถามและได้การปฏิบัติทางใจ แก่พระอาจารย์มั่นฯ ได้มากเป็นที่พอใจยิ่ง
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ พระอาจารย์เนียม ก็ได้ธุดงค์ไปถึงจังหวัดนครราชสีมาพร้อมกับพระอาจารย์อีกหลายองค์ ขณะพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นหัวหน้า มีคนสำคัญอยู่คนหนึ่งคือหลวงชาญ ฯ ได้ไปฟังเทศน์จากพระอาจารย์เนียม เกิดความเลื่อมใสในคณะกัมมัฏฐานอย่างยิ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่านอาจารย์เนียมท่านอ่านหนังสือไม่ออก ท่านนำเอาธรรมมาแสดงแด่หลวงชาญได้อย่างไร นี้ก็น่าคิด แต่ผู้ที่ได้ปฏิบัติธรรมจนเกิดธรรมภายในได้แล้ว ก็เห็นเป็นของธรรมดา ปรากฏต่อมาว่า หลวงชาญฯ เกิดความเลื่อมใส ถวายที่ของตนให้สร้างวัด จนปรากฏชื่อ วัดสาลวัน จนกระทั่งเดี๋ยวนี้
ขณะที่ท่านอยู่กับพระอาจารย์มั่น ฯ ได้ใช้ให้เป็นผู้คอยแก้พระภิกษุ-สามเณรหลงวิปัสสนูปกิเลส เพราะบางองค์ที่บำเพ็ญความเพียรอย่างหนัก เกิดความเข้าใจผิดหลงตัวว่าได้สำเร็จพระอรหันต์ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้สำเร็จเพราะอำนาจของวิปัสสนู ทำให้เข้าใจไปเช่นนั้น เนื่องจากเป็นสิ่งมหัศจรรย์มาก ขณะที่เกิดวิปัสสนูกิเลสนั้น มีทั้งความสว่างผ่องใส ลึกซึ้งยังกับหมดกิเลส ซึ่งแต่ละองค์ที่หลงนั้นย่อมมุ่งหมายในตัวเองมาก ยากที่จะแก้ไขได้ หากไม่มีวิธีการแก้จะติดไปนานมากทีเดียว
การเป็นเช่นนี้เกิดขึ้นแก่องค์ใด พระอาจารย์เนียม เป็นผู้หนึ่งที่จะต้องถูกอาจารย์มั่น ฯ ใช้ให้ไปแก้ไขเพื่อให้ท่านเหล่านั้นกลับใจ ดำเนินไปในทางที่ถูก การแก้ผู้บังเกิดวิปัสสนูปกิเลสนี้ มิใช่ง่ายเลย เพราะความเข้าใจผิดของผู้เป็นนั้นลึกซึ้งมาก เพราะฉะนั้นผู้ที่จะไปแก้เขานั้นจะต้องมีกำลังจิตมากทีเดียว หากแต่จะใช้เพียงวาทะถ้อยคำ ก็ยากนักที่จะแก้ได้ พระอาจารย์เนียมจึงเป็นผู้หนึ่งที่มีพลังจิตที่พอจะแก้ได้ จึงนับว่าท่านเป็นศิษย์คนสำคัญของพระอาจารย์มั่นฯ องค์หนึ่งซึ่งใคร ๆ ไม่เคยกล่าวขวัญถึงเลย แต่กับผู้เขียนสนิทสนมกันมาก
พระอาจารย์เนียมได้มรณภาพที่บ้านหนองผือ ต. นาใน อ. พรรณานิคมที่ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ ๕ ปีนั้นเอง ท่านป่วยด้วยไข้มาเลเรีย หลังจากท่านมรณภาพแล้ว ท่านอาจารย์ก็ให้ก่อเชิงตะกอนด้วยท่อนไม้ทำฌาปนกิจศพอย่างมิต้องมีพิธีรีตองอะไร ซึ่งพระอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้ทำฌาปนกิจศพแก่พระภิกษุสามเณรที่มรณภาพกับท่านเช่นนี้โดยปรกติ เพราะได้เคยพูดไว้เสมอว่าซากอสุภะ ร่างกายที่ตายนั้น ควรแก่การที่จะพึงพิจารณาให้เป็นสักขีพยาน ในการปลงธรรมสังเวชเท่านั้น ส่วนการบำเพ็ญกุศลที่จะพึงอุทิศผลไปให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ไม่จำเป็นจะต้องมีร่างกายที่สิ้นลมแล้วจะมาเป็นผู้คอยรับส่วนกุศล
ผู้เขียนได้มารำลึกถึงคุณานุคุณของท่านอาจารย์เนียมมาก แม้จะเป็นการอยู่ร่วมกันชั่วขณะไม่นานนัก แต่ผู้เขียนได้ทราบความเป็นมาของพระอาจารย์มั่นฯ จากท่านมากเกินความคาดหมาย ทั้งยังให้คติธรรมที่ท่านเข้าใจด้วยตัวท่านเองอีกมาก จะอย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ได้ถือว่าท่านพระอาจารย์เนียมเป็นพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิสูงผู้หนึ่ง
มีอยู่วันหนึ่ง หมู่บ้านที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านนามนนี้เท่าไรนัก เกิดมีการลือว่าผีปอบกำลังอาละวาดและมีผีป่าเข้าผสม มีการตายกันไม่เว้นแต่ละวัน ชาวบ้านได้มีความเชื่อว่าผีอาละวาดจริง ต่างก็พากันครั่นคร้ามหวาดเสียว กลัวกันเป็นการใหญ่ พวกชาวบ้านได้ส่งตัวแทนมาที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ ขอให้ไปไล่ผีให้พวกเขาด้วย เมื่อตัวแทนชาวบ้านนั้น มีอยู่ ๓-๔ คนมากราบพระอาจารย์แล้วก็เล่าถึงเหตุเภทภัยที่พวกเขากำลังได้รับอยู่ให้ท่านฟัง
เมื่อท่านได้ฟังแล้วจึงบัญชาให้ผู้เขียนไปจัดการแก้ไขพวกผีปอบ อันที่จริงผู้เขียนก็เคยจัดการเรื่องผีๆ มาหลายครั้งแล้ว มาคราวนี้ท่านอาจารย์มั่นฯมาใช้ให้ไปจัดการทั้งๆ ที่พระเถรอื่นๆ ที่มีความสามารถในทางนี้ตั้งหลายองค์ ทำไมท่านจึงไม่ใช้ให้ไปจัดการ แต่กลับมาให้ผู้เขียน ซึ่งขณะนั้นเป็นพระผู้น้อย มีพรรษาเพียง ๓ พรรษาเท่านั้น ก็คงจะเป็นการทดลองความสามารถหรือดูใจว่าจะเชื่อฟัง ก็สุดที่จะเดา แต่ขณะนั้นผู้เขียนก็เป็นผู้คอยดูแลอุปัฏฐากท่านตลอดเวลา ก็เป็นห่วงจะได้ใครมาแทนการอุปัฏฐาก สำหรับผู้ใคร่อุปัฏฐากก็มีมาก เพราะใคร ๆ ก็อยากอยู่ใกล้ชิดตัวท่าน แต่โอกาสไม่ให้เท่านั้น
เป็นอันว่าผู้เขียนเดินทางไป เพื่อจัดการกับผี ได้สามเณรไปเป็นเพื่อนหนึ่งองค์ ไปพักอยู่ที่ป่าใกล้ ๆ บ้านนั้นมีพวกญาติโยมมาแผ้วถางที่อยู่ เห็นเนินปลวกพอที่จะพักชั่วคราวได้ เมื่อพักอยู่ ตกกลางคืนได้มีประชาชนพากันมามากมาย ผู้เขียนสังเกตดูชาวบ้านที่มานั้นดูตื่นๆ คล้ายๆ จะตกใจ เพราะทุกคนเกรงกลัวผี ถึงมันไม่กินเรา มันอาจจะกินลูกเรา เขาคงคิดว่าอาจารย์องค์นี้จะสู้ผีไหวหรือไม่ เพราะดูแล้วก็ยังหนุ่มเด็กอยู่เลยถ้าไม่ไหวพวกเราอาจะถูกผีรุกพวกเราหนักยิ่งขึ้น แต่เขาก็ดูจะมั่นใจว่านี้เป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ฯ คงจะมีความสามารถจัดการกับผีได้ท่านจึงส่งมา
ในค่ำคืนวันนั้นผู้เขียนได้แสดงธรรมให้ชาวบ้านฟัง และให้เขารับพระไตรสรณคมน์ แนะนำความเชื่อถือผิดต่าง ๆ พอสมควรแล้วเขาก็พากันกลับบ้าน ตอนจะกลับผู้เขียนได้เตือนพวกโยมว่า
โยม คืนนี้อาตมาจะไล่ผีที่มีอยู่หมู่บ้านนี้ จะเป็นผีปอบหรือผีอะไรจะไล่ออกให้หมด และขอให้ทุกคนจงบำเพ็ญภาวนาอย่างที่อาตมาสอนไว้โดยทั่วกัน และในคืนนี้ใครมีประสบการณ์อย่างไร ให้มาบอกอาตมาในวันพรุ่งนี้
เป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจ เมื่อวันรุ่งขึ้นพวกประชาชนในหมู่บ้านนี้ ได้มาเล่าความฝันและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อคืนนี้สุนัขมันเห่าหอนกันตลอดคืน ทำเอาชาวบ้านนั้นไม่ใคร่หลับกันทีเดียว ต่างก็เข้าใจว่าอาจารย์ได้ใช้วิชาอาคมปราบผีแน่นอนแล้ว และเขาก็เล่าความฝันของโยมหลายคนที่ปรากฏการณ์เช่นเดียวกัน เขาฝันว่า พวกผีนับจำนวนร้อย พากันหอบลูกจูงหลาน มีหน้าตาลักษณะต่าง ๆ กันเดินออกจากหมู่บ้านนี้ไป พลางก็พูดกันว่า อยู่ไม่ได้แล้วโว้ย ร้อนเหลือเกิน พวกกูก็อยู่กันมานานแล้ว ไม่เคยถูกใครบังอาจมารังควานเลย คราวนี้กูสู้ไม่ไหว ดูท่าทางของพวกผีบอกว่าเดินหนีกันอย่างรีบร้อน และในความฝันเขาบอกว่า เวลาเดิน ๆ ถอยหลังมิได้เดินไปข้างหน้า เหมือนคนเรา
มันเป็นการได้ผลรวดเร็วเกินคาด ทำให้จิตใจของชาวบ้านนี้เกิดความเชื่อมั่นในตัวผู้เขียนมากทีเดียว และเขาทั้งหลายก็เชื่อแน่ว่า พวกผีมันไปกันจริง ๆ โดยอาศัยความเชื่อมั่นนี้ ทำให้หมู่บ้านเกิดความสงบเงียบ ได้รับความสุขสบายอย่างยิ่งเพียงชั่ววันเดียว บรรยากาศที่เคยคุกรุ่นด้วยความหวาดเสียว และหวาดระแวงด้วยความกลัวผี ก็หายไปจากหมู่บ้านนี้ยังกะปลิดทิ้ง
ในครั้งนั้นปรากฏว่า ชาวบ้านที่อยู่กันเป็นหมู่ ๆ ใกล้เคียงยิ่งได้ร่ำลือกันว่าผีออกจากบ้านนี้แล้ว มันกำลังบ่ายโฉมหน้าไปโน้น หมายความว่าจะต้องผ่านหมู่บ้านใกล้เคียงเหล่านั้น ต่างก็ตกใจ นึกว่าคงจะมาอยู่กับพวกเรากระมัง พากันมายังผู้เขียนเป็นการใหญ่ ผู้เขียนก็พานั่งสมาธิและแสดงธรรมให้เขาฟัง แต่พวกเขาได้พูดว่า ขอให้ท่านช่วยส่งพวกผีให้พ้นหมู่บ้านของพวกผมด้วยเถิด ผู้เขียนเห็นเป็นโอกาสดี เลยบอกว่าต้องมาฟังเทศน์ทำสมาธิภาวนารักษาศีล พวกเขาเหล่านั้นก็ทำตามทุกอย่าง ซึ่งขณะนั้นจะให้เขาทำอะไรก็ยอม เป็นการให้พวกเขาได้รับธรรมจากผู้เขียนมากทีเดียว จึงนับว่าได้ประโยชน์ไม่น้อยเลย และในเวลาอันรวดเร็วด้วย เมื่อได้ทำพิธีต่าง ๆ เป็นการไล่ผีที่พวกเขาเข้าใจผิดจนรู้เหตุผลในเรื่องนี้ดีแล้ว อยู่กับเขาประมาณอาทิตย์เศษ เรื่องความวุ่นวายของ ผีปอบ ได้สงบลง เป็นความยินดีปรีดาของชาวบ้าน
หายความหวาดผวาแล้ว ผู้เขียนก็ลาพวกเขากลับมาที่บ้านนามน เพื่อพบกับพระอาจารย์มั่น ฯ เข้าประจำหน้าที่เป็นอุปัฏฐากตามเดิม เมื่อพบพระอาจารย์ในวันนั้น ท่านได้ถามว่า
วิริยังค์ได้แก้มิจฉาทิฏฐิสำเร็จหรือไม่
ผู้เขียนตอบอย่างภาคภูมิว่า ได้แก้สำเร็จแล้วทุกประการ
ท่านได้พูดเสริมต่อไปว่า
นี้แหละคือประโยชน์และพระภิกษุสามเณรผู้บวชมาแล้วในพระพุทธศาสนา นอกจากจะทำประโยชน์แก่ตนแล้ว ก็ควรจะได้ทำประโยชน์ผู้อื่นต่อไป จึงจะเป็นการเชิดชูไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา บางคนเขาว่าพวกเราอยู่ในป่า บ้านนอกบ้านนา เอาแต่ความสุขส่วนตัว ได้รู้ธรรมเห็นธรรมแล้ว ก็หลบตัวซ่อนอยู่ในป่าเขา ไม่ทำประโยชน์แก่ส่วนรวม ความจริงแล้วพวกเราก็ทำประโยชน์ส่วนรวมกันแล้วทุกองค์ เพราะชาวบ้านนอกบ้านนาที่ยังต้องการผู้เข้าใจในธรรมทั้งส่วนหยาบและละเอียดมาสอนเขา หากพวกเขาไม่มาแนะนำในทางที่ถูกอันเป็นส่วนหยาบและละเอียดแล้ว ก็จะหลงเข้าใจผิดกันอีกมาก นี้แหละคือการทำประโยชน์แก่คนบ้านนอกบ้านนา จะคอยให้เจ้าฟ้าเจ้าคุณผู้ทรงความรู้ในกรุงในถิ่นที่เจริญมาสอนนั้นเห็นจะไม่ไหว เพียงแต่ท่านเดินทางด้วยเท้าสักหนึ่งกิโลสองกิโล ก็ไม่เอาแล้ว พวกเราจึงได้ชื่อว่า ได้มีส่วนช่วยทำประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง ที่ใครอื่นเขามองไม่ใคร่เห็น
ผู้เขียนนั่งฟังท่านอธิบายก็ซาบซึ้งใจเป็นหนักหนาและเข้าใจอะไร ๆ หลายอย่าง เกี่ยวกับส่วนตัวและส่วนรวม
ข้าพเจ้าก็ขอยุติใต้สามัญสำนึกไว้เพียงเท่านี้ โปรดติดตามประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ฉบับสมบูรณ์ต่อไป