#echo banner="" ประวัติ หลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถระ โดยพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) 6

ชีวประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ๖

เรียบเรียงโดย

พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)

ธุดงควัตรที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ ๔ ประการ

๑. ปังสุกูลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบทมาตราบกระทั่งถึงวัยชรา จึงได้ผ่อนใช้คหบดีจีวรบ้าง เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย

๒. ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารวัตรเที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธไปในละแวกบ้านไม่ได้ ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉัน จนกระทั่งอาพาธลุกไม่ได้ในปัจฉิมสมัย จึงงดบิณฑบาต

๓. เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธหนักในปัจฉิมสมัยจึงงด

๔. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ตลอดมา แม้ถึงอาพาธหนักในปัจฉิมสมัยก็มิได้เลิกละ

ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราว ที่นับว่าปฏิบัติได้มากก็คือ อรัญญิกังคธุดงค์ ถืออยู่เสนาสนะป่าห่างบ้านประมาณ ๒๕ เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดตามสมณวิสัย เมื่อถึงวัยชราจึงอยู่ในเสนาสนะป่าห่างจากบ้านพอสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลังที่จะภิกขาจารบิณฑบาต เป็นที่ที่ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนเคารพยำเกรงไม่รบกวน

นัยว่า ในสมัยที่ท่านยังแข็งแรง ได้ออกจาริกโดดเดี่ยวแสวงวิเวกไปในป่าดงพงลึก จนสุดวิสัยที่ศิษยานุศิษย์จะติดตามไปถึงได้ก็มี เช่น ในคราวไปอยู่ทางภาคเหนือ เป็นต้น ท่านไปวิเวกบนเขาสูงอันเป็นที่อยู่ของพวกมูเซอ ยังฯาวมูเซอซึ่งพูดไม่รู้เรื่องกันให้บังเกิดศรัทธาในพระศาสนาได้

อัฐบริขารและเครื่องใช้ประจำวันของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร

ที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร

อัฏฐบริขารของท่านพระอาจารย์มั่น
ใช้อัฏฐบริขารที่จำเป็นเหมือนกับพระสงฆ์ทั่วไปคือ

สบง ซึ่งใช้เป็นผ้านุ่ง

จีวร ใช้เป็นผ้าห่ม

สังฆาฏิ ใช้เป็นผ้าห่มกันหนาวและใช้พาดบ่าในโอกาส
                      ที่จะต้องทำสังฆกรรมต่าง ๆ

บาตร สำหรับใส่ภัตตาหาร

มีดโกน สำหรับปลงผม

เข็ม-ด้าย สำหรับเย็บผ้า

รัดประคด สำหรับคาดเอว

ธมกรก-ผ้ากรอง สำหรับกรองน้ำ

ทั้งหมดนี้เป็นบริขารจำเป็นประจำสำหรับองค์พระ เรียกว่า อัฏฐบริขาร

เครื่องใช้ประจำวัน ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร มีชีวิตอยู่ด้วยความเมตตาและการแผ่กุศลคุณงามความดี
ยึดหลักของชีวิตสมณเพศอย่างเคร่งครัด ด้วยเหตุนี้ เครื่องใช้ประจำวันของท่านจึงมีเฉพาะสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีพเท่านั้น
ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ท่านได้ตัดวัตถุทั้งหลายทั้งปวงออกจากบ่วงกิเลสจนหมดสิ้น

และ ข้อมูลนำมาจากหนังสือ ชีวประวัติ ธรรมเทศนา บทประพันธ์ และธรรมบรรยาย ของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร โดยชมรมพุทธศาสตร์ กฟผ.

ผ้าที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ใช้ประจำ มีผ้าอาบน้ำฝน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ผ้าเช็ดบาตร ผ้าเช็ดปาก ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดเท้า ถุงเท้า และผ้าบริขาร ที่เรียกรวม ๆ กันว่า "บริขารโจล"

ผ้าเหล่านี้ ท่านปะชุนด้วยตนเองทั้งสิ้น ท่านใช้อย่างกระเหม็ดกระแหม่ ไม่สุรุ่ยสุร่าย ฟุ่มเฟือย และบำเพ็ญสมณวิสัยอย่างหายกังวล

---------------------------------------------------

ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์มั่น วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

หนังสือเกี่ยวกับธรรม

แม้ท่านพระอาจารย์มั่น จะปฏิบัติธุดงคกัมมัฏฐานและอยู่ตามเขาต่าง ๆ เป็นประจำก็ตาม แต่ท่านก็มิได้ละเว้นที่จะศึกษาหนังสือธรรมอื่น ๆ เช่นพุทธศาสนิกชนทั้งหลายศึกษากัน อีกทั้งยังเก็บรักษาเอกสารที่สำคัญไว้ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง

หนังสือเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นหลักธรรมคำสอนต่าง ๆ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และบางส่วนเป็นนิทานอิงธรรมะซึ่งสำนักพิมพ์ต่าง ๆ พิมพ์เผยแผ่ ท่านพระอาจารย์มั่นเคยอธิบายให้สานุศิษย์ฟังเสมอว่า "หนังสือชาติใดก็ตาม สามารถจารึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทั้งนั้น"

---------------------------------------------------

ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์มั่น วัดป่าสุทธาวาส

กิจวัตรประจำวัน

ท่านปฏิบัติกิจประจำวันเป็นอาจิณวัตรเพื่อเป็นแบบอย่างแก่สานุศิษย์ และพร่ำสอนสานุศิษย์ให้ปฏิบัติเป็นอาจิณวัตรต่อไปนี้

- เวลาเช้า ออกจากกุฏิ ทำสรีรกิจ คือ ล้างหน้า บ้วนปาก นำบริขารลงสู่โรงฉัน ปัดกวาดลานวัด แล้วเดินจงกรม

- พอได้เวลาภิกขาจารก็ขึ้นสู่โรงฉัน นุ่งห่มเป็นปริมณฑล สะพายบาตรเข้าสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต

- กลับจากบิณฑบาตแล้ว จัดแจงบาตร จีวร แล้วจัดอาหารใส่บาตร นั่งพิจารณาอาหาร ปัจจเวกขณะ ทำภัตตานุโมทนาคือยถาสัพพีเสร็จแล้ว ฉันจังหัน ฉันเสร็จแล้วล้างบาตร เก็บบริขารขึ้นกุฏิ

- ทำสรีรกิจ พักผ่อนเล็กน้อย แล้วลุกขึ้นล้างหน้า ไหว้พระ สวดมนต์ และพิจารณาธาตุอาหาร ปฏิกูล ตังขณิก อตีตปัจจเวกขณะ แล้วชำระจิตจากนิวรณ์ นั่งสมาธิพอสมควร

- เวลาบ่าย ๓-๔ โมง กวาดลานวัด ตักน้ำใช้ น้ำฉันมาไว้ อาบน้ำชำระกายให้สะอาดปราศจากมลทิน แล้วเดินจงกรมจนถึงพลบค่ำจึงขึ้นกุฏิ

- เวลากลางคืนตั้งแต่พลบค่ำไป สานุศิษย์ก็ทยอยกันขึ้นไปปรนนิบัติ ท่านได้เทศนาสั่งสอนอบรมสติปัญญาแก่สานุศิษย์พอสมควรแล้ว สานุศิษย์ถวายการนวดฟั้น (เฟ้น) พอสมควรแล้ว ท่านก็เข้าห้อง ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ แล้วพักนอนประมาณ ๔ ทุ่ม เวลา ๓.๐๐ น. ตื่นนอน ล้างหน้าบ้วนปาก แล้วปฏิบัติกิจอย่างในเวลาเช้าต่อไป

กิจบางประการ เมื่อมีลูกศิษย์มากและแก่ชราแล้ว ก็อาศัยศิษย์เป็นผู้ทำแทน เช่น การตักน้ำใช้ น้ำฉัน เพราะเหน็ดเหนื่อยเนื่องจากชราภาพ ส่วนกิจอันใดเป็นสมณประเพณีและเป็นศีลวัตร กิจนั้นท่านปฏิบัติเสมอเป็นอาจิณ มิได้เลิกละ

ท่านถือคติว่า “เมื่อมีวัตรก็ชื่อว่ามีศีล ศีลเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ”

ท่านกล่าวว่า “ต้นดี ปลายก็ดี ครั้นผิดมาแต่ต้น ปลายก็ไม่ดี”

ท่านกล่าวว่า “ผิดมาตั้งแต่ต้น ฮวงเม่าบ่มี” อุปมารูปเปรียบเหมือนอย่างว่า “การทำนา เมื่อบำรุงรักษาลำต้นข้าวดีแล้ว ย่อมหวังได้แน่ซึ่งผลดังนี้” ท่านจึงเอาใจใส่ ตักเตือนสานุศิษย์ให้ปฏิบัติศีลวัตรอันเป็นส่วนเบื้องต้นให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ไว้เสมอ

บำบัดอาพาธด้วยธรรมโอสถ

เมื่อคราวท่านลงไปจำพรรษาที่วัดปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ก่อนไปเชียงใหม่ ข้าพเจ้า๑ ผู้เรียงประวัตินี้ พึ่งได้อุปสมบทใหม่ ๆ กำลังสนใจศึกษาทางสมถวิปัสสนา ได้ทราบกิตติศัพท์ของท่านว่าเป็นผู้ปฏิบัติเซี่ยวชาญทางสมถวิปัสสนา จึงเข้าไปศึกษาสดับฟังธรรมเทศนาของท่าน ได้ความเชื่อความเลื่อมใส ถวายตัวเป็นศิษย์ของท่านแล้ว ท่านเล่าเรื่องวิธีระงับอาพาธด้วยธรรมโอสถให้ฟังว่า

ท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น

เมื่อคราวท่านไปจำพรรษาที่ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก นั้น เกิดอาพาธ ธาตุกำเริบ ไม่ทำการย่อยอาหารที่บริโภคเข้าไป ถ่ายออกมาก็เป็นเหมือนเมื่อแรกบริโภค

ชั้นแรกได้พยายามรักษาด้วยยาธรรมดาจนสุดความสามารถ อาพาธก็ไม่ระงับ

จึงวันหนึ่ง ขณะที่ไปแสวงหายารากไม้เพื่อมาบำบัดอาพาธนั้น ได้ความเหน็ดเหนื่อยมากเพราะยังมิได้ฉันจังหัน ครั้นได้ยาพอและกลับมาถึงถ้ำที่พักแล้ว บังเกิดความคิดขึ้นว่า เราพยายามรักษาด้วยยาธรรมดามาก็นานแล้ว อาพาธก็ไม่ระงับ เราจะพยายามรักษาด้วยยาธรรมดาต่อไปก็คงไร้ผลเหมือนแต่ก่อน บัดนี้ อาพาธก็กำเริบยิ่งขึ้น ควรระงับด้วยธรรมโอสถดูบ้าง หากไม่หาย ก็ให้มันตายด้วยการประพฤติธรรมดีกว่า

ครั้นแล้วก็เข้าที่ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติสัมปชัญญะ กำหนดพิจารณา กายคตาสติกัมมัฏฐาน ไม่นานก็ได้ความสงบจิต อาพาธก็ระงับหายวันหายคืนโดยลำดับ จนร่างกายแข็งแรงดังเก่าจึงย้ายไปทำความเพียรอยู่ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงามและถ้ำสิงห์โต ลพบุรี จนได้ความแกล้วกล้าอาจหาญในพระธรรมวินัยดังเล่ามาแล้ว

พระเทพโมลี (พิมพ์ ธมฺมธโร)
ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ
สถาปนาเป็น
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

อีกครั้งหนึ่ง เมื่อท่านอาศัยอยู่ห้วยน้ำกึง อันเป็นอรัญญสุขวิหารราวป่าชัฏ ก่อนจะไปอยู่ที่นั้น ท่านได้พิจารณาธาตุขันธ์ได้ความว่า อาพาธจะกำเริบ และจะระงับได้ในสถานที่นั้น จึงได้หลีกจากหมู่คณะไปอยู่องค์เดียวในสถานที่นั้น พอตกกลางคืน อาพาธอันเป็นโรคประจำตัวมาแต่ยังเด็กก็กำเริบ คือปวดท้องอย่างแรง นั่งนอนไม่เป็นสุขทั้งนั้น จึงเร่งรัดพิจารณาวิปัสสนา ประมาณ ๑ ชั่วโมงอาพาธก็สงบ ปรากฏว่าร่างกายนี้ละลายพึ่บลงสู่ดินเลย จึงปรากฏบาทคาถาขึ้นว่า “นาญฺญตฺร โพชฺฌา ตปสา นาญฺญตฺร ปฏินิสฺสคฺคา” พิจารณาได้ความว่า “ธรรมอื่นเว้นโพชฌงค์เสียแล้วจะเป็นเครื่องแผดเผามิได้มี” ดังนี้

อีกครั้งหนึ่ง เมื่อท่านอาพาธเป็นไข้มาเลเรียขึ้นสมอง เจ้าคุณพระเทพโมลี (ธมฺมธโร พิมพ์) อาราธนามารักษาที่วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ท่านก็ยินยอมให้รักษาดู ท่านเจ้าคุณจึงไปเชิญหมอแผนปัจจุบันมารักษา ฉีดหยูกยาต่าง ๆ จนสุดความสามารถของหมอ วันหนึ่ง หมอกระซิบบอกท่านเจ้าคุณว่า “หมดความสามารถแล้ว”

พอหมอไปแล้ว ท่านพระอาจารย์จึงนิมนต์เจ้าคุณพระเทพโมลีไปถามว่า “หมอว่าอย่างไร? ”

ท่านเจ้าคุณก็เรียนให้ทราบตามตรง

ท่านพระอาจารย์จึงบอกว่า “ไม่ตายดอกอย่าตกใจ”

จดหมายท่านพระอาจารย์มั่น ถึงโยมนุ่ม

แล้วจึงบอกความประสงค์ให้ทราบว่า ท่านได้พิจารณาแล้วรู้ว่า อาพาธครั้งนี้จะระงับได้ด้วยธรรมโอสถ ณ สถานที่แห่งหนึ่งคือป่าเปอะ อันเป็นสถานที่วิเวก ใกล้นครเชียงใหม่ ท่านจะไปพักที่นั่น เจ้าคุณพระเทพโมลีก็อำนวยตามความประสงค์

ท่านไปพักทำการเจริญกายคตาสติกัมมัฏฐาน เป็นอนุโลม ปฏิโลม เพ่งแผดเผาภายในอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนไม่นานอาพาธก็สงบ จึงปรากฏบาทคาถาขึ้นว่า “ฌายี ตปติ อาทิจฺโจ” พิจารณาได้ความว่า “ฌานแผดเผาเหมือนดวงอาทิตย์ฉะนั้น”

โยมแม่นุ่ม ชุวานนท์ (นั่ง)
โยมอุปัฏฐากของ
พระอาจารย์มั่น พร้อมน้องสาวทั้งสอง
คือ โยมนิล และ โยม ลูกอินทน์

อีกครั้งหนึ่ง เมื่อจากนครเชียงใหม่มาสู่อุดรธานี ตามคำนิมนต์ของเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ พักที่วัดโนนนิเวศน์ ๒ พรรษา เพื่อสงเคราะห์สาธุชน ณ ถิ่นนั้น แล้วมาสกลนครตามคำนิมนต์ของนางนุ่ม ชุวานนท์ พักที่วัดป่าสุทธาวาส เพื่อสงเคราะห์สาธุชนพอสมควรแล้ว เลยออกไปพักที่เสนาสนะป่าบ้านนามนและบ้านนาสีนวลบ้าง ในคราวไปพักที่เสนาสนะป่าบ้านนาสีนวลนั้น อาพาธกำเริบ เป็นไข้และปวดท้อง ได้พิจารณาตามโพชฌงค์มิท้อถอย เมื่อพิจารณาโพชฌงค์พอแล้วได้อยู่ด้วยความสงบ ไม่นานอาพาธก็สงบ จึงปรากฏบาทคาถาขึ้นว่า “ฌายี ตปติ อาทิจฺโจ” พิจารณาได้ความเหมือนหนหลัง

คราวที่พักอยู่เสนาสนะป่าบ้านห้วยแคน อาพาธกำเริบอีก ได้พยายามระงับด้วยธรรมโอสถ โดยพิจารณามรรค ๘ กับธุดงค์ ๑๓ เมื่ออาพาธสงบแล้ว จึงปรากฏบาทคาถาขึ้นว่า “อฏฺฐ เตรส” พิจารณาได้ความว่า “มรรค ๘ กับธุดงค์ ๑๓ ประชุมลงเป็นสามัคคีกัน” อาพาธครั้งนี้ ๗ วันจึงระงับ

คำเตือนสติศิษย์ผู้ออกแสวงหาวิเวก

เมื่อมีศิษย์รูปใดไปอำลาท่านเพื่อออกแสวงหาที่วิเวกบำเพ็ญสมณธรรม ท่านย่อมตักเตือนศิษย์รูปนั้น ให้ยึดเอาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นตัวอย่างเป็นแบบฉบับเสมอ แล้วเล่าเรื่องที่ท่านเคยเป็นมาแล้วให้ฟังว่า

เมื่อคราวแสวงหาวิเวกเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ทางภาคเหนือได้ออกวิเวกไปองค์เดียว ถูกโลกธรรมกระทบกระทั่งนานาประการ พิจารณาอยู่ ๓ วัน จึงได้ความว่า ต้องยกธง ๓ สี อุปมาด้วยธงแห่งสยามประเทศ แล้วมีพระบาลีซึ่งมิได้เคยสดับมาปรากฏขึ้นต่อไปว่า

“สุตาวโต จ โข ภิกฺขเว อสุตาวตา ปุถุชฺชเนนาปิ ตสฺสานุโรธา อถวา วิโรธาเวทุปิตา ตถาคตํ คจฺฉนฺติ ภควํ มูลกา โน ภนฺเต ภควา ภควํ เนตฺติกา ภควํ ปฏิสฺสรณา สาธุวต ภนฺเต ภควา เยว ปฏิภาตุ”

แล้วพิจารณาได้ความว่า

“ระหว่างพระอริยบุคคลผู้ได้สดับแล้วกับปุถุชนผู้มิได้สดับ ก็ย่อมถูกโลกธรรมกระทบกระทั่งเช่นเดียวกัน แม้พระตถาคตก็ได้ถูกโลกธรรมกระทบกระทั่งมาแล้วแสนสาหัสในคราวทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา และการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนั้น พระองค์มิได้ตรัสสอนให้เอาพระสาวกองค์นั้นองค์นี้เป็นตัวอย่าง ตรัสสอนให้เอาพระองค์เองเป็นตัวอย่าง เป็นเนติแบบฉบับ เป็นที่พึงเสมอด้วยชีวิต” ดังนี้

สำเร็จปฏิสัมภิทานุสาสน์

ตามประวัติเบื้องต้น ได้เล่าสุบินนิมิตของท่านและการพิจารณาสุบินนิมิตของท่าน ได้ความว่า ท่านจะสำเร็จปฏิสัมภิทานุสาสน์ ฉลาดรู้ในเทศนาวิธีและอุบายทรมาน แนะนำสั่งสอนสานุศิษย์ให้เข้าใจในพระธรรมวินัยและอุบายฝึกฝนจิตใจ แต่จะไม่ได้จตุปฏิสัมภิทาญาณ ดังนี้

คุณสมบัติส่วนนี้ ย่อมประจักษ์ชัดแก่ศิษย์ทั้งหลายสมจริงอย่างที่ท่านพยากรณ์ไว้ คือ ท่านฉลาดในเทศนาวิธี

ท่านเคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ท่านได้พยายามศึกษาสำเนียงวิธีเทศนา อันจะสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ฟัง ได้ความขึ้นว่า

เทศนาวิธีต้องประกอบด้วย:-

๑. อุเทศ คือกำหนดอุเทศก่อนหัวข้อธรรมที่พึงยกขึ้นแสดง วิธีกำหนดอุเทศนั้นคือทำความสงบใจหน่อยหนึ่ง ธรรมใดอันเหมาะแก่จริงนิสัยของผู้ฟังซึ่งมาคอยฟังในขณะนั้น ธรรมนั้นจะผุดขึ้น ต้องเอาธรรมนั้นมาเป็น อุเทศ ถ้าเป็นภาษาไทยต้องแปลเป็นบาลีก่อน

๒. นิเทศ คือเนื้อความ เพื่ออธิบายความของอุเทศนั้นให้กว้างขวางออกไปตามสมควร เมื่อเนื้อความปรากฏขึ้นในขณะนั้นแจ่มแจ้งแก่ใจอย่างไรต้องแสดงอย่างนั้น

๓. ปฏินิเทศ คือใจความเพื่อย่อคำให้ผู้ฟังจำได้จะได้นำไปไตร่ตรองในภายหลังเทศนาวิธีของท่านพระอาจารย์ย่อมเป็นไปตามหลักดังกล่าวนี้ บาลีอุเทศที่ท่านยกขึ้นมาแสดงบางประการ ท่านไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก่อน ย่อมมาปรากฏขึ้นในเวลาแสดงธรรมนั้นเอง จึงสมกับคำว่าปฏิสัมภิทานุสาสน์แท้ เป็นการแสดงธรรมด้วยปฏิภาณญาณจริง ๆ จึงถูกกับจริตอัธยาศัยของผู้ฟัง ยังผู้ฟังให้เกิดความสว่างแจ่มใสเบิกบานใจและเกิดฉันทะในอันประพฤติปฏิบัติศีลธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป

สมด้วยคำชมของเจ้าพระคุณพระอุบาลีฯ (สิริจนฺทเถร จันทร์) ว่า ท่านมั่น แสดงธรรมด้วย มุตโตทัย เป็น “มุตโตทัย” ดังนี้ ซึ่งข้าพเจ้าเอามาเป็นชื่อธรรมกถาของท่านพระอาจารย์ที่พิมพ์นี้ ส่วนจตุปฏิสัมภิทาญาณนั้น ท่านว่าท่านจะไม่ได้สำเร็จ เพราะมิได้เปิดดูในตู้พระไตรปิฎก เมื่อสังเกตดูเทศนาโวหารของท่านแล้วก็จะเห็นจริงดังคำพยากรณ์ของท่าน เพราะปฏิสัมภิทาญาณมี ๔ ประการ คือ

๑. ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ ปรีชาแตกฉานในธรรม คือ หัวข้อธรรม หรือหลักธรรม หรือเหตุปัจจัย

๒. อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ปรีชาแตกฉานในอรรถ คือ เนื้อความ หรือคำอธิบาย หรือผลประโยชน์

๓. นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ปรีชาแตกฉานในภาษาที่ใช้พูดกันในหมู่ชน อันเป็นตันติภาษา โดยหลักก็คือ รู้ภาษาบาลีอันเป็นแม่ภาษา และภาษาของตนอันจะใช้อธิบายธรรมในหมู่ชนนั้น ๆ รูปคำสูงต่ำ หนักเบา และรู้ความหมายของคำนั้น ๆ ชัดแจ้ง ฉลาดในการเลือกคำพูดมาใช้ประกอบกันเข้าเป็นประโยค ให้ได้ความกะทัดรัดและไพเราะสละสลวย เป็นสำนวนชาวเมือง ไม่ระเคืองคายโสตของผู้ฟัง

๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ปรีชาแตกฉานในการกล่าวธรรมด้วยปฏิภาณญาณ มีไหวพริบทันคนในการโต้ตอบปัญหา มีปรีชาผ่องแผ้ว แกล้วกล้า ไม่ครั่นคร้ามในท่ามกลางบริษัท อาจปริวัติเทศนาไปตามจริตอัธยาศัย ด้วยเทศนานัยมีประการต่าง ๆ ได้ดี

ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ ประการนี้ ต้องได้ครบบริบูรณ์ ๔ ประการ จึงจะเรียกว่า สำเร็จจตุปฏิสัมภิทาญาณ ถ้าได้แต่เพียงบางส่วนบางประการไม่เรียกว่าสำเร็จ แต่ถ้าได้ทั้ง ๔ ประการนั้น หากแต่ไม่บริบูรณ์ เป็นแต่เพียงอนุโลม ก็เรียกว่า จตุปฏิสัมภิทานุโลมญาณ ท่านพระอาจารย์น่าจะได้ในข้อหลังนี้ จึงฉลาดในเทศนาวิธีและอุบายวิธีแนะนำสั่งสอนสานุศิษย์ ดังกล่าวมาแล้ว

ไตรวิธญาณ

ท่านพระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า การกำหนดรู้อะไรต่าง ๆ เช่น จิต นิสัย วาสนา ของคนอื่นและเทวดา เป็นต้น ย่อมรู้ได้ด้วยอาการ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ :-

๑. เอกวิธัญญา กำหนดพิจารณากายนี้อันปรากฏชัด จิตวางอุคคหนิมิต รวมลงถึงฐีติจิต คือ จิตดวงเดิม พักอยู่พอประมาณ จิตถอยออกมาพักเพียงอุปจาระ ก็ทราบได้ว่าเหตุนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

๒. ทุวิธัญญา กำหนดพิจารณาเหมือนข้อ ๑ พอจิตถอยออกมาถึงอุปจาระ จะปรากฏนิมิตภาพเหตุการณ์นั้น ๆ ขึ้น ต้องวางนิมิตนั้นเข้าจิตอีกครั้งหนึ่ง ครั้นถอยออกมาอีก ก็ทราบเหตุการณ์นั้น ๆ ได้

๓. ติวิธัญญา ปฏิบัติเหมือนในข้อ ๑ พอจิตถอยออกมาถึงขั้นอุปจาระ จะปรากฏนิมิตภาพเหตุการณ์ขึ้น ต้องวิตกถามเสียก่อนแล้วจึงวางนิมิตนั้น แล้วเข้าจิตอีก ถอยออกมา ถึงขั้นอุปจาระก็จะทราบเหตุการณ์นั้นได้

ความรู้โดยอาการ ๓ นี้ ท่านพระอาจารย์ว่า จิตที่ยังเป็นฐีติขณะเป็นเอกัคคตามีอารมณ์เดียว มีแต่สติกับอุเบกขา จะทราบเหตุการณ์ไม่ได้ ต้องถอยจิตออกมาเพียงขั้นอุปจาระจึงมีกำลังรู้ได้ หากถอยออกมาถึงขั้นขณิกะหรือจิตธรรมดาก็ทราบเหตุการณ์ไม่ได้เหมือนกัน เพราะกำลังอ่อนเกินไป

ท่านพระอาจารย์อาศัยไตรวิธญาณนี้เป็นกำลังในการหยั่งรู้หลังเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นส่วนอดีต ปัจจุบัน อนาคต และกำหนดรู้จิตใจ นิสัย ศาสนาของศิษยานุศิษย์ พร้อมทั้งอุบายวิธีทรมานศิษยานุศิษย์ด้วยปรีชาญาณหยั่งรู้โดยวิธี ๓ ประการนี้ จึงควรจะเป็นเนติของผู้จะเป็นครูอาจารย์ของผู้อื่นต่อไป

คติพจน์

คำที่เป็นคติ อันท่านพระอาจารย์กล่าวอยู่บ่อย ๆ เพื่อเป็นหลักวินิจฉัยความดีที่ทำด้วยกาย วาจา ใจ แก่ศิษยานุศิษย์ ดังนี้

๑. ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นชื่อว่า ดีเลิศ

๒. ได้สมบัติทั้งปวง ไม่ประเสริฐเท่าได้ตน เพราะตัวตนเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง

เมื่อท่านอธิบายตจปัญจกัมมัฏฐานจบลง มักจะกล่าวเตือนขึ้นเป็นคำกลอนว่า

"แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตก คาพกเจ้าไว้ แก้บ่ได้ แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้นคาก้นย่างยาย คาย่างยายเวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภพทั้งสามเป็นเฮือน เจ้าอยู่" ดังนี้

เมื่อคราวท่านเทศนาสั่งสอนพระภิกษุผู้เป็นสานุศิษย์ถือลัทธิฉันเจให้เข้าใจทางถูกและละเลิกลัทธินั้น ครั้นจบลงแล้วได้กล่าวคำเป็นคติขึ้นว่า

"เหลือแต่เว้าบ่เห็นบ่อนเบาหนัก เดินบ่ไปตามทางสิถืกดงเสือฮ้าย" ดังนี้

เรือน    ๒ ร้าย

บำเพ็ญประโยชน์

การบำเพ็ญประโยชน์ของท่านพระอาจารย์ ประมวลลงในหลัก ๒ ประการ ดังนี้

๑. ประโยชน์ชาติ ท่านพระอาจารย์ได้เอาธุระเทศนาอบรมสั่งสอนศีลธรรมอันดีงามแก่ประชาชนพลเมืองของชาติในทุก ๆ ถิ่นที่ท่านได้สัญจรไป คือ ภาคกลางบางส่วน ภาคเหนือเกือบทั่วทุกจังหวัด ภาคอีสานเกือบทั่วทุกจังหวัด และบางส่วนของต่างประเทศ เช่น ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงของประเทศลาว ไม่กล่าวสอนให้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองของประเทศ ทำให้พลเมืองของชาติผู้ได้รับคำสั่งสอน เป็นคนมีศีลธรรมดี มีสัมมาอาชีพ ง่ายแก่การปกครองของผู้ปกครอง ชื่อว่าได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ซาติตามควรแก่สมณวิสัย

๒. ประโยชน์ศาสนา ท่านพระอาจารย์ได้บรรพชาและอุปสมบทเข้ามาในพระศาสนานี้ด้วยความเชื่อและความเลื่อมใสจริง ๆ ครั้นบวชแล้วก็ได้เอาธุระศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยด้วยความอุตสาหะพากเพียรจริง ๆ ไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญสมณธรรม ท่านปฏิบัติธุดงควัตรเคร่งครัดถึง ๔ ประการ ดังกล่าวแล้วในเบื้องต้น ได้ดำรงรักษาสมณกิจไว้มิให้เสื่อมสูญ ได้นำหมู่คณะฟื้นฟูปฏิบัติธรรมวินัยให้ถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติและพระพุทโธวาท หมั่นอนุศาสน์สั่งสอนศิษยานุศิษย์ให้ฉลาดอาจหาญในการฝึกฝนอบรมจิตใจตามหลักสมถวิปัสสนาอันสมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสสอนไว้

เป็นผู้มีน้ำใจเด็ดเดี่ยว อดทน ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม แม้จะถูกกระทบกระทั่งด้วยโลกธรรมอย่างไรก็มิได้แปรเปลี่ยนไปตาม คงมั่นอยู่ในธรรมวินัย ตามที่พระบรมศาสดาประกาศแล้วตลอดมา ทำตนให้เป็นทิฏฐานุคติแก่ศิษยานุศิษย์เป็นอย่างดี ท่านได้จาริกไปเพื่อแสวงวิเวกตามที่ต่าง ๆ คือ บางส่วนของภาคกลาง เกือบทั่วทุกจังหวัดในภาคเหนือเกือบทุกจังหวัดของภาคอีสาน และแถบบางส่วนของต่างประเทศอีกด้วย นอกจากเพื่อวิเวกในส่วนตัวแล้ว ท่านมุ่งไปเพื่อสงเคราะห์ผู้มีอุปนิสัยในถิ่นนั้น ๆ ด้วย

ผู้ได้รับสงเคราะห์ด้วยธรรมจากท่านแล้ว ย่อมกล่าวได้ด้วยความภูมิใจว่า ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา

ตราตั้งอุปัชฌายะท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร

ส่วนหน้าที่ในวงการคณะสงฆ์ ท่านพระอาจารย์ได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้าในฐานะเจ้าคณะให้คณะธรรมยุตติกนิกายให้เป็นพระอุปัชฌายะในคณะธรรมยุตติกนิกายตั้งแต่อยู่จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูวินัยธร ฐานานุกรมของเจ้าพระคุณพระอุบาลีฯ (สิริจนฺทเถร จันทร์) ท่านก็ได้ทำหน้าที่นั้นโดยเรียบร้อยตลอดเวลาที่ยังอยู่เชียงใหม่

ครั้นจากเชียงใหม่มาแล้ว ท่านก็งดหน้าที่นั้น แม้ข้าพเจ้าขอร้องให้ทำในเมื่อมาอยู่สกลนคร ท่านก็ไม่ยอมทำ โดยอ้างว่าแก่ชราแล้ว ขออยู่ตามสบาย ข้าพเจ้าก็ผ่อนตามด้วยความเคารพและหวังความผาสุกสบายแก่ท่านพระอาจารย์

งานศาสนาในด้านวิปัสสนาธุระ นับว่าท่านได้ทำเต็มสติกำลัง ยังศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ให้อาจหาญ ร่าเริงในสัมมาปฏิบัติตลอดมา นับแต่พรรษาที่ ๒๓ จนถึงพรรษาที่ ๕๙ อันเป็นปีสุดท้ายแห่งชีวิตของท่าน อาจกล่าวได้ด้วยความภูมิใจว่าท่านพระอาจารย์เป็นพระเถระที่มีเกียรติคุณเด่นที่สุดในด้านวิปัสสนาธุระผู้หนึ่งในยุคปัจจุบัน

ปัจฉิมสมัย

ในวัยชรานับแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา ท่านมาอยู่จังหวัดสกลนคร เปลี่ยนอิริยาบถไปตามสถานที่วิเวกผาสุกวิหารหลายแห่ง คือ ณ เสนาสนะป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมืองบ้าง ที่ใกล้ๆ แถวนั้นบ้าง ครั้น พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงย้ายไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนถึงปีสุดท้ายแห่งชีวิต

ตลอดเวลา ๘ ปีในวัยชรานี้ ท่านได้เอาธุระอบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ทางสมถวิปัสสนาเป็นอันมาก ได้มีการเทศนาอบรมจิตใจศิษยานุศิษย์เป็นประจำวัน ศิษย์ผู้ใกล้ชิดได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านไว้และได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นเผยแพร่แล้ว ให้ชื่อว่า “มุตโตทัย”

ครั้นมาถึง พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีที่ท่านมีอายุย่างขึ้น ๘๐ ปี ท่านเริ่มอาพาธ เป็นไข้ ศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิดก็ได้เอาธุระรักษาพยาบาลไปตามกำลังความสามารถ อาพาธก็สงบไปบ้างเป็นครั้งคราว แต่แล้วก็กำเริบขึ้นอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยมา จนจวนออกพรรษา อาพาธก็กำเริบมากขึ้น ข่าวนี้ได้กระจายไปโดยรวดเร็ว พอออกพรรษา ศิษยานุศิษย์ผู้อยู่ไกลต่างก็ทยอยกันเข้ามาปรนนิบัติพยาบาล ได้เชิญหมอแผนปัจจุบันมาตรวจและรักษา แล้วนำมาพักที่เสนาสนะป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคม เพื่อสะดวกแก่ผู้รักษาและศิษยานุศิษย์ที่จะมาเยี่ยมพยาบาล อาการอาพาธมีแต่ทรงกับทรุดลงโดยลำดับ

โบสถ์วัดป่าสุทธาวาส ณ สถานที่ถวายเพลิงศพพระอาจารย์
มั่น ภูริทตฺตเถร เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๓ ซึ่งต่อมามี
การสร้างพระอุโบสถขึ้น

ครั้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้นำท่านมาพักที่วัดป่าสุทธาวาส ใกล้เมืองสกลนคร โดยพาหนะรถยนต์ มาถึงวัดเวลา ๑๒.๐๐ น. เศษ ครั้นถึงเวลา ๒.๒๓ น. ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ศกเดียวกัน ท่านก็ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ในท่ามกลางศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย มีเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์เป็นต้น สิริชนมายุของท่านพระอาจารย์ได้ ๘๐ ปี เท่าจำนวนที่ท่านได้กำหนดไว้แต่เดิม

การที่ศิษยานุศิษย์และผู้เคารพนับถือได้นำท่านพระอาจารย์มาที่วัดป่าสุทธาวาสนี้ ก็ให้เป็นไปตามเจตนาเดิมของท่านพระอาจารย์ คือ เมื่อเริ่มป่วยหนัก ท่านแน่ในใจว่าร่างกายนี้จะต้องเป็นไปตามธรรมดาของเขาแล้ว จึงปรารภกับศิษย์ผู้ใหญ่รูปหนึ่งว่า “ถ้าตายลง ณ บ้านหนองผือนี้ สัตว์ก็จะต้องตายตามมิใช่น้อย ถ้าตายที่วัดสุทธาวาสก็ค่อยยังชั่วเพราะมีตลาด” ดังนี้

นอกจากมีความเมตตาสัตว์ที่จะต้องถูกฆ่าแล้ว คงมุ่งหมายฝากศพแก่ชาวเมืองสกลนครด้วย ข้าพเจ้าอดที่จะภูมิใจแทนชาวเมืองสกลนครในการที่ได้รับเกียรติอันสูงนี้ไม่ได้ อุปมาดังชาวมัลลกษัตริย์กรุงกุสินาราราฯธานี ได้รับเกียรติจัดการพระบรมศพและถวายพระเพลิงพุทธสรีระฉะนั้น เพราะท่านพระอาจารย์เป็นที่เคารพนับถือของคนมาก ได้เที่ยวไปหลายจังหวัดของประเทศไทย ครั้นถึงวัยชรา ท่านก็เลือกเอาจังหวัดสกลนครเป็นที่อยู่อันสบายและทอดทิ้งสรีระกายไว้ ประหนึ่งจะให้เห็นว่าเมืองสกลนครเป็นบ้านเกิดเมืองตายของท่านฉะนั้น ในสมัยทำการฌาปนกิจศพของท่านพระอาจารย์นั้น ชาวเมืองสกลนครยังจะมีเกียรติได้ต้อนรับศิษยานุศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านอันมาจากทิศต่าง ๆ มากมายหลายท่านอีกด้วย

ธรรมอันน่าอัศจรรย์ในท่าน อันประจักษ์แก่ศิษยานุศิษย์ที่ไม่ควรลืมก็คือ ในสมัยอาพาธหนักเมื่อยังพูดได้ ท่านได้แสดงธรรมให้ฟังอยู่ตลอดมา ไม่มีการสะทกสะท้านต่อมรณภัยแต่ประการใด ยังกล่าวท้าทายศิษย์ทั้งหลายด้วยว่า “ใครจะสามารถรดน้ำให้ไม้แก่นล่อน๑ กลับมีใบขึ้นมาอีกได้ ก็ลองดู”

ในเมื่อศิษย์ขอรักษาพยาบาล แต่เพื่ออนุเคราะห์ ท่านก็ยินยอมให้รักษาพยาบาลไปตามเรื่อง ครั้นเวลาอาพาธหนักถึงที่สุด สังขารร่างกายไม่ยอมให้โอกาสท่านพูดจาได้เลย เพราะเสมหะเฟื่องปิดลำคอ ยากแก่การพูด จึงมิได้รับปัจฉิมโอวาทอันน่าจับใจแต่ประการใด คงเห็นแต่อาการอันแกล้วกล้าในมรณาสันนกาลเท่านั้นเป็นขวัญตา ศิษยานุศิษย์ต่างก็เต็มตื้นไปด้วยปีติปราโมทย์ในอาการนั้น ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนัก และต่างก็ปลงธรรมสังเวชในสังขารอันเป็นไปตามธรรมดาของมัน ใครๆ ไม่เลือกหน้าเกิดมาแล้วจะต้องแก่เจ็บตายเหมือนกันหมด ไม่มีใครล่วงพ้นไปได้สักคนเดียว มีแต่อมฤตธรรมคือพระนิพพานเท่านั้นที่พ้นแล้วจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยสิ้นเชิง ผู้บรรลุถึงอมฤตธรรมนั้นแล้ว แม้ต้องทอดทิ้งสรีระไว้อย่างสามัญชนทั้งหลาย ก็คงปรากฏนามว่า ผู้ไม่ตาย อยู่นั่นเอง

แก่นหล้อน (แก่นล่อน) น. ไม้เนื้อแข็งตายยืนต้น เปลือกกร่อนหมด เรียกไม้แก่นหล้อน

 

หน้าที่