#echo banner="" ทางแห่งความดี 15 - ผู้ไม่ตาย วศิน อินทสระ

ทางแห่งความดี ๑๕

วศิน อินทสระ

ผู้ไม่ตาย

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๖

พระพุทธภาษิต

อปฺปมาโท อมตํ ปทํ          ปมาโท มจฺจุโน ปทํ

อปฺปมตฺตา น มียนฺติ         เย ปมตฺตา ยถา มตา

เอตํ วิเสสโต ญตฺวา         อปฺปมาทมฺหิ ปณฺฑิตา

อปฺปมาเท ปโมทนฺติ          อริยานํ โคจเร รตา

เต ฌายิโน สาตติกา        นิจฺจํ ทฬฺหปรกฺกมา

ผุสนฺติ ธีรา นิพฺพานํ         โยคกฺเขมํ อนุตฺตรํ

คำแปล

ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ไม่ประมาทชื่อว่าย่อมไม่ตาย ส่วนผู้ประมาทเหมือนผู้ตายแล้ว บัณฑิตรู้ความสองประการนี้โดยความแตกต่างกัน คือรู้ความแตกต่างกันทั้งสองประการนี้แล้ว ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท บันเทิงในความไม่ประมาท พอใจในธรรมเครื่องอยู่ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย บัณฑิตเหล่านั้นเป็นผู้มีฌาน มีความเพียรมั่นคงติดต่อไม่ขาดสาย ย่อมถูกต้องนิพพาน อันเป็นธรรมเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม

 

อธิบายความ

ในอังคุตตรนิกายเอกนิบาต พระศาสดาตรัสว่า "ไม่มีธรรมอะไรอื่นแม้สักอย่างหนึ่งอันจะเป็นไปเพื่อโทษใหญ่เท่ากับความประมาท และทำนองเดียวกัน ไม่มีธรรมใดแม้สักอย่างเดียวอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่เท่ากับความไม่ประมาท"

ความประมาทนั้น โดยใจความได้แก่ความนอนใจว่าไม่เป็นไร, การขาดความระวัง พระอรรถกถาจารย์ชอบอธิบายว่าความประมาทคือการอยู่โดยปราศจากสติ (สติวิปฺปวาโส) ถ้าสติหมายถึงการระมัดระวัง คำอธิบายของท่านก็ได้ความดีมาก บางแห่งท่านเปรียบสติว่าเหมือนแขกยาม (ชาคริโก พฺราหฺมโณ) ต้องคอยระวังคนเข้าคนออกอยู่เสมอ สติก็เหมือนกันต้องคอยระวังอารมณ์เข้าอารมณ์ออก ทางตา หู จมูก เป็นต้น สติจึงเป็นตัวความไม่ประมาท นี่อธิบายตามแนวของพระอรรถกถาจารย์

แต่สติตามที่ปรากฏในส่วนที่เป็นพระพุทธพจน์นั้น เท่าที่ได้เคยพบมามี ๒ นัยคือ

นัยที่ ๑ หมายถึงความระวัง เช่นที่ตรัสตอบปัญหาของอชิตมานพ ศิษย์พราหมณ์พาวรีซึ่งทูลถามว่า

"อะไรเป็นเครื่องห้ามเป็นเครื่องกั้นความอยาก ซึ่งเป็นดุจกระแสน้ำ หลั่งไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง ความอยากนั้นละได้ด้วยธรรมอะไร?"

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า

"เรากล่าวว่าสติเป็นเครื่องห้าม เป็นเครื่องกั้นความอยาก ความอยากนั้นละได้ด้วยปัญญา"

ในมหาสติปัฏฐานสูตรก็เหมือนกัน สติมีความหมายในทางระวังอารมณ์

นัยที่ ๒ สติหมายถึงการระลึกถึงกิจที่เคยทำ และคำที่เคยพูดไว้แล้วแม้นานได้ เช่นที่ตรัสในนาถกรณธรรมสูตร เป็นต้น ระลึกได้ว่าเคยพูดไว้อย่างไร เคยทำไว้อย่างไร

ความไม่ประมาท อาจคลุมถึงสติทั้งสองลักษณะนี้ แต่เน้นหนักไปในความระวัง เช่นที่ทรงแสดงเรื่อง ควรทำความไม่ประมาทใน ๔ สถานคือ

๑. ระวังไม่ให้กำหนัดในอารมณ์อันน่ากำหนัด

๒. ระวังใจไม่ให้ขัดเคืองในอารมณ์อันน่าขัดเคือง

๓. ระวังใจไม่ให้หลงในอารมณ์อันน่าหลง

๔. ระวังใจไม่ให้มัวเมาในอารมณ์อันน่ามัวเมา

พระพุทธองค์ทรงตำหนิความประมาทไว้มาก และทรงสรรเสริญความไม่ประมาทไว้มากเช่นกัน เช่นว่า เป็นที่รวมแห่งกุศลธรรมทั้งมวล เป็นธรรมอันเลิศ เป็นธรรมอันยังพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคง ฯลฯ ในที่นี้ทรงสรรเสริญว่า ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย กล่าวคือเป็นทางแห่งพระนิพพาน ส่วนความประมาทเป็นทางแห่งความตาย คือเป็นทางเสี่ยง เป็นทางอบาย เป็นทางทำลายคุณงามความดีทั้งปวง

ความไม่ประมาท ทรงเรียกว่า เป็นอมตบทคือ เป็นทางให้ถึงพระนิพพาน

คนยังประมาทอยู่ตราบใด ย่อมยังต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในสังสารวัฏตราบนั้น เพราะฉะนั้น ความประมาทจึงชื่อว่าเป็นทางแห่งความตาย

บัณฑิตรู้ความแตกต่างแห่งธรรมสองอย่างนี้แล้วย่อมพอใจแต่ในความไม่ประมาท เห็นแจ้งว่าความประมาทเป็นเหตุแห่งความผิดพลาด ความต้องเสียใจภายหลัง ความย่อยยับทั้งในทางโลกและทางธรรม

ความไม่ประมาทย่อมเป็นทางแห่งความเจริญก้าวหน้าตั้งแต่เรื่องธรรมดาไปจนถึงเป็นเครื่องมือแห่งการบรรลุพระนิพพานอันเกษมจากโยคะ

เพราะเหตุนี้ในปรินิพพานสมัย พระศาสดาจึงทรงเตือนให้ภิกษุทั้งหลายอยู่ด้วยความไม่ประมาท ถือกันว่านั่นเป็นปัจฉิมโอวาทแห่งพระองค์

เรื่องประกอบ

เรื่องพระนางสามาวดี

พระนางสามาวดี เดิมทีชื่อ สามา เป็นธิดาเศรษฐีนามภัททวดีย์ในภัททวดีนคร เป็นสหายกับโฆสกเศรษฐีแห่งเมืองโกสัมพี ท่านเรียกว่าเป็น "อทิฏฐบุพพสหาย" แปลว่า เพื่อนที่ไม่เคยเห็นกัน กล่าวคือเศรษฐีทั้งสองต่างได้ทราบเกียรติคุณของกันและกันจากหมู่พ่อค้าที่เดินทางไปมาค้าขายระหว่างเมืองทั้งสอง แล้วต้องการคบกันไว้เป็นมิตร ต่างก็ส่งบรรณาการให้กันโดยฝากพ่อค้าไป

คราวหนึ่งเกิดอหิวาตกโรคขึ้นในเมืองภัททวดี เป็นโรคระบาดที่ทำลายชีวิตคนมาก (เมืองอินเดียโดยปกติสกปรกมาก เมื่อเกิดโรคระบาดคนตายกันครั้งละมากๆ เสมอ)

เขามีเคล็ดอยู่อย่างหนึ่งคือ ถ้าจะหนีอหิวาต์ ต้องพังฝาเรือนหนีออกทางประตูให้ได้ ข้าพเจ้ายังสงสัยอยู่ว่า เป็นความจริงอย่างนั้นหรือ? หรือคำว่า "ทำลายฝาเรือนหนีไป" เป็นเพียงสำนวนอย่างหนึ่ง (IDIOM) แต่มีความหมายอย่างอื่น เช่นคำว่า "กินปูนร้อนท้อง" ในภาษาของเรา มิได้หมายความว่ากินปูนจริง แต่หมายความว่า เมื่อทำผิดแล้ว เดือดร้อนไปเอง หรือว่า "คนนี้เป็นวัวสันหลังหวะ" ก็ไม่ได้หมายความเช่นนั้น, แต่หมายความว่า "เป็นคนมีความผิดแล้วชอบระแวง" ดังนี้เป็นต้น

คำว่า "ทำลายฝาเรือนหนีไป" ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงตรงตามตัวหนังสือก็แล้วไป ถือเป็นเคล็ดอย่างหนึ่งในการหนีอหิวาต์ เพราะในบาลีและอรรถกถาทุกแห่งพูดถึงการหนีอหิวาต์ครั้งใดก็ "ทำลายฝาเรือนหนีไป" ครั้งนั้น

รวมความว่าภัททวดีย์เศรษฐี และภรรยา รวมทั้งบุตรีคนหนึ่งชื่อสามา หนีอหิวาต์ พากันมุ่งหน้าไปเมืองโกสัมพี เพื่อพึ่งพาอาศัยโฆสกเศรษฐีสหายกัน

ในระหว่างทาง เสบียงหมด แต่ต้องอดทนเดินต่อไปจนถึงประตูเมืองโกสัมพี ทั้ง ๓ ต้องอิดโรยด้วยความหิว และลมแดดอย่างน่าสงสาร ความอดทนอย่างเดียวทำให้ถึงเมืองโกสัมพี แต่ก็ถึงด้วยความยากลำบากเต็มทน

ทั้ง ๓ พักที่ศาลาหน้าเมือง เศรษฐีกล่าวขึ้นว่า "สภาพของเราในเวลานี้ แม้มารดาบิดาก็ไม่ต้องการเห็น ไม่ต้องการพบ เราควรบำรุงร่างกายให้ดีพอสมควรเสียก่อนแล้วจึงค่อยไปหาเศรษฐีสหายของเรา ฉันทราบมาว่า โฆสกะสหายของเราสละทรัพย์วันละพันให้ทานแก่คนเดินทางและคนกำพร้า คนยากจน เป็นต้น เราควรให้ลูกสาวสามาไปขออาหารมาเลี้ยงดูกัน บำรุงสรีระให้กระปรี้กระเปร่าสักหน่อยหนึ่ง แล้วค่อยไปหาสหาย"

ภรรยาเศรษฐี และธิดาก็เห็นด้วยกันข้อปรารภของเศรษฐี

ในวันรุ่งขึ้นสามาถือภาชนะเดินปะปนไปกับคนขอทาน คนกำพร้าอนาถาประเภทต่างๆ แน่นอน ความละอายต้องมีอยู่เป็นอันมาก แต่ความจำเป็นคือความวิบัติได้เข้ามาตัดความละอายนั้นให้ขาดลง เธอเดินก้มหน้าตามคนทั้งหลายไป เมื่อถึงวาระของเธอ ผู้แจกทานชื่อมิตตกุฎุมพี ถามขึ้นว่า

"เธอรับกี่ส่วน?"

"๓ ส่วนค่ะ" เธอตอบ

มิตตกุฎุมพีก็มอบให้ ๓ ส่วน เธอได้นำอาหารมาให้มารดาบิดา ฝ่ายมารดาพยายามอ้อนวอนให้สามีบริโภคก่อน ส่วนตนและลูกหญิงจักบริโภคภายหลัง แต่เศรษฐีบริโภคมากเกินไป คืนนั้นอาหารไม่ย่อย พอรุ่งเช้าก็สิ้นชีพ ความทุกข์ใหม่เกิดขึ้นแก่มารดาและลูกหญิงทั้งสองอีก

วันนั้นสามาไปขออาหาร ๒ ส่วน คนแจกทานก็ให้ตามต้องการ เธอนำมาแล้วอ้อนวอนให้มารดาบริโภค มารดาของเธอบริโภคแล้วอาหารไม่ย่อยอีก สิ้นชีพในวันนั้น คราวนี้สามามีความทุกข์โทมนัสอย่างใหญ่หลวง วันรุ่งขึ้นร้องไห้คร่ำครวญไปกับขอทาน-ไปขออาหารจากมิตตกุฎุมพี

"ต้องการเท่าไร?"

"หนึ่งส่วนเจ้าค่ะ" เธอตอบ

มิตตกุฎมพีจำได้ จึงด่าใส่หน้าว่า "จงฉิบหายเสียเถิดหญิงถ่อย, เจ้าเพิ่งรู้จักประมาณท้องของเจ้าวันนี้เองหรือ? วันก่อนขอ ๓ ส่วน เมื่อวานสองส่วน วันนี้ขอเพียงส่วนเดียว"

สามา-สตรีผู้กำเนิดและเจริญเติบโตในตระกูลอันไพศาลมั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ เมื่อได้ฟังดังนี้ มีความรู้สึกประหนึ่งว่ามีอาวุธอันแหลมคมเสียบเข้าที่อก หรือเหมือนใครเอาน้ำกรดมาราดรดบนแผล มันเจ็บแสบสุดจะพรรณนาได้ จึงร้องถามย้ำออกไปอีกว่า "ท่านว่าอะไรนะนาย?"

มิตตกุฎุมพีย้ำให้ฟังอีกเหมือนกันว่า

"วันก่อนเจ้ารับเอาไป ๓ ส่วน เมื่อวานนี้รับไป ๒ ส่วน วันนี้รับเพียงส่วนเดียว ฉันถามเจ้าว่า เจ้าเพิ่งรู้จักประมาณท้องของตัววันนี้เองหรือ?"

"นาย! ท่านโปรดอย่าเข้าใจว่า ฉันรับไปเพื่อตัวคนเดียว, ที่ฉันรับไป ๓ ส่วนวันก่อนนั้น เพราะเรามีอยู่ด้วยกัน ๓ คน คือ พ่อ แม่ และฉัน วันก่อนนี้ พ่อฉันรับประทานอาหารแล้วตาย เมื่อวานนี้แม่รับประทานแล้วตาย วันนี้จึงเหลือฉันเพียงคนเดียว ฉันจึงขอเพียงส่วนเดียว"

"พ่อแม่ของเจ้า คือใคร มาจากไหน เมื่อพ่อแม่ตายหมดแล้ว เจ้าจะอยู่กับใคร" มิตตกุฎุมพีถามอย่างสงสารและเห็นใจ

สามาเล่าเรื่องทั้งปวงให้มิตตกุฎุมพีฟังมิได้ปิดบังอำพรางเลย

มิตตกุฎุมพีฟังแล้ว เศร้าใจเหลือเกินจนไม่อาจกลั้นน้ำตาได้ เอามือลูบศีรษะสามา จุมพิตที่ศีรษะด้วยเมตตาอย่างลูกแล้วกล่าวว่า

"อย่าคิดอะไรมากเลยสามา, เจ้าเป็นธิดาของภัททวดีเศรษฐีก็เหมือนเป็นธิดาของเรา ตั้งแต่วันนี้ไปจงเป็นธิดาของเรา" ดังนี้แล้วพาไปเรือน เลี้ยงอย่างลูกหญิง และให้เป็นลูกหญิงคนโต สามาก็มีความสุขขึ้น

ตามปกติ การรับทานที่โรงทานนั้นมีเสียงอึกทึกเอ็ดอึงมากเพราะแย่งกันเข้าไปรับ แม้ปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน แจกอะไรให้แขกแม้พวกที่ได้รับการศึกษาแล้วก็แย่งกันเอ็ดอึงจนน่าเวียนหัว ไม่ต้องกล่าวถึงพวกขอทานธรรมดา

สามา ธิดาเศรษฐีนามภัททวดีย์ในภัททวดีนครซึ่งเป็น "อทิฏฐบุพพสหาย" แปลว่า เพื่อนที่ไม่เคยเห็นกัน ของโฆสกเศรษฐีแห่งเมืองโกสัมพี เมื่อบิดามารดาตายลง มิตตกุฎุมพี คนแจกทานของโฆสกเศรษฐีแห่งเมืองโกสัมพี มีความเมตตาสงสาร จึงรับไว้เป็นบุตรบุญธรรม

นางคงได้เห็นช่องทางอะไรบางอย่างตั้งแต่คราวที่ตนมาขอแล้ว เมื่อได้ยินเสียงเอ็ดอึง วันหนึ่ง จึงพูดกับมิตตกุฎุมพีว่า ไม่สามารถทำคนเหล่านั้นให้เงียบเสียงได้หรือ? มิตตกุฎุมพีตอบว่าไม่สามารถทำได้ เธอจึงบอกว่า น่าจะทำได้

"ทำอย่างไร ลูก?"

"คุณพ่อให้คนล้อมโรงทานเข้า มีประตู ๒ ด้าน ด้านหนึ่งเข้าด้านหนึ่งออก ให้เข้าและออกได้เป็นแถวเรียงหนึ่ง (แบบที่พวกเราสมัยนี้เข้าคิวซื้อตั๋วรถไฟ เป็นต้น) เข้าทางหนึ่งออกอีกทางหนึ่ง ถ้าทำได้อย่างนี้เสียงเอ็ดอึง เสียงแย่งกันก็จะหมดไป"

มิตตกุฎุมพีเห็นว่าอุบายนั้นดี จึงได้ให้คนทำอย่างนั้น เสียงเซ่งแซ่หมดไปจริงๆ มิตตกุฎุมพีสบายใจมาก

ฝ่ายโฆสกเศรษฐีเจ้าของทาน เคยได้ยินเสียงเซ่งแซ่ก็ยินดีว่าเป็นเสียงในโรงทานของตน เมื่อไม่ได้ยิน ๒-๓ วัน ประหลาดใจเมื่อพบมิตตกุฎุมพีก็ถาม รู้เรื่องทั้งปวงแล้ว จึงรับสามาไว้ในฐานะธิดาของตน มอบหญิงอื่นจำนวนร้อยให้เป็นบริวาร

ชื่อของสามา ได้มีคำต่อท้ายว่า "วดี" เป็น สามาวดี เพราะเธอให้ล้อมรั้วที่โรงทาน (วดี แปลว่า รั้ว-ว.ศ.)

สามาวดีมีความสุขความเพลิดเพลินอยู่ท่ามกลางบริวารไม่นานนัก ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไปอีก

วันหนึ่ง เธอไปอาบน้ำที่ท่าน้ำกับบริวาร ในงานนักขัตฤกษ์ บังเอิญต้องเดินผ่านทางพระลานหลวง พระเจ้าอุเทนประทับอยู่ที่สีหบัญชร (หน้าต่าง) ทอดพระเนตรเห็นสามาวดีแล้วเกิดปฏิพัทธ์ จึงตรัสถามราชบุรุษว่าเป็นใคร เมื่อทรงทราบว่าเป็นธิดาของโฆสกเศรษฐี จึงทรงส่งพระราชสาส์นไปว่า "ขอให้เศรษฐีมอบธิดาชื่อสามาวดีให้ฉัน"

แต่เศรษฐีไม่ยอมให้ เพราะเกรงลูกสาวจะไปลำบากในวัง และเกรงว่าหากพลาดพลั้งลงอาจมีโทษถึงประหารชีวิต หรือมิฉะนั้นอาจถูกโบยตีโดยพระราชอาญา

พระราชาอุเทนทรงส่งพระราชสาส์นไปถึง ๒ ครั้ง แต่เศรษฐีก็คงยืนกรานอยู่นั่นเอง พระราชาทรงกริ้ว จึงรับสั่งให้จับเศรษฐี และภรรยาคร่าออกนอกเรือนให้ตีตราปิดบ้านใครเข้าไม่ได้

สามาวดีทราบเรื่องเข้า จึงยอมถวายตัวแต่โดยดี เป็นอันว่า พระเจ้าอุเทนได้สามาวดีเป็นพระมเหสีตามพระประสงค์ ตั้งไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี แต่นั้นมานางก็เป็นพระนางสามาวดี

พระเจ้าอุเทนมีพระมเหสีหลายพระองค์ เช่น พระนางวาสุลทัตตา พระราชธิดาของพระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งอุชเชนีนคร และพระนางนาคันทิยาสาวงามแห่งมาคัณทิยาคาม เป็นต้น พระนางแรกไม่มีบทบาทอะไรที่เกี่ยวข้องกับพระนางสามาวดี ส่วนพระนางหลังมีเรื่องเกี่ยวข้องอยู่มาก และเป็นผู้ก่อเหตุให้พระนางสามาวดีถูกเผาทั้งเป็น จึงต้องขอเล่าเรื่องของพระนางไว้ในที่นี้ด้วย

พระนางมาคันทิยาเป็นบุตรีของพราหมณ์ชื่อ มาคันทิยะในแคว้นกุรุ (นิวเดลฮีปัจจุบัน) ปรากฏว่าเป็นคนสวยมากปานเทพอัปสร เมื่ออยู่ในวัยสาวมีคนมาขอกันมาก ล้วนแต่ตระกูลใหญ่ๆ ทั้งนั้น แต่พราหมณ์ผู้เป็นบิดาบอกว่า คนเหล่านั้นไม่เหมาะสมกับบุตรีของตน จึงไม่ยอมให้

วันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุปนิสัยของพราหมณ์มาคันทิยะ และภรรยาว่า หากพระองค์เสด็จไปโปรดก็จะสามารถสำเร็จอนาคามิผลได้ จึงเสด็จไปสู่ที่บูชาไฟของพราหมณ์นั้น พราหมณ์ได้เห็นพระตถาคตผู้ทรงสมบูรณ์ด้วยพระลักษณ์ทุกประการแล้ว คิดว่า "คนอื่นจะเลิศกว่านี้มิได้มี บุรุษผู้นี้สมควรแก่ธิดาของเรา เราจะให้เขาครองเรือนอยู่ด้วยกัน" แต่พระศาสดามิทรงรับและได้เหยียบรอยพระบาทไว้แล้วเสด็จเลี่ยงไปประทับที่อื่น

ท่านกล่าวว่ารอยพระบาทที่พระศาสดาทรงอธิษฐานแล้วเหยียบไว้นั้น ทรงประสงค์ให้บุคคลใดเห็นบุคคลนั้นเท่านั้นจึงจะเห็น รอยพระบาทนั้นจะไม่ลบเพราะช้างเหยียบ ฝนตกหนัก หรือลมพัดแรง

พราหมณ์และภรรยา พร้อมทั้งบุตรีเที่ยวเดินตามหาพระศาสดาแต่ไม่เห็น นางพราหมณ์ได้เห็นรอยพระบาทก่อน ตรวจดูลักษณะพระบาทแล้วกล่าวกับสามีว่า "นี้มิใช่รอยเท้าของผู้ข้องในกามารมณ์" แลแล้วได้กล่าวลักษณะแห่งเท้าว่า

"คนเจ้าราคะ รอยเท้ากระหย่ง (คือเว้ากลาง) คน เจ้าโทสะ รอยเท้าหนักส้น คนเจ้าโมหะ หนักทางปลายนิ้วเท้า รอยเท้าเช่นนี้ เป็นรอยเท้าของคนไม่มีกิเลส"

พราหมณ์เที่ยวเดินตามหาจนพบพระพุทธเจ้า จึงทูลขอให้รับลูกสาวของตนไว้เป็นภรรยา

พระศาสดาตรัสเล่าชีวประวัติของพระองค์ให้พราหมณ์ฟังตั้งแต่ต้นว่า ทรงมีความสุขมาอย่างไร จนเสด็จออกผนวชถูกนางตัณหาราคาอรดียั่วเย้า แต่หาทรงพึงพระทัยในนางเหล่านั้นไม่ แล้วตรัสย้ำว่า

"พราหมณ์เอย! เรามิได้พอใจในเมถุน (การเสพกาม) เพราะได้เห็นนางตัณหา ราคา อรดี ผู้สวยเลิศ ก็ไฉนเล่า เราจักพอใจในธิดาของท่านอันเต็มไปด้วยมูตรและกรีส (อุจจาระ ปัสสาวะ) เราไม่ปรารถนาจะแตะต้องธิดาของท่านแม้ด้วยเท้า" เป็นต้น

พระศาสดาทรงแสดงธรรมอื่นอีก โดยอเนกปริยาย เมื่อจบลงพราหมณ์และพราหมณีได้บรรลุอนาคามิผล ฝ่ายนางมาคันทิยาผูกอาฆาตในพระศาสดาว่า

"สมณะนี้ปากร้ายนัก เมื่อไม่ต้องการเราก็ควรจะบอกเพียงว่า ไม่ต้องการ หรือตอบเลี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งโดยมารยาทอันดีของสุภาพบุรุษ แต่นี่กลับดูหมิ่นเราว่าเต็มไปด้วยอุจจาระ ปัสสาวะ เอาเถอะ เมื่อใด เราได้ภัสราอันพรั่งพร้อมด้วยชาติตระกูล ประเทศ โภคะ และวัยแล้ว เราจักแก้แค้นพระสมณโคดมนี้ให้ได้"

มีปัญหาที่ถามกันอยู่เสมอว่า พระศาสดาตรัสคำเช่นนี้ทำไม? พระองค์ไม่ทรงทราบหรือว่าเมื่อตรัสออกไปแล้ว นางมาคันทิยาจักผูกอาฆาตในพระองค์ พระอรรถกถาจารย์อธิบายไว้ว่า พระศาสดาทรงทราบดี แต่ทรงมุ่งมรรคผลแก่พราหมณ์และพราหมณีทั้งสอง ธรรมดาพระพุทธเจ้าย่อมไม่ทรงคำนึงว่าตรัสออกไปแล้วใครจะชอบหรือไม่ชอบ แต่ทรงมุ่งประโยชน์เป็นที่ตั้ง ใครจะอาฆาตก็เป็นเรื่องของใครคนนั้น พระวาจาที่พระองค์ตรัสนั้นต้องจริงและเป็นประโยชน์

ฝ่ายพราหมณ์ และพราหมณี สำเร็จ อนาคามิผลแล้ว พามาคันทิยา บุตรีไปฝากกับจูฬมาคันทิยะผู้เป็นอา แล้วออกบวชในสำนักพระศาสดา ไม่นานนักก็ได้สำเร็จอรหัตตผล

ฝ่ายจูฬมาคันทิยะ คิดว่าหลานของตนไม่สมควรแก่คนต่ำ จึงนำไปสู่โกสัมพี ถวายแก่พระเจ้าอุเทน พระเจ้าอุเทนทรงรับไว้และแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งอัครมเหสีมีบริวาร ๕๐๐

ขณะที่พระนางมาคันทิยา บุตรีของพราหมณ์ชื่อ มาคันทิยะในแคว้นกุรุ (ผู้ซึ่งผูกพยาบาทพระศาสดาที่ทรงปฏิเสธตน) ได้เป็นอัครมเหสีที่โปรดปรานของพระเจ้าอุเทนอยู่นั้น พระศาสดาก็เสด็จมาโกสัมพี

พระนางมาคันทิยาได้โอกาส จึงจ้างคนให้เที่ยวตามด่าพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ จนพระอานนท์ทนไม่ไหวทูลให้เสด็จไปเมืองอื่น แต่พระศาสดามิได้ทรงหวั่นไหว ตรัสกับพระอานนท์ว่า ถ้าไปไหนมีคนด่าแล้วหนี ก็ต้องหนีกันอยู่เรื่อยไป ในที่สุดจะไม่มีแผ่นดินอยู่ พระศาสดาทรงเตือนและทรงยืนยันว่า

"เราจักอดทนต่อถ้อยคำล่วงเกินของผู้อื่น ดังช้างศึกในสงคราม อดทนต่อลูกศรซึ่งมาจากทิศทั้ง ๔ เพราะคนส่วนมากเป็นคนชั่ว บุคคลย่อมนำสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม สัตว์ที่ฝึกแล้วเป็นสัตว์ประเสริฐฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น คนที่ฝึกให้อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้อื่นได้จัดว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุด"

พระศาสดาตรัสแก่พระอานนท์ว่า เรื่องที่เกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะสงบลงภายในวันที่ ๗ จะไม่เกินนั้น เพราะฉะนั้นอย่าได้วิตกไปเลย

ฝ่ายพระนางมาคันทิยาทราบว่าการจ้างคนให้เที่ยวตามด่าพระพุทธเจ้านั้น ไม่สามารถให้พระองค์เสด็จออกจากเมืองโกสัมพีได้ จึงคิดว่า พระนางสามาวดีเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ คอยอุปถัมภ์บำรุงอยู่ พระพุทธเจ้าจึงอยู่ได้ หากกำจัดพระนางสามาวดีเสีย พระพุทธเจ้าขาดผู้อุปถัมภ์บำรุงก็จะเสด็จออกจากเมืองโกสัมพีไปเอง

พระนางหาเรื่องจะใส่ความ พระนางสามาวดีว่าคิดนอกพระทัยพระเจ้าอุเทน เอาพระทัยไปฝักใฝ่กับพระพุทธเจ้า แต่พระเจ้าอุเทนทรงเฉยเสีย

ตามปกติ พระราชาจะประทับที่ปราสาทของพระนางทั้ง ๓ คือ พระนางสามาวดี พระนางวาสุลทัตตา และพระนางมาคันทิยา แห่งละ ๗ วัน พระนางมาคันทิยาทราบว่าอีกวันสองวันพระราชาจักเสด็จไปปราสาทของพระนางสามาวดี จึงสั่งข่าวให้อาว์ว่า ให้นำงูตัวหนึ่งมาให้ และให้ถอนเขี้ยวออกให้หมดเสียก่อน พระนางได้งูมาแล้วเอางูใส่ไว้ในช่องหนึ่งในรางพิณแล้วเอากล่องดอกไม้อุดเสีย งูนอนอยู่ในรางพิณนั้น ๒-๓ วัน

ในวันที่พระราชาจะเสด็จสู่ปราสาทของพระนางสามาวดี พระนางมาคันทิยาทูลว่า "มหาราช! หม่อมฉันสุบินร้าย พระองค์ไม่ควรเสด็จไปที่นั่น" แต่พระราชาไม่ทรงเชื่อ พระนางทูลถึง ๓ ครั้ง เมื่อราชาทรงยืนยันอยู่ พระนางก็ขอตามเสด็จด้วย พระเจ้าอุเทนรับสั่งให้กลับก็ไม่ยอมกลับ ทรงอ้างว่า ไม่ทราบจะมีเหตุร้ายอะไรเกิดขึ้นที่ตามเสด็จมาก็เพราะทรงเป็นห่วง

พระราชเสด็จไปไหนก็ทรงนำพิณคู่พระทัยไปด้วย ทรงวางไว้เบื้องบนพระเศียรแล้วบรรทม พระนางมาคันทิยาเสด็จกลับไปกลับมา อยู่ในห้องบรรทม เมื่อได้โอกาสก็นำเอากลุ่มดอกไม้ในรางพิณออก งูซึ่งอดอาหารมา ๒-๓ วัน แล้วเลื้อยออกมาแผ่พังพานอยู่บนพระแท่นบรรทม พระนางมาคันทิยาจึงได้ทีใส่ความพระนางสามาวดีว่าคิดปลงพระชนม์พระองค์

พระราชาทรงพิโรธมาก เพราะหลายครั้งหลายครามาแล้ว แต่ไม่ประจักษ์ชัดเหมือนคราวนี้ ทรงโก่งธนูจะยิงพระนางสามาวดีและหญิงบริวารเสียให้สิ้น

พระนางสามาวดีให้โอวาทแก่บริวารของตนว่า "ที่พึ่งอย่างอื่นไม่มีอีกแล้ว ขอพวกเราจงแผ่เมตตาไปยังพระราชาพระเทวี และในตนให้มีจิตสม่ำเสมอ อย่าได้โกรธใครเลย"

ธนูของพระเจ้าอุเทนนั้นร้ายแรงนัก ว่าสามารถทำลายแม้ศิลาแท่งทึบได้ ทรงปล่อยลูกศรอาบยาพิษมุ่งอุรประเทศของพระนางสามาวดี แต่ด้วยอำนาจแห่งเมตตานุภาพ ลูกศรได้หวนกลับมายังพระองค์ มีอาการประหนึ่งว่าจะเจาะหทัยของพระองค์แล้วตกลง

พระราชาทรงดำริว่า ลูกศรไม่มีจิตยังรู้คุณของพระนางสามาวดี ก็เราเป็นผู้มีจิตไฉนจึงไม่รู้คุณของพระนาง ดังนี้แล้วทรงทิ้งธนู ทรงนั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลีอยู่แทบพระบาทของพระนางสามาวดี ขอให้พระนางสามาวดีทรงเป็นที่พึ่งของพระองค์

แต่พระนางทูลว่า ขออย่าได้ทรงถือพระนางเป็นที่พึ่งเลย พระนางถือผู้ใดเป็นที่พึ่ง ขอพระองค์จงถือผู้นั้นเป็นที่พึ่งด้วย ผู้นั้นคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ยอดเยี่ยมไม่มีใครเสมอเหมือน

พระราชาได้ความเลื่อมใสพระศาสดาแล้ว ทรงนิมนต์พระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์เสวยที่พระราชนิเวศน์ ๗ วัน ทรงขอร้องให้พระนางสามาวดีรับพร พระนางจึงทูลขอพรว่า ขอให้อาราธนา พระศาสดาและภิกษุสงฆ์มาเสวยในพระราชวังเป็นเนืองนิตย์ พระนางไม่ต้องการอย่างอื่น พระราชาจึงทูลอาราธนาพระศาสดา แต่พระพุทธองค์ตรัสว่า

"มหาบพิตร! ธรรมดาพระพุทธเจ้าไม่ควรไปเสวยในที่เดียวเป็นประจำ เพราะประชาชนย่อมต้องการให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังบ้านเรือนของเขาบ้าง"

"ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์จงทรงมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของภิกษุรูปใดรูปหนึ่งด้วยเถิด"

พระศาสดา ทรงมอบหมายหน้าที่นั้นให้พระอานนท์ตั้งแต่นั้นมา พระอานนท์ก็พาภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ไปสู่ราชสกุลเป็นเนืองนิตย์ พระนางสามาวดีและบริวารก็ได้ถวายทาน ได้ฟังธรรมอยู่เนืองนิตย์เช่นเดียวกัน

ส่วนพระนางมาคันทิยา มีความคั่งแค้นเพิ่มพูนขึ้น เพราะตนได้ทำสิ่งใดลงไป คาดผลอย่างหนึ่ง แต่ผลอีกอย่างหนึ่งกลับเกิดขึ้น ยิ่งกว่านั้น พระราชายังไปเลื่อมใสในพระสมณโคดมเสียอีก พระนางทรงดำริว่า "คราวนี้ขอเป็นครั้งสุดท้าย สามาวดีเอ๋ย มึงต้องตายอย่างแน่นอน"

พระนางขอร้องให้อาว์มาคันทิยะไปสู่ปราสาทของพระนางสามาวดี เปิดเรือนคลังแล้วเอาผ้าชุบน้ำมันแล้วพันเสาปราสาท ขังหญิงซึ่งมีพระนางสามาวดีเป็นประมุขไว้ในห้องลั่นดานประตูภายนอกเสียแล้ว เผาปราสาท

ขณะนั้นพระเจ้าอุเทน เสด็จสู่พระราชอุทยานเพื่อทรงกีฬาบางอย่าง

พระนางสามาวดี ทอดพระเนตรเห็น นายมาคันทิยะทำเช่นนั้นจึงเสด็จมาถามว่า ทำอะไรกัน? เขาทูลตอบว่า พระราชารับสั่งให้ทำ เพื่อให้พระปราสาทมั่นคง ขอพระนางเสด็จเข้าประทับในห้องเสียเถิด

เมื่อพระนางสามาวดีและบริวารเสด็จเข้าห้องแล้ว เขาก็ลั่นดานประตูภายนอกหมด แล้วจุดไฟเผาปราสาท พระนางสามาวดีทรงทราบว่าจะถูกเผาทั้งเป็น ดังนั้น จึงให้โอวาทแก่หญิงบริวารว่า

"เมื่อพวกเราท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏอันยาวนานนี้ เคยถูกไฟเผามาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แม้พุทธญาณก็กำหนดได้ยาก ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด"

หญิงเหล่านั้น, ขณะที่พระตำหนักถูกไฟไหม้อยู่ ก็มนสิการเวทนาปริคคหกัมมฐาน (กำหนดเวทนา) บางพวกได้บรรลุโสดาบัน บางพวกเป็นสกทาคามี บางพวกเป็นอนาคามี

สมจริงดังที่พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้ว่า

"ครั้งนั้นแลภิกษุเป็นอันมาก กลับจากบิณฑบาต ฉันอาหารแล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ภายในบุรีของพระเจ้าอุเทนถูกไฟไหม้ หญิง ๕๐๐ มีพระนางสามาวดีเป็นประมุขได้ทำลายกิริยา (ตาย) แล้ว สัมปรายภพของอุบาสิกาเหล่านั้นเป็นอย่างไรหนอ?" พระศาสดาตรัสว่า "อุบาสิกาเหล่านั้นที่เป็นโสดาบันก็มี เป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี อุบาสิกาเหล่านั้น ทำกาละอย่างไม่ไร้ผล"

พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทานว่า

"โลกมีความหลงเป็นเครื่องผูกพัน จึงปรากฏให้เห็นเสมือนควรแก่ความยึดมั่นถือมั่น คนพาลมีอุปธิ คือกิเลสเป็นเครื่องผูกไว้ ถูกความมืดแวดล้อม จึงมองเห็นสิ่งต่างๆ ว่าเที่ยง แต่ความกังวลย่อมไม่มีแก่ผู้เห็นแจ้ง"

พระศาสดาทรงแสดงธรรมต่อไปว่า "สัตว์ที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏที่ไม่ประมาท ทำบุญกรรมอยู่เป็นนิตย์ก็มี ที่ประมาททำบาปกรรมอยู่เนืองๆ ก็มี เพราะฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงเสวยสุขบ้างทุกข์บ้าง"

พระราชาทรงทราบข่าวเรื่องพระตำหนักของพระนางสามาวดีถูกไฟไหม้รีบเสด็จมา แต่ไม่ทันการณ์เสียแล้ว ทรงโทมนัสอย่างลึกซึ้ง ทรงระลึกถึงคุณงามความดีของพระนางสามาวดีแล้ว ความโศกสลดได้กินลึกลงไปในหทัยของพระองค์ ทรงพิจารณาเหตุผลแล้ว แน่พระทัยว่า การครั้งนี้ต้องเป็นการกระทำของพระนางมาคันทิยา แต่หากจะถามตรงๆ พระนางคงไม่รับ จำต้องออกอุบายถาม จึงตรัสกับอำมาตย์ซึ่งแวดล้อมอยู่ว่า

"เมื่อก่อนนี้เรานั่งนอนหาเป็นสุขไม่ คอยระแวงแต่พระนางสามาวดี เพราะเธอคอยหาช่องทำอันตรายเราอยู่เป็นนิตย์ บัดนี้พระนางนั้นสิ้นพระชนม์แล้ว เป็นความสุขของเราจริงหนอ ผู้ทำกรรมนี้คงจักมีความรักในเราอย่างหนักแน่น ใครหนอทำกรรมนี้"

ขณะนั้นพระนางมาคันทิยาเฝ้าอยู่ เห็นเป็นโอกาสเช่นนั้น จึงทูลขึ้น

"ข้าแต่พระองค์! คนอื่นใครเล่าจักจงรักภักดีต่อพระองค์เท่าหม่อมฉัน กรรมนี้อันหม่อมฉันทำแล้วโดยสั่งอาให้ทำ"

พระราชาทรงทำทีเป็นพอพระทัย รับสั่งว่าจะพระราชทานพรให้พระนางและหมู่ญาติ ขอให้พระนางสั่งหมู่ญาติเข้ามาเฝ้าด้วย พระนางมาคันทิยาได้สั่งหมู่ญาติเข้ามา พระราชาให้ทำการต้อนรับญาติเหล่านั้นด้วยการทำสักการะพระราชทานของเป็นอันมากให้เป็นบำเหน็จความดีความชอบของพระนางมาคันทิยา

คราทีนั้นคนที่มิใช่ญาติก็ให้สินจ้างรางวัลแก่ญาติของพระนางมาคันทิยา ขอให้รับตนเข้าเป็นญาติด้วย พากันมามากมาย

พระราชารับสั่งให้จับคนเหล่านั้นมัดไว้ ให้ขุดหลุมลึกประมาณสะดือ ที่พระลานหลวง ให้ญาติของพระนางมาคันทิยายืนในหลุม เอาดินร่วนกลบ เกลี่ยฟางไว้ปากหลุมแล้วจุดไฟเผา พอไฟไหม้หนังแล้ว รับสั่งให้เอาไถเหล็กไถให้เป็นท่อนเล็กท่อนน้อย ส่วนพระนางมาคันทิยานั้น พระราชารับสั่งให้เอาลงหลุมฝังเหมือนญาติ แต่ให้เชือดเฉือนเนื้อล่ำทอดในกระทะแล้วบังคับให้เสวย สิ้นพระชนม์ด้วยอาการอันน่าสังเวชยิ่ง

วันหนึ่งภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า พระนางสามาวดีและบริวารสิ้นพระชนม์ด้วยลักษณาการอันไม่สมควร เพราะพระนางเป็นผู้มีศรัทธา มีศีลเห็นปานนั้น ไม่ควรสิ้นพระชนม์อย่างนั้นเลย

พระศาสดาเสด็จมา ตรัสว่า พระนางสามาวดีสิ้นพระชนม์ไม่สมควรแก่กรรมในบัดนี้ แต่สมควรแก่กรรมในอดีตตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า ในอดีตกาล หญิง ๕๐๐ มีพระนางสามาวดีนี่แหละเป็นประมุข บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์อยู่ในวังของพระเจ้าพรหมทัต เมืองพาราณสี วันหนึ่งเมื่อฉันเสร็จแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้า ๗ องค์ไปสู่ป่าหิมพานต์ อีกองค์หนึ่งนั่งเข้าฌานอยู่ในที่อันรกด้วยหญ้าริมแม่น้ำ

พระราชาพาหญิงเหล่านั้นไปเล่นน้ำในแม่น้ำ หญิงเหล่านั้นเล่นน้ำอยู่แทบทั้งวัน เมื่อขึ้นจากน้ำก็รู้สึกหนาว ต้องการก่อไฟผิง มองไปเห็นกอหญ้าจึงจุดไฟ ล้อมกอหญ้าผิงอยู่พอหญ้ายุบ แลเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงร้องขึ้นมา "พวกเราแย่แล้วๆ พระปัจเจกพุทธเจ้าถูกไฟคลอก พระราชาทรงทราบจักลงโทษพวกเราอย่างหนัก พวกเราจงเผาท่านให้ไหม้ให้หมด" ดังนี้แล้ว ช่วยกันหาฟืนมาสุมแล้วเผาพระปัจเจกพุทธเจ้า สำคัญว่าท่านต้องถูกไหม้หมดอย่างแน่นอน จึงชวนกันหลีกไป

พอวันที่ ๗ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ลุกไปอย่างสบาย เพราะธรรมดามีอยู่ว่า ขณะที่ท่านอยู่ในสมาบัตินั้น จะเอาฟืนสัก ๑,๐๐๐ เล่มเกวียนมาเผาก็ไม่สามารถให้สรีระของท่านอุ่นได้

หญิงเหล่านั้นหมกไหม้อยู่ในนรกหลายพันปี เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ก็ถูกไฟคลอกตายมานับจำนวนร้อยชาติแล้ว เพราะเศษกรรมที่เหลือ

ต่อมาอีกวันหนึ่งภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาเกี่ยวกับเรื่องพระนางสามาวดี และเรื่องพระนางมาคันทิยาว่า หญิงสองพวกนี้ใครชื่อว่าเป็นอยู่ ใครชื่อว่าตายแล้ว

พระศาสดาเสด็จมา ตรัสว่า "ผู้ประมาทชื่อว่าผู้ตาย ส่วนผู้ไม่ประมาทแม้ตายแล้วก็ชื่อว่า ไม่ตาย เพราะฉะนั้น พระนางมาคันทิยาชื่อว่าเป็นผู้ตาย ส่วนพระนางสามาวดีเป็นผู้ไม่ตาย"