#echo banner="" อุปาทาน วศิน อินทสระ/

อุปาทาน

วศิน อินทสระ

โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 007390 - โดยคุณ : mayrin [ 13 ธ.ค. 2545 ]

เนื้อความ :

โดยทั่วไปชีวิตมนุษย์เต็มไปด้วยความยึดมั่น เร่าร้อนอยู่ด้วยความต้องการอันไม่มีขอบเขตไม่มีที่สิ้นสุด ถูกความอยากเผาลนให้เร่าร้อนอยู่ภายใน แม้สิ่งที่เขาเข้าใจว่าเป็นความสุขหรือความสนุกสนานเพลิดเพลิน ก็มีความทุกข์เจือปนอยู่ แต่มนุษย์ก็ยังต้องการ

วัตถุแห่งความยึดของบุคคลนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ๔ ประการ เรียกว่า อุปทาน

๑. กามุปาทาน  ความยึดมั่นในกาม

๒. ทิฏฐุปาทาน  ความยึดมั่นในทิฐิ

๓. สีลัพพตุปาทาน  ความยึดมั่นในศีลและพรตหรือพิธีรีตองต่าง ๆ

๔. อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นในตัวตน

๑. กามุปาทาน ความยึดมั่นในกาม

กามแปลได้ ๒ อย่าง คือ ความใคร่อย่างหนึ่ง สิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนาอย่างหนึ่ง อย่างหลังท่านเรียกว่าวัตถุกาม อย่างแรกเรียกว่ากิเลสกาม

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจ นั่นเองเป็นวัตถุกาม คือ เป็นที่ตั้งแห่งกามเป็นสิ่งเร้าให้เกิดความใคร่ ส่วนตัว วามใคร่เองท่านเรียกว่ากิเลสกาม

มนุษย์ทั้งหลายได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจครอบงำของกามทั้ง ๒ นี้ อย่างไรเห็น ๆ กันอยู่แล้ว มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายยึดมั่นอยู่ว่า ความสุขของเขาจะมีได้ก็ต้องอาศัยกาม คือต้องได้เห็นรูป ได้ฟังเสียง ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้นรสและได้ถูกต้องสิ่งที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ

ปราศจากสิ่งเหล่านี้เสียแล้วเขาจะมีความสุขไม่ได้ แม้ตัวความใคร่เองซึ่งมีสภาพเป็นสิ่งเร่าร้อนกระวนกระวาย ทำปัญญาให้มืดมน ทำจิตให้ตกต่ำ เขาก็ยังเข้าใจผิดไปว่าเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขของเขา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ เขาไม่เคยได้รับความสุขใดที่เหนือกว่านี้หรือแปลกไปกว่านี้

เช่นความสุขอันเกิดจากความสงบ หรือเกิดจากคุณธรรม เหมือนเด็กที่พอใจแต่ในความสุขอันเกิดจากการเล่นทรายหรือโคลนตม แต่พอเขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาก็เลิกพอใจในความสุขอย่างนั้น แต่พอใจในความสุขที่สะอาดกว่า ประณีตกว่า

เขาจะไปจับต้องทรายหรือโคลนตมก็ด้วยความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเกี่ยวกับการงานเป็นต้น แล้วก็รีบล้างมือ ล้างตัวให้สะอาด

ในทำนองเดียวกัน คนที่จิตใจยังเยาว์ยังไม่ได้รับการพัฒนาทางจิตใจ ย่อมพอใจหมกมุ่นมัวเมาอยู่ในกาม ด้วยความสำคัญผิดและยึดมั่นอยู่ว่า "กามนี้เท่านั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความสุข" แม้ถูกหนามแห่งกามทิ่มแทงเอา ถูกไฟคือกามเผาลนเอาก็ยังไม่รู้สึก

สำคัญผิดไปอีกว่าเป็นเพราะเหตุอื่นและโทษสิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่แท้เป็นเรื่องของความใคร่ในกามคุณของตนเอง เป็นเรื่องความยึดมั่นของตนเอง

ตัวอย่างเช่น ชายหนุ่มรักหญิงสาว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป็นความใคร่ในกามคุณเสียมากกว่าความรักแท้รักบริสุทธิ์ แต่เขายังเข้าใจผิดว่าความรักของเขาบริสุทธิ์ เขารักด้วยต้องการเชยชม รูป เสียง กลิ่น รสและผัสสะทางกายที่จะพึงได้จากหญิงนั้น

แม้จะมีเรื่องคุณธรรมและความเห็นอกเห็นใจเจืออยู่ด้วยก็ตาม ข้อพิสูจน์ว่าเขารักใคร่ด้วยอำนาจกามคุณก็คือ ถ้าหญิงนั้นไปเกี่ยวข้องกับชายอื่นในแง่เสน่หา เขาจะโกรธมาก อาจทำลายชีวิตของหญิงนั้นเสียก็ได้

นี่หรือรักแท้ รักบริสุทธิ์ ความจริงมันคือกามคุณที่เขาพากันเรียกเสียใหม่ว่า ความรัก เพราะความรักของเขาเต็มไปด้วยความยึดมั่น หวงแหน คับแค้น เร่าร้อน ริษยาและทำให้เกิดโทสะง่ายที่สุด ในกรณีที่หญิงสาวรักชายหนุ่มก็เหมือนกัน

ในรายที่แต่งงานกัน จนมีลูกด้วยกันแล้ว ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปรักคนอื่นอีกก็ถือเป็นเรื่องเดือดร้อนมาก ความริษยา ความชิงชัง ความอาฆาตเคียดแค้น เกิดขึ้นอย่างสุดจะพรรณนาได้ จนถึงกับทำร้าย ทุบตีและประหารชีวิตของฝ่ายหนึ่งเสียก็มี

ความเคียดแค้นเหล่านั้น สืบเนื่องมาจากความใคร่ ความยึดมั่นในกาม ข้อพิสูจน์ก็คือในรายที่เรามิได้มีความใคร่ ความยึดมั่นในกามก็ไม่ทำให้เราเดือดร้อนได้ ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะไปทำอะไร อย่างไร กับใครที่ไหน

การทำการแก้แค้น สร้างเวรสร้างกรรมจนเขาเสียชีวิตและตนเองต้องเป็นอาชญากรนั้นเป็นเกียรติยศนักหรือ ? ลูกของตนซึ่งมีพ่อหรือแม่ เป็นอาชญากรนั้นเป็นเกียรติยศนักหรือ ? การต้องไปติดคุกติดตาราง ถึง ๒๐ - ๓๐ ปี นั้นเป็นเกียรติหรือ ?

ถ้ามองชีวิตในระยะยาวจะเห็นว่าไม่ควรทำ เมื่อเหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นก็ควรจะละอุปาทานในกามเสีย และถือเป็นโอกาสปลีกตนออกจากกาม ซึ่งเป็นของร้อน เข้าหาความสงบเย็นในธรรม หรือการบำเพ็ญคุณงามความดีให้สูงขึ้นไปจนใจพ้นจากความยึดมั่นและจะเห็นคุณค่าของการทำอย่างนี้ด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม กามคุณนี่แหละ คือเสน่ห์ของโลก เพราะมันเป็นเหยื่อของโลก (โลกามิส) ทำนองเดียวกับเหยื่อที่ติดอยู่กับเบ็ดหุ้มเบ็ดอยู่ นั้นแหละคือเสน่ห์ของเบ็ด ปราศจากเหยื่อแล้วจะไม่มีปลาตัวใดติดเบ็ด

เพราะเหยื่อปลาจึงติดเบ็ด ได้กินเหยื่อเพียงนิดเดียว กลืนเบ็ดเข้าไปด้วย ปลาโง่จึงถูกพรานเบ็ดลากไปได้ตามปรารถนา และวัดขึ้นบกต้องทุรนทุราย ทุกข์ทรมานไปจนกว่าจะสิ้นชีวิตและเป็นเหยื่อของพรานเบ็ดนั่นเอง

ลองนึกดูเถิดว่าคนในโลกที่พอใจติดเหยื่อของโลกแล้วต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในโลกนี้มีประมาณเท่าใด น่าสงสารเพียงใด น่าช่วยเหลือเพียงใด อย่างน้อยช่วยให้เขาได้รู้ว่าเหยื่อนั้นมีเบ็ดเกี่ยวอยู่ด้วย

ขอให้กินเหยื่อด้วยความระมัดระวัง ถ้าฉลาดขึ้นก็จะกินแต่เหยื่อได้โดยไม่ติดเบ็ด ทำให้พรานเบ็ดต้องเก้อ ยกเบ็ดขึ้นดูบ่อย ๆ เห็นแต่เบ็ด เหยื่อหายไป

แต่จะมีใครสักกี่คนเล่าในโลกนี้ ที่เป็นเช่นปลาฉลาด รอบรู้ และที่ฉลาดขึ้นไปกว่านั้น ก็สามารถรู้ได้ว่าเหยื่ออันใดมีเบ็ดเหยื่ออันใดไม่มีเบ็ด เลือกกินเฉพาะเหยื่อที่ไม่มีเบ็ด ก็จะสามารถรักษาตัวให้ปลอดภัยโดยตลอด

ความกำหนัดในกามเป็นอาสวะ (สิ่งหมักดอง) อย่างหนึ่ง ซึ่งหมักหมมอยู่ในจิตสันดานของสัตว์โลก ยากที่จะละหรือปลดเปลื้องได้ ทั้งนี้เพราะมีความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ คอยเป็นเหยื่อล่อให้หลง เป็นหลุมพรางให้ก้าวขึ้นไป เมื่อติดหล่มคือกามแล้ว ก็ยากที่จะถอนตนขึ้นมาแล้วก้าวให้พ้นไปได้

สำหรับผู้สำเหนียกรู้ถึงโทษของกามแล้วพยายามออกจากกาม แต่ยังออกไม่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เช่นพันธกรณีเกี่ยวกับความรับผิดชอบ หรือกำลังใจยังไม่พอเป็นต้น ก็ไม่น่าวิตก เพราะถึงอย่างไรคนพวกนี้ จะต้องออกไปได้วันหนึ่งเมื่อพันธกรณีสิ้นสุดลง

หรืออบรมจิตและปัญญาจนกำลังใจและกำลังปัญญาเพียงพอแล้ว แต่คนที่ไม่เคยสำเหนียกรู้ถึงโทษของกามเลย ศึกษาเรียนรู้แต่เรื่องคุณของกาม ได้ยินได้ฟังแต่กถาอันเป็นเหตุให้ความกระหายในกามเริงแรงขึ้น มีกิจกรรมอันยั่วยุกามารมณ์อยู่ไม่เว้นวัน

การศึกษา การทำงาน และการเกี่ยวข้องในสังคมล้วนมุ่งเอาความสำเร็จทางกามเป็นผลที่มุ่งหมาย ในฐานะเป็นความสำเร็จของชีวิต  ถ้าอย่างนี้แล้วเขาจะออกจากกามได้อย่างไร คงจะต้องยึดมั่นเอากามารมณ์เป็นจุดหมายปลายทางของชีวิตเป็นแน่แท้

ในขณะที่กำลังแสวงหาอยู่นั้น ดวงจิตของเขาก็จะถูกเฆี่ยนด้วยแส้ คือ ความผิดหวัง ระทมขมขื่น โชกด้วยน้ำตาครั้งแล้วครั้งเล่า ถึงกระนั้น  เขาก็ยังคงกระเสือกกระสน แสวงหากามอยู่นั่นเอง เพราะอานุภาพของกามุปาทาน คือยึดมั่นว่ากามนี่แหละเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขอันแท้จริง

กามในฐานะเป็นบ่วงที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า "กามปาสะ" หรือกามบาสนั้นมีลักษณะคล้องและผูกมัดสัตว์ทั้งหลายไว้ในภพให้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏแห่งกามภพนี้

การผูกมัด มีลักษณะที่ผูกหย่อน ๆ ก็จริง แต่แก้ได้ยากมากทีเดียว ผู้ต้องการแก้จะต้องใช้กำลังใจมาก ใช้กำลังสมาธิอย่างแรง เพราะแก้ไม่ได้ด้วยวิธีธรรมดา เหมือนปมบางอย่างที่แก้ได้ยาก มันยุ่งไปหมด ต้องใช้ดาบฟัน ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกปมชนิดนี้ว่า Gordian Knot* อย่างที่ประเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชทรงทำ

กามคุณในฐานะเป็นพวงดอกไม้ของมาร มารคือสิ่งที่ล้างผลาญคุณความดี และทำให้เสียคนได้ง่าย มารอาศัยพวงดอกไม้ทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัสทางกายนี่แหละเที่ยวยั่วยวนมนุษย์และสัตว์ในกามโลกทั้งมวล ให้หลงเพลิดเพลินเดินเข้าไปสู่หลุมพรางของตนแล้วกักขังห้ำหั่นย่ำยีเอาได้ตามใจปรารถนา

การควบคุมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การทำจิตให้มั่นคงด้วยกำลังสมาธิ และการพัฒนาปัญญาให้รุ่งเรือง จนสามารถมองเห็นโทษของกามคุณอย่างชัดเจนอยู่เสมอ ๆ ทางนี้แหละจะสามารถเอาชนะกามกิเลสได้ไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดในกามโลกนี้อีก

ความเร่าร้อนทางใจอันมีกามคุณเป็นเหตุนั้น ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในที่ทั่วไป ทั้งที่เกิดขึ้นแก่ตนเองและเกิดแก่ผู้อื่น น่าจะเป็นสังเวควัตถุ (เรื่องชวนสังเวชสลดจิต) เพื่อถอนใจออกไปจากกามุปาทานได้

สำหรับผู้มีปัญญาจักษุดำเนินชีวิตอยู่ในทางสว่าง แต่สำหรับผู้ไร้ปัญญาจักษุเดินอยู่ในทางมืดและไร้ประสบกราณ์ก็คงมองไม่เห็นอะไรอยู่นั่นเอง

---------------------------------

* เล่ากันว่าเป็นปมที่กษัตริย์กอรดิอุส (Gordius) แห่งไฟรเกีย (Phrygia) ผูกไว้ในสมัยโบราณ กล่าวกันว่าใครแก้ปมนี้ได้จะได้เป็นใหญ่ในเอเชีย อเลกซานเดอร์มหาราช ทรงใช้ดาบของพระองค์ตัดปมนี้

ดังนั้นคำว่า "ตัดกอร์เดียน น้อท" จึงกลายเป็นสำนวนหมายความว่า การแก้ปัญหายุ่งยากโดยฉับพลันด้วยการใช้กำลัง  อธิบายนี้จากพจนานุกรมอังกฤษฉบับของ A.S. Hornby หน้า ๕๓๙

---------------------------------

ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นในทิฐิ

วัตถุแห่งความยึดมั่นอีกประการหนึ่งของคนทั่วไปคือ ทิฐิ ความเห็น หรือ ทฤษฎี โดยที่มักจะมองปัญหาเพียงด้านเดียว เห็นเพียงด้านเดียว แล้วเหมาเอาด้วยความเขลาว่าทั้งหมด เป็นอย่างนั้น เช่นเรื่องที่กล่าวถึงพวกตาบอดคลำช้าง ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ ข้อ ๑๓๘ เล่าว่า

พระราชาในนครสาวัตถี รับสั่งให้ราชบุรุษนำเอาพวกตาบอดแต่กำเนิดมารวมกันที่หน้าพระลานหลวงแล้วให้คลำช้าง แต่ไม่ให้คลำทั้งตัว ให้คลำเพียงคนละส่วนเท่านั้น เมื่อเสร็จแล้วจึงถามว่าช้างเหมือนอะไร คนที่คลำถูกหาง ก็บอกว่าช้างเหมือนไม้กวาด

คนที่คลำถูกขาว่าช้างเหมือนเสาเรือน เป็นต้น ทุ่มเถียงกันด้วยเสียงดังว่าคำของเราเท่านั้นจริง ของผู้อื่นเท็จ โกรธกันจนถึงกับจะชกกัน พระราชาประทับทอดพระเนตร ทรงพระสรวลด้วยความพอพระทัยแล้วให้นำคนตาบอดพวกนั้นออกไป

พระพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่องนี้ ให้ภิกษุทั้งหลายฟังเมื่อภิกษุทั้งหลายมากราบทูลว่า ออกไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ได้ยินพวกสมณะเจ้าลัทธิทั้งหลายเถียงกันด้วยเสียงดังว่าทิฐิ หรือทฤษฎีของเขาเท่านั้นถูกต้อง ของคนอื่นไม่เป็นจริง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ศาสดาคณาจารย์เหล่านั้นล้วนแต่มองเห็นเพียงด้านเดียวแล้วยึดมั่นทิฐิของตน วิวาทกันเหมือนพวกตาบอดคลำช้างฉะนั้น

พวกศาสดาคณาจารย์ทั้งหลายในสมัยนั้น ส่วนมากใช้วิธีเก็งความจริงทางปรัชญา (Philosophical Speculation) แล้วยืนยันทฤษฎีของตนโดยมิได้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง จึงมองปัญหาแคบด้านเดียว มืดมัวและเดา แต่ถึงกระนั้นก็ยังยึดมั่นทฤษฎีของตนไว้ด้วยเขลา

เป็นการปิดกั้นตนเองมิให้ก้าวไปข้างหน้า และขังตัวเองอยู่ในห้องแคบ ๆ คือ ทิฐิของตน ถ้าเป็นทิฐิอันชั่วช้าลามกก็จะยิ่งเป็นโทษใหญ่  ไม่เป็นโทษเพียงแก่ตนเองเท่านั้น แต่จะเป็นโทษแก่ผู้เชื่อตามถือตามและปฏิบัติตามอีกเป็นอันมาก

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ทรงมองไม่เห็นสิ่งใดมีโทษมากเท่ามิจฉาทิฐิ คนผู้เป็นมิจฉาทิฐิเกิดมาเพื่อให้โทษแก่โลก ทรงมองไม่เห็นสิ่งใดที่มีคุณมากเท่าสัมมาทิฐิ ผู้เป็นสัมมาทิฐิ เกิดมาเพื่อให้ประโยชน์แก่โลก เพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มาก

        ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาบางคน มองพระธรรมของพระพุทธเจ้า เพียงด้านเดียวเหมือนกัน แล้วติดอยู่เฉพาะในส่วนนั้น ปฏิเสธส่วนอื่น ๆ เสียสิ้น ทั้ง ๆ ที่ตามความเป็นจริงแล้วพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เป็นอเนกปริยาย (Many-sided Views)

เพื่อประโยชน์แก่บุคคลทุกระดับชั้นตามภูมิปัญญาของเขาเท่าที่เขาพอจะรู้ได้และนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ แก่ตนตามสมควรแก่ฐานะ

แต่นักการศึกษาสมัยใหม่ บางคนสำคัญตนว่าเป็นผู้เข้าใจพระพุทธศาสนาดี ถูกต้อง ตรง เลื่อมใสพระพุทธวจนะสูตรใดสูตรหนึ่ง ตอนใดตอนหนึ่ง แล้วปฏิเสธส่วนอื่นซึ่งมิใช่ส่วนนั้น ทั้งหมดว่ามิใช่พุทธศาสนา

บางคนเลื่อมใสกาลามสูตร หรือ เกสปุตตสูตร อันว่าด้วยเรื่องความเชื่อ ว่าไม่ควรรับเชื่อเพราะอย่างนั้น ๆ ๑๐ ประการ รวมทั้งไม่ควรเชื่อในฐานะที่ผู้นั้น เป็นครูของเราด้วย ในที่สุดก็ไม่เชื่ออะไรเลย

เขามิได้เอื้อเฟื้อต่อคำสอนอื่น ๆ ของพระพุทธองค์ที่สอนให้มีศรัทธา เชื่อสิ่งที่ ควรเชื่อ บุคคลที่ควรเชื่อ เขามิได้นึกว่ากาลามสูตรนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงเป็นกรณีพิเศษเฉพาะคราวเท่านั้น แก่บุคคลกลุ่มนั้นเท่านั้น

บางคนไปติดจูฬมาลุงกโยวาทสูตร ที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงแก้ปัญหาเรื่องโลก และเรื่องชีวิตวิญญาณหลังจากตายแล้วเป็นอย่างไร แล้วยืนยันมั่นคงโดยอ้างพระสูตรนี้อยู่สูตรเดียว ว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงสนพระทัย เรื่องตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด

แต่ที่ทรงแสดงไว้ในที่อื่น มากมายเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิด เขาไม่สนใจไม่รับฟัง ฝังใจอยู่แต่พระสูตรนี้เท่านั้น ยึดมั่นด้วยทิฐิว่านี้เท่านั้นถูกต้อง อย่างอื่นเหลวทั้งสิ้น (อิทเมว สจฺจํ โมฆมญฺญํ)

 อันพระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า สัจจาภินิเวส จัดเป็นคันถะ เครื่องผูกมัดอย่างหนึ่งในบรรดาคันถะ ๔ ประการกล่าวคือ อภิชฌา ความโลภอยากได้ของผู้อื่น พยาบาท การปองร้ายผู้อื่น สีลัพพตปรามาส ความยึดมั่นในวัตรอันไร้เหตุผลขาดปัญญา

และอิทังสัจจาภินิเวส ความยึดมั่นว่านี้เท่านั้นจริงอย่างอื่นเหลวไหลทั้งสิ้น อันเป็นทรรศนะที่แคบ มืดมน ทำให้ร้อนกายร้อนใจเหมือนคนขุดบ่อลึกแต่แคบ ยิ่งลึกยิ่งมืดและร้อนเมื่อลงไปอยู่ในนั้น

กล่าวโดยทั่วไป ในวงสมาคมใครก็ตามที่เอาแต่ใจตัว ยึดมั่นแต่ความเห็นของตน ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นบ้างนั้นมักเป็นที่เบื่อหน่ายของเพื่อนฝูง เป็นที่ระอาของผู้หวังดี เรียกกันว่าเป็นคนดื้อหัวรั้น มีทิฐิมานะจัด ไม่มีคนนิยม

ขาดเพื่อนเห็นใจและเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข  ใครไปแตะต้องความคิดเห็นของเขาไม่ได้ ถ้าทิฐิขอเขาเป็นมิจฉาทิฐิด้วยแล้วก็จะดึงเขาดิ่งลงไปในห้วงเหวแห่งหายนะอย่างไม่ต้องสงสัย

ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่ยึดมั่นในทิฐิของตนฝ่ายเดียว หมั่นปรึกษาไต่ถามท่านผู้รู้ ผู้ชำนาญ เคยเดินทางมาก่อน เมื่อตนและผู้ใหญ่เห็นชอบแล้วจึงทำลงไปด้วยความมั่นใจ ได้รับการสนับสนุน หากจะมีผิดพลาดบ้างก็ได้รับความเห็นใจในฐานะเป็นสิ่งสุดวิสัย

การปรึกษาหารือกับผู้รู้ทำให้ได้ทรรศนะที่กว้างไกล ท่านอาจชี้ให้เห็นสิ่งที่เรายังมองไม่เห็น ชี้ข้อบกพร่องช่องโหว่ที่เรามิได้เฉลียวใจ ท่านอาจชี้ให้เราเห็นปัญหาหลายด้าน ถ้าปรึกษากับเพื่อนฝูงที่มีสติและปัญญาเท่า ๆ กัน ก็เหมือนไม่ได้ปรึกษา

แต่ถึงกระนั้นถ้าถามความเห็นเขาบ้าง เขาอาจมีคำพูดบางคำที่สะกิดใจเราทำให้เรานึกบางสิ่งบางอย่างได้ อาจกลับตัวได้ หรือ ล้มเลิกทิฐิอันไม่ดีเสีย อย่างไรก็ตาม ไม่ควรตามความคิดเห็นของผู้อื่นเสียจนขาดความเป็นตัวของตัวเอง

คลอนแคลน ไม่มั่นคง ถูกชักจูงได้ง่าย ขาดเหตุผลอันพอตรองเห็นได้ด้วยตนเอง หรือขาดหลักอันเป็นที่พักพิงของตนเอง กลายเป็นคนเชื่อง่าย ขาดเหตุผล คอยแต่ตามเสียงเขาว่าเสียเรื่อยไป

ทางที่ดีที่สุดก็คือเดินทางสายกลาง มีหลักของตนเองพอสมควร และฟังความคิดเห็นของผู้อื่นบ้าง ยืดหยุ่นในสิ่งที่ควรยืดหยุ่น ยืนหยัดด้วยความเชื่อมั่นในสิ่งที่ควรยืนหยัด ขณะเดียวกันก็ควรพิจารณาความจริงอยู่เสมอ เมื่อความจริงเปลี่ยนไปแล้วก็ควรจะเปลี่ยนความคิดเห็น หรือความปักใจนั้นเสียด้วย

เป็นบุคคลประเภทสัจจานุโลม ตัวอย่างเช่น เราเคยเห็นบุคคลผู้หนึ่งเป็นคนชั่ว เพราะเขาทำชั่วนานาประการทำให้เราปักใจว่าเขาเป็นคนเลว แต่ต่อมาเขากลับตัวเป็นคนดี ทำดี พูดดี คิดดี เราก็เห็น คนอื่นก็เห็น มีข้อพิสูจน์หลายประการว่า เขาเป็นคนดีแล้ว

เราก็ควรถอนความปักใจเดิมว่าเขาเป็นคนเลว   มามีความเห็นตามเป็นจริงว่า เขาเป็นคนดี อย่างนี้เรียกว่า สัจจานุโลม ในทางตรงกันข้ามเหมือนกัน คนที่เคยดีต่อมาอาจเป็นคนชั่วได้ เมื่อเหตุปัจจัยปรุงให้เขาชั่ว

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยงอยู่อย่างนั้น จึงไม่ควรยึดมั่นในความเห็นจนเกินไป โดยเฉพาะความยึดมั่นในทิฐิที่ผิด และชักชวนผู้อื่นให้มีทิฐิเช่นนั้นด้วยย่อมมีโทษมาก

๓. สีลัพพตุปาทาน - ความยึดมั่นในศีลและพรต

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ โดยพระราชวรมุนี (ปยุตฺโต ป. ธ. ๙ พธบ.)  ได้ให้ความหมายไว้ว่า "สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลและพรต คือหลักความประพฤติ ข้อปฏิบัติ แบบแผน ระเบียบวิธี ขนบธรรมเนียมประเพณี ลัทธิพิธีต่าง ๆ

ที่ถือว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ โดยสักว่าทำสืบ ๆ กันมา หรือปฏิบัติตาม ๆ กันไปอย่างงมงาย หรือ โดยนิยมว่าขลัง ศักดิ์สิทธิ์ มิได้เป็นไปด้วยความรู้ ความเข้าใจตามหลักความสัมพันธ์แห่งเหตุและผล"

ศีลหรือหลักของความประพฤติ และวัตรหรือพรตนั้น ท่านผู้รู้ บัญญัติขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ความเป็นไปของมนุษย์ และประโยชน์ที่มนุษย์จะพึงได้จากข้อบัญญัตินั้น ๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสมแก่สังคมนั้น ในกาละนั้นและเทศะนั้น

เมื่อกาลเวลาล่วงไป สภาพแวดล้อมของมนุษย์เปลี่ยนไป สถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนไป ความจำเป็นในการที่จะรักษาหลักแห่งความประพฤติลัทธิประเพณี ขนบธรรมเนียมบางประการก็หมดไปด้วย

ผู้ใดยังยึดมั่นในหลักเดิมอยู่ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแก้ไขยืดหยุ่นให้เหมาะสม ผู้นั้นย่อมประสบความลำบากเปล่า กลายเป็นถืออย่างงมงายไร้เหตุผล ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการถือเช่นนั้น

อันที่จริงเราควรรู้และศึกษาเรื่องเหล่านั้นในฐานะเป็นร่องรอยของชีวิต ไม่ใช่เอายึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานว่าเคยทำกันอย่างนี้ และต้องทำกันต่อไป

ในอดีตสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงเล็งเห็นว่า มีลัทธิธรรมเนียมพราหมณ์ เป็นอันมากที่เป็นไปเพื่อการเบียดเบียน เช่นการฆ่าสัตว์บูชายัญ ที่เป็นยัญใหญ่ถึงกับฆ่าเด็กหรือฆ่ากษัตริย์ก็เคยมี

ทรงปฏิเสธเช่นนั้น ทรงสั่งสอนเสียใหม่ให้บูชายัญโดยการสงเคราะห์ เอื้อเฟื้อกัน ช่วยเหลือชีวิตสัตว์แทนการฆ่าสัตว์ ผู้มีปัญญาจักษุพอตรองเห็นเหตุผลได้ก็เลิกการบูชายัญอย่างเก่า มาบูชายัญอย่างใหม่ ตามแบบของพระพุทธองค์ คือเมตตาปราณีต่อสัตว์

การประพฤติวัตรหรือพรตอันเป็นไป เพื่อเบียดเบียนตนเองของนักบวชสมัยนั้น ก็มีมากเช่น การเปลือยกาย การคลุกตัวด้วยขี้เถ้าตลอดเวลา การลงคลาน ๔ ขาอย่างสุนัข การยืนขาเดียว การนอนบนหนาม ฯลฯ ทรงเห็นว่าวัตรเช่นนั้น ไม่มีประโยชน์ เป็นทุกข์เปล่า ๆ ไม่มีผลดีแก่ใคร

ทรงสอนให้ประพฤติวัตรอย่างกลาง ๆ ไม่หย่อนเกินไป ไม่ตึงเกินไป เช่น ทรงอนุญาตการนุ่งห่มเพียงเพื่อปกปิดความละอายและป้องกันหนาวร้อน อนุญาตที่อยู่อาศัยเพียงพอกันแดดกันฝน อนุญาตอาหารเพียงพอเลี้ยงชีพไปได้ และฝึกจิตให้สะอาดผ่องใส

ทรงสอนอย่างตรงไปตรงมามีเหตุผล เป็นประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม

มองให้ใกล้เข้ามาถึงสมัยปัจจุบัน สิ่งที่เรียกว่า ลีลัพพตุปรามาส หรือสีลัพพตุปาทาน นั้นมีอยู่เป็นอันมาก เช่น การนับถือพระรัตนตรัยนั้น จุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็เพื่อการถ่ายแบบในทางที่ดี

การมีพระรูปของพระพุทธเจ้าไว้สักการบูชาก็เพื่อเอาวัตถุ มาช่วยจิตใจ คือจะได้น้อมระลึกถึงพระคุณของพระองค์ว่าทรงมีพระคุณอย่างนั้น ๆ เช่น ทรงมีพระมหากรุณาเพียงไร มีความบริสุทธิ์เพียงไร มีพระปัญญาอย่างไร

แล้วน้อมเอาพระคุณเหล่านั้นมาสู่ตน หรืออบรมตนให้มีคุณธรรมคุณสมบัติอย่างนั้นบ้าง ถ้าเคารพนับถือไปในแง่ขลังและศักดิ์สิทธิ์ย่อมไม่พ้นสีลัพพตุปาทาน

พระสงฆ์บางรูปมีวัตรปฏิบัติดี ปฏิปทาน่าเลื่อมใสและมุ่งการทำความเพียรทางจิตเพี่อพ้นทุกข์เป็นจุดมุ่งหมาย ท่านจึงมีอำนาจจิตสูงด้วยกำลังของสมาธิและเฉลียวฉลาดด้วยกำลังของวิปัสสนาปัญญา คนเคารพเลื่อมใสมาก

อะไร ๆ ที่เกี่ยวกับท่านก็ดูจะขลังและศักดิ์สิทธิ์ไปเสียหมด ลูกศิษย์ใกล้ชิดก็สร้างเหรียญของท่านบ้าง ทำรูปแบบเหมือนของท่านบ้าง ครั้งแรก ๆอาจทำเพื่อเคารพบูชา หรือเป็นเครื่องระลึกประจำตนด้วยความเคารพเลื่อมใส

ต่อมาเมื่อมีคนเลื่อมใสมากขึ้น ก็เริ่มทำเพื่อหารายได้สร้างนั่นสร้างนี่ ใคร ๆ ก็พากันไปพึ่งบารมีของท่านให้วุ่นวายกันไปหมด พวกมักได้เห็นเป็นทางได้โดยสะดวก อาจแฝงตัวเข้ามาทำมาหากินกับเหรียญหรือรูปปั้น และรูปเหมือนของท่าน

เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ก็ไปรบกวนท่านกัน จนท่านไม่มีเวลาเป็นของท่านเองบ้าง เป็นการรบกวนความสงบสุขของท่านในปัจจุบัน อย่างที่พระพุทธองค์ตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย ลาภ สักการะ และชื่อเสียง ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากเครื่องข้อง อันประเสริฐยิ่ง ภิกษุทั้งหลาย (อย่าว่าแต่ภิกษุปุถุชนเลย) ลาภ สักการะ และชื่อเสียงนี้ เป็นอันตรายแม้แก่ภิกษุผู้เป็นอรหันตขีณาสพ"

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ พระอานนท์จึงทูลถามขึ้นว่า "เพราะเหตุไร ลาภ สักการะและชื่อเสียง จึงเป็นอันตรายแก่ภิกษุอรหันตขีณาสพ ?"

พระศาสดาตรัสตอบว่า "ลาภ สักการะและชื่อเสียงมิได้เป็นอันตรายต่อจิตที่หลุดพ้นแล้วของพระขีณาสพนั้นก็จริง แต่เป็นอันตรายต่อการอยู่เป็นสุข ในปัจจุบันของพระขีณาสพนั้น นี่แหละอานนท์ เราจึงกล่าวว่า ลาภ สักการะและชื่อเสียง เป็นของทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย..."

ในทางที่ถูกที่เหมาะสมก็คือ ถ้าเลื่อมใสท่านก็ควรศึกษาให้รู้ให้เข้าใจถึงข้อปฏิบัติของท่านว่า ท่านมีดีในตนของท่านอย่างไร มีคุณอย่างไร แล้วถ่ายแบบเอาคุณอย่างนั้นเข้าไว้ในตน ดำเนินตามรอยของท่าน

สร้างสมคุณธรรมอย่างนั้น ๆ ให้เกิดขึ้นในตน อย่างนี้แหละเรียกว่าเลื่อมใสจริง ได้ผลจริง และได้ชื่อว่าอยู่ใกล้ท่านจริง โดยที่ไม่ต้องแขวนเหรียญของท่านก็ได้ ไม่ต้องบูชารูปเคารพของท่านก็ได้ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า

"ผู้ใดก็ตาม แม้เดินเกาะชายสังฆาฏิ ของพระองค์ไปอยู่ทุกหนทุกแห่ง ก็หาชื่อว่าอยู่ใกล้พระองค์ไม่ ส่วนผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ตน สมควรแก่เหตุผล ผู้นั้นแหละชื่อว่าอยู่ใกล้พระองค์อย่างแท้จริง"

ทรงเปรียบเทียบให้เห็นว่า "เหมือนลาที่เดินตามฝูงโคอยู่ต้อย ๆ แต่ก็หาเป็นโคได้ไม่" (ส่วนโคแท้ ๆ แม้จะอยู่ต่างหากจากฝูงโคก็คงนับว่าเป็นโคอยู่นั่นเอง)

เพราะฉะนั้น ผู้เลื่อมใสพระรัตนตรัย ปรารภความบริสุทธิ์แห่งตน ปฏิบัติตามโดยชอบเพื่อความบริสุทธิ์ นั่นแหละจึงจะบรรลุจุดมุ่งหมายแห่งการถึงพระรัตนตรัย และได้ผลจริงทุก ๆ ด้าน

เพราะพระธรรมนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เห็นได้ในปัจจุบัน ไม่กำหนดกาล เรียกให้มาดูได้ ควรน้อมเข้ามาในตนเพื่อให้กาย วาจา ใจของตนประกอบด้วยธรรม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรม และจะเห็นได้เองว่าธรรมนั้นประเสริฐสูงส่งเพียงใด

๔. อัตตวาทุปาทาน - ความยึดมั่นในตัวตนโดยทั่วไปบุคคลผู้มิได้สดับธรรมของพระอริยะย่อมสำคัญมั่นหมายว่ามีตัวตน และสำคัญมั่นหมายสิ่งภายนอกว่าเป็นของตน เช่น บุตร ภรรยา สามี ทรัพย์สมบัติ ญาติพี่น้อง เพื่อน คู่รักของตน

เมื่อสำคัญมั่นหมายดังนั้น ความทุกข์ ความกังวล ความร้อนใจ ก็เกิดขึ้นด้วยเหตุต่าง ๆ เช่น ความพลัดพรากบ้าง ความไม่ได้ดังใจหวังบ้าง

ความจริงสิ่งทั้งหลาย ไม่มีตัวตน ไม่เป็นของเรา แม้ตัวตนที่เราสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเรา ก็ยังไม่เป็นของเรา มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปตามเหตุปัจจัย เมื่อมีเหตุปัจจัยหนุนอยู่อุปถัมภ์ค้ำชูอยู่ก็ดำเนินต่อไปได้ พอขาดเหตุปัจจัยก็ดับไป

เหมือนเปลวไฟจากตะเกียงน้ำมัน เมื่อยังมีเหตุปัจจัยคือไส้และน้ำมันอยู่ เปลวไฟก็ยังดำรงอยู่ได้ทีละขณะ ๆ พอสิ้นน้ำมันอันเป็นเหตุปัจจัยและไฟได้ไหม้ไส้เท่าที่พอจะไหม้ได้หมดแล้ว เปลวไฟก็ดับไป

เมื่อตัวตนแม้ของเราเองก็ไม่มีเสียแล้ว ก็เป็นอันไม่ต้องกล่าวถึงสิ่งภายนอก ที่รู้สึกว่าเป็นเราและเป็นของเรานั้นเพราะความยึดถืออุปาทาน

ธรรมดามนุษย์เรานั้นประกอบด้วยขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และธาตุ ๖ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศและวิญญาณธาตุ

ในอนัตตลักขณสูตร (สูตรที่ว่าด้วยลักษณะของอนัตตา) พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ขันธ์ ๕ ไม่มีตัวตน ไม่เป็นตัวตน ถ้าเป็นตัวตนแล้วก็ย่อมไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ เราย่อมปรารถนาเอาได้ว่า จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าเป็นอย่างนั้นเลย

ในธาตุวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ (๑๔]

จากคุณ : mayrin [ 13 ธ.ค. 2545 ]