#echo banner="" เสด็จพ่อ (ชีวกโกมารภัต) โดย มิสโจ

เสด็จพ่อ

มิสโจ

พ.ศ. ๒๕๐๙

ความเป็นแม่ในทางรูปธรรมของมารดาผู้เขียน ได้สิ้นสุดลงอีกหนึ่งรอบวัฏจักร ผู้เขียนจึงเข้า-ออก วัด “ธาตุทอง” แทบไม่เว้นวัน เป็นเหตุให้ได้พบท่านบรมครูแพทย์ “ชีวกโกมารภัจโจ” ทางด้านนามธรรมในอีก ๒ ปีต่อมา และจากนั้นจนวันนี้ ผู้เขียนเรียกท่านว่า -“ เสด็จพ่อ” ตามอย่างสานุศิษย์ของท่านได้สนิทใจ ท่านเป็นพ่อของผู้เขียนในทางนามธรรม เป็นที่เคารพรัก มีพระคุณต่อผู้เขียนดุจพ่อบังเกิดเกล้านั่นเทียว กระแส แห่งการหลุดพ้นในยุคพุทธกาลได้ล่วงไปแล้วสองพันกว่าปี ซึ่งเสด็จพ่อ และผู้เขียนต่างก็ยังไม่สามารถติดตามกระแสแห่งการหลุดพ้นไปได้ในยุคนั้น วิบากแห่งกุศลกรรมและอกุศลกรรม ที่ต่างก็สะสมมาไม่เหมือนกัน ได้เป็นคลื่นพาให้ท่านและผู้เขียน ยังต้องเวียนว่ายอยู่กันคนละภพละภูมิ ใครเล่าจะคิดว่า จะมีการติดต่อกันได้อีก

กระแสจิตจึงเป็นพลังที่น่าศึกษา

พ.ศ. ๒๕๑๑

ณ ลานหน้าวัดธาตุทอง มีฝูงชนชุมนุมกันที่ปะรำพิธีปลุกเสกหล่อรมดำของท่านบรมครูแพทย์ ชีวกโกมารภัจโจ ซึ่งเป็นแพทย์หลวงในแผ่นดินพระเจ้าพิมพิสาร เป็นแพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านอุทิศเวลาทั้งหมดรักษาสุขภาพและชีวิตของคนไข้ โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ จนไม่มีเวลาที่จะบวชเรียนดั่งใจปรารถนา ผลงานของท่าน ไม่เพียงแต่เป็นที่เทิดทูนของคนในยุคนั้น แม้ในยุคต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีผู้กล่าวขวัญสดุดีเกียรติคุณของท่านขจรขจายไปทุกทิศ

ในบทความนี้ ผู้เขียนขอใช้คำว่า“ เสด็จพ่อ” เพื่อเทิดทูนพระคุณของท่าน

ก่อนพบเสด็จพ่อ ผู้เขียนสนใจแต่ในเรื่องชีวิตหลังความตาย ในเรื่องวัตถุมงคลนั้น ใครให้ก็บูชาเพื่อเตือนใจให้รำลึกถึงพระรัตนตรัยเท่านั้น ไม่ติดใจในเรื่องศักดิ์สิทธิ์ เพราะคิดเห็นว่า การเรียนรู้ศิลปวิทยาแขนงใดก็ตาม ครูต้องรู้จริงเหนือศิลปวิทยาแขนงนั้น จึงจักสัมฤทธิผล การปลุกเสกปฏิมากร เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ด้วยอำนาจจิต ก็เช่นกัน ผู้ปลุกเสกต้องมีคุณธรรมล้ำเลิศ มีพลังจิตเหนือกว่า ไม่ต้องอาศัยคาถาอาคมและพิธีกรรมแต่อย่างใด พุทธาภิเษกก็เห็นมีพระผู้มีพระภาคเท่านั้นที่จะทรงปลุกเสกได้ แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่าทรงกระทำเช่นนั้น จะทรงกระทำแต่การที่จะถึงซึ่งความหลุดพ้นเท่านั้น พระรูปของเสด็จพ่อ ก็เช่นกัน ท่านเป็นแพทย์เหนือแพทย์อยู่แล้ว ถ้าท่านไม่ปลุกเสกเอง ไหนเลยจะมีความศักดิ์สิทธิ์ได้

ทิฐินี้จะถูกผิดอย่างไรก็ตาม เป็นเหตุให้ผู้เขียนมิได้แวะดูรูปหล่อที่สมมติเป็นเสด็จพ่อ ว่ามีรูปร่างหน้าตาอย่างไร เดินผ่านไปเกือบจะออกอีกทางหนึ่งแล้ว เผอิญเหลือบไปเห็นรูปถ่ายขนาด ๒๔ นิ้ว เป็นที่สะดุดตาสะดุดใจยิ่งนัก จนต้องหยุดมอง เป็นรูปบุรุษชรา ชาวชมพูทวีป นั่งตัวตรงเข้าสมาธิอยู่ โดยมิต้องหลับตา มือขวาวางบนเข่าขวา แขนซ้ายตั้งฉากแบมืออยู่หว่างสะดือ สายตานั้นมองไปไกลสุดหล้าฟ้าเขียว แววตานั้นช่างซื่อ แต่ประกายฉลาดแฝงไว้ด้วยความเมตตาอย่างลึกซึ้ง เส้นเลือดน้อยใหญ่นูนเด่นเป็นผู้มีกำลังภายในมหาศาล ความรู้สึกในขณะนั้น ราวกับว่ากำลังเดินอยู่ในถ้ำ แล้วพบคน ๆ หนึ่งนั่งเป็นสมาธิอยู่ ฉะนั้น รูปนั้นช่างมีชีวิตชีวา จนเกิดความอยากรู้ว่าท่านเป็นใคร มาบัดนี้ ซึ่งกำลังเขียนบทความนี้อยู่ จึงคิดได้ว่าตนเองนั้นช่างโง่แท้ ๆ ก็ทราบแก่ใจแล้วว่ากำลังมีการปลุกเสกใครกันอยู่ รูปนี้ต้องเป็นท่านมิต้องพักสงสัย แต่ในขณะนั้นเองผู้เขียนกลับต้องไปขอคำตอบจากผู้ที่ยืนอยู่ใกล้ ๆ บางครั้งความโง่นั้น ถ้าหมั่นถามก็จะได้ความรู้เพิ่มเติม ในวันนั้นจึงได้ความรู้ที่ให้คุณค่ามหาศาลในเวลาต่อมา

เมื่อทราบว่าท่านมาประทับทรงเพื่อรักษาคนไข้ ณ ที่ใดเวลาใดและวันใดแล้ว ผู้เขียนก็ไปตามนั้น เมื่อไปถึง มีคนนั่งอยู่เต็มห้อง แทบจะหาที่นั่งไม่ได้ คนทรงนั่งบนอาสนะบาง ๆ นุ่งผ้าโจงกะเบนสีขาว ห่มขาว สวมประคำ นั่งนิ่งอยู่ในท่าที่เห็นในรูปอย่างสงบ เมื่อท่านมาประทับทรง ทุกคนก้มลงกราบพร้อมกัน ท่านจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วจุดเทียนทำน้ำทิพย์ เสร็จแล้วก็เริ่มทำการรักษาทีละคน อย่างรวดเร็ว คนละไม่กี่นาที ท่านยกมีดหมอแตะคนไข้ แล้วเคาะมีดกับพื้นเบา ๆ จับศีรษะคนไข้เป่ากระหม่อม เสกน้ำทิพย์ให้ดื่มคนละสามอึก เสกยาและผลไม้ แล้วบอกวิธีบริโภค บางคนท่านพ่นน้ำทิพย์ให้ อาการมากก็จะพ่นน้ำมันร้อนๆ ที่กำลังเดือดอยู่ในกระทะบนเตาถ่าน พ่นทีไรคนไข้สะดุ้งสุดตัวทุกที แต่ปากคนทรงเป็นปกติ ท่านทำการรักษาอยู่ราวสองชั่วโมง คนไข้จึงเบาบางลง

ระหว่างที่ผู้เขียนนั่งพับเพียบอยู่นั้นต้องขยับขาไปมาด้วยความเป็นเหน็บ แต่คนทรงที่กำลังอยู่ในความควบคุมทางจิตจากเสด็จพ่อนั่งเฉยไม่เปลี่ยนอิริยาบถเลย มีมือเท่านั้นที่เคลื่อนไหวไปมา ไม่หันซ้ายแลขวาพูดน้อย พูดเบา ๆ พอให้ได้ยินเท่านั้น ถ้าคนไข้เข้าไปหาท่านช้าไปสักอึดใจเดียว ท่านก็จะวางมือขวาบนเข่าขวา แขนซ้ายตั้งฉากแบมืออยู่ระหว่างสะดือดังในรูปทันที

ตลอดเวลาหกปีที่ท่านมาประทับทรง ท่านไม่เคยส่งเสียงวางอำนาจ ไม่ยิ้ม ไม่หัวร่อ ไม่พูดเล่น ไม่บ่น ไม่ดุว่าคนไข้ให้ได้อาย ไม่ประจบประแจงใคร สุภาพ พูดจาไพเราะ ไม่กล่าวคำหยาบ พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น ทำอย่างไร พูดอย่างนั้น ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่สนใจกับความสูงส่งมั่งคั่งของใคร รักษาให้ด้วยความเมตตากรุณาเสมอหน้ากันหมด ใครจนมากท่านประทานเงิน ใครอาการหนัก ท่านรับรักษาให้ก่อน ภิกษุสามเณรก็เช่นกัน ท่านจะรักษาอย่างเคารพนบนอบ ท่านไม่เปิดเผยความลับของใคร ไม่โอ้อวดแอบอ้าง มีแต่ถ่อมตนเสมอ ใครร้องไห้มา ท่านจะปลอบโยนให้กำลังใจด้วยมธุรสวาจาให้ความช่วยเหลือด้วยวิธีง่าย ๆ โดยเสกธูปเก้าดอกให้จุดปักกลางแจ้ง ประทานดอกไม้ธูปเทียน และเงินสามบาทให้ไปใส่บาตร ท่านว่าคนดีช่วยง่าย คนร้ายช่วยยากใครล่วงเกินท่านก็ไม่โกรธ ใครขอหวยท่านก็นิ่งเสีย ท่านจะตอบที่เห็นควรจะตอบเท่านั้น คนไข้เป็นร้อย ๆ บางวันเช่ารถมาจากต่างจังหวัดมากมาย ท่านตั้งหน้าตั้งตารักษาอย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย เต็มใจ และรวดเร็ว ไม่เคยเล่นตัว ไม่ต้องกราบกราน.อ้อนวอน ท่านจะรักษาจนคนไข้หมด ไม่เคยทอดทิ้งคนไข้ไปกลางคันเลย ช่างเป็นคุณธรรมที่หายากยิ่ง

เมื่อผู้เขียนคุ้นเคยกับท่านแล้ว ได้บังอาจนำสัตว์เลี้ยงไปให้ท่านรักษาเนือง ๆ ได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง” ท่านกลับสอนให้ผู้เขียนครองใจอยู่ในอุเบกขาว่า “ช่างเขาเถิดลูก มนุษย์ก็เป็นเช่นนี้ ถือตัวถือตนด้วยความไม่รู้ว่า มนุษย์หรือ แมว หมา ก็เห็นสัตว์โลกด้วยกัน ไม่มีความต่ำสูงในด้านรูปธรรม แต่ต่ำสูงกันในด้านคุณธรรมต่างหาก อย่าถือตัวว่าเป็นมนุษย์แล้วจะสูงส่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน บางครั้งมนุษย์ก็ทำในสิ่งที่สัตว์เดรัจฉานทำไม่เป็น เช่น การปล้น จี้ ฆ่า ลักพา ทำทารุณ หลอกลวง ให้ร้ายกันอย่างโหดเหี้ยมสยองขวัญ ฆ่าคนเป็นแสนเป็นล้านตายในพริบตาเดียว หารู้ไม่ว่าต้องไปเสวยวิบากในโลกันตร์ชั่วกัปชั่วกัลป์ ส่วนสัตว์เดรัจฉานนั้นเมื่อหมดวิบากแห่งอกุศลธรรมแล้ว ก็จักได้เสวยวิบากแห่งกุศลกรรมบ้าง เช่น เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นเทพ ตามกำลังแห่งกรรมนั้น ๆ เกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ยังทะนงตนไม่ได้ ไม่รู้วันใดที่จะต้องกลับไปเป็นสัตว์เดรัจฉานอีก

เสด็จพ่อชี้มายัง “ปลาแนม” ที่นั่งอยู่บนตักผู้เขียน ท่านว่า “สุนัขตัวนี้ชาติปางก่อนเป็นป้าของผู้เขียน ในเวลาจะสิ้นใจ ได้ยินเสียงสุนัขเห่า ด้วยอำนาจแห่งอกุศลกรรม จิตไปจับอารมณ์ที่เสียงสุนัขนั้น จึงหลงทำกาละ ปฏิสนธิในท้องสุนัขทันที อาศัยกุศลกรรมที่ทำไว้บ้าง จึงเกิดมาเป็นลูกสุนัขสวยงามน่ารักในชาตินี้ผู้เขียนจึงเปลี่ยนเรียกว่า “ป้าแนม” ในเวลาต่อมา เป็นโอกาสให้ผู้เขียนได้ขูดเกลาการถือดีทะนงตนว่าเป็นมนุษย์ออกเสีย ไม่ว่าผู้เขียนจะพาป้าแนมไปไหน เห็นคนแปลกหน้า จะเห่าไม่ยอมหยุด แต่ถ้าพาไปฟังเทศน์ที่วัดราชบพิธ ป้าแนมไม่เห่าเลย นั่งเรียบร้อย ฟังธรรมอย่างสนใจ ตลอดเวลาที่อยู่ในโบสถ์นั้นด้วยกัน

คำสอนให้ตั้งมั่นอยู่ในพรหมวิหารสี่ของเสด็จพ่อ เสียดายที่ไม่สามารถถอดคำตามสำนวนของท่านได้.ท่านให้ยอมรับความเป็นจริงเสียก่อนว่า ในโลกมนุษย์หาความสงบสุขได้ยากเพราะธรรมชาติของโลกจักต้องวุ่นวายสับสน โกลาหลอลหม่านอยู่เช่นนี้ตลอดกาลผู้ใดต้องการความสุขกายสบายใจ ต้องเริ่มจากการตั้งตนอยู่ในพรหมวิหารสี่ คือ

เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ธรรมที่ข้อนี้ จะต้องปฏิบัติภายในขอบเขตของสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบที่ถูกต้องทำนองคลองธรรม ไม่ผิดศีลธรรมในครอบครัว ในท่ามกลางญาติมิตร ไม่ผิดกติกาในหมู่คณะ ไม่ผิดระเบียบวินัยในที่ทำงาน ไม่ผิดจารีตประเพณีนิยมในสังคม ไม่ผิดกฎหมายในประเทศ นอกประเทศ และไม่ฝืนใจตนเอง

เมตตา ความพร้อมทั้งกาย วาจา ใจ ที่ปรารถนาดี มีน้ำใจดีต่อผู้อื่น ครอบครัว ญาติมิตร สังคม ประเทศชาติ และชีวิตทั้งมวลในโลก โดยไม่จำนนต่อความรุนแรงของอธรรม ไม่สยบต่อความตาย เสียดายและเสียใจในความสูญเสีย อันเป็นส่วนของตนเอง

เมตตามิได้เกิดจากความรัก ความใคร่ ความสงสาร ความเห็นใจ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความเสแสร้ง และความกดดันจากภายในและภายนอก เมตตาเกิดในขณะจิตที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ เข้าใจในสภาวธรรม เมตตาปิดกั้นกิเลสตัณหา จึงไม่มีความพยาบาท อภิชฌา หรืออคติใด ๆ แอบแฝงอยู่ จิตใจเยือกเย็น เป็นปัจจัยให้เกิด “กรุณา”

กรุณา การแสดงออกของเมตตาทางด้านรูปธรรม เป็นพฤติกรรมที่มุ่งให้เกิดผลดีต่อการขจัดปัญหาแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของใคร ที่ไหน เวลาใด โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ช่วยจนสุดหัวใจ เป็นธรรมที่ให้เปล่าด้วยใจจริง ไม่ตั้งเป้าหมายไว้รับการตอบแทน

กรุณามิได้ถือประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง จึงไม่รีรอมนการทำความดี ไม่ต้องการให้กราบไหว้อ้อนวอนเสียก่อน ไม่ได้ทำเพราะประจบประแจง ไม่ถูกหลอกให้ช่วยเพราะหลงเชื่อ ไม่ถูกยั่วยุให้ทำเพราะความหลงใหล กรุณาเกิดในขณะจิตที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ รู้เท่าทันในสภาวธรรม ปิดกั้นความเห็นแก่ตัว มีแต่ความเสียสละอย่างแข็งขัน เป็นปัจจัยให้เกิด “มุทิตา”

มุทิตา การให้กำลังใจ ส่งเสริมผู้ประสบความสำเร็จ ยินดีเมื่อผู้อื่นมีสุข ไม่ซ้ำเติมผู้ได้รับทุกข์ ไม่ลิงโลดในความล้มเหลวของผู้อื่น แม้ผู้นั้นจะเป็นศัตรูก็ตาม

มุทิตา มิได้หวังผลพลอยได้พลอยดีกับเขาด้วย จึงไม่ริษยา ไม่น้อยใจ ที่ตนเองไม่ได้ดีเช่นผู้อื่น ไม่ลำพองเมื่อผู้อื่นด้อยกว่า เป็นผู้ไม่มีผมด้อยและปมเขื่อง มุทิตาเกิดในขณะจิตที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ รู้จริงตามสภาวธรรม ปิดกั้นความถือดี ทะนงในศักดิ์ศรี ไม่ถือพรรคถือพวก ไม่ดื้อรั้นจนไม่จำนนต่อเหตุผล ก่อให้เกิดความสามัคคีสมานฉันท์ มีความสงบสุขเพราะไม่มีศัตรู

อุเบกขา มีปัญญาเห็นโลกตามความเป็นจริง ตัดอัตตวิสัยออกจากตนเองได้หมดสิ้น เกิดความสมดุลทางใจ ดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางสรรพสิ่งด้วยความเป็นกลาง ไม่เกาะเกี่ยวด้วยสิ่งใดให้เกิดความผูกพัน ไม่เอนเอียงด้วยกิเลสตัณหาจนหวั่นไหว ไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร เที่ยงตรง ยุติธรรม อยู่เหนือความรักความชัง ความสุขความทุกข์ ไม่ยึดมั่นในความเป็นมิตร หรือศัตรู ทำดีต่อทุกสิ่งด้วยความเสมอภาค ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ใด ๆ ไม่ตีราคาในรูปธรรมใด ๆ ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่แยกคุณค่าในนามธรรมใด ๆ ให้เกิดความแตกต่าง สรรพสิ่งในโลกล้วนลงเอยเพียงศูนย์เท่ากันในที่สุด

ลมโชยเป็นที่ชื่นนักแล้ว                แต่น้ำใจในเมตตายังชื่นใจกว่า

ทะเลว่ากว้างนักแล้ว                     แต่น้ำใจในกรุณายังกว้างกว่า

อ้อยตาลว่าหวานนักแล้ว              แต่น้ำใจในมุทิตายังหวานกว่า

ขุนเขานั้นหนักนักแล้ว                  แต่น้ำใจในอุเบกขายังหนักแน่นกว่า

ธรรมสี่ประการนี้ ผู้ที่บรรลุความเป็นพรหมแล้ว ย่อมเกิดเป็นนิลัยประจำตนเป็นธรรมชาติของพรหม แต่ถึงกระนั้นก็ตาม หากมนุษย์สามารถถ่ายโอนความเห็นแก่ตัว และกิเลส ตัณหา อุปาทาน อันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ได้บ้าง ผ่อนหนักเป็นเบา ขูดเกลาทุกเวลานาที ย่อมบรรเทาความรุ่มร้อนของจิตใจ ธาตุทั้งสี่จักไม่แปรปรวนบ่อยนัก หมอและพยาบาลจะไม่มีงานหนักดังทุกวันนี้ เพราะโรคที่ทำลายชีวิตมนุษย์ได้มากที่สุด คือ โรคทางใจ รองลงมาได้แก่การบริโภคเนื้อสัตว์มากเกินไป การบริโภคอาหารที่เจือปนด้วยสารพิษสะสมอยู่ตามอวัยวะโดยไม่รู้ตัว

ความเยือกเย็นของจิตใจ เป็นสาเหตุ.ใหญ่ที่ทำให้ร่างกายอยู่ในสภาพดีความดันโลหิตเป็นปกติ ไม่ปวดหรือเวียนศีรษะ หัวใจ ปอด ไม่อ่อนแอ ท้องไม่อืดกระเพาะอาหารไม่เป็นแผล ลำไส้ไม่อักเสบ ตับ ไต ม้าม น้ำดี ฯลฯ ตลอดจนการโคจรของลมปราณ ย่อมไม่ถูกกระทบกระเทือนด้วยเลย หากทำความรู้จักคุณโทษของอาหารได้ ควบคุมการบริโภคให้พอเหมาะพอควร รู้จักหยุดบริโภคเมื่อจวนจะอิ่ม ไม่บริโภคเมื่อไม่หิวทางกาย รู้จักระงับความหิวทางใจ ที่ทำให้ต้องบริโภคจุบจิบด้วยความอยากไม่บริโภคอาหารที่ร้อนจัด เย็นจัด รสจัดเกินไป ความเป็นพิษจักทำอะไรได้

เสด็จพ่อสงสารชาวอีสานที่อยู่ในที่กันดาร ไม่มีโอกาสเลือกบริโภคได้ เพราะความอดอยากแห้งแล้ง ท่านว่ามีแมลงบางชนิดมีพิษมาก บริโภคแล้วทำให้สมองเสื่อมความจำไม่ดี จิตใจซึมเซา ขาดความกระฉับกระเฉง นอนหลับได้ทุกเวลา โรคพยาธิรบกวน ไม่มีความสุขเลย

พระคุณของเสด็จพ่อ นอกจากทรงสอนให้รู้จักคุณค่าของอาหารแล้ว ยังทรงสอนให้รู้จักสังเกตความแปรปรวนของร่างกาย วิธีป้องกันไม่ให้เกิดความป่วยไข้ในโรคหลายอย่าง และวิธีชะลอความเสื่อมของร่างกาย ซึ่งผู้เขียนไม่สามารถเขียนได้หมดในระยะเวลาอันสั้นนี้

จะขอกล่าวถึงโรคบางอย่างที่เป็นกันพร่ำเพรื่อ ทั้งที่ป้องกันได้ง่าย ๆ เช่นไข้หวัด ไอ ปวดศีรษะ เพียงแต่ควบคุมความเย็นร้อนของร่างกายให้สมดุลกับอากาศยามอากาศเย็น อย่าประมาทว่าเย็นสบายดี ให้สังเกตคอ และต้นแขน ถ้าเย็นกว่าปกติต้องเพิ่มเสื้อ อย่าปล่อยให้จาม หรือไอเป็นครั้งที่สอง พันคอให้อุ่นไว้ ในเวลาอากาศหนาวต้องสวมหมวก หรือโพกผ้า พันคอ และนุ่งห่มให้มากขึ้น อย่าประมาทให้ความเย็นเข้าจับจุดอ่อนในร่างกายได้ ถ้าให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายไม่พอ จะเกิดอาการตะครั่นตะครอ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ให้ต้มผักบุ้งจนเดือดจัด ๆ เข้ากระโจมให้ทันท่วงทีวันละสองครั้ง ไข้หวัด คัดจมูก อาการไอ ก็จะไม่สามารถจู่โจมได้เลย หน้าไข้หวัดระบาดก็ให้ต้มบอระเพ็ดดื่มต่างน้ำเช้าเย็น บริโภคดอกแค ยอดแค บวบหอมสลับกันไป ก็จะช่วยป้องกันเชื้อไข้ที่ปะปนอยู่รอบ ๆ ตัวเราได้เป็นอย่างดี

ยามอ่อนเพลียจากการงาน ปวดศีรษะ หรือวิงเวียนด้วยความตึงเครียด หรือขาดการพักผ่อน ก็ให้รีบเข้าสมาธิเดินลมปราณอย่างสม่ำเสมอในที่แจ้ง ความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าก็จะกลับคืนมาในไม่ช้า

ถ้าปวดศีรษะจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น ให้รีบสวนอาหารเก่าออกทันที อย่าปล่อยให้พิษถูกดูดซึมไปสู่สมองอีกต่อไป อย่าให้อาหารเก่าอยู่ในลำไส้ใหญ่เกิน ๑๒ ชั่วโมงทุกสัปดาห์ควรถ่ายด้วยสมอไทยต้มกับเกลือ ขับปฏิกูลที่คงค้างออกเสีย ปล่อยไว้นานวันจะเป็นพิษจนแก้ไขไม่ได้ในภายหลัง ถ้าสามารถใช้น้ำมูตรของตนเอง หรือของวัวควายดองสมอไทยสด ๆ ไว้บริโภคตลอดปีก่อนนอน ก็จักปลอดจากความมีโรค อันเกิดจากอาหารเป็นพิษ

การหายใจลึก ๆ อย่างสม่ำเสมอ ให้เคยชินจนเป็นนิสัย จะช่วยให้ไม่วิงเวียนยามลุกนั่ง เปลี่ยนอิริยาบถทีไร ให้หายใจลึก ๆ ไปด้วย จะช่วยไม่ให้เหนื่อย หรือหน้ามืด ยามวิ่ง ยกของหนัก ขึ้นบันได ไต่เขาก็จะไม่เหนื่อยได้ง่าย

ยา ไม่ใช่ของจำเป็นเสมอไป ระวังอย่าใช้พร่ำเพรื่อ ท่านห้ามใช้ยาช่วยย่อยอาหาร ให้เดินจงกรมหลังอาหารทันทีครึ่งชั่วโมง เป็นการช่วยย่อยอาหารตามวิธีธรรมชาติ ถ้าไม่มีเวลาพอ ให้หางานที่ต้องเดินไปเดินมาทำ อย่าทำงานที่ต้องใช้หัวคิดทันที ถ้าจำเป็นต้องนั่งอยู่กับที่ จงถูหน้าท้องไปมาเป็น ๆ ให้อุ่น ให้หายใจลึก ๆ และแขม่วท้องเมื่อหายใจออกอย่างช้า ๆ

อย่านอนดึก ถ้าจำเป็นให้บริโภคดอกบัวขาวสามดอก กับน้ำตาลทรายแดงหนึ่งช้อนโต๊ะ เพื่อชะลอความเสื่อมของหัวใจ

ยามนอน อย่านอนหมอนสูง ให้ใช้มือลูบหน้าผากไปมา จนรู้ลึกเลือดวิ่ง ประสาทตาจะดี ตื่นเช้าต้มผักบุ้งผสมเกลือหนึ่งช้อนชา เข้ากระโจมทันที บำรุงสายตา ช่วยให้ขับถ่ายของเสียทางผิวหนัง -

บริหารจิตตลอด ๒๔ ชั่วโมง บริหารกายแบบโยคะเพียงวันละครั้ง ก็เพียงพอต้องควบคุมการหายใจเข้าออก ให้สมดุลกับท่าบริหาร จึงจะได้ผล ต้องบริหารช้า ๆ เพื่อป้องกันหัวใจทำงานหนัก จังหวะเต้นของหัวใจจะได้สม่ำเสมอ การบริหารเร็ว เดินเร็ว วิ่งเร็ว เป็นการหักโหมบังคับให้หัวใจทำงานหนัก สูบฉีดแรงขนเท่าใด หัวใจก็ทรุดโทรมเร็วเท่านั้น โดยไม่รู้ตัว ต้องรักษาน้ำหนักตัวที่พอดีแล้วให้คงที่ เพื่อประคับประคองหัวใจ อย่าให้ทำงานเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น วิธีที่จะให้หัวใจสูบฉีดได้ดี ต้องเดินลมปราณให้.ถูกวิธี

การหายใจแบบวิทยาศาสตร์อันตราย (ท่านหมายถึงแอร์คอนดิชั่น) การทำงานของร่างกายถูกกระทบด้วยความเย็นจัดเกินไป เกิดความไม่สมดุลขึ้น บางคนผิวแห้ง บางคนปอดไม่ดี พวกที่รู้สึกเย็นสบายดีก็จักเกิดปฏิกิริยาช้ากว่าพวกแรก เมื่อรู้ตัวก็สายเสียแล้ว

เสด็จพ่อท่านห้ามใช้เครื่องบรรจุที่ทำด้วยพลาสติกทุกชนิด ท่านสงสารภิกษุสามเณร ต้องรับบิณฑบาตอาหารที่บรรจุอยู่ในถุงพลาสติก โดยไม่มีทางเลือกต้องฉันอาหารที่เจือปนด้วยพิษจากถุงพลาสติกทุกวัน ๆ

ท่านห้ามมิให้บริโภคน้ำมันพืชที่มิได้ทำเอง น้ำตาลทรายขาว ยิ่งขาวยิ่งอันตราย ให้ใช้ความหวานจากอ้อย น้ำผึ้ง น้ำแครอท น้ำชะเอมแทน ท่านห้ามบริโภคแครอทดิบ เพราะมีสารไปทำลายการทำงานของต่อมสำคัญในร่างกาย ท่านห้ามซื้อขนม หรืออาหารสำเร็จรูปจากเอกชน หรือโรงงาน ให้ใช้น้ำเกลือแทนน้ำซีอิ๊ว ใช้มะนาว มะขาม มะดัน มะกรูด ส้มซ่า กระเจี๊ยบ มะยม ฯ ล ฯ แทนน้ำส้มสายชูที่ทำลายไต และทำให้เลือดเสีย

ท่านว่าผลไม้ พืช ผัก ทุกชนิด ไม่ได้เกิดและเติบโตโดยธรรมชาติ ดังแต่ก่อนมา กลายเป็นผลิตผลตามวิถีทางวิทยาศาสตร์ไปเกือบหมด จึงทำให้รูปลักษณะ รสกลิ่น และคุณค่าเปลี่ยนแปลงไปในทางลบมากกว่า ท่านให้ผู้เขียนพึ่งตนเองให้มากปลูกผักเองโดยไม่ให้ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ถ้าจำเป็น ต้องซื้อผลไม้บ้างเพราะปลูกเองไม่ได้ทั้งหมด ก็ให้เก็บไว้ให้นานวันจึงค่อยบริโภค ผลไม้ใดที่เก็บไว้นานไม่ได้ ก็ให้ตัดใจ อย่าบริโภคเสียเลย เช่น มะม่วงเป็นต้น พอเข้าปากคำแรก ถ้ากัดลิ้นก็ให้ทิ้งเสีย ไม่ต้องเสียดาย เพราะรสจืดชืด เป็นอันตรายด้วย ล้วนเป็นผลจากการบ่มแก๊ส เพื่อให้สุกทันใจผู้ขาย หาได้คำนึงถึงผู้บริโภคไม่

ท่านให้ตัดความอยากบริโภคนั้นนี่ออกเสีย ปรุงอาหารให้ใกล้เคียงธรรมชาติถ้าไม่มีความจำเป็นในเรื่องเวลา ไม่ควรทำอาหารเผื่อมื้อต่อ ๆ ไป ควรทำทันที บริโภคทันที หิวอีก จึงทำอีก ไม่ควรเก็บผักไว้ในตู้เย็น ควรเก็บทันที ปรุงทันที จึงจะได้ผลมาก

กับข้าวทุกชนิด ควรปรุงแต่งให้เสร็จเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ จะขอยกตัวอย่างดังนี้ -

แกงถั่วงอก ถั่วงอกต้องเพาะเอง ตัดหางล้างน้ำให้สะอาด ต้มน้ำนิดหน่อยกับเกลือ ระวังอย่าให้เค็มจัด พอเดือด ใส่ถั่วงอก คนให้ทั่ว พอสุกยกลง

แกงมะระ หั่นมะระเป็นชิ้นเล็ก ๆ คว้านไส้ออก เมล็ดเก็บไว้เพาะต่อไป ตั้งน้ำใส่เกลือ พอเดือดใส่มะระ ใส่พริกไทยป่น พอนิ่มยกลง

เปรี้ยวหวานน้ำ ปอก และฝานมันฝรั่งเป็นแว่น ๆ ปอกแครอท ฝานเป็นแว่น แตงกวาผ่าสี่ พริกหยวกกรีดเอาเมล็ดออก หั่นฝอย มะเขือเทศครูดกับเครื่องไส ผักชีหั่นทั้งราก ช่วยย่อยดี ข้าวโพดอ่อนหั่นเฉียง สับปะรดหั่นพอคำ ถั่วลันเตาตัดขั้ว

เอาเส้นข้างออก ดอกกะหล่ำ แยกออกเป็นดอกเล็ก ๆ บีบน้ำอ้อยสด กรองแล้วตั้งไฟให้เดือด ถ้ามีแต่ซังขนุนก็ต้มแล้วกรอง ใส่เกลือ ใส่มันฝรั่ง แครอท ก่อนสักครู่ จึงใส่เครื่องทั้งหมดลงหม้อ พอเดือดทั่วยกลง

ข้าวยำ ปอกแครอท ครูดกับเครื่องไส ลวกน้ำอย่างเร็ว ให้สะเด็ดน้ำทันที( น้ำแครอท ดื่มต่างน้ำ ) นอกนั้นไม่ต้องทำให้สุก ถั่วฝักยาว ถั่วแขก กะหล่ำปลี ผักกาดขาว องุ่นปอกเปลือก แคะเม็ดออก สับปะรด ขนุน ส้มโอ หรือส้มเขียวหวาน กล้วยหอมหรือกล้วยน้ำว้า ผักสลัด ล้วนหั่นเล็ก ๆ เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย ใส่เกลือ น้ำตาลมะพร้าวทำเอง น้ำมะนาว พริกขี้หนู หรือพริกชี้ฟ้า โขลกให้ละเอียดจริง ๆ ไม่เป็นอันตรายต่อกระเพาะอาหาร โรยมะพร้าวคั่วนิดหน่อย

แกงผักใบเขียว เม็ดขนุนนึ่งแล้วปอกเปลือก ต้มน้ำให้เดือด ใส่เกลือ ใส่ผักใบเขียว คนให้ทั่ว ใส่เม็ดขนุนเคี่ยวสักพัก พอผักอ่อน ยกลง

แกงสมุนไพร แกงเผ็ด, แกงส้ม, น้ำยา, น้ำพริก ท่านเรียกว่า“ แกงสมุนไพร” อนุญาตให้บริโภคได้ ไม่ใส่กะปิ หรือปลาร้า และไม่ให้มันมาก ต้องเป็นมะพร้าวขูดเองคั้นเองสด ๆ

อาหารเช้า ไม่ให้ปรุงแต่ง ท่านว่ายิ่งปรุงแต่งเท่าใด ก็ยิ่งบำรุงกิเลสมากเพียงนั้น อนุญาตเพียงให้ลวกน้ำเสียก่อน เช่น ผักบุ้ง ตำลึง ถั่วพู ยอดแค ดอกแค กระถิน ฯลฯ ผักที่บริโภคสด ๆ ได้ ก็มี ใบทองหลาง ใบบัวบก เป็นต้น ตามด้วยผลไม้ ท่านห้ามดื่มน้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่ปรุงแต่งด้วยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ ให้ดื่มน้ำสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ใบเตย กระชาย มันเทศ ขิง แห้ว ถั่ว รากและเง่าบัว ฯลฯ สลับกันไป

สารพัดที่ท่านจะสอน ผู้เขียนไม่อาจบันทึกได้หมดในเวลาอันสั้นนี้ ก่อนที่ท่านจะอำลา ไม่กลับมาประทับทรงอีก ท่านประทานตำรายาไว้ให้หลายขนาน ล้วนแต่จำเป็นต่อชีวิตในยามที่หมอน้อยคนไข้มาก การรักษาแผนใหม่นับวันจะสิ้นเปลืองโดยไม่มีขอบเขต

พระเถระ ที่เป็นอาจารย์สอนธรรมแก่ผู้เขียน ท่านมีพระคุณเหลือล้นท่านเตือนไม่ให้ผู้เขียนเสวนากับเสด็จพ่อจะไม่สามารถถ่ายถอน “สีลัพตปรามาส” ปิดกั้น มิให้บรรลุโสดาบัน นี่เป็นเรื่องเดียวที่ศิษย์ไม่ฟังคำอาจารย์ แต่ก็มิได้โต้เถียงประการใด

อยู่มาวันหนึ่ง เสด็จพ่อเอ่ยขึ้นมาเอง “ภิกษุสมัยนี้ ท่านเก่งแต่บาลี ไม่เรียนกรรมฐานเสียเป็นส่วนมาก จึงหลงผิดว่า การติดต่อทางจิตเป็น “สีลัพตปรามาสไปหมด”

ท่านปรารภว่า มนุษย์สร้างราวสะพานไว้สำหรับเกาะเดินกันตกน้ำ ฉันใด การดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่ไม่อาจพึ่งตนเองได้หมดทุกอย่าง ย่อมต้องหาหลักไว้เกาะพึ่งพิง ยามมีปัญหาจักได้รับการช่วยเหลือ ดูแต่การไปโรงพยาบาล ถ้ามีเพื่อนพ้องเป็นหมอก็จะได้รับความสะดวกกว่าคนที่ไม่รู้จักใครเลย.

ศีล และ พรต คือ ข้อบัญญัติและกิจวัตรที่ต้องประพฤติปฏิบัติทั้งกาย วาจา ใจ ให้ตรงตามสิกขาบทในพระพุทธศาสนา เหมือนการไม่ฝ่าผืนกฎหมาย ย่อมได้ชื่อว่า โลกัตถจริยา คือ มีความประพฤติดีตามโลก การที่ไม่มีความประพฤติปฏิบัติดีตามธรรมก็ได้ชื่อว่า สีลัพตปรามาส เพราะฝ่าฝืนศีล และพรต

พระสมณโคดมไม่ทรงห้ามการติดต่อทางจิต ที่ทำให้ตนพ้นทุกข์ แต่ทรงห้ามการทรงเจ้าเจ้าผี ที่ชักจูงไปในทางหลงผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีการหลอกลวงทำพิธีสะเดาะเคราะห์. ที่สิ้นเปลืองเงินทองมากมาย เคราะห์นั้นสะเดาะไม่ได้ มนุษย์ล้วนมีวิบาก ที่ต้องเสวย เพราะการกระทำของตนเอง การทำเสน่ห์ยาแฝด ใช้คาถาอาคมทำร้ายผู้อื่น เล่นแร่แปรธาตุ ซึ่งเอาจริงไม่ได้ มีการทำนายทายทัก บอกใบ้ให้หวย ฆ่าสัตว์บูชายัญ ฯลฯ ล้วนแต่มิใช่ข้อวัตรปฏิบัติในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น

การที่ภิกษุเอาดีทางทฤษฎีเท่านั้น หาเพียงพอแก่การบรรลุมรรคผลนิพพานอันเป็นเป็นหมายแห่งการบวชเรียนไม่ น่าเสียดายที่ละเลยการปฏิบัติกรรมฐาน ซึ่งเป็นหัวใจในการศึกษาพระพุทธศาสนาไปเสีย มีพระป่าเท่านั้น ที่ท่านฝึกกรรมฐานถือธุดงควัตร จนสามารถครองตนอยู่ในพรหมวิหารสี่ได้ อันมีพรหมโลกเป็นที่ไป พระป่าจึงเป็นที่พึ่งทางใจของชาวพุทธที่ใฝ่ธรรมอย่างแท้จริง”

ท่านช่างรู้เห็นความเป็นไปของผู้เขียนไปหมด ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในความเอาใจใส่ดูแลจากท่าน ท่านปกป้องคุ้มครอง สร้างความอบอุ่นใจแก่ผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง พระคุณนี้จะชดใช้อย่างไรจึงจะสม ท่านกลับตอบว่า

“ถ้าลูกสืบต่อเจตนารมณ์ของพ่อ ก็เหมือนลูกได้แทนคุณพ่อแล้ว”

หกปีที่เสด็จพ่อมาประทับทรง ผู้เขียนมีความสุขกายสบายใจ ห่างยาห่างโลก ตั้งหน้าอบรมบ่มใจตน มีเสด็จพ่อคอยช่วยเหลือ ประทานความรู้ และความเมตตาการุณย์ เสียดายที่ผู้เขียนโง่เขลาเบาปัญญา จึงจดจำไว้มิได้หมด จำได้ว่า ปัจฉิมพจน์ที่ท่านประทานแก่ผู้เขียน คือ -

“จงพึ่งตนเอง และเป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่น”

ความเป็นมา

) ความเป็นมาของรูปเสด็จพ่อ

ความเป็นมาของรูปเสด็จพ่อ (ท่านบรมคุรุแพทย์ ชีวกโกมารภัจโจ) มีดังนี้ -

เมื่อเสด็จพ่อเริ่มมาทำการรักษาคนไข้ โดยวิธีใช้จิตของท่านบงการจิตของคนทรง ให้พูด ให้ทำ ตามความประสงค์ของท่าน จนจำนวนผู้คนที่มารับการรักษาทวีขึ้นทุกที ต่างก็อยากได้รูปของท่านไว้กราบไหว้บูชา ด้วยความสำนึกในพระคุณ ท่านจึงให้เตรียมกระดาษขาว ๑ แผ่น ผ้าใหม่สีขาว และสีแดงอย่างละผืน พู่กัน และหมึกดำไว้ให้พร้อม วันใดท่านวิสสุกรรมว่าง ท่านจะเชิญให้มาวาด

อยู่มาวันหนึ่ง พอท่านเริ่มประทับทรง ก็ให้นำสิ่งของที่เตรียมไว้ออกมา ให้ปูผ้าขาวก่อนตรงเบื้องหน้าที่ประทับทรง แล้ววางกระดาษขาวซ้อนบนผ้าขาวนั้น จึงคลุมด้วยผ้าแดงอีกชั้นหนึ่ง ท่านหยิบพู่กันจุ่มหมึก แล้วชี้ปลายพู่กันไปเบื้องหน้าบนอากาศ แล้วพูดว่า“ วิสสุกรรม เธอจงวาดรูปเราได้แล้ว” ท่านนิ่งอยู่ในอิริยาบถนั้นครู่หนึ่ง ท่านลดมือลงวางพู่กันไว้กับที่ แล้วสั่งให้เปิดผ้าแดงออก ก็ปรากฏรูปของท่านอยู่บนกระดาษขาวนั้น ประมาณเท่ารูปถ่ายขนาด ๒๔ นิ้ว ขณะที่ทุกคนกำลังเงียบกริบในความมหัศจรรย์นั้น เสด็จพ่อก็ชี้มือไปที่รูปนั้น ในบัดดล ก็มีอักษรโบราณที่ไม่มีใครอ่านออก ปรากฏขึ้นใต้ภาพนั้น ท่านบอกว่าเป็นชื่อของท่านเอง แล้วท่านก็กล่าวคำขอบใจท่านวิสสสุกรรมเบา ๆ

๒) ท่านอธิบายความรู้สึกของผู้เขียนเมื่อแรกเห็นรูปท่าน

ต่อมา วันหนึ่งท่านได้อธิบายให้ผู้เขียนฟัง ถึงความรู้สึกของผู้เขียนเมื่อเห็นรูปท่านแล้วครั้งแรกนั้น รู้สึกเหมือนตนเองเดินเข้าไปในถ้ำ แล้วพบคนนั่งสมาธิอยู่

ท่านว่า “ พ่อมัวไปรักษาคนไข้ที่นอกเมือง พอได้ข่าวว่าพระสมณโคดมจะเสด็จปรินิพพาน พ่อรีบกลับมาเฝ้าเพื่อถวายยา ด้วยความมั่นใจในยาวิเศษขนานนี้ พ่อกราบทูลให้พระองค์ท่านเสวยยาเท่าไร ๆ ก็ไม่ทรงตอบพ่อเลยแม้แต่คำเดียว ตอนนั้นมีแต่เสียงร่ำไห้ระงมไปหมด พ่อเสียใจมาก (ร้องไห้ ) ต่อนี้ไปพ่อไม่มีโอกาสถวายการเยียวยาพระองค์ท่านอีกแล้ว พ่อกราบถวายบังคมที่พระบาท แล้วก็เดินออกมา เห็นสระน้ำข้างทาง พ่อก็ทิ้งยาวิเศษนี้ลงไป น้ำพุ่งขึ้นสูงราวกับลำตาล พ่อได้ปรุงยานี้ไว้สำหรับพระสมณโคดมเท่านั้น แต่บัดนี้ พ่อไม่จำเป็นต้องถนอมยานี้ไว้อีกแล้ว หมดความสนใจใยดีกับทุกสิ่ง หมดอาลัยตายอยากในชีวิต

เมื่อขาเดินทางมาเฝ้าพระสมณโคดมครั้งนี้ พ่อควบม้าฝีเท้าดีมาโดยไม่หยุดพักแต่ตอนขากลับนี้ พ่อไม่รู้เรี่ยวแรงหายไปไหนหมด พ่อสุดแต่ม้าจะพาไป พาไป...พาไป จนเห็นเขาคิชฌกูฏอยู่เบื้องหน้า พ่อก็ลงจากมาเดินเข้าถ้ำไป อยู่ในถ้ำไม่นานเลยผู้คนก็ตามไปให้พ่อรักษาอีก พ่อก็ฝืนใจรักษาให้เรื่อยมา

๓) ความสัมพันธ์กับผู้เขียน ท่านกรุณาเล่าให้ฟัง

“ลูกเอง (ผู้เขียนในชาตินั้น) เมื่ออายุได้ ๑๒ ขวบ ลำไส้อักเสบมาก แต่พอรักษาหาย พ่อไม่คิดค่ารักษา พ่อแม่ของลูก จึงยกลูกให้เป็นลูกของพ่อ ลูกจึงมาอยู่กับพ่อแต่นั้นมา เมื่อลูกรู้ว่าพ่ออยู่ในถ้ำ ลูกก็เข้าไปชวนพ่อกลับบ้าน เมื่อพ่อรักษาคนไข้หมดแล้ว พ่อจึงบอกให้ลูกกลับบ้านแต่ลำพัง ลูกไม่ยอมจากพ่อไป พ่อก็ปลอบว่า จะนั่งสมาธิให้ใจสบายเสียก่อน แล้วก็เข้าสมาธิเฉยอยู่ ลูกเห็นเช่นนั้น จึงบอกพ่อว่า จะไปนำอาหารมาให้พ่อบริโภค พอลูกเดินพ้นปากถ้ำไปครู่เดียว หินบนถ้ำก็พังทลายลงมากองปิดหน้าถ้ำมืดหมด

“พ่อไม่รู้ตัวว่าอยู่ในถ้ำนานเท่าใด มารู้ตัวต่อเมื่ออยู่ในพรหมโลกแล้วในท่านั่งสมาธิของพ่อก่อนที่ลูกจะจากไป สำหรับลูก ท่านั่งสมาธิของพ่อก่อนที่ลูกจะจากไปย่อมเป็นภาพที่ประทับสัญญาขันธ์ของลูกอย่างเหนียวแน่น คราใดที่ลูกคิดถึงพ่อ ขันธ์ห้าก็ปรุงแต่งมโนภาพนี้ในห้วงสำนึกของลูกตลอดมา แม้กาลเวลาล่วงเลยเป็นพัน ๆ ปี เมื่อลูกเห็นรูปพ่อในท่านั่งสมาธินี้ครั้งใด ลูกก็จะเกิดความสนใจในภาพนั้นทันที

จิตผูกพันกันด้วยความรัก หรือความชัง แม้จิตไม่มีตัวตน เกิดดับด้วยเหตุปัจจัย รวดเร็วและมากมาย ไม่ต้องอาศัยหทัยวัตถุ ( หทัยรูป ) ดังที่เข้าใจกัน ทุก ๆ ปรมาณูย่อมมีจุดศูนย์กลางโดยธรรมชาติ หทัยวัตถุก็คือจุดศูนย์กลางของกายมนุษย์

“ขณะนั้น พ่ออายุ ๗๐ กำลังคิดหาทางปลีกตัวออกบวช แต่พระองค์ท่านก็ทรงด่วนจากไปเสียก่อน ( ร้องไห้อีก ) ในชีวิตของพ่อ ตั้งแต่เล็กมีแต่ความเศร้า โดดเดี่ยว เจียมตัวอยู่เสมอ ไม่เคยมีความเสียใจมากอย่างนี้ คล้ายกับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง คิดขึ้นมาทีไร พ่อกลั้นความเสียใจไว้ไม่ได้สักทีเดียว ดูแต่ท่านอานันทเถระ ก็ยังร้องไห้ หากทรงยอมเสวยยาวิเศษนี้เพียงครั้งเดียว พระชนม์ก็จะยืนยาวไปอีกนาน

ยานี้ไม่คู่ควรกับใครเลย ไม่คู่ควรจริง ๆ พ่อจึงทิ้งน้ำไป ในขณะนั้นจิตของพ่อเศร้าหมองมาก ถ้าพ่อตายตอนนั้น มีทุคติเป็นที่ไป เดชะบุญที่พ่อมีสมาธิจิตดี วิบากแห่งกุศลธรรมก็ช่วยหนุนนำ จึงเกิดในพรหมโลก

คราใดที่พ่อเห็นคนเจ็บ ก็อยากช่วยให้หายทรมาน เหมือนเมื่อครั้งพ่อเป็นมนุษย์อยู่ร่ำไป ลูกอย่าคิดว่าเป็นพรหมแล้ว จะไม่มีความทุกข์ แม้จะระงับได้ด้วยอุเบกขาธรรม บางครั้งก็เหมือนแผลที่ยังไม่ตกสะเก็ด เมื่อถูกสะกิด ก็จะมีเลือดไหลอีกฉะนั้น พระสมณโคดมจึงทรงปรารภเสมอว่า -

“ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร อยู่ในภพที่สูงส่งเพียงไร ก็หนีความทุกข์ไม่พ้น”

การกระทำให้ถึงซึ่งความหลุดพ้นจากความทุกข์เสียได้ จึงเป็นความสุขเหนือความสุขทั้งมวลด้วยประการฉะนี้แล ฯ