#echo banner="" ปรมัตถธรรมสังเขป ขันธ์ ๕  สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ปรมัตถธรรมสังเขป
โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ [วิภังคปกรณ์ ขันธวิภังค์ ข้อ ๑]

ปรมัตถธรรม ๔ โดยขันธ์ คือ

จิต เป็นวิญญาณขันธ์

เจตสิก เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์

รูป เป็นรูปขันธ์

นิพพาน ไม่ใช่ขันธ์ นิพพานเป็นขันธวิมุตติ คือ พ้นจากขันธ์

คำว่า ขันธ์ หมายถึงสภาพธรรมที่จำแนกเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน ภายนอก หยาบ ละเอียด ทราม ประณีต ไกล ใกล้ [วิภังคปกรณ์ ขันธวิภังค์ ข้อ ๑-๓๑] ฉะนั้น ขันธ์จึงได้แก่สังขตธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดดับ จึงเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นต้น ส่วนอสังขตธรรม คือ นิพพานนั้นเป็นธรรมที่ไม่เกิด ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง จะกล่าวว่าเป็นธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ได้ ว่าเป็นธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ ว่าเป็นธรรมที่จักเกิดขึ้นก็ไม่ได้ [ธรรมสังคณีปกรณ์ อัตถุทธารกัณฑ์ ข้อ ๘๙๔] จะกล่าวว่าเป็นอดีตก็ไม่ได้ ว่าเป็นอนาคตก็ไม่ได้ ว่าเป็นปัจจุบันก็ไม่ได้ [ธรรมสังคณีปกรณ์ อัตถุทธารกัณฑ์ ข้อ ๘๙๕] เพราะฉะนั้น วิสังขารธรรม คือ นิพพาน จึงไม่ใช่ขันธ์ เป็นขันธวิมุตติ คือ พ้นจากขันธ์

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงขันธ์ ๕ และอุปทานขันธ์ ๕ ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์ ๕ เธอทั้งหลายจงฟัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ขันธ์ ๕ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกล หรือที่ใกล้นี้เรียกว่ารูปขันธ์ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ฯลฯ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ นี้เรียกว่าวิญญาณขันธ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่าขันธ์ ๕ [สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ปัญจขันธสูตร ข้อ ๙๕-]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุปทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ เป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นปัจจัยแก่อุปาทานนี้เรียกว่าอุปาทานขันธ์ คือ รูป เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ฯลฯ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน…อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ เป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นปัจจัยแก่อุปาทานนี้เรียกว่าอุปาทานขันธ์ คือวิญญาณ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่าอุปาทานขันธ์ ๕

 

ปรมัตถธรรม ๓ เป็นขันธ์ ๕

จิตปรมัตถ์ ๘๑ หรือ ๑๒๑ ประเภท ทุกประเภทเป็นวิญาณขันธ์

เจตสิกปรมัตถ์ ๕๒ ประเภท

เวทนาเจตสิก ๑ เป็นเวทนาขันธ์

สัญญาเจตสิก ๑ เป็นสัญญาขันธ์

เจตสิก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์

รูปปรมัตถ์ ๒๘ ประเภท ทุกประเภทเป็นรูปขันธ์

 

ขันธ์ ๕ เป็นปรมัตถธรรม ๓

รูปขันธ์ ได้แก่ รูปปรมัตถ์ ๒๘

เวทนาขันธ์ ได้แก่ เวทนาเจตสิก ๑ ดวง (เจตสิก ๕๒)

สัญญาขันธ์ ได้แก่ สัญญาเจตสิก ๑ ดวง (เจตสิก ๕๒)

สังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิก ๕๐ ดวง (เจตสิก ๕๒)

วิญญาณขันธ์ ได้แก่ จิตปรมัตถ์ ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง

 

คำถามทบทวน

. ปรมัตถธรรมอะไรบ้าง เป็นสังขารธรรม

. สังขารธรรม เป็นสังขารขันธ์ ใช่ไหม

. วิสังขารธรรม เป็นสังขตธรรม ใช่ไหม

. อสังขตธรรม เป็นขันธ์อะไร

. อสังขตธรรม เป็นโลกียะ หรือโลกุตตระ

. จิต เป็นสังขารขันธ์ ใช่ไหม

. เจตสิก เป็นสังขารขันธ์ ใช่ไหม

. เวทนาขันธ์ เป็นปรมัตถธรรมอะไร

. ขันธ์อะไร ไม่ใช่ปรมัตถธรรม

๑๐. ปรมัตถธรรมอะไร ไม่ใช่ขันธ์

๒๑ มีนาคม ๒๕๔๓