#echo banner="" ผู้มาเยือน สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ผู้มาเยือน
โดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์
http://www.dhammastudy.com/thwords1.html
 

  ทุกท่านย่อมมีแขกไปมาหาสู่ เวลาคิดถึงแขกก็มักจะคิดถึงคน แต่ความจริงแขกคืออารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นเอง ขณะเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแขก ขณะได้ยินเสียง เสียงเป็นแขก ขณะไม่ได้ยินเสียงไม่ปรากฏ แขกทางหูจึงยังไม่มา ขณะที่รสปรากฏ รสเป็นแขกที่ปรากฏทางลิ้นชั่วขณะแล้วก็ดับไป ขณะใดที่อารมณ์ปรากฏทางทวารใด ขณะนั้นอารมณ์นั้นก็เป็นแขกของทวารนั้น ชั่วระยะเวลาสั้นที่สุดแล้วก็ดับหมดสิ้นไป ไม่กลับมาอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ ผู้ใหญ่บางท่านรู้สึกเหงา เพราะระหว่างที่ยังไม่ใช่ผู้สูงอายุ ท่านพบปะบุคคลมากหน้าหลายตา รื่นเริงสนุกสนานกับญาติมิตรสหาย แต่เมื่อสูงอายุขึ้นแล้ว แขกซึ่งเป็นบุคคลต่างๆ ในความรู้สึกของท่านก็ลดน้อยลง เมื่อถามท่านผู้สูงอายุว่าท่านชอบอะไรมากที่สุด บางท่านก็บอกว่าท่านชอบคน คือชอบให้คนมาหา พูดคุยกันเพลิดเพลิน แต่ความจริงทุกคนมีแขกทุกขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และตามธรรมดานั้นพอแขกมา โลภมูลจิตก็เกิดขึ้นยินดีพอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นั้นๆ 

แขกมีหลายประเภท ถ้าเป็นโจรผู้ร้าย ก็ไม่มีใครต้องการแขกประเภทนั้น แต่ถ้าเป็นญาติมิตรสหายก็รอว่าเมื่อไรจะมา แต่ความจริงอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายเป็น เพียงรูปธรรม ไม่มีเจตนาร้ายกับใคร เพราะรูปธรรมไม่ใช่สภาพรูป ฉะนั้น แขกที่จะเป็นโจร หรือจะเป็นญาตินั้น ในขณะไหน ในอารมณ์ใดที่ปรากฏแล้วยินดี พอใจ ติดข้องในอารมณ์นั้น โจรก็อยู่ที่นั่น เพราะความยินดีพอใจติดข้องเป็นอกุศลกรรม อกุศลกรรมไม่เป็นมิตรกับใคร กุศลกรรมเป็นเสมือนญาติสนิทที่คอยอุปการะเกื้อกูล ช่วยเหลือไม่ว่าในยามใดทั้งสิ้น ฉะนั้น จึงต้องลักษณะของจิตที่ต่างกัน คือ อกุศลจิตเป็นโทษ เป็นโจร ไม่ใช่มิตร 

เมื่อคิดถึงโจรผู้ร้ายย่อมกลัวและไม่อยากให้เป็นแขกเลย แต่โจรคืออกุศลจิตซึ่งเป็นสาเหตุให้มีแขกที่เป็นโจรในวันหน้า ส่วนกุศลจิตก็เปรียบเสมือนญาติมิตร ซึ่งเป็นเหตุนำมาซึ่งญาติมิตรสหายในวันหน้าด้วย 

[คัดจาก หนังสือ ปรมัตตธรรมสังเขป จิตตสังเขป และภาคผนวก, บทที่ ๓ , หน้า ๑oo- o]
๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๓

วิถีจิต
โดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

http://www.dhammastudy.com/thwords2.html

ในอัฏฐสาลินีอรรถกถาธรรมสังคณีปกรณ์ อุปมาการเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ของวิถีจิตทางปัญจทวารว่า พระราชาองค์หนึ่งบรรทมหลับอยู่บนแท่นบรรทม มหาดเล็กคนหนึ่งถวายนวดพระยุคลบาทอยู่ นายทวารหูหนวกยืนอยู่ที่พระทวารทหารยาม ๓ คนยืนเรียงลำดับอยู่ ทีนั้นยังมีคนบ้านนอกคนหนึ่งถือเครื่องราชบรรณาการมาเคาะประตูเรียก นายทวารหูหนวกไม่ได้ยินเสียง มหาดเล็กผู้ถวายนวดพระยุคลบาทจึงให้สัญญาณ นายทวารหูหนวกจึงเปิดประตูดูด้วยสัญญาณนั้น ทหารยามคนที่หนึ่งรับเครื่องราชบรรณาการส่งให้คนที่สอง คนที่สองส่งให้คนที่สาม คนที่สามทูลเกล้าฯ ถวายพระราชาพระราชาเสวย คำอุปมาเปรียบเทียบแสดงให้เห็น วิถีจิต ที่เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์แต่ละขณะว่า ขณะที่อารมณ์กระทบกับจักขุปสาท เปรียบเหมือนคนบ้านนอกที่ถือเครื่องบรรณาการมาเคาะที่พระทวาร มหาดเล็กที่ถวายงานนวดพระยุคลบาทของพระราชา คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นขณะที่รู้ว่ามีแขกมาเคาะที่ทวาร จึงให้สัญญาณคือรู้อารมณ์ที่กระทบ แล้วก็ดับไป จักขุวิญญาณจิต ก็เกิดขึ้นสืบต่อทำกิจเห็นที่จักขุปสาท แล้วต่อจากนั้นทหารยามคนที่หนึ่งคือ สัมปฏิจฉันนจิต ก็รับเครื่องราชบรรณาการส่งให้คนที่สอง คือ สันตีรณจิต คนที่สองส่งให้คนที่สามคือ โวฏฐัพพนจิต คนที่สามทูลเกล้าฯ ถวายพระราชาคือ ชวนจิต พระราชาได้เสวยเครื่องราชบรรณาการคือ อารมณ์นั้น 

มีคำอธิบายว่า ข้อเปรียบเทียบนั้นแสดงเนื้อความอะไรแสดงเนื้อความว่า อารมณ์มีกิจ คือ หน้าที่เพียงกระทบปสาทเท่านั้น คนบ้านนอกไม่ได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน แต่เครื่องราชบรรณาการส่งต่อจากคนที่หนึ่ง-สอง-สาม แล้วจึงถึงพระราชา 

และ จักขุวิญญาณจิตเท่านั้นที่กระทำกิจเป็นอารมณ์ที่กระทบทวาร อารมณ์สามารถเพียงกระทบปสาทรูปเท่านั้น แต่ว่าจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์สืบต่อกันโดยอารมณ์ไม่ได้ข้ามพ้น หรือล่วงล้ำปสาทเข้าไปสู่ที่อื่นเลย 

เมื่อพิจารณาคำอุปมานี้ก็เข้าใจการเปรียบวิถีจิตที่เกิดขึ้นทำกิจแต่ละขณะว่า จักขุวิญญาณจิตกระทำกิจ เป็นที่จักขุปสาทรูปซึ่งเป็นจักขุทวาร เหมือนนายทวารที่เปิดประตูดูที่ทวาร สัมปฏิจฉันนะเป็นทหารยามคนที่หนึ่งที่รับเครื่องราชบรรณการส่งให้คนที่สอง เพราะเมื่อจักขุวิญญาณจิตกระทำกิจเห็นแล้วก็ดับไป จักขุวิญญาณจิตจะกระทำกิจรับอารมณ์อย่างสัมปฏิจฉันนะไม่ได้ เพราะว่าจักขุวิญญาณกระทำทัสสนกิจได้อย่างเดียว คือ เห็นที่ทวารคือที่ปสาทรูปเท่านั้น แต่สัมปฏิจฉันนจิตเป็นดุจทหารยามคนที่หนึ่งที่ทำกิจรับอารมณ์ แล้วส่งให้ทหารยามคนที่สอง คือสันตีรณะ ซึ่งพิจารณาอารมณ์แล้วส่งต่อให้โวฏฐัพพนจิตตัดสิน แล้วส่งต่อให้พระราชาคือชวนวิถีจิตทำกิจเสวย คือ เสพเครื่องราชบรรณาการนั้น 

[ คัดจาก หนังสือ ปรมัตตธรรมสังเขป จิตตสังเขป และภาคผนวก, บทที่ ๕ , หน้า ๑๓๒- ๑๓๔ ]
๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๓
 

ความไม่เที่ยง
โดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

http://www.dhammastudy.com/thwords3.html

ในวันหนึ่งๆ เคยชอบสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เคยยึดถือว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา เป็นสมบัติของเรา แท้ที่จริงทุกอย่างปรากฏขณะที่เป็นวิถีจิตเท่านั้นเอง สภาพธรรมใดที่เป็นวิบาก ก็เป็นผลของกรรม จะมีบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ เสื้อผ้าอาภรณ์มากมายอย่างไร ประณีตสวยงามอย่างไร วิบากจิตซึ่งเป็นผลของอดีตกรรมก็เพียงเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพียงชั่วขณะที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ยั่งยืนเลย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ แล้วก็ไม่มีใครรู้ว่ากรรมใดจะให้ผลในขณะต่อไป เพราะเหตุว่าทุกคนมีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้ว เมื่อพร้อมด้วยปัจจัยที่กรรมใดจะให้ผลเป็นวิบากใดเกิดขึ้น วิบากนั้นก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง เท่านั้นเอง

การศึกษาพิจารณาเรื่องความไม่เที่ยงของสภาพธรรมย่อมเป็นวิริยารัมภกถา ที่จะทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วศึกษาพิจารณาจนกว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

เมื่อเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม ชวนวิถีที่เป็นกุศลจิตก็เพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่ฟัง ไม่ศึกษาให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมเลย ก็ไม่รู้ว่าขณะใดเป็นวิบากซึ่งเป็นผลของอดีตกรรม ขณะใดเป็นชวนวิถีจิตที่สั่งสมสันดานที่เป็นอกุศลหรือกุศล เมื่อไม่รู้ก็ไม่เห็นโทษของอกุศล และไม่อบรมเจริญกุศล สังสารวัฏฏ์ก็ย่อมจะต้องยืดยาวต่อไป ในวันหนึ่งๆ นั้นอกุศลจิตเกิดมากหรือกุศลจิตเกิดมาก ฉะนั้น ผลข้างหน้าจะเป็นกุศลวิบากมากหรืออกุศลวิบากมาก ซึ่งทุกท่านก็ย่อมพิจารณารู้สภาพธรรมที่เกิดกับท่านได้ในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง 

[ คัดจาก หนังสือ ปรมัตตธรรมสังเขป จิตตสังเขป และภาคผนวก, บทที่ ๖ , หน้า ๑๔๘- ๑๔๙]
๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๓

  กรรม
โดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

http://www.dhammastudy.com/thwords4.html

โดยทั่วไป เมื่อประสบเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มักจะพูดกันว่าเป็นกรรมของคนนั้น ซึ่งถ้าจะให้เข้าใจถูกจริงๆ ก็ควรจะพูดว่าเป็นผลของกรรมที่บุคคลนั้นได้กระทำแล้ว ซึ่งจะทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้นว่าขณะใดเป็นผลของกรรม และขณะใดเป็นกรรม เพราะถ้าพูดกันสั้นๆ ว่าเป็นกรรมของคนนั้น ผู้ซึ่งไม่คุ้นเคยกับเหตุของผลของสภาพธรรม ก็อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนผิดไปได้ โดยอาจจะถือเอาวิบากนั่นเองเป็นกรรม

เมื่อได้ศึกษาและเข้าใจเรื่องของจิตซึ่งเป็นสภาพธรรมอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก ก็จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น คือ ถ้าปราศจากทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นทางรับรู้อารมณ์ต่างๆ ก็ย่อมจะไม่มีวิบากจิตในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นรับผลของกรรม ขณะที่เห็นเป็นวิบากเป็นผลของกรรม แม้ว่าไม่ได้ประสบอุบัติเหตุหรือได้ลาภยศ อื่นใดก็ตาม ขณะได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้น เป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งสิ้น วิบากจิตไม่ใช่เฉพาะขณะเจ็บไข้ได้ป่วย ได้ลาภหรือเสื่อมลาภ ได้ยศหรือเสื่อมยศเท่านั้น และสติสามารถระลึกรู้สภาพธรรมที่เป็นวิบากได้ในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ ในชีวิตประจำวัน

วิยากจิตย่อมเกิดขึ้นเป็นผลของกัมมปัจจัยที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งยากแก่การที่จะรู้ได้ว่า วิบากจิตที่เกิดขึ้นแต่ละทวารนั้น เป็นผลของอดีตกรรมอะไร เช่น วิบากจิตที่ได้ยินเสียงเด็กเล่นฟุตบอลนั้น เป็นผลของอดีตกรรมอะไร เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่รู้ได้ยาก เพราะเป็นอจินไตย คือ เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิด กรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นเหตุในอดีตซึ่งแม้จะได้กระทำมานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ ก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิตได้ ฉะนั้น ถ้าใครคิดเดาว่าเห็นสิ่งนั้นเป็นผลของกรรมอะไร ได้ยินเสียงนั้นเป็นผลของกรรมอะไร ก็จะไม่พ้นจากความไม่รู้และวุ่นวายใจ เพราะคิดเดาในสิ่งซึ่งไม่อาจมีปัญญาขั้นที่จะรู้จริงได้ แต่วิบากซึ่งเป็นผลของกรรมก็กำลังมีปรากฏให้รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย 

[ คัดจาก หนังสือ ปรมัตตธรรมสังเขป จิตตสังเขป และภาคผนวก, บทที่ ๗ , หน้า ๑๗๑- ๑๗๓ ]
๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๓

 

อนันตะ
โดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

http://www.dhammastudy.com/thwords5.html

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอสังขาริกจิตและสสังขาริกจิต เพื่อให้เห็นความละเอียดของจิตว่า แม้เป็นจิตที่มีจำนวนเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่ากัน ไม่ต่างกันเลย แต่สภาพของจิตก็ต่างกันเป็น อสังขาริก ตามกำลังของเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพื่อที่จะให้เห็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาค ที่ทรงพระมหากรุณาแสดงพระธรรมโดยละเอียด ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา ธัมมสังคีปกรณ์ จิตตุปปทากัณฑ์แสดง "อนันตะ" ความกว้างใหญ่ที่สุด ๔ อย่างว่า

ในที่นี้ท่านถือเอา "อนันตะ" ๔ อย่าง ก็อนันตะ ๔ อย่างคือ อากาศเป็นอนันตะไม่มีที่สุด ๑ จักรวาลเป็นอนันตะไม่มีที่สุด ๑ สัตตนิกาย คือ หมู่สัตว์เป็นอนันตะไม่มีที่สุด ๑ พุทธญาณ เป็นอนันตะไม่มีที่สุด ๑

จริงอยู่การกำหนดอากาศ ว่าในทิศบูรพาหรือในทิศปัจฉิมทิศอุดร ทิศทักษิณ มีเท่านั้นร้อยโยชน์หรือมีเท่านั้นพันโยชน์ย่อมไม่ได้ (ลองกำหนดอากาศทางทิศตะวันออกว่า มีเท่าไร กี่โยชน์ กี่ร้อยโยชน์ กี่พันโยชน์ ก็ไม่มีใครกำหนดได้ แม้ทิศอื่นๆ ก็โดยนัยเดียวกัน) แม้จะพึงเอาฆ้อนเหล็กไป ฆ้อนเหล็กก็พึงตกลงไปข้างล่างโดยแท้ หามีที่รองรับไว้ได้ไม่ ชื่อว่าอากาศเป็นอนันตะ คือ ไม่มีที่สิ้นสุดเลยอย่างนี้

การกำหนดจักรวาลทั้งหลายว่ากี่ร้อย กี่พัน หรือกี่แสนจักรวาลย่อมไม่ได้ จริงอยู่แม้ถ้าว่าท้าวมหาพรหมทั้ง ๔ ผู้เกิดในอกนิฎฐภพ (รูปพรหมภูมิชั้นสุทธาวาส ชั้นที่ ๕ ซึ่งเป็นรูปพรหมภูมิชั้นสูงที่สุด) ผู้มีความเร็ว ขนาดที่สามารถผ่านแสนจักรวาล ไปได้ชั่วเวลาเพียงเท่าที่ลูกศรที่เร็วมาก ของนายขมังธนูผู้มีกำลังแข็งแรง ผ่านเงาต้นตาลด้านขวาง จะพึงวิ่งมาด้วยความเร็วขนาดนั้น ด้วยคิดว่า เราจักดูขอบแห่งจักรวาล ท้าวมหาพรหมเหล่านั้นไม่ทันได้เห็นขอบแห่งจักรวาล ก็จะพึงปรินิพพานก่อนโดยแท้ จักรวาลทั้งหลายจึงชื่อว่าเป็นอนันตะ ไม่มีที่สิ้นสุดอย่างนี้

ก็ประมาณแห่งสัตว์ที่อยู่ในน้ำและที่อยู่บนบก ในจักรวาลทั้งหลายว่ามีประมาณเท่านี้ ย่อมไม่มี สัตว์นิกายจึงชื่อว่า อนันตะ (ไม่มีสิ้นสุด) อย่างนี้

พุทธญาณ ชื่อว่า อนันตะแท้แม้กว่าอนันตะทั้ง ๓ นั้น

อากาศก็เห็นอยู่แล้วว่าไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีใครสามารถจะวัดว่ากี่ร้อย กี่พัน กี่แสนโยชน์ หรือแม้จักรวาลก็ไม่มีใครสามารถจะนับได้ว่า ทั้งหมดมีเท่าไร ใครอยากจะนับดาว นับจักรวาล ก็ไม่มีวันสำเร็จ เพราะว่าจักรวาลเป็นอนันตะ ไม่มีที่สิ้นสุด หรือแม้สัตว์นิกาย คือ หมู่สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในจักรวาลก็ไม่มีใครสามารถทำสถิติว่า มีจำนวนเท่าไหร่ ทั้งมนุษย์ ทั้งเทพ ทั้งพรหม ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ ทั้งสัตว์ในอบาย แต่พุทธญาณชื่อว่าเป็นอนันตะ คือ ไม่มีที่สิ้นสุดแม้กว่าอนันตะทั้ง ๓ นั้น คือ บรรดาสัตว์ที่หาประมาณมิได้ ในจักรวาลอันหาประมาณมิได้ ในอากาศอันหาประมาณมิได้ อย่างนี้

(เมื่อคิดถึงสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่ในจักรวาลมากมายนับไม่ถ้วนแล้ว จิตของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นและวิจิตรต่างๆ กันมากสักเพียงไหน

[ คัดจาก หนังสือ ปรมัตตธรรมสังเขป จิตตสังเขป และภาคผนวก, บทที่ ๑๒ , หน้า ๒๓๔- ๒๓๖ ]
๕ สิงหาคม ๒๕๔๓

ละทิ้ง
โดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

http://www.dhammastudy.com/thwords6.html

ในขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ภาค ๒ โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๕๐๕ พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า, “ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน หญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ใดที่มีอยู่ในเขตวิหารนี้ชนพึงนำหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้นั้นไปเสีย เผาเสีย หรือพึงทำตามควรแก่เหตุ ท่านทั้งหลายพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ชนนำเราทั้งหลายไปเสีย เผาเสีย หรือทำตามควรแก่เหตุบ้างหรือหนอ
ภิ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า
. นั้นเป็นเพราะเหตุไร?
ภิ. เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ตน หรือสิ่งที่เนื่องกับตนของข้าพระองค์ทั้งหลาย อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า
. ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล สิ่งใดไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นอันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นอันท่านทั้งหลายละเสียแล้วจักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน… เวทนา… สัญญา… สังขาร…
วิญญาณอันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน บุคคล ย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญแม้อย่างนี้

ข้อความตอนท้ายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ ดูกร คามณิ เมื่อบุคคลเห็นซึ่งความเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งสิ้น ซึ่งความสืบต่อแห่งสังขารทั้งสิ้น ตามความเป็นจริง ภัยนั้นย่อมไม่มี เมื่อใดบุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกเสมอหญ้า และไม้ด้วยปัญญาเมื่อนั้น บุคคลนั้นก็ไม่พึงปรารถนาภพหรือ อัตตภาพอะไรๆ อื่นเว้นไว้แต่นิพพานอัน ไม่มีปฏิสนธิฯ บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ แม้อย่างนี้ฯ

เมื่อยังไม่รู้สึกว่ารูปที่เคยยึดถือ เป็นของตน เวทนาความรู้สึกต่างๆ ซึ่งเคยรู้สึกว่าเป็นของตน สัญญาความจำต่างๆ ว่าเป็นเราชื่อนี้อยู่ในโลกนี้ มีกิจหน้าที่อย่างนี้ สังขารทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรม หรืออกุศลธรรมทั้งหลายเสมอกับหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ก็ยังไม่สามารถละการยึดถือสภาพธรรมคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณได้

[ คัดจาก หนังสือ ปรมัตตธรรมสังเขป จิตตสังเขป และภาคผนวก, บทที่ ๑๕ , หน้า ๒๗๒- ๒๗๓]
๕ สิงหาคม ๒๕๔๓

ความวิจิตรของจิต
โดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

http://www.dhammastudy.com/thwords7.html

ช่างเขียนรูปอาศัยสีเขียนรูปต่างๆ กระทำให้วิจิตรเกิดขึ้นเป็นรูปต่างๆ ฉันใด ขณะนี้จิตของแต่ละท่าน ก็เหมือนกับช่างเขียนซึ่งกำลังเขียนรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่จะเกิดต่อไปในอนาคต

ขณะนี้ทุกท่านต่างกันตามกรรมที่วิจิตร ที่ได้กระทำนานมาแล้วฉันใด จิตซึ่งกำลังกระทำให้วิจิตรอยู่ในขณะนี้ ก็จะกระทำให้คติ เพศ รูปร่างสัณฐาน ลาภ ยศ สุข ทุกข์ นินทา สรรเสริญ วิจิตรต่างๆ ในกาลข้างหน้า ฉันนั้น ด้วยเหตุนี้จึงควรพิจารณา ลักษณะของจิตที่กำลังปรากฏ ซึ่งกำลังเขียนสภาพธรรมทั้งหลาย ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า ซึ่งถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของจิต ในขณะนี้ ย่อมจะไม่ทราบเลยว่าวิจิตรจริงๆ ทั้งๆ ที่กำลังนั่งอยู่ จิตก็เกิดดับสืบต่อรวดเร็วเหลือเกิน นั่งอยู่ที่นี่แต่บางครั้ง นอกจากจิตจะเห็นทางตา ได้ยินเสียงทางหูแล้ว ก็ยังมีจิตที่คิดนึกไกลออกไปแล้วแต่ว่าจะคิดท่องเที่ยวไป ที่ไหนบ้างหรืออาจจะกำลังคิดทำอะไร ที่วิจิตรให้เกิดขึ้นในขณะนั้น

ขณะนี้ทุกท่านต่างกันตามกรรมที่วิจิตร ที่ได้กระทำนานมาแล้วฉันใด จิตซึ่งกำลังกระทำให้วิจิตรอยู่ในขณะนี้ ก็จะกระทำให้คติ เพศ รูปร่างสัณฐาน ลาภ ยศ สุข ทุกข์ นินทา สรรเสริญ วิจิตรต่างๆ ในกาลข้างหน้า ฉันนั้น ด้วยเหตุนี้จึงควรพิจารณาลักษณะของจิต ที่กำลังปรากฏ ซึ่งกำลังเขียนสภาพธรรม ทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า ซึ่งถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของจิตในขณะนี้ ย่อมจะไม่ทราบเลยว่าวิจิตรจริงๆ ทั้งๆ ที่กำลังนั่งอยู่ จิตก็เกิดดับสืบต่อรวดเร็วเหลือเกิน นั่งอยู่ที่นี่แต่บางครั้ง นอกจากจิตจะเห็นทางตา ได้ยินเสียงทางหูแล้ว ก็ยังมีจิตที่คิดนึกไกลออกไป แล้วแต่ว่าจะคิดท่องเที่ยว ไปที่ไหนบ้าง หรืออาจจะกำลังคิด ทำอะไรที่วิจิตรให้เกิดขึ้นในขณะนั้น

ช่างเขียนยึดถือวิจิตรกรรม ที่เขียนขึ้นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดฉันใด จิตของปุถุชนซึ่งยังยึดถือในรูปว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ก็จะยังคงยึดถือต่อไปทุกภพ ทุกชาติ เหมือนกับช่างเขียน ซึ่งยึดถือในจิตรกรรมที่ตนเขียนขึ้น ฉันนั้น ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ตามความเป็นจริง ผู้ที่เป็นปุถุชนเมื่อยืนก็ย่อมยืนอยู่ใกล้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ด้วยความเป็นตัวตน ตราบนั้น

[ คัดจาก หนังสือ ปรมัตตธรรมสังเขป จิตตสังเขป และภาคผนวก, บทที่ ๑๖ , หน้า ๒๘๙- ๒๙o, ]
๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๓

บาปและบุญ
โดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

http://www.dhammastudy.com/thwords8.html

บาปคือสภาพธรรมะที่ไม่ดีงาม บุญคือสภาพธรรมะที่ดีงาม ธรรมะเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก เพราะเกิดดับเร็ว อย่างจิตเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน บางครั้งเป็นกุศล บางครั้งเป็นอกุศล แล้วก็สลับกัน บางครั้งบอกไม่ถูกว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล จีงต้องอาศัยการศึกษาให้ละเอียดพอสมควร จึงจะรู้ว่า ขณะใดที่เป็นบาป หรืออกุศล คือขณะนั้นเป็น โลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลจิตอื่น ๆ ที่เราเคยได้ฟัง เช่น อิสสา มัจฉริยะ เป็นลักษณะของธรรมะที่เป็นอกุศลทั้งนั้น ถ้าเป็นกุศลหรือเป็นบุญ ก็ตรงกันข้าม คือเป็นธรรมะที่ดีงาม คือขณะที่จิตเจตสิกที่ดีงามเกิดร่วมกัน และมีทางของจิตคือ กาย วาจา เป็นทางของกุศลและอกุศล เพราะเหตุว่าไม่มีแต่จิต เรามีรูปด้วย ถ้ามีแต่จิตที่เป็นกุศลหรืออกุศลคนอื่นจะเดือดร้อนไหม? (ไม่เดือดร้อน) แต่เพราะว่าเรามีรูปด้วย เวลาที่อกุศลจิตเกิดก็มีทางคือ กาย วาจา ที่ไม่ดี ซึ่งเกิดจากอกุศลนั้น เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน ความจริงเวลาที่อกุศลจิตเกิด เบียดเบียนเราก่อน : คนมีอกุศล ไม่สบายเลย

แต่ว่าขณะที่เป็นโลภะ เราคิดว่า ดี เป็นความติดข้องต้องการสิ่งหนี่งสิ่งใด เวลาที่ได้มาแล้วดีใจมาก เพลิดเพลินเป็นสุข สนุกสนาน คิดว่าขณะนั้นก็ดี เพราะฉะนั้นดีของเรา กับดีของธรรมะ เป็นคนละอย่าง ดีของเราคือความรู้สีกเป็นสุข แต่จริงๆ แล้วคือ อกุศล เพราะว่าขณะนั้นเป็นสภาพที่ติดข้อง ติดข้องนิดหน่อยๆก็ไม่พอใจ ไม่สมใจ ต้องมากกว่านั้นให้โสมนัสเลย ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องการโสมนัสเวทนา ไม่ใช่เพียงอุเบกขาเวทนา เพราะฉะนั้นจะเห็นได้จริงๆว่า ถ้าไม่ศึกษาธรรมะ เราเข้าใจธรรมะผิด อย่างเวลาที่เราสบายใจ ไปนั่งสมาธิ เราก็คิดว่าขณะนั้นเป็นกุศลแล้ว โดยที่ไม่รู้ว่าขณะนั้นมีโลภะ แล้วก็มีโมหะ มีความไม่รู้และมีความติดข้อง

ถ้าศึกษาธรรมะแล้ว จะทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้นว่า ขณะที่เป็นกุศลต้องไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ แล้วเป็นไปในขณะไหนบ้าง เพราะจิตใจเรารู้ยาก แต่ถ้ามีการแสดงออกทางกาย ทางวาจา พอจะรู้ แต่จะต้องตรง มิฉะนั้น ก็จะถูกลวง หรือเข้าใจผิด การที่เราเห็นคนที่ยากไร้ และเราคิดที่จะช่วย ขณะคิดเป็นกุศลหรืออกุศลที่จะช่วย? เพียงคิดก็เป็นกุศล แต่ยังไม่สำเร็จ เพราะยังไม่มีการกระทำ ถ้าอย่างนั้น ทุกคนต้องรวยกุศล เป็นบุพเจตนา เป็นความคิดก่อนการกระทำ ซึ่งไม่แน่ว่า การกระทำนั้นจะเกิดหรือไม่เกิด เพราะฉะนั้นกุศลก็มีประกอบมีทั้ง กาลก่อนที่จะทำ เรียกว่า บุพเจตนา ; ขณะที่กำลังทำจิตเป็นกุศล และหลังจากทำแล้ว จิตของเราผ่องใสที่ได้ช่วยคนอื่น ให้สะดวกสบายขี้น มีความสบายใจกับเขาที่พ้นทุกข์ เพราะฉะนั้นกุสลมี ๓ กาละ คือ ก่อนทำกุศล กำลังทำ และหลังทำ นี่เป็นเรื่องของทางของกุศล เป็นบุญกิริยา มีสรุป ๓ อย่าง ทาน ศีล ภาวนา สำหรับภิกษุ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา บุญอยู่ที่ใจ เป็นธรรมะที่ดีงาม บาปอยู่ที่ใจ เป็นธรรมะที่ไม่ดีงาม เช่น โลภะ โทสะ โมหะ วันนี้กุศลหรืออกุศลมาก ? ผู้ที่ตรงจะได้สาระในพระธรรม

[จากการสนทนาธรรมที่โรงแรมอังกอร์ เสียมราบ ประเทศกัมพูชา วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๓]
๑๙ มกราคม ๒๕๔๔